สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน

บทที่ ๖

สร้างสังคมไทย

กระบวนการขั้นสุดท้าย ของการพัฒนาชุมชน ตามแบบอโศก คือ การสร้างสังคมไทย ถึงแม้ว่าบางคน จะมองศาสนาพุทธ ตามประเพณี ว่าเป็นศาสนาของปัจเจกบุคคล ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับสังคม แต่ชาวพุทธ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับสังคม เช่น อโศกก็ยังมีอีกมาก วิธีที่จะเอาความคิดทางพุทธ แบบประเพณีนิยม มาผนวกกับพุทธ ที่เกี่ยวข้องกับสังคม ก็คือการเสียสละ ชาวอโศก เสียสละสิ่งต่างๆให้ผู้อื่น ที่อยู่นอกเหนือจากชุมชนของตน วิธีนี้ทำให้สมาชิกอโศก มีโอกาส “ทำบุญ” เพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมี ของความเป็นปัจเจกบุคคล ไปในตัว

ต่อคำถามเกี่ยวกับทิศทาง ของการทำงาน ผู้นำของศีรษะอโศก ตอบแบบนักปฏิวัติ ที่กำลังปฏิบัติการ ปลดปล่อยสังคม (จากภาวะเศรษฐกิจ ที่กำลังถูกบีบคั้น) ว่า
เรากำลังเดินทางไปสู่ การกู้สังคมไทย ประเทศไทยของเรา เข้าสู่ภาวะ เศรษฐกิจคับขัน ในปี ๒๕๔๑ คนไทยส่วนใหญ่ มีความทุกข์แสนสาหัส แต่ศีรษะอโศก และชุมชน ที่อยู่ในเครือข่ายอโศก ไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่อย่างใด เพราะว่าเราไม่ได้เลือก อยู่ใต้ภาวะนั้น เราไม่ต้องหนี หรือต่อสู้ กับภาวะคับขัน ตรงกันข้าม เรามองเห็นหนทาง ที่จะช่วยเพื่อนมนุษย์ เราต้องเสียสละ เพิ่มพลังที่จะช่วยสังคม ....     แม้ว่ากิจกรรมหลายอย่าง ในศีรษะอโศก ยังไม่พร้อม สำหรับสาธารณะ แต่เราต้องเปิดประตูของเราให้กว้าง เพื่อให้คนภายนอกมาสำรวจ เพราะว่า สมณะโพธิรักษ์ เขียนโคลงไว้บทหนึ่ง ในวันปีใหม่ และชุมชนอโศก ยึดถือเป็นนโยบาย โดยปริยาย โคลงบทนั้น ความว่า

รวมความมีใจกว้างของคุณ
เป็นที่หลบภัยของสังคม
สร้างนาวาบุญนิยม
เพื่อช่วยชีวิตคนทั้งมวล

ปัจจุบันนี้ (๒๕๔๓) มีสมาชิกประจำ อยู่ที่ศีรษะอโศก ๓๑๕ คน ทุกคนต้องทำงานเร็ว เพราะว่าชุมชนของเรา ต้องรักษามาตรฐานการผลิต และ แรงงานส่วนหนึ่ง สูญไปในการบริการสัมมนา และให้การศึกษาแก่ผู้มาเยี่ยมเยียน ทุกคน จึงต้องทำงานหนัก แม้จะไม่ได้ค่าจ้าง เราก็พอใจกับผลบุญ เรามีความภาคภูมิใจ ที่ได้เสียสละให้สังคม และประเทศชาติของเรา

จะเห็นได้ว่า กลุ่มอโศก มีความมุ่งมาตปรารถนา ที่จะช่วยเหลือสังคมไทย ลดแรงกดดัน จากความคับขันทางเศรษฐกิจ นอกเหนือไปจาก หน้าที่พัฒนาจิตใจ ของสมาชิกแต่ละคน

ความจริง วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นำความลำบากมาสู่คน ทั้งในเมืองหลวง และชนบทพอๆกัน แต่ความยากจน คืบคลานเข้ามา สู่ถิ่นสลัมในกรุงเทพ ฯ และดินแดนภาคอีสาน ก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศ จะล่มจม

หมูเฒ่า ซึ่งเป็นสมาชิกศีรษะอโศก และเป็นคนภาคอีสาน เล่าว่า “บางครอบครัว ยากจนจริงๆ จนถึงกับ ต้องให้เด็กกินดิน ที่แตกระแหง”

ต่อไปนี้ เป็นสิ่งที่อโศก ช่วยเหลือสังคมไทย

การช่วยเหลือทางวัตถุและจิตใจ

การพัฒนาทางวัตถุและจิตใจ เป็นสิ่งอาศัย ซึ่งกันและกัน การบริโภควัตถุ แต่พอควร เป็นรากฐานของการปฏิบัติธรรม และการมีศีลธรรม ย่อมนำมา ซึ่งการผลิตวัตถุปัจจัยที่มีคุณค่า ปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพ คือปัจจัย ๔ ซึ่งมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้ บุคคลจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ หรือปฏิบัติธรรมให้สมบูรณ์ได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าขาดคุณธรรม การผลิตปัจจัยเหล่านี้ ก็จะไม่มีคุณภาพ

อาสัมพันธ์ อธิบายว่า การปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ จะช่วยเศรษฐกิจ ของประเทศไทย 
เราจะช่วยลดค่าใช้จ่าย ของประเทศไทย ลงได้มาก ถ้าเราไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน และเราจะมีกำลัง เวลา สติ ปัญญา และสุขภาพดี ดังนั้น นอกจาก ช่วยลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยเพิ่มรายได้ ให้แก่ประเทศด้วย

ความเกี่ยวเนื่อง ระหว่างการพัฒนา ทางวัตถุและจิตใจ ในระดับที่ลึกซึ้ง อาจเห็นได้จาก มรรคมีองค์ ๘  (เห็นชอบ คิดชอบ พูดชอบ เพียรชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ มีสติชอบ ใช้สมาธิชอบ)  ผู้เขียนยกตัวอย่าง สมณะโพธิรักษ์ ซึ่งใช้ชีวิตตามแบบ มรรคมีองค์ ๘

ก่อนออกบวช สมณะโพธิรักษ์ เป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ และนักประพันธ์เพลง ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง (รู้จักกันในนาม รัก รักพงศ์) ความสำเร็จในอาชีพ ทำให้ท่าน มีความเป็นอยู่อย่างดี เช่น มีบ้านหลังใหญ่ รถยนต์ราคาแพง และความฟุ่มเฟือย อย่างคนหนุ่มทั้งหลาย แต่แทนที่ จะเพลิดเพลิน อยู่กับชื่อเสียงและเงินทอง รัก รักพงศ์ กลับเห็นว่า ชีวิตเช่นนั้น ไม่มีค่า “เหมือนกับน้ำ ที่กำลังไหลผ่านไป” ท่านหันมาสนใจ พระพุทธศาสนา ในขณะที่อาชีพธุรกิจบันเทิงของท่าน กำลังรุ่งเรือง หลังจากปฏิบัติธรรม อย่างเอาจริงเอาจังอยู่ ๒ ปี ท่านลาออกจากงานโทรทัศน์ แล้วบวชเป็นพระภิกษุ เปลี่ยนแปลง แนวทางชีวิต ให้เข้ากับ มรรคมีองค์ ๘ และสนับสนุน ให้คนอื่นปฏิบัติตาม

สมณะโพธิรักษ์ และขบวนการอโศก จึงเกิดขึ้น ขบวนการนี้ ได้ประดิษฐาน และขัดเกลาความเป็นจริง ของวัตถุบางอย่าง ให้สะท้อนคุณค่าทางพุทธศาสนา อย่างที่เห็นอยู่ ในปัจจุบันนี้

การพิมพ์โฆษณา

นับเป็นเวลา ๒๕ ปี ที่ขบวนการอโศก อาศัยสิ่งพิมพ์ ติดต่อกับประชาชน ที่อยู่นอกวงการปฏิบัติ เพื่อความเข้าใจทัศนะ และการดำเนินงานของอโศก เดี๋ยวนี้ มูลนิธิธรรมสันติ รับหน้าที่ จัดพิมพ์วารสาร สำหรับขบวนการอโศก เช่น วารสารรายไตรมาส

สารอโศก เพื่อให้ข่าวสารแก่สมาชิก และคนภายนอก นอกจาก คอลัมน์ประจำ เช่น “๑๕ นาทีกับพ่อท่าน” “ซาบซึ้งกับธรรม” และ “จดหมายจากญาติธรรม” สารอโศก ยังลงบทความ เกี่ยวกับโอกาสพิเศษ เช่น วันเข้าพรรษา วันทำงานครบ ๓๐ ปี ของพ่อท่านโพธิรักษ์ สรุปรายงาน ของอโศกทั่วประเทศ และเหตุการณ์ ของแต่ละชุมชน ข้อคิดเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น วัฒนธรรม ดนตรีไทย

เราคิดอะไร เป็นวารสารที่ออกรายปักษ์ เป็นเวทีอภิปราย ปัญหาสังคม คอลัมน์ประจำก็มี จดหมายเปิดซอง จากอดีตผู้ว่าราชการ กทม. และสมาชิกอโศก พลตรีจำลอง ศรีเมือง จดหมายจากผู้อ่าน ความคิดทางการเมือง ในพุทธศาสนา และ ครัวมังสวิรัติ บทความแนวหน้าใน เราคิดอะไร มีน้ำหนัก ไปในแนว วิพากย์วิจารณ์ มากกว่า สารอโศก บทความ เช่น “คนไทยจะเป็นทาส ไปนานเท่าไรหรือ" “ผลประโยชน์ของคนที่มีคุณค่า”  เหล่านี้ปรากฏอยู่ใน เราคิดอะไร

