โศลกธรรม

จู่ๆ หนังสือ "โศลก" ก็ถือโอกาสกำเนิดขึ้นมา ซึ่งญาติธรรมหลายต่อหลายท่าน คงจะสงสัยเหมือนกัน ในประวัติความเป็นมาของ "โศลก"
สืบเนื่องมาแต่ มีญาติธรรมที่ศรัทธาพ่อท่านฯ อยากจะได้รูปของท่านเอาไว้เตือนสติให้พากเพียรต่อสู้ ทำแต่ความดี
ทางฝ่ายธรรมภาพก็ช่วยเป็นธุระจัดการ อัดรูป ขยายให้และไหนๆ ก็อัดมาแล้ว ก็เลยถือโอกาสให้พ่อท่านฯ เขียนคาถาหรือคำสั่งสอนเตือนสติลงไปด้วย

จากวันนั้นถึงวันนี้ บรรดาคำเตือนสติต่างๆ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมฐานเฉพาะเจ้าของภาพโดยตรง ส่วนหนึ่งก็เป็นกรรมฐานของพระคุณเจ้าและสิกขมาต และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นคำเตือนสติทั่วไป ก็ได้รวบรวมเก็บไว้ จนญาติธรรมกลุ่มหนึ่งเกิดความคิดที่จะให้ "โศลก" ต่างๆ เหล่านี้ กระจายไปสู่ญาติธรรมอื่นๆ ที่ไม่มีโอกาสได้เสพย์.
หนังสือ "โศลก" จึงได้เกิดขึ้นมาด้วยประการฉะนี้

หากจะเป็นผลไม้ ก็คงจะเป็นผลไม้ที่มีรสเข้มข้น เด็ดขาด เหลือหลาย พึงโยนิโสมนสิการในแต่ละโศลก ที่มีแต่อัตถะสาระแน่นเปรี๊ยะได้ ณ บัดนี้

จากพวกเรา ญาติธรรมชาวอโศก

.

100. ผู้รู้จัก "พระ" แท้ และเป็นผู้แกะรอยพระจริง นั่นแหละคือผู้กำลังเดินสู่สุคติแล้วแน่นอน
(1 ม.ค. 2521)
101. คนที่อ่อนแอมากที่สุด ก็คือ "คนที่แพ้ตนเองบ่อยที่สุด" (1 ม.ค. 2521)
102. ผู้รู้ "วิมุติรส" แท้ๆ จริงๆ เท่านั้นจึงจะทิ้ง "โลกียรส" ได้อย่างเห็นๆ ผู้ไม่รู้ "วิมุติรส" จริงๆ แท้ๆ จะไม่ยอมทิ้ง "โลกียรส"เลย ก็จะเห็นๆ อยู่โทนโท่ (6 ม.ค. 2521)
103. รู้สิ่ง,ส่วนที่เราประพฤติบรรลุได้แล้วให้จริง แล้วหาสิ่ง,ส่วนที่เรายังทำไม่ได้ มาทำอีกๆ ให้ยิ่งๆ ขึ้นเสมอ จนสุดท้ายเราจะรู้แจ้งได้แท้ว่า เราหมดสิ้นกิจภาระแห่งตน เมื่อนั้นเราก็จะรู้ว่า เราควรจะทำอะไรดีที่สุด (6 ม.ค. 2521)
104. ผู้มี "ความเป็นอยู่" ไม่ยาก-มี "ความเจ็บป่วย" ก็ไม่เดือดร้อน และมี "ความตาย" ก็ไม่กระทบกระเทือนใจอะไรได้จริงๆ นั้นคือ พระอริยะแท้ (6 ม.ค. 2521)
105. "ความดี" ที่เป็นธรรมนั้น มันไม่ใช่ "ความได้เปรียบ" หรอก มันคือ "ความเสียเปรียบ" ต่างหาก แต่เขาพูดเสียใหม่ว่า "ความเสียสละ" โดยเจ้าตัวตั้งใจ "เสียเปรียบ"จริงๆ ด้วย ทั้งๆ ที่ผู้นั้นสามารถ "เอาเปรียบ" เขาได้อยู่แท้ๆ (7 ม.ค. 2521)
106. "ความลังเล" เป็นทุกข์! "ความตัดสินใจไม่ได้" ทั้งๆ ที่มีปัญญาเข้าใจอย่างไม่มีสงสัยแล้วนั้น ยิ่งคือความไม่บรรลุหรือความไม่สำเร็จตัวแท้!! (7 ม.ค. 2521)
107. "ความหลุดพ้น" จะเกิดไม่ได้เลยกับผู้อยาก-ๆ-ๆ-ๆ หลุดพ้น แต่ "ความหลุดพ้น" จะเกิดได้เองเมื่อครบขั้น ครบตอน กับผู้ที่ได้รู้จักกรรมวิธี "สติปัฏฐาน" แท้ๆ และพึงบำเพ็ญอยู่อย่างสังวรเสมอ (9 ม.ค. 2521)
108. เราจะรู้จัก "ทุกข์" ที่น่าเบื่อ แต่เราจะไม่เบื่อที่จะอยู่กับทุกข์ด้วยการกระทำตนให้อยู่เหนือทุกข์นั้นๆ ให้ได้ ถ้าเห็นว่าการนั้นดีแล้ว ควรแล้ว หรือจำเป็น (13 ม.ค. 2521)
109. ชื่อว่า "พุทธ" แต่ก็ยังไม่ใช่พุทธ ก็เพราะไม่ได้อริยคุณใส่ตน หรือไม่ได้พบแม้แค่อริยสงฆ์ (13 ม.ค. 2521)
110. ทำปัญญาให้เข้าใจให้ดี และทำดีนั้นให้ตลอดรอดฝั่งให้ตั้งมั่นอย่าเร่งใจ เร่งเวลาเป็นอันขาดเพราะนั้นคือ กิเลส คือ อวิชชา (13 ม.ค. 2521)
111. การหัดได้ของที่ตนรักที่ตนชอบมา แล้วก็เป็นสุขนั้น ใครมันก็ทำได้จะประเสริฐอะไร! แต่การให้ของที่ตนรักตนชอบไปแล้ว ก็ไม่ทุกข์นั่นต่างหากเป็นงานของปราชญ์และประเสริฐแท้ (12 ม.ค. 2521)
112. เราไม่รีบร้อนรุกรี้รุกรนที่จะดี แต่เราจะไม่อืดอาดเชื่องช้า เนือย-เซ็ง ที่จะดีเป็นอันขาด ปราชญ์แท้จึงขวนขวายเสมอ (12 ม.ค. 2521)
113. ผู้เป็นปราชญ์แท้นั้นได้ "สิ่งดีแล้ว" จะไม่ทิ้ง "สิ่งดี" นั้นเป็นอันขาด แต่จะใช้ "สิ่งดีแล้ว"นั้นเป็นทุนเป็นฐานเพื่อเพิ่ม "สิ่งดียิ่งๆ ขึ้น" (12 ม.ค. 2521)
114. จงเงียบให้ได้ แต่จงพูดให้ดัง (13 ม.ค. 2521)
115. "ความดี" นั้นหาไม่ยากหรอกในตัวเรา แต่ "ความชั่ว" ในตัวเรานั้นต่างหากที่ค้นหาไม่ได้ง่ายๆ เลย (13 ม.ค. 2521)
116. โลกจะสุขเย็นสันติได้ เพราะคงเป็นอริยะเห็นแจ้งได้ชัดว่า ภาระส่วนตนนั้นมันน้อยนิดเหลือเกิน ทำให้มันเสียหน่อยเดียวก็เสร็จ แล้วก็จะมีชีวิตประจำวันอยู่ด้วยการขวนขวาย สร้างสรรค์ เพื่อผู้อื่นอยู่เท่านั้นเป็นนิจ (13 ม.ค. 2521)
117. เด็กทุกคนก็คงจะต้อง… ผ่านการ "ล้ม" … แต่ล้มจงลุก…และจงอย่าคลุกคลาน… เป็นอันขาด (13 ม.ค. 2521)
118. "เวลา" ของคนผู้ประเสริฐ จะไม่มีไว้เพื่อฉลอง หรือชื่นนานกับการที่เรา "ได้ดี" แต่จะมีไว้เพื่อ "ทำงานที่ดี" นั้นๆ ให้มากที่สุด กับตรวจแก้ส่วนที่ยังไม่ดียิ่งๆ ให้ได้อีกเสมอ (13 ม.ค. 2521)
119. ผู้เอาจริงเท่านั้น ที่จะบรรลุความจริง (21 ม.ค. 2521)
