[เลือกหนังสือ]      ปก | คำนำ | สารบัญ | ภาคผนวก | คัชนี | ผู้เขียน
page: 2/5

[บทเนื้อประสาง่าย]

“ศีล” นั้นมีทั้งที่บอกกันได้ด้วย “ภาษา” เป็นหัวข้อๆโดยทางปาก และ “ศีล” นั้น มีทั้งบอกกันไม่ได้เป็นหัวข้อๆตายตัวเลยทีเดียว และที่สุด “ศีล” นั้นมีทั้งที่บอกกันไม่ได้เลยแม้ด้วยปาก แม้ทั้งที่จะอธิบายด้วยวิธีใดๆ แต่พระอริยเจ้าหากรู้แจ้งใน “ศีล” นั้นๆเอง และย่อมจัดการกับ “ศีล” นั้นด้วยตนเอง “ศีล” นั้นแหละจะเป็นตัวนำให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ “ปัญญา”

สิกขา ๓ ของพระบรมศาสดาของเรานั้น เป็นไปเกี่ยวเนื่องติดต่อกันเป็นสาย เป็นปัจจยาการ หรือ เป็นอิทัปปัจจยตา อย่างสำคัญยิ่ง มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน และเป็น “สมังคีธรรม” คือ เป็นธรรมะที่ติดต่อโยงใยถึงกัน เป็นเหตุเป็นผลแก่กันและกันอย่างสลับซับซ้อนลึกซึ้งยิ่ง ทำงานร่วมกัน เกี่ยวข้องกันทั้ง ศีล-สมาธิ-ปัญญา

มิใช่แต่ละข้อ แต่ละเรื่องทำงานกันลำพังโดดๆ เดี่ยวๆ เรื่องใดก็เรื่องนั้น เฉพาะตนเฉพาะตัว โดยไม่เกี่ยวไม่สัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กันบ้างก็นิดๆหน่อยๆ ไม่สำคัญอะไรมากนัก ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ศีล-สมาธิ-ปัญญา มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งสำคัญยิ่ง ขาดสิ่งใดไม่ได้

เช่น ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือ อธิศีลศึกษา-อธิจิตศึกษา-อธิปัญญาศึกษา เราก็ต้องศึกษา(สิกขา) “ศีล” เป็นเบื้องต้น ศึกษาความหมายของคำว่า “ศีล” ขอบเขตของความหมาย ความตื้นลึกหนาบางของความหมาย และคำว่า “อธิศีล” หมายความชัดเจนอย่างไร “อริยกันตศีล” หมายความชัดเจนอย่างไร “ปาริสุทธิศีล๔” มีความหมายชัดเจนอย่างไร “อเสขศีล” มีความหมายชัดเจนอย่างไร แล้วก็สมาทานศีลที่เหมาะสมกับฐานของตน นำไปปฏิบัติจริงๆ ประพฤติปฏิบัติประจำทุกวันทุกวินาทีกับชีวิตให้ได้มากที่สุด

เมื่อปฏิบัติตาม “ศีล” นั่นแลอย่างแท้จริง พอ “ศีล” ได้รับการปฏิบัติจน “ตั้งมั่น” ขึ้น อันเรียกในภาษาบาลีว่า “สมาธิ” (แปลกันว่า ตั้งมั่น) หรือเมื่อ “ศีล” ได้รับการปฏิบัติจนบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแท้จริง ติดต่อกันเนืองๆ บริบูรณ์เช่นนั้นอยู่ ติดต่อกันไปเสมอ หรืออย่างมาก (ไม่ใช่ว่า ขาดมั่ง บริสุทธิ์มั่ง เป็นช่วงๆ ตอนๆ ขยักขย่อนอยู่ไม่รู้จบสิ้น จนบริบูรณ์จริงๆไม่ได้สักที เล่นแต่นั่งปลงอาบัติต่อศีลกันอยู่ทุกวันเว้นวัน หรือ ทุกวันพระก่อนจะลงโบสถ์ อย่างนั้นก็ไม่มีทางบริบูรณ์จนเรียกได้ว่า “สมาธิ” แน่)

