ที่พึ่งอันวิเศษของมนุษย์ ตอน ๔
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
วันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ณ พุทธสถานปฐมอโศก
หน้า ๒ ต่อจากหน้า ๑


อาตมาอธิบายอยู่ทางโน้น ขยายความเพิ่มเติมในนาถสูตรที่ ๒ นี่นะ มาจนกระทั่ง ถึง ข้อ ๕ ข้อ ๖ ข้อ ๗ ปรารภความเพียรนี่แหละ มาถึงขยายความเน้นอยู่ตรงที่ว่า ขยัน ๒ ขยันที่ต่างกัน ขยันทำ ทั้งการงาน ขยันทำทั้งปฏิบัติธรรมของตน ไม่ขาดหกตกหล่น มีทั้งนอกทั้งใน สัมมาอาชีพ กิจการงาน ก็ขยันเอาใจใส่ ช่วยเหลือเฟือฟาย ไม่เป็นคนบาป ไม่เป็นคนขาดทุน มีแต่กำไรเสมอ เพราะว่า เราก็สร้างสรรการงานอะไร เราก็อยู่อย่างเป็นคนที่ไม่ขาดทุนแล้ว เป็นคนมีบุญเสมอ สร้างกุศลธรรม สร้างสรรช่วยเหลือเฟือฟายกันทั้งนั้น ไม่ได้กินแรงใคร มีแต่คนได้พึ่งพาอาศัยเรา วันต่อวันก็ขยันหมั่นเพียร ถึงเวลาพักควรพักก็พัก ถึงเวลาเพียรก็เพียร แข็งแรง อบอุ่น มีสัมพันธ์อันดี เข้ากับคนโน้นคนนี้ ยิ่งทำงานโน้นงานนี้ก็ได้ รู้ไปทั่ว แต่ไม่ใช่ แส่ไปวันๆๆน่ะนะ ไปนี่คุยโม้ทีหนึ่ง มุมนี้ไปคุยโม้ที่หนึ่ง มุมนี้ไปคุยโม้ทีกลุ่มนี้ โอ้ ! สัมพันธ์เก่ง แต่ฝอย เขาก็รู้น่ะ นิสัยใจคอ ใครเขาก็รู้ มีแต่เที่ยวได้ไปฝอยอยู่ ฝอยไม่ได้เรื่อง ขี้โม้ไปตลอด แต่มีความสัมพันธ์ เอาแต่ขี้โม้ ก็เป็นได้ ระวัง อย่าไปฝึกอย่างนั้น อย่าให้มันจับจดเกินไป ต้องเป็นคน ไม่ใช่คนจับจด งานโน้นงานนี้เอาแต่พูดเอาแต่รู้เอาแต่ฝอย เอาจริงๆ ลงมือสร้างสรร งานอะไร ก็เป็นไป ดีๆ

ทีนี้ ข้อ ๘ ข้อ ๙ ข้อ ๑๐ สันโดษ มีสติ มีปัญญาอริยะ นาถะ หรือว่าที่พึ่งอีก ๓ อัน สำคัญนี่น่ะ สันโดษ ตัวนี้อาตมาเอง อาตมาก็พูด ฟังเขาอธิบายกัน นี่เราดู ไม่ใช่เด็กๆเอามาแปล สันโดษ เขาก็แปลไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันยังไม่สมบูรณ์ เอาพยัญชนะมาแปลนี่ แปลเป็นภาษา ที่แปล เอาเอง ขยายความเอาเอง อาตมาถือว่า ขยายความเอาเอง สันแปลว่าอะไร โดษแปลว่าอะไร เมื่อวานนี้ ก็ดูนี่ สันแปลว่าอะไร สันอะไรของเขานะ หาหา เลือก สันนี่แปลว่า เลือกเลยหรือ โอ้โฮ! หามา แหม! โดษแปลว่าอะไร ยินดี โดษแปลว่ายินดี ยินดีแต่ของตัวเองหามา แหม! เห็นแก่ตัวชะมัด ฟังนี่ก็ฟังดีๆซี ภาษาแปลออกมา เป็นภาษาเห็นแก่ตัวออกชัดๆ ไปเลือก ไปหามา เลือกเอาอันนี้ อันนี้ของแกๆฉันอยากได้นี่น่ะ ฉันยินดีอยากได้เลือกเอา

พูดอย่างนี้ ก็แย่ซิ สันโดษนี่ แปลว่า ใจพอ มีความพอ มีความสงบ มีความหยุด มีความอิ่ม สันโดษ ที่จริงน่ะ สันตุฏฐินี่ อาตมาว่า มาจากรากศัพท์โดยเฉพาะ อาตมานะ เขาจะว่าอาตมา เป็นบาลีเถื่อน ก็ช่างเขาเถอะ มันมาจาก อุฏฐะ+สันตะ สันโดษ สันต+อุฏฐะ ก็เป็นสันตุฏฐิ สันตุฏฐิ นี่ภาษาบาลีเต็มๆว่า สันตุฏฐิ สันโดษนี่ เป็นภาษาไทย สันตุฏฐิ อุฏฐะ อุฏฐานัง แปลว่าขยัน สันต แปลว่าสงบ แปลว่าระงับ ขยัน รู้จักขยัน รู้จักระงับ รู้จักขยัน สรุปง่ายๆ ก็ รู้จักพัก รู้จักเพียร นั่นเอง สันตุฏฐิ รู้จักพัก รู้จักเพียร สันตุฏฐิ หรือสันตุฏฐะ สันต+อุฏฐะ อุฏฐินี่ ก็ขยัน หรือพากเพียร แล้วก็รู้จักสงบระงับ รู้จักพอรู้จักหยุด เพราะฉะนั้น อาตมาถึงแปลสันตุฏฐิ หรือว่า แปลสันโดษว่า ใจพอ ในใจพอนี่ หมายความว่า ขยันหมั่นเพียร เป็นคนที่ขยันสร้างสรร รู้จักพัก รู้จักเพียร รู้จักพอ รู้จักพัก รู้จักเพียร รู้จักพอ เป็นผู้ที่เข้าใจในลักษณะพวกนี้จริงๆ

