page: 2/8

บทเนื้อหาประสาง่าย |


        ส่วน "อุเบกขา๒" ที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นสภาวธรรม ที่เกิดจากการปฏิบัติ "โพชฌงค์ ๗" และเป็นสภาวธรรมขั้นสูง ถึงระดับที่ ๗ ของ "โพชฌงค์" ด้วย ซึ่งเป็นสภาวธรรม ขั้นลึกซึ้ง ละเอียดซับซ้อน มิใช่สภาวธรรมขั้นตื้นๆ ต้นๆและแคบๆ ชั้นเดียว แนวระนาบง่ายๆ ตามที่มักเข้าใจกันนั้นดอก [ลึกซึ้ง มีองค์ธรรมอีก ๕]
        มันเป็นความวางเฉยได้ อย่างอยู่เหนือวัตถุกิเลส และ "เหนือจิต" ตนเอง อย่างรู้เท่ารู้ทัน แม้จะสัมพันธ์อยู่ ประจัญอยู่ ก็มีความแข็งแรง ตั้งมั่นของจิต (สมาธิ๒) มีปัญญา๔ ทั้งชนิดที่เรียกว่า "ธรรมวิจัย๒" มาแล้ว ทั้งชนิด "โยนิโสมนสิการ" อย่างช่ำชองอีก ทั้งชนิดที่เป็น "สัมมาญาณ๔" หรือ ยถาภูตญาณทัสสนะ๔ หรือ "สัมมาทิฐิขั้นผล๓" เสียด้วยซ้ำ และ ทั้งชนิด "ปฏินิสสัคคานุปัสสี๕" อันเป็นสภาวะของ "จาคะ๕" ขั้นสูง คือ การสละ สลัดสวรรค์คืน ไม่หลงจม อยู่สวรรค์ชั้นที่ได้นั้นๆ อีกด้วย ซึ่งเป็นสภาวะสุดท้าย ของทุกธรรมะขั้นสูงสุด ในแต่ละรอบ
        และสูงสุดปลาย "อุเบกขา๒" นี้ ก็คือ สภาวะที่เป็น "วิมุติ๔" อยู่ในตัว ซึ่งความฉลาดรู้รอบ ประกอบอยู่ด้วย คือเป็น "วิมุติญาณทัสสนะ๔" เป็นปัญญา๔ ของ "ไตรสิกขา" ขั้นจบกิจบรรลุธรรม มันสูงสุดได้ ถึงปานฉะนี้ทีเดียว
        "ปัญญา" นั้น เราจึงนับเป็นเบื้องปลาย จึงตรงกับ "ปฏิเวธ"
        นี่คือ การปฏิบัติธรรม๑ ก็จะได้ธรรม เจริญธรรม สมควรแก่ธรรม (ธัมมานุธัมมปฏิบัติ๑) ของพุทธศาสนา ซึ่งต้องปฏิบัติให้มาก (พหุลีกตา) พยายามให้ได้ แทบทุกขณะจิต มิใช่จะประพฤติกัน แค่ครั้งคราว
        เพียงหาเวลานั่งหลับตาทำ "สมาธิ" หรือไม่ก็หาห้อง หรือ หาที่เข้าไปหลบปฏิบัติ โดยจงใจทำอย่างนั้นอย่างนี้ อยู่เพียงเท่านั้น มันยังไม่ใช่ปฏิปทาของผู้เป็น "อริยะ" หรอก
        แต่ถ้า นับเอาการปฏิบัติแบบนั้น เป็นกรรมวิธีขั้นต้น ขั้นพื้นฐาน ของผู้ยังไม่มี "สติ" ยังไม่มี "ปัญญา" เอาเลย นั้นถูกแล้ว หรือไม่ก็เป็นขั้นสูง ที่ต้องมีภูมิฐาน มีปัญญาพอเหมาะแล้ว จึงจะทำได้
        แต่อย่าไปหลงผิดว่า การกระทำเยี่ยงนั้น คือ การปฏิบัติธรรมของพุทธ เป็นทางเอก ทางสำคัญยิ่งใหญ่ หรือ เป็นขั้นสูง ขั้นสุด เป็นอันขาด และการทำเช่นนั้น มันรู้ตัวก่อนแล้ว มันก็ทำให้ ไม่เผลอตัวได้ง่าย ผลได้ มันจึงไม่สูงเพียงพอ
        ต่อไป ก็พยายามทำให้มัน ต้องดำเนินชีวิตปกติ ฝึกหัดตามระบบ "ศีล->สมาธิ->ปัญญา" ที่มี "มรรคองค์ ๘" เป็นทฤษฎีทางเอก เป็นบรรทัดฐาน จะนึกจะคิดก็ได้ (สัมมาสังกัปปะ) พูดก็ได้ (เป็นสัมมาวาจา) ทำงานทำการต่างๆ ก็ได้ (เป็นสัมมากัมมันตะ) ข้อสำคัญต้องมี "สติ" คุม เมื่อเรายึดถือ "ศีล" เป็นหลักประพฤติ อย่างจริงจังอยู่ทุกเมื่อ ไม่ใช่ถือเล่นๆ โดยไม่มีการสังวรตน มันจึงจะเป็น "สัมมา" ได้ มีองค์ ๘ ของ สัมมาอริยมรรคพร้อม เห็นได้ตรง คิดก็ตรงก็ดี พูดให้ตรงให้ดี ทำอะไรก็ให้ตรงให้ดี ประกอบการงานยังชีพ ก็กระทำได้เป็นประจำชีวิต ก็ให้ตรงให้ดี พยายามให้มากให้ดี มี "สติ" ทำตามที่ถูกที่ตรง ที่เรายึดเราถือให้ดี มั่นคง เที่ยงตรงสม่ำเสมอเนืองๆ
        ไม่พยายามให้ขาดคราว ไม่ทำเล่นๆ เหมือนลิเก ละคร คือเพียงถึงกำหนดเวลา ค่อยเล่น ค่อยแสดง นั่นไม่ใช่ความหมาย อันประจักษ์สิทธิ์ ของคำว่า "มั่นคง-ตั้งมั่น" หรือ "สมาธิ" เพราะทำเช่นนั้นมัน "ตั้งมั่น" แค่ครั้งคราว แค่เฉพาะเวลา มันไม่ใช่ "ตั้งมั่น สม่ำเสมอ ติดต่อกันไปเนืองๆ อย่างยิ่ง อย่างมีความช่ำชอง" สมกับคำว่า สมาบัติ
        ผู้ปฏิบัติคิดดูเอาเองก็แล้วกัน ว่าทำความตั้งมั่น (สมาธิ) อย่างชั่วคราว กับทำให้ได้ติดต่อกัน ตลอดกาลได้อย่าง "มั่นคง" อันไหนจะมีอานิสงส์ใหญ่ (มหานิสังสา) มีผลมาก (มหัปผลา) ยิ่งกว่ากัน ตรงตามคำตรัสยืนยัน ของพระพุทธองค์ว่า จะเป็นทางไปสู่ความหลุดพ้นได้
        ทีนี้ เมื่อเราทำได้ดีเป็นกุศล จนสำเร็จตามกฎเกณฑ์ของ ศีล" นั้นๆ ไม่ทุกข์ร้อนเลย (ตาม "กิมัตถิยสูตร" อังคุต. ทสก. ข้อ ๑ และข้อ ๒๐๘) และศีลนั้นบริสุทธิ์พร้อม เราจะไม่หวน กลับไปละเมิดอีกแน่ๆ แล้ว เมื่อนั้นแหละ เราก็ถึงซึ่ง "วิสุทธิศีล" (ปาริสุทธิศีล) ทั้งจิตวิสุทธิ พร้อม จิตของเราในขณะนั้น จะสูงขึ้น จะพ้นมลทิน ตัดกิเลสตัณหาออกไปได้แล้ว เรารักษา "ศีล" กี่ข้อ ก็จะได้ความสูงเท่ากับ "ศีล" จำนวนที่เราบริสุทธิ์ได้จริงๆ นั่นเอง
        "จิต" ของเราในบัดนั้น จึงเรียกว่า "อธิจิต" (สมาธิ) (ที่แปลว่า จิตอันสูง หรือ จิตอันดียิ่ง ซึ่งเป็น "ฌาน" เป็น "วิมุติ") มลทินที่พ้นไปนั้นเรียกว่า "วิราคะ" หรือ "วิมุติ" การกระทำเช่นนี้ เรียกว่า
