ถ้าแม้นว่า "เถรวาท" ก็เป็นพุทธศาสนา "มหายาน" ก็เป็นพุทธศาสนา พระไตรปิฎกของทั้ง ๒ ฝ่ายก็ต้องจริงทั้งนั้น จะไปหาว่า เป็นการเขียนใหม่เพิ่ม เป็นการตัดเก่าออก อะไรอย่างนั้น มันยังไม่ควรกล่าว เพราะการเสริมเพิ่มเข้ามา และ การกร่อนออกไปนั้น มันย่อมเกิด ย่อมมีได้ ไม่ว่า ในพระไตรปิฎกของ "เถรวาท" หรือ ของ "มหายาน" ข้อสำคัญ ต้องอาศัย รายละเอียดอื่น ให้สมบูรณ์ และ ต้องมีความแยบคาย ถ่องแท้ ในสัจธรรมให้จริง ผู้เป็นสัตบุรุษแท้ ย่อมจะรู้ยิ่ง เห็นจริงได้ ในสิ่งที่เพิ่มขยายเข้ามา อันมีประโยชน์คุณค่า หรือ ผลาญพร่าทำลาย และ ในสิ่งที่ถูกกร่อน ถูกกลบ ลบล้างหายไป ทั้งที่มีคุณค่าประโยชน์ หรือ ทั้งที่มีโทษทำลายธรรม
เช่น ขณะนี้ แม้แต่ "โอวาทปาฏิโมกข์ศีล" ก็จึงได้หด กุดลงมา เหลือแค่ หมายเอาเพียง "พระวินัย" แล้ว ทั้งๆ ที่ "พระวินัย" นั้น ก็มีคำความ กำหนด จำเพาะ เน้นชัดๆ อยู่ว่า เป็น "ปาฏิโมกขุทเทส" คือ เป็นส่วนเฉพาะ ที่ยกขึ้นแสดง เป็นส่วนเฉพาะ ที่จัดรวมไว้เป็นข้อๆ (เพื่อแง่นี้ การนี้ เท่านั้น) คือ เป็น "อุทเทส" หนึ่ง เท่านั้น ใน "พระปาฏิโมกข์" ทั้งหลาย
แต่ก็ไม่เข้าใจกัน จึงหลงผิดกัน และ แล้วก็มายึดเอาว่า "ศีลพระ" หรือ "พระปาฏิโมกข์" ที่พระพึงศึกษานั้น มีอยู่แค่ "พระวินัย"
เมื่อไม่คำนึงถึงคำห้าม คำปรามอื่นๆ ประดามีอีกมากหลาย สิ่งที่ควรงดเว้น ในศาสนา ก็ไม่งดเว้นกัน เพราะตัดศีล ตัดพระปาฏิโมกข์ทิ้ง เห็นผิดไปว่า ไม่ใช่ "หลัก" ไม่ใช่ "สำคัญ" กระนี้เอง จึงทำให้คำห้าม คำปราม ที่ระบุไว้ใน "ศีลพระธรรมนูญ" ของพระพุทธศาสนาแท้ๆ ก็เหลือน้อยลงๆ ความมั่นคง แข็งแรง ความบริสุทธิ์ ของพุทธศาสนา อันเคยมี จึงได้ด้อยถอยลงมาๆ ความเสื่อมโทรม ของพุทธศาสนา จึงเกิดขึ้น ด้วยเหตุประการฉะนี้นั่นเอง
อย่าได้ลดถอย จำกัดจำเขี่ย ตีวงแคบให้กับตนเอง ลดลงมาๆ เพราะถูกแรงของกิเลส ตัณหา มันข่มขู่ แล้วก็ค่อยๆ เฉือน "พระโอวาทปาฏิโมกข์" เฉือน "พระไตรปิฎก" ทิ้งไปๆ นัก สุดท้าย เราจะไม่เหลือหลออะไรเลย เร็วเกินไป
ซึ่งเมื่อกล่าวถึง เรื่อง พระพุทธองค์ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฝ่าย "มหายาน" เขาก็บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ เขาก็ไม่แปดเปื้อนอะไร แม้เพราะแค่ข้อครหาตำหนิ หรือ จะถูกกล่าวตู่จากคนว่า พระพุทธองค์นั้น "สอนเขาไม่ให้ฆ่าสัตว์ แต่ตนเองสิ กลับฉันเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่า" พระองค์ก็พ้นคำตู่นี้ได้แล้วทันที [อันเป็นพระบริสุทธิคุณ ที่เห็นได้ด้วยภายนอกแค่นั้นเอง]
เพราะความรู้แค่นี้ ศาสนาอื่นๆ พระศาสดาของเขาอื่น เขาก็สามารถ ทำให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา มีพระ "บริสุทธิคุณ" น้อยกว่า เจ้าลัทธิ ศาสดาอื่น แม้แค่ข้อ ที่ซึ่งสามารถทำให้เป็น "สัมมา" ได้ สมควรได้ในชีวิต โดยไม่ยากนัก เพียงเท่านี้ แค่ขั้นไม่ฉันเนื้อสัตว์ ก็จะไม่ทำเชียวหรือ? จะยอมให้ลัทธิอื่น ยกมาเป็นข้ออ้าง ข่มได้เชียวหรือ?
เพราะ การไม่ฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่ใช่ข้อเสียหาย หรือเป็นเรื่องต่ำช้า จนเกินวิสัยคนจะพึงเป็น พึงควรอะไรนี่ ไม่ใช่ว่า คนไม่กินเนื้อสัตว์ กินข้าวกับอาหารผัก พืช ผลไม้ จะดูน่าทุเรศ หรือ น่าสมเพช จนขยะแขยงอันใด ก็เปล่า และ ก็ไม่เห็นมีข้อน่าตำหนิ ตรงไหนได้ น่าอนุโมทนา เสียด้วยซ้ำ
แม้แต่เรื่องอื่น อันมีแง่ มีมุม ให้คนเขาตำหนิ ได้ยิ่งกว่า พระพุทธองค์ ยังประพฤติเลย เช่น นอนกลางดิน นุ่งห่มผ้าห่อศพเก่าๆ ขาดๆ บ้าง เปื้อนน้ำเน่า น้ำเหลือง มาแล้วบ้าง หรือ ออกภิกขาจาร อาศัยอาหารเขาอื่น มาเลี้ยงตน หรือ อะไรอื่นๆ ที่น่าสมเพชยิ่งกว่า การไม่ฉันเนื้อสัตว์นี้ จนมีคนเขาตำหนิ กล่าวอ้าง ท้วงเอาจริงๆ ในเรื่องที่ยกตัวอย่างมานั้น ก็มี และ ถ้าแม้น พระองค์ฉันเนื้อสัตว์ เข้าสิ! จะต้องโดนกล่าวท้วง และเป็นข้อมูล ให้ลัทธิอื่นโจมตีเอา ได้ยิ่งกว่านี้แน่ๆ ก็ขนาดพระองค์ ไม่ได้ฉันเนื้อ ออกขนาดนี้ ยังโดนกล่าวตู่ ป้ายร้าย จะให้เป็นผู้ฉันเนื้ออยู่ จนแล้วจนรอด เช่น ใน "ชีวกสูตร" และ ใน "สีหสูตร" เป็นต้น
จากเรื่องราวใน "สีหสูตร" นี้ก็เถอะ จะเห็นความจริงได้ ในลักษณะหนึ่ง ชัดเจนทีเดียว ลองพิจารณาดีๆ เถิด ว่า ถ้าพระพุทธเจ้า เป็นผู้ฉันเนื้อสัตว์อยู่ เป็นปกติสามัญ แล้วไซร้ อเจลกะ ที่รีบฉวยโอกาส คว้าเอาเหตุการณ์นี้ ไปหาคะแนนเสียง ด้วยความแค้น ที่เสียสีหเสนาบดีไป ทั้งๆ ที่รายละเอียดจริงนั้น พระพุทธเจ้า จะได้ฉันเนื้อสัตว์นั้น หรือหาไม่ ก็ไม่รู้ล่ะ เหล่าพวกอเจลกะ ซึ่งเป็นคู่แข่ง ของพระพุทธเจ้านี้ คอยที หาช่องอยู่แล้ว เมื่อมีเชื้อ พอเป็นเหตุหาเรื่องได้ ก็รีบตะครุบตีกิน ทำทีว่าจริงเลย แล้วพากันออกโพนทะนา ร้องตะโกนปาวๆ ไปทั่วตามถนน เพื่อให้คนทั้งหลาย เขารับรู้ แล้วจะได้ลดความเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า ด้วยการประกาศ ว่า "เจ้าข้าเอ๊ย! พระสมณโคดม ฉันเนื้อสัตว์แล้ว ฉันทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาฆ่ามาเป็นเนื้อที่เขาซื้อหา มาจากตลาด เจ้าข้าเอ๊ย!"
