[บทเนื้อประสาง่าย]
[1.]
บทเนื้อหาประสาง่าย
ศีล นั้นเป็นหัวใจในการปฏิบัติธรรมอันสำคัญยิ่งตามคำสอนของ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดาของ ศาสนาพุทธ
คำสอนหลักใหญ่ จึงจะต้องดำเนินตามองค์ปรมาจารย์เจ้าลัทธิของเราคือ
ศีล-สมาธิ-ปัญญา
แม้คำสอนย่อยๆใดๆ อันจะประพฤติ
เพื่อเป็นไปตามลำดับ มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย เมื่อรู้จักพระรัตนตรัย
และศรัทธาในพระรัตนตรัยโดยจริง โดยแท้ ถูกต้องตรงตัวแล้วเริ่มหลักสูตรในการเรียนและประพฤติธรรมก็จะเริ่มที่
ศีล ทั้งสิ้น
นั่นคือ หลักการต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนโปรดสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์
เป็นคำสอนซ้ำซากหลากหลาย (พหุลานุสาสนี) ซึ่งตัวอย่างมีมากมาย หลากล้น
ในพระไตรปิฎก
แต่เป็นเพราะเราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลายในปัจจุบันนี้
ชินชา และ ประมาท คำว่า ศีล กันไปหมดแล้ว เนื่องจากเห็นเป็นของพื้นๆ
เห็นเป็นเรื่องเบื้องต้น จึงได้ทำให้ พุทธศาสนิกชน พลาดจุดหมายและออกนอกขอบเขตของพุทธ
หลงทางนิพพาน ไปเสียอย่างจริงจัง ศีล มันจึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่าสำหรับคนผู้หลงผิด
(มิจฉาทิฐิบุคคล) ไปหมด แต่แท้จริงนั้น ศีล นั้นคือหลักสำคัญสูงสุด
และก็เพราะ ศีล นี้ จริงๆเป็น หลักการ เป็นองค์ประกอบในการปฎิบัติทั่วไปจึงทำให้บุคคลผู้ประพฤติธรรมบรรลุธรรม
(ยกเว้นผู้มีบุญบารมีที่เข้าข่าย อุคฆฎิตัญญู เยี่ยมยอดจริงๆ แม้ในสมัยพุทธสมัยก็มีเพียงไม่กี่คนในโลก
ที่ไม่ต้องปฏิบัติ) ดังพระพุทธพจน์ ต่อไปนี้:-
จาก กิมัตถิยสูตร พระไตรปิฎก
เล่ม ๒๔ พระสุตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อานิสังสวรรคที่ ๑ ข้อ
๑ และเอกาทสกนิบาต นิสสายวรรคที่ ๑ ข้อ ๒๐๘
ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นพระอรหันต์ให้บริบูรณ์โดยลำดับฯ
(กุสลานิ สีลานิ อนุปุพเพน อรหตตาย ปริปูเรนตีติฯ)
ดังนี้เป็นต้น จะเห็นได้ชัดว่า
ศีล นั้นเป็น เหตุ และ กุศล นั้นเป็น ผล ของผู้พากเพียรมุ่งหมาย
ชนิดที่เป็น อิทัปปัจจยตา (คือความมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนั้น ความมีสิ่งนั้นจึงมีสิ่งโน้น
)
อย่างต่อเนื่อง จนถึงที่สุด และ มีสภาวะถึงที่สุด จริงๆด้วย
ไม่ใช่เป็น อิทัปปัจจยตา ชนิดที่
ไม่มีสภาวะจบ คือ ไม่หมด เกิดสภาวะนั้นตลอดไป หรือ มีที่สุด ก็เป็นเพียงความนึกคิดเอา
เป็นเพียงความเข้าใจได้ชัดแจ้งในความหมายเท่านั้น ส่วนสภาวะที่ สุด
จริงๆ ดับ จริงๆ สูญ จริงๆ นั้น ไม่มี
แต่มี กุศล สูงขึ้นๆ เพราะนิวรณ์
๕ อันเป็นเหตุให้เกิด อวิชชา ลดจางลงๆจริงๆ และกายกรรมสุจริตขึ้น
วจีสุจริตขึ้น มโนสุจริตขึ้นจริงๆ อวิชชา เบาบางลงๆๆ จนที่สุด อวิชชาไม่มีเพราะสภาวะของ
นิวรณ์ ๕ ดับสนิท ไม่มีในจิตตลอดไปในชีวิตจริงๆ (เนื่องจาก นิวรณ์
๕ นั้นเป็นอาหารของ อวิชชา ดั่งพระพุทธพจน์ใน อวิชชาสูตร อังคุต.