        ๑. ตทังควิมุติ คือ ทำให้หลุดพ้นไปทีละเปลาะๆ เป็นการล้างกิเลส-ตัณหา ด้วยปัญญารู้เท่าทัน ก็ทำให้ลดละไปได้ หรือหาเหตุ หาผลมาให้มัน ก็ทำให้มันลด ละ ปล่อย วาง ไปได้ หรือ อกุศลกรรมหลุดล่อนออกจาก "จิต" ทีละช่วง ทีละอย่าง ทีละตอนได้เรื่อยๆ เพราะปัญญา
        ๒. วิกขัมภนวิมุติ คือ ทำให้หลุดพ้นด้วยการข่มเอา อดทนเอา ฝืนกลั้นสู้เอา พยายามให้กิเลส-ตัณหามันลด ด้วยการใช้กำลังจิตฟาดฟัน ต่อสู้ ฟันฝ่ากันด้วยเรี่ยวแรงแห่งจิตกัน สะกดกัน ทนข่มกันโดยตรงเอาเลย
        ๓. ปฏิปัสสัทธิวิมุติ คือ ทำได้แล้ว ก็ทำทวนทำซ้ำ ได้วิมุติตามแบบที่เคยทำได้นั่นแหละ ทำแล้วทำอีกเสมอๆ จนเป็นความสงบ จนเกิดความรำงับได้ชำนาญขึ้น ช่ำชองขึ้นๆ ง่ายขึ้นๆ
        ๔. นิสสรณวิมุติ คือ ได้อุบายเครื่องหมาย ทำให้ละ ออกจากกิเลส-ตัณหานั้นๆ แน่ๆ เก่งยิ่งขึ้นจริงๆ พอสัมผัสกับเหตุปัจจัย ที่จะให้เกิดกิเลสนั้นๆ เมื่อใด หรือ รู้ตัวว่า อารมณ์เป็นกิเลส-ตัณหานั้นๆ เกิดขึ้นในจิตเมื่อใด ก็สลัดออกได้ ด้วยอุบาย วิธีช่ำชอง อันเป็นเครื่องทำออก ที่ตนได้ตนใช้มา จนเป็นผลเสมอๆ นั้น แน่นอนยิ่งขึ้น ชำนาญยิ่งขึ้น เร็วยิ่งขึ้น
        ๕. สมุจเฉทวิมุติ คือ การทำได้เด็ดขาด เป็นการตัดขาดกิเลส-ตัณหา ได้สมบูรณ์สุดแล้ว ขาดสูญอย่างต่อเนื่อง มั่นคง ยืนยงแล้ว
        เมื่อผู้ใดมี "อธิจิต" (สมาธิ) ดังนี้ ก็ให้ใช้ "สติ" ตรวจดูใจของตนมาเสมอๆ ว่า ตนขณะนี้ ลด ละกิเลสมา แค่บางครั้งบางคราวก็ดี ตลอดมาก็ดี ก็ให้ตรวจดูอารมณ์จิต อาการจิตตนให้ดี ให้รู้จริง ในอารมณ์ทุกขั้นตอน จนถึงขั้น ได้พ้นมลทินมาได้แค่นี้ๆ แล้ว พ้นกิเลสตัณหา มาได้แล้วขนาดนี้ๆ นั้น แท้ๆ มันสบาย มันว่าง มันเบา มากน้อยกว่ากันอย่างไร มันเห็นความพ้นทุกข์ อย่างใดได้บ้าง มันเห็นตนสุขอย่างใดได้บ้าง อ่านให้พบ ตรวจดูให้ชัดๆ [คือ วิตกวิจาร นั่นเอง]
        เมื่อเราพบจริงๆ เห็นชัดจริงๆ เราจะภาคภูมิใจ จะปีติใจ จะสุขแท้ ยิ่งคนยังไม่เคยรู้ ไม่เคยสัมผัสของจริง เพื่อรู้ยิ่ง เห็นจริงครั้งแรกๆ ใหม่ๆ ก็ยิ่งจะมีอาการ ซาบซ่านมากแรง คนรู้เท่าทันแล้วจะไม่แรงนัก แต่ถ้าเป็นคนรู้แจ้งแล้ว และดับอุปกิเลสเหล่านั้น ได้แล้วด้วย ก็จะไม่ซาบซ่าอะไร ทว่า.. ก็จะยินดีในความสุข สงบจากกิเลส หรือ ยินดีที่ได้สละ สลัด ได้พ้นแล้วจากกิเลส (โวสสัคครโต) อยู่อย่างสงบราบเรียบ "อุเบกขา" เป็นที่สุด
        ก็จะมี "ศรัทธา" เชื่อมั่น เป็นอย่างหนึ่ง อย่างเดียวลงไป จนพ้น "วิจิกิจฉา" หรือพ้น "ความคลางแคลงสงสัย"
        [สังเกตคำบรรยาย ตอนที่ผ่านมานี้ให้ดี มันคือ องค์ธรรมของ "ฌาน"]
        ในการกระทำของเราเองนั้นๆ เราจะไม่หวนกลับไปคลุกคลี กับกิเลสกองเก่า หมู่เก่า (อสังสัคคะ, อสังคณิกะ) นั้นๆ อีก ถ้าเราวิสุทธิ์จริงๆ นี่แหละคือ "ศรัทธินทรีย์"
        และ นั่นคือ อาการของความรู้แจ้งใน "ผล" เป็น "ผลญาณ" หรือเรียกว่า บรรลุ "ปัญญา" (๑) ก็เป็น "ปัญญินทรีย์" (๒) เป็น "ปัญญาพละ" (๓) เป็น "ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์" (๔) เป็น "สัมมาทิฐิ" (๕) สูงขึ้นๆๆ เป็นสภาพครบ "องค์แห่งมรรค" (๖) ด้วย [องค์ธรรม ๖ ประการของ "สัมมาทิฐิ" จาก พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ "มหาจัตตารีสกสูตร" มัชฌิม. อุปริ. ข้อ ๒๕๘] ซึ่งเป็น "วิมุติญาณทัสสนะ" ด้วยอย่างแท้จริง มันเป็น "ปฏิเวธธรรม" แท้คือ ธรรมที่เราแทงทะลุแจ้ง สัมผัสเองโดยตนเอง
        มันอ๋อ! ที่ในเราเอง เมื่อได้ดื่มเอง สัมผัสเอง
        มัน "รู้" ผิดกัน กับที่เพียงได้ฟังมา อ่านมา จำมา หรือ เพียงคิดเอาทบทวนเอา ผกผันเอาในห้วงนึกแล้ว "อ๋อ!" มันผิดกันจริงๆ
        ทำดูเถิด จะเป็น "อริยมรรค" จะแจ้ง "ผล" อันแท้จริง เมื่อมันถึง "วิมุติญาณทัสสนะ" ดังได้กล่าวแล้ว มันจะไม่หวนกลับ หรือ หวนกลับไปเสพย์ กิเลส-ตัณหา อันนั้นอีก อย่างเด็ดขาด
        เพราะแท้จริงนั้น เราได้ใช้ "ศีล" กำราบตัวเรา เราได้กระทำการลด กระทำการละกิเลสตัณหา ข่มมัน ฆ่ามัน พิจารณาเห็นเหตุ เห็นผล ในเมื่อได้ปฏิบัติจริงๆ จนมันตายสิ้น จนที่สุด เราไม่ต้องข่ม ไม่ต้องฝืน ไม่ต้องทำการใดๆ จนเรามีจิตเป็นปกติ ("ศีล" นั้นแปลว่า ปกติ) เป็นผลเกิด หลังจากเราได้อบรมตน ได้ฝึกฝนตนแล้ว เราจึงได้สัมผัสกับ "ปัญญา" เองจริงๆ
        นี่แหละคือ "ภาวนามยปัญญา" แท้ๆ
        หรือ ยิ่งใครจะมีการปฏิบัติ เพิ่มความจริงจังให้มากกว่านี้ โดยไปนั่งฝึกความเคยชินของ "สติ" ฝึกใจให้มั่นในการตามรู้ และทั้งไปนั่งหลับตาสร้าง "สมาธิ" ด้วย [แต่ต้องไม่ใช่ "สมาธิ" หลับตา ที่หลงทาง ไปยึดถือ เอาอะไรผิดๆ นะ] ก็ยิ่งดีเพิ่มขึ้น
        เมื่อเราทำได้แล้วอย่างตื้นๆ ง่ายๆ ก็ให้เราเพิ่ม "ศีล" ขึ้นให้มากข้อ หรือ เพิ่มความลึกใน "ศีล" เข้าไปอีก แม้ในข้อเดิม แล้วลงมือปฏิบัติ หรือ สร้าง สมาธิให้เกิดให้ได้ ในลักษณะเยี่ยง ที่ได้อธิบายมาแล้วนั้นเรื่อยไป เกิด "วิสุทธิศีล" มี "อธิจิต" เมื่อใด เมื่อนั้นคือ เราได้สร้าง "จิต" ของเรา ให้มี "ฐาน" อันมั่นคงขึ้นทุกทีไป เรียกว่า ก่อ "ปัฏฐาน" (สิ่งที่เริ่มเกิดขึ้น ตั้งมั่นลง, ที่ตั้งขึ้น เป็นประธาน, เหตุให้เป็นไปต่อ) ให้ตน
        แล้วเราก็อย่า หลงหยุด แค่เกิด แค่เป็น หรือ แค่รู้ๆๆ อยู่แค่นั้นล่ะ จะเอาแต่แค่ตามรู้ๆ ตามเห็นๆ โดยสักแต่ว่า "รู้" สักแต่ว่า เห็นความจริง อันแท้จริง แล้วก็ไม่ทำอะไรต่อไปอีก ไม่ได้ แค่นั้นมันไม่พอ มันไม่ก้าว จะต้องมี "สติ" ระลึกรู้ทั่ว และตรวจตรา อ่านจิตของเราเอง และ อ่าน "สภาพธรรม" ทั้งหลาย วิจัยหาความถูกต้อง ความสมบูรณ์สูงขึ้นๆ จนถึงที่สุด ให้ได้อีก เรียกว่า "ธรรมวิจัย" (ให้กระทำต่อไป ในลักษณะเดียวกัน กับที่ได้อธิบายมาแล้ว) จะแจ้งใน "ผล" ของการขาดกิเลสตัณหา หรือจะแจ้งผลของวิมุติ ได้เพิ่มขึ้นอีก
        "ปัญญา" และ "ศรัทธา" ของเราก็จะเป็น "อธิปัญญา" ขึ้นมาอีกโดยนัยนี้เรื่อยไปๆ เป็น "วิมุติญาณทัสสนะ" "ศรัทธา" ก็จะเพิ่มเป็น ศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ แกร่งขึ้นเรื่อยๆ ตาม เป็นการสั่งสม อินทรีย์ ๕ พละ ๕ แท้ๆ
        ถ้าเราทำดังนี้ไปไม่มีหยุด เราก็จะสูงขึ้นๆ ยิ่งขึ้นๆ จริงๆ ถูกต้องตามหลักของ "โพธิปักขิยธรรม" อย่างไม่บกพร่อง
        ถ้าผู้ใดรู้ตัวเองดีว่า ตนบกพร่องอยู่ในสิ่งใด หรือ ยังมีความชั่วอยู่ในเรื่องใด ก็ให้ตั้งใจหาทางหยุด ตั้งข้อกำหนดห้ามตนขึ้น อย่ากระทำสิ่งนั้น เลิกขาด เว้นขาด ห่างมาจากสิ่งนั้น เรื่องนั้นให้ได้ ข้อกำหนดนั้นๆ ก็เป็น "ศีล" (แม้เราจะตั้ง จะกำหนดเอาเอง) เป็นข้อ "สมาทาน" ที่จะยกตนขึ้นสู่ดียิ่งขึ้นด้วย แล้วก็ "ศึกษา" ตามนัยะแห่ง "อธิศีล->อธิจิต->อธิปัญญา" ดั่งได้อธิบายมาแล้ว
        และ ถ้าไม่รู้ ไม่ฉลาด ในการจะกำหนดเอง ให้ถูกให้แท้ได้ แต่มุ่งหมายสู่สุคติ หรือที่สุดแม้ "นิพพาน" แล้วละก้อ เรามาทำตามข้อกำหนด หรือ อันคือ "ศีล" ที่พระบรมศาสดาของเรา ได้ทรงวางไว้ จัดสรรไว้ ด้วยพระปรีชาญาณ ยิ่งแล้ว เป็นลำดับๆ กันดีกว่าอื่นทั้งหมด ดังที่พระท่านให้ "ศีล" เราทุกที จะให้ ๕ หรือให้ ๘ หรือให้ ๑๐ ก็ตาม แล้วท่านก็จะยืนยันแก่เรา ตบท้ายเสมอว่า "สีเลน สุคติง ยันติ สีเลน โภคสัมปทา สีเลน นิพพุติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสธเย" ซึ่งแปลว่า "ศีล เป็นเครื่องพาเราสู่สุคติ ศีลพาเราถึงพร้อม ด้วยโภคทรัพย์ และ ศีล นี่แหละ เป็นเครื่องพาเราไปสู่ นิพพาน ดังนั้น จงทำความชำระตน ให้หมดจดด้วยศีล เถิด"
        ขั้นต่ำขั้นง่ายที่สุด เราก็ยึด "ศีล ๕" มาประพฤติ การประพฤตินั้น ต้องจริง อย่าเหลาะแหละ พยายามมี "สติ" รู้ตัวเองให้ได้เสมอ ทุกวินาทีว่า เราเป็นผู้มี "ศีล" เราเป็นผู้ "ถือศีล" จะต้องไม่ให้ตนด่างพร้อย หรือ ทำให้ศีลขาด ศีลทะลุไป โดยประการใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ไกวตัว เอื้อมมือ ยกขา อ้าปากพูด เคี้ยว อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ หรือทำการ ทำงาน สัมผัส สัมพันธ์กับอะไร อยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม
        ศีลข้อ ๑ นั้น ในลำดับแรกง่ายๆ เราก็รู้เนื้อหาสาระแล้วว่า "อย่าฆ่าสัตว์" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมา ก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัวให้รุนแรง จนต้องฆ่าชีวิตผู้อื่น" ให้ถามตัวเองเสมอๆ ว่า "เราเห็นแก่ตัว" ใช่ไหมๆๆ? จึงต้องทำให้เขาตาย ทุกครั้งที่ทำร้ายสัตว์ หรือได้เผลอฆ่าสัตว์ใดๆ ตาย รู้เห็น "ความเห็นแก่ตัวของเรา" ให้ได้ จะเป็น "ปัญญา" (วิปัสสนา) และอย่าทำการฆ่า ให้ได้ทุกเวลาจะเป็น "สมาธิ" ทั้งเป็นการสร้าง "วิมุติ" (สมถะ) ให้ตั้งมั่นขึ้นแก่ตนเรื่อยๆ
        สำคัญที่สุดก็คือ เราจะต้องสร้าง "ปัญญา" หรือ สร้างความฉลาด ในการเลี่ยง ที่จะไม่ฆ่าสัตว์ใดๆ ให้ได้ ไม่ว่าสัตว์เล็ก สัตว์ใหญ่ สัตว์มีพิษ หรือไม่มีพิษก็ตาม โดยเฉพาะ สัตว์ที่มีพิษ ก็จะต้องพยายามไม่ฆ่ามันได้ ด้วยปัญญาของเราเสมอ จึงจะบริบูรณ์แท้สูงจริง
        ศีลข้อ ๒ เนื้อหาสาระของมัน ก็คือ "อย่าขโมยของ" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมา ก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัวรุนแรง จนต้องเอาของ ที่ไม่ใช่สิทธิของตน" ทุกคราที่จะหยิบ ของที่ไม่ใช่ของของตน จะต้องถามตัวเองจริงๆ ว่า เราเห็นแก่ตัวใช่ไหม? เราจะไม่หยิบได้ไหม? มีความบริสุทธิ์ หรือถูกต้องแค่ใด ที่เราจะหยิบของนี้ การรู้เห็น "ความเห็นแก่ตัวของเรา" ทุกครา นั่นเป็น "ปัญญา" (วิปัสสนา) ทุกที แล้วละเสียให้ไ่ด้ เลิกเสียให้พ้น จะเป็น "วิมุติ" ให้แก่ตน และจะเจริญ "สมาธิ" (สมถะ) ให้มั่นคงแข็งแรง หรือดียิ่งขึ้นเรื่อยไป
