คาถาธรรม ๑๒
ตรวจตน ดูตน กำชับตน ความตั้งใจ ที่เราจะตรวจตนดูตนกำกับตน ให้ ช้า-สุขุม-อ่อนโยน-สุภาพ-หยุด ให้ได้ในสิ่งที่เรายังมีความปรารถนาลามก หรือปรารถนาอยากใคร่ ในสิ่งที่ไม่สมควรเอามาเสพย์สม กระทำดังใจตน ที่ตนเองปรารถนาต้องการมาให้แก่ตน เราจะพยายามตรวจตน ดูตน กำกับตน ให้ช้าลงบ้าง แล้วก็ตรวจดูในอิริยาบถ ในพฤติกรรม ทั้งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ให้มันช้าลง จากที่เราเคยให้มันสุขุม จากที่เราเคยเร่งร้อนเร่งเร้า เราทำให้มันเรียบร้อยอ่อนโยน ไม่ให้ดูกระชาก ไม่ให้ดูรี่เร็ว หรือแข็งกระด้าง ปรับลงมาสู่ความหมาย ทั้งกายกรรม-วจีกรรม-มโนกรรม ว่าอ่อนโยน ลักษณะใดที่จะสู่ความว่า "อ่อนโยน" เราจะปรับ เราจะทำให้ดีที่สุด เรียกว่า"สุภาพ" เราจะทำให้ได้ความเหมาะความสม ให้ดูดีดูงาม ทั้งสภาพแวดล้อม ทั้งที่ตนกำลังจะกระทำกับกาลเทศะ ฐานะนั้นๆ และสิ่งใดที่เราเห็นเรารู้ เราชัดว่ามันควรจะหยุดควรจะดับ ควรจะไม่ให้เกิดให้ได้สนิท เราจะหยุดให้ได้ การตรวจตน ดูตน กำกับตน ดังกล่าวนี้ จะทำให้เราละเอียดลออ จะทำให้เราเพิ่มภูมิ เพิ่มการปฏิบัติ เข้าไปสู่ความละเอียดลออ ละเมียดละไม สุขุม ประณีต สูงสู่สูงขึ้นไปสู่ที่สุด และสุดได้ ๑ สิงหาคม ๒๕๒๘
ผู้มีใจพอ บุคคลผู้มีความมักน้อย มีความสันโดษ มีความสงบวิเวก มีความไม่คลุกคลีเกี่ยวข้องกับกิเลส มีความขยันหมั่นเพียร และพร้อมไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุติญาณทัสสนะ ผู้มีสิ่งเหล่านี้จริงสมบูรณ์ นั่นชื่อว่า ผู้ที่มีความตรัสรู้สมบูรณ์ และความตรัสรู้ ก็จะเป็นผู้ที่มีการเข้าใจชัด พร้อมกับมีสิ่งนั้นอยู่ในตนชัด เช่น มีความมักน้อย เป็นผู้ที่ไม่สะสม ไม่กอบโกย มีอะไรที่อยู่ในลักษณะอาศัยน้อย แต่ก็ไม่ได้กระเบียดกระเสียน ไม่ได้ทรมานตน ไม่ต้องอดไม่ต้องทน ไม่ต้องข่มไม่ต้องฝืน ก็เป็นผู้ที่สบาย มีความพอในใจ มีใจพอในสิ่งที่มีอยู่ ตนได้อาศัยอยู่ แม้จะน้อยก็สงบอยู่ แม้จะขาดแคลนบ้างก็สงบอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน ไม่ดิ้นรน ไม่ต้องแสวงหาอีก ผู้มีความสงบปานฉะนี้ คือ ผู้ที่ไม่คลุกคลีเกี่ยวข้องด้วยกิเลส เป็นผู้ที่หมดความอยาก สิ้นความเสพย์ แต่ผู้นั้นก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ที่ขาดแคลน และก็ทรมานตน เพราะผู้นั้นยังเป็นผู้ขยันหมั่นเพียร เป็นผู้ปรารภความเพียรอยู่ เป็นลักษณะ เป็นนิสัย เป็นความเข้าใจ เป็นความเห็นจริง ว่าเป็นความดีของมนุษย์ เป็นสิ่งที่มนุษย์ควรทรงอยู่ ทรงเป็นไป จึงชื่อว่าเป็นผู้ขยันอยู่นั้น เป็นคนประเสริฐ ยิ่งเอาศีลสมาธิปัญญาเข้าไปจับ ผู้นั้นจะทรงศีล ทรงสมาธิ ทรงปัญญา หรืออริยญาณ ที่รู้อยู่เสมอ ถึงสภาพสบาย ถึงสภาพที่ทรงในจิตวิญญาณว่า เป็นจิตวิญญาณที่ดีที่สุด ปราศจากกิเลสอยู่ เป็นความพ้นทุกข์ เป็นความว่างความสูญ เป็นความเบาความง่าย เป็นความพ้นภาระ แต่ไม่ได้หมายความว่า เป็นผู้ที่เฉยเมย เป็นผู้ที่ไม่เอาภาระอะไรในโลก ไม่ทำงาน จะไม่ใช่ความค้านแย้งกับวิริยารัมภะ หรือเป็นผู้ปรารภความเพียร เป็นอันขาด จะเป็นผู้ปรารถนาความเพียร ขยันอยู่แท้ แต่ก็มีความว่างอยู่ในใจ มีความสูญกิเลสอยู่ในใจ มีความปรารถนาดีอยู่ในใจ มีความต้องการสร้างสรร สิ่งที่เป็นคุณค่าประเสริฐ ด้วยปัญญาอันยิ่ง จึงชื่อว่า เป็นผู้มีความหลุดพ้น มุติ และ มีญาณปัญญา ที่เห็นในวิมุตินั้น เป็นวิมุติญาณทัสสนะ สมบูรณ์แท้จริง ๔ สิงหาคม ๒๕๒๘
ความอดทน ..... เป็นจริง ในความจริงนั้นๆ ซึ่งลึกซึ้ง หาที่เปรียบได้ยาก ใครก็ดีที่จะฝึกตน มันฝึกได้ยากยิ่งจริงๆ เพราะกิเลส หรือความเคยชิน เคยติดนั้น เป็นยางเหนียว เป็นความไม่ยอมที่จะพรากจะจากจะปล่อย จึงเป็นเรื่องที่ลำบากที่สุด เราจะแก้ปัญหา โดยบังคับผู้อื่น ถ้าเรายิ่งมีอำนาจ เรายังสามารถที่จะปรับเขา จะกระทำให้แก่เขา แก้ไขปรับปรุงได้ง่ายกว่า แม้จะโดยบังคับก็ตาม แต่ตนเองจะบังคับตนเองก็ดี หรือยิ่งยินดี เต็มใจ ฝืนกระทำ อดทนกระทำให้ตนเองนั้น ละ เลิก ปลดปล่อย สิ่งที่ตนควรละควรเลิก ควรปลดควรปล่อยนั้น ยังยากอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ใดมีขันติ มีความอดทน ผู้ใดมีความเข้มแข็งที่จะฝืนข่ม ผู้นั้นย่อมเป็นผู้เอาจริง ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่สามารถสละ สามารถปลดปล่อยได้ เพราะผู้นั้นแข็งแรง และเป็นคนที่มีสัจจะ จึงจะเป็นผู้พบสัจจะ ตามที่พระพุทธเจ้าท่านได้ยืนยันดังนั้น ๒๐ กันยายน ๒๕๒๘
