กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๔

โดย สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก


วันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่จะตอบปัญหาตอนบ่าย สำหรับอาตมาแล้ว ปาเข้าไปวันที่ห้าแล้วนะวันนี้ แป๊บเดียว ๆ ไวจริงๆ ใครจะส่งปัญหาก็ส่งได้ เริ่มส่งได้ตั้งแต่เช้านี้ บอกว่ายังไม่ได้ทำกล่องเลย กล่องปัญหา ยังไม่ทันได้ตั้งหลักเลย จะถึงเวลาตอบปัญหาแล้ว วันนี้ พรุ่งนี้ ตอนบ่าย อาตมาก็ ตอบปัญหาแล้ว ก็เตรียมหาปัญหา หรือว่ามีปัญหาอะไร ก็เขียนมาใส่กล่อง ใส่อะไรได้แล้ว บ่ายจะได้เริ่มตอบ

ถ้าทำบุญทำทานแล้ว หวังผลมหาศาลมากมาย ในทางความดี [อธิบายไปแล้วว่า แม้แต่ทำทาน แล้ว ก็ยังมีจิตที่ต้องการหวังผล อาตมาก็ได้อธิบายไปแล้ว แต่ทีนี้ยังมีซ้อนลงไปอีก ก็หวังผลแหละ แต่หวังผลทางความดี หวังมหาศาลที่ยิ่งใหญ่มากมายเลยละ ทางความดี] เช่น ได้เป็นพระอรหันต์ พระปัจเจก ฯลฯ อย่างนี้ อยากให้พ่อฯอธิบายด้วย ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร

ในพระไตรปิฎกมีมาก เช่น พระสารีบุตร เคยทำบุญแล้วต้องการเป็น เอตทัคคะเบื้องขวา อย่างนี้เป็นต้น อยากให้อธิบายแยกดีชั่ว ถูกผิดมากน้อย อย่างไรด้วย

การอธิษฐานหรือว่าการตั้งใจ ก็เตือนแล้ว เตือนอีกว่า อธิษฐานนั้นไม่ใช่ขอ แม้เราจะตั้ง ความมุ่งหมาย หรือเจตนา คนเราถ้าเผื่อว่ามีกรรมกิริยาแล้ว มันก็จะต้องมีหลักอย่างที่ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้แล้วว่า เมื่อเรามีทิฏฐิใด เมื่อมีทิฏฐิแล้ว มันก็จะดำเนินการ ต่อจาก ทิฏฐินั้น ทิฏฐินั้นจะดำเนินการต่อด้วยเจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ แล้วก็สังขาร นี่เป็นคำสั้นๆ แต่ว่ามันมีความหมาย

อาตมาไม่ได้เปิดดูพระบาลีว่า เจตนา พระบาลีว่าอะไร แล้วก็ความปรารถนา พระบาลีว่าอะไร ความตั้งใจ พระบาลีว่าอะไร จนกระทั่งถึงสังขาร แต่ก็คิดว่า คงไม่ได้แปลมาผิดเพี้ยนอะไรหรอก เพราะว่า เป็นคำสั้นๆ พวกเหล่านี้ มันเป็นคำที่ค่อนข้างจะตรง ตรงตัวที่จะไปแปลพลิกแพลง อะไร ไม่ได้อธิบาย ไม่ได้ขยายความอะไร แปลเป็นคำออกมาตรงๆเลย สี่คำนี้ เจตนา ๑ ความปรารถนา ๑ ความตั้งใจ ๑ สังขาร ๑ มันก็คงจะไม่พลิกแพลงไปจากภาษาบาลีนัก มันเป็น ภาษาไทย ที่ตรงดี

ทีนี้คำทั้งสี่นี้แหละ จะเป็นตัวที่จะต่อมาจากทิฏฐิที่เราได้ฟังแล้ว่า ผลแห่งมิจฉา หรือสัมมา เพราะฉะนั้น ถ้าทิฏฐิเป็นมิจฉา การดำเนินการต่อ พอคนเรามีความเห็น มีทิฏฐิ มีความเข้าใจ มีความซับซาบไว้ในใจแล้ว จะดำเนินกาย วจี มโน เป็นกายกรรม หรือเป็นวจีกรรม หรือเป็น มโนกรรม ก็ตาม กายกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ วจีกรรมที่จะสมาทานให้บริบูรณ์ ตามทิฏฐิ มโนกรรมที่สมาทานให้บริบูรณ์ตามทิฏฐิ สมาทานเราก็ต้อง คือคนเราจะต้อง อยู่ด้วย การมี อาทาน ถ้าเรามีอาทานแบบอุปาทาน คนนั้นก็มีโดยที่ไม่ได้ศึกษาธรรมะ แต่คนที่ อยู่อย่าง มีสมาทาน คนนั้นก็อยู่อย่างศึกษาธรรมะ แล้วก็ปฏิบัติตามสมาทานที่ตัวเอง ยึดอยู่ หรือถือไว้ ต้องมีที่ที่อาศัย จะไม่มียึดมั่นถือมั่น ไม่ยึดถืออะไรเลยนั่นน่ะ ไม่มีหรอกในโลก

แม้แต่พระอรหันต์ ก็ยังอาศัยอยู่ แต่ท่านไม่ต้องสมาทานอีก เพราะท่านมีสมถะ มีความสงบ มีความสมบูรณ์แล้ว อันนั้นท่านก็มีแล้ว มีแม้ที่สุด โดยโวหารว่า มี แต่ท่านไม่มี เพราะท่านสูญ ท่านสูญตา เพราะฉะนั้น จึงไม่ถือว่า ท่านสมาทานแล้ว ท่านจบแล้วในการสมาทาน แต่ผู้ยังไม่จบ ต้องมีสมาทาน สมาทานเพื่อการปฏิบัติ ประพฤติ เมื่อยังไม่จบกิจ เมื่อยังไม่เป็น พระอรหันต์ มีสมาทานใด แค่ไหน เราก็คือเราจะปฏิบัติกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ซึ่งรวม แล้ว มีสุจริต ๓ หรือ ทุจริต ๓ นั่นแหละ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็ไปสู่ทุจริต ๓ ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ มันก็ไปสู่สุจริต ๓ ทุจริต ๓ เป็นอาหารของนิวรณ์ ถ้าเราเป็นสัมมา ถ้าเราไม่เป็นสัมมา เป็นมิจฉาทิฏฐิ มันก็จะเป็นทุจริต ๓ คือ กาย วาจา ใจ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ก็เป็นอาหาร ของนิวรณ์ ๕ แท้ๆ แต่สุจริต ๓ มันไม่เป็นอาหารของนิวรณ์ ๕ มันจะเป็นอาหารของการลดละ นิวรณ์ ๕ ถ้าเป็นสุจริต ๓ จะเป็นอาหารของการลดละนิวรณ์ ๕ นิวรณ์ ๕ เป็นอาหารของอวิชชา เพราะฉะนั้น เมื่อไม่เป็นนิวรณ์ ๕ ก็เป็นอาหารของวิชชา เกิดวิชชา นี่เราย้อนทวน

ทีนี้ เมื่อกาย วาจา ใจ ที่จะดำเนินไป เราสมาทานแล้ว มันจะก่อเกิดเป็นกรรม กรรมทางวาจา กรรมทางกาย กรรมทางมโน ต่อจากตัวนั้นมามี เจตนา ความปรารถนา ความตั้งใจ สังขาร ความมุ่งหมาย มันต้องมีจุดมุ่งหมาย มีเป้าหมาย มีตัวทิฏฐิที่เราเอง เราเชื่อถือ เราเห็นจริง อยู่นั่นแหละ เราเชื่อถือ เราเห็นจริงว่า ดีที่สุด ต้องอย่างนี้ หรือว่าจะต้องไป ต้องไปอย่างนี้ ยิ่งเป็นคน ไม่มีวิจิกิจฉา ไม่สงสัยอะไรแล้วจริงๆเลย ยิ่งจะเป็นคนที่แน่ แน่วแน่ มั่น จะเป็น มิจฉาก็ตาม จะเป็นสัมมาก็ตาม ถ้าไม่วิจิกิจฉาแล้ว ไม่สงสัยแล้ว

คนที่เชื่อมั่นอย่างมิจฉาทิฏฐิ อย่างพ้นวิจิกิจฉาก็มีด้วยนะ เชื่อไหม เขาว่าเขาพ้นวิจิกิจฉาแล้ว เขาไม่สงสัยหรอก เขาแน่ใจเลย ตายแล้วสูญแหงๆเลย เกิดมาเป็นคนนี้อย่างนี้ เป็นต้น พวกอุจเฉททิฏฐิ เป็นทิฏฐิของเขาเป็นมิจฉานะ เขาพ้นวิจิกิจฉานะ เขาบอกเขาไม่สงสัยแล้ว ตายแล้วไม่มีอะไรต่อเนื่อง สูญ ทั้งๆที่เขายังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อย่างนี้ก็มีได้ นี่แหละคือ ความมั่นของทิฏฐิเขา เมื่อทิฏฐิเป็นเช่นนี้ เขาดำเนินการ กาย วาจา ใจ ก็จะมีเจตนา

มาแล้ว ฝ่ายวิชาการส่งมาแล้ว อาตมาเปรยไปว่าอาตมาไม่ได้เปิดบาลี ท่านเปิดมาให้แล้ว เจตนา มาจากบาลีว่า เจตนาโดยตรง ความปรารถนา มาจากบาลีว่า ปัตถนาก็ตรง ภาษาบาลีว่า ปตฺถนา แล้วก็ว่านี่ มาความปรารถนา ความตั้งใจ มาจากบาลีว่า ปณิธิ ซึ่งเราก็เคยพูด ถึงคำว่า ปณิธิ แปลว่า ตั้งใจ ตั้งลงที่ใจ สังขาร ก็แน่นอน แปลทับศัพท์มาเลย มาจากสังขารา ก็แน่ชัด