        สำคัญมากก็คือ จะต้องรู้ตัวให้ได้ว่า เราจะหยิบ จะสัมผัส หรือจะเอาอะไรมาให้ตนนั้น มันคือ "ความโลภ" โดยแท้ ทุกครั้ง ถ้ารู้ได้ทีใด ก็เป็น "ปัญญา" แท้ทีนั้น แต่ว่าแต่ละครั้งนั้น ต้องถามตนเองว่า จะไม่เอา ไม่หยิบ ไม่สัมผัสของนั่นเลย จะได้ไหม? และถ้าจำเป็นที่สุด ต้องเลือกทางเอาให้น้อยลงๆๆ หรือ "ไม่เอา" ให้ได้มากที่สุด
        ศีลข้อ ๓ เนื้อหาสาระมีว่า "อย่าประพฤติผิด ในเมถุนธรรม ที่ไม่ใช่คู่อันถูกต้องแท้ๆ ของตน" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมาก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัว ให้มันรุนแรง จนต้องเป็นทาสกามคุณ ให้มันมากนัก" ถ้าเป็น "ไท" แก่ตัวได้ (คือไม่เป็นขี้ข้ากามคุณ) ก็ให้เร่งทำทีเดียว ต้องใช้ "สติ" ควบคุมตนเสมอๆ (ให้หนักยิ่งขึ้น)
        เพราะในศีลข้อนี้ มันเป็นการเสพรสแล้ว หมายให้ผ่อนคลาย ในการเสพรสลงเสียบ้าง การเสพใดๆ ล้วนเป็น "ความเห็นแก่ตัว" ทุกครั้ง
        ถ้าอดทนฝืนข่มได้ (สมถะ) หรือ ถ้าลดได้ด้วยปัญญา (วิปัสสนา) ไม่เสพ ไม่แตะต้องได้ครั้งใด ก็คือ สร้างพลัง "สมาธิ" ให้แก่ตนครั้งนั้น และ เป็นการก่อกำแพง "วิมุติ" ให้กับตนหนาแน่นขึ้นด้วย
        สำคัญมากที่สุด คือ จะต้องให้มี "สติ" รู้ทันที่จะเสพทุกครั้ง แล้วเข้าใจตนเอง ให้ถูกให้ได้ว่า ตนกำลังจะทำอะไร? กำลังสัมผัสอะไร? อยู่ในทุกขณะจิต เรากำลัง "เสพ" ใช่ไหม? ถ้ารู้ก็เป็น "ปัญญา" ทุกที และจะต้องอย่าลืมว่า เราจะต้องเป็นผู้ "เสพ" น้อยลงๆ ให้ได้ ถ้า "ไม่" เสียเลย ยิ่งนั่นแหละ คือ "สัมมาสมาธิ" คือละ ลด คือ "วิมุติ" คือสภาวะหลุดพ้น ที่ได้สั่งสม
        ศีลข้อ ๔ เนื้อหาสาระเบื้องต้นมีว่า "อย่าพูดปด" หรือ ถ้าอย่างชัดๆ เจนๆ ขึ้นมาก็คือ "อย่าเห็นแก่ตัว ให้รุนแรงมาก จนต้องพูดทุจริต เพื่ออะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นอันขาด" เราจะต้องมี "สติ" ให้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แม้คำพูดของเราก่อนพูด ต้องพยายามรู้ตัวให้ได้เสมอๆ
        มันไม่ใช่ของง่าย แต่ต้องทำ การฝึก คือ หัดพูดให้ช้าลง และ บังคับตน อย่าให้พูดออกมา ก่อนไตร่ตรองให้ได้เสมอๆ หากเราพูดมากอยู่ และ พูดไม่ดีไม่งาม ไม่ถูกต้องไม่มีคุณค่าด้วย ก็ต้องลดการพูดลงทุกทีๆ
        ถ้าคราใดเรารู้ตัวว่า เราจะพูดอะไรออกไปแล้ว เราได้กลั่นกรองคำพูดก่อน เมื่อนั้นคือ "ปัญญา" (วิปัสสนา) และ เมื่อเราได้พูดออกไปได้อย่างดี เป็นสัมมาได้ครั้งใด นั่นคือ เราบำเพ็ญ "สัมมาสมาธิ" ที่แท้จริง ด้วยองค์มรรค "สัมมาวาจา" เป็นการเสริม "วิมุติ" ให้แก่ตนทุกครั้ง (สมถะ)
        ข้อสำคัญคือ บอกตนเองว่า "อย่าพูดๆๆๆ" ไว้ก่อนเสมอดีที่สุด โดยเฉพาะสำหรับคนปากพล่อย พูดมาก ถ้าไม่จำเป็นที่สุด ก็อย่าพูดอะไร ต้องฝึกหัดให้ดี ไตร่ตรอง กลั่นกรองคำพูด แล้วค่อยพูดเสมอ จนกว่า "สติ" จะตามทันคำพูด ก็จะพูดเร็วได้ในที่สุด และ จะเป็นการพูดที่สุจริต เป็น "อริยมรรค" เป็นส่วนแห่งบุญ (ปุญญภาคิยา) ให้ผลแก่ขันธ์ (อุปธิเวปักกา) สั่งสม "สัมมาอริยะ" ขึ้นสู่ความเป็น โลกุตตระ จนกว่าจะเป็น "อนาสวะ" สมบูรณ์
        ศีลข้อ ๕ เนื้อหาสาระพื้นฐานมีว่า "อย่าเสพย์ติดสุรา" หรือชัดๆ เจนๆ ก็คือ "อย่าหลงใหล มัวเมา ติดของเสพย์ติดใดๆ เลย"
        ที่จริงมันไม่ใช่แค่เหล้าเท่านั้น ของแทบทุกอย่างมันคือ สิ่งที่คนก่อสร้าง ประดิษฐ์ตกแต่งขึ้นมา เพื่อหลอกให้หลงเสพย์ เมามาย หลงติด ทั้งนั้น ถ้าใครโง่ ก็จะหลงติดมัน
        ถ้าอย่างร้ายแรง ถึงขนาดเขาประดิษฐ์ สิ่งที่เสพย์เข้าไปแล้ว มันก็ไปทำปฏิกิริยา กับระบบประสาทของคน อ่อนบ้าง แรงบ้าง จนทำให้จิตของคน ไปยึดเอา อย่างหลงใหล (โมหะ) ใฝ่เสพย์ โดยเฉพาะ "อบายมุข" ต่างๆ นี่แหละ คือ "สุรา"
        สุรา แปลว่า "หยาบกล้า" หรือ "แรงกล้า" จงอย่าไปเสพย์ติดมัวเมา เช่น การพนันต่างๆ เช่น เหล้า เช่น น้ำเมาต่างๆ หรือเช่น ยาฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ หมากพลู ยานัตถุ์ ยากล่อมต่างๆ หรือ แม้ทินเน่อร์ ที่ดม ที่ฉีด นานา หรือทั้งมหรสพ การละเล่น (ไม่ใช่ "งานจริง-การจริง"="กีฬา" ซึ่งเฟ้อ) เที่ยวกลางคืน คบมิตรชั่ว และ การเกียจคร้าน เราก็อย่าไปฝึก ไปหลงหัด หลงเสพ หลงติดเป็นอันขาด
        จะต้องหัดพราก หัดเลิก เมื่อพรากมาแล้ว ก็จะต้องใช้ "สติ" เพ่งพิจารณาให้ถ่องแท้ ให้เห็น "ทุกข์" แห่งตัณหา คือ อารมณ์ที่มันยังทรมาน เพราะไม่ได้เสพสม เพราะ "ความอยาก" ให้รู้แจ้ง แล้วเทียบกับคนอื่นๆ ที่เขาไม่ติด ไม่ทุกข์ให้ได้ เห็น "ความโง่ ความไม่แข็งแรง" ของเราให้ชัด เห็นความขี้แพ้ ของคนอย่างเราให้ออก ถ้ารู้ว่าเราขี้แพ้เมื่อใด นั่นแหละคือ "ปัญญา" ยิ่งรู้ "อาการ" ในจิตที่เป็นตัณหา ชัดตัว ชัดสภาพ ยิ่งคือ "อธิปัญญา"