สติ เป็นตัวนำ ผู้มีองค์แห่งการตรัสรู้ ก็คือมีสติเป็นตัวนำ การมีสติเป็นตัวนำนั้น ก็คือจะต้องพยายามรู้จริงๆว่า ตลอดเวลา ไม่ว่าขณะใด เราเป็นอะไรอยู่ เราทำอะไรอยู่ จะต้องรู้ตัวให้ดีเสมอ ขึ้นมาเสมอ ผู้ปฏิบัติธรรม คือผู้เพียรรู้ตัวรู้ตื่น รู้แล้วก็ต้องวิจัย รู้ว่าที่เราทำอะไรอยู่ เป็นอะไรอยู่นั้น ดีหรือชั่ว ดีกว่านั้นมีอีกไหม ควรจะทำเช่นนั้นเท่านั้นต่อไป หรือควรจะเพิ่ม หรือควรจะลด การปรับการกระทำของเรา การเป็นอยู่ของเราทุกขณะ ให้เข้าสู่ความพอดี ความสัมมาตามเหตุผล ตามความเป็นจริง ให้พอเหมาะพอดี บางอย่างอาจจะแรงไปมากไป บางอย่างอาจจะน้อยไป บางอย่างอาจกำลังจะพอดี กำลังเจริญดี เราจึงจะทำสิ่งนั้นให้พอเหมาะ เป็นการปรับอันไม่เที่ยง เหตุปัจจัยมีผสมอยู่ตลอดทุกวินาที ที่เราจะปรับปรุงให้มันดีขึ้นเสมอ เพราะฉะนั้น การมีองค์แห่งการตรัสรู้ มีสติ จึงไม่ได้หมายความตื้นๆ ธัมมวิจัย ก็ไม่ได้หมายความว่า นานๆคิดที นานๆวิจัยที เราจะต้องรู้ตัว และรู้ตื่นอยู่เสมอจริงๆว่า เราทำอะไรอยู่ เป็นอะไรอยู่ แล้วเราก็วิจัยจริงๆ วิจัยไปทุกขณะให้ได้มากที่สุดดีที่สุด ด้วยวิริยะความเพียรอุตสาหะ โพชฌงค์ทั้ง ๓ ข้อนี้ จะเป็นตัวจักรกลหลักๆ เป็นตัวปฏิบัติแท้ๆ ซึ่งต่อไปจึงจะเกิดปีติ ต่อไปจึงจะเกิดปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปีติก็เป็นสภาพที่เราปรับได้ดีขึ้น และเราก็จะมีตัวรู้อีกแหละ รู้ว่าได้ดี บางทีรู้แล้ว ยังมีความดีใจ มีความภาคภูมิใจ มีความเจริญในใจ เบิกบานแจ่มใส บางทีที่มีมากกว่านั้น จนกลายเป็นอุปกิเลส กลายเป็นความดีใจ ตื่นเต้น ฟูฟองใจ ซึ่งอาจจะเป็นได้ ถ้าเราทำอะไรได้ดี มันก็ย่อมจะดีใจ ภาคภูมิใจ และพอใจ และสบายใจขึ้นไป เช่นนั้นเสมอๆ การดีใจ ไม่ได้ดีใจเพราะกิเลสเพิ่ม แต่ดีใจเพราะกิเลสลด เมื่อกิเลสลดนั่นแหละ เราเรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เรียกว่า "สงบ" การจะรู้ว่ากิเลสหมด ก็ต้องมีปัญญาอันยิ่งว่าสงบ ไม่ใช่สงบเพราะว่าได้หยุดอยู่เฉยๆ ได้นิ่งได้ดับไปเฉยๆ อย่างไม่มีปัญญา เราจะต้องรู้ว่า ปัสสัทธิ ความสงบนั้น สงบเพราะเราได้ชนะตัวต้าน ที่เรียกว่า "กิเลส" จะเป็นกิเลสหยาบ-กลาง-ละเอียด ในสายโลภะ โทสะโมหะใดๆก็ตาม เราจะมีความรู้ลึกซึ้งไปเรื่อยๆ ว่านี่เป็นกิเลสสายโลภมูล นี่เป็นกิเลสสายโทสมูล นี่เป็นกิเลสสายโมหมูล การอ่านรู้กิเลสเหล่านั้น อย่างนั้นจริงๆ เรียกว่า เจโตปริยญาณ เรียกว่า การมีญาณหยั่งรู้ รู้ถึงกิเลสอย่างถูกต้อง ความสงบระงับลงไปเรื่อยๆ การกระทำอยู่ การเป็นอยู่ย่อมดีขึ้น เจริญขึ้นแข็งแรงขึ้น และผู้นั้นย่อมเป็นผู้ตื่นยิ่งขึ้นด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ยิ่งหลับ ไม่ใช่เป็นผู้ยิ่งไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่ยิ่งเป็นผู้ซึมเซื่อง แต่กลับจะเป็นผู้ยิ่งตื่นเบิกบานแจ่มใสขึ้นมา ยิ่งปัสสัทธิมากเท่าใด ยิ่งสงบมากเท่าใด ยิ่งเบิกบานแจ่มใสและแคล่วคล่อง เป็นมุทุภูเต กัมมนิเย เป็นสภาพที่แคล่วคล่องว่องไว ดัดได้ง่าย ปรับได้ง่าย แข็งแรงและคล่องเร็ว เหมาะแก่การงาน ทำการงานได้มาก ทำการงานได้เจริญ ทำการงานได้มีสมรรถภาพ นั่นคือ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ เป็นการตรัสรู้ เป็นการสงบอย่างเจริญ เราทำบ่อยเข้าทำมากเข้า ปีติก็เกิด คือดี สิ่งที่ได้ดีเกิดมาก และความสงบของกิเลสก็ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงหยั่งลงเป็นสัมมาสมาธิสัมโพชฌงค์ เป็นสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะ เป็นความตั้งมั่นแข็งแรง เป็นความแน่วแน่มั่นคง ซึ่งไม่ทำ ไม่เกิด ผู้ใดทำโดยพากเพียรอยู่ จึงจะสั่งสมลงเป็นความตั้งมั่นอยู่ เพราะฉะนั้น จะคิดเอาเฉยๆ เอาแต่รู้ ไม่มีทางเกิดสมาธิ จะเกิดสมาธิได้เพราะได้บำเพ็ญ เพราะได้กระทำ วันแล้ววันเล่า นาทีแล้วนาทีเล่า วินาทีแล้ววินาทีเล่า ด้วยความเพียร เมื่อได้สมาธิ เราก็จะได้สภาพลึกซึ้งซับซ้อน ขึ้นไปสู่ความเป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา เป็นความวางได้ปล่อยได้ เป็นความไม่มีผลักไม่มีดูด ไม่มีลักษณะที่จะยาก และไม่มีลักษณะที่มันจะต้องกระทำอีก ขึ้นไปเรื่อยๆ มันได้ความแคล่วคล่อง มันเป็นเอง มันเฉยๆ แต่มันก็เป็น มันก็เจริญ กิเลสมันไม่มีเอง มันเฉยต่อกิเลส เฉยต่อเหตุปัจจัย ที่เราเคยแพ้เคยพ่าย เคยเป็นทาส มันวางได้ปล่อยได้ และพร้อมกันนั้น มันก็รู้ มันก็ตื่น มันก็เบิกบาน และมันก็แคล่วคล่องในการงาน มันตั้งมั่น แม้จะอยู่กับเหตุปัจจัยที่เป็นกิเลส มันก็วางเฉย แข็งแรง จะยั่วยุจะมอมเมากระแทกกระทั้นอย่างไร ก็ อาเนญชา เป็นภูเขาหิน ถ้าวิมุติ อย่าง สมุจเฉทวิมุติแล้ว สิ่งที่เป็นกิเลสในโลก จะแตะต้อง จะกระแทกกระเทือน เราจะอยู่กับกิเลสเหล่านั้นอย่างไรๆ ก็ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง หรือหวั่นไหว นกัมปติ ไม่มีหวั่นไหว อาเนญชา ไม่มีหวั่นไหว แม้แต่เศษธุลี เราก็จะได้เรียนรู้ซับซ้อนขึ้นไปอีก แล้วก็จะถึงความเป็นอยู่อันเกษม เป็นการอาศัยสภาพที่เราได้ เรียกว่าธรรมะอันสมบูรณ์ เป็นโลกุตรธรรม โพชฌงค์ ๗ หลักการตรัสรู้สำคัญ บทที่จะกระทำ คือโพชฌงค์ ๓ สติ ธัมมวิจัย วิริยะ สามตัวนี้ เราจะต้องกระทำจริงๆ ให้มีบทบาท ดังนั้น ผู้ใดตกหล่น ไม่เคยคำนึงถึงหลักวิชา และไม่เคยกระทำตรงตามหลักวิชา จึงช้า ผู้ใดรู้หลักวิชา แล้วปฏิบัติจริง เป็นจริงได้จริง ตรงตามหลักวิชา ผู้นั้นจึงจะเกิดองค์แห่งการตรัสรู้ และย่อมจะถึงที่สุดแห่งการตรัสรู้ ถึงนิพพานได้เป็นที่สุดแล ๑๑ ตุลาคม ๒๕๒๘
ผู้ตรัสรู้ ในอริยสัจ อริยะ แปลว่าความประเสริฐ แปลว่าความดีที่สูงที่สุด, สัจจะ แปลว่าความจริง, อริยสัจ จึงแปลว่าความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงที่ดี ที่สูงที่สุด ผู้ที่ได้ศึกษาถึงอริยสัจ ก็คือ ผู้ที่ศึกษาเข้าไปสู่ความจริงอันประเสริฐ หรือความจริงอันดี อันสูง และก็ลึกสุด ที่เราพึงรู้ความจริงเช่นนั้น ก็เพราะเราจะได้เป็นผู้เข้าใจ หยั่งถึงความจริง จริงๆ ว่าในโลกนี้มีความจริง จริงๆ อยู่ ๒ ชนิด คือ ความจริงที่เป็นไปอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เราเรียกว่า ความจริงโดยสมมติ ความจริงโดยรู้ร่วมกันไปเท่านั้น ถ้ายังไม่รู้ ก็เรียกว่า"โง่" ใครรู้ก็เรียกว่า"รู้" หรือเรียกว่า"ฉลาด" เท่านั้นเอง เรียกว่า สมมติสัจจะ และยังมีความจริงอีกชนิดหนึ่ง ที่เป็นความจริงที่รู้ และก็รู้ถึงความสำคัญหรือไม่สำคัญ ความจำเป็นหรือไม่จำเป็น รู้ว่าสิ่งใดดี สิ่งใดดีกว่า สิ่งใดดีที่สุด รู้ตั้งแต่ตัวรากฐานของสิ่งนั้น และก็รู้ถึงสภาพของสิ่งนั้น จนกระทั่งค้นเข้าไปถึงรากฐาน หรือเหตุที่มาของสิ่งนั้น ได้ถึงรากที่สุด สิ่งใดพึงละล้าง ถอนรากถอนโคน ถึงเหตุที่สุดให้ได้ ที่ควรถอน ดังนั้น ผู้ที่รู้ว่าสิ่งใดไม่สำคัญ ไม่จำเป็น ควรเลิกควรละ เพราะมันถ่วงชีวิต มันทำลายชีวิต ชีวิตไม่ประเสริฐ ชีวิตไม่ดี ชีวิตไม่สูง ผู้ที่รู้เช่นนั้น จึงมาถอนรากถอนโคน หรือถอนเหตุที่มันพาให้เกิดสิ่งที่ไม่ควรเกิด เป็นอยู่ในสิ่งที่ไม่ควรเป็นอยู่ พาให้ผู้นั้นไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ เป็นภาระยุ่งยาก การรู้จักการถอนรากถอนโคน ในสิ่งที่พาเกิดพาเป็นพาไปนั้น สิ่งที่เป็นเหตุสูงสุดของชีวิตมนุษย์ ก็คือ มาจากต้นเค้าของความหลง ความโง่ ที่อยู่ในจิตวิญญาณมนุษย์ เมื่อผู้ใดศึกษา เกิดความรู้ เกิดความเห็นจริงในของจริง ที่มีสภาพละเอียด เป็นสภาพนามธรรม ที่เป็นเหตุพาให้เราหลง เราเกิด หรือพาให้เราโง่ ที่ท่านเรียกว่า"อวิชชา" เมื่อมาศึกษารู้ความจริงเช่นนี้ และถอดถอนล้างละ ด้วยวิธีการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบ กระทำได้ จึงเห็นจริง ชีวิตของผู้ที่ค้นพบสิ่งที่ควรอยู่หรือควรล้าง ได้อย่างแน่แท้จริง และ ได้พิสูจน์ความจริงนั้น ถึงผล ประสบผล จึงเป็นผู้ที่ประเสริฐ เป็นผู้ที่ดี ผู้ที่สูง มีคุณค่า เพราะรู้ความจริงอย่างประเสริฐ ความจริงอย่างประเสริฐนั้น พระพุทธเจ้าได้ขมวดเป็นทฤษฎีเอาไว้ว่า ควรรู้เท่าทันธรรมชาติ หรือสิ่งที่เกิดทั้งหมด แล้วก็รู้เหตุแห่งการเกิดธรรมชาตินั้นๆ แล้วก็รู้วิธี และดับธรรมชาตินั้นๆได้ และรู้การอยู่เหนือธรรมชาติทั้งปวง นี้เป็นความรู้ หรือเป็นความประเสริฐ ที่เราจะต้องศึกษาเข้าไปถึงความจริงนั้นๆ ให้ได้ จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ตรัสรู้ในอริยสัจ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๘
