โศลกธรรม

จู่ๆ หนังสือ "โศลก" ก็ถือโอกาสกำเนิดขึ้นมา ซึ่งญาติธรรมหลายต่อหลายท่าน คงจะสงสัยเหมือนกัน ในประวัติความเป็นมาของ "โศลก"
สืบเนื่องมาแต่ มีญาติธรรมที่ศรัทธาพ่อท่านฯ อยากจะได้รูปของท่านเอาไว้เตือนสติให้พากเพียรต่อสู้ ทำแต่ความดี
ท่างฝ่ายธรรมภาพ ก็ช่วยเป็นธุระจัดการ อัดรูป ขยายให้และไหนๆ ก็อัดมาแล้ว ก็เลยถือโอกาสให้พ่อท่านฯ เขียนคาถาหรือคำสั่งสอนเตือนสติลงไปด้วย
จากวันนั้นถึงวันนี้ บรรดาคำเตือนสติต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมฐานเฉพาะเจ้าของภาพโดยตรง ส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมฐานของพระคุณเจ้าและสิกขมาต และอีกส่วนหนึ่ง ก็เป็นคำเตือนสติทั่วไป ก็ได้รวบรวมเก็บไว้ จนญาติธรรมกลุ่มหนึ่งเกิดความคิดที่จะให้ "โศลก" ต่างๆ เหล่านี้ กระจายไปสู่ญาติธรรมอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เสพย์.
หนังสือ "โศลก" จึงได้เกิดขึ้นมา ด้วยประการฉะนี้

หากจะเป็นผลไม้ ก็คงจะเป็นผลไม้ที่มีรสเข้มข้น เด็ดขาด เหลือหลาย พึงโยนิโสมนสิการในแต่ละโศลก ที่มีแต่อัตถะสาระแน่นเปรี๊ยะได้ ณ บัดนี้

จากพวกเรา ญาติธรรมชาวอโศก


โ ศ ล ก ธ ร ร ม เ ซ็ น ใ ต้ ภ า พ

๑. "โลก" นั้น มันเก่งกว่า "ธรรม" มาก มันจึงสามารถสะสมพลโลกที่เต็มไปด้วยโลกธรรมได้มากมาย
ทับทวีขึ้นทุกวันๆ..... คนผู้เอาชนะโลกได้แต่ละคนนั้นจึงเป็นมนุษย์ผู้ยิ่งใหญ่จริง ๆ ที่อาจสามารถ
แหวกพลโลกออกมา "อยู่เหนือโลก" ได้ แม้จะมีจำนวนน้อยก็ต้องนับว่าเป็นผู้เก่งยอดยิ่งแท้จริงคุณ
จงเป็นผู้สะสมว่านวงศ์พงศ์พันธุ์ "คน" ชนิดที่ชนะโลกให้ได้มาก ๆ สม กับชื่อของคุณนั่นเถิด อย่าเป็น
คนที่โลกสะสมไว้ อย่างไม่ราข้อนั้นเลย
๔ ธ.ค. ๑๘

๒. ผู้จะก้าวออกจากกรอบแห่ง "โลก" ได้นั้น ต้องเอาจริง!
๕ ธ.ค. ๑๘

๓."เรียบ ง่าย สบาย ว่างดี จริงหนอ ! ท่านเลิก ! ท่านหยุดอะไรได้บ้างเล่า ? จึงเบาเบยพ้นบ่วงที่ต้อง
ดิ้น พ้นทุกข์ที่ต้องร้อนรนหาอยู่มิรู้แล้วได้ ?"
๒๒ ธ.ค. ๑๘
(รูป ๕ องค์...ให้บริษัทไทยเกรียงฯ ที่ทำงานคุณสมพงษ์ แต่คาถานี้ไม่เอา)

๔. เพื่อนคุณเขาตายไปแล้วก็มี! และที่ยังอยู่ก็มี ..... ทว่าที่ยังอยู่ยังไม่ตายนั้น ล้วนแล้วแต่ยังคือนัก
ต่อสู้ผู้ "เมาหมัด" เหมือนคุณนั่นแหละทั้งนั้นภาพที่เห็นนี้ก็เพื่อนของคุณจริง ๆ แต่เป็นผู้ที่ตายแล้ว
หรือ "ยังอยู่" ทว่า ..... "ไม่เมาหมัด"
๒๒ ธ.ค. ๑๘


๕. จิตที่วางได้ดีแล้วนั้นจะเป็นเครื่องใช้ของเรา"สำหรับเราเท่านั้น และ จิตที่รู้สมมุติในโลกกับเขา
แล้วหาทางช่วยเขาด้วยนั้น จะเป็นความประเสริฐ ที่โลกต้องมี ต้องได้ เป็นคุณค่าสำหรับเราด้วย"
สำหรับโลกด้วย
๓๐ ม.ค. ๑๙

6. บิณฑบาตนั้นคือ งานแสดงธรรมโปรดสัตว์ของนักบวชผู้มีคุณธรรมที่แท้จริง คนผู้ได้พบได้รับ "ธรรม" จะเกิดผลในจิตจริงๆ สอบดูรู้ได้ เป็นความเจริญ ความประเสริฐ ธรรมนั้นมีคือ ศรัทธา- ปัญญา-ปิติ ที่สำคัญคือ ลดความโลภ และลดความโกรธ ลงไปอย่างแท้ มิใช่คนผู้พบนักบวช ตักบาตรกับนักบวช แล้วจะได้ความโลภใส่ใจเพิ่ม ได้ความพยาบาทผูกพันขึ้นอีก เพิ่มมาเป็นอันขาด (22 พ.ค. 2519)

7. คนผู้ตักบาตรเป็นนิจ นั่นคือ ผู้ประพฤติธรรมแล้ว แต่จะได้ผลเป็น "บุญ" หรือไม่? ก็ขึ้นอยู่กับการทำจิตอย่างไร? ในตอนตักบาตรนั้นเท่านั้น! ถ้าตั้งจิตขอนั่นขอนี่ในการตักบาตร นั่นคือผู้ตักบาตรนั้นยิ่งขอยิ่งไม่ได้ "บุญ" ยิ่งอธิษฐานขอเอาโน่นเอานี่มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งไร้ผล "บุญ" ยิ่งเท่านั้นๆ ผู้ตักบาตรด้วยศรัทธาที่พร้อมด้วยปัญญาแท้ โดยไม่ต้อง "ขอ" อะไรเลย และพยายามตั้งจิตให้อยู่ในสภาพจิตสะอาดอย่าให้มีโลภะ-โทสะ-โมหะ ใดๆ ให้ได้อย่างละเอียดผุดผ่องทุกทีๆ นั่นแลคือผู้ได้ผล "บุญ" มากทุกครั้งเพราะทำ "อธิษฐาน" ถูกภาษา ถูกสัจธรรมเป็น "สัมมาอริยมรรค" (22 พ.ค. 2519)

8. ผู้กินอย่างฉลาด คือผู้รู้จักกินธาตุแท้ๆ ที่พอแค่เลี้ยงกายเท่านั้น มิใช่หลงรูปของกิน หลงติดรสของกิน หลงกลิ่นของกิน และหลงความอัครฐานของของกิน ผู้ฉลาดและ "ทำได้" แท้จริงแล้วจะเป็นสวรรค์พิสุทธิ์ ที่ไม่ใช่สวรรค์ลวงได้เองกับตน แท้จริง (22 พ.ค. 2519)

9. "นิพพาน" นั้น ไม่ใช่คนเก่ง แต่ "นิพพาน" นั้นคือ ผล ของคนผู้มีปัญญา รู้จัก "เจโตวิมุติ" และทำ "เจโตวิมุติ" นั้นๆ ให้กับตนเองได้สำเร็จ จนไม่กลับกำเริบ อย่างสัมมาทิฏฐิแท้จริง (22 พ.ค. 2519)

