ลึกล้ำ ย้ำสำคัญ เรื่องเสนาสนะ
โดย พ่อท่าน โพธิรักษ์
ณ พุทธสถาน ปฐมอโศก
หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


อาตมาจะเน้นอันนี้ บอกว่า นี่มันสูตรเสนาสนะนะ เพราะฉะนั้น ปฏิบัติกับเสนาสนะอย่างไร เสนาสนะปฏิบัติอย่างอัน ๕ อันต้นแล้ว อันที่ ๒ เสนาสนะอันประกอบด้วยองค์ ๕ อย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะในธรรมวินัยนี้ อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง ปราศจากเสียงอึกทึก มีเหลือบ ยุง ลม แดด และ สัมผัสแห่งสัตว์เลื้อยคลานน้อย นี่ ๑ ก็ท่านก็นิยามลงไปแล้วว่า เสนาสนะอันสงัด หรือ เสนาสนะอันเหมาะ ที่จะปฏิบัติธรรมคืออย่างไร ก็คือสถานที่อยู่ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก สมบูรณ์ ด้วยทางไปมา จะหมายถึงป่า ลอมฟาง ที่แจ้ง ป่าช้า ป่าชัฎ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเข้าใจว่า เสนาสนะของท่านนี่ อยู่ไม่ไกลนัก อยู่ไม่ใกล้นัก แต่คนเข้าใจผิด เลยเถิด ก็เลย กลายเป็นว่า เสนาสนะอันควรปฏิบัติธรรมนั้น ต้องไกลๆน่ะ เลยเถิดไป อยู่ป่า เขา ถ้ำ อะไรนี่ ก็เลยเถิดไป

ป่าช้าของเราก็มี ป่าช้าศีรษะอโศก ป่าช้าไพศาลี โอ ไม่ได้ผิด ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนเลย ป่าช้า ป่าชัฏ หรือป่าของเรานี่ก็ป่านะ นี่ นับวันก็จะป่าใหญ่ขึ้นไปทุกที เสร็จแล้ว เราก็ไม่ใกล้นัก ไม่ไกลนัก สมบูรณ์ด้วยทางไปมา กลางวันไม่เกลื่อนกล่น กลางคืนเงียบเสียง แต่ ขอโทษเถอะ สมัยนี้กั้นยากเหลือเกิน โอ้โห เสียงมันมา เจ้าประคุณเอ๋ย แต่ก็ว่าไปเถอะ เราก็ต้องซักซ้อม อินทรีย์พละ เพราะว่าทุกวันนี้ ไอ้เรื่องเสียงนี่ พระพุทธเจ้าท่านก็คงไม่ นึกถึงหรอกว่า สมัยนี้ มันจะมีเครื่องเสียงของมันถึงขนาดอย่างนี้ มันมาเสียจนเรา ซึ่งเราก็พอไป พอมาน่ะ เขาก็ไม่กล้า เอื้อมเข้ามา แต่ห้ามกั้นไม่ได้ มันมาในอากาศ

ทีนี้ เรื่องเหลือบ ยุง ริ้น ก็อีกแหละ แหม ห้ามกั้นยากอีกเหมือนกัน เราก็พยายามที่จะทำไอ้นี่ ทุกวันนี้ นิเวศวิทยา หรือว่าเราพยายามที่จะดูสถานที่ ให้มันไม่เป็นเหตุที่มันจะเกิดยุง เหลือบ ริ้น อะไร สัตว์เสือกริ้นคลานอะไร อย่าให้มันมาก หมายความว่า ไม่ใช่อยู่ในป่า ที่มันเต็มไปด้วย สัตว์เสือกริ้นคลาน ที่เป็นพิษ เป็นภัย ยุงเหลือบอะไรต่ออะไร ไม่ได้หมายความตรงๆ แค่ไม่มียุง ไม่มีเหลือบ ธรรมดาเท่านั้น หมายความว่า จะต้องอยู่โดยที่เรียกว่า ก็อยู่อย่างคนอยู่แหละ ไม่มีสัตว์ที่มันประเภทที่ไม่ควรจะอยู่กับคนอะไรนัก พูดไปแล้ว แม้แต่เสือ สิงห์ สาราสัตว์ หรือ แม้แต่งู แม้แต่เงี้ยว แม้แต่อะไร สัตว์อย่างที่กล่าว มันก็ไม่ต้องมามีอะไรมากมาย เป็นที่ที่คน ควรอยู่ เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่ว่า จะได้ไม่มี ก็ไปอยู่กับสิงห์ กับเสือ อยู่กับงู กับเงี้ยว อยู่กับอะไร ต่ออะไรในป่าที่ลึกเกินไปยังงั้นไม่ใช่นะ ทีนี้ต่อมาก็ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขาร อันเป็นปัจจัย แห่งคนไข้ ย่อมเกิดขึ้นโดยไม่ฝืดเคืองแก่ภิกษุผู้อยู่ในเสนาสนะนั้น เพราะฉะนั้น สำหรับสถานที่เสนาสนะนี้ ก็แม้แต่ปัจจัย ๔ ก็อยู่ได้ พอเป็นไปไม่ฝืดเคือง

อันนี้ข้อที่ ๒ ตอนนี้ฟังนะ เมื่อกี้อธิบายนำไว้หน่อยหนึ่งแล้วว่า ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้น เพราะฉะนั้น เสนาสนะที่จะควรอยู่นั้น ควรเป็นที่ที่จะอยู่แล้ว ไม่นานนัก เราจะปฏิบัติธรรม จะบรรลุ ก็คือ เสนาสนะที่นอกจาก จะเป็นที่ไม่ใกล้ไม่ไกล มีปัจจัย ๔ ไม่ยากเย็นนัก ไม่ฝืดเคืองนัก พออาศัยขันธ์ พออาศัยอยู่ได้ดี ก็ต้องเป็นสถานที่ เสนาสนะที่มีพระเถระพหูสูตชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อยู่ในเสนาสนะนั้นด้วย ไม่ได้หมายความว่า ไปอยู่ป่า เขา ถ้ำ เดี่ยว ที่ฉันไม่มีครูอาจารย์ ไม่มีผู้ที่จะเป็นที่ปรึกษาได้ ไม่ใช่เป็นอัน ขาด จะต้องเป็นสถานที่ ที่มีครูอาจารย์ เอ้า ทีนี้ต่อไปข้อ ๔ มีครูอาจารย์แล้วก็ตาม นี่ ยังไม่ได้อ่านนะ นี่ครูอาจารย์ แล้วก็ตาม แต่ก็เป็นคนซื่อบื้ออีกแหละ มีอัตตามานะใหญ่อีกแหละ

