ความไม่เที่ยง...ที่เที่ยงคืออะไร หน้า ๒
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๓๖ ณ พุทธสถานปฐมอโศก
(ต่อจากหน้า ๑)


ปัญจวัคคิยสูตร ว่าด้วยลักษณะแห่งอนัตตา ทีนี้เป็นตัวไม่มีตัวตน

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้พระนครพาราณสี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาค ตรัสเรียกภิกษุเบญจวัคคีย์ ฯลฯ แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปมิใช่ตัวตน ก็หากว่ารูปนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ รูปนี้ก็คงไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด (คือหมายความว่า อย่าเปลี่ยนแปลงเลย อย่าแปรปรวนเลย) อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (อย่าได้ไปเป็นอื่น กำหนดจะเอาอย่างนี้ ก็ต้องเอาอย่างนี้ รูปนี้จะต้องอย่างนี้ อย่าเสื่อม อย่าเปลี่ยนแปลง อย่าแปรปรวน เที่ยงนะ รูปต้องเที่ยง) ก็เพราะเหตุที่ รูปมิใช่ตัวตน ฉะนั้น รูปจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ (อาพาธก็คือ มันจะต้องเปลี่ยนแปลง มันจะต้องเจ็บป่วย มันจะต้องทุกข์) และไม่ได้ตามความปรารถนาในรูปว่า ขอรูปของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย (อย่างนั้นก็คือ ต่างจากอย่างนี้ นี้ๆ เที่ยงนะ อย่าเป็น หน่อยก็ไม่ได้ เป็นอย่างโน้นก็ไม่ได้ เป็นอย่างนี้ นอกจากนี้แล้วอย่างนั้น อย่างนั้นแหละ อย่างกำหนดนั่นแหละ อย่าเป็นอื่น จงเป็นอย่างนี้ อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวทนามิใช่ตัวตน ก็หากเวทนานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่เวทนา ไม่ใช่ตัวตน ฉะนั้น เวทนาจึงเป็นไป เพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในเวทนาว่า ขอเวทนาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญามิใช่ตัวตน ก็หากสัญญานี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไปเพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สัญญา มิใช่ตัวตน ฉะนั้น สัญญาจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในสัญญาว่า ขอสัญญาของเรา จงเป็นอย่างนั้นเถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารมิใช่ตัวตน ก็หากสังขารนี้ จักเป็นตัวตนแล้วไซร้ ก็คงไม่เป็นไป เพื่ออาพาธ ทั้งยังจะได้ตามความปรารถนา ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตุที่สังขารมิใช่ตัวตน ฉะนั้น สังขารจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตามความปรารถนา ในสังขารว่า ขอสังขารของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย วิญญาณ.... (ก็เหมือนกันนั่นแหละ วิญญาณก็อ่าน ก็ซ้ำ เป็นแต่เพียงเปลี่ยน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.... ก็เหมือนกัน ) ..ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย ก็เพราะเหตที่วิญญาณ มิใช่ตัวตน ฉะนั้น วิญญาณจึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และไม่ได้ตาม ความปรารถนาว่า ขอวิญญาณของเรา จงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง (เที่ยงหรือไม่เที่ยง.. นึกว่าเที่ยง)

ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือหนอ ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นตัวตนของเรา (แน่นอน มันก็ต้อง ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า ตอบแทน พวกคุณ)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จักสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (รวบเลย ตอนนี้ ก็เหมือนกันนั่นแหละ) ไม่เที่ยง เมื่อสิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ เมื่อไม่เที่ยง เมื่อแปรปรวน สมควรหรือ จะมายึดเป็นเรา เป็นของเรา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ทั้งที่อยู่ในที่ไกลหรือที่ใกล้ รูปทั้งหมดนั้น เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ (ฟังให้ดีนะ เห็นด้วยปัญญาอันชอบ เอาปัญญามาใช้แทนสัญญา นี่แหละ ไปเป็นปัญญา การกำหนดรู้นี่แหละ ไปเป็นปัญญา คุณคงเดาได้ เดาออก ตัวฉลาดจริงๆ ก็คือ การกำหนดรู้ ให้ชัดที่สุด ตามความเป็นจริงที่สุดนี่แหละ มันคือ ปัญญาอันยอด แม้ที่สุด ถึงขั้นปัญญาระดับ อาสวักขยญาณ เป็นญาณสุดยอด เพราะการกำหนดรู้นี่แหละ)

เธอทั้งหลาย พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบ ตามความเป็นจริง อย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (แล้วท่านก็ไล่ไป นอกจากรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้ว ก็เวทนาอย่างใด อย่างหนึ่ง แล้วก็สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเป็นที่สุด โน่นแหละ มันก็ไปยึดถือว่า เป็นเรา เป็นของเราไม่ได้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ (เพื่อความเป็นพระอรหันต์ หรือเพื่อ ความนิพพานอย่างนี้ กิจอย่างนี้ ไม่ต้องทำอีกแล้ว) มิได้มี

