กว่าจะสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ตอน ๔ หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑
โดย สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก


ช่วยสร้างสรรช่วย ไม่ต้องไปไหนเลย อย่าว่าแต่มาเป็นนิตย์เลย มาประจำเลย มันก็ยิ่งจะต้อง วิเศษ ต้องมีอานิสงส์สูงกว่านั้น เห็นไหม พออธิบายกันอยู่หยกๆ แล้วก็ถามกันต่อว่า ยิฏฐัง กับ หุตัง มันต่างกันอย่างไรละครับ

มันยากจริงๆนะ อาตมาตั้งใจจะสรุปเหมือนกันว่า ยิฏฐังหมายถึงรูป หุตังหมายถึงนาม หรือ ยิฏฐังหมายถึงรูปธรรม หุตังก็หมายถึงนามธรรม ฟังเป็นขั้นๆไปนะ ยิฏฐังหมายถึงรูปธรรม หุตังก็หมายถึงนามธรรม

เพราะฉะนั้น ยัญพิธีรูปแบบของพิธี หมายถึงรูป ในการทำยัญพิธี รูปแบบยัญพิธีนั้นนั่นแหละ ก็มีหุตัง มีนามธรรมซ้อนอยู่ในตัวยัญพิธีนั้น เพราะฉะนั้น บางทีพูดมา ก็ปนๆกันว่า หุตังก็คือ ยัญพิธี ยิฏฐังก็ยัญพิธี คุณไปอ่านซี พระไตรปิฎก หรือว่าคำแปลของบรรดาเปรียญ ทั้งหลายแหล่ แปลกันเข้าไป มันจะปนๆ กันอยู่ตรงนั้นแหละ ประเดี๋ยวยิฏฐังก็ยัญพิธี หุตังก็ยัญพิธี ปนๆกันไป หนักเข้าก็คือ ให้ทินนังก็ปนๆอยู่ในนั้นแหละ แม้แต่ทินนังก็ปนอยู่ ในนั้น เพราะฉะนั้น สามตัวนี่ ทินนัง ยิฏฐัง หุตัง นี่นัวๆ ปนอยู่ในนั้นทั้งหมดแหละ เป็นเรื่อง เดียวกัน เป็นคนละเรื่องเดียวกัน เรื่องเดียวกันจริงๆ นัวเนียอยู่ตรงนั้นแหละ นี่มันละเอียดลออ อย่างนี้ พอเวลา อธิบายเข้าไป หรือว่ามีความรู้ที่จริงในความลึกซึ้งเข้าไป ดี ทักมาตรงนี้ ตอนนี้ ก็ดี เหมือนกัน ได้จังหวะ อาตมาจะสรุปหรือว่าจะอธิบายนี้อยู่แล้ว เพราะว่าอ่านจบ ตัวบวงสรวง พอดี

เอ้า ทีนี้ต่อ เมื่อกี้นี้บอกแล้วว่า ยิฏฐังนั้นเป็นรูป มันเป็นรูปธรรม หุตังเป็นนาม เป็นนามธรรม ยิฏฐังให้ นี้ในรูปแบบที่ให้ เอาข้าวมาถวาย ในหุตัง ใจของคุณ นามธรรมของคุณ ก็จะต้อง สละด้วย สอดคล้องกับการให้ คุณยิ่งทำการไม่โลภ หรือสละให้ได้มากเท่าไหร่ นั่นแหละคือ นามธรรม ที่คุณจะต้องได้บูชา ได้เซ่น สรวง ได้เสวย คุณยิ่งได้เสวยตัวสูญ หุตังเป็นสูญ ได้สังเวย บวงสรวงด้วยจิตว่าง จากโลภ โกรธ หลงเลย เป็นยอดแห่งหุตัง หรือยอดแห่งการ เซ่นสรวงบูชา ยิฏฐัง

พอไหวขึ้นไหม ไหวขึ้นไหม ยอดแห่งการได้ให้ อาตมาทำอยู่นะ แม้อาตมาจะไม่มีวัตถุที่ให้ มากแล้วตอนนี้ อาตมาจะได้ให้วาจากรรมกิริยา อาตมาทำกิริยาให้อย่างนี้ อาตมาก็เหนื่อย เหมือนกันนะ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ทำลีลาให้ได้เท่านี้ แสดงอาการดูไม่ค่อยสุภาพ หลุกหลิก ไม่สงบเสงี่ยม บอกว่าให้คนที่เก่งแล้ว ดีแล้ว เขาไม่แสดงธรรมอย่างนี้ ไม่สุภาพหรอก ให้ พูดจะให้ ทำกิริยาอย่างนี้ มันหลุกหลิก ก็จริง อาตมาไม่มีปัญหา

