คาถาธรรม ๑๔

ผู้เข้ากระแส

สัจธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ลึกซึ้งนัก เป็นคัมภีรา เห็นตามได้ยาก รู้ตามได้ยาก ประณีต สงบอยู่ในตัว ด้นเดาเองไม่ได้ คาดคะเนไม่ได้ เป็นเรื่องละเอียด ละเมียดละไม รู้ได้เฉพาะบัณฑิตจริงๆ

เพราะสัจธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นความจริงยิ่งนัก ผู้ที่เข้าถึงสัจธรรม ของพระสัมมา สัมพุทธเจ้า ไม่ใช่เข้าด้วยความคิด ไม่ใช่เข้าด้วย ความเฉลียวฉลาด เท่านั้น ไม่ได้เข้าถึงได้เพียงความรู้ จะรู้รอบ รู้เร็ว รู้จัด ปานใดก็ตาม แต่ถ้าไม่มีความจริง ผู้นั้นก็ไม่ได้ชื่อว่า เข้าถึงคำว่า เป็นอริยะ ของพระพุทธเจ้า หรือ ผู้เข้ากระแส

ผู้มีมรรค มีผล คือ ผู้พ้นสักกายทิฏฐิหนึ่ง ผู้รับศีล รับพรต ในแนวทางนั้นๆ ของพระพุทธเจ้า แล้วปฏิบัติได้ผล นั้นอีกหนึ่ง และ ผู้พ้นวิจิกิจฉา พ้นคลางแคลงสงสัย ลังเล นั้นอีกหนึ่ง สามหลักนี้ เป็นตัวสำคัญมาก จะต้องเป็น ผู้ที่เป็นจริง เข้าถึงสภาพ มีสภาพพ้น สักกายะจริง พ้นวิจิกิจฉาจริง และรับศีล รับพรตปฏิบัติ ในการปฏิบัติศีล ปฏิบัติพรตนั้น ต้องมีการก้าวหน้า มีการเจริญ ตามทางนั้นๆ ด้วยทิฐิ ที่ถูกตรงจริงๆ จึงชื่อว่า เป็นผู้เข้าสู่ โลกใหม่ เป็นอริยบุคคล

ดังนั้น ผู้เข้าใจด้วยความหมาย ผู้รู้ด้วยภาษา แต่ไม่เป็นจริงนั้น ผู้นั้น จึงยังไม่ชื่อว่า เป็นผู้ได้ เป็นผู้เข้าถึงสัจธรรม หรือ เป็นผู้ชื่อว่า อริยะ หากเพียร จะศึกษาให้ยิ่งกว่านี้ ไม่ใช่เพียงสังโยชน์ ๓ ความรู้ และ ความเข้าใจนั้น เข้าใจได้ยิ่งกว่านี้ พ้นสังโยชน์ ๕ ก็ได้ ถ้าจะเอาเพียงรู้ พ้นสังโยชน์ ๑๐ ก็ได้ ถ้าจะเอาเพียงรู้ และ เข้าใจอย่างลึกซึ้ง ถ้วนรอบ

แต่ความจริงนั้น เป็นของรู้ยาก ถ้าความจริง ในความจริง ไม่เกิดสิ่งจริง ก็ไม่เกิดความปล่อยคลาย ไม่ปล่อยรู้ ความปล่อยคลายว่า คือ ความปล่อยคลาย แต่ความจริง ยังไม่เป็น ผู้นั้นก็คือ ผู้ยังไม่เป็น

ดังนั้น กิเลสที่ต้านอยู่ ความเป็นจริง ที่เป็นกิเลส ก็ย่อมเป็นความเป็นจริง ที่เป็นกิเลส ความคลายกิเลส ก็เป็นความจริง ของความคลายกิเลส

ความหมดกิเลส จึงเป็นจริง ตามความเป็นจริง ของความหมดกิเลสจริง

๗ มีนาคม ๒๕๒๙ 


 

ปรับจิตให้ปล่อยวาง
(ผู้).. สามารถที่จะทำจิตใจ ให้ปล่อยวาง รู้จักอารมณ์จิต จิตอันโปร่งว่าง จิตอันเบิกบาน เบา สบาย ผู้ได้รู้อารมณ์ และ ก็หัดปรับอยู่เสมอ จะเป็นผู้ชำนาญ และเป็น ผู้ที่มีฐานอาศัย อันสบาย เป็นกำไรของนักปฏิบัติธรรม ฐานแรกที่สุด เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด ผู้ศึกษา ต้องพึงเรียน พึงฝึก พึงทำให้แจ้ง ทำให้เป็น การมีจิตเบิกบาน เบา สบาย แม้จะกระทบสัมผัส กับอันใดก็ตาม เมื่อเรายังมีกิเลส เราย่อมจะเกิดอารมณ์ อาการ ทุกครั้งไป