        และ จงฝึกหัด ตัดฆ่ากิเลสตัณหานั้นๆ ตามแต่จะมีความรู้ ความสามารถ แม้เพียงจะอดทนก็ตาม จะข่มก็ตาม ฝืนก็ตาม ให้ได้ การไม่ยอมแตะ ไม่ไปเกี่ยว หรือ ต้องเกี่ยว ต้องสัมผัส แต่ก็ไม่ให้จิตเสพย์ จนได้ นั่นคือ "สมาธิ" ที่ดีขึ้น และเป็นการตั้งกำแพง "วิมุติ" ขึ้นตามทุกทีไป อินทรีย์ และ พละจะแข็งกล้าขึ้น เป็นระดับๆ ขึ้นทุกคราว
        ถ้าแม้นว่า เป็นธรรมขั้นละเอียด ขั้นสูง ฐานอธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญายิ่งๆ ขึ้นแล้วละก้อ จะต้องรู้มันให้ได้ ด้วย "ปัญญา" อันยิ่งๆ ขึ้น พิจารณาให้ถ่องแท้ว่า สภาพที่เรา "เมา" ในสิ่งเหล่าใดนั้น แท้ๆ นั้นคือ สภาพที่เรามีอารมณ์ยังชอบ ยังชื่น จนฝืนใจให้ ไม่อยาก ไม่อร่อย หรือ ไม่เสพย์สิ่งนั้นๆ "ได้ยาก" นั่นแหละคือ "เมา" ถ้าหากหนักไปถึงขั้นสภาพเกิด "การติด" นี้แหละ มันเป็นความชั่ว ความเลวแล้ว เป็นตัวต้นเหตุ แห่งการทำให้เราเป็นทาส ซึ่งจะต้องลงมือ พราก-ห่าง-ล้าง-ลดกิเลส ออกมาให้ได้
        จะต้องฝึกหัด อบรมตน จนมีอุบายเครื่องทำออกจากกิเลส จากสิ่งที่เรามี "อาการ" อยาก (ตัณหา) มี "อาการ" เป็นรสอร่อย (อัสสาทะ) มี "อาการ" เสพ (มีอารมณ์ร่วม กับรสนั้นๆ อยู่) หรือมี "อาการ" ติด (สังสัตต, สังคณิก, สังสัคค, สังสัฏฐ หรือ อภินิวิสฺสติ, อภินิเวสายะ) ในสิ่งนั้นๆ ออกมาให้ได้ แม้แต่ในสภาวะนามธรรมนั้นๆ จะละเอียดน้อยนิดปานใดๆ ก็ตาม หากยังมีส่วนเศษธุลีที่เหลือ เพราะว่ายัง "หลง" เหลือ หรือ แม้จะรู้แล้วจับ "ตัวธุลี" นั้นๆ ได้แล้ว แต่ยังเหลือ เพราะยังไม่อาจดับได้สนิทจริง ก็ล้วนยังนับว่า เป็น "อุปธิ" (เหตุแห่งการเวียนเกิด) หรือ เป็น "อุปาทาน" (ความนึกคิดและเห็นไปเอง, เชื้อ, สภาวะที่ยังเหลือหลง ยึดมั่นถือมั่น)
        จะต้องทำ "ปัญญา" ให้แจ้ง ชนิดถ่องแท้ แยบคาย ทั้งละเอียดลออ และทั้งมีสภาวะ "ของจริง" รองรับ ที่เรียกว่า "โยนิโส" คือ รู้ยิ่งเห็นจริง ตั้งแต่ต้น จับตัวนามธรรมได้ ชนิดละเอียดลึกซึ้ง (เริ่มมี เริ่มเกิด) คือต้องมี "โยนิ" ต้องมีสภาพ "เกิด" จริงให้เรารู้ ไปจนรู้แจ้ง รู้จริง ในสภาพที่เป็นไป โดยตลอดจบนั่นเทียว
        และ จะต้อง "ทำใจให้ออกจากกิเลส" หรือ "ทำกิเลสให้ออกจากใจ" (มนสิการ) ให้ได้ ให้จริง เป็นการทำได้จริงที่ใจ
        จึงเรียกว่า "มนสิการ" ตามที่ชอบพูดลัดๆ แปลกันสั้นๆ ว่า "ทำในใจ" หรือ "การกระทำไว้ในใจ" หรือ "การกำหนดในใจ" ซึ่งที่จริง คือ "สภาวะงานของใจ" (มนัส+การ) ที่มีผล ที่มีเรื่อง มีสิ่งที่ทำนั้นเกิดเป็นผล นั่นเอง
        สรุป "โยนิโสมนสิการ" นั้น คือ ทั้งรู้ในนามธรรมนั้น ที่มีกิเลส "อาการ" ต่างๆ [มิใช่รู้เพียงคิดแยบคายเท่านั้น รู้เพียงความเข้าใจลึกซึ้ง ด้วยเหตุผลเท่านั้น] และ รู้สภาวะจิต-เจตสิก ของเรา ว่า เราทำให้กิเลส "อาการ" ต่างๆ ดับไปได้ เล็กน้อย-มากขึ้น จนตายสนิท ไม่มีเกิดต่อไปอีก ได้ตลอดไป โน่นทีเดียว อย่าง "รู้แจ้งชัด-รู้ของจริง" ในความเป็น ความมี "ของจริง" ถูกธรรมสูงสุดจริงๆ
        ยิ่งเราพินิจ พิเคราะห์ วิจัย วิจารณ์ ดูเหตุดูผลที่เกิด ที่เป็น ที่ช่วยให้ลด ละ จาง คลายทุกข์ และตัณหานั้นๆ ได้อีก ก็นั่นแหละคือ การทำวิปัสสนา เกิด "ปัญญา" อีก
        และ "ปัญญา" ที่เห็น "ความมีจริงเป็นจริง" ในการปฏิบัติแท้ๆ ได้อีก
        คือเห็น "ความทนได้ยาก-ความทรมาน-ความไม่สบาย ที่จิตวิญญาณฯลฯ" (ทุกข์) ทั้งหลายนั้น ด้วยความรู้รสทุกข์นั้นๆ จริง รู้สึก ทนได้ยาก นั้นๆ จริงๆ แล้วลดได้ ด้วยความพยายามทำตามทฤษฎี ที่ได้ศึกษามา ตามวิธีที่เราใช้ เราลงมือจริง
        เห็น "ความไม่เที่ยงแท้-ไม่มากอยู่เท่าเดิม" (อนิจจัง) ของกิเลสตัณหา เราสามารถตีแตกได้ ทำลาย ลดมันลงได้ ฆ่ามันได้ มันเสื่อมลงไปได้ ด้วยความสามารถของเรา (มิใช่มันเกิดเอง-ดับเอง)
        เห็นการตัด การลดวัฏสงสาร ของกิเลส ซึ่งเป็นนามธรรม ที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป อย่างมีของจริง ตามความเป็นไปได้จริง ด้วยความอยู่เหนือไตรลักษณ์ ของกิเลส
        ส่วนไตรลักษณ์ของธรรมชาติ หรือ ไตรลักษณ์ของสามัญลักษณ์นั้น มันก็ "เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป" เป็นอิทัปปัจจยตา อยู่ตามธรรมดา นิรันดร์ ไม่มีสิ้นสุด ไม่ใช่ตัวตนเที่ยงแท้ ไม่ใช่ของใคร ยึดเอามาเป็น "ของเรา" ถาวรไม่ได้นี่.. เราก็ต้องรู้ ก็ต้องเห็นให้ได้ก่อน เพราะไตรลักษณ์แบบนี้ เป็น "สามัญลักษณ์" เป็นไตรลักษณ์ ของธรรมชาติ ธรรมดา เป็นเบื้องต้น แล้วปล่อยวางจิต วางใจให้เป็น
