ที่พึ่งอันวิเศษของมนุษย์ ตอน ๒
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ณ พุทธสถานปฐมอโศก
หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


อาตมาเคยตั้งข้อสังเกตว่าในนาถกรณธรรม คราวนี้ก็อธิบายไปแล้ว ย้ำให้ฟังไปแล้วเหมือนกัน ว่า ใน ๑๐ ข้อนี่ มีศีล เป็นพหูสูต มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นผู้ว่าง่าย ขยัน ข้อ ๕ ขยัน ข้อ ๖ ใคร่ในธรรม ข้อ ๗ ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศล บากบั่น มั่นคง แล้วก็สันโดษ มีสติ มีปัญญาเป็นอริยะนี่ ใน ๑๐ ข้อนี่ มันมีคำว่า ขยันในข้อที่ ๕ แล้วมันก็มีคำว่า ปรารภความเพียร ในข้อที่ ๗ ซึ่งอาตมาก็พยายามเสริมขยายให้ชัดเจนว่า ความเพียร เพื่อละ อกุศลบากบั่นมั่นคง มีความเพียรกับขยันนี่ มันเป็นนัยคล้ายกัน ท่านแบ่งเป็น ๒ ข้อนะ ไม่ใช่อยู่ข้อเดียว เพราะฉะนั้น ความขยันหรือความเพียร มันมีทั้งงานการ ในข้อขยัน เป็นขยัน ไม่เกียจคร้านในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ

หรือในบทอื่น ที่จะพูดถึงเรื่อง มีความขยัน ไม่เกียจคร้าน ควรทำอะไรอย่างไรในกิจน้อยกิจใหญ่ ของเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย นี่เป็นการงาน การงานนอกจริงๆ ศาสนาพระพุทธเจ้านี่ มีการงานนอก เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่าผู้ใดไม่มี สังคมใดไม่มีการงานนอกนี่ เขาจะต้องกระทำนี่ มันไม่มีที่พึ่งหรอกชีวิต ชีวิตไม่สมบูรณ์ ชีวิตไม่เต็ม เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธต้องมีการงาน เกิดมาทำงาน แล้วการงานนี้ต้องขยันช่วยงานน้อยใหญ่ งานต่ำงานสูงของเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณา อันเป็นอุบายในกิจนั้น อาจทำได้ หรือ สามารถทำได้ สามารถจัดการได้ ต้องมีฝีมือ หรือว่าร่วมทำได้นั่นเอง งานใดก็งานน้อยงานใหญ่ งานต่ำ งานสูงก็อาจทำได้ สามารถไปทำกับเขาได้ สามารถไปจัดการลงมือลงไม้อะไรกับเขา ได้เลย นี่ ข้อนี้ข้อ ๕ เน้นย้ำถึงงานการนอก ขยันทำงานข้อ ๕

ข้อ ๗ ปรารภความเพียรนั่นน่ะ อันนั้นก็ความขยันหรือความเพียร ความขยันความเพียร ที่บอกไว้ ชัดเลยว่า เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความถึงพร้อมด้วยกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคงไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลาย กระทำละอกุศลละสิ่งที่มันไม่ดีไม่งาม ตั้งแต่ กายวาจาโดยเฉพาะใจ อันนี้เป็นการงานปฏิบัติธรรมรู้กุศล อกุศลที่ลึกซึ้ง การงาน น้อยใหญ่ นั่นก็มีการงานดี ไม่ดีเหมือนกันแหละ เป็นสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ เหมือนกัน แหละ เป็นการงาน เป็นการกระทำที่ดี ที่ไม่ดี เป็นสัมมาหรือเป็นมัชฌิมาอยู่ด้วยกัน เหมือนกัน น่ะ เพราะฉะนั้น การงานที่ว่า หรือขยันที่ว่านี้ การกระทำที่ว่านี้ จึงไม่ได้หมายความว่า กระทำ อย่างที่ฝ่ายสายฤาษี ที่นั่งหลับตาบอก นี่ความเพียรฉันก็เพียร ๆ เพียรอะไร เพียรไม่ทำการงาน อะไรหรอก มันนั่งแต่หลับตานี่ล่ะปฏิบัติ มีความเพียร มีความขยัน นี่ปฏิบัติธรรม นี่ก็เป็นการงาน ปฏิบัตินั่งสมาธิ นี่ก็เป็นการงาน แล้วการงานอื่นก็ไม่ค่อยทำ

ซึ่งปฏิภาณธรรมดาของคนเรา ฟังดูแล้วก็เข้าใจได้ว่า ก็ถึงคนอย่างนี้ ถ้าเผื่อว่าแนะนำกันมา อย่างนี้ นักปฏิบัติธรรมก็คือ คนล้มเหลว ถ้ามาเป็นนักปฏิบัติธรรม ยิ่งปฏิบัติธรรมเข้มข้นเข้า ก็ไม่ทำงานอะไรเลย มาแต่นั่ง หลับตาๆ ๆ หนีไป ไม่รู้โลก ไม่รู้เขาเป็นอะไรยังไง งานที่เคยเป็น เคยมีมาก็เรื้อ หรือไม่ก็ลืมไปเลย เคยเป็นเคยชำนาญด้วยซ้ำไป ทำไม่เป็นมันเลย มันไม่สมบูรณ์ มันขาด มันพร่อง เห็นไหมว่า มันไม่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ที่เราปฏิบัติธรรมมานี่ มีหลักฐานของ พระพุทธเจ้า ท่านตรัสในนัยต่างๆ เอาพระไตรปิฎกมาอ่าน ละเอียด เรานี่บุญดีนะ เขาแปลไว้ ให้เสร็จ พระไตรปิฎกเราไม่ต้องมานั่งทำ พระไตรปิฎกนี่แปลเรียบร้อย พ.ศ.๒๕๐๐ แปลเป็น ชุดเลย เป็นทางการเลย พิมพ์ออกมา