เพราะฉะนั้น คำที่ว่าเจตนานั้นคืออะไร เจตนาก็คือ สภาพของความมุ่งหมาย ความจงใจ มุ่งไปสู่ จุดที่เรามีทิฏฐิ บอกแล้วว่า มันจะมีทิฏฐิอย่างที่เราเชื่อ เราถือ เราเข้าใจ เราเห็นว่า จริงอย่างนี้ จริงอย่างนี้ ทิฏฐิมันจะเห็นว่าจริงอย่างนี้ เชื่ออย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ แล้วเราก็จะมี เจตนา ดำเนินการตามเจตนา เป้าตรงนี้ต้องเดินไปสู่จุดนี้ เจตนาก็คือ ต้องมีเป้าของทิฏฐิไว้แล้ว มุ่งหมายไปสู่เป้านั้น เมื่อมุ่งหมายไปสู่เป้านั้น แล้วคุณก็ต้องมีปัตถนา มีความปรารถนา อยาก ต้องการ อย่าไปพาซื่อว่าเดี๋ยวมีกิเลส เดี๋ยวมีกิเลส ปรารถนา อยาก ต้องการไม่ได้ เดี๋ยวมีกิเลส จะบ้ากันใหญ่ ปรารถนาที่ดี ดีได้ ที่ถามมานี่ ปรารถนาที่ดี ดี ปรารถนาไปเถอะ โดยเฉพาะ การปรารถนา นี่เป็นการปรารถนาไม่ได้เพื่อตัวเพื่อตน ไม่ได้เพื่อตัวกูของกู ไม่ได้บำเรอ เพื่ออันนี้ หมายความว่า มาบำเรอ แต่เพื่อละ เพื่อเอาออก มันมีความติดความยึด ความเคยบำเรอตน มีรสอร่อย มีโลกียะ เป็นโลกียะ เป็นกิเลส เราละออก ปรารถนาละอันนี้ออก อยากได้สิ่งที่มัน ยึดเป็น ยึดมี ที่มันเคยเอามาก่อนได้มาก่อน จนกระทั่ง ติดตังอยู่ที่เรา แกะไม่ค่อยออกนี่แหละ เพราะนั่น มันตรงข้ามกัน ล้างกันออก เมื่อมีเจตนาแล้ว มันก็มีความต้องการที่จะเอาออก ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิ แล้ว มันก็จะต้องมาล้างออกให้ถูก ถ้าเป็นสัมมาทิฏฐิจริงก็จะถูก ถูกมากกว่า ไม่ถูก นั่นแหละ เสร็จแล้ว ก็ตั้งใจทุกที มีปณิธิ ตั้งใจทุกที ตั้งใจ หรือว่าให้มันตั้งลง ปณิธิ นี่

ถ้าอธิษฐาน ตัว ธิ หรือตัว ธ นี่เป็นตัวตั้ง ธ ธงนี่ ตัว ธิ ตัว ธนี่ ตัวหยั่งลง หรือตัวตั้งลงให้ได้ ถ้าปณิธิ ก็ตั้งลงได้ ตั้งให้ได้ เมื่อปรารถนา แล้วก็ต้องตั้งลงให้ได้ จะมุ่งหมายไปอย่างไร กาย วาจา ใจ ปฏิบัติ ประพฤติให้มัน สั่งสมลง ตั้งลง หยั่งลง ตั้งลงไปที่ไหน ที่ใจ ปณิธิ นี่ ปฏิบัติ ให้เป็นตัวหยั่งลง ตั้งลงที่ใจ อธิษฐานหมายความว่า ต้องตั้งใจอย่าให้มันเป๋นะ ต้องมีธัมมวิจัย อธิษฐานนี่ ต้องมีธัมมวิจัย ต้องมีตัววิจัย วิจัยว่าอะไรเป็นสัมมา อะไรเป็นมิจฉา ถ้าวิจัยได้ดี ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์นั่นนะ วิจัยได้ดี วิจัยได้ถูกต้อง มันก็จะตรง แล้วมันก็จะดำเนิน ดำเนินไป ด้วยการกระทำของเรา ไม่ว่าจะเป็นกายกรรม หรือวจีกรรม หรือมโนกรรม มันก็จะตั้งลงเป็นปณิธิ

ในสิ่งที่ตั้งลงนั่นแหละ เราก็มีสังขาร จะต้องสังขารให้เป็นปุญญาภิสังขาร ให้เป็นการสังขาร สังขารปรุงแต่งอย่างไร ก็แล้วแต่เถอะ คุณจะต้องจัดการกับมัน ก็ต้องมีบทบาทกลไก เดินเครื่องอยู่ ไม่ใช่นิ่งๆ สังขารไม่ใช่นิ่งๆ มันปรุงมันแต่ง มันปรับ มันแก้ มันไข มันจัดการ จะแปลว่า มันกำลังรบก็ได้ สังขารน่ะ แต่รบอย่างปุญญาภิสังขาร รบอย่างมีการชำระ มีการขจัด ชำระไอ้สิ่งที่ควรชำระ กายก็ตาม วจีก็ตาม มโนนั่นแหละเป็นตัวหลักตัวใหญ่ ชำระออก ชำระออกๆ ขจัดออก รบ ฆ่าข้าศึกตาย ฆ่ากิเลสให้ได้ สิ่งที่เป็นบาป สิ่งที่เป็นชั่ว สัพพปาปัสสะ อกรณัง สิ่งที่เป็นกุศลให้ยิ่งขึ้น แข็งแรงขึ้น แข็งแรงขึ้น ให้ตั้งลงๆ ยิ่งขึ้นๆ นี่คือบทบาท ที่จะต้องกระทำ

เพราะฉะนั้น ที่ถามมานี้ บอกว่า เราปรารถนาทางในการกระทำความดี อยากได้ความดีนั้นน่ะ สั่งสมลงในจิต ตั้งลงในจิตนั่นน่ะ ผิดไหม ไม่ผิด แต่ขอให้มันถูกความหมายที่ลึกซึ้ง ความเป็นจริง ที่ลึกซึ้งให้ได้ก็แล้วกัน ยกตัวอย่างมา อย่างพระสารีบุตรว่าจะทำบุญ ทำบุญนี่ ก็พูดคำกลางๆ อาจจะทำทาน ทำบุญก็คือ ทำทาน ทำทานทีไร ก็ตั้งจิตว่า ทานนั้นขอให้ เป็นอานิสงส์ ในการจะได้เป็นเอตทัคคะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในทางมีปัญญา ได้เป็น พระอัครสาวกเบื้องขวา อย่างนี้เป็นต้น

มีในพระไตรปิฎกว่า ท่านตั้งจิตตั้งใจ แล้วท่านก็ทำอย่างนี้ ระลึกอย่างนี้ สั่งสมจิตอย่างนี้ การตั้งใจ หรือว่าการอธิษฐานอย่างนั้นแล้ว แล้วผู้นั้นก็เข้าใจว่าอธิษฐานก็คือ เมื่อตั้งใจแล้ว ก็ต้องพยายาม ให้มันตั้งลง จากอธิษฐานเป็นปณิธิ ความตั้งลง หยั่งลง เกิดขึ้นให้จริง กรรมอย่างไร จะได้เป็นอัครสาวกล่ะ ทำอย่างไรจะได้เป็นอัครสาวกพระพุทธเจ้า เป็นคนเช่นนี้ เราก็ต้อง ปฏิบัติตนให้เป็น คนที่จะต้องมีครรลองเดียวกัน มีลักษณะเดียวกัน พระสารีบุตรก็ต้อง สั่งสมกรรม กิริยา หรือสั่งสมบารมี สั่งสมบุญให้เหมือนพระพุทธเจ้าให้มากที่สุด พระสารีบุตร จึงได้ชื่อว่า เป็นรองพระพุทธเจ้า มีอะไรที่เหมือน หรือคล้าย หรือทำอะไรได้เป็น ทางธรรมะ คุณธรรม แค่จริตไม่เหมือน หลุกหลิก พระสารีบุตรหลุกหลิก แต่อันนั้นเป็นส่วนย่อย แต่ในทาง เนื้อหาสารัตถะนั้นเหมือนใกล้ จนพระพุทธเจ้า ตรัสว่า เป็นรองเรา แทนพระพุทธเจ้าได้ทีเดียว อย่างนี้เป็นต้น

ก็ต้องสั่งสมอันนั้น อย่างนั้น ให้มันไปครรลองเดียวกัน มันถึงจะไปได้ เพราะฉะนั้น สั่งสมกรรม ที่เป็นส่วน ที่จะไปด้วยกันได้ มันจะไปด้วยกันได้ อย่าไปสั่งสมกรรมแบบคนละเรื่อง เช่น คนหนึ่ง ไปสู่นิพพาน ไปสู่ทางโลกุตระ อีกคนหนึ่ง ก็สั่งสมไปทางโลกียะ เช่นว่า เราพูดกัน ความรัก เสร็จแล้ว ก็ผู้หญิงหนึ่งก็มารักพระเข้า ว่าอย่างนั้นนะ เสร็จแล้ว ก็อยากจะไปเกิดกับพระ พระท่าน ก็จะไปนิพพาน ไปโลกุตระ ผู้หญิงนี้ก็รัก จะเกาะให้ติดให้แน่นอย่างเหนียว รักต้อง ผูกความรักให้มาก แต่ไอ้ที่รักให้มากแน่นให้แน่นี่น่ะ มันเป็นโลกุตระหรือเป็นโลกีย์ มันทำทาง ไปไหนล่ะ จะไปให้ได้จะต้องให้แน่น จะต้อง คือ ความมิจฉาทิฏฐิ คือความหลงผิด จะต้อง ให้แน่น เกาะติดให้แน่นเลย จะต้องผูกพัน จะต้องรักให้สนิท พระท่านก็ไปนิพพาน ท่านก็วาง จาง เรื่องโลกียะไปสูงไกล ทางนี้ก็ยิ่งแน่นไปไกลเหมือนกัน ไปไกลกันเลย ถามว่าจะพบกันไหม ในโลก ในอนาคต ไปคนละทิศเลย นี่คือมิจฉาทิฏฐิ ใครทำจิตทำใจอย่างนี้ เปลี่ยนเสีย ถ้าอยากไปใกล้จริงๆ ต้องทำให้เป็นโลกุตระด้วยกัน ละกิเลสที่ผูก ที่เหนียวที่แน่น ที่ดูด ที่ดื่ม อะไรออกหมด จางคลายให้ได้ มันจึงจะได้ไป