สันโดษ นี่ สำคัญนะ ถ้าไม่มีหลักที่พึ่งของสันโดษนี่ แล้วแปลสันโดษเพี้ยนด้วย ไม่มีหลักที่พึ่ง แม้มีหลักที่พึ่งสันโดษ แต่แปลเพี้ยนด้วยบรรลัย สังคมทุกวันนี้ แม้แต่สังคมพุทธ แปล อาตมา ถือว่า แปลสันโดษนี่ ตัวสำคัญเพี้ยน เมื่อแปลเพี้ยน เขาจึงได้แย้งกันไงว่า อย่าเอาสันโดษ อย่าเอาธรรมะสันโดษมาสอนคน ถ้าขืนสอนคน มันไม่สร้างสรร มันจริงเหมือนกันนะ แปลผิดๆ อธิบายผิดๆ มันค้านแย้งธรรมะของพระพุทธเจ้า แปลค้านแย้งเลย กลายเป็นพอใจ ในสิ่งที่ตัวมีอยู่ ไม่พากไม่เพียร ไม่เอื้อเฟื้อเจือจาน ไม่ช่วยเหลือเขา เพราะฉะนั้น ในความหมาย ของมัน ประกอบไปด้วยการขยัน ประกอบไปด้วยการเกื้อกูล ทำทานอยู่ในสันโดษทั้งนั้นแหละ เกื้อกูล ทำทาน แจกจ่าย เจือจาน สันโดษนี่คือคนมีทานน่ะสันโดษ ไม่ใช่สันโดษก็คือ คนพอใจ ในของที่ข้ามีอยู่ ไม่ให้ใคร ไอ้ย่า! อุทานยังกับคุณอานันท์ ที่เป็นอดีตนายกฯ คนล่าสุด ไอ้หยาเลย! ร้องอุทาน ไอ้หยา! คือไปไม่รอด เพราะฉะนั้น ความหมายอย่างนี้แหละ ถ้าเผื่อว่า อธิบายกันไม่ดี ไม่เจริญแน่นอน แล้วไม่ค้านแย้งกับสิ่งอื่นๆ

ฤาษีเขาสอนว่าสันโดษก็เลยไม่ทำอะไร พึงพอใจที่ตนมีอยู่ ไม่ขยันอะไร ก็เขาเอามาให้กินแค่นี้ ฉันก็พอ ไม่เอามาให้กิน แค่นี้ฉันก็พอ เลยไม่ต้องขยันอะไร เลยนั่งกินนอนกิน คอยแต่คนเขา เอามาให้กิน ไม่ขยัน ไม่สร้างสรรกิจการงานอะไรก็ไม่ทำ แล้วก็มีวัฒนธรรมว่า พวกปฏิบัติธรรมะ นี่นะ เป็นผู้สงบ เป็นผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร เป็นผู้ที่ไม่ไปแย่งไปชิงอะไรเขา เขาก็เลยหลงเอา เลี้ยงๆ มันไว้หน่อย ยิ่งเขาปฏิบัติธรรมดีน่ะ คนนี้มักน้อยสันโดษนะ มักน้อย เอาละ สันโดษ ยังไม่เรียบร้อย มักน้อย ไม่สะสมอะไรเลยน่ะ โอ้โฮ! ทรัพย์ศฤงคารก็ไม่เอา ดีไม่ดีผ้านุ่ง ก็ยัง ไม่นุ่งเลย เหมือนพวก ฤาษีนิครนถ์ ไม่นุ่งแม้กระทั่งผ้านุ่ง มักน้อยจริงๆ ก็เลยเคารพนับถือ บูชากันบอก โอ้โฮ! ทำได้ยากน่ะ ทำได้ยาก ทำได้ยากจริงๆ ก็เลยมาเลี้ยงดูเอาไว้ แต่แค่นั้น นั้นน่ะ ก็อยู่ได้ยิ่งมักน้อยแบบนั้นนะนา คนจะเคารพนับถือ เพราะมันไม่ซับซ้อน มันเห็นชัดๆ

ทีนี้อย่างพระพุทธเจ้า มักน้อยอย่างนั้นก็ได้ อย่างพวกเรา นุ่งผ้าปุผ้าปะ ไม่ถึงกับแก้ผ้านะ พวกเรา เพราะพระพุทธเจ้าไม่สรรเสริญการแก้ผ้า นุ่งผ้าปุผ้าปะ นุ่งผ้าใช้เครื่องใช้ไม้สอย มักน้อย โดยบริขารอะไรก็ไม่มากไม่มาย ไม่สะสมสมบัติพัสถานโน่นๆนี่ ก็มีของส่วนกลางมาใช้ มาสอยกัน เพื่อที่จะสร้างสรร สำหรับตนเองนั้นพอ ของส่วนตนที่จะอาศัยก็พอเป็นบริขาร อาหาร ก็สันโดษแล้ว มีอยู่มีกินพอไป เครื่องนุ่งห่มก็มีสันโดษ ที่พักอาศัยก็ไม่ได้ยึดถือเลย ไม่มีที่พักอาศัย ของตัวของตนอะไร แต่ก็พักได้ สร้างนิสัยรุกขมูล โคนไม้ นอนดิน นอนทราย นอนใต้ร่มไม้ รุกขมูลได้จริงๆ แม้ผู้หญิงผู้ชาย อาตมาพาพิสูจน์แล้วฝึกหัด เดี๋ยวนี้ ฆราวาสเรา ไม่ได้ฝึกหัดบ้างเลย ผู้หญิงผู้ชาย แต่ผู้ชายเขายังฝึกหัดอยู่ เพราะว่า ไม่ได้มีอะไรต่ออะไร

แต่เดี๋ยวนี้ โอ้โฮ! มีวังน่ะ มีวัง ศาลาคลายทุกข์ โอ้รับลมเย็นสองชั้น สามชั้น ระวังนะ อย่าจับ อย่าจองน่ะ ไม่จับไม่จองกันหรอก เราก็อยู่ หัดนอนโคนไม้ รุกขมูลดินง่ายๆ ให้เป็นนิสัย นิสัย ๔ แม้ฆราวาส ก็พยายาม นี่พวกเราถึงออกสนามฝึกฝนกันไป ปลุกเสกฯ ก็นอนดินนั่นแหละ พุทธาภิเษกฯ ก็นอนดิน งานอะไรก็มาก็แบ่งกัน ผู้ใดที่เป็นไปได้แล้วสบาย เป็นที่พึ่งง่าย เลี้ยงง่าย บำรุงง่าย คนอย่างนี้เป็นอยู่สุข เพราะเราสันโดษ เลี้ยงง่าย กินอย่างนี้ก็ได้ พักอย่างนี้ ก็ได้ นอนอย่างนี้ก็ได้ นั่งอย่างนี้ก็ได้ สันโดษ ยิ่งอบรมตน ลดละขยันหมั่นเพียรก็จริง สร้างสรร มากๆ ก็จริง แล้วเราก็ไม่สะสม ไม่กอบโกย สอดคล้องกับธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น กล้าจน

