ที่พึ่งอันวิเศษของมนุษย์ ตอน ๔
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถานปฐมอโศก

อาตมากำลังอธิบายเอาพระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ ทสกนิบาต หมวด ๑๐ อธิบายมาเรื่อยๆแล้ว ตอนนี้มาถึง ข้อ ๑๘ นาถสูตร นาถสูตรหรือนาถกรณธรรม ที่นี่ก็ได้อธิบายไปแล้ว นาถสูตรที่ ๑ ไปที่โน่น ก็อธิบายนาถสูตรที่ ๒ ซึ่งว่าเป็นสูตรที่ ๒ ก็มีความละเอียดลึกซึ้งเพิ่มเติมขึ้นจากที่มี ๑๐ หลัก คือพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ผู้กระทำที่พึ่งให้แก่ตนเอง มีศีล เป็นพหูสูต มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี

๑.ศีล
๒.พหูสูตร
๓.มิตรดีสหายดี
๔.เป็นผู้ว่าง่าย
๕.เป็นผู้ขยัน
๖.เป็นผู้ใคร่ในธรรม
๗.เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศล บากบั่นมั่นคง
๘.สันโดษ
๙.มีสติ
๑๐.มีปัญญา

๑๐ หลักเหมือนกันนั่นแหละ ในสูตรที่ ๒ นี่ กระทำที่พึ่งในสูตรที่ ๒ ก็เหมือนกัน แต่ว่าใน รายละเอียด ในสูตรที่ ๒ ท่านกำชับลงไปอีกว่า แม้เป็นผู้มีศีล สมาทานศีลก็ตาม หรือว่าผู้ที่จะ เริ่มต้นหลักที่ ๑ ก็จะมีภิกษุผู้เถระก็ดี มัชฌิมะก็ดี นวกะก็ดี มีภิกษุเก่า ภิกษุกลาง ภิกษุใหม่ ซึ่งจะเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นตัวสืบทอด เป็นตัวแทนที่จะสืบทอด ที่จะรักษาคำสอน เนื้อหาสาระพุทธธรรมสืบทอดมา เป็นผู้ที่จัดอยู่ในอาหุเนยบุคคล ที่มีทั้งรูปแบบชัดเจน เป็นนักบวช เหมือนพระพุทธเจ้าทีเดียวสืบทอดมา

ทีนี้ ผู้ที่จะมีที่พึ่งนี่จะต้องมีสายตา มีสำนึกเห็นว่า โอ้นี่เป็นภิกษุผู้เถระ ผู้ปานกลาง ผู้ใหม่หนอ ก็พึงเข้ามาหา แล้วภิกษุนั้นก็จะพึงสอน เป็นผู้ว่ากล่าวสั่งสอน คือเคารพพระสงฆ์น่ะ พูดสรุป ง่ายๆ ในศาสนาพุทธเราก็พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถ้าซ้อนลึกลงไป พุทธธรรมก็คือ ยิ่งมี เนื้อหาสาระ ที่เป็นพุทธธรรมแท้ๆ เรียกว่าพระพุทธ ทรงไว้ซึ่งตัวเรา ตัวเรามีพุทธธรรมนั้นอยู่ใน ตัวเรา ก็เป็นพระธรรมที่เป็นเนื้อหา แล้วเราก็เป็นสงฆ์แท้ๆ เป็นอริยสงฆ์ผู้มีเนื้อหาพุทธธรรม แท้ๆ นี่ เนื้อในเป็นปรมัตถ์ ส่วนบัญญัติก็พระพุทธเจ้า

พระพุทธก็แปลว่าพระพุทธเจ้า โดยบัญญัติ โดยสมมติสัจจะ พระธรรมก็คือคำสอน พระสงฆ์ ก็คือผู้มีรูปแบบ ที่ยืนยันชัดเจนว่า เป็นผู้ที่ได้บวชตามหลักเกณฑ์ ตามวินัย นั่นเรียกว่าอย่าง สมมติ อย่างรูปนอกอย่างง่ายๆ แล้วเราก็จะเห็นว่า เป็นผู้ที่เขาต้องเคารพนับถือ เป็นสังฆะ อย่างหนึ่งในรัตนตรัย

ทีนี้ พุทธศาสนิกชนทุกคนก็จะต้องเห็นว่า เป็นพระสงฆ์นะ เป็นผู้ซึ่งจะว่ากล่าวสั่งสอน แล้วท่าน ก็อนุเคราะห์ว่ากล่าวสั่งสอน แนะนำ

ซึ่งแน่ล่ะ ในตัวพระสงฆ์เอง ก็จะต้องสำนึก ก็จะต้องพากเพียรประพฤติปฏิบัติให้ตนเอง มีคุณ อันสมควรก่อน แล้วสั่งสอนผู้อื่น จักไม่มัวหมอง ก็ต้องเป็นจริงให้ได้ พากเพียรให้ได้ ถ้าเผื่อ ตราบใด พระภิกษุผู้เถระก็ดี ผู้มัชฌิมะก็ดี ผู้นวกะก็ดี ไม่ได้มีเนื้อธรรมะ ไม่ได้มีอริยคุณอะไร นั่นก็คือ ความเสื่อมลงไปตามลำดับจริงๆ คุณอันสมควร ที่ควรจะมีก็คือพุทธธรรมที่แท้ พุทธธรรมที่เป็นอริยธรรม เป็นธรรมะที่มีมรรคมีผล มีอุตริมนุสธรรม มีเนื้อหาสาระแก่นสาร มีวิมุตินั่นแหละ สำคัญ ถ้าไม่มีมันก็คือความเจือจาง หรือว่าความอ่อนจาง แต่ถ้ามีอยู่ได้เป็นได้ จริงๆ สืบทอดมาได้ เพราะรักษาพุทธธรรม พุทธศาสนาไว้ได้อย่างยืนนาน แล้วก็ เป็นผู้ที่เนื่อง เกี่ยวกันโยงกัน โดยมีฆราวาสก็เคารพบูชานับถือพระสงฆ์ที่เป็นรัตนะหนึ่งในสาม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อย่างแท้จริง

