นั่นคือ ๔ ขั้นของอุดมการณ์ของการค้าขายแบบบุญนิยม
ส่วน "หลักการการตลาด"
ของบุญนิยมนั้น มีหลักการอยู่ ๕ ข้อ ได้แก่
๑.
ของดี
๒.ราคาถูก
๓. ซื่อสัตย์
๔. มีน้ำใจ
๕. ขายสดงดเชื่อ (เครดิตเหนือเครดิต)
หลักการการตลาด
๕ ข้อนี้ ต้องเป็นจริง และ หากทำจริงได้แล้ว ก็จะไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยยุ่งยาก
กับการตลาด เหมือนทุนนิยมเขาเหนื่อย เพราะแทบจะไม่ต้องหาวิธี แย่งลูกค้า
ไม่ต้องโฆษณา ไม่ต้องออกไปหาลูกค้า ลูกค้าจะเข้ามาหาเอง ไม่ต้องวางแผนอย่างนั้น
อย่างนี้ เพื่อสู้กับนักค้าอื่นๆ หรือ ไม่ต้องทำอะไรอีกสารพัด แบบที่ชาวทุนนิยมต้องทำกัน จนต้องเล่าเรียน เป็นวิชาการ ในการตลาด มากกว่ามาก
ขอให้จริงเถิดว่า
สินค้าของเรา ต้องเป็น "ของดี" จริงๆ ต้องตรวจสอบคุณภาพจริงๆ
เสมอๆ และ เรื่อง "ราคาถูก" นั้น หากผู้ปฏิบัติตน บรรลุธรรมสูงขึ้นจริง
แน่นอนว่า จะยิ่งค้าขายอย่างมี "กำไรอาริยะ" สูงยิ่งขึ้นๆ
นั่นคือ ยิ่งจะขายถูกลงๆ และ ถึงขั้น มีการแจกฟรีได้แน่นอน
ยิ่งเรื่อง
"ซื่อสัตย์" ยิ่งไม่ต้องแจงความแต่อย่างใด ทุกคนก็คงจะรู้กันดีอยู่แล้ว แม้แค่สามัญสำนึก
ขอให้พิสูจน์ กันให้จริงเถิด "ซื่อสัตย์ "กันให้จริง ให้ได้แท้ๆ
แล้ว ดูซิว่า จะนำพาการตลาด ไปลิ่วๆ ได้หรือไม่
และ เรื่อง
"มีน้ำใจ" นี้ก็ลึกซึ้งมาก ที่ต้องศึกษาอย่างสำคัญ เพราะจะต้องปฏิบัติ
ต่อกัน และกัน ทั้งการเป็นผู้ซื้อ ทั้งการเป็นผู้ขาย ทั้งกับคนที่มีจริตนิสัยต่างๆ
ที่แตกต่างกันอยู่จริง ในความเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องปฏิบัติกับ คนบางคน ก็แตกต่างกันไป ตามจริตนิสัย
ตรงๆ ก็ตามกิเลสของแต่ละคน เพื่อให้เป็นประโยชน์ ต่อลูกค้า ต่อพ่อค้าแม่ค้า
ให้เขาพัฒนา เป็น "คนเจริญ" ขึ้น ด้วยเมตตา ปรารถนาดีอย่างจริงใจ
และ เพื่อผูกสัมพันธ์ อันดีแก่กันและกัน ให้สนิทชิดชอบยิ่งๆ ด้วย
โดยเฉพาะ
"ขายสดงดเชื่อ" นั้น เป็นเรื่องสำคัญมาก
เพราะจะเป็น เศรษฐศาสตร์ ที่สำคัญยิ่งสูงสุด ของสังคม และ ส่วนตัว ที่ทำให้คนยืนอยู่บนฐานของ
"ความจริง" ทั้งในด้านการผลิตสินค้า เพราะดีมานด์ จะตรงต่อความจริงยิ่งขึ้น
ทั้งในด้านการเงิน ก็จะไม่เกิดปัญหา ก่อความทุกข์อันเลวร้าย เพราะไม่ต้อง