แต่ก่อนก็มีคนแปลน่ะ มหาปุ้ยแปลไว้ เป็นของ ส.ธรรมภักดี แปล พยายามแปลไว้ มหาปุ้ย แปลคนเดียวล่ะน่ะ เปรียญ ๖ ประโยคเอง แกเก่งนะ แกแปลพระไตรปิฎกกัน จนเป็นชุด ฉบับมหาปุ้ย แกแปลจนเสร็จ ไม่เป็นทางการ คนก็ไม่ค่อยจะยอมรับเท่าไหร่ แต่แกก็แปลมา ดำเนินมาก่อนล่ะ ได้อาศัยศึกษาเล่าเรียนกันมา มันจะผิดจะถูกอะไรบ้าง ก็เรียกว่า ก็ยังมีเนื้อ อยู่ละ จนกระทั่ง มาตั้งคณะเป็นทางการ แปลกันจนเสร็จ ๔๕ เล่มพิมพ์ พ.ศ.๒๕๐๐ สมัย จอมพล ป. เสร็จแล้ว ก็ได้ชำระกัน เกลาๆคำ เกลาๆความ กันมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง มาสังคายนา ครั้งหลังสุดนี่ หลายผู้หลายคน เปรียญ ๙ เสฐียรพงษ์ วรรณปก คนหนึ่ง ไม่ยอมรับ ฉบับสังคายนา ว่าอย่างนี้นะฉบับนี้ แต่เอาเถอะ ถึงอย่างไรก็ตามเถอะ ก็ตามภูมิ ตามปัญญา ที่จะเห็นควร ก็เกลาคำหน่อย ก็เพราะเกลาคำนี่แหละ แปลเอาสำนวนภาษานี่แหละ จะพาออก นอกพุทธ หรือว่ามันพาเข้าในพุทธ เป็นเนื้อๆ แท้ๆ มันก็อยู่ที่ ภูมิปัญญา อันแท้จริง

ถ้าเผื่อว่า คนที่ไม่มีสภาวะรองรับจริงๆ มันก็จะออกไปหน่อย มันจะหลวมจะฟ่ามออกไป มันจะบกพร่องไปเรื่อยๆแหละ แล้วมันก็ผิดเพี้ยนต่อไปน่ะ แต่ถ้าเผื่อว่า คนที่มีเนื้อหาสาระจริงๆ มีสภาวธรรมอันแน่ๆ มันก็พาเข้าไปลึกยิ่งขึ้น ลึกยิ่งขึ้น อาตมาถึงบอกว่า ถ้าให้อาตมาร่วมแปล พระไตรปิฎก ทั้งๆที่อาตมาไม่ได้เรียนบาลีด้วยนี่นะ ให้อาตมาช่วยร่วมเกลา ร่วมอะไร อาตมา ก็จะเอาสภาวะของอาตมา มาเป็นเครื่องตรวจสอบสภาวะที่เรามี แล้วก็พยายามจะเอาความ เอาคำอะไร ที่มันจะตรงกับสภาวะธรรม มันก็จะได้ อย่างที่อาตมานำพระไตรปิฎกมาแล้ว ก็แต่ละเรื่อง แต่ละอัน แต่ละอะไร ที่อาตมาหยิบมาอธิบายให้พวกคุณฟัง คุณตามฟัง ตามศึกษา ไปเถอะ ค่อยๆฟังแล้วก็ตามพิสูจน์ไปตามเรื่อยๆ คุณจะเห็นจริงว่า เออ มันคนที่มีภูมิ ไม่มีภูมิ คนที่มีสภาวะ ไม่มีสภาวะนี่ มันต่างกันน่ะ ทั้งๆที่ในพระไตรปิฎก คำความ ท่านตรัส เอาไว้ ก็เป็นภาษาเข้มๆข้นๆอย่างนี้แหละ แล้วเราก็จะรู้น่ะ เพราะฉะนั้น รวมแล้ว ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่สมบูรณ์หมด ทั้งสมมุติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ ไปด้วยกัน พร้อมกัน นี่เราก็กำลังเป็นไป

อาตมาว่า อาตมากำลังพิสูจน์ธรรมของพระพุทธเจ้าด้วย ว่าพระพุทธเจ้าท่านสอนทฤษฎีหลัก มรรคองค์ ๘ นี่เป็นความสมบูรณ์พร้อมไหม ใครจะมาตู่มาท้วงไม่ได้น่ะ อย่างคึกฤทธิ์ ปราโมช สอนบอกว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้าต้องเป็นโลกุตระ ผู้ที่จะปฏิบัติไปนิพพาน อย่าเอามาสอน พัฒนาสังคมประเทศชาติไม่ได้ คนมันไม่ทำการงาน แล้วมันก็ไม่รู้สังคม อย่างที่คึกฤทธิ์เข้าใจว่า ธรรมะชั้นสูง ปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน แล้วมันเอาตัวเดียวตัวรอดไปเลย มันไม่เอาอะไรทั้งนั้นแหละ ไม่รับรู้โลก มันทิ้งโลก เข้าใจเป็นแบบนั้นเลย คึกฤทธิ์นี่ อาตมากล่าวจริงๆเลย พูดจริงๆเลย เพราะว่า ไปสอนศาสนา แล้วก็ไปทำ เขาเอาไปทำเป็นตำรา ระดับนักศึกษาเอาไปเปิดเรียน นั่งเรียน แหม เก่งจริงๆเลย อย่างนี้ละบรรลัยเลย ศาสนาก็บรรลัยแน่ พุทธนี่บรรลัยแน่ๆ เพราะ มันผิดอย่างหนักเลย บอกว่าศาสนาพุทธ ชนิดที่จะไปนิพพานไปอะไร อย่าเอามาสอน เอาศาสนา ธรรมดาๆ โลกีย์นี่ ต้องมีความอยากได้ใคร่ดี เพราะจะต้อง ต้องการลาภ ยศ สรรเสริญ ไม่อย่างนั้น มันจะมีแรงทำงานอะไรคนเราน่ะ เพราะฉะนั้น พัฒนาประเทศชาติ สังคมไม่เจริญหรอก ศาสนาพุทธ

โอ้โห พระพุทธเจ้าได้ยินนี่เจ็บปวดเลย ว่าศาสนาพระพุทธเจ้า ไม่ได้พัฒนาสังคม ศาสนา พระพุทธเจ้า ทำให้สังคมเสื่อม โอ๊! ฟังแล้วน่ะ จะเพราะวาจาบาปๆ อย่างนี้หรือไม่ ก็ไม่รู้นะ นี่ ถึงได้ตัวเองในตอนนี้ ก็ชักจะย่ำจะแย่ไป จะยังไงก็แล้วแต่เถอะ มันก็เป็นวาจาที่ไม่ถูกไม่ดี เพราะภูมิไม่มี ภูมิมีแค่นั้น นี่ ไม่ได้พูดข่มนะ ไม่ได้พูดดูถูกดูแคลนอะไรหรอก