อาตมาเชื่อว่าพวกคุณเข้าใจแล้ว อาตมาทำนี้เจตนาอะไร อาตมาต้องการแสดงเป็น นายชัช ณ ตะกั่วทุ่ง ใช่ไหม ต้องการ เป็นติ๊ก ชีโร่ ต้องการเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ไม่ได้ต้องการที่จะมา ต้องมาเต้น มาดิ้น มาพาคุณดิ้น คุณเต้นอย่างนี้ แล้วก็มันๆๆอะไรหรอก แต่ว่ามันเป็น องค์ประกอบ ในการสื่อ เป็นศิลป์วิทยาอย่างหนึ่ง ก็พวกเรานี่ มันไม่รู้ซี อาตมาก็ไปดูถูก คุณหน่อย แล้วว่า มันต้องอัดกันปรุงแต่ง ในฐานะครูว่าจะต้องมีองค์ประกอบในการสื่อ โสตทัศนศึกษา ไม่มีอุปกรณ์การสอนอื่นๆใดๆ ก็เอากิริยา กาย วาจา ลีลาอะไรพวกนี้ เป็นอุปกรณ์ การสอน ปรุงสังขาร ที่เจตนาตั้งใจ แล้วก็สังขาร กรรมกิริยา กาย วาจา ใจ นี้ให้แก่คุณ จะต้องให้มันไปชำระ ให้มันเป็นปุญญาภิสังขาร ให้มันไป ชำระกิเลสของคุณ

อาตมาทำเอง อาตมาก็ต้องชำระกิเลสของอาตมาด้วย ว่าอาตมาทำ ให้คุณแล้ว อาตมาก็ได้ให้ โดยที่อาตมา จะต้องสูญของอาตมาด้วย ไม่ใช่ให้แล้ว อาตมาก็มีอัตตามานะว่า แกเป็นหนี้ข้า แกเป็นลูกศิษย์ข้า ทำใหญ่นะ แกต้องมากตัญญูกตเวทีข้านะ แกไม่ตอบแทนกตัญญูกตเวทีข้า ข้าจะเสียใจ อาตมาไม่โง่อย่างนั้นหรอก ใครจะไม่กตัญญูกตเวทีก็ของผู้นั้น ใครจะไม่กตัญญู กตเวที ก็เป็นคุณ ถ้าคุณจะไม่กตัญญูกตเวทีก็เป็นคุณ ไม่ใช่เป็นคุณคุณกุศลนะ คุณนี่หมายถึง ว่าเอ็ง หมายถึงว่า เธอ หมายถึงว่าเอ็งนั่นแหละ เป็นสรรพนามบุรุษที่สอง ก็เป็นคุณนั่นแหละ ที่จะไม่กตัญญูกตเวที มันก็เรื่องของคุณ เป็นกรรมของคุณ แต่ถ้าคุณมีกรรมกตัญญูกตเวที มันก็เป็นคุณ อีกนั่นแหละ อันนี้เป็นคุณแน่ๆเลย เป็นกุศลแน่ๆเลย คุณอยากทำคุณก็ทำ คุณไม่อยากทำ ก็ช่างหัวคุณเถอะ ไม่หวัง ไม่หวังอยากได้อะไรของใครละ อาตมาต้องทำใจ อย่างนี้

โวหารลีลาของอาตมา มันก็ดูเหมือนหยาบๆ แต่ว่า แหม อาตมาว่า พูดแล้ว คุณฟังแล้ว เออ อย่างนี้ฟังดี ฟังระรื่นหูดี มันดูมันหยาบๆ บาดเข้าไปเลย แต่ต้องฟังนิ่มๆ นิ่มๆ นี่มันต่างกัน อย่างไร ต่างกันอย่างไร อยากจะทำให้มันหยาบ ให้มันต่างกัน ให้มันละเอียดหยาบ มันต่างกัน อย่างไร มุมลบมุมบวก มุมผิดมุมถูก ให้มันตรงข้ามกัน มุมละมุม ให้มันชัดเจน ดำ ขาว ให้มันชัดๆ มากๆ ก็ปรุงหยาบหน่อย อย่าหาว่าอาตมาว่าคุณอีกเลย เพราะว่าคุณมันหยาบกัน มันก็ต้องเล่นหยาบๆ อธิบายหยาบๆหน่อย ถ้าอธิบายละเอียดเกินไป มันไม่ค่อยรู้เรื่องจริงๆ น่ะนา รู้ไม่พอ รู้ไม่ถึงจุด ก็ต้องขยายความออกมาถึงหยาบๆ ก็ถึงได้

