คาถาธรรม ๑๐

เกิดมาเพื่ออะไร

ความสงสัยของมนุษย์ ที่จะต้องสงสัย ไปนานับกัปกาล ว่าเกิดมา เป็นมนุษย์ เกิดมาทำไม เป้าหมายอันแท้จริง ที่ประเสริฐสุด ที่จะเป็นมนุษย์นั้น ดีอย่างไร มีทิศทางจะสูงสุด ดีสุด อยู่ในโลก หรือ อยู่ในความเป็นมนุษย์ เป็นอย่างไร ทั้งๆที่ พอรู้ว่า ดี คืออย่างไร แต่ความแน่ใจ ความชัดเจน ถึงที่สุดนั้น มีได้ยาก ถ้าไม่ได้พบสัจธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ค้นพบ สัจธรรมสุดยอด และท้าทาย ให้พิสูจน์ว่า ความเกิดมา เป็นมนุษย์ เกิดมาทำไม ? เกิดมาเพื่ออะไร ซึ่งเราก็ได้ ศึกษากัน ได้รู้ว่าการเกิดมา เกิดด้วย อวิชชา เมื่อมีอวิชชาแล้ว จึงจะรู้ว่า เราเกิดมา สุดท้าย เพื่อตาย และ เมื่อมีชีวิตอยู่ ก็ทำงาน หรือ เป็นคนดี กระทำแต่สิ่งที่ดี และจะทราบชัดว่า ดีนั้น คืออะไร ทรงไว้ซึ่งความดี ทรงธรรม ทรงไว้ซึ่งธรรมนั้น อย่างไร แม้รู้ เราก็ต้อง มาฝึกละล้าง ตัวกิเลส อวิชชา โมหะ ของโลก ที่หลอกให้คน เป็นทาส เวียนวน มีวัฏสงสาร แล้วๆ เล่าๆ ต่ำๆ สูงๆ บาปๆ บุญๆ ทุกข์ๆ สุขๆ ซึ่งสุข ก็เป็นสุขหลอก ทุกข์ ก็เป็นทุกข์หยาบ ที่ทรมาน ที่ทำให้สร้างบาป อยู่เรื่อย เมื่อมาทราบชัด ได้ละล้าง ได้ลดบาป ลดทุกข์ จนชนะ จนสามารถ เป็นบุคคล ผู้ง่ายต่อความเป็นอยู่ และ จริงต่อความดี ความประเสริฐ ชีวิตจึงได้ ทราบชัดว่า เพื่อตาย จริงๆ

อรหันต์เจ้า จึงตายแล้วก็สูญ หมดวัฏสงสาร ที่จะมาเวียนว่ายอยู่ ตราบที่ท่านสามารถ ปิดสนิท ดับสนิท ในเชื้อของ การนำสู่ วัฏสงสาร ได้อย่างแท้จริง เมื่อมีความรู้ สุดยอด เราก็มีชีวิต แม้จะยังไม่ตาย ก็เป็นคนดี เป็นคนประเสริฐ เป็นคนมีคุณค่า ทำงานไป จนกว่า จะตาย แล้วก็จะตายเลย

แต่สำหรับผู้ที่ยังรัก ที่จะเกิดอีก เพื่อสร้างสม บุญบารมี ให้เป็น คนประเสริฐ ที่ประเสริฐ สูงสุด ที่มีขั้นตอน ถึงสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ย่อมจะตั้งใจ เพื่อจะเกิดมาทำงาน เพื่อมาเรียนรู้ อุปสรรค มาเรียนรู้ ทุกข์นานา ที่มีอยู่ใน มนุษยชาติ ทั้งหลาย ก็ย่อมทำได้

แต่ผู้ที่ไม่คิด จะเกิดมา เพื่อสร้างสม บุญบารมีอีก ย่อมทำได้ เด็ดขาด แน่นอน ดังนั้น ชีวิต ความเป็นมนุษย์ ถ้าเราไม่ได้พบ พุทธศาสนาแล้ว เราจะไม่ทราบเลย แม้ทราบ ก็ไม่ชัดเจน ไม่มีทิศทาง เป้าหมาย ถ้าแม้ว่า จะเพียงรู้ เพียงเข้าใจว่า โลกุตรธรรม ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น พาคน เป็นไปเช่นใด มีเป้าหมาย แน่ชัดเช่นใด แต่ทว่า ไม่ได้พิสูจน์ด้วยตน เป็นสันทิฏฐิโก ไม่ได้มีผล จนเราเลื่อนขั้น เข้าสู่กระแส ทิศทางโลกุตระ และได้พัฒนา ภูมิตน ขึ้นสู่ความเป็น อริยบุคคล เราก็จะยัง วกเวียน วกวน อยู่นั่นเอง ต่อเมื่อ เราได้ปฏิบัติ ประพฤติตนเอง ปรับปรุง สร้าง ความเกิดที่จิต ให้จิตเกิด สู่อริยภูมิ เข้าสู่กระแส โสดาบัน ชีวิตก็จะเลื่อนไหล เข้ากระแสไป จะเห็นความจริง หรือสัจธรรม แท้ชัดขึ้น แม้กระนั้น ก็ยังประมาทได้ ยังสามารถที่จะหลงใหล อยู่ในภูมิ ในภพต่างๆ เหล่านี้ได้ นานับชาติ อีกเหมือนกัน สำหรับร่างกายนี้ ถ้าไม่ทำให้ อริยภูมิ หรือ จิตวิญญาณนั้น มีอริยชาติ เกิดชาติอริยะในจิต เลื่อนภูมิ ขึ้นสูงจริง และ ขึ้นสู่ภูมิสูง ขั้นอนาคามีภูมิ ก็จะชัดเจน และ จะไม่ชัดช้า เกินกาล ตราบที่เรา ยังไม่เห็น อย่างมี ญาณทัศนวิเศษ ชัดเจน ว่าชีวิตนั้น เกิดมาเพื่อ พหุชนะหิตายะ พหุชนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ อันเป็น ญาณทัศนวิเศษ