120. เมื่อต้องการเป็นครู จงเป็นครูแก่ "คนโลกย์ๆ " ให้ได้ (21 ม.ค. 2521)
121. ผู้ที่รู้ "ใจ" ของตนได้แท้ๆ ว่า… เราย่อมเบิกบานแจ่มใส-เราย่อมรู้ดีใน "ดี" ที่เราเพียรไม่ให้บกพร่องอยู่เป็นนิจได้จริง - เราย่อมรู้ดีใน "ชั่ว" ที่เราเพียรไม่ให้อุบัติอยู่เป็นนิจได้จริงและเราปิติอยู่แม้จะหนักจะเคร่ง นั้นแหละคือ ผู้กำลังบำเพ็ญ "สติปัฏฐาน" แท้ๆ ถูกทางทั้งเกิดความเจริญในกุศลธรรม (21 ม.ค. 2521)
122. อาตมามองไม่เห็นอะไรจริงๆ ที่จะ "เยี่ยมยอดสุดประเสริฐ"ในชีวิตมนุษย์ไปยิ่งกว่า การได้ทำงานอย่างนี้ๆ และมีจิตใจไม่ต้องริษยาใคร ไม่ต้องหลงใหลอะไร ไม่ต้องท้อแท้แม้จะทำงานไร้ผลบ้างบางครั้ง ก็เพียรแก้ไขไป เราทำงานรังสรรค์ประโยชน์สุขให้มนุษย์โลกได้มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งดียิ่งๆ อยู่โดยตัวของมันเองเท่านั้นๆ "ดี"ยิ่งมากมันก็ยิ่งควรเป็นควรเกิดแน่นอน (21 ม.ค. 2521)
123. เมื่อเห็นชัดแน่ใจว่า สิ่งใดดีจริง! เราก็ต้องพยายาม "เอาจริง!" ให้ได้เพราะของดีนั้น มิใช่จะเป็นของได้โดยง่ายนัก (21 ม.ค. 2521)
124. ไม่มีอะไรน่าสงสัยเลยว่า "ชีวิตพรหมจรรย์"นี้ ประเสริฐสุดแห่งมนุษย์! ถ้าใครเห็นไม่จริงเพียงนิดเดียว ก็เท่ากับผู้นั้นไม่ยอมรับว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นยอดปราชญ์ยอดศาสดา การเลือกทางเดินและเลือก "ชีวิตพรหมจรรย์" ให้แก่พระองค์เองก็เป็นความงมงายหรือโง่เขลาของพระองค์โดยแท้ (21 ม.ค. 2521)
125. ผู้ที่ "อิสระเสรี" ที่สุด คือ ผู้ที่ผาสุกเยี่ยมยอดประเสริฐที่สุด และ "ความอิสระเสรีภาพ" ที่แท้จริงนั้น ก็คือ "การสูญสิ้นความเห็นแก่ตัว" เป็นที่สุดในบุคคลผู้นั้น นั้นแล (21 ม.ค. 2521)
126. คนผู้ใดมีความเห็นว่า ความมีทรัพย์สมบัติมาก หรือความมียศศักดิ์สูง เป็นเครื่องวัดผลสำเร็จของชีวิต ก็เท่ากับคนผู้นั้นเห็นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคนผิด หรือ คนโง่เง่า เพราะพระองค์ท่านมีทรัพย์ก็ทิ้งทรัพย์ มีอิสริยศก็ทิ้งยศ แม้ใครใดจะมีทรัพย์รวยล้นฟ้า มียศศักดิ์สูงล้นแผ่นดิน แม้ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีศาสนา จะประเสริฐอะไร? ส่วนผู้มีทรัพย์ ไม่หลงทรัพย์ ไม่หวงทรัพย์ มียศไม่หลงยศ ไม่เบ่งอำนาจ มีแต่ความเผื่อแผ่ช่วยผู้อื่นจนไม่เหลือความเห็นแก่ตัว นั้นต่างหาก คือ ความประเสริฐแท้ ชื่อว่า ผู้มีศีล มีธรรม มีศาสนา จะเรียกว่า ศาสนาอะไรก็ได้ (26 ม.ค. 2521)
127. คนจนที่แท้ หรือ กระยาจกเข็ญใจที่จริงนั้น คือ คนที่ขี้เกียจไม่ทำงาน ไม่สร้างไม่สรรและแม้มีเงินแล้วเป็นร้อยๆ ชั่ง พันๆ หมื่น ก็ยังไม่มีความอิ่มความพอ จะมีแต่ความหวงความตระหนี่ มีแต่ความโลภแล้วโลภอีก ส่วนคนรวยที่แท้ หรือเศรษฐีมีบุญจริงนั้นคือ คนที่แม้มีเงินเพียงสิบบาทก็ยังเจียดแบ่งให้คนอื่นได้ง่ายๆ หรือคนที่แม้ไม่มีเงินเลย ก็ยังเร่งสร้างเร่งสรรมีกำลังกาย ก็ทำงานช่วยผู้อื่นด้วยกายได้ มีแรงสมองก็ทำงานช่วยผู้อื่นด้วยปัญญาอยู่อย่างเบิกบานสดชื่น (26 ม.ค. 2521)
128. คนผู้เกิดมาเพื่อแสวงหาการกินดีอยู่ดี ผู้นั้นคือผู้มีชีวิตอยู่ด้วยบาปด้วยความฉิบหาย แต่คนผู้เกิดมาเพื่อแสวงหาการทำดี (กุศลกรรม)อันได้แก่ สร้างสรรค์ เสียสละ ชำระจิต ผู้นั้นคือ ผู้มีชีวิตอยู่ด้วยบุญด้วยความเจริญรุ่งเรือง (26 ม.ค. 2521)
129. ต้องรู้จักและสัมผัส "ประโยชน์" ที่ได้แท้ๆ จากการประพฤติธรรมให้ถนัด รู้ "โทษ"ที่มีของโลกีย์ให้ชัด เราจึงจะลัดเข้าหาทางบรรลุได้เร็วแท้ดีแท้ (1 ก.พ. 2521)
130. ตาคมว่าสวย ปากคมว่าเก่ง ก็ยังไม่ใช่คุณสมบัติที่ประเสริฐเลิศยอดเท่า "ใจคม" หรือ "ใจที่ตัดใจได้เก่ง" (2 ก.พ. 2521)
131. ผู้ที่ "รู้" ก็จริง "เป็นได้"ก็จริงเท่านั้น ที่จะยืนยันได้ในนิพพาน และเที่ยงแท้ในนิพพาน คุณล่ะ!… ปรารถนา "นิพพาน" บ้างหรือเปล่า? (2 ก.พ. 2521)
132. "คน" ผู้มีความสุขที่สุด ก็คือ ผู้ที่รู้ว่าตนเอง กำลังเป็นผู้ "ให้" หรือ "เสียสละ" แก่ผู้อื่นได้จริงที่สุด (11 ก.พ. 2521)
133. มนุษย์ผู้เกิดมาหวังความเจริญ ก้าวหน้าสุดยอดให้แก่ชีวิตนั้น เมื่อรู้ว่า เช่นนั้นดี-เช่นนี้ถูกต้องแท้แล้ว แต่เขาก็ไม่ทำเช่นที่รู้ๆ นั้น แล้วเขาจะหวังความเจริญ ความก้าวหน้ากันไปให้ตลกเล่นเปล่าๆ กันอยู่ทำไม? ถ้าไม่รีบลงมือทำตามที่รู้ๆ นั้นเสียให้ได้ ก็ "หวัง"โง่ๆ อยู่เท่านั้นในชีวิต (21 พ.ค. 2521)
134. มีสิ่งที่เราควรเลิก ควรหยุด หรือควรเปลี่ยนไปเป็นอื่นอยู่ทุกวัน สำหรับผู้มี "อธิปัญญา" และเข้าใจแท้ใน "วุฑฒิ" หรือ "ความเจริญขึ้น" แห่งมนุษย์และสิ่งทั้งหลายได้จริงแท้แล้ว (26 ก.ค. 2521)
