บทเนื้อหาประสาง่าย
"ศีล" นั้นเป็นหัวใจ ในการปฏิบัติธรรม อันสำคัญยิ่ง ตามคำสอนของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา ของ "ศาสนาพุทธ"
คำสอนหลักใหญ่ จึงจะต้องดำเนินตาม องค์ปรมาจารย์ เจ้าลัทธิของเรา คือ "ศีล-สมาธิ-ปัญญา"
แม้คำสอนย่อยๆ ใดๆ อันจะประพฤติ เพื่อเป็นไปตามลำดับ มีเบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย เมื่อรู้จักพระรัตนตรัย และศรัทธาในพระรัตนตรัย โดยจริง โดยแท้ ถูกต้องตรงตัวแล้ว เริ่มหลักสูตรในการเรียน และประพฤติธรรม ก็จะเริ่มที่ "ศีล" นั้นทั้งสิ้น
นั่นคือ หลักการต่างๆ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน โปรดสรรพสัตว์ ให้พ้นทุกข์ เป็นคำสอนซ้ำซากหลากหลาย (พหุลานุสาสนี) ซึ่งตัวอย่างมีมากมาย หลากล้น ในพระไตรปิฎก
แต่เป็นเพราะ เราชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ในปัจจุบันนี้ ชินชา และประมาท คำว่า "ศีล" กันไปหมดแล้ว เนื่องจาก เห็นเป็นของพื้นๆ เห็นเป็นเรื่องเบื้องต้น จึงได้ทำให้ "พุทธศาสนิกชน" พลาดจุดหมาย และออกนอกขอบเขตของพุทธ หลงทางนิพพาน ไปเสียอย่างจริงจัง "ศีล" มันจึงกลายเป็นสิ่งไร้ค่า สำหรับคนผู้หลงผิด (มิจฉาทิฐิบุคคล) ไปหมด แต่แท้จริงนั้น "ศีล" นั้นคือ หลักสำคัญสูงสุด และก็เพราะ "ศีล" นี้จริงๆ เป็น "หลักการ" เป็นองค์ประกอบ ในการปฏิบัติทั่วไป สำหรับคนทั่วไป จึงจะทำให้บุคคลผู้ประพฤติธรรม บรรลุธรรม [ยกเว้นผู้มีบุญบารมีที่เข้าข่าย "อุคฆฏิตัญญู" เยี่ยมยอดจริงๆ แม้ในพุทธสมัย ก็มีเพียงไม่กี่คนในโลก ที่ไม่ต้องปฏิบัติ] ดังพระพุทธพจน์ต่อไปนี้:-
จาก "กิมัตถิยสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๒๔ พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต อานิสังสวรรค ที่ ๑ ข้อ ๑ และ เอกาทสกนิบาต นิสสายวรรค ที่ ๑ ข้อ ๒๐๘
"ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นพระอรหันต์ ให้บริบูรณ์ โดยลำดับฯ" (กุสลานิ สีลานิ อนุปุพฺเพน อรหตฺตาย ปริปูเรนฺตีติฯ)
ดังนี้เป็นต้น จะเห็นได้ชัดว่า "ศีล" นั้นเป็น "เหตุ" และ "กุศล" นั้น เป็น "ผล" ของผู้พากเพียรมุ่งหมาย ชนิดที่เป็น "อิทัปปัจจยตา" (คือ ความมีสิ่งนี้ จึงมีสิ่งนั้น ความมีสิ่งนั้น จึงมีสิ่งโน้น
) อย่างต่อเนื่อง จนถึงที่สุด และ "มีสภาวะถึงที่สุด" จริงๆ ด้วย
ไม่ใช่เป็น "อิทัปปัจจยตา" ชนิดที่ "ไม่มีสภาวะจบ" คือ ไม่หมดเกิดสภาวะนั้นๆ ตลอดไป หรือ "มีที่สุด" ก็เป็นเพียงความนึกคิดเอา เป็นเพียงความเข้าใจได้ชัดแจ้ง ในความหมายเท่านั้น ส่วนสภาวะที่สุดจริงๆ ดับจริงๆ สูญจริงๆ นั้น ไม่มี
แต่มี "กุศล" สูงขึ้นๆ เพราะนิวรณ์ ๕ อันเป็นเหตุให้เกิด "อวิชชา" ลดจางลงๆ จริงๆ และกายกรรมสุจริตขึ้น วจีสุจริตขึ้น มโนสุจริตขึ้นจริงๆ "อวิชชา" เบาบางลงๆๆ จนที่สุด "อวิชชา" ไม่มี เพราะสภาวะของ "นิวรณ์ ๕" ดับสนิท ไม่มีในจิตตลอดไปในชีวิตจริงๆ [เนื่องจาก "นิวรณ์ ๕" นั้น เป็นอาหารของ "อวิชชา" ดั่งพระพุทธพจน์ใน "อวิชชาสูตร" อังคุต. ทสก. ข้อ ๖๑]
ไม่ใช่ "อวิชชา" ไม่มี เพราะเพียงเข้าใจได้อย่างซาบซึ้ง ชัดแจ๋วถึงขั้น "หายโง่" เลยหลงตนว่า หมด "อวิชชา" หรือหมดทุกข์สนิท ถอนอาสวะสิ้นแล้ว ดับไม่เหลือแล้วเรา แค่นั้นก็หาไม่
ระวังจะหลง "ความเฉลียวฉลาด" ที่เรียกในภาษาบาลีว่า "เฉโก" คือ ยิ่งฉลาด ซ่อนบังมาให้ตัวของตนได้ ชนิดที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัวได้ง่ายๆ และหลงมันว่า นี่เป็น "ปัญญาตรัสรู้" ปานนั้นก็ยังได้
ถ้าปฏิบัติ "ศีล" ให้เกิด "กุศล" ได้จริงๆ สูงขึ้นๆ ตามลำดับ และสูงสุดก็คือ "อรหัตผล" หรือถึงความเป็น "พระอรหันต์" อย่างที่พระบรมศาสดา ของเราชาวพุทธ ทรงยืนยัน
ดังนั้น ผู้เข้าใจผิดว่า "ศีล" ไม่ใช่ทางแห่ง "โลกุตตรธรรม" หรือ แม้มีอาจารย์บางท่านกล่าวว่า เรื่อง "ศีล" ก็ดี เรื่อง "กุศล-อกุศล" ก็ดีนั้น ไม่ใช่เรื่องของ "โลกุตตรธรรม" ก็คือ ผู้หลงทางโดยแท้ [ตาม "คิริมานนทสูตร" ซึ่งมียืนยันไว้ใน "บท" ต่อไป]
ขอให้สังเกตจาก ข้อความละเอียด เพิ่มขึ้นของ "กิมัตถิยสูตร" นี้บางส่วนต่อไปนี้ ก็จะเห็นได้
"ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีความไม่เดือดร้อนเป็นผล มีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์
ความไม่เดือดร้อน มีความปราโมทย์เป็นผล มีความปราโมทย์เป็นอานิสงส์
ความปราโมทย์ มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์
ปีติ มีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์
ปัสสัทธิ มีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์
