ลึกล้ำ ย้ำสำคัญ เรื่องเสนาสนะ
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
อบรมทำวัตรเช้า ๒๘ เมษายน ๒๕๓๕
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก

วันนี้ อาตมาตั้งใจที่จะเอาพระไตรปิฎกมาอ่านให้ฟัง แล้วก็จะได้อธิบายพระไตรปิฎก อันนี้เกี่ยว ถึงเสนาสนะนี่แหละ เกี่ยวถึงสถานที่อยู่นี่แหละ เสนาสนะ ซึ่งเราจะต้องพยายามศึกษาดีๆ มันลึกซึ้ง ธรรมะของพระพุทธเจ้า คัมภีรา ทุททสา ทุรนุโพธา มันลึกซึ้ง มันเห็นได้ด้วยยาก ตามเห็นได้ด้วยยาก ตามรู้ได้ด้วยยาก มันไม่ใช่ของตื้น มันเป็นของลึก มันเป็นของวิเศษนะ เอ้า ฟังดูเรื่องว่าด้วยความสงัด แต่ก็เกี่ยวกับเสนาสนะ อาตมาจะเน้น ตรงในความหมายของ เสนาสนะให้ชัดน่ะ ก็ฟังดู

วิวิตตสูตร ในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาต พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ ข้อ ๕๓๓

ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชก บัญญัติความสงัดจากกิเลสไว้ ๓ อย่างนี้ หมายความว่า คนนอกรีต หรือคนที่มีความคิดมิจฉาทิฐิ จะเป็นพุทธก็ตาม พุทธที่มีมิจฉาทิฐิ ก็คล้ายๆกับพวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น มีความเห็นแปลก มีความเห็น ไปเหมือนๆกับอัญญเดียรถีย์ ปริพาชก ระวังจะออกนอกรีต นอกปฏิบัติ นอกขอบเขตพุทธ พวกอัญญเดียรถีย์ ไปบัญญัติความสงัด คือความสงบสงัดจากกิเลสนี่ เขาบัญญัติเอาไว้อย่างนี้ บัญญัติเอาไว้ ๓ อย่าง คือ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ความสงัดจากกิเลส เพราะจีวร ๑ ความสงัด จากกิเลส เพราะบิณฑบาต ๑ ความสงัดจากกิเลส เพราะเสนาสนะ ๑ น่ะ ก็เกี่ยวกับปัจจัยน่ะ ปัจจัย ๓ ไม่เกี่ยวข้องกับยารักษาโรคเท่านั้น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เพราะ ฉะนั้น เขาบอกว่า สงบนี่ สงบจากกิเลส เพราะจีวร สงบจากกิเลส เพราะบิณฑบาต สงบจากกิเลส เพราะเสนาสนะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัดจากกิเลส เพราะจีวร พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ปฏิบัติไว้ดังนี้ คือ ทรงผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าบังสุกุลบ้าง ผ้าเปลือกไม้บ้าง หนังเสือบ้าง หนังเสือทั้งเล็บบ้าง ผ้าคากรองบ้าง ผ้าเปลือกปอ กรองบ้าง ผ้าผลไม้กรองบ้าง (เอาผลไม้มากรองเป็นผ้าก็ได้นะ) ผ้ากัมพลทำด้วยผมคนบ้าง กัมพล แปลว่าขน แปลว่าผม ผ้ากัมพลนี่ เขาเอาผมคนนี่ไปทอ เป็นผ้าที่เลวที่สุด หนาวก็หนาว ที่สุด ร้อนก็ร้อนที่สุด ถ้านุ่งห่มผ้า เอาผมคนไปทอนะ เป็นผ้าที่เลวที่สุด พระพุทธเจ้าตรัสไว้นะ อันนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในขบวนผ้าทั้งหลาย นี่ ผ้าที่แย่ที่สุด คือผ้าผมคน ผ้ากัมพล ทำด้วย ขนสัตว์บ้าง ผ้าทำด้วยปีกนกเค้าบ้าง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกบัญญัติไว้ในความสงัดจากกิเลส เพราะจีวร หมายความว่า ผู้ที่จะไม่มีกิเลสนี่ คือผู้จะต้องนุ่งห่ม ผ้าที่เขาว่าไว้นี่ผ้าป่านบ้าง ผ้าแกมกันบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง ผ้าอะไรบ้างนี่ เฉพาะผู้ที่ เขาไปเพ่งที่ผ้า ว่าอย่างนั้นเถอะ เขาไปเพ่งที่ผ้า สรุปง่ายๆ ก่อนนะ เดี๋ยวอ่าน ให้จบก่อน ทั้ง ๓ เรื่อง คล้ายๆกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัด จากกิเลส เพราะบิณฑบาต พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชก บัญญัติไว้ดังนี้คือ เป็นผู้มีผักดองเป็นภักษาบ้าง มีข้าวฟ่าง เป็นภักษาบ้าง มีลูกเดือยเป็นภักษาบ้าง มีกากข้าวเป็นภักษาบ้าง มียางเป็นภักษาบ้าง มีสาหร่ายเป็นภักษาบ้าง มีรำเป็นภักษาบ้าง มีข้าวตังเป็นภักษาบ้าง มีกำยานเป็นภักษาบ้าง มีหญ้าเป็นภักษาบ้าง มีโคมัย (โคมัยคือขี้ควาย) เป็นภักษาบ้าง มีเหง้าและผลไม้ในป่า เป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่น เยียวยา อัตภาพ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก บัญญัติไว้ในความสงัดจากกิเลส เพราะบิณฑบาต
ก็หมายความว่า ไปเพ่งเอาที่อาหาร แล้วก็ขี้มักจะเป็นอาหาร พวกที่มักน้อยสันโดษ เสื้อผ้าก็ตาม เสื้อผ้าที่ว่านั่นมักจะเป็นเสื้อผ้าบังสุกุล เสื้อผ้าสันโดษ อาหารก็เป็นอาหารที่ดูแล้วก็มักน้อย เป็นอาหารที่ไม่หรูหราฟู่ฟ่า เป็นกินผัก กินพืชด้วย กินของอะไรต่ออะไรง่ายๆด้วย ในที่นี้ ในภิกษุ ทั้งหลาย