เห็นไหม มันกลับกัน มันกลับกัน ต้องให้ชัด ไม่เช่นนั้นไม่ชัด นี่ก็อธิบายแถมนะ เพราะฉะนั้น ในการปรารถนา ก็ต้องเข้าใจในรายละเอียด ต้องมีปรารถนา เพราะฉะนั้น คนเราอธิบายถึง การปฏิบัติธรรม ของพระพุทธเจ้าที่จะไปโลกุตระ จะไปนิพพาน เล่นไม่ให้คิดอะไรเลย ให้ว่างๆๆ อย่าอยากอะไรเลย หนักเข้าเดี๋ยวก็ไม่อยากกินข้าว จะตายเอาน่ะนา จริงๆ ไม่อยากทำอะไร ก็ขี้เกียจ ได้แต่บาปอยู่นั่นแหละ หนักเข้าไม่อยากกินข้าว ดังกล่าวแล้ว ไม่อยากกิน แล้วก็ไม่อยากนอน แล้วก็ไม่อยากอะไรเลย รับรองอายุจะสั้นนิดเดียว คนนี้ตายแน่ๆ นี่มันพาซื่อ อย่างนี้ได้ แล้วก็มาสอนลัดๆ ไม่เข้าเรื่อง ไม่เข้าราวกันมาก

การตั้งจิตจะทำบุญ หรือปรารถนา ก็ต้องปรารถนาให้ดี อธิษฐานหรือตั้งจิตให้ดี จะตั้งเป็น เอตทัคคะ จะตั้งเป็นอะไรต่ออะไร ก็ให้เข้าใจว่าเรามีจุดมุ่งหมายอะไรที่ชัด แล้วต้องทำ ไม่ใช่เอาแค่จิตที่จะไปผูกพัน จิตไปเกาะเกี่ยว จิตนี่จะไปดูดเฉยๆ อย่างคนเด็กๆ เอาแต่เกาะ จอแจๆ เกาะติดตังเฉยๆ เราทำซีๆ ทำสิ่งที่ตรงกับสิ่งนั้น ทำให้เหมือนสิ่งนั้น ทำให้ดี อย่างสิ่งนั้น สิ่งนั้นน่ะอะไร ปรารถนาเป็นเอตทัคคะ ปรารถนานิพพาน ปรารถนาอย่างใด

ยกตัวอย่าง อย่างอีกทีหนึ่ง อย่างง่ายๆ เป็นรูปธรรม เรานับถือว่า พ่อเราเป็นฮีโร่ ลูกก็แหม นับถือ ศรัทธาบูชาพ่อเป็นฮีโร่เหลือเกิน อยากจะเป็นอย่างพ่อ อยากจะได้อย่างพ่อ อยากจะมีอย่างพ่อ พ่อไปไหน ก็ต้องไปด้วย เกาะจอแจ กระจองอแง ร้องไห้ไป แต่ตัวเอง นิสัยไม่เคยปรับ จะให้เป็น อย่างพ่อ ไม่เคยเรียนว่าพ่อของเราเป็นฮีโร่อย่างไหน อะไรเป็นสิ่งที่เราประทับใจ อะไรเป็นสิ่งที่ พ่อเราเป็นแล้ว แล้วเราก็ประทับใจ บูชานับถือสิ่งนี้ของพ่อเหลือเกิน เราไม่เคยเรียน จะเอาแต่ว่า ไปกับพ่อ ติดกับพ่อ พ่อไปไหนฉันจะไปกับพ่อ มีแต่พ่อนี่แหละ อย่างนี้ แล้วเราก็ไม่ได้หรอก เรารักพ่อบูชาพ่อ อะไร จะเป็นอย่างนี้ จ้างก็ไม่ได้เป็น จ้างก็ไม่ได้ไป จ้างก็ไม่ได้ผล อย่างที่ว่านี้ อธิษฐาน หรือ อะไรก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น จะเกิดต้องมีปัญญา มีความเห็น เรียนรู้

เพราะว่าพ่อเรามีสิ่งนี้ เราต้องจะทำอย่างไร จึงจะมีสิ่งนี้ให้เหมือน จนกระทั่งเราได้สิ่งที่ เหมือนพ่อเป็น เหมือนพ่อมี ได้เหมือน ดีไม่ไดี ดีกว่าด้วย ยังได้เลย ดีกว่าสิ่งที่วิเศษ ที่พ่อวิเศษ หรือเราวิเศษกว่าขึ้นไปเลย โน่นแแหละ จึงจะเป็น อภิชาติบุตร เราก็ได้เป็นฮีโร่ตาม ตอนนี้พ่อ จะไปไหนก็ไปซี ก็เราก็เป็นเหมือนพ่อแล้ว ถึงอย่างไร มันก็จะเป็นเนื้อเดียวกัน จะเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะเป็นสิ่งเดียวกัน

นี่ลึกซึ้ง ฟังดีๆ ลึกซึ้ง แล้วเราก็ต้องเข้าใจให้ละเอียดลอออย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะอธิษฐาน จะตั้งใจ จะทำบุญทำทาน แล้วก็มีจุดมุ่งหมาย มีความหวังมีของต้องการ เราจะต้องการทำบุญ ก็ต้องการ อย่างนั้นอย่างนี้ ก็ได้ มันมีอีก มีอีก หยาบกว่านี้ เช่น พระพุทธเจ้าท่านเคยตรัสว่า ถ้าเรา อยากจะสวยก็ให้ทำบุญด้วยดอกไม้ มีในพระไตรปิฎกว่า เสร็จแล้วก็พาซื่อ จะอธิบาย อย่างมิจฉาไปก่อน ตื่นเช้ามาก็ โอย! อยากสวยนี่ เกิดชาติหน้าจะสวย อยากสวยก็ท่านบอก ไว้แล้ว ท่านบอกว่า ให้ทานด้วยดอกไม้ แล้วก็ไปเที่ยวได้ตัดดอกไม้ ไปขโมยดอกไม้เขามา ที่ไหนมีดอกไม้ ก็ขโมยเขามาทำทาน ทั้งนั้นน่ะนั่น

เสร็จแล้วก็ต้องทะเลาะกัน หน้าบูด หน้าบึ้งไปตามๆกัน บางทีก็ร้องไห้ไปทำทาน จ้างให้เกิดอีก ร้อยชาติ ก็ไม่มีสวย รับรองหน้าก็จะบูด ตัวก็จะดำ ไม่มีทางจะสวยหรอก ทำบุญด้วยดอกไม้ ให้ตาย มันก็ไม่มีสวย แล้วดอกไม้ ทำบุญด้วยดอกไม้ เราก็ต้องรู้ว่า ดอกไม้เป็นนามธรรม หมายความว่าอะไร เป็นสิ่งที่เบิกบาน แจ่มใส สดชื่น เป็นของที่อยู่ในดอกนี่ คือสิ่งที่ทุกคน เข้าใจดีว่า ดอกมันมีคุณลักษณะที่เด่นอย่างไร แล้วก็รู้จักเนื้อหาคุณลักษณะที่เด่น ของอันนั้น แล้วก็ทำตัวเอง ให้เป็นเนื้อหาอันนั้น ในความหมายที่ลึกซึ้ง ทำตัวเองให้เป็นเนื้อหาอันนั้นๆ ให้ได้ ซึ่งเป็นนามธรรม จะไปทำตัวเป็นดอกไม้ตามพาซื่อ จะได้กลายเป็นดอกไม้มีกลีบ เป็นคนนี่แหละ ทำตัวมีกลีบ เป็นช่อ เป็นเกสรได้อย่างไร เป็นดอกไม้ มันก็ต้องทำเอาที่นามธรรม ในแนวลึกถึง ขั้นนามธรรม เป็นอย่างนั้น ว่าเราทำทานดอกไม้ คุณก็ทำใจให้เบิกบาน สดชื่น ผ่องใส ไม่โกรธ มีแต่จะสละ ทำทาน ก็ไม่ต้องให้ดอกไม้หรอก ให้ท่อนฟืน ให้ก้อนถ่าน ให้แล้วก็เบิกบาน ร่าเริง เหมือนดัง ดอกไม้บานยามเช้านี่แหละ ทำอย่างนี้ รับรองเกิดมาสวย ให้ก้อนถ่านก็สวย แต่ก็พูด ให้มันเข้าขั้น ให้มันคล้องกัน ว่าทำทานดอกไม้ แล้วก็จะสวย ท่านก็ตรัสเคยตรัสว่า ถ้าจะอยากสวย ทำอย่างไร อย่าโกรธ ใช่ไหม

สรุปแล้ว เนื้อหาแท้ อยากสวย เกิดมาสวย อยากสวยทำอย่างไร อย่าโกรธ มันก็ไอ้อันเดียวกัน นั่นแหละ ทำทานดอกไม้ พวกพาซื่อจะทำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เรื่อง เราทำทานด้วยความปรารถนา ไม่เข้าท่า ไม่มีสัมมาทิฏฐิ ไม่มีปัญญา มันก็ไม่ได้เรื่องอะไร ต้องมีปัญญาอย่างที่กล่าวเสียให้ดี

เอ้า ต่อมา ทีนี้ ๓ เอ้า เพิ่งได้มาสองเอง จะได้หมวดที่หนึ่ง ทินนัง ยิฏฐัง หุฏตัง ทีนี้หุฏตัง ธาตุบวงสรวง หุฏตัง สังเวยที่บวงสรวงแล้ว บวงสรวงคือ เซ่น หรือบูชา ภาษาบาลีว่า "หุตะ" หุตะ หรือหุตัง ซึ่งหมายไปถึง ความลึกขั้นนามธรรม ลึกบูชา หรือบวงสรวง หรือเซ่น หรือสังเวย นี่โดยรูปแล้ว เราก็รู้ว่าเอาไปให้ บวงสรวง หรือเซ่น หรือบูชา เอาไปให้ คำว่าบูชานี่จะต้องให้ เซ่น บวงสรวง

