หน้าแรก >>ชุมชนบุญนิยม >

ข้อที่ ๓ "มีงาน หรือ กิจการที่พึ่งตนเองได้" นั้น ยิ่งสมัยนี้คนทั่วไป ไม่เข้าใจ "การพึ่งตนเอง" ไม่ยืนหยัด การศึกษาที่จะทำให้ "รู้ยิ่งในงาน อันเป็น สารสัจจะแห่งที่พึ่ง ที่ตนเองพึ่งได้" จึงไปหลงงานที่หลอกๆ ลวงๆ ที่เฟ้อ ที่ไร้ค่า หรือ เป็นงานมอมเมากัน ซึ่งอาจจะเป็นงาน ที่ได้เงินมาก ดังเด่นโก้ ก็ "หลง" กันหนัก เช่น หลงกีฬาเป็นอาชีพ หลงร้องรำ เป็นอาชีพ หลงเล่นเกมการเงิน เป็นอาชีพ หรือ หลงอบายมุขต่างๆ เป็นอาชีพ เป็นต้น สังคมเลวร้าย เพราะ "ไม่รู้จักงานที่เป็นสารสัจจะ "เยี่ยงนี้เอง จึงทำให้สังคมล้มเหลว หรือ เละเฟะ ไปตามกาลเวลา สังเกตได้ว่า สังคมที่ล้มเหลวนั้น คือ สังคมที่คนไปสนใจแต่ อบายมุข ที่เด่นดังเฟื่องฟู ค่านิยมของสังคม จึงมักจะเป็น ธุรกิจ หรือค้าขาย ในเรื่องอบายมุขที่เด่นดัง เป็นเงินเป็นทอง เป็นต้น หรือ ไม่เช่นนั้น ก็ธุรกิจ ทางโลกธรรมที่จัดจ้าน ไม่สุจริต ไม่ยุติธรรม

สังคมที่เดือดร้อนล้มเหลวนั้น คือ สังคมที่มีเชิงกลของ "ธุรกิจ หรือ การงานที่กร้านโลกีย์ ไม่มีสาระ แต่เฟื่องฟูร่ำรวย" เป็น ธุรกิจการงาน ที่โน้มเอนไปในทาง ไม่ส่งเสริม ศีลธรรมอันดีงาม โดยเฉพาะมีกระแส นิยมอบายมุข และ โลกธรรมที่จัดจ้าน นำหน้าธุรกิจการงานที่ดีงาม สุจริตยุติธรรม และ เป็นสารสัจจะ

"พึ่งตนเองได้" มิใช่หมายความว่า ผู้มีการงานนั้น ต้องร่ำรวย ต้องเด่นดัง แต่เป็น "การพึ่งตนเองได้" เป็นคนที่มีชีวิต เป็นอยู่ได้อย่างพอเพียง สำหรับชีวิต ไม่เป็นหนี้ ไม่ขาดแคลน ไม่โลภเพื่อตนมาก มีความขยัน มีสมรรถนะ มีความรู้ แต่มี "สันโดษ" คือ มีใจพอ เพราะ "มักน้อย" หมายความว่า ทำมาก แต่เอาเป็นของตนน้อย เสียสละส่วนของตน ไปช่วยผู้อื่น หรือ จุนเจือสังคม เป็นส่วนใหญ่ ตนจึงมีน้อย ทว่า มีคุณงามความดี หรือ มี "บุญ" มีกุศล เป็นของตนๆ มากกว่า มีโลกธรรมโดยแท้ ตามสัจจะ