10. ศรัทธาแม้จะมีมาก มีแรง แถมวิริยะดีจัดปานใดก็ตาม แต่ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิเสีย ก็ไม่มีหวังพบกับนิพพาน (22 พ.ค. 2519)

11. ผู้ปรารถนาจะได้ "ภาพ" อาตมาไว้นั้น จะต้องรู้ให้จริงว่า "ภาพ"ของอาตมาเป็นอย่างไร? ประกอบพร้อมด้วยคุณสมบัติอย่างไร? (สภาพ, สภาวะ) ต้องรู้ ต้องอ่านให้ออกให้ลึกซื้ง ทั้งนามธรรม ทั้งรูปธรรม และต้องรู้ด้วยว่า (ส) "ภาพ" อย่างใด? ที่เราควรจะถ่ายทอดเอาไว้ให้ได้เร็วที่สุด แนบเนียนที่สุดด้วย นั้นแลคือ ผู้ได้ "ภาพ" ของอาตมา หาไม่คุณจะได้แต่แผ่นกระดาษที่มีสีกันเท่านั้น (3 มิ.ย. 2519)

12. "ภาพ" นี้มันเป็นเพียงเส้น แสง เงา สี แต่ "ความจริง" ที่คุณต้องการแท้ๆ นั้นไม่ใช่เพียง "ภาพ" หรือแม้แต่ที่สุด "ความจริง" นั้นจะไม่ใช่ "มโนภาพ" เป็นอันขาด ขอให้คุณพยายามเพื่อได้ "สภาพ" อันสมภาพให้ได้ (11 มิ.ย. 2519)

13. "ผี" ในป่าช้านั้น มันคือผีหลอกๆ "ผี" ในตัวคนนี่แหละคือ ผีแท้ๆ จริงๆ ใครฆ่า "ผี"ในตนได้ผู้นั้นคือ "พระ" แท้จริง แม้ไม่ต้องห่มจีวร โกนหัว (7 ต.ค. 2519)

14. "ยอดความสุข" ประการแรกที่คนผู้ฉลาดแท้จะพึงได้เป็นอริยสมบัตินั้นคือ "เราไม่โกรธ" (7 ต.ค. 2519)

15. "ความรู้" ของตนจะพาตนยิ่งใหญ่ได้ก็จริงที่สุด แต่ "ความไม่รู้" ในตน หลงตนว่าใหญ่ ว่ายิ่งจะเลวที่สุดและจริงที่สุดเสียอีก (16 พ.ย. 2519)

16. ผู้ที่มี "การรับเอา" แต่ไม่มี "การให้" นั่นคือผู้ขาดทุน เพราะเป็นผู้ทำจิตของตนให้เอียงไปสู่โลภะ ส่วนผู้ที่มีแต่ "การให้" โดยมี "การรับเอา" น้อยได้เท่าใดๆ กลับยิ่งได้กำไรมากเท่านั้นๆ เพราะเป็นผู้ทำจิตของตน ให้หมดโลภะ และเอียงเทเข้าสู่ความหมด ความจบหรือสุญญตา (17 มี.ค.17)

17. ผู้ที่เห็นกิเลสของตนอยู่กับตนแท้ๆ ขณะใด นั้นคือผู้เริ่มไม่มีกิเลสขั้นต้น… คือพ้น "โมหะ" แล้ว จงอย่าให้กิเลสมันชนะเรา ทุกครั้งให้ได้นั่นคือ เราเป็นผู้ไม่มีกิเลส แล้วโดยจริง ขั้นกลางคือ พ้น "โทสะ" เมื่อทั้งรู้ ทั้งได้ทำดั่งนี้เสมอๆ ความดับสนิทแห่งกิเลส นั้นก็จะเป็นสมุจเฉทได้เป็นขั้นสุดบริบูรณ์ นี้แหละ คือ พ้น "ราคะ" สนิทสูงสุด (3 พ.ย. 2519)

18. หัดเสียสละหรือให้ของที่เรารักแก่ผู้อื่นให้ได้เสมอๆ แต่อย่า "อยากได้" อะไรตอบแทน นั่นคือ เรากำลังสะสม "นิพพาน" ให้แก่ตนเอง (3 พ.ย. 2519)

19. ผู้รู้ว่าตนโกรธอยู่ที่ใด ก็ไม่สนุก ไม่อร่อย อยู่ที่นั้น แต่ก็ไม่ทำตนให้หยุดเสียจากความโกรธนั้นๆ ผู้นั้นก็ยัง "โง่" แท้ๆ อยู่นั้นเอง (3 พ.ย. 2519)

20. ผู้บรรลุธรรมได้นั้น มีหลักสำคัญอยู่ว่า "ต้องเอาจริง!"
(3 พ.ย. 2519)

21. ผู้ที่หลุดพ้นแล้ว ย่อมหลุดก่อน พ้นก่อนและย่อมนำหน้า ผู้กำลังแจ้งใจนิพพาน ย่อมสว่างไสว ย่อมผุดผ่อง และโดดเด่นเป็นกลาง ผู้ที่มีตาดี มีความเป็นอริยะเห็นและเลื่อมใส ในผู้นำหน้าแท้ เห็นและซาบซึ้งใจชัดในผู้เป็นกลางจริง ก็ย่อมจะตามอย่างกระชั้นชิดติดมาเป็นท้าย ดังนี้เสมอแลคือ ศาสนาพุทธ
(11 พ.ย. 25 2519)

22. การได้ "ให้" แก่ผู้อื่นเสมอ หรือผู้ได้ทำ "การเสียสละ" นั้นก็เป็นคุณธรรมที่เลิศที่ยอดแล้ว สำหรับผู้ทำ ยิ่งเราได้ให้หรือได้เสียสละด้วย "ปัญญา" ว่านี่สมควรหรือไม่สมควร แล้วจึง "ให้" จึง "เสีย"! ก็ยิ่งเลิศ ยิ่งยอดยิ่งแลที่สุด เรา "ให้" ด้วยจิตสงบจิตเฉย "เสียสละ" ด้วยจิตเปล่า ไม่ต้องการอะไรมาตอบแทน "ให้"โดยไม่มีจิตคิดแลกเอาอะไร แม้แต่เพียงเผลอยึดเอาคุณธรรม ความดีนี้ไว้เพื่ออวดอ้าง ข่มกับผู้อื่นก็ไม่มี ก็ยิ่งนั่นแหละคือ ยอดธรรมเลิศมนุษย์ สำหรับผู้ทำได้ เป็นได้
(11 พ.ย. 2519)

23. สะอาด ผ่องใส โดดเด่น รุ่งแจ้ง สงบ สุดยอดแห่งความสุข
(11 พ.ย. 2519)

24. ผู้เห็น "โลกธรรม" เป็นสิ่งน่าได้น่ามี น่าสะสมแสวงหา ก็จะสำคัญมั่นหมาย เอาตายเอาเป็นอยู่กับ "โลกธรรม" สุข-ทุกข์อยู่กับ "โลกธรรม" … ผู้เห็น "โลกุตรธรรม" แท้จริงเท่านั้นที่จะเลิก สุข-ทุกข์ กับ "โลกธรรม" ได้แท้จริง จริงๆ
(11 พ.ย. 2519)

25. ผู้รู้ตัวว่ามี "ภาระ" แล้วรู้จักขีด "ขอบเขต" ของภาระไม่ให้โตใหญ่ หรือ เพิ่มให้แรงขึ่นมาอีก และไม่หา "ภาระ"ใหม่มาให้ตนอย่างฉลาด ก็มีวันจะสิ้น "ภาระ" ได้แน่นอน
(11 พ.ย. 2519)

26. "ผู้ที่ได้ตักบาตรกับพระอริยะเพียงหนึ่งครั้งนั้น ได้บุญยิ่งกว่าผู้ตักบาตรกับพระที่ไม่ใช่อริยะร้อยครั้ง" ดังนั้นการ "ตักบาตร" จึงควรใช้ "ปัญญา"
(30 พ.ย. 2519)