อาตมาแปลมักน้อยว่ากล้าจน อัปปัจจยะ ไม่สะสม ของท่านว่าตรงๆ ก็ตรงๆนี่แหละ เป็นคนไม่ สะสม เป็นคนเจริญ พิสูจน์กันให้มันสอดคล้อง คนไม่สะสมนี่แหละเป็นที่พึ่ง คนยิ่งสะสม ยิ่งกอบโกย สะสมไม่รู้จักให้ใครเลย ยิ่งไม่เป็นที่พึ่งของคน ยิ่งไม่เป็นที่พึ่งหรอก ยากนะ เป็นที่พึ่ง ของคนยาก ตนเองก็ใช่แล้ว ตนเองสะสมมากๆ ตัวเองก็ได้พึ่งแล้ว

ใช่ไหม ก็ได้พึ่งแต่ตนเท่านั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน นี่สูงส่งลึกซึ้งนะ ตนเป็นที่พึ่งของตน ที่ตนเองเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ไม่ใช่ว่าตนเป็นที่พึ่งของตน แล้วตนไม่เป็นที่พึ่ง ของใคร ไม่ใช่ ตนเป็นที่พึ่งของตนได้แล้ว ตนยังเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้อีกด้วยอย่างดี อย่างมาก ด้วย ถึงเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็น พระโลกนาถ เป็นที่พึ่งของโลก เป็นผู้นอนุเคราะห์โลก อยู่จริงๆ ในข้อที่ ๘ ในข้อที่ ๙ ในข้อที่ ๑๐ นี่มีสติ มีปัญญา ปัญญาก็ยืนยันแล้วว่า ปัญญาอันเป็นอริยะ ไม่ใช่ปัญญาธรรมดา ท่านขยายความไปเลยว่า อุทยตฺถคามินิยา ปฺาย สมนฺนาคโต อริยาย
ประกอบ ไปด้วยปัญญาเห็นความเกิดความดับ เห็นความเกิดความดับเป็นอริยะ อะไรเกิด อะไรดับ เราก็เรียนกันมา กิเลสเกิด พฤติกรรมอกุศล พฤติกรรมที่เป็นทุจริต เกิดไม่เอา ให้ทุจริต หรือให้พฤติกรรมแบบที่เป็นอกุศล พฤติกรรมที่เป็นทุจริต พฤติกรรมที่เป็นมิจฉาดับ หยุด เลิก เลิกสนิท ไม่มีกิจ ไม่มีกรณี ไม่เกิดกรณะใดๆ

สัพพปาปัสสะ อกรณัง อกรณะไม่กระทำ ไม่เกิดกิจ ไม่เกิดการกระทำ ไม่เกิดการเป็นเลย อกรณะจริงๆ เราจะต้องรู้ว่า ปาปะคืออะไร ปาปะหรือบาป สัพพปาปะ ปาปะทั้งหลายทั้งปวง ทั้งนั้น ไม่ให้มีเกิดเลย ไม่ให้มีบทบาทขึ้นมาเลยกรณะ ไม่ให้มีกรณะ หรือกรณี ไม่ให้เกิดเรื่อง ไม่ให้เกิดลีลา ไม่ให้เกิดท่าที ไม่ให้เกิดบทบาทขึ้นมาเลย จากในใจ ทีเดียว ไม่มีบาปแม้แต่ในใจ เพราะฉะนั้น กาย วาจาก็ไม่มี เพราะแม้แต่ใจก็ไม่มี แม้แต่ดำริ ไม่สังกัปปะ ไม่ตักกะ ไม่วิตักกะ แม้ในจิต ก็ฝึกแล้วว่า ไอ้นี่เป็นบาป ไอ้นี่เป็นสิ่งไม่ดี มีปัญญาชำแรกชำระถึงขนาดนั้น แล้วมีแต่ สิ่งดี เพราะฉะนั้น ศาสนาพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ไม่มีการงาน ไม่ใช่ไม่มีบทบาท มีบทบาท บาปไม่ทำ ยังกุศล ให้ถึงพร้อม ไม่ทอดธุระด้วย เป็นคนไม่เกียจคร้านด้วย เอาภาระการงาน นี่สอดคล้อง ในนาถสูตรทั้งหมด มีสติระลึกรู้เสมอ มีสติ แล้วก็มีสำนึก มีสติรู้อะไรต่ออะไร มีสำนึกว่า เราจะทำอย่างไร ควรอย่างไร อย่างนี้เป็นต้น

เป็นผู้ที่มีการกระทำที่เรียกว่ากรรม การกระทำเหล่านั้นเป็นกุศล เป็นส่วนดีด้วยปัญญา มีปัญญา รู้ดี รู้ชั่ว เป็นอภิธรรม กุสลาธัมมา เป็นอย่างไร อกุสลาธัมมา เป็นอย่างไร รู้ในบทบาท ลีลา ทั้งกาย วาจา ใจ กายกรรมอย่างนี้ ดีกว่านี้ยังมีอีก วจีกรรมที่ดีกว่านี้ยังมีอีก บัดนี้เวลากำลัง ล่วงไปๆ เรากำลังทำอะไรอยู่ ทำสิ่งที่ดียิ่งๆขึ้นไปตลอดเวลาอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น รวมแล้ว เป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อมว่า ขณะนี้ บัดนี้ เรากำลัง มีกรรมกิริยาอะไร เรากำลังทำอะไร ควรทำอะไรยิ่งๆขึ้น เป็นตัวเจริญ ทั้งกุศลนอก กุศลใน กุศลข้างนอกก็รู้ กุศลข้างในก็รู้ เพราะฉะนั้น ยังกุศลให้ถึงพร้อม มันจึงไม่ได้หมายความว่า การทำการงานข้างนอก เท่านั้นยังกุศลให้ถึงพร้อม มันหมายถึงการงานข้างในด้วย เพราะฉะนั้น มีบางคน ไปอธิบายโอวาทของพระปาติโมกข์พระพุทธเจ้าว่ากรณี สัพพปาปัสสะ อกรณัง กุสลัสสูปสัมปทา อันนี้ไม่ใช่ปรมัตถ์ นี่ไม่ใช่โลกุตระ โลกุตระมันอยู่ที่จิต สจิตตปริโยทนัง ทำจิต ให้ผ่องใส นั่นเป็นโลกุตระ ที่จริงเป้าหมายหลักใช่ เป้าหมายหลักที่ทำจิตให้บริสุทธิ์สะอาด ใช่