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ในความสงัดจากกิเลส ๓ อย่างนั้น ในความสงัด จากกิเลส เพราะเสนาสนะ (ตอนนี้ที่อยู่แล้ว) พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชก บัญญัติ ไว้ดังนี้คือ ป่า โคนไม้ ป่าช้า ป่าชัฎ ที่แจ้ง ลอมฟาง โรงลาน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แล พวกอัญญเดียรถีย์ ปริพาชกบัญญัติไว้ในความ สงัดจากกิเลส เพราะเสนาสนะ
ก็ที่อยู่ ที่เสนาสนะ ก็เอาพวกป่า อยู่ป่า อยู่เขา อยู่ถ้ำ อยู่ที่แจ้ง ลอมฟาง คือไม่ได้อยู่ที่บ้าน ที่เรือน ไม่ได้อยู่ใกล้ผู้ใกล้คน อะไรอย่างนั้นล่ะนะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ส่วนความสงัดจากกิเลส ของภิกษุในธรรมวินัยนี้ ๓ อย่าง (ทีนี้ทางด้าน ศาสนาพุทธ ถ้าของพุทธ จะเป็นยังไง) ๓ อย่าง เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑.เป็นผู้มีศีล ละความเป็นผู้ทุศีล และเป็นผู้สงัดจากกิเลส เพราะศีลนั้นด้วย
๒.เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด และเป็นผู้สงัดจากกิเลส เพราะความเห็นชอบนั้นด้วย
๓.เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และเป็นผู้สงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น ภิกษุนี้ จึงเรียกว่า เป็นผู้บรรลุ ส่วนอันเลิศ บรรลุส่วนที่เป็น แก่นสาร เป็นผู้บริสุทธิ์ ตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นสาระ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนคฤหบดีชาวนา พึงใช้คนให้รีบเร่งเก็บเกี่ยวข้าวสาลี ในนา ของเขา ซึ่งถึงพร้อมแล้ว ครั้นแล้ว พึงใช้คนให้รีบเร่งรวบรวม เข้าไว้ ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่ง ขนเอาไปเข้าลาน ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งลอมไว้ ครั้นแล้ว พึงใช้คนให้รีบเร่งนวดเสีย ครั้นแล้วพึงใช้คน ให้รุเอาฟางออกเสีย ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รวมข้าวเปลือกเป็นกองเข้าไว้ ครั้นแล้ว พึงใช้คนให้รีบเร่งฝัดข้าว ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งขนเอาไป ครั้นแล้วพึงใช้คน ให้รีบเร่งซ้อม ครั้นแล้วพึงใช้ให้คนรีบเร่งเอาแกลบออกเสีย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าวเปลือกเหล่านั้นของคฤหบดีชาวนานั้น พึงเป็นของถึงส่วน อันเลิศ ถึงส่วนเป็นแก่นสารสะอาดหมดจด ตั้งอยู่ใน ความเป็นของมีแก่นสาร ฉันใด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีล ละความเป็นผู้ทุศีล และสงัดจากกิเลสแล้ว เพราะศีลนั้น ด้วย เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด และสงัดจากกิเลสแล้ว เพราะความเห็นชอบ นั้นด้วย เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และสงัดจากอาสวะทั้งหลายนั้นด้วย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเช่นนี้ เรียกว่าเป็นผู้บรรลุส่วนอันเลิศ บรรลุส่วนที่เป็นแก่นสาร เป็นผู้หมดจด ตั้งอยู่ในธรรมที่เป็นแก่นสาร ฉันนั้น เหมือนกันแล ฯ