ข้อที่ ๔ "มีระบบการดำเนินชีวิต" นั้น หากได้เรียนรู้ และ ปฏิบัติตน จนบรรลุผล แห่งความเป็นจริง มีคุณสมบัติ และ มีคุณภาพ ตามข้อที่ ๑ ถึง ๓ มาแล้ว อย่างดี ข้อ ๔ นี้ก็จะเข้าใจ และ เชื่อมั่น จะรู้แจ้งในระบบ ของการดำเนินชีวิต ว่าจะดำเนินอย่างไร และ จะไม่ไขว้เขว จะไม่สงสัย แม้ "ระบบการดำเนินชีวิต " ที่ตนเป็นอยู่นั้น จะแตกต่างจาก สังคมส่วนใหญ่ หรือ แตกต่างจาก สังคมของชาวโลกียะ ที่เขาแสนบันเทิง เริงรมย์ ยั่วยวนไปด้วย "ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข" อันหวือหวา สุดฤทธิ์สุดเดช ปานใดก็ตาม ก็จะไม่หวั่นไหว ไม่เปลี่ยนแปลง ไปตามกระแส สังคมชาวโลกีย์

เพราะ "ระบบ" ของสังคมหรือชุมชน ที่คนผู้นี้ ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมนั้น มี "ระบบ" เป็นอย่างดีปกติแล้ว เพราะต่างได้ปฏิบัติตน กระทั่งสามารถมี "วัณณะ ๙" อันได้แก่ ความเป็นคนเลี้ยงง่าย (สุภระ) , บำรุงง่าย (สุโปสะ) , มักน้อย (อัปปิจฉะ) , ใจพอ (สันโดษ) , มีการขัดเกลา (สัลเลขะ) , มีศีลเคร่ง (ธูตะ) , มีอาการที่น่าเลื่อมใส (ปาสาทิกะ) , ไม่สะสม (อปจยะ) , ปรารภความเพียร (วิริยารัมภะ) และ มี "สาราณียธรรม ๖" มี "พุทธพจน์ ๗" เป็นต้น เมื่อมีการ "ดำเนินชีวิต" ไปอย่างมีความเป็นอยู่ ชนิดรู้แจ้งเห็นจริง อยู่ตลอดว่า อย่างที่เป็นอยู่นี้ ดีอย่างไร ประเสริฐแค่ไหน จึงไม่แปลกใจ แต่รู้ดีเข้าใจดี และ สนิทใจ สบายใจ เต็มใจ กับการดำเนินชีวิตไปกับ "ระบบ" นี้

ข้อที่ ๕ "มีวัฒนธรรมที่แข็งแรงยั่งยืน" อันนี้ เป็นสมบัติสังคม ที่สำคัญมาก ถ้าสังคมใดมี "วัฒนธรรม ที่ดีงาม" เป็นสัจธรรม สังคมนั้น ก็เป็นอยู่สุข และ เป็นสังคมที่อบอุ่น สงบเรียบร้อย ง่ายงาม เจริญ อุดมสมบูรณ์ อาจจะเป็น เรื่องแปลกประหลาด ตามสายตาของชาวโลกีย์

เช่น คนที่นับว่า เป็นคน "ร่ำรวย" (บุญ) ยิ่งๆ ของสังคมแบบนี้ ก็จะยิ่งเป็นคนที่ไม่มี ทรัพย์ศฤงคารส่วนตัว ดังนี้ เป็นต้น เป็น "วัฒนธรรม" ของสังคมนี้ และ เป็นทั้ง "ศิลปะ" ของชีวิตที่เยี่ยมยอดด้วย คนที่สามารถทำศิลปะ ที่มีคุณค่าความงดงาม ตามลักษณะดังว่า นี้ได้ ต้องแน่จริงๆ เพราะไม่ใช่ทำชนิดแค่ "สร้างภาพ" อาหารก็มีวัฒนธรรม คือ กินก็ไม่เขื่องไม่หรู แต่งตัวก็ปอนๆ ไม่สะสวยราคาแพง แต่อย่างใด เป็นอยู่ "ติดดิน" แต่จะเป็นคนที่ได้รับ การเคารพนับถือ ยกย่อง บูชายิ่งๆ ในประชากรของสังคมนั้น ถ้วนทั่ว เพราะประชากร ของสังคมนี้ เขามี "ทิฏฐิ" (ความเห็น หรือ ทฤษฎี) อย่างนี้ และ ในสังคม หรือชุมชนเช่นนี้ จะมี "คน" ดังกล่าวนี้ไม่น้อย ซึ่งมีลดหลั่นกันอยู่ เป็นลำดับ ตามภูมิธรรม แล้วก็ถ่ายทอด สืบทอดกันต่อๆ ไปแก่อนุชนรุ่นหลัง เป็น วัฒนธรรม ประจำสังคมนี้ ต่อๆไป อย่างยืนนาน จึงชื่อว่า "วัฒนธรรม ที่แข็งแรงยั่งยืน" เป็นต้น