วารสารที่ออกประจำ อีกฉบับหนึ่ง คือ

ดอกหญ้า เป็นวารสารสำหรับเด็ก ออกเป็นรายเดือน มีบทความ เกมส์ รูปการ์ตูน แบบที่จะสื่อ ความคิดของอโศก ไปสู่ผู้อ่านรุ่นเยาว์

แม้ว่าอโศก จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง กับการพิมพ์ แต่สมาชิกหลายคน รู้จักอโศก เป็นครั้งแรก จากการอ่านวารสาร และปัจจุบัน ก็ยังอ่านวารสาร เป็นประจำ สมาชิกอย่างน้อย ๒ คน อธิบายว่า การแจกหนังสือ ให้สาธารณะ โดยไม่คิดเงิน ก็เป็นการช่วยสังคมอย่างหนึ่ง

ท่านดินธรรม เราเผยแพร่แก่นแท้ ของการดำรงชีวิต ในรูปหนังสือ เราพิมพ์หนังสือ แล้วแจกฟรี นี่เป็นการช่วยสังคม เราแจก สารอโศก ดอกหญ้า และ หนังสืออื่นๆ เราไม่คิดเงิน เราส่งหนังสือ ให้สมาชิก หรือ ใครที่ต้องการ ใครมาหา เราก็แจกหนังสือ

อาจันทิมา กลุ่มอโศก ส่วนใหญ่ช่วยสังคมไทย โดยการผลิตหนังสือ และเทป ผู้ที่สนใจจะอ่าน ฟัง และปฏิบัติตาม พุทธศาสนาที่แท้จริง ผลประโยชน์ ก็จะเกิดขึ้นกับตัวเขาเอง ครอบครัว และชุมชน ที่เขาอาศัยอยู่

เกษตรกรทุกคน ซึ่งมารับการอบรม ที่ศีรษะอโศก จะได้รับแจก วารสาร สารอโศก บางคนสนใจอ่าน บางคนเฉยๆ แต่ทุกคน ก็เก็บหนังสือกลับบ้าน เพราะถือว่า การอ่านหนังสือธรรม เป็นการสร้างบุญอย่างหนึ่ง ผู้เขียนเอง ก็ได้รับแจกหนังสือ เป็นตั้งๆ  แสดงให้เห็นว่า ศีรษะอโศกแจกหนังสือ ให้แขกที่มาเยี่ยมเยียน
คำอธิบายภาพ “สิ่งสำคัญที่สุด ของชุมชนศีรษะอโศก” ของท่านดินธรรม ก็คือ หนังสือธรรมะ ชาวอโศกถือหลัก “เราจะพิมพ์หนังสือธรรมะ สำหรับพลโลก” วัตถุประสงค์ ของการแจกหนังสือ คือ

  1. เพื่อเพิ่มแรงธรรมให้แก่ผู้อ่าน
  2. เพื่อรำลึก ทบทวน สรุปบทธรรม และกิจกรรมเกี่ยวกับธรรม
  3. เพื่อเป็นเข็มทิศชี้แนะแนวทาง การปฏิบัติที่ถูกต้อง และ
  4. เพื่อให้คนหนุ่มสาว ได้รับข่าวสาร จากการศึกษาธรรม และการปฏิบัติ ตามแนวอโศก เพื่อที่จะนำไปใช้ ในการงาน ซึ่งเป็นหนทางเดียวกันกับ ศาสนา

วัตถุประสงค์ทั้งสี่ข้อนี้ ปรากฏอยู่ บนปกใน ของ สารอโศก แต่ท่านดินธรรม เพิ่มเติมอีกข้อหนึ่ง ดังนี้

  1. เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกและปัญญา ทำให้เกิดความตระหนัก ถึงคุณค่า และพื้นฐานทางศาสนา ในการแก้ปัญหาชีวิต และสังคม

สิ่งพิมพ์ของอโศก จึงเป็นเครื่องมือ ในการส่งเสริม “ความเข้าใจที่ถูกต้อง” เกี่ยวกับสาเหตุ ที่ทำให้เกิดโรค และการรักษา โรคความทุกข์ทั้งหลาย

 

มังสวิรัติ           

เนื่องจากอโศกเห็นว่า การกินอาหารมังสวิรัติ เป็นการปฏิบัติที่จำเป็น สำหรับผู้รักษาศีล สมาชิกใด ไม่ชักชวน ให้ผู้อื่นเลิกกินเนื้อสัตว์ จึงถูกกล่าวหาว่า มีความบกพร่อง โดยทั่วไปคนไทย รู้จักศีล ๕ ข้อแรก ว่าห้ามฆ่า หรือ ทำอันตรายสัตว์ ด้วยเหตุนี้ การกินอาหารมังสวิรัติ จึงเป็นการรักษาศีล โดยปริยาย

ท่านดินธรรม พูดถึงความสำคัญ ของการช่วยสังคมไทยในข้อนี้
เขาพูดกันว่า การกินอาหารมังสวิรัติ เป็นคุณสมบัติข้อที่หนึ่ง ของคนอโศก เราปล่อยให้คน คุ้นเคยกับอาหารมังสวิรัติ -อาหารบริสุทธิ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับศีลธรรม ไม่มีความจำเป็น ที่คนเราไปกดขี่ ชีวิตสัตว์ ดังนั้น เราจึงช่วยให้คน รักษาศีล ด้วยการกินอาหารมังสวิรัติ อาหารนี้ มีผลดีกับสุขภาพ ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ

ขบวนการอโศก ช่วยให้คนภายนอก คุ้นเคยกับอาหารมังสวิรัติ โดยการเปิดร้านอาหาร ราคาไม่แพง ในที่หลายแห่ง และแจกอาหารฟรี แก่ประชาชนทั่วไป ปีละครั้ง เมื่อหลายปีล่วงมาแล้ว พลตรีจำลอง ศรีเมือง และ คุณศิริลักษณ์ ภรรยาของท่าน เปิดร้านอาหารมังสวิรัติอโศก ร้านแรก ติดกับตลาดจตุจักร กรุงเทพฯ เดี๋ยวนี้ มีร้านอาหารชนิดนั้น หลายแห่ง ในต่างจังหวัด ในตัวเมือง ที่อยู่ใกล้กับชุมชนอโศก ร้านเหล่านี้ เปิดตั้งแต่ ๗.๐๐ น.ไปจนจึง ๑๔.๐๐ น. คนทำงานในร้าน เป็นอาสาสมัคร ผู้เขียนเล่าว่า ร้านอาหาร ที่เธอไปเยี่ยม ที่กรุงเทพ ฯ และที่เชียงใหม่ มีลักษณะเหมือนร้านอาหาร คาเฟตทีเรีย ทั่วๆไป ในเมืองไทย ยกเว้น ฝาผนังของร้านนี้ ประดับประดา ด้วยคำขวัญของอโศก และภาพชีวิตแบบอโศก แทนที่จะเป็นปฏิทิน รูปผู้หญิงเปลือยกาย ตอนเที่ยง ร้านนี้คับคั่งไปด้วยลูกค้า ที่เป็นสมาชิกอโศก ข้าราชการ เจ้าของร้านค้า คนขายหาบเร่ และนักท่องเที่ยว ลูกค้าที่ไม่ใช่นักมังสวิรัติ ที่ผู้เขียนสัมภาษณ์ บอกว่า มากินอาหารที่ร้านมังสวิรัติ เพราะว่า อาหารราคาถูก และมีรสดี หลายคนชมว่า เต้าหู้ ที่ร้านนำมาปรุง มีรสไม่ผิดเพี้ยนไปจากอาหาร ที่ทำจากเนื้อสัตว์

นอกจากเปิดร้านอาหารมังสวิรัติ ขบวนการอโศก ยังแจกอาหารมังสวิรัติฟรี ให้แก่ประชาชน ทุกๆปี ในวันที่ ๕ ธันวาคม ซึ่งเป็นวัน เฉลิมพระชนม์พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ใน พ.ศ. ๒๕๔๓ สมาชิกอโศก แจกอาหารฟรี ๗๓ แห่ง ทั่วประเทศไทย เพื่อเป็นที่ระลึกถึง วันเฉลิมพระชนม์พรรษา ที่ ๗๓ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

อาทางบุญ บรรยายเหตุการณ์นี้ว่า
ในวันที่ ๕ ธันวาคม เรามีโรงทาน อาหารมังสวิรัติ ทั่วประเทศไทย เราทำงานนี้ มาตลอดเวลา สามสิบปี เริ่มตั้งแต่ก่อตั้งอโศก เราทำทุกปี ไม่เคยเว้น กลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศไทย ทำอาหาร แล้วนำไปทำบุญ เราทำเพื่อสังคม นั่นคือ เราให้ประชาชน ทั่วประเทศไทย ได้กินอาหารมังสวิรัติสักวัน สมมติว่า ทุกคน กินมังสวิรัติ ในวันนั้น ก็จะไม่มีใครฆ่าสัตว์ ใช่ไหม? แต่ทุกคน ก็มีอาหารกิน นี่เป็นการเสียสละ

ผู้เขียนเล่าว่า ในวันเฉลิมพระชนม์พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ ประชาชน กลุ่มต่างๆ นับหมื่นแสน ก็มีกิจกรรม เช่นเดียวกับอโศก เช่น โบสถ์พระวิษณุ แจกน้ำดื่ม สมาคมคนจีน แจกอาหาร (แม้จะไม่ใช่ อาหารมังสวิรัติ) ช่างตัดผม บริการตัดผมฟรี ที่สนามหลวง สภากาชาด ตั้งกระโจม ตรวจความดันโลหิต ให้ฟรี แม้ว่าอโศก จะไม่ได้ผูกขาด ในการเสียสละแต่ผู้เดียว การร่วมแรงร่วมใจ ในโอกาส ที่สำคัญ ของชาติเช่นนี้ ทำให้อโศก ได้แนะนำสาธารณะชน ให้รู้จักอาหาร ที่ถูกหลักอนามัย ของชาวพุทธ