ทุกวันนี้ ยังต้องมีรูปร่างวัฒนธรรมอย่างนั้นกันอยู่ในชาวพุทธ เคารพพระสงฆ์ แล้วพระสงฆ์ก็ อนุเคราะห์ช่วยเหลือสั่งสอน แนะนำพร่ำสอนกันอยู่ก็จริง แต่ทีนี้มันจะสมบูรณ์ มันก็อยู่ที่ เนื้อแท้ๆ พุทธธรรมแท้ๆ

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเราว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ นาโถนาถะนี่ เรากำลังเรียนนาถกรณธรรม หรือ เรียนนาถสูตร สูตรที่ว่านี่นาถะนาโถ นี่แหละ อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน เพราะฉะนั้น เราต้องทำที่พึ่งให้แก่ตน เราจึงได้พึ่งตนอย่างเจริญ ถ้าเราไม่ทำที่พึ่งให้แก่ตน ไม่ทำนาโถ ไม่ทำที่พึ่ง นาถะให้แก่ตน เราพึ่งตนก็พึ่งตนอย่างที่ไม่มีที่พึ่งอันเจริญ ที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ก็เพราะตนมีที่พึ่ง ต้องกระทำที่พึ่ง ให้แก่ตน ถ้าเราไม่ได้เคยศึกษาธรรมะเลย ไม่เคยสร้างที่พึ่งให้แก่ตนเลย แล้วเรา จะได้พึ่ง อะไรกัน เจริญนักหนา เป็นที่พึ่งอันไม่ดีงาม เป็นที่พึ่งอันไม่เกษม เป็นที่พึ่งอันไม่เป็นสุข เป็นที่พึ่งอันไม่เจริญ ไม่ประเสริฐ

เพราะฉะนั้น มีความจำเป็นเหลือเกิน ที่เราไม่ได้สร้างที่พึ่ง เมื่อไม่ได้ศึกษาธรรมะเลย ไม่รู้ละ ที่พึ่งเป็นอะไร เราเองจะต้องมีศีล ไม่มีศีลเป็นที่พึ่ง เป็นพหูสูต ไม่มีพหูสูตเป็นที่พึ่ง เป็นผู้มี มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ไม่รู้กัลยาณมิตรเป็นอย่างไร กัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณสัมปวังโก เป็นอย่างไร ไม่รู้ ก็ศึกษาไปตามประสาโลกๆ มีหลักเกณฑ์ของชีวิตไปตามที่ ไม่เป็นหลักที่สำคัญ เหมือนพระพุทธเจ้าท่านสอน ศีลนี่ถือว่าหลักสำคัญของชีวิตทีเดียว เพราะฉะนั้น เป็นคนไม่มีศีล ถึงได้ยุ่งยากวุ่นวายกันอยู่เต็มไปหมดทุกวันนี้ อำมหิต โหดร้าย แม้แค่ศีลข้อหนึ่ง จะมีเมตตาธรรมก็ไม่จริง ไม่ได้ฝึกไม่ได้ปรือ ไม่ได้เข้าใจถึงเมตตาธรรม ว่าเป็น ทรัพย์ที่แท้ เป็นทรัพย์ของมนุษย์อันวิเศษ เป็นความประเสริฐน่ะ เมตตานี่ก็ไม่รู้เรื่อง มีศีลก็เป็น ความประเสริฐอย่างหนึ่งแท้ๆ ก็ไม่รู้เรื่อง

ศีลข้อ ๑ พยายามฝึกเมตตาธรรม

ศีลข้อ ๒ มีสัมมาอาชีพ สัมมาอาชีพลึกซึ้งไปขนาดไหนก็ไม่รู้ จะต้องเป็นคนให้ เป็นคนทาน เป็นคนบริจาค เสียสละ ก็ไม่รู้ เป็นความรู้สึกธรรมดาของคนเราทุกวันนี้ เป็นคนโลภ เป็นคน มักได้ เป็นคนที่ยินดีในการได้เปรียบ แทนที่จะยินดีในการเสียสละอย่างแท้จริง ยินดีในการได้ ช่วยเหลือเกื้อกูล ได้ให้แก่ผู้อื่น ตัวเองไม่ต้องสะสมนั่นแหละวิเศษ ลึกซึ้งไปถึงขั้นเป็นคนที่ ไม่สะสม นั่นแหละวิเศษอย่างแท้จริง จริงใจเลย จิตเราก็ได้อบรมขึ้นมาจนกระทั่งอยู่ร่วมมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี มีเสนาสนะสปายะ บุคคลสปายะ อาหารสปายะ ธรรมสปายะ รวมกันอยู่อย่างเป็นหมู่กลุ่มชุมชน เป็นหมู่กลุ่มของคน เป็นโขลง เดี๋ยวนี้ อาตมาชักรู้สึกว่า คำว่าโขลงนี่ เขาใช้กับสัตว์น่ะ รู้สึกว่าคำว่าโขลงนี่ มันไพเราะกว่ากลุ่ม กว่าหมู่ กว่าพรรค ในพรรคนี้ กลุ่มนี้ คณะนี้ ฟังแล้ว เขาใช้กันเยอะนะ หมายถึงคนทั้งนั้นแหละ กลุ่มคน หมู่คน คณะคน พรรคของคน มันสู้โขลงไม่ได้เลย เพราะว่าคำพวกนั้น กลุ่มหมู่นั้น มีเล่ห์ มีเหลี่ยม มีวุ่น มีวายทั้งนั้นเลย แล้วแตกแยก กลุ่มไหนก็ตีกันแตกแยก คณะไหนก็ตีกัน ชุมชน อะไรไหนก็ตีกัน คณะไหนก็ตีกันทะเลาะกัน แต่โขลงนี่ยังรู้สึกว่า ไม่ค่อยทะเลาะกันน่ะ คนเป็น โขลงๆ นี่ มันก็ไม่ค่อยจะมี เขาไม่เรียกคน เขาเรียกสัตว์ ไอ้โขลงนี่ สัตว์ในสัตว์ มันทะเลาะกัน มันวุ่นวายกัน คนยังไม่ค่อยมีความรู้สึกว่า โอ้ โขลงนี่ แตกแยก เรามาเรียก พวกเราเป็นโขลงๆ ดีไหม? พวกชาวอโศกโขลงหนึ่ง โขลงอโศก ไม่ต้องเรียกกลุ่มอโศก ไม่ต้องเรียกคณะอโศก ไม่ต้องเรียกชุมชนอะไร เรียกโขลงอโศก เอามันให้เขาหาว่าเราแรงร้ายอะไร เราสุดโต่งอะไร ก็ว่าไปเลย