สุข มีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์
สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นอานิสงส์
ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาเป็นผล มีนิพพิทาเป็นอานิสงส์
นิพพิทา มีวิราคะเป็นผล มีวิราคะเป็นอานิสงส์
วิราคะ มีวิมุติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุติญาณทัสสนะ เป็นอานิสงส์
ดูกรอานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมยังความเป็นพระอรหันต์ ให้บริบูรณ์โดยลำดับ ด้วยประการดังนี้แล"
สังเกตดีๆ ก็จะเห็นว่า เพราะปฏิบัติ "ศีล" เป็น "กุศล" นั่นคือ "เหตุ" แล้วจึงเกิดก่อต่อเป็น "ผล" เนื่องต่อไป จนเป็น "สมาธิ" จนเป็น "ปัญญา" แท้ๆ "ปัญญา" ทางธรรม คือ "ยถาภูตญาณทัสสนะ" และจนที่สุดถึงขั้นเป็น "ปัญญาวิมุติ" คือ ปัญญาขั้น "วิมุติญาณทัสสนะ" เป็น "ปัญญา" ที่เห็นแจ้ง ของจริง ที่เป็นจริง มีสภาวะจริงแห่ง "วิมุติ" คือ อย่างน้อย ก็เห็นสภาวะ "นิวรณ์ ๕" ดับสนิท ไม่เกิดในจิตของตนอีก เป็นธรรมดาทุกๆ ปัจจุบัน ทุกๆ อิริยาบถ ทุกๆ ผัสสะ จริงๆ
กว่าจะมี "อรหัตผล" แต่ละเรื่อง แต่ละผัสสะนั้น มิใช่การประหานเพียงกดข่มได้ เป็นบางรอบ บางขนาด (วิกขัมภนปหาน) แบบทำได้ด้วย การปลดปล่อยได้ ชั่วช่วง ชั่วคราว (ตทังคปหาน) แบบประหานได้เก่งขึ้น จนสงบ จนมีผล ได้ลิ้มผลเยือกเย็น ภายในจิตมากพอ (ปฏิปัสสัทธิปหาน) หรือแม้จะเป็นแบบสลัด ทั้งปล่อยวางได้เร็ว มีความชำนาญ และสามารถมากก็ตาม (นิสสรณปหาน) แต่ยังไม่ถึงขั้น สภาวะประหานได้ ชนิดขาดสูญไม่เกิดอีก อย่างต่อเนื่องเด็ดขาด ไม่เกิดอีกต่อไปในชีวิต (สมุจเฉทปหาน) ก็ยังไม่ถือว่า เป็น "อรหัตผล" หรือเรียกว่า สถาวะ "อรหันต์"
จาก "ศีลสัมปทาสูตรที่ ๒" พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๔๐
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง ฉันใดก็ดี เพื่อความเกิดขึ้น แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ของภิกษุ (คือ เกิด "อริยสัจ" ในผู้ปฏิบัติ) ความถึงพร้อมด้วยศีล ย่อมเป็นหลักเบื้องต้น เป็นนิมิตเบื้องต้น ฉันนั้นฯ"
จาก "ภิกขุสูตร" พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๖๘๗
"ดูกรภิกษุ เพราะเหตุนั้นแหละ เธอจงชำระสิ่งอันเป็นเบื้องต้น ในกุศลทั้งหลาย ให้บริสุทธิ์ก่อนเถิด ก็อะไรเล่า เป็นสิ่งเบื้องต้น ของสิ่งอันเป็นกุศลทั้งหลาย สิ่งเบื้องต้น ก็ได้แก่ ศีลอันบริสุทธิ์หมดจดด้วยดี และ ความเห็น (ทิฐิ) ที่ถูกตรง เมื่อใดศีลของเธอ เป็นศีลที่บริสุทธิ์ หมดจดด้วยดี และ ทิฐิ ก็จักเป็นความเห็น ที่ถูกตรงด้วย เมื่อนั้นเธออาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีลแล้ว พึงอบรมสติปัฏฐาน ๔ โดยส่วน ๓ เถิดฯ"
จาก "ราชาสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อ ๑๔๑๒
"ดูกรพระภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ควรนอบน้อมบูชา ผู้ควรแก่การต้อนรับ ผู้ควรได้รับของทำบุญ ผู้ควรนอบไหว้เคารพ เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยศีล อันเป็นที่น่าพอใจของพระอริยเจ้า (อริยกันตศีล) ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ ไม่ถูกลูบคลำด้วยตัณหาและทิฏฐิ และเป็นไปเพื่อสมาธิ"
จาก "โสณฑันฑสูตร" พระไตรปิฎก เล่ม ๙ พระสุตตันตปิฎก ศีลขันธวรรค ทีฆนิกาย ข้อ ๑๙๓.
"ดูกรพราหมณ์ ศีลย่อมชำระปัญญา ให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่า ก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น ปัญญาอยู่ที่ใดศีลอยู่ที่นั้น ผู้มีศีล ก็มีปัญญา ผู้มีปัญญา ก็มีศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีล และปัญญาว่า เป็นของเลิศในโลก เปรียบเสมือน คนล้างมือด้วยมือหรือล้างเท้าด้วยเท้า ฉันใด ศีลย่อมชำระปัญญา ให้บริสุทธิ์ และปัญญาเล่า ก็ชำระศีลให้บริสุทธิ์เหมือนกัน ศีลอยู่ที่ใด ปัญญาอยู่ที่นั้น ปัญญาอยู่ที่ใดศีลอยู่ที่นั้น ผู้มีศีล ก็มีปัญญา ผู้มีปัญญา ก็มีศีล บัณฑิตทั้งหลายย่อมกล่าวถึงศีล และปัญญาว่า เป็นของเลิศในโลก ฉันนั้นเหมือนกัน"
"ศีล" นั้นมีทั้งที่บอกกันได้ด้วย "ภาษา" เป็นหัวข้อๆ โดยทางปาก และ "ศีล" นั้น มีทั้งบอกกันไม่ได้เป็นหัวข้อๆ ตายตัวเลยทีเดียว และที่สุด "ศีล" นั้นมีทั้งที่บอกกันไม่ได้เลย แม้ด้วยปาก แม้ทั้งที่จะอธิบายด้วยวิธีใดๆ แต่พระอริยเจ้า หากรู้หากแจ้งใน "ศีล" นั้นๆ เอง และย่อมจัดการกับ "ศีล" นั้นด้วยตนเอง "ศีล" นั่นแหละ จะเป็นตัวนำ ให้ผู้ปฏิบัติบรรลุ "ปัญญา"