135. คุณจะต้องรับรู้ไว้ให้เห็นจริงด้วยว่า โลกทุกวันนี้ แล้ว "ความยุติธรรม" และห่าง "สัจธรรม" และผู้จะทำให้โลกมี "ความยุติธรรม" และเข้าหา "สัจธรรม" ได้ก็คือ… เราต้องทำตนให้มี "ความยุติธรรม" และสะสมหรือเข้าใกล้ "สัจธรรม" ให้ได้ให้มาก อย่างน้อยก็ช่วยผู้มี "ความยุติธรรม" ให้มีกำลังส่งเสริมผู้มี "สัจธรรม" ให้ยืนหยัด เดินได้ก้าวได้ นั่นคือ "บุญ"ที่แท้จริง (4 ส.ค. 2521)
136. ถ้าเคารพนับถือ "อาตมา" ต้องรู้ว่า "อาตมา"มีจุดดีอะไร? อย่างไร? อย่าเคารพนับถือดายไปเป็นอันขาด (4 ส.ค. 2521)
137. อ่าน - ทวน - ทำ แล้วจะพบ "ความแท้" ที่มนุษย์ผู้ใดได้แล้วจะไม่มีวัน "ทิ้ง" (11 ส.ค. 2521)
138. ผู้ที่หลงโอ๋ตัวเอง-ประคบประหงมตัวเองอยู่มากเท่าใด ก็คือผู้เป็น "ทาษ" ทรมานตนเองอยู่มากที่สุด เท่านั้นๆ ตลอดกัปป์กัลป์ (11 ส.ค. 2521)
139. เราเห็นแม่น้ำแล้ว แต่ไม่เดินเข้าไปดื่มไปอาบเอง ก็เป็น "ความไม่ฉลาด" ของผู้นั้นเท่านั้น (13 ส.ค. 2521)
140. คนมี "สุข" เมื่อได้ลาภ-ได้ยศ-ได้สรรเสริญ-ได้รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสที่ถูกใจนั้น จะประเสริฐอะไร? หรือจะแปลกประหลาดอะไร? แต่คนที่ "ไม่ทุกข์" เมื่อเสื่อมลาภ-เสื่อมยศ-ถูกนินทา-และไม่หลงใหลเป็นทาษรูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสใดๆ นั้นต่างหากประเสริฐกว่า หรือแปลกประหลาดหาได้ยากในหมู่มนุษย์ (27 ก.ย. 2521)
141. เราหาเงินเก่ง ก็ดีอยู่ และก็เก่งแล้ว ถ้าเราหัดทำ "ทาน" ด้วยเงินนั้นได้ ก็จะยิ่ง "เก่ง" ยิ่ง "ดี" ขึ้นไปอีก เราอยากอร่อย อยากสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วก็ช่วยตนแสวงหามาจนได้เสพย์ความสุข เพราะอร่อย เพราะสนุกสนานเพลิดเพลินสมใจ นั่นก็ "เก่ง" แล้ว แต่ถ้าหัดเลิกเสพย์เลิกติดเลิกสุขเพราะอร่อย เลิกสุขเพราะสนุกสนานเพลิดเพลินสมใจนั้นได้ ก็จะยิ่ง "เก่ง" ยิ่ง "ประเสริฐ"ขึ้นไปอีก (10 ต.ค. 2521)
142. คนหลง "กาย" ก็คือผู้หลงตัว คนหาย "กลัว" ก็คือคนพ้นตาย (11 พ.ย. 2521)
143. "ชีวิต" คือการเรียนรู้ เพื่อจะรู้ "ทุกข์" แล้วปรับตนให้ "พ้นทุกข์" ฝึกตนให้ "พ้นทุกข์" "ชีวิต" ไม่ใช่คือ การใช้จ่ายความทดลองเพื่อ "ชิม" เพื่อ "แข่งขัน" เพื่อ "สั่งสมจิตให้มีกิเลสเพิ่มขึ้น" ผู้ฉลาดแท้ และรู้ทันความจริง ดั่งว่านี้เท่านั้นจึงจะมี "ชีวิต" บรรลุผลสำเร็จใน "ชีวิต" ได้ เมื่อพากเพียรทำให้ถูกตรงอย่างสำคัญจริงจัง มิฉะนั้นแล้ว เขาผู้นั้นจะไม่มีทั้งทาง และโอกาสประสบผลสำเร็จใน "ชีวิต" เลย แม้เขาจะได้ "ชิม" ความสุขสมใจมากล้นสุดล้นเท่าใดๆ ก็ตาม แม้เขาจะได้ "ชนะ" ยิ่งใหญ่เหนือใคร! เหนือคนทั้งโลกด้วยยศ ด้วยเกียรติ ด้วยวัตถุสมบัติยิ่งยอดเท่าใดๆ ก็ตาม หากเขาไม่รู้แจ้งเห็นทุกข์เพราะ "กามตัณหา" และ "ภวตัณหา" อย่างชัดแจ้งแท้จริงแล้ว "ชีวิต" ก็จะยังคงไม่มีคำว่า "จบ" หรือ "สำเร็จเสร็จสิ้น" (20 ต.ค. 2521)
144. ความเบิกบานร่าเริงสบายใจนั้นแหละคือ พุทธะ แต่ความหมักหมมเรื่องไม่สบายใจ วุ่นใจไว้ในจิต นั้นต่างหากคือ กิเลสตัวสำคัญร้ายกาจ จะต้องรู้จักกิเลส แล้วสาวหาเหตุมันให้ได้ และทำความเข้าใจมันให้ถึงที่สุด แล้วเราจะโปร่งใจ เบิกบานร่าเริงสบายใจเป็น "พุทธะ" (16 พ.ย. 2521)
145. ทุกขณะจิต เราจะต้องพยายามรู้จักอารมณ์ของเราอยู่เสมอ เมื่ออารมณ์จิตขณะใดไม่เป็น "พุทธะ" เราต้องรีบแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนมันมาสู่ความเป็น "พุทธะ" ที่ยิ่งที่แท้ให้ได้เสมอๆ นั่นคือ บทฝึกหัดไปสู่นิพพานที่จริง (25 ธ.ค. 2521)
146. มีสิ่งที่เราควรเลิก-ควรทำ หรือควรเปลี่ยนไปเป็นอื่นอยู่ทุกวัน สำหรับผู้มี "อธิปัญญา" และเข้าใจแท้ใน "วุฑฒิ" หรือ "ความเจริญขึ้น" แห่งมนุษย์และสิ่งทั้งหลายได้จริงแท้แล้ว (8 ม.ค. 2522)
147. "เด็ดขาด" ให้แก่ตน แล้วเราจะเห็น "ความพ้นทุกข์" ที่จริง "อาจหาญแกล้วกล้า" แล้วเราจะเห็น "ความก้าวหน้า" ที่ชัด "ร่าเริง" อย่างสงบสงัดได้แล้วเราก็คือ "พุทธะ" ที่แท้ (8 ม.ค. 2522)
148. "ความสงบ" มิใช่ ความโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่หรือหลบไปหยุดนิ่งโง่ๆ อยู่ แต่คือ ความสร้างสรรจรรโลงที่เจริญงอกงามของกลุ่มหมู่ที่ยิ่งขยายโตขยายใหญ่มากขึ้นๆ ไป ได้อย่างดี อย่างเรียบร้อย ราบรื่น สุขเย็น เบิกบานใจ ไม่เดือดร้อนวุ่นวายเลย นั่นต่างหาก (3 ก.พ. 2522)
149. "นิพพาน" ไม่ใช่ความเปล่าดายหรือไม่ใช่ความว่างๆ เปล่าๆ ความไม่มีอะไรอย่างหมดค่า-หมดท่าหรอก! แต่เป็น "ความว่าง" ที่สูงค่าและน่าศรัทธาเทิดทูนในบทบาททีท่ายิ่งนัก เป็น "ความไม่มี" (กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน) ที่ "มี" (ความเสียสละ) อย่างเห็นๆ เด่นๆ อยู่ในโลกที่แท้จริง จริงๆ (3 ก.พ. 2522)