แล้วมันจะมีผลอะไร? ในเมื่อคนเขารู้ดีอยู่แล้ว เพราะเราสมมุติแล้วว่า ถ้าพระพุทธเจ้า ทรงฉันเนื้อสัตว์ เป็นปกติสามัญ มันจะนำพา ให้คนทั้งหลาย ลดความเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า ด้วยเหตุผลกลใด? อเจลกะ จะได้ประโยชน์อะไร ที่ไปทำเช่นนั้น? และหรือ อเจลกะ จะไปทำเช่นนั้นทำไม? เพราะเมื่อพระพุทธเจ้า ก็ฉันเนื้อสัตว์ เป็นปกติสามัญ อเจลกะ ก็ต้องรู้ เช่นคนทั้งหลายทั่วไป เขารู้
มันก็เหมือนกับว่า สมมุติในเมืองไทยนี่แหละ ถ้าใครไปซื้อเนื้อสัตว์ จากตลาด มาปรุงอาหาร ถวายพระอาจารย์ดีๆ ดังๆ องค์ใด องค์หนึ่ง ในเมืองไทย และ ถ้าอาจารย์รูปนั้น ท่านก็ฉันเนื้อสัตว์ เป็นปกติสามัญ เสร็จแล้ว ก็มีผู้ที่หมายใจ จะทำให้คนเสื่อม ความเลื่อมใสอาจารย์รูปนี้ จึงพากันออกไปร้องตะโกน โพนทะนา ฟ้องชาวบ้านปาวๆ ตามถนน ว่า อาจารย์องค์นี้ ฉันเนื้อสัตว์แล้ว เจ้าข้าเอ๊ย! แล้วมันจะมีผลอะไร? มันก็เปล่าดายใช่ไหม? เมื่ออาจารย์รูปนี้ ท่านฉันเนื้อสัตว์ เป็นปกตินี่
แต่เพราะพระพุทธเจ้านั้น ประชาชนคนทั้งหลาย เขาต่างก็รู้ ก็ศรัทธาเลื่อมใสว่า พระองค์ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ เป็นปกติสามัญ พระองค์มีพระเมตตา มีพระกรุณา มีพระบริสุทธิคุณ ด้วยเหตุ ไม่ฉันเนื้อสัตว์นี้ อยู่ต่างหากเล่า อเจลกะ เอาไปร้องฟ้องประชาชน จึงจะได้แต้ม เขาจึงลงทุนทำปานนั้น มันก็เห็นเหตุผลอยู่แจ้งๆ ชัดๆ ตามเนื้อเรื่อง ที่มียืนยัน บ่งบอกให้รู้กันดังนี้นี่เอง
การไม่รับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย น่าสมเพชอะไรหรอก! ซ้ำมิหนำ การไม่รับประทานเนื้อสัตว์นั้น มีคุณนานาประการ มากมายกว่ามีโทษเสียอีก จะก่อโทษเอาบ้าง ก็สำหรับคนผู้ที่หลงใหลยึดติด อย่างฝังจิตเกินเหตุเท่านั้น แต่ถึงแม้กระนั้น ค่อยๆ ผ่อนลงๆ ก็จะไม่มีโทษใดๆ เลยในที่สุด เรื่องนี้ พระพุทธองค์ทรงทราบดี จึงได้อนุโลมคำสอน มิได้เร่งรัด ให้ผู้ประพฤติธรรมใหม่ๆ ที่ยังไม่มีบารมี ให้หยุดกึก ห้ามขาดลงทันควัน สำหรับผู้ใดทำได้ทันที ก็ให้รีบทำเท่านั้น
ข้อห้ามเรื่องจะ "ไม่กินเนื้อสัตว์" จึงมีเชิงชั้นเป็น "ศีลปาฏิโมกข์" หลายชั้น ขั้นขีดอยู่ทีเดียว ถ้าใครเข้าใจ อิทัปปัจจยตา ของมัน เช่น ขั้นพื้นฐานนั้น ก็มี "ศีล" ที่ว่า อย่าฆ่าสัตว์ "ศีล" ขั้นต่อๆ ไปอีกก็ว่า อย่าซื้อขายสัตว์เป็น อย่าซื้อขายเนื้อสัตว์ ดังนี้ ต่อไปอีก ก็เช่นว่า อย่ากินเนื้อสัตว์ ๑๐ ชนิด ต่อไปอีกก็ว่า จะกินเนื้อสัตว์ได้ ก็แต่เนื้อบังสุกุล หรือ เนื้อเดนสัตว์กิน ต่อไปก็ว่า อย่าเลี้ยงสัตว์ ต่อไปอีก ก็ให้พิจารณาเนื้อสัตว์ ที่จะกินได้ ต้องบริสุทธิ์โดยส่วน ๓ เท่านั้น และ ในพระสูตรของ "มหายาน" นั้น มีตรงๆ เลย ที่พระบรมศาสดา ตรัสห้ามชัดๆ ว่า เนื้อสัตว์ เป็นสิ่งไม่ควรกินอย่างยิ่ง ใน "เถรวาท" เรานั้น มันขัดแย้งกัน เพราะความไม่ถึงศีล ไม่ถึงธรรมจริง กิเลสมันจึงพา ให้ถกเถียงกัน ด้วยแง่นั้น เชิงนี้กันเหลือกำลัง
เถียงกันจนจัดให้ ผู้ไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นพวกทำสังฆเภท เพราะช่างไปนำเอาเรื่องต่างๆ มาเป็นเหตุถกเหตุเถียง ช่างหาเรื่องหาแง่ จนถึงขั้นจัดให้ ผู้ไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เป็นลูกศิษย์พระเทวทัต เป็นพวกทำสังฆเภท
แม้ในแง่พระเทวทัต จะยกเหตุ อ้างเลศนี้ โดยมีเรื่อง "ไม่ให้กินเนื้อสัตว์" รวมมาในข้ออ้าง ทั้งหมดนั้นด้วย แท้จริง พระเทวทัตยกเอา ข้ออ้างเหล่านี้ มาเป็นเรื่องคิดแยกหมู่สงฆ์นั้นจริง และ พระพุทธองค์ไม่ยอมหลงเล่ห์ ก็เพราะ เหตุผลลามก ที่พระพุทธองค์ ทรงรู้ทัน ในแง่พระเทวทัต จะใช้เป็นเครื่องมือแยกหมู่สงฆ์ นั่นต่างหากเป็นเหตุแท้ ซึ่งก็มิได้หมายความว่า ที่พระพุทธองค์ไม่อนุมัติ ตามที่พระเทวทัตขอนั้น แล้วจะจับเอาเหตุผลตื้นๆ ง่ายๆ แค่นี้ มาเหมาว่า "พระพุทธองค์ ทรงฉันเนื้อสัตว์" อย่างนั้นก็ไม่ใช่ นั่นมันเป็นความคิด ของผู้ไม่มี "ญาณทัสสนะ" และ รีบโมเมตีขลุมต่างหาก