สิกขา ๓ ของพระบรมศาสดาของเรานั้น เป็นไปเกี่ยวเนื่อง ติดต่อกันเป็นสาย เป็นปัจจยาการ หรือ เป็นอิทัปปัจจยตา อย่างสำคัญยิ่ง มีสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน และเป็น "สมังคีธรรม" คือ เป็นธรรมะที่ติดต่อ โยงใยถึงกัน เป็นเหตุ เป็นผล แก่กันและกัน อย่างสลับซับซ้อนลึกซึ้งยิ่ง ทำงานร่วมกัน เกี่ยวข้องกัน ทั้ง ศีล-สมาธิ-ปัญญา
มิใช่แต่ละข้อ แต่ละเรื่อง ทำงานกันตามลำพังโดดๆ เดี่ยวๆ เรื่องใดก็เรื่องนั้น เฉพาะตนเฉพาะตัว โดยไม่เกี่ยว ไม่สัมพันธ์กัน หรือสัมพันธ์กันบ้าง ก็นิดๆ หน่อยๆ ไม่สำคัญอะไรมากนัก ไม่ใช่อย่างนั้นเลย ศีล-สมาธิ-ปัญญา มีความสัมพันธ์กัน อย่างลึกซึ้งสำคัญยิ่ง ขาดสิ่งใดไม่ได้
เช่น ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรือ อธิศีลศึกษา-อธิจิตศึกษา-อธิปัญญาศึกษา เราก็ต้องศึกษา (สิกขา) "ศีล" เป็นเบื้องต้น ศึกษาความหมายของคำว่า "ศีล" ขอบเขตของความหมาย ความตื้นลึกหนาบาง ของความหมาย และคำว่า "อธิศีล" หมายความชัดเจนอย่างไร "อริยกันตศีล" หมายความชัดเจนอย่างไร "ปาริสุทธิศีล ๔" มีความหมายชัดเจนอย่างไร "อเสขศีล" มีความหมายชัดเจนอย่างไร แล้วก็สมาทาน "ศีล" ที่เหมาะสมกับฐานของตน นำไปปฏิบัติจริงๆ ประพฤติ ปฏิบัติ ประจำทุกวัน ทุกวินาที กับชีวิต ให้ได้มากที่สุด
เมื่อปฏิบัติตาม "ศีล" นั่นแลอย่างแท้จริง พอ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจน "ตั้งมั่น" ขึ้น อันเรียก ในภาษาบาลีว่า "สมาธิ" (แปลกันว่า ตั้งมั่น) หรือ เมื่อ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจนบริสุทธิ์ ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย โดยแท้จริง ติดต่อกันเนืองๆ บริบูรณ์เช่นนั้นอยู่ ติดต่อกันไปเสมอ หรืออย่างมาก [ไม่ใช่ว่า ขาดมั่ง บริสุทธิ์มั่ง เป็นช่วงๆ ตอนๆ ขยักขย่อนอยู่ ไม่รู้จักจบสิ้น จนบริบูรณ์จริงๆ ไม่ได้สักที เล่นแต่นั่งปลงอาบัติ ต่อศีลกันอยู่ทุกวันเว้นวัน หรือ ทุกวันพระ ก่อนจะลงโบสถ์ อย่างนั้น ก็ไม่มีทางบริบูรณ์ จนเรียกได้ว่า "สมาธิ" แน่ ]
เมื่อสามารถมีสติ สังวรควบคุม "กาย-วาจา" ได้ไปเรื่อยๆ เสมอๆ อย่างถูกวิธี คือ ขณะสังวร "กาย-วาจา" นั้นด้วยสติ ด้วยธรรมวิจัย ด้วยวิริยะ นั่นแหละ "จิต" ก็ได้รับการอบรมไปด้วยในตัว เลือกเฟ้น สั่งสม "กุศล" หรือสั่งสม "สัมมา" เสมอๆ เป็น "โพชฌงค์" หรือ "โพธิปักขิยธรรม" ด้วยรู้ ด้วยเห็นตามกรรมที่ตนมี ตามการงานที่ตนทำ ซึ่งเป็นผลเพราะ "ความพยายามสังวร" จริง กาย-วาจา-ใจ ก็จะเจริญขึ้นๆ จนที่สุดบริบูรณ์ได้นั่นเอง คือ "จิต" ของผู้ปฏิบัตินั้น จะก้าวเข้าสู่สภาพสูง เป็น "จิตอันยิ่ง" หรือ "จิตอันดียิ่ง" ที่เรียกในภาษาบาลีว่า "อธิจิต" หรือ "สมาธิ"
เมื่อ "ศีล" ชำระ "จิต" ของผู้ปฏิบัติจนเป็น "อธิจิต" หรือ "ศีล" ได้รับการปฏิบัติจริงจัง จนเป็น "สมาธิ" (สัมมาสมาธิ) ได้ดังอธิบายนี้ [อย่าไปเข้าใจผิด อยู่เพียงว่า "สมาธิ" คือ การนั่งหลับตา บริกรรมเท่านั้น อย่างพวกลัทธินอกพุทธศาสนา เขาสามารถมีภูมิปัญญา เข้าใจได้เพียงเท่านั้น และก็ยึดเอา "สมาธิ" ได้เพียงแค่ สมาธิแบบนั้น เท่านั้นเป็นอันขาด] "จิต" เอง นั่นเอง ก็จะรู้จะเห็น "ของจริง" ตามความเป็นจริง
คือ จะรู้ "ของจริง" ในจิตของตนว่า "กิเลส" เป็นเช่นใด จับตัวจับตนของมัน ซึ่งที่จริง "มันไม่มีตัวตน-มันไม่มีรูปร่างกาย" ดอก นั่นแหละ แต่มีอาการ (ลิงค-นิมิต-อุเทส) ที่สามารถสัมผัสรู้ได้ 'กิเลส' จางคลายจากจิต ด้วยความสามารถตามวิธี (อิทธิวิธี) ของเรานั้นเป็นเช่นใด? ต่างกับจิตที่มี 'กิเลส' นั้นๆ อยู่อย่างไร? ผู้ปฏิบัติจะรู้ของแท้ สภาวะจริงๆ ซึ่งจะไม่ใช่คิด ไม่ใช่คะเนคำนวณ นี้คือ "ปัญญา" ที่เรียกว่า "วิปัสสนาญาณ" หรือ "ยถาภูตญาณทัสสนะ"
ใครทำไม่ได้ ก็ไม่มี "ของจริง" ให้รู้ เพราะต้องรู้ ต้องเห็น 'ของจริง' ของตน ในตนเองเท่านั้น เห็นจากคนอื่นไม่ได้ จึงเรียกในภาษาบาลีว่า "ปัจจัตตัง" คือ รู้ได้เฉพาะตน ตนมี ตนเป็น ตนรู้สภาพที่เป็น ที่มีของตนเท่านั้น รู้ของคนอื่นแทน หรือคิดรู้ เข้าใจรู้ รู้ไม่มี 'ของจริง' ที่เป็น ที่มีรองรับ ไม่ใช่ "ปัจจัตตัง"
การรู้นั้น ต้องรู้ทั้งตัวกิเลส ชนิดใด ชนิดนั้น และรู้ทั้งรายละเอียดต่างๆ อีก
เช่นว่า นี่เป็นกิเลสกาม ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสพยาบาท ก็เป็นอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสถีนมิทธะ มันมีสภาวะอย่างนี้ๆ นี่เป็นกิเลสอุทธัจจกุกกุจจะ ยังฟุ้งซ่าน หยุดไม่ลง ยังดื้อดิ้นต่ออยู่ ยังพริ้วพราย กระเส็นกระสาย เป็นที่รำคาญอยู่ เป็นอย่างนี้ๆ นี่คือ วิจิกิจฉากิเลส อาการรู้ที่ยังไม่ชัดแท้ รู้ยังไม่จุใจ รู้ยังไม่แจ้งจริง รู้ยังไม่ถึงที่สุด ยังไม่ตรัสรู้สมบูรณ์ ล้วนเป็นกิเลสอาการอย่างนี้ๆ เอง