แต่ถ้าผู้ใด ได้ฝึกเรียนรู้ อารมณ์จิต ปรับจิต ให้จิตปล่อยวาง โปร่ง ว่าง เบา สบายได้ อย่างชำนาญแล้ว ผู้นั้นเป็นผู้ชื่อว่า ปฏิบัติธรรม ด้วย สุขาปฏิปทา ส่วนจะ ขิปปาภิญญา คือจะได้เร็ว หรือ ทันธาภิญญา นั้น ย่อมเป็นความจริง ตามที่ผู้นั้น จะมีกิเลส มากหรือน้อย หรือ ผู้นั้น จะมีวิธีการถูกต้อง หรือ ไม่ถูกต้อง หรือ ผู้นั้นจะมีความเพียร อุตสาหะ วิริยะ จริงหรือไม่จริง เท่านั้นเอง

๙ มีนาคม ๒๕๒๙  


 

ตนสำเร็จได้ด้วยตน
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสว่า ผู้ได้เกิดมา เป็นมนุษย์ก็ดี เกิดมา เป็นเทวดาก็ดี ตายจากชาตินั้นแล้ว จะได้กลับมาเกิด เป็นมนุษย์อีกนั้น หาได้น้อยนัก นอกนั้น จะตกนรกกัน เป็นส่วนมาก ท่านตรัสไว้ เป็นคำสัตย์ เป็นเรื่องที่ ไม่น่าประมาท ชีวิตนี้นั้น น้อยนัก ชีวิตหนึ่งนั้น สั้นนัก ดังนั้น เมื่อเรามีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี ได้นำพากันขยัน พากเพียร อุตสาหะ ปฏิบัติแต่ดี ดำเนิน หากุศลกรรมใส่ตน วันต่อวัน คืนต่อคืน มีผู้รู้ มีผู้เจตนาดี ช่วยกันนำพากัน เดินทางสู่กุศล เป็นสุคติ วันแล้ววันเล่า ยังเหลือแต่เรา เท่านั้น ที่ขี้เกียจ หรือ พ่ายแพ้ต่อ อำนาจกิเลส

ผู้ใดที่รู้ตัว ผู้ใดที่ยังประมาท ก็จงอุตสาหะ พากเพียรเถิด ช่วยตนเอง ตนเท่านั้น จะเป็นที่พึ่งของตน สิ่งแวดล้อม มิตรดี ครูบาอาจารย์ ก็ตาม ชี้นำทาง แม้จะบังคับ ก็ย่อมไม่สำเร็จได้ ตนจะช่วยตนสำเร็จได้ ด้วยตนเอง เท่านั้น

๑๓ มีนาคม ๒๕๒๙


 

โลกุตรวิสัย - มนุษยวิสัย

ผู้ได้พากเพียรปฏิบัติธรรม มาแล้ว จะทราบดีว่า กิเลสเป็นของยาก ที่เราจะล้างละออก ให้หมดสิ้น เกลี้ยงได้ กิเลสส่วนที่เราได้เคย สั่งสมบารมีมา ได้เคยหัดละล้าง มาแต่เดิม แต่ปางบรรพ์ เป็นกุศลวิบาก ได้กระทำมัน ออกมาบ้างแล้ว แม้ชาตินี้ เราจะถูก มอมเมา มาถูกหลอกให้หลงอีก เมื่อเรารู้ตัว เมื่อเราเข้าใจ และได้หัดสลัด มันก็เป็นสิ่งไม่ยาก เพราะมันมีผลดี มีบุญ มีบารมีเก่า ที่ได้ชำระ ได้ล้าง ได้กระทำ ให้แก่ตนมาเดิม เป็นของไม่ผนึก ไม่แน่น ไม่ใช่อนุสัยกิเลส เป็นกิเลส ที่เราได้เคยรู้ เคยทำ จึงเป็นของง่าย