อาตมาเอง อาตมาต้องพยายามกล่าว กล่าวแก้สิ่งที่มันผิดเพี้ยนธรรมะ แล้วมันไม่เข้าหลัก มันเหตุผล อย่างที่ อาตมานำมา ไม่ใช่อาตมาพูดเอาเอง หลักการทฤษฎีของพระพุทธเจ้า องค์ประกอบนั่นๆนี่ๆ เอามาอธิบายยืนยัน แล้วพวกเราจะพิสูจน์ พิสูจน์ว่าธรรมะของ พระพุทธเจ้า นี้ช่วยสังคม มันมีนัยของมันซ้อนเชิงซับซ้อนมากทีเดียว แล้วเราก็ยังดูโลกอยู่ เหมือนกัน ไม่อย่างนั้นโลกวัชชะ เพราะอย่างนั้น เราต้องระมัดระวังอยู่นี่ พวกเราชาวอโศกนี่ จะไปช่วยสังคมที่ในระดับ ไอ้โน่นนี่ อย่างยิ่งเรื่องการเมือง โอ้โห แหว่งไปเลย แม้แต่กฎหมาย ก็บังคับเอาไว้ เป็นการกุศล เป็นศาสนาอะไรนี่ต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองแน่ะ ถ้าไปเกี่ยวข้อง กับการเมือง ผิดกฎหมาย มีกฎหมายระบุเอาไว้เสร็จเลยนะ ผู้นั้น จะขอเรื่องมูลนิธิ เรื่องสมาคม เรื่องกลุ่มหมู่อะไรต่ออะไรนี่ จะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าขืนเกี่ยวกับการเมืองไม่อนุมัติ ไม่อนุมัติให้ตั้ง กลัวจะเกิดม็อบ กลัวจะเกิดกองกำลังอะไรขึ้นมา

ถ้าศาสนาจริง ถ้าการกุศลจริง ถ้าเป็นไปเพื่อสังคมมนุษย์ส่วนใหญ่จริงๆ แล้วละก็ มันก็เข้า สอดคล้องกับประชาธิปไตยอยู่แล้ว แล้วก็เกิดไปออกกฎหมายอย่างนี้ กั้นประชาธิปไตยขึ้นมา กฎหมายอย่างนี้ละ กอง หมู่กลุ่มที่เป็นมูลนิธิ เป็นสมาคมนี่ เป็นคณะที่จะทำกำลังได้ ถ้าเขาทำ จริงๆ จริงเหมือนกัน เขาก็ต้องป้องกันเหมือนกันแหละว่า ก็ต้องส่องดูแลสิว่า สังคมใด มูลนิธิใด ที่ไม่เข้าท่า ก็จัดการล้มละลายไปสิ ถ้ามูลนิธิใด สังคมใดเขาดีจริงๆ เลย แม้ว่า เขาจะเกี่ยวข้อง กับการเมือง มันก็สอดคล้องกับประชาธิปไตย เขาทำเพื่อส่วนรวมนะ มูลนิธิก็ตาม สมาคมก็ตาม อะไรก็ตาม นั่นคือความหมายของส่วนรวม นะ เป็นการกุศล เป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อคน จำนวนมาก ไม่ใช่มาเพื่อตัวเอง โดยความหมายของมัน โดยลักษณะแท้ของมัน มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้น นี่มันทำไม่ถูก มันเลยพาลพาไม่ถูก มันเละไปหมดเลย แม้จะออกกฎ ออกระเบียบ อะไรมา ก็มาค้านแย้งไอ้ความถูกต้องอันนี้ ค้านแย้งความถูกต้อง มันก็บิดๆเบี้ยวๆ มันก็เสีย

แต่เราอยู่ในเมืองนี้ ประเทศนี้ เราก็ต้องดำเนินตามกฎหมายเขาว่าอย่างนั้น เราก็ต้อง กฎหมาย ต้องระวัง อย่างกับอะไรดีน่ะระวัง เพราะฉะนั้น เราจะไปทำอะไรมากมายก็ไม่ได้ ไม่ได้ เราก็ทำไป เท่าที่มันได้นี่แหละ กฎหมายเขามีอย่างนั้น ก็มีไป เราก็กระทำเท่าที่มันเป็นไปได้ เราก็ไม่ละเมิดอะไรหรอก เพราะว่าเขาออกกฎหมายมายัน เราจะไปเถียงอะไรกันได้ คนเราก็ต้อง เคารพกฎหมาย ทำได้ตามที่พอทำได้ มันก็พอเป็นไปน่ะ กว่ามันจะสมบูรณ์ มันก็คงอีกนาน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้กฎหมายจะห้ามกั้นเอาไว้ มันก็ทำได้ อย่างที่เราทำกันอยู่นี่ ก็พอเป็นไป ตามสิทธิ ตามหน้าที่ ฆราวาสมีหน้าที่จะไปเกี่ยวข้องการเมือง ก็ไปซี ในแวดวงของพวกสมาคม มูลนิธิ สมาคมมีสมาชิก ที่เขาจะทำอะไรของเขาอยู่ขนาดไหน ก็ทำกันไป

แต่สมาคมที่เป็นสมาคม เกี่ยวข้องกับการเมืองจริงๆ ก็มีเหมือนกัน เขียนตราสารเกี่ยวข้องเลย ก็ได้น่ะ แต่ส่วนมาก เขาจะต้องนิยมกันแบบนั้น แล้วเลยกลายเป็นว่า ถ้าใครจะตั้งสมาคม จะตั้งมูลนิธิ จะตั้งอะไรพวกนี้แล้วก็ต้องมีข้อหนึ่ง วัตถุประสงค์จะไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง กั้นไว้ก่อนเลย ประเทศไทย เป็นประชาธิปไตยได้ช้า เอาละ ก็วิจัยให้มันลึกๆ ให้ฟังไป อย่างนั้นเอง

สังคมของชาวอโศกเรานี่ เกิดจารีตประเพณี เกิดวัฒนธรรม เกิดสัมมาอาชีพ เกิดสัมมากัมมันตะ เกิดอะไรต่ออะไรขึ้นมานี่ จะเห็นได้ว่า มันเป็นไปอย่างนี้ ไอ้ที่เขาว่า จุดดีๆ ไม่ว่าจะเป็นจุดดี ของคอมมูน ของคอมมิวนิสต์ เขาก็มีจุดดี เราก็มีได้ จุดดีเป็นส่วนกลาง ส่วนรวม แบบแบ่งแจก แจกจ่ายกันขึ้นมา แล้วเอามารวม มาแบ่งกันเป็นบริจาค วิธีบริจาค มารวมกองกลาง หรือผู้ที่ใจ เต็มแล้ว ก็ยิ่งทำเข้ากองกลางทั้งหมด ไม่ต้องมาถูกบังคับเหมือนคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์นั่น บังคับขูดรีด แบ่งเอาเป็นส่วนกลาง คนมันยังไม่อยากให้หรอกนะ มันมีกิเลส