จิตจะบริสุทธิ์สะอาด ก็ต้องมีปัญญารู้ว่า จิตสะอาดเป็นอย่างไร จิตที่ไม่โลภให้แก่ตัวแก่ตน เป็นอย่างไร เสร็จแล้วก็เป็นผู้มีจิตสะอาด ที่มีพลังจิตแข็งแรงด้วย รู้จักกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อม บาปทั้งหลาย สัพพปาปัสสะ บาปทั้งปวง ไม่มีอิ๊ๆแอ๊ะๆเลย ไม่มีกระดิก ไม่มีดำริเลย บาป ทั้งหลาย แม้แต่ดำริ ที่จะเริ่มต้นเป็นตัวแรก เริ่มต้นทางจิต รู้จิตอย่างละเอียดเลย ว่านี่ไม่ได้นะ จิตที่จะเริ่มต้นเป็นบทบาทขึ้นมา จะตักกะ วิตักกะ จะขยันขึ้นมาอย่างไร จิตจะมีบทบาทลีลา เป็นขยัน ขยัน ต้องขยันในกุศลทั้งนั้น สิ่งที่ไม่ใช่กุศล ขยันไม่เป็นเลย แหม คนนี้ ยอดมนุษย์เลย สิ่งที่เป็นอกุศล สิ่งที่เป็นบาป ขยันไม่เป็นเลยจริงๆ ขยันไม่ขึ้น ดำริไม่ขึ้นเลย ไม่มีกรณะ ไม่มีบทบาท การกระทำขึ้นมา กรณะนี่แปลว่าการกระทำ ไม่มีบทบาทการกระทำ หรือไม่มี บทบาทการงาน ไม่มีบทบาทแห่งสิ่งที่จะเริ่มต้นลีลาอะไรขึ้นมาเลย นั่นแหละ สัพพปาปัสสะ เป็นโลกุตระ รู้แจ้งลึกซึ้งถึงอย่างนั้น

กุสลัสสูปสัมปทา สิ่งที่เป็นกุศลนั้น รู้เลยว่า จะดำริในกุศลอันเหมาะอันควรอย่างไร จึงเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา รู้จักการงานอันเหมาะอันควร รู้จักการงานอันสมดุล อันพอดี ควรกระทำ ขนาดนั้น ขนาดนี้ พอดี มีปัญญา มีสติสัมปชัญญะ ปัญญาอันดีเลย แล้วเราก็ทำอย่างเป็น สันโดษ ทำเป็นที่พึ่งอันสำคัญ ทำแล้วก็แจกจ่ายเจือจาน บอกแล้วว่า สันโดษไม่ได้หมายความ ว่า ตะกละตะกลามเอาไว้ หอบหามหวงไว้ ไม่ใช่ สันโดษนี่ รู้จักความพอเหมาะพอดีแล้วก็ใจพอ แม้น้อย อาตมาแปลว่าอย่างนั้นเสียด้วยซ้ำ แม้น้อยก็ยังรู้จักพอ แม้น้อย ใจก็ยังพอ อย่างนี้ ด้วยซ้ำ แม้น้อยก็ยังพอ สันโดษ แต่น้อยก็ไม่ถึงขนาดน้อยจนกระเบียดกระเสียน จนเบียดเบียน ตน สุขภาพร่างกายแย่ลงๆ เบียดเบียนน้อยลง ๆ ไม่เป็นไรหรอก เราใจเป็นทาน มันก็ไม่ค่อยถูก แต่ในครั้งคราว ที่เราจำเป็นต้องน้อย เสียสละให้คนอื่นบ้างก็เอา ไม่ได้เสียหายอะไร แล้วก็ทำ ฐานะตนเอง ให้เป็นผู้มักน้อย กินก็ไม่มาก ใช้ก็ไม่มาก อาศัยเครื่องอาศัย จะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ที่เราจะอาศัย ให้แก่ตนยังขันธ์ ยังชีวิตไว้นี่น้อย นอกจากปัจจัย ๔ จะมีบริขาร เครื่องอาศัย อื่นๆ นั้น ก็อาศัยพอสมควร ซึ่งเราจะได้ยังชีวิตไว้บ้าง พอเป็นพอไป ยิ่งเครื่องอาศัยที่ใช้ร่วมกัน มีศาลาใช้ร่วมกัน มีเครื่องไม้เครื่องใช้ อะไรต่างๆ นานา เป็นส่วนกลาง ของกลาง แม้ที่สุด สมัยนี้ มันเป็นเงิน มันมีทอง มันมีตัวกลาง เงินทองก็อาศัยอยู่ในนี้ ใช้ร่วมกัน ควรใช้ควรสอย ตามเหมาะ ตามควร ผู้มีหน้าที่จะดูแลเงินทอง ก็ดูแลไป เรียกว่าไวยาวัจกร ที่ดูแลเงินทอง ในส่วนกลาง อย่างที่เรามีระบบนี้ ดูแลกันไป เป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริต เป็นผู้ไม่คดไม่โกง เป็นผู้ที่ ไม่โลภโมโทสัน ไม่มีเล่ห์ ไม่มีเชิงที่จะทำบาป ไม่มีเล่ห์ ไม่มีเชิงทำบาป แต่มีความเฉลียวฉลาด ที่จะดูแลจัดสรรทำงาน ทำกิจอะไรต่ออะไรไป

สังคมที่มีคนที่มีที่พึ่งอย่างนี้ เป็นกรรมอันอยู่รอบ กระทำกันอยู่สมบูรณ์ สอดคล้องสมดุล ได้สัด ได้ส่วน ผู้ใดยังมีกิเลสอะไรก็ฝึกปรือไปลดละไป อาศัยการงานนี่แหละเป็นกิเลสอาศัยอยู่ด้วยกัน อาศัยการงานเป็นเครื่องที่จะเกิดกิเลส แล้วเราได้ละ ได้ล้างกิเลส ได้ตัดกิเลส เป็นบทบาท สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีพ เป็นไปเจริญไปพร้อมกัน มันก็สมบูรณ์