พระผู้มีพระภาค ได้ตรัส อนัตตลักขณสูตร นี้จบลงแล้ว ภิกษุเบญจวัคคีย์ ต่างมีใจยินดี ชื่นชมพระภาษิต ของพระผู้มีพระภาค ก็แหละเมื่อพระผู้มีพระภาค กำลังตรัส ไวยากรณภาษิตนี้อยู่ ภิกษุเบญจวัคคีย์ ก็มีจิตหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

เมื่อเราอ่านสูตรนี้แล้วเสร็จ เราก็เข้าใจแล้วว่า สูตรที่บอกว่า แม้ที่สุด ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่เที่ยง แล้วก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา เพราะมันไม่เที่ยง มันก็ต้องเป็นทุกข์ เมื่อเราไปยึดเที่ยง หรือยึดอยู่ก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น เราต้องไม่ยึดเป็นตัวตนของเรา เป็นที่สุด

ทีนี้ก็อ่านสูตรอื่นอีก สัญญาสูตร ทีนี้กลับมาที่สัญญา เพราะเรากำลังพูดอยู่ที่ ตรงสูญกับสัญญา หรือว่า ไม่เที่ยง เป็นอนัตตะ ก็เรียกว่าสูญ อนัตตะไม่มีตัวตน ก็คือสูญนั่นแหละ เพราะว่าอาการ สภาวธรรมของอนัตตา อนัตโต ปรโต ตุจฉโต วิถโต สุญโต สัญญาสูตร ว่าด้วยการเจริญ อนิจจสัญญา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสสมิมานะทั้งปวงได้ (อัสสมิมานะก็คือ มานะนั่นแหละ อัสสมิมานะ ก็หมายความว่า มานะที่ยึดเป็นตน มานะที่อาตมา เรียกควบด้วย อาตมาไม่ได้เรียก อัสสมิมานะเท่าไร อาตมาเรียกแต่ อัตตามานะ ที่จริง ถ้าจะเรียก ให้ถูกตามภาษา ก็จะเรียกเต็มว่า อัสสมิมานะ ถ้ายังมีมานะ แล้วยึดมานะ เป็นตน ท่านเรียกว่า อัสสมิมานะ แต่อาตมาก็เรียกเอาคำว่าตน หรือเอาอัตตา มาเรียกเลย อาตมาไม่เรียก อัสสมิมานะ อาตมาเรียก อัตตามานะ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสสมิมานะ ทั้งปวงได้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสารทสมัย ชาวนาเมื่อไถนา ด้วยคันไถใหญ่ ย่อมไถ ทำลายความสืบต่อแห่งราก ทุกชนิด แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำกามกับรูป ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ เมื่อกี้อธิบาย ภวราคะ ไปจนกระทั่งถึง วิภวตัณหา บางทีวิภวะ จะเรียกวิภวราคะก็ได้ แต่ที่จริง บอกแล้วว่า วิภวราคะ สุดท้าย พระพุทธเจ้าท่านไม่ตรัส ดับก็ดับภวราคะ หรือ วิภวตัณหาเท่านั้น ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้

อาตมามาถึงตรงนี้แล้วไปนึกถึง ภวตัณหาสูตร อวิชชาสูตร แล้วก็ภวตัณหาสูตร ในภวตัณหาก็ เช่นเดียวกัน อวิชชานี่ก่อให้เกิดสุดท้ายสูงสุดก็ ภวตัณหาเท่านั้น เพราะฉะนั้น อวิชชาที่มันหมดโง่ เป็นวิชาสุด บริบูรณ์แล้ว ย่อมดับอวิชชา อวิชชาสวะ พอดับอวิชชาสวะแล้วนี่คือ ดับหมดเลย ภวตัณหา

พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยตรัสว่า ดับวิภวตัณหา ไม่เคยตรัส ไม่เคยมี ในพระสูตร ก็ไม่เคยเห็น เคยเห็นแต่ว่า เมื่อดับอวิชชาแล้ว ภวตัณหาย่อมดับ ไม่ใช่วิภวตัณหาย่อมดับ อันนี้ ก็เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง เหมือน กลับไปกลับมา หรือย้อนไปย้อนมาเยอะ ซึ่งถ้าคุณฟังดีๆ ที่อาตมาอธิบายมานี่แล้วจะรู้จัดหลัก จุดจบ จุดสำคัญ จุดสุดท้ายได้ดี ย่อมครอบงำ ภวตัณหาทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอน ซึ่งอัสสมิมานะ ทั้งปวงได้ ฉันนั้นเหมือนกันแล

นั่นท่านก็ยกตัวอย่างอะไรอื่นๆ คล้ายกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย คนเกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย เกี่ยวหญ้ามุงกระต่าย แล้วจับปลายเขย่า ฟาด สลัดออก แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้น เหมือนกันแล

