บรรลุธรรมด้วยสันโดษ
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๙
ณ พุทธสถานสันติอโศก

มนุษย์ผู้มีความมักน้อย รู้จักจุดแห่งความมักน้อย จนได้ชำระตน
มีความพอ รู้จักความพอ จิตวิญญาณเห็นจริง รู้จริงและจิตนั้นก็พอจริง
จิตเรียกว่าจิตสงบ เข้าใจในความมีคุณค่า มีความมีประโยชน์สังเคราะห์
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นบริขาร และแม้แต่อุปกรณ์เครื่องใช้ที่จะสร้างสรร
ช่วยประกอบในการประกอบการงาน ผู้นั้นก็มีความพอ มีสันโดษ
จิตที่มีปัญญา รู้ความหมาย ของคำว่า สันโดษอย่างชัดแท้ และได้ฝึกตน ละล้างกิเลสออก
จนกระทั่งจิตนั้นสันโดษจริง ไม่ใช่กด ไม่ใช่ข่ม ไม่ใช่ฝืน ไม่ใช่ต้านอยู่
แต่จิตนั้นสงบ จิตนั้นวิเวก จิตนั้นพออย่างจริงชัด เป็นเจโตวิมุติ พร้อมกันนั้น ก็มีปัญญาวิมุติพร้อม เห็นแจ้ง
ผู้ที่มีจิตสันโดษ อย่างแท้จริง มีจุดพอจนกระทั่งแม้น้อยก็พอได้
จะขาดบ้างเขินบ้าง ก็ยังมีใจพอ ไม่ดีดดิ้นแส่หา ไม่เดือดร้อน
ผู้ที่มีใจพอที่แท้จริง จงสังเกตใจ ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมดำเนินตามบท อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวกะ อสังสัคคะ วิริยารัมภะ เป็นผู้ที่สันโดษแต่ขยัน มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุตติญาณทัสสนะครบพร้อม ที่เราจะพึงพูดถึงได้
และเข้าใจสภาพธรรม ที่ถูกต้อง ตรงตามหัวข้อคำขยายอธิบายนี้ได้
ผู้รู้แจ้งเห็นจริง และเป็นจริงเท่านั้น คือผู้ที่มีสุขอันพิเศษ หรือวูปสโมสุข
ถ้าผู้ใดพบแล้ว ผู้นั้นแลชื่อว่าเป็นมนุษย์ ที่ได้ขัดเกลาดีแล้ว
ประสพสุข อันมนุษย์ประเสริฐพึงประสบแล้ว



ชี้บอกชี้แจงกันอีกนะ เมื่อเช้าได้กล่าวถึงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งมีอัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวกะ อสังสัคคะ วิริยารัมภะ นั่น ๕ ข้อ แล้วก็มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะ อีก ๕ ข้อ ถ้า ๕ ข้อต้น ก็เรียก กถาวัตถุ ๕ ถ้ารวมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัศนะด้วย ก็เรียกว่า กถาวัตถุ ๑๐ มี ๑๐ ทั้งหมด กถาวัตถุก็หมายความว่าคำพูด เรื่องราว เรื่องราวใด คำพูดใด ที่เป็นไปเพื่อ กถาวัตถุทั้งสิบนี้ เรื่องราวนั้น คำพูดนั้น อธิบายเกี่ยวเนื่องอยู่ในสิบหลัก สิบข้อนี้ คำพูดนั้น เรื่องราวนั้นเป็นไปเพื่อนิพพาน แต่ถ้าคำพูดใดเรื่องราวใด ที่มันไม่เป็นไป เพื่อกถาวัตถุ ๑๐ อย่างนี้ เอามาเทียบได้ เอามาวัดได้ เอามาตรวจสอบได้ ถ้ามันไม่เป็นไป เพื่ออย่างนี้ล่ะ ก็ไม่เป็นไป เพื่อนิพพาน เพราะฉะนั้น เรามีชีวิตอยู่นี่ เรื่องราวชีวิตอะไรต่างๆ นานาของเรา เราลองเทียบดู เทียบดูว่า มันเป็นไปเพื่ออย่างนี้มั้ย

ตั้งแต่ข้อที่หนึ่งอัปปิจฉะ เป็นผู้มักน้อย มักน้อยมีความหมายอย่างไร ลักษณะอย่างมักน้อยนี่ เราเป็นอยู่จริง อย่างนั้นหรือไม่ สันโดษ สันตุฏฐิ เป็นไปเพื่อสันโดษ เป็นไปเพื่อความวิเวก เป็นไปเพื่อความสงบระงับ ปวิเวกะ เป็นไปเพื่อความไม่คลุกคลีด้วยกิเลส ด้วยกลุ่มด้วยหมู่ ของกิเลส ที่เขาแปลกันทิ้งๆ เอาไว้ว่าไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ อันนี้อาตมาเห็นว่า มันไม่ถูกต้อง เห็นว่ามันไม่สมบูรณ์ ไปทิ้งหมู่คณะ คือหมู่คนเฉยๆ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มันกลายเป็นฤาษี ถ้าเผื่อว่า เรามีจิตเห็นว่าคนจะต้องปลีกเดี่ยวอยู่คนเดียว มีแนวโน้มความคิดไปอย่างนั้น มันก็แปลความหมายพวกนี้ว่า ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ก็แน่ๆล่ะ เพราะว่าความหมาย ของคำภาษาพวกนี้ มันค่อยกลั่น ค่อยเพี้ยนไปตามความเห็น ที่มันเห็นเพี้ยนเข้าไปเรื่อยๆ เพี้ยนออก เพี้ยนออก ไอ้โน่นก็เพี้ยนออก มันก็สอดคล้องกันไปเรื่อย มีปลาย มีหางอะไร มีต้น มีหัวอะไร ก็ค่อยๆกลั่น ค่อยๆเติม ค่อยๆเพี้ยนไปเรื่อยๆ มันก็ผิดไปได้นะ เพราะว่า ถ้าเผื่อว่า ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะแล้วละก็ มันจะค้านแย้งกับคำว่า มิตรดีสหายดีอะไรต่างๆด้วย คบหมู่ คบบัณฑิต คบอะไรต่างๆเยอะแยะหลายคำ ซึ่งหลายลักษณะ ที่มันค้านแย้ง ในลักษณะ ของศาสนาพุทธ แต่ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ นี่เป็นคำที่เป็นภาษาธรรม อสังสัคคะ ที่จริง โดยพยัญชนะ ก็เคยอธิบายให้ฟังว่า มันไม่เกี่ยวข้องด้วย มันไม่เป็นไปเพื่อสวรรค์ อสังสัคคะ มันไม่เป็นไป เพื่อการประกอบสวรรค์ ในลักษณะของความหมายน่ะ มันชัดอยู่ ถ้าบอกว่า ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ หรือไม่คลุกคลีด้วยคณะหมู่ของกิเลส กลุ่มของกิเลส มันก็ชัด เพราะว่า ถ้าจิตใจของเรา มีกิเลสเกี่ยวข้องคลุกคลี เกี่ยวข้องนั่นแหละ คลุกคลี หรือเกี่ยวข้อง จิตใจของเรา เกี่ยวข้องกับกิเลสอยู่ หรือมีกิเลสเกี่ยวเกาะอยู่กับ จิตใจเรา เราก็เป็นคนที่จะต้อง เสพสวรรค์ ไม่ว่าจะเป็นสวรรค์อย่างไหน ก็แล้วแต่เถอะ มันก็ติดอยู่ที่สวรรค์ เสพยังมีเสพ ตั้งแต่สวรรค์หยาบ เสพสวรรค์ต่ำๆ สมใจ ได้มาเสพ ตั้งแต่เสพไปติด ไอ้เรื่องราว ที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องหยาบๆต่ำๆ ก็ประกอบสวรรค์ให้แก่ตนเอง

เพราะฉะนั้น เราจะไม่ประกอบสวรรค์ให้แก่ตนเอง เป็นความหมาย และอาการที่ไม่ประกอบนั้น อย่างไร เราก็ต้องรู้ตัวเอง แม้แตะต้องสัมผัสสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ เสร็จแล้วมันไม่ปรุง มันไม่สังขาร เป็นสวรรค์ ก็เรียกว่า เราไม่ประกอบแล้ว เราไม่กระทำแล้ว อาการที่มันจะสังขาร เราก็ไม่ได้ สังขารแล้ว เมื่ออาการไม่สังขาร อาการที่ในจิตวิญญาณเรานี่นะ ไม่สังขาร นี่แสดงว่า เราหยุด แต่เราก็สัมผัสได้ แตะต้องได้ เกี่ยวข้องได้ ทำงานร่วมได้ สัมพันธ์อยู่ได้ แม้กระทั่ง เป็นวัตถุ แท่งก้อน เป็นตัวตนบุคคลเราเขา เราก็อยู่ร่วมได้ สัมพันธ์ได้ สร้างสรรรวมกัน เป็นประโยชน์ ต่อกัน เป็นพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ พหุชนอัตถายะ เป็นประโยชน์เกื้อกูล ต่อมนุษย์ ทั้งหลาย เป็นความสุขแก่มนุษย์ทั้งหลาย เป็นเนื้อหาสาระ หรือเป็นแก่นสารประโยชน์ ต่อเพื่อนมนุษย์ หมู่ต่อ เพื่อนมนุษย์เป็นกลุ่ม เป็นมวล พหุชนะนี่ เป็นปวงชนทั้งหลาย มวลชนทั้งหลาย ในลักษณะที่ลึกซึ้ง ที่เราแตะต้องสัมผัสอยู่สัมพันธ์อยู่ แต่เราไม่ปรุงนี่แหละ เรียกว่า ดับสังขาร ไม่ปรุง เป็นอะไรก็เป็นตามรู้ตามจริง ตามเห็น ตามเกี่ยว ตามข้อง ตามแตะ แตะแรง แตะเบา สัมผัส ด้วยการสัมผัสด้วยกาย ด้วยเนื้อ ด้วยตัว สัมผัสด้วยตา สัมผัสด้วยหู สัมผัสด้วยลิ้น ด้วยจมูก อะไรก็แล้วแต่ มันก็มี ๖ ทวาร หรือสัมผัสด้วยใจ และเราก็รู้ว่า สังขารคืออะไร การปรุงการแต่ง แล้วมันสังขารอย่างไร ที่มาเป็นตัวสังขาร แล้วออกมาเป็น รสโลกียะ หรือรสสุขแบบโลกียสุข สุขเสพสม หรือแบบสุขัลลิกะ สุขแบบเสพสมใจ หรือว่า เสพติด นี่เราต้องรู้ อาการที่มันเสพสมใจ เสพติด อย่างชัดๆ แล้วเราก็ลด ลดล้างออกจริงๆ จนเหลือแต่ความรู้ จิตวิญญาณเป็นธาตุรู้ ไม่ใช่ธาตุไปปรุงมาเสพ แต่จิตไม่ใช่ว่า ปรุงไม่ได้ คิด นึก ปรุง สร้าง ประกอบอะไรขึ้นมาไม่ได้ จิตคิดนึกปรุงสร้างได้ แต่คิดนึกปรุงสร้าง ไม่ใช่ปรุงสร้างมาเสพ ปรุงสร้างเพื่อสร้าง ปรุงสร้างเพื่อเป็นการงาน ปรุงสร้างเพื่อเป็นประโยชน์ ประโยชน์อาศัย ประโยชน์เกื้อกูลในโลก ในสังคมในมนุษยชาติ เผื่อแผ่ไป ซึ่งความหมายพวกนี้ เป็นความหมายที่ลึกซึ้ง