ถ้าเราเชื่อมั่น ว่ากรรมนั้นเป็นของเรา เราต้องรับมรดกของกรรม กรรมจะพาเราเกิด กรรมจะเป็น เชื้อ เป็นเชื้อแท้ๆเลย เชื้อสัตว์นรก หรือเป็นเชื้อเทวดา ก็เพราะเราสร้างกรรมนั้นเป็นมรดก กรรมนั้น จะพาเราเกิดเป็นกรรมพันธุ์ เป็นพันธุกรรม จะนำพาเราไปเกิด เป็นกัมมโยนิ ไปเกิด คุณจะเกิดดี เกิดชั่ว คุณจะเกิดผิวพรรณทราม ผิวพรรณงาม คุณจะเกิดตกต่ำ ได้ดี ทุกข์ร้อน หรือว่าเป็นสุข ก็เพราะกรรมมันพาเกิด กรรมของเราไม่ได้ไปเอาของใคร เอาของใครไม่ได้ แล้วคุณ ก็ได้อาศัยนี่แหละ ได้พึ่ง สรณะเป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัย

อาตมาอธิบายไว้อย่างพิสดาร ในหนังสือทางเอก พวกเปรียญต่างๆ นานา มาคงจะหัวหมุน น่ะนา อาตมาอธิบายสรณะ อรณะ กรณะ รณะๆ นี่จนกระทั่ง ฟังแล้วก็คงบอกว่า ไอ้นี่มันบ้า หรืออย่างไร มันอธิบาย อาตมาไม่บ้าหรอก อาตมาเอาเนื้อหาสาระมาอธิบาย แต่อย่างว่าแหละ เขาเรียนมา อยู่ในวงจำกัด เขาไม่ได้รู้พิสดารอย่างที่อาตมารู้ เขาก็เมาหมัด ไม่ใช่เมาหมัดหรอก แล้วเขาก็ว่า มันบ้าอะไรของมันไม่รู้ แปลอะไรของมันมากมาย เขาไม่เคยเรียนมาอย่างนั้น ก็จริง อาตมา ก็อาจจะแปลสุดขีดไปบ้างเหมือนกันแหละ นะ หลายๆอย่าง เอาเถอะ เอาไว้ค่อย เรียบเรียง อาตมาก็ว่า มีส่วนดี ในส่วนที่มันมากไป เขาไม่หวาดไม่ไหวก็มีบ้าง แล้วก็ค่อยว่ากัน

สรุปแล้ว เราก็มีที่พึ่งอย่างสำคัญ กัมมปฏิสรโณ มันเป็นที่พึ่งในขณะที่เราได้มาเกิดเป็นคนดี แล้วเราก็ได้อาศัยสภาพที่เป็นคนดีนี่ทำดียิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่ามาได้เกิดเป็นคน เลยอาศัยเป็นคน คนนี่แหละ ชั่วที่สุด และดีที่สุด เพราะฉะนั้น เมื่อไม่รู้เท่าทัน ก็เลยมาเกิดเป็นคน ก็เลยมาทำชั่ว อาศัยกัมมปฏิสรโณ อาศัยร่างคน อาศัยสมองที่มันเจริญยิ่งกว่าสัตว์ใดในโลก อาศัยสิ่งแวดล้อม อาศัยความเฉลียวฉลาด อาศัยโน่นนี่ ฉลาดทำชั่ว ซวยเสียจริงๆเลยนี่ มาได้พึ่ง เออ! เราได้เป็น ร่างคนแล้ว จะได้พึ่งที่ดี ไม่ศึกษาหลักธรรมะ ไม่ศึกษาสิ่งที่พาเจริญยิ่งขึ้น ก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้น เราได้พึงอาศัยจากกรรมที่ แม้แต่ปัญญาก็เป็นกรรมที่ได้สั่งสม ปัญญาก็เป็นกรรม ที่เราได้สั่งสม เป็นวิบากที่เราได้สั่งสม เพราะฉะนั้น เราได้สั่งสมไปดีๆจริงๆ เราได้อาศัย

ถ้าใครเชื่อกรรม สังวร สำรวมจริงๆ เชื่อกรรมว่า กรรมนี่เป็นทรัพย์ กรรมนี่แหละเป็นเครื่องอาศัย กรรมนี่แหละเป็น สมบัติของมนุษย์ เพราะฉะนั้น ใครทำกรรมดี ก็เป็นกรรมดี เป็นสิ่งที่จะอาศัย จริงๆ เป็นสิ่งที่จะพาเราเกิด เป็นกรรมพันธุ์ของเรา เป็นมรดกของเรา เป็นของของเรา

ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งกรรมนิยม กรรมสัจจะ เห็นกรรมเป็นเรื่องจริง เห็นกรรมเป็นของ เที่ยงแท้ กรรมนี่แหละเที่ยงแท้ คุณทำชั่วก็ชั่วแท้ๆ คุณทำดีก็ดีแท้ๆ คุณจะมีสมบัติก็กรรม นี่แหละ เป็นสมบัติแท้ๆ ไม่มีอะไรเป็นสมบัติเยี่ยมยอดกว่ากรรม เพราะฉะนั้น เกิดมาเป็นคน คำนึงถึงกรรมให้มากเลย ทำกรรมชั่ว อย่าเป็นอันขาดเลย แม้นิดแม้น้อยก็อย่าประมาท แต่เอาละ ในฐานะของเรา ยังสามารถที่จะทำดี บางทีอันนี้รู้ว่า มันชั่วเหมือนกันน่ะ แต่ว่าเรายัง ไม่ไหวจริงๆ ต้องอาศัยมันในฐานะหนึ่ง จำเป็น มันไม่ไหวจริงๆ เรามีอะไรที่จะต้องลดอยู่บ้าง ยังลดไม่ได้เลย ก็ลดไอ้สิ่งที่เราถือว่าต้องลดก่อนน่ะ ลดไป อะไรที่อาศัยได้ดีแล้วก็อาศัยขึ้นไป เรื่อยๆ จะเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม เจริญขึ้นๆ แล้วได้อาศัยกรรมอันนั้นแหละอย่างดี