เอาละ นี่ก็พูดเล่นๆไปก่อน เรียกเล่นๆ มันอาจจะเป็นจริงก็ได้ไม่ต้องไปตั้ง ไม่ไปตั้ง ไม่ไปบัญญัติ กำหนดลงไปหรอก

จนกระทั่ง เรามีสังคมสิ่งแวดล้อม มีหมู่ มีกลุ่ม มีคณะ มีวัฒนธรรม มีพฤติกรรมความเป็นไป เป็นผู้ว่าง่าย ผู้ว่าง่ายนี่มันรวมกันอยู่ มันเป็นคำซ้อนกัน มันเป็นลักษณะเดียวกันกับสุโปสะ ผู้บำรุงง่าย ผู้ว่าง่าย นี่โสวจัสสตา ภาษาบาลีว่า โสวจัสสตา ผู้ว่าง่าย ผู้บำรุงง่าย นี่ สุโปสะ รวมกับผู้เลี้ยงง่ายด้วย ถ้าว่าผู้ว่าง่าย มารวมกับผู้เลี้ยงง่าย สุภระผู้เลี้ยงง่าย สุโปสะผู้บำรุงง่าย รวมแล้วเป็นผู้ว่าง่าย อยู่ง่าย กินง่าย ไปง่าย มาง่าย ไม่ติด ไม่ยึดอะไรจนเกินการ แล้วมีปัญญา ด้วย รู้จักการยืนยันยืนหยัด รู้จักการปล่อยวาง ไม่ยึด ไม่ติดในส่วนที่ไม่ยึดไม่ติด มีปัญญาตัดสิน มีปัญญาเลือกเฟ้น มีปัญญาปฏิบัติเอาอย่างแท้จริง

เป็นผู้ขยัน ซึ่งอาตมาก็ได้พยายามกำชับกำชาให้เห็น ตั้งข้อสังเกตให้ฟังว่า ในที่พึ่งของคนนี่ ถ้าคนไม่มีความขยันเป็นที่พึ่ง มันไปไหนไม่รอดหรอกมนุษย์ในโลก แล้วขยันอะไร ในนาถกรณธรรม ในนาถสูตร ท่านระบุไว้ชัด ในข้อ ๕ ขยัน ข้อ ๖ ใคร่ในธรรม เป็นผู้ที่ปรารถนา ต้องการธรรมะ ใคร่ในธรรม ธัมมกาโม ต้องการธรรมะใคร่ในธรรม ปรารถนาในธรรม และ ปรารภความเพียร หรือขยันเหมือนกันนั่นแหละ มีความเพียร มีความขยัน แต่ข้อที่ ๗ นี่ ต้องต่างกันแน่ กับข้อที่ ๕ เพราะข้อที่ ๕ นั่นขยัน ท่านระบุไว้ชัดอธิบายไว้ว่า ไม่เกียจคร้านใน กิจที่ควรทำ การงาน ไม่ขี้เกียจต่อการงานใดๆ ก็แล้วแต่ ของหมู่ของคณะ ของผู้ที่อยู่ด้วยกัน ยิ่งมีการอยู่อย่างมีวัฒนธรรมพวกเรานี่ เป็นอยู่กันอย่างรวม อยู่กันอย่าง มีอะไรก็เป็นสิ่งที่เป็น เหมือนกับพี่น้องเดียวกัน ร่วมกันกิน มีการแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ต่างๆ อย่างนี้ เป็นต้น

แล้วก็มีกิจการงาน มีสัมมาอาชีพ มีสัมมากัมมันตะ ที่กระทำ ส่วนข้อ ๗ นั้น ท่านระบุลงไป ชัดเจนเลยว่า เป็นความขยันหรือเป็นความเพียรที่จะละศึกษา ละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรมทั้งหลาย ก็เป็นความเพียร หรือ ความขยันทั้งพยายามพากเพียร ขยันปฏิบัติธรรมะ ด้วย ปฏิบัติกิจการงานด้วย

ข้อ ๕ ปฏิบัติกิจการงานชัดเจน เป็นผู้ไม่เกียจคร้านการงาน แล้วก็ยังแถมประกอบไปด้วยปัญญา เป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกิจนั้น เป็นอุบายหรือว่า เป็นความเฉลียวฉลาดในการงาน นั้นๆ อาจทำ หรือสามารถทำ อาจทำได้ สามารถจัดได้ จัดแจงมีฝีมือ มีความสามารถในการ ทำกิจ ทำการทำงานอะไรต่ออะไร ต่างๆนานาได้ เจริญทั้งนอกและทั้งใน มีความสามารถ ทั้งกิจ การงาน มีความสามารถทั้งในการปฏิบัติธรรม ที่เป็นมรรคเป็นผล นี่เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น คนเราไม่ทำงาน ผิดแล้ว ผิดนาถกรณธรรม ไม่ได้ทำตนให้เป็น อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ที่ครบ สมบูรณ์ ไม่ได้สร้างที่พึ่งให้แก่ตนอย่างที่มีที่พึ่งที่ถูกต้อง มันเพี้ยน มันเบี้ยว มันเลี่ยง มันอะไร ต่ออะไรกันไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น พอเวลาธรรมะชั้นสูงขึ้นมา ก็เลยไปเอาแต่นั่งหลับหูหลับตา ไม่ได้เข้าหลัก มรรคองค์ ๘ ไม่ได้รู้จักสัมมาอาชีพ ไม่รู้จักสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา สัมมาสังกัปปะอะไร