เป็นหนี้กัน ทั้งในด้านพ่อค้าแม่ค้า ก็จะเพิ่มความสุขุมประณีต เพราะขืน คำนวณไม่ประณีต ในการซื้อการขาย ให้ตรงกับ ดีมานด์ซับพลายของตลาด
การค้าของตน ก็ล้มละลาย เป็นต้น
ข้อที่
๑๐ "มีบูรณาการในอิสรเสรีภาพ ภราดร สุขสันติ และ สมรรถนะ จนเกิดเป็น บูรณภาพ"
ในความเป็นคน หรือ ในความเป็นสังคมของมนุษย์นั้น หากมี อิสรเสรีภาพ (independence)
ภราดรภาพ (fraternity) สันติภาพ (peace) สมรรถภาพ (efficiency) บูรณภาพ
(integrity) อย่างเกิดจริง เป็นจริง ก็เป็นอันถึงที่สุด (ultimate)
แห่งความสัมบูรณ์สุด (absolute)
อิสระเสรีภาพ
(independence) มิได้หมายถึงแค่ว่า
เราอยากทำอะไร ก็ทำได้ หรือ เราบำเรอใจตนเอง ได้ทุกอย่าง แล้วถือว่า
นั่นคือ ความมีอิสระเสรีสัมบูรณ์ แต่หมายถึง คนผู้นั้น มีจิตใจ หมดความเป็นทาส ไม่ว่าทาสทางวัตถุ ทาสโลกีย์ ทาสกิเลส ที่สุดหมดความเป็นทาส แม้แต่
"ใจ" ตนเอง (หมดอัตตา) จึงจะนับว่า มี "อิสรเสรีภาพ"
สัมบูรณ์ ดังนั้น ผู้ใด ลดความเป็น "ทาส" สิ่งดังกล่าวมาได้ ตั้งแต่วัตถุหยาบ
ไปจนถึงโลกธรรม หรือ โลกีย์ ได้แก่ ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, สุข, เสื่อมลาภ,
เสื่อมยศ, นินทา, ทุกข์ และ ลึกซึ้งเข้าไปถึง กิเลสในใจ ที่สุดแห่งที่สุด แม้แต่
"ใจ" ตนเอง ก็หมดความเป็นทาส เหลือแต่ "ญาณ"
หรือ "วิชชา" ที่ทำหน้าที่ของ "ใจ" หรือ "จิต"
อยู่เท่านั้น เพื่อผู้อื่น เพื่อมวลมนุษยชาติ หรือ เพื่อสังคม เพื่อโลก
เพราะสิ้นความเป็นทาสได้จริง ผู้มี "อิสระเสรีภาพ" ดังกล่าวนี้ จึงอยู่กับวัตถุ
อยู่กับโลกีย์ อยู่กับความเป็น กิเลสของคนอื่นได้ โดยสิ่งเหล่านั้น
ทำให้ผู้มีอิสระเสรีภาพ ตกเป็นทาส ไม่ได้อีกแล้ว มีก็แต่ผู้มีอิสระเสรีภาพ จะช่วยเหลือ คนที่ยังตกเป็นทาสสิ่งต่างๆ เหล่านั้น อยู่เท่านั้นเอง
ภราดรภาพ
(fraternity) ในที่นี้ มิใช่หมายถึงแค่ ความเป็นพี่น้อง ที่สืบสายเลือด กันมาเท่านั้น แต่ความเป็นพี่น้องกันนี้
เป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างกว้างขวางถ้วนถึง ในสังคมของ มวลมนุษย์ทีเดียว
คนทุกคนล้วน เป็นพี่เป็นน้องกัน ลึกซึ้งถึงขั้น อยู่กันอย่าง มีพฤติกรรม แห่งความเป็นพี่น้องจริงๆ ที่อาศัยกัน ช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ
พึ่งตายกันได้ อันเป็นจริงมีจริง ทั้งพฤติกรรม และ ทั้งจิตวิญญาณ
สังคมที่มี
"ภราดรภาพ" ได้จริง จึงจะเป็นสังคมที่อบอุ่น ปรารถนาดีต่อกัน
ไม่หวงแหน แต่เต็มใจ ที่จะช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ด้วยใจที่เสียสละ แก่กันและกัน
สันติภาพ
(peace) เป็นความสุข ที่มีกันถ้วนทั่ว ของสังคม
เป็นความเรียบร้อย เป็นความสงบ เป็นความราบรื่น ง่าย งามของสังคม
มิใช่ "สงบ" สุขอยู่แต่เฉพาะตน ที่อยู่เงียบๆ นิ่งๆ หรือ
ยิ่งไปกว่านั้น "สงบ" แบบหนีสังคมออกไปอยู่ โดดเดี่ยวแต่ผู้เดียว อะไรอย่างนั้น
เด็ดขาด "สันติ" ที่ว่านี้ เป็นความสงบสุข ชนิดที่มีความสัมพันธ์
เป็นอยู่ร่วมกัน เป็นอันดี ของมวลคนในสังคม ที่เกี่ยวข้องกัน อยู่ร่วมกัน
มีจิตใจที่สงบ -สะอาด -สว่าง และ มีพฤติกรรมต่างๆ อย่างสุภาพ -สมรรถนะ -สามัคคี
แต่มิใช่ว่า
จะไม่มีอะไรขัดแย้งกันเลย "ในความสามัคคี ย่อมมีความขัดแย้ง อันพอเหมาะ
"เพราะความเป็นคนในสังคม ย่อมมีคนต่างฐานะ ทั้งฐานะทางกาย และ
ทั้งฐานะทางใจ พฤติกรรมทางกาย ที่มีความไม่เหมือนกัน ความรู้สึกนึกคิด ก็ไม่เหมือนกัน
นิสัยใจคอต่างกันนั่นเอง อาจจะคล้ายๆ กันบ้าง ก็บางคน แม้จะมี "ทิฏฐิสามัญญตา"
หรือ ต่างมี "สัมมาทิฏฐิ" ด้วยกันทั้งนั้น ก็ตาม หากเป็นสังคม ที่มีคุณภาพ
ของ "อิสระเสรีภาพ" มีคุณภาพของ "ภราดรภาพ" มีคุณภาพของ
"สันติภาพ" ดังที่ได้กล่าวถึง มาแล้วข้างต้นจริงเพียงพอ แม้จะมีความขัดแย้ง ก็เป็น ธรรมชาติแห่งมนุษย์ ที่อยู่ร่วมกัน เป็นธรรมดา และ หากมนุษย์ มีคุณภาพ ดังกล่าวแล้ว
ก็ขัดแย้งกัน เพื่อสิ่งที่ดีงามยิ่งๆ ขึ้น หรือ เพื่อความเจริญของคน
และ ของสังคมยิ่งๆ ขึ้น และ จะตกลงกันได้ด้วยดี ไม่มีความรุนแรงอันน่ากลัว เกิดแน่นอน
สมรรถภาพ
(efficiency) มนุษย์ที่เจริญต้องมีความรู้ ความสามารถ สร้างสรรกอบก่อ ให้แก่สังคมแก่โลก
ยิ่งอยู่ในโลกอันพร่องทรัพยากรธรรมชาติ อาการหนักอย่างทุกวันนี้ ยิ่งจำเป็น ต้องช่วยโลกช่วยสังคม เพราะธรรมชาติพัฒนาตนเอง ไม่ทันมนุษย์ผลาญ
เป็นคนไม่ทำงาน ไม่สร้างสรรค์ จึงไม่ควรอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม
เกิดเป็นคน ก็ต้องมีคุณค่าประโยชน์ ต่อโลก ต่อสังคม เพราะคนทุกคน ต้องกินต้องใช้
ไม่ใช่มีชีวิตอยู่อย่างเปลือง อย่างผลาญ เอาแต่กินแต่ใช้ เป็นคนไม่น่าจะได้ชื่อว่า
มีคุณค่า ต่อโลก ต่อสังคม น้อยกว่า เดรัจฉานบางชนิด คนนี่แหละ บำเรอตน ด้วยการกินการใช้การเล่น อย่างผลาญดินน้ำ ลมไฟอากาศ
และ วัตถุทรัพยากร ธรรมชาติ มากกว่า สัตว์เดรัจฉาน เกิดเป็นคนแท้ๆ มันไม่ควรจะ
เป็นเช่นนั้น เกิดเป็นคน ควรจะสร้างสรรค์ คุณค่าประโยชน์ ต่อโลก ต่อมนุษย์
ต่อสัตว์โลก และ ต่อดินน้ำลมไฟอากาศ อย่างรู้จักบุญคุณ ไม่ควรจะได้ชื่อว่า
อยู่อย่างหนักแผ่นดิน
ดังนั้น
คน จึงสมควรอย่างยิ่ง ที่จะต้องขยัน มีปัญญาสร้างสรร "สิ่งที่ เป็นประโยชน์คุณค่า
" มิใช่สร้างสรร สิ่งที่ไร้คุณค่า มอมเมาคนด้วยกัน ทำให้ "หลง"
ติดยึด ทำให้กิเลสหนายิ่งๆ ขึ้น มอมเมาสัตว์เดรัจฉาน หรือ ทำลาย ดินน้ำลมไฟอากาศ
ให้ทับถมโลก ทับถมสังคม จนเลวร้าย หนักหนาสาหัส เช่นที่เป็นกัน ทุกวันนี้
คนที่มี
"สมรรถภาพ" จึงมี ๒ นัย นัยหนึ่ง มอมเมาทำลายโลก ทำลายสังคม
อีกนัยหนึ่ง ช่วยเกื้อกูลโลก เกื้อกูลคนในสังคม ตลอดจนสิ่งสาราสัตว์ ดินน้ำลมไฟอากาศ
นัยแรกนั้น ยิ่งเก่งก็ยิ่งเลวร้าย
บูรณภาพ
(integrity) หมายถึง ความเต็ม, ความครบ,
ความบริบูรณ์ ดังนั้น หากมีส่วนที่ยังไม่เต็ม ไม่บริบูรณ์ ก็ต้อง "บูรณะ"
หรือ ซ่อมแซมพัฒนาให้เต็ม ให้บริบูรณ์อยู่เสมอ ภาษาโก้ๆ ว่า "บูรณาการ"
(integrate) ซึ่งหมายความว่า ทำให้ไปสู่ความบริบูรณ์ หรือ ทำให้ไปสู่ความเต็ม
ดังนั้น อิสรเสรีภาพก็ดี ภราดรภาพก็ดี สุขสันติภาพก็ดี สมรรถภาพก็ดี
ส่วนใดยังพร่อง เรื่องใดยังไม่ดีที่สุด ต้องทำให้ไปสู่ ความบริบูรณ์ อยู่เสมอๆ
กระทั่งเป็น "ความครบถ้วนบริบูรณ์" อันเรียกด้วยศัพท์ว่า
"บูรณภาพ" (integrity) ก็เป็นอันจบ หรือ อยู่ในสภาพถึงที่สุด
(ultimate) แห่งความสัมบูรณ์สุด (absolute)
อาตมาเข้าใจอย่างนี้ ด้วยความจริงใจ
และ ตั้งใจอย่างนี้ และ นำพากันมา จนถึงทุกวันนี้ ก็ได้ผลมาบ้าง ตามที่มีที่เป็น หากจะมีอะไรที่เรียกว่า "ปรัชญา" ได้บ้าง ท่านผู้รู้แจ้งใน
"ปรัชญา" ดี ก็พึงเห็นเอาเองเทอญ.
สมณะโพธิรักษ์
๓๐ ก.ค. ๒๕๔๓
|