วิริยารัมภะอีกตัวหนึ่ง ซึ่งเป็นตัวที่ ๕ เป็นตัวขยันกำกับไว้เสมอละ ไอ้ ตัวเพียรตัวขยัน วิริยะนี่ เป็นยาดำ อยู่ในหมวดธรรมะแทบทั้งสิ้น คนเราขาดความเพียรไม่ได้ ขาดไม่ได้เลย ที่พูดนี่ ก็บรรยายให้คุณเข้าใจ ให้คุณรู้คุณเห็นพอรู้ความหมาย พอรู้ความหมายแล้ว เราเข้าใจดี เป็นทิฐิ แล้วเราก็ไปปฏิบัติ ประพฤติพิสูจน์ เมื่อปฏิบัติประพฤติพิสูจน์แล้ว คุณก็เห็นความจริง การเห็น ความจริงนั้น เป็นญาณทัสสนะ หรือเป็นปัญญาที่เรียกว่าปัญญาชั้นแท้ เป็นอธิปัญญา หรือเป็น อภิปรัชญา เป็นปัญญาชั้นสูงที่รู้จริงเห็นจริงในของจริง จะเป็นระดับนามธรรม ก็ต้องเห็นจริงๆ รู้จริงๆเลย จับแม่นจับมั่น เมื่อเราได้มาพิสูจน์ เราได้มาปฏิบัติอะไรต่ออะไรขึ้น มาแล้วนี่

ที่นี่แน่นอนพาคุณปฏิบัติตามหลักของกถาวัตถุแน่ ลดละลงมาให้มีน้อย ตั้งแต่คุณไปฟุ้งเฟ้อ สังขารปรุงแต่ง เรื่องราวอะไรมากๆมายๆอยู่ หยาบๆ ตั้งแต่หยายๆ ตั้งแต่ไม่รู้ แม้แต่ความต่ำ ความหยาบ ก็มาบอกให้รู้ บอกให้รู้แล้วก็บอกให้เลิก บอกให้ละ พอละพอเลิก ดูตั้งแต่ มันเป็นตัวตน มันเป็นวัตถุแท่งก้อน เราพรากมา จากมันมา กิเลสมันโหยหากันมั้ย มันจะยังปรุง ยังแต่ง ยังสร้าง ยังอาลัยอาวรณ์อะไรต่างๆนานา เราก็มาพิสูจน์กัน ตั้งแต่สิ่งที่ มันไม่จำเป็นเลย เป็นอบายมุข ไม่สำคัญเลยกับชีวิต ชีวิตนี้ไม่ต้องเกี่ยวข้องกันเลย ไม่ต้องมามีกับชีวิตของเราเลย เราก็ได้พิสูจน์ กันมาเรื่อยๆ ตั้งแต่วัตถุจนกระทั่งถึงจิตวิญญาณว่า มันไม่ต้องแตะต้องเกี่ยว จนกระทั่ง มาถึงในระดับสิ่งที่จะต้องวิเคราะห์วิจัยลึกลงไป เพราะเราจะต้อง เกี่ยวข้องกันอยู่ จนกระทั่ง ถึงอาหาร ถึงผ้าเสื้อ เครื่องนุ่งห่ม จนกระทั่ง ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค หรือ เครื่องใช้ เครื่องอุปกรณ์ต่างๆ หรือ แม้แต่ผู้คน ผู้หญิง ผู้ชาย ก็สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ ทำงาน ร่วมกันอยู่ เห็นกันอยู่ อะไรต่างๆนานา อย่างโน้นอย่างนี้ คือเราก็ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอยู่ เป็นมนุษย์ ร่วมโลก แต่การเกี่ยวการข้องเหล่านั้น มันเกิดการปรุง มันเกิดสังขาร เกิดการปรุง เป็นราคะ ปรุงเป็นกามหรือไม่ หรือปรุงเป็นโทสะ หรือไม่อย่างนี้ เป็นต้น

เราก็มาเรียนรู้ เรียนรู้จริงๆ มันปรุงเป็นราคะ ปรุงเป็นสังขารอย่างไร มันปรุงเมื่อไหร่ ปรุงมาก ปรุงน้อย มาเรียนรู้ มันเป็น นามธรรมทั้งนั้นแหละ แล้วก็เกี่ยวข้องกับวัตถุธรรมด้วย เป็นชีวิต เราก็มาหัดละ หัดลดลงไป จริงๆ ตั้งแต่หัดละหัดลดสิ่งที่หยาบ ดังกล่าวแล้ว จนกระทั่ง มาละเอียดขึ้นมา ไล่ขึ้นมาถึง สิ่งที่อยู่ที่กิน สิ่งที่เป็นปัจจัย ไล่ขึ้นมา จนกระทั่ง ถึงสิ่งที่ลึกซึ้ง เป็นนามธรรมจริงๆ ซ้อน ซ้อนลงไปอีก เป็นอาการของนาม ในนามธรรมเท่านั้น ในจิตวิญญาณ แม้ไม่มีเลย ไม่ได้มีอะไร มาแตะต้องเกี่ยวข้องเลย ไม่ต้อง...ไม่มีอะไรมาสัมผัสสัมพันธ์เลย แต่เราจับได้มั้ย มีสติสัมโพชฌงค์ อยู่เสมอมั้ย สามารถมีความแววไว สามารถมีสภาพ ที่เป็นบทบาท ปฏิบัติธรรม อยู่ประจำตัว

มีโพชฌงค์ ๗ มีโพธิปักขิยธรรม ประพฤติอยู่ มีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ มันตก มันหล่นเมื่อไหร่ ก็สำนึก รู้ตัว ตั้งใจ มีสัมมาวายามะ หรือมีวิริยะ ที่ประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้เสมอ จิตนี่เป็นธาตุรู้ รู้ตัว เรารู้ว่า เรามีโพชฌงค์มั้ย ถ้ามีโพชฌงค์ อยู่ก็ได้ ปฏิบัติอยู่ มีโพธิปักขิยธรรมอยู่ มีสติปัฏฐาน ๔ มีสัมมัปปธาน ๔ มีอิทธิบาท ๔ หรือ มีสติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ เพื่อสร้างอินทรีย์ ๕ พละ ๕ หรือ เพื่อสร้างให้เกิดปีติ ให้เกิดปัสสัทธิ ให้เกิดสันโดษ ให้เกิด ปวิเวกะ ให้เกิดใจเรานี่พอ ใจเรานี่หยุด ใจเรานี่เกิดปัญญา เห็นจริงว่า เออ...แค่นี้มันพอ จริงๆนะ เราเลิกมา ละมา ลดมา ไม่ไปเพิ่ม ไม่ไปหลง หนาขึ้น มากขึ้น เยอะขึ้น ยากขึ้น เราพอมั้ย แค่นี้พอมั้ย ชีวิตนี่ มันเป็นไปได้มั้ย สมบูรณ์มั้ย แข็งแรงมั้ย เต็มคนหรือยัง กินก็กินเท่านี้น่ะ เต็มคนหรือยัง ใช้ก็ใช้อยู่เท่านี้ อุปโภคบริโภคทั้งหลาย โภชเนมัตตัญญุตาต่างๆ พิจารณาแล้ว ก็มันมากอยู่ ก็ลดน้อยลง เราจะลดอีกได้มั้ย อัปปิจฉะ น้อยลงอีกซิ น้อยลงได้มั้ย

พิจารณาจริงๆ ทำจริงๆ ลดจริงๆ เลิกจริงๆ ไม่ได้เอาแต่คิดอยู่ โอ๊ย ฉันทำเมื่อไหร่ก็ได้ ฉันจะเลิก เมื่อไหร่ก็ได้ จะละเมื่อไหร่ก็ได้ เออ เอาไว้ก่อน ยังไม่เลิก ยังไม่ละ รอวันรอคืนไว้ก่อน เสร็จแล้ว ก็ผ่านวันผ่านคืน ไปจนกระทั่ง เผลอๆตาย มันตาย มันไม่แน่ด้วย หนุ่มก็ตาย สาวก็ตาย เด็กก็ตาย ไม่ใช่ว่า เออ จะตายก็ต่อเมื่อต้องแก่ คนจะต้องตายเมื่ออายุต้องแก่ๆ ถึงจะตาย ไม่แก่ไม่มีสิทธิ์ตาย ไม่ใช่นะ คนมันมีสิทธิ์ตายได้ทุกอายุ เพราะฉะนั้น เราไม่ประมาท วันเวลาผ่านไป เราไม่ประมาท เราทำได้สมเหมาะสมควรแก่ตัวเอง แต่อย่าเพิ่งใจร้อน ใจเร็วเกินไปนัก ก็เตือนอยู่ เราทำเกินฐานเกินภูมิ เกินฐานะ ทำไปแล้วก็เข็ดเขี้ยว ทำไปแล้ว อินทรีย์พละเรา ก็ไม่พอ อวดดิบอวดดี ใจร้อนใจเร็ว อยากจะได้ไว มันไม่สมตัว นั่นไม่สมตัว เรียกว่า ไม่มัชฌิมา

ในเรื่องมัชฌิมานี่ มันต้องศึกษามากทีเดียว เข้าใจกันผิดๆพลาดๆเยอะ แล้วก็ตามใจตนเอง หรือตามใจกิเลส กิเลสมันเป็นเจ้านาย ตามใจกิเลส นี่คนเขาบรรยาย มัชฌิมาปฏิปทา ปานกลาง มันเดินสายกลาง สายกลางของเขา ที่เขาพูดนี่นะ อาตมาฟังแล้ว แล้วก็ดูท่าที และ สายกลางของเขานี่ คือสายเอาใจกิเลสทั้งนั้นแน่ะ ไม่ได้มีบทแห่งความทนได้ยาก ทุกขายะ อัตตานัง ปทหติ ตั้งตนอยู่ในความลำบาก เพื่อมีศีลหรือมีกรรมฐาน หรือมีหลักปฏิบัติ ประจำตน มีสมาทานในใจ ไม่มีหรอก ส่วนมากสมาทานก็สมาทานอ่อนๆ ที่มันเป็นไปได้ เป็นเหยื่อกิเลส อยู่เสมอ มันก็บำรุงกิเลสอยู่เรื่อย แล้วเขาประมาณไม่เป็นนะ ประมาณว่า นี่เราบำรุงกิเลส หรือว่าเราขัดเกลากิเลส มันเป็นทุกขายะ อัตตานัง หรือเป็น ยถาสุขัง โข เม วิหรโต ยถาสุขัง ปล่อยไปตามสบาย หรือปล่อยไปตามที่มันได้เสพ นี่ประมาณไม่ใช่ง่ายๆ ประมาณตน นี่ไม่ใช่ง่าย