ระวังอารมณ์ก่อนการงาน นักปฏิบัติธรรมของพุทธ ย่อมจะรู้จักสติปัฏฐาน ๔ ย่อมจะรู้จักโพชฌงค์ ๗ และย่อมจะรู้จักมรรคองค์ ๘ หรือย่อมจะเข้าใจในทฤษฎีรวมใหญ่อันเอก คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ และต้องประพฤติด้วยความมีสติ รู้ตัวทั่วพร้อม รอบนอก รอบใน ต่อสัมผัส แล้วก็มีธัมมวิจัย หรือมีสัมมัปปธาน ๔ ได้สังวร ได้ประหาร จนเกิดผล และรักษาให้ยิ่งๆ ต่อเนื่อง ตั้งมั่น เป็นไปอยู่ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาแห่งการงาน ศาสนาพุทธ ประพฤติธรรมไปด้วย ทำการงานไปด้วย สังวร ระวัง ในความคิด ในวาจา ในการกระทำทั้งสิ้นทั้งมวล ประจำชีวิต กระทำอยู่ ดังนั้น นักศึกษาผู้ฉลาด จึงจะต้อง ระวังอารมณ์ ก่อนการงาน ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ระวังอารมณ์ ในทฤษฎีอันเอกของศาสนาพุทธนั้น ทฤษฎีที่เราจะปฏิบัติไปตั้งแต่ต้น จนถึงที่สุดก็ดี ก็เป็นทฤษฎีที่เราจะต้องมีสตินำหน้า มีธัมมวิจัย หรือมีสัมมัปธาน ๔ มีความเพียร หรือมีความยินดีในการปฏิบัติ มีความอุตสาหะวิริยะ ตั้งใจที่จะรู้ ในจุดที่เราจะปฏิบัติอยู่เสมอ คือการสำรวมสังวร ระลึกรู้ตัวต่อตนเอง สิ่งแวดล้อมและผัสสะ รวมทั้งพฤติกรรม กายวาจาใจที่เราเป็นอยู่ และเรียนรู้กุศลอกุศลให้ชัดแท้ ละอกุศลตั้งแต่หยาบกลางละเอียด ปรับขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างแท้จริง แม้เราปรับกายให้สุจริตได้ วาจาให้สุจริตได้ ก็เพราะเราเองรู้ต่อผัสสะ และรู้ต่ออารมณ์ ดังนั้น ในคำว่า "อารมณ์" คือ จิต เกิดอยู่ที่จิต อารมณ์นั้นจะมีทั้งอารมณ์รับรส และอารมณ์รับรู้ ความรู้เรียกว่าปัญญา ซึ่งมีทั้งรู้ในสมมติ และรู้ในรสอีกทีหนึ่ง เพราะฉะนั้น คำว่า รสที่เสพย์ หรือรู้ตามสมมติ แล้วเราก็กระทำตนให้หมดรสที่เสพย์ และกระทำตามรู้ที่สมมติ เป็นกุศลอันยิ่ง ความหยาบรู้ง่าย ความละเอียดรู้ยาก เราจึงจะต้องปฏิบัติจากหยาบที่รู้ง่าย เพื่อเข้าใจกุศลอกุศล เพื่อเข้าใจรส เพื่อเข้าใจรู้ เพื่อเข้าใจสมมติในปรมัตถ์ เรียกว่า ความเป็นแก่นสารสาระ ที่มนุษย์จะต้องอาศัย พึงมีพึงเป็นนั้น เราเรียกว่า กุศลนั่นดี อกุศลนั้นไม่ดี ผู้ที่จะรู้ว่าดีและไม่ดี อย่างถูกองค์ประกอบ ความสมบูรณ์พร้อม ก็จะต้องฝึกหัด อ่านไป พิจารณาทั้งความเป็นอยู่ ความเป็นไปตามสมมติ และความจริงใจอย่างพอดีพอเหมาะ เรียกว่า ฝึกสัปปุริสธรรม ๗ ประการ ด้วยการประมาณอย่างแท้จริง ผู้ฝึกได้ ฝึกดี เรียกว่า ฝึกตนเป็นสัตบุรุษ หรือเป็นอริยบุคคลอย่างแท้จริง การฝึกดังกล่าวมาทั้งหมดนั้น ตัวประธานคือจิต ตัวรับรู้คือจิต ผู้ที่จะทรงอาศัยอยู่ คือการงานหรือการกระทำ หรือเรียกว่า "กรรม" เพราะฉะนั้น การงาน จึงเป็นเครื่องอาศัย เป็นสมมติสัจจะสูงสุด จิตที่รู้แจ้งต่ออารมณ์เสพย์ และมีความรู้อันยิ่ง จึงเป็นตัวกำหนด และเป็นตัวละ การปฏิบัติธรรม รู้จักอารมณ์จิต ที่เป็นอารมณ์ว่างจากกิเลสทั้งหมด หรือยังมีอารมณ์ต่อกิเลสอยู่ จึงเป็นตัวละล้างในตัว ส่วนการงานนั้น เราก็จะรู้ความเหมาะสม พอเหมาะพอดี ตามสมมติ ตามกาละ ตามหมู่กลุ่มและบุคคล เราจึงต้องรู้ไปพร้อมกันทั้งหมด การปฏิบัติธรรม จึงต้อง ระวังอารมณ์ ก่อนการงาน ให้เป็นหลัก พระอรหันต์ หมดอารมณ์เสพย์ เท่านั้น จึงจะทำการงาน ที่พิจารณาความพอเหมาะพอดี เป็นสัตบุรุษ แต่เพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมดา ไปจนถึงเสขบุคคล ๗ ระดับนั้น จะต้องปฏิบัติ อ่านอารมณ์ให้เร็ว ให้ไว ก่อนการงานเสมอ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