ข้อ ๔ ว่าอย่างนี้ ภิกษุนั้น เข้าไปหาพระเถระเหล่านั้นตามกาลอันสมควร แล้วย่อมสอบถาม ไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร หมายความว่า มีครูบาอาจารย์ ก็จะต้องมาใส่ใจฟังธรรม สอบถาม ไต่ถาม แก้ไขปัญหาของตน ไม่ใช่มีครูบา อาจารย์แล้วก็เฉย ครูบาอาจารย์ก็อยู่ของครูบาอาจารย์ไป ฉันอยู่ของฉันไป มีอัตตามานะ แล้วก็ ไม่พยายามใฝ่ใจในการศึกษา ไม่รู้ประเด็นปัญหาของตนเอง ไม่รู้ข้อควรปรึกษาหารือ บอกแล้วว่า ควรจะไปเปิดเผย เมื่อกี้พูดถึงแล้วว่า อะไรควรเปิดเผย เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา หยิ่งผยอง นั่นเรียกว่า มีความโอ้อวด หรือหยิ่งผยอง มีมารยา ข้าไม่ต้องพึ่งใครหรอก ครูบาอาจารย์ ก็ว่าไป ข้าอยู่อย่างนี้ อย่างเหมือนกับข้าเป็นครูบาอาจารย์ใหญ่คนหนึ่งเท่านั้น จะไปปรึกษาหารือ มีทุกข์มีร้อน มีเรื่องนั่น เรื่องนี่ ก็ไม่หรอก ก็อ้างเหตุผล เพราะไม่ต้องไปกวน ท่านหรอก เราช่วยตัวเองได้ แต่แก้ไม่ได้สักทีอยู่นั่นแหละ จมอยู่อย่างนั้นแหละ

คนผู้ไม่รู้จัก อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่รู้จักเข้าหาผู้ใหญ่ ปรึกษาหารือแก้ไข เพราะสิ่งที่ลึกซึ้งมันมี เพราะฉะนั้น ยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งเข้าหาอาจารย์สูงๆ ยิ่งเข้าหาอาจารย์ใหญ่ๆ ยิ่งลึกซึ้ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่สูงแล้ว ผู้ที่เราเป็นครูบาอาจารย์เหมือนกัน ในระดับครูบาอาจารย์เหมือนกัน ก็ต้อง เข้าหา ครูบาอาจารย์ที่ยิ่งที่ใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะมันสิ่งลึกซึ้ง จะไปหาเด็ก ไปหาต่ำกว่า ใครจะไขปัญหาให้เราได้

แล้วเราเองก็ไม่ใช่ปัจเจกภูมิ สาวกภูมิก็ต้องมีครูบาอาจารย์ ท่านถึงได้ใช้คำว่า มีเถระผู้ใหญ่ มีเป็นพระเถระ เป็นพหูสูต ชำนาญคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา หมายความว่า เป็นผู้ที่ลึกซึ้ง เป็นผู้ที่มีภูมิธรรม ภูมิปัญญาจริงๆ เพราะฉะนั้น อสโฐ โหติ อมายาวี ยถาภูตัง อัตตานัง อาวิกัตตา ก็หมายความว่า เป็นผู้ที่จะต้องทำตนเปิดเผยความเป็นจริงในศาสดา หรือ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ที่เป็นวิญญู ก็คือหมายถึงพระเถระ พระพหูสูตนี่แหละอยู่ กับต้องมี ถ้าเสนาสนะนั้นไม่มี นานนักเหมือนกัน หรือ เสนาสนะนั้น มีพระเถระ แล้วก็ต้องเข้าไปหาท่าน ไปไต่ถาม ภิกษุนั้นเข้าไปหาพระเถระเหล่านั้น ตามกาลอันควร แล้วย่อมสอบถามไต่ถามว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้อนี้เป็นอย่างไร เนื้อความของข้อนี้เป็นอย่างไร ต้องเข้าไปศึกษา ต้องเป็น ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ใช่เป็นผู้มีมารยา มีสโฐ โอ้อวด หยิ่งผยอง ไม่ใช่ ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องศึกษา ต้องอาศัยพหูสูต ต้องอาศัยพระเถระ อย่างนี้ไม่นานนัก แต่ถ้าเผื่อว่า แม้ข้อเกร็ดๆ ย่อยๆ ไม่ใช่ย่อยนะ ข้อเกร็ดข้อนี้สำคัญเหมือนกัน เพราะว่า นี่คือหลัก ๑๐ ประการ ในพระทสกนิบาต หลัก ๑๐ ประการ พระพุทธเจ้าซอยลึกให้ฟัง

เพราะฉะนั้น ผู้ใดปฏิบัติครูบาอาจารย์ก็ครูบาอาจารย์เท่านั้น มาก็ทำหยิ่งผยอง ต้องรู้นัย ของอัตตามานะ ที่อาตมาหยิบมาเน้นนี่ เน้นอัตตามานะ ให้เห็นเนื้อความ ให้เห็นสารัตถะของ อัตตามานะ ที่ซ้อนลึกอยู่ ผู้ใดพึงปฏิบัติอยู่อย่างนี้ ไม่ค่อยเข้าหา ไม่ค่อยใฝ่ใจจะเข้าหาเลย ไม่เป็นไร เราแค่นี้ เราก็รู้แล้ว อวดดี สฐะ สโฐ สาเถยยะ อวดดี หยิ่งผยอง สารัมภะ อวดดี หยิ่งผยองนะนั่น เอ้า ฟังธรรมะไป จะฟังมั่งก็ได้ ไม่ฟังมั่งก็ได้เสียด้วยนะ เก่งเสียอีกแน่ะ แต่ก็อยู่ แค่นั้นแหละ ติดอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่เจริญขึ้นอีก

เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ปฏิบัติครบนัยอย่าง ๑๐ หลัก ของท่านนี่นะ ไม่ซ้อนเชิง ลึกเข้าไปอย่างที่ว่านี่นะ มันก็ไม่ครบ มันก็ไม่เจริญอีกแน่นอน มันติดแหง็ก มันติดตาย ปมไหน ประเด็นไหน มันจะติดตรงปมนั้น ประเด็นนั้นน่ะ อันนี้ข้อที่เสนาสนะนี่ ข้อ ๔ แล้วหรือ ๑.ไม่ไกลนัก ๒.ปัจจัย ๔ สมบูรณ์ ไม่ถึงสมบูรณ์อุดมอะไรหรอก ก็หมายความว่า ไม่ฝืดไม่เคือง ๓.มีพระเถระพหูสูต ผู้ชำนาญคัมภีร์ ๔.ต้องเข้าไปหาภิกษุผู้เถระ แล้วก็ปรึกษาไต่ถามตามกาล อันควร ศึกษาเพิ่มเติม ซอกแซก ละเอียดเพิ่มเติม ไม่มีอสโฐอย่างที่ว่านี่ เกี่ยวข้องกับอันบน

ที่อาตมาเตือนไว้แล้วว่าระวังเถอะ เป็นผู้ที่มีสาเถยยะ อวดดี มีมารยา ไม่เปิดเผยตน ตัวเอง ก็นึกว่า ตัวเองทำให้มันเป็นอย่างนี้นะ อาตมาเป็นครูอยู่นี่ อาตมารู้ มันเป็นอย่างนี้ คือผู้ที่อวดดี อยู่นี่ แล้วก็ทำเขื่องว่า ไม่มาปรึกษาหารืออาตมา ไม่เข้าหา ไม่โอภาปราศรัย ไม่ไต่ถาม ไม่ทำตน เป็นลูกศิษย์หรอก ทำตนเหมือนกับเป็นครูใหญ่ อยู่ในนี้อีกคนหนึ่งเหมือนกันล่ะ ทำเขื่อง แล้วก็ แก้ตัวว่า อย่าไปกวนท่านเลย ซึ่งมันผิดหลักนี้นะ