ลองวินิจฉัยดูก็ได้ ในเรื่องนี้ ทั้ง ๕ ข้อ ที่พระเทวทัต ยกขึ้นมา เพื่อจะให้เข้มงวด กวดขัน เอากับสงฆ์ทุกรูป ทุกองค์ อันมี :-
๑. อยู่ป่าเป็นวัตร
๒. อยู่โคนไม้เป็นวัตร
๓. บิณฑบาตเป็นวัตร
๔. ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
๕. ไม่ฉันเนื้อสัตว์เป็นวัตร
"วัตร" ทั้ง ๕ ข้อนี้ แท้จริง พระพุทธองค์ และ พระสาวกทั้งหลาย ก็ประพฤติ และ ดำเนินปฏิปทาอยู่ เป็นปกติอยู่แล้ว ไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดใน ๕ ข้อนั้น ทั้งพระพุทธองค์ ยังได้ใช้สั่งสอนพระสาวก อยู่เป็นปกติอยู่ด้วย เพียงแต่ว่า คำสอนเรื่อง "ไม่กินเนื้อสัตว์" นั้น มันมีขั้นตอน และ มีเชิงชั้น ดั่งที่ได้สรุป ไล่เรียงมาให้ดูแล้วอย่างสั้นๆ ที่ผ่านมานั่นเอง ซึ่งชาวพุทธสายเถรวาท สังเกตไม่ค่อยเป็น จับเค้าคำสอนไม่ค่อยออกเท่านั้น ทุกข้อมันล้วนเป็น ข้อวัตรปฏิบัติธรรมดาๆ ของพระอริยเจ้า รวมทั้งพระพุทธองค์ ทรงประพฤติ เป็นหลักปฏิบัติ บำเพ็ญอยู่ทั้งสิ้น ในสมัยพุทธกาล
พระเทวทัตไม่ได้เก่งกาจ รอบรู้ ค้นหาข้อวัตรปฏิบัติ อันดีงามเหล่านี้ มาได้เองอะไรหรอก? ก็เพียงยกเอา "ข้อวัตร" ที่ดีทั้ง ๕ ข้อนั้น อันเป็นของยากหน่อย สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ ผู้ไม่มีบารมี ไม่มีอินทรีย์ หรือผู้ยังลด ยังละกิเลส อะไรยังไม่ได้ นำขึ้นมา ขอให้พระพุทธเจ้า ใช้บังคับ เข้มงวด ตายตัว โดยไม่มีอนุโลม ผ่อนผัน แก่ทุกรูป ทุกนาม เท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ ทรงมีพระสัพพัญญุตญาณ รู้แจ้งจบเท่าทัน จึงมิได้หลงลมพระเทวทัต
แล้วจะเข้าใจว่าอย่างไร? จะตีความเอา โดย "เจียด" เอาแต่เพียงข้อ ๕ ที่ว่า "ไม่ฉันเนื้อสัตว์" ข้อเดียว เท่านั้นหรือถือว่า "ไม่ใช่ สัมมาปฏิบัติปฏิปทา" ของพระพุทธองค์ ส่วนอีก ๔ ข้อต้นนั้น เป็นสัมมาปฏิปทา ของพระองค์ คือ หมายเอาแต่เฉพาะว่า "พระพุทธองค์ฉันเนื้อสัตว์ เป็นวัตรปฏิบัติ" นั้น จริง ถ้าว่า "พระพุทธองค์ ไม่ฉันเนื้อสัตว์ เป็นวัตรปฏิบัติ" นั้น ไม่จริง เท่านั้น กระนั้นหรือ? เพราะทั้ง ๔ ข้อต้นนั้น แน่นอนใครๆ ก็ต้องยอมรับว่า พระพุทธองค์มีวัตรปฏิบัติ หรือ มีปฏิปทา เป็นอยู่อย่างนั้นจริง
ดูๆ ก็เหมือน "ยัดเยียด" หรือ ช่างจงใจเจียดจัด เอาเสียจริงๆ จะเป็นไปตามที่ "นักเจียด" เขาเจียดจัด คือ เจียดเอาเพียง ๔ ข้อต้น เป็นสัมมาปฏิปทา ของ พระพุทธองค์กับอริยสาวกทั้งหลาย ส่วนข้อ ๕ ไม่เอา หรือ จะเห็นว่า ข้อวัตรทั้ง ๕ ที่พระเทวทัตได้ยกอ้าง ขึ้นมานี้ ล้วนเป็น "สัมมาปฏิปทา" ที่พระพุทธองค์ และ พระอริยสาวกเจ้า ทั้งหลาย ประพฤติบำเพ็ญ เป็นวัตรปฏิบัติอยู่ทั้งสิ้น ก็ขอให้ผู้มีปัญญา ใคร่ครวญดูเถิด
และ ถ้าคิดให้ดีๆ อีกที ในวัตร ๕ ข้อนั้น ทำไมพระภิกษุ บิณฑบาตเป็นวัตร ใช้ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร อันพระภิกษุเดี๋ยวนี้ ก็ยังยึดถือ ประพฤติปฏิบัติอยู่ และ ถ้าผู้ใดประพฤติเคร่งๆ จริงๆ ในวัตรข้อดังกล่าวนี้ ก็ดูยิ่งกลับยอมรับ นับนิยมบูชาเอาเสียด้วยนะ หรือ ผู้ที่ยังประพฤติอีกทั้ง ๔ ข้อต้นนั้นอยู่ ก็ดี ทำไม ไม่ไปโมเม เรียกพระเหล่านั้น เป็นศิษย์ของพระเทวทัตบ้างล่ะ? ทำไมจึงเพ่งเล็ง มาเจียดจัดเหมาให้เป็น ศิษย์พระเทวทัต อยู่แต่เฉพาะใน ข้อที่ ๕ ข้อเดียวเท่านั้น ก็ขอให้คิดดู ความช่างยัดเยียดเจียด หาเรื่องเพ่งโทส ของนักหาเรื่องให้ดีๆ เถิด
ถ้าจะหาเรื่อง โดยการตู่แบบนี้ พระสงฆ์องค์ใดบิณฑบาตเป็นวัตร ก็ได้ชื่อว่า เป็นศิษย์พระเทวทัต แล้วทั้งนั้น หรือ ถ้าใครประพฤติตนข้อใดก็ตามใน ๕ ข้อ นั่นแหละ ก็ต้องชื่อว่า เป็นศิษย์พระเทวทัต ทั้งนั้นสิ! ทำไมเป็นข้อเดียว
"นักธรรม" จึงจะต้องใช้ "ปัญญา" พิจารณา ถึงความแท้จริงดีๆ อย่าเอาแต่แรงกิเลส ที่ตัวเองชอบกินเนื้อสัตว์ มาตัดสินเข้าข้างตัวเป็นอันขาด ต้องเอาความเหมาะสม และ ความดียิ่ง จริงแท้ ที่แท้จริง เป็นเครื่องตัดสิน