150. "นิพพาน" หรือ "สันติธรรม" นั้น มิใช่ความหนึ่งเดียวที่ไม่มีใครอื่นหรือไม่เห็นคนอื่น จริงๆ! แต่เป็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ยิ่งๆ ขึ้นกับคนอื่นมากมาย หมู่อื่นยิ่งๆ ขึ้น สังคมอื่นโตใหญ่ไพศาลขึ้น สากลอื่นที่กว้างยิ่งขึ้น ขยายยิ่งๆ ขึ้นอย่างเกื้อกูลเสียสละสามัคคีกันได้แท้จริง และจริงใจต่างหาก (3 ก.พ. 2522)
151. ผู้ที่ "กิน" ไม่เป็น ก็ยังเหมือนเช่นเศรษฐีโง่ๆ คนหนึ่ง ที่จะอยู่อย่างล้างอย่างผลาญพล่า (แม้เงินเขาจะมีมากไม่รู้จักหมดก็ตาม) และตายฉุๆ บวมๆ เหม็นๆ ในที่สุด เพราะไม่มีปัญญาจริงๆ ที่จะรู้เท่าทัน รูป-รส-กลิ่น-เสียง-สัมผัสของสิ่งที่จะ "กิน" ทั้งมวลด้วย "โลกุตรปัญญา" และฝึกหัด อด-ลด-จนกินอย่าง "อริยะ" แท้ได้ ผู้หยุดบทบาทแห่งการ "สร้างลูก" ไม่ได้ ก็เพราะยังดับสนิทถึง "กามราคะ" ในอนุสัยเป็นที่สุดไม่ได้ ก็เท่ากับหมาตัวหนึ่งที่มันก็หยุดการกระทำนี้ให้แก่ตนเองไม่ได้ดอก! เพราะมันยังมีสัญชาติแห่งเดรัจฉานอยู่จริงๆ (3 ก.พ. 2522)
152. "ความรุนแรง" มิใช่ เราทนได้! แต่คือ ผู้อี่นทนไม่ได้ ต่างหาก! บัณฑิตย่อมประมาณ "ความรุนแรง" นั้นๆ ด้วยเมตตาเต็มเปี่ยมจริงใจ จริงๆ จึงแสดงออก (3 ก.ย. 2522)
153. ผู้ฉลาด ย่อมสะสมธรรม ผู้โง่อยู่เท่านั้นที่ยังหลงสะสมโลกียวัตถุ (7 มี.ค. 2522)
154. คำว่า "สงบ" ของพุทธศาสนาที่แท้จริง มิใช่ความโดดเดี่ยวเดียวดายว้าเหว่ หรือ หลบไปมุดหยุดว่างๆ นิ่งๆ กบดานอยู่ แล้วไม่ต้องรู้อะไร ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องสร้างอะไร อย่างไร้คุณ-ไร้ค่า เช่นนั้น ไม่หรอก! แต่คือ ความสร้างสรรจรรโลงที่เจริญงอกงาม ตั้งแต่คนหนึ่งไปจนถึงกลุ่มหมู่มนุษย์ที่ยิ่งขยายโตขยายใหญ่มากขึ้นๆ ไปได้อย่างดี อย่างเรียบร้อยราบรื่น สุขเย็นเบิกบานใจ ไม่เดือดร้อน-ไม่วุ่นวายเลยนั่นต่างหาก จึงจะชื่อว่า ถูกต้องตรงตามพระพุทธพจน์ที่ว่า "พหุชนหิตายะ ปฏิปันโน โหติ พหุชน สุขายะ" (7 มี.ค. 2522)
155. รูปสวย-สีงาม-รสอร่อย… ฯลฯ หรือ สภาพที่สัมผัสชวนให้สุขใดๆ นั้นมัน "หลอก" คนเก่งที่สุด ถ้าไม่ "รู้" ให้ทัน แล้ว "ฆ่า" มันให้ถูก เราก็จะไม่มีหวังได้ "นิพพาน" (5 ก.ค. 2522)
156. เห็นไหมเอ่ย! ว่าอาตมาอยู่ท่ามกลางแสง-สี-กลิ่น-รส ฯลฯ ตกแต่งประดับประดาชูช่อชูเชิดเอิกเกริกออกปานใดๆ แต่นั่นแหละสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น มันไม่ใช่อะไรของอาตมาเลยจริงๆ มันมี "ค่า" จริงๆ แต่เกินกว่าอาตมาจะหลงติดมันแล้วเด็ดขาด (5 ก.ค. 2522)
157. ถ้ารัก "พระ" อย่าเลี้ยงพระให้เป็นหมู ถ้ารัก "ครู" อย่าหลงครูให้เป็นควาย (2 ส.ค. 2522)
158. วิบากกรรม นั้นเป็นของต้องมีต้องเป็น มนุษย์ผู้ฉลาดย่อมไม่หยุดยั้งในการสั่งสมคุณธรรมความดีอีก และอีก-อีก อยู่ทุกลมหายใจ แม้จะล้มก็ต้องลุกขึ้นทุกเมื่อ เพราะการเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ปราชญ์หรือพระอริยเจ้าแท้ย่อมรู้ว่า คือ การเกิดมาเพื่อสั่งสมความดี มิใช่เกิดมาเพื่อทำชั่ว หรือ แม้แค่ท้อถอยในการทำความดีเลย (10 ส.ค. 2522)
159. อริยภูมินั้น เจ้าตัวรู้เห็นเป็นเอง พิสูจน์เถิด! เมื่อคุณได้ คุณมี คุณเห็นขึ้นแล้ว คุณจะไม่สงสัยเลย แม้ใครๆ จะไม่เห็น ไม่ได้อย่างคุณเห็น แถมเขาจะโต้แย้ง ตู่ท้วง เราก็จะเข้าใจเขาอยู่และจะเห็นใจเขาผู้ยังไม่ได้ ไม่ถึงนั้นอีกด้วย (13 ส.ค. 2522)
160. บทปฏิบัติใดที่ "เป็น" ได้แล้วดีแล้ว มีผลเห็นผลและ "เป็น" จนมั่นใจแล้ว ก็จงเพิ่มบทปฏิบัติใหม่ให้ "เป็น"ใหม่ ได้ใหม่ให้ดีอีก มีผลเห็นผลอีก เรื่อยๆ ไปดั่งนี้แล คือ ผู้เดินทางเข้าหานิพพาน (29 ส.ค. 2522)
161. ความมั่นใจแน่ๆ ที่ "ทำได้" หรือ "เป็นได้" อย่างสำเร็จ "ในตัวเอง" โดยไม่ต้องไปเกี่ยวเกาะอะไร ไม่ต้องไปยุ่งไปพึ่งใคร เราก็ "ทำได้สำเร็จ" นั่นแลคือ "ความสำเร็จหรือความบรรลุแท้" และยิ่งถ้า "ทำได้-เป็นได้" โดยมีสิ่งอื่นคนอื่นยุ่งเกี่ยวมากขึ้น แล้วต่างก็พึ่งกันและกันสร้างสรรได้ เจริญขึ้นทั้งเป็นไปด้วยความลงตัวในหมู่ในกลุ่มที่เกาะเกี่ยวนั้นยิ่งขึ้น ก็ยิ่งคือ "ความสำเร็จธรรมหรือ ความบรรลุธรรมแท้ยิ่ง" ที่ยิ่งใหญ่และใหญ่ยิ่งๆ ขึ้นเท่าใดก็เท่านั้นๆ (29 ส.ค. 2522)
162. จง…
จริงใจ สมสภาพ เด็ดเดี่ยว ใช้ปัญญา
ดู ตัดสินความเหมาะสมให้ดีที่สุดด้วยปัญญาอันยิ่งทุกขณะ
จะต้องพยายามเห็นแง่ที่จะก้าวขึ้นไปทำให้เจริญยิ่งกว่าเป็นลำดับอีกให้ได้เสมอๆ
ท แต่จะไม่รีบตะกละทำเกินฐานะอันเหมาะสมในกาละนั้นๆ ก่อนเป็นอันขาด (8 ก.ย. 2522)
163. ผู้ยังเห็นว่า ต้องขวนขวายหาเงินมาเพื่อทำบุญ - สะสมบุญ นั่นคือ "ผู้ยังโลภมาให้แก่ตัว" อยู่ ส่วนผู้เห็นว่าต้องขวนขวายหางานที่จะลด ละ ตัดกิเลสแท้ๆ มาเพื่อให้เป็น-ให้ได้จริงๆ ยิ่งๆ นั่นคือ "ผู้ยังศาสนามาให้แก่โลก" (10 ก.ย. 2522)