แต่พวกเรานี่ ทำอย่างสุจริต มาเป็นส่วนกลาง ก็ไม่มีใครจะไปคอมมิชชั่น ไปคอรัปชั่น ไปโกง ไปกิน ไปทำทุจริตอะไรด้วย มันก็สบายใจ พวกเราก็เอา เต็มใจที่จะให้ เมื่อให้มาแล้ว ก็เอามา ทำงาน มันเป็นวิธีการเหมือนกันแหละ แม้แต่ประชาธิปไตย มีกฎหมายภาษี มีโน่น มีนี่ แบ่งแจกมา มันก็คล้ายกันนั่นแหละ ลักษณะที่กฎหมายคอมมิวนิสต์ จะต้องได้เท่านี้ ส่วนเท่านี้ ก็ต้องหัก มาให้รัฐบาลเท่านี้ มันก็เหมือนกันกับภาษีนั่นแหละ แต่มันมีช่องมีวิธีการที่ไม่บังคับ กันมากเกินไปนัก ไม่แบ่งส่วนกันจัดจ้านเกินไปนัก แล้วไม่กดขี่ข่มเหงพวกที่จะร่ำจะรวย จะมีมาก มีน้อยมากกว่ากันไปนัก

ประชาธิปไตยมันก็เลยกลายเป็น ผู้ฉลาด ก็เป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก ได้เปรียบมาก ประชาธิปไตย เพราะอิสรเสรีเกินไป ส่วนคอมมิวนิสต์เมื่อสอดส่องมาก แต่ละเจ้า แต่ละราย แบ่งมาส่วนกลางมาก แล้วก็มีเจ้าหน้าที่ไปจัดแจง แล้วเราแน่ใจว่าเจ้าหน้าที่จัดแจงส่วนกลาง นั่นน่ะ มีความซื่อสัตย์สุจริต คณะกับพรรคปกครองคณะผู้บริหารเหมือนกันนั่นแหละ สุจริตหรือ ไม่ลำเอียงหรือ

ทีนี้ถ้าเผื่อว่า สุจริตจริงๆ อย่างศาสนาพุทธนี้น่ะ ผู้ที่จะดูแลส่วนกลางนี้ ก็เอาผู้สุจริตจริงๆ คัดเลือก กันไปเป็นกรรมการอย่างนี้เป็นต้น ดูแลส่วนกลาง ดูแลอะไร ก็เป็นผู้สุจริตจริงๆ แล้วทำ ให้มันบริสุทธิ์จริงๆ มันก็นัยคล้ายกันไปหมดนั่นแหละ วิธีการรวมกันอยู่ เป็นสังคมกลุ่ม บริหารกันไป บริหารวัตถุบริหารบุคคล ก็บริหารกันไปกระทำกันไป เพราะฉะนั้น ของเรานี่ ก็เกิดมาตามธรรม เสรีก็มีเสรี แล้วเสรีจริงๆด้วย เรายืนยันว่าเสรี จะมีส่วนกลางก็มีส่วนกลาง อย่างที่เรียกว่า คอมมิวนิสต์ ยังตามไม่ทันเลย ส่วนกลางอย่างพวกเรานี่ มันจะเป็นส่วนกลาง ไปให้มาก มันจะมีอะไรต่ออะไร เป็นส่วนกลาง เป็นส่วนรวม ทำงานเป็นเพื่อการพัฒนา มนุษยชาติ แล้วก็มีจิตวิญญาณที่จะเป็นมนุษยชาติที่ไม่ได้เห็นแก่ตัว รู้จักความสำคัญน่ะ เป็นคนลดละ เป็นคนที่เกื้อกูลสร้างสรรขยันเพียร มีน้ำใจที่จะขยัน เพราะรู้ว่า คนเราเกิดมา ก็ขยันเท่านั้นแหละ เมื่อยเมื่อไหร่หรือว่าสมควรจะพัก เราค่อยพัก ถ้ายังไม่เมื่อย ไม่สมควรจะพัก พระอาทิตย์ขึ้น มีแสงสว่างแล้ว ก็มาทำงานกัน เริ่มต้นทำงานกันไป ถึงเวลาควรพักก็พัก ถึงเวลาควรนอนก็นอน ถึงเวลาควรตื่นตื่น สุขภาพร่างกายก็แข็งแรง ความกดดันทางจิตก็ไม่มี จิตใจ ปลอดโปร่งเบิกบานแจ่มใส ของกินของอยู่ของใช้อะไรก็สมบูรณ์ อุดมพอเป็นไป ไม่ปรุง ไม่แต่ง ไม่สังขารให้มันหวือหวา ฟุ้งเฟ้อ เผาผลาญ จนกระทั่งสิ่งแวดล้อมนี้ ไม่อุดมสมบูรณ์

ถ้าเผื่อว่า เราพิสูจน์ไปนะนี่ ชาวอโศกเรานี่ ปฐมอโศกเรานี่ มีสิ่งแวดล้อมพอเพียง มีสถานที่ ก็อุดมสมบูรณ์ดีแล้ว อยู่กันอย่างดีแล้ว เรายังก่อยังสร้าง ยังทำอยู่ สถานที่เราก็ต่อไป ก็เหลือ แต่ซ่อมแซม ถ้ามันสร้างกันสมบูรณ์มีโน่นมีนี่พอเพียงพอดีแล้ว เอาละตอนนี้ ก็จะไม่ต้อง ไปสร้าง อะไรใหญ่ๆ ไม่ต้องสร้างอะไรหนักๆ นอกจากจะซ่อมแซมสิ่งที่มันชำรุดทรุดโทรม ก็ต้องซ่อมแซม กันอยู่ตลอดเวลาแหละ มันธรรมดาธรรมชาติของการซ่อมแซม แต่พอครบแล้ว สิ่งที่จะเป็น อาหารการกินก็มีสมบูรณ์ มีเพียงพอ ธรรมชาติช่วยเราได้อย่างมาก ที่อยู่ที่อาศัย บุคคลอยู่ในนี้ ก็ขัดเกลา ฝึกหัดอบรม เป็นบุคคลสปายะ มีธรรมะ เป็นพระภิกษุผู้เถระ ภิกษุผู้ มัชฌิมะ ภิกษุผู้นวกะ หรือพวกเราก็เป็นเหมือนกัน แม้แต่ในฆราวาสก็มีผู้ที่ที่ผู้นำเป็นตัวอย่าง เป็นผู้ที่ควรเอาอย่าง สืบทอดกันมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีระบบ มีไปจนกระทั่งถึง รุ่นเด็ก รุ่นเล็ก เกิดมา ลืมตาขึ้นมาแกก็เห็นแล้ว สัมผัสแล้วว่าวัฒนธรรมอย่างนี้ มีอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ ครบ สมบูรณ์แล้ว มันก็จะไม่ร่อยหรอ น้ำก็จะไหล ไฟก็จะสว่าง ดินก็จะงาม ลมก็จะพัดโชย อากาศ ก็จะบริสุทธิ์ สดชื่นอยู่ จะหมุนเวียนได้สมดุลอยู่อย่างนั้นล่ะ จะไม่ร่อยหรอ จะไม่พร่องอยู่ เป็นนิตย์

อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ถึงแม้พร่องก็พร่องน้อยที่สุด จะพร่องน้อยก็ถูกเขารบกวนนั่นแหละ แต่ถ้าเผื่อว่า เขาไม่รบกวนแล้วนะพวกเราก็จะบูรณะอยู่เรื่อย มันจะไม่เป็นคนดูดาย จะเป็นผู้ บูรณะ จะเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ จะเป็นผู้ที่ดูแล แล้วมันก็จะเสื่อมน้อยทรุดน้อย ความเสื่อมจะน้อย กว่าความเจริญ ความเจริญมันจะมากกว่าความเสื่อม เพราะฉะนั้น มันก็จะอุดมสมบูรณ์ขึ้น เรื่อยๆ จะเหลือๆ จนกระทั่งสะพัดออกไปเกื้อกูลเลี้ยงคนอื่น พลังงานหรือผลผลิตที่มันเหลือ แล้วออกไป เกื้อกูลเผื่อแผ่ผู้อื่นนั่นแหละ เป็นประโยชน์ เป็นคุณค่า พวกเราจะเป็นคนมีคุณค่า สังคมของเรา กลุ่มของเรานี่ เราสมบูรณ์แล้ว มันจะเป็นสังคมที่มีจะร่ำรวยไง

ไม่จำเป็นจะต้องไปสะสม ไม่จำเป็นจะต้องไปแลกเปลี่ยน ขายก็ขายอย่างระบบบุญนิยม ขายต่ำกว่าทุน ซึ่งระบบขายต่ำกว่าทุนนี่ หรือแจกฟรีได้ มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้งมาก แล้วเป็นจริงได้ น่ะ เมื่อเราขายเขาต่ำกว่าทุน เพราะว่าทุนของเรานี่ ธรรมชาติมันช่วย ธรรมชาติมันช่วยทุนนะ มันสร้างสรร มันมีบทบาทลีลาของมัน มันทำงานอยู่ตลอดเวลา ธรรมชาตินี่ทำงานมาตั้งเยอะ ตั้งแยะ แล้วพวกเราก็ช่วยทำอีก แรงงานของพวกเรา ก็เป็นแรงงานธรรมชาติที่ฟรีด้วย เราช่วยสร้างอยู่นี่ ช่วยทำอะไรต่ออะไร ไม่ได้คิดค่าแรงงาน กินก็เท่านั้น ก็นิดเดียว วันๆ วันหนึ่ง เราทำงาน เราออกแรงอะไรไปนี่ ก็มีแรงงานมีผลผลิตจากแรงงานของเรานี่เหลือ เพราะฉะนั้น ส่วนเหลือพวกนี้แหละ จะเป็นส่วนเกิน ส่วนที่ไม่ใช่พร่อง ส่วนอุดมสมบูรณ์ ไพบูลย์ กระจายไป เกื้อกูลคนอื่น จึงจะขายต่ำกว่าทุน หรือให้ฟรีได้

แม้ขายต่ำกว่าทุน หรือให้ฟรี ก็ยังพออยู่พอกิน ยังอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างเดิม ไม่ต้องไปทำอะไร ให้ร่อยหรอลงไป ทุกอย่างสมดุลขึ้นมา ทุกอย่างที่เข้าระบบดีแล้ว เจริญงอกงามแล้ว ข้างนอก ที่ได้รับจากเราไป เขาไม่กล้าที่จะมาทำลายอู่ข้าวอู่น้ำ เขาไม่กล้าที่จะมาทำลายกลุ่มนี้ เพราะอะไร เพราะว่าเขาทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างนี้มันเหมือนกับเราไปเจอบ่อน้ำซับน่ะ แหม แห้งแล้งเหลือเกิน ไปเจอ โอ เอ ซีส (oasis) พวกชาวทะเลทรายไปเจอ โอ เอ ซีส จะพยายามรักษา oasis ไว้ เพราะว่า โอ้โห ที่ตรงนี้นี่มีน้ำ มีพืช ผัก ต้นไม้ หย่อม โอเอซีส หมายถึง หย่อมที่มีน้ำ แล้วก็มีพืช มีต้นไม้ มีอะไรที่ร่มเย็น กลางทะเลทราย มันจะเป็นหย่อมๆๆอยู่ oasis หมายความว่า อันนั้น เพราะฉะนั้น พวกที่ทะเลทราย มันจะไม่พยายามทำลาย oasis จะไม่ทำลายหย่อมตรงนี้ ขืนทำลาย มันก็ตาย เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นบ่อเย็น บ่อชุ่มชื่น มันจะไม่กล้าทำลาย

ฉันใดก็ฉันนั้น พวกเรานี่ จะเป็นอย่างนี้ แล้วเขาจะรู้จักคุณค่า รู้จักบุญคุณของอันนี้ นี่แหละคือ สังคมที่เป็นสังคมเจริญ สังคมที่ไม่ต้องมีอาวุธ สังคมที่ไม่ต้องมีทหาร สังคมที่เขาไม่กล้าทำลาย เพราะเราไม่ต้องมีอาวุธ ไม่ต้องมีทหาร เขาก็ไม่กล้าทำลาย เขาจะต้องรักษาเอาไว้ เลี้ยงดูเอาไว้ จะเป็นอย่างนั้น เมื่อไหร่ไม่รู้ ตอนนี้มันไม่ต้องอย่างนั้นแล้ว มันกำลังจะถูกบ้อมเสียด้วยซ้ำไป เพราะเขาไม่เชื่อ เขายังไม่เข้าใจ เราไม่ได้มีเจตนาจะมาเอาเปรียบเอารัด เราไม่ได้มีเจตนาที่ จะมาทำร้ายทำลายอะไร เรามีเจตนาที่จะสร้างอย่างที่อาตมาพูดนี่ อุดมสมบูรณ์แล้วก็ พรักพร้อม ขึ้นมา เป็นวงจรที่มันครบครันขึ้นมาเมื่อไหร่ แม้รูปร่างแค่นี้ แค่ชุมชนปฐมอโศก นี่แหละ