ดังนั้น ผู้ที่มาละล้างกิเลส ในเบื้องต้น จะเห็นได้ว่า กิเลสหลายอย่าง ที่เราละ เราล้าง เราเลิกได้ง่าย แต่กิเลส ที่ยังไม่เคยได้ล้าง หรือ ล้างยังไม่ออก ยังไม่มีบารมี ยังไม่มีบุญ ยังไม่ได้ชำระ เราก็จะต้องล้าง ต้องละออก ตั้งแต่บัดนี้ไป จนถึงเบื้องหน้า ที่จะทำมันต่อไป ก็จะเห็นได้ว่า กิเลสในเบื้องต่อไป ที่เราได้พากเพียรอยู่ มันก็ยากอยู่

 

ยิ่งบางกิเลส เราเห็นเลยว่า เราล้างมันยากเอามากๆ และไม่มีกำลังใจจะล้าง ในบางสิ่งบางอย่าง เพราะฉะนั้น กิเลสจึงมีจริง เมื่อผู้ได้เรียนรู้จริง ว่ามันเป็นเจ้าเรือน ของมนุษย์ ที่ตกต่ำอยู่ ผู้ที่ได้ล้างละได้ละจริง ได้เลิกออกมาหมด มากขึ้นๆ ก็จะเห็นจริงว่า ความอิสรเสรี ที่หลุดจากโลก ล่อนจากโลก หรือ เข้าสู่โลกุตรภูมินั้น เป็นของแท้ เป็นของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ค้นพบ การหลุดพ้น ออกมานั้น มีทั้งความสบาย มีทั้งความเจริญ มีคุณค่า ประโยชน์ เป็นมนุษย์ที่ควรจะอยู่ในโลก ได้นานเท่านาน ด้วยซ้ำ เพราะเป็นมนุษย์ ที่ประเสริฐ มีคุณค่าประโยชน์ อยู่ในโลกแท้

ส่วนผู้ที่มีกิเลสนั้น ยิ่งอยู่ก็ยิ่งแฝงซ้อน สังขารปรุงแต่ง เล่ห์กล อยู่อย่างผลาญพร่า สร้างตัวอย่างอันเลวทราม ที่ซ่อนเชิง ทำให้คนหลงผิด นับวันนับคืน โลกจึงยากแก่ การแก้ไข การปรับปรุง หรือ ยากแก่การที่ จะอยู่เป็นสุข แม้ว่ากิเลส ที่เราเอง ยังล้างออกยาก เราก็ต้องพึงล้าง เพราะเราไม่มีใครทำให้เรา บุญ บารมี การชำระนั้น เราเท่านั้น ที่จะเป็น ผู้กระทำให้ตน ชาติแล้วชาติเล่า แม้ว่ากิเลส จะล้างยาก เราปฏิบัติธรรม อย่าพึงกระทำ ให้เสียผล สองด้าน คือ สร้างความดี แก่ตนด้วย ความดีนั้น คือ นิสัยทางกาย ทางวาจา ที่เป็นสมมติ ของโลก อยู่กับโลก อย่างเป็นคน มีคุณงามความดี กระทำอะไร อยู่กับหมู่กลุ่ม ที่เป็นหมู่ผู้ดี สร้างนิสัย สร้างกิริยา สร้างพฤติกรรม สร้างความพร้อม สามัคคี เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกัน เป็นผู้มีมารยาทงาม เป็นผู้มีกิจวัตร สมบูรณ์งาม เป็นกำไรเบื้องหนึ่ง ของชีวิต

แม้ว่ากิเลสเรา จะล้างยาก เพราะเรามีอยู่หนา อยู่มากก็จริง แต่ถ้าเราได้ส่วนดี ในการประพฤติ เป็นคนดี เป็นผู้ดี มีมารยาทดี ดังกล่าว เป็นต้น นั่นก็เป็น กำไรส่วนหนึ่งของเรา การสร้างอะไรก็ตาม ที่เป็นกรรม อันเป็นการกระทำ ก็ย่อมเป็นกรรมที่สั่งสม เกิดความชำนาญ เกิดจากอัธยาศัย เป็นอาศัย เป็นนิสัย เป็นวิสัย หรือ ถ้ามันเป็นกิเลส มันก็จะเป็นอนุสัย แต่ถ้าไม่ใช่กิเลส มันก็เป็นวิสัย

ถ้ายิ่งเป็นสิ่งที่ดี ก็เป็นโลกุตรวิสัย หรือ เป็นอริยวิสัย จนที่สุด เป็น พุทธวิสัย