27. "นิพพาน" นั้นคือ ความสุขที่ยิ่งกว่าความสุข ซึ่งมนุษย์ควร "รู้" และควรไปให้ได้แท้จริงที่สุด ผู้รู้จักแม้เพียง "นิพพาน"น้อยๆ ก็จะยืนยันได้ ดังนั้น จงรู้ "หนทางที่จะไปให้ได้" แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตา… ไป…ไป…ไป…ให้ถึงเถิด!
(30 พ.ย. 2519)

28. ผู้รู้… เพียง "รู้" แม้จะรู้อย่างเก่งยอดปานใดก็ตาม ถ้าตน "ทำ"ไม่ได้! "เป็น" ไม่ได้ตามนั้น! ก็ยังไม่เชื่อว่า "เป็นผู้ข้ามได้แล้วถึงฝั่ง"
(30 พ.ย. 2519)

29. ผู้จะข้ามฝั่งไปนิพพานได้นั้น จะต้องรู้จัก "ภาระ" ทั้งที่เราแบกหามรับผิดชอบอยู่นอกตัว และทั้งในตัวเองที่เป็นภาระให้แก่ตัวเอง แล้วอย่าให้ภาระนั้นโตก่อนอื่น จากนั้นก็เร่งมือทำภาระที่มีนั้นให้หมด ให้ลดละ ปละปล่อยให้ได้สิ้น
(19 ธ.ค. 2519)

30. ผู้สิ้นภาระแล้วจะเป็นอยู่กับสิ่งที่ตนเห็น ด้วยอธิปัญญาว่าเหมาะควรอย่างไม่มีภาระสนิทใจแท้ เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นสัมมาอาชีวะได้อย่างมีประโยชน์สูง - ประโยชน์สุดจริงๆ
(19 ธ.ค. 2519)

31. การได้เห็น "พระอริยะ" แล้วอนุโมทนานั้นก็ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีบุญยิ่งแล้ว แต่จะดียิ่งกว่านั้นอีกถ้าเข้าหา "พระอริยะ" เรียนรู้ความเป็น "พระอริยะ" แล้วทำตนให้เป็น "พระอริยะ" ให้ได้ด้วย ก็ยิ่งเป็นบุญยิ่งๆ ขึ้นเป็นระดับๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นๆ
(22 ธ.ค. 2519)

32. ผู้ "ฉลาดน้อย" (โง่) จะเห็น "ความงาม" ได้เพียงสี เพียงรูป เพียงกลิ่น เพียงรสสัมผัสต่างๆ เท่านั้น ผู้ "ฉลาดมากกว่า" (อริยะ) จะเจาะเห็น "ความงาม" ที่เหนือชั้นหรือลึกซื้งได้ยิ่งกว่านั้น
(19 ธ.ค. 2519)

33. "ความโกรธ" ไม่เคยทำให้ผู้โกรธเป็นสุขหรือเอร็ดอร่อยเลย คนโง่เท่านั้นที่จะยังโกรธ เหตุอันเลวแท้ที่ทำให้คนโกรธได้ง่ายที่สุดคือ "การเอาแต่ใจตัว" ผู้ฉลาดแท้ (อริยะ) ย่อม "ไม่เห็นแก่ตัว" แม้ที่สุดไม่เห็นแก่ "ใจ" (ที่ยึดซึ่งจะเอาแต่ตามที่ใจตัวเห็นดี) ของตัวเอง
(19 ธ.ค. 2519)

34. "ชีวิต" คือ การเกิดมาเพื่อ "หัดกระทำ" ผู้กระทำดี ฝึกดี หัดดี ก็จะได้ดีไป ผู้กระทำชั่ว ฝึกแต่ตามใจกิเลส หัดแต่สิ่งไปสู่ทางต่ำ ก็จะได้แต่ชั่ว ได้แต่กิเลส ได้แต่ความต่ำไป แม้ภายนอกของผู้นั้นจะมีเงินร่ำรวย จะมียศล้นฟ้า จะมีความงามสุดโลก จะมีเสียงไพเราะสุดใจ หรือจะมียอดสมบัติใดๆ อีก อีกก็ตามที่ไม่ใช่คุณสมบัติแห่งมโนธรรม ก็จะไม่ใช่ "ความดีแท้ สูงแท้" ที่ชีวิตเกิดมาเพื่อจะได้เลย
(20 ธ.ค. 2519)

35. ลาภ-ยศ-สรรเสริญ และความรัก-ความต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ให้ได้สมใจเรา (เมื่อสมใจก็เรียกมันว่า "สุข" นั้น มันเป็นนายคนที่โง่ คนที่ยอมเป็นทาสมันมามากว่ามาก ผู้ลดความต้องการใดๆ ลงได้บ้าง จะสุขจะแจ่มใส คลายเศร้าลงบ้าง ถ้าลดความต้องการต่างๆ ที่เรารู้มันจริงได้มากเท่าใด ผู้นั้นชื่อว่า ผู้พ้นทุกข์ ผู้ประเสริฐ ผู้แสนฉลาดมากเท่านั้นๆ
(22 ธ.ค. 2519)

36. คนผู้ไม่รู้ว่า "ธรรมะ" เป็นของดีนั้น "โง่" กว่าผู้ที่รู้ว่า "ธรรมะ" เป็นของดีแท้ นั้นก็จริง แต่ผู้ที่รู้ว่า "ธรรมะ" เป็นของดีแท้ ทว่า… ไม่พยายามไขว่คว้าเอา "ธรรมะ" นั้นมาให้แก่ตนสิ "โง่" ยิ่งกว่าใครไปเสียอีกโดยแท้จริง ดังนั้นพยายามใดเพื่อ "โลกียารมณ์" เท่าไหร่ๆ เรายังพยายามได้ ก็ทำไมจะพยายามเพื่อ "โลกุตระ" ให้แก่ตนแท้ๆ จริงๆ บ้างไม่ได้เล่า?
(22 ธ.ค. 2519)

37. ความมั่งมีเงินทอง ความไม่ต้องทำงานอะไรเลยนั้น ไม่ได้หมายความว่า คือการมีความสุข หรือความไม่มีเงินทอง ความที่ต้องทำงานมากๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า คือ การมีความทุกข์ แต่ความมีการงานที่สุจริตมีประโยชน์แท้นั่นสิ เป็นความดีล้นที่มนุษย์ควรเป็น และไม่ต้องมีเงินทองให้มากมาย นั้นสิกลับ เบา ง่าย ว่าง ไม่เป็นภาระ ดีเสียยิ่งกว่า ซ้ำไม่ต้องเป็นภัยแก่ตนเสียอีกด้วย
(23 ธ.ค. 2519)

38. "คน"นั้นเกิดมามักจะหลงเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อ "จะเอา" จะ "อยากได้" ให้ได้มากๆ นั้นเป็นความดี-ความประเสริฐ จึงได้ทำให้แต่ตนอยู่อย่างไม่รู้ลด ซึ่งเป็นการขาดทุนที่สุด แต่แท้จริงแล้วความประเสริฐ-ความดีนั้นคือ "การให้" และ "ความหมดอยาก" นั่นต่างหาก จงสะสมความดี ความประเสริฐให้ถูกให้ตรงแท้ๆ เถิด เกิดมาเป็นคนทั้งที
(24 ธ.ค. 2519)

39. การทำตนให้สภาพภายนอกของเรา "ดี" ไว้เสมอนั้น ก็ดีมากแล้วสำหรับมนุษย์ ยิ่งได้ทำ "ใจ" ของเราให้สะอาด ไม่สะสมความพยาบาท ไม่สะสมความใคร่อยาก ไม่สะสมความเบียดเบียนให้ได้ ก็ยิ่ง "ดียิ่ง" ขึ้นไปอีก และนั้นแหละทางเดินไปสู่นิพพานแท้ๆ
(24 ธ.ค. 2519)