ถ้าเราให้มันเคร่งๆไว้หน่อย ให้มันฝืนๆรู้ว่าเราฝืนนะนี่ รู้ว่าเราได้ทนต่อความลำบาก อยู่ ทุกขายะ ตั้งตนอยู่ในความลำบากเพื่อปฏิบัติ ทุกขายะ อัตตานัง ตั้งตนอยู่ในความลำบาก เราได้ทำอยู่ จริงๆนะ ถ้าเผื่อว่าไม่เข้าใจอย่างนี้แล้ว ปล่อยตัวตามสบาย ยถาสุขัง ปล่อยตัว ตามสบาย ก็เสร็จน่ะซิ อกุศลก็เจริญยิ่งไปจริงๆ นี่เขาอธิบายความหมาย มัชฌิมาปฏิปทากัน หรือว่า เดินสายกลาง สัมมาปฏิปทาอะไรกันนี่ พูดอธิบายพวกนี้ ความหมายแม้แค่นี้นี่นะ ทุกวันนี้ ก็อธิบายตามกิเลส หรือว่าอธิบายตามที่ผู้ที่ตั้งใจขัดเกลา เพราะฉะนั้น เรามาพิสูจน์กัน แล้วพวกเรานี่เคร่ง เขาหาว่าเคร่ง อาตมาใช้คำว่าเขาหาว่านะ เพราะว่าเราเคร่ง นี่เราก็ไม่ใช่ว่า เราไม่บอกกันอยู่ เราไม่ประมาณกัน เราไม่ได้มาเร่งรัดกัน ทุกคนจะต้องมาเคร่งเป็นรูเดียว ฐานเดียวกัน ทั้งหมด ไม่ใช่ เรามีหลายฐาน หลายฐานะ รู้ตัวรู้ตนพอเป็นไปได้ขนาดนั้น ขนาดนี้ เราก็พยายามประมาณ พยายามกระทำ ให้เหมาะสมกับตน รู้ว่าเราได้ขัดเกลา รู้ว่าเราได้ ปฏิบัติธรรม มีศีล หรือมีสิ่งที่ได้สมาทาน เป็นหลักปฏิบัติ นั่นเป็นกถาวัตถุ เหมือนกัน

การพูดการกล่าว กล่าวถึงเรื่องราวหรือพูดถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ ไม่ต้องเอาหลัก กถาวัตถุ ๑๐ นี้มากล่าวชื่อ แต่เราได้พูดถึงอยู่เสมอเลยว่า เราพูดถึง เรื่องความมักน้อยกันนะ ลดละกัน ลงมานะ เราได้พูดถึงความพอ หรือพูดถึงว่าเรา ขนาดนี้นี่ ใจเราพอมั้ย อย่างที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ที่เราพยายามใช้ชีวิตอยู่ กินแค่นี้ ใช้แค่นี้ มีแค่นี้ ไม่ต้องกอบ ต้องโกย ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องหอบหวง ไม่ต้องโลภโมโทสันมา มีระบบ มีจารีตประเพณี มีวินัย มีระเบียบ อยู่กัน นี่เป็นอยู่ กันไปอย่างนี้ๆๆ เป็นไปได้มั้ย ชีวิตนี้มันมีปัญญาเห็นมั้ย ว่าเป็นอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ ใช้อย่างนี้ กินอย่างนี้ แล้วมีอะไรต่ออะไร ก็เป็นการสร้างสรรอย่างนี้ ทำมาหาได้ ก็เอามา สร้างสรร สิ่งนั้นสิ่งนี้กันไป เพื่อประโยชน์กัน ประโยชน์แก่ผู้อื่นนั่นแหละ มันเป็นคุณค่า ถ้าประโยชน์แก่ตน แค่นั้น ก็มาบำเรอตน มีชีวิตเกิดมาบำเรอตน ทำอะไรมาก็ให้แต่ประโยชน์ แก่ตน เสพสุข เสพโลกีย์อะไรอยู่ มันก็บำเรอตนกันอยู่ จนตาย เสร็จ...กี่ชาติๆ ก็บำเรอตน บริการตน อยู่อย่าง... แค่นั้นเอง เราช่วยตนแต่พอที่จะมีความจำเป็น ก็ต้องทำโน่น ทำนี่ ให้แก่ตนเอง ก็ช่วยตน แต่พอจำเป็น นอกนั้นเราจะมีกรรมกิริยาเรี่ยวแรง ความสามารถ อีกเยอะเลย ที่เราจะมาสร้างสรร เพื่อประโยชน์แก่คนอื่น ซึ่งอาตมาว่า อาตมาได้พยายามวิจัย วิเคราะห์ ออกมาให้เห็นจริงๆเลยว่า คนในโลกนี่ มันต้องช่วยกัน คนที่จะต้องได้รับ การช่วยเหลือ นี่มันมีจริงๆ เด็กเป็นต้น คนแก่เป็นต้น คนเจ็บ คนป่วย คนพิการ คนที่ไร้ความสามารถ

ไร้ความสามารถนี่กินกว้าง ที่จริงนะ ไม่ใช่ไร้ความสามารถ ที่เขาถูกกำหนดตามกฎหมาย เท่านั้น ไร้ความสามารถละเอียดไปอีก จนกระทั่ง เขาทำไม่เป็น จะปลูกผักก็ปลูกไม่เป็นจริงๆ มันไร้ความสามารถจริงๆนะ ให้ไปปลูกผัก ก็ยิ่งทำให้ผักตาย ไม่ปลูกเสียดีกว่า ให้ไปทำโน่น ทำนี่ ก็ทำเสีย ทำหายทำพัง อย่างนี้เป็นต้น นี่เป็นคนไม่มีความสามารถ ไม่ใช่ไร้ความสามารถ ในความหมาย ที่พูดตามกฎหมายนั่น เท่านั้น เป็น...ไร้ความสามารถ ไร้ฝีมือ ไร้สมรรถภาพ ไม่มีความสามารถ ที่จะทำอันนั้นอันนี้อะไร พอเป็นไปได้ มันก็ต้องเผื่อแผ่กัน บางคน มีความสามารถ ในด้านหนึ่ง บางคนมีความสามารถ ในอีกด้านหนึ่ง ไม่มีความสามารถ ในด้านหนึ่ง แต่มีความสามารถในด้านหนึ่ง คนก็มีอย่างนี้อยู่ในโลก เพราะฉะนั้น ก็ต้องเกื้อกูลกัน เผื่อแผ่กันอย่างนี้ เป็นต้น และก็มันมีจริงๆเลยในโลกนี้ นอกจากจะคน ๕ อย่าง ที่อาตมาว่า

อาตมาได้พยายามวิเคราะห์วิจัยแล้วนะว่า ลักษณะคนอะไร ที่เราจะต้องเกื้อกูลเขา ตั้งแต่เด็ก คนแก่ คนป่วย คนพิการ คนไร้ความสามารถแล้วนี่ ยังมีคนขี้เกียจกับคนขี้โกง อยู่ในสังคม จริงๆด้วย มีจริงๆนะ ที่ต้องช่วยต้องเผื่อแผ่ ไม่ช่วยไม่เผื่อแผ่ก็ไม่ได้ ไม่ทำเผื่อเขาก็ไม่ได้ เพราะมันโกงจริงๆ มันขี้เกียจจริงๆ มันมีอยู่ในสังคมน่ะ เราก็พยายามสร้างสังคม ให้มันดีล่ะ แต่คนทุจริต หรือคนที่เลว อย่างนี้มันก็ยังมี มันขี้เกียจ จนไม่พอตัวนะ วันๆหนึ่งน่ะ มันไม่ได้ ทำอะไร พอที่จะสมกับตัวเองที่เป็นคนนะ ยิ่งกว่าสัตว์หลายประเภทด้วย มันขี้เกียจ มันไม่ทำอะไรหรอก นอกจากมันขี้เกียจ ไม่ทำแล้ว มันยังทำเหมือนกันนะ ผลาญ ทำผลาญ ทำลาย ทั้งกิน ทั้งอยู่ ทั้งทิ้ง ทั้งขว้าง ใช้สอยอะไรแล้วแต่ ขี้เกียจ แล้วลักษณะที่สร้างรูปแบบ ขี้เกียจนี่ มีอยู่เยอะ เดี๋ยวนี้อยู่ในสังคมคนร่ำ คนรวยนี่ เฉิดฉาย ทำท่าทีอย่างโน้น อย่างนี้ เที่ยวไปจรมา วุ่นวาย ไปใช้...แม้แต่นุ่งห่ม วันหนึ่งตั้งห้าชุด สิบชุดอะไร ลักษณะฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ขี้เกียจ ไม่ธรรมดาด้วยซ้ำไป ผลาญไป โน่นมานี่ กินๆ เที่ยวๆ ทำโน่นทำนี่ ทำไปเล่นไป หัวไป แสดงกิริยา มีพฤติกรรม อย่างโน้นอย่างนี้ ซึ่งเป็นพฤติกรรม ที่เขาคิดว่า ถ้าเขาได้มีพฤติกรรม อย่างนั้นเป็น ความสุข เป็นโลกียสุข วันๆคืนๆ ก็ผ่านวัน ผ่านคืนไป แล้วก็เปลืองเปล่า เอาไอ้โน่น ไอ้นี่ มาใช้บำเรอตน ประคบประหงมตน เยอะแยะ

ลักษณะแบบนี้นี่บริโภคนิยมหรือทุนนิยมนี่ถนัดเหลือเกิน สร้างให้คนมี ลักษณะแบบนี้ แล้วอวดอ้างกัน มีท่าทีชี้ชวน เชิญชวน ยั่วยวนให้คนอื่นเอาอย่างตาม แล้วก็เอาอย่างตามกัน จนกระทั่ง เต็มไปอยู่ในสังคมนี่ คนจนคนยาก ที่ไม่ได้ทำอย่างนั้น ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็อยากทำ อยากเป็น อย่างเขาบ้าง คนที่ไม่มีปัญญา ถูกครอบงำ ทางความคิดแบบนี้ อยู่เต็มไปหมด ซึ่งเราต้องมาแก้ ให้เกิดปัญญา ให้รู้เท่าทันแล้วหยุด คนที่โง่จริงๆ มืดบอดจริงๆ มันก็ไม่หยุด เราจึงไปบังคับให้คนหมดกิเลส มันก็บังคับไม่ได้ มันไม่ได้จริงๆนะ คนที่มันมืด มันบอด มันแก้ไม่ได้ มันไม่มีภูมิเลย เป็นอเวไนยสัตว์ หรือเป็นพวก ปทปรมะ ขนาดเราเห็นว่า อู๊ย เฉลียวฉลาดนะ แต่มืด สอนไม่ได้ ตลอดชาตินี้ เรียนศาสนาด้วย บางที เรียนแล้วเอาศาสนา นี่แหละ ไปมอมเมาหลอกล่อ...ซ้อนแฝง เอาวิชาการศาสนา ไปสร้างลาภ สร้างยศ สร้างสรรเสริญ สร้างโลกียสุข เสพให้แก่ตัวเอง ตลอดชาติ แล้วเบี้ยวด้วย เบี้ยวศาสนาด้วย ทำให้ค้านแย้ง ทำให้ต่างกับไอ้ที่มันควรจะเป็น ผิดไปจากความจริง อย่างนั้นเสียด้วยซ้ำ มีอยู่ในสังคม