ฟังความแล้ว ได้ความว่ายังไง อัญญเดียรถีย์ กับ พุทธ ต่างกันยังไง เดียรถีย์นี่ ก็เพ่งติดอยู่แต่ แค่ภายนอก ถ้าจะว่ากันทั้ง ๓ อันแล้ว ปัจจัยทั้ง ๔ เป็นเหตุปัจจัยที่ ในการปฏิบัติธรรม เหมือนกัน พิจารณาจีวร พิจารณาบิณฑบาต พิจารณาเสนาสนะเหมือนกัน แต่ของพุทธนั้น เอาศีล เอาองค์ธรรมเข้าไปประกอบด้วย อย่างที่เรากำลังปฏิบัติกันนี่ เดี๋ยวจะได้อ่านเสนาสนะ อีกอันหนึ่งให้ฟัง ก็รวมกัน แต่ว่าไม่ติดยึดอยู่แต่แค่เสนาสนะ ไม่ใช่ติดอยู่ ติดยึดอยู่แต่ป่า แต่เขา แต่ถ้ำ แต่จะใช้ได้ ไม่มีปัญหาอะไร แต่ใช้เป็นเครื่องประกอบได้ อาหารก็จะเป็นอาหารอย่าง มักน้อย สันโดษได้ เครื่องนุ่งห่ม จะใช้อย่างเครื่องนุ่งห่มที่ มักน้อย สันโดษ ก็ดีด้วย แต่ไม่ใช่ ติดอยู่ที่แค่นั้น นี่เป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น เราจะออกนอกรีต ก็คือปฏิบัติจะต้องไม่ใช่ไปติดอยู่ที่ ของเท่านั้น แต่จะต้องมีศีลขัดเกลาไปถึงจิต ถึงปรมัตถ์ จนกระทั่งละกิเลสได้

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ตอนหลังนี่ เป็นผู้ที่มีศีล เป็นผู้ที่ไม่ทุศีล นอกจาก จะไม่ทุศีลแล้ว ก็จะต้องเป็นผู้ที่สงัดจากกิเลสเพราะศีลนี้ได้ ซึ่งเราก็เรียนรู้กันอยู่ หลักปฏิบัติ สงัดจากกิเลส เพราะศีล แล้วก็เป็นผู้เห็นชอบ ไม่มีความเห็นผิด จนกระทั่งละกิเลสได้ เพราะความเห็นชอบ คือสัมมาทิฐิ ซึ่งเราก็ศึกษากันยังกะอะไรดี สัมมาทิฐิ ศึกษาหลักปฏิบัติ ของพระพุทธเจ้า ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างกับอะไรดี ทั้งตัวหลักตัวแกนเลย ท่านตรัสว่า สิ่งที่มาก่อน หรือสิ่งที่สำคัญมาแรก เหมือนจะเกิดกลางวัน จะต้องมีแสงอรุณมาก่อนนั้น ก็คือสัมมาทิฐิกับศีล

มีอยู่สูตรหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนเลย สัมมาทิฐิกับศีล เป็นตัวแรกเริ่มแห่งอรุณของวัน ถ้าจะมีกลางวันแล้ว ไม่มีแสงอรุณมาก่อน ไม่มีในโลก แสงอรุณจะมาก่อน การมีกลางวัน การมีความสว่างของพระอาทิตย์นั้น จะต้องมีแสงอรุณมาก่อน ฉันใด สัมมาทิฐิกับศีล เป็นแสงอรุณนั้น ฉันนั้น เราศึกษาแล้วเราเน้นกันอยู่ในเรื่องเหล่านี้อย่างสำคัญนะ ไม่ใช่เรื่องตื้น

อาตมาว่าอาตมาพาปฏิบัติธรรมนี่ อย่างถูกทางมาอยู่ตลอด แล้วจนกระทั่งถึงกับขั้นเป็น พระขีณาสพ สมบูรณ์นะ นี่ ๑ เป็นผู้มีศีลไม่ทุศีล ๒. เป็นผู้มีความเห็นชอบ ละความเห็นผิด ๓.เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลายจนได้ นี่เป็นสมบูรณ์ ๓ ข้อเหมือนกัน เพราะว่าอันนี้มัน ติกนิบาต ท่านมีหมวด ๓ พวกนี้ จะต้องมีหลัก ๓ ๓พวกนี้ ขยายความให้ มากกว่า ๓ ก็ได้ หรือว่า ตั้งหัวข้อซะมากกว่า ๓ ก็ได้อยู่ แต่อันนี้ท่านมีกันเท่านี้ก็ว่ากันไป

ทีนี้ ท่านก็เปรียบให้ฟัง น่าสังเกตตอนที่ท่านเปรียบ ท่านเปรียบเหมือนชาวนา คฤหบดีชาวนา พึงเร่งรีบนะ พึงเร่งรีบเกี่ยวข้าวสาลีในนา เกี่ยวแล้วก็เร่งรวบรวม แล้วก็พยายามทำ ทุกๆอย่างที่ เนื้อในนะ ไม่ใช่ปลูกข้าวนะ นี่เป็นการเก็บข้าวเท่านั้น คฤหบดีชาวนาพึงใช้คนให้รีบเก็บข้าว เกี่ยวข้าวสาลีในนาของเขา ซึ่งถึงพร้อมแล้ว ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รีบเร่งรวบรวมเข้าไว้ ครั้นแล้ว ก็พึงใช้รีบเร่งขนเอาไปเข้าลาน ครั้นแล้วก็พึงใช้รีบเร่งลอมไว้ ครั้นแล้วพึงรีบเร่งนวดเสีย ครั้นแล้ว ก็รีบเร่งรุเอาฟางออก ครั้นแล้วพึงใช้คนให้รวมข้าวเปลือกไว้เป็นกอง ครั้นแล้วก็รีบเร่งฝัดข้าว แล้วก็รีบเร่งขนเอาไป แล้วก็รีบเร่งซ้อม แล้วก็รีบเร่งเอาแกลบออก จนเป็นเม็ดข้าวเข้ามาสมบูรณ์ นี่ คือความหมายที่เราฟังแล้วจะเข้าใจ