ที่ผู้เกิดจริง เป็นจริง จึงจะเห็นแท้ แล้วก็มีชีวิต อยู่ด้วย ทิศทางเดียว เพื่อสั่งสม ความประเสริฐ สั่งสมความดีงาม และ มีชีวิตอยู่ อย่างไม่ทุกข์ร้อน อนาทร อะไรนัก ตราบจน จะเป็นผู้ที่หมดสิ้น ความสงสัย หมดสิ้นอาสวะ จึงจะชัดแท้ เห็นจริง และ นำพาผู้อื่น มาสู่ความประเสริฐนี้ ตามที่ตนได้ ตนมี มนุษย์จึงจะเป็น ผู้ที่มี จิตวิญญาณอันสูง จิตวิญญาณ อันประเสริฐ สมฉายา คำว่า "มนุษย์" หรือ "อารยชน" "อริยบุคคล" แท้ๆ ได้จริง

๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘


อารยชนที่แท้

พระโยคาวจร หรือ ผู้ที่พากเพียร ปฏิบัติธรรมจริงนั้น จะต้องมีทั้ง ความเพียร วิริยะ ที่จะทำตน ให้เป็น ผู้ระลึกรู้ตัว ทั่วพร้อม แล้วก็รู้ อิริยาบถ รู้กรรม รู้กิริยา รู้อารมณ์ ซึ่งเป็นตัวสำคัญ แล้วก็ปรับอารมณ์ ปรับอารมณ์ ที่เสพย์โลกีย์ หรือ ปรับอารมณ์ ที่มันจะใฝ่ไปหา ทางที่เรา รู้แล้วว่า โลก คืออะไร โลกีย์ คืออะไร ลด ละ ลงมา พร้อมกระนั้น เราก็จะต้องรู้ สมมติสัจจะ ที่เป็นของอาศัย ไม่ว่า กายกรรม วจีกรรม กายใด ยังไม่พอเหมาะ กายกรรมใด เกินไปก็ดี น้อยไปก็ตาม เราก็จะต้อง ปรับมาให้อยู่ ระหว่าง ที่กำลังดี เหมาะสม พอเหมาะสม ที่อยู่ในสภาพ หยุดก็หยุด สร้างก็สร้าง ตามที่เราต้องการ ผู้ที่ปรับได้ ทั้งอารมณ์ ควบคุมได้ ทั้งกรรมกิริยา ผู้นั้นก็เป็น ผู้เป็นอยู่สุข และ เป็นผู้มี สุจริตกรรม มีบุญ มีคุณประโยชน์ เป็นมนุษย์ที่มี จิตอริยะ หรือ เป็นอารยชนที่แท้

๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘


สุขจากความสงบ

ผู้จะมีสุข มีทุกข์นั้น ก็เพราะ ต้องรู้แจ้งชัดว่า ทุกข์ เป็นอย่างไร สุข เป็นอย่างไร และ ผู้ที่จะรู้ว่า สุขที่ไม่รู้จบ ว่าจะต้องทุกข์ อยู่เสมอ เป็นอย่างไร จึงจะสามารถ ดับเหตุแห่งทุกข์ หรือสุข อันไม่รู้จบสิ้น ที่จะต้องวนเวียน ไปหาทุกข์นั้นได้ ผู้ที่ดับเหตุ ที่ก่อให้เกิดสุข อันเป็นทุกข์ ตามอยู่เสมอ จึงจะพบ ความสุขที่สงบ สุขที่ไม่ต้อง วนเวียนได้จริง และ ผู้ที่พอใจ ในสุข ที่สงบ ที่ระงับ อันไม่ต้องอิง สิ่งเสพย์ ไม่ต้องมีเครื่องล่อ ผู้ที่เห็นได้ เพราะผู้นั้นทำได้ ผู้จะพอใจ ก็เพราะผู้นั้น ได้เปรียบเทียบ ชัดแล้วว่า กามสุข หรือ อามิสสุขนั้น ย่อมประณีต ละเอียด สู้ วูปสโมสุข หรือ สุขอันระงับ สงบพิเศษ นั้นไม่ได้