ทีนี้ลึกไปถึงขั้นนามธรรม ก็คือสังเวย หรือเสวย ที่จริงให้ นี่ก็คือ รับเอามา อาตมาก็ไม่รู้จะว่า อย่างไร บรรยายธรรมะกับพวกคุณ จนกระทั่ง เอาไปเอามาแล้ว ถูกแปลว่าผิด ผิดแปลว่าถูก ถึงขั้นขนาดอย่างนี้เลย ดำแปลว่าขาว ขาวแปลว่าดำ คล้ายๆอย่างนั้นน่ะ เสียนี่แหละได้ เสียไป สละไปนี่แหละได้ ซึ่งเราก็เข้าใจแล้ว ไม่งงแล้ว แต่เราต้องตามเนื้อหาที่ถูกสภาพ

เราบูชา หรือเซ่นสรวง นี่ก็คือ เราไปให้ แต่ในให้นั้นแหละ เราเสวย เราได้ เรารับเอา เราบริโภค หมายถึงบริโภค หมายถึงรับเข้าไป นี่นามธรรมต่อจากยิฏฐัง ต่อจากพิธีการ เพราะฉะนั้น ยัญพิธี หรือ จะทำอะไร เรามาทำก็คือมาตอนนี้ คุณเอง คุณมาเสียสละ มาลงในยัญพิธีปลุกเสก ที่ไม่ใช่ ใครเอาพระเครื่องมาปลุก พิธีปลุกเสก คุณเอาคุณนั่นแหละ มาปลุกเสก เอาตัวเรามา ก็ต้องมาให้ ให้อะไร ให้อดทน ต้องให้สิ่งที่เราติด เรายึด เราก็ไม่ได้หนอ มันง่วงนอน ก็ยังถูก ให้มานั่งอยู่ เพื่อนเขาก็มา วิธีการก็มีการมานั่งฟัง ก็ต้องมานั่งฟัง ถ้าจะให้ มันสอดคล้อง ยินดีด้วย เข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เราก็ยินดีด้วย มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาด้วย มันก็ไม่ทุกข์ นอกจากไม่ทุกข์แล้ว ยังจะเจริญด้วยอิทธิบาท มันก็มานั่งฟังอันนี้ได้ดี แต่นั่นแหละ มันกิเลสเป็นตัวหลัก มันต้องมาให้ ให้กิเลสมันฝืน

ถ้าไม่มีกิเลสฝืน มันก็สบาย ก็เบา ก็ไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้น คุณมาให้ แต่แท้จริง คุณมาเอา คุณมา เซ่นสรวง คุณมายัญพิธี คุณมาทำตามพิธีนี้ คุณจะมาให้ อย่างน้อยที่สุด ก็มาทำตามอาตมาว่า อาตมาว่า มาทำอย่างนี้กันเถิด มาปลุกเสกอย่างนี้ คุณก็ว่า เออ เอาๆ ยอมๆ มาปลุกเสกฯ ด้วย นั่นก็คือ คุณมาให้ เสียสละมา เอากายมาทั้งตัว แล้วเอาใจมาด้วย แล้วก็เสียเวลา เสียเงินทอง เสียอะไร สละมาทั้งนั้นแหละ มานั่ง เสร็จแล้วก็มาเอา อาตมาก็ให้คุณมาให้อาตมา ก็คือ มาเป็นผู้ที่จะต้องมานั่ง มาทำตามที่อาตมาว่านั่นแหละ มาทำตามพิธี ยัญพิธี เสร็จแล้วคุณก็ แท้จริง คุณมาเอาน่ะ นั่นคือหุตัง คุณมาให้ เสียสละตัวเองมาทั้งหมด คุณมาเสียสละ คุณมาให้ ยิฏฐัง นี่มันยัญพิธีที่จะให้ เสร็จแล้ว ก็มาเอา แล้วคุณก็จะได้ แม้คุณจะไม่เอา คุณก็ควรได้ เพราะฉะนั้น คนที่มีปัญญาญาณ ก็จะเป็นผู้ได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เอาผลไม้ไปเซ่น ไหว้เจ้า พิธีเขาก็มีรูปพิธี เป็นรูปธรรม เอาผลไม้ไปไหว้เจ้า คนที่เขา ไม่ใช่พวกไหว้เจ้าชั้นสูง ไหว้พวกซีกุ้ย ไหว้พวกซีกุ้ย ก็เอาเป็ดเอาไก่ไปไหว้ อย่างพวก วิญญาณซีกุ้ย วิญญาณชั้นต่ำ ถ้าวิญญาณชั้นสูง ก็ต้องไหว้ชั้นประเภทเซียน วิญญาณเซียน ก็ต้องไหว้ด้วยผลไม้ เพราะเซียนไม่กินเนื้อสัตว์ ไหว้ผลไม้ พิธีก็ไปเซ่นไหว้เท่านั้นแหละ แต่นามธรรม คุณต้องได้ นี่หุตัง คือสังเวย เสวย สังเวย หรือเสวย ต้องได้ แต่ที่จริง ก็เหมือนให้ นั่นแหละ เพราะฉะนั้น ตัวตื้นๆ คนก็เลยไม่รู้จักนามธรรม ก็มีแต่ไปเซ่นสรวง ก็ว่าไป

ภาษามันก็ซ้อนกันนะ จนเป็นอันเดียวกัน แยกไม่ออก ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ไม่มี วิจัยไม่ออก ก็เลยเอายัญพิธี เซ่นสรวงบูชา ยิฏฐัง หุตังอะไร หรือแม้แต่ทินนัง ที่ให้แล้ว อั๊วไปให้แล้ว แต่อั๊ว จะเอาคืนมากิน ไอ้นี่มันหยาบใหญ่เลย ทินนัง ทานที่ให้แล้ว ก็ทำทานแล้ว ก็วิญญาณ มาเอาไปแล้ว อั๊วก็เอามาคืนกิน ดีไม่ดี บอกนี่ไงแหว่ง เพราะว่าแมลงมันเจาะ ก็เลยว่าแหว่ง นี่ไง วิญญาณมากินแล้ว แหว่ง มันแหว่ง ทินนังว่าจะให้ก็ไม่ได้ให้ ยัญพิธีนี่มาเสียสละ ก็ไม่ได้ เสียสละ จะหยาบไปจนกระทั่ง ยัญพิธี เอาแพะมาฆ่าทั้งตัว ให้อะไรจริงๆก็ตาม อะไรก็ เหมือนๆ กันนั่นแหละ ที่มันทำหยาบ ทำรุนแรง ไม่ฆ่าในยัญพิธีถึงขั้นฆ่าแพะให้เลือดกระฉูดเลย ก็ไป เชือดคอไก่ เชือดคอเป็ด แล้วก็ต้มมา ไม่ให้เห็นรอยเลือด แล้วก็เอา แหม ตนมาทำพะโล้ มาชูคอ สังเวย มาบูชายัญอะไรตามแต่ รูปแบบใครจะทำมาเถอะ ที่จริงมาทำให้มันถูกต้อง มาให้

คุณมานี่ ที่จริง คุณจะต้องช่วยอาตมานะ อาตมาจะเป็นผู้ที่ให้ธรรมะ มายัญพิธีปลุกเสก คุณจะต้อง ช่วยอาตมา ช่วยดูแล แล้วก็แบ่งกันดูแล หลายคนก็เฉย ไม่ทำอะไร ไม่ช่วยอะไร หลายคน ต้องทำกับข้าว ต้องไปซื้อกับข้าว ไปซื้อไอ้โน่นไอ้นี่ ต้องสร้างไอ้โน่นไอ้นี่ทำอะไร ต่ออะไรไว้ แม้แต่เสื่อ แต่อะไร เขาก็ทำ ให้เขามา เขาได้ให้มากๆ คนไหนมานี่ ไม่ได้ให้อะไรก็มา บางคนมาแต่ตัว มาเอาที่นี่หมด ไม่ได้ให้เลย มีแต่มาเอาประเภทที่เรียกว่า มาเอาชนิดที่ไม่เข้า สัมมาทิฏฐิ ของยิฏฐัง หุตังอะไรเลย มาได้เป็นหนี้ แม้ว่าเราจะมาเอานามธรรม ว่าอย่างนั้นน่ะ เริ่มต้น ตั้งแต่หยาบ เขาก็ไม่ได้เริ่มต้นเป็นลำดับ แล้วว่าเขาควรจะเป็นผู้ได้ให้ เป็นผู้ที่ไม่มี ความเสียสละ ฉันจ่ายค่ารถมาแล้วนี่ สละแล้ว ฉันก็ควรจะมาได้อะไรที่นี่ เอาซี ใครจะมาทำบุญ ฉันก็จะได้เป็น ผู้รับน่ะนะ ฉันจะเป็นหุตัง เป็นผู้เสวย เป็นผู้สังเวย มันผิดลำดับ

ที่จริงคุณมาเป็นผู้ให้ อาตมาเป็นผู้ที่รับ แต่ที่จริง อาตมาเป็นผู้ที่จะให้แท้ๆ คุณต่างหาก เป็นผู้รับ เมาไหม ฟังไปฟังมา นี่เห็นไหมว่า มันวน มันปนกันอยู่อย่างนี้