สรุป ยิฏฐัง หุตัง ทินนัง สามตัวนี้ มันเป็นคนละเรื่องเดียวกัน สุดท้ายจริงๆ ก็คือให้ ต้องเป็นผู้ให้ เป็นที่สุด แม้อาตมาเป็นปฏิคาหก ผู้รับ แม้อาตมาเป็นปฏิคาหก อาตมาก็จะต้องเป็นผู้ให้ สุดท้าย ไม่ยอม เป็นผู้รับไม่ยอมหรอก เป็นหนี้ สุดท้ายทางสุด ที่สุดก็ต้องเป็นผู้ให้ ให้ได้ เป็นที่สุด เพราะฉะนั้น ทานที่ให้แล้ว ทินนัง ผู้ให้แล้ว ก็เป็นจบ ต้องมาเป็นผู้ให้ ให้กันถึงที่สุด ในโลก เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะให้ใครๆได้ ผู้นั้นก็จะต้องร่ำรวยเป็นเศรษฐี

อาตมาถึงขอยืนยันว่า อาตมาเป็นเศรษฐี แต่อาตมาไม่ได้เป็นกระฏุมพี อาตมาไม่ร่ำรวยทรัพย์ ศฤงคาร วัตถุรูป อาตมาไม่ร่ำรวยหรอก อาตมาหมดเนื้อหมดตัว ไม่มีสมบัติพัสถานอะไร เป็นของตัวหรอก มีแต่จะให้สิ่งที่อาตมาว่า อาตมามีทรัพย์วิเศษที่จะให้ มันทรัพย์วิเศษใด ที่อาตมามี ที่อาตมาว่าพระพุทธเจ้าสอนอาตมาว่า จงเอาอริยทรัพย์อันนี้เถิด ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา หรือศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา เหล่านี้ อาตมาได้สะสม มามาก อาตมามีศรัทธาของอาตมา มาตั้งแต่เกิด ศรัทธานี่คุณตายคุณเกิดก็ติดตัวคุณไป คุณได้เด็กอุแว้ออกมานี่ มีศรัทธาของมันแล้ว มีความเชื่อ ตั้งแต่ทิฏฐิ กลายมาเป็นศรัทธา ความเห็น ความเข้าใจ จนมาเชื่อมั่นอย่างนั้น มันเชื่อเป็นมิจฉาทิฏฐิ เชื่อเป็นมิจฉาศรัทธาก็ได้ แล้วก็ส่วนมาก ที่ยังไม่บรรลุ ยังไม่เป็นพระอริยะเจ้า หรือยังไม่เป็นพระอรหันต์ ก็เชื่อผิดๆ มาอย่างนั้น ทั้งนั้นแหละ เมื่อทิฏฐิ หรือศรัทธาเป็นอย่างไร ก็มาดำเนิน กาย วาจา ใจ ตามตัว นั้นแหละ ถ้าไม่ได้เรียนรู้ หรือไม่ได้แก้ไขทิฏฐิ ไม่ได้แก้ไขศรัทธาที่เป็นมิจฉา ศรัทธามันก็ ไม่งอก ไม่เงย มีบาป สั่งสมบาป สั่งสมหนี้ สั่งสมเวรไปตลอดกาลนาน

อาตมาวิเคราะห์ในตัว ยิฏฐัง กับหุตัง ออกมาขนาดนี้พอเข้าใจนะ มันเป็นนามธรรมต่อเนื่อง สุดท้าย ที่สุดแห่งนามธรรมนั้น ต้องให้สอดคล้องยิฏฐังทำพิธี ให้ คุณก็จะต้อง นามธรรม คุณจะต้องเป็นให้ ให้ตรง อย่างนั้นมันย้อนแย้ง แม้ในรูปแบบเขาเอามาให้เรา เรารับเป็น ปฏิคาหก อย่างที่กล่าวแล้ว เราก็จะต้องอย่าให้ขาดทุน ว่าเราจะต้องเป็นผู้ได้ให้ เหมือนกัน ต้องกตัญญูกตเวที