พยายามพิจารณาให้ดี เห็นในกรรมให้ชัดๆ ถ้าเราเห็นในกรรมไม่ชัดๆ เราจะไม่มีกำลัง เพราะฉะนั้น เราสร้างนาถะที่พึ่งนี่ ถ้าเราเข้าใจกรรมอย่างสมบูรณ์ด้วย แล้วที่พึ่งทั้ง ๑๐ อย่างนี่ จะเป็นที่พึ่งอันสมบูรณ์ อย่าถือว่ากรรมไม่ใช่ที่พึงน่ะ กัมมปฏิสรโณ แปลเป็นภาษาไทยว่าที่พึ่ง แต่คำว่าสรณะ อาตมาอธิบายพิสดารไว้เยอะ ที่จริง สรณะ อาตมาแยก ส กับ รณ รณ แปลว่า การต่อสู้ ประกอบไปด้วยการต่อสู้ เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดรู้จักการต่อสู้ที่ดี จนกระทั่งสามารถเป็น ผู้ที่มีอรณะ แล้วก็รู้จักกรณะ กรณะคือการกระทำกิจใดๆทั้งปวง รู้จักกิจดี มีปัญญา แล้วก็รู้จัก อรณะ ที่เป็นที่พึ่งของแต่ละคนน่ะ อรณะหมายความว่าเราสงบ แปลว่าตาย อรณะแปลว่าตาย อะไรตาย กิเลสตาย มรณะร่างกายตาย มะระณะ หรือมรณะ นี่ ร่างกายตาย อรณะกิเลสตาย กรณะรู้จักการต่อสู้ที่จะกระทำ สรณะรู้จักสิ่งที่เราต้องกระทำ นั่นแหละ เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น เรากระทำที่พึ่งในกุศล กรรมทุกกรรมเป็นกุศล การกระทำ ทุกการกระทำ เป็นกุศลนั้นเป็นที่พึ่ง สรณะ ประกอบแล้ว ประกอบพร้อม เพราะฉะนั้น เท่ากับบทบาทของคนที่มีชีวิตอยู่นี่ จะต้องมี สรณะ จะต้องมีการต่อสู้เป็นที่พึ่ง ประกอบด้วยการรบเป็นที่พึ่ง สรณะ จะเรียกว่ารบเลยก็ได้ เพราะฉะนั้น มีชีวิตที่ยืนอยู่ ชีวิตที่ตั้งอยู่นี่ ถ้าเป็นขุนศึกของพระพุทธเจ้า คือ พระอรหันต์แล้ว รบตะพึด

นี่อธิบายโพธิสัตว์ โพธิสัตว์เป็นนักรบ และเป็นนักรบที่ยิ่งใหญ่ เป็นนักรบที่ทำอหิงสาสงคราม เป็นนักรบที่สร้างสรร เป็นนักรบที่ทำให้คนอื่นสุขเย็น ตนเองอาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ ตนเอง จะทุกข์มากกว่าด้วยซ้ำ ก็ไม่ว่า ไม่เอาเปรียบ จะทุกข์มากกว่าคุณ ก็ไม่เอาเปรียบ ลำบากลำบน มากกว่าคุณ ก็ไม่ว่าอะไร คุณไม่ลำบาก ไม่ลำบนนั่นแหละ เดี๋ยวก็คุณจะติดจะยึดเข้า แล้วแถม บุญน้อยด้วย กุศลน้อยด้วย เพราะฉะนั้น เรามีกุศลมาก อดทนได้เก่ง ฝืนกลั้นได้เก่ง มีอุตสาหะ พากเพียรได้ดี เป็นคนอย่างนี้ ก็เป็นคนที่มีประโยชน์ในโลก

ที่อาตมาพูดถึงการรบ หรือว่าพูดถึงสรณะ หรือว่าพูดถึงอรณะพวกนี้ ระณะนี่ รณ รณ นี่ ภาษา ก็คงจะพอเข้าใจนะ ระณะ รณรงค์ นี่ รณรงค์ อะไรคำว่ารณ แปลว่าการรบ แปลว่าการต่อสู้ เพราะฉะนั้น แปลโดยพยัญชนะ สะระณะ เป็นที่พึ่งทวนไปทวนมา ปฏิสรณะ กัมมปฏิสรโณ หรือ กัมมปฏิสรณะ เป็นผู้ที่รบ มีการรบเป็นที่พึ่ง ฟังแล้วพวกที่เรียนบาลี พวกที่เรียนมา ถึงบอก ว่า เอ้อ! มันนอกรีต บรรยายเอาเองพูดเอาเอง จริงๆอาตมาพูดเอาเองจริงๆ อาตมามีสัจจะ ในตัวเอง มีสภาวะในตัวเอง มันต้องต่อสู้ มันเป็นธรรมาธรรมสงครามในโลก

ทุกวันนี้ อธรรมมันเยอะ เรายิ่งต้องรบอย่างจัดจ้านเลย เพราะฉะนั้น ฝ่ายที่ไม่ตรงกับอาตมาเลย เห็นว่า อาตมาเป็นศัตรูจะปราบจะปรามอยู่เรื่อยเลย จะปราบอยู่เรื่อยจริงๆ อาตมาไม่รู้จะเลี่ยง ยังไง มันเลี่ยงไม่พ้น มันเลี่ยงไม่พ้นจริงๆ ใจจริงน่ะไม่ได้เป็นศัตรูอะไรกับเขาหรอก อาตมาไม่เคย คิดใครเป็นศัตรูที่จะต้องปราบ ที่จะปราบน่ะคือปราบกิเลสของเรา ปราบความมิจฉาทิฏฐิ ปราบสิ่งที่ทุจริต อกุศลในตัวเรา แล้วเขาก็จะได้เจริญขึ้นมา จะปราบอันนั้นน่ะดื้อๆ นอกจาก ดื้อแล้ว ก็โง้โง่ด้วย ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ แต่ไปเชื่อใจคนที่เขาจะทำให้ตัวเองต่ำ เราว่าเราจะทำให้ เขาดี ไม่เชื่อหรอก น้ำหน้าอย่างนี้ ทำให้เราดีได้ ปริญญาก็ไม่มีสักใบ ยศตำแหน่งอะไรก็ไม่เคยได้ สักอย่าง จริงๆน่ะ อาตมาไม่เคยมียศ มีตำแหน่งอะไรเลยในชีวิต