หรือ นี่คือ กิเลสราคมูลนั้นอย่างนี้ นี่คือ กิเลสโทสมูล นั้นก็อีกอย่างหนึ่ง หรือ อย่างนี้ๆ จัดเป็นกิเลสโมหมูล ดั่งนี้ ต้องรู้กิเลสอาการต่างๆ ที่มีความต่างกัน (ลิงค) จะเป็นกิเลสที่มาจากมูลใด โคตรใด สายใด ก็รู้ มีหยาบมาก มีปานกลาง หรือมีน้อยๆ ละเอียดๆ ก็รู้ มีรายละเอียด ที่เป็นความแตกต่างกันอยู่ทั้งนั้น (ลิงค) ตามของจริงที่เป็นจริงนั้นๆ
ยังมี "ตัว" กิเลสนั้นๆ ในตนมาก เกิดอยู่มาก ก็รู้ หรือน้อยแล้ว ก็รู้ หรือหมดแล้ว แต่หมดชั่วคราว ก็ต้องรู้ ดับสนิท ก็ต้องเรียนรู้ชัดๆ เมื่อมีน้อย ทุกข์น้อย ก็เข้าใจเห็นจริง ก็รู้ซึ้งเอง หรือกิเลสหมดนั้น สงบสุขในจิตอย่างไร ไม่ต้องรับใช้มัน ไม่ต้องเป็นทาสมัน ไม่ต้องดิ้นต้องรน เรียกว่า สุขสงบ สุขปราศจากกิเลสตัณหานั้น อย่างนี้ๆ เอง (วูปสมสุข) ต่างจาก "สุข" ที่เป็น "การได้เสพสมใจ" (โลกียสุข) อย่างไร ก็รู้แจ้งชัดใน ความต่างกัน (ลิงค)
กำลังปฏิบัติ กำลังเพียรฆ่ากิเลส ด้วยวิธีต่างๆ รู้เห็นอยู่ว่า กิเลสลดจางลงบ้างแล้ว กำลังสู้กับกิเลสอยู่ เป็นอย่างนี้ ก็รู้ ก็ปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา เป็นการปฏิบัติอย่างรู้ ทั่วทุกทวาร ทุกกรรม ด้วยทางปฏิบัติ อันเป็นทฤษฎีเอก คือมรรคอันมีองค์ ๘
ดับเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้ ทุกข์ดับสนิทไปจริง ทั้งๆ ที่ยังมีความเป็นอยู่เหมือนคนอื่น มีอริยาบถ เคลื่อนไหวไปมา ทำงานอยู่ มีชีวิตปกติ เหมือนชาวบ้านชาวเมือง (ไม่ใช่นั่งดับ แต่ตอนนั่งหลับตาอยู่) แต่เรา 'ดับทุกข์' หรือ 'ทุกข์ดับ' สนิท ไม่เกิดอีก แม้จะกระทบวัตถุ กระทบสัมผัสลีลา อาการของเหตุภายนอก ที่เคยทำให้เรา กิเลสเกิด ทำให้ทุกข์เกิดนั้นๆ อยู่ เราก็ "ทุกข์ดับ" อยู่ เพราะ "กิเลส" อันเป็น 'เหตุให้เกิดทุกข์' มันตายอยู่ๆ มัน 'ไม่เกิด' อยู่ๆ มัน 'ดับสนิท' อยู่ๆ (นิโรธ) เห็นๆ รู้ๆ สภาวะ "ดับสนิท" หรือ "ตายไม่เกิด" อยู่ในจิตเรา เป็นปัจจุบันนั้นๆ ทีเดียว (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) ดั่งนี้
ก็รู้เองของตนเอง (ปัจจัตตัง) คนอื่นรู้แทน หรือ คนอื่น "สอบญาณ" รู้แทนเราไม่ได้
สามารถรู้ "ทุกข์" เพราะมันยังมีกิเลสนั้นอยู่ คืออย่างไร? กิเลส ตัณหานั้น เป็น "เหตุแห่งทุกข์" อย่างไร? และ "ทุกข์ดับ" เพราะกิเลสตัณหาดับ เหตุแห่งทุกข์ดับนั้น แน่จริงไหม? และ "ทุกข์ดับสนิทอยู่ได้ ทั้งๆ ที่ก็มีการเป็นอยู่เยี่ยงชาวบ้าน อยู่กับชาวบ้านนี่แหละ ไม่ใช่หนีไปไหน" (ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา) เพราะสมบูรณ์ด้วย อริยมรรคองค์ ๘ แล้ว มีสัมมาอริยมรรค มีสัมมาญาณ มีสัมมาวิมุติ ครบ "อุภโตภาควิมุติ" คือ มี "วิมุติ" ทั้ง ๒ ในตนจริง ได้แก่:-
๑) ผู้นั้นได้ปฏิบัติ จนทำให้กิเลสดับ หรือไม่มี อย่างสนิทในจิตจริง ชนิดไม่กลับกำเริบอีก (อกุปปาเจโตวิมุติ)
๒) รู้ชัด รู้แจ้งอย่างถูกต้องแท้ และมี "ของจริง" ด้วยว่า ความดับสิ้นกิเลสเป็นเช่นนั้นๆ เห็น "ความดับ" เห็นสภาพ "นิโรธ" อยู่โต้งๆ เห็น "สูญญตา" เห็น "อนัตตา" คือ เห็นความไม่มีตัวตน ของกิเลสอยู่โทนโท่ มีอารมณ์ว่างจากกิเลส เป็นความสงบสบาย เช่นใดเช่นนั้นจริงๆ (ปัญญาวิมุติ หรือ วิมุติญาณทัสสนะ)
รู้แจ้ง "ของจริง" ความจริงในอริยสัจ ๔ ครบครันทีเดียว ในสภาพที่เป็นคนมีสติ มีอริยาบถปกติ รู้โลกภายนอกที่แวดล้อมอยู่ ทำงานทำการ พูดจา คิดนึกทำอะไรๆ ได้อยู่นี่แหละ มิใช่อยู่ในสภาพต้องหลับตา รับรู้อยู่แต่ในภวังค์ ไม่รู้เรื่องอะไรกับภายนอก
การรู้ "รูป-นาม" หรือ จะมี "ปัญญา" เห็นแจ้ง "รูป-นาม" นั้น พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า รู้ได้ด้วย "อาการ-ลิงค-นิมิต-อุเทส"
ที่ได้กล่าว ยกขึ้นแสดงมาตลอด นั้นคือ "อุเทส" และความหมาย ที่ยกมากล่าวถึง มาอธิบายต่างๆ นั้นคือ "อุเทส"
เมื่อไปปฏิบัติพบ "อาการ" ที่ตรงตามความหมาย ทั้งๆ ที่เป็นนามธรรมนี่แหละ ผู้ปฏิบัติจับ "อาการ" นั้นๆ ได้ ตามความหมาย ที่เราเข้าใจมาแล้ว มี "เครื่องหมาย" ให้จับได้ "เครื่องหมาย" นั้นๆ แหละคือ "นิมิต"
เราต้อง "กำหนดหมาย" ทำเครื่องหมาย (นิมิต) นั้นๆ เอาเองด้วยความสามารถ และปัญญาอันยิ่ง อย่างสำคัญ รู้ยากมาก เพราะเป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง (อสรีระ) ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มี "ตัวตน" ที่เป็นแท่งก้อนหยาบ (อนัตตา)
"อาการ" ของกิเลส "อาการ" ของ "จิต" ที่รู้กิเลส ตลอดจน "อาการ" ของกิเลสลักษณะต่างๆ หรือกิเลสลดตัวเล็กลง หรือ "อาการ" ของความว่างจากกิเลส และ "อาการ" ต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ฯลฯ ดั่งนี้เป็นต้น ล้วนมี "ความแตกต่าง" กันและกัน การรู้ "ความแตกต่าง" ได้นั่นแหละคือ "ลิงค" หรือ "เพศ"