โดยเฉพาะสัมมาอาชีพ ก็ต้องรู้ว่าอาชีพคืออะไร แล้วก็เลยไปพูดเอาง่ายๆ อาชีพนักบวช คือ บิณฑบาตกิน โอ!ไม่ต้องมีการงานอะไรเลย อาชีพเอาแต่บิณฑบาต เขาพูดอย่างนั้นจริงๆเลยนะ อาชีพของพระคือบิณฑบาต พอดีกันกับขอทาน การงานของพระคือมีแต่บิณฑบาต มาเลี้ยงตน การงานของพระ ว่าอย่างนั้นนะอาชีพ สัมมาอาชีพของพระ คือบิณฑบาต มาเลี้ยงตนเลย แหม ! น่าเศร้าเลย กลายเป็นขอทานเราดีๆ นั่นเอง แบบนี้อาตมาไม่ยอมรับ พระพุทธเจ้า ไม่ได้สอนไว้ อย่างนั้น การงานสัมมาอาชีพ อะไรเราก็ต้องทำกิจน้อยกิจใหญ่ของหมู่ของกลุ่ม สหพรหมจรรย์ ที่มีไอ้โน่นไอ้นี่สมควรจะทำ อันไหนไม่ผิดหลักไม่ผิดวินัย ไม่ผิดระเบียบ ไม่ผิดศีลผิดธรรมอะไร ก็ทำไปตามฐานะ ผู้ใดมีวินัยเท่าไหร่ กี่ข้อ มีศีลกี่ข้อ มีอะไรต่ออะไร เท่าไหร่ อย่างสมเหมาะ สมควร เราก็ทำกันไปให้ถูกให้สอดคล้อง ความเจริญ ก็สมบูรณ์ ไม่ต้อง ไปพึ่งผู้อื่น มีสังคม สมบูรณ์ สมณะก็ช่วยตนเองได้ จะอยู่แต่เฉพาะสมณะ จริงๆ ก็ช่วยกันได้ ช่วยตัวเองได้

สมมุติว่าอย่างนั้น สมณะหรือนักบวชนี่ ไม่มีฆราวาสเลย เราก็ต้องอยู่ได้ อยู่วัด เสร็จแล้ว ก็ต้องซ่อม ต้องแซมกุฏิที่พัก ที่อาศัย โบสถ์ ศาลา ก็ต้องทำอะไรพวกนี้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดวินัย สมัยพระพุทธเจ้าท่านก็ทำ ในวินัย ในอะไรต่ออะไร ก็ยังมีเลยว่า จะมุงหลังคา จะโบกปูน จะถือปูน จะทำนั่นทำนี่ อะไรก็มี ไรๆ ก็พอจะทำให้เราสังเกตได้ ก็แสดงว่าพระก็ต้องทำ สร้างเองบ้าง มีญาติโยม เขามาช่วยเหลือ อุปัฏฐากอุปถัมภ์บ้าง อะไรก็แล้วแต่ อย่างนี้เป็นต้น มันไม่ได้ผิด วินัยอะไร แล้วก็ขยันทำเอง สมมุติว่า ไม่มีคนอย่างที่ว่าแต่ต้น ฆราวาสก็อยู่ข้างนอก เราก็ต้องซ่อม ต้องแซมเอง ต้องใช้เอง โบสถ์บ้าง ศาลาบ้าง กุฏิบ้าง อะไรที่มันผุ มันกร่อน มันจะต้องซ่อมต้องแซม หรือแม้แต่ต้องสร้าง สร้างเองก็ได้ ก่อสร้างจริงๆเลย พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้ห้ามเหิ้มอะไร มีตัวอย่างมาแต่ไหนแต่ไร เหลือหลักฐานให้เราตามได้ ไม่ใช่ว่า เอาแต่ บิณฑบาตเป็นอาชีพ บ้านจะผุ บ้านจะพัง ญาติโยมต้องมาช่วยนะ ถ้าไม่ช่วย อาตมาไม่มีที่อยู่ น่ะ งอมืองอเท้า ทำอะไรก็ไม่เป็น ช่วยตัวเองก็ไม่ได้ ก็ตายกันพอดี อย่างนี้เป็นต้น มันไม่ถูก เพราะฉะนั้น จะมีกิจอะไรอื่นๆ ก็ตามแต่ จะทำโน่นทำนี่ ที่เป็นสิ่งที่ จะเจริญงอกงาม ช่วยเหลือ เฟือฟาย แนะนำสร้างสรรอะไรกันไป มันถึงจะครบสมบูรณ์ เมื่อความเห็นที่ผิดแบบนี้ มันถึงได้เสียหาย ไปหมดเลย

ตกลงยิ่งทุกวันนี้นี่ สมณะจะต้องมีความรู้ เพราะความรู้เยอะ ศาสตร์ต่างๆ เดี๋ยวนี้มากมาย ก่ายกองเหลือเกิน แล้วศาสตร์ต่างๆที่มันไม่ได้ผิดกฎ ผิดระเบียบ ผิดวินัย ไม่ได้ผิดศาสตร์ต่างๆ สมณะก็อาจสามารถที่จะรู้ได้ด้วยบ้าง ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเรียนศาสตร์อะไร จากมหาวิทยาลัย อะไรที่ให้ฆราวาสเขาสอนหรอก เรียนเองก็ได้ เราไม่จำเป็นจะต้องไปได้ใบประกาศนียบัตร ใบปริญญา อะไรมา ถ้าเป็นนักบวชแล้ว เรียนแล้วก็มีความรู้ที่แท้จริงให้ได้ ให้ดีๆแนะนำ สังสอน แม้ฆราวาสเขาอีกก็ไม่เสียหายอะไร ถ้าเผื่อว่าเรารู้จริงเข้าใจจริงอย่างนี้เป็นต้น ก็พึ่งพาอาศัยกัน เป็นผู้มีงาน มีอาชีพ เป็นครูได้ เป็นผู้แนะนำส่วนดี ผู้มีการศรัทธาเลื่อมใสกัน มีผู้ที่เราเลื่อมใสนี่ จะสอน จะแนะนำนี่ มันดูเจริญกว่า ดูเป็นที่น่าฟัง น่านับถือได้ดี