 

ตลาดบุญนิยม
ขบวนการอโศก เสียสละให้สังคมภายนอก เป็นประจำ โดยการติดตลาดชุมชน เช่น “ร้านน้ำใจ” ที่ศีรษะอโศก “ตลาดอริยะ” ในงานฉลอง วันปีใหม่ ของอโศก ทั่วประเทศ วัตถุประสงค์ที่สำคัญ ของการติดตลาด ก็เพื่อให้บริการสินค้า ที่มีประโยชน์ และราคาถูก แก่คนไทยทั่วไป อย่างไรก็ตาม กิจกรรมเหล่านี้ มีเป้าหมาย เพื่อส่งเสริมบุญนิยมด้วย

ร้านน้ำใจ ตั้งอยู่ริมถนนมูลดิน หน้าศีรษะอโศก คนผ่านไปมา เข้าออกได้สะดวก ทางร้าน ขายของใช้ ที่คงทน เครื่องเขียน แบบเรียน วัสดุก่อสร้าง เมล็ดพันธุ์ผัก อาหารหลัก เช่น ข้าวกล้อง น้ำมันพืช สบู่ ยาสีฟัน กระดาษชำระ อาหารว่าง และอื่นๆ อีกมาก นอกจาก สมาชิกศีรษะอโศก และชาวบ้านที่ผ่านไปมา จะเลือกซื้อสินค้าที่จำเป็นแล้ว ร้านนี้ยังเป็น ร้านที่ถูกที่สุด ร้านอโศก มีนโยบาย ไม่ตั้งราคาสินค้า เกิน ๑๕ เปอร์เซนต์ ของราคาต้นทุน สินค้าทุกชิ้น จะมีฉลาก บอกราคาต้นทุน และราคาขาย ร้านน้ำใจ ประสบความสำเร็จ ๒ ประการคือ ให้บริการแก่เพื่อนบ้าน และสร้างรายได้ สำหรับบำรุง โครงการอื่น ของชุมชน

ตลาดอริยะ จัดขึ้นปีละครั้ง ครั้งละ ๓ วันติดต่อกัน คร่อมวันขึ้นปีใหม่ ณ ที่ดิน ที่ยังไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ของราชธานีอโศก จ.อุบลราชธานี ตลาดนี้คล้ายๆ งานประจำปี ทั้งบรรยากาศ และสินค้าลดราคา ดึงดูดลูกค้า จำนวนพัน ให้มาซื้อสิ่งของ และหาความเพลิดเพลิน ลูกค้ามีตั้งแต่ ชาวนาอีสาน นุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อชั้นในตัวเดียว ไปจนถึงสตรี ที่แต่งตัวทันสมัย และหนุ่มสาว นุ่งกางเกงยีนส์ สินค้าต่างๆ กองพะเนินอยู่บนแผง สองข้างทางเดิน เช่น ของใช้ภายในครัวเรือน มี กระทะ กะละมัง ขันพลาสติก หวดนึ่งข้าว ไม้กวาด เสื่อ หมวกกันแดด สบู่ น้ำมันพืช นอกจากนี้ ก็มีเครื่องจักสาน รถจักรยาน แว่นตา ยาสมุนไพร ของกินเล่น ผักผลไม้และอื่นๆ  เสียงเรียกลูกค้า ประชันกัน ดังเซ็งแซ่ บ้างตะโกน ด้วยปากเปล่า บ้างใช้เครื่องขยายเสียงช่วย “อ้อย มัดละ ๕ บาท”  “มาไวๆ ช้าไปเดี๋ยวหมด” บางแผง มีลูกค้ายืนเข้าคิว แถวยาวเหยียด พวกที่เหน็ดเหนื่อย ก็นั่งยองๆ ใต้ร่มไม้ บางคน วนไปมา ตามโต๊ะอาหาร ซึ่งมีอาหารมังสวิรัติ ขายจานละบาทเดียว บนเวที มีการแสดง โดยสมาชิกอโศก และมีคนดูอยู่ในสนาม มีตุ๊กตายักษ์สูง ๑๕ ฟุต ที่ปากและมือของมัน มีไม้คันเบ็ดยาว ให้เด็กๆ จับถือ เชิดเล่น

ผู้เขียน มีโอกาสไปร่วมงาน ทั้งในฐานะคนเดินดู และคนขายของ วันแรก เธอช่วยเพื่อนอโศก จากกรุงเทพ ฯ ขายแตงโม เขาซื้อแตงโม ใส่รถบรรทุกมา จนเต็มคันรถ แล้วเอามาขาย ผลละบาท คนกรูกันเข้ามา ล้อมโต๊ะแตงโม จนต้องบอก ให้เขาเข้าคิว บางคนต้องผิดหวัง เพราะว่า ได้รับอนุญาต ให้ซื้อได้ผลเดียว วันต่อมา เธอช่วยนักเรียนศีรษะอโศก ขายกล้วยกรอบ กลิ่นทุเรียน ถุงละ ๕ บาท (ร้านทั่วไป ในกรุงเทพ ฯ ขายถุงละ ๑๒.๕๐ บาท) หลังจากได้ชิมตัวอย่าง ที่นักเรียนใส่จานยื่นให้ชิม ลูกค้าซื้อกล้วยกรอบ มากพอสมควร แต่พอผู้เขียน เปลี่ยนเป็นคนยื่นจานเอง และเชื้อเชิญให้คนชิม ทุกคนกรูกันเข้ามา ล้อมหน้า ล้อมหลังผู้เขียน แต่ไม่มีใคร สนใจกล้วยกรอบ คงอยากฟังฝรั่งพูดไทย มากกว่าชิมกล้วยกรอบ กลิ่นทุเรียน

ผู้เขียนบอกว่า รู้สึกไม่สบายใจ ที่เชื้อเชิญให้คนซื้อกล้วยกรอบ เพราะว่ามันเป็นสิ่งไม่จำเป็น อโศกเอง ก็เคยบอกว่า อาหารว่าง เป็นของฟุ่มเฟือย นอกจากนั้น เธอเห็นว่า การโฆษณาชวนเชื่อของชาวอโศก บางคน เป็นการทำตามแบบ “ทางเลือกของ สังคมสมัยใหม่” สำหรับ ลัทธิบริโภคนิยม

สิ่งที่ทำให้ ตลาดอริยะเกิด “อริยะ” ก็คือ การได้ขายสินค้า ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน กลุ่มอโศก อธิบายว่า การขายสินค้า ในราคาต่ำกว่าต้นทุน แม้ว่าจะขาดทุน เมื่อคิดเป็นตัวเงิน แต่ก็ให้ผลสูงใน “กำไรอริยะ” หรือ บุญ ยกตัวอย่าง สมมติว่า ดินสอแท่งหนึ่ง ราคา ๑๐ บาท ผู้ขาย ขายไปในราคา ๑๒ บาท แทนที่จะได้กำไร ๒ บาท เขากลับ “ขาดบุญ” เท่ากับ ๒ บาท ในทางตรงกันข้าม ถ้าเขาขายดินสอ แท่งนั้นไป ในราคา ๘ บาท เขาจะได้ “กำไรอริยะ” ๒ บาท ความจริงชาวอโศก มิได้คำนวณบุญ กันอย่างละเอียด ในทำนองนี้ แต่ก็เอามา อธิบายบ่อยๆ ว่าบุญนิยม ในการค้าขาย เป็นอย่างไร

อาทางบุญ กล่าวถึงเงินที่ ศีรษะอโศก “สูญเสีย” ไปในงานระดับชาติ ครั้งนี้ว่า
ยกตัวอย่าง องค์การที่ขายสินค้า ให้ร้านน้ำใจ เขาขาดทุน ๒๐๐,๐๐๐ บาท หายไป ๒๐๐,๐๐๐ บาท หมายความว่า เขาขายสินค้า และได้รับเงินขาดไป ๒๐๐,๐๐๐ บาท จากการลงทุนทั้งหมด นั่นเป็นเงินที่ขาดไป เราขาดทุนหลายอย่าง เช่น น้ำซีอิ้วขาดทุน แชมพูก็ขาดทุน -ตามปกติ ขายขวดละ ๒๕ บาท แต่เราขาย ๑๐ บาท ผักจากเกษตรปลอดสารเคมี เสื้อผ้า ทั้งหมดขาดทุน

แต่จากการคำนวณ โดยวิธีนี้ ชาวอโศกได้กำไรทางจิตใจ ในการเสียสละ ที่ติดตลาดอริยะ ครั้งนี้

นอกจากการขายของ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แก่ประชาชนชาวไทย ในราคาที่ต่ำแล้ว สมาชิกอโศก ยังได้ใช้โอกาสนี้ แนะนำคนภายนอก ให้รู้จักวิถีชีวิต ของชาวอโศก

อาทางบุญ อธิบายถึงวิธีที่ตลาดอริยะ ช่วยสังคมไทย ในระดับจิตใจ ดังนี้

คนได้มา เห็นว่ามีจริง มีคนอย่างนี้จริง ครั้นแล้วองค์การเหล่านั้น ก็จะสอนคนแต่ละคน ในสถานที่ แต่ละสถานที่ ว่ามันทำได้ แสดงให้เขาเห็นว่า เราสามารถ ทำอะไรด้วยกันได้ นี่เป็นหนทางหนึ่ง ที่เราช่วยสังคม