สรุปแล้วก็คือ ในโลกนี้มีการให้กับการรับกันเท่านั้นในโลก สามตัวนี้ ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง เป็นตัว รูปนาม ที่มันซ้อนกันอยู่ ซ้อนกันอย่างซ้ำซ้อน ซ้อนๆๆๆๆๆลึกที่สุดแล้ว สรุปแล้ว จงเป็นผู้ให้ ลูกเดียว สุดท้าย ไอ้ที่ว่าเอานี่นะ คุณมาให้อาตมา หมายความว่า คุณต้องหาข้าวมาเลี้ยง อาตมาไว้นะ อาตมาจะเตรียมตัว หรือว่าจะมีอะไร อาตมาก็เป็นผู้ให้คุณนั่นแหละ แต่คุณนั่นแหละ หาข้าวหาน้ำมาเลี้ยงอาตมา มาให้ แล้วอาตมาก็มาให้คุณ คุณเอาข้าวเอาน้ำ มาให้อาตมา ชื่อว่าคุณไม่ได้ให้แก่อาตมาหรอก อาตมาให้กว่า อาตมาทานมากกว่า คุณให้ข้าว อาตมากิน เพื่อให้อาตมายังไม่ตาย พรุ่งนี้ก็จะได้จากอาตมาต่อ เหมือนอาตมาเป็นตัวห่าน ไข่ทองคำ คุณต้องให้อาหารห่านไข่ทองคำไว้น่ะ ถ้าไม่ให้อาหารห่าน ห่านตายวันนี้ พรุ่งนี้ไม่ได้ ไข่ทองคำให้นะ เพราะฉะนั้น ถ้าให้อาหารไว้อยู่ พรุ่งนี้อาตมาก็ ไข่ทองคำให้คุณต่อ คุณไม่ได้ให้อาตมาหรอก คุณเลี้ยงอาตมาไว้ คุณยังอาตมาไว้เท่านั้น ถ้าเราเป็นผู้ที่สุดท้ายแล้ว เราให้ เราไม่รับ เราไม่ได้ไปยึดติดว่านี่เป็นเรา เป็นของเรา

อาตมาอย่างเคยพูดว่า อาตมากินข้าว เพื่อคุณ อย่างที่ว่า แหม! มันหน้าเตะ มันยวนชมัด มีอย่างที่ไหน มาให้ทาน จะเอาข้าวมาให้กิน ยังมีน้ำหน้ามาพูดว่า กินข้าวเพื่อคุณ นี่อาตมา ไม่ได้กินเพื่ออาตมาเลยนะนี่ อาตมากินข้าว เพื่อคุณ มันเกินไป แต่เขาไม่เชื่อ จริงๆแล้ว จริง อาตมาก็อธิบาย พวกเราก็เข้าใจแล้ว อาตมา กินข้าวของคุณ นี่เพื่อคุณทั้งนั้น ไม่ได้ กินข้าวของคุณ เพื่ออาตมาเองหรอก

การที่เราไปอยู่วัด ทำงานช่วยวัด เราได้ให้แรงงาน ได้ทำบุญ แต่จริงๆ มันเป็นการสั่งสมบารมี ของเรา นี่เป็นสัมมาทิฏฐิหรือเปล่าคะ ถือเป็นบวงสรวง หรือเปล่าคะ

ถ้าคุณยังอยากได้บุญอยู่ คุณก็ไม่บวงสรวงสุดท้าย แต่บอกแล้วว่า กรรมกิริยา กรรมเป็นอันทำ เมื่อคุณทำอันนี้ เป็นกุศลกรรม กายก็ดี วาจาก็ดี มโนก็ดี ทำมโนก็ให้ตรงเลยว่า เออ ตั้งแต่ สัมมาทิฏฐิ ตั้งแต่เจตนา ตั้งแต่ปรารถนา ตั้งแต่เจตนา ตั้งแต่ปัตถนา ปณิธิ สังขารา คุณก็ตรง ทำลงไป ปฏิบัติพฤติกรรมนั้นๆ ตรงๆ จบในตัวกรรม ตรงแล้ว ไม่ต้องไปมีว่า แล้วเราได้หรือเปล่า โอ๊ อยากได้จริง ไม่ต้องมีตัวนี้ ต่อหางไปเลยนั่นแหละ ตัดหางตัวนี้ออกนั่นแหละ ได้แหงๆเลย แต่ถ้ามีหาง ตัวนี้นะได้ไม่ครบ หางยิ่งใหญ่ยิ่งไม่ค่อยได้ ยิ่งมีแต่หางเลย ยิ่งไม่ได้เลย เข้าใจ นะ เห็นไหมเล่าว่า ทำใจในใจนี่สำคัญมาก

เอ้า ลองอ่านต่อ โดยความหมายหยาบๆต้นๆ ก็คือการให้ การถวาย แต่ลึกๆแล้ว เป็นผลต่อเนื่อง ของยัญพิธี เมื่อมีรูปแบบของพิธีการบูชา หรือพิธีเซ่นสรวง แล้วจะมีเรื่องของนามธรรมทาง จิตวิญญาณ ของผู้ทำพิธี ซึ่งจะมีมิจฉาทิฏฐิระดับบวงสรวงแล้ว ยังมีกิเลส "ให้เพื่อโลภขึ้นในจิต ตัวเองมากกว่า เท่าใดก็เป็นการเซ่นสรวงที่มีกิเลสมิจฉาทิฏฐิเท่านั้น" เป็นต้น

พออธิบายนำไปก่อน แล้วอ่านนี่เข้าใจดีใช่ไหม และบวงสรวงอย่างมี อัตภาพ ไอ้อยากได้นี่ เป็นโลกๆ แน่ๆอยู่แล้ว แล้วบวงสรวง อย่างมีอัตภาพ มีความหลงในจิตวิญญาณ ที่เป็นตัวตน มีการเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ว่าจิตวิญญาณผู้รับมีตัวตนจริง

ฟังดีๆ ตอนนี้ลึกๆให้เข้าไปเป็นอัตตาตัวตนแล้วนะ ว่าวิญญาณตัวผู้รับ มีตัวตนจริง เราก็มีตัวตน ของเราจริงว่าเราจะรับ เราจะเอา เราจะเป็น เราจะมี จะยินดี ยินร้าย กับของที่ บวงสรวง (อามิส) มากเท่าใด ทีนี้ไปยินดี ยินร้าย ก็ แหม นี่ของของเรา ของชั้นดีนะ อะไรต่ออะไร นี่นะ มันจะมีอัตตา แล้วจะมีมานะ

เป็ดของคุณซื้อมาตัวละสิบบาท ของฉันตัวละร้อยน่ะ อะไรอย่างนี้ เอามาบวงสรวงอะไรอย่างนี้ ของของฉันค่าแพง ฉันของดีกว่าน่ะ อันนี้ อะไรอย่างนี้ โอ๊ะ นี่อธิบายหยาบลงไปให้ฟัง

ยินดี ยินร้ายกับของที่บวงสรวง (อามิส) มากเท่าใด ก็เป็นการเซ่น สรวงที่มีกิเลสหลง (โมหะ) มากเท่านั้น หรือบวงสรวงอย่างเคียดแค้น อาฆาต (โทสะ) ทำพิธีเพื่อทำลาย เพื่อแก้แค้น
ไอ้นี่ยิ่ง พิธีหยาบใหญ่ เหมือนอย่างพวกทำพิธีที่จะ เสกตาปูเข้าท้อง เสกผีเสกอะไร ในหนังจีน มีเยอะ แหม อะไร เวิ้งๆ อะไร ไทยก็ทำอย่างไทยนั่นแหละ จีนก็ทำอย่างจีน แขกก็ทำอย่างแขก แล้วแต่ ฝรั่งไม่รู้ทำอย่างฝรั่งหรือเปล่า อาตมาไม่ค่อยถนัด ฝรั่งนี่ ทำพิธีบวงสรวง ทำพิธีอะไร แบบไสยศาสตร์ แบบอะไรไป มีจิตที่จะแก้แค้น

ทำพิธีเพื่อทำลาย เพื่อแก้แค้น หรือเพื่อติดสินบนเทพเจ้า ไอ้มาในทางที่จะเอา หรือติดสินบน เทพเจ้า ภูตผีวิญญาณตามที่ตนหลงนับถือ ให้ช่วยทำลาย ทำร้าย ตามที่ตนต้องการ หลงมาก เท่าใด โกรธมาก ประกอบไปด้วยกันมากเท่าใด ก็เป็นการบวงสรวงที่มีจิตกิเลส มิจฉาทิฏฐิ มากเท่านั้น

ในความหมายก็หมายความว่า ไม่ให้มีกิเลส โลภ โกรธ หลง ไม่ให้มี โลภ โกรธ หลง ในจิตใจ ในขณะที่ทำการให้ ให้มากที่สุด นี่คือการมีผล แต่เป็นผลเสีย ผลบาป ผลเพิ่มกิเลส ถ้ามันมี มันก็จะมีผลเสียผลบาป มันมีโลภ โกรธ หลง แก่ผู้ที่ยังมีความเข้าใจผิด หรือยังมีความเห็น ผิดอยู่ (มิจฉาทิฏฐิ) ผลเสียนี้ เกิดแก่ตนเอง ผลเสียของการบวงสรวง ที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น ทีนี้ คือการหลอกลวง ให้คนหลงงมงาย หลอกลวงคนให้หลงงมงาย เป็นทุจริตกรรม แม้ผู้ประกาอบ การบวงสรวง จะไม่มีเจตนาทุจริต ก็ยังมีผลให้เกิดความงมงาย ความกลัว ความติดยึด เชื่อถือ โดยขาดเหตุผล ที่เป็นความรู้ชนิดที่ถูกต้อง ลึกซึ้งจริงตามสัจจะ มีผลเสียเห็นได้ง่ายๆ ชัดๆ เช่น ในด้านเศรษฐศาสตร์ คือ นอกจากจะเสียเวลา เสียเงินทอง เสียแรงงานแล้ว ยังทำลายความคิด สร้างสรรของมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามาก เพราะฉะนั้น ตัวอย่างในการทำ รูปแบบ ของการทำเซ่นสรวง บวงสรวงนี่ ถ้าเป็นมิจฉาทิฏฐิ อธิบายไม่ออกแล้ว อย่าไปทำ แม้แต่รูปเลย ไปทำการเซ่นสรวง บวงสรวง อย่างที่จะไปให้ทำ พิธีบวงสรวงหยาบๆ หรือว่า เซ่นเจ้า ไหว้เจ้า เอาเป็ดเอาไก่ หรือว่าเอาผลไม้