หรือ แม้จะมีผู้ยกอ้างขึ้นว่า "การไม่ฉันเนื้อสัตว์นั้น เป็นผู้เลี้ยงยาก" ก็ยิ่งไม่จริงใหญ่ เพราะในสมัยพุทธกาลนั้น คนส่วนมาก เขาทราบดีว่า "พระ" ไม่ฉันเนื้อสัตว์ เขาไม่ได้เข้าใจว่า "พระ" นั้นฉันเนื้อสัตว์ ดังที่เราชาวไทย ในทุกวันนี้เข้าใจกันหรอก! ไม่เชื่อก็ไปอินเดียดูได้ แม้ในปัจจุบันนี้ ก็จะเห็นได้ ดังนั้น เขาก็จะถวายอาหาร ที่มิใช่เนื้อสัตว์ อันจะสะดวกง่ายดายยิ่ง เห็นได้เลย ในอินเดีย ไม่ว่าสมัยไหน เพราะโดยส่วนมาก เขาก็ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ กันอยู่แล้ว หรือ เขาเชื่ออย่างนี้กันอยู่แล้ว
และ แม้ในเมืองไทยก็เถอะ มันก็ไม่ยากเลย เพราะอาหารมังสวิรัติ หรือ อาหารที่ไม่ใช่เนื้อสัตว์นั้น มีมาก หาง่าย พระไปบิณฑบาตจะได้ข้าวสุก นั่นแหละมาก ได้ขนมสด ผลไม้ต่างๆ ล้วนเป็นมังสวิรัติทั้งสิ้น ที่มันยากนั้น มันอยู่ที่ "พระ" ผู้มีกิเลส ติดรส ติดรูป ติดกลิ่น ติดสัมผัส ในเนื้อสัตว์ หรือ อาหารปรุง แกงๆ ผัดๆ อร่อยๆ นั่นเองต่างหาก ยาก! เพราะตัวเองฉัน (กิน) ไม่ได้ มันไม่อร่อย ถ้าเป็นอาหาร ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ ก็ฉันไม่ลง "ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑปาตังฯ" ก็ไม่ทำจริงๆ เสียบ้าง มีแต่สักว่าท่องได้ บทคำสอน "ปฏิสังขา โยนิโส ปิณฑปาตังฯ" นี่แหละ คือ "ศีลโอวาทปาฏิโมกข์" ข้อหนึ่งล่ะ ไม่ใช่คำให้ท่อง ก่อนฉันอาหาร กันเล่นๆ เท่านั้นดอกนะ! แต่เป็น "ศีล" ที่ต้องปฏิบัติ หัดฝึกอบรมตน ให้ตัดกิเลสจริงๆ ก็ไม่รู้ว่าคือ "ศีล" แต่ถ้าเป็น "พระ" ที่ท่านฝึกฝนจริง ท่านก็จะพยายาม จะไม่มักง่าย หรือ ท่านที่ไม่ติดกามกิเลสแล้ว ท่านจะไม่ยากเลยแม้แต่น้อย มีผัก มีพืช มีถั่ว มีงา มีข้าวเปล่าอะไร ท่านก็ฉันยังชีพไป ท่านไม่เดือดร้อน
หรือ จะยกอ้างอีกว่า เขาใส่บาตรอย่างไร ก็ฉันอย่างนั้น เลือกไม่ได้ มีคำสอนของ พระบรมศาสดา ที่ไหน ที่ว่าอย่างนั้น มันกลับกันเสียอีก ทำไมมันจะเลือกไม่ได้ การเลือกเอา "กามกิเลส" ออก ไม่สัมผัส ไม่ฉัน "กามกิเลส" นั้น พระพุทธองค์ จะทรงอนุโมทนาสาธุ! หรือ ว่าพระพุทธองค์จะทรงตำหนิ! ก็คิดดู
ถ้าขืนยึดมติ ใครจะถวายอะไร ให้อะไรก็ต้องรับ เลือกไม่ได้ แล้วล่ะก้อ ปล่อยให้ "คน" ผู้ซึ่งยังไม่รู้เหมาะ รู้ควร ที่แท้จริง เขารู้เอง ไม่ปฏิเสธให้เขารู้บ้าง (การปฏิเสธ ก็เป็นการสอนธรรม ชนิดหนึ่ง) ศาสนาจะสูงขึ้นไม่ได้ และที่สุด ถ้ามีคนผู้บริสุทธิ์ใจจริงๆ เขาเอาลูกสาวมาถวาย ก็จะต้องเสพกันล่ะ! เขาเอาฝิ่นมาถวาย ก็ต้องเสพกันล่ะ! เพราะปฏิเสธไม่ได้ เลือกไม่ได้แล้วนี่! หรือสิ่งที่ "วินัย" ก็ไม่ระบุห้ามไว้ก็ตาม
และ แท้ๆ จริงๆ นั้น ก็อยากจะถาม หน่อยเถอะว่า พระที่ไปบิณฑบาต มาฉันในทุกวันนี้นั้นหนะ ได้อะไรมา ก็ฉันทั้งนั้น ไม่เลือกเลยหรือ? ส่วนมาก ก็ไอ้เลือกอยู่นั่นเอง และกล้าพูดด้วยว่า เกือบทั้งนั้นแหละ จะ "เลือก" เอาไอ้ที่อร่อยๆ หรือ ที่ตนเพ่งเล็ง ชอบใจเป็น "กามกิเลส" นั่นแหละมาฉันด้วย จริงมั้ย? ก็คิดดูเอาเอง นี่แหละคือ ไม่สังวร "ศีล" ปฏิสังขา โยฯ
ฉะนั้น คำว่า "เลือก" จึงควรจะทำความเข้าใจ ในคำคำนี้ให้ดีๆ อย่าเข้าใจเป็นภาษาตายๆ พาซื่อเป็นเถรตรง ที่ไร้ปัญญาอยู่ จนไม่เข้าท่า เป็นอันขาด
ที่จริงเราปฏิเสธเลยก็ได้ เมื่อพระไปบิณฑบาต แม้แต่โยมเริ่มต้นใส่บาตร เลยทีเดียว ถ้าเขาเอาอาหาร ที่มีเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง มาใส่บาตร พระก็รับของเขาเสียก่อน ด้วยความนอบน้อม ตามธรรม เสร็จแล้วพระก็ฝากคืน บอกกับเขาดีๆ ให้รู้เรื่อง ว่าเพราะอะไร การกระทำเช่นนี้ เป็น "ปฏินิสสัคคะ" ถูกต้องตามมรรควิธี พิจารณา "ธรรม" ยังธรรมให้งาม ฝึกตนด้วย กาย-วจี-มโน ยังตนให้สูงเอาด้วย จะแจ้งแก่โยมเขาว่า เราไม่จองเวรจองกรรม กับสัตว์ใดๆ อีกแล้ว โยมเขาก็จะอนุโมทนา สาธุให้เสียอีก และ แถม เป็นการ "สอน" โยมให้รับรู้ ความควร ความไม่ควร ไปพร้อมด้วย แต่ที่ไม่กล้าทำ ก็เพราะความโลภ เพราะกลัวจะไม่พอฉัน เพราะกลัวจะอดตาย ก็เลยไม่ได้ "ตาย" สักที แม้จะตาย เน่าเข้าโลงไปแล้ว ในชาตินี้ ก็จะไม่ "ตาย" ยังจะกลับเวียนมาเกิด มาตายกันอีก นี่คือ ผู้ยังไม่รักนิพพานจริง