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เจ้า มีกตัญญูกตเวทีมาก ผู้ใดมาเลี้ยงข้าวเราไว้ หรือว่าช่วยเหลือเราไว้ แม้แต่นิดหนึ่ง เหมือนพระสารีบุตร มีพราหมณ์ ใช่ไหม เคยใส่บาตรให้พระสารีบุตร ๑ ครั้ง ทัพพีเดียว อยู่มาวันหนึ่ง พราหมณ์ ก็มาเลื่อมใสศรัทธาศาสนาพุทธ แล้วเสร็จก็ปฏิบัติตน จนจิตใคร่บวช ต้องการบวช พระพุทธเจ้าก็ เอ้า ภิกษุทั้งหลาย เธอผู้ใดจะช่วยเหลือ พราหมณ์บ้าง เป็นอุปัชฌาย์ถามพระ ก็มีพระสารีบุตรรูปเดียว พราหมณ์นี้ ดูเหมือน ไม่ค่อยจะน่ารักมิใช่หรือ แก่เป็นพราหมณ์แก่ ไม่ค่อยมีใครอยากจะสงเคราะห์ พระสารีบุตร ก็ระลึกว่า จำได้ว่าพราหมณ์ผู้นี้ เคยใส่บาตรให้ทัพพีหนึ่ง ก็ต้องกตัญญูกตเวที เอ้า ช่วยรับเป็น อุปัชฌาย์ให้ อุปัชฌาย์ก็ต้องไปหาสบง จีวร ไปหาอะไรต่ออะไรมาให้ มันเป็นหน้าที่ของ อุปัชฌาย์

ทุกวันนี้ อุปัชฌาย์นั่งเต๊ะจุ๊ยท่าเดียว แม้แต่อาตมาเป็นต้น ไม่ได้ไปหาเท่าไหร่ พวกคุณเอามา ให้ก่อน เสร็จแล้วต้องหาต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกเหมือนบุตร ก็ต้องช่วยอบรม สั่งสอน เลี้ยงดู รับเป็นอุปัชฌาย์ ต้องเป็นผู้ให้ แม้ที่สุด ก็ต้องเป็นผู้ให้

อาตมาเป็นอุปัชฌาย์นี่มาเป็นผู้ให้ แต่ท่านทั้งหลายก็ย้อนๆไม่ได้ อาตมายิ่งให้ คุณต้องยิ่งให้ อาตมายิ่งให้ คุณต้องยิ่งให้ มีแต่คนให้ๆๆๆๆๆ แต่ไม่มีใครเอา โอ โลกนี้อุดมสมบูรณ์เหลือ บานเบะเลย แต่โลกนี้กูก็จะเอาๆๆๆๆๆ มีแต่เอา ไม่มีใครจะให้ โลกหมด อะไรก็ไม่เหลือ หมดไม่เหลือ มีแต่กูจะเอา กูจะเอาๆ ในโลก

สรุปมาถึงจุดนี้ เราก็จะเห็นได้ว่า โลกนี้มันรุนแรง มีแต่จะเอากันจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจะต้อง มารุนแรงเหมือนกัน มีแต่จะให้ๆๆ ให้กันอยู่อย่างนี้ เสร็จแล้วก็ว่าผลสุดท้ายก็ให้ เราก็จะไม่เอา ทั้งนั้น เมื่อไม่เอา ของมันก็ตกอยู่ตรงนี้ กลางนี้กองเหลือ อีกหน่อยก็ธนบัตร ก็เกลื่อนอยู่แถวนี้ เราจะให้ถึงงั้น ใครมันก็ไม่เอา ไม่เอา มันก็เกลื่อนอยู่แถวนี้ ช่างหัวมันเป็นไร เพราะฉะนั้น มันก็จะอุดม สมบูรณ์ แล้วเราก็ไม่ได้มา ศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้งอมืองอเท้า ขยันหมั่นเพียร สร้างสรร เป็นคนมีคุณภาพ เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ดี มีความเจริญ ที่จะทำให้สังคม เป็นอยู่สุข อุดมสมบูรณ์

อาตมาบอกอีกทีหนึ่งว่า อาตมายังไม่ปรารถนาจะตายง่ายๆ ไม่ใช่ว่าไม่อยากตายนะ ไม่ใช่ว่า ไม่อยากตาย แล้วก็ไม่ใช่ว่าอยากตายนะ ที่อาตมาปรารถนา จะไม่ตายง่ายๆ ก็เพราะว่า จะอยู่ดู ความจริง สัจจะพวกนี้ว่าการแก้ไขปัญหาสังคม การแก้ไขชีวิตสังคมมนุษย์ จะแก้ปัญหา เศรษฐกิจ แก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาการเมือง แก้ปัญหาการอะไรก็แล้วแต่เถอะ ถ้าพูดไปแค่ เศรษฐกิจ การเมือง สังคม สรุปรวมยอดแค่นั้นก็ตาม ศาสนาก็แก้ปัญหา ให้แก่สังคมเหมือนกัน ช่วยสังคม ประเทศชาติ มนุษยชาติเหมือนกัน อาตมาจะดูวิธีการของศาสนานี่ แล้วพวกเราก็ มาทางศาสนา แล้วก็เป็นสังคมตัวอย่าง เป็นสังคม เป็นมนุษยชาติที่มีระบบ ที่อาตมาก็เรียก ระบบ แล้วตอนนี้