ถ้าเป็นคนชั้นสูงขึ้นมาแล้วก็คงจะไม่บวงสรวงเป็ดไก่ หรือว่าสัตว์หรอกนะ ก็คงจะบวงสรวง แค่เอาผลไม้ ไปบวงสรวง ถ้าคุณจะทำรูปแบบพิธีไปบูชาบวงสรวง เอาผลไม้ไปบวงสรวง หรือ ว่าเอาข้าว จัดสำรับไปบูชาพระพุทธรูป บวงสรวงพระพุทธรูป ถ้าคุณจะทำรูปแบบอย่างนั้น คุณต้องอธิบายได้ คุณต้องทำให้เกิดสัมมาทิฐิ คนที่มาสัมผัส มาเห็นคุณทำแล้ว ถ้าคุณอธิบาย เป็นสัมมาทิฏฐิไม่ได้ มันเป็นผลนำพาให้เกิดผลเสีย รูปแบบนั้นทำให้คนงมงาย พาคนที่เขาเห็น เขาพบงมงาย มันก็จะคิดออก ถึงนับลึกซึ้งไปที่ เข้าใจ ยิฏฐัง หุตัง ที่อาตมากำลังอธิบายนี่ อยากจะใช้คำว่า กำลังอธิบายอย่างแทบเป็นแทบตายนี่ ไม่รู้จะตายเพราะอธิบาย ยิฏฐัง หุตัง หรือเปล่า มันอธิบายยากแสนยากใช่ไหม ถ้าคุณไม่สามารถ อย่าไปทำดีกว่า ไม่ต้องไปทำสำรับ ข้าวพระพุทธ ไปถวายพระพุทธรูป หรือแม้แต่เอาผลไม้ไปสังเวยบวงสรวง อะไรก็ตามใจ อย่าทำดีกว่า คุณอธิบายไม่ได้

แม้อาตมาอธิบายได้อย่างนี้ อาตมายังไม่ประสงค์จะทำเลย เพราะมันเมื่อยที่จะอธิบาย เพราะฉะนั้น คนในรุ่นที่มาปฏิบัติกับอาตมาแล้ว ส่วนมากก็จะต้องไม่ไปทำแล้ว บวงสรวง อย่างนั้น มาฟังเอา เชื่อแล้วว่า บวงสรวงอย่างนั้นมีผล ถ้าเผื่อว่าทำก็มีผล มีผลอย่างไร ก็บอกแล้ว แม้แต่เป็นรูปในการให้ตั้งแต่ทินนัง บอกแล้ว การทาน รูปในการให้ มันเป็นการดีแล้ว รูปในการให้ แม้จิตคุณจะโลภ อธิบายย้อนอีกยังจำได้ไหม ที่ว่าแม้ข้าวทัพพีหนึ่ง จะเอา แปดล้าน สิบล้าน ในใจคุณมีความตะกละอย่างนั้น แต่รูปแบบคนที่สัมผัสนี่ก็ดีแล้ว มีการให้เกิดขึ้น

การไปบิณฑบาตแต่เช้า คนก็ไปให้ทาน ทำทาน มีรูปแบบ เท่านี้แหละ เป็นบุญของโลก ของสังคม มนุษยชาติแล้ว เป็นยิฏฐัง เป็นพิธีการที่ดี ไปบิณฑบาตแต่เช้า เกิดการมีการให้ เกื้อกูลกัน พระท่านเป็นคนจน พระท่านไม่มีข้าว ไม่มีน้ำ แต่ทุกวันนี้ มีเป็นกระสอบๆ ที่ในวัด แล้วหุงกินเองด้วย นั่นผิดแล้ว ที่จริงพระไม่มีข้าว เก็บข้าวไว้ ข้าวดิบ ธัญญาหารดิบอะไร รับมา ก็ยังไม่ได้เลย อย่าว่าแต่หุงกินเองเลย หม้อข้าวก็ไม่มี หม้อแกงก็ไม่ให้แล้ว ไปบิณฑบาต แล้วเขา ก็ใส่บาตรให้ไว้ เลี้ยงท่านไว้ เป็นการเกื้อกูลให้ทาน มีทายก มีปฏิคาหก นี่เป็นกรรมกิริยา ที่สุดยอด ของสังคมมนุษยชาติ

ทุกวันนี้ แม้แต่คนที่เขาไม่ใช่ศาสนาพุทธ เขาก็ทำทาน เขาก็บริจาค เพราะเรื่องทานเป็นเรื่อง ที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในโลก ยิฏฐัง หุตัง ก็มีพิธีการเพื่อที่จะให้สละออก เพื่อที่จะให้เกื้อกูล เพื่อจะให้ทาน เพราะฉะนั้น จิตถึงขั้นหุตัง สังเวย รับ เสวย เสวยอะไรละสูงสุด เสวยสูญโดย ไม่ต้องอยากได้ อะไร ไม่เอาอะไร แต่ถ้าคุณยังสังเวยหรือเสวยอยู่ บริโภคอยู่ รับเอาอยู่ ถ้ารับ ความรู้ที่ฐานะ ของคุณควรรับ คุณก็ควรรับ เพราะฉะนั้น คุณมานี่ คุณกำลังเข้าพิธี มียัญพิธี คุณก็มาเสวย มารับ มีหุตัง เสวยหรือสังเวยสิ่งที่ดี สิ่งที่คุณรับ พร้อมกันนั้นคุณก็ย้อนแย้งตัว คุณเองนั่นแหละ รับแล้ว ก็อย่าไปมีมานะอัตตา แหม มาปลุกเสก คราวนี้ข้าฯมีความรู้ ข้าฯรู้แล้ว ข้าฯใหญ่แล้ว ข้าฯปฏิบัตินี่ ข้าฯได้เป็นอริยะขึ้นไปตั้งเป็นกอง มาคราวนี้อัดเป็นอริยะขึ้นไป ตั้งเท่าไหร่ นี่ถูกปลุกเสกเป็นพระ เจริญ มีทั้งสัมมาทิฏฐิ มีทั้งได้ปฏิบัติไป โอ้โฮ เบ้อเร่อๆ เลย แหม อย่างนั้นแหละ

บูชา ดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ธรรมชาติฯ ก็บูชาเห็นคุณค่าของดิน ของน้ำ ของลม ของไฟ แล้วเรา จะได้ปฏิบัติถูก มีเจตนา มีปณิธิ มีปรารถนา มีความตั้งใจ มีการสังขาร ปรุงแต่ง ทำงาน สังขารก็คือ การทำงานนั่นแหละ ตั้งแต่รูปแบบ ข้างนอกก็สังขารอย่างรูปวัตถุเลย เพื่อที่จะให้ดิน มันสะอาด ดินงาม น้ำใส ไม้ร่ม ลมพริ้ว ให้รู้จักว่าดิน ว่าน้ำ มีคุณมีประโยชน์แก่เรา ก็มียิฏฐัง อย่างนั้นแล้ว ก็ว่ากันไป ต่อไปเรื่อยๆๆ จูงนำกันไปเรื่อยๆ ต้องสัมมาทิฏฐิ

ถ้าไปบูชาดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ให้ดินได้กิน ให้น้ำได้กิน เอากล้วยมาถวายดิน เอาผลไม้มาถวายดิน ดีไม่ดี บูชาดิน ตัดคอแพะ เอาเลือดกระฉูดบูชาดิน ก็บ้ากันใหญ่ เราก็ไม่ทำ เราก็มี ๔ รูป ดิน น้ำ ลม ไฟ คืออะไร ดินก็เอาดินมากอง น้ำก็ให้มีน้ำให้เห็นน้ำ ลมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ลมก็ไม่รู้ทำอย่างไร จุดไฟขึ้นมามันก็มีลมพัด อาตมาได้ชี้ใบไม้ให้ดูเลย วันนั้นน่ะ มีลม ลมพัดแล้ว เพราะว่า เจ้าลมกับเจ้าไฟนี่ เขาเป็นเพื่อนกัน ข้าลุกเอ็งวิ่ง พอไฟลุก ลมจะวิ่ง โดยหลัก วิทยาศาสตร์ก็คือ พอไฟลุก ความร้อนเกิด มันก็จะเผาไหม้อากาศ หรือลมตรงนั้น ให้เกิดความร้อน แล้วความร้อนมันก็จะลอยขึ้นสูง ไอ้ลมที่มันเย็นกว่าก็จะพัดมาแทนที่ มันก็จะเกิด ลมหมุนเวียนขึ้นมาทันที ไฟอยู่ที่ไหน ไฟเกิดร้อนวื้บขึ้นที่ไหน เดี๋ยวกระแสลม หมุนเวียน ก็จะเกิดขึ้นที่นั่น มันก็จะเป็นไปอย่างนั้นแหละ บูชาดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ทำให้มันเกิดผล ที่เรามีความมุ่งหมาย อาตมามีความมุ่งหมายมีเจตนา แล้วก็ให้พวกเราปรารถนา สอนให้สังขาร ให้เป็นปุญญาภิสังขาร แล้วก็ตั้งใจทำกัน

นี่ก็คือผล นี่คือการมีผล เป็นผลเสีย ผลบาป ผลเพิ่มกิเลสแก่ผู้ยังมีความเข้าใจผิด หรือมี ความเห็น ผิดๆอยู่ มิจฉาทิฏฐิ ผลเสียนี้เกิดแก่ตนเอง ผลเสียของการบวงสรวงที่เกิดขึ้น แก่ผู้อื่น คือการหลอกลวงคนอื่น ให้หลงงมงาย เป็นทุจริตกรรม แม้ผู้ประกอบการบวงสรวง จะไม่มีเจตนา ทุจริต ก็ยังมีผลพาให้เกิดความงมงาย ความกลัว ความติดยึด เชื่อถือ โดยขาด เหตุผล ที่เป็นความรู้ ชนิดถูกต้อง ลึกซึ้งจริงตามสัจจะ มีผลเสียเห็นได้ง่ายๆ ชัดๆ ในด้าน เศรษฐศาสตร์ คือ นอกจากจะเสียเวลา เสียเงินทอง เสียแรงงาน แล้วยังทำลายความคิด สร้างสรร ของมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่ามาก ตัวขยายความอันหลังที่ว่า ยังทำลาย ความคิดสร้างสรรของมนุษย์ นี่ลึกซึ้งขึ้นไปถึงปัญญา ลึกซึ้งขึ้นไปถึงความถูกต้อง ควรทำ หรือ ไม่ควรทำแค่ใดๆ เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ ยังไม่ควรทำการบวงสรวง ที่เป็นยัญพิธีเป็นรูปแบบโลกๆ ที่เขาทำ ทำแล้ว ก็ไม่เข้าใจ อธิบายกันไม่ได้ ที่จริงแล้ว เลิกมาเสียก่อนได้ดีที่สุด