พระพุทธเจ้าหมายเอาว่า แม้เราจะมีข้าวก็อย่ามาเที่ยวได้เออ เรามีข้าวแล้วปล่อยอย่างนั้นแหละ นวดก็ไม่นวด ขนมากองไว้ก็ไม่กองไว้ อีเหละเบะบะอยู่อย่างนั้น จะลอมไว้ก็ไม่ลอมไว้ จะมาเลือกฝัดมาทำอะไรก็ไม่ทำ ปล่อยไว้ เรามีข้าวแล้วแหละ ชะลอเรามีของแล้ว ใจเย็นแล้ว บอกแล้ว ตั้งข้อสังเกตให้ฟังแล้ว่า ท่านไม่ได้ตรัส ตั้งแต่ว่าจะต้องรีบ ชาวนานี่ทำนา ตั้งแต่เริ่ม ทำนา จนกระทั่งมีข้าว ท่านไปตรัสเอาแต่ตัวใน ให้รีบขน ให้รีบเอามาจัดการ จนกระทั่งรีบทำ ให้เม็ดข้าว ครั้นแล้วก็รีบรุ รีบทำจนเป็นเม็ดข้าวเรียบร้อย อย่าไปชะลออยู่

สรุปแล้วก็คือว่าอย่าหยุดอยู่ อย่าเฉื่อย อย่าติดแป้น อย่าละความเพียร แม้เราจะมีฐานอาศัย มีฐานพักแล้ว อย่าเป็นอันขาด เพราะฉะนั้น เรามีสัมมาทิฐิ ตามข้อที่ท่านหมายไว้แล้ว เรามีศีล เรารู้จักศีล เรารู้จักสัมมาทิฐิ เร่งรีบปฏิบัติตามข้อ ๓ เป็นพระขีณาสพ ละอาสวะทั้งหลาย และ เป็นผู้สงัดจากอาสวะทั้งหลายเหล่านั้นด้วยให้ได้ อย่าชะลอ อย่าเฉื่อย อย่าแฉะ ทีนี้เนื้อหา ที่ท่านเน้นนี้ ท่านก็ตัดตรงแต่นี้เลยน่ะ ความหมายก็หมายความว่า แม้เสนาสนะ อาตมาตั้งใจ จะเน้นเสนาสนะ จีวรก็ขอผ่านไป บิณฑบาตขอผ่านไป แต่นัยจะคล้ายกันน่ะ เสนาสนะ ที่อาตมาเอามา จะมาเน้นให้ฟัง เดี๋ยวจะมีอีกสูตรหนึ่ง เสนาสนสูตร

เสนาสนะ หมายความว่า ไม่ได้ให้ไปติดอยู่ที่เปลือก แม้จะทำเปลือกให้มักน้อยสันโดษก็ดีอยู่ แต่ถ้าผู้ที่ปฏิบัติธรรมะ ไม่รู้จักศีล ไม่รู้จักสัมมาทิฐิ ปฏิบัติ ไม่รู้จักมรรคองค์ ๘ ไม่รู้จักโพธิปักขิยธรรม จะอาศัยสิ่งที่เป็นเปลือกนอก อาศัยสิ่งที่เป็นปัจจัย จะเป็นอาหารการกิน จะเป็นที่อยู่อาศัย จะเป็นเครื่องนุ่งห่มก็ตาม ถ้าปฏิบัติไม่เป็นจริง อย่างที่คนในโลกเขาว่า ไปกิน มังสวิรัติมันก็ไอ้เท่านั้นแหละ มานุ่งมอซอมันก็ไอ้เท่านั้นแหละ ต่อให้คุณไปอยู่ป่าอยู่เขา อยู่ถ้ำ ที่แจ้ง ลอมฟาง ของเรานี่ เดี๋ยวเสนาสนะจะบอก พระพุทธเจ้าจะได้ตรัส เดี๋ยวจะมีสูตร เสนาสนะ ว่า ไอ้ที่ว่าเสนาสนะอันสงัดนั้น มันหมายถึงแค่ไหน ป่าหมายถึงแค่ไหน ป่าไม่ได้ หมายป่า อย่างที่เขาเข้าใจ ที่อาตมาเคยแย้ง เคยเอาพระสูตรมาให้อ่านหลายทีแล้ว จะเป็นยังไง เดี๋ยวจะได้ทราบ