อาตมาตั้งข้อสังเกตให้ฟังหลายๆจุดว่า เราจะต้องสร้างที่พึ่งที่เรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน ทีนี้ที่พึ่งที่เรียกว่านาโถ นาถะนี่ ก็คือนี่แหละ นาถกรณธรรม เราต้องกระทำ ที่พึ่งให้แก่ตน ๑๐ หลักนี่ มันก็ไม่ใช่น้อยๆแล้วนะ พระพุทธเจ้าท่านแบ่งเป็นอะไรต่ออะไรบ้าง ให้สำคัญ เพราะฉะนั้น ทุกคนต้องสร้างศีล สร้างพหูสูต สร้างมิตร ไม่สร้างไม่ได้นะ สร้างมิตร อาตมาเคยแปล ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ "ขยัน สร้างสรร สร้างมิตร ชีวิตประเสริฐ" ๔ ทิฏฐธรรมิกัตถประโยชน์ ๔

ขยัน อุฏฐานสัมปทา,
สร้างสรร อารักขนาสัมปทา,
สร้างมิตร กัลยาณมิตตา,
ชีวิตประเสริฐ สมชีวิตา

อาตมาแปล ๔ ตัว เป็นภาษาไทยว่าอย่างนี้ แล้วก็อธิบายมา แต่ก่อนก็เคยอธิบายมามากแล้ว ขยัน ก็อธิบายกันอยู่ซ้อนๆ ซ้ำๆ สร้างสรร อารักขนาสัมปทา เขาแปลกันว่าให้สะสม อาตมา มาแปลสะสมนี่ ถึงได้พังกันใหญ่ สะสม แปลสันโดษมาก็สอดคล้องกับสะสม มีเท่าไหร่ ทำมาหาได้ ก็กระเหม็ดกระแหม่ ประหยัด ไอ้คำว่าประหยัดของเขาน่ะ เอาไปเอามาเป็นตระหนี่ ประหยัดของเขาตระหนี่ ไม่สละออกเลย กลายเป็นกอบโกย กลายเป็นสะสม กลายสิ่งมีมาก มีมาย ขี้เหนียว ไม่ให้แบ่ง ไม่ให้แจก ก็เลยกลายเป็นเรื่องเพี้ยนไปเรื่อยๆ จนกระทั่ง กลายเป็นคน ไม่เฉลี่ย ไม่มีลาภธัมมิกา ไม่มีการเฉลี่ยลาภ ไม่มีการทาน ไม่มีการบริจาค เลยตัน แทนที่จะ กลายเป็นคนที่มีแนวโน้ม ไปในทางที่สละ เสียสละ กล้าจน กล้าเกื้อกูล ซึ่งจะเกิดความสุขเย็น ไม่งอมือ งอเท้า มีความขยัน มีความสามารถ มีความรู้ที่จะทำกิจน้อยกิจใหญ่ งานเล็กงานน้อย ทำงานโน้นงานนี้ ช่วยเหลือเฟือฟายมีฝีมือได้ สามารถทำได้ อาจทำได้ อาจทำจักได้ ลงมือทำได้ มีฝีมือ มีความสามารถจริงๆ ศึกษาไม่ครบ ไม่ครบก็แหว่ง

ถ้าเผื่อว่าเราศึกษาสมบูรณ์อย่างนี้ สังคมไม่มีการตกต่ำหรอก แล้วไปเข้าใจเป็นฤาษีเอียงๆๆๆ ไปเอาแต่นั่งหลับหูหลับตา การงานที่เคยมี การศึกษาที่เคยศึกษามาในทางโลก พอมาบวช ทิ้งไปเลย ทั้งๆที่การศึกษาเหล่านั้นสามารถที่จะมาประยุกต์หรือมาศึกษาเพิ่มเติม แล้วก็แนะนำ สั่งสอนอะไร ที่เราลงมือทำได้ ก็ทำช่วยกันกับฆราวาสอยู่ในเชิงที่ท่านแนะนำอยู่อย่างหนึ่งว่า อย่าไปรับใช้ฆราวาส เพราะมันรู้สึกว่ามันผิดธรรม ถ้าสมณะไปรับใช้ฆราวาส มันดูผิดธรรม แต่ในลักษณะที่ว่า รับใช้กับเกื้อกูลขนาดไหน ดูเหมาะสม สมณะเกื้อกูลช่วยเหลือ ฆราวาส พอสมควร ไม่ได้อยู่ในฐานะหรือไม่อยู่ในรูปลักษณะที่เรียกว่ารับใช้ เขาก็จะต้องเข้าใจ รูปลักษณะว่า เออ! ก็เกื้อกูล ช่วยเหลือ เฟือฟาย แม้แต่กิจน้อยกิจใหญ่ รับใช้ท่าน ยกตัวอย่าง เอาไว้ แม้แต่แค่เป็นผู้ที่ถูกเขาสั่ง ให้ฆราวาสสั่งว่า เออ! ไปโน่นหน่อยซี มานี่หน่อยซิ เอาอันนี้ ไปให้คนนั้นคนนี้หน่อยซี กลายเป็นบุรุษไปรษณีย์ หรือว่ารับส่งสิ่งของเป็นจับกัง อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ก็ให้ระมัดระวังท่าทีว่า เราจะช่วยเหลือ หรืออยากให้ช่วยเหลือก็ต้องมีสัมมาคารวะ มีลักษณะที่เคารพ นับถือ ไม่ใช่รับใช้มันผิดธรรม ไม่ใช่รับใช้ฆราวาส ฆราวาสก็ต้องมีความรู้ สมณะก็ต้องมีความรู้ด้วยกันสอดซ้อนว่า อย่างไรที่เป็นท่าทีลีลานี่จะอยู่ในระดับที่มี สัมมาคารวะ ยกย่องนับถือ เกื้อกูลกันได้ แต่ไม่ใช่อยู่ในฐานะที่เรียกว่า ไม่มีสัมมาคารวะ และ กลายเป็นฆราวาสใช้สมณะ สมณะเป็นผู้รับใช้ฆราวาส มันก็น่าเกลียด มันก็ไม่เป็นอะไรกัน ไหว้กัน แต่ก็ใช้กัน มันก็ไม่ดี