อาตมาก็พาเลิกมาเยอะแล้ว แล้วอาตมาก็ปฏินิสสัคคะ กลับพาไปทำอีกที เมื่อกลับพาไปทำนี่ พวกคุณมีปัญญา มีความเข้าใจถูกรูปแบบที่ดีแล้ว ลงไปหาคนที่เขายังอาศัยยัญพิธี เพราะฉะนั้น คนใดที่ไม่มียัญพิธี เขาไม่เอาเลย มาฟังธรรม ไม่ต้อง นโมตัสสะ ไม่ต้องตั้งรูปแบบ อะไรเลย หลายคนบอกว่า อย่างนี้ไม่เอา ยิ่งไม่สวดมนต์เลย ไม่เอาเลย อย่างนี้ไม่ใช่ศาสนาหรอก ศาสนา ต้องมีสวดมนต์ สวดมนต์กันยิ่งหลายบทยิ่งดี ทั้งๆที่สวดไปหลับไปน่ะนะ สวดมนต์ไป ยิ่งมากยิ่งดี คนพาซื่ออย่างนั้น ก็มีไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จนกว่าเราจะตัดสวดมนต์ก่อน แล้วค่อย มามีสวดมนต์ อย่างนี้เป็นต้น นี่ อาตมาพาทำมาแล้ว ก็มีสวดมนต์ แล้วสวดมนต์ ก็อย่างมีสัมมาทิฏฐิ

พุทธศาสนิกชนควรละเลิก หรือต้องพยายามเลิกการบวงสรวง สังเวย ที่ไม่ถูกเรื่องถูกราว เปล่าประโยชน์ สูญเปล่าทางเศรษฐกิจ ผลาญพร่าวัตถุ หรือประเภทยั่วย้อมอำพราง หลอกคน เพื่อผลประโยชน์ด้านอามิสวัตถุ เพื่อให้คนมาเคารพนับถือ นอบน้อมสรรเสริญ หรือเพื่อวัตถุ ประสงค์ที่จะได้อำนาจแลกเปลี่ยน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี หรือ แม้จะทำเพื่อ ประโยชน์ทางนามธรรม ให้เกิดความนับถือ ความเชื่อถือ

ที่สุดแม้จะให้มีประโยชน์ในการเปลี่ยนคนจาก ทำชั่วมาทำดีได้ มันก็เกิดการหลอกลวง เกิดความกลัว เกิดความงมงายดังกล่าวมาแล้ว เป็นการหลงผิด เชื่อถือในสิ่งไม่จริงว่าจริง ในสิ่งไม่มีว่ามี เกิดสภาพ อัตภาพหรืออัตตา ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงอนัตตา ผลส่วนนี้ จึงนับว่ามีจริง แต่เป็นผลไม่ดี

ถ้าเข้าใจยังไม่ตลอดทะลุ แล้วเลิกก่อนเป็นดี เมื่อเข้าใจแล้ว ค่อยมาพาทำ ไปตามลำดับ แล้วก็จะเอื้อเอื้อมไปถึงคนที่เขายัง ภูมิฐานจะต้อง มีสิ่งนี้เป็นสิ่งอาศัย เขาจะต้อง มียัญพิธี จะต้อง มีการทำอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรต่ออะไรบ้าง ก็ค่อยว่ากันไป

ทีนี้ผลดีของการสังเวยบวงสรวง ก็ย่อมมีบ้าง สำหรับบำรุงขวัญ ผู้ที่ยังโง่งมอยู่กับอำนาจ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ฤทธิ์เดชต่างๆ บุคคลในฐานะนี้ ก็จำเป็นต้องมีสิ่งยึด เพื่อให้มีกำลังใจทำการงาน อย่างใด อย่างหนึ่ง ให้ลุล่วงไปได้ เพราะเป็นบุคคลที่อินทรีย์พละ (อินทรีย์แล้วก็พลิกแพลง ในตน) พละก็คือพลังในตน บุคคลที่มีอินทรีย์พละอ่อนแอมาก ไม่มีความเข้มแข็งในตนเอง ต้องเอา พลังสมบัติจากวัตถุ รูปแบบมาเสริมให้ตน ยังไม่เชื่อมั่นในตน ยังพึ่งสมรรถภาพ หรือ กรรมแห่งตนยังไม่ได้ แล้วยังมีส่วนแห่งความหลงเชื่อบางอย่างผิดอยู่ด้วย ขั้นนี้ก็เรียกว่า มีผล อยู่ในสังคม มีผลอยู่ในมนุษยชาติ ถ้ายังสามารถนำพาให้คนประพฤติดี ปฏิบัติดี เจริญอยู่ มิใช่การส่งเสริม ความขี้โลภจัดจ้าน หรือ เบียดเบียนกันยิ่งการสังเวยบวงสรวงบางอย่าง ในประเทศไทย เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัล หรือ เรียกกันโดยทั่วไปว่าพิธี แรกนาขวัญนั้น เป็นรูปแบบ ของการบวงสรวง ที่มีปรัชญาแฝงอยู่ เป็นการลดช่องว่าง ลดศักดินา ระหว่าง หมู่กลุ่ม ผู้บริหารกับผู้ใช้แรงงาน เป็นการเชิดชูอาชีพที่มีประโยชน์สูงสุด คือ การผลิตอาหาร เลี้ยงโลก ทำให้เกิด ความสามัคคี เคารพนับถือกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ด้วยความหวังว่า จะทำงาน ร่วมกันไปได้ด้วยสายเลือดเดียวกัน ไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง แต่ถ้าประยุกต์รูปแบบ วิธีการ ชักนำสื่อทำสื่อส่อให้คนเข้าใจงมงาย ผสมผเสเข้าไปมากเกินไป แทนที่จะมีคุณ มันก็กลับ มีโทษอีกนั่นแหละ

นี่ยกตัวอย่าง พิธีทางโลกที่ชัดๆ เป็นพิธีการอย่างพิธีจรดพระนังคัลอย่างนี้เป็นต้น ก็เป็นรูปแบบ ที่จะเป็นพิธี ยัญพิธีบวงสรวง ซึ่งที่จริง ถ้าอธิบายแล้ว มันละเอียดอยู่มากเหมือนกัน เป็นพิธีที่ ทำให้ผู้ที่สูงที่สุด ไม่ต้องทำนา หรือว่าไม่ทำนา มาทำนาเสียบ้างซี จริงๆแล้ว ก็จะต้องทำนา ต้องทำนาจริงๆ แต่ทุกวันนี้ เอาไปเอามา ไม่แล้ว เปลี่ยนอีก ให้ใครมาทำแทน แล้วทำไปทำไป อย่างนี้ ประโยชน์ก็มันก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าจริงๆ แล้ว ก็ลงมาทำนา ทำจริงๆ แล้วยิ่ง ทำมากกว่าเป็นพิธี นั่นก็เป็นรูปแบบเท่านั้น ถ้าเราเข้าใจจุดมุ่งหมาย ความเข้าใจอันนี้ เป็นปัญญาชัดแท้ ผู้นั้นจะลงมาทำจริงๆเลย ลงมาทำจริงๆ เลย ในประเทศไทยเรามีเหมือนกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เคยลงมาทำนา มีรูปกระจายแผ่ไป

แต่ถ้าทำเพื่อเป็นโดยรูปแบบอ้างๆ ออดๆอยู่เฉยๆ ไม่มีปัญญาเข้าใจจริง แล้วทำด้วยความยินดี เต็มใจจริงเลย มันก็เป็นเล่ห์ชนิดหนึ่ง แต่ถ้าเผื่อว่าทำด้วยความเข้าใจจริงๆ แล้วมาทำอย่างดี จริงๆเลย มีโอกาสมาก จึงลงมาทำ หาโอกาสมาทำ มันจะได้เป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม ไม่มีแบ่งแยก ไม่มีศักดินา ไม่มีชั้น ไม่มีวรรณะอะไรต่ออะไรต่างๆ นานา แล้วงานทำนานี่ เป็น งานที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเรากำลังจะไปเป็นชาวนากัน จะไปเป็นคนยิ่งใหญ่ของโลก ชาวนาต้องทำนา ต้องปลูกข้าว ปลูกกันให้มีปัญญาจริงๆ นัยอันนี้ก็ไม่อธิบายแทรกต่อไปละ

พิธีพวกนี้ เป็นพิธีอยู่ในสังคม ที่จะต้องอาศัยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ ทิศทางที่ดี แม้มัน จะมีอะไรที่ยังค้างๆคา มันยังเพี้ยนๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิอะไรอยู่บ้าง ที่เราสุดที่จะแก้ไข บอกกล่าว เราก็จำนน ได้แค่นั้น ก็แค่นั้น ไป แค่อธิบายนัยที่ดีให้ฟังได้ คนที่เข้าใจก็พยายาม รับกันซี ถ้ามีอำนาจ มีฤทธิ์เดช แต่อาตมาเห็นว่า อาตมาไม่มีอำนาจ ไม่มีฤทธิ์เดชพอที่จะไป เปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้ได้ ก็ได้แต่อธิบายด้วยความปรารถนาดี ด้วยความหวังดีเอาไว้เท่านั้นเอง

นี่ก็เป็นพิธีหนึ่งมีในสังคม พิธีอื่นก็มีอีก แม้จะเป็นรัฐพิธีหลายๆอย่าง ก็ต้องทำด้วยปัญญา พิธีการ ทางด้านศาสนา พิธีการในสังคม ไม่ใช่ทางศาสนาทีเดียว พิธีการในสังคม ที่เราจะทำ อะไรต่อะไรขึ้นมา ก็เพื่อที่จะมีนัยของปรัชญา มีนัยของความมีปัญญาที่จะรู้ว่า ทำอันนี้ มันเพื่ออะไร อาตมาพาพวกคุณกินข้าวหาด เพื่ออะไร อาตมาว่า อาตมามีปรัชญาอยู่ในนั้น มีปัญญา มีความเข้าใจอยู่ในนั้นว่า จะให้คุณประกอบการอันนี้ขึ้นมา เพื่อผลประโยชน์อะไร หลายอย่าง อาตมาพยายามทำ พอสุดท้าย บางทีพวกเราก็เข้าใจไม่ได้ ไม่ได้ประโยชน์พอควร ต้องเลิกก็มี บางอย่างก็ทำได้ประโยชน์พอควร ไม่เลิก ทำไปได้ดี ได้อะไรพัฒนาขึ้นไป ซ้อนเชิงอยู่ ก็ทำไปเรื่อยๆ หรืออันใดที่ทำได้ดี อย่างปลุกเสก นี่ทำได้ดี ก็จะทำไปอีกนาน อะไรอย่างนี้ เป็นต้น