ข้อที่ ๖ "มีภราดรภาพ" ข้อนี้ เป็นคุณสมบัติ ของชุมชนแท้ๆ หมายความว่า คนในชุมชน จะมีจิตใจ ที่ประกอบไปด้วย ความรู้สึก "เป็นพี่เป็นน้อง" กันจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียง "ความรู้" ที่รู้ว่า คุณลักษณะเช่นนี้ดี แล้วก็ปฏิบัติต่อกัน เพียงมารยาทสังคม เท่านั้น แต่ได้ปฏิบัติตามศาสนา อย่างมีมรรคผลจริง จึงเกิดผล ที่มีจิตใจ เป็น "สาราณียธรรม ๖" อันประกอบด้วย เมตตากายกรรม, เมตตาวจีกรรม, เมตตามโนกรรม, มีสาธารณโภคี, มีศีลสามัญญตา, มีทิฏฐิสามัญญตา และ มีคุณลักษณะตาม "พุทธพจน์ ๗" ที่ว่า มีความระลึกถึงกัน (สาราณียะ) มีความรักกัน (ปิยกรณะ) มีความเคารพกัน (ครุกรณะ) มีการเกื้อกูลช่วยเหลือกัน (สังคหะ) ไม่วิวาทกัน (อวิวาทะ) พร้อมเพรียงกัน (สามัคคียะ) เป็นหนึ่งเดียวกัน (เอกีภาวะ) เกิดในจิตวิญญาณจริง จึงอยู่ด้วยกันแบบ มีจิตใจ และ ความรู้สึก เป็นพี่เป็นน้องกัน อย่างสนิทสนม กลมกลืน พึ่งเกิด พึ่งแก่ พึ่งเจ็บ พึ่งตายกันได้จริงๆ ฉันพี่ๆ น้องๆ ญาติโกกันแท้

ข้อที่ ๗ "มีการศึกษาสืบทอด" จะมีการเรียนรู้ อบรมฝึกฝน มีการศึกษา ทั้งด้วยทางธรรมชาติ และ ด้วยเจตนาตั้งใจถ่ายทอด เพื่อให้สืบทอด ต่อๆ กันไป ให้นานเท่านาน จึงเป็นการศึกษาที่ ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียง เข้าห้องเรียน ท่องอ่านจำ ทำความเข้าใจ แล้วก็กำหนดขีดความรู้ไว้ว่า เรียนจบคือเท่านี้ แล้วจากนั้น ก็ปล่อยปละ ละเลย ไม่สืบต่อการปฏิบัติ หรือ ไม่มีความเจริญ ด้วยสารสัจจะจริง หรือ ไม่นำพาการศึกษากัน จนให้เกิดเป็น วัฒนธรรม ให้เกิดเป็น ระบบดำเนินในชีวิต ถ
คำว่า "การศึกษา" ก็จะศึกษาทั้ง "ปริยัติ" หรือ การเรียนรู้เพื่อรู้ และ ทั้ง "ปฏิบัติ" หรือ พาลงมือกระทำ เพื่อให้ บรรลุผลสำเร็จ สู่ความเป็น "คนเจริญ" ให้ได้อย่างแท้จริง กระทั่งถึงที่สุดขั้น "ปฏิเวธ" หรือ รู้แจ้งแทงทะลุผลจบ เป็นที่สุด และ หลักปรัชญา ในการศึกษา ก็คือ "ศีลเด่น- เป็น งาน-ชาญวิชา"