หรือ ยิ่งเพ่งในแง่ของ "ศีล" แล้ว มันยิ่งน่าสลดใจ เพราะมันเหมือนเล่นงิ้ว เหมือนแสดงลิเก เต๊ะท่าร้องรำอยู่เท่านั้น มันเป็น "ปริยัติ" ที่เรียกว่า "อลคัททูปมปริยัติ" กันอย่างตรงๆ แท้ๆ เหมือนการจับงู ที่ขนดหางของมันนั่นเอง ก็รังแต่ จะถูกแว้งกลับมากัดเอา อย่างสบายๆ
ตัวอย่างเช่น บ้านๆ หนึ่งนิมนต์พระ ไปฉันอาหารเช้า ที่บ้านตน พอเริ่มพิธี พระก็ให้ "ศีล" กันทีเดียว แม่บ้าน ก็พนมมือแต้รับ "ศีล" ว่าตามพระไป อย่างตั้งอกตั้งใจ
"ปาณาติปาตา เวรมณีฯ
" จนจบบท (ร้อง) ของ "ศีล" แล้วพระก็ถือโอกาส สวดมนต์ ท่องคาถา ประดาที่ถือ ที่ยึดกันหน่อย [อันก็ล้วนเป็น "ธรรมบท" ที่นำมากล่าวสวดขึ้นพร้อมกัน เกิน ๒ รูป ให้อนุสัมปันน์ฟังทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการละเมิดวินัย เป็นอาบัติกันอยู่ เกือบทั้งประเทศแค่ใด ก็คิดๆ ดู]
ระหว่างนี้ แม่บ้าน ก็ถือโอกาสหลบออกไป เข้าครัว เตรียมอาหารอย่างตั้งใจ จะให้ได้บุญเต็มที่ ก็ลงมือเองทีเดียว
พอพระสวดเสร็จ ได้เวลาฉัน ก็จัดที่อาหาร ในครัวก็เสร็จร้อนๆ ทีเดียว แม่บ้าน ผู้รับ "ศีล" ไปหยกๆ เมื่อกี้นี้ ก็ยกสำรับกับข้าว ออกมาประเคน พลางเอื้อนเอ่ยเสนอ "นิมนต์เจ้าค่ะหอยแครงเจ้าค่ะ สดๆ ใหม่ๆ ลวกมาร้อนๆ เลย" พระผู้ซึ่งก็ให้ "ศีล" โยมไปหยกๆ เมื่อกี้นี้เช่นกัน ก็ยิ้มรับ อนุโมทนาสาธุ! ฉันตุ้ยๆ อร่อยไป
ก็ดูเอาเถิด ลักษณะของ "อลคัททูปมปริยัติ" ที่บุคคล ไม่สามารถผ่านพ้นไปได้ สภาพเช่นนี้นั้น มันยิ่งกว่า "ศีลพตปรามาส" ไปเสียอีก เพราะสักแต่ว่าเรียน "ปริยัติ" สักแต่ว่ามี "ศีล" และ กล่าว "ศีล" ให้ "ศีล" รับศีลกัน เหมือนลิเกเล่นงิ้วเอาจริงๆ เล่นงิ้วเล่นลิเกยังดี เขายังสนุกบ้าง นี่เหนื่อยกันเปล่า ทั้งผู้ให้ (ศีล) และผู้รับ (ศีล) มันไม่เกิดผลบุญอะไร ให้แก่ใคร เอาจริงๆ ซ้ำพากันได้บาป ไปเสียอีก เพราะหย่อนใน "ศีลสิกขา" กันนั่นเอง
เหตุเพราะ "การกินสัตว์" เป็นความธรรมดาๆ มันชินชาเสียจน "จิต" เป็น "โมหมูลจิต" คือ มืดบอดจนไม่รู้ แม้ว่าตนทำอะไรลงไป ทำบาปโดยไม่รู้ตัวเลยว่า ตนทำบาป หรือ ละเมิดศีล ก็จนไม่รู้ว่า ตนละเมิด "ศีล" ตั้งใจทำบุญแท้ๆ อุตส่าห์นิมนต์พระมาให้ทาน พระก็อุตส่าห์ให้ศีล ศีลตัวเดียวก็ไม่ได้ ดูความสูญเปล่า ของจารีตประเพณี กันเถิด
ถ้า "พระ" ไม่ฉันเนื้อสัตว์เสีย โยมเขาก็ จะไม่มีโอกาสฆ่าสัตว์เลย อย่าว่าแต่ฆ่าวัว ฆ่าหมูตัวโตๆ อันต้องเตรียมพร้อม ฆ่าไว้ก่อนหน้า จะถึงเวลาเลี้ยงพระเลย แม้หอยแครงตัวเล็กๆ นั้น เขาก็จะไม่ต้องทำบาปทำกรรม ฆ่าถวายพระเป็นอันขาด ถึงคนผู้ทำบุญ จะเป็นคนกินเนื้อสัตว์ ก็ตาม แต่เพราะ พอวันทำบุญเช่นนั้น ถ้าพระไม่ฉันเนื้อสัตว์ ตนก็จะได้มีสำนึกว่า อ้อ! เราถวายอาหารพระ ท่านไม่ฉันเนื้อสัตว์ ก็จะได้หยุดทำบาปจริงๆ สักหน สักครั้ง บริสุทธิ์จริง บริสุทธิ์แท้กันสักที เตือนสติ เตือนใจ ให้มันได้ "เมตตาธรรม" อันเป็น "ธรรมะ" แท้ ธรรมะตรง ที่เกิดได้เพราะ ปฏิบัติศีล ข้อ ๑ ขึ้นมาจริงๆ บ้าง
แต่เดี๋ยวนี้ ศาสนามันเจือจาง จนจะหาเนื้อหา (อัตถะ) หาคุณค่าเชิงชั้น (ธรรมะ) เอาไม่ได้แล้ว เพราะความไม่เข้าใจใน "ศีล" กันนั่นเอง ประพฤติ "ศีล" บำเพ็ญ "ศีล" กัน ไม่พ้น "ศีลพตปรามาส" ไปได้สักที