40. ทำ "ความรู้แจ้ง - รู้กระจ่าง - รู้ชัด - รู้ให้ง่ายให้ถึงจุดแท้นั้นเถิดแล้วค่อย "รู้มาก" หรือ "รู้เพิ่ม"
(3 ม.ค. 2520)

41. "ปราการ" ใหญ่จะเกิดได้ก็เพราะการผนึกตัว รวมตัวอย่างเนียนสนิทได้สัดส่วนเป็นจำนวนมาก ของกรวดทรายและดินหินทั้งหลาย นั่นแล
(3 ม.ค. 2520)

42. โลกนับวันต้องการ "กองทัพธรรม" มากขึ้น-สูงขึ้นเป็นทวี นั่นคือสัจธรรม หรือสันติภาพ และความสุขเย็น ถ้าโลกไหนนับวันต้องการ "กองทัพโลกย์ ๆ " มากขึ้น-สูงขึ้น นั่นคือ อสัจธรรมหรือความเดือดร้อนและความสุขร้อน
(3 ม.ค. 2520)

43. คนเรามักจะหลงเข้าใจว่า "การได้มา" นั้นเป็นกำไร เป็นความเจริญ เป็นความประเสริฐแห่งความเป็นคน แต่แท้จริงแล้ว "การเสีย" หรือ "การสละ" ให้ได้นั้นต่างหากที่เป็นกำไรยิ่งกว่าเป็นความจริงยิ่งกว่า เป็นความประเสริฐสูงสุดกว่าแห่งความเป็นคน
(3 ม.ค. 2520)

44. อาตมาเหน็ดเหนื่อยและเลิกโง่แล้วจากการหลงมัวขี้โลภ-ขี้อยากดัง-อยากหลง-แม้การหลงในเรื่องสมสู่… เพราะมัน "ทุกข์" จึงหยุดสะสม หยุดแสวงสุข หยุดเสวยสิ่งดังกล่าวนั้น มาทำงานครู สอนคนให้รู้ในสิ่งที่อาตมาได้ "เลิกโง่" นี้ๆ กันแต่อาชีพเดียว ซึ่งเป็นงานไม่เบาเลย ทว่าอาตมาทำได้อย่างไม่ทุกข์และสุขสบายดีที่สุด ก็เพราะมันมี "เบา" ที่ใจได้จริงๆ
(6 ม.ค. 2520

45. ผู้มีฐานะถึงกษัตริย์ มีพร้อมทั้งแท่นทอง-ร่มฉัตร-เวียงวังอันแสนอัครฐาน ฯลฯ แต่แล้วลดความเป็นอยู่ลงมา นั่ง นอน อย่าง เบา-ง่าย มีชีวิตแสนอิสระกระนี้ๆ แหละคือ ผู้ที่เราเทิดทูนกันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และแล้วพระองค์ก็ทรงสอนให้มนุษย์ผู้อื่น ลด-ละ ให้ได้อย่างพระองค์บ้าง ผู้ "ทำ" ได้ตามก็เรียกว่า "พุทธบุตร" จริงๆ คุณล่ะ! ลด-ละ อะไรลงมาบ้างแล้วหรือยัง?
(16 ม.ค. 2520)

46. โอ! พุทธบุตรทั้งหลาย น่าเคารพบูชาจริงหนอ… คนผู้มีสันโดษ-มักน้อย-ไม่หยิ่งผยองถือตัวอดทนอย่างนี้ๆ ย่อมน่าเคารพ น่าบูชาแท้
(16 ม.ค. 2520)

47. ผู้เห็นความจริง จริงๆ ว่า "ชีวิต" มันก็คือ ความเกิดแล้ว มันก็จะแก่ และมันก็มีความเจ็บ ที่สุดมันก็จะมีความตาย ดังนั้นจึงเฉยได้-วางได้ เย็นสบายได้ ต่อความเกิด-แก่-เจ็บ แม้ที่สุดจะ "เฉยสนิท" ได้อย่างเห็นเป็นธรรมดาๆ จนขณะเวลากำลังจะตาย จึงคอยสังเกตตนเถิดว่า เราเฉยได้ไม่ทุกข์ไม่สุขกับความแก่ ไม่กังวลไม่อึดอัดไม่สุขไม่ทุกข์กับความเจ็บและไม่ตกใจ ไม่แปลกใจ ไม่กริ่งเกรงหวั่นไหวกับอุปสรรค แม้ใหญ่โตที่ "เกิด" มาประสบกับเราอย่างมั่นคงเที่ยงแท้ จงจับจิตเราอ่านให้รู้แจ้งในจิตเรา ถ้าเราแน่ใจว่าเราเป็นดั่งนี้ได้ นั่นคือผู้นั้น "ตายแล้ว" หรือ แม้จะตาย ผู้นั้นก็จะ "เฉยสนิท" ได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลย นี้คือ การพ้นทุกข์เพราะรู้จริงรู้แจ้งในอริยสัจแท้ ผู้ทำได้จริงแท้คือผู้ "นิพพาน"
(29 ม.ค. 2520)

48. การช่วย "ตนเอง" ของอริยะหรือปราชญ์แท้นั้น คือ ผู้สิ้นภาระแล้ว จะเป็นอยู่กับสิ่งที่ตนเห็น ด้วยอธิปัญญาว่าเหมาะควรอย่างไม่มีภาระสนิทใจแท้ เป็นสัมมากัมมันตะ เป็นสัมมาอาชีวะได้อย่างมีประโยชน์สูง - ประโยชน์สุดจริงๆ (19 ธ.ค. 2519) หัดขัดเกลาการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจของตนให้ดีขึ้นๆ เห็นในประโยชน์ของผู้อื่นให้มากกว่าตัวก่อนเสมอ ยอมเสียทั้งๆ ที่รู้ว่าเสีย และแสดงความจริงอย่างฉลาด ให้ "ผู้ได้" นั้นรู้ด้วยชัดๆ ว่าเราเสียให้ท่านอย่างกล้าเสีย จริงๆ จึงมิใช่การ "เสียรู้" "เสีย" ให้ได้มากครั้ง และควรจะมีขอบเขตหรือมีความพอสำหรับการได้และการเสียนั้นๆ เป็นที่สุดของมันเองด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะจะต้อง "รู้ทัน" การยึด "ความดี" เกินไปของตัว จนลืมหลงเห็น "ความเสีย" แม้เล็กน้อยของตัวเองที่จะซ้อนแฝงแกมปนอยู่ในทุกๆ การกระทำ จนไม่ได้แก้ไขปรับปรุง "ตน"
(29 ม.ค. 2520)

49. ธรรมะจะต้องถูกแสดง ผู้มีงานที่ประเสริฐสุดคือ ผู้ทำงานแสดงธรรม หากโลกไร้ผู้มุ่งมั่น ไร้ผู้ขยันเผยแพร่ธรรม นั่นคือ ความล้มเหลวของมนุษยชาติ ความบรรลัยของโลกอย่างสิ้นท่า
(29 ม.ค. 2520)

50. เราจะต้องเปิดเผยธรรมะ ไม่มีเวลาใดเลยที่ไม่สมควรเปิดเผยธรรมะ ธรรมะจะต้องถูกเปิดเผย ให้มากที่สุดในทุกๆ เวลา ผู้อำพรางธรรมะ หรือ ผู้เจตนาล้มล้างธรรม หรือ ช่วยปกป้องช่วยขัดขวางไม่ให้คนแสดงธรรม ไม่ให้คนเปิดเผยธรรมะนั้น เป็นผู้ทำร้ายมนุษยชาติที่โหดเหี้ยมที่สุด บาปที่สุด
(29 ม.ค. 2520)