เราปฏิบัติด้วยองค์ประกอบของอาหาร ของเครื่องนุ่งห่ม ของที่อยู่อาศัยก็ตาม จะต้องปฏิบัติ อย่างมีนัยฉลาด ลึกซึ้ง ไม่ใช่ปฏิบัติอย่างซื้อบื้อ เอาไปแต่นั่งหลับตาอยู่ที่ ในเสนาสนะป่า แล้วก็ ไม่มีศีล ไม่รู้จักศีล ไม่ศึกษาธรรมวินัยที่ลึกซึ้ง โพธิปักขิยธรรม สัมมาทิฐิอย่างไร ทุกข์อย่างไร เหตุแห่งทุกข์อย่างไร แล้วก็จะละออกจากความดับทุกข์ มีวิธีการอย่างไร ไม่รู้เรื่อง ก็ติดอยู่ ตรงนั้นแหละ ติดอยู่ที่เปลือก เป็นอัญญเดียรถีย์อยู่อย่างนั้นล่ะ

เดี๋ยวนี้อาตมาว่า อาตมาเข้าใจภูมิธรรมเหล่านี้ แล้วก็เห็นอัญญเดียรถีย์อยู่ในศาสนาพุทธนี่เอง มากมาย ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะว่าเขาไม่ได้เข้าใจอย่างเรา แล้วอาตมาพูด เขาหาว่าอาตมา จะมาทำลายศาสนาพุทธเสียด้วย เขาก็จะขับออกจากศาสนาพุทธเสียด้วย ก็เป็นเรื่องที่ ก็น่า สมเพชเวทนา ไม่รู้จะทำยังไง ก็จำเป็น เขาเองเราไม่ได้ไปบังคับความคิดความเห็นของเขา เขาเกิดอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เราก็ได้แต่ก็สอนไป แนะนำไป ในความมั่นใจ อาตมามั่นใจว่า สิ่งที่ถูกต้อง เป็นอย่างนี้ ก็พยายามอยู่น่ะ

เอาละ ความสงัดที่พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าความสงัดจากกิเลสนั้น ความสงัดจากกิเลสนั้นน่ะ อยู่ในความสงัด ไม่ได้ความสงัดอยู่ที่เปลือก เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีความสงบใจ สงัดจากกิเลส ก็คือ มีความสงบดีแล้ว ไม่ได้ไปติดอยู่ที่เปลือกสิ่งเหล่านั้นทีเดียว สงัดหรือว่าสงบ ความสงบนี้ แม้เสนาสนะก็ไม่เกี่ยว เกี่ยวความสงบจิต ที่จิต ที่เป็น ซึ่งเรื่องสงัดสงบ หรือหลีกเร้นอะไรพวกนี้ อาตมาก็เอาพระสูตรมายืนยันว่า ความลึกซึ้งของศาสนาพระพุทธเจ้านี่ หลีกเร้น ไม่ได้ หมายความว่า หนีจากสถานที่ ที่มันอึกทึกครึกโครมเท่านั้น ไม่ใช่ มันอยู่ที่จิต ทำจิตให้มันละ กิเลสได้ เหมือนกะเอาหนังวัวหนังควายไปย่างไฟ แล้วมันก็หดเข้า หลีกเร้นคือ ข้างในหลีกเร้น ไม่ได้หมายความว่า ภาษาโลกๆ ว่าหลีกเร้น คือหนีไปอยู่ข้างนอกๆ ภาษาโลกๆ แต่นี่เอาขนไก่ เอาหนังสัตว์ไปย่างไฟ ไปเผาไฟ มันจะหดเข้ามาฉันใด นั่นคือการหลีกเร้น หลีกเร้นนี่ คือกิเลส หนีจากกิเลส หรือว่าไม่ใช่หนีจากเหตุวัตถุ แต่จะต้องกิเลสนั่นแหละ หมายความว่า จะต้อง เข้าหาสูญ เข้าหาสูญ หลีกเร้นก็คือ จิตจะต้องสะอาดจากกิเลสนั้นให้ได้

ซึ่งอาตมาก็เคยเอามาอ่าน เอามาขยายความให้ฟัง เอ้า ทีนี้ ฟังเสนาสนสูตรดูทีหนึ่งนะ เราจะ เข้าใจ สูตรนี้ อาตมาจะอ่านอันนี้ให้ฟังก่อน อ่านให้ฟังเสนาสนะ เล่ม ๒๔ ข้อ ๑๑

ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ เสพอยู่ คบอยู่ ซึ่งเสนาสนะอันประกอบ ด้วยองค์ ๕ ไม่นานนัก (ฟังดีๆนะ ท่านว่าไม่นานนักเลยนะ ถ้าเผื่อว่าเป็นอย่าง นี้ล่ะนะ) พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้ง หลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มี ศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ทรงถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และ มนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

อะไรที่อาตมา อ่านเป็นภาษาไทยเมื่อกี้นี้ บทอิติปิโส นั่นเอง นี่แปลออกมาจาก บทอิติปิโส ๑๐๐% ว่าภิกษุประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญา ตรัสรู้ของพระตถาคต ว่าพระตถาคตนี้เป็นผู้แม้เพราะเหตุนี้ เพราะเหตุนี้ เหมือนกับ อิติปิโส ที่เราสวดอยู่นั่นแหละ ทั้งหมดไป จนกระทั่งจบ ว่าเป็นผู้จำแนกธรรม