เรารู้ "กิเลส" เห็น "กิเลส" รู้เห็นปรมัตถธรรม รู้เห็นนามธรรม รู้เห็นวิญญาณ รู้เห็นจิต-เจตสิก-รูป (ของนามธรรม ซึ่งคือ "สภาวะที่ถูกรู้" จะมิใช่ "รูป" ของวัตถุธรรม) -นิพพาน ได้ด้วย "อาการ" ทั้งสิ้น
ต้องรู้เห็นด้วย "ปัญญาอันยิ่ง" จับ "ของจริง" ที่เป็น "อาการ" แท้ๆ แห่งนามธรรมนั้นๆ ได้ จึงเรียกว่า "ตาทิพย์" ที่ไม่หลงผิด ออกนอกคำสอน ของพระพุทธเจ้า หรือ เรียกว่า "ตาทิพย์" ในวิชชาพุทธศาสนา
จะมิใช่ รู้เห็นด้วย "รูป" (วัตถุ) รู้เห็นด้วย "สรีระ" หรือ รู้เห็น "วิญญาณ" ด้วยการนั่งหลับตาปั้น "รูปร่าง-ตัวตน-มีสีสัน-มีโฉมกาย" ขึ้นในภวังค์ จนสำเร็จด้วยจิต (มโนมยอัตตา) แล้วหลงผิดว่า นั่นเป็นการรู้เห็น "วิญญาณ" เป็นการรู้เห็น "นามธรรม" แล้วเข้าใจเอาการรู้ การได้เห็นอย่างนี้ว่า "ตาทิพย์" นี้แหละคือ "ตาทิพย์" แบบเดรัจฉานวิชา
การรู้เห็น การได้เข้าใจ หรือ การเกิดความฉลาดเฉลียว การเกิด "ปัญญา" จึงมีนัยะที่มีเงื่อนไข มีประเด็นให้ชัดเจน
ไม่เช่นนั้นจะหลงผิดได้ ทั้งที่อาจจะไปจับ เอาความฉลาดเฉลียว ชนิดที่เรียกด้วยภาษาบาลีว่า "เฉก" หรือ "เฉโก" มาเป็น "ปัญญา" ทั้งที่อาจจะไปจับ เอาการรู้เห็นแบบ "เดรัจฉานวิชชา" มาเป็น "ปัญญา" มาเป็น "อภิญญา" มาเป็น "วิชชา" แบบพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องลึกซึ้ง แม้แค่การเข้าใจ จากอธิบายนี้ ก็ยังยากอยู่
การเกิด "ปัญญา" ได้อย่างแท้จริง โดยนัยที่ถูกต้องดังนี้เอง ผู้มี "ศีล" จึงมี "ปัญญา" แน่ ผู้ปฏิบัติ "ศีล" ให้ถูกต้องทั้งเป็นจริง ย่อมบรรลุ "ปัญญา" จริงอย่างนี้แล
แต่ผู้ปฏิบัติ "สมาธิ" อันยังไม่มี "ศีล" หรือ ยังไม่พ้นกิเลสตัณหา เป็นปกติโดยจริง (เฉพาะในข้อ "ศีล" ที่เราสมาทานก็ดี) กิเลสตัณหานั้น มันจะไม่ยอมให้เกิด "ปัญญา" ที่เป็นไปเพื่อจะมาฆ่าตัวมันเอง (คือ กิเลส-ตัณหานั้นๆ เอง) ง่ายๆ แน่ๆ จึงจะบรรลุ "ปัญญา" (โลกุตตรปัญญา) มิได้เป็นอันขาด จะได้ก็แต่ "ปัญญา" ที่เบี้ยวๆ เบี่ยงๆ อันยังมีกิเลสตัณหาแฝงๆ หรือ ลากจูงไปอยู่อย่างแน่แท้ อาจจะส่งเสริม "เดรัจฉานวิชชา" อยู่ (คือ ยังไม่เป็น "โลกุตตรปัญญา" แท้) อาจจะได้ความสงบ แต่มันก็ยังไม่เป็น "ปัญญา" ตามที่มีเป้าหมายสำคัญ ของพุทธศาสนา
บางอาจารย์สอนว่า ให้นั่งๆ หลับตา ทำความสงบเข้าไปเถอะ ทำๆๆๆ แล้ว "ปัญญา" มันจะเกิดขึ้นมาเอง ตัว "ปัญญา" มันจะโผล่พลัวะขึ้นมาเอง ว่าอย่างนั้นก็มี
ไม่ใช่พิจารณาเห็น "ของจริง" ตามความเกิด ความเป็น ความมีจริง โดยเฉพาะ ความเป็น ความมี แห่ง "อริยสัจ ๔" ดั่งที่ได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่เลย
หรือไม่เช่นนั้น ก็สอนว่า เมื่อนั่งสะกดจิต ให้สงบได้แล้ว ใช้จิตนึกคิด ไตร่ตรองไป ก็จะเกิดปัญญาใสสว่าง
ก็อาจเป็นได้บ้างจริงอยู่ แต่ยังไม่ใช่ "ปัญญา" ที่รู้แจ้ง อริยสัจ ๔ ครบพร้อมเป็นสมังคี โดยเฉพาะ ในข้อ "ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา" คือ ความพ้นทุกข์ เพราะเหตุแห่งทุกข์ดับสนิท ไม่มี "การเกิด" (ของกิเลส) อีกอยู่ ทั้งๆ ที่มีความเป็นอยู่ มีพฤติกรรม มีอิริยาบถปกติธรรมดาๆ อยู่เยี่ยงผู้คน ชาวบ้านเขานั่นแหละ
หรือยิ่งเป็นว่า พอจิตสงบก็ไปสร้างนรก สร้างสวรรค์หลอกตัวเอง มีสภาพแปลกๆ อยู่ในภวังค์ แล้วก็หลงว่า ตนได้ฤทธิ์พิเศษ ได้อภิญญารู้เห็นอะไรพิเศษ ซึ่งที่แท้ เป็นอุปาทานของตน ที่มันฝังอยู่ในจิต แล้วมันก็หล่อหลอม จนปั้นขึ้นเป็นตัวเป็นตน สำเร็จได้ทางจิต (มโนมยอัตตา) นั่นก็ยิ่งไม่ใช่ "โลกุตตรปัญญา" ใหญ่เลย เพราะเป็นเพียงอัตภาพ (อัตตา) ชนิดหนึ่ง ที่เกิดผลสำเร็จ จากความอุตสาหะเพียรทำ เพียรสร้าง ให้เกิดผลได้ สมที่ตนได้ยึดถือมา อย่างผิดๆ อย่างหลงผิด "ความรู้" ความเข้าใจอย่างนี้ ใครๆ ก็ล้วนเคย "หลงผิด" เคยนึกว่า คงจะเป็นอย่างนี้ๆ มากันแล้วทั้งนั้น ตั้งแต่โบราณกาลด้วยซ้ำ
จึงเรียกได้ว่า การทำ "สมาธิ" หลับตา เอาแต่ความสงบเฉยๆ เท่านั้น ก็ยังไม่พ้น "โมหะ" คือ หลงผิด หรือหลงยึดถือที่ผิดๆ นั้นว่าเป็นถูก และยังไม่พ้น "อวิชชา" คือ สภาพที่ไม่ใช่ "วิชชา" ที่พาพ้นทุกข์อันสิ้นรอบ หรือไม่ใช่ "พุทธวิชชา" โดยถ้วน ถูกแท้
ซึ่งปัจจุบันนี้ มีอยู่ทั่วไปดาษดื่นมาก "สมาธิ" แบบที่ว่านี้ เมื่อ "พุทธวิชชา" ไม่ถูกถ้วนแท้ "เดรัจฉานวิชชา" จึงมีมากด้วย และไปติดอยู่แค่ "สงบ" เพราะมันได้อยู่นิ่งๆ ไม่ต้องคิด ต้องนึก ไม่ต้องมีงาน มีการอะไร ไม่ต้องสัมพันธ์ กับใครต่อใครมากนัก ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร "สงบ" แบบมีชีวิตอยู่ล่องๆ ลอยๆ เปล่าดาย (โมฆบุรุษ) ก็เยอะที่สุด