ที่เมื่อกี้ อธิบายขยายความให้ฟังแล้วว่า ยิ่งเราเป็นครูผู้ใหญ่ ก็จะต้องมีครูผู้ใหญ่ที่จะต้องแก้ ปัญหา หรือแก้ปมประเด็นที่เราติดให้ได้ เราแน่ หรือว่าเราแก้ได้ เพราะฉะนั้น ความเป็นอัตตา มานะ ความถือดี สโฐ มายาวี นี่ มันมี มันหลอกตัวเอง อัตตามานะตัวนั้นล่ะ มันหลอกเรา มันหลอกว่า อย่าไปกวนท่านเลย แต่แท้จริงแล้ว ถ้าเราไปน้อมไปโน้ม ไปเข้าหา ไปศึกษา ไปอะไร เขาอยู่นี่ เราก็ไม่ใหญ่นะ เรายังเล็กนะ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องใหญ่ อย่าใหญ่ให้ใครเห็น เราไม่ศึกษาหรอก เราแค่นี้เราพอแล้ว เราเก่งแล้ว มันเป็นลักษณะอวดดี ซ้อนอยู่ในที จริง เราก็จะต้องเกรงใจ เราก็จะต้องรู้กาละเทศะ วาระ เวลา ว่าควรจะเข้าไปหาเมื่อไหร่ ศึกษาเมื่อไหร่ ตามภาวะ

เราก็ผู้ใหญ่ ก็เรียน ไม่ต้องเรียนรู้จู้จี้จุกจิกนัก ก็ไม่ใช่จะงอแง ประเดี๋ยวก็เข้าหา ประเดี๋ยวก็เข้าหา ก็ไม่ถึงอย่างนั้น ไม่เหมือนเด็ก เด็กเขาเข้าหาบ่อยหน่อย ก็เรื่องของเขา เขาจะงอแงมั่ง ก็เรื่อง ของเขา เราผู้ใหญ่ เราก็ต้องมีกาละ วาระ เวลา ให้มันสมสัดสมส่วนตามเป็นจริง ต้องมีจิตใจ อย่างนี้ด้วย ต้องไม่ใช่จิตใจ หาแต่คำแก้ตัว ไม่ต้องหรอก แค่เราฟังนี่ก็เหลือแหล่แล้ว มันก็ตื้ออยู่ แค่นั้นแหละ ฟังเหลือแหล่จริงๆ ผู้ที่เข้าหา ซักซ้อม ซักถาม แม้เด็ก เข้าใจได้ลึกกว่าผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เข้าใจไม่ได้ลึกเท่าเด็กเสียอีก เพราะเขาเข้าไต่ถาม สอบถามรายละเอียดโน่นนี่เพิ่มเติม เออ มีประเด็นปัญหา ไอ้นั่นเปิดเผยได้ยิ่งกว่า นี่ไม่หรอก อึ๊บ อึ้มๆ ผู้ใหญ่ก็อึ้มอยู่อย่างนั้นล่ะ แก้เอง ก็แก้ไม่ได้สักที อึ๊บๆๆ อยู่อย่างนั้นล่ะ แล้วก็ไม่ละเอียดลออ ไม่ทะลุปรุโปร่ง เพราะฉะนั้น นานนัก นานนักจริงๆ นานนักจริงๆนะ นี่ อาตมาคิดว่าได้ย้ำ ได้เน้น ตามประเด็น ที่สำคัญน่ะ เสร็จแล้วก็อย่างนี้อีก

อันสุดท้ายนี่ ท่านพระเถระเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ย่อมทำให้ง่ายซึ่งข้อที่ยัง ไม่ได้ทำให้ง่าย ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมะที่เป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยแก่ภิกษุนั้น นี่ข้อสุดท้าย เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นผู้ใหญ่ หรือผู้ที่เป็นผู้รู้จริงๆ ก็จะแก้ไขให้ บรรเทาให้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ ก็ไม่แก้ให้ หรือก็ถ้าผู้ใหญ่แก้ให้กันไม่ได้เอง ก็จริงแหละ ถ้าผู้ใหญ่แก้ให้แก่กัน ไม่ได้เลย ก็ต้องติดแหง็กแน่นอน แต่ผู้ใหญ่จะต้องเป็นผู้ใหญ่จริงๆ หรือสามารถแก้ให้ได้

แม้แต่ของผู้ใหญ่ที่ใหญ่รองลงมา ใหญ่รองลงมาด้วยกัน มาปรึกษา ก็ต้องช่วยแก้ได้ เช่น พระสารีบุตร ก็ต้องไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าแก้ให้ พระโมคคัลลาน์ไปหาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็แก้ให้ ฉันเดียวกัน จะต้องแก้ได้ด้วย ช่วยได้ด้วย อธิบายให้ได้ถูกต้องด้วย บอกแล้วว่า ถ้าเรื่องยิ่งลึกซึ้ง ใครจะไปช่วยได้ ผู้น้อยจะไปช่วยได้ยังไง ต้องผู้ใหญ่จริงๆ ผู้มี ภูมิธรรมสูงจริงๆ จะช่วยเราได้ เมื่อเราจะต้องพึ่งพาอาศัย ไม่ใช่เราหยิ่งผยองมีมารยา แล้วก็ไม่รู้ตัวว่า เราเองนี่ มันแอ๊คท์ มันติดอยู่อย่างนั้นน่ะ อาตมาก็พูดไป อย่างนี้ก็มีจริงๆนะ อาตมาไม่ใช่ว่าพูดไปแล้วไม่มีตัวบุคคล มันมีตัวบุคคล จริงๆ ในพวกเราก็ตาม ปฏิบัติยังไม่ครบ จะว่าเป็นข้อบกพร่องของอาตมาก็ได้ ที่อาตมาไม่ได้เอาพระสูตร ไม่ได้เอาพระไตรปิฎกมาอ่าน ก็เลยยังไม่เข้าใจ ยังไม่เชื่อ

อาตมาว่าได้พูดแล้วนะเรื่องพวกนี้ อาตมาว่าได้พูดแล้วว่า ต้องพยายามซิ มีอะไรออกมาไว้ บรรยาย หรือแม้ไม่บรรยายตัวต่อตัว อาตมาก็พยายามบรรยายตรง ยิ่งผู้ใหญ่นี่นะ จะไปเรียกมา สอนตรงๆ บอกตรงๆด้วย อาตมาไม่ค่อยอยากจะทำ บอกตรงๆ ผู้ใหญ่ๆแล้วนี่ ไปเรียกมาเลย ตรงๆ มาสอน อัดเลยจริงๆ นี่ น้อยนัก ที่อาตมาจะเห็นว่า แหม ยิ่งผู้มีกิเลสตัณหา อัตตามานะ มากๆแล้ว อาตมายิ่งไม่อยากทำ ผู้ใหญ่นะ แต่ถ้าเด็กๆ ก็ต้องรีบทำ ถ้าผู้ใหญ่นี่ยิ่งไม่อยากทำ เพราะว่ามันซ้อนเชิงนะ ก็ผู้ใหญ่แล้วยิ่งมีอัตตามานะ ยิ่งเรียกมาสอน เดี๋ยวว่าทำกับเราเหมือน เด็ก มีความคิดอย่างนี้จริงๆนะ ผู้ที่ถือตัวน่ะ เสร็จแล้วมันก็ไม่เจริญ ก็ทำอะไรตะแบงแฝงอยู่ นั่นแหละ ก็บางทีอาตมาก็เกรงใจ บางทีก็ต้องหยิบมาพูดบ้าง ตัวอย่างอย่างนี้ไม่ดี ก็ต้องเอามา ทำอย่างนั้นเอา ให้รู้ตัวเอา บางทีต้องทำอย่างนั้น แต่เสร็จแล้ว ก็ไม่รู้ตัว อาตมาก็ไม่รู้จะทำยังไง ยากนะ ก็ครบ ๕ อย่าง อีก ๕ นี่แหละ