เรียกระบบไปยั่วๆเขาหน่อยเหมือนกัน ระบบสหสังคมเสรีบุญนิยม แหม ทันสมัยมาก เพราะชื่อ ยาวๆ นี่ ทันสมัย ดูซิว่า มันมีเนื้อหาแท้ มีระบบแท้ มีพฤติกรรมแท้ มีวิธีการนี้ได้แท้ๆแล้ว มันจะเกิดผล ที่อาตมายืนยันว่า จะต้องเกิดอิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ จริงหรือไม่ ที่ไม่อยากตาย เพราะอยากจะดูผลนี่ ๑๒๐ เลย หรือ ๑๒๐นะ ยังไม่รู้ ว่ามันจะเลย ๗๐ หรือเปล่า ยังไม่รู้เลย ขณะนี้ มันก็ใกล้ๆ ๖๐ แล้ว มันจะถึง ๗๐ หรือเปล่า ยังไม่รู้เลย

เอาละ มีเวลาอีกนิดหนึ่ง คุณจำลองมาบอกว่า เขาจะขอใช้เวลาพบปะกับพวกเรา ตี ๕ ครึ่ง สักครึ่งชั่วโมง ตี ๕ ครึ่ง ถึง ๖ โมง ก็เยอะในงานก็คนกว้าง มันก็อย่างนั้นน่ะ ขนาดอาตมา งานก็คนแคบ ขนาดนี้ก็ยัง เมื่อวานนี้จนไม่ได้ หอบไอ้นี่ไป ธรรมดามีเวลาก็หอบกลับไปที่กุฏิ เมื่อวานนี้ เอ๊ะ เรามาเมื่อกี้นี้ ไม่ได้หอบกองไอ้นี่มานี่ ไม่ได้หอบมา มันไม่มีเวลา เสร็จนี่ก็ไปเข้า ห้องน้ำ อาบน้ำ แล้วก็รีบขึ้นเวทีทางโน้น

เอ้า ตอนนี้ก็ต่อนิดหน่อย แม้มีเวลาอีกสัก ๑๐ นาทีก็ต่อได้ ก็เป็นอันว่า เข้าใจอย่างนี้ก่อน อาตมา จะอธิบายย้อนทวนมาอีก เป็นปฏิโลม จนกระทั่งไปถึง ข้อที่ ๑๐ แล้วก็ปฏิโลมมา ตอนนี้ ก็พยายามที่จะซอยลึกเข้าไปเรื่อยๆ แล้วปฏิโลมมาอีก มันจะซอยลึกเหมือนกับอาตมาอธิบาย ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาผล แล้วก็ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิ มัคคังคะ สอดซ้อน ลงไป เห็นๆสัมมาทิฏฐิตัวต้น พอธัมมวิจัย สัมมาทิฏฐิตัวที่เริ่มปฏิบัติ มีมัคคังคะ ปฏิบัติ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะแล้ว มันก็จะเกิดสัมมาทิฏฐิ ตามภาคปฏิบัติ มีธัมมวิจัย สัมโพชฌงค์ เป็นตัวหัว เจาะนำร่องลงไปเรื่อยๆๆๆ ก็จะเกิดปัญญาที่เป็น ปัญญินทรีย์ ซ้อนๆๆ สัมมาทิฐิก็จะโตขึ้น โตขึ้นๆๆ เป็นญาณทัสสนะ หรือเป็นปัญญินทรีย์ ไปเรื่อยๆ

จนกระทั่ง มันได้ญาณ เป็นปัญญินทรีย์ขึ้นมาในระดับหนึ่ง เสร็จแล้วก็มี ธัมมวิจัย ฐานใหม่ ซ้อนเข้าไปอีก สัมมาทิฏฐิใหม่เหนือชั้นกว่าปัญญินทรีย์ตัวเก่าๆอีก มีมัคคังคะ ปฏิบัติ มาเป็น สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ การงานชอนไชลึก สร้างเป็นปัญญาพละ ปัญญาผล ซ้อนเข้าไปอีก ธัมมวิจัยนำร่องเป็นหัวเจาะเป็นสว่าน เป็นหัวซี่ รู้จักหัวซี่บ่ล่ะ มีหัวซี่บ่ละ สว่านเป็นหัวสว่าน หัวซี่ เจาะเข้าไปอีก เจาะเข้าไปอีก แล้วก็เกิดสัมมาทิฏฐิที่เจริญขึ้นอีก สั่งสมลงเป็น ปัญญาพละ หรือเป็นญาณทัสสนะวิเสส เป็นปัญญา อธิปัญญาขึ้นไปอีก ด้วยการปฏิบัติ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ ปฏิบัติองค์ทั้ง ๔ โดยสัมมาทิฏฐิ ตัวประธาน ประธานมันก็จะเจริญขึ้นเรื่อยๆ สัมมาทิฏฐิประธาน ห้อมล้อมด้วยวายามะ สติ สอดซ้อนๆ มีความพยายาม มีสติสัมโพชฌงค์ เรื่อยๆนี้สั่งสมเป็นสัมมาสมาธิ เกิดสัมมาญาณ หรือ ญาณปัญญาพละ สัมมาญาณ เพราะมีวิมุติ ยิ่งมีวิมุติๆ วิมุตติญาณทัสสนะ ยิ่งมีตัวญาณ ที่สูงขึ้น สูงขึ้น สูงขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นมา เรียกว่า สัมมาทิฏฐิของพระอริยะ เป็นโลกุตระ มันซ้อนเชิง ถึงขนาดไหน ฉันเดียวกัน อันนี้ อาตมาก็จะซอยลึก อันนั้นอาตมาตั้งหลักไว้ให้ คำว่าสัมมาทิฏฐิ ของพระอริยะ อันเป็นโลกุตระ ทีนี้พวกนี้ก็ค่อยๆ ละเอียดไป