อ่านพระพุทธพจน์ อันเป็นข้อความยืนยัน และแสดงถึงความชัดเจน และอ่านข้อความอธิบายประกอบ ให้กระจ่างแจ้งออกปานนี้แล้ว เมื่อผู้ใดเห็นได้และเชื่อว่า คือ ทางแท้จริงอย่างนั้น อย่างใด ก็จงลงมือประพฤติธรรม โดยยึดถือ "ศีล" มาเป็นข้อกำราบ เป็นวิธีการ ประหารกิเลสตัณหาของตนเถิด
ขอเตือนไว้เป็นข้อใหญ่เลย ว่า การประพฤติธรรม โดยยึดถือ "ศีล" มาเป็นวิธีการประหารกิเลส ตัณหานั้น ไม่ใช่การกระทำกันอยู่ เพียงเป็นจารีตประเพณี ไม่ใช่การถือ "ศีล" เพียงมีแต่ทำตามรูปแบบ ของจารีตประเพณี ซึ่งก็ทำจริงๆ เหมือนกัน จะเพียงไปกล่าวคำอาราธนาศีล แล้วก็ฟังพระให้ "ศีล" มา เสร็จแล้ว เราก็ไม่ละเมิดการฆ่าสัตว์ ไม่ทำการขโมย ไม่ผิดลูกเมียใคร ไม่พูดปด ไม่ดื่มสุรา แต่ทำแค่ในวันที่ขอ "ศีล" นั้นเท่านั้น พอผ่านพ้นวันนั้นไป แล้วก็ทำชั่ว ทำบาปละเมิด "ศีล" ทุกข้ออยู่ เป็นส่วนมาก หรือเป็นปกติ (คือไม่มี "ศีล" เป็นปกติ)
ถ้าอย่างนั้นเรียกว่า สักแต่ว่าถือ "ศีล" ตามจารีตประเพณี เป็น "ศีลพตปรามาส" มันให้ผลไม่คุ้มกัน มันก็ได้ผลบ้างอยู่หรอก แต่มันไม่มีแรงพอ จะพาพ้นทุกข์ได้ เป็นอันขาด
ผู้จะตัดรอบ (โคตรภู) จากปุถุชน ขึ้นเป็นพระอริยโสดาบันได้นั้น จะต้องพ้น "ศีลพตปรามาส" ไปได้
จึงควรคำนึงให้มาก อย่ายึดติดเพียง ทำตามจารีตประเพณี แค่นั้นอยู่เท่านั้น จงเข้าใจเหตุผล ของจารีตประเพณีให้ได้ ไม่เช่นนั้น เราจะพ้น "ศีลพตปรามาสสัญโยชน์" ไปไม่ได้
ถ้าแม้นเรารู้จักหัวข้อ "ศีล" อันเป็นหลักการ ที่จะนำมาประพฤติแล้วชัดเจน เข้าใจความหมาย จำได้ เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไป "ขอศีล" จากพระ เพราะเพียงติดอยู่ แค่คำว่า จารีตประเพณี กันอีกก็ได้ แต่มิใช่จะรังเกียจ จนนั่งประนมมือ ฟังพระให้ศีลไม่ได้ หรือจะไปขอสมาทาน ให้คำมั่นสัญญากับพระ เพื่อปฏิบัติ "ศีล" นั้นๆ อย่างจริงจัง ก็ยิ่งดี
เราต้องเข้าใจ เหตุ-ผล ของจารีตประเพณี พิธีการต่างๆ ให้พอ และ ให้ดี อย่าหลงยึดติดอยู่ แค่รูปของ จารีตประเพณี พิธีการเป็นอันขาด ผู้ไม่เข้าใจเหตุผล ของจารีตประเพณี พิธีการดีพอ หลงเกาะยึด หลงทำอยู่แต่กับรูปการณ์นั้นๆ จนเสียเวลาเปล่า ไม่คุ้มค่า และไม่รู้จักปล่อยวาง "รูป" ที่เฟ้อ ที่เหลวไหล หรือ ไม่รู้จักแง่ ที่เป็นคุณค่าควรถือไว้ ของจารีตประเพณี พิธีการ แล้วทำให้มีผล มีประโยชน์ (ต้องแยก "รูป" แยก "นาม" ของจารีต พิธีการ ประเพณีออกด้วย และถือให้เป็น) ผู้นั้นก็จะพ้น "ศีลพตปรามาสสัญโยชน์" ไม่ได้
ผู้ที่เขาเข้าใจไม่ได้ ปล่อยวางไม่เป็น กระทำไม่เข้าเป้าหมายจริงๆ ก็มีอยู่ หรือ แม้นเรารู้แล้ว เห็นคนที่เขายังได้แค่ "ศีลพตปรามาส" ก็ต้องปล่อยเขาไป ไม่ต้องไปขวางเขา หรือ ไปดูถูกเขาเกินการ
ถ้าเราสามารถอธิบาย ช่วยกันชี้แจงแก้ไข หรือ จะปรามเขา ซึ่งก็จะมีการกล่าวถึง หรือมีส่วนดูถูกการกระทำ ที่ยังไม่ดี กดข่ม ดูถูกสภาพ ที่ยังไม่ถูกต้องอยู่แน่ๆ แต่เป็นการดูถูกอธรรม ชี้ความต่ำของอธรรม มิใช่ดูถูกตัวคน ก็พึงมีศิลปะ ในการพูดให้ชัดๆ ดีๆ แจ้งเหตุแจ้งผลสู่กันฟัง เพื่อช่วยเขา ให้พ้น "ความไม่รู้" บ้างได้ ก็ทำ
แต่ถ้าเมื่อทำแล้ว เขาก็ยังไม่เข้าใจ แถมหาว่าเราดูถูก ลบหลู่ หรือหลงทาง ก็ช่างเขาก่อน ให้สงสารคนเช่นนั้นให้มาก ถ้าทำไปได้ผลดีอยู่ ก็ทำต่อไป แต่ถ้าไม่มีผลพอคุ้มพอควร ก็งดเสีย
ข้อสำคัญ ควรสังวรให้มากที่สุด ก็คือ อย่าหลงผิดให้เลยเถิดไป จนกลายเป็นคนที่เรียกว่าเป็น "มิจฉาทิฐิบุคคล" (คือ ผู้หลงทางผิด) อีกแบบหนึ่งไปเสียหละ คือ กลายเป็นผู้ดูถูก หมิ่นประมาท "ศีล" เพราะความไม่เข้าใจซึ้งคำว่า "ศีล" คืออะไร? ยังไม่รู้รูป-รู้นามของ "ศีล" และเห็นคนผู้ยึดถือ "ศีล" มาปฏิบัติบำเพ็ญ (พต หรือ พัตต) กลายเป็นคนโง่ เป็นคนชั้นต่ำ หรือ คนผิดไป ถ้าผู้ใดเข้าใจอย่างนั้น ก็ตัวผู้เข้าใจเองนั่นแหละ เป็น "มิจฉาทิฏฐิ" และเป็น "โมหบุคคล" (คนมืดบอดหลงทาง)
เพราะ ลูกศิษย์ตถาคตต้องมี "ศีล" ต้องถือเอาศีลมาปฏิบัติ เป็นเครื่องเหนี่ยวโน้ม นำตนขึ้นสู่ที่สูง เรียกกันเป็นภาษาได้เลยว่า ต้องมี "ศีลพต" แต่อย่าให้เป็น "ปรามาส" คือ อย่าให้มีผล เพียงสักแต่ว่าปฏิบัติ "ศีล"เหมือนได้เพียงลูบๆ คลำๆ ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้ดื่ม ไม่ได้กิน ไม่เข้ามรรค ไม่มีผลนั่นเอง
พ้น "ศีลพตปรามาส" คือต้องบำเพ็ญปฏิบัติ "ศีล" กันให้เป็น "อริยมรรค" หรือ บำเพ็ญปฏิบัติ "ศีล" มีผลสู่ความเป็น "อริยะ" ให้ได้ นั่นเอง หากไม่ได้ ก็ชื่อว่าไม่พ้น "ศีลพตปรามาส" ถ้าได้เป็น "อริยมรรค" มีผลธรรมเป็นอริยคุณ จึงจะชื่อว่า พ้น "ศีลพตปรามาส"