คือหมายความว่า จะทำอะไร ก็ต้องให้มันสะอาด ให้มันเรียบร้อย ถอนรากถอนโคน ถอน เรียกว่า ทั้งเขย่า ทั้งฟาด ทั้งสลัด ทำอย่างไร ให้มันออกให้เกลี้ยง ไม่ให้เหลือธุลีละออง อันอื่นๆ เหมือนกันแหละ ท่านยกตัวอย่าง

มะม่วงเมื่อขาดจากขั้ว จะเอาหญ้ามุงกระต่าย ถอนออกให้ขึ้นทุกอย่าง ไม่ให้เหลือ ให้หรอ อะไรก็แล้วแต่

กลอนใดๆ แห่งเรือนยอด กลอนทั้งหมดนั้นไปสู่ยอด น้อมไปที่ยอด ประชุมลงที่ยอด ยอด ชนทั้งหลาย กล่าวว่า เลิศกว่ากลอนเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ ฉันนั้นเหมือนกันแล ก็ต้องตัดยอดเหมือนกัน

ไม้มีกลิ่นที่รากใดๆ ไม้กะลำพัก ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่รากเหล่านั้น (คือไม้กะลำพัก นี่ มันเป็นกลิ่นอยู่ที่ราก เพราะฉะนั้น ก็ถอนรากของไม้ กะลำพัก นี้ให้เกลี้ยงสิ้น ก็ถอนรากเหมือนกัน)

ไม้มีกลิ่น ที่แก่นใดๆ จันทน์แดง ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้ที่มีกลิ่นเหล่านั้น (หมายความว่า ที่แก่น จันทน์แดงนี่ กลิ่นไปอยู่ที่แก่น ส่วนไม้กะลำพัก กลิ่นไปอยู่ที่ราก ก็ถอนราก ถ้ากลิ่นมันไปอยู่ที่แก่นอย่างไร จันทน์แดงก็ต้องทำลายแก่น ถอนแก่น)

ไม้มีกลิ่นที่ดอกใดๆ มะลิ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าไม้มีกลิ่นที่ดอกเหล่านั้น (ก็ทำลายตัวดอก มาสิ)

พระราชาผู้น้อยใดๆ ทั้งหมดนั้น ย่อมเป็นผู้เสด็จไป ตามพระเจ้าจักรพรรดิ พระเจ้าจักรพรรดิ ชนทั้งหลาย ย่อมกล่าวว่า เลิศกว่าพระราชาผู้น้อยเหล่านั้น แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว ฯลฯ (ก็ให้ถอนเหมือนกัน ที่จริงก็คือ ให้ฆ่าพระราชา ถ้าฆ่าพระราชาแล้ว พวกชนทั้งหลาย พวกพระราชาน้อยๆ เรียกว่า อนุยน อนุยนนี่คือ พระราชาน้อยๆ ก็ต้องหมดไป ฆ่าหัวพระราชาแล้ว หางพระราชา ก็หายหมด ว่าอย่างนั้นเถิด)

แสงดาวทั้งหลาย ชนิดใดชนิดหนึ่ง แสงดาวทั้งหมดนั้น ไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ แห่งแสงพระจันทร์ แสงพระจันทร์ ชนทั้งหลายกล่าวว่า เลิศกว่าแสงดาวเหล่านั้น (ไปดับพระจันทร์เสีย ดาวก็หาย ถือเอาพระจันทร์ ให้แสงแก่ดาวต่อ)

ในสารทสมัยท้องฟ้าบริสุทธิ์ ปราศจากเมฆ พระอาทิตย์ขึ้นไปสู่ท้องฟ้า ย่อมส่องแสง และแผดแสงไพโรจน์ กำจัดความมืด อันอยู่ในอากาศทั่วไป แม้ฉันใด อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ รูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสมิมานะได้ทั้งหมด ฉันนั้นเหมือนกันแล