51. ผู้จะบรรลุธรรมได้นั้น คือ ผู้ "เอาจริง" เพียงแต่ "รู้" เท่านั้น ยังไม่ถือว่าเป็นผู้บรรลุธรรม เมื่อรู้ชัดว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้เป็นกุศลธรรมแท้แล้ว เราต้อง "ทำ" ให้ได้ด้วยจนสำเร็จ นั่นแลคือ การบรรลุธรรมที่แท้จริง จงบรรลุธรรมให้ได้เสมอๆ จนแน่นอนมั่นคงถาวร นั่นคือ ผู้พุทธแท้ๆ ที่เป็นผู้ "ทรงธรรม"
(3 ก.พ. 2520)

52. ประโยชน์สูง-ประหยุดสุด ประโยชน์ตน-ประโยชน์ท่าน โดยเฉพาะคำว่า "ประโยชน์ตน" ที่มีค่าสูงสุดนั้นคือ การได้ตัดกิเลสลงไปได้เรื่อยๆ หรือ การละความเห็นแก่ตัวได้จริงๆ แท้เมื่อใดขณะใดเสมอ นั่นคือ "คุณค่า" แห่งความเป็นมนุษย์เพิ่มขึ้นทุกขณะทุกเมื่อที่ได้มีที่เป็น
(3 ก.พ. 2520)

53. ตื่นเถิด…พุทธเอย! สว่างเถิด…พุทธเอ๋ย! ยอดนักรบแห่งกองทัพธรรมจะไปและไปเพื่อทำผู้มืดอยู่ให้สว่าง… นั่นแลพุทธ! เพื่อทำผู้หลับใหลหลงใหลเมามายอยู่ในฤทธิ์โลกียะให้ตื่น นั้นแลพุทธ!
(3 ก.พ. 2520)

54. เรา "ทำงาน" เสมอ . . . และนี่คือ ที่ทำงานของพระ
(28ก.พ. 2520)

55. เราอยู่ที่ไหน กินที่ไหน นอนที่ไหน ตายที่ไหนก็ได้
(28 ก.พ. 2520)

56. เราสบายเสมอ … และนี่คือ ภัตตาคารของพระ
(28 ก.พ. 2520)

57. คน "ผู้บรรลุธรรม" หรือ "พระ" นั้นคือผู้องอาจ แกล้วกล้าจริงใจ เพราะรู้จัก "ความดี" แท้ และได้รับผลซาบซึ้งถึงดีจริงๆ ในการไม่มีชั่วไม่มีบาปนั้นๆ แล้วจะเป็นผู้ยืนหยัดมั่นคงนำผู้อื่นให้เป็นผู้มามี "ความดี" เช่นนั้นๆ อย่างเด็ดเดี่ยวแข็งขันเหมาะสมที่สุด
(4 เม .ย 2520)

58. "ความดีงาม" จะพยายามไปสู่ทุกๆ ที่ แต่คนที่อยู่ในทุกๆ ที่สิไม่พยายามเห็น "ความดีงาม" และรับเอา "ความดีงาม" นั้นไว้เร็วเสียบ้างเลย
"Good" may try spreading everywhere,
But so pity for all men there,
Who hardly trying realizing "Good"
And accepting it at once… never! Why!
Or
"Goodness" will try to go to every place
but it's a pity that ones who live in these places
neither try to see the "Goodness" nor quickly
of tain it at all

(4 เม.ย. 2520)

59. มนุษย์ผู้จะทำ "ประโยชน์" ได้สูงสุดทั้งแก่ตนและแก่มวลมนุษยชาตินั้น ต้องเป็นผู้ที่ "ว่าง" ที่สุด และ "อิสระ" ที่สุด "ว่าง" คืออย่างไร? "อิสระ" คืออย่างไร? ต้องรู้ให้แจ้งเป็นให้จริงอย่างสำคัญให้ได้
(7 เม.ย. 2520)

60. จงรู้จัก "วิหารธรรม" ให้แจ่มแจ้ง แล้วเราจะคือผู้มีชีวิตที่เรียกว่า "พระ" นิรันดร "วิหารธรรม" ที่ควรรู้ยิ่งก็คือ สุญญตวิหาร 1 ทิฏฐิธรรมสุขวิหาร 1 สันติวิหาร 1
(10 เม.ย. 2520)

61. ไม่มีใครที่จะไม่มี "อุปสรรค" และจงดีใจเถิดว่า "อุปสรรค" นั้นแหละคือ โจทย์ชิ้นเยี่ยมอันจะทำให้เรา "ชาญฉลาด" ในการจะแก้ไขทุกอย่าง "เป็นไปด้วยดี" ได้อย่างเก่ง เราจะใช้เงินไม่ว่ากี่ล้านจ้างทำ "โจทย์" เหล่านี้ให้แก่เราไม่ได้เลยเป็นอันขาด มันเป็นกำไรของเราโดยแท้จริงๆ ข้อสำคัญที่สุดก็คือ คำว่า "อุปสรรค" นี้ต้องรู้จักมันให้ได้-ให้ดี อย่างแท้จริงเถิดว่า มันมีอยู่ในคนทุกคน แม้กระทั่งผู้ที่เป็นพระอรหันต์แล้วก็ยิ่งจะมี "อุปสรรค" อยู่ตลอดเวลาทุก ลมหายใจเข้าออก
(10 เม.ย. 2520)

62. เมื่อผู้ใด "หยุดอยู่" เราจง "กระทำเถิด"! และเมื่อผู้ใด "กระทำอยู่" เราก็จง "หยุดเถิด" ถ้าสมควรจะ "หยุดอย่างยิ่ง"! หรือไม่เช่นนั้น เราก็จะต้องช่วยกัน "กระทำให้ยิ่ง" นั่นแหละ คือความเจริญ-ความประเสริฐสุดในมนุษยชาติ สำหรับผู้หมด "ความเห็นแก่ตัว" อย่างจริงใจจริงๆ
(10 เม.ย. 2520)

63. ผู้จะเดินต่อไป ผู้จะนำหน้านิรันดรนั้น ควรเป็น "จ่าฝูง" ที่แท้จริง ควรเป็นผู้เจาะกะเปาะไข่ได้แท้ เมื่อใดผู้ใดรู้ตัวว่าตนยัง "บกพร่อง" อยู่ ก็จงทำตนให้ "เต็ม" ผู้ใดรู้ตัวว่าได้ "ดี" แล้ว ก็ให้รู้ให้ชัด และเมื่อตน "เต็มแล้ว" ก็จงรู้จักเต็ม อย่าทำเกิน อย่าเทจนล้นอยู่อย่างงมงายซ้ำซากเสียเวลาเปล่าเป็นอันขาด แล้วจงนำที่มี-ที่เต็มนั้นมาแจกผู้อื่นต่อและต่อๆๆๆ . . . ไป จึงจะงามแท้ ประเสริฐแท้-เจริญแท้
(10 เม.ย. 2520)

64. จงรู้ "สุข" ให้เป็น "สุข" ชัดๆ รู้ "ลำบาก" ให้เป็น "ลำบาก" ที่ควรลำบากแท้ แล้วก็อยู่กับ "ลำบาก" นั้นให้เป็น "สุข" เทอญ
(10 เม.ย. 2520)

65. จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความแก่" นั้นเป็นเรื่องธรรมดา
จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความเจ็บ-ความปวด-ความป่วยไข้" นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
จงพิจารณาเสมอๆ ว่า "ความตาย" นั้นก็เป็นเรื่องธรรมดาๆ
แม้นเราประสบกับ "ความแก่ - ความเจ็บ - ความตาย" เราก็จงทำใจให้เหมือนกับเราย่อมพบกับการหายใจออกหายใจเข้าเป็นธรรมดา มันไม่มีใครจะไม่ประสบกับ ความแก่ - ความเจ็บ ที่สุด "ความตาย" จงทำใจให้ "ธรรมดา" ทำใจให้วางสบายสนิท รู้ความจริง ตามสภาพนั้นๆ แล้วก็จง "ปล่อยวาง" ให้เป็นธรรมดาๆ นั้นคือ สุดยอดของนักปฏิบัติธรรม
(24 เม.ย. 2520)