        ซึ่งวัฏสงสาร ของไตรลักษณ์ ธรรมดาสามัญนี้ ไม่มีที่สุด ณ ที่ไหน หาที่สุดมิได้ เห็นที่สุดมิได้ (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ "โรหิตัสสสูตร ๑-๒" อังคุต. จตุก. ข้อ ๔๕-๔๖) และ ตั้งอยู่ไม่ได้ ดับไม่เหลือ ณ ที่ไหน เพราะทำให้ดับ ณ ที่ไหน ก็ยืนยันไม่ได้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ "เกวัฏฏสูตร" ทีฆ. สีล. ข้อ ๓๔๓-๓๕๐)
        แต่ไตรลักษณ์ของปรมัตถธรรม (วิสามัญ) นี้ มีที่สุด หาที่สุดได้ เห็นที่สุดได้ และเห็นความตั้งอยู่ไม่ได้ เห็นความดับไม่เหลือได้ เพราะทำความดับไม่เหลือ ณ ที่ที่เรียกว่า "จิตวิญญาณ" ได้ อย่างแท้จริง มีสภาพรองรับ
        ผู้ปฏิบัติ ศีล->สมาธิ->ปัญญา ถูกทาง ก็จะรู้แจ้งชัด จะเห็น "ของจริง" จะเห็นวัฏสงสาร หรือ ไตรลักษณ์ของกิเลส มันจางลงๆ หรือ ถึงที่สุดก็หมดวัฏสงสารได้ เป็นสภาวะที่เป็นจริง มีจริง มิใช่เพียงรู้ เพียงคิดเห็นได้เท่านั้น และมีที่สุดได้จริง ณ ที่กิเลสดับได้สนิทนั้นๆ อย่างเป็น "ของจริง" เห็นได้จริง เห็นสูญ เห็นไตรลักษณ์ดับ
        นี้คือ "ปัญญาที่เห็นสภาวะจริง ตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์" (ยถาภูตญาณทัสสนะ) ที่เป็นปฏิจจสมุปบาท "สายดับ" ซึ่งมีสภาวะรองรับ เห็นสภาพได้จริง ว่า มีความไม่เกิด-ไม่ตั้งอยู่-ดับสนิท
        จะมิใช่ เห็นไตรลักษณ์เพียง เป็นเรื่องของวัตถุตัวตนหยาบๆ ที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป วนอยู่ นอกตนนอกตัว ซึ่งเห็นง่าย หรือ รู้ได้เข้าใจง่ายๆ ที่เป็นเพียงลักษณะตรรกะ
        แต่นี่ เป็นการรู้แจ้งเห็นจริง ในสภาวะของ จิต-เจตสิก-รูป (กิเลสที่เราเห็นได้)-นิพพาน ซึ่งเป็นไตรลักษณ์ขั้น "ปรมัตถสัจจะ" ไม่ใช่ไตรลักษณ์แค่ระดับ "สมมุติสัจจะ" เท่านั้น อันเป็นการรู้แจ้งไตรลักษณ์ คนละสภาวะ คนละสัจจะ
        ยิ่งเราฝึกหัด เพียรทำได้ดี ได้เก่งสามารถสูงสุดถึงขั้น "สมุจเฉทวิมุติ" เราก็ยิ่งจะเห็น สภาวะกิเลสตัณหานั้นๆ (สมุทัย) ดับสนิท ตายสูญสิ้น และ ทุกข์ดับ เพราะเหตุ ซึ่งได้แก่กิเลสตัณหานั้นๆ ก็ดับสนิท ไม่มีอีก ไม่เกิดอีก นั่นคือ เราเห็นสภาวะ ของความไม่มีตัวตน ของทุกข์ เห็นสภาวะความดับสนิท ของเหตุแห่งทุกข์ได้จริง เห็น "สูญญตา" ทีเดียว เห็น "อนัตตา" คือ ความไม่มีตัวตนของทุกข์ เพราะความไม่มีตัวตน ของเหตุแห่งทุกข์ เนื่องจากเราปฏิบัติมา ตามมรรคอริยสัจ อันมีองค์ ๘ ถูกต้องจริง
        จึงมี "นิโรธ" คือ ความดับสนิทแห่งทุกข์ และ ความไม่มีตัวตน ของ เหตุแห่งทุกข์ อย่างเห็นเนื้อ เห็นตัว (อัตตาที่เป็นสภาพ เป็น "อาการ") และที่สุด เห็นความหมดสิ้นตัว หมดสิ้นตน (อนัตตา) อย่างโทนโท่ อย่างรู้แจ้งเห็นของจริง (สัจฉิกรณะ) มีสภาวะจริง ตามที่ได้ ตามที่เป็นจริง ของผู้ปฏิบัติเองจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ; ปัจจัตตัง เวทิตตัพโพ วิญญูหิ) นี่คือ "ตาทิพย์" ของพุทธศาสนา
        มิใช่เพียงเห็นของหยาบ เห็นการเปลี่ยนแปลง แปรปรวน หรือ ดับไปของวัตถุธรรม สมมุติธรรมอยู่เท่านั้น แต่ เห็น "อาการ" ของนามธรรมดับ ไม่มีตัว ทว่ามีสภาพที่สัมผัส รู้ชิ้นรู้อันได้ เป็นสภาพที่มีสภาวะ ขั้นปรมัตถธรรมแท้ๆ ที่ต้องมี "ตาทิพย์" หรือ "ธรรมจักษุ" จึงจะเห็นได้จริง
        ที่สุด ก็จะสิ้นอารมณ์ที่ยัง "อวิชชา" ได้ คือ สิ้นทุกข์ ทุกข์ไม่เกิดอีก เห็น "ความไม่เกิด" อยู่โทนโท่ด้วย ประการฉะนี้
        "ของติด" เหล่านั้น ก็จะยังเป็นสภาวธรรมที่ "คนโง่" (คนอื่น) เขาหลงติด เขายังมี "อวิชชา" อยู่ เขายังไม่เกิด "อธิศีล->อธิจิต->อธิปัญญา" อย่างนี้จริง
        ที่จริง ศีลข้อ ๕ นี้ เป็น "ศีล" ที่มีเนื้อหาสาระมากที่สุด ละเอียด สุขุมประณีตที่สุด กินความถึง การละกิเลสในโลก ทุกสิ่งทุกอย่างสิ้นทีเดียว เพราะ ทุกอย่างในโลกนั้น มันเป็นของที่เสพติด หรือ เป็นสิ่งที่ คนไปติดมันเองทั้งนั้น เป็นสิ่งที่ ผู้ยังไม่รู้แจ้ง แทงทะลุ เห็นแท้เห็นจริงในธรรม ก็จะหลงใหล มัวเมายึดติดมัน เสพมัน หรือยึดมั่นถือมั่น มันได้ทั้งเพ ทั้ง "ของ" ที่เป็นวัตถุ และแม้ "ของ" ที่เป็น "นามธรรม" ทั้งปวง
        แต่ในขั้นต้นขั้นง่ายๆ เราก็ประพฤติปฏิบัติ เลิกเสพ เลิกติด เลิกเมา ใน "อบายมุข" ต่างๆ และ เลิกเมาในอารมณ์ ละเมิด "ศีล ๕" ตามความหมายพื้นฐานนั้น ให้ได้ก่อนเถิด พ้นโลก หรือ พ้นวัฏสงสารนี้ได้ เรียกว่า พ้น "โลกอบาย" ซึ่งเป็น "สักกายทิฐิ" เบื้องต้น
        "สักกายทิฐิ" ขั้นต่อไป จึงเรียนรู้ อธิศีล-อธิจิต-อธิปัญญา สูงขึ้น ก็จะเลื่อนขึ้นไปเรียนรู้ ศึกษา ปฏิบัติเพื่อ พ้น "โลกกามคุณ ๕" พ้น "โลกธรรม ๘" และ เบื้องสุดท้าย ก็ศึกษาเพื่อพ้น "โลกอัตตา" เก็บกวาด "อัตตานุทิฐิ" ให้สิ้นเกลี้ยง จึงจะงามด้วย เบื้องต้น-ท่ามกลาง-บั้นปลาย