สังคมจะพัฒนาได้ ก็ต่อเมื่อสังคมพัฒนาการสังเวยบวงสรวงให้เข้าร่อง เข้ารอย ถูกต้องตรงทาง มีสารประโยชน์ และเกิดแก่นสารในสังคมได้ เป็นสังคมของการพัฒนาจิตวิญญาณ ปล่อย คลาย ความยึดติด โง่งม ที่พาไปสู่ความงมงาย แล้วส่งเสริมการสร้างสรร ผลักดันความเจริญ และ ฉลาดยิ่งๆขึ้น ความรู้ต่างๆ นี้เป็นสิ่งที่ต้องเรียน ต้องศึกษา ต้องพัฒนา ซึ่งการพัฒนาด้าน ภวตัณหานี้ มิใช่เรื่องเล่น มิใช่ทำได้ง่ายๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำไปได้ตามความเหมาะสม กับกาล เทศะ และหมู่กลุ่ม

นี่ บรรยายไว้ในหนังสือสมาธิพุทธ ก็ตัดมาส่วนหนึ่งนิดหน่อย เอาละ อาตมาอธิบายแทรก ไปแล้ว คุณคงพอเข้าใจ

การสังเวยบวงสรวง ๔ ทีนี้

๑.การบูขาของผู้ที่บูชา ท่านผู้มีตนอันอบรมแล้ว คนหนึ่ง แม้ครู่หนึ่ง ประเสริฐกว่าการบูชาของ ผู้ที่บูชาด้วยทรัพย์พันหนึ่ง ตลอดร้อยปีเสมอๆ ทุกเดือนๆ การบูชาตั้งร้อยปีนั้นจะประเสริฐอะไร ก็หมายความว่า มีผู้ที่น่าเคารพนับถือบูชา ฝึกฝนอบรมตนอันดีแล้วคนหนึ่ง เราบูชาเพียง ครู่เดียว เราได้มาให้อะไรท่าน อย่างน้อยๆที่สุด คุณมาให้เวลา ให้ท่านอัดเอาบ้าง พูดภาษา ง่ายๆ นี้ ชัดดีไหม เพียงครู่เดียว ครั้งเดียว ดีกว่า ประเสริฐกว่า การบูชาของผู้ที่บูชา ด้วยทรัพย์ พันหนึ่งตลอดร้อยปีเสมอๆ ทุกๆเดือน การบูชาตั้งร้อยปีนั้น จะประเสริฐอะไร

๒.การบูชาของผู้ที่บูชาท่านผู้มีตนอันอบรมแล้ว คนหนึ่งแล แม้เพียงครู่เดียว ประเสริฐกว่า ผู้บำเรอไฟ ในป่าตั้งร้อยปี การบำเรอไฟตั้งร้อยปีนั้น จะประเสริฐอะไร บำเรอไฟนี่ คงแปล มาจากคำว่า "อัคคียัญ" เพราะฉะนั้น การใช้ไฟบูชา เอาละ ในป่ากรุง เคยเห็นป่ากรุงไหม แล้วมี เรือนไฟด้วย รู้จักเรือนไฟไหม ของพุทธศาสนา เขายังสร้างเลย คือโบสถ์วิหาร ที่มีพระพุทธรูป แล้วก็มีเทียน ธูป มีไฟจุดกัน ควันโขมงโฉงเฉง บูชาไฟ บูชาไปเถิด ร้อยปี พันปี ก็สู้การบูชา ผู้ที่ท่านบูชา ท่านผู้ที่ตนอบรมแล้ว คนหนึ่งแล แม้เพียงครู่เดียว

บูชาก็บอกแล้วว่า จะมาบูชาก็คือมาให้ คุณไม่มีอะไรมาให้ คุณมาให้แต่แค่เวลา นี่เวลาของฉัน เป็นเงิน เป็นทองนะจ๊ะ จะรีบให้อะไรก็ รีบๆให้เสีย สมมุติว่าคุณเป็นคนอย่างนั้นนะ ฉันไม่มีเวลามากนักหรอก เวลาของฉัน ไปทำประโยชน์ที่อื่น มันก็ต้องคิดไปทำประโยชน์ที่อื่น เพราะว่า เดี๋ยวฉันจะต้องไปทำกิจธุรกิจของฉันอีก เป็นหมื่นๆล้านน่ะ นี่ฉันจะไปช่วยสังคม ประเทศชาติ ธุรกิจหมื่นล้าน งานของฉันเยอะ บริษัทฉันมีตั้งสามร้อยแห่งแน่ะ ไม่มีเวลามา ให้เธอ มากนักหรอก

แหม ถ้ามาให้อาตมาสักนิดหนึ่งบ้างก็เป็นบุญเหมือนกันน่ะ อาตมาพูดไปแล้ว ก็เหมือนยกย่อง ตัวเองน่ะนะ ว่าอาตมาว่า เป็นผู้อบรมตนดีแล้ว เพราะฉะนั้น ให้เขามาให้อาตมาบ้างเถอะ เวลาสัก จิ๊ดหนึ่งบ้าง ประเสริฐกว่าที่จะไปบูชาไฟอยู่ในเรือนไฟตั้งร้อยปี ไอ้ตอนแรก ประเสริฐ กว่าทรัพย์พันหนึ่ง อย่าว่าแต่พันหนึ่งเลยให้ห้าหมื่นล้าน ประเสริฐกว่าให้ทรัพย์ห้าหมื่นล้าน ตลอดร้อยปี จะประเสริฐอะไร เข้าใจให้ชัดๆ นี่ถึงบอกว่า การบวงสรวง การให้ การรับอะไรกันนี่ มันมีผลประโยชน์ ทางนามธรรมที่ลึกซึ้งอย่างนี้ นัยอย่างนี้

๓.บุคคลผู้มุ่งบุญ พึงบูชายัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้ว อย่างใด อย่างหนึ่ง ในโลก ตลอดปีหนึ่ง ยัญที่บุคคลเซ่นสรวงแล้ว และยัญที่บุคคลบูชาแล้วนั้น แม้ทั้งหมด ย่อมไม่ถึงส่วนที่ ๔ แห่งการอภิวาท แค่อภิวาทน่ะ ในท่านผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลาย การอภิวาท ในผู้ดำเนินไปตรงทั้งหลายประเสริฐกว่า

มากราบผู้ที่ประเสริฐ ผู้ที่ดำเนินทางตรง มีสัมมาทิฏฐิ ยิ่งเป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็น ญาณทัสสนวิเศษ เป็นวิมุตติญาณทัสสนะได้ แล้วก็มาอภิวาทผู้นี้ เท่านั้นแหละ ประเสริฐกว่า การบูชาเซ่นสรวงใดๆ ทั้งหมด ที่ว่ามาทั้งหมด

๔.ธรรมะ ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีการอภิวาทปกติ ผู้อ่อนน้อม ต่อผู้เจริญ คำว่าผู้เจริญนี้ อ่านเผินๆ ก็เหมือนกับไม่มีอะไรมาก แต่ผู้เจริญคำนี้ ต้องรู้นะว่า หมายถึงใคร หมายถึงใคร โอ้โฮ หมายถึงอาตมาเลยหรือ อาตมาไม่เหนียมหรอกนะ อาตมา แน่ใจว่า อาตมาเป็นผู้เจริญ เป็นผู้เจริญ เป็นผู้ที่สัมมาทิฏฐิ เป็นผู้ที่อบรมตนแล้วคนหนึ่ง ก็อบรมไม่น้อย เหมือนกันแหละ เป็นผู้ที่ควรอภิวาท เป็นอาหุเนยยบุคคล ปาหุเนยยบุคคล ทักขิเนยยบุคคลจริงๆ อาตมาเป็นเช่นนี้จริงๆ ก็ควรจะมาอ่อนน้อมต่อผู้เจริญนี้ เป็นนิตย์ นิตย เสมอๆ เป็นนิตย์ ตัวนี้แหละ เสมอๆ อยู่เรื่อยๆ ประจำๆ มาอ่อนน้อมต่อผู้นั้น หรือว่ามาอภิวาท เป็นปกติ มาอภิวาทมาอะไร ต่อจากข้อ ๓ ว่า

แม้ได้อภิวาท สักครู่หนึ่งนี่ ได้อภิวาททีหนึ่งก็ดีแล้ว แต่ถ้าเป็นปกติ เป็นนิตย์ เป็นปกติ เป็นนิตย์ คือทำอยู่เป็นธรรมดา เสมอๆ มาไหว้มากราบอยู่เรื่อยๆๆๆๆ แค่กราบเท่านี้ ก็ยังมีอานิสงส์ เป็นการเซ่นสรวง เป็นหุตัง เป็นการบูชา เป็นแบบเป็นอย่างที่ดี มันซับซ้อนนะ พูดไปมากๆ นี่ มันยิ่งทำให้เห็นว่า เหมือนกับอาตมายกตัวยกตน เสร็จแล้วพวกคุณก็จะต้องมาอภิวาท แค่อภิวาท ก็ยังขนาดนี้ ยิ่งคุณมาให้มากกว่านี้ละ มาคอยปรนนิบัติวัฏฐาก มาคอยดูแล เกื้อกูล ทางวัตถุ การกระทำ การงาน มาให้แรงงานช่วยเหลือ มาให้การช่วยรังสรรค์ ช่วยสร้างสรร

อ่านต่อหน้าถัดไป
:2312F.TAP