เมื่อสามารถมีสติ สังวร ควบคุม“กาย-วาจา” ได้ไปเรื่อยๆ เสมอๆ อย่างถูกวิธี คือ ขณะสังวร “กาย – วาจา”นั้นด้วยสติ ด้วยธรรมวิจัย ด้วยวิริยะนั่นแหละ “จิต” ก็ได้รับการอบรมไปด้วยในตัว เลือกเฟ้น สั่งสม “กุศล” หรือสั่งสม “สัมมา” เสมอๆเป็น “โพชฌงค์” หรือ “โพธิปักขิยธรรม” ด้วยรู้ ด้วยเห็นตามกรรมที่ตนมี ตามการงานที่ตนทำ ซึ่งเป็นผลเพราะ “ความพยายามสังวร” จริง กาย-วาจา- ใจ ก็จะเจริญขึ้นๆ จนที่สุดบริบูรณ์ได้นั่นเอง คือ “จิต”ของผู้ปฏิบัติได้นั้นจะก้าวเข้าสู่สภาพสูงเป็น “จิตอันยิ่ง” หรือ “จิตอันดียิ่ง” ที่เรียกในภาษาบาลีว่า “อธิจิต” หรือ “สมาธิ”

เมื่อ “ศีล” ชำระ “จิต” ของผู้ปฏิบัติจนเป็น “อธิจิต” หรือ “ศีล” ได้รับการปฏิบัติจริงจังจนเป็น “สมาธิ” (สัมมาสมาธิ) ได้ดังอธิบายนี้ (อย่าไปเข้าใจผิดอยู่เพียงว่า “สมาธิ” คือการนั่งหลับตาบริกรรมเท่านั้น อย่างพวกลัทธินอกพุทธศาสนา เขาสามารถมีภูมิปัญญาเข้าใจได้เพียงเท่านั้น และก็ยึดเอา “สมาธิ” ได้เพียงแค่สมาธิแบบนั้นเท่านั้นเป็นอันขาด ) “จิต” เอง นั่นเองก็จะรู้จะเห็น “ของจริง” ตามความเป็นจริง

คือ จะรู้ “ของจริง” ในจิตตนว่า “กิเลส” เป็นเช่นใด จับตัวจับตนของมัน ซึ่งที่จริง “มันไม่มีตัวตน-มันไม่มีรูปร่างกาย”ดอก นั่นแหละ แต่มีอาการ (ลิงค-นิมิต-อุเทศ) ที่สามารถสัมผัสรู้ได้ “กิเลส” จางคลายจากจิต ด้วยความสามารถตามวิธี (อิทธิวิธี) ของเรานั้นเป็นเช่นใด? ต่างกับจิตที่มี “กิเลส” นั้นๆอยู่อย่างไร? ผู้ปฏิบัติจะรู้แท้สภาวะจริงๆ ซึ่งจะไม่ใช่คิด ไม่ใช่คะเนคำนวณ นี้คือ “ปัญญา” ที่เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ” หรือ “ยถาภูตญาณทัสสนะ”

ใครทำไม่ได้ก็ไม่มี “ของจริง” ให้รู้ เพราะต้องรู้ ต้องเห็น “ของจริง” ของตน ในตนเองเท่านั้น เห็นจากคนอื่นไม่ได้ จึงเรียกในภาษาบาลีว่า “ปัจจัตตัง” คือ รู้ได้เฉพาะตน ตนมี ตนเป็น ตนรู้สภาพที่เป็น ที่มี ของตนเท่านั้น รู้ของคนอื่นแทน หรือคิดรู้ เข้าใจรู้ รู้ไม่มี “ของจริง” ที่เป็น ที่มีรองรับ ไม่ใช่ “ปัจจัตตัง”

การรู้นั้นต้องรู้ทั้งตัวกิเลสชนิดใดชนิดนั้น และรู้ทั้งรายละเอียดต่างๆอีก

เช่นว่า นี่เป็นกิเลสกาม ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสพยาบาท ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสถีนมิทธะ มันมีสภาวะอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสอุทธัจจกุกกุจจะ ยังฟุ้งซ่าน หยุดไม่ลง ยังดื้อดิ้นต่ออยู่ ยังพริ้วพรายกระเซ็นกระสายเป็นที่รำคาญอยู่ เป็นอย่างนี้ๆ นี่คือวิจิกิจฉากิเลส อาการรู้ที่ยังไม่ชัดแท้ รู้ยังไม่จุใจ รู้ยังไม่แจ้งจริง รู้ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ตรัสรู้สมบูรณ์ ล้วนเป็นกิเลสอาการอย่างนี้ๆ เอง