        ข้อสังเกต ที่อย่าเผลออย่างยิ่ง คือ อย่าพึงไปหลงศึกษา "อัตตา" (ซึ่งแปลว่า ตัวตน) ก่อนที่จะศึกษา "สักกายะ" (ซึ่งก็แปลว่า ตัวตน) เสียให้จริง ละ หรือ พ้นเป็นระดับๆ ให้ได้กันก่อน เป็นโสดาบัน->สกิทาคามี พ้น "สักกายทิฐิ" กันเป็นระดับๆ กันก่อน ค่อยเป็น อนาคามี->อรหันต์ พ้น "อัตตานุทิฐิ" ตามขั้นตอน
        ข้อควรแจ้งอย่างยิ่ง ก็คือ การประพฤติศีลนั้น มิได้หมายเอาเพียงว่า ศีล จะเป็นเครื่องรักษา กาย รักษาวาจา หรือ ศีลจะสามารถฟอกกาย ฟอกวาจา ให้บริสุทธิ์เท่านั้น ดังที่สอนๆ กันอยู่เพียงเท่านั้น ก็หามิได้ แต่ "ศีล" นี่แหละ จะฟอกทั้งกาย วาจา และจะฟอกลึก เลยเข้าไปฟอกใจ ให้บริสุทธิ์ด้วย
        จึงจำเป็นจะต้องศึกษาให้ดีๆ พากเพียรให้จริง และทำจนให้แจ้งแก่ใจให้ได้ มิฉะนั้น ประพฤติศีลแล้ว จะไม่มีวันอุปการะให้ "จิต" เลื่อนขึ้นเป็น "อธิจิต" (สมาธิ) เลื่อนขึ้นเป็น "อธิปัญญา" แล้วก็ต่อเป็น "อธิศีล" แล้วจึงเป็น "อธิจิต" (สมาธิ) ที่ยิ่งๆ ขึ้น เป็น "อธิปัญญา" ที่ยิ่งๆ ขึ้น ต่อไปๆ อีกเรื่อยๆ ได้เป็นอันขาด
        เพราะไปหลงผิดกันเสียว่า "สมาธิ" นั้นคือ ต้องไปนั่งหลับตา ทำเอาอีกส่วนหนึ่ง ต่างหากจาก "ศีล" แบบลัทธิฤาษี หรือ ลัทธิอื่นๆ ใดๆ เขาทำกันโน่น สูตร "ศีล->สมาธิ->ปัญญา" จึงถูกหั่นออกเป็นชิ้นๆ เป็นคนละเรื่อง ไม่เนื่องต่อกัน
        เพราะไม่เข้าใจอย่างถูกต้องว่า "สมาธิ" ของพุทธศาสนานั้น แตกต่างจาก "สมาธิ" ของลัทธิอื่นๆ ที่เขามีกันมากมาย ดาษดื่น ซึ่ง "สมาธิ" อย่างนั้นๆ ใครๆ ทั่วไปก็รู้ๆ
        แต่ "สมาธิ" ของพุทธศาสนานั้น เป็น "สัมมาสมาธิ" ที่เกิดเนื่องมาแต่ "ศีล" และ ปฏิบัติตามทฤษฎี มรรค องค์ ๘ โดยมีมรรค องค์ ๗ เป็นองค์ประกอบ (ปริขาโร) เป็นเหตุ (อุปนิโส) ที่ประพฤติ ปฏิบัติประกอบแล้ว จนมีผลถึงจิต กระทั่ง เกิด "เอกัคคตาจิต" ได้ จึงนับเป็น "สัมมาสมาธิ แบบ อริยะ" (อริโย สัมมาสมาธิ) จึงจะก่อให้เกิด "สัมมาญาณ" และ "สัมมาวิมุติ" อันนี้ต้องศึกษาจาก "มหาจัตตารีสกสูตร" มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ กันดีๆ "มหาจัตตารีสกสูตร" นี้ เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง ของพุทธศาสนาทีเดียว ซึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงยืนยัน ว่า
        "ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ อันเราให้เป็นไปแล้วนี้ สมณะ หรือพราหมณ์ หรือ เทวดา หรือ มาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้ฯ"
        เพราะเป็นของ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" โดยเฉพาะเท่านั้น แม้แต่ใน "มหาปรินิพพานสูตร" พระพุทธองค์ก็ทรงยืนยัน ว่า "พระพุทธเจ้าเกิดเท่านั้น จึงมีมรรคองค์ ๘ เกิด ลัทธิอื่นๆ ใดๆ จะไม่รู้ ไม่มีทฤษฎีมรรคองค์ ๘ เป็นอันขาด" เขาอื่นจะไม่เข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง และจะไม่สามารถปฏิบัติได้ อย่างเป็นมรรค เป็นผลเลย
        เมื่อกล่าวว่า "เขาอื่นจะไม่เข้าใจได้ลึกซึ้ง และจะไม่สามารถปฏิบัติ ได้อย่างเป็นมรรคเป็นผลเลย" ตรงนี้แหละ ที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย น่าจะได้หวนคิด พิจารณากันดู ให้ดีๆ ว่า ขณะนี้ ใน "ศาสนาพุทธ" เอง นี่เอง ก็พากันเพี้ยน "แสวงบุญ นอกขอบเขตพุทธ" คือ แสวงหา "การชำระกิเลส" (บุญ) หรือ แสวงมรรค ผลออกนอกแบบ นอกแผน นอกขอบเขตทฤษฎี วิธีการ ของพุทธศาสนา ไปเสียหนักแล้ว เพราะปฏิบัติออกนอกทฤษฎี ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงยืนยันว่า "มรรคองค์ ๘ นี่แหละ เป็นทางปฏิบัติ อันเอกทางเดียว ไม่มีทางอื่น" (เอเสวมัคโค นัตถัญโญ)
        แต่ชาวพุทธเกือบหมดสิ้นทีเดียว กลับพากันเข้าใจผิดว่า ถ้าจะพูดว่า "ปฏิบัติธรรม" กันเมื่อใดละก้อ เป็นต้องไปเข้าใจเอาว่า จะต้อง "นั่งหลับตาทำสมาธิ" นั่นแหละ จึงจะนับว่า นั่นคือ "การปฏิบัติธรรม" มันเพี้ยนออก ไปเป็นเช่นว่านี้แล้ว จริงๆ ชาวพุทธเรา จึงกลายเป็น "เขาอื่น" ไปเอง
        การปฏิบัติในระบบ "ศีล->สมาธิ->ปัญญา" จึงเสื่อมโทรม ปฏิบัติกันไม่เป็น เลยพลอยให้ ทฤษฎีอันเอก คือ "มรรค องค์ ๘" กลายเป็น ยาเสื่อมคุณภาพ ไปด้วยสิ้นแล้ว เพราะมีดื่นกันก็แต่ไป "นั่งหลับตา" หรือ "นั่งเพ่งไอ้นั่น บริกรรมไอ้นี่" หรือ มีแต่เชิงคิด เป็นทฤษฎีอื่น ขึ้นมาเป็น "ทางปฏิบัติ" แทน ซึ่งใครๆ ในชาวพุทธทุกวันนี้ ก็เห็นว่า มีขวดยา หรือมียี่ห้อ "มรรค องค์ ๘" หลงเหลืออยู่ ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? ความหมายว่าอย่างไร? ก็พอรู้ๆ กัน แต่มัน "ไม่มีน้ำยา" เสียแล้ว จริงหรือไม่? คิดดู!