ดังนั้น คนเราอาศัย "กรรม" สร้างกรรม เพื่อให้เป็นนิสัย เพื่อให้เป็นวิสัย เราจึงมุ่งสร้าง สิ่งที่อาศัย ให้เป็นนิสัย ให้เป็นวิสัยที่ดี ตั้งแต่พฤติกรรมดี คุณงามความดี ของสมมติสัจจะ และแน่นอน นักปฏิบัติธรรม ที่มุ่งจุดสูงสุด คือ นิพพาน ย่อมต้องการ ปรมัตถสัจจะ สร้างอริยวิสัย โลกุตรวิสัย ให้แก่ตนๆ

ถ้าผู้ฉลาด แม้ว่ากิเลสจะมาก ก็จะมีกำไร โดยส่วนอีกส่วนหนึ่ง ดังกล่าวแล้ว ว่าเราจะมีทั้ง สมมติสัจจะ อันเป็นวิสัยของ มนุษย์ธรรมดา ที่เป็นวิสัยที่ดี และเราปฏิบัติถูก ปฏิบัติตรง ด้วยความเพียรอยู่ เราก็จะได้ดี ทั้งเป็นผู้ดี และ วันหนึ่ง กิเลสเราก็คง จะหมดลงได้ จบบริบูรณ์ ทั้งโลกุตรวิสัย และมนุษยวิสัย เป็นผู้ประเสริฐงดงาม ทั้งสองส่วนแล

๑๘ มีนาคม ๒๕๒๙


 

ผู้ก้าวไปสู่พุทธคุณ

ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ได้ศึกษา ตามแนวพุทธ อย่างแท้ รู้ดีว่า การมีสตินั้น เป็นสำคัญ ดังนั้น ผู้ใดได้ซาบซึ้ง ได้รู้ชัด ในความหมาย คำว่า สติสัมโพชฌงค์ หรือ ปฏิบัติ ให้มีความพยายาม สำรวม สังวรตน ให้มีสติ ที่เป็นสัมมา ตามที่เราได้รู้ ได้เข้าใจ แล้วก็กระทำ อยู่เสมอ

ถ้าเข้าใจว่า สติสัมโพชฌงค์ กับ สติโลกียะ สติสามัญ มันต่างกัน แล้วก็ได้พากเพียร กระทำตน สังวรตน อบรมตน ฝึกฝนตน ตั้งตน ให้มี สติสัมโพชฌงค์ โดยเฉพาะ เดินบทโพชฌงค์ อยู่ทุกๆ อิริยาบถ ปฏิบัติตน อยู่ในครรลองของ มรรคองค์ ๘ ได้ถูกต้อง อยู่ตลอดเวลา แล้วไซร้ ผู้นั้นชื่อว่า เป็นผู้กำลังเดิน กำลังก้าว อยู่ในทาง แม้จะพลาดบ้าง ผิดบ้าง คือ สู้กิเลสไม่ได้บ้าง นั่นเอง ก็ยังเป็นนักรบ ที่กำลังทำตน ให้เข้าสู่กรอบ ของทางที่เป็น อริยะ

ผู้ก้าวเดิน ด้วยความพยายาม มีความเพียร ตั้งตนอยู่เสมอ สำนึก ระลึกรู้ตน อยู่เสมอ ทำตนให้มี สติสัมโพชฌงค์ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ ก่อให้เกิด ปีติ ปัสสัทธิ หรือ สมาธิสัมโพชฌงค์ ได้ลึกซึ้ง ปรับจิต เข้าถึงอุเบกขา ได้เสมอ นั่นเอง คือ ผู้ก้าวไปสู่ พุทธคุณ อย่างถูกต้องแล้ว

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙


 

จนจริง ไม่จนใจ
การเกิด การตรัสรู้ และ ปรินิพพาน หรือ การตายรอบสิ้น สามลักษณะนี้ เป็นคุณลักษณะ อันยิ่งใหญ่ ที่จะต้องรู้ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ว่าเกิดนั้น คืออะไร ตรัสรู้นั้น จริงอย่างไร ตายสิ้นรอบนั้น เป็นไปได้หรือ

ความเกิดคือ การเกิดทางวิญญาณ เกิดจริงๆ เกิดเป็น อริยบุคคล เกิดจาก ความเป็นปุถุชน จากผีนรก เกิดเป็นเทวดา เป็นอุบัติเทพ หรือที่สุด เกิดเป็น วิสุทธิเทพ

การเกิดนั้น ผู้เกิดต้องรู้ ต้องตรัสรู้ และ การเกิดนั้น เป็นการพ้นจากภพเดิม จากโลกเดิม จากสังสารวัฏเดิม พ้นเพราะ ตัวที่เป็นตัวถ่วง สภาพที่เป็นความไม่ดี ไม่งาม อกุศลทุจริต ได้ตายลง โดยเฉพาะ คือ กิเลสได้ตายสิ้น ตายรอบ ต้องมีความจริง ดังนั้น จึงจะเป็นสภาพที่ เจริญแท้ จริงแท้