การยกเรื่องต่างๆ ขึ้นมากล่าวนี้ แม้เหตุผลอื่น อันข้าพเจ้าได้เขียนกล่าวไว้แล้ว ในที่อื่นๆ ก็มีอีกมาก (เกี่ยวกับเรื่องเนื้อสัตว์) ก็จะไม่ขอนำมากล่าวซ้ำ แต่ขอแจ้งให้ทราบไว้ชัดๆ ว่า ผู้ใด ยังมีกิเลสตัณหาอยู่มาก ยังไม่สามารถละได้ ลดได้ ก็จงกิน จงฉัน ตามสบายเถิด อย่าร้อนใจใดๆ เลย และ อย่าพยายาม นำเอาเหตุ เอาเรื่องนี้ ไปกล่าวอ้างโจมตี เพื่อทำให้ คณะสงฆ์แตกแยกเหล่า แยกฝ่ายด้วย หรือ เห็นเป็นว่า ข้าพเจ้าแบ่งแยกคณะสงฆ์ออก โดยเอาแค่เรื่องว่า นี่พระคณะฉันเนื้อบ้าง นั่นพระคณะที่ไม่ฉันเนื้อบ้าง เป็นเหตุดูสำคัญเหลือเกิน นั้น ก็ไม่ควร เพราะว่า จะแยกสงฆ์ แยกคณะ เพียงเหตุแค่ฉันเนื้อบ้าง ไม่ฉันเนื้อบ้างนั้น มันยังไม่เป็นไปได้หรอก ในคำว่า ศาสนา หรือ นิกาย [หรือ ที่จริง เขาก็แยกกันมาแล้วด้วย คือ "เถรวาท" กับ "มหายาน" และหรือ ในครั้งพุทธกาล ผู้ยังฉันเนื้ออยู่ ก็ยังมีบ้าง แต่สงฆ์ส่วนใหญ่ ที่ภาษาบาลีเรียกว่า "มหาสังฆิกะ" หรือ "มหายาน" เขาไม่ฉันกัน มันก็เป็น ๒ อย่าง แยกๆ ปนๆ กันอยู่แล้วในตัว]
และ การที่ผู้ใดฉันเนื้อ ผู้ใดไม่ฉันเนื้อนั้น มันก็เป็นเพียงปฏิปทา สำหรับบุคคล อันเป็นแค่นิมิตหมาย แจ้งให้คน (ผู้มีความเข้าใจได้) เขารู้เขาเห็นได้ เท่านั้นว่า ผู้ใดหลุดพ้น (วิมุติ) จาก การกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เขาก็พ้นได้จริง โดยไม่มีทุกข์ และ เขาจะไม่เกี่ยวข้อง (อสังสัคคะ หรือ อสังคณิกะ) กับเนื้อสัตว์จริงๆ เพราะเขาแจ้งในโทษ ในบาป ในภัย ที่ยังเกี่ยวข้อง หรือ ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ มันเป็นการละอกุศล แล้วไปอยู่ในฝ่ายกุศล ด้วยปัญญาญาณอันแท้จริง ซึ่งเขาทำได้แล้วจริง พร้อม ทั้ง กาย-วาจา-ใจ มิใช่เลศ หรือ เล่ห์ ที่จะนำมาแยกหมู่ แยกคณะไม่ จึงอย่าพึ่งโทษผู้อื่นให้มากนัก มันบาปนะ! มันใส่ความ ลงโทษกันหนักเกินไป
ข้าพเจ้าเพียงชี้แจงแสดง "อุเทศ" (เหตุผลกลข้อ) แสดง "กถา" (เหตุผลกลคำความ) แสดง "อัตถะ" (เหตุผลในเนื้อหา) สู่ผู้พึงจะหา "มรรค" (ทาง) ประพฤติ หาทางลดกิเลส ตัณหาของตน เพื่อความพ้นทุกข์เท่านั้น มิได้หมายขัดลาภ ขวางสุขของผู้ใด
ผู้ยังลดไม่ได้ ละไม่ได้ ก็ยังอนุโลม ตามฉันทานุมัติของ พระบรมศาสดา ของเรา ได้อยู่ ผู้ยังไม่อยากทิ้ง ยังไม่อยากออก ก็จงติดอยู่ จงยึดเอาไว้ต่อไปเถิด และ อย่าเข้าใจข้าพเจ้าผิด มากนัก จนนำไปกล่าวร้าย ป้ายความเลย ข้าพเจ้าชี้แจง เพียงผู้จะใฝ่ประพฤติ จะเห็นตามจริงๆ เท่านั้น ผู้ไม่เห็นงาม ก็ย่อมไม่ทำตาม ไม่เห็นน่าจะโกรธ น่าแค้น ให้มันเป็นบาป เป็นมลทิน แก่จิตของตนเอง กันทำไม! และ อย่าขวางทาง ผู้เขาจะลด จะละ จะสลัดคืนกันเลย จะเหนี่ยวกันไว้ทำไมนักหนา มันติด มันตัง กันมานานหนักหนาแล้ว อนุเคราะห์กันและกัน ให้พ้นบาป พ้นภัยกันบ้าง จะดีกว่า อย่าก่อแต่บาป ซ้ำยังขวางทาง ผู้จะละบาป เสียอีกนักเลย
ผู้ใดอยากให้ "ศีล" บริสุทธิ์ ก็เพียรไตร่ตรอง ประพฤติเอา สำหรับผู้เห็นว่า "ศีล" สำคัญ เพราะ "ศีล" นั้น เป็นต้นทาง เป็นหลักการ เป็นหน่วยกองแห่ง "ธรรม" เป็นอุปการะแห่ง "ปัญญา" โดยแท้จริง
เช่น พระพุทธองค์ ทรงสอนไว้ใน "มหาศีล" ว่า อย่ารดน้ำมนต์ อย่าเป็นหมอทำยารักษา อย่าเป็นหมอดู อย่าเป็นหมอให้ฤกษ์ยาม อะไรต่อมิอะไรอีกแยะ อันเป็น "ศีล" ที่ล้วนให้ละ ให้เลิกจาก "ดิรัจฉานวิชชา" เพราะเป็นทางหลง จากนิพพาน พระพุทธองค์ ก็ไม่ได้ทรงประพฤติ ในกิจเหล่านี้ ขนาดนั้น ยังมีพระอาจารย์รุ่นหลังเขียนแทรก บรรยายซ้อนเข้าไป ในพระอรรถกถาอีกว่า พระพุทธองค์ทรงรดน้ำมนต์บ้าง ทรงเป็นหมอดูหมอผีบ้าง เป็นต้น เหล่านี้ ล้วนเป็นความเข้าใจใน "พระบริสุทธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และ พระกรุณาธิคุณ" ของพระองค์ไม่พอทั้งสิ้น แล้วตนก็อวดดี ตู่ได้ตู่เอา เพราะตนก็คนหนึ่ง ที่ทำเช่นนั้นอยู่ นั่นเอง เป็นข้อใหญ่ ใจความ ของผู้กล่าวตู่ยกอ้างนั้น
ก็ถ้าเป็นคำห้าม ก็ดี เป็นคำปราม ก็ดี เป็นคำชี้บอกว่า สิ่งนั้นไม่ดี ก็ตาม เป็น "ศีล" ที่เป็น "บาปสมาจาร" ซึ่งมีใน พระโอวาทปาฏิโมกข์ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม เราก็เพียรเลิก อย่าประพฤติเข้าก็แล้วกัน ละขาดออกมาให้ได้ มิใช่จะไปยกอ้างว่า พระพุทธองค์ก็ทรงประพฤติ แล้วตนก็จะทำบ้าง ตนรู้ยิ่ง เห็นจริง ใหญ่จริงแล้วหรือ? เห็นผู้ใหญ่ทำอะไร ก็จะผลีผลาม ตีขลุมทำบ้าง ถูกฐานะ ตามความเป็นจริง แล้วหรือ?