ทำงานอยู่ที่ไทยโทรทัศน์ ๑๐ กว่าปี ไม่เคยมียศมีตำแหน่งอะไรเลย หาเอาเองทำเอาเอง โน่นนี่ๆ รับผิดชอบมาเอง แบกหามเอง ไม่เคยได้ตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนก เป็นหัวหน้าฝ่าย เป็นหัวหน้า นั่นหัวหน้านี่ ไม่ได้เคยเป็นหัวหน้าเลย เป็นแต่ลูกน้องตะพึดทำสารพัด ที่จริงอันนั้นน่ะ มันของ อาตมาสั่งสมมา มันไม่รังเกียจ มันทำอะไรก็ได้ มันรับใช้ใครก็ได้นะ มันไม่ถือสา นี่มันเป็นสัจจะ เหมือนกับที่อาตมาพาพวกเราทำนี่แหละ แต่แล้วก็ทำงานได้น่ะ ทำงานนำเขา แม้จะใช้เขาไม่ได้ เขาถือตัว เราก็ไม่ใช้เขา ใครอยากเห็นดีด้วยก็มาทำด้วย ใครจะมาเคารพนับถือ ใครอยากจะ ยกย่อง เชิดชูบูชาด้วย ก็เรื่องของเขา อย่างนี้เป็นต้น

นี่แนวคิดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นของเก่าของเดิมที่อาตมาได้มาก็มาพาทำกัน พยายามรังสรร สร้างสรรค์ แต่ก็ไม่เก่ง ยังไม่เก่งเท่าไหร่ อาตมายังเห็นความบกพร่องของตนเองอยู่ ก็พัฒนาอยู่ เหมือนกัน ส่วนที่ยังไม่เก่งค่อยๆทำไป มันซับซ้อนน่ะ แต่ละชาติ แต่ละชาติ ต้องสร้างสรรขึ้นไป ก็ไม่ประมาท และจะต้องไม่เหยาะแหยะ อย่าหลงตัวหลงตน พยายามอุตสาหะ บากบั่นจริงๆ สร้างกุศล ยังกุศลให้ถึงพร้อมจริงๆ

สรุปแล้ว นาถกรณธรรม ก็กระทำที่พึ่งให้แก่ตนเองตั้งแต่ศีล พหูสูตร มีมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี เป็นผู้ว่าง่าย ขยันกิจน้อยกิจใหญ่ ใคร่ในธรรม แล้วก็มีความปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลวิบาก เพื่อละอกุศล บากบั่นมั่นคงจริงๆ เป็นคนสันโดษ เข้าใจในสันโดษ เป็นคน มีสติ เป็นคนมีปัญญา ทั้ง ๑๐ อย่างนี้ สร้างอย่างมีปัญญา สร้างให้แก่ตนกระทำให้แก่ตน ให้ตน มีสิ่งเหล่านี้ในตน ให้ได้จริงๆ ถ้ามีได้จริงๆ เป็นที่พึ่ง และคนอื่นจะได้พึ่งเราด้วย ไม่ใช่เรา เป็นที่พึ่ง แค่ที่เราเท่านั้น เราก็จะเป็นที่พึ่งของคนอื่นจริงๆ เมื่อพวกเรากลายเป็นคนที่พึ่งตนได้ แถม ยังเป็น ที่พึ่งแก่คนอื่นได้จริงๆ แล้วเราไม่รวยได้อย่างไร เราไม่ใช่กองสังคมมนุษย์ โขลงมนุษย์ ที่ร่ำรวยได้อย่างไร เพราะเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ในรูปของโลกอาจจะเป็นคนจน แต่ไม่จนใจหรอก ไม่จนใจหรอก

นี่อาตมาพาทำเสนาสนะนี่นะ จริงๆแล้วนี่โจรปล้น เขาจะมาปล้นพวกเรานี่ ร้องไห้น่ะ ไม่คุ้มทุนหรอก ไม่คุ้มทุนมาปล้น จะได้อะไรสักกะเท่าไหร่ เอากองปล้นชั้นหนึ่งเลยน่ะ คณะ ๕๐ คนมาปล้น รับรอง ๕๐ คน นี่ร้องไห้ ไปแบ่งกันไม่ได้คนละกี่บาทหรอก ไม่คุ้มกับการปล้น หมู่บ้านทั้งหมู่บ้านนี่น่ะ ไม่คุ้มกับการปล้น ถ้าเขามีคณะใหญ่ๆ มาปล้นร้องไห้เลย ไอ้โจรเล็ก โจรน้อย ไม่ต้องพูดกันหรอก จะหยิบอะไรไปสักชิ้นสองชิ้น ก็ช่างมันเถอะ อย่าไปพูดเลย เพราะฉะนั้น คณะโจรสูงๆ ศักดินาหน่อยนี่นะ มันไม่ปล้นเราหรอก มันปล้นแล้วมันขาดทุน ไปปล้นบ้านธรรมดา ยังรวยกว่านี่ ทั้งหมู่บ้านเลย จริงๆ ยังมีเพชร มีพลอย มีทรัพย์ศฤงคาร มีเงิน มีทองใส่เซฟ ใส่อะไรนี่ โน่นนี่ อะไรสมบัติที่เอาไปขายได้ ราคาสูงๆเป็นชาตะ รูปะ รชตะ เป็นของโลก ที่เขานิยมนับถือราคาแพง ของเรานี่ อย่างดีก็เครื่องใช้แหละแพงหน่อย ที่นี่ มีข้าวของ เครื่องใช้ที่หยิบไปของใช้งานการ จริงๆ นี่แพงหน่อย นอกนั้น ของประดับประดา ของนั่นของนี่ เหมือนอย่างชาวโลกเขานะ เลิกของราคาแพงๆ แบบชาตรูปแบบโลกๆ เพชร นิล จินดา ไอ้สิ่งที่โลกเขานับถือ สมมุติว่ามันเป็นราคาของราคาแพงๆ ไม่มีละ