164. "เก่ง นั้น ก็ควรเป็น" แต่ "ดี" นั้น ต้องเป็นให้ได้ก่อน แล้วจึงค่อย "เก่งด้วยดี" อย่า "เก่งด้วยไม่ดี" เลย แม้ผู้ใด "ดี" แต่ "ไม่เก่ง" ก็ยังจะได้ "ความเคารพบูชาเทิดทูน" แน่แท้ ส่วนผู้ใด "เก่ง" แต่ "ไม่ดี" ก็จะได้แต่ "การปรบมือ" นั้นแหละที่ดังยิ่งขึ้นๆ หรือไม่ก็จะได้รับ "การติเตียน - เหยียดหยาม" และถูกสาปแช่ง - ถูกปราบราบคาบเป็นที่สุด (22 ก.ย. 2522)
165. "จน" อย่างไท! อย่าจนอย่างทาส "จน" ให้เป็น เช่นพระพุทธบิดาพา "จน" แล้วเราจะไม่มีวัน "จน" อีกเลย ได้แท้ๆ (31 ต.ค. 2522)
166. ผู้ฉลาดแท้ต้องรู้ในความเป็น "ภาระ" อันควรปลงของตนที่มันมีอยู่แล้วในขณะปัจจุบันนั้นๆ 1 แล้วพึงปฏิบัติตัดลด "ภาระ" นั้นๆ ไปเรื่อยๆ เพื่อให้หมดสิ้น และอีก 1 จะไม่ก่อ "ภาระ" ใหม่ขึ้นให้แก่ตนอีกเป็นอันขาด ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่าพ้นทุกข์บริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นผู้สิ้น "ภาระ" ผู้หมดกิจไม่ต้องปลง "ภาระ"ใดๆ อีกแล้วแท้เทียว (19 พ.ย. 2522)
167. ผู้ที่หยุดไม่ได้ คือ ผู้ยังมีความ "วน" ยังไม่แน่ใจนั่นคือ ยังไม่ "วิมุติ" ผู้ที่รู้ให้แน่ใจแล้วตัดสินกันเสียที นั่นคือ ผู้มี "หยุด" และเป็น "วิมุติ" หนึ่งทันที จิตขณะใด เราทำให้บริสุทธิ์จากนิวรณ์ได้สุขุมแน่จริง รู้ด้วยตนอย่างจะแจ้งชัดแท้ และเราก็หยุดคิดหยุดสงสัยลงได้เมื่อใด เมื่อนั้นเราก็คือ ผู้สั่งสม "วิมุติ" ให้แก่ตนอยู่ๆ เชิญลิ้ม "วิมุติรส" นั้นๆ ให้ชัดแท้แน่ใจเถิด แล้วพยายามทำให้ได้กับทุกเหตุปัจจัยที่เราสัมผัส เราจะมี "วิมุติ" มากขึ้นๆ และจะครบถ้วนได้เป็นที่สุดด้วยประการฉะนี้ (19 พ.ย. 2522)
168. "เจริญชีพด้วยการก้าวฯ" . . . ดังนั้น จงตรวจตนให้เห็นจริงให้ได้เถิดว่า เรามี "การก้าว" อยู่จริงหรือไม่ ในวันเวลาที่ล่วงไปๆ ไม่เช่นนั้น เราก็คือ ผู้ไม่ "เจริญชีพ" กันเท่านั้น! (27 ม.ค. 2523)
169. คำว่า "ครู" ก็คือ ผู้ควรเคารพบูชา คือ ผู้มีคุณงามความดีแล้วในตน (จะไม่ใช่ผู้มีเพียง "ความรู้" เท่านั้นเป็นอันขาด) แม้จะยังไม่ได้สอนเราเลย เราก็กราบไหว้ได้ เพราะในตัวท่านมี "คุณงามความดี" แล้ว ท่านเป็นมนุษย์ที่เป็นตัวอย่างได้แล้ว เราจะดูตัวอย่าง จะเอาตามอย่างท่านได้แล้ว ยิ่งถ้าท่านกรุณาบอกสอนเราเข้าอีก เราก็ยิ่งจะต้องกราบบูชาเชิดชูมากขึ้นเป็นทวีคูณ ก็ยิ่งแน่นอน (18 ก.พ. 2523)
170. คนที่เกิดมาทั้งที ไม่ได้ดิบได้ดีทางธรรมบ้างเลย (คือ ไม่ได้ฝึกฝนทางธรรม จนได้ตัดกิเลสกับเขาบ้าง) นั้น พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า "โมฆะบุรุษ" (แปลว่า คนเกิดมาเสียชาติเปล่า) … ถ้ายิ่งเกิดมาแล้ว ยิ่งสร้างแต่กิเลสตัณหาให้ตนหนายิ่งๆ ขึ้นจะเรียก ". . . . . . " อะไรเอ่ย? (19 มี.ค. 2523)
171. สังคมใดมีคนที่ดีใจเพราะ "ได้ให้" มากว่า มีคนที่ดีใจเพราะ "ได้รับ" สังคมนั้นย่อมสุขเย็น และแน่นแฟ้นถาวรยิ่งกว่าสังคมที่มีคนตรงกันข้ามดังกล่าวนั้น (24 มี.ค. 2523)
172. ผู้ถึงศีลถึงธรรมนั้น เขามักจะเห็นว่าเป็นคนแปลก ไม่เหมือนตน ก็ใช่แล้ว! เพราะผู้ถึงศีลถึงธรรม ย่อมสะอาด ส่วนเขาทั้งหลายผู้ยังไม่มีศีล ยังไม่มีธรรมที่ถูกต้องเป็นจริง นั้นย่อมสกปรกอยู่ ผู้สะอาดที่รู้ความจริงอย่างนี้ มีปัญญาแล้ว จึงพึงเบิกบานสบายอยู่ ไม่แปลกใจและไม่หวั่นไหว แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเปรอะเปื้อนตามคำยุ คำแยงของคนสกปรกอีกเลย (23 เม.ย. 2523)
173. รู้ตัวรู้ตนด้วยสติสัมปชัญญะ สมบูรณ์เต็มที่อยู่เสมอๆ แล้วก็ทำงานทำการอันดีงามไปกับหมู่กับฝูง พลางอ่านกิเลส แก้ไขปรับปรุงตนไปพลาง ทั้งทางกาย ทางวจี โดยเฉพาะทางใจให้ได้จริงๆ ก่อนนอนเราควรตรวจสอบทวนดูว่า แต่ละวัน เราได้ปฏิบัติตนโดยได้ลดละกิเลสอยู่ทุกวันๆ จริงๆ มากขึ้นเสมอ เราพบกับความปลอดโปร่ง ลดความยาก และความอยากลงได้เรื่อย สะอาดจิต สงบใจดียิ่งจริงชัดขึ้นแท้ๆ มิใช่เดา แต่ตรวจดูความจริง มีความจริงที่ได้จริงๆ นั่นแลคือ เราได้พัฒนาแก่นสารให้กับชีวิตอย่างถูกทางถูกธรรมแล้ว (8 พ.ค. 2523)
174. ผู้ปฎิบัติ "ศีล" จนขัดเกลาตนถึงจิตได้แท้เป็น "อธิจิต" (สมาธิ) และเราก็รู้เห็นความพัฒนานั้นๆ ของเราเองจริง (มี "ปํญญา") จนได้รู้-ได้เห็นลักษณะแห่งความดับสนิทจากกิเลสนั้นๆ ได้แท้ เห็นแจ้งในสภาพหลุดพ้นจากทุกข์ เพราะกิเลสนั้นในตนชัดๆ (วิมุติญาณทัสสนะ) นั่นคือ ผู้เป็นพุทธบุตรที่มีมรรคมีผล ด้วยสูตร "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" แท้ๆ แล้วจงเพิ่มอธิศีล-เพื่ออธิจิต-สู่ความมีอธิปัญญายิ่งๆ ต่อๆ ไปอีกเถิดเทอญ (8 พ.ค. 2523)
175. ชีวิตนี้ เกิดมาเพื่ออะไร? เกิดมาเพื่อ ตาย….!
ถ้าอย่างนั้นเกิดมาทำไม? เกิดมา ทำงาน……!