ผู้ที่ยินดีในความสงบ และยินดี ในความสุขอันสงบ ดังนี้แล คือ ผู้ที่ไม่มีทุกข์อีก เป็นผู้ที่ เบิกบาน แจ่มใส ได้ตลอดชาติ

๕ พฤษภาคม ๒๕๒๘


อา - ติ

อา - ติ คือ อาณาปาณสติ ผู้ที่ยังมีลมหายใจ เข้าออก ที่เป็น ผู้ปฏิบัติธรรม จะต้องระลึก รู้สึกตัวเสมอว่า เราจะต้องมีสติ เมื่อมีสติ แล้วเรา ก็จะต้อง ระลึกรู้ทั่วไป ตั้งแต่ อิริยาบถ กรรม กิริยา สัมผัส ตราบจนกระทั่ง ถึงมโนปวิจาร คือ จิตที่เกิดเวทนา เป็นสุข หรือ เป็นทุกข์ ก็ตาม และ ได้วิจัย ทราบสภาพของ ความจริงแห่งกิเลส และกรรมที่ เป็นกุศล แล้วก็พยายาม ปรับกรรมนั้นๆ ละอกุศล สงัดจากกรรม ทั้งปวง จะเป็นผู้รู้ เห็นจริงในจิต จะเป็นผู้รู้จริง เห็นจริงในธรรม เข้าใจระดับจิต เข้าใจอาการของจิต กับกิเลส รู้ว่ามีกิเลส หรือว่า ลดจากกิเลส หรือว่า หมดจากกิเลส ในเหตุปัจจัยใดๆ ก็ตาม ยิ่งฝึก ยิ่งรู้

ธรรมะอันคือ กิเลสก็ดี ธรรมะอันคือ ความจริงของขันธ์ ก็ดี ธรรมะอันคือ สภาพอายตนะ ซึ่งจะต้องมีอาศัยก็ดี และ ธรรมะอันคือ ทฤษฎี ที่จะต้องปฏิบัติ ไปสู่ธงชัย คือ เป้าหมาย อริยสัจ ๔ ก็ดี ผู้ปฏิบัติธรรมนั้น จะรู้จริง เห็นจริง ได้หรือไม่ได้ ก็จะต้องเป็นผู้รู้ ในสิ่งนั้นๆ เราจึงจะเป็น ผู้ได้ หยั่งถึงสัจธรรม

๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘


พึงเป็นผู้ละกิเลส

เมื่อเราได้ศึกษา จากพระบรมศาสดา ได้พิสูจน์ จนกระทั่ง เข้าใจเป็น สัมมาทิฏฐิ ว่าชีวิต ของมนุษย์นั้น เกิดมาอาศัย ปัจจัยสี่ มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นที่ตั้ง เราจะอบรม ให้ตนเอง มีพฤติกรรม มีการกระทำ มีการงาน อันเป็นกุศล

กุศลกรรม หรือ กุศลธรรม คืออะไร เราก็ได้ทราบทั้งสิ้น จากพระบรมศาสดา ได้ทรงกำหนดไว้ เพราะฉะนั้น มนุษย์ ที่ประเสริฐ ก็คือ ผู้ที่มีกรรมกิริยา มีพฤติกรรม อยู่ในชีวิต ที่เป็นกุศล อันถึงพร้อม บาปทั้งปวงไม่ทำ ทำแต่บุญ ทำแต่กุศล ทำแต่สิ่งดี สิ่งประเสริฐ และ เป็นผู้เสียสละ ความเสียสละ เป็นความประเสริฐ อย่างยิ่ง ความเห็นแก่ตัว ความโลภ เห็นแก่ได้ เห็นแก่เอาเปรียบ เป็นความเลว อย่างยิ่ง เราละเว้น ความเลว ละเว้นความชั่ว และ เราก็พึงมี พฤติกรรม พึงเป็น ผู้กระทำตน ให้เป็น ผู้มีความดี ความประเสริฐ ไม่ว่าจะเป็น ความขยัน ก็เป็นความประเสริฐ ไม่ว่าจะเป็น ความอดทน ก็เป็นความประเสริฐ ความเป็น ผู้ขวนขวาย ความเป็น ผู้อ่อนน้อม ความเป็น ผู้กตัญญู กตเวที ดังนี้ เป็นต้น ล้วนเป็น ความประเสริฐ ผู้เป็นคน ที่ได้ศึกษา และ ได้พิสูจน์ธรรมะว่า กิเลสเท่านั้น ที่เป็นตัวเหตุ ให้เราเป็นทุกข์ และ ให้เราหวงแหน เห็นแก่ตัว ให้เราเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนอ่อนแอ ไม่อดทน เป็นคนไม่เสียสละ เป็นคนไม่กตัญญู เป็นคนไม่ดี นานาประการ เมื่อละกิเลส เสียแล้ว เราก็จะเป็นผู้ทั้ง สุขสบาย ทั้งเป็นคนแข็งแรง อดทน ขยัน สร้างสรร เป็นผู้ให้แก่โลก ได้อย่างเบิกบาน ร่าเริง ตลอดตราบตาย

๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘


ผู้ปฏิบัติอยู่ในทางเอก

ผู้เดินอยู่ในมรรค เรียกว่า เดินอยู่ในทาง เอกายนมรรค ผู้มีเอกายนมรรค หมายความว่า ผู้ปฏิบัติ อยู่ในทางเอก หรือ ผู้เดินอยู่ใน เอเสวมรรค แปลว่า ผู้เดินอยู่ในทาง อันเอกนั้น เป็นผู้ที่ได้ปฏิบัติอยู่ เป็นผู้ที่ กำลังเดินจริงๆ

ผู้ใด ไม่ได้ปฏิบัติอยู่ใน เอกายนมรรค หรือ เอเสวมรรค คือ ไม่มีสติปัฏฐาน ไม่ได้มี การรู้ตัวให้จริง แล้วก็พิจารณา มีธัมมวิจัย หรือมี สัมมัปปธาน มีวิริยะ หรือมี อิทธิบาท ควบคุม สังวร เอาใจใส่ ในการประพฤติ ของตน ด้วยการตรวจตรา วิจัยธรรม พยายามสังวร ระวัง ประหาร ในสิ่งที่ ควรประหาร เลิกในสิ่งที่ ควรเลิก ละในสิ่งที่ควรละ และ ทำให้ดีให้ยิ่ง ในสิ่งที่ ควรกระทำให้ยิ่ง แล้วเราก็จะได้เห็น ความจริง ว่าการเจริญ หรือ การได้เดิน สู่ที่เจริญยิ่งๆ ขึ้นๆนั้น "มีจริง" เพราะเรา ได้พิจารณา ปละปล่อย สิ่งที่ควรปละปล่อย หรือ กระทำให้ยิ่ง ในสิ่งที่ ควรกระทำให้ยิ่ง อยู่จริง ความสงบ ระงับจากโลกียะ จากกิเลส ตัณหา อุปาทาน จะเกิดขึ้น ให้เรารู้ ให้เราเห็นว่า เราดีขึ้น เจริญขึ้น

นับวัน เรายิ่งจะรู้ว่า ความโลภ เป็นอาการอย่างไร มันลดลงจากเรา ความโกรธ มันเป็น อาการอย่างไร และ มันก็ลดลงจากเรา ความหลงผิด เมื่อก่อนนี้ เราหลงชื่นชม ยินดี ในโลกีย์ ในโลกธรรม เราก็จะได้รู้ว่า เราหยุดหลง แต่ก่อน เราเข้าใจผิด ไปติด ไปยึด ไปเสพย์ เมื่อปฏิบัติ ไปแล้ว เราก็จะเห็นว่า เราได้ละ ได้ลด ได้เข้าใจถูก หันมาในทิศทาง ประเสริฐ อันแท้จริงได้ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นข้อที่พิสูจน์ สำหรับผู้ปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ได้จริง มีจริง เป็นจริง แล้วเราก็ยินดี ที่จะเป็น ผู้ปลดปล่อย จากความเป็นทาส โลกธรรม ลดตัณหา ความอยากในกาม ความอยากในภพ ลดอุปาทาน คือ อารมณ์ที่มันสุข อารมณ์ที่มันทุกข์ อารมณ์ที่ เราชอบใจ อารมณ์ที่ เราไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นอุปาทาน อยู่ทั้งสิ้น มีธาตุรู้ คือ จิตวิญญาณ เข้าสู่ฐานอุเบกขา กลางๆ วางเฉย ได้บ่อยขึ้น มากขึ้น แม้ได้รับกระทบ สัมผัส จะต้องเกิด อารมณ์ชอบ อารมณ์ชัง หรือ อารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อันเป็น อุปาทาน ที่เคยติด เคยยึดมานาน ก็จะจาง คลาย ลดอุปาทาน ในขันธ์ของเรา ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รับเป็นรูป ต่อทอดไปหา เวทนา สัญญา สังขาร และ วิญญาณ ก็กลายตัว เป็นตัวปรุง เราก็จะรู้ว่า อุปาทาน ลดไปจากขันธ์ ๕ มีขันธ์ ๕ บริสุทธิ์ขึ้น อย่างแท้จริง

การปฏิบัติธรรมเหล่านี้ เราจะต้องรู้ ด้วยตนเอง กระทำเอง ได้ผลเอง และ เราจะรู้ สัจธรรม เข้าสู่ความละ ลด ปลดปล่อย และ เป็นคนประเสริฐ ที่มีความเสียสละ มีคุณค่าจริงนั้น เป็นคนที่มีค่า อยู่ในโลก ในสังคมได้จริง เป็นจริง เป็นฉันใด ผู้นั้น จะต้องเกิดความจริง ให้แก่ตน และ รู้เอง เป็นเอง ก็เป็น ฉันนั้นๆ

๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๘


กล้าเสียสละ

มนุษย์ปุถุชนนั้น เป็นอยู่ด้วยความเมา เรียกว่า "มทะ" ย่อมเป็นทาส ของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อยู่เป็นธรรมดา ย่อมมีความเห็น ที่เข้าใจว่า ชีวิตนั้น จะต้องได้ลาภ มามากๆ เป็นความสำเร็จ ของชีวิต ได้ยศมาสูงๆ เป็นความประเสริฐ ของชีวิต ได้สรรเสริญ เยินยอ มามากๆ เป็นความสำเร็จ ของชีวิต ได้เสพโลกียสุข ตลอดเวลา นั่นเป็นความสำเร็จของชีวิต

ส่วนมนุษย์อริยะ ซึ่งได้ศึกษา ธรรมะของ พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วอย่างดี เป็นสัมมาทิฏฐิ ย่อมเห็นกลับกัน ทวนกระแสกัน ว่าชีวิตมนุษย์นั้น ไม่ใช่เอาค่าของ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข เป็นเครื่องวัด ผลสำเร็จ ของชีวิตเลย ดังสมเด็จ พระบรมศาสดา ได้ยืนยัน ยืนหยัดมาแต่ต้น

เพราะพระองค์มีลาภ ทรัพย์ ศฤงคารมากมาย แต่ พระพุทธองค์ ก็สามารถทิ้ง ไม่ได้ไยดี ไม่ได้ใช้ลาภนั้น เป็นเครื่องวัดว่า ชีวิตประเสริฐ ชีวิตที่ประสพ ผลสำเร็จนั้น จะต้องมีลาภ เป็นเครื่องวัด พระองค์มี อิสริยยศ ถึงระดับ รัชทายาท จะเป็น ผู้ครองแผ่นดิน แต่พระองค์ ก็ไม่ได้ไยดีกับ อิสริยยศนั้น เป็นผู้นอนโคนไม้ โคนดิน เป็นผู้ดำเนินไป ด้วยพระบาทเปล่า เป็นผู้นุ่งห่ม ด้วยผ้าบังสุกุล เป็นผู้มีอาหาร ได้ด้วยบิณฑบาต ตามมีตามได้ สิ่งเหล่านี้ เป็นเครื่องยืนยัน ให้พระสาวก ท้าทาย ให้มนุษย์ ผู้มีปัญญา ได้มาพิสูจน์ จึงได้พบความจริง ตาม ผู้มีสัมมาทิฏฐิ มีความเพียร ในการปฏิบัติ ตามทาง คือ มรรคองค์แปด ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า อย่างแท้จริง จึงประสพผล ละ ลด ปลด ปล่อย ความหลงผิด ความติดยึด ความเสพ ที่เป็นทาส ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ทราบชัดว่า ความดี ความประเสริฐ ของมนุษย์นั้น ไม่ต้องเอาลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มาวัด

ความดีของมนุษย์ ที่คน จะกราบไหว้ บูชาได้นั้น อยู่ที่ความกล้า เสียสละลาภ แม้มียศ ก็ไม่ได้หลงยศ ไม่ได้เบ่งด้วยยศ ไม่ได้ไขว่คว้ายศ เพราะยศเป็นเพียง กำหนด ตำแหน่ง ให้เราทำงาน มากยิ่งขึ้น เมื่อเรามียศสูงขึ้น ก็เท่านั้น ถ้าผู้ใด ได้ปฏิบัติจน สติสัมปชัญญะ ปัญญา มีกำลังของจิต อย่างแข็งแรงแล้ว จะพ้นความเป็นทาส โลกธรรม ๘ จะเป็น ผู้แข็งแรง เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ขยัน เสียสละ อดทน มีน้ำใจ เป็นผู้กตัญญู กตเวที ต่อมวลมนุษยชาติ สิ่งเหล่านี้ เป็นคุณธรรม ที่วัดค่าของมนุษย์ ได้ยิ่งกว่า และ เป็นจริง ยิ่งกว่า น่าบูชายิ่งกว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ทั้งปวง แล

๑๑ พฤษภาคม ๒๕๒๘


เอาภาระเสมอเถิด

หนึ่ง คนพูด ก็ไม่ค่อยจะทำ ไม่ค่อยจะเก่ง ทำก็ไม่ค่อยทำ ก็ไม่เก่ง เลวที่สุด
สอง คนพูด ก็เก่ง แต่ทำไม่เก่งดังพูด ก็ดีอยู่หน่อย หรือ แค่ไม่เลวที่สุด
สาม คนพูดไม่เก่ง แต่ทำเก่งกว่าพูด ดีกว่าสองชนิดก่อน
สี่ คนพูดก็เก่ง และ ทำก็เก่ง ดีที่สุด

สังเกตดีดีเถิด สังคมทุกวันนี้ เราอยู่ในอย่างที่หนึ่ง และ อย่างที่สอง เท่านั้น คือ พูดเก่ง แต่ทำไม่เก่ง คือ พูดก็ไม่เก่ง ทำก็ไม่เก่ง สังคมจึงพากัน เดือดร้อน วุ่นวาย เต็มไปด้วย ปัญหาอยู่ ฉะนี้ ๆ อย่ามัวแต่คิดว่า คนอื่น เขาจะทำเองแหละ แล้วเราก็ ไม่ขวนขวาย ไม่เอาภาระ ปละปล่อย ดูดาย แต่จงคิดว่า คงจะไม่มีคนทำ หรือ มีก็คงจะไม่พอ ไว้ก่อน แล้วเราก็ ขวนขวาย เอาภาระ เสมอๆ เถิด