"ศีลเด่น" ได้แก่ "ไตรสิกขา" ทั้งขบวน "เป็นงาน" ได้แก่ "การเจริญสัมมา" ที่เป็น "สังกัปะ-วาจา-กัมมันตะ-อาชีวะ" ซึ่งจะเป็น องค์รวมที่สมบูรณ์ใน "กรรม" ทั้งมวล โดยเน้นที่ "การงาน (กัมมันตะ) และ อาชีพ (อาชีวะ)" และ จะศึกษากันอย่าง เป็นธรรมชาติ ของการเป็นอยู่ในชีวิต มิใช่แยกการศึกษา ออกไปเป็นอีกส่วนหนึ่ง มากเกินไปจาก ชีวิตประจำวัน เหมือนคำว่า "การศึกษา" ของระบบสังคมปัจจุบัน และ "การศึกษา" จะต้องศึกษาตลอดชีวิต หากจะเรียกว่า มีจบก็คือ มีขีดเขตสำคัญ ด้านคุณธรรม เท่านั้น ที่สำเร็จ คือจบ เป็น "อรหันต์" นอกนั้น ศึกษาได้เรื่อยไป และ ต่อไป ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน

ข้อที่ ๘ "มีการเผยแพร่" ต้องเผื่อแผ่ ต่อมวลมนุษยชาติ ต้องประกาศออกไป ต้องแสดง ให้กว้างขวางออกไป ต้องอธิบายขยายความรู้ ความจริงนี้ออกไป เพื่อให้มวลมนุษยชาติได้ หรือเป็น หรือมีด้วย เพราะเรามั่นใจว่า เป็นของดี เป็นสิ่งประเสริฐ และ เผยแพร่ อย่างไม่ปิดบัง อย่างไม่ซ่อนเร้น อำพราง อย่างบริสุทธิ์ใจ ที่จะให้ทุกคนได้ อย่างดีที่สุด เหมาะสมที่สุด มากครบที่สุด ตามสมควร ไม่เช่นนั้น จะเป็นการตระหนี่ หรือ เห็นแก่ตัวร้ายกาจ และ การเผยแพร่ก็ไม่ใช่ "ทำอย่างการโฆษณาสินค้า" สมัยนี้ ที่เป็น ท่าที "อวด" หรือ มีกิเลส "อยากอวด" ต้องมีการประมาณ โดยเฉพาะ คนที่เราจะให้ ต้องดูท่าทีให้ดี หากเขายังไม่พร้อม หรือ ไม่ประสงค์จะรับ ก็ไม่ต้องให้ ไม่มีการยัดเยียด "บุญนิยม" จะไม่บังคับ จะมีแค่สมัครใจ เข้ามารับ "วินัย" รับ "ข้อบังคับ" หรือรับ "ข้อสมาทาน" ไปปฏิบัติ ด้วยตัวผู้นั้นเอง อย่างสมัครใจ แล้วเอาไปทำจริงแค่ไหน ก็เป็นเรื่องเฉพาะตน

การเผยแพร่ชนิดบังคับให้คนมารับ จึงไม่มี หรือ เผยแพร่ชนิดใช้เล่ห์ ให้คนมาปฏิบัติตาม จึงไม่มีเช่นเดียวกัน กับพุทธ ไม่บังคับให้คนถือศีล เมื่ออธิบาย หรือ เผยแพร่ไปให้รู้แล้ว ผู้ปรารถนาเอง ประสงค์เอง แสดงความจำนงจะถือศีล จะปฏิบัติตาม ก็เป็น เรื่องอิสรเสรีภาพ