ตอนนี้ก็กำลังรวมกัน คนกำลังมั่นใจ คนกำลังแน่ใจมากขึ้นว่า เอ๊ ที่นี่อยู่ได้นะ ที่นี่อยู่ดี ทั้งๆที่ ไม่ใช่ที่อุดมสมบูรณ์ก่อน ก็จะมีต่อมาก็ช่วยกันดูซี ก็ช่วยกันดู กสิกรรมพืชผักอะไร ช่วยกันปลูก ช่วยกันแปลง ช่วยกันทำ อู๊ว์ อาตมาลองเดาๆ ไม่ต้องเดา ลองสร้างภาพอนาคตไว้หน่อยๆ อุ๊ว์ มันน่าเอ็นดู มันน่าจะเป็นสุขรื่นรมย์ ผู้นั้นผู้นี้ช่วยกันคนละไม้คนละมือ งานนั้นงานนี้ต่างก็เป็น ผู้ที่รู้จักกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูงทั้งต่ำ หรือว่ากิจน้อยกิจใหญ่ ของเพื่อนพรหมจรรย์ ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาที่ต้องพิจารณาอันเป็นอุบายในกิจนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้ แต่ละคน ก็มีความชำนาญ มีความรอบรู้เหมือนกับ สังคมแต่ก่อน ถ้าเรานึกถึงนะ คนเก่าๆ ก่อนๆ อายุมากหน่อยนี่ สังคมชนบท บ้านนี้ หมู่บ้านนี้ เขาจะมีงานของเขาอย่างนี้ ลูกเต้าเกิดมา มันก็ซับซาบไป ประเดี๋ยวมันก็เป็นหมด เป็นอะไรบ้างล่ะ ไม่รู้หมู่บ้านนี้เป็นอะไร มันเป็นหมดแหละ มันทำได้หมด ทดแทนกันได้หมด เหมือนกงสีน่ะ ในกงสี มีพ่อแม่พี่น้องลูก หลานเยอะๆ อยู่ในนี้ มันก็ทำแทนกันได้หมดล่ะ อะไร คนไหนขาด คนนี้ก็แทน งานโน้นล่ะ เอ้า งานโน้นก็ได้ งานนี้ก็ได้ งานนั้นก็ได้ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆนะ มันไม่ขาดตกบกพร่องหรอก ไม่ขาดตกบกพร่อง

อย่างนี้แหละ เป็นสังคมที่สมบูรณ์ ทุกวันนี้คนมันมาก เขาก็เลยพยายามที่จะคัดคนชำนาญ พิเศษ Specialized ทำอื่นไม่เป็น หนักเข้าไม่อย่างที่อะไรล่ะ ที่เขียน Small is beautiful ชูแมกเกอร์ เขียนน่ะ หนักเข้า ไอ้คนที่มันทำงาน มันไม่ได้เป็นอะไร มันอยู่ในโรงงานทำเข็มหมุดนี่ เข็มหมุด มันจะไปมีอะไร ไอ้คนนี้เป็นแต่จับ แล้วหย่อนใส่ตรงนี้ เหมือนเครื่องกลอันหนึ่งกับคนล่ะนะ อันอื่น ทำไม่เป็นเลย จับอันนี้ แหย่ใส่อันนี้เท่านั้นเอง ไปทำอื่นทำไม่ได้ไม่เป็น ทำเป็นแต่แค่นี้ เหมือนเครื่องกล เครื่องมือ เหมือนกับไอ้กลไกเหมือนที่เขาทำเครื่องวัด เครื่องอะไรอยู่ หนักเข้า ก็ เอ้า ชำนาญแต่อย่างเดียว นี่แหละเป็นแต่อย่างเดียว จะชำนาญแค่ไหน ก็ช่างมันเถอะ ทำอื่น ไม่เป็นเลย สังคมทุกวันนี้ กำลังกลายเป็นสังคมแบบนี้ ไปชำนาญ ชำนาญพิเศษแต่เรื่องเดียว เหมือนอย่าง สุนทรภู่สอนเอาไว้ ก็เลยไปเชื่อสุนทรภู่ รู้อะไรรู้จริงแต่สิ่งเดียว ขอให้เชี่ยวชาญเถิด จะเกิดผลน่ะ ในสุนทรภู่สอน ถ้าไปรู้อะไรมากๆ มันจะเป็นเป็ด ว่าอย่างนั้นนะ ก็จริงอีกแหละ ถ้าเที่ยวไปรู้อะไรเปรอะๆ เป็นอะไรหลายๆอย่างมากเกินไป ก็เป็นเป็ดอย่างที่ว่า ดีไม่ดีจะเป็นเป็ด ง่อยเอาด้วยนะ คือว่าเป็ดนี่ มันทำอะไร มันไม่ค่อยจะเป็นโล้เป็นพาย จะบินก็ไม่เหมือนนก ไม่เก่งเท่านก จะว่ายน้ำก็ไม่เท่ากับปลา จะวิ่งได้ก็ไม่เท่ากับม้า จะเดินเหิน จะวิ่งก็ไม่สู้ม้า อะไรมันก็ไม่ได้ทำอะไรได้เหมือนกันนะ แต่มันก็เหมือนเป็ดน่ะ

ทีนี้ มันเป็ด มันยังพอทำเนา อะไรก็ไม่ค่อยจะได้ แล้วแถมยังง่อยเสียอีกเลยเลิกเลยทีนี้ ซึ่งทำอะไร ก็ไม่ค่อยจะเป็น แล้วทีนี้เป็นง่อยเสียอีกนะ เขาเลยเรียกเป็ดง่อย ก็ว่าไป เป็นภาษา เขาว่ากันไปนี่นะ พวกเราก็ไม่ใช่ว่าจะไปเป็นชำนาญพิเศษอย่างเดียว แล้วก็ไม่ได้หมายความว่า จะสะเปะสะปะเหมือนเป็ด ก็มีความรู้ควรว่าเอาละ เราก็ควรจะทำได้เท่าที่เรามีสมรรถภาพ สนใจอันโน้นบ้าง สนใจนี้บ้าง ก็พอทดแทนกันได้บ้าง อย่างที่เราเป็นไปอยู่นี่ สมเหมาะสมควร นี้ คือมนุษย์ เกิดมาจะต้องเรียนรู้ แล้วก็จะต้องฝึกปรือให้เป็นอย่างที่ว่านี่ สังคมอย่างที่ว่า สังคมสมบูรณ์ ที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้นี่ แหม มันวิเศษ แล้วมันสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเอง

อาตมาก็เห็นว่า บ้านเมืองสังคมมนุษยชาติทั้งโลกนี่ ก็หาทางปกครองบริหาร หรือว่าเป็นอยู่ ให้สังคมเป็นอยู่ที่ดีที่เจริญ แต่ทำไมนะ อาตมาว่า อาตมาไม่ได้เรียนรัฐศาสตร์นะ แต่อาตมาว่า รัฐศาสตร์ มันก็น่าจะเป็นอย่างนี้ จะต้องเข้าใจสังคมมนุษย์ชาติที่จะต้องมีทฤษฏีหลัก มีความเข้าใจ ในความเป็นไปว่าสังคมจะประกอบไปด้วยอย่างไร คนควรจะเป็นคนอย่างไร ถ้าคนเป็นอย่างนี้ขึ้นมาได้ พัฒนาคนให้เป็นอย่างที่เรากำลังปฏิบัติกัน เพื่ออบรมฝึกฝนมานี่ เป็นอย่างนี้ได้แล้วนี่ คนมันก็จะรู้จักความจริงของคนว่า คนเกิดมาทำไม ก็เกิดมาสร้างกุศล เกิดมาทำดี เกิดมามีคุณค่า แล้วมีคุณค่าคืออะไร มีคุณค่า คือสร้างสรรแล้วก็ให้ ไม่ใช่มีคุณค่า แล้วก็คือ สร้างสรรไปน้อยๆ แล้วหลอกเอามามากๆ ดีไม่ดีหนักเข้า วิธีการที่เจริญก็คือ ไม่ต้อง ลงมือสร้างหรอก เอ้เต เอ้เต อยู่ข้างบนเลย คนอื่นสร้างมา ฉันก็หอบเอา หอบเอา ขี้โลภ สะสม เอาเปรียบเอารัด แบบนั้นเรียกว่า เป็นผู้สำเร็จ เป็นผู้บรรลุสูงสุด เอ๊ อย่างนี้ไม่ถูกนะ ไม่ใช่ คนเจริญที่แท้นะ เพราะฉะนั้น เรามาเห็นแจ้ง เห็นจริงในสัจจะพวกนี้เข้าแล้ว เราก็พยายาม พิสูจน์ธรรมะของพระพุทธเจ้า ฝึกฝน พิสูจน์ดูจริงๆ

อาตมาว่า พวกเรานี่เกิดรูปเกิดร่างขึ้นมาพอสมควร ยังเหลือแต่ว่าเราจะล้างอัตตามานะ ที่มัน ขี้เกียจ มันเห็นแก่ตัว มันยังมีภพ มีภวตัณหา ถ้าทำลายภวตัณหา เป็นตัณหาที่อยู่ในภพ กามตัณหา เราก็เรียนไม่ใช่ไม่เรียน ถ้าเผื่อว่าไม่ล้างตัณหาพวกนี้ ไม่ให้ละเอียดขึ้นไปอีก เราจะ มาล้างกามตัณหาในส่วนนอกอีกก็ไม่ได้ มันสัมพันธ์กัน กามตัณหา กับ ภวตัณหา วิภวตัณหา ตัณหาอุดมการณ์ นี่เอาไว้ก่อนเถอะ ตัวที่มุ่งมาดปรารถนาดี ปรารถนาจะมีจิตใจจะยินดีกับ การงาน ยินดีจะสรรเสริญอะไรอยู่บ้างเล็กๆน้อยๆ เป็นตัววิภวตัณหา จัดเข้าเป็นพวกวิภวตัณหา ยินดีในสิ่งที่ดี เราไม่เอาวัตถุ เราไม่เอาลาภ เอายศ แต่ยังสรรเสริญอยู่บ้าง ยังรู้สึกว่าสุขกับงาน การเป็นสุขกับงาน เป็นกัมมารามตาอยู่บ้าง ยังยินดีในการงานอยู่บ้าง ก็เอาไว้ก่อน เป็นวิภวตัณหา ก็ได้ จัดเข้าอยู่วิภวตัณหาก็ได้ เป็นตัณหาอุดมการณ์ สูงขึ้นไปกว่านั้น

แม้แต่วิภวตัณหา เราก็ต้องไปวางอีก ก็ค่อยว่ากันไป แต่ตอนนี้กามตัณหา เราพอเข้าใจกัน ดีแล้ว ภวตัณหา ที่จะเป็นอัตตามานะนี่แหละ ต้องทำ แล้วจะซ้อนไป จะไปเก็บกามตัณหาได้ครบครัน พอเก็บกามตัณหาได้ครบครัน มันถึงจะขึ้นไปสู่สังโยชน์สูง สังโยชน์รูปราคะ อรูปราคะ อัตตา ก็จะลดน้อยลง ตามลำดับด้วย

เพราะว่าเราปฏิบัติเรียนรู้ไปตามลำดับ กามตัณหา ภวตัณหานี่ เรียนรู้ไปพร้อมกัน ลดอัตตา ที่จริง อัตตาตั้งแต่แรกเริ่มของคนนี่นะ มันหยิ่งผยองในภูมิในภพ ในความเข้าใจของตน เพราะฉะนั้น สักกายะในความหมายแรกนี่ พ้นความหมาย พ้นอัตตาตัวตน ตรงที่ถือหัว ถือภูมิธรรม ถือความรู้ เพราะฉะนั้น คนที่มีความรู้ ถือตัวถือตนเก่งๆเจ๋งๆ ยิ่งบอกว่า ตัวเอง ได้เรียน พระพุทธพจน์มาก็มาก ทรงจำไว้ก็มาก สั่งสอนกันอยู่ก็เก่งเสียด้วย ได้รับยศ ได้รับศักดิ์ อยู่ในโลกเสียด้วยนะ แต่ตนเองไม่ได้มีปรมัตถ์ รู้แต่ปริยัติ ปฏิบัติธรรมไม่ได้บรรลุธรรมอะไร สักกะจิ๊ดหนึ่งกับเขา หรือจะบรรลุธรรมบ้างนิดๆหน่อยๆ ก็ติดแป้นอยู่ตรงนั้นแหละ ไม่ได้เจริญ งอกงาม แต่เก่งปริยัตินะ เก่งโวหาร เก่งคารม เก่งทฤษฎีวิชาการอะไรมากมายนะ คนนี้ก็ ปทปรมะ