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๘


ผู้ประเสริฐ

มนุษย์ผู้รู้จุดสำคัญ ของความเป็นมนุษย์ ที่ประเสริฐ ย่อมพากเพียร เพื่อความประเสริฐ ของตนๆ หลักง่ายๆ ที่จะทำให้คน ประเสริฐแท้ นั้นคือ เป็นผู้มี ความอดทน เป็นผู้มี ความขยัน เป็นผู้ใช้ปัญญา เป็นผู้มีน้ำใจ เป็นผู้เสียสละ เป็นผู้กตัญญู กตเวที เมื่อรู้ ก็ต้องใช้ ปัญญาตรอง ตามเวลา ทุกเวลาให้ได้ ที่เรามีชีวิต มีความเป็นอยู่ มีการกระทำ พฤติกรรม จะต้องให้ตรง ตามที่เรารู้ จุดสำคัญนั้นๆ ว่าเราเอง ได้พากเพียร ฝึกหัด อบรมตน ให้เป็นคนมี ความอดทนอยู่ ให้เป็นคน มีความขยัน หมั่นเพียรอยู่ ให้เป็นคน มีปัญญา อย่างชัดแท้ ให้เป็นคน มีน้ำใจ ให้เป็นคน เสียสละ และ เป็นคนมี กตัญญู กตเวที ไม่ผิดเพี้ยน หรือ มีมาก มีจริง มีประจำตน ประจำตน จนชีวิตของเรา มีลักษณะ ทั้งหลายแหล่ นั่นแหละ ชื่อว่า ผู้ประเสริฐ

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘


สันติภาพ

มนุษย์ที่มีบุญ คือ มนุษย์ผู้ที่ได้ชำระ กิเลสตนเอง ได้ละ ลด ปลดปล่อย ตนเอง แล้วผู้นั้น ก็มีจิตใจ อยู่เป็นสุข ชนิด วูปสโมสุข หรือ อุปสโมสุข ซึ่งเป็นสุข ที่ไม่ต้องเดือดเนื้อ ร้อนใจ ไม่ต้องดิ้นรน ทุรนทุราย เป็นสุข อันสงบพิเศษ พร้อมกระนั้น ตัวเองก็เป็น คนมีคุณค่า มีประโยชน์ เพราะเป็นคน ได้ขยัน สร้างสรร และมีชีวิต อยู่อย่าง เบิกบาน ร่าเริง พร้อมกับ มวลมิตรดี สหายดี สังคม สิ่งแวดล้อมดี ซึ่งมีศีลสามัญตา มีทิฏฐิสามัญตา อยู่กันอย่าง ภราดรภาพ

มนุษย์ผู้มีบุญ ผู้พบกลุ่มหมู่ ที่เป็นมิตรดี สหายดี เป็นสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี ดังกล่าวนี้ ก็เพราะ มีความเห็น ที่เป็นเช่นเดียวกัน เสมอสมานกัน และได้ปฏิบัติตน ชำระ จิตใจ ที่มีกิเลส ตัณหาออกไป ด้วยทฤษฎี เดียวกัน มีผลเหมือนๆกัน แม้จะไม่เท่าเทียมกัน ทีเดียว แต่มีทิศทาง เดียวกัน จึงเป็นมนุษย์ ที่เป็นสังคม สัตว์โขลง หรือ เป็นมนุษย์ ที่อยู่ร่วม รวมกัน อย่างเป็นสุข ที่เป็น วูปสโมสุข อุปสโมสุข ที่ชื่อว่า "สันติภาพ"

๑๙ พฤษภาคม ๒๕๒๘


 