คนที่ถึงความจน คือความไม่มี คนไม่มีนั้น ในทางธรรมะ ภาษาที่เป็น ภาษาธรรม ชั้นสูงสุด เรียกว่า เป็นผู้ที่สูญสิ้น เป็นผู้ไม่มี

คนจนจริงๆ ต้องจนให้แจ้ง คือ ไม่มีกิเลสให้จริง ชัดเจน แจ้งจริงว่า ไม่มีกิเลสนั้น อย่างถูกต้อง และแน่แท้ มั่นคง

คนจนเช่นนี้ คือ คนจนแจ้ง จนจริง แต่ไม่จนใจ นั่นคือ คนจนผู้ยิ่งใหญ่

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๒๙


 

มนุษย์

มนุษย์สุดประเสริฐนั้น คือ
มนุษย์ที่มีปัญญา
มนุษย์ที่มีความเพียร
มนุษย์ที่มีการงานอันไม่มีโทษ
และเป็น
มนุษย์ที่มีการสงเคราะห์

ทั้ง ๔ ประการนี้ มีนัยอันลึกซึ้ง
และ เป็นคุณสมบัติของมนุษย์

ถ้าขาดทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว
ผู้นั้นชื่อได้เพียงว่า อมนุษย์ เท่านั้น

๕ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

มนุษย์ที่ประเสริฐ

มนุษย์ที่ประเสริฐแท้ ย่อมชื่อว่า มนุษย์ที่มีปัญญา

มนุษย์ที่มีปัญญาแท้ ย่อมรู้ว่า ความเป็นมนุษย์นั้น ต้องเป็น ผู้มีความเพียร

มนุษย์ที่มีความเพียรนั้น ต้องเป็นมนุษย์ที่มีการงาน และ เมื่อมีปัญญา ก็ต้องมีการงาน ที่ไม่มีโทษ

มนุษย์ที่มีการงาน ที่ไม่มีโทษ และ เป็นมนุษย์ที่ ผู้ประเสริฐ จริงๆแล้ว จึงต้องเป็น

มนุษย์ที่สงเคราะห์โลก อนุเคราะห์โลก เกื้อกูลมวลชน อยู่ตลอดกาลนาน

๖ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

ผู้มีสันโดษ มิใช่ผู้ไม่ทำงาน

คนผู้ปฏิบัติธรรมแล้ว เป็นผู้มักน้อยได้ และ กระทำ จนกระทั่ง จิตเป็นสันโดษ ผู้นั้นจะพบความสบาย จะพบความสงบ จะพบความหมดกังวล จะพบ ความหยุดดิ้นรน เพื่อเสพย์ธรรมะ

ในความว่า สันโดษนั้น มีความหมายจำเพาะ ชัดเจน ลึกซึ้ง ซึ่งผู้มีธาตุจิต ที่สันโดษจริงแล้ว จะเป็นผู้รู้เอง เห็นเอง ว่าตนสงบ ตนพอ ตนไม่ดีดดิ้น ตนหยุดแสวงหา ตนเป็นผู้ที่ สุขเย็นแล้ว อย่างจริงๆ

ดังนั้น นักปฏิบัติธรรม ผู้ยังแสวงหาอะไร มาเสพย์อยู่ ยังไม่หยุด ยังไม่จบ จงพึงสังเกต จิตของตนเองเถิด ว่าตนนั้น สันโดษในปัจจัย๔ สันโดษในบริขาร สันโดษ ในเครื่องประกอบ ที่กระทำการงานอยู่ ปานใด ๆ ถ้าเรายังเป็น ผู้ที่เดือดร้อนดิ้นรน กระวนกระวาย เพื่ออันใด อันหนึ่งอยู่ แม้จะอ้างว่า เพื่อประโยชน์ แก่มวลชน แก่ผู้อื่นก็ตาม ก็จงพินิจ พิเคราะห์ พิจารณา ให้ลึกซึ้ง ซับซ้อน ว่าแท้จริงนั้น กิเลสที่ยังดิ้นรน มันซ้อนแฝง และมันใช้ สิ่งที่อ้างนั้น เป็นตัวกำบัง เพื่อเสพย์อารมณ์ แก่จิตตน อยู่หรือเปล่า หากไม่มีแล้ว ผู