เช่น แม้จะเป็นการแสดงฤทธิ์ ปาฏิหาริย์ อะไรนั้น เป็นต้น จะยกตน ไปเทียบเท่า เอาอย่างพระพุทธองค์ทำไม (ในข้อที่ตนยังไม่น่าเอาอย่าง) ถ้าแม้นว่า พระพุทธองค์ ท่านจะแสดงฤทธิ์ เพื่อสร้างศาสนาบ้าง ก็เรื่องของพระองค์ เราเอง ไม่มีความจำเป็นเลย พระองค์มีพระปัญญาคุณ มากเพียงพอ ที่จะกระทำบางสิ่ง บางอย่าง ทรงเล็งเห็นประโยชน์ มากกว่าโทส ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ อีกทั้ง แต่ละเรื่อง พระองค์ทรงทำนั้น เป็นการกระทำ ได้จริงแท้ มีผลจริงด้วย มีคุณจริงด้วย
มิใช่อวดอุตตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีในตน
และ พระองค์เอง ทรงเข้าใจคำว่า "อนุสัมปันน์" ดีเพียงพอด้วย อีกทั้งก็มิใช่ทำพร่ำเพรื่อเลย นับครั้งได้ในเรื่องพิเศษเหล่านั้น โดยปกติพระองค์ก็เลี่ยง และ ไม่ละเมิดในสิ่งนั้นๆ อยู่แล้ว
เราเป็นเพียงสาวก เมื่อมี "ศีล" ห้ามไว้ ก็จงอย่าทำให้ได้
ข้อสำคัญนั้น "ศีล" ในพุทธศาสนาปัจจุบันนี้ มันเหลือน้อยลงๆ เต็มที นี่สิ มันน่าสงสารพระบรมศาสดา ที่ได้สู้อุตส่าห์สร้าง "อาณา" (คำสั่ง) สร้าง "อนุศาสนี" (คำสอน) สร้าง "โอวาทปาฏิโมกข์" (คำสอน-คำสั่ง เพื่อพาถึงโมกขธรรม ทั้งสิ้น) เป็นส่วนใหญ่ ไว้มากมายก่ายกอง แต่พระสาวก ก็ได้จำกัดจำเขี่ยเอา ได้ตัดทิ้งออก ได้ปฏิเสธเสีย ไม่ยอมรับเอา (กลัวตนจะสูงขึ้นหรือไฉน ก็ไม่ทราบ)
แม้เช่นนั้น ในเรื่องรดน้ำมนต์ พ่นน้ำมันอะไรนั้น ถ้าสมมุติว่า พระพุทธองค์ จะรดน้ำมนต์ ช่วยคนให้หายไข้ หรือ ให้พ้นจากอดอาหารจริงๆ ละก้อ พระองค์ ก็จะช่วยเขาได้จริงๆ น้ำมนต์ของพระองค์ จะแสดงฤทธิ์ แสดงปาฏิหาริย์ได้จริง อันไม่เป็น การอวดอุตตริมนุสสธรรม ที่ไม่มีในตน แต่อย่างใด
แต่พระสาวกทั้งหลายทุกวันนี้ ที่ไปรดน้ำมนต์นั้น จะมีฤทธิ์ตามที่ผู้รด ก็ปรารถนาอย่างนั้น ผู้รับการรด ก็ปรารถนาอย่างนั้นได้จริงๆ หรือ? ตนจะทำให้เขาสมปรารถนา ได้แน่ล่ะหรือ? ขอให้คิดให้ดีเถิด อวดอุตตริมนุสสธรรมที่ไม่มีในตนนั้น มันไม่ใช่อาบัติเล็กน้อยกันนะ! ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่อย่าอวดดี หรือ อย่า "อุตริ" กระทำเกินคำสั่งสอน ของพระบรมศาสดาดีกว่า เพราะ พระพุทธองค์เอง ก็ไม่เคยตั้งตน ทำน้ำมนต์รดใครเลยจริงๆ ยังพากันทำได้ จนประหนึ่ง เป็นงานหลักของ "พระ" ในพุทธศาสนา ทุกวันนี้ เอาทีเดียว ดูเถิด มันเป็นไปได้ถึงปานนี้
หรือเช่น พระพุทธองค์สอนสาวก ว่า อย่าใส่รองเท้า ให้งามแงะเลย อย่าใช้ร่ม อย่าใช้ไม้เท้าเลย ฯลฯ อันเป็น "ศีล" แท้ๆ บอกไว้ชัดๆ ใน "มัชฌิมศีล" แล้วพระองค์ ก็ไม่ทรงสวมรองเท้า ตลอดพระชนม์ ไม่เคยใช้ร่ม ไม่ใช้ไม้เท้า เป็นต้น ทั้งๆ ที่พระองค์ก็สามารถ มีรองเท้างาม หรือไม่งามแค่ใด ก็อาจจะมีได้อย่างแน่ๆ ทั้งร่ม ทั้งไม้เท้า อะไรก็ตาม พระองค์ก็ล้วนจะมีได้ หาได้ ไม่ทุกข์ และ ไม่บาปด้วย แต่ พระองค์ ก็ต้องทรงไว้ซึ่ง พระบริสุทธิคุณ แม้กายกรรมภายนอกนั้น เพราะพระองค์ ต้องสอนคน เทวดา มาร พรหม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ดังนี้ เป็นต้น
ทำไมทีอย่างนี้ ไม่ยึด ไม่ถือ ไม่โน้มน้อมนำพา หรือ ไม่นำมาเถียง เพื่อจะทำ ไม่นำมาเถียง เพื่อปฏิบัติบ้าง พยายามเอาแง่ที่อ้าง เพื่อจะทำให้ตนตกต่ำจะทำให้ศาสนาเสื่อม มาเถียง มาเป็นเหตุเลศอ้าง กันไปทำไม?!