ความหมายของ "ศีลพตปรามาส" นั้น ก็ต้องเข้าใจเนื้อหา สาระ เป้าหมายแก่น (อัตถ) เข้าใจชั้นเชิง และสถานภาพจริง ที่พึงเป็น พึงมีอยู่จริงในตนในอื่นๆ (ธรรม) เข้าใจภาษาสื่อแจ้ง สิ่งบอก (นิรุตติ) มีไหวพริบ ความเฉลียวฉลาด เร็วไว แจ่มแจ้ง (ปฏิภาณ) เกี่ยวกับการปฏิบัติ "ศีลพต" และ อย่าให้เป็นเพียง "ปรามาส"
ถ้าเข้าใจไม่ดี ไม่พอ เข้าใจได้เพียงตื้นๆ เขินๆ ก็ได้ผลอยู่เพียงตื้นๆ เขินๆ หรือไม่ได้ผลเลย ถ้าเข้าใจผิดๆ เพี้ยนๆ ก็จะได้ผล ออกนอกเรื่อง นอกลู่ และนอกพุทธศาสนาไปเลย
เช่น หากถือได้แค่ เพียงการปฏิบัติ "ศีล" เป็นเพียงรูป เพียงแบบอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีปัญญา รู้กิเลส รู้ตัณหา จากการปฏิบัติ "ศีล" เพียงพอ ไม่ได้รู้ผลว่า ได้ผลหรือไม่ จบเสร็จกิจในข้อนั้น หรือไม่เสร็จ หรือ มีผลสูงพอจะเพิ่ม "อธิศีล" ให้แก่ตนอีก ได้แล้วอย่างไร? แค่ใด? ก็ไม่รู้เรื่องอะไรแท้ๆ ก็นั่นแหละคือ ผู้ได้แต่ "ศีลพตปรามาส" แม้จะชื่อว่า ถือ "ศีล" มี "ศีล" แบก "ศีล" อยู่นานปีดีดักปานใดก็ตาม ซึ่งคนลักษณะนี้ มีอยู่ใน "พระ" (ปัจจุบันนี้) มากที่สุด มีอยู่ในคนที่พยายามถือ "ศีล" หรือหลงตนอยู่ว่า ตนมี "ศีล" อย่างไม่รู้จริง ไม่มีผู้แนะนำอย่างถูกต้อง ไม่มีสัตบุรุษสอน เกลื่อนกล่นเยอะแยะ อยู่ในสังคมศาสนาพุทธทุกวันนี้
ส่วนผู้บำเพ็ญปฏิบัติ "ศีล" นั้น พ้น "ศีลพตปรามาส" ผู้นั้นก็จะเจริญขึ้นสู่ความเป็น พระอริยะ เป็น "อริยกันตศีล" และ เป็น "ปาริสุทธิศีล ๔" จนสุดท้ายเป็น "อเสขศีล" คือ เมื่อท่านปฏิบัติไปๆ ท่านก็จะพึงพอใจ ยินดีใน "ศีล" ที่เป็น "อริยมรรค" และในผลของการปฏิบัติตาม "ศีล" (อริยกันตศีล) จนบริสุทธิ์ ทั้ง "ปาฏิโมกขศีล" ทั้ง "อินทรียสังวรศีล" ทั้ง "อาชีวปาริสุทธิศีล" และทั้ง "ปัจเวกขณปาริสุทธิศีล หรือ ปัจจยสันนิสิตศีล" ครบ ๔ จนที่สุด บริบูรณ์ จบกิจใน "ศีล" นั้นๆ เป็น "อเสขศีล" คือ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ไม่มีทุกข์ ไม่ต้องทนข่มฝืน ไม่ต้องลำบาก ในข้อใดข้อนั้นแล้ว มีพฤติกรรมชีวิต เป็นอยู่สบายกับ "ศีล" ข้อใดข้อนั้นแล้ว นั่นคือ ผู้นี้อยู่กับ "ความปกติ" ใน "ศีล" ข้อนั้น (ศีล แปลว่า ปกติ)
และผู้นี้จะมีชีวิตอยู่ โดยมีศีล "ศีล" นั้นๆ อยู่ประจำตัวอย่าง "ปกติ" สบาย เป็นคนมี "ศีล" นั้นๆ อยู่ประจำชีวิต
ชีวิตมี "ศีล" เป็น "ปกติ" ไม่ใช่ "ปกติ" ไม่มี "ศีล" ไม่ใช่คิดจะถือ "ศีล" ค่อยเอาข้อกำหนด "ศีล" นั้นๆ มาถือ แต่มี "ศีล" นั้นๆ แล้วประจำตัวเป็นอัตโนมัติ พร้อมทั้งมีปัญญาขั้น "วิมุติญาณทัสสนะ" ใน "ศีล" นั้นๆ แล้ว ไม่มีเวียนกลับ
ส่วนนักคิด นักสร้าง "ปัญญา" (ความรู้) โดยไม่มี "ศีล" เป็นเบื้องต้นนั้น ก็คือนักรู้เฉโก คือ ปุถุชนธรรมดาๆ ที่มีแต่ความเฉลียวฉลาด หลักแหลมชนิด "เฉโก" ยิ่งๆ ขึ้น ซึ่งเขาอาจสามารถ "จินตนา" หรือคิดผกผัน สร้างเหตุสร้างผล อันเป็น "ปรัชญา" ที่ร้อยเรียงมีหลักการ มีหัวข้อ มีอะไรก็ได้ นานาภาษา อันเป็น "ตรรกวิทยา" ก็ดูสวยหรู และดูเข้าทีน่าทึ่งทั้งนั้น แต่บางเรื่อง บางกรณี มันจะเป็นเช่น ภาษาที่เขาแยกแยะ แยบยลนั้น ไม่ได้เลย มันเป็นได้เพียงความคิด ลอยลม การสร้างเชิงรู้ความรู้แบบนี้ ก็สามารถจะคิดผกผัน สร้างเหตุ-ผลต่างๆ ให้วิจิตรพิสดารออกไปได้ ไกลล้ำลึกเหมือนกัน แต่สภาวธรรมแท้ๆ นั้น มันไม่มี
โดยเฉพาะ "สภาวะของจิต" มันไม่ได้หมด กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน จริง ดังนั้น ความสัมผัสที่ละเอียดลึกซึ้งใน "สภาวธรรมในจิต" ที่จะยกสูงขึ้นๆ จนเรียกว่า "อธิจิต" จึงไม่สามารถเกิด ที่สุด "อธิปัญญา" คือ ปัญญาอันสูง "ปัญญาอันยิ่ง" แท้จริง มันจึงมีไม่ได้
"ปัญญา" ทั้งหลาย ที่เขาหลงคิดผกผัน ทั้งหลายนั้น จึงเป็น "โลกียปัญญา" เป็นคนโลกๆ ที่หาทางก่อ หาทางสร้างอยู่นั่นเอง แต่มิใช่หาทาง เพื่อละ เพื่อวาง หรือ หาทางเพื่อลด หาทางเพื่อทำลาย กิเลส-ตัณหา-อุปาทาน มันมีเหลี่ยม มุมของภาษาซ้อนแฝง ตัดรอบ ร้อยรัด เอาส่วนที่สวย เอาจุดที่เด่น ออกมาโชว์เท่านั้น แต่แท้จริง พื้นฐาน หรือโครงใน ที่รองรับความเป็นไปได้นั้น มันยังไม่มี
มันเป็นเช่น "นักออกแบบ" ที่วาดแบบด้วยดินสอ ด้วยสี จะวาด จะระบายออกมาอย่างไรๆ ก็ได้ ให้พิลึกกึกกือเช่นใด ก็ทำได้ทั้งนั้น แต่ไม่เคยนำรูป ที่ออกแบบ ที่สร้าง ไปลงมือทำจริงๆ ไม่เคยนำไปลองจริงๆ ทุกแบบ แม้บางแบบก็แสนรู้ดี ว่าทำไม่ได้ ฉะนั้น จะทำก็ทำได้แค่แบบง่ายๆ ไม่ได้ลองทุกอันจนถึงที่สุด แล้วจะรู้ว่า แบบที่ตนวาด ตนอุตส่าห์คะเน คำนึงออกมานั้น เหลี่ยมไหน? มุมไหน? ที่มันเป็นไปไม่ได้ เหลี่ยมใดต้องแก้ไข มุมไหน ที่เข้ากับสภาพ ของสถานที่ไหน ที่มันไม่มีทางเป็นของจริงได้ เพราะมันอาจเป็นไปไม่ได้ ตั้งแต่พื้นฐาน เริ่มต้นโน่นเลยก็ได้ ความสวยสุดยอดตอนปลาย จึงคือ ความฝันลอยลม