ตรงนี้ข้อที่น่าสังเกตอีกอันหนึ่ง ก็คือว่า ท่านไม่กล่าวถึงอรูปราคะ เพราะอรูปราคะ นั้นก็คือรูปราคะ นั่นแหละ อรูปก็คือ รูปที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว ก็เรียกว่า ไม่ใช่รูป แต่รูปก็คือสิ่งที่ถูกรู้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ถูกรู้ ที่ละเอียดที่สุด นั่นแหละ ถ้าอธิบาย โดยเนื้อหาก็คือ สิ่งที่ละเอียด จนกระทั่ง คนตาไม่ดี ก็ไม่รู้ว่ารูป ไม่เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ คนโสตไม่ดี ก็ไม่รู้ว่าเสียง ไม่สามารถที่จะรู้ว่า เป็นเสียงที่ถูกรู้ได้ เป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ ฉันใด ก็ฉันนั้น ก็คล้ายกันกับที่อาตมาอธิบาย วิภวตัณหา ท่านก็มาสรุปลงที่ รูปราคะ กับ ภวราคะ เหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนิจจสัญญา (สัญญาที่เห็นความไม่เที่ยง) อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงครอบงำ กามราคะทั้งปวง ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่ง อัสมิมานะได้หมด อนิจจสัญญา อันบุคคล เจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ว่า รูปดังนี้ ความเกิดแห่งรูปดังนี้ ความดับแห่งรูปดังนี้ เวทนาดังนี้ สัญญาดังนี้ สังขารดังนี้ วิญญาณดังนี้ ความเกิดขึ้น แห่งวิญญาณดังนี้ ความดับแห่งวิญญาณดังนี้ ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ฯลฯ ถอนขึ้นซึ่ง อัสมิมานะได้ทั้งหมด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ย่อมครอบงำ กามราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำรูปราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ ภวราคะทั้งปวงได้ ย่อมครอบงำ อวิชชาทั้งปวงได้ ย่อมถอนขึ้น ซึ่งอัสมิมานะได้หมด (เอ้า จบสูตรนี้ก่อน)

ทีนี้ก็มาอ่านสูตรที่สรุปชัดเจน คือ นตุมหากสูตร ว่าด้วยอายตนะภายนอก ๖ ไม่ใช่ของตน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย (เมื่อเราเห็นว่าไม่ใช่ของตัวเรา ไม่ใช่ของเราแล้ว) เธอทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย รูป ฯลฯ เวทนา ฯลฯ สัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย (นั่นแหละ ที่อ่านมาแล้ว แล้วก็อธิบายไปแล้ว)

รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละรูปนั้นเสีย รูปนั้นอันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อ ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ... เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (เหมือนกันหมด นัยเดียวกัน) ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละธรรมารมณ์นั้นเสีย ธรรมารมณ์นั้น เธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไป เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ชนพึงนำหญ้า กิ่งไม้และใบไม้ ที่มีอยู่ในเชตวันนี้ไป หรือพึงเผา หรือ พึงทำตามสมควรแก่เหตุ ก็เธอทั้งหลายพึงคิดอย่างนี้ว่า ชนย่อมนำพวกเราไป หรือเผา หรือทำพวกเรา ตามสมควรแก่เหตุ ดังนี้บ้างหรือหนอ (ผู้ที่บอกว่า กิ่งไม้นี่ เธอทั้งหลายพึงมีความคิดอย่างนี้ คนนำพวกเรา ไปหรือเผา หรือทำตามสมควรแก่เหตุ เราก็รู้สึกว่าคน นี่ เขามานำเอาเราทั้งๆ ที่เขาเอาหญ้า ทั้งๆ ที่เขาเอากิ่งไม้ ทั้งๆ ที่เอาใบไม้ เขาเอาไปจากปฐมอโศก นี่เอาไปแล้วเราก็เลยมีความรู้สึกว่า เขาเอา เราไป โอ แล้วเขาก็เอาไปเผา หรือเขาเอาไปทำอะไร ก็แล้วแต่เขาเถิดนะ ดังนี้บ้างหรือหนอ)

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า หาเป็นดังนั้นไม่

ก็เขาเอาเราไปที่ไหน ก็มันไม่ใช่เรา เขาเอากิ่งไม้ไป เขาเอาอะไรไป ฉันเดียวกัน ถ้าเขาเอาเวทนาเราไป เราจะบอกว่า เฮ้ย นั่นเอาความรู้สึกเราไปแล้ว เขาเอาสัญญาเราไปแล้ว เราบอก เฮ้ย เขาเอาความ กำหนดสัญญาเราไปแล้ว เอาความจำเราไปแล้ว นั่นของเรานะ สังขารก็ดี วิญญาณก็ดี เขาเอาไปแล้ว จะไปตู่ว่า นั่นเขาเอาเราไป อย่างนั้นหรือหนอ

พระพุทธเจ้าถามว่า ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ภิกษุก็บอกว่า เพราะเหตุว่า หญ้าเป็นต้นนั้น มิได้เป็นตน หรือเป็นของเนื่องด้วยตน ของข้าพระองค์ทั้งหลายเลย นั่นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเนื่องจากตัวเราดอก เราตัดแล้ว เราไม่ได้ยึดมั่นถือมั่นว่าเรา เป็นของเราแล้ว พระเจ้าข้า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล รูปไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

เสียงไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย..ฯลฯ.
กลิ่นไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย...ฯลฯ
รสไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย...ฯลฯ
โผฏฐัพพะไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย.... ฯลฯ

ธรรมารมณ์ ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงละธรรมารมณ์นั้นเสีย ธรรมารมณ์นั้น อันเธอทั้งหลาย ละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข

(ผู้ละได้แล้ว เมื่อละได้แล้ว ผู้นั้นจักเป็นไป จักดำเนินไป ถ้ายังไม่ปรินิพพาน ก็จะมีสุคติ หรือมี อากังขาวจร หรือมีอวจรของตัวเรา ยังดำเนินไปต่ออยู่ การดำเนินไปต่อ ของตัวเรา ก็จะเป็นไป เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข สุขที่ว่านี้รวมทั้งเรา ก็เป็น วูปสโมสุข สุขของคนที่อื่น ที่เราจะอนุโลมให้แก่เขา อย่างอาตมา อนุโลมให้คนไปร้องเพลง เขาสุข ก็สุขไปบ้างเถิด โปรดเปรตนิดหน่อยไป ปล่อยเปรตบ้าง อะไรอย่างนี้เป็นต้น เราเอง เราก็วูปสโมสุข คนอื่นก็เป็นสุข ร่วมกันไปหมด)

ทีนี้กลับมาอธิบายตรงที่ว่า ถ้าเราเข้าใจตรงที่ว่า อันนี้ ไม่ยึดว่าเราเป็นเราได้นี่ มันตรงไหน ตรงที่สัญญา กำหนดรู้ สัญญาตัวนี้แหละ คือตัวไปเป็นปัญญา ไปเป็นญาณ ญาณกำหนดรู้ทั้งหมด และท่านตรัสว่า เที่ยงด้วย เช่นอาตมาเอา จูฬวิยูหสูตร มาอ่านสู่ฟังนี่ ที่ท่านบอกว่า สัจจะมากหลาย ต่างๆกัน เว้นจากสัญญาว่าเที่ยงเสีย ไม่มีในโลกเลย อันตรงนี้แหละ ที่อาตมาขยายความไปแล้ว เนื้อหาพวกนี้ อาตมาไม่อ่านต่อแล้ว ค่อยๆไปศึกษา เพราะฉะนั้น จุดจบจะเรียกว่า สัจจะที่สูงสุด ก็ต้อง ที่สัจจะไม่ต้องติดยึด ในบัญญัติว่าสัจจะแล้ว แต่ก็เป็นสัจจะนะ สัจจะสูงสุด สุดที่ตรงสภาวะ ของการกำหนดรู้ และสัญญานี้ รู้ยิ่งเห็นจริง เป็นญาณ หรือ เป็นปัญญา กำหนดรู้ความเที่ยง ท่านบอกแล้วว่าสัญญาว่าเที่ยง สัญญายะ อาการตามกำหนดเป็นกิริยา กำหนดรู้แล้ว นำการกำหนดรู้ รู้อะไร รู้ความเที่ยง แล้วอะไรล่ะ ที่สุดแห่งที่สุดของศาสนาพุทธเที่ยง อะไรเที่ยง สัญญา ไปเที่ยงอย่างไร วนแล้ว เข้าป่าแล้ว อะไรเที่ยง อุภโตภาควิมุติเที่ยง อาการนั้น ในตนของตนเท่านั้น

ฟังตรงนี้อีก อาการนิพพาน อาการอุภโตภาควิมุติ อาการเจตโส อภินิโรปนา จิต เจโตวิมุติ รู้ว่าจิตของเรา เป็นธาตุรู้ และเป็นธาตุที่ทนได้โดยไม่ทุกข์ ไม่เดือดร้อน ไม่เปลี่ยนเป็นอื่น ไม่ปรุง ไม่กิเลส เข้าไปแทรกได้ ไม่เป็นอื่น ไม่เป็นอะไร เป็นอย่างนั้นๆ ในสำนวนนี้ก็รู้สึกว่า เป็นอย่างนี้ เราก็กำหนด เป็นอย่างนี้ๆ แหละ ไม่เป็นอื่นเลย ไม่เป็นอย่างนั้นๆ อย่างอะไรอีก ก็เป็นอย่างนี้ก็คือ ว่างจากกิเลส โดยรู้ จริงจังเลยว่า กิเลสคืออะไร ธุลีละอองของกิเลส อาสวะคืออะไร อนุสัยคืออะไร มันไม่มีตัวตน ของตัวนี้แล้ว อนัตตาแล้ว สูญแล้ว ไม่มีตัวจะมาเป็นอะไรอื่นอีกเลย มันไม่เกิดอีก มีแต่สูญอยู่อย่างนี้ รู้แล้วตัวปัญญา หรือสัญญาที่กำหนดรู้นี่ เป็นปัญญาแล้ว เป็นญาณสูงสุดแล้ว เป็นวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นญาณทัสนะวิเศษ ที่อ่านรู้วิมุติ วิมุติอันนี้ ไม่เป็นอื่น ไม่ต้องศึกษาอีก ไม่ต้องมาฝึกหัดอีก ไม่ต้องมาทำใหม่ เที่ยงแท้ แน่นอนมั่นคง เงียบเลยนะ นี่คือ สัญญายะ นิจจานิ แล้วธรรมารมณ์ทั้งหลาย ก็ไม่มีแล้ว ไม่มีอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อุเบกขา วางเฉย อทุกขมสุข ไม่มีทุกข์และไม่มีสุข