อาทางบุญ เปรียบตลาดอริยะว่า เหมือนกับ การแสดงดนตรี และรายการขำขัน ต่างกันแต่ สมาชิกอโศก เสนอข่าวเกี่ยวกับ วิถีชีวิตของชาวอโศก ให้ “น่าบริโภค” นักซื้อของราคาถูก มาชมตลาดอริยะ ด้วยความไม่รู้จักอโศก แต่ขากลับ เขากลับไป ด้วยข้อสงสัย อย่างน้อยว่า ชีวิตแบบนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่

 

การฝึกอบรมคนภายนอก

อโศกหาทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาของชาติ และ ปรับปรุงสังคมไทยให้ดีขึ้น โดยให้การฝึกอบรมแก่คนภายนอก ในอดีต เมื่อกลุ่มอโศก ยังเล็กอยู่ สมณะและคนธรรมดา เดินทางไปบรรยายธรรม และวิถีทางของอโศก ตามมหาวิทยาลัย และ หน่วยงานของรัฐ แต่เมื่ออโศก ต้องเกี่ยวข้องกับการเกษตร โรงเรียน และ การพัฒนาชุมชน สมาชิกอโศก ก็ไม่สามารถปลีกตัว ออกไปเร่ร่อน เหมือนแต่ก่อน เดี๋ยวนี้ แทนที่ จะออกไปหาประชาชน ผู้คนกลับเดินทาง มาหาอโศก

จากสมุดบันทึก ผู้เข้าเยี่ยมเยียน มีคนมาชมอโศกไม่ขาดสาย เฉพาะที่ ศีรษะอโศก แห่งเดียว มีคนมาเดือนละ ประมาณ ๑,๐๐๐ คน บางคน มาเดินชมเล่น ในตอนบ่าย บางคน มาประชุมสัมมนา แบบค้างคืน (๔ วันเต็ม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย) เวลามีสัมมนา จะมีป้ายขนาดใหญ่ ติดไว้หน้าโรงธรรม ด้วยข้อความ เช่น

การฝึกอบรมรากฐาน ครั้งที่ ๒๖
“คนสร้างชาติ” ที่ศีรษะอโศก
๑๔-๑๗ มกราคม ๒๕๔๔
สะอาด-ขยัน-ประหยัด -เสียสละ-ชื่นชอบ

หัวข้อสัมมนา มักเป็นคำขวัญ บางตอนของอโศก เช่น “ธรรมสร้างคน คนสร้างชาติ” ผู้เข้าสัมมนา มีหลายกลุ่ม ไม่ปะปนกัน เช่น กลุ่มนักเรียน ครู คนทำงานของรัฐ ชาวบ้าน หรือ สมาชิกกลุ่มเกษตรกร ผู้ซึ่งไม่ใช้สารเคมี ในระหว่าง สัมมนาเรื่อง “คนสร้างชาติ” ผู้เข้าสัมมนา ฟังการบรรยาย ศึกษาชีวิต ความเป็นอยู่แบบอโศก และร่วมทำกิจกรรม ประจำวัน กับชาวศีรษะอโศก สมาชิกคนหนึ่ง กล่าวถึงการอบรม ของอโศกดังนี้

อาไพรศีล ปัญหาก็คือว่า เราจะช่วยคน ให้มากกว่านี้ได้อย่างไร? เดี๋ยวนี้เราก็ช่วย แต่ว่ายังมีคนนอกชุมชน ที่ยังกระวนกระวาย เขาต้องทำงานหนัก เพื่อค่าจ้างเพียงเล็กน้อย ของก็แพง เขาจึงกระวนกระวาย เขาไม่รู้ว่า การใช้ของฟุ่มเฟือย ทำให้ใจกระวนกระวาย เราช่วยเขา โดยให้เขามาฝึกอบรมในธรรม เราสอนให้เขาประหยัด เลิกอบายมุข ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน และฝึกกิน อาหารมังสวิรัติ ผักถูกกว่าเนื้อ เป็นไหนๆ และอย่ากินอาหาร ที่ไม่มีประโยชน์ อาหารที่ดูสวยงาม ที่เขาขายในตลาด เราสอนเขาให้เข้าใจว่า ไม่ต้องซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่ต้องประดับ ตกแต่งร่างกาย ไม่ต้องใช้เครื่องสำอาง มันไม่จำเป็น ไม่ต้องมีเสื้อผ้า มากมายก่ายกอง มี ๒-๓ ชุดก็พอ ไม่ต้องตกใจ ว่าเงินเดือน จะไม่พอใช้ ไม่ต้องกินยาบ้า หรือยาเสพติด ชี้ให้เขาเห็นโทษ ของสิ่งเสพติด ทั้งหลาย แนะให้เขา หัดปลูกผักกินเอง เขาจะประหยัดรายจ่าย เพราะไม่ต้องซื้อผัก จากข้างนอก

โดยสรุป การสัมมนา มุ่งหมายจะให้ความรู้ ที่เกี่ยวกับจริยธรรม ตามหลักพุทธศาสนา และความชำนาญพิเศษ ในอาชีพ แม้ว่าผู้ร่วมสัมมนา จะไม่ประสงค์ ที่จะสมัครเป็นสมาชิกอโศก เขาอาจปรับปรุงชีวิตของเขา ให้เข้ากับแนวทาง ของอโศกก็ได้

การสัมมนา “คนสร้างชาติ” มักจัดขึ้น ในวันสุดสัปดาห์ ณ ศาลาธรรม เริ่มตั้งแต่ เที่ยงวันศุกร์ ผู้เข้าประชุม ลงทะเบียน และแนะนำตัว หรือร่วมกิจกรรม ที่ทำให้รู้จัก มักคุ้นกันมากขึ้น ต่อจากนั้น สมณะและคณะอโศก จะกล่าวต้อนรับ รวมถึง เล่าประวัติย่อๆ ของขบวนการอโศก และพุทธสถาน ศีรษะอโศก บรรยายโครงสร้าง ขององค์การ บ.ว.ร (บ้าน วัด โรงเรียน) ของศีรษะอโศก ตลอดจนถึง วัฒนธรรมของอโศก เช่น การถือศีล ๕ ศีล ๘ การกินอาหารมังสวิรัติ การแต่งกาย การพึ่งตนเอง และการเสียสละ

ระหว่างเวลา ๑๔.๑๕- ๑๖.๑๕ นาฬิกา ผู้เข้าประชุม แบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ มีชาวศีรษะอโศก เป็นมัคคุเทศก์ นำชมทั่วบริเวณ เช่นที่พัก โรงงาน สวน และพิพิธภัณฑ์ มัคคุเทศก์จะตอบคำถามทั่วไป และที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อถือ และการปฏิบัติ ของชาวอโศก ผู้เข้าประชุม พักผ่อน จนถึงเวลา ๑๗ นาฬิกา จึงมารับประทานอาหารร่วมกัน ที่ศาลาธรรม หลังอาหาร จะมีการบรรยาย หรือการแสดงดนตรีไทย หรือ การรำพื้นเมือง จนถึงเวลา ๒๑ นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาปิดไฟ แต่สมาชิกบางคน ยังคงสนทนากันต่อไป

วันเสาร์เวลา ๓.๓๐ นาฬิกา ระฆังปลุก ให้ผู้เข้าประชุม ลุกขึ้นมาสวดมนต์ และฟังธรรม ร่วมกับชาวศีรษะอโศก หลังจากนั้น ผู้เข้าประชุม แบ่งเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อเรียนวิชาชีพ เช่น การเพาะเห็ด การทำปุ๋ย ทำสวนครัว ทำนมถั่ว เต้าหู้ ซีอิ้ว และเต้าเจี้ยว ผู้เข้าประชุม จะกลับมาที่ศาลาธรรม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อรับประทานอาหารร่วมกัน ในเวลานั้น เขาจะเรียนมรรยาท ในการรับประทานอาหาร กับชาวอโศก เช่น ไม่รับประทาน จนกว่าทุกคน จะตักอาหารเสร็จ และนั่งลง กล่าวคำขอบคุณ ต่อผู้ผลิตอาหาร (ชาวนา ชาวสวน คนครัว ฯลฯ) ผู้เข้าประชุม ใช้เวลาที่เหลือ ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทำงาน สนทนา และพักผ่อน (เช่นดูภาพยนตร์ ในคืนวันเสาร์) เขาจะเดินทางกลับบ้าน หลังจากอาหารเช้า ในวันจันทร์

ชาวศีรษะอโศก เสียสละเวลา แรงงาน และทรัพยากร เป็นอันมาก ในการฝึกอบรมนี้ ซึ่งไม่แน่ว่า จะได้รับผลสำเร็จหรือไม่ และเป็นการยาก ที่จะตรวจสอบ ปฏิกิริยาของ ผู้มาอบรม เพราะว่าคนไทย ขี้เกรงใจ และ ไม่อยากแสดงความคิดเห็น ต่อคนต่างชาติ (เช่นผู้เขียน) คำตอบ ที่ผู้เขียนได้รับ จึงไม่ค่อยสำคัญนัก เช่น ลำบากที่ต้องลุกขึ้น ตั้งแต่เช้าตรู่ งานหนัก อาหารดี เป็นการดำเนินชีวิตที่ดี วิทยากร หรือผู้ให้การอบรมคนอื่น ก็ไม่มีใครวัดผล อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า วิธีที่ให้คนภายนอก มาเห็นชีวิตอโศกจริงๆ ของชาวอโศก และได้ลงมือทำงาน กับชาวอโศก ด้วยตัวเขาเอง ทำให้เขา รู้จักอโศก ได้ดีกว่า อ่านหนังสือ หรือ ได้ยินข่าวจากคนอื่น ชาวอโศกหวังว่า การอบรมเช่นนี้ จะมีอิทธิพล ต่อการเลือก ทางดำเนินชีวิต ของคนไทย ในขณะที่การฝึกอบรม อาจให้ทั้งความรู้ ทักษะ (ความชำนิชำนาญ) และคุณค่าใหญ่หลวง ทั้งในทางปฏิบัติ และชีวิตจิตใจ แต่ก็จะหาประโยชน์มิได้ ถ้าหากว่า ผู้รับการอบรม ไม่นำไปใช้ ในชีวิตของเขา