ทำงานเพื่ออะไร? เพื่อให้ตายอย่างมีคุณค่าสมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์
ดังนั้นผู้รู้แล้วอย่างนี้ จึงเป็นคนงานแท้ๆ ที่ทำงานด้วยวิจารณญาญอย่างสำคัญ และไม่ประมาทอยู่ทุกวินาที (9 พ.ค. 2523)
176. พระพุทธองค์ตรัสยืนยันไว้ชัดว่า "ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น ปัญญาอยู่ที่ใด ศีลอยู่ที่นั้น ผู้มีศีลก็มีปัญญา ผู้มีปัญญาก็มีศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีลและปัญญาว่า เป็นของเลิศในโลก"
"ปัญญาที่ไม่มีศีล" จึงไม่เป็นที่พึ่งอันประเสริฐของใครใดเลย แม้แค่ตนเอง. . . แล้วคนอื่นจะหวังพึ่ง "คนผู้มีปัญญาที่ไร้ศีล" นี้ได้อะไรแค่ไหนกันเล่า (6 ก.ค. 2523)
177. คำว่า "สงบ" (ปัสสัทธิ, สันติ) ของพุทธธรรม นั้นมิใช่หมายความเอาอย่างเถรตรงพาซื่อว่า คนอยู่เฉยๆ หรือ คนมีกิริยากาย วจี เงียบๆ นิ่งๆ แต่หมายความว่า คนผู้มีจิตอันสงบแล้วจากกิเลส คนผู้มีจิตไม่ดีดดิ้นอยากใคร่พยายาท หรือแม้แต่กระทบสัมผัสกับปัจจัยที่ยั่วยวนเท่าใดๆ ก็ไม่หวั่นไหว ไม่ฟูไม่แง้มออกมาอีกแล้ว นั่นคือ "สงบ" (ปัสสัทธิ,สันติ) และผู้มีความสงบ (ปัสสัทธิ,สันติ) นั้น อาจจะเสียงดังโหวกเหวก แสดงท่าทางกระโดกกระเดก หลุกหลิก ดุ๊กดิกไม่อยู่สุข (เช่น พระสารีบุตร เป็นต้น) ก็เป็นจริง แต่ท่านก็คือ ผู้มีความสงบแล้วจริง ส่วนผู้มีกายกรรมนิ่งๆ มีวจีกรรมเงียบๆ ทว่า จิตนั้นสิ! ยังดีดดิ้นหวั่นไหว ยังไม่เบาไม่บาง ไม่ว่างไม่สงบจากกิเลสลงได้ นั่นคือ ผู้ยังไม่สงบเลยโดยจริงแห่งพุทธธรรม แต่ถ้าสามารถเป็นอยู่หรือแม้แสดงธรรมได้โดยไม่ต้องมีเสียงโหวกเหวก ไม่ต้องหลุกหลิก ดุ๊กดิ๊กเลย แล้วมีประสิทธิภาพมีผลมากมีฤทธิ์ช่วยคนได้มาก ก็ต้องนับว่า เก่งยิ่งมากๆ ด้วย (7 ก.ค. 2523)
178. ผู้ทำตนให้มั่นคง เพราะมั่นใจในธรรม เพราะประสบผลบรรลุถึงความจริงแท้แล้ว ย่อมจะไม่เปลี่ยนแปลงไม่แปรปรวนเป็นอื่น และจะองอาจแกล้วกล้ายืนหยัด ไม่เหลวๆ ไหลๆ ไหวๆ หวั่นๆ เดี๋ยวเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวเปลี่ยนกลับไปเป็นอย่างนี้ ผู้นั้นจึงจะเป็นที่พึ่ง (สรณะ,นาถ) เป็นหลักยึดให้แก่คนอื่นๆ ได้ เพราะท่านมีความมั่นคงจริง จึงจะสร้างความเป็นแก่นแกนขึ้นได้จริง โลกจึงจะมีความสถิตเสถียรถาวรยืนนานที่ควรมี ไว้ช่วยมนุษย์โลกได้แท้ (7 ก.ค. 2523)
179. การตัดสินสัจธรรมขั้นที่สุดนั้น จะไม่ใช่การใช้เหตุผลทางความคิดเป็นอันขาด แต่ความจริงของผลที่ปรากฏแก่เราอย่างถูกต้องตามหลักธรรมวินัย ซึ่ง "มีให้เราเห็นอยู่ รู้อยู่เป็นปัจจุบันนั่นเทียว" นี่ต่างหาก เป็นตัวทำให้เราสว่างแจ้งสงบแจ่มใส สิ้นวิจิกิจฉาอยู่โทนโท่ (8 ก.ค. 2523)
180. ถึงตายเพราะเพ่งเพียรปฏิบัติธรรมที่สัมมาทิฏฐินั้น ยังประเสริฐกว่าอยู่ด้วยกิเลสตัณหาจะประเสริฐอะไร …?! (8 ก.ค. 2523)
181. การมีรูปธรรม-นามธรรมที่ถูกแล้ว ดีแล้วอยู่กับเราเสมอๆ นั้นนั่นแหละคือ ความเป็นผู้ "ทรงธรรม" ที่แท้ และถึงมันจะไม่มีเสียงออกมาเป็นคำเทศนา แต่มันก็แสดงธรรมหรือแจกธรรมเป็นทานอยู่ทีเดียวตลอดเวาลาที่เรามีเราเป็น แม้จะไม่มีผู้คนสัมผัสพานพ้องก็ตาม
การมีรูปอธรรม-นามอธรรมที่ชั่วแล้ว เลวแล้วอยู่กับเราเสมอๆ นั้นนั่นแหละคือ ความเป็นผู้ "ทรงอธรรม" ที่แท้และถึงมันจะไม่มีเสียงออกมาเป็นทำเทศนา แต่มันก็แสดงอธรรมหรือแจกอธรรมเป็นทานอยู่ทีเดียวตลอดเวลาที่เรามีเราเป็น แม้จะไม่มีคนสัมผัสพานพ้องก็ตาม (8 ก.ค. 2523)
182. ความซ้ำซากไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (เซ็ง) แต่แท้จริงเป็นการสร้างความปกติและความถาวรมั่นคงสถิตเสถียรต่างหาก ดังนั้น. . . . . . . . . ผู้ไม่ทำความซ้ำซากในสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่งจึงคือ ผู้จะไม่ถึงความสำเร็จกิจนั้นๆ ได้เลย (10 ก.ค. 2523)
183. ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (สุดเซ็ง) ไม่เช่นนั้นเราจะยิ่งนอน ก็ยิ่งจะเบื่อการนอนเป็นแน่แท้ ซึ่งความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ แต่ "ความมีอารมณ์เบื่อหน่าย" ในสิ่งที่จริงๆ แล้วยิ่งซ้ำซาก ก็ยิ่งทำให้เราได้ดีนั้น มันคือตัว "หน้าโง่" ร้อยเปอร์เซ็นต์ของเราต่างหาก หรือที่แท้ก็คือ กิเลสสดๆ ที่มันกำลังจะมีชัยชนะอย่างกระหยิ่มนั่นเอง (10 ก.ค. 2523)
184. เราสามารถฝ่าฟันคลื่นในมหาสมุทรไปได้ราบรื่นปลอดภัยยิ่งๆ เท่าใดๆ นั่นคือความสำเร็จของผู้ฉลาดยิ่งๆ เท่านั้นๆ แต่ถ้าผู้ใดมัวร่ำร้องไม่ให้มีคลื่นในมหาสมุทรหรือวิ่งหนีคลื่น นั่นคือความเป็นไปไม่ได้ และผู้นั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จเลยในชีวิต อีกทั้งเป็นความโง่แท้ๆ ของผู้คิดผู้ทำนั้นๆ ซ้ำเสียด้วย (10 ก.ค. 2523)