พระบรมศาสดาของเรา จึงคือ ผู้มี "ศีล" อ่านได้ เห็นได้แม้ด้วยตา ด้วยหู ด้วยสัมผัสภายนอก และ ทั้งภายในก็สัมผัสได้ ถ้าผู้ใดสามารถดังนี้
เพราะฉะนั้น "ผู้ใดตั้งอยู่ใน "ศีล" ที่ละเอียด ที่ลึกซึ้งเท่าใด ก็คือ ผู้บางจากกิเลสยิ่งเท่านั้นๆ ด้วย" ตรงตามพระพุทธพจน์ใน "คิริมานนทสูตร" ที่ได้ยกมาให้อ่านใน บทที่ ๒ แล้ว
พระพุทธองค์ ไม่ทรงตำหนิผู้มักน้อยเลย ผู้ใดน้อยได้เท่าใดยิ่งดี แต่ก็ควรอยู่ในสภาพสัมมา หรือมัชฌิมาของบุคคลนั้น และเป็นไปได้ สำหรับ ความเป็นมนุษย์ ที่ดี อันพึงควร พึงเป็นด้วย
เช่น พระมหากัสสปเถรเจ้า ถือธุดงควัตร เคร่งครัดตลอดชีพ ไม่ยอมเข้าอาศัย แม้ในบ้านใดเลย และ แม้นอนราบเอาหลังแตะพื้น ก็ไม่ยอมนอนเลย (ตลอดจน สิ้นชีพ ดับขันธ์) ไม่ว่ากลางวันกลางคืนอย่างนี้ พระพุทธองค์ยังทรงอนุโมทนา สาธุ! ด้วยซ้ำไป เพราะ พระมหากัสสป มี "เจตนา" เกื้อกูลโลก และคือ เพื่อเป็นครูแก่สัตวโลก นั่นเอง ทั้งๆ ที่พระมหากัสสป ท่านจะไม่เคร่งครัด อยู่ถึงอย่างนั้นก็ได้แล้ว เมื่อบรรลุความเป็นอรหันต์แล้ว ก็อยู่อย่างสัมมาโดยควร ดังพระอรหันต์อื่นก็ได้ แต่ท่านก็ยังทำ และ ทำดังนั้นจนสิ้นชีพดับขันธ์ ท่านเอง ท่านทำอย่างนั้น ท่านก็ไม่ทุกข์ แม้จะเกินขอบเขต ที่คนสมัยนี้ จะเอาอย่างได้ยากยิ่งก็ตาม
มันจึงเป็นการกระทำ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลโลกเท่านั้น ต้องพยายามเข้าใจภาษาเนื้อหา และ คุณค่าแท้ๆ ที่ว่า "เจตนา" ของผู้รู้ ผู้มีพระคุณ เพื่อหวังเกื้อกูลโลกให้มาก
"ศีล" จึงคือ ข้อวัตร ข้อกำหนด คือ หลักการ ที่ผู้ยังละกิเลส เลิกในสิ่งใดยังไม่ได้ จะต้องยึดถือ นำเอาไปประพฤติ ปฏิบัติให้ตนขาด ตนพ้น จากกิเลส-ตัณหานั้นๆ ให้มาก จนตนเป็น "ปกติ" ในเรื่องนั้นๆ ไม่ลำบาก ไม่เดือดร้อน ไม่ต้องทน ในเรื่องนั้นๆ อีกแล้วจริงๆ ถึงในใจลึกๆ ไม่ทุกข์กับการนั้น แท้จริง และ ต้องมีญาณหยั่งรู้ว่า สิ้นอาสวะแล้วด้วย จึงจะเรียกว่า วิมุติแท้ และ จะเป็น "ศีลวิสุทธิ" จนถึงที่สุด ก็เรียกว่า เป็น "ศีลอเสขะ"
"ศีล" ไม่ใช่หลักการที่น่ากลัว เหมือนกฎหมายบ้านเมือง ที่ออกมาใช้บังคับคนไม่ดี หรือ ป้องกันโจร ไม่เหมือน "พระวินัย" ที่เทียบได้ ดังกฎหมายของพระ แต่ทว่า เป็นหลักการของ "คนดี" หรือ ผู้ใฝ่ดี อย่างกอปรด้วยอิสรเสรีภาพ ผู้ใดใฝ่ดี ก็จะโน้มน้อม นำมาใช้ฟอกเกลาตน ให้สู่ดีนั่น โดยเองแท้
จึงจำเป็นเหลือเกิน ที่จะต้องมี "ศีล" ยึด "ศีล" ต้องรู้ "ศีล" ต้องปฏิบัติ "ศีล" ต้องเรียน (สิกขา) ใน "ศีล" ให้มากที่สุด
แต่ "พระวินัย" ซึ่งเป็นเรื่องต้องบังคับ เป็นเรื่องต้องทำก่อน เราก็ยิ่งจะต้องเข้มงวดยิ่งด้วย และ อย่าให้บกพร่อง ในพระวินัยก่อน "ศีล" ให้ได้ด้วย โดยเฉพาะ พระวินัย ๑๕๐ ข้อ ที่ไม่ใช่ "เสขิยวัตร" เพราะ "เสขิยวัตร" ไม่ใช่วินัยบัญญัติแท้ เป็น "อภิสมาจาร" ที่มีผู้เอามาเติมใส่ ในภายหลัง เพื่อจะให้เห็นว่า "วินัย" เหมือน "ศีล" ขึ้น แล้วก็เลยเรียกตีขลุมเอา "พระวินัย" รวมกับ "เสขิยวัตร" ลงไป เป็น "ศีล ๒๒๗" คือ ให้มีทั้ง "บาปสมาจาร" และ "อภิสมาจาร" ให้พระยึดเอา ถือเอา เพียงเท่านี้เสียเลย "ศีล" จึงแคบเข้า "ศาสนา" จึงเล็กลง เพราะ "สิกขาบท" กุดลง โดยเฉพาะ "ศีล"
พระพุทธองค์ทรงตั้ง "ศาสนา" มาด้วย "ศีล" จนมี "บริษัท" มีพระอรหันต์ ตั้งมากมายก่ายกองแล้ว จึงได้ตั้ง "พระวินัย" ขึ้นมาตามทีหลัง พระสาวกทั้งหลายนั้น บรรลุอรหันต์เพราะ "ศีล" และ เพราะ "โอวาทปาฏิโมกข์" ต่างๆ
"ศีล" นั้นเป็น "อนันตัง" "ศีล" นั้นยิ่งใหญ่ และ ลึกซึ้งสุขุมคัมภีรภาพ มากเกินกว่าปุถุชน จะคาดคะเนเอาได้ง่าย
"พระอรหันต์" นั้นคือ "ศีลบุคคล" คือ ผู้มีความเป็นปรกติในทุกเมื่อ เป็นผู้รู้ ผู้เข้าใจ เป็นผู้วางเฉยได้ วางเฉยอยู่ เป็นผู้พ้นแล้ว จาก "อสัทธรรม" (ความไม่ดี) เป็นผู้จบ หรือ ถึงที่สุดแห่ง "ศีล" ที่ปุถุชน และพระเสขบุคคล ยังพึงต้องรู้ ต้องเรียน ต้องประพฤติ ผู้ใดเต็มไปด้วย "ศีล" ก็คือ ผู้เต็มไปด้วย "ธรรม" ผู้ยิ่งมี "ศีล" มากละเอียดมาก สุขุมมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นผู้มี "ธรรม" มากสูงมากเท่านั้น
จงรู้จัก "ศีล" กันให้ดี ให้แจ้งเถิดพุทธศาสนิกชนเอ๋ย! แล้วเราจะอ่านผู้มี "ธรรม" ออก ด้วย "ศีล" เป็นมาตราวัด แม้ด้วยตา ด้วยหูนอกๆ เราก็จะเห็นได้ รู้ชัดได้ โดยไม่ต้องเคลือบแคลง สงสัย ใครผู้ใดรู้ข้อ "ศีล" มากเท่าใด ก็จะเป็นผู้รู้จัก "พระอริยะ" ที่สูงขึ้นๆ ได้มาก และ ถูกต้องมากยิ่งเท่านั้น
ทิ้งท้าย
เรามิได้สงวนลิขสิทธิ์ใดๆ ในข้อเขียนของเราเลย หากมีผู้ปรารถนา จะนำไปพิมพ์เผยแพร่ ด้วยวิธีการใดๆ ก็จงทำเถิด แม้จะนำไปพิมพ์ขาย ในราคาแพงอย่างไร ก็ได้ เราจะอนุโมทนาด้วย อย่างดียิ่ง ถ้ามีผู้อาจสามารถทำได้
ขอเพียง อย่าให้ข้อความ และถ้อยคำ มันผิดเพี้ยน จากต้นฉบับเดิมนี้ ไปเท่านั้น ก็ขอบพระคุณเป็นที่สุดแล้ว
ชาวอโศก
|