สิ่งพิเศษยอดของศาสนาพุทธ ศาสนาพุทธ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นศาสนาที่ชื่อว่า โลกุตระ ซึ่งเป็นศาสนาที่นำพาให้บุคคลเรียนรู้จักกิเลส ซึ่งเป็นของธรรมดาของชาวโลกียะ หรือชาวโลก การเจริญด้วยโลกียะ เป็นของธรรมดา การมีอามิสสินจ้าง ได้รับความสุขสมใจ เป็นธรรมดา แต่ศาสนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ได้สอน... ล้างความสุขสมใจ ที่เป็นสุขัลลิกะ เป็นสุขอันลำบาก เป็นสุขอันจะต้องหาสิ่งตอบแทน พระพุทธเจ้าค้นพบความสุขที่ยิ่งกว่า ที่เรียกว่า วูปสโมสุข คือสุขที่ไม่ต้องเสพย์สิ่งแลกเปลี่ยน หรือสิ่งล่อ สิ่งเสพย์สม เพราะฉะนั้น ผู้ใดได้ศึกษาโลกุตระ ได้พบความสุขที่เป็นวูปสโมสุข เริ่มต้นตั้งแต่ขั้นหยาบ ขั้นต่ำ พ้นโลก เหนือโลก ทั้งๆที่อยู่กับโลก เพราะศาสนาพระพุทธเจ้า สอนให้เรารู้กิเลสของโลก แล้วก็มีวิธีที่จะฆ่ากิเลส อย่างไม่ต้องหนี เมื่อฆ่ากิเลสตายแล้ว ก็ยังอยู่กับโลก รู้เท่าทันกิเลสของโลก และยังได้ช่วยผู้อื่นได้อีก ตนเองนั้นพ้นทุกข์ พ้นความเป็นทาส และเราก็ยังไม่ได้หนีไปจากโลกอย่างใด ไม่ว่าจะเป็นโลกขั้นต่ำ ขั้นอบาย หรือโลกแห่งโลกกามคุณ โลกที่เป็นโลกธรรม จึงเป็นลาภยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างใดก็ดี แม้ที่สุด โลกแห่งอัตภาพตัวตน หรือเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม ที่ปั้นสร้างเอาขึ้นง่ายๆ ก็ตาม ไม่ต้องวิ่งหนี ไม่ต้องหลบ รู้อย่างรู้ๆ สัมผัส และผจญกับสิ่งนั้น อย่างต่อหน้า จนกระทั่ง สามารถเอาชนะ อยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นได้โดยจริง นี้เป็นโลกุตระของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เหนือชั้น โลกียะนั้นเราก็รู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงทราบดี เพราะเป็นโลกวิทู เป็นผู้ที่รู้เท่าทันโลกทุกประการ สิ่งดี สิ่งกุศลของโลก ก็รู้ด้วย แต่การทำจิตให้เหนือโลกนั้น เป็นสิ่งพิเศษที่เหนือกว่าศาสนาใดๆ เรื่องของการรู้เท่าทันโลกนั้น และรู้กุศลของโลก ความดีของโลก เป็นธรรมดาของปราชญ์ เป็นธรรมดาของผู้ฉลาด ย่อมไม่ใช่สิ่งพิเศษอะไรกันนักหนา ส่วนสิ่งพิเศษนั้น ก็คือ การรู้เท่าทันกิเลส จริงๆ แล้วฆ่ากิเลสได้จนสูญสิ้น จนชื่อว่าสูญญตา หรืออนัตตา นี้เป็นสิ่งพิเศษยอดของศาสนาพุทธ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
สัจธรรม คือจริงแท้ สัจธรรม คือ สัจธรรม อสัจธรรม คือ อสัจธรรม ผู้ที่มีดวงตาเห็นความจริง จึงจะเป็นผู้ที่มั่นคง แน่นอน และสงบ ผู้ที่ไม่เห็นความจริง จึงคือผู้ที่ยังเปลี่ยนแปลง และยังไม่สงบ ยังคงอวดดี ดังนั้น เราจะรู้จักสัจธรรม หรือเราจะเห็นว่าสิ่งนี้ไม่ใช่สัจธรรมได้ เพียงแต่เรารู้ทฤษฎี ก็ยังพอมองออก แต่ภาวะซับซ้อน สามารถลวงคนได้บ้าง สำหรับ ผู้ที่ถึงความจริงแห่งความจริงเท่านั้น จึงจะเห็นชัด ในชั้นเชิงของความจริงแท้ แน่นอน สูงสุดได้ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
"ความจริง" ไม่เปลี่ยนแปร สัจธรรม คือสัจธรรม เพราะฉะนั้น ความมั่นคง แน่วแน่ ตั้งมั่น สำหรับสิ่งที่เป็นความจริงอย่างแท้จริงแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่แปรปรวน ความจริงจะเป็นสิ่งที่ชัดเจน ทั้งปัญญา และแข็งแรง ทั้งสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ความจริงนั้นจึงไม่มีสอง จึงไม่เป็นอื่น ไม่ว่าเราจะปฏิบัติตน ให้เป็นความดีที่จริง ที่รู้ยิ่งด้วยปัญญาว่าดี และปฏิบัติจนได้ตั้งมั่นแข็งแรง ได้อย่างดีแล้ว แม้ว่ามันยังไม่แข็งแรง ที่จะต้องประคอง ที่จะต้องรักษาระวัง ถ้าเราแน่ใจด้วยปัญญา ว่าสิ่งนั้นดีจริงแล้ว เราจะต้องประคอง ระวังรักษา ให้ความดีนั้น จนกระทั่ง เป็นความดีที่เป็นความจริง คือ ดีนั้นจะแข็งแรงด้วยตัวมันเอง โดยไม่ต้องประคองรักษาระวังเลย และมันจะเป็นจริงเช่นนั้นเอง ตลอดไปชั่วกาลนาน ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