เขาก็จะไม่มีวันรู้แจ้ง อย่างชัดเจนจริงๆ ฉันนั้น เพราะ บางเหลี่ยม บางมุมที่เขาเห็นว่า "สวย" แต่สร้างจริงๆ ไม่ได้ มันมีจริงๆ ความคิด จึงเป็นเพียงความฝัน ที่บานปลายออกไป โดยที่ยังไม่มีเบื้องต้นเอาเลยก็มี มีได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น แต่เบื้องปลายไม่มี ทว่าหลงว่ามี อย่างนี้ก็เป็นกันอยู่เยอะ
การเริ่มประพฤติ "ศีล" ที่จะเป็นไปเพื่อ ความเป็น "อริยะ" หรือได้ผลสูงขึ้นๆ จนที่สุดเป็น "นิพพาน" นั้น ต้องให้ "ศีล" ฆ่ากิเลสตัณหาได้จริงๆ และให้ "ศีล" เจริญสมบูรณ์เป็น "ปาริสุทธิศีล ๔" จิตของเรา จึงจะถูกยกเป็น "อธิจิต" คือ ต้องตั้งใจบำเพ็ญ ไม่ละเมิด "ศีล" ให้ได้ติดต่อเนื่องกันไปตลอด แม้เราจะอดทน จะต้องฝืนข่ม จะต้องต่อสู้กับแรงกิเลส ในการรักษา "ศีล" นั้น ก็จะต้องรู้ตัวให้ดี ให้มั่นคงเสมอ อย่ายอมให้ศีลขาด หรือ ทะลุ หรือด่างพร้อยใดๆ
การกระทำเช่นนี้เอง เรียกว่า "สมาธิ" อันแปลว่า ตั้งใจกระทำให้ "ศีล" ต่อเนื่อง มั่นคง ขัดเกลากิเลส อย่างติดต่อกันไปให้เสมอๆ หรือ เรียกว่า สร้าง "สมาบัติ" ให้เกิด "ฐีติ" [สมาธิสส สมาบัติ, ฐีติ, วุฏฐาน ฯลฯ]
อย่าไปมัวเข้าใจคำว่า "สมาธิ" คือ หลับตา นั่งบริกรรม เท่านั้นเลย นั่นมันของลัทธิอื่น ที่เขายึด เขาค้นคว้าไปพบ ไปได้ ตามภูมิปัญญา ขนาดของเขา มันยังเป็นการปฏิบัติ ที่ยังกินความแคบ และให้ผลน้อยนัก ยังถึงซึ่ง "ความสั้นรอบ" ไม่ได้
"ศีล" นั้น เรานับเป็นเบื้องต้น จึงตรงกับ "ปริยัติ"
"สมาธิ" นั้น เรานับเป็นเบื้องกลาง จึงตรงกับ "ปฏิบัติ"
การปฏิบัติ๑ ก็คือ มีสติ๒ ตั้งใจมั่นระมัดระวังตน ประพฤติตามหลักการ วิธีการ และความรู้ความเห็น ที่เราเรียนเป็นภาคทฤษฎี (ปริยัติ๑=ฟังธรรม๑ จากผู้รู้๑) มาแล้วให้ดี ให้ถูกตรง (สัมมาทิฐิ๓) ให้มั่นคงในข้อศีล๔ ที่เรายึดตามขนาดของเรา ให้บริสุทธิ์ ให้ได้ตลอดเวลา
ต้องเอาจริง ให้ได้จริง ให้ถูกตรงจริง อย่างที่ได้รู้ในจริงนั้นๆ ให้เท่าทันอยู่ตลอดจริงๆ (สัจจะ๕)
อย่าเผลอ ต้องพยายาม๓ ต้องมีสติ๓ รู้ตนทุกกรรมกิริยา ต่อสิ่งที่เราสัมพันธ์ สัมผัสไปทุกอันเสมอๆ
๑ ทุกตัวนั้นคือ ข้อธรรม
ลักษณะธรรม ของ "วุฒิ ๔"
๒ ทุกตัวนั้นคือ ข้อธรรม
ลักษณะธรรม ของ "โพชฌงค์ ๗"
๓ ทุกตัวนั้นคือ ข้อธรรม
ลักษณะธรรม ของ "มรรค องค์ ๘"
๔ ทุกตัวนั้นคือ ข้อธรรม
ลักษณะธรรม ของ "ไตรสิกขา"
๕ ทุกตัวนั้นคือ ข้อธรรม
ลักษณะธรรม ของ "ฆราวาสธรรม ๔"
ระวังอย่าดำริผิด (สัมมาสังกัปปะ๓) มีการวิจัยในธรรมทั้งหลาย ที่เกิดกับเรา เป็นไปจริง สัมผัสจริงอยู่ในเรา (ธรรมวิจัย๒)
ต้องพากเพียร พยายามเอาใจใส่ และอุตสาหะจริงๆ แม้จะต้องข่มฝืน๕ ก็ต้องอดทน๕ ฝึกฝนต่อสู้ (วิริยะ๒ วายามะ๓)
พยายาม๓ ปรับปรุงตน ให้ได้มากที่สุด ในแต่ละอิริยาบถ แต่ละกรรม (ทั้งกาย๓-วาจา๓-ใจ๓) ของเราต้องให้เป็น "กุศล" ละกิเลส สละสิ่งควรที่ต้องสละ๕ ให้เป็น "สัมมา" ตามขนาดศีล๔ ตามขอบเขตหยาบ หรือ ละเอียด เท่าที่เราตั้งใจ ถือสังวรระวัง
ให้ได้ประจำชีวิต ส่วนมากของเรา ก็เรียกว่า เป็น "อาชีพ" ที่สู่ "กุศล" สู่ "สัมมา"
ทำดั่งนี้ได้จริง ก็มี "อริยมรรค" ให้แก่ตนไปตามจริง เจริญขึ้นๆ สั่งสมผล จนเกิดผล ปรับปรุงตนได้ถึงขั้น ใจสละกิเลส๑ ได้จริง (มนสิการ๑) ใจเกิดปัญญา๑ เห็นแจ้งถ่องแท้ชัด (โยนิโส๑) ในพัฒนาการของตนจริง
จน "ดีถึงใจ" (ปีติ๒)
จนกิเลสลด ละ สงบระงับได้จริง (ปัสสัทธิ๒)
อย่างมั่นคงขึ้นๆ (สมาธิ๒) ก็สั่งสมอธิจิต๔ แข็งแรงตั้งมั่นขึ้นๆ (สัมมาสมาธิ๓)
จนเป็นผลได้นั้นที่ใจ อย่างละเอียดขึ้นๆ ปัญญา๔ แยบคาย (โยนิโสมนสิการ๑) ส่งสูงขึ้นๆ สู่ขั้น อุเบกขา๒
และ แม้ได้ธรรม ถึงสภาพสูงละเอียด ปานนี้ ก็ไม่หลงใหล หลงผิด ติดยึดอุเบกขา๒ อีกด้วย เพราะหากหลงเช่นนั้น มันเป็น "อุปกิเลส" คือ ต้องมีการสละ สลัด พัฒนาให้ยิ่งๆ ขึ้นเรื่อยไป อย่างฉลาดแยบคาย (ปฏินิสสัคคานุปัสสี๕-ปัญญา๔) ไม่หลงติด หลงเสพอยู่แค่นี้ๆ ไม่หลงยึดมั่นถือมั่น แม้ในกุศลเพียงเท่านี้
ที่สำคัญ คือ "อุเบกขา๒" (โพชฌงค์) นี้ ไม่ใช่สภาพ ของการทำทีว่า "วางเฉย" หรือไม่ใช่สภาวธรรม ที่ทำกันลัดๆ ง่ายๆ แค่อะไรๆ ก็ "วาง" เอะอะก็ "เฉย" ก็ "ปล่อย" กัน ซึ่งการทำเช่นนั้น เป็นแบบวิธีของ "สมถะ" ไม่ใช่วิธีของ "วิปัสสนา" แต่ก็มีผล ช่วยให้ "สงบ" ได้บ้าง เป็นอุปการะบ้างเหมือนกัน
ส่วน "อุเบกขา๒" ที่กำลังกล่าวถึงนี้ เป็นสภาวธรรม
อ่านต่อ หน้า 2 ส่วน "อุเบกขา๒"
|