เรามาพิสูจน์นี่ เรามาเล่าเรียนศึกษามาฟัง ตั้งแต่กถาวัตถุที่พูดไป เพื่อความมักน้อย ลงมา เราก็มาเป็น คนมักน้อย จนกระทั่ง เขาหาว่าพวกเรา มันทรมานตน มันมักน้อยเกินไป แต่เรามาเรียนรู้สิว่า เรามักน้อยอย่างนี้ มันพอมั้ย มันพอไปมั้ย มันสันโดษมั้ย มีกินอย่างนี้ มีใช้อยู่อย่างนี้แค่นี้น่ะ อาตมาว่า ลาภเหลือเฟือ แต่ใจเราพอมั้ย ขณะนี้ยังลาภ เหลือเฟือนะ การกินพวกเรานี่ อาตมาก็ว่าเหลือเฟือ ใจเราต่างหาก มันยังไม่หยุด ถ้าใจเรา หยุดนะ โอ๊ย เหลือ นี่อาตมายังเห็นอยู่ว่า พวกเรานี่ กินอยู่กัน มีรายได้หรือว่า มีสิ่งที่หนุนเนื่อง มาอุปัฏฐากอุปถัมภ์ ขนาดนี้ ตามที่เราเป็นเรามี มันเป็นระบบ ที่เราทำนี่ มันเป็นระบบ เป็นระบบ วงชีวิต จารีตประเพณี อย่างพวกเรา มีการทำบุญ ทำทาน มีการสังเคราะห์ มีทาน มีเปยวัชชะ มีอัตถจริยา มีสมานัตตตา ของเรา อยู่นี่ ทั้งหมดมีการสังเคราะห์ มีการงานที่ไม่มีโทษ พวกเราก็ทำงานกัน มีการงาน มีพลัง การงานกันอย่าง คนเข้ามา พวกที่เขาเข้ามาดู เขาเข้ามา สังเกตการณ์ เข้ามาเห็นพวกเรา ในระบบของพวกเราชาวอโศก เขาเข้ามาทุกคนเขา ที่คนที่มีปัญญา และเขาซาบซึ้ง เพราะว่า ของเรานี่ครบ ในด้านปัญญา ครบในด้านความเพียร ครบในด้านการงาน อันไม่มีโทษ ครบในด้านสงเคราะห์ มีการสงเคราะห์ มีกำลังอันนี้ มีบทบาทอันนี้ จนเห็นได้ว่ามีพลัง มีกำลัง

ถ้าจะลองพิสูจน์แตะดูกัน บอกว่าอยากจะรู้กันว่ามีปัญญาหรือไม่มีปัญญา ก็ขอให้ถาม ซึ่งเราก็ได้เรียนมาแล้ว พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า เราจะรู้คนนี้มีปัญญาหรือไม่มีปัญญา ก็ด้วยการ สากัจฉา ด้วยการคุยกัน ไถ่ถามกัน ก็จะรู้ว่ามีปัญญา หรือไม่มีปัญญา เขามาแตะต้องเรา หรือเขามาลองพิสูจน์ดู สากัจฉาดูว่าเรามีปัญญาหรือไม่มีปัญญา เขาก็รู้ว่า เรามีปัญญามั้ย มีปัญญาขนาด ในระดับมีพลัง มีความเพียรมั้ย สัมผัสเข้าก็รู้ว่า มีความเพียรมั้ย มาคบคุ้น มาสัมผัสสัมพันธ์บ้าง มีการงานมั้ย ก็มีการงานอันไม่เป็นโทษเป็นภัย การงานที่เขามาตู่ มาว่าไม่ได้ด้วย

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้นี่เรามี ยืนยันได้ พิสูจน์ได้ มามักน้อยลงไป แล้วก็ค่อยๆมักน้อย ตามขั้น ตามฐานะ ที่อาตมาก็ว่าแล้วว่าอีก พูดแล้วพูดอีก อธิบายแล้วอธิบายอีก ผู้ใดมักน้อยได้แล้ว ยังมีที่จะมักน้อย ลงไปได้อีกมั้ย ก็ไม่ตัองให้น้อยจนเกินไป แต่ที่จริงมีนะ บางคนมักน้อยได้เยอะ

สมัยพระพุทธเจ้านี่ พระมหากัสสปะ เป็นผู้ที่มักน้อยยิ่งกว่าพระพุทธเจ้า มักน้อย จนกระทั่ง แม้แต่ที่พำนัก มีพักในกุฏิ พักในที่ร่ม พักในที่ๆอยู่กัน นานๆไปเป็นเดือนเป็นปีอะไรอย่างนี้ พระกัสสปะไม่อยู่ละ มีมักน้อยกว่า มีธุดงควัตรที่มักน้อยกว่า เป็นศีลเคร่ง เป็นธุดงควัตร นอนก็ไม่นอน อย่างนี้เป็นต้น มักน้อยกว่าพระพุทธเจ้า มีสาวกบางรูป ฉันข้าวน้อยกว่า พระพุทธเจ้า ท่านก็บอกว่า เราไม่ใช่ผู้น้อย ผู้ที่ฉันน้อยกว่าเรามีอยู่ อะไรอย่างนี้ ท่านก็เคยตรัส เคยอธิบาย มีคนไปถามว่า ท่านเป็นคนมักน้อย แต่ผู้ที่มักน้อยกว่าท่านก็มี ก็ตามแต่ฐานะ หรือ ตามแต่พอเหมาะสม พอสมควร แต่ขนาดพระพุทธเจ้าเราก็เอาเป็นหลักล่ะ หรือเราจะเอา พระสาวก มหาสาวกบางรูป ที่เราเป็นไปได้ ผู้มีอินทรีย์พละ น้อยได้ กินน้อยเท่านั้นได้ อันนี้มันมากไป ใช้น้อยกว่านั้นได้ หรือ มีอิริยาบถที่น้อยกว่านั้นได้ นอนน้อย อยู่ในร่มน้อย อยู่กลางแดดมาก อะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งมีหลายมากมาย รายละเอียดต่างๆ

เพราะฉะนั้น เรามาดูว่า มักน้อยคืออะไร เข้าใจความหมายให้ดี สำหรับชีวิตเรานี่ จะมักน้อย อย่างไร เราก็หัดกันง่ายๆ ก็การกินการใช้ เครื่องกินเครื่องใช้ เครื่องอุปโภคบริโภค มักน้อยลง อิริยาบถ กิริยาต่างๆ อย่างนี้ ไม่ทำแล้วกิริยาอย่างนี้ มักน้อยลงเถอะ กิริยาอย่างนี้ เป็นกิริยาเฟ้อ เดินกรีด กรายซัดส่าย อย่างโน้นอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ หรือพฤติกรรมอย่างนี้ เราหยุดเถอะ อย่าทำเลย มันเฟ้อแล้ว น้อยลงเถอะตัดออกเถอะ กิริยาอย่างนี้ เราเคยทำ ไม่เข้าท่าละ เลิกเสีย ก็เป็นความมักน้อยนะ กิริยาอย่างนี้ ไม่มีประโยชน์แล้ว กิริยาอย่างนี้ไม่งาม ไม่สุภาพ กิริยาอย่างนี้ มันมากไป ทำกิริยาอย่างนี้ดีกว่า ดู จะดี เราก็ตัดก็เจียน ควบคุมอบรมฝึกตน เป็นผู้รู้จักว่า ควรจะมักน้อยลงไปอย่างไร พอเป็นอย่างนี้แล้ว กิริยาอย่างนี้พอมั้ย ในการมีชีวิต ในกิริยาเพียงเท่านี้ อย่าไปพูดถึงแค่วัตถุ เครื่องกินเครื่องใช้เลยมันง่าย ก็พูดถึงขั้นกิริยา ก็แล้วกัน กิริยาอย่างนี้เราพอมั้ย สร้างสรรพอมั้ย กิริยาแค่นี้ ถ้าไม่มีกิริยาอย่างนั้นอย่างนี้อีก นี่มันจะเป็นไปได้มั้ย

อาตมายกตัวอย่างให้ฟังอย่างหนึ่ง สมัยก่อนนี้อาตมาไม่หัวเราะ ยิ้มแย้ม หสิตุปบาท ในระดับ ที่มีเสียง ในระดับที่หัวเราะมีเสียงนี่ อาตมาไม่มีหรอกแต่ก่อนนี้ ตั้งแต่สมัยอยู่วัดอโศการามไม่มี ทีนี้ พอมาทำงานกันไปกับพวกเราไป ก็ยิ้มแย้มมากขึ้น อะไรต่ออะไรมากขึ้น จนกระทั่ง มีคนหลายฐานะ หลายฐาน มีฐานะต่ำ มีภูมิต้องพยายามสัมพันธ์ มีอะไรต่ออะไร เกื้อกูลขึ้นไป อาตมาต้องยิ้มแย้ม หสิตุปบาท เป็นอาการยิ้มแย้ม จนมีหัวเราะ มีเสียงอะไรขึ้นมา อาตมาก็ เอ๊ะ เราเองนี่ ต่ำลงหรือเปล่า หรือเราเกื้อกูลผู้อื่น กิริยาที่หัวเราะยิ้มแย้ม จนกระทั่งมีเสียงมีอะไรนี่ เป็นอนุโลมนะ แล้วอย่างนี้ไปเราทำอย่างนี้ เพราะเกิดจากอะไร เกิดจากเราเอง เรา...มันอร่อยใจ แล้วเราก็เลย ต้องทำความอร่อยใจนี้ หรือว่าเราทำเพื่อที่จะสัมพันธ์ เกื้อกูล เพราะว่า ถ้าเผื่อว่า เราเคร่งขรึม หรือว่าเราหัวเราะน้อย ความเคร่งขรึมนั้น ก็ดูน่ากลัว ดูสัมพันธ์ ยาก แต่ถ้าเผื่อว่า ดูยิ้มแย้ม ในขณะที่คนมีจิตภูมิฐาน ขนาดนี้ล่ะ ถ้าดูขนาดนี้เขารับติด ถ้าไม่ขนาดนี้ เขารับไม่ติด อย่างนี้เป็นต้น อันนี้ก็อธิบายสู่ฟัง ในเรื่องนี้มีไอ้เรื่องนี้ เกิดมานานแล้วละ อาตมายังไม่เคย พูดถึงซักที ก็พูดถึงให้ฟังบ้าง อย่างนี้เป็นต้น มันมักน้อยนะ แต่ว่ามันก็ต้องมากขึ้น กิริยาหัวเราะ กิริยายิ้มแย้มนี่ มันมากขึ้นนะ มันผิดความมักน้อยมั้ย การทำสิ่งนั้น เราทำเพื่อตน หรือเราทำเพื่อท่าน