 

อาชีพช่วยชาติ

วิธีใหม่ของอโศก ในการช่วยพัฒนาประเทศไทย ทั้งทางวัตถุและจิตใจ คือการแนะนำ อาชีพช่วยชาติ อาชีพที่กล่าวนี้ ประกอบด้วย
(๑) กสิกรรมธรรมชาติ
(๒) การจัดการกับสิ่งปฏิกูล และ
(๓) การผลิตปุ๋ยสะอาด (ปราศจากสารเคมี)
รู้จักกันในหมู่อโศกว่า ๓ อาชีพ กู้ชาติ

ปัจจุบันนี้ ศีรษะอโศก ให้ความสำคัญต่อ กสิกรรมธรรมชาติมาก การกสิกรรมแบบนี้ มีกำเนิดมาจาก มะซาโนบุ ฟุคุโอกะ กสิกรชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้นำ การทำฟาร์มธรรมชาติ สมัยใหม่ กสิกรรมธรรมชาติ ของฟุคุโอกะ เน้นหลัก ๔ ประการคือ
(๑) ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
(๒) ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี
(๓) ไม่ไถดิน และ
(๔) ไม่ต้องกำจัดวัชพืช

ขณะนี้ศีรษะอโศก กำลังใช้ ๒ วิธีแรก และกำลังทดลอง ๒ วิธีหลัง ในนาข้าว แปลงผัก และสวนผลไม้

ในการจัดการกับสิ่งปฏิกูล นอกจากผู้ที่อาศัย อยู่ในศีรษะอโศก จะแยกขยะออกเป็น ๔ ประเภท (แปรรูป -ใช้อีก -ซ่อมแซม -โยนทิ้ง) แล้ว เขายังผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จากของเสีย ซึ่งเป็นกากอาหาร อาหารที่เหลือใช้ และผลผลิตจากฟาร์ม โดยวิธีการ ที่ทำให้จุลินทรีย์ ในสารเหล่านั้น สลายตัว ของเสียที่แปรรูปแล้ว จะถูกนำกลับไปสู่ดิน เพื่อให้ครบวงจร (จากเกษตร- ไปสู่อาหาร- กลายเป็นของเสีย- แล้วกลับไป สู่การเกษตร)

อาชีพ ๓ อย่าง เป็นรากฐานของ การพึ่งตนเอง ของศีรษะอโศก และยังขยายออกไปสู่หมู่บ้าน ที่อยู่ใกล้เคียง

อารัตนา พูดถึงการช่วยเหลือสังคมไทย ด้วยอาชีพ ๓ อย่าง ดังนี้

เราช่วยแนะนำชาวนา “ทำอย่างนี้นะ จนกว่าท่านจะปลอดภัย ท่านต้องปลูกข้าว โดยไม่ใช้สารเคมี อย่าใช้ยาฆ่าแมลง และยากำจัดวัชพืช” คนอโศกเอง เป็นคนบอกชาวนา

ชาวอโศก แนะนำอาชีพ ๓ อย่าง แก่คนภายนอก คือคนที่มาเยี่ยมเยียน และผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยการสาธิต หรือทำให้ดู ผู้เขียนเล่าถึง กิจกรรมหนึ่ง ซึ่งกลุ่มกสิกรรมไร้สารเคมี ประชุมกัน ที่อำเภอกันทรลักษ์ และศีรษะอโศก เป็นเจ้าภาพ ในการนี้สมาชิก ตั้งแผงขายผัก และผลไม้ริมถนน สมณะเทศนา ผู้แทนจากรัฐบาล กล่าวคำสรรเสริญอโศก และกสิกรรมไร้สารเคมี ชาวนา เล่าถึงความสำเร็จ และความล้มเหลว ของการทำกสิกรรม แบบไร้สารเคมี หัวหน้ากลุ่ม พูดถึงปัญหา เรื่องการเงิน และการบริหารเงินทุนที่ผิดพลาด และจบลงด้วย การรับประทานอาหารเที่ยง ร่วมกัน (แบบอโศก)

สมณะโพธิรักษ์ สนับสนุนอย่างแรงกล้า ในการพัฒนา “๓ อาชีพกู้ชาติ” เพราะว่า ดินฟ้าอากาศ ของประเทศไทย เหมาะแก่การกสิกรรม มากกว่าอุตสาหกรรม (เพาะปลูกมากกว่า ผลิตของในโรงงาน) และอาหาร เป็นสิ่งจำเป็น อันดับ ๑ ของโลก

สารอโศก (๒๕๓๕) ได้นำเสนอวาทะของ สมณะโพธิรักษ์ ในคอลัมน์ “๑๕ นาทีกับพ่อท่าน” ดังนี้

อาตมาเน้น “ช่วยชาติ” เพราะว่าในการเกษตร เราผลิตอาหาร ปลูกข้าว ผัก และผลไม้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เป็นอาหารของชาติ และของโลก แต่ทุกวันนี้ มันไม่ได้ช่วยชาติ เพราะว่าคน มีแนวทางคิด ที่เบี่ยงเบน – เขาไปให้ค่านิยม ที่ไม่ใช่กสิกรรม การปลูกผักหรือปลูกข้าว เขาคิดว่า นั่นเป็นงานชั้นต่ำ งานเช่นนั้น กดเขา เขาไปดูถูกมัน และราคาค่าจ้าง ก็ไม่สูงนัก ดังนั้น งานกสิกรรม จึงเป็นแรงงาน ที่ถูกควบคุม โดยสถานการณ์

ที่นี่ เราเป็นคนบุญนิยม เราเข้าใจทางบุญถูกต้อง ดังนั้น เราต้องหยิบงานของชาวนา ขึ้นมาทำ เพื่อที่จะปลูกข้าว และขายมันในราคาถูก หรือถ้าเป็นไปได้ ก็แจกจ่ายออกไป โดยไม่คิดราคา เราต้องรับผิดชอบ โดยแก้เศรษฐกิจของชาติ ให้เป็นไป ตามหลักการของพระพุทธเจ้า ซึ่งช่วยให้เรารู้จักโลก ไม่เข้าใจโลกผิดๆ เราจะสร้างเศรษฐกิจของเราเอง และเราจะอยู่กับโลก โดยไม่รู้สึกต่ำต้อย ไม่เป็นประชากร อันดับสอง แม้ว่าเราจะมีอาชีพ กสิกรรม ทำนา ปลูกผัก หรือว่า อาชีพเก็บขยะ ทำปุ๋ยก็ตาม

ถ้าเราทำอย่างนี้มากๆ รับผิดชอบมากๆ เช่นนี้ อาตมาเชื่อแน่ว่า เราจะพิสูจน์ ให้เห็นว่า นี่คือรากฐาน หรือ แก่นของชีวิต เราจะสามารถรู้สึกภาคภูมิใจ ว่าเราได้ช่วยชาติ –เราไม่ช่วยชาติ ด้วยการต่อสู้ ฆ่าฟัน ดิ้นรน แข่งขัน แย่งชิงราชอาณาจักร ไม่เลย แต่เราช่วย ในการอยู่ด้วยกัน อย่างปลอดภัย ในทางสร้างสรรค์ ด้วยการเสียสละอย่างจริงใจ เราต้องรู้จัก ความสำคัญของชีวิต ที่แท้จริง

หลังจากอ่านบทความ และอภิปรายปัญหา ๓ อาชีพกู้ชาติ สมาชิกหลายคน ซึ่งทำอาชีพ ๓ อย่าง เป็นประจำทุกวัน แสดงความคิดเห็นดังนี้

มั๊วะ: มันจะช่วยประเทศไทยได้ดี เพราะว่าประเทศเรา เป็นประเทศเกษตรกรรม การเกษตรกรรม ต้องการปุ๋ย -มันเป็นรากฐาน อาชีพ ๒ อย่างนี้ ต้องคู่กัน ดังนั้น ขยะก็ต้องเกี่ยวข้อง กับกสิกรรม เอาขยะมาทำปุ๋ย เอาปุ๋ยไปใช้ในการกสิกรรม เมื่อเสร็จงานของการกสิกรรม มันก็กลายเป็นขยะ ขยะหมุนกลับมานี่ – วงจรของประโยชน์ ขยะในโลก – มากมาย ถ้าเราไม่มีอาชีพนี้ ขยะก็จะกองพะเนิน เทินทึก เพราะไม่มีใคร จัดการกับมัน อาชีพ ๓ อย่าง ผลิตอาหารมาเลี้ยงโลก แล้วก็ช่วยโลกเก็บขยะ เพราะว่า คนทั้งหลายผลิตขยะ –โดยเฉพาะ ในอเมริกา อาชีพ ๓ อย่าง จึงช่วยแก้ปัญหาได้อย่างดี

อาทางบุญ (ผู้ซึ่งเน้นผลประโยชน์ ของการหลีกเลี่ยงสารเคมี ที่ฟาร์มสมัยใหม่ กำลังนิยม)
ครั้งแรก ไม่มีใครใช้สารเคมี ในการกสิกรรม  ดินก็ไม่มีมลภาวะ (สกปรก) อากาศก็ไม่มีมลภาวะ ไม่มีเรื่องมลภาวะ นี่สำคัญนะ เหมือนกับ เราเป็นต้นศรีมหาโพธิ์ ที่กระจายความเย็นไปคลุมโลก มันช่วยสัตว์ทุกชนิด ที่อาศัยอยู่ใต้ร่มเงาของมัน

อาวรรณ: เดี๋ยวนี้ในฝั่งตรงกันข้าม เขาใช้สารเคมีกันโครมๆ จริงๆแล้ว แม่ของฉันเอง ที่กาญจนบุรี ก็ยังมีสวนครัว ที่น่าจะยังใช้สารเคมีอยู่ แม่ปลูกผักขึ้นสวยงามมาก แต่แม่ไม่กินมัน แม่บอกว่ากลัวตาย ฉันถามว่า “อ้าว แม่ขายผัก ให้คนอื่นกิน แล้วไม่กลัวเขาตายหรือ?”