ข้อที่ ๕ ก็จะต้องเป็นผู้ที่พระเถระ ก็ต้องช่วยเหลือได้นะ ๕ อย่างแรก ก็ประกอบ ไปด้วยตัวเรา ๕ อย่างหลัง ก็ประกอบไปด้วยองค์ประกอบนะ มีสถานที่ และบุคคล ก็คือเสนาสนะ บอกแล้วว่า อาตมาเคย บรรยายว่า เสนาสนะอันสมบูรณ์นั้น ไม่ใช่ว่า เสนาสนะหมายถึงสถานที่อย่างเดียว ต้องมี บุคคลสัปปายะ ต้องมีอาหารสัปปายะ ต้องมีธัมมะสัปปายะด้วย จึงเรียกว่า เสนาสนะ สัปปายะ นี่ก็เคยย้ำมา สูตรนี้จะยืนยันชัดเจนนะ ถ้าทั้ง ๑๐ ครบแล้ว จะเห็นทั้ง ๑๐ ครบ จะยืนยัน ชัดเจนว่า ตัวเรานั่นน่ะ เป็นตัวสำคัญน่ะ

สรุปอีกทีหนึ่ง ๕ อย่างแรก ตัวเราจะต้องเป็นผู้ที่ศรัทธา ในพระพุทธเจ้าอย่างถูกทางถูกต้อง ๒.เป็นผู้ที่มีอาพาธน้อย ๓. เป็นผู้ที่ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา ๔.เป็นผู้ที่มีความปรารภความเพียร มีความขยันหมั่นเพียรบากบั่น ๕.เป็นผู้มีปัญญา แล้วต้องเป็นปัญญาที่อาตมาเน้นอยู่ทุกที ว่าเป็นปัญญา ปัญญาที่หมายนี่ คือ รู้จักความจริงตามความเป็นจริงที่เป็นปรมัตถ์ อย่างที่ท่านเน้น ก็บอกว่าต้องรู้ความเกิดความดับที่เป็นอริยะ เป็นเครื่องชำแรกกิเลส มีปัญญา นี่เป็นเรื่องของตัวเรา ตัวเราจะต้องเป็นผู้ที่ศรัทธา๑ ๒.ระวังอย่าให้มีโรค อย่าให้เป็นคนอ่อนแอ เป็นคนที่อ้างจะเป็นโรคขี้โรคอยู่เรื่อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เมื่อเป็นโรคแล้วก็ไม่รักษา ก็เท่ากับ ทรมานตน จะต้องเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร ไปสร้างไปทำงานทำการ อยู่อย่างเดียวก็ไม่ใช่ ก็แก้ไขปรับปรุงตนเอง ทำงานก็พอสมควร ศึกษาก็พอสมควร ป่วยขนาดนั้นขนาดนี้ ก็ต้องพัก รักษาตัว ก็ต้องพยายามทำให้ดี มันจะมีโรคทางกาย มีโรคทางใจยังไง ก็ต้องบำบัดรักษา ไม่ให้มีอาพาธ

แล้วก็เป็นคนที่ไม่โอ้อวด สำคัญนะ อสโฐ โหติ อมายาวี อาตมาจำได้ว่าได้พูด ได้นำมาเน้น มาสอน แต่ก่อนนี้ก็บรรยายเน้นไปตามโวหารภาษาปฏิภาณ ที่อาตมาบรรยายทุกวันนี้ก็ ถึงวาระ จะวนเวียนกลับมาอีก คราวก่อนนี้ ก็คงบรรยายได้เท่านั้นล่ะนะ อาตมาก็เก่งเท่านั้น มันก็ได้ เท่านั้น แล้วตอนนี้ก็จะต้องบรรยายได้เท่าที่บรรยายเพิ่มขึ้น คิดว่าละเอียดขึ้น แล้วพวกเราก็มี ฐานรับได้ดีขึ้น มีเหตุปัจจัยที่หยิบมาประกอบการสอนการเรียน โดยเฉพาะองค์ประกอบที่เป็น ปัจจัย ที่เป็นตัวบุคคล ที่มีสภาวะ ผ่านกาลเวลามานาน เราจะรู้กัน เราจะเข้าใจกันว่า อ๋อ สภาวะอย่างนี้ๆ ของคนนี้ๆ อย่างนี้ พอพูดขึ้นมา ตอนนี้ หยิบมาพูดแล้วชัด ชัด เห็นเด่นชัด เราก็เข้าใจได้ เป็นผู้มีความเพียร เป็นผู้มีปัญญา

ทีนี้ อันที่ต่อมา ๕ ต่อมานั้น บอกถึงสถานที่เอง คือเสนาสนะด้วย บอกถึงบุคคลด้วย บอกถึง ธรรมะด้วย หรือบอกถึงเครื่องอาศัยด้วย เครื่องอาศัยก็มีปัจจัย ๔ เป็นต้น อาหาระนี่ มีทั้งจีวร บิณฑบาต อุปโภคบริโภคนั่นเอง สถานที่ต้อง ไม่ใกล้ ไม่ไกลนัก ปัจจัย ๔ หรือแม้แต่ยา บริโภคนอก บริโภคใน นี่เรียกว่า เครื่องอาศัย อาหาระ แล้วต่อมาก็มีบุคคล จะต้องมีพระเถระ มีพหูสูต ผู้ทรงคัมภีร์อะไรต่างๆ แล้วต้องมีพฤติกรรมของการที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกธรรมะ เป็น ธรรมะสัปปายะด้วย ก็คือภิกษุนั้นจะต้องไปหาพระผู้เถระนั้น ปรึกษาหารือ ตามกาลอันสมควร จริงๆ อย่าหยิ่งผยอง อย่าเป็นผู้สโฐ อย่าเป็นผู้มีมายา จะต้องเป็นอสโฐ อมายาวีให้จริงน่ะ แล้วพระเถระนั้น ก็จะต้องช่วยเหลือได้ แก้ไข บอกกล่าว แนะนำสั่งสอน ทำให้แจ้ง ทำของลึก ให้ตื้น ทำของคว่ำให้หงาย คือ ช่วยกันได้จริงๆ

ถ้าอย่างนี้ครบสมบูรณ์ ๑๐ หลักนี้แล้วล่ะก็ ไม่นานเลย เพราะฉะนั้น เสนาสนะที่เอา ๒ สูตรนี้ มาอธิบายรวมกันนี่ แสดงให้เห็นว่า เสนาสนะของ พระพุทธเจ้า ไม่ได้ตื้นเขินอย่างที่เราคิด หรือใครๆ ในที่ข้างนอกเขายิ่งเข้าใจตื้นๆ เขินๆ เผินๆ จะมัวติดแต่เสนาสนะก็ว่าหมายถึงที่อยู่ ที่อยู่ก็เลยเอาแต่ต้นๆ ที่ว่าจะสงัด ก็ไปเข้าใจเสนาสนะ สงัด ที่เอาเสนาสนะมาจากสูตร ความสงัด วิวิตตสูตร ความสงัดแบบเดียรถีย์ ซึ่งไปหมายเอา จะเป็น ความสงัดจากจีวร บิณฑบาต หรือว่าเสนาสนะก็ตาม