หรือ นี่คือกิเลสราคะมูลอย่างนี้ นี่คือกิเลสโทสะมูลอย่างหนึ่ง หรืออย่างนี้ๆจัดเป็นกิเลสโมหมูล ดั่งนี้ ต้องรู้กิเลสอาการต่างๆที่มีความต่างกัน (ลิงค) จะเป็นกิเลสที่มาจากมูลใด โคตรใด สายใดก็รู้ มีหยาบมาก มีปานกลาง มีน้อยๆ ละเอียดๆ ก็รู้ มีรายละเอียดที่เป็นความแตกต่างกันอยู่ทั้งนั้น (ลิงค) ตามของจริงที่เป็นจริงนั้นๆ

ยังมี “ตัว” กิเลสนั้นๆในตนมาก เกิดอยู่มาก ก็รู้ หรือ น้อยแล้ว ก็รู้ หรือหมดแล้วแต่หมดชั่วคราว ก็ต้องรู้ ดับสนิท ก็ต้องเรียนรู้ชัดๆ เมื่อมีน้อย ทุกข์น้อย ก็เข้าใจเห็นจริง ก็รู้ซึ้งเอง หรือกิเลสหมดนั้นสงบสุขในจิตอย่างไร ไม่ต้องรับใช้มัน ไม่ต้องเป็นทาสมัน ไม่ต้องดิ้นรน เรียกว่า สุขสงบ สุขปราศจากกิเลสตัณหานั้นอย่างนี้นี่เอง (วูปสมสุข) ต่างจาก “สุข” ที่เป็น “การได้เสพสมใจ” (โลกียสุข) อย่างไร ก็รู้แจ้งชัดในความต่างกัน (ลิงค)

กำลังปฏิบัติ กำลังเพียรฆ่ากิเลสด้วยวิธีต่างๆ รู้เห็นอยู่ว่ากิเลสลดจางบ้างแล้ว กำลังสู้กับกิเลสอยู่เป็นอย่างนี้ ก็รู้ ก็ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เป็นการปฏิบัติอยู่อย่างรู้ทั่วทุกทวาร ทุกกรรม ด้วยทางปฏิบัติอันเป็นทฤษฎีเอก คือ มรรคมีองค์ ๘

ดับเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้ ทุกข์ดับสนิทไปจริง ทั้งๆที่ยังมีความเป็นอยู่เหมือนคนอื่นๆ มีอิริยาบทเคลื่อนไหวไปมา ทำงานอยู่ มีชีวิตปกติเหมือนชาวบ้านชาวเมือง (ไม่ใช่นั่งดับแต่ตอนหลับตาอยู่) แต่เรา “ดับทุกข์” หรือ “ทุกข์ดับ”สนิท ไม่เกิดอีกแม้จะกระทบวัตถุ กระทบสัมผัสลีลาอาการของเหตุภายนอกที่เคยทำให้เรากิเลสเกิด ทำให้ทุกข์เกิด นั้นๆอยู่ เราก็ “ทุกข์ดับ”อยู่ เพราะ “กิเลส” อันเป็น “เหตุให้เกิดทุกข์”มันตายอยู่ๆ มัน “ไม่เกิด”อยู่ๆ มันดับสนิทอยู่ๆ (นิโรท) เห็นๆ รู้ๆสภาวะ “ดับสนิท” หรือ “ตายไม่เกิด” อยู่ในจิตเรา เป็นปัจจุบันนั้นๆทีเดียว(ทุกขนิโรคามินีปฏิปทา) ดั่งนี้

ก็รู้เองของตนเอง(ปัจจัตตัง) คนอื่นรู้แทน หรือ คนอื่น “สอบญาณ” รู้แทนเราไม่ได้

สามารถรู้ “ทุกข์” เพราะมันยังมีกิเลสนั้นอยู่ คืออย่างไร? กิเลสตัณหานั้นเป็น “เหตุแห่งทุกข์” อย่างไร? และ “ทุกข์ดับ” เพราะกิเลสตัณหาดับ เหตุแห่งทุกข์ดับนั้นแน่จริงไหม? และ “ทุกข์ดับสนิทอยู่ได้ทั้งๆที่มีการเป็นอยู่เยี่ยงชาวบ้าน อยู่กับชาวบ้านนี่แหละ ไม่ใช่หนีไปไหน” (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) เพราะสมบูรณ์ด้วยอริยมรรคองค์ ๘ แล้ว มีสัมมาอริยมรรค มีสัมมาญาณ มีสัมมาวิมุติครบ “อุภโตวิภาควิมุติ” คือมี “วิมุติ” ทั้ง ๒ ในตนจริง ได้แก่ :-