อีกเรื่องหนึ่ง ทุกวันนี้ แม่บ่นว่า มีปัญหาเรื่องตา ต้องไปหาหมอ หมอบอกว่า แม่ฉีดยาฆ่าแมลงมากไป ยาฆ่าแมลงเข้าตา... แต่เมื่ออาการดีขึ้น แม่ก็ฉีดมันอีก แม่ไม่คิดว่า มันเป็นปัญหา เพราะว่าหายแล้ว ก็ใช้มันต่อไป

แต่ในทางกสิกรรมธรรมชาติ ไม่ต้องใช้สารเคมี ก็ยังสามารถปลูกผักได้ ฉันบอกแม่ แต่แม่ไม่ยอมทำตาม ท่านบอกว่า ไม่อยากลงทุนมาก ฉันถามว่า ใช้สารเคมี แม่ต้องลงทุนเท่าไร ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าแมลง ในเวลา ๓ เดือน ถ้าแม่โชคดี ขายผักได้ แม่จะได้เงินเท่าไร คิดเป็นรายได้ต่อเดือน เดือนละเท่าไร นี่ไม่พูดถึงปัญหา เรื่องสุขภาพ แต่ถ้าจะต้องไปหาหมอ และเงินไม่พอ แม่จะต้องขอยืมคนอื่น เดี๋ยวนี้ทุกคนเป็นหนี้ ทำไมเขาเป็นหนี้? เขาตอบ “ฉันป่วย” ถาม “ทำไมป่วย?” ตอบ “ร่างกายฉันไม่แข็งแรง ฉันแก่แล้ว” เขาตอบอย่างนี้ และไม่เคยคิดว่า ป่วยเพราะสารเคมี โอ๊ย เขาทำกันทุกบ้าน ทุกเมือง และเขาไม่เห็นว่า ใครเป็นอะไร เขาพูดว่า เขาไม่อยากเปลี่ยน ไม่อยากฟัง เขาพูดว่า ยิ่งเขาใช้น้อย ของที่เขาใช้ ก็ยิ่งด้อยคุณภาพ จนไม่มีใครอยากซื้อมาใช้ แต่ถ้ากสิกรรมธรรมชาติ โด่งดังขึ้น และสามารถเป็นตัวอย่าง และ ถ้าชาวนาใช้มัน และทำตัวอย่าง เขาจะมีเงินเหลือ และจะไม่ก่อให้เกิด ปัญหาสังคม ลูกหลานของเขา ก็จะกลับ (จากหางานทำในกรุงเทพฯ) มาทำงานที่บ้าน เพราะว่า เขาจะมีรายได้ ประจำเดือน มันสำคัญนะ

ถ้าดูตามเนื้อหาสาระ ที่กล่าวมา จะเห็นว่า อาชีพ ๓ อย่าง ช่วยสังคมไทย อย่างแน่นอน แต่น่าสงสัยว่า ทำไมศีรษะอโศก หันเหทิศทางไปจาก การฟื้นฟูพุทธศาสนา ในประเทศไทย ไปยังการส่งเสริมอาชีพ

ผู้เขียนถาม สิกขมาตุจินดา ก็ได้รับคำตอบว่า

พุทธศาสนากับการเกษตร มีความสัมพันธ์กัน เพราะ
(๑) พุทธศาสนา สนับสนุนชีวิต และการเกษตร ก็สนับสนุนชีวิต
(๒) ร่างกายและจิตใจ ไปด้วยกัน และเราสนับสนุน ทั้งสองอย่าง เพื่อให้ชีวิต สมบูรณ์ และ
(๓) อโศกไม่ใช้สิ่งที่ เป็นอันตรายต่อชีวิต

เมื่อถามสมาชิกอื่น ก็ได้คำตอบดังนี้

แม่ปราณี :  คนส่วนใหญ่สามารถพึ่งตนเอง ด้วยอาชีพ ๓ อย่างได้นะคะ  พุทธศาสนา เป็นศาสนาที่สอน ให้พึ่งตนเอง อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน  เพราะฉะนั้น อาชีพ ๓ อย่างเพื่อช่วยชาติ หมายถึง ทุกคนควรพึ่งตัวเองก่อน

อาเจนจบ : มันเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เพราะว่ามันเป็น การดำเนินชีวิต ที่ไม่ทำให้ผิดศีล ยกตัวอย่างเรื่องขยะ ศาสนาพุทธ เน้นความสะอาด และอาชีพ ๓ อย่าง ก็เป็นหนทางของ การสร้างความสะอาด... เอาขยะสักอย่างไปทำปุ๋ย และการทำปุ๋ย เป็นการรักษาดิน เราไม่ใช้สารเคมี สารเคมีทำลายดิน ทำให้ดินแข็ง ยาฆ่าแมลงทำลายสัตว์ ในเรื่องนี้ พุทธศาสนา เกี่ยวข้องโดยตรง กับอาชีพ ๓ อย่าง ที่จะช่วยชาติ ... มันช่วยให้เราดำเนินชีวิต อย่างมีศีลธรรม ด้วยจริยธรรม ที่สะอาด และ ส่งเสริมชีวิต ที่ปฏิบัติธรรม

อาชวน :  อาชีพ ๓ อย่างที่จะช่วยชาติ เกี่ยวข้องกับ ความคิดของผมนะครับ มันเกี่ยวข้องกับ พุทธศาสนา เพราะว่ามันเป็น สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีวิตชอบ) อาชีพ ๓ อย่าง เป็นทางเดียวกับ งานอาชีพที่สุจริต ช่วยให้เราพัฒนาตนเอง ไปในแนวเดียวกันกับ มรรคมีองค์ ๘ นั่นคือ หนทางที่จะไปนิพพาน นะครับ

อาไพรศีล : เกี่ยวข้องกันเพราะว่า เราสามารถช่วยโลกได้ เราไม่ปล่อยให้โลก มีมลพิษ และเราช่วย ประหยัดพลังงาน ช่วยประหยัดเงินด้วย ขณะที่เราทำงาน ๓ อย่าง เพื่อช่วยชาติ ถ้าเราพึ่งตนเองได้ –เราปลูกผักกินเอง เราไม่ต้องซื้อ - เราสามารถกินผัก ที่ปลอดสารพิษ ปลอดยาฆ่าแมลง ถ้าเรามีมาก เราสามารถแจกให้คนอื่น หรือขายราคาถูก เขาก็จะได้กินผัก ที่ไม่มีสารพิษ ถ้าเราช่วยเขา มีเมตตาต่อเขา เป็นธรรมชาติ ของการช่วยเหลือ การช่วยโลก เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา นั่นคือ พุทธศาสนา คือการกระทำ เพื่อมนุษยชาติ

เป็นที่ชัดเจนว่า ขบวนการอโศก ส่งเสริมการพัฒนาทางวัตถุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับ อาชีพ ๓ อย่าง ในประเทศไทย อาชีพเหล่านี้ เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศ ของเมืองไทย มากกว่าอุตสาหกรรม เพราะเป็นการผลิตอาหาร แก้ปัญหาเกี่ยวกับขยะ ไม่สร้างสารมลพิษ ปรับปรุงสุขภาพ ของประชาชน และสามารถพึ่งตนเองได้ อาชีพ ๓ อย่าง อาจช่วยแก้ปัญหา คนยากจนภาคอีสาน ช่วยพัฒนาจิตใจของคนไทย ทั้งประเทศ เพราะอาชีพ ๓ อย่าง สนับสนุน คติทางพุทธ “สัมมาอาชีวะ” ซึ่งค้ำจุนศีลธรรม ประจำโลก

 

รักษาวัฒนธรรม

นอกเหนือจากงานประจำ ที่ทำจนล้นมืออยู่แล้ว ชาวศีรษะอโศก ยังเอางาน อนุรักษ์วัฒนธรรม เพิ่มเข้ามาอีก เพราะเขาเห็นว่า การรักษาวัฒนธรรมไทย เป็นหน้าที่ของเขา คนไทยจำนวนไม่น้อย รวมทั้งสมาชิกอโศก เห็นว่า วัฒนธรรม ตามประเพณีไทย กำลังจะหายสาปสูญไป ในขณะที่ วัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่อาศัยฐานะทางการเงิน และวัตถุ เข้ามาแทนที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิจารณ์สังคม ให้ความเห็นเกี่ยวกับ โลกาภิวัตน์ (ทำให้เหมือนกันทั่วโลก) หลังจากวิกฤติการทางเศรษฐกิจ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ดังนี้