อาการนี้ คุณจะต้องรู้ด้วยตนจริงๆ บอกแล้วว่า แค่เป็นฐานอาศัย เพราะเรายิ่งมีรูป นาม ขันธ์ ๕ เรายังมีรูปจริง เรายังมีเวทนาจริง ตามสมมติสัจจะ ยังไม่สลาย เรายังมีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ แล้วก็มาทำงานเก่งหมด เวทนากำหนด เวทนารู้ คืออาการมันรู้สึก มันรู้ รู้อะไร คืออะไร รู้นะมันรู้ แล้วตัวสัญญากับเวทนา ที่จะคู่กัน ทำงานปลีกเดี่ยวไม่ค่อยได้ดอก มันจะต้องมีสอง พอเวทนากระทบ เวทนารู้ สัญญาก็กำหนดเปลี่ยน กำหนดเทียบ กำหนดไปหาความจำ เราจำได้ อย่างนี้ เราเรียกว่า ไมโครโฟน กระดาษ เราก็ธรรมดา อ่านตัวหนังสือก็คือตัวหนังสือ บอกเรื่อง ก็รู้เรื่อง จำได้ เรื่องอะไรก็จำได้ แต่มีปรุงรสไหม ไม่มี ธรรมารมณ์ ไม่ได้ไปติด ในอารมณ์ของอะไรๆ ธรรมะคือ ทุกสิ่งทุกอย่างทั้งปวง ไม่ได้ติดในอารมณ์อร่อย อารมณ์โลกียะ อารมณ์อะไร มีแต่อารมณ์นิพพาน คือ อารมณ์ว่าง อารมณ์ไม่มีกิเลส อารมณ์ไม่เป็นอื่นอีกเลย อารมณ์มันเป็นอย่างนี้ อย่างที่มันว่าง มันอุเบกขา มันบริสุทธิ์ มันเฉย มันไม่มีการสังขารร่วมปรุง แถมมัน สัญญากำหนดรู้ แล้วมันปรุงกับเขาอีก ยังได้เลย

ที่อาตมาอธิบาย เป็นปฏินิสสัคคะ สลัดคืน ไปปรุงร่วมกับเด็กๆ ที่ว่า เล่นหม้อข้าวหม้อแกง เหมือนเด็ก อาตมาสนุกกับเขา แล้วเราก็ต้อง อ่านจิตเราด้วยว่า แล้วเราสนุกกับเขานั่นนะ เราแอบเสพหรือเปล่า เรามีอารมณ์ปรุง เรามีสังขารหรือเปล่า ต้องไปอ่าน คนคืออะไร มนุษย์ ๓ ขันธ์ มีรูป เวทนา สัญญา เท่านั้น สังขารไม่มี ตัดสังขาร ไม่มีตัวปรุงให้แก่ตน ถ้าเวทนากับสัญญา จะส่งไปหาวิญญาณ ก็เป็นธาตุรู้ ใช้ภาษาได้ว่า เป็นธาตุรู้ มันก็สักแต่ว่ารู้ โดยไม่มีสังขารแล้ว นี่แหละคือ การดับสังขาร สิ้นในโลก ดับสังขารแล้วจบ

คุณสัญญาย นิจจานิ คุณกำหนดรู้อันนี้ได้ การกำหนดรู้นี้ ชาญฉลาดขึ้นไป จนเป็นญาณปัญญา กำหนดรู้ อย่างชัดตามความเป็นจริง มันเป็นอย่างไร ต้องเห็นความเป็นอันนั้น ให้ตรงที่สุด อย่าเบี้ยว อย่าหลอกตัวเอง คุณมีญาณเกิด ญาณฉลาด ญาณที่รู้แจ้งเห็นจริงของคุณ ก็คือ คุณยังหลงก็คือ คุณหลง คุณจะรู้จริง ก็คือคุณรู้จริง เพราะฉะนั้น คุณเกิดญาณนี้จริงเมื่อใด แล้วมีสภาวะนี้จริงเมื่อใด ถึงที่สุดเมื่อใด เมื่อนั้นเราก็ถึงที่สุด เมื่อนั้น จบอยู่ที่ สัญญาย นิจจานิ แต่ไม่ได้หมายความว่า สัญญานั้นเที่ยงนะ สัญญานั้นเป็นปัญญา เป็นญาณทัสนะ ไปกำหนดรู้ รู้แล้วว่าอันนี้เที่ยง พอรู้แล้ว เราก็ไม่ได้ติดยึด สุดท้าย พระอรหันต์เจ้า จะใช้สัญญานี้ ที่เป็นปัญญายิ่งยอดนี่ ก็ใช้ไป แต่ท่านใช้แล้ว ท่านหลงเผินอีกไหมว่า โอ้ นี่มันน่าได้ น่ามี น่าเป็นอยู่ มันเป็นเรา เป็นของเรา คุณเวียนวนอีกแล้ว วนอีกแล้วว่าเป็นเรา เป็นของเราอีก โดยคุณไม่ต้อง จบตรงที่ ถึงอย่างนั้น ก็อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น ว่าเป็นเรา เป็นของเรา แต่มันก็เป็นของเรานั่นแหละ