การเผยแพร่นี้ ไม่มีการรับอะไรตอบแทน หรือ แลกเปลี่ยนกลับคืนมา เป็นเด็ดขาด ซึ่งจะต่างจาก "การตลาด" ดังนั้น ผู้เผยแพร่กิจการ หรือ ผลผลิตก็ตาม มีแต่ เป็นผู้ให้ ด้วยปรารถนาดีเท่านั้น

ข้อที่ ๙ "มีการตลาด" ภาษานี้ เป็น ภาษาที่ขอยืมมาใช้ ซึ่งหมายเอาว่า มีการแลกเปลี่ยน หรือ มีการซื้อขาย หรือ มีการให้กันไป แลกกันมาอยู่ด้วย อาจจะไม่ตรง ตามภาควิชาการ ของนักวิชาการ หรือ ผู้เป็นเจ้าของศาสตร์ ทีเดียวนักก็ได้ ชาวบุญนิยม ได้รับการศึกษาอบรมมา จนถึงขั้นจะต้อง แจกจ่ายคนอื่น หรือ จะให้คนอื่น อย่างเป็นเรื่อง เป็นราว ก็ต้องมีขีดเขตขั้นตอน หรือ มีหลักการ มีนโยบายเหมือนกัน

นโยบายการค้าของชาวบุญนิยม มีอยู่ว่า
๑.ขายถูก
๒.ไม่ฉวยโอกาส
๓.ขยัน อุตสาหะ
๔.ประณีต ประหยัด
๕.ซื่อสัตย์ เสียสละ

ส่วนอุดมการณ์ของบุญนิยม ในการจำแนกแจกจ่าย หรือ ในการจำหน่าย ถึงขั้นที่เรียกว่า ซึ้อขายนั้น แบบบุญนิยมแบ่งไว้ เป็น ๔ ขั้น

ขั้นที่ ๑ ยังไม่ใช่ "บุญนิยม" ทีเดียว เพราะยังไม่ได้เสียสละเลย นั่นคือ การซื้อขาย ที่ผู้ขายพยายาม "ขายราคาต่ำกว่า ท้องตลาด" ให้ได้มากเท่าไร ถือว่า ดีเท่านั้น

ขั้นที่ ๒ ก็ยังไม่ใช่ "บุญนิยม" อยู่ดี เพียงแต่ไม่เป็นบาปเท่านั้น แต่ก็ยังไม่เป็นบุญ นั้นคือ "ขายราคาเท่าทุน" ซึ่งก็เท่ากับ ไม่มีขาดทุน ไม่มีกำไร ไม่ว่าทางโลกีย์ และ ทางโลกุตระ เรียกว่า เสมอตัว, เจ๊า

ขั้นที่ ๓ เริ่มต้นนับว่า "บุญนิยม" จริงได้แล้ว นั่นคือ "ขายราคาต่ำกว่าทุน" ซึ่งเป็น การเสียสละแล้ว ผู้ขาย ขายต่ำกว่าทุนนี้ ทางโลกีย์ หรือ ทุนนิยมเรียกว่า "ขาดทุน" แต่ทางโลกุตระ หรือ บุญนิยม เรียกว่า "กำไร" เพราะได้"เสียสละ" การได้เสียสละนั้น คือ "การได้" แน่ๆ คือ "ได้บุญ -ได้คุณงามความดี -ได้กุศลวิบาก เป็นของตน" ตามสัจจะ แต่ถ้า "เอาเกินทุน" เรียกว่า "เอาเปรียบ" ย่อมไม่ได้บุญ ก็แน่ๆ เหมือนกัน ยิ่งเอาเปรียบมากเท่าใด ก็ยิ่ง "เป็นหนี้กรรม -เป็นอกุศลวิบาก" มากเท่านั้น ถ้า "เสียสละ" ก็เป็น "กรรมดี" ถ้า "เอาเปรียบ" ก็เป็น "กรรมเลว" นี้คือ "ความจริง" ตามสัจธรรม