คนจริง สัจจะ คือสัจจะ คนที่มีความจริง คือคนที่มีปัญญา เข้าใจชัดถึงสิ่งที่หลอก ที่เรียกว่า"กิเลส" และเข้าใจชัด ถึงสิ่งที่ได้ละล้างกิเลสออกไปแล้ว เหลือแต่ความจริง เหลือแต่ความบริสุทธิ์ คนจริง จึงคือ คนที่มีความจริงที่ปราศจากกิเลสเท่านั้น ส่วนคนที่หลงตัวเองว่า เอาจริง โกงก็โกงจริง ทำเลวอยู่ก็ทำเลวจริง ทำตามอำนาจกิเลสที่มันต้องการ จะทำก็ทำจริง คนเช่นนั้น ไม่ได้ชื่อว่า"คนจริง" ชื่อว่า"คนโง่" หรือชื่อว่า"คนหลง" โดยเฉพาะหลงกระทำในสิ่งที่กิเลสมันเป็นเจ้าเรือน กิเลสมันบังคับด้วยอำนาจ แล้วก็หลงตนเอง กระทำความเลวอยู่ ความโง่อยู่ ตามอำนาจของกิเลสนั้นๆ คนเช่นนั้นจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะชื่อว่า "คนจริง" แม้จะเป็นคนใจเดียว เป็นคนกล้าแข็ง กระทำในสิ่งที่เป็นกิเลสนั้นๆ เป็นความผิดนั้นๆ เป็นอกุศลนั้นๆ หรือแม้แต่ในส่วนลึกส่วนสูง ที่เป็นกิเลสชั้นสูง ก็ยังกล้ากระทำอยู่นั้น คนนั้นหาได้ชื่อว่า คนจริง ไม่เลย ดังนั้น คำว่า "สัจจะ" คนจริง ความจริง จึงต้องประกอบไปด้วยปัญญาอันยิ่ง ประกอบไปด้วยการปฏิบัติละล้างกิเลส ละล้างอกุศลทุจริต ให้หมดสิ้น จึงจะได้ชื่อว่า ผู้ที่ถึงสัจจะ ผู้ที่แจ้งชัด เข้าถึงความจริง คนคนนั้น จึงจะชื่อว่า "ค น จ ริ ง" ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ความจริงเป็นหนึ่งไม่มีสอง ความจริง คือความจริง
สัจจะ คือสัจจะ ความจริงนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ผู้ใดได้ฝึกตนสู่ความจริงหรือสัจธรรม เมื่อมีความจริง เป็นความจริงในตนแล้ว ผู้นั้นเที่ยงแท้มั่นคงแน่นอน ผู้นั้นเป็นความจริง เป็นความแท้ เป็นอยู่เช่นนั้นเอง เป็นอยู่เช่นนั้นแหละ ตราบนิรันดร์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
จริงต้องดี สัจธรรม คือสัจธรรม ความจริงนั้น มีเงื่อนไขว่า ต้องเป็นความดี ต้องเป็นความประเสริฐ สูงขึ้นจนสูงสุด พระพุทธเจ้าของเรา ได้ตรัสรู้สิ่งที่สูง หรือเรียกว่า สิ่งที่เหนือชั้น โลกียะ ก็ยังมีความจริงของโลกียะ ซึ่งโลกียะมีความจริงของโลกียะนั้น มันเป็นมาตั้งนานแล้ว และมันก็เป็นทุกข์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสรู้ว่า สิ่งเหล่านี้เป็นทุกข์ อย่างจริง อย่างประเสริฐ จึงได้ค้นพบสิ่งที่จริงกว่านี้ ประเสริฐกว่านี้ สูงกว่านี้ ดีกว่านี้ จึงเรียกว่าสิ่งที่เหนือชั้น หรือเหนือกว่าโลก เหนือกว่าโลกีย์ที่เป็นอยู่ เรียกโดยภาษาว่า โลกุตระ แต่ไม่ได้หมายความว่า โลกุตระนั้น ไม่รู้จักโลกีย์ หนีจากโลกีย์ แท้จริง โลกุตระนั้น รู้เท่าทันโลกีย์ และรู้ว่าโลกีย์นั้นไม่จริง เป็นความลวง เป็นมายา เหมือนพยับแดด เหมือนฟองคลื่น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าค้นพบอริยสัจ หรือสัจธรรมที่ประเสริฐ ความจริงที่ประเสริฐ ความดีที่เหนือชั้น ความดีที่เหนือกว่า ที่มนุษย์พึงมีพึงเป็นได้ และไม่ต้องหนี มีวิธีกระทำตนให้รู้เท่าทัน และรู้วิธีที่จะละล้าง ปราบปรามสิ่งที่เราเคยหลง เคยลวงเราว่าเป็นความจริง จนกระทั่ง ล้างความไม่จริงที่เราเคยหลงว่าจริงนั้น ออกไปได้ หมดไปได้ และ เราก็เป็นผู้ที่อยู่เหนือชั้น อยู่เหนือโลกีย์เหล่านั้น โดยโลกีย์เหล่านั้นรบกวนเราไม่ได้ เราอยู่เหนือ อย่างผู้ที่ช่วยเหลือโลกีย์เหล่านั้น หรือผู้ที่ตกอยู่ในความลวง อยู่ตามมายาเหล่านั้น โลกุตระ จึงเป็นผู้ที่ยืนอยู่บนความจริง ที่ต้องช่วยเหลือผู้ไม่จริงอยู่ตลอดเวลา ผู้ใดได้ค้นพบตาม ปฏิบัติประพฤติพิสูจน์ตาม ได้โลกุตรธรรมมาอาศัย มาแทนที่โลกียะที่ตนเคยหลง ผู้นั้นจะเห็นความจริงที่จริง มั่นคง เที่ยงแท้ ไม่มีแปรปรวน เมื่อถึงที่สุด ก็เป็นความจริงนั้นอย่างชัดแจ้ง ยืนยงยืนหยัด บุญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ค้นพบสิ่งนี้นั้น เป็นบุญคุณอันล้นฟ้า เป็นบุญคุณอันที่นับประมาณมิได้ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
อย่าหลงดี สัจธรรมของพระพุทธเจ้านั้น เรียกว่า โลกุตระ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม อันเกี่ยวเนื่องด้วย จิต-เจตสิก-รูป-นิพพาน หมายความว่า จิตวิญญาณเป็นตัวสำคัญ เรียนรู้จิตวิญญาณ เรียนรู้สิ่งที่ไม่ใช่สัจธรรม คือกิเลส ที่เกี่ยวเนื่องอยู่กับจิตวิญญาณ ทำตัวเป็นประหนึ่งจิตวิญญาณ เข้าครอบงำจิตวิญญาณ แล้วก็ชักนำให้ผู้ที่มีกิเลสครอบงำนั้น ตกต่ำ ทำชั่ว ทำความไม่เจริญ สร้างทุกข์ให้แก่ตนและผู้อื่น เมื่อได้ศึกษาตามทฤษฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว เราจะมองเห็นความจริง แม้แรกเริ่ม เห็นความจริงว่า กิเลสคืออาการอย่างไร การทำกิเลสให้ออก เห็นกิเลสจางคลายออก คืออย่างไร ซึ่งเห็นจริงๆ เป็นความจริงที่เรารู้ด้วยตนเอง กิเลสดับสนิท ก็รู้ว่ากิเลสดับสนิท เราได้ดี เพราะกายกรรม วจีกรรม ที่กำเนิดเป็นไปตามกิเลส