ทีนี้ภาคกรรม อ่านต่อหน่อยหนึ่ง ได้เท่าไหร่ก็เอาไว้จะได้ตอบพรุ่งนี้ ยังมีอีก ๒ วัน แล้วยังมี พุทธาภิเษกฯ อีก ๖ วัน ไม่ต้องกลัว

ภาคกรรม สุกฏทุกกฏานัง กัมมานัง ผลัง วิปาโก ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้ว คำว่า แล้วๆๆๆ ตามหลังนี่ หมายความเป็น Past Tense หรือเป็น Perfect Tense มันเป็นสภาพที่มันได้ ปฏิบัติไปแล้ว และได้ทำ ได้ผ่านการกระทำ แม้แต่ทินนัง ทานที่ให้แล้ว ยิฏฐัง พิธี ยัญพิธีที่ บูชาแล้ว หุตัง ยัญพิธีที่บวงสรวงแล้ว หรือการเซ่นสรวง หรือบวงสรวงแล้ว การบูชาที่บวงสรวง แล้ว ก็มันแล้ว มันเป็นส่วนที่ผ่านไปแล้ว

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาแห่งกรรมนิยม ถือ กรรมเป็นเอก นิยมกรรม เข้าใจกรรม รู้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม เรียกว่ากรรมทั้งหลาย ยอมรับกฎแห่งกรรม และมีความเชื่อว่า ทุกอย่าง เป็นไป ตามกรรม กรรมคือการกระทำ ถ้าใครจำไม่ได้ก็ระลึกถึงเพลง กรรมคือการกระทำ กรรมคือ การกระทำของแต่ละคน การกระทำที่ดีสมควรยกย่องสนับสนุน พระพุทธองค์ทรง สรรเสริญ เรียกว่า กุศลกรรม ส่วนการกระทำตรงกันข้าม เรียกว่า อกุศลกรรม มิควรทำ มิควร สรรเสริญ พระพุทธองค์ทรงเป็นตัวอย่างของผู้สร้างความดีงามทิ้งไว้ในโลก ให้กับโลก พุทธศาสนิกชน ทุกคนต้องช่วยกันรักษา ช่วยกันบำรุงไว้ ดำเนินต่อไป ด้วยการกระทำ ที่เป็น กุศลกรรม การกระทำคือกรรม คือการงาน จะเรียกการงาน ก็เป็นคำ คำเดียวกัน คำขยายกัน นั่นแหละ การกระทำคือกรรม คือการงาน ที่ต้องถือว่าเป็นหน้าที่ของพุทธบริษัท ที่จะต้องทำ ที่จะทำความดี ให้มากที่สุดที่จะทำได้ ทำจนเป็นประจำ เป็นนิสัย เป็นอัตโนมัติ เป็นการงาน ที่เกิดอยู่ อย่างง่ายๆ เหมือนเกิดเอง เป็นเอง