จริง ๆ แล้วโลกาภิวัตน์ คือศาสนาใหม่ที่มีผีสิง มันใช้สื่อในการสร้างความรู้สึกว่า เราขาดโน่น ขาดนี่ เราถูกต้อน ให้แสวงหาสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่รู้จักพอ เนื่องจากโลกาภิวัตน์ อยู่ภายใต้การควบคุม ของบริษัทยักษ์ใหญ่ ซึ่งใช้สื่อ ในการชี้ช่องทาง ให้เราหลับหูหลับตา ไปตามวัฒนธรรมเดียว คือเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โลกแมกอาหารจานเร็ว อาหารขยะ โรคโคลา และ เสื้อผ้าบลูยีนส์

โลกาภิวัตน์ มีผลกระทบกระเทือน ต่อกรุงเทพฯ จริงๆ ซึ่งก็เหมือนกับ เมืองใหญ่ทั้งหลาย ที่อวดอ้างว่า “ทันสมัย” เพราะมีร้านอาหาร แมกดานอลด์ ศูนย์การค้า ฝากระจก การจราจรติดขัด เป็นต้น เมื่อคนอโศก เห็นรูปถ่าย ศูนย์การค้าสยาม บนถนนสุขุมวิท ซึ่งมีรถติดเป็นประจำ เขาบอกว่า นั่นคือ สังคมคนเห็นแก่ตัว ซึ่งมีความขัดแย้งกันและกัน และให้ข้อสังเกตว่า การมีชีวิตอยู่อย่างนั้น ทำให้คน มีความตึงเครียด เพราะใคร ๆ ก็อยากได้เงิน ยายสาหัวเราะ และกล่าวว่า “ฉันเห็นแต่ร้านบักโตนั่น”

ในบทสัมภาษณ์ ส. ศิวรักษ์ตอนหนึ่ง ซึ่งลงพิมพ์ใน บางกอก โพสท์ (๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๓) มีผู้ถามว่า “คนชั้นกลาง ควรทำอย่างไร ที่จะทำให้ฐานะ ทางเศรษฐกิจดีขึ้น”

ส. ศิวรักษ์ ตอบว่า “เขาควรกลับไปหารากเหง้าของเขา ควรกลับไปร่วมมือ กับคนชั้นล่าง ภายใต้ระบบนี้ คนไทยชั้นกลาง ถูกตัดขาด จากรากเหง้าของเขา มีคนซึ่งมีความลำบากใจ เพราะว่า ปู่ย่าตายาย เป็นชาวนา มีหลายสิ่งหลายอย่าง ที่สอนให้เรา รู้สึกอึดอัด เพราะว่าเราเป็นคนไทย”

สมาชิกอโศก ซึ่งสนับสนุนวิถีชีวิตแบบอโศก เห็นด้วยกับ ส. ศิวรักษ์ ในการที่จะรักษา วัฒนธรรมไทยเอาไว้

อาไพรศีล ชี้ให้เห็นวัฒนธรรมไทย ที่มีอยู่ในศีรษะอโศก
ชุมชนนี้ สามารถสร้างวัฒนธรรมไทย โดยการแต่งกาย แบบไทย ๆ –ใส่เสื้อ แบบไทย นุ่งผ้าถุง ไม่ใส่รองเท้า เราสร้างบ้าน แบบทรงไทย เราใช้ของไทย เช่น คนโทดิน เตาถ่าน หรือไม้ฟืน เราไม่ใช้เตาแกส

สิ่งที่ศีรษะอโศก พยายามรักษาไว้ เพราะเป็นขนบธรรมเนียม ประเพณีไทย ยังมีอีกมาก เช่น การเลี้ยงชีพ แบบชาวนา การเล่นดนตรี ภาคอีกสาน และรำพื้นเมือง มารยาทในการทักทาย เช่น ไหว้

อาอ้าย นักคิดลึก สงสัยว่า จะไปเจาะจงรักษา “ประเพณี” ได้อย่างไร ในเมื่อวัฒนธรรม เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
สิ่งที่เขาพูดกัน ก็คือว่า เขาต้องการรักษาชาติ ไม่ไห้เหมือนอเมริกา ไม่ให้ถูกครอบงำ หรือตกอยู่ใต้อิทธิพล ของชาติอื่น เพราะเขาพูดว่า นี่เป็นชุมชนวัฒนธรรม แต่ผมคิดว่า เราสามารถรักษาวัฒนธรรม ของเราเอาไว้ ขณะที่เรารับเอา วัฒนธรรมอื่นเข้ามา นี่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ตั้งแต่ในอดีต ถ้าเขาต้องการรักษาวัฒนธรรมไทย เขาต้องไว้ผมยาว และทำอะไรสักอย่าง คล้ายสมัย กรุงสุโขทัย (ทำท่าเกล้ามวยผม) ผมคิดว่าวัฒนธรรม ไม่ใช่มีไว้ สำหรับเก็บรักษา มันควรเป็นสิ่งที่ เจริญงอกงาม สิ่งที่ทำให้ดีขึ้น เรารับเข้ามา แล้วปรับปรุง เช่น ถ้าคุณเล่นกีต้า (ซึ่งเป็นดนตรีตะวันตก) คุณก็เล่นเพลงไทย ทำไมจะเล่นไม่ได้ แม้แต่ภาษา ถ้าคุณอยากจะรักษาวัฒนธรรมไทย คุณก็ควรละทิ้งภาษาบาลี และสันสกฤต เพราะว่าไม่ใช่ภาษาไทย เป็นภาษาของอินเดีย แม้แต่พุทธศาสนา ก็เป็นของอินเดีย

ผู้เขียนในฐานะ นักมานุษยวิทยา เห็นด้วยกับ ความคิดเห็นของอาอ้าย แต่ไม่คิดว่า ชาวศีรษะอโศก จะเห็นด้วย ผู้เขียนกล่าวต่อไปอีกว่า ขณะที่อโศก กำลังประกาศ อยู่ปาวๆ ว่าจะรักษาเอกลักษณ์ ประเพณีไทย อโศกก็มิได้ปิดประตู กั้นสิ่งใหม่ๆ จากภายนอก อโศกมีรถตู้ และรถบรรทุกสินค้า เป็นขบวน ทั่วประเทศไทย มีเครื่องจักรที่ทันสมัย สำหรับ ผลิตยาธรรมชาติ และบรรจุซอง สำหรับ ส่งของไปขาย ในตลาด แม้ว่าจะเป็นชุมชน ที่อยู่บ้านนอก ตามประเพณี แต่ก็มีเครื่องใช้ไม้สอย ที่ทันสมัย มีคอมพิวเตอร์ เครื่องสื่อสาร และเครื่องมือ แบบไฮ-เทค ยิ่งกว่านั้น อโศกยังอาศัยความคิด จากต่างประเทศ เช่น เทคนิค การทำฟาร์มตามธรรมชาติ จากญี่ปุ่น การตลาด และการจัดการกับสิ่งแวดล้อม ตามแบบตะวันตก ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า ชาวอโศก พิถีพิถันกับสินค้า และปัญญา จากโลกาภิวัตน์

 

ปฏิรูปทางการเมือง

ขบวนการอโศก อาจช่วยสังคมไทย ในทางการเมือง พลตรี จำลอง ศรีเมือง สมาชิกคนหนึ่งของอโศก และอดีตผู้ว่า ฯ กทม. ประกาศว่า “ในระบบของเรา ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซื้อเสียง ครั้นแล้วต้องกลายเป็นโจร เพื่อจะเอาเงินกลับคืน ศัตรูตัวใหญ่ที่สุด ที่เรามี จึงไม่ใช่คอมมิวนิสต์ แต่เป็นการเมืองที่เน่าเฟะ”
นอกเหนือจาก การซื้อเสียง และจัดทุนไว้ในทางที่ผิด ความเกี่ยวพันกับผู้อุปถัมภ์ ทั่วสังคมไทย ก็ทำให้เกิด คอรัปชั่น ในทางการเมือง ได้เหมือนกัน บางคน ใช้ระบบราชการ สร้างความเกี่ยวพัน กับคนที่อยู่เหนือกว่า หรือต่ำกว่า เพื่อเป็นสะพาน ไปสู่อำนาจ... เป็นระบบ ที่ทำให้นักการเมือง ซึ่งไม่มีจริยธรรม มีอำนาจ และ ใช้อำนาจในทางที่ผิด

ในปลายปี ๒๕๓๒ และต้นปี ๒๕๓๓ สมาชิกอโศก ได้จู่โจมเข้าไป ในวงการเมือง โดยสมัครเป็น “สุนัขเฝ้าบ้าน” คอยดูแลการคอรัปชั่น ในสถานที่ทำงาน ของผู้ว่าฯ กทม. และเป็นกำลัง เพื่อหาเสียง ในนามพรรคพลังธรรม ให้พลตรี จำลอง ศรีเมือง มีที่นั่งในสภาฯ พลตรีจำลอง และสมาชิกอโศก ที่อาสาสมัคร มุ่งหวังที่จะล้าง ระบบการเมืองของไทย โดยเฉาะอย่างยิ่ง การซื้อเสียง และการกินสินบน สมาชิกอโศก ไม่ได้รับเลือก ให้เป็นสส. และพลตรีจำลอง ก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งกว่านั้น การเคลื่อนไหว ทางการเมือง ในครั้งนั้น ถูกข่มขู่ ต่อการสถาปนา และถูกศาลสั่งระงับ สมณะโพธิรักษ์ และผู้ติดตาม ถูกฟ้อง ในข้อหา แต่งกาย เลียนแบบพระสงฆ์ คดียืดเยื้ออยู่ในศาล นานถึง ๑๐ ปี แล้วจบลงด้วย สมณะโพธิรักษ์ ถูกพิพากษา ให้รอลงอาญา เรื่องสิ้นสุดลง แต่สมาชิกอโศก ลงความเห็นว่า คดีนี้มีการเมือง แอบแฝงอยู่เบื้องหลัง อย่างไรก็ตาม การต่อสู้คดี ก็เป็นประโยชน์ ต่อสังคมไทย เพราะว่า เป็นการเผยแพร่ธรรม ไปในตัว