เหมือนกับลูกเต้าเหล่าหลานนี่ อย่าไปใช้พ่อแม่ อย่าไปใช้ผู้ใหญ่ เราต้องมีสัมมาคารวะ ที่จะต้อง มีปัญญาอย่างไร ที่เราจะเกื้อกูลผู้ใหญ่ กระทำแทนผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ แต่จะให้ผู้ใหญ่ทำ หรือผู้ใหญ่ จะต้องทำ ก็ต้องมีสัมมาคารวะจริงๆ จะพูดก็บอกขออภัยยกมือไหว้ หรือว่าพูดอย่างนอบน้อม อ่อนน้อม ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ที่จะต้องให้ผู้ใหญ่ คล้ายๆ กับใช้ หรือบอกให้ช่วยทำนั่น ให้ช่วยทำนี่ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เมื่อมีการศึกษาอบรม วัฒนธรรมที่ดี มีสัมมาคารวะกันจริงๆ แม้แต่ลูกเต้าเหล่าหลานเด็กๆเล็กๆ มีสัมมาคารวะไม่ใช้ผู้ใหญ่ ก็เป็นคุณธรรมดี เป็นสังคมที่ดี ไม่ใช่ว่า ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่รู้จัก เอ๊อ! อย่างโน้นอย่างนี้ เท่าๆ กันไปหมดเลย ภาษาลีลาท่าทาง อะไร ก็แหม! มีลูกเต้าเหล่าหลาน เด็กผู้ใหญ่ก็อบรมกัน อย่างจะใช้ผู้ใหญ่ ก็ใช้กันอย่างกับเพื่อน ใช้กันอย่างคนใช้ อะไรอย่างนั้นไม่ได้ นี่เป็นวัฒนธรรมอันดีงามนะ

ถ้าเผื่อว่า รู้จักขั้น รู้จักตอน ฆราวาสก็ดี สมณะก็ดี จะเกื้อกูลกัน ใช้ไหว้วานกัน ไม่ใช่ถึงขนาด รับใช้ จะไหว้จะวาน จะเกื้อจะกูล จะพอเป็นไปให้มีสัมมาคารวะอันดี ไม่ใช่ว่าอะไรนิด อะไรหน่อย ก็ถือเนื้อถือตัว ผู้ใหญ่ก็ไม่ได้นะ ฉันเป็นผู้ใหญ่ มาใช้ฉันไม่ได้ ภิกษุก็ดี สมณะก็ดี ฆราวาส เขาจะมีการเกื้อกูลกันบ้าง ไหว้วานกันบ้าง อย่างมีสัมมาคารวะ อย่างมีอะไรดีๆ ก็ไม่ได้ กลายเป็นพาซื่อเถนตรง นี่ มันเป็นการรับใช้ฆราวาส ทำงานอย่างนี้ เป็นการรับใช้ ฆราวาสเขานี่ ไม่ได้ ไอ้นั่นก็โง่ ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญา อะไรก็ แหม! เป็นการรับใช้ฆราวาส ไปหมด มันก็เลย ไม่ได้เกื้อกูลกัน ไม่มีบุญแก่กันและกัน ไม่มีการสัมพันธ์กัน เพราะจะทำอะไร มันจะสอดคล้อง จะเป็นวัฒนธรรมที่ดี ก็ต้องมีปัญญา แล้วก็ต้องเข้าใจในรูปลักษณะของพวกนี้ อย่างไรเรียกว่า รับใช้ อย่างไรเรียกว่าเกื้อกูล ในความหมายว่ารับใช้ กับเกื้อกูลกัน แล้วก็ต้องมีขั้นตอน มีฐานะ ปฏิบัติสัมมาคารวะตามฐานานุฐานะ คนนี้มีฐานะที่ควรยกไว้ เคารพกราบไหว้ อย่าไปมีลีลา ท่าทีเหมือนกับเสมอกัน เหมือนกับต่ำกว่ากัน อะไรอย่างนี้ มันไม่ถูก ถ้ามีระบบ มีระดับ มีอะไร ต่ออะไร ที่มันไม่เท่าเทียมกัน บอกแล้วว่า ในโลกนี้อะไรๆ ก็ไม่เท่าเทียมกันไปที่สุด มันจะต้อง มีสูงมีต่ำ มีมากมีน้อยกว่ากันอย่างแท้จริง เพราะเราต้อง ศึกษาจริงๆ ศึกษาดีๆ แล้วก็พยายาม ปรับ พยายามที่จะประพฤติปฏิบัติ อบรมฝึกฝนให้มันได้ สอดคล้องทุกอย่างก็จะดี ทุกอย่าง ก็จะเป็นไปด้วยดี