สรุปก็คือว่า ศรัทธาในพระพุทธเจ้า ตถาคตโพธิสัทธานั่นเอง เป็นผู้มี อาพาธน้อย มีโรคเบาบาง ประกอบ ด้วยไฟธาตุสำหรับย่อยอาหารสม่ำเสมอ ไม่เย็นจัด ไม่ร้อนจัด ไม่เป็นปานกลาง ควรแก่การบำเพ็ญเพียร สรุปแล้วก็คือ เป็นผู้ที่ไม่ช่างป่วย เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคเบาบาง

๓ ต่อมา เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา ทำตนให้เปิดเผยตามความเป็นจริงในศาสดา หรือในเพื่อน พรหมจรรย์ที่เป็นวิญญ

นี่ ๓ พูดแล้วก็คือ พูดก็คือ ในภาษาบาลีเรียกว่า อสโฐ โหติ อมายาวี อาตมาเคยเอามาบรรยาย แต่ก่อนนี้มากนะ อันนี้เอาพระบาลีมาด้วย อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา ที่อาตมาเคยเอามานี่ หมายความว่า เป็นผู้ที่ไม่มีจิตลามก ไม่มีจิตสโฐ ไม่มีจิตเป็นมายา เป็นผู้ที่มีความจริง มีปัญญาเข้าใจธรรมะดี ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา แล้วก็ทำตนเป็นผู้เปิดเผย ตามความเป็นจริง อย่างอยู่นี่ มันก็อยู่ด้วยกันเปิดเผยตามความเป็นจริง ในส่วนที่ควรเปิดเผย บอกกัน แก้กันไปตามขั้นตามตอน ตามฐานะตามลำดับ เพราะฉะนั้น จะมีความไม่ดีไม่งาม มีความที่มันมีกิเลส ปัญหาอะไรก็ เปิดเผยสู่กันฟัง ปรึกษา หารือกันว่าอะไรมันจะช่วยกันได้ ขนาดไหน ๆ แล้วก็พัฒนากันไป

ในศาสดาหรือเพื่อนในเพื่อนพรหมจรรย์ที่เป็นวิญญู เปิดเผยกับผู้ที่เป็นอาจารย์ ผู้ที่ฉลาด ไม่ใช่เปิดเผยกับใคร กับใครก็ได้ เลอะเทอะ กิเลสของเรา ก็เลยไปเที่ยวประกาศกับชาวบ้าน แม้กับพวกเดียวกันนี่แหละ จะเที่ยวไปบอกคนนั้นคนนี้เขาหมด ไม่ถูกต้อง เปิดเผยนี่ ควรเปิดเผย กับผู้ที่เราคิดว่า เป็นที่พึ่ง เปิดเผยกับผู้ที่มีฐานะสูงกว่า ผู้เป็นศาสดา ผู้เป็นอาจารย์ หรือเป็น ผู้วิญญูชน ที่เราถือว่า เมื่อเปิดเผย บอกกล่าวว่า เออ กิเลสอย่างนี้ ปรึกษาหารือได้นะ เราจะทำ อย่างไรหนอ เราจะละกิเลสนั้นได้ ข้อนี้มันจะโยงใยมาถึงอีก ๕ หมวดหลังน่ะ เดี๋ยวจะเข้าใจว่า อีก ๕ หมวดหลัง แล้วจะปฏิบัติอย่างไร

นี่เป็นภาคปฏิบัติของเสนาสนะ ไม่ใช่ไปอยู่เสนาสนะแล้วก็นั่งนอน นั่งกิน นั่งหลับ นั่งหรี่ นั่งไม่มีท่าอะไร ตกลงก็เลยป่วย ก็ไม่ป่วยนะ ศรัทธาในพระพุทธเจ้าก็ศรัทธา เสร็จแล้ว ก็โอ้อวด ข้านี่แหละบริสุทธิ์ ข้านี่แหละหนีจากโลกได้แล้ว ข้านี่แหละเป็นผู้สงบสงัด ข้านี่แหละเป็นผู้ที่ บรรลุธรรม ข้านี่แหละทิ้งโลกได้แล้ว ทิ้งนะ หนีนะ ทิ้งโลกอย่างของเขาเป็น อย่างฤาษีส่วนใหญ่ ที่เขาเข้าใจว่าเขาเป็นพระอริยะ หรือว่าพวกที่ไปอยู่ในเสนาสนะอันสงัด ในป่า ในเขา ในถ้ำ อย่างที่ ศาสนาพุทธเข้าใจ แล้วก็โอ้อวดว่าฉันนี่แหละเป็นผู้สงัด แล้วก็ยังโน้นเน้น โน้มน้อม