เราทั้งผองพี่น้องกัน

เราทั้งผอง พี่น้องกัน มาเถิด เพื่อนผู้เกิด แก่ เจ็บ ตายทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้ที่ ยังไม่ทราบ ยังไม่รู้ ยังไม่เห็นจริง ว่าชีวิตนั้น เกิดมาเพื่ออะไร เมื่อได้มาอยู่ ใต้ร่มพุทธศาสนา อันมี พระบรมศาสดา ผู้ตรัสรู้ ทราบความจริงแท้ ว่าชีวิตนั้น เกิดมาเพื่อ เป็นผู้สร้างสรร เป็นผู้ให้ เป็นผู้เสียสละ ชีวิต ไม่ใช่เกิดมา เป็นนักล่า ซึ่งจะล่า ทั้งลาภ ทั้งยศ สรรเสริญ โลกียสุข แสนเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า แต่แล้วก็อยู่ อย่างทุกข์ร้อน ด้วยความโลภ ต้องการมาให้ได้ แก่ตัวให้มาก ด้วยความโกรธแค้น ที่ต้องแย่งชิง ไม่ได้สมใจ ไม่ได้มาเสพสมสุข ชีวิตเป็น หมาหอบแดด หรือ ชีวิตเป็นหนี้ ชีวิตเป็นทาส สภาพเหล่านั้น พระบรมศาสดา ผู้เป็น ปราชญ์เอกของโลก ได้ตรัสรู้แล้ว ได้ละทิ้งชีวิต เช่นนั้นแล้ว มาเป็นชีวิต ที่มีคุณค่า มีประโยชน์ เป็นชีวิตที่ ไม่ต้องเดือดร้อน แม้จะขยัน หมั่นเพียร จะสร้างสรร อุตสาหะ ก็ล้วนเป็นคุณค่า ประโยชน์แก่โลก แก่มนุษยชาติ ทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นหนี้เลย มีแต่กำไร มีแต่ประโยชน์ เกื้อกูล เพื่อมวลมนุษยชาติ ทั้งสิ้น เมื่อคนมีจิต เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ เมตตา เกื้อกูลไปทั่วโลก ผู้นั้นย่อมมีญาติมาก ย่อมมีพี่น้อง ทั่วไปทั้งหมด ดังนั้น ผู้ที่มีกรรม มีการกระทำ ทั้งกาย วาจา ใจ มีเมตตากายกรรม มีเมตตาวจีกรรม มีเมตตามโนกรรม มีลาภ ก็เผื่อแผ่ แบ่งลาภ แก่กันและกัน ไปทั่วถ้วน ผู้มีศีล อันเสมอสมานกัน มีความเห็น ความเข้าใจ อันเสมอสมานกัน บุคคลผู้เช่นนั้น จึงอยู่อย่าง ภราดรภาพ อิสรเสรีภาพ และ มีสมรรถภาพ อยู่กันอย่าง สันติภาพร่วมกัน คนเช่นนั้น จึงกล่าวได้ว่า เราทั้งผองพี่น้องกัน

๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๘


 

เราจะสำเร็จได้ ด้วยความเพียร

คนเราเกิดมา ล้วนใฝ่ดี มุ่งมาด ปรารถนาดี ซึ่งโดยสามัญ เราก็จะรู้ว่า ความดี คืออะไร ผู้ที่ใฝ่ดี ก็พากเพียร อุตสาหวิริยะ เพื่อความดีนั้นๆ เท่าที่จะมี ความเพียร ของแต่ละบุคคล บางคนก็มี ความเพียรน้อย รู้ว่าสิ่งที่ดีนั้น เป็นเช่นนั้นๆ แต่ก็พ่ายแพ้ความชั่ว พ่ายแพ้ สิ่งที่ดึงดูด ด้วยอำนาจกิเลสจัด ผู้ชนะกิเลส ชนะฤทธิ์แรง ของความชั่วได้ จึงเป็นผู้ที่เจริญ ได้สูงขึ้นไปกว่านั้น ผู้ที่รู้ความดี ที่ชัดแจ้งยิ่งกว่า ถูกต้อง ตรงสัจธรรม ยิ่งกว่า ในชั้นของโลกียะ ผู้มีดวงตา ที่เห็นเช่นนั้น เมื่อมีความเพียร ที่กล้าหาญ อุตสาหวิริยะ ที่เพียงพอ ก็สามารถ จะนำตนเข้าสู่ ความดีเช่นนั้นๆ ได้ยิ่งๆขึ้น แม้กระนั้นก็ตาม ในหมู่ผู้ที่ มีดวงตา มีความเพียร ก็ยังมีชั้น มีระดับ ที่เราจะสามารถไต่ สู่ความดี นั้นได้ เป็นขั้น เป็นตอน ไม่ง่ายเลย ที่เราจะขึ้นสู่ ความดี เป็นผู้ประเสริฐ สูงสุด เท่าที่พระบรมศาสดา ได้กำหนดไว้ โดยการประพฤติ เพียร เพื่อละล้างกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่ง ความชั่วทั้งหลาย ออกให้ได้ สิ้นเกลี้ยง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ก็คำสอนของ พระบรมศาสดานั้นเอง ที่ได้ตรัส ระบุ เป็นคำชัด ไว้ว่า

เ ร า จ ะ ส ำ เ ร็ จ ไ ด้ ด้ ว ย ค ว า ม เ พี ย ร

๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๘


 

อย่าให้ความรู้ ฆ่าตัวเราเอง

จงเรียนรู้ เพื่อเป็นความรู้ และ จะได้ใช้ ความรู้นั้น เพื่อสร้างความจริง จงอย่าหลงผิด ให้ความรู้ มันมาทอน หรือ ทำให้เรา ไม่มีกำลังใจ สร้างความจริง

ความรู้ ทำให้คนล้มเหลว
ความรู้ ทำให้คน ไม่ประสบ ผลสำเร็จ
ความรู้ ทำให้คนเป็นทุกข์
ความรู้ ทำให้สังคมล้มเหลว มาแล้ว นักกว่านัก