อโศกเข้าสู่การเมือง อย่างเป็นทางการ เมื่อจดทะเบียน เป็นพรรคการเมือง ชื่อ “พรรคเพื่อฟ้าดิน” อาเปิ้ม อดีตผู้ใหญ่บ้าน ศีรษะอโศก เป็นหัวหน้าพรรค และอาจสมัครเข้าแข่งขัน ชิงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวันข้างหน้า และถ้าพรรคนี้ ได้รับความนิยมสูง อาเปิ้ม อาจเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก จากศีรษะอโศก

 

ชุมชนในอุดมคติ

สภาพที่นำไปสู่ดินแดน ที่มีสภาพทางการเมือง และ สังคมที่สมบูรณ์

สมาชิกอโศก ทำงานอย่างขยัน ขันแข็ง ในการสร้างชุมชนของเขา และ ช่วยพัฒนาสังคมไทย เป็นการดำเนินงาน ตามแผนพัฒนา ไปสู่สังคมในอุดมคติ ที่มีสภาพ ทางการเมือง และสังคม ที่สมบูรณ์ สมณะโพธิรักษ์ ได้วางเงื่อนไข ๕ ประการ ในการพัฒนา ระบบสังคมพุทธ คือ “อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และ บูรณภาพ" เงื่อนไขทั้ง ๕ ประการนี้ เกี่ยวข้องกันและกัน อย่างลึกซึ้ง และ สลับซับซ้อน ทำให้ทั้งระบบ ดำเนินไปได้ด้วยดี ยกตัวอย่าง อิสรเสรีภาพ หมายความว่า อิสระจากกิเลส ก่อนอื่น เราต้องเป็นอิสระ จากการยึดติด ในวัตถุ – ทั้งทรัพย์สมบัติ ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น แก้วแหวน เงินทอง และ ทรัพย์ที่เคลื่อนที่ไม่ได้ เช่น ที่ดิน นา ไร่ จุดนี้จะนำเราไปสู่ การร่วมหุ้นกัน และการยกให้ โดยไม่คิดค่าตอบแทน การร่วมหุ้น หรือการยกให้ ก่อให้เกิด ภราดรภาพ หรือ ความเป็นญาติ พี่น้องกัน ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ความรัก ระหว่าง พี่น้องที่ร่วม “มดลูกแห่งหัวใจ” หรือ “ญาติธรรม” จะนำไปสู่ สันติภาพ การอยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข และความรัก ระหว่างพี่น้อง จะยั่งยืน ทำให้เกิดความร่วมมือ และผสม กลมกลืนกัน ไม่มีการแข่งขัน ไม่มีการสู้รบ ไม่มีการลักขโมย ไม่ต้องมีตำรวจ ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีอาวุธ สมรรถภาพ ของมนุษย์จะเพิ่มขึ้น เพราะคนร่วมมือแบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และ การค้นพบสิ่งใหม่ๆ ก็จะได้นำมาใช้ด้วยกัน ในการทำนุบำรุง สิ่งแวดล้อม และชีวิตของมนุษย์ ยกมาตรฐาน การครองชีพของมนุษย์ และรักษา บูรณภาพ หรือ คุณธรรมเอาไว้ มนุษย์ที่มีคุณธรรม โดยปกติ จะเป็นคนสร้างสรรค์ แต่จะไม่ยึดติดกับสิ่งที่สร้าง ตรงกันข้าม เขามักเป็นคนใจบุญสุนทาน ด้วยการปฏิบัติอย่างนี้ วงล้อของ อิสรเสรีภาพ ภราดรภาพ สันติภาพ สมรรถภาพ และ บูรณะภาพ ก็จะหมุนไป โดยไม่หยุดหย่อน สังคมเช่นนี้ จะเป็นไปได้หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ผู้คน”

เมื่อผู้เขียน สอบถามความเห็น สมาชิกศีรษะอโศกว่า  “สังคมที่สมบูรณ์ เป็นอย่างไร?” ไม่มีผู้ใดตอบได้ชัดเจน ส่วนใหญ่ เน้นเงื่อนไขดังกล่าว ๑ หรือ ๒ ประการ อย่างไรก็ตาม ชาวอโศก หวังให้คนไทยทุกคนมี สันติที่ไม่มีความเศร้า (สันติอโศก) เหมือนที่เขาแสวงหาอยู่

 

สรุป

ผู้เขียนสรุปบทนี้ โดยเล่าถึงประสบการณ์ ของเธอ บนถนนในกรุงเทพ ฯ ดังนี้

“วันหนึ่ง ขณะที่ฉันนั่งรถประจำทาง อยู่ในกรุงเทพ ฯ รถค่อยๆ เขยิบไปทีละนิด บนถนน ที่แออัดไปด้วยรถประจำทาง รถแท็กซี่ รถตุ๊กตุ๊ก รถเบนซ์ รถโตโยตา และรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งคนขับ แต่งตัวยังกะ นักขับเครื่องบินประจัญบาน ฉันปล่อยเวลา ให้ล่วงไป ด้วยการแอบมองผู้โดยสาร ในรถประจำทาง คันที่ฉันนั่งไป หญิงสาวคนหนึ่ง แต่งกายด้วยเสื้อ โพลี่เอสเตอร์ สีอ่อน กระโปรงสั้น ทำผมและเล็บ ยังกับว่า เพิ่งออกมาจากร้านเสริมสวย เธอใส่รองเท้าส้นสูง ผู้ชายหลายคน ทำเป็นเมินเฉย เขาเหล่านั้น แต่งกายด้วยเสื้อผ้า ที่น่าอึดอัด ผูกเน็คไท อย่างคนตะวันตก นุ่งกางเกงขายาว ใส่รองเท้าหนัง วัยรุ่นหลายคน แต่งกาย ด้วยเสื้อผ้านักกีฬา ใส่รองเท้าเทนนิส ย้อมผมหลายสี หิ้วถุงพะรุงพะรัง ยังกะไปปล้นมาจาก ร้านในมอลล์ เด็กกรุงเก๋ๆ เหล่านี้ หลายคน มีโทรศัพท์มือถือ หรือ วิทยุวอล์คแมน ที่มีหูฟังเสียบที่หู ฉันรู้สึกหดหู่ และท้อแท้ ต่อภาพที่เห็น แน่ละ คนเหล่านี้ ไม่มีใครสนใจต่อสิ่งที่อโศกทำ แม้แต่น้อย สามสิบปีก่อนโน้น เมื่ออโศกเริ่มก่อตั้ง ท่านพุทธทาส เคยถามคำถาม ที่คล้ายคลึงกัน “ในขณะที่สังคมผู้บริโภค กำลังขยายตัวอยู่นี่ ใครบ้างสนใจการตรัสรู้?”

หลังจากนั้น ฉันเล่าถึง ความขัดข้องใจของฉัน ให้สมภาร ที่สันติอโศกฟัง และเรียนถามท่านว่า เราจะทำอย่างไร จึงจะให้คนไทยมี “ความเห็นที่ถูกต้อง” มากขึ้น ท่านตอบแบบ ชาวพุทธทั้งหลาย ที่ยอมรับสิ่งต่างๆ ที่เป็นไป ตามกระแสของมันว่า “คนที่มีปัญญา จะมาหาเราเอง... ส่วนคนอื่น เราช่วยเขาไม่ได้”

ฉันมองออกไป นอกหน้าต่างรถประจำทาง ขณะที่รถ ข้ามทางรถไฟ เห็นกระท่อม โกโรโกโส เป็นทิวแถว หลังคามุงด้วย สังกะสีลูกฟูก ตาของฉัน ไปสะดุด ป้ายอันหนึ่ง บนแผงลอย ขายอาหาร

ช่วยเหลือกันและกัน
สมัย ไอ เอ็ม เอฟ
ข้าวแกงจานละ ๑๐ บาท

ฉันรู้สึกมีความหวัง ขึ้นมาทันที ยังมีคนภายนอกกลุ่มอโศก ผู้ซึ่งอย่างน้อย เห็นคุณค่าของ ความร่วมมือ และ การเสียสละ และอาจเห็นอกเห็นใจ คนอโศก ที่ได้พากเพียรพยายาม

ขบวนการอโศก ช่วยสังคมไทย ในวิถีทางต่างๆ ที่รวมอยู่ใน “พัฒนาการที่ถูกต้อง” ตามหลักพุทธศาสนา อโศกได้ชี้ให้เห็น ปัญหาในสังคมไทย และได้ลงมือแก้ไขในทางที่เหมาะ ทั้งในทางวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม แต่ประชาชนชาวไทย สนองตอบ ต่อขบวนการอโศก ต่าง ๆกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้มิได้ทำให้ ชาวอโศกเสียกำลังใจ เพราะว่า “ทุกคนมุ่งหาทางออก” อโศกเป็นทางออก ทางหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ ทางออกของทุกคน ไม่ว่าอโศก จะสามารถชักจูงให้คน มาเข้าด้วยกับขบวนการอโศก หรือไม่ ชาวอโศกก็ยังคงเสียสละ ช่วยเหลือพี่น้องในสังคมไทย สิ่งนี้เป็นธาตุแท้ที่สำคัญ ของการปฏิบัติธรรม ตามหลักพุทธศาสนา”

                          ******

อ่านต่อ บทที่ ๗ บทบาทของผู้หญิง

สัมมาพัฒนา : สันติอโศก ขบวนการพุทธปฏิรูปแห่งประเทศไทย
จูลิอานา เอสเซน เขียน
ถนอม บุญ แปลและเรียบเรียง