แม้แต่พระพุทธรูป พระเครื่อง พระบูชาราคาแพงๆ ปล้นให้เอาไปขายราคาแพงๆ ก็ไม่ได้ เครื่องลายคราม ถ้วยโถโอชาม ที่คนหลงใหล สะสม จะเอาไปขายราคาแพงไม่ได้หรอก จะได้ก็ ของที่เป็นเครื่องใช้ที่มีประโยชน์ ราคาจะดี ถ้ามันเก่าหน่อย ไม่ใช่เป็นลายครามเลยน่ะ ของใช้นี่ เก่าหน่อยก็ยิ่งราคาตก จะได้ของอย่างนั้น อยู่สุข เพราะฉะนั้น ไม่เป็นทางแห่งภัย เสนาสนะ ของเรา ก็จะน่าดู ปล้นเสนาสนะยาก เพราะฉะนั้น เสนาสนะนี่เป็นหลักที่เราจะลงทุนมากหน่อย สร้าง เสนาสนะ ที่อยู่ของเรายากน่ะ แล้วเสนาสนะของเราก็ประดับไปด้วยของที่เอายากด้วย แบกเอาไปซิหินน่ะ อยากจะแบกหินไป มาปล้น แบกหินไปก็แบกเอาไปเถอะ ก้อนใหญ่ดีนะ ไปหลงใหลทำไมเล่า ก้อนน้อยๆๆๆแค่นี้ ไม่เป็นแสน เป็นล้าน เอ๊ย! เราไม่ซื้อหรอก ก้อนอย่างนี้ แพงตายเลย นี่ซื้อนี่ ดูซี แสนหนึ่ง ได้หินตั้งไม่รู้กี่รถ แสนหนึ่ง ได้ดินไม่รู้กี่รถ นี่เอามาใช้ ที่ของเรา เสนาสนะ ดินไม่ค่อยดี เอาดินดีมาผสม หินไม่มีเอาหินมาใส่ มันเป็นดินเหนียวเสียเยอะ แล้วมัน จะปรับตัวไป อีกหน่อยย่านนี้จะเป็นย่านที่มีดินดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมดุลสมบูรณ์ มันทรง ตัวมันสงเคราะห์ตัวของมันเอง มันค่อยๆไป ค่อยๆมา เดี๋ยวก็ดินไปผสมกรวด กรวดไปผสมหิน หินไปผสมทราย ทรายไปแยก... นี่อีกล้านปี รับรองมีเป็นดินที่ดีเลย ล้านปี ไม่ถึงขั้นนั้นหรือ ไม่ถึงล้านปี ดินดีกว่านี้แน่นะ ดี นี่ดินของเราปรุงให้ดีขึ้นมาได้อย่างนี้ เป็นต้น

มลพิษเราเอาออก สิ่งที่สมควรเอามาใส่ผสมผเส มันจะได้สัดส่วน มันจะได้ธรรมชาติที่ดี แม้แวดวงเท่านี้ เราก็รู้อะไรคือธรรมชาติ แล้วเราก็สะสมไปทำไป จริง เราเอามาใช้เป็นรูปร่าง เอามาทำสระ มาตั้งตรงนั้นตรงนี้อะไรไปบ้าง อีกหน่อย มันก็หมุนเวียน มันก็คละเคล้า มันก็ เป็นไป เดี๋ยวมันก็สังเคราะห์ของมันทำประโยชน์เข้าไปสมบูรณ์ ตอนนี้ก็เป็นไปเรื่อยๆ อย่างนี้ เรารู้ว่าอะไรควรทำ อะไรควรสร้าง อะไรควรปรุง เราก็ทำพอสมควร ปลูกต้นหมากรากไม้ ขึ้นมา พอได้ใช้ต้นไม้ ต้นไม้ก็ปลูกขึ้นมา เสร็จแล้วเรากิน เราใช้ เราเผาบ้าง กลายเป็นธาตุ กลายเป็น ด่าง กลายเป็นขี้เถ้า กลายเป็นอะไรต่ออะไร สังเคราะห์ลงไปในดินหมุนเวียน มีกรด มีด่าง มีโน่น มีนี่ หมุนเวียน ได้สัดได้ส่วน ค่อยๆเป็นไปของมันเอง โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องไปแย่งชิงผู้อื่น ไปเที่ยวได้โลภโมโทสัน เอามาอะไรมามากมายนัก ถ้าแวดวง ถ้ามันกว้างพอนะ เราพาทำกัน ทำได้กว้างพอ หมุนเวียนกันได้พอนะ ในย่านเหล่านั้นนะ เป็นสักพันไร่ หมื่นไร่ อะไรขึ้นมานี่ โอ้! มันจะเป็น เสนาสนะ หรือเป็นสังคม เป็นหมู่เมืองที่ได้สัดส่วน ต่างก็เข้าใจอย่างนี้ ต่างก็ทำ แบบที่เราทำกันนี่นะ สักหมื่นไร่นี่นะ จะมีประสิทธิภาพธรรมชาติที่

แหม! อาตมาไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร แต่ละหย่อม แต่ละแห่งเข้าใจอย่างที่เราทำนี่ ต่างก็ทำในหมู่ พื้นที่หมื่นไร่นี่นะ ทำอย่างที่เราทำกันไว้ทั้งหมดเลยนี่นะ แล้วประสานสอดร้อยกันนี่ โอ! รับรอง ที่นี่มลพิษอะไร ก็เข้ามาไม่ได้ มันจะมีพลังกำลังทั้งอากาศ ทั้งแก๊ส ทั้งโน่นทั้งนี่ ขจัดมลพิษ อะไรเข้ามาไม่ได้เลย แม้แต่กลิ่นมลพิษเข้ามาตายหมด เข้ามาไม่ถึงหรอก พวกเราอยู่อาศัย อยู่ข้างในนี่สอดคล้องหมดเลย เพราะฉะนั้นทางที่ไม่เป็นภัย ทางที่ดำเนินไปดีของพระพุทธเจ้า มันยังมีอีกมาก ที่เราจะพิสูจน์ ตอนนี้มีรูปร่างเล็กๆ น้อยๆ ก็ดูกันไปก่อน บางทีบางคนอาจจะ ไม่เชื่อ แต่คิดว่า เรายิ่งอยู่ด้วยกันไป ปฏิบัติไป มีไอ้โน่นไอ้นี่ ไปเรื่อยๆ เรายิ่งจะเห็นความจริง เชื่อหรือไม่เชื่อ อาตมาก็บอกแล้วว่า อาตมาไม่ได้บังคับใครเชื่อ แล้วก็ไม่ได้งอนง้อ ไม่ขอร้อง ใครจะเชื่อ ก็พิสูจน์เอาเอง ปฏิบัติไปก็จะรู้จะเห็น จะเข้าใจไปเรื่อยๆ เองนะ

สำหรับวันนี้ หมดเวลาเพียงเท่านี้


ถอด โดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๒๘ ก.ค.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๑ โดย สม. ปราณี ๒๙ ก.ค.๒๕๓๕
พิมพ์ โดย สม. นัยนา ๓๐ ก.ค.๒๕๓๕
ตรวจทาน ๒ โดย โครงงานถอดเท็ปฯ ๓๐ ก.ค.๒๕๓๕
เข้าปก โดย นาคคมกล้า อโศกตระกูล ส.ค.๒๕๓๕
เขียนปก โดย พุทธศิลป์ ก.ย.๒๕๓๕

:2462H.TAP