ทสก. ข้อ ๖๑)
ไม่ใช่ อวิชชา ไม่มี เพราะเพียงเข้าใจได้อย่างซาบซึ้ง
ชัดแจ๋วถึงขั้น หายโง่ เลยหลงตนว่าหมด อวิชชา หรือหมดทุกข์สนิท
ถอนอาสวะสิ้นแล้ว ดับไม่เหลือแล้วเรา แค่นั้นก็หาไม่
ระวังจะหลง ความเฉลียวฉลาด ที่เรียกในภาษาบาลีว่า
เฉโก คือ ยิ่งฉลาดซ่อนบังมาให้ตัวของตนได้ ชนิดที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ
และหลงมันว่า นี่เป็นปัญญาตรัสรู้ ปานนั้นก็ยังได้
ถ้าปฏิบัติ ศีล ให้เกิด กุศล
ได้จริง สูงขึ้นๆตามลำดับ และสูงสุดก็คือ อรหัตผล หรือถึงความเป็น
พระอรหันต์ อย่างที่พระบรมศาสดาของเราชาวพุทธทรงยืนยัน
ดังนั้น ผู้เข้าใจผิดว่า ศีล
ไม่ใช่ทางแห่ง โลกุตรธรรม หรือแม้มีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า เรื่อง
ศีล ก็ดี เรื่อง กุศล - อกุศล ก็ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องของ โลกุตรธรรม
ก็คือ ผู้หลงทางโดยแท้ (ตาม คิริมานนทสูตร ซึ่งมียืนยันไว้ใน บท
ต่อไป)
ขอให้สังเกตจากข้อความละเอียดเพิ่มขึ้นของ
กิมัตถิยสูตร นี้ บางส่วนต่อไปนี้ ก็จะเห็นได้
ดูกร
อานนท์
ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์
ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์
ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์
ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์
ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์
สุข มีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์
สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นอานิสงส์
ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์
นิพพิทา มีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์
วิราคะ มีวิมุติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์
ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นพระอรหันต์ให้บริบูรณ์โดยลำดับ
ด้วยประการดังนี้แล
สังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่า เพราะปฏิบัติ
ศีล เป็น กุศล นั่นคือ เหตุ แล้วจึงเกิดก่อต่อเป็น ผล เนื่องต่อไปจนเป็น
สมาธิ จนเป็น ปัญญา แท้ๆ ปัญญาทางธรรมคือ ยถาภูตญาณทัสสนะ
และจนที่สุดถึงขั้นเป็น ปัญญาวิมุติ คือปัญญาขั้น วิมุติญาณทัสสนะ
เป็น ปัญญา ที่เห็นแจ้ง ของจริง ที่เป็นจริง มีสภาวะจริงแห่ง วิมุติ
คืออย่างน้อยก็เห็นสภาวะ นิวรณ์ ๕ ดับสนิท ไม่เกิดในจิตของตนอีกเป็นธรรมดาทุกๆ
ปัจจุบัน ทุกๆ อิริยาบถ ทุกๆผัสสะจริงๆ
กว่าจะมี อรหัตผล แต่ละเรื่อง
แต่ละผัสสะนั้น มิใช่การประหานเพียงกดข่มได้บางรอบบางขนาด (วิกขัมภนปหาน)
แบบทำได้ด้วยการการปลดปล่อยได้ชั่วช่วง ชั่วคราว (ตทังคปหาน) แบบปหานได้เก่งขึ้นจนสงบ
จนมีผลิ ได้ลิ้มผลเยือกเย็นภายในจิตมากพอ (ปฏิปัสสัทธิปหาน) หรือแม้จะเป็นแบบสลัดทิ้งปล่อยวางได้เร็ว
มีความชำนาญ และสามารถมากก็ตาม (นิสสรณปหาน) แต่ยังไม่ถึงขั้นสภาวะประหานได้ชนิดขาดสูญไม่เกิดอีกอย่างต่อเนื่อง
เด็ดขาด ไม่เกิดอีกต่อไปในชีวิต (สมุทเฉทปหาน) ก็ยังไม่ถือว่า เป็นอรหัตผล
หรือที่เรียกว่า สภาวะอรหันต์
จาก ศีลสัมปทาสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก
เล่ม ๑๙ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๔๐
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ
แสงเงินแสงทอง ฉันใดก็ดี เพื่อความเกิดขึ้นแห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของภิกษุ
(คือ เกิด อริยสัจ ในผู้ปฏิบัติ ) ความถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นหลักเบื้องต้น
เป็นนิมิตเบื้องต้น ฉันนั้น ฯ
จาก ภิกขุสูตร พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
ข้อ ๖๘๗
ดูกรภิกษุ
เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงชำระสิ่งอันเป็น เบื้องต้น ในกุศลทั้งหลายให้บริสุทธิ์ก่อนเถิด
ก็อะไรเล่าเป็นสิ่งเบื้องต้นของสิ่งอันเป็นกุศลทั้งหลาย สิ่งเบื้องต้นก็ได้แก่
ศีลอันบริสุทธิ์หมดจดด้วยดี และความเห็น(ทิฐิ)ที่ถูกตรง เมื่อใดศีลของเธอเป็นศีลที่บริสุทธิ์หมดจดด้วยดี
และทิฐิก็จักเป็นความเห็นที่ถูกตรงด้วย เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว
พึงอบรมสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓ เถิดฯ
จาก ราชาสูตร พระไตรปิฎก เล่ม
๑๙ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๔๑๒
ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
ผู้ควรน้อมบูชา ผู้ควรแก่การต้อนรับ ผู้ควรได้รับของทำบุญ ผู้ควรนอบไหว้เคารพ
เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีล อันเป็นที่น่าพอใจของพระอริยเจ้า
(อริยกันตศีล) ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ
ไม่ถูกลูบคลำด้วยตัณหา และทิฐิ และเป็นไปเพื่อสมาธิ
จาก โสณฑันฑสูตร พระไตรปิฎก
เล่ม ๙ พระสุตตันตปิฎก ศีลขันธวรรค ทีฆนิกาย ข้อ ๑๙๓.
ดูกรพราหมณ์
ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่าก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน
ศีลอยู่ที่ใดปัญญาอยู่ที่นั้น ปัญญาอยู่ที่ใดศีลอยู่ที่นั้น ผู้มีศีลก็มีปัญญา
ผู้มีปัญญาก็มีศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญาว่า เป็นของเลิศในโลก
เปรียบเหมือนคนล้างมือด้วยมือ ล้างเท้าด้วยเท้าฉันใด ศีลย่อมชำระปัญญาให้บริสุทธิ์
และปัญญาเล่าก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น
ปัญญาอยู่ที่ใดศีลอยู่ที่นั้น ผู้มีศีลก็มีปัญญา ผู้มีปัญญาก็มีศีล
บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญาว่า เป็นของเลิศในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน
|