๑) ผู้นั้นได้ปฏิบัติจนทำให้กิเลสดับ หรือไม่มีอย่างสนิทในจิตจริง ชนิดไม่กลับกำเริบอีก(อกุปปาเจโตวิมุติ)

๒) รู้ชัด รู้แจ้งอย่างถูกต้องแท้ และมี “ของจริง” ด้วยว่าความดับสิ้นกิเลสเป็นเช่นนั้นๆ เห็น “ความดับ” เห็นสภาพ “นิโรธ” อยู่โต้งๆ เห็น “สูญญตา” เห็น “อนัตตา” คือเห็นความไม่มีตัวตนของกิเลสอยู่โทนโท่ มีอารมณ์ว่างจากกิเลส เป็นความสงบสบายเช่นใดเช่นนั้นจริงๆ(ปัญญาวิมุติ หรือ วิมุติญาณทัสสนะ)

รู้แจ้ง “ของจริง” ความจริงในอริยสัจ ๔ ครบครันทีเดียวในสภาพที่เป็นคนมีสติ มีอิริยาบทปกติ รู้โลกภายนอกที่แวดล้อมอยู่ ทำงานทำการ พูดจา นึกคิดทำอะไรๆได้อยู่นี่แหละ มิใช่อยู่ในสภาพต้องหลับตา รับรู้อยู่แต่ในภวังค์ ไม่รู้เรื่องอะไรกับภายนอก

การรู้ “รูป-นาม” หรือจะมี “ปัญญา” เห็นแจ้ง “รูป-นาม” นั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า รู้ได้ด้วย “อาการ-ลิงค-นิมิต- อุเทส”

ที่ได้กล่าวยกขึ้นแสดงมาตลอดนั้นคือ “อุเทส” และความหมายที่ยกมากล่าวถึง มาอธิบายต่างๆนั้นคือ “อุเทส”

เมื่อไปปฏิบัติพบ “อาการ” ที่ตรงตามความหมายทั้งๆที่เป็นนามธรรมนี่แหละ ผู้ปฏิบัติจับ “อาการ” นั้นๆได้ตามความหมายที่เราเข้าใจมาแล้ว มี “เครื่องหมาย”ให้จับได้ “เครื่องหมาย” นั้นๆแหละคือ “นิมิต”

เราต้อง “กำหนดหมาย” ทำเครื่องหมาย(นิมิต) นั้นๆเอาเองด้วยความสามารถ และปัญญาอันยิ่งอย่างสำคัญ รู้ยากมาก เพราะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง (อสรีระ) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มี “ตัวตน” ที่เป็นแท่งก้อนหยาบ(อนัตตา)

“อาการ” ของกิเลส “อาการ” ของ “จิต” ที่รู้กิเลส ตลอดจน “อาการ” ของกิเลสลักษณะต่างๆ หรือ กิเลสลดตัวเล็กลง หรือ “อาการ” ของความว่างจากกิเลส และ “อาการ” ต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ฯลฯ ดั่งนี้เป็นต้น ล้วนมี “ความแตกต่าง” กันและกัน การรู้ “ความแตกต่าง” ได้นั่นแหละคือ “ลิงค” หรือ “เพศ

เรารู้ “กิเลส” เห็น “กิเลส”รู้เห็นปรมัตถธรรม รู้เห็นนามธรรม รู้เห็นวิญญาณ รู้เห็นจิต-เจตสิก-รูป(ของนามธรรม ซึ่งคือ “สภาวะที่ถูกรู้” จะมิใช่ “รูป” ของวัตถุธรรม)-นิพพานได้ด้วย “อาการ”ทั้งสิ้น

   [เลือกหนังสือ]
page: 2/5
   Asoke Network Thailand