เพราะฉะนั้น เราต้องเรียนรู้ เพื่อที่จะให้ ความรู้ ช่วยสร้าง ความจริงเท่านั้น อย่าลืมตน ดูตน ตัวเองไม่ใช่ความรู้ ตนมีความจริง เท่าตนมีความจริง ตรวจความจริง ฐานะ และ ความเป็นผู้เป็นได้ เท่าที่ตนเป็น อย่าให้ความรู้ มาชวนให้ตน เสียเวลา จนเราไปเพลิด ไปกับความรู้ แล้วความรู้ เหล่านั้น ฉุดเราลงตกต่ำ และล้มเหลว เป็นที่สุด

น่าเสียดายมาก ถ้าเราเรียนรู้ เพื่อให้ความรู้ ฆ่าตัวเราเอง

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๘


 

ปล่อยวาง...ว่างเบา

ได้ปฏิบัติด้วยการควบคุม กายก็ดี วาจาก็ดี ให้เป็นสิ่งดี กำลังใจ ก็ดีขึ้น แข็งแรงขึ้น แต่กระนั้นก็ตาม เราก็ต้องรู้จัก เรียนรู้ ตามเข้าไป ถึงจิต ซึ่งเป็นตัวสำคัญ ที่จะมาก่อน กายกรรม มาก่อนวจีกรรม และ จะต้องวิจัย ที่ในจิต ของเราออก ว่าตัวที่กำหนด สั่งการ ให้เรากระทำ อันใดออกมา หรือ ที่จริงนั้น ตัวที่จิตต้องการ ยึดถือ หรือ ผลักไส อยู่ที่จิตเองนั้น เป็นตัวหลัก ตัวแท้ การจะปลดปล่อย ไม่ให้จิต เป็นเช่นนั้น เป็นเช่นนี้ เป็นเรื่องยาก

นักปฏิบัติธรรม จะต้องเอาจริง ต้องปลดจริง ปล่อยจริง หยุด หรือ ปล่อยวาง ก็ต้องปล่อย จริงๆ ถือ คือ อาศัยให้พอเป็นไป ก็ต้องถือ ต้องอาศัยจริง แต่การถือ การอาศัยนั้น เราได้อาศัย หรือ ถือมาจนยึดมั่น ถือมั่นมาเก่งแล้ว เพราะฉะนั้น เรื่องยึด เรื่องถือนั้น จึงเป็น เรื่องง่ายกว่า

ส่วนการปล่อย การวาง การหยุดให้สนิท ให้จิต ไม่มีการเอา การถือ ไม่ฉวยเอา ไม่ยึดถือ ให้ได้ ออกไปจากจิต จริงนั้น เป็นการยากกว่า ผู้ทำได้สำเร็จ จะรู้สึกเองว่า เบา ว่าง พ้นทุกข์ คนเราไม่กล้า ที่จะปล่อยวาง ก็เพราะมันติด และ มันเชื่อมั่นว่า ถ้าเราปล่อย เราไม่ได้ฉวยเอาไว้ เราไม่ได้ ยึดถือไว้ เราจะอยู่อย่างไร หรือ เราจะไม่เป็น สิ่งที่ดี เพราะฉะนั้น ขั้นสูงขึ้นมา เราก็ยึดถือดี จนเกินการ จนไม่กล้าปล่อยดี ที่เรานึกว่า นั่นดี สิ่งนั้น จึงเป็นตัว ทำให้เรา "ทุกข์" อยู่ในกาละ องค์ประกอบ บางกาละ ได้จริงๆ คนที่ไม่พ้นทุกข์ ในการไม่กล้าปล่อยวาง อะไรเลย เป็นที่สุดได้ นั่นคือ ผู้ไม่สามารถ ถึงที่สุด ได้อย่างแท้จริง

จงหัดปล่อย หัดวางเถิด อะไร ๆ ก็จะต้องปล่อย ต้องวาง และ จะต้องพราก จากกัน แม้สิ่งนั้น จะเป็นสิ่งที่ ยิ่งใหญ่ที่สุด ของชีวิตแห่งชีวิต สิ่งนั้นก็ต้อง พรากจากกัน เป็นที่สุด ไม่มีอะไร เป็นของเรา ตัวเราเลยจริงๆ

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๒๘


 

จิตสมาธิ

แน่นอน ใจที่มั่นคง ใจที่เป็นหนึ่ง เป็นจิตใจที่ เป็นสุข สงบ และ เป็นจิตใจ ที่มีพลัง พร้อมทั้ง เป็นจิตใจ ที่สะอาด แจ่มใส มีความเห็น แจ้งชัด สว่างไสว เพราะฉะนั้น บุคคลฉลาด พึงรักษาใจ ให้ใจของเรา เป็นหนึ่ง ให้ใจของเรา ไม่มีความวุ่นวาย ตัดความสงสัย ตัดสิน ให้ตนเอง ได้หยุดสิ่งที่ มีค่ารอง มามีค่าที่เด่นชัด ค่าที่สูง ที่คิดว่า เป็นสิ่งที่เรา จะหยุดยืน เป็นจุดยืนของเรา แล้วพึงมีใจ หรือความคิด ให้เป็นหนึ่งเสมอ จิตเป็นหนึ่ง จึงชื่อว่า "จิตสมาธิ"

๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๘


คาถาธรรม ๑๑ / คาถาธรรม ๑๒ / คาถาธรรม ๑๓