พระพุทธเจ้าถึงได้บรรยายเอาไว้ ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจได้ง่ายๆนะ ปทปรมะอย่างนี้ ดูเหมือนเป็น ผู้เฉลียวฉลาดในธรรม รู้แจ้งรอบ ไปเป็นพระไตรปิฎกเคลื่อนที่ เป็นจอมวิชาการ ใครก็ยอมรับ ยิ่งสมัยนี้ ยิ่งยอมรับความรู้กัน เป็นนักวิชาการ แต่ว่าทำไม่เป็น ปฏิบัติตนเองก็ยังไม่ได้ มีภาวะ ค้านแย้งด้วย นี่ปทปรมะอย่างนี้นี่ คนที่เรียกว่า ไม่มีความเจริญไปอีกแล้ว แล้วก็กลายเป็นเจ้า เป็นใหญ่ กลายเป็นหัวหน้า กลายเป็นผู้นำ มันก็ใช้ปัญญาหรือว่าใช้ความเฉลียวฉลาดของ ตัวเอง เฉโก ใช้ความเฉลียวฉลาดของตัวเองนี่ซับซ้อน นี่แหละเสื่อม ธรรมวินัยก็วิปริต ธรรมวินัย ก็เสื่อม ทฤษฎีก็เพี้ยน หลักเกณฑ์ก็เพี้ยนไป เป็นจริงอย่างนั้น ระมัดระวัง พวกเราก็ระมัดระวัง จริงๆ อย่าอวดดี อย่าอวดใหญ่ อย่าไปทำเป็นตัวเองยังไม่ได้สภาวะจริงๆ แล้วก็ทำเป็นพูด เป็นเขื่องใช้ มันมีมานะ น่ะ เวลาที่เราเองไปเที่ยวได้สาธยาย เขายกย่อง ยกย่องชูเชิด ยอมรับว่า เราเก่ง เอ๊ย คนนี้เก่ง คนนี้ดีนี่ เสร็จแล้วเราก็ซอกแซก ๆ เหตุผลปัญหา อะไรลึกๆๆๆ ขึ้นไป ก็ดันทุรัง เดาไปเรื่อย เดาไปเรื่อย เราไม่รู้ไม่ได้ นี่มานะมันใหญ่ มันหลงตัวเอง ถ้าเราทำเป็นไม่รู้ เสียหน้า หน้าแตก เราต้องรู้ ๆ ทั้งๆที่มันไม่จริง เดาไปเรื่อยเลย ออกนอกภูมิ ออกนอกความรู้ เราแล้ว เราก็ยัง ยังยิ่งจะใหญ่อยู่นั่นแหละ ระวังตรงนี้

ถ้าอันไหนที่เราไม่แน่ใจแล้ว รู้สึกว่ามันชักจะไม่ดีแล้วอย่าไปดันทุรังต่อ มันเสื่อมทั้งตน มันเสื่อม ทั้งสัจจะ ความจริง สัจจะความจริงก็เสื่อม ตัวเองก็เสื่อม ทำลายทั้งตนเอง และสัจธรรม มันเลวร้ายมาก เพราะฉะนั้น อันนี้ระมัดระวังอัตตามานะตัวนี้ไว้ให้ดีน่ะ ถ้าเราไม่มีภูมิจริงๆ ก็บอกว่า เราไม่รู้หรอก ทำยังไม่ได้ อันนี้ยังไม่เป็นหรอก ยังไม่แน่ใจหรอก อย่าไปแสดงออก เป็นอันขาด ยิ่งเป็นอุตริมนุสธรรมลึกๆซึ้งๆ แล้ว ตัวเราก็ยังไม่แน่ใจนี่ อย่าเลยน่ะ สิ่งที่ยัง ไม่แน่ใจ หรือว่ายังไม่รู้จริงแล้ว แล้วด้นๆ เดาๆ ทะลุทะลวงไป กลัวจะขายหน้าว่าเราไม่ได้รับ ความนิยม ยอมรับ เดี๋ยวไปบอกว่าเราไม่รู้ เราไม่สูง เราจะกลายเป็นคนต่ำ ถ้ายิ่งดันทุรังนั่นล่ะ ยิ่งต่ำ ยิ่งบาปหนัก ยิ่งทำลายทั้งตัวเองและสัจจะดังที่กล่าวแล้ว ยิ่งไปไม่รอด อันนี้ระวัง ให้จงหนักนะ ระวังให้ดีๆ

ถ้าผู้ใดซื่อสัตย์ รู้จักภูมิตน ไม่โอ้อวดนั่นเองแหละ ไม่มีสาเถยยะ ไม่มีจิตลามก ที่จะโอ่อวด สิ่งที่ตนเองไม่จริงไม่เป็นไม่โอ่อวด ไม่จิตลามก รู้ตัวรู้ตนให้ดี มีเท่าไหร่ก็ว่าเท่านั้น มีอย่างไร ก็เท่านั้น พยายามให้มันชัดเจน อย่าคลุมๆเคลือๆ อันไหนคลางแคลงสงสัย ยังไม่แน่ใจนัก ระงับไว้ก่อนได้เลย บอกไม่ได้ ถ้าเขาอยากจะรู้มาก ก็มาค้นตำราเอาแต่ตำราไปให้ นี่ตำรา พระพุทธเจ้านะ ไม่ใช่ของตัวเอง อย่างนี้มันก็ปลอดภัย ไม่ปาราชิก แล้วก็ไม่ทำลาย ไม่ทำลายธรรม ไม่ทำลายอะไรด้วยน่ะ

เอ้า เอาละ อาตมาได้สาธยายธรรมะ ได้เห็นที่พึ่งอะไรพวกนี้กันมาทั้ง ๒ สูตร นาถสูตร สูตร ๑ สูตร ๒ ขยายความอะไรให้มันลึกมันกว้าง ให้มันสมบูรณ์ ๆ ไปอีกน่ะ พอแล้วครบ ครบแล้วน่ะ

ก็เอาละ สำหรับวันนี้ หมดเวลาแล้วด้วย


จัดทำ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ ก.ค.๒๕๓๕
ถอด โดย ประสิทธิ์ ฝายทอง ๕ ก.ค.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี
พิมพ์ โดย สม.มาบรรจบ
ตรวจทาน ๒ โดย สม.จินดา ๑๒ ก.ค.๒๕๓๕

:2462D.TAP