185. ความซ้ำซากไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (แสนเซ็ง) แต่แท้จริงแล้ว ยิ่งซ้ำซากเรายิ่งจะกลายเป็นเคยในกิจนั้น ง่ายในกิจนั้นเป็นที่สุดนั่นต่างหาก รู้เถิดว่า. . . ถ้าเจ้ากิเลสตัวที่ชื่อว่า "ความเบื่อหน่าย" นี้มันเข้ามาเยี่ยมกรายในอารมณ์คุณเมื่อไร เมื่อนั้นแหละคือ คุณกำลังประจัญต่ออุปสรรคตัวเลวร้ายและฤทธิ์มาก แต่เยียบเย็นและแสนแสบที่สุด ที่จะทำให้คุณล้มเหลวในกิจนั้นๆ เอาง่ายๆ กว่าอุปสรรคร้อยแปดอื่นใดทีเดียว! แท้จริง มันคือ มารลวง หรือความหน้าโง่ชั่วแวบของเราร้อยเปอร์เซ็นต์แท้ๆ จริงๆ ซึ่งคุณอย่าเผลอให้มันอยู่กับเราหลายแวบเป็นอันขาด มิฉะนั้นมันจะเกิดเป็นความหน้าโง่ตัวถาวร อยู่กับเราพร้อมกับความล้มเหลวอย่างสมบูรณ์ ถ้าคุณแน่ใจว่า กิจนั้นดีแน่แล้วเป็นกิจที่น่าได้น่ามีน่าเป็นอย่างยิ่งแล้ว อย่าโง่เสียเวลามีอารมณ์เบื่อหน่ายเลย แม้แต่เสี้ยววินาทีเป็นเด็ดขาด (10 ก.ค. 2523)
186. ความซ้ำซากไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลยจริงๆ ไม่เช่นนั้นกลางวันแล้วก็กลางคืนที่ซ้ำซากนี้จะมีอยู่แล้วๆ เล่าๆ ไม่ได้เป็นอันขาด ดังนั้นถ้าคุณแน่ใจว่ากิจนี้ดีแน่แล้ว เป็นกิจที่น่าได้น่ามีน่าเป็นอย่างที่สุดแล้ว คุณจงรู้เถิดว่า อารมณ์เบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นกับคุณเมื่อใด นั่นคือ ความล้มเหลวในกิจนั้นของคุณกำลังโผล่หน้ามาเยี่ยมกรายคุณอย่างถึงหน้าบ้านแล้วทีเดียว หากคุณไม่ไล่เจ้าตัวอารมณ์นี้ออกไปจากหน้าบ้านอย่างเร็วด่วนให้ได้แล้วละก้อ ไม่นานเลยคุณก็จะอยู่กับความล้มเหลว และแต่งงานกับเจ้าความเบื่อหน่ายในกิจนั้นอย่างสุดรักสุดบูชา (11 ก.ค. 2523)
187. ความซ้ำซากไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (บรมเซ็ง) เลยจริงๆ ไม่เช่นนั้นคุณจะต้องเป็นทุกข์และทรมานมากเลยที่คุณจะต้องเดิน-ยืน-นั่ง-นอน หรือต้องกิน ต้องอุจจาระอยู่อย่างซ้ำซากแท้ๆ เหมือนกัน คุณจะหัดซ้ำซากในอะไรก็จะได้ คุณจะเลิกไม่ซ้ำซากในอะไร ก็จะได้เป็นที่สุด ดังนั้นถ้ากิจใดคุณแน่ใจว่า กิจนั้นดีแล้ว แน่แล้ว เป็นกิจที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น อย่างที่สุดแล้ว คุณอย่าให้มี "ความเบื่อหน่าย" เกิดมาแทรกคั่นในกิจนั้นๆ เลยเป็นอันขาด แต่จงมีความร่าเริง "ฉันทะ" กับกิจนั้นๆ เสียเลย "วิริยะ" เพียรเต็มที่
"จิตตะ" คือ เปิดใจ ปล่อยใจ วางใจ ยกหัวใจให้กับกิจนั้นๆ ไปเลยแล้วก็ "วิมังสา" คือ ลงมือฝึกปรือใช้ปัญญาทำกับกิจนั้นให้ดีที่สุด ขึ้นเรื่อยๆ ให้ได้เสมอ ฉะนี้แล คือ ทฤษฎีแห่งความสำเร็จที่จะพ้นทุกข์แท้ และจะสร้างสรรความประเสริฐสุดได้จริง (11 ก.ค. 2523)
188. ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลยจริงๆ แต่ตัว "ความน่าเบื่อหน่าย" นั้นแหละคือตัว "ทุกข์" แท้ๆ และคือตัวที่จะทำให้ผลักเบน จาก "ความดี" หรือ "ความไม่ดี" กันอย่างสำคัญเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าใครใช้ปัญญาวิเคราะห์จนรู้แน่ใจแล้ว ว่านี้คือ "ความไม่ดี" ก็จงตัดขาดหลีกเร้นอย่า "ซ้ำซาก" อยู่ว่านี้คือ "ความดี" ก็จงตัดขาด "ความเบื่อหน่าย" ออกไปให้เด็ดขาดแล้วจงซ้ำซากอยู่เถิด จนกว่าเราจะหมดสิ้นเหตุปัจจัย (11 ก.ค. 2523)
189. ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายเลย แท้จริงนั้น "ความซ้ำซาก" คือความอมตะคือความนิรันดร ข้อสำคัญคือเราจะซ้ำซากกิจนี้อยู่เพราะมันยังชื่อว่า ดี ว่า สมควรแล้วอยู่จริง หรือจะไม่ซ้ำซากกิจนี้ต่อไปแล้ว เพราะมันชื่อว่า ไม่ดี ว่า ไม่สมควรแล้ว โดยใช้ปัญญาอันยิ่งแท้อย่างปราศจากความลำเอียงและหรืออย่างไม่มีความเห็นแก่ตัวเลย ด้วยสัปปุริสธรรม 7 กันจริงเท่านั้น ดังนั้น ผู้ถึงธรรมแล้ว จึงไม่มี "ความเบื่อหน่าย" ในอะไรเลยและจะไม่ติดแม้ในสิ่งส่วนที่ชื่อว่า ดียิ่งยอดใดๆ ด้วย แต่ท่านรู้เป็น-รู้ตาย รู้เกิด-รู้ดับ รู้พัก-รู้เพียร และท่านตัด-ท่านต่อของท่านได้แน่แท้เด็ดขาดถึงที่สุดแล้วจริงๆ (15 ก.ค. 2523)
190. ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (มหาเซ็ง) หรอก ถ้าการซ้ำซากนั้นเป็นไปเพื่อทำให้เกิดความละหน่าย เกิดความเลิก ความพราก ความละคลายแล้วละก็. . . ยิ่งจะต้องซ้ำซากให้ยิ่งๆ เสียด้วยซ้ำต่างหาก เพื่อความหน่าย ความเลิก ฯลฯ นั้นๆ จะได้เต็ม จะได้เป็นจริง จะได้สำเร็จครบ และแล้วที่สุดแห่งที่สุดอีก เรายังจะต้องมาทำใจไม่ให้หน่ายชัง ไม่ให้รังเกียจสิ่งที่เราละหน่าย เราหลุดเลิกมาได้นั้นๆ อย่างอยู่ด้วยกันได้ สัมผัสสัมพันธ์กันอยู่ก็ได้ โดยไม่ทุกข์ ไม่ผลัก - ไม่ดูด ไม่ชอบ - ไม่ชัง เป็นสุดท้ายจริงๆ ด้วยซ้ำไป-เห็นไหม? (16 ก.ค. 2523)
191. ความซ้ำซาก ไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่าย (บรมเซ็ง) หรอก ถ้าความซ้ำซากนั้นคือ การสร้างสรร คือความดี คือความเจริญแท้จริงแล้ว ความซ้ำซากนั้นๆ ยิ่งจะทำให้เราง่าย เราเคย เราสบายในกิจนั้นๆ ต่างหาก และถ้าแม้นเราโมหะหรืออวิชชา ก็จะทำให้ติดให้หลงเอาเสียด้วยซ้ำ จึงต้องรู้ให้แท้ว่าอะไรๆ ในโลกนี้ก็ไม่น่าติดน่าหลงเป็นอันขาด แล้วเราก็ไม่ต้องมีความน่าเบื่อหน่ายใดๆ เลย หรือถ้าจะมีเป็นสิ่งสุดท้ายจริงๆ ก็ ความเป็นผู้เด็ดไม่ขาดในความซ้ำซากนั้นๆ เท่านั้นแหละ คือ "ทุกข์" ที่เหลือ (16 ก.ค. 2523)