แม้แต่พระบ้านยังยอมแพ้ พระอยู่ในบ้านนี่ ก็ยังบอกว่า โน่นแหละ โน่นแหละ นั่นผู้อยู่ในป่านั่น เป็นพระอริยะ พระอยู่ในบ้านนี่ อย่าไปพูดเลย ขนาดสมเด็จด้วยกันนี่ ยังบอกว่าไม่มีหรอก ผู้ที่สมเด็จด้วยกันนี่ รับรองทั้ง ๖ รูปนี่ มีสมเด็จอยู่รูปหนึ่ง บอก ไม่มี รับรอง โสดาบัน โสดาแบนอะไร ท่านใช้พูดคำนี้ด้วย ท่านว่าโสดาบันโสดาแบนอะไร นี่เราอัดเท็ปไว้ด้วยนะ มีเท็ป ท่านว่าโสดาแบนด้วยนะ ไม่ใช่อาตมาพูดเอง ไม่มี รับรองทั้ง ๖ รูปนี่ ไม่หรอก พุทโธ่ มันเต็ม ด้วยลาภ ยศ สรรเสริญอยู่อย่างนี้ มันจะไปได้อะไร ท่านองค์นี้ นามจริงท่านว่า เสงี่ยม ชื่อจริง ท่านว่าเสงี่ยม ท่านปากเก่ง องค์นี้ท่านไม่กลัว องค์นี้มีข้อมูลว่า ในห้องของท่านนี่นะ ในตู้ มีตู้หนึ่ง มีหนังสืออโศกอยู่เยอะ แต่ท่านสิ้นแล้ว ท่านตายแล้ว องค์นี้ สมเด็จองค์นี้ ท่านตายแล้ว มีข้อมูลมาในห้องท่านมีตู้ตู้หนึ่ง มีหนังสืออโศกอยู่เหมือนกัน องค์นี้สมเด็จ เป็นสมเด็จองค์หนึ่ง ท่านบอกรับรองเลยสมเด็จ ๖ องค์ไม่โสดาบันโสดาแบนอะไร ไม่ได้ แล้วก็ไป นับถือโน่นแน่ะ พระป่า

นี่เป็นความเห็นที่มันไม่เข้าสัมมาทิฐิเท่าไหร่ จริง ก็ดีอยู่ ในส่วนตื้น ในส่วนหนึ่งก็ถูก แต่ใน ส่วนลึกแล้ว ก็ไปนั่งนอนจมป่าอยู่ โดยไม่ได้มีสภาพพวกอย่างนี้นะ เดี๋ยวจะรู้ว่ายังไง ไม่ศึกษา ให้เกิดสัมมาทิฐิ ไม่มีศีล ไม่ปฏิบัติถูกทาง ไม่มีโพธิปักขิยธรรม ไปอยู่ป่าให้ตาย กี่ชาติๆ อยู่กัน กี่ร้อยปี ก็ไม่มีปัญหา ไม่ได้เรื่องหรอก เพราะฉะนั้น แม้แต่พระบ้าน ถ้าปฏิบัติรู้จักสัมมาทิฐิ ปฏิบัติถูกโพธิปักขิยธรรมดีได้บรรลุ

ต่อมาข้อที่ ๔ เป็นผู้ปรารภความเพียร ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

อันนี้ ก็เข้าใจง่าย ปรารภความเพียรนี่ ไม่ละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม เป็นผู้มี กำลังบากบั่น ไม่ใช่ย่อหย่อนเหยาะแหยะ เป็นผู้ที่ตั้งอกตั้งใจพากเพียรบากบั่นจริงๆ ถึงแม้เราจะ เจ็บ จะป่วยบ้าง เราก็ไม่ทอดธุระในการปฏิบัติธรรมบ้างเหมือนกันแหละ ถ้ายิ่งเป็นผู้ไม่เจ็บป่วย ด้วย ก็เข้าหลักข้อที่ ๒ เลยว่า เป็นผู้อาพาธน้อย ข้อที่ ๓ ไม่โอ้อวด ข้อที่ ๔ เป็นผู้ปรารภ ความเพียร

ข้อที่ ๕ เป็นผู้มีปัญญา คือประกอบด้วยปัญญา ที่เห็นความเกิดและความดับ เป็นอริยะ ไม่ใช่เห็นความเกิดและดับ ประเภททื่อๆๆๆ เออ ต้นไม้มันเกิดแล้ว ประเดี๋ยวมันก็ตั้งอยู่ ประเดี๋ยวมันก็ดับไป คนนี่เกิดจากท้องพ่อท้องแม่ เดี๋ยวก็ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันไม่ใช่ความเกิด ความดับที่เป็นอริยะ ความเกิดความดับที่เป็นอริยะ ต้องรู้กิเลสนั่นแหละเกิด กิเลสนั่นแหละ ตั้งอยู่ กิเลสนั่นแหละดับ แล้วหยุดความเกิดให้ได้ จึงจะเรียกว่าดับสนิท ต้องรู้ว่า ความเกิด มันตรงไหนเอาเกิด กิเลสเกิด เมื่อกิเลสไม่เกิดแล้ว ก็ไม่มีกิเลสตั้งอยู่ แล้วก็ไม่มีกิเลสดับ ก็หมด สังสารวัฏฏ์หมด นิพพานตรงนี้

เป็นอริยะต้องรู้จักว่า ความเกิด ความดับ ตรงไหน ที่เรานับเป็นอริยะ จากท้องพ่อ ท้องแม่ แล้วเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ถูก ในความหมาย อย่างนั้นก็ถูก แต่มันไม่ใช่อริยะหรอก เราจะไม่เกิด อย่างนั้น ถ้าเป็นอริยะแล้ว จะไม่เกิดอย่างนั้นได้ ถ้าเป็นอริยะแล้ว เพราะฉะนั้น จับเป้าตรงที่ว่า จะเป็นอริยะอย่างไรน่ะ เพราะฉะนั้น ความเกิด ความดับ มีปัญญาที่เห็น ความเกิด และดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำระกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ

ยืนยันขยายความไปอีกว่า เกิดดับเป็นอริยะ ต้องเป็นเครื่องชำระกิเลส ไปมัวแต่มองเห็นว่า เออ คนเกิดคนดับก็ไม่เที่ยง ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไอ้อย่างนั้น รู้จักความเกิดความดับอย่างนั้น ใครมันจะไม่รู้ รู้ง่ายอย่างนั้น แต่รู้ที่เป็นปรมัตถ์ ที่อาตมาเน้นสัมมาทิฐิ พ้นมิจฉาทิฐิตรงไหน เห็นอนิจจังตรงไหน เห็นอนิจจังตรงที่มัน เออ นี่เห็นนะ ที่จริง ไม่ได้เห็นทีเดียวหรอก เขาเกิด ก็หมอโน่นเห็น หมอนี่เห็นตอนเกิดใช่ไหม หมอทำคลอดเห็นเราตอนเกิดใช่ไหม ตัวเองก็ ไม่เห็นหรอก ตั้งอยู่ มาเห็นตอนตั้งอยู่ ตอนตาย บางทีก็ไม่เห็น ไปเห็นตอนเผา ถ้าจะว่า เห็นจริงแล้ว ไม่ได้เห็นที่ไหน สภาวะ ใช่ไหม ก็เข้าใจหยาบๆ เป็นตื้นๆ นี่แหละ นัยที่ลึกซึ้ง พวกนี้ ต้องเข้าใจ จับเป้าที่เป็นปรมัตถ์ให้ชัด

อาตมาเน้นมาหลายวันแล้ว หลายทีแล้ว ไอ้เรื่องว่าพ้นมิจฉาทิฐิ ตรงที่เห็นปรมัตถ์ที่อนิจจัง ก็คือ ไตรลักษณ์นั่นเอง เพราะฉะนั้น เห็นไตรลักษณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เที่ยง เลื่อนไป ไอ้นี่คือความเข้าใจ ด้วยตรรกศาสตร์ ด้วยความหมาย ไม่มีปัญหาหรอก แต่มันไม่เที่ยง มันเลื่อนอยู่ มันไม่อยู่ อย่างเดิม ไม่คงเดิม ไม่คงที่ ไม่สมบูรณ์ ไม่หยุดสนิท อะไรล่ะ กิเลสมันไม่หยุดสนิท อย่างที่ว่า เพราะฉะนั้น จะต้องชำระกิเลส มีอะไรชำระ มีองค์ประกอบอย่างไร ปฏิบัติอย่างไร ถึงจะชำระ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเห็นความเกิดความดับอย่างนี้ นี่เป็นปัญญา นี่พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน ว่า ผู้มีปัญญาคือประกอบด้วยปัญญาที่เห็นความเกิดและดับ เป็นอริยะ เป็นเครื่อง ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ นี่เป็นตัวที่ ๕

ถ้าเผื่อว่า เราไม่ละเอียดลออ เราปฏิบัติไม่ถูกไม่ตรง ไม่มีวัน แต่ถ้าเผื่อว่า ผู้ใดปฏิบัติถูกตรง เข้าใจชัดอย่างนี้ ไม่นานนัก ไม่นานนัก พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่เดี๋ยวนี้แหละ ปัจจุบัน นี้แหละ ในขณะนี้ ชาตินี้แหละ ไม่นานนัก ๗ ปีก็ยกไว้ ๖ปีก็ยกไว้ ๕ปีก็ยกไว้ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสอย่างนี้เลยนะ นี่เรามันหลาย ๗ ปีแล้วนะนี่บางคน บางคน สองเจ็ด ๑๔ แล้ว มันก็ยังไม่หมด ก็เอาล่ะ ก็พยายาม ทีนี้ อีก ๕ ข้อ นี่เสนาสนะ

ผู้ประกอบด้วยเสนาสนะแล้วจะปฏิบัติอย่างนี้ จะต้องมีความเป็นอย่างนี้ ถ้ามีอยู่เสนาสนะ ป่า เขา ถ้ำ แล้วก็ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ ไม่มีปัญญา ไม่มีสภาพที่เข้าใจอย่างนี้นี่นะ แล้วปฏิบัติตรงกันนี้นะ นานนัก ไม่ใช่ไม่นานนัก คำว่า นานนักนี่หลายกัปป์หลายกัลป์ด้วย เออ ไม่ใช่ว่า ไม่นานนักหรอก นานนัก เอ้า ทีนี้ อีก ๕ เสนาสนะ

อันนี้ ที่อาตมากำลังจะอ่านนี่ เสนาสนสูตร ในพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ทสกนิบาต หมวด ๑๐ เพราะฉะนั้น จะมี ๕ อันแรก เสนาสนะนี่ ๕ แล้วจะมีอันหลังอีก ๕ รวมกันเป็น ๑๐

อาตมาจะเน้นอันนี้ บอกว่า นี่มันสูตรเสนาสนะนะ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติกับเสนาสนะอย่างไร

อ่านต่อหน้าถัดไป