แม้แต่อาตมาเคยพูด ใช้สำนวนว่า อาตมากินอาหาร อาตมากินอาหารเพื่อคุณ อาตมาเคยพูด ตั้งแต่สมัยที่เทศน์ อยู่ที่วัดมหาธาตุ สำนวนนี้อาตมาก็ยังจำได้ ถ้าพวกเราที่เคยฟัง ก็คงจำได้ อาตมากินอาหารนี่ มีคนมาถาม อาตมาก็พูด อาตมาบอก อาตมาไม่ได้กินอาหาร เพื่ออาตมา เองหรอก อาตมากินอาหารเพื่อคุณ เขาก็หัวเราะ เขาบอกว่า มากไปแล้วหลวงพี่ เขาก็ว่า อย่างนั้น กินอาหารไม่เพื่อตัวเองได้อย่างไร เขาว่าอาตมา ถ้าไม่มีชีวิต อาตมา ก็ไม่ต้องมีชีวิต ถ้าอาตมามีชีวิต อาตมาก็มีชีวิตเพื่อสร้างสรร เพื่อทำงาน แล้วอาตมาทำงาน ก็ไม่ได้ทำงาน เพื่อลาภยศ สรรเสริญอะไร ไม่ได้ทำงานเพราะมันอร่อย เพราะเสพสุข ว่าได้ทำการงาน อาตมาไม่ได้ทำงานเพื่อตน ไม่ได้เพื่อตนในโลกียะใดๆ อย่างที่ กล่าวนี้ ไม่ได้เสพอะไร อาตมาทำงาน มีชีวิตอยู่ เพื่อทำงาน ก็ทำงานเพื่อสร้างสรรให้ผู้อื่น จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่รู้ได้ เขาบอกว่าไม่เชื่อ มันต้องเพื่อตนน่ะ อย่างน้อย ก็กินก็ต้องอร่อย เขาว่าอย่างนั้น อาตมา อธิบายไป ในเนื้อหาสาระว่า กินอาหารไป เพื่อสังเคราะห์ร่างกาย เพื่อที่จะทำงานให้คนอื่น เขาก็ไม่รู้เรื่อง เขารู้เรื่องแหละ แต่เขาก็เถียงไปอีกแง่หนึ่ง เขาบอกไม่เชื่อ กินก็ต้องอร่อย นั่นน่ะ เพื่อตนเอง เขาว่า แหม ยิ่งเข้าเป้า อาตมาใหญ่ เรื่องนี้ อร่อยนี่มันหยาบ ด้วยซ้ำใช่มั้ย (หัวเราะ) อร่อยนี่มันหยาบด้วยซ้ำ มันก็แน่นอนล่ะซิ ก็คนโลกๆ เขาเสพโลกีย์ อย่างนั้นจริงๆ บอกอาตมา ไม่ได้กินอาหารอร่อย ไม่เชื่อ...เขาว่าอย่างนั้น อะไรกินอาหารไม่อร่อย ไม่รู้เหรอว่ารสเป็นอย่างไร ไอ้ รสน่ะอาตมารู้ จะเค็ม จะหวาน จะเปรี้ยว จะเค็ม อาตมาอะไรก็รู้ แต่อาตมาไม่ได้อร่อย พูดกันไม่รู้เรื่อง จบกันตรงนี้ จบกันตรงเขาไม่เชื่อว่า อาตมาไม่อร่อย อาตมาก็เลยตอบแต่ว่า อาตมาไม่ได้อร่อย เขาบอกไม่เชื่อ เอ้า ไม่เชื่อ จะไปบังคับ ความเชื่อ (หัวเราะ) กันได้เหรอ ก็อร่อยใคร หรือ ไม่อร่อยใคร มันก็อยู่ที่ใคร ที่มันชิมแกง ชิมผัดอะไร มันก็ใครชิมก็ใครกิน จะอร่อยไม่อร่อยก็ที่ ใครคนนั้นเท่านั้น เขาก็ไม่เชื่อ ไม่เชื่อเราก็บอก ก็ไม่เชื่อก็แล้วไปสิ ไม่เชื่อก็จบกันที่ตรงนั้น อย่างนี้เป็นต้น

มันยากนะ มันยากที่จะบอกความจริง หรือว่าที่จะกล่าวความจริง ที่มันเกินภูมิเกินฐาน สิ้นอัสสาทะ หรือสิ้นรสอร่อย มันสิ้นอย่างไร มันไม่ใช่เรื่องพูด มันเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ มันเป็นเรื่องที่ต้องเป็น มันเป็นเรื่องที่จะต้อง แหม มันไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน สนิทจริงๆ ที่จะเรียกว่า อรหัตผล ต้องสิ้นอัสสาทะจริงๆ แม้ไม่ถึงสิ้นอัสสาทะ มันน้อยไปจนกระทั่ง เหลือเศษเล็กๆ น้อยๆ มันยังไม่สูญสนิทหรอก มันก็ไม่มีแรงที่จะต่อได้ สำหรับผู้ที่มีญาณ มีญาณเห็นจริงเลยว่า เขาไม่ยอมให้โตนะ จะให้ลดอัสสาทะ นี่โตขึ้นมานี่เขาไม่ยอม ตัวใครก็ตัวใครละ จะหิริ จะโอตตัปปะ ของตัวเอง แหม นี่ถ้ามันโตขึ้นไป มันมากขึ้นไป มันรู้นะว่า มันโตขึ้นได้ ถ้ามันไม่สูญสนิท

เพราะฉะนั้น คนที่เข้าเขตที่เรียนมาของพระพุทธเจ้าแล้ว จะมีญาณรู้ว่า นี่สิ่งที่เป็นกิเลส เป็นอัสสาทะก็ดี เรียกว่าเป็นรสอร่อยก็ดี ถ้ามันไม่ระมัดระวังแล้ว มันโตได้ โตได้ โตได้ แล้วมันก็พลิกกลับไปเป็นโลกีย์อีกได้นะ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าเรารู้จริง อ่านใจตนเองเป็น เป็นโอปปาติกะ เป็นโอปปาติกบุคคล คือ บุคคลที่มีจิต อ่านจิต สัมผัสจิต รู้ในสิ่งที่เป็นกิเลส ตัณหา อุปาทาน แล้วก็มีหิริโอตตัปปะในขีดของเทวดา ในระดับอนาคามี ขีดในระดับที่เป็น โอปปาติกบุคลล หรือเป็นคนในระดับที่เข้าใจขีดน่ะ ไม่รู้จะบอกว่าอย่างไรล่ะ มันมีการตัดรอบว่า ไม่ได้ ถ้าโตกว่านี้ไม่ได้ เป็นคนรู้จริงๆนะ รู้ว่าถ้าขืนโตกว่านี้ล่ะตาย ถ้าปล่อยให้อัสสาทะ ปล่อยให้กิเลส ปล่อยให้โลภะ โทสะ มันโตขึ้นกว่านี้แล้ว ไม่มีโมหะ คนนี้ไม่มีโมหะแล้ว เข้าใจแล้ว โตไม่ได้ ถ้าขืนโตไปล่ะตาย โตไปแล้วมันก็ เดี๋ยวก็สู้ไม่ได้เลย เดี๋ยวก็ตีกลับพลิกกลับ ไอ้นี่เป็นความจริงของความจริง เพราะฉะนั้น คนที่รู้แล้วจริงๆ นี่เขาไม่ยอมให้โต ไม่ยอมให้โตแล้ว นอกจากไม่โตแล้ว เขาต้องไม่ประมาทด้วย จะต้องให้เล็ก จนกระทั่งให้หมด จะต้องให้สูญ มีเป้าหมายอย่างนั้น ไม่ประมาทแม้โทษภัยอันมีประมาณน้อย ไม่ประมาทจริงๆ

คุณพิสูจน์ไปเถอะสิ่งใดก็แล้วแต่ ที่คุณเคยติด เคยเป็นรสอัสสาทะ แล้วก็พยายามดูให้ดีว่า ไอ้ที่ไม่มีรสอัสสาทะ ไม่มีรสอร่อยเลยจริงๆนั้น มันเป็นอย่างไรในของหยาบ หรือของที่คุณเคยติด แล้วก็เคยละล้างมา บางอย่างติดไม่มาก แล้วก็ละล้าง จนกระทั่งสูญ ก็จะเห็นได้ชัด บางอย่าง ติดมาก ก็อาจจะนานหน่อย หรือบางอย่างติดมาก ได้วูบๆวาบๆ เสร็จแล้วเราก็ละ อัสสาทะนั้น ได้สูญสนิทจริงๆ คุณก็อ่านของคุณเอา อ่านของใครของมัน มันเป็นปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ รู้ได้ด้วยตน ผู้อื่นมารู้แทนเรา ไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น อาตมาบอกว่า อาตมาเอง อาตมานี่ กินเพื่อคุณ อาตมาหัวเราะเพื่อคุณ เอ๊ มันไม่น่าเชื่อนะ มันไม่น่าเชื่อนะ ฟังแล้ว มันเหมือน โอ้โห เล่นลิ้น เล่นโวหาร เล่นคารม ไม่ต้องเอาอะไรมากหรอก เอาแต่เพียงคุณเคยได้ยินมั้ยล่ะ คำพูด ที่อาตมาพูดนี่ แล้วมันจะเป็นความจริงได้มั้ย อาตมาก็อธิบายไว้แล้ว คุณพิสูจน์ซิ แล้วมันไม่ง่ายนะ มันไม่ง่าย จะละเอียดลออ จนกระทั่งถึงขั้นตีกลับ ถึงขั้นอนุโลมปฏิโลม