66. ผู้หลงอยู่กับ "สุข" อันโอ่อ่า-มากมาย หรือ หลงอยู่กับ "สุข" เล็กๆ น้อยๆ อย่างโลกๆ นั้น คือผู้ยัง "ไม่รู้"(อวิชชา) จัก "ความสุข" ที่รำงับจากความเสพย์ "สุข" หรือที่ปราศจากละอองจิตซึ่งเป็นต้นเค้าแห่ง "ความติด" อยู่ของตนๆ จริงๆ จึงเป็นผู้กล้าจน-ไม่ได้! จึงเป็นผู้กล้าหมดตัวอย่างพระพุทธเจ้าท่านกล้าหมด - ไม่ได้! จึงเป็นผู้กล้าอยู่กับทุกข์ทุกชนิด เช่น พระพุทธองค์เป็น และพาอริยะพุทธบุตรทั้งหลายเป็น-ไม่ได้!
(25 เม.ย. 2520)

67. จงใช้ภาระที่ยังไม่สิ้นของเรานั้นให้เป็นประโยชน์ใน การเพิ่มภูมิเพิ่มธรรม แก่ตนให้ได้ และจงขีดขอบของภาระไว้อย่าให้เพิ่มออกไปอีกเป็นอันขาด การปลงภาระของเราก็ย่อมมีได้ และวันจบภาระทั้งภายนอกภายในของเราก็จะมาถึงได้เร็วที่สุด
(16 พ.ค. 2520)

68. ผู้ได้ชื่อว่า ข้ามโอฆสงสาร ได้ของศาสนาพุทธนั้น มิใช่ผู้จะมีแต่ "ศรัทธา" ก็พอ หรือมีแต่ "เจโตวิมุติ" ก็พอ-มิได้ ต้องมีปัญญาร่วมด้วยจริงๆ จึงจะเป็น "อรหันต์"แท้ของพุทธได้
(12 มิ.ย. 2520)

69. การพยายามรู้เหตุ-รู้ผลของเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เรา "ติด" ทำให้เราลด "โลภ" ลด "โทสะ" ไม่ได้นั้นแหละคือ "ปํญญา" เมื่อรู้เหตุและลดได้ถูกตัว ดับได้ถูกเหตุแท้แล้วเด็ดขาดนั่นแหละคือ การบรรลุธรรมด้วยวิปัสนา
(12 มิ.ย. 2520)

70. ผู้อดต่อ "ความอร่อย" ได้! ทนต่อ "ความอยาก"ขึ้นมาได้มากเท่าใด? ก็เป็น "พระอริยะ"มากขึ้นเท่านั้นๆ ยิ่งทนต่อ "โลกียรส" ในโลกได้หมดสิ้นก็ยิ่งนั้นแหละคือ "พระอรหันต์"
(12 มิ.ย. 2520)

71. ผู้ตั้งใจฝึก ตั้งใจเพียร ด้วยแนวทางปฏิบัติธรรมที่ดีที่ถูกต้องอย่างเอาจริงเอาจัง นั่นแหละคือ ผู้ค้ำจุนโลก ผู้จะเป็นคนช่วยมวลมนุษยชาติให้มี "สันติภาพ" ที่แท้จริงในโลกทุกโอกาส
(12 มิ.ย. 2520)

72. ทางไปนิพพาน นั้นคือ การทำตนให้เกิด "ปัญญา" รู้ในเหตุผลที่เราเลิก เราหลุดสิ่งนี้-เรื่องนี้มานั้น เพราะควรเลิกด้วยเหตุใด! และ "เลิกได้" แล้วก็ไม่ติดเลยจริงๆ ขนาดที่เรากลับไปเกี่ยวข้องกับสิ่งนั้น-เรื่องนั้นอีกก็ได้ โดยที่เรา "ทำอยู่" ก็รู้ว่าเราไม่ได้ "ติดใจ" ในเรื่องนี้-สิ่งนี้อีกแล้วจริงๆ และเราก็ทนได้โดยไม่ยาก ทนได้โดยไม่ลำบากที่จะ "ทำ" สิ่งนี้ในเมื่อมันสมควรที่สุดที่จะ "ทำ" อีก ทั้งเราก็แน่ใจเราเหลือเกินว่าเราไม่ได้ "ทำ" เพื่อตนเองเลยอย่างจริงใจจริงๆ ที่สุด
(17 ก.ค. 2520)

73. "ความสงบสนิท" หรือ "นิโรธอริยสัจ" ของพุทธแท้ๆ นั้นมิใช่หยุดกายกรรม-หยุดวจีกรรม หรือ หยุดมโนกรรมจนเป็นอสัญญี แต่เป็นการหยุด กายทุจริต-หยุดวจีทุจริต จนบริสุทธิ์แท้ถึง "มโน" พ้นมโนทุจริตเป็นที่สุด ได้อย่างสนิทเด็ดขาดต่างหาก
(17 ก.ค. 2520)

74. "การบวช" นั้นก็เป็น "อาชีพ"! และเป็น "สัมมาอาชีวะ" ที่แสนประเสริฐสุดยอดของมนุษย์ทีเดียว ดังนั้นผู้ที่จะมาถึงขั้น "ได้บวช" จึงควรเรียนมาก่อน หัดฝึกอบรมดูก่อนจนแน่ใจ มั่นใจให้ดีที่สุดจริงๆ ว่าเราจะมาทำอาชีพนี้ได้อย่างไม่ล่มจม แต่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้ และไม่ทรมาน โศก-ปริเทวะ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส เป็นที่สุดแน่ๆ
(10 ส.ค. 2520)

75. "การบวช" นั้นก็เป็น "อาชีพ" ! และเป็น "สัมมาอาชีวะ" ที่แสนประเสริฐสุดยอดของมนุษย์ทีเดียว เพราะเป็นอาชีพของชาว "ปฏิโสต" ดังนั้นผู้ที่จะมาถึงขั้น "เป็นนักบวช" (คือไม่ใช่บวชเป็นงานอดิเรก) จึงควรเรียนมาก่อน ฝึก "อดิเรก"มาก่อน อบรมดู "ลองบวช" ตั้งแต่ยังมีอาชีพเป็นคฤหัสถ์ดูก่อน จนแน่ใจมั่นใจให้ดีที่สุดจริงๆ ว่าเราจะมาทำ "อาชีพนักบวช" นี้ได้อย่างไม่ขาดทุน หรือล่มจม กระทั่งที่สุดต้องเลิก "อาชีพนี้" แถมจะมีบาปมีเวรเป็นหนี้ติดตัวไปอีก แต่จะเจริญรุ่งเรืองไปได้ มีกำไร มีโลกุตรผล ไม่ทรมาน จนต้องทำบาปเกินบุญ หรืออย่างน้อยก็มี ฐานยึด-ฐานพักอันจะพออยู่ใน "เครื่องแบบนักบวช" ได้โดยไม่ทำตนให้เป็นที่เสื่อมศรัทธาและต้องอยู่อย่าง "ไม่ด้อยปัญญา" จนไม่รู้ตนว่า เราเองนั่นแหละเป็นผู้ฉุดศาสนาให้ลงต่ำอยู่ๆ ด้วยกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม เพราะทุจริตต่อพุทธจารีตที่แท้ๆ ถูกๆ จริงๆ ต่อสมณสารูป ต่อวินัย ต่อพุทธศีล ต่อพุทธสมาธิ ต่อโลกุตรปัญญา จึงจะได้ชื่อว่าเป็นพนักงานของพุทธศานาขั้นนักบวช หรือเป็นผู้มี "อาชีพนักบวชของพุทธที่ไม่มีบาปภัย"
(21 ส.ค. 2520)

76. เราจะไม่ทิ้ง "ความสบาย" ที่เป็นของคนอื่นอย่างถูกธรรมและดีที่สุด แม้เราจะต้องแบ่ง "ความสบาย" ของเราออกไปบ้างก็ต้องพยายามที่สุด
(21 ส.ค. 2520)