        อย่าพูด อย่าสอนให้เพี้ยน หรือ ตัดให้กุด จนไม่เจริญต่อไปกันเลย เพราะ พระบรมศาสดาของเราแท้ๆ ทรงยืนยันอยู่โต้งๆ ว่า "ศีลที่กุศล ย่อมยังความเป็น พระอรหันต์ ให้บริบูรณ์โดยลำดับ" (กิมัตถิยสูตร อังคุต. ทสก. ข้อ ๑ และเอกาทสก. ข้อ ๒๐๘)
        หรือ ดูที่แต่ละครั้ง แต่ละคราวที่พระให้ "ศีล" นั่นเถิด เมื่อพระให้ "ศีล" เสร็จ ก็จะยืนยัน รับรองเสมอว่า "สีเลน สุคติง ยันติ สีเลน โภคสัมปทา สีเลน นิพพุติง ยันติ ตัสมาสีลัง วิโสธเย" ใช่ไหม? ก็เคยได้ยินกัน คุ้นหูอยู่ถ้วนทั่ว นอกจากจะไม่สังเกต หรือ ไม่เคยได้ฟังพระให้ "ศีล" กันเท่านั้น
        "สีเลน นิพพุติงยันติ" นั่นก็แปลได้ชัดๆ ว่า "ศีลนี่แหละ เป็นเครื่องนำพา ไปนิพพาน"
        แล้วอธิบายกัน สอนกัน อยู่แต่ว่า "ศีล" ฟอกแค่กาย แค่วาจา ก็แค่กาย แค่วาจานั้น มันจะสำเร็จกิจ ถึงนิพพานกันได้หรือ? มันก็ค้านแย้ง กับที่พระเองให้ "ศีล" จบก็ยืนยันตามว่า "ศีลนี่แหละ เป็นเครื่องนำพา ไปนิพพาน" กันเท่านั้น
        จะดูจาก "อักขณสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ พระสุตตันตปิฎก อังคุต. สัตตก. ข้อ ๑๑๙ ก็ได้ ที่เป็นคำสอนส่วนมาก ของพระพุทธองค์ (พหุลานุสาสนี) ก็ล้วนเน้นดั่งนี้
        "ชนเหล่าใด ดำเนินไปตามมรรคา ที่พระตถาคตเจ้า ประกาศแล้ว
        ๑. สำรวมในศีลสังวร ที่พระตถาคตเจ้า ผู้มีจักษุ เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์ ทรงแสดงแล้ว
        ๒. คุ้มครองอินทรีย์
        ๓. มีสติทุกเมื่อ
        ๔. ไม่ชุ่มด้วยกิเลส
        ๕. ตัดอนุสัยทั้งปวง อันแล่นไปตามกระแสบ่วงมาร
        ชนเหล่านั้นแล บรรลุความสิ้นอาสวะ ถึงฝั่ง คือ นิพพานในโลกแล้ว"
        เพราะเหตุว่า ได้สอนกันมาเพี้ยนๆ จึงพาให้หลงทางปฏิบัติ และ พากันลบหลู่ "ศีล" ลืมทฤษฎีอันเอก "มรรคองค์ ๘" กันมานานแสนนาน
        สอนไม่ผิด!แต่สอนเพี้ยน เพราะสอนกุด สอนตัด (แถมเอาอื่น เข้ามาเติมเสียด้วย) สอนว่า ถ้าจะ "ปฏิบัติ" แล้ว ต้องไป "นั่งสมาธิ" โน่น ดั่งนี้ หรือ บางอาจารย์ยิ่งร้าย ลัดตัดไปเอา "ปัญญา" โน้นเลย ลบหลู่ "ศีล" ว่าเป็นกฎหลัก ของสังคมเท่านั้น เป็นของพื้นๆ เป็นสมมุติธรรมไปเสียเลย
        "ศีล" นั้นชำระกาย ชำระวาจานั้น ก็ถูก!! เป็นเช่นนั้นจริง โดยลำดับก่อน แต่ไม่ใช่แค่นั้น "ศีล" มีผลสูงกว่านั้นอีกนัก
        ตัวอย่างง่ายๆ เช่น ศีลข้อ ๑ เราจะไม่ฆ่าสัตว์ เมื่อมียุงมากัดเรา เราก็มีสติ สำรวม ไม่ตบไม่ฆ่า นั้นได้ชื่อว่า บริสุทธิ์ทางกายได้แล้ว
        แต่ถ้าคนผู้นี้ ไม่ฆ่าเองจริง ทว่า บุ้ยใบ้ ทำทีท่า หรือ ยิ่งถึงกับจ้างวาน อาศัยให้คนอื่นฆ่า มันก็ยังไม่บริสุทธิ์ หรือ ยังไม่สุจริตอยู่นั่นเอง
        หรือ ถ้าคนผู้นี้ ไม่ฆ่าเองจริง ทว่าบอกคนอื่นให้ฆ่า พูดเป็นเชิงให้ฆ่า หรือ ถึงกับว่าจ้าง บอกไหว้วาน ให้คนอื่นฆ่าแทน นั่นก็ได้ชื่อว่า วาจายังไม่สุจริต ยังไม่บริสุทธิ์ ยังเป็นภัยเป็นเวร เป็นบาปอยู่ จิตก็ได้ชื่อว่า ยังไม่สูง ยังไม่ดียิ่ง (ยังไม่ "อธิจิต")
        เพราะ นักปฏิบัติ ที่ได้สำรวมกาย สำรวมวาจา ละมิจฉา ละอกุศล ด้วยสติ (สัมโพชฌงค์) ด้วยธรรมวิจัย (สัมโพชฌงค์) ด้วยวิรยะ (สัมโพชฌงค์) ถูกตรง จริงๆ "ขณะ" ใด ย่อมได้อบรม "จิต" ได้ปฏิบัติ "จิต" ไปพร้อมกันใน "ขณะ" นั้นทุกทีไป ต้องให้เป็น "สัมโพชฌงค์" จริงๆ อย่าให้ "ขณะ" ล่วงไปเสีย ดั่งที่พระพุทธองค์ ทรงเตือนไว้เลย
        หรือ แม้จะบริสุทธิ์ถึงขั้น "วาจา" คือ เราไม่ตบเอง ทั้งไม่พูดไม่บอก ไม่ทำทีทำท่า เป็นเชิงให้ใครตบ ก็ตาม ทว่า "จิต" ของเราก็ยังอยากฆ่า ยังอยากตบ นี่มันก็ยังเห็นได้ชัดๆ อยู่ว่า ยังพยาบาท ยังมีฤทธิ์ของทุจริตบาป อยู่ในจิตเจือปนอยู่ ดังนี้ ก็ย่อมชื่อว่า ยังพ้นภัย พ้นเวร พ้นบาปสูงขึ้นไม่ได้ "ศีล" นั้นก็ยังไม่ "วิสุทธิ" จริง แต่ก็นับว่า ระงับความหยาบมาได้ สูงขึ้นขั้นหนึ่ง "จิต" ก็สูงขึ้นได้ระดับหนึ่ง ทว่า สูงขึ้นกว่านี้ สะอาดกว่านี้ยังมีอีก
        "จิต" จะได้ชื่อว่า "อธิ" คือเป็นจิตที่สูงขึ้น เป็นจิตที่ดียิ่งขึ้น จิตที่บริสุทธิ์ขึ้นจริง ตามที่ขานเรียกว่า "อธิจิต" หรือ "สมาธิ" โดยลำดับ ได้เยี่ยงนี้ๆ จริง
        ก็ให้สำนึก สังวรกันให้มากๆ และพากเพียรประพฤติให้แท้ ให้ตรงกันเถิด
        สรุปแล้ว ขอให้ตั้งใจจริงๆ ทำความเห็นความเข้าใจ ในที่อธิบายมานี้ ให้แจ้ง ถ้ายังคิดสงสัย ละล้าละลังว่า การประพฤติเช่นนี้ จะนำพาให้เราบรรลุธรรม ถึงขั้นนิพพานจริงหรือหนอ? ก็จะทำให้เป็นกิเลส ขวางทางการประพฤติอยู่ สังเกตให้เห็น อ่านตรวจดูให้ได้ว่า มันมีการตัด กิเลส ตัณหา ออกชัดเจนไหม? และ มันดำเนินไปตามหลัก "ศีล-สมาธิ-ปัญญา" หรือไม่? พร้อมทั้งมีมรรคปฏิปทา มีผลเป็นคุณธรรม อันเป็นไป เพื่อนิพพานได้ล่ะหรือ? มันจะเป็น "เอกายนมรรค" คือ ทางสายเอกได้จริงไหม?
        เมื่อยังสงสัยอยู่บ้าง ก็อ่านคำตรัสของ สมเด็จพระบรมครูของเราใน บทที่ ๒ ต่อไปเถิด

 

        ในบทนี้ นำคำตรัสของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

อ่านต่อ หน้า 3 ในบทนี้ นำคำตรัสของ

 

   [เลือกหนังสือ]
page: 2/8
   Asoke Network Thailand