ถ้าอาตมาไม่เป็นโพธิสัตว์ อาตมาก็ว่า อาตมาก็คงไม่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ อริยะอรหันต์ธรรมดาๆ ที่บางทีทำแล้ว ไม่เข้าใจ ในรายละเอียดซับซ้อนพวกนี้น่ะ แต่ทำได้ ทำได้แล้ว ก็จบที่ตัวเอง จบแล้วก็เป็นไปของตัวเอง จะอนุโลมมาก ไม่อนุโลม เพราะฉะนั้น อรหันต์บางรูป จะเห็นได้ว่า ซื่อบื่อ ทะลึ่มทึ่ม โดยเฉพาะสายที่ปัญญาน้อยๆ สายเจโตนี่ จะเห็นได้เลย ทื่อๆทึ่ม ไม่รู้ล่ะ ของตัวเอง อนุโลมคนอื่นไม่ได้ อนุโลมคนอื่นไม่เป็น ไม่มีปัญญา ที่จะอนุโลม เพราะถ้าอนุโลมไป ประเดี๋ยวตัวเองก็จะเสียท่า เพราะฉะนั้น ไม่ได้หรอก โพธิกิจไม่มาก โพธิญาณไม่มาก อนุโลมไม่ได้ คือญาณปัญญานี่ ประกอบโพธิสัตว์ ถ้าโพธิสัตว์แล้ว ก็ประกอบไปด้วย ญาณตรัสรู้ที่มาก ถ้าไม่มีญาณปัญญา แต่มีเจโตนะ เจโตต้องแข็ง พระอรหันต์สายเจโตนี่ เจโตต้องเป็นจริง เจโตนี่ชัด เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ ที่ไม่มีโพธิกิจมาก หรือไม่มีญาณมาก ไม่มีปัญญา ไม่มีโพธิญาณ สายเจโตตรงๆนี่ จะเห็นได้ มะลึ่มทึ่ม สายเจโต ทึ่มทื่อ ผางๆ ไม่หย่อน ไม่ยาน ไม่อนุโลม ไม่อะไรล่ะ อะไรก็ พั๊วะ พั๊วะ พั๊วะ พั๊วะ ตัดเปรี้ยงๆๆ เป็นอย่างนั้น จริงๆ

สังเกตดูเถอะ คนที่สายเจโตนี่ ถ้าเผื่อว่าเรียน แค่อรหันต์ล่ะ ขี้มักจะเป็นอย่างนั้นน่ะ แต่สาย ปัญญาล่ะตีกินนะ สายปัญญานี่ช้าจริงๆ ช้าตรงตีกินนี่แหละ เลี่ยง ใช้ปัญญา... ยิ่งอาตมา อธิบายนี่ยิ่ง โอ๊ เข้าใจ เข้าใจ พอเข้าใจความหมาย ก็เอามาไว้ตีกิน หลอกคนอื่น หลอกตัวเอง ด้วยแหละ มันบาปซ้อนเมื่อหลอกคนอื่น หลอกตัวเองก็บาปแล้ว หลอกคนอื่นก็ซ้อนเลย บาปมากขึ้น แล้วตีกินอยู่ อย่างนั้นน่ะ เลี่ยงๆหลบๆด้วยความรู้

ที่อาตมาพูดนี่ ที่จริงพูดไปก็เหมือนกับชี้โพรงให้กระรอก มีปัญญา คนมีปัญญาก็เหมือนได้รับ รู้แล้ว มีโพรง เหมือนชี้โพรงให้กระรอก รับรู้แล้ว ก็เลี่ยงตัวเอง ถ้าเลี่ยงก็ยิ่งช้า ก็ขอยืนยัน ขอกำชับกำชา อย่าไปเลี่ยง ทำจริงๆของเราไป แต่คนมีปัญญานี่ ก็อนุโลมได้จริง ตัวเอง ก็หัดฝึก ไปในตัว มีโพธิญาณโพธิกิจ หัดฝึกกันไป แล้วมันจะเป็นสภาพช่วยผู้อื่นได้เยอะ แล้วก็ เพราะอนุโลม กับผู้อื่นได้จริงนั่นแหละ แล้วตัวเองก็มีพลังจริงนั่นแหละ มีกำลังแห่งปัญญา ที่สูงจริง แล้วก็มีเจโตหรือมีตัวที่ได้ฝึกปรือมา อย่างถูกต้องจริง มันจึงเป็นประโยชน์คุณค่า ต่อผู้อื่นได้มาก

สายปัญญา จะสอนคนได้มาก จะกอบกู้เป็นมหายาน กอบกู้หรือว่าช่วยเหลือ รื้อขนสัตว์ได้เยอะ สายเจโตจริงๆนี่ รื้อขนสัตว์ไม่ได้เยอะหรอก แต่มีผู้ที่ศรัทธาเยอะเหมือนกัน ศรัทธาเยอะ แต่สอนเขาไม่ได้ ศรัทธาเยอะ ศรัทธา คนมาศรัทธานั้นปัญญาน้อย เพราะฉะนั้น ปัญญาน้อยนี่ บรรลุธรรมได้ช้า บรรลุธรรม ปัญญาน้อยมันบรรลุธรรมได้ยาก ปัญญานี่ มันก็ซ้อน อีกแหละ ปัญญาที่มันไม่รู้รายละเอียด ปัญญาที่มันไม่รู้สัจจะตรง มันเพี้ยนๆ มันไม่ค่อย แหลมคม มันก็ได้ช้า เพราะเหตุนั้น แต่ถ้าเผื่อว่าเข้าใจชัดแล้ว มันไม่ช้านะ เจโตนี่เร็ว เข้าใจชัด เข้าใจถูกต้องเปรี้ยงแล้วเร็ว มันไม่เลี่ยง มันเอาจริง เจโตนี่ ส่วนปัญญานั่น มันเลี่ยง มันรู้ได้ชัด เหมือนกัน แต่มันก็ไม่เอาจริง มันไม่แรง มันลักษณะสองอย่างนี่ มันลักษณะ ปัญญากับเจโต มันต่างกันอยู่อย่างนี้เสมอ ดีอย่างเสียอย่างทั้งคู่ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ตัว เราเองว่า เรามีอะไรตัวดี แล้วเราต้องเอาตัวดี อีกข้างหนึ่งมาให้ได้ เราสายปัญญา เราก็ต้องเอา ตัวดีของเจโต เราสายเจโต เราก็ต้องเอาตัวดีของปัญญา หรือไม่ใช่สาย ที่จริงมันก็กลับไป กลับมา อยู่ที่การสั่งสม สั่งสมเจโต มากๆ เดี๋ยวก็เป็นเจโต สั่งสมปัญญามากๆ เดี๋ยวก็เป็น ปัญญา เพราะฉะนั้น เรามีอะไรที่ดีแล้ว อะไรที่ขาดอยู่ เราก็เอาอันนั้นนะ

เพราะฉะนั้น การฝึกปรือ การบรรยาย การกล่าวถึงมีเรื่องราวอะไร นี่เป็นไปเพื่อความมักน้อย อยู่เสมอ เป็นไปเพื่อความพอ ความสันโดษ เมื่อสันโดษ แล้วมันก็เป็นสุข มันก็จบ มันพอแล้ว มันก็จบ อย่างชีวิตนี่อาตมาพูดถึงตัวเองแล้ว ว่าพูดถึง พยายามย้ำยืนยัน เรื่องสันโดษเสมอ ตอนนี้ เพื่อให้คุณได้ตรวจสอบตนเองว่าเราพอมั้ย ชีวิตของเราวันๆคืนๆ ตื่นเช้ามาก็ตีสามครึ่งนี่ พอมั้ย ตื่นเช้ามา ก็มานั่งฟังธรรม วันแล้ววันเล่า อย่างนี้พอมั้ย ดีมั้ย ชีวิตนี่ประเสริฐมั้ย อาตมาว่า มันดีนะ เช้าๆก็ได้มานั่งฟังธรรมนี่ เป็นบุญของเราแล้วหนอ นี่มันเป็นบุญจริงๆนะ แทนที่จะไปฟังเสียงทอเสียงด่า เสียงโลภ เสียงโกรธ ไปฟังเสียงไม่เข้าเรื่อง เข้าราวอะไร ก็ได้ฟังเสียง ที่เป็นธรรมะ จะเป็นธรรมะสูงบ้าง ต่ำบ้างอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันเป็นบุญนะ ไม่ได้เสียค่ากัณฑ์เทศน์สักบาทเดียว ก็มาเทศน์ ให้ฟังอยู่นั่นแล้ว เทศน์แล้วเทศน์อีก พากเพียรกันไป คนนั้นบ้าง คนนี้บ้าง คนโน้นขี้เกียจ คนนั้นไม่ขี้เกียจ คนนี้ก็ขยันขึ้นมา ก็แล้วกัน ก็ทำไปให้มันครบระบบ ให้มันมีอยู่ เทศน์สู่กันฟัง อยู่วันแล้ววันเล่า มันเป็นบุญมั้ย มันยินดีมั้ย มันพอใจ มันเป็นฉันทะมั้ย มันพอแล้ว มันสันโดษ แล้วมันก็พอใจ แล้วมันก็ยินดีนะ เออ ก็มีการเกื้อหนุนกัน มีจารีต ประเพณี มีระบบระเบียบอะไรกันอย่างนี้ ถ้าจะเป็นชีวิตอย่างนี้ ไปตลอดตาย เป็นอย่างไร ดีมั้ย คุณก็ถามไถ่ตัวเองดู เออ ชีวิตอย่างนี้ ถ้าอย่างนี้ ไปตลอดตาย ก็ดีน่ะซิ มาได้ก็มา มาไม่ได้ เขาก็ไม่ได้บังคับจนเกินการณ์นัก แต่ก็บังคับกันบ้าง สำหรับ ที่เห็นท่าทีว่า เอ๊ มันขี้เกียจนี่นะ มันไม่เอาดี ทำไมมันเป็นอย่างนั้น ถ้าผู้ใดมีสำนึกเอง มีความรู้เอง ก็เข้าใจ ก็ขวนขวาย ก็ฟังธรรม ควรฟังธรรม ฟังสัทธรรม มันก็เป็นการเจริญ หรือได้ทบทวนอยู่

พระพุทาธเจ้าถึงได้ยืนยันว่า พระอรหันต์เจ้าไม่เบื่อในการฟังธรรมหรอก เพราะได้ฟังสิ่งที่ดี มันก็เป็นสิ่งที่เป็นกุศล เสร็จแล้วเราก็ทำงานนั่นนี่ไป สร้างสรรไป กินก็มีกิน อย่างนี้ ใช้ก็มีใช้ อย่างนี้ เสื้อผ้าหน้าแพร เครื่องใช้สอยเป็นปัจจัยก็อย่างนี้ มีบริขาร เครื่องประกอบ ในการใช้สอย ก็พอประมาณอย่างนี้ พอเป็นไป มันพอมั้ย มันสันโดษมั้ย ถ้าสันโดษ จิตคุณเป็นจริงแล้ว นั่นแหละ ปวิเวกะ สงบ จิตคุณสงบ จิตคุณหยุดได้ จิตคุณไม่มี กิเลสจริง ถ้ามันยังมีอีก ก็เรียนรู้กิเลสมันอีก ล้างกิเลสมันออก ฆ่ากิเลสมันออก กิเลสมัน ตายสนิท มันก็ปวิเวกะ มันก็สงบ สงบแท้ก็เพราะว่าสันโดษแท้ สันโดษแท้ก็ เพราะว่าสงบแท้