หากใครสามารถ "ขายต่ำกว่าทุน" ได้มากเท่าใดๆ ก็คือ "ได้กำไร" มากเท่านั้นๆ ประสบผลสำเร็จ ในบุญนิยมสูงขึ้นๆ เพราะเป็น "คนเจริญ" พัฒนาก้าวขึ้นสู่ ความเป็น อาริยะสูงขึ้นๆ เมื่อทำได้ และ ดำเนินชีวิตอยู่ได้อย่างดี ไม่เดือดร้อน ไม่ทรมานตน ไม่เป็นหนี้ ก็เป็น เศรษฐศาสตร์อันวิเศษ ที่ "ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก" และ การสะพัด การไม่กักตุน ก็เกิดขึ้น การเฉลี่ยรายได้ ก็เกิดขึ้นจริงจัง เป็นต้น

เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องศึกษา และ พิสูจน์กันอย่างลึกซึ้ง เพราะเป็นสัจธรรมที่ "ไม่น่าเชื่อ" แต่เป็น สัจธรรมที่ทำได้พิสูจน์ได้ ซึ่งผู้สนใจต้องศึกษา และ ปฏิบัติพิสูจน์ แล้วจะรู้แจ้งว่า "เป็นไปได้"

ในที่นี้ก็ขอชี้สัจจะสักจุดหนึ่งให้ฟังว่า การขายต่ำกว่าทุน ที่ยืนยันว่า "เป็นไปได้" ดำเนินการงานไปได้ ชีวิตก็อยู่รอด เป็นสุขสบายดีด้วยนั้น เกิดจากผู้ผลิตเอง "ลดค่าแรงงานของตน" มาเสียสละ หรือ มาหักต้นทุน ออกไปนั่นเอง เช่น ผู้ผลิตมีความสามารถ ประเมินค่าตัว แล้วสมมุติว่า วันละ ๑,๐๐๐ บาท แต่คนผู้นี้ มักน้อยสันโดษได้จริง เขาจึงขอเอาเพียงวันละ ๔๐๐ บาท เพื่อนำไปใช้ในชีวิต สำหรับตน และ ครอบครัว เขาก็พอแล้ว ส่วนเกินของค่าตัว หรือ ค่าฝีมือความสามารถ ค่าความรู้ ของเขานั่นเองอีก ๖๐๐ บาท เขาก็เสียสละ ส่วนนี้แหละ เป็นส่วนที่นำไป หักต้นทุน จึงทำให้เขา "ขายต่ำกว่าทุน" ได้แน่นอน ดังนี้ เป็นต้น

ต่อไปขั้นที่ ๔ นี้ เป็นขั้นสุดยอดของ "บุญนิยม" คือ "แจกฟรี" ที่จริงขั้นนี้ ไม่ใช่ขั้นของ การซื้อขายแล้ว แต่ก็เป็นการจำแนกแจกจ่าย อยู่เหมือนกัน ดังนั้น ในร้านค้าของ ชาวบุญนิยม จึงมีบางโอกาส ที่เขาแจกฟรี ขั้นนี้ไม่ต้องอธิบาย ก็ชัดเจนแล้วว่า "กำไร" เต็มราคา หรือ ได้"บุญ" ครบจำนวน ของสิ่งที่ให้ จึงเป็น "กำไร" แบบอาริยะ ของชาวบุญนิยม ขั้นสูงสุด ใครมีโอกาสทำ ได้มากเท่าใดๆ ผู้รู้จริงเห็นจริง ในสัจธรรม และ เชื่อมั่นจริง จึงพยายาม ทำตามโอกาส ให้มากที่สุด เท่านั้น ๆ ดังนั้น คนที่ทำงานฟรี และทำตน มักน้อยสันโดษได้มาก จึงเป็นผู้ที่มี "กำไร" ให้แก่ชีวิต ได้มากจริง ตามสัจธรรม

อ่านต่อ หลักการตลาด ๕ ข้อ


 
4/5