คำว่าง่ายๆ นี่ไม่ได้หมายความว่า มักง่ายในงาน คือทำงานที่ยากนี่แหละ ได้จนเรารู้สึกว่า ง่ายในงาน จนรู้สึกว่า เราทำงานนี้ง่าย เป็นการงาน ที่เกิดอยู่ อย่างง่ายๆ เหมือนมันเกิดเอง เป็นเอง การงานนั้นคนส่วนใหญ่จะ ไม่ชอบทำ เพราะไม่อยากเหนื่อย แต่พุทธบริษัทที่แท้แล้ว จะรู้จักทำ รูจักพัก ทำ เพราะเรียนมาไม่ผิด ทำเพราะมีทางปฏิบัติ หรือกัมมัฏฐาน เป็นมรรคองค์ ๘ ถูกต้องหลักวิชา พุทธศาสนาแท้จริง ทำเพราะเป็นงานเรียกว่า กัมมันตะ คำๆนี้แปลว่า การกระทำการงาน ซึ่งหมายถึงการกระทำทั้งทางกาย วาจา ใจ เพราะฉะนั้น เป็นที่สุดของคน หรือแม้ผู้สำเร็จ จบเป็นที่สุดแล้ว ก็มีอันนี้เท่านั้นที่เหลืออยู่ คือกรรม หรือมีการงานเท่านั้น ที่เหลืออยู่ ไม่มีอื่นอีกแล้ว นั่นคือมีแต่กุศลกรรมเท่านั้น เพราะว่าของผู้ที่จบอย่างพระอรหันต์ แล้วนี่ มีกรรม แล้วกรรมของพระอรหันต์ต้องถือเป็น กุศลกรรมทั้งสิ้น ที่เป็นบทบาทตัวตน อยู่ให้เห็น มีแต่งานเท่านั้นที่สุด

ตกลงพระอรหันต์นี่คือแท่งของกรรม แล้วท่านก็เป็นผู้ใช้กรรม เพราะท่านเหนือกรรม คือ ท่านรู้แล้วว่า อกุศลกรรมไม่ทำแล้ว ทำแต่กุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อมอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ตัวพระอรหันต์ แท่งก้อนพระอรหันต์นี่คือ แท่งแห่งกุศลกรรม แม้แต่ยิ่งเป็นพระพุทธเจ้า ยิ่งไม่สันโดษในกุศล ท่านยิ่งเป็นแท่ง ของกุศลกรรมตลอดเวลา แม้แต่ท่านจะหายใจ ก็เป็นกุศล ที่เราจะควรเอาอย่างตาม หรือท่านจะขยิบตาก็เป็นกุศล ที่เราควรจะเอาอย่าง ท่านเอี้ยวแขน ไกวขา พระพุทธเจ้า ท่านจะทำกิริยา กาย วาจา ใจใดๆ ล้วนแล้วแต่เป็นแท่งของกุศลกรรม ที่เราควร เอาอย่าง ที่จะต้องเรียนรู้ ปฏิบัติอบรมตน ฝึกให้เป็นไปตามท่านให้ได้ แท่งที่เหลือ คืออันนั้น ยิ่งท่านทำกรรมกิริยากาย วาจา ใจ ที่เป็นการงานที่หนักหนาสากรรจ์ ที่ยาก ที่อะไร ต่ออะไรต่างๆ นานานั้น ยิ่งเป็นแบบอย่างที่ จะต้องทำตามทั้งนั้น มีความอุตสาหะ อดทน วิริยะ พากเพียร ขนาดไหน ต้องเอาให้ได้

คนเราต้องมีการงานเป็นที่สุด คนเราต้องมีการงานนั่นแหละ ไม่มีอื่นอีกแล้ว แล้วต้องเป็น การงานที่ดี เป็นกุศล ทำแล้วก็ไม่ควรติดงาน ติดยึดผลของงานให้กลายเป็นอัตภาพ พอติดยึด มันก็จะเป็นเรา เป็นของเรา ก็เป็นอัตตา เป็นอัตภาพ ที่ถูกแล้วเราควรทำงานด้วยความขยัน หมั่นเพียร ถึงปรมัตถ์ลงตัว สอดคล้องกับโลก และความจริงแล้วไม่ต้องยึดว่า เป็นของเรา

อันนี้อาตมาก็เคยอธิบายมาซ้ำซาก ไม่ต้องหวังได้ ได้ผลย้อนทวนมาเป็นของเรา อุดมคติ ของการทำงานแบบพุทธ คือการทาน หรือการพลี พลีกายกรรม วจีกรรม พลีให้ หรือให้บริสุทธิ์ ถึงขั้นทานที่สุด ไม่เรียกร้องการตอบแทน แม้ใจก็พลี ใจก็ให้ บริสุทธิ์ถึงทาน คือ วางปล่อย ไม่ไขว่คว้า ตักตวง แม้แต่ผลประโยชน์ของงานนั้น มาใส่ตน พลีให้เป็นทาน การงานก็คือทาน