น้อยแค่นี้นี่ น้อยได้อีกมั้ย น้อยได้อีก เจียนลงอีก ถ้าพอแล้ว น้อยขนาดนี้ พอเหมาะแล้ว น้อยกว่านี้ มันจะเป็นการ ทรมานตน เป็นอัตถกิลมถานุโยค ถ้าน้อยกว่านี้ไปแล้ว มันก็ไม่ดีแล้ว ก็เอา ไม่ต้องน้อยลงไปอีก แค่นี้พอดี ก็ทำ เราหมดสวรรค์หรือยัง อสังสัคคะ มันยังมีเศษ ที่เกี่ยวข้อง คลุกคลีอยู่กับกิเลส แม้น้อย หรือว่ายังเป็นกลุ่มเบ้อเร่อเลย อยู่ในตัวในใจก็ไม่รู้ตัว โอ้โห สวรรค์โตใหญ่เลย เรารู้ว่า มันไม่เอาแล้ว มันไม่เป็นแล้ว ไม่ได้สังขารแล้ว ไม่ได้ปรุง เป็นสวงสวรรค์ ไม่ได้เสพ หมดความอยาก สิ้นความเสพแล้ว ไม่ได้เสพ ไม่ได้เสวยอะไรหรอก ก็มีแต่ตัวรู้ ธาตุรู้ว่า มันเป็นอย่างนี้ ก็อย่างนี้แหละ สัมผัสแตะต้อง แล้วเกิดรู้ ก็รู้ตามจริง รู้ไอ้นี่ว่าเป็นรูป ไอ้นี่ว่าเป็นรส ไอ้นี่เป็นกลิ่น ไอ้นี่เป็นเสียง ไอ้นี่เป็นสัมผัส สัมผัสก็เป็นอย่างนี้ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง อย่างนี้ ก็เข้าใจตัวจริงตามความเป็นจริง ไม่ได้ปรุงมาเป็นรสอร่อยอะไร จะรู้ละเอียดดี รู้อะไรเป็นอะไรตรง บริสุทธิ์สะอาดตามจริง รู้ความจริง ตามความเป็นจริงไปหมด ไม่ได้มีรส แห่งความปรุงเป็นรสอร่อย หมดหรือยัง อ่าน มีสังขารเหลือมั้ย สังขารปรุงเป็นโลกียะ สังขารโลก สังขารโลกียะ มีมั้ย แม้เราจะคิด แม้เราจะอนุโลมคิดตามสมมุติโลก เออ เขาว่าอย่างนี้นะ มนุษย์เขาว่าอย่างนี้มัน มันเพราะ เขาว่าอย่างนี้มันอร่อย ปรุงตามโลกเขา เราก็เข้าใจ ตามเขาได้ แต่ใจเรานี่มันอร่อยจริงมั้ย อร่อยอย่างนั้นหรือเปล่า เราไม่ได้อร่อย แต่เราก็เข้าใจว่า เออ อร่อยเป็นอย่างนั้นของเขา เขาความหมายอย่างนั้น มีอาการอย่างนั้น จำได้อยู่ หรือพยายามปรุง คะเนคำนวณตามเขา คะเนคำนวณตาม

ทุกวันนี้อาตมากำลังคะเนคำนวณเสียงเพลงตามเขา (หัวเราะ) เรา เอ๊ มันเพราะมันไปแบบใหม่ สมัยใหม่ อย่างนี้ อย่างนี้นะ ลีลามันไม่เหมือนเก่า เราก็โบราณๆ อยู่อย่างเก่า เขาก็บอกเพลง ชุดขวัญนี่ เห็นมั้ยล่ะ กรุง สี่พระยา เขาเขียนน่ะ เขาบอกว่าคนจะซื้อ ก็คงอายุ ๔๐ ขึ้นไป เขาว่าอย่างนั้น (หัวเราะ) แหม เราฟังแล้วเราก็เหี่ยวเลย เอ๊ เรามันไม่ทันคนสมัยใหม่เลยนะ มันต้องคนอายุรุ่น ๔๐ ขึ้นไปน่ะนะ มันถึงจะซื้อ อะไรอย่างนี้ เอ๊ เราก็ว่าเราพยายาม จะสมัยใหม่ ขึ้นมาแล้วนะ มันก็ไม่ใหม่หรืออย่างไร อย่างนี้ เป็นต้น เราก็พยายามที่จะบอกว่า ไอ้สมัยใหม่ มันเป็นอย่างไร มันปรุงอย่างไรกัน มันเอารสอย่างไร เราก็พยายามตามเขา มันก็คงจะช้าล่ะ เพราะว่าสมัยนี่ เรามัน ไม่ได้ไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว ไม่ได้หมดทั้งใจ ทั้งวิญญาณ ล่ะนะ มันก็ไปแต่เพียงว่า เราจะพยายามคิดตามเขา ระลึกตามเขา เขาเอาอะไร มาผสมอะไร เขาเอาหัว เอาหางอะไรมาทำอย่างไร มันถึงเป็นรสเป็นชาติ แล้วมันลีลาอย่างไร มีองค์ประกอบ อย่างไร กิริยาอย่างไร เราก็สังเกต อ่าน ปรุงตามเขาดู

แต่ทีนี้เราเองเรา มันไม่ได้หวือหวาด้วยรสมากเหมือนแต่ก่อนแล้ว เราไปด้วยหมดเลย จิตวิญญาณ เราก็มีกิเลสไปพร้อม มันก็ปรุงกันใหญ่ มันก็ไปกันใหญ่ มันก็เกิดง่าย แต่นี่เรา มันไม่เกิดง่าย มันก็ช้าอยู่อย่างนี้ล่ะ อาตมาก็ยังนึกๆนี่ บอกตรงๆนะ อาตมายังไม่นึกว่า จะมีชุดสองเลย เดี๋ยวจะพยายามอยู่ เหมือนกันนะ แต่มันก็ไม่ได้หยุด ไม่ได้ท้อแท้ทีเดียว ก็พยายาม ตามเขาอยู่ว่า มันจะไปได้มั้ย จะปรุงตามเขาบ้าง ชุดนี้ออกมาแล้ว โอ้โห หวือหวาเลยนี่ ดังอย่างกับฝันสีทองเลย ดังยังกับ เรามีเราเลยอะไรอย่างนี่นะ เออ มันจะเป็น อย่างนั้นมั้ย ดังอย่างกับสายลม อะไร? (พ่อท่านถามคนฟัง) หาดทราย สายลม สองเรา โอ้โห อะไรนะ เขาชื่ออะไรนะ ฟ้าอะไรนะ (พ่อท่านถาม) ฟากฟ้าทะเลฝัน แหม ชื่อเขาก็เพราะดีนะ เพลงชื่อ ฟากฟ้าทะเลฝัน หาดทราย สายลม สองเรา มันมีอยู่สองแค่นั้นน่ะเหรอในโลก เห็นมั้ย มันส่อถึงกิเลส เมถุน สองน่ะแปลว่าเมถุน คนคู่ มันก็อย่างนั้นน่ะ แล้วมันก็ไปของมัน ต่างๆ นานา อาตมาก็อ่านคำวิจารณ์ ของเขาเหมือนกันว่า สิ่งนี้คืออะไรที่เขา เยาวชน อนุชน หรือว่า พวกวัยสะรุ่น เขาติด ลักษณะของเรามีเรา มันมีอะไร เขาวิเคราะห์กันออกมานะ ลักษณะของ หาดทราย ทะเล สายลม สองเรานี่ มันมีอะไร ลักษณะตั้งแต่ อัญชลีออกมา อะไรพวกนี้ มันมีอะไร เขาวิเคราะห์ออกมา อาตมาก็ดู จับเนื้อหาของเขา พยายามจับเนื้อหา มาดูว่า มันเป็นอะไรอย่างไรอยู่ อยู่บ้าง อย่างนี้เป็นต้น เราเองเราก็พยายามเรียนรู้สังขารเขา ถ้าเราจะตามเขา มันไม่ได้ไปเพราะใจเราชอบ หรือใจเรามันเป็น ไปตามเลย ไอ้ตามน่ะมันจูงง่าย จูงจมูกง่าย เอ้า เราไม่ได้ตาม แต่เราก็ไม่ได้ต้านนะ เราพยายามอยู่นะ มันก็ไม่เร็ว เหมือนเก่าหรอก มันไม่ มันไปยาก มันไปยากอยู่ล่ะ แต่ก็พยายามนะ พยายาม เป็นสภาพ ที่เรียกว่าเรา มันไม่แววไว

แต่ถ้าเป็นพระพุทธเจ้า ท่านจะกลับได้ไวเหมือนกัน เพราะว่าจะเป็น ก็ได้จะตายก็ได้ นี่แหละ ลักษณะเกิดได้ตายได้ จะเป็นไปตามก็เป็นได้ไว จะล้างก็ล้างได้เร็ว เกิดก็เกิด ตายก็ตัด ตายดับ มีอำนาจสูงสุด แต่เรานี่ถ้าเราตายแล้วกว่าจะเกิดอีกก็ยาก ถ้าจะเกิดอยู่จะให้ตาย คนที่จะปฏิบัติ เพื่อที่จะละลด ก็ตายยากเหมือนกัน แต่ตายแล้วจะให้เกิดอีก มันก็ต้องมาฝึกเพียรอีก โพธิสัตว์ จะเข้าใจ มุมตายมุมเกิดอย่างนี้ชัดเจน แต่พระอรหันต์เจ้าจริงๆ ปฏิบัติแต่อรหันต์นั้น อย่าเพิ่ง ไปคำนึงถึงการเกิด คำนึงถึงการตาย โน้มเน้นไปแต่การตาย เสียก่อน มันจะเกิด มันจะมา อนุโลมทีหลังยาก ก็ช่างมันเถอะ อย่าไปกลัว อย่าไปกลัว เอาอรหันต์ให้ได้ก่อน อย่าไปคำนึงถึง โพธิสัตว์ อย่าไปคำนึงถึง เดี๋ยวเราจะช่วยเขาไม่ได้ เดี๋ยวอนุโลมเขาไม่ได้ แล้วเราจะลืมหมด อย่าไปกลัวลืม อย่าไปกลัวลืม ให้มันลืมไปเลย ถ้ามันจะลืมก็ช่างมันเถอะ ไอ้คนอื่น ที่เขาไม่ลืมน่ะ เขาทำ อย่ามาแก้ตัว อย่างโน้นอย่างนี้ เลี่ยงฮุ้นอีก ไม่เอา