อาตมาหยิบเสนาสนะจาก ๓ นั้นเอาหนึ่ง เอาเสนาสนะมา จีวรหรือบิณฑบาต ถ้าเข้าใจเพี้ยน เป็นเดียรถีย์ ก็จะไปติดอยู่ที่เครื่องนุ่งห่มหรืออาหาร ก็เป็นแต่แค่เครื่องนุ่งห่ม อาหาร มักน้อย สันโดษได้ด้วย มักน้อยสันโดษกว่าพระพุทธเจ้าก็มี ไอ้อย่างนิครนถ์นาถบุตรนี่ เครื่องนุ่งห่ม หรือ ไม่ใส่เลยน่ะ มักน้อยจนขนาดนั้น ของเดียรถีย์ ก็ไปติดอยู่ตรงนั้นน่ะ แต่เขาจะปฏิบัติอย่างไร เขาไม่รู้เรื่อง ไม่มีศีลไม่มีธรรม ไม่มีภาคปฏิบัติที่ลึกซึ้งเพียงพอ

อาตมาก็เห็นว่า มันละเอียดดีขึ้น ทีนี้หยิบแต่แค่เสนาสนะ จีวร ก็ต้องเข้าใจในนัยโดยปริยาย อย่างนี้ จะเรื่องของจีวร เรื่องบิณฑบาตก็ตาม ที่เราก็เน้นก็สอนกันอยู่ จะต้องเข้าใจว่า จีวร เครื่องนุ่งห่มก็พอมี เครื่องนุ่งห่มก็คือสภาพที่

ถ้าจะบรรยายเหมือนเสนาสนะ เสนาสนะท่านบอกว่า ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก สถานที่ที่ควรอยู่น่ะ ถ้าเสนาสนะหมายเอาแค่สถานที่ไม่ใกล้ไม่ไกลนัก พอที่จะหาอาหารไม่ฝืดเคือง อะไรอย่างนี้ มันก็เกี่ยวเนื่องกัน

ทีนี้ถ้าเผื่อว่าจีวรล่ะ ก็จีวรก็พอมีพอกินอยู่ได้ไม่ฝืดเคืองนัก ของเราก็มีพร้อมทุกอย่าง เสร็จแล้วก็ ปฏิบัติกับจีวร จีวรพอมีใช้ อาหารก็พอมีกิน ไม่ฝืดเคืองนัก เครื่องนุ่งห่มเราก็พอมี อย่าว่าแต่พอมี เลย แม้แต่นักเรียนเราจะมาเรียน เรายังอาสา เราจะตัดให้เขาเองนั่นแหละ เราก็หาให้เขานุ่งห่ม ไม่ต้องถึงขนาด จะต้องเดือดร้อนผู้ปกครองพ่อแม่หรอก เราเตรียมตัว พวกเรามีกะจิตกะใจ สิกขมาตก็รับเหมา แหม ก็ดีนะ ก็มีผู้ที่มีกะจิตกะใจนะ ช่วยตัด ช่วยเย็บ ช่วยอะไรให้ ก็ทำแล้ว สำหรับผู้หญิง ยังเย้าๆกันเล่นเลยว่า ดีนะ เย็บให้แต่นักเรียนหญิงนะ นักเรียนชายแล้วก็ไม่มีนะ ทีนักเรียนหญิงแล้ว แหม ออกแบบให้เสร็จเลย มีคอจีน คอกุ๊นด้วยนะ

รีบแก้ตัวเลยว่า ผู้หญิง เขาจะต้องดูใส่คอกว้าง แบบเสื้อม่อฮ่อมไม่ได้หรอก มันเปิดมันโป๊ เอ้า ก็ถูกเหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าอย่างนั้นก็ไม่เป็นไรนี่ ผู้ชายจะเย็บม่อฮ่อมให้ ก็ไม่ว่าอะไรนี่ ก็ไม่เคยคิด ไม่คิดนี่น่ะ ที่จริงก็เย้ากันไปอย่างนั้นแหละ ที่จริงก็ไม่ได้คิดแคบอย่างนั้นหรอก แต่ว่าก็อันนี้ก่อน ก็ได้ ไม่เป็นไร คิดว่าต่อไปก็คงหาเสื้อผ้าให้นักเรียนชายใส่บ้าง ช่วยเลยนะนี่ ช่วยเลย ช่วยให้คะแนนเลยนะ แล้วทำไมล่ะ ของผู้หญิงเขาก็มีขายบ้างเหมือนกัน ก็ไปซื้อ แต่นี่เย็บให้ ทำไมของผู้ชายไม่เย็บให้ ก็หามาให้ได้ไหม ถ้าจะให้ ก็ทีผู้หญิงจะให้หาให้ เย็บให้ แล้วของผู้ชาย มีอย่างนั้น ก็ไม่ต้องเย็บ ก็เบาดี แล้วหาให้บ้างได้ไหม มันจะได้ไม่เอียง ยังไง เห็นไหม ให้แต่ผู้หญิง ของผู้ชาย ไปอ้างว่า ขายไปเยอะแยะ หาง่าย อ้าว ก็ขาย มันก็ต้องไปซื้อ ก็เด็กมันซื้อได้ที่ไหน หามาให้ก็ไปซื้อมาแล้วก็มาให้มันพร้อมกันซี ไม่ต้องเย็บ ก็เบาแล้วนี่ ของผู้ หญิงต้องเย็บ เพราะว่าหาซื้อไม่ค่อยได้อย่างนั้น ของผู้ชายยิ่งง่ายใหญ่ ไม่ต้องเย็บน่ะ เขาซื้อมาเลยให้ได้บ้าง ไอ้นี่ก็จะต้องไปเย็บผ้า แล้วต้องมาเย็บมาให้ด้วย ก็คือหาเสื้อให้ผู้หญิง แต่ทำไมผู้ชายไม่หาเสื้อให้ผู้ชายเขาบ้างล่ะ มาเข้ามาโรงเรียนพร้อมกันน่ะ เข้าใจไหม

มองมุมละเอียดเข้าไป เอียงมันก็เอียงได้เหมือนกันนะ เห็นไหม มองมุมละเอียดเข้าไป ช่วยแก้ตัวให้ อาตมาก็พยายามอธิบายให้ ละเอียดเหมือนกัน ไม่ใช่ดันทุรังนะ อาตมาว่าไม่ใช่ ดันทุรังนะ มันมีมุมที่ต่างกันอยู่เห็นไหม ต้องเข้าใจอันนี้ ที่จริงไม่ใช่ต่อว่าอะไรหรอก ก็ค่อยๆ ทำขึ้น อาตมาก็คิดว่าคงไม่ใช่จิตใจ แต่อาจจะปฏิภาณยังไม่รอบ แต่ผู้หญิงให้ ๒ ชุดแล้ว ใช่ไหม ๒ ชุดนะ ผู้หญิงให้ได้ ๒ ชุดนะ ที่พูดวันนั้น ก็บอกว่าให้ ๒ ชุด อาตมายังจำได้นะ อ้างมาว่า ผู้ชายให้ชุดหนึ่งแล้ว แต่ผู้หญิงเมื่อกี้ไป ๒ ชุด พร้อมกันเลย แล้วด้วยเหมือนกัน แล้วยังเห็น รอยเอียงอยู่อีกแหละ