77. ความอดทน สู้ฝืน และเด็ดเดี่ยวของจิต ประกอบด้วยปัญญาที่ฉลาดหาเชิงเอาชนะต่อกิเลสได้เสมอๆ เท่านั้น ที่จะทำให้เราบรรลุธรรม เพิ่มภูมิสูงขึ้นได้เรื่อยๆ โดยแท้จริง หากอ่อนข้อเหยาะแหยะ แพ้กิเลสอยู่เรื่อยๆ นั้น คำว่า "บรรลุธรรม" หรือได้เพิ่มภูมิให้แก่ตนนั้นก็จะได้โดยยากหรือไม่ได้เอาเลยตลอดกัปป์กัลป์
(29 ส.ค. 2520)

78. ผู้บรรลุธรรมหรือเพิ่มภูมิสูงขึ้นๆ ให้ได้ในทางธรรมนั้น ต้องมี "พุทธศีล" ที่เคร่งครัดและปฏิบัติให้บริสุทธิ์ ให้ได้จริงๆ สูงๆ ขึ้นเรื่อยๆ เช่น เมื่อศีล 5 เราก็ได้บริสุทธิ์แล้วก็สมาทานศีล 8 และเมื่อศีล 8 บริสุทธิ์ดีอีก ก็หาจุลศีล 26 มาเลือกเพิ่มให้แก่ตน มัชฌิมศีลก็เลือกเอามาปฏิบัติ ได้มหาศีลก็ได้เช่นกัน ตามที่เหมาะฐานะขึ้นไปเรื่อยๆ เป็นต้น นั่นคือคนผู้ได้เป็น "ผู้ประเสริฐ"(พระ) ขึ้นได้โดยธรรมจริงๆ
(29 ส.ค. 2520)

79. รู้จัก "จิต" ของตน ที่มันมีลักษณะได้ปลดปล่อยแล้ว ว่าง เบา เบิกบาน แจ่มใส เพราะได้ปลดได้วางอารมณ์ที่เป็นอกุศลให้ได้ และเราจะเป็นอยู่ให้มี "ฐานจิต" เช่นนี้ให้ได้เสมอๆ ดังนั้น เมื่อไม่มีอกุศลจิตอะไรเลย เราก็จะสบายผ่องใสมีปัญญาดีเสมอ และถ้ามี "ผัสสะ" ที่ก่อให้เกิดอกุศลจิตอะไร ไม่ว่ามากหรือนิดน้อย ก็จะต้องให้จางคลายหรือปละปล่อย สลัดออกให้มาอยู่ใน "ฐานจิต" ที่สบายผ่องใสนั้นให้ได้ทุกครั้ง
(29 ส.ค. 2520)

80. ขณะกำลัง "กิน" เราก็มีสติรู้ตัวว่า เรากำลังพยายาม ลด ละ ต่อกิเลสอยู่ขณะกำลังเป็นอยู่ ทำงานทำการ พบปะใครๆ ได้รับสัมผัสใดๆ อยู่ เราก็มีสติรู้ตัวว่า เรากำลังได้พยายาม ลด ละ ต่อกิเลสอยู่ แม้ขณะจะนอน จะตื่นเราก็มีสติรู้ว่า เรากำลังได้พยายาม ลด ละ ต่อกิเลสของตนอยู่จริงเสมอๆ นั้นแหละคือ การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องเป็น "สติปัฏฐาน" แท้ จงทำให้สุขุมให้ละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เถิด การบรรลุธรรมมีแน่ๆ ในผู้กระทำอยู่อย่างนี้
(12 ก.ย. 2520)

81. ศรัทธาใดที่เราแน่ใจแล้ว ก็จง "มั่น" ให้มาก ปัญญาใดที่เรายังไม่ได้เพิ่มก็จง "มี" ให้ได้ ความหลุดพ้น-ว่าง-เบา-สบาย-ปลอดโปร่งใดๆ ที่เรามีแล้วก็จง "รู้" ให้ชัด และเมื่อขัดข้องไม่ว่าง-ไม่เบา-ไม่สบาย-ไม่ปลอดโปร่ง ณ เมื่อใด ก็อย่างเผลอใจ-อย่าห่างใจ จงจัดการเปลี่ยนจิต ปรับใจให้เร็วพลัน เราก็จะใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปทุกทีๆ
(12 ก.ย. 2520)

82. อาตมาสิ้นสงสัยสนิทแล้ว ในที่ๆ อาตมาอยู่และในที่ๆ อาตมาเป็น! มาเถิดคุณ… จงมาอยู่และมาเป็นอย่างอาตมา
(12 ก.ย. 2520)

83. ผู้ "รู้" ก็จริง "เป็นได้" ก็จริงเท่านั้น ที่จะยืนยันได้ในนิพพานและเที่ยงแท้ในนิพพาน คุณล่ะ! … ปรารถนา "นิพพาน" บ้างหรือเปล่า?
(12 ก.ย. 2520)

84. ผู้รู้แจ้งใน "ความไม่มีทุกข์" เพราะว่าตนในขณะนั้น "จิต" ไม่มีโลภะ-โทสะ-โมหะได้แท้ๆ ไม่ว่าจะเป็นกิเลส หยาบ-กลาง-ละเอียด ก็ไม่มีจริงๆ ! และเห็น "จิต" ตนจริงๆ อยู่ทีเดียวว่า "ตนไม่มีทุกข์" และตนก็ไม่ได้หลงเสวย "โลกีย์สุข" อยู่จริงๆ ด้วย แม้ขณะนั้นๆ เราจะกำลังทำงานทำการมีสัมผัสยุ่งอยู่ปานใดๆ ก็ตาม ผู้นั้นแหละคือ ผู้กำลังมี "อารมณ์นิพพาน"อยู่ในขณะนั้นๆ เทียว จงรักษาอารมณ์เช่นนั้นให้มีให้มั่นคงถาวรเถิด นั่นคือ การปฏิบัติธรรมที่กำลังมีผลสูงสุด เป็นปัจจุบันจริงๆ แท้ๆ ถ้ามีอารมณ์โลภะ-โทสะ-โมหะแซมขึ้นมาแว๊บใด ให้รีบรู้ให้ทัน แล้วรีบ "สลัดออก" ให้เร็วทันทีทุกเมื่อให้ได้ หากทำได้ดั่งนี้ตลอดไป ก็เป็นอันหวังไว้ซึ่ง "อรหันต์" แน่แท้
(13 ก.ย. 2520)

85. จงรู้จัก "ชีวิต" ให้ดีที่สุด แล้วจงใช้ "ชีวิต" ให้มีประโยชน์สูง-ประหยัดสุด
(25 ก.ย. 2520)

86. จง "รู้ตัว" ให้ได้ เมื่อจิตเราหวั่นไหวด้วย "ปิติ" แรงไป หรือจิตเราสะเทือนด้วย "ความไม่พอใจ" แม้อ่อนเบาปานใดก็ตาม แล้วรีบใช้ปัญญาโลกุตระแก้ไขจิตให้สู่สภาพดีที่สุดให้ได้ทุกโอกาส นั้นคือ ผู้กำลังเดินทางเข้าหานิพพาน
(9 ต.ค. 2520)

87. "คน" ผู้มีความสุขที่สุด ก็คือผู้ที่รู้ว่าตัวเองกำลังเป็นผู้ "ให้" หรือ "เสียสละ" แก่ผู้อื่น ได้จริงที่สุด
(9 ต.ค. 2520)