สั่งกิเลสจัดการนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไป จิตวิญญาณสะอาดขึ้น ความที่มีจิตวิญญาณสะอาดขึ้นนั้น เราเรียกว่ากุศล ได้ดี เมื่อเราได้ดี กายกรรมวจีกรรมก็ดีตาม เป็นคุณงามความดีของตน เป็นตัวอย่างของโลก จิตวิญญาณยังมีกิเลสซ้อนลงไปอีก ว่าเราจะหลงในความดีนั้น เราจะยึดมั่นถือมั่นในดีนั้นเกินการ ที่สุดจะยึดถือว่า เป็นของตัวของตน และเอาไปอวดอ้าง เอาไปทวงบุญทวงคุณ เอาไปเบ่งข่มผู้อื่น นั่นคือกิเลสซ้อน ที่เรียกว่า มานะสังโยชน์ เราได้กระทำดี เราได้สร้างความดี อย่างบริสุทธิ์แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีชั่ว ที่ตีกลับซับซ้อนมาได้ดังกล่าวแล้ว จึงต้องสังวรอีกเป็นอย่างมาก ที่จะละล้างปลดปล่อยตัวกิเลสตัวนี้อีก อย่างสำคัญ ศาสนาทุกศาสนาสอนให้คนดี ศาสนาพุทธนั้นสอนอย่างลึกซึ้ง ให้เห็นมานะสังโยชน์นี้อย่างชัด เช่นเดียวกันกับกิเลสอื่น เห็นกิเลสเป็น โลกุตระ มีวิธีทำลายกิเลส และกิเลสจางคลายไปจริง เป็นโลกุตระ ทำดีก็จงทำเถิด แต่อย่าอวดดี อย่าเบ่งดี อย่าหลงดี อย่าติดดีว่าเป็นของตน ตนนั้นดี แต่ดีนั้นไม่ใช่ตน ต้องทำในใจ ต้องฝึกฝนอบรม ต้องมีสติสัมปชัญญะ รู้ตัวจริงๆ อย่าทวงบุญทวงคุณ อย่าหลงติดดี แต่เราต้องทำดีให้ยิ่ง ซับซ้อน ลึกซึ้งอย่างนี้ คนดีจึงดีอย่างสมบูรณ์ได้ และเราจะเป็นผู้ที่อนุเคราะห์โลก สร้างสรรโลกด้วยความดี เป็นคนจริงที่ดีจริง และไม่มีแม้กิเลสชั้นสูง ไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่จะทำให้เราทุกข์ เพราะเราทำดี ถ้าคนไม่รู้จริง เราจะทุกข์ได้ เพราะทำดี เจ็บปวดได้ยิ่งกว่าทำชั่ว ก็ได้ ดังนั้น ผู้ฉลาดแท้ เราทำดีแท้ๆ ก็จะไม่ทุกข์ ไม่เจ็บปวดอันใดเลย เพราะรู้เท่าทันกิเลสดังกล่าวแล้ว ผู้ทำจริง ฝึกหัดถูกต้องจริง จึงจะรู้ความจริง เห็นความจริง และถึงความจริง พ้นอวิชชาเป็นที่สุด ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ การมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนั้น เท่ากับ มีทั้งสิ้น หรือ เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ คำว่า มิตรดี นั้น มีความหมายที่สามารถจะพาให้เราเจริญ เราเป็นไป เพราะเป็นทั้งตัวอย่าง เป็นทั้งครูอาจารย์ เป็นทั้งผู้ช่วยที่จะเป็นแบบฝึกหัด เป็นทั้งตัวอย่างในด้านลบด้านบวก ถ้ามีสิ่งแวดล้อม ที่มีองค์ประกอบสมเหมาะสมควร เป็นไปด้วยดี ในการที่จะช่วยเหลือ ทั้งในด้านทำให้ลด ในสิ่งที่ควรลดควรเลิกควรเว้น ทำให้เพิ่ม ในสิ่งที่ควรเพิ่มควรพูน ควรทำให้ยิ่ง สิ่งแวดล้อมอย่างนั้น เราเรียกว่า สปายะ เป็นการเจริญ และการศึกษา เราจะได้จากมิตรดี-สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดีนี้เอง เป็นการศึกษาทั้งปริยัติปฏิบัติ จึงจะถึงซึ่งปฏิเวธ ปริยัตินั้น มีทั้งบอกกล่าว แสดง พูด ชี้แจง อธิบาย สมัยนี้มีอ่านด้วย ดังนั้น การอ่าน ก็เป็นการสื่อที่สามารถทำให้เรารู้ ให้เราเข้าใจ เช่นเดียวกันกับการอธิบาย หรือการพูดการฟัง สมัยโบราณ การอ่านไม่มี แต่สมัยนี้ การอ่านมีอยู่ ดังนั้น ถ้าศึกษาขาดการอ่าน ก็เท่ากับเราบกพร่อง ก็เท่ากับเราเป็นผู้ที่ประมาท หรือขาดโอกาสไป ดังนั้น ถ้าเราจะได้ปริยัติที่ครบครัน เราก็ต้องมีการอ่าน อ่านสิ่งที่จะเสริมหนุน ให้เราได้เจริญปฏิบัติ แลถึงซึ่งปฏิเวธ สื่ออื่นก็มีอีก ซึ่งเป็นเครื่องเสริมหนุน เป็นสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เราได้เกิดความสมบูรณ์ เพราะเรามีมิตรดี-สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ทั้งที่อยู่นั้นก็สปายะ อาหาร ซึ่งเป็นความรู้ เป็นการศึกษา ทั้งอาหารปาก อาหารกาย ทั้งอาหารที่เป็นอาหารอริยะ อาหารการศึกษา อาหารทางวิญญาณ บุคคลก็เป็นมิตรโดยตรง ที่เป็นทั้งมิตรผู้หวังดี เป็นครูบาอาจารย์ เป็นตัวอย่างอันดี นำพา ชักจูง ช่วยเหลือ ดูแล เอาใจใส่ ทั้งเพื่อนฝูง ทั้งพี่น้องมิตรสหายที่แท้จริง เป็นบุคคลสปายะ และทั้งธรรมะ ที่เราเองมุ่งหมาย เป็นสิ่งที่ต้องการ ความเจริญมีได้ ถ้าเราศึกษา ถ้าเราเอาใจใส่ แม้ว่าที่อยู่จะเป็นสปายะ บุคคลจะเป็นสปายะ อาหารจะเป็นสปายะ ธรรมะจะเป็นสปายะ โดยตัวมันเองก็ตาม ถ้าผู้ปฏิบัติผู้ศึกษานั้นทำผิดพลาด ไม่เอาใจใส่ ไม่ขวนขวาย ความเจริญของผู้นั้นก็ย่อมไม่เกิดได้ ดังนั้น การศึกษาจึงต้องรู้ตัวอย่างยิ่ง แม้จะมีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์อยู่ เราก็จะไม่พบพรหมจรรย์นั้นได้ ถ้าเราไม่ขยัน เราไม่ขวนขวาย เราศึกษาไม่ถูก หรือเราเป็นคนปล่อยปละละเลย เหมือนช้อนอยู่ในชามแกง ฉันใด เราก็จะไม่รู้รสของธรรม ไม่ได้ประสบธรรมะ ฉันนั้น ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