เอาละ นี่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาให้พวกคุณจำนนหรอกนะ แต่ว่ามันมีความลึกซึ้ง มีความละเอียดลอออะไรอยู่มากนะ ธรรมะของพระพุทธเจ้านี่ ศึกษาดีๆ ไม่ใช่จะมานั่งเพ่งโทษ แต่ที่อาตมาพูดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมาเพ่งโทษอะไรนะ เรามาศึกษาธรรมะพระพุทธเจ้า ดีๆแล้วจะเห็นได้ว่า นัยของท่านมากมาย ของอย่างเดียรถีย์ มันจะตะแบงออกไป จนกระทั่ง มันออกนอกทาง นอกลู่ นอกรีต เป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธออกไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว เสร็จแล้วก็ช้า เนิ่นช้า เนิ่นนาน อาจจะไม่ผิดทีเดียว มีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ส่วนผิดมันก็ยังไม่แก้ไข ยังแก้ทิฐิไม่ตก ความเห็นยังไม่เข้าร่องเข้ารอย ยังติดแหง็กอยู่ตรงความเห็น ก็แค่นี้ เราก็ถืออยู่ แค่นี้แหละ ยึดอยู่แค่นี้ ก็เป็นอยู่แค่นี้ เพราะฉะนั้น ความยึดถือ หรือความเห็นที่จะละเอียด ขึ้นไปอีก ยังไม่เจอ ยังไม่เข้าใจ แล้วมันจะเป็นไปได้ยังไง

แม้มีความเห็นละเอียดแล้ว มีความเข้าใจที่ละเอียด หรือถูกขึ้นไปดีแล้ว ต้องมีความเพียร ต้องปรารภความเพียร ต้องใส่ใจว่า เออ อันนี้เราติดแหง็กมานานแล้ว รีบแก้ไข อย่าไปเที่ยวได้ ทิ้งช้า ทิ้งปล่อยปละละเลยเอาไว้ ที่เคยทิ้งช้าๆ มาแล้วนั่นแหละ มันเคยชิน แล้วจะกระเตื้อง หรือว่าจะเขยิบขยับขึ้นนี่ยากใช่ไหม เพราะเราเคยชิน อย่างที่เราเคยเข้าใจผิดมานั่น มันก็ติด แหง็กมานานแล้ว เพราะฉะนั้น รีบมา พอมารู้แล้วต้องรีบเลย เข็นตัวเอง ต้องขืน ตัวเองต้องขืน อุตสาหะขึ้น เพราะว่าเราติดมานานชินชา เคยตัวมาอย่างนั้นมาก ต้องรีบแก้กลับ ต้องพยายาม ขวนขวาย ต้องอุสาหะโถมแรงเข้าไป

ถ้าไม่อย่างนั้น ก็จะแก้ความเคยชินที่ติดมานานไม่ง่าย แก้ไม่ได้ ยาก ๆ นี่นัยมันซ้อนอย่างนี้ เพราะฉะนั้น แก้กลับ รีบๆพยายาม โถมวิริยะ ปรารภความเพียรให้มากๆ กลับกลายมา ยิ่งจะมาแก้ตัว บอก โอ๊ย มันติดมานานแล้ว ขอติดอย่างนี้อยู่ไปก่อนนี่ ก็ยิ่งตายเลย ต้องรีบ ตัวเราเอง ต้องยอมรับไว้ก่อน จะต้องอุตสาหะวิริยะ พากเพียร สำนึก มีสติสัมปชัญญะ แก้กลับ ให้เร็ว ไม่เช่นนั้น ก็คงอย่างเดิมนานนัก เห็นไหม นัยยะนานนัก แค่นี้อาตมาหยิบเอามาอธิบาย พวกเราให้เข้าใจ ให้ละเอียดลลอลึกซึ้งให้ฟัง

ธรรมะพระพุทธเจ้าลึกซึ้งอย่างนี้ แต่ละคำแต่ละความนี่มันซ้อนกันนะ แล้วจริงทั้งนั้น พระพุทธเจ้า ตรัสนี่จริงทั้งนั้น ไม่นานนัก ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ลงตัวหมด ไม่ผิด แม้พระพุทธเจ้า ท่านตรัสว่าโลกนี้ ถ้าเผื่อว่ามีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอยู่ตราบใด โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ ตราบนั้น พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสผิดเลย โลกเมื่อไหร่ก็ตาม อกาลิโก เมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีสัมมาทิฐิลึกซึ้ง ถูกต้องเข้ามา โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์

อย่ามานั่งพูดเลยว่า สมัยนี้ไม่มีแล้ว ยุคกาลนี้ไม่มีแล้ว เงื่อนไขไม่ได้อยู่ว่า ยุคนี้กาลนี้ไม่มี เงื่อนไข อยู่ที่ว่า มีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ถูกต้องตรงธรรม เป็นสุปฏิปันโนได้จริงหรือไม่ ถ้าปฏิบัติ เป็นสุปฏิปันโนถูกตรง จริงๆ แล้ว มีปัญญารู้จริง แล้วก็ปฏิบัติจริง ถูกจริงอย่างที่ว่านี่ แม้ปฏิบัติ อย่างเข้าใจในธรรมะ ๑๐ หลักนี่ รวมแล้ว ๑๐ ข้อนี้ ได้ถูกต้องจริงๆ เข้าหลักเข้าเกณฑ์จริงๆ ไม่นานนักจริงๆ เมื่อไหร่ก็ตาม อกาลิโก ยุคในกาลยุคที่จะเป็นกลียุคก็ตาม ถ้าผู้นั้นปฏิบัติตาม เงื่อนไขนี้ ได้อย่างชัดเจน มีสัมมาทิฐิได้จริงๆ

ศึกษาจนสัมมาทิฐิ แล้วพากเพียรปรารภความเพียรกันจริงๆ กาลไหนก็บอกแล้ว ไม่อย่างนั้น จะค้านแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้า อกาลิโก ไม่ค้านแย้ง ยุคไหน กาลไหนก็ได้ คนใดๆ ก็แล้วแต่ มันเน้นอยู่ที่ตัวคุณภาพอันนั้น ถ้าเป็นสุปฏิปันโนตรงตามที่ท่านว่าแล้ว มีผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบแล้ว โลกไม่ว่างจากพระอรหันต์ โลกไหนก็แล้วแต่ กาละไหนก็แล้วแต่ อกาลิโก นี่ พระพุทธเจ้าตรัสจริงนะ ไม่ใช่ท่านตรัสหลักการเหล่านี้ไม่จริง หลักจริงจริงๆ ขอให้มันถูกต้อง ตามที่ท่านว่าแล้ว รับรองเป็นจริงหมด เพราะฉะนั้น ยุคกาลนี้ มันยังไม่เป็นกลียุคสักหน่อยเลย แล้วอาตมาว่า ยังมีเนื้อหาสาระ แม้พระไตรปิฎก ยังมีคำความ