แต่เมื่อเราวาง อาการไม่ยึดมั่นถือมั่น ว่าเป็นเรา แค่สมาทาน ฉวยไว้ถือไว้อย่างสงบ สมะ นี่แปลว่าสงบ อาทาน นี่แปลว่า ถือไว้ ถ้าอุปาทานแล้ว ฉวยไว้อย่าเกิด มันจะเกิดอะไร ก็ตามแต่ เกิดกิเลส เกิดตัว เกิดตน เกิดอะไรไปอีก ไปกันใหญ่เลย อุปะ + อาทานนี่ อุปาทาน มันจะติดยึด เพราะฉะนั้น เมื่อเราเฉยไว้ อย่างสมาทาน อย่างรู้ อย่างสงบแล้ว อย่างไม่เกิดกิเลสอีกแล้ว ก็ฉวยไว้ อาศัยฉวยไว้ เพื่อเกิดประโยชน์ เพื่อการประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข พหุชนสุขายะ เพื่อความสุขของชน เป็นอันมาก เราก็ร่วม วูปสโมสุขอยู่ด้วย เราก็สุขอย่างสงบอยู่ด้วย คนอื่นๆ ก็สุขด้วย ตามฐานะที่เรา จะเกื้อกูลเขา แต่ไม่ให้เขาหลงใหลได้ปลื้มนะ ต้องขัดเกลา ต้องช่วยขัดเกลา เพราะฉะนั้น พระอริยเจ้า โดยเฉพาะพระอรหันต์ก็จะทำงาน เพื่อที่จะช่วยเหลือมนุษย์ เป็นโพธิกิจ รื้อขนสัตว์ ช่วยสัตว์อื่น ให้มาเป็นสุขอย่างเรา ให้มาได้ความประเสริฐอย่างเรา ให้มาได้รับความรู้ อันวิเศษ เยี่ยมยอดนี้ เหมือนเรา ไม่หวงแหน

อาตมาอยากให้ได้พร้อมกันหมดเลย นี่พรึบเลยนี่ ไม่หวงเลย จริงจริ้งนี่ ไม่หวงเลย มีแต่ ทำอย่างไร มันจะได้ จะทำอย่างไรมันจะได้ มันไม่หวงเลย เพราะถ้าได้กันแล้ว มันไม่ต้องมาทะเลาะกัน ไม่ต้องมาริษยากัน ไม่ต้องมาแย่งชิงกัน ไม่ต้องมาอะไร เพราะคุณได้แล้ว คุณมีแต่จะไปเห็นแก่ผู้อื่น คุณมีแต่จะไปเกื้อกูลผู้อื่น คุณยิ่งจะไป ทำให้โลกนี้สงบ ทำให้โลกนี้อุดมสมบูรณ์ ทำให้โลกนี้สว่างไสว ทำให้โลกนี้ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ บูรณภาพ ก็เรียนเป็นภาษานั้นนะ ให้มันมีอาการหน่อยเถิด

โดยเฉพาะ อาการภราดรภาพ ของชาวปฐมอโศก หรือชาวอโศกเรานี่ มันยังไม่ค่อยภราดรเลย มันภราดัน ภรา หา อะไร ภราดับ หนีบ้างนะ ดันบ้าง หนีบ้าง มันไม่ภราดร ประสานสมานกัน เป็นพลังปึกแผ่น พลังหนึ่งเดียว พลังที่เบิกบาน รื่นเริง เป็นพี่เป็นน้องอันสนิทจริง มันยังไม่ ก็ขอแถมตัวจบ จุดจบตัวนี้แก่พวกเรา ฝากไว้

ก็คือพวกเราที่ทำงานมากันแล้ว หรือฝึกหัดฝึกฝนกันมาแล้วนี่ จริง มีความเป็นภราดรภาพ เป็นพี่น้อง กันพอสมควร แต่จิตใจหรือปัญญาญาณ หรือว่า การล้วงลึกเข้าไปถึงสภาวะ จนเราเป็นได้อย่างดีเยี่ยม มันยังมีการมองเพ่งโทษ เพ่งนั่น เพ่งนี่