192. ความซ้ำซากไม่ใช่ความน่าเบื่อหน่ายหรอก แต่ถ้าความซ้ำซากนั้น ยิ่งทำให้ติด ทำให้หลงเสพย์อยู่ละก้อ จงหยุดซ้ำซากสิ่งนั้นมาก่อน แล้วค่อยตั้งหลักเข้าไปฝึกเคย ฝึกชิน จนซ้ำซากสัมผัสสัมพันธ์กันได้เป็นที่สุดเถิด หากสิ่งนั้นกิจนั้นเป็นกุศล เป็นการสร้างสรรถูกธรรมแท้ๆ แต่ถ้าสิ่งนั้น กิจนั้นเป็นอกุศล เป็นความไม่เจริญ ไม่สร้างสรรอะไร ก็จงหยุดซ้ำซากให้ได้เด็ดขาดเถิด หรือยิ่งติดสิ่งนั้น กิจนั้นอยู่เก่าอยู่เดิมแล้วละก็ ยิ่งจะต้องหัดเลิกหัดห่างการซ้ำซากนั้นๆ มาให้ได้ จนเลิกขาดได้เป็นที่สุดเทอญ แล้วจะใช้ภาษาเรียกว่า "เบื่อหน่ายสิ่งนั้น" ก็ได้ และก็จงเข้าใจเถอะว่า แม้อย่างนั้นจิตเราต้องไม่ชอบ - ไม่ชังในอะไรเป็นที่สุด (16 ก.ค. 2523)
193. ความเด็ดขาดที่ใช้พร้อมกับความฉลาดถูกธรรมแท้จริง คือธรรมาวุธ อาญาสิทธิ์ ที่จะเผด็จทุกสรรพสิ่ง ความเด็ดไม่ขาด ถึงแม้จะใช้พร้อมกับความฉลาดถูกธรรมแท้จริงปานใด ก็คือ กิเลสาวุธ ไม่มีสิทธิ์จะเผด็จอะไรเลย (16 กงค. 2523)
194. กว่าเราจะช่วยตนเองให้มั่นคงเด็ดเดี่ยวในการตัดกิเลสของเราสักเรื่อง มีศีลบริสุทธิ์แท้สักข้อนั้น ก็ทั้งยากทั้งเย็นอยู่แล้ว ยิ่งจะช่วยคนอื่นให้ตัดกิเลสหรือให้มีศีลบริสุทธิ์แท้บ้างนั้น ก็จะต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ต้องอดทนและใจเย็นด้วยความแสนยากแสนเย็นยิ่งกว่านักกว่านักดังนั้น เราจึงจะต้องรู้ความจริงข้อนี้กันให้แน่จริงๆ แล้วจงสุขุมๆ สบายๆ พยายามให้ดีๆ ไปเรื่อยๆ เถิด และนิรันดร (16 ก.ค. 2523)
195. ผู้ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ คือ ผู้ที่เด็ดไม่ขาด ผู้ที่ถึงจุดสุดยอดฉลาด คือผู้ที่ขาดได้แล้วจริงๆ โดยไม่ต้องเด็ด (17 ก.ค. 2523)
196. ผู้สำเร็จเสร็จแล้วจริงๆ นั้น จะทำอีกก็ยิ่งจะมีแต่กำไรยิ่งๆ โดยแท้ ส่วนผู้ที่ยังไม่รู้ดี-รู้ชั่วอะไรเลยนั้น ยิ่งทำก็ยิ่งขาดทุนยิ่งทำก็ยิ่งบาป แม้จะทำแล้วรวยลาภ รวยยศ รวยสรรเสริญ รวยโลกียสุขมากขึ้นอยู่ปานใดก็ตาม ดังนั้นผู้ที่เริ่มฉลาด รู้ความจริงตามที่ว่านั้นแล้วอย่างชัดแจ้ง จะกล้าหยุดเสพย์โลกียสุขเป็นอันดับแรก และจะอาจหาญสู้กับคำตำหนิ (ของคนที่ยังไม่ฉลาดแท้ ยังไม่หยั่งรู้ถึงความจริงแท้จริง) เป็นอันดับต่อมา แล้วจะชาญชัยไม่ทุกข์อนาทรกับยศชั้น และจะสลัดสละลาภก็ถูกธรรมเป็นกำไรแท้ ไม่ใช่กำไรเทียม จะไม่เหมือนอย่างแต่ก่อนที่ยิ่งสละลาภ ก็ยิ่งได้บาป ยิ่งขาดทุนนั้น เป็นแน่ (17 ก.ค. 2523)
197. ผู้บรรลุธรรมที่แท้จริงนั้น คือ ผู้ที่ไม่ทำอะไรตามใจตนเองได้แล้วเด็ดขาด แต่จะทำดีกับสุจริตธรรม จะขยันอยู่กับกุศลธรรมได้อย่างสบาย เพราะมันเป็นสภาพของอารมณ์ที่ "ยิ่งกว่าสุขชนิดเสพสม" ดังนั้น แม้จะเหน็ดเหนื่อยและงานการจะมากมายปานใดๆ ท่านผู้บรรลุธรรมแท้จริงแล้วจะรู้พัก-รู้เพียรอย่างจริงใจ และจัดสรรแบ่งส่วนทำอะไรๆ ไปตามงานนั้นๆ อย่างขยันหมั่นเพียรแสนสบายจริงๆ ผู้ที่เอาแต่ลอยชายไม่ทำอะไรหรือเอาแต่หลับๆ หลบๆ อยู่เฉยๆ ไม่ชอบทำงาน นั้นคือ ผู้ยังมีกิเลสฟุ้งซ่านอยู่หรือไม่ก็ยังมีกิเลสหลงความหลับ เสพย์ติดความสงบอยู่แท้ๆ ยังมิใช่ผู้พ้นกิเลสนิวรณ์อะไร หรือยังมิใช่ผู้บรรลุธรรมแท้ๆ ดอก แม้จะเห็นว่าไม่แสวงหาลาภ-ยศ-สรรเสริญ หรือไม่เสพย์กามให้เห็นโต้งๆ อยู่แล้วแท้ๆ ก็ตาม (17 ก.ค. 2523)
198. ใน "สัจธรรม" นั้นมีความดีกับความชั่ว ใน "นิพพาน" นั้นมีการงานกับความว่างจากกิเลส ว่างจากความเห็นแก่ตัว ดังนั้นผู้บรรลุถึงสัจธรรมแท้ๆ ถึงนิพพานจริงๆ จึงอยู่กับการงานที่เป็นความดีและว่างจากกิเลสเสพย์ติดใดๆ แม้แต่กิเลสหลงเสพย์ความอยู่เฉยๆ หรือเสพย์ความหลับ และไม่คิดแม้แต่ความสงบอย่างเห็นได้อยู่โต้งๆ ชัดๆ ทีเดียว เพราะฉะนั้น ผู้บรรลุธรรมจริงแท้ ผู้มีความสงบสำรวมที่ถูกธรรมจึงมิใช่หมายความอย่างพาซื่อ ตีความเอาง่ายๆ เถรตรงว่าคือ ความเป็นคนอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่ค่อยมีอิริยบถ ไม่มีการงานหรือไม่พูดจาเลยนั้นดอก แต่คือ คนไม่อยู่เฉยๆ เปล่าๆ ปราดเปรียว คล่องแคล่ว สุขุม ประณีต การงานเรียบร้อยผ่องใส พูดจาฉาดฉานกระจ่างแจ้ง เบิกบานอยู่แท้ๆ (17 ก.ค. 2523)
199. คนผู้ไม่ทำอะไรให้ขัดใจใคร แต่พยายามขัดใจตนเอง นั่นคือ ผู้ขัดเกลาตนเอง
คนผู้ทำอะไรขัดใจคนอื่นตะพึด แม้จะได้ขัดใจตนเองมาบ้าง นั้นคือ ผู้ฆ่าตนเอง
คนผู้ทำอะไรแม้จะขัดใจผู้อื่นด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยความปรารถนาดี เพราะได้ขัดใจตนเองมาแล้ว นั้นคือ ผู้ช่วยขัดเกลาคนอื่น
คนผู้ไม่ขัดใจใครเลย และไม่ยอมขัดใจตนเองด้วย นั้นคือ ผู้ฆ่าทั้งผู้อื่นและตนเองให้ฉิบหายทั้งคู่
(20 ก.ค. 2523)
200. คนผู้รวยทรัพย์สินเงินทอง แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้สูงด้วยยศถาบรรดาศักดิ์ แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้มากด้วยสรรเสริญเยินยอ แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้โอ่อ่าไปด้วยโลกียสุขสมบูรณ์พูนล้น แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
จะประเสริฐอะไร. . . . . . . .?
คนที่แม้จะจน ก็ได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนไม่มียศเลย แล้วได้รับการเคารพนับถือบูชา
คนผู้ได้รับแต่คำนินทาเสียด้วยซ้ำ แต่ก็มีคนเคารพนับถือบูชา
คนผู้ไม่ใยดีโลกียสุขเลย ทว่า ได้รับการเคารพนับถือบูชา
นั่นต่างหากประเสริฐกว่า . . . ! (30 ก.ค. 2523)