กุศล ทุกอย่างมาแต่เหตุ ผู้ที่รู้จักเหตุ พยายามสั่งสมเหตุก็จะเกิดผล ผลที่ยังไม่โต ก็เกิดมาจากเหตุที่ยังไม่โตยังไม่มาก เมื่อสะสมเหตุได้มาก ผลก็จะโต ผลก็จะใหญ่ บุญหรือกุศล ก็เกิดจากเหตุที่เป็นกุศล กุศลที่ได้สั่งสมไว้มาก ก็จะเกิดผลใหญ่ผลมาก ความจริง ที่เรียกว่ากุศล จะปรากฎเมื่อมีเหตุที่เป็นจริงสมบูรณ์ ดังนั้น บางครั้งบางโอกาส คนจะคิดไม่ถึงเลย ว่าผลที่เป็นปาฏิหาริย์ ผลที่เป็นเรื่องเหลือเชื่อ ผลที่เป็นความอัศจรรย์ เป็นเรื่องยิ่งใหญ่นั้น เกิดมาแต่เหตุอย่างไร แม้ว่าสิ่งอัศจรรย์นั้นเกิด ผลยิ่งใหญ่ที่ไม่น่าเชื่อนั้นเกิด มันจะอัศจรรย์ปานใด มันจะยิ่งใหญ่ปานใด มันก็ย่อมเกิดมาแต่เหตุทั้งสิ้น แต่ผู้ไม่ได้ศึกษาเหตุ ย่อมไม่รู้ว่า ผลเหล่านั้นมาจากเหตุอะไร ดังนั้น จงสังเกตให้ดีเถิด แล้วตามหาเหตุให้ได้เถิด ถ้าเชื่อว่ากุศลนั้นเป็นความดีแท้ จงศึกษาหากุศล และฝึกฝนอบรมแต่กุศลให้มากไว้เถิด สักวันหนึ่ง กุศลนั้นก็จะแสดงผล อันน่ามหัศจรรย์ ได้อย่างแท้จริง ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ตรวจอารมณ์ จงระวังอารมณ์ก่อนงาน
เราจะมีสติ และฝึกวิจัยธรรม ด้วยความวิริยะ พากเพียรกระทำ รู้กายกรรม รู้วจีกรรม โดยเฉพาะจิตวิญญาณ ที่ให้กายก็ดี ให้วจีก็ดี กระทำนั้น จิตวิญญาณเป็นตัวสั่ง เป็นตัวบงการ เราจะต้องตรวจอารมณ์ของจิตวิญญาณให้ดี ว่าจิตวิญญาณนั้น มีกิเลสตัณหาอุปาทานอยู่เท่าใดๆ ผู้ฝึกปรือโดยแท้จริง มีสติรู้ตัวทั่วพร้อม รู้กรรมของกาย รู้กรรมของวาจา และตรวจอารมณ์ รู้กรรมของจิต วิเคราะห์วิจัยจิต ว่ามีกิเลส เห็นกิเลส รู้กิเลส และมีวิธีดับกิเลส หรือลดกิเลสได้จริง ผู้ใดกระทำอยู่เช่นนี้ๆ เนืองๆ นั่นคือ ผู้ปฏิบัติธรรม โดยทฤษฎีของพระพุทธเจ้าโดยแท้ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๘
ชีวิต ชีวิตนี้สั้นนัก ชีวิตนี้น้อยนัก ผู้ไม่รู้จักชีวิต จึงใช้ชีวิตเป็นโมฆะ ไปตลอดแต่ละชีวิตหรือไม่ ซ้ำมิหนำ ก็ใช้ชีวิตให้ได้รับบาปกรรม ได้รับหนี้ชีวิตติดตัวไปนั้น มากกว่ามาก ดังนั้น ผู้ฉลาด จึงพยายามศึกษาชีวิตของตนๅ ให้รู้ซึ้งถึงชีวิต ว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาแล้วจะเป็นชีวิตที่ได้กำไร ได้ประโยชน์คุณค่าแก่ชีวิต ทั้งแก่โลกได้ ฉันใด ผู้ฉลาดแท้ รู้แจ้งในชีวิต และกระทำชีวิตของตน ให้เป็นชีวิตที่มีค่าประเสริฐได้เท่านั้น จึงชื่อว่า ไม่ใช่มนุษย์โมฆะ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๒๘
ชีวิตที่ประเสริฐ ชีวิตนั้นสั้นนัก ชีวิตนี้น้อยนัก หากคนประมาทชีวิต ไม่คิดศึกษา ไม่คิดสังวรตน ไม่คิดบำเพ็ญตน ปล่อยเวลาให้ล่วงไปๆ โดยระเริงอยู่กับโลก ก็ตาม เผลอตัว เผลอใจ ไม่มีสติ ปล่อยไปตามความเคยความเป็นเดิมๆ ก็ตาม ย่อมทำให้ชีวิตหล่นไป จากการตั้งใหม่ ผู้ใดได้ศึกษาปฏิบัติธรรมะ มีสติสัมปชัญญะ รู้ตนเอง ทำขณะแต่ละขณะ ให้สังวร ระวัง ระลึกได้ถึงกุศล ทำตนให้มีกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดี ให้สู่กุศล อยู่ในขณะทุกขณะได้ ผู้สังวรตน มีสติรู้ตน กระทำตนได้เช่นนั้นๆแล ชื่อว่าเป็นผู้ยังชีวิตให้สู่สุคติ หรือใช้ชีวิตที่น้อยนี้ ให้มีการก้าวหน้าไปสู่ความเจริญความประเสริฐ อย่างถูกต้อง ตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้สอนเรา เพื่อก้าวเดินไปสู่ความเป็นที่สุดแห่งผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ โดยมีสติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะพากเพียร กระทำตนดังกล่าวนี้ เทอญ ชีวิตอันน้อยนี้ จักเดินไปสู่ที่หมาย สมกับความเป็นมนุษย์ผู้มีจิตสูงได้จริงแท้ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๒๘ สมณะโพธิรักษ์ (ตรวจทาน ล่าสุด สิงหาคม 2565) |