88. คนที่สร้างที่ก่อให้แก่ตนเองนั้นคือ คนที่ยังไม่มี "ค่า" เลย คนจะเริ่มมี "ค่า" ก็ต่อเมื่อสร้าง-ก่อเพื่อผู้อื่นได้จริงๆ ยิ่งสร้าง-ก่อให้แก่ผู้อื่นที่ไม่ใช่ญาติ "ค่า" ยิ่งสูงยิ่งแพง หรือยิ่งก่อยิ่งสร้างเพื่อสังคมเพื่อคนอื่นๆ ที่เป็นหมู่ยิ่งใหญ่ยิ่งมาก ก็ยิ่งเป็นค่าแพงเป็นค่าสูง ยิ่งๆ ขึ้นๆ อย่างแท้จริง
(9 ต.ค. 2520)

89. เรื่องใหญ่เรื่องยากที่สุดที่ผู้ชนะเกือบรอบโลกทำไม่ได้ ก็คือ "การเป็นผู้แพ้" ถ้าเขาทำได้เขาก็จะคือ "ผู้ชนะรอบโลก" อย่างแท้จริง
(9 ต.ค. 2520)

90. คนผู้สุขที่สุด และจะเป็นผู้มี "ค่า" มีความประเสริฐแท้ ก็คือ ผู้ได้ "ให้" ได้ "เสียสละ" เท่านั้น แม้ได้ให้-ได้เสียสละแค่ "วัตถุทรัพย์สิน" ก็สุขจริง แต่อาจจะมี "ค่า" เป็นลบหรือยังไม่มี "ค่า" ถูกแท้ถูกจริงก็ได้ ต้องพิจารณาวัตถุทรัพย์สินที่จะเสียสละกับผู้จะได้รับให้ดีๆ เถิดว่าเหมาะสมหรือไม่? ยิ่งกว่านั้น ได้ให้-ได้เสียสละ "แรงกาย" ได้ให้-ได้เสียสละ "แรงสมอง" ก็ยิ่งแสนสุข แต่ก็อาจจะมี "ค่า" เป็นลบ หรือยังไม่มี "ค่า" ถูกแท้ถูกจริงอีกก็ได้ ต้องพิจารณา "แรงกาย แรงสมอง" ของเราที่จะเสียสละลงไปนั้นๆ ให้เหมาะสมดีงามยิ่งแท้ให้ได้อีก และยิ่งกว่านั้นขึ้นไปอีก ผู้ให้ได้-เสียสละได้ แม้กระทั่ง เรางด "โทสะ" หรือลด "ความชัง" เลิก "อารมณ์ไม่พอใจ" ของเราที่มีต่อคนผู้นั้น ต่อสิ่งๆ นั้น ต่อรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัส นั้นๆ ได้แท้ ก็นั่นแหละยิ่งเป็น "วูปสโม สุโข" ความสุขอันประณีตสุขุมสงบ ยิ่งแท้ทั้งมี "ค่า" แท้ ประเสริฐแท้และยิ่งๆ กว่านั้นขึ้นไปๆ อีก ผู้เสียสละได้จนกระทั่ง เรางด "ราคะ" หรือ "ความรัก" เลิก "อารมณ์ปิติ" ของเราที่มีต่อคนผู้นั้นต่อสิ่งๆ นั้น ต่อรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสนั้นๆ ได้จริง ก็นั่นแหละยิ่งเป็น"วูปสโม สุโข" ความสุขอันประณีตสุขุมสงบเยี่ยมยิ่งจริงกว่าขึ้นไปอีก ทั้งมี "ค่า" แท้ประเสริฐแท้เยี่ยมขึ้นไปอีก และสุดท้ายผู้ให้ได้ ผู้สละได้แม้ความสงบที่ตนติด ความเฉยที่ตนเป็นตนมีมากเกินไป ความว่างที่เรายึดว่าเราจะต้องเป็นต้องมีก็ไม่ต้องมี ไม่ต้องเป็นเสียก็ได้จริงๆ และท้ายสุดแห่งท้ายสุดจริงๆ เป็นผู้ให้ได้-เสียสละได้ แม้ความสุขอันประณีตสุขุมสุดของตนแท้ๆ ไม่ต้องหลงสะสม กระทั่งไม่ต้องหลงว่านิพพานเป็นของตัวของตน เมื่อเรา "ทำ" นิพพานเป็นแล้วอย่างแท้จริงสุขุมสุดสนิทเนียน ไม่ต้องห่วงนิพพาน ไม่ต้องสะสมนิพพาน แต่เป็นผู้แจกนิพพานแก่มวลมนุษยชาติอย่างขยันขันแข็งและชาญฉลาดไม่ประมาทอย่างที่สุด ผู้นั้นแหละคือ ผู้ "ปรมัง สุขัง" คือ ผู้ถึงแล้วซึ่งสภาพ "ยิ่งกว่าสุข" ทั้งหา "ค่า" บ่มิได้ สุดยอดแห่งความประเสริฐ
(9 ต.ค. 2520)

91. เรื่องใหญ่เรื่องยากที่สุดที่ "ผู้เกือบจะบรรลุผลสำเร็จสุดยอด" ทำไม่ได้อยู่ก็คือ เขาไม่รู้ "ผลสำเร็จ" นั้นจริง! ทั้งๆ ที่เขาทำมันได้แล้วอย่างไม่ยากเย็นเลยเสียด้วยซ้ำ
(9 ต.ค. 2520)

92. จงรู้ผลที่เรา "ได้" แล้วของตนให้จริง แล้วจงหาบทปฏิบัติให้แก่ตนเพิ่มสูงขึ้นให้ได้ เราจึงจะไม่เซ็ง หรือจะไม่ถดถอยจาก "ธรรม" จะไม่ตกต่ำจาก "ธรรม"
(9 ต.ค. 2520)

93. ผู้ "รู้" ก็จริง "เป็นได้" ก็จริงเท่านั้นที่จะยืนยันได้ในนิพพาน และเที่ยงแท้ในนิพพาน คุณล่ะ! … รู้จัก "นิพพาน" บ้างหรือยัง? และ "เป็นได้" บ้างแล้วหรือยัง? หรือแน่ใจใน "นิพพาน" แล้วอย่างไร? ปานใด?
(10 ต.ค. 2520)

94. "ความไม่สบาย" นั้นแหละที่ทำให้เรารู้อย่างจริงแท้ว่า เราสบายได้จริงหรือไม่?
(23 ต.ค. 2520)

95. จงอ่าน "บุญบารมี" ที่เราฝึกเพียรปฏิบัติให้เห็นจริงเสมอ แล้วเพิ่มบุญใหม่ บารมีในจุดใหม่อีกให้ได้เสมอๆ ด้วย เราจึงจะเป็นผู้เจริญอย่างแท้จริง
(19 ธ.ค. 2520)

96. ผู้สบายแล้ว คือผู้ไปก็ได้ มาก็ได้ ไม่ต้องไปก็ได้ ไม่ต้องมาก็ได้ นั่นคือ ผู้ได้ชื่อว่า ผู้หยุดสนิท จึงเป็นอยู่ด้วย การเพียร-การพัก ที่มีปัญญาอันไม่เห็นแก่ตัวแท้
(19 ธ.ค. 2520)

97. "ความลังเล" คือ ความทุกข์ และเป็นอุปสรรคในการก้าวหน้าทางธรรม จงทำความมั่นใจ ความแน่ใจด้วยปัญญาให้แจ้งชัด เด็ดเดี่ยวให้ได้ ความสบายจะเกิดทันที แล้วความเจริญในธรรมจะตามมา
(19 ธ.ค. 2520)

98. รู้ "ธรรมะ" ที่จะทำให้เกิดแก่ตนเป็นระดับชั้นให้ได้ แล้วทำให้สำเร็จ และต้องรู้ส่วนที่สำเร็จก็ให้ "แล้วรู้แล้ว" แล้วก็พากเพียรส่วนต่ออันเป็นคุณเบื้องสูงขึ้นไปเสมอๆ
(19 ธ.ค. 2520)

99. คนที่ไม่เก่งที่สุด ก็คือ "คนที่โกหกตัวเองเก่งที่สุด"
(1 ม.ค. 2521)