ถ้าเผื่อว่าไม่มีพระไตรปิฎกแล้วนะ กาลยุคที่มันนานๆไปนี่ ตกลง พระไตรปิฎกมันจะเรื้อ ต่อไป มันจะเป็นของที่เถื่อนๆ คนขยายความจนกระทั่ง พระไตรปิฎกเอง จะไปปนอยู่กับคัมภีร์ของ อาจารย์มาก จนกระทั่งเลอะ จนกระทั่งคัมภีร์ที่ผิดๆ พลาดๆ นี่มาก ไอ้ที่บอกว่า พระไตรปิฎก จริงๆ เนื้อหาจริงๆ ที่จะไปสอดไปแทรก ซ่อนอยู่ในฎีกาจารย์ อรรถกาถจารย์ แล้วจนกระทั่ง ไม่ค่อยใส่ใจ ฟังดีๆนะ อาตมาอธิบายนี่ จะเป็นกาลที่ยาวนานอยู่ ตำรานี้ หรือเนื้อหาแท้ของ พระไตรปิฎกนี้ คนก็จะเอามา เขียนขยายประกอบไปเรื่อยๆ หนังสือที่จะพิมพ์ขยายมากขึ้นนี้ พระไตรปิฎก จะพิมพ์น้อยลง คำสอนของบรรดาอาจารย์สมัยใหม่ จะพิมพ์มากขึ้น เพราะฉะนั้น หนังสือ คำอธิบายของพระไตรปิฎก เขาจะไปซ่อน พระอาจารย์ก็จะอย่างนี้ เขียนก็เอา พระไตรปิฎก บทนั้นบทนี้ ไปซุกไว้ หรือว่าไปผสมไว้ ในคำอธิบายของตัวเอง

แม้แต่อาตมา เห็นไหม คำอธิบายของตัวเองมากกว่าพระไตรปิฎก นานเข้าๆ พระไตรปิฎก ก็ยิ่งพิมพ์น้อย ยิ่งพิมพ์ออกมาก็ไม่มีคนซื้อมากนัก มีผู้ใส่ใจ ครูบาอาจารย์เท่านั้นจะซื้อ มันก็จะพิมพ์ น้อยลงๆ ปริมาณของพระไตรปิฎกก็จะน้อย จนกระทั่งงวดเข้าๆ คนก็จะไปศึกษา แต่คัมภีร์รุ่นหลัง นานไปๆคัมภีร์รุ่นหลัง ง่าย คัมภีร์รุ่นหลังเข้าใจได้ พระไตรปิฎกยิ่งยากขึ้นทุกที คนก็ยิ่งไม่ศึกษาทุกที ตกลงสุดท้าย พระไตรปิฎกหายไป พระไตรปิฎกไม่มี ถามหาพระไตรปิฎก ตามหนังสือของอาจารย์รุ่นหลัง หลักการ ก็ฟ่ามลงๆ หนักเข้าแม้แต่หลักการของอาจารย์รุ่นหลัง ต่อไป มันฟ่ามเข้า มันมีมิจฉาทิฐิปนเปเข้า อธิบายความเอาเอง ซึ่งออกนอกทาง เป็นการศึกษา บุญนอก ขอบเขตพุทธ เหมือนกับอย่างบรรดาอาจารย์ที่บรรยายธรรมะ เนื้อธรรมะ ที่เพี้ยน ที่เปลี่ยนไป

อย่างทุกวันนี้ เริ่มมีมาเรื่อยๆไปเรื่อยๆ อีกร้อยปี ๒ ร้อยปี ๕ ร้อยปี พันปีต่อไป มันจะเป็นอย่างที่ อาตมากล่าวนี่ อีกพันปีต่อไป สองพันปีต่อไป มันก็จะไม่ถึง ๒ พันปีหรอก พันปีต่อไป ก็จะนิยม แต่หนังสือของบรรดาเกจิอาจารย์ เท่านั้น แล้วก็ฟ่าม หลวม จนกระทั่ง สุดท้ายไม่เป็นจริง ไม่เป็นจริง ไม่นับถือ เมื่อไม่นับถือ หนังสือของบรรดาอรรถกถาจารย์ก็ไม่รับ เมื่อไม่รับ ก็สูญไป ทั้งคำบรรยายของอรรถกถาจารย์ สูญไปทั้งพระไตรปิฎกที่ติดอยู่กับของอรรถกถาจารย์เท่านั้น สูญหมดเลย พระไตรปิฏกก็สูญ เนื้อแก่นแกนความก็สูญ ของบรรดาคณาจารย์ เขาก็เห็นว่า มันไม่มีผลแล้ว ไม่รับแล้ว เขาจะมีความคิดใหม่ ลัทธิใหม่ หรือเนื้อหาใหม่ที่เขาชอบ เข้ามา ทดแทน เป็นแบบใหม่ จะไปยึดเอาเป็นของฤาษี ก็กลับไปเอา อาจจะไปเอาภควัทคีตา อาจจะไป เอาของอะไร ลัทธิไหน อาจจะไปเอาอัลกุรอาน อาจจะไปเอาเดอะเท็นคอมมานด์เมนต์ ของพระคริสต์ ของใครก็แล้วแต่ นี่ยกตัวอย่างให้ฟัง เอาของลัทธิอื่น หรือของเนื้ออื่น ซึ่งอาจจะ ไม่มาในรูปนั้นก็ได้ เอามาทดแทน อันนี้ทิ้งไปเลย

จะลืมเลือนมรรคองค์ ๘ โพชฌงค์ ๗ หลักการอย่างนี้ บท ๑๐ บท ๕ อะไรอย่างนี้นี่นะ มีสกนิบาต มีจตุกนิบาตอะไรพวกนี้นี่นะ ไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะไม่ได้ยินได้ฟังกันแล้ว คนเหล่านั้น ไม่รู้จัก มรรคองค์ ๘ ไม่รู้จักอะไรเลย เสื่อมสูญเลย ทีนี้ผู้ที่มีของตนเองมาพูดขึ้น เมื่อนั้นน่ะ มากล่าวขึ้นนั่นแหละเป็นปัจเจก เป็นพระปัจเจก พระโพธิสัตว์ปัจเจกชั้นสูง จะมากล่าวขึ้น กล่าวขึ้นแล้ว คนจะเชื่อง่ายหรือ หลักฐานไม่มีเลย

นี่ขนาดมีหลักฐาน อาตมาเอามายืนยัน ยังไม่ค่อยเชื่ออาตมาเลย แล้วอาตมาก็ขยายความ บรรยายอยู่อย่างนี้ ยังไม่ค่อยเชื่อเลย แล้วยิ่งไม่มีแม้พระไตรปิฎก มีของอรรถกถาจารย์ ก็เชื่อยาก แล้ว นี่อรรถกถาจารย์ ก็ไม่มี ผู้นั้นมากล่าวอย่างนี้นี่นะ จะต้องเป็นคนมีภูมิธรรมที่จะเชื่อถือ กันอย่างหนักเลย จะเชื่อถือกันอย่างหนัก ถึงจะยอมเชื่อยอมรับ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น โอ๋ อีกนาน เพราะฉะนั้น ถ้านานๆไปนี่ ลักษณะที่จะสูญสิ้นมันเป็นอย่างนี้ ธรรมะจะสูญเสื่อม เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เขาจะเชื่อบุคคลที่บุคคล ถ้าไม่จริงก็พาเลอะ พาเพี้ยนไปได้ ก็ทำให้ศาสนาเสื่อม คนจะไม่จริงนี่แหละ จะมากกว่าคนจริง ใช่ไหม ก็พาให้เสื่อมได้