ก็พวกเราดีขนาดนี้ ยังไม่ถือว่าเป็นพี่เป็นน้อง เป็นอะไรต่ออะไรกัน ยังถือสา เอาเป็นเอาตายกัน จะทะเลาะ วิวาท สุดท้าย ฆ่าแกงกัน จะไล่จากกัน แยกกัน มันจะบ้ากันนะ พวกเรานี่ เรามีดีกันขนาดนี้แล้ว มีพี่ดี มีน้องดี มีลูกดี มีหลานดี มีป้า มีน้า มีอาดีขนาดนี้นี่ เรารักกันไว้ เราประสานกันไว้เถิด อย่าให้แตกแยกกันไปอีกเลย อาตมาก็พยายามซ้อน พยายามกรอง พยายามเอามาให้ได้ ขนาดนี้แล้ว มาอยู่รวมกันนี้แล้วนี่ จะเป็นไก่ในเข่งไก่ในสุ่ม จิกกันไม่รู้จักจบ หัวล้างข้างแตก อยากเอา หลายชาติ อนุโลมปฏิโลมกันบ้าง เข้าใจกันให้ได้บ้าง เออ คนนี้จริตอย่างนี้ คนนี้ก็ฐานอย่างนี้นะ เราจะทำอย่างไรช่วยเขาได้ ถ้าช่วยไม่ได้ มันจะเกิดทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ประสานกัน เราก็เป็นคนยอม เสียก็แล้วกัน ประสานกันดู เรื่องไหนเหนือบ่ากว่าแรง เอาเข้าหมู่ เอาเข้าหมู่สงฆ์ หรือ มาถึง อาตมาเป็นที่สุด เราช่วยไม่ได้แล้วหนอ แต่ปรารถนาจะช่วยเขา เอาเรื่องเอารายละเอียดเหล่านั้น มาบอกข้อมูล

แล้วใจเรา การฟ้องกับการบอกข้อมูล นี่ต่างกัน ก็เคยบอกแล้วว่า การฟ้องนี่ ประกอบไปด้วย อกุศลจิต ถ้าเราเอามาบอกผู้ใหญ่ หรือมารายงานผู้ใหญ่ก็เพื่อเรา แหม ไอ้คนนี้นี่ เราเกลียดจัง หรือว่าเรารักมากเกินไป ก็ไม่ต้องไปรักมากเกินไปละ แต่ปรารถนาดีต่อกัน รักมาก ก็จะเพ็ดทูลแต่เรื่องดี ชังมาก ก็จะเพ็ดทูลแต่เรื่องชั่ว มันจะเอียง เพราะฉะนั้น ก็พยายามวางใจเป็นกลางๆ เอาเรื่องตรงของผู้นี้มา อย่าไปเอามา ด้วยความรักเขามาก ก็เลยมาเพ็ดทูล แต่เรื่องดีมาก เรื่องไม่ดีก็ลืมไป ตาฟาง ไม่เห็นความไม่ดีเขา เอาสิ่งจริง มาทั้งหมด เพราะฉะนั้น การเพ็ดทูล ก็คือ การเอามารายงาน ด้วยจิตที่มีอกุศลจิต อกุศลเจตสิก ที่มีความลำเอียงด้วยรัก หรือด้วยชังมาบอก เราจะพยายามมารายงาน ต้องพยายามเอามารายงาน อย่าให้มีกิเลสเหล่านี้ เข้าไปร่วมปรุง ไปร่วมผสม ไปมีฤทธิ์ด้วย เรียกว่า มาบอกข้อมูล หรือมาบอกข้อมูลได้ดีสุด จบ แล้วก็วางใจ ปล่อยเป็นหน้าที่ของท่านแล้ว เราร่วมช่วย ไม่ได้ ไปช่วยคนโน้นคนนี้ไม่ได้ เป็นลูกก็ตาม ยังช่วยลูกไม่ได้เล้ย เราไม่เก่ง ไอ้ลูกมันเป็น ลูกบังเกิดเกล้า หรือน้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รุ่นสูงกว่าแล้ว จะช่วยผู้อื่นยาก รุ่นพี่ รุ่นพ่อ รุ่นแม่ รุ่นปู่ รุ่นย่า โอ! ยิ่งช่วยยาก เพราะคนเหล่านั้น จะถือตัวว่าเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้สูง ฉะนั้น ผู้ใหญ่ ผู้สูง ก็มีอัสมิมานะได้ นั่นก็ยาก เราก็อยากจะช่วย ปรารถนาจะช่วย ก็มีวิธีการเอาเข้าหมู่ ให้หมู่ช่วย หรือ ผู้ใหญ่ที่เราคิดว่า ท่านจะช่วยได้ พูดอย่างนี้ หางานมาให้แก่ตัวเองเยอะนะนี่ อาตมา

 


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ป

ถอดโดย จอม ศรีสวัสดิ์ ๑๗ มิ.ย. ๓๗
ตรวจทาน ๑ โดย สม.ปราณี ปึงเจริญ ๑๘ มิ.ย. ๓๗
พิมพ์โดย ทองแก้ว ทองแก้ว ๙ ก.ค. ๓๗
ตรวจทาน ๒ โดย ป.ป. ๑๕ ก.ค. ๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์
ADD5B.TAP