เพราะฉะนั้น เรามาเรียนรู้ สังขารนี่เราเรียนรู้จริงๆ แล้วจะอนุโลม คนนี่อย่าเพิ่ง เราต้องเอาตัวเรา ให้หมดสังขาร ให้ชัด ให้หมดไปเรื่อยๆ ไอ้นี่เป็น ต้องให้ชัดนะว่า สังขารที่เราปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้านี่ เราสังขารไปในตัวเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า ไม่มีความรู้ สังขารไม่เป็นเสียเลย ไม่ใช่ สังขารเป็น สังขารพอเป็นพอไป สร้างสรร เพราะเราฝึกทั้งสังกัปปะ ฝึกทั้งวาจา ฝึกทั้งกัมมันตะ การงาน เพราะฉะนั้น มันจะต้องปรุง ต้องสร้างอยู่นั่นแหละ สร้างสักแต่ว่าสร้าง ทำงาน สักแต่ว่าทำงาน คิดสักแต่ว่าคิด พูดสักแต่ว่าพูด การกระทำ การงานสักแต่ว่าการงาน แล้วเรารู้เลยว่า ดีคืออะไร ไม่ดีคืออะไร ตามสมเหมาะ สมควรที่เราเป็นไป นี่เราปรุง อันนี้พอเป็น พอไปมั้ย สร้างขนาดนี้ เราเขียนอย่างนี้ เราปรุงแค่นี้ๆ มันไม่ได้หวือหวาอะไร ซับทราบ นักหนาหรอก ซึ่งแต่ละคนก็มีอยู่

เพราะว่าทฤษฎีของพระพุทธเจ้า ละเอียดซับซ้อน ไม่ใช่ว่า ไม่มีปรุง ไม่มีสร้าง ไม่มีการงาน หยุดดับ เอาไปท่าเดียวถ่ายเดียว มันไม่ใช่ของพระพุทธเจ้านี่ เป็นไปอยู่อย่างนี้ เพราะฉะนั้น มันจึงมีบทบาทการงาน มีพหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ มันมีได้ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ว่า มันกลายเป็นคนซื่อบื่อ เซ่อเบ่อ ไม่ได้เรื่องเลย ไม่ใช่ แต่ไม่ต้องไปคำนึง ถ้าเผื่อว่า ประโยชน์ผู้อื่น แม้มาก โดยการผลาญประโยชน์ตน ที่จะละกิเลสเรา นั่นเอง อย่าไปทำ ถ้าจะผลาญ ประโยชน์ท่าน ประโยชน์อย่างที่ว่านี่ก็คือ ประโยชน์การตัดกิเลส ถ้าเผื่อว่า เราจะเป็นอย่างนั้น ต้องอ่านให้ออก อย่าไปผลาญพร่า

ในฐานะที่เรายังไม่ใช่บำเพ็ญโพธิสัตว์นี้ ต้องเข้าใจที่อาตมาหมายนี้ให้ฟัง เพราะฉะนั้น อาตมา อธิบายตัวเองให้ฟัง มันเป็นฐานะของโพธิสัตว์ ที่อาตมาอธิบายว่า อนุโลมไป อย่างโน้นอย่างนี้ ทำอะไรต่ออะไรไปอย่างนั้นให้ฟังนี่ เป็นความรู้รอบตัว ยังไม่ใช่ ฐานะของเรา ก็อย่าเพิ่งไป กังวลมาก ในเมืองไทยนี่เน้นเถรวาท เน้นเอาประโยชน์ตน อรหัตผล ประโยชน์ผู้อื่นไม่เอา จนกลายเป็นฤาษี เอาแต่ตน แต่ตน จนกระทั่งหนีห่าง มันสุดโต่ง ไปอีกฝั่งหนึ่ง จริงๆ มันก็เลย พูดกันยาก อาตมามาเอาโพธิสัตว์ หรือเอาโพธิญาณ นี่มาพูด มันก็ จะยากอยู่ มันจะย้อนแย้ง มันจะเห็นเป็นเรื่องแก้ตัว เห็นเป็นเรื่องตลบตะแลง เห็นเป็นเรื่องอะไร ต่ออะไร ต่างๆนานา จริงๆ เพราะว่าเราเอง เรามีเชื้อของเถรวาท เชื้อของการเอาแต่ตัว แต่ตน เอาแต่อะไรต่ออะไรออกนี่ มันจัดเด่นไปในทางนี้มานาน หลายร้อย หลายพันปี เพราะฉะนั้น มันก็เลยฟังยาก เข้าใจยาก

ฟังที่อาตมาพูดโพธิสัตว์ภูมินี่ พูดก็ฟังไป แต่อย่าเพิ่งไปหลงตัวเองว่า ตัวเองนี่ ดำเนินโพธิสัตว์ เราจะต้องทำตามฐานของเราให้ได้ก่อน เพราะฉะนั้น มักน้อยก็มักน้อย อย่างที่ว่า พอก็พอ อย่างที่ให้อ่านนี่ ทำให้เกิดจริงจนสงบจริง แล้วเราก็จะรู้ไปเลยว่า เราไม่มีสวรรค์ ไม่เป็นไร ไม่มีสวรรค์ได้เท่านี้ มันมีสวรรค์ได้แค่ ไม่ใช่ไม่มี ไม่มีสวรรค์ได้แค่ มันไม่ มีสวรรค์จริงๆ สวรรค์แบบโลกียะ แดนอาศัยที่เราไม่ลำบาก แดนเราอาศัยไม่ยาก ไม่เย็นอะไร มันก็อาศัย ไปได้ง่ายๆ เป็นอุบัติเทพ เป็นเทวดาที่เกิดจริง เป็นเทวดาที่มีวิสุทธิเทพ รู้ว่าฐานนี้ อาศัยอันนี้ ไปได้ โดยเราไม่เดือดร้อน ไม่ติด อ่านตรงที่ว่าเราไม่ติด ไม่ติด ไม่ติด ไม่ได้ไปโหยหา อาวรณ์ ไม่มีก็เฉยๆ มีก็อาศัยไป ไม่ดิ้นรน ไม่เดือดร้อน

อาการจิตพวกนี้ อาตมาก็พูด เป็นยถา เป็นคำพูดให้คุณได้ฟัง ให้คุณได้รู้เรื่องราวว่า กล่าวถึง ลักษณะ อสังสัคคะ ลักษณะที่มันไม่เกี่ยวไม่เกาะ มันไม่คลุก ไม่คลีแล้ว มันไม่เป็น อาการ รสอัสสาทะแล้วจริงๆ มันเป็นอย่างไร คุณต้องอ่านเองจริงๆ ไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย อสังสัคคะ มันไม่เกี่ยว ไม่เกาะ มันไม่วุ่น มันไม่ดูด มันไม่เสพในรสสวรรค์ แต่มีสวรรค์อาศัย ถ้าในความหมายของสวรรค์ คือสถานที่อาศัยของเทวดาแล้วล่ะ ผู้ที่เป็น พระอริยเจ้า เทวดาจริง ทั้งนั้นแน่ะ เพราะฉะนั้น เป็นเทวดาที่ไม่ติดแป้น เป็นเทวดา ที่ไม่ติดนิกาย เป็นเทวดาที่ ไม่ติดฐาน ไม่ติด มีแต่เจริญขึ้นไป จนกระทั่งเป็น วิสุทธิเทพ เป็นเทพ ที่ไม่มีฐานยึดแล้ว ไม่มี อภินิเวสายะ ไม่มีที่อยู่ แม้แต่เป็นเทวดาไม่ต้องติดที่อยู่ ไม่ต้องติดที่อยู่ ไปได้หมด ถ้าเป็นเทวดา ที่ใหญ่ยิ่ง อย่างพระพุทธเจ้านี่เป็นเทวดาที่ใหญ่ยิ่ง ไปได้หมดเลย แม้แต่ในเมืองพรหม เมืองโน่น เมืองนี่ไปได้ทั่ว ไปแล้วไม่ติดที่ไหนสักที่ ที่ไหนจะยิ่งใหญ่ ขนาดไหน ไม่ติดที่ ไม่ติดภูมิ พูดด้วยภาษาลึกๆหน่อยก็ว่า ไม่ติดภูมิ ไม่ติดภพ เป็นภาษาพระ ก็จะเข้าใจชัดขึ้น ไม่ติด พระพุทธเจ้าเป็นเทวดาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ติดภูมิติดภพ ภูมิที่วิเศษที่สุด ภพที่สงบที่สุด ภพที่สบายที่สุด ภูมิที่สบายที่สุด พระพุทธเจ้าไม่ติด

อาตมายกพระพุทธเจ้าแล้วค่อยยังชั่ว อย่ายกอาตมา ประเดี๋ยวก็จะหาว่าคุย แล้วก็ไม่เชื่อ อยู่อย่างนั้นแน่ะ เอาพระพุทธเจ้าน่ะให้ฟัง ท่านไม่ติดภพ ติดภูมิจริงๆ หมดภพหมดชาติ ไม่เกิดในภพไหนๆ จะไปแม้กระทั่ง ถึงสุทธาวาส ท่านก็บอก ท่านก็ไปสุทธาวาส ก็ไปโปรดเทวดา ในสุทธาวาส ท่านก็ไป แต่ท่านไม่ได้ไปเกิด ไม่ได้ไปอภินิเวสายะ ไม่ได้ไปติดยึดมั่นถือมั่น อยู่ในภพภูมิ ของสุทธาวาส เทวดาในสุทธาวาสมาพบ ก็อ่านในพระไตรปิฏก มาถึงก็กระจอ งอแง โอ๊ย ท่าน อย่างโน้นอย่างนี้มาอีกนะ อธิบายเป็นบุคคลาธิษฐานไป พระพุทธเจ้าก็ทักทาย ปราศัย สั่งสอนไป แล้วท่านก็ไม่ได้เกิดที่นั่น ไม่ได้นิเวศน์ ไม่ได้มีที่อยู่ที่นั่น อภินิเวสายะ ไม่ติดยึด อยู่ที่นั่น ไม่เอาที่นั่นเป็นที่อยู่ ที่พัก ที่พิง ไม่เหมือนศาสนาที่เป็นเทวนิยม ไปอยู่กับพระเจ้า กำหนด ไม่มีทิศทางอะไรก็ตามใจ อยู่ทั่วไปก็ตาม มันก็เป็นสภาพของวิญญาณ ซึ่งเป็นได้ วิญญาณไม่จำเป็นจะต้องยึดถิ่นที่ หลักแหล่ง แต่วิญญาณอยู่ได้ทั่ว เพราะฉะนั้น บอกอย่างไร มันก็ยังยึดอยู่นั่นเอง ยึดอยู่ในสภาพนั้น

เพราะฉะนั้น เราอธิบายกันให้ฟังนี่ อธิบายให้ฟังละเอียดให้หมดว่าในระดับถึงขั้นนั้น แล้วล่ะก็ ไม่ติด ไอ้ความไม่ติดนี่ ไม่ต้องไปเอาที่อยู่ ไม่ต้องไปเอาไอ้โน่นไอ้นี่อะไร เอาอารมณ์ เอาอาการ เมื่ออาการของเราอย่างนี้ เห็นว่าเป็นสบาย เราก็ไม่ต้องติดสบาย เช่นไปติดอารมณ์ในหลับ ในการนอน อารมณ์ใน

มีต่อหน้าถัดไป