ถึงแม้ว่าจะคนจริง คนก็จะมารับนับถือเขาสักเท่าไหร่ ขนาดอาตมายืนยันนี่ มาขนาดนี้ เอาพระไตรปิฎก มาทนโท่เลย ยอมรับทั้ง ๒ ฝ่าย เอามาขยายความ แต่ขยายความต่างกัน เท่านั้น พวกคุณฟังความข้างนี้ เออ เข้าท่าลึกซึ้ง เห็นจริงกว่า ไปฟังความข้างโน้น อาตมาก็ไม่ได้ปิดบัง เชิญสิ จะศึกษาสำนักไหนเขาจะบรรยายพระไตรปิฎก บรรบายเนื้อความ อรรถะ สาระ ของพระพุทธเจ้า ได้เยี่ยมยอดขนาดไหนก็เชิญทั้งนั้นแหละ อาตมาไม่ได้ไปปิดบัง ไม่ได้ไปกั้น ขวางอะไร ก็ทำเอา ก็ศึกษาเอา เพราะฉะนั้น คุณศึกษาแล้วเสร็จคุณมั่นใจว่า อาตมานี่แหละ อธิบายได้ดี คุณก็มาเชื่อ ก็มีคนประมาณหนึ่ง แล้วก็จะขยายกันไปได้ เนื้อความ เกิดจากเนื้อแท้ และมีเนื้อแท้ที่แท้นี้ ก็จะสืบทอดออกไปได้ เท่าที่มันขยายออกไปได้ มันยังไม่หยุดยั้งหรอก มันยังจะไป แต่ว่าความเสื่อมก็จะมีซ้อน

อย่างที่อาตมากล่าวในตอนต้นให้ฟังว่า มันจะเสื่อมอย่างนั้นจริง แล้วก็นับวันอยู่จริงเหมือนกัน เราก็ พยายามทำเนื้อหา อาตมาก็ต้องพยายามทำเนื้อหาไว้ พยายามที่จะอธิบายไว้เหมือนกัน พยายาม ที่จะยืนยันพระไตรปิฎกนี่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ต่อไป เราอาจจะต้อง รับผิดชอบ ในเรื่องของพระไตรปิฎก ใครเขาไม่พิมพ์ เราจะต้องพิมพ์ ใครเขาไม่ทำ เราจะต้องทำ อย่าว่าแต่ พระไตรปิฏก เป็นหนังสือเล่มแค่กระดาษเลย แม้แต่เป็นวัตถุที่จะเก็บรักษาได้ดีในอนาคต เป็นไมโครฟิล์ม เป็นดีสก์ เป็นอะไรต่ออะไร ที่ในลักษณะของเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่จะทนทาน แต่ดิสก์ ไม่ค่อยทนหรอก ของคอมพิวเตอร์นี่ลบง่าย แต่ไมโครฟิล์มนี่อยู่ทน อยู่ทนแน่นอน แล้วก็ฟิล์มนี่อยู่ได้ เป็นร้อยหลายร้อยปี แต่มีวัสดุที่ทนกว่าไมโครฟิล์มก็อาจจะเป็นได้ในอนาคต ที่คิดกันได้น่ะ อยู่เป็นพันปี เราจะต้องรับผิดชอบแล้ว นี่เขายังรับผิดชอบอยู่ ก็ให้เขารับก่อน เพราะว่า เขามีทุนรอนมาก ต่อไปคณะของชาวอโศกโตขึ้น มีทุนรอน มีหลักฐานจริงๆ เราก็จะต้อง มีทุนรอนมารักษาเนื้อหาสภาวะทางวัตถุพวกนี้ด้วย แต่ตอนนี้ยัง เพราะว่าตอนนี้ เรายังไม่หวาดไม่ไหว จะต้องทำ

นี่อาตมาบอกเตือนไว้ก่อนนะ พวกเราแม้อาตมาตายไปแล้ว พวกเราจำเป็นจะต้องทำสิ่งเหล่านี้ ต้อง รักษาสิ่งที่ควรรักษาไว้ให้คงทนให้ยืนนาน ไม่เช่นนั้นจะเป็นอย่างที่อาตมาว่า สูญแล้ว ติดตามอะไรไม่ได้ เสร็จแล้วก็ไม่เหลือหลักอะไรเลย จะนิยมแต่หนังสือของครูบาอาจารย์รุ่นหลัง ไปเท่านั้นเอง เป็นอาจาริยวาท ซึ่งมันก็เสื่อมได้เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่า อาจาริยวาท จะไม่ดี ผู้ที่ถูกมี ผู้ที่เพี้ยนมี เพราะฉะนั้น ผู้ที่เพี้ยนจะมากขึ้นเป็นไม่มีบุญ ก็เดี๋ยวนี้ก็มีนะ อ่านพระไตรปิฎก แล้วก็พาซื่อ มะลื่อทื่อ แล้วก็ติดเคร่ง หรือว่ามันไม่ถูกทาง มันก็เป็นได้ มันเป็นจริง อันนี้เข้าใจไม่ได้ มันก็จะเป็นอย่างนั้นจริงๆ

เอาละ อาตมาคิดว่า ได้สาธยายธรรมะน่ะ พอสมควร เนื้อหาที่ได้ย้ำ ได้อธิบายให้ฟัง ให้เห็น ความสำคัญ เท่าที่ได้มีโอกาส มีเวลา แล้วก็พยายาม ชอนไชความลึกซึ้งอะไรให้เราได้ฟัง ได้ทราบ ที่เน้นประเด็นของเสนาสนะ ก็ให้รับเข้าใจให้ได้ว่า

ทุกวันนี้ เราก็พิสูจน์ความจริงด้วยประพฤติปฏิบัติ มีสภาวะรองรับ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ที่เรา อาตมาพาทำ แล้วก็ยืนยันให้พวกเราฟังอยู่ว่า เราทำทุกอย่างนี่สอดคล้อง ตรวจสอบได้ ตรวจทานได้ มีข้อบกพร่องอันใดที่ตัวเราเองแต่ละคนๆยังบกพร่องก็สังวร ปรับปรุง อย่าไปถือดี ถือดื้อ อย่ามีอัตตามานะอะไรมาก พยายามแก้ไข ไม่เช่นนั้นนานช้า นานนัก ไม่ใช่ไม่นานนัก มันนานจริงๆ แล้วมันก็ยากด้วย บอกแล้วว่าสิ่งที่เราเคยชินเคยตัวมันก็จะแก้ยาก มันต้องปรารภ ความเพียร ต้องบากบั่น ต้องอุตสาหะ อ่อนน้อมถ่อมตน ต้องพยายามที่กระทำให้มันถูกตรง ตามที่ พระพุทธเจ้าท่านแนะท่านสอน แล้วเราก็จะพากันเจริญต่อไป

เอ้า สำหรับวันนี้พอแค่นี้

สาธุ


ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน ๒ มิ.ย.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๑๗ มิ.ย.๒๕๓๕
แก้ไข ๑๘ มิ.ย.๓๕ อนงค์ศรี
:2435B.TAP