สรุปเข้าไปย่อๆ จนกระทั่งสุดท้าย มันเป็นไปได้อย่างไร ทานมันก็คำหนึ่ง กรรมมันก็คำหนึ่ง แต่สุดท้าย กรรมหรือกิริยานั้นต้องให้เป็นทานให้หมด มนุษย์เกิดมามีหน้าที่ทำงานให้โลก สร้างสม ความดีงามไว้ในโลก ให้เป็นโลกที่ดี ไม่ควรเกิดมาสร้างความสกปรก หรือ ความเลวทราม ไว้ในโลก ความสะอาด ความดีงาม เป็นสิ่งพึงประสงค์ในทุกที่ทุกแห่ง ความสะอาดบริสุทธิ์ ความดีงามที่สุด เป็นตัวรวมของหลักธรรมทุกหมวด ของพระพุทธองค์ จนถึงโอวาทปาฏิโมกข์ ที่มีหลักการว่า ไม่ทำความชั่ว สัพพปาปัสสะ อกรณัง ทำความดี กุสสัสสูปสัมปทา ขยัน สะอาด ด้วยกาย วาจา สะอาดถึงจิต ทำดีด้วยความรู้ว่าเป็นสิ่งดี กาย วาจา ใจ ทรงอยู่ในความดียิ่ง ให้ยิ่งๆขึ้นไป ทำแล้วทานความดีให้หมดใจ ไม่หลงยึด หลงติด ความดี จนสมบูรณ์ จึงจะถึงความสะอาด ความขาวผ่อง บริสุทธิ์ใจ เป็นสูงสุด

สจิตตปริโยทปนัง การกระทำเช่นนี้ ถึงขั้นสูงสุดนี้เรียกได้ว่า อโหสิกรรม กรรมเป็นอันทำ ใครทำดี ดี ใครทำชั่ว ชั่ว เป็นวิบากของกรรม เป็นผลของกรรม ใครทำเป็นของคนนั้น กัมมัสสโกมหิ กัมมัสสกตา แปลว่าทำแล้ว ชีวิตดีแล้ว เด็ด จบ ที่ใครที่มัน ทำแล้วเด็ด ตัวเองน่ะเด็ด จบ ตัด เด็ด หรือตัด ทำแล้วถ้ามันทำดี คือแน่ใจว่าดีแล้วจบ เด็ด จบ ทีใครทีมัน คนทำดีสำเร็จลงในตัว เป็นดีของคนนั้น คนทำชั่วสำเร็จลงในตัวเป็นของผู้นั้นทันที ทันทีที่ทำ ไม่ต้องรอพิธีกรวดน้ำ หรือพิธีใดๆ เกิดเป็นกรรม เป็นกิจกรรม เป็นสำเร็จกรรม เป็นตัวกรรมทันที เรียกว่ากตกรรม ทำดี ทำไมต้องรอกรวดน้ำ จึงจะได้ดี แต่ทำชั่วไม่เคยกรวดน้ำกันสักที ทำไมถึงต้องได้ชั่ว ไม่เคยสังสัย หรือว่า พิธีกรรมเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องสำคัญ สำคัญที่การกระทำ ใช่หรือไม่

เอาล่ะ นี่นำร่อง อันนี้คัดมาจากหนังสือสมาธิพุทธ ค่อยมาแทรกอธิบายพรุ่งนี้ สำหรับวันนี้ อาตมา ต้องใช้เวลาคุณจำลองมาหน่อยหนึ่ง แล้วเราค่อยมาต่อกันนะ

เอ้า วันนี้หยุดแค่นี้ก่อน

สาธุ


ถอด โดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๑ เม.ย.๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน มั่นรักวงศ์ ๒๔ เม.ย.๓๕
พิมพ์ โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๒๑ พ.ค.๓๕
2312G.TAP


พระไตรปิฎก เล่ม ๔ ข้อ ๘๕
ทีนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ใครระลึกถึงบุญคุณ
ของพราหมณ์นั้นได้บ้าง? เมื่อตรัสถามอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ทูลคำนี้ต่อพระผู้มีพระภาคว่า ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์นั้นได้อยู่ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ดูกรสารีบุตร ก็เธอระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์นั้นได้อย่างไรบ้าง?
สา. พระพุทธเจ้าข้า เมื่อข้าพระพุทธเจ้าเที่ยวบิณฑบาตอยู่ ณ พระนครราชคฤห์นี้
พราหมณ์ผู้นั้น ได้สั่งให้ถวายภิกษา ๑ ทัพพี ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบุญคุณ
ของพราหมณ์ นั้นได้เท่านี้แล พระพุทธเจ้าข้า.

ภ. ดีละๆ สารีบุตร ความจริงสัตบุรุษทั้งหลาย เป็นผู้กตัญญูกตเวที สารีบุตร
ถ้าเช่นนั้น เธอจงให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทเถิด.
สา. ข้าพระพุทธเจ้าจะให้พราหมณ์นั้นบรรพชาอุปสมบทอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า
?
อุปสมบทด้วยญัตติจตุตถกรรม