เมื่อผู้ใดมีตนเป็นที่พึ่ง พึ่งตน และตนมีนาถกรณธรรม มีธรรมะอย่างที่กล่าวนี้ เราก็จะได้เจริญ ที่แท้จริง เราจะสร้างอะไรมาดูแลรักษาอะไร ไม่ใช่ว่าไปสะสม แล้วก็มีมิตรสร้างมิตร พยายาม ที่จะมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เราต้องสร้าง เราต้องพยายามรู้สึกตัวว่า เรามีมิตร เราเข้ากับใครไม่ได้ เหมือนหมาหัวเน่า อยู่กับใครก็ตัวเรานี่แหละใหญ่ มีอัตตา มีมานะ แล้วก็ไม่ดู ไม่รู้ตัว คนไหนที่ไม่มีอัตตามานะจริงๆ นี่นะ จะมีเพื่อนมีฝูงมากมาย คนจะเคารพ นับถือ รักใคร่เอ็นดูอบอุ่น สัมพันธ์ประสาน ไม่มีอัตตามานะ จะอยู่กับหมู่กับฝูง เป็นที่รัก ที่ใคร่ ของหมู่ของฝูง ดีไม่ดี อย่าว่าแต่รักใคร่ธรรมดาเลย เคารพนับถือบูชาเชิดชูด้วย เพราะเรา เป็นที่รักจริงๆ

ถ้าไม่อย่างนั้น ไม่รู้จักสร้างมิตรนี่น่ะ ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ถึงจะเกิดมิตรดี สหายดี สังคมสิ่ง แวดล้อมดี ไม่มีปัญญารู้ว่าสร้างมิตรทำอย่างไร กัลยาณมิตโต กัลยาณสหาโย กัลยาณ สัมปวังโก ผู้นั้นไม่เป็นผู้เจริญ ไม่ใช่อารยชน อารยชนนี่ มีปัญญาที่จริงจริงๆเลย สร้างมิตร สร้างสหาย สร้างผู้ที่ร่วมประโยชน์ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี รวมกัน ร่วมกันทั้งบุคคลที่อยู่ด้วยกัน เกื้อกูลการงาน ช่วยเหลือเฟือฟาย อะไรไปด้วยกันนี่ มันเป็นอย่างไร

สังคมสิ่งแวดล้อม ต้องมีการงานด้วย พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกิจที่ควรทำอย่างไร ทั้งสูง ทั้งต่ำ หรือว่า กิจน้อยกิจใหญ่ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกิจนั้น ในงานนั้นๆๆๆ อาจทำ หรือ อาจจัดได้ นี่แปลตรงตัวมาจากพระบาลีเฉยๆน่ะ ก็หมายความว่า เราจะมีความสามารถ สามารถทำ สามารถที่จะรู้ไอ้นั่นไอ้นี่ทำได้ อย่างลึกซึ้งละเอียดเลย อาจทำได้หรือสามารถทำได้นี่ ในกิจไหน ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญไปเลยทีเดียวแหละ เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างงานพวกเรานี่ เป็นผู้เชี่ยวชาญ ในงานกสิกรรม งานโรงเห็ด งานช่าง งานพิมพ์ งานศาลายา งานร้านค้า งานกลด งานสาน งานซ่อม งานแซม งานโน่นงานนี่ งานอะไรก็แล้วแต่ แม้แต่งานเช็ด ปัด กวาด ถู งานเก็บขยะ งานดูแลอะไรต่ออะไรก็ตามแต่ กิจน้อยกิจใหญ่ กิจต่ำ กิจสูง งานโน้น งานนี้อะไร ที่อยู่รวมกันนี่ เราสามารถที่จะทำ มีประสิทธิภาพ มีความรู้ งานอะไรก็แล้วแต่ ที่จะหยิบมันก็ดี หวังความเจริญ ได้แต่ถ่ายเดียวจริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้ตกหล่นในการปรารภ ความเพียร ขยัน หมั่นเพียรในการละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม สอดซ้อนไปด้วยกันเลย เจริญ ทั้งนอก ทั้งในจริงๆ

และที่ท่านกำชับกำชาในข้อที่ ๖ ว่า ใคร่ในธรรม เราจะต้องเป็นผู้ที่ยังมีจิตใจปรารถนา ใคร่ ในธรรม เพราะฉะนั้น เราก็รู้สึกกันอยู่ พวกเราถ้าผู้ใดที่จิตตกที่เราพูดกันด้วยภาษาพวกเรา มันชักจะไม่ใคร่ในธรรมแล้วจิตตก มันจะไม่ค่อยเอาแล้ว ธรรมะธัมโมอะไรนี่มันไม่เอาแล้ว มันจะไปเอาอะไรล่ะ หา ไม่เอาธรรมะ ไปเอาธรรมอะไร ไปเอาโลกีย์หรือ? มันไม่เอาธรรมะแล้ว มันจะไปเอาอะไรก็ไม่รู้ละ ที่จริงรู้ไม่ใช่ไม่รู้ ไอ้ที่น่าจะเอาไม่เอา มันไม่เอาแล้วธรรมะ หกคะเมน ตีลังกา จะลงไปไหนแล้ว โลกีย์อย่างที่ว่า ดีไม่ดี บางคนประชดตัวเองออกไปจากอโศกนี้ แล้ว หยำเปเลย จิตมันตกแล้ว จิตมันไม่เอาแล้ว จิตมันก็ไปโลกีย์จริง จิตแบบโลกๆ โลกียสุขบ้าง จิตใจก็อำมหิตขึ้น คำว่าอำมหิตนี่มันก็แรง แรงอย่างไร จัดจ้านในการล่าลาภล่ายศ ล่าสรรเสริญ เพิ่มขึ้น ล่าโลกียสุขให้เสพให้แก่ตน นี่แหละรุนแรงขึ้นเรื่อยๆอำมหิต เมื่อเวลาเราล่ามากๆ แล้ว ก็จะต้องเอาชนะคะคาน แย่งชิงลาภ แย่งชิงยศ แย่งชิงตำแหน่งอำนาจ แย่งชิงความดัง ความโด่ง ความเด่น แย่งชิงไปหมด ก็ไม่ได้เรื่องได้ราวอะไร แล้วมันก็ทุกข์ร้อนกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ เพราะไอ้โลกธรรมอันนี้ ซึ่งเรารู้ดีแล้วพวกเรา แล้วก็มาพยายามพิสูจน์ พยายามที่จะเป็นคนที่มี ธรรมะ ใคร่ในธรรม แล้วก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้า เป็นโลกุตรธรรม เป็นธรรมะที่เป็นที่พึ่ง อันเกษม เป็นธรรมะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐ เราได้มาเรื่อยๆๆ เราก็ยังอยากใคร่ในธรรม ธัมมกาโม มันเกิดจากจิตใจเราน่ะ คนที่เริ่มจิตตกนี่ พยายามระมัดระวังทีเดียวอย่าประมาท พระพุทธเจ้า เราสอนเรา แนะนำมาแล้ว ในอัปปมาทสูตร อย่าประมาท

ถ้าเผื่อว่า เราเอง เราชักจิตตกโน่นๆนี่ๆ ก็ต้องพยายามเข้าหาสมณะ เข้าหาที่พึ่ง ผู้ที่เราจะพึ่ง จะช่วยยกจิต จะช่วยปรึกษาหารือแก้ไข อย่างไร จะทำอย่างไร เราจะไม่เป็นคนจิตตก จิตยินดี เบิกบานอยู่ในธรรม แล้วก็ขวนขวายศึกษา ฝึกฝน อย่างน้อย อยู่กับหมู่กับกลุ่ม พอเป็นพอไป ไม่อยากจะออกไปนอกสายสิญจน์ ออกไปนอกวง ออกไปนอกขอบเขต เราเองเราก็รู้อยู่ว่า เราออกไปนี่น่ะ เหมือนกับแกะอยู่ในฝูง ในโขลง ถ้าออกไปจากฝูงแล้ว ดีไม่ดี เราจะเป็นลูกแกะ ไปเสียด้วยซ้ำ ยิ่งเป็นแกะน้อยพลัดฝูงออกไปหมาป่าขม้ำหมดจริงๆน่ะ โลกีย์ยิ่งกว่าหมาป่าอีก โลกีย์นี่ ยิ่งกว่าหมาป่าเลย เนื้อนิ่มเสียด้วยน่ะ ยิ่งอ่อนโลกน่ะ อยู่ในนี้เหมือนกับคนอ่อนโลก ที่เขามองคนธรรมะในโลกนี้ เขามองคนที่มาปฏิบัติธรรมนี่ เป็นคนอ่อนโลก เป็นผู้หญิงก็ โอ้! เนื้อนิ่ม เนื้อหวาน เป็นผู้ชายก็ไอ้หนูหลอกง่าย ไม่ทันโลก เขามองไปอย่างนั้น

จริงๆแล้ว ธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นน่ะ ไม่มีเสียละที่จะไม่ทันโลก แต่ไม่จัดจ้านในโลก เท่านั้นแหละ ไม่จัดจ้าน ไม่หยาบคายแบบชาวโลกๆเขา แต่รู้เท่าทันโลกโลกีย์เป็นอย่างไร ยิ่งสมัยนี้แล้ว นี่ชัดเจนเลย เราเอามาเรียนหมด เหลี่ยมคูอย่างไรๆ มีมาให้ดู ให้ตรวจสอบ ให้ศึกษา รู้เท่าทันเป็นโลกวิทู พหูสูต จริงๆน่ะ พหูสูต โลกวิทู รู้รอบ เข้าใจ แล้วเราไม่จำเป็น จะต้องเป็นหรอก แต่เรารู้ทัน เฉลียวฉลาด เพราะฉะนั้น เราจะไม่ใช่กระดูกอ่อนออกไป จนเป็น ไอ้หนูกระดูกอ่อน ไม่ ไม่หรอก ถ้าเผื่อว่าเราเองรักษาตัวได้

ถ้าเผื่อว่าผู้ใดแข็งแรงแล้ว ปฏิบัติธรรมแข็งแรงแล้วนี่นะ จึงไปช่วยโลกเขาได้ ไปอยู่กับโลก โดยโลกทำร้ายทำลาย หรือว่าโลกจะฉุดรั้ง ให้เราตกต่ำไปเป็นชาวโลกไม่ได้ เรารู้เท่าทันโลก อยู่เหนือ พวกชาวโลกที่เขาเป็นอย่างนั้นๆ ตามฐานะ ตามภูมิ แล้วเราสามารถช่วยเขาได้ด้วยซ้ำ ช่วยชาวโลกได้ด้วยซ้ำ อย่างนี้ มันก็ถึงจะเจริญ สังคมเจริญ โลกเจริญ เราเป็นที่พึ่งของโลก ขึ้นไปเรื่อยๆ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของโลก ด้วยนัยที่ท่านเหนือชาวโลกนี่ โลกวิทู เหนือโลกๆ นี่พหูสูตร สามารถอุ้มชูช่วยเหลือ เป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ อย่างพระพุทธเจ้านี่ ถือว่าเป็นนาถะ เป็นโลกนาถ เป็นที่พึ่งของโลก ยิ่งใหญ่ ชาวโลกได้พึ่งจริงๆ ประชาชนมนุษยชาติได้พึ่งท่าน เพราะว่าท่าน นำพาไปในทิศทางที่ดี แล้วก็มีความสามารถในการฝึกฝนสอน ให้เป็นคนที่ แข็งแรง อยู่ในโลก เป็นคนที่อยู่กับโลก แต่ไม่ทุกข์กับโลก ไม่โง่กับโลก สามารถช่วยเหลือชาวโลก ได้ด้วย ช่วยตนเองได้ และก็สามารถช่วยชาวโลกได้ด้วย

อาตมาอธิบายอยู่ทางโน้น ขยายความเพิ่มเติมในนาถสูตรที่ ๒ นี่นะ มาจนกระทั่ง ถึง ข้อ ๕

อ่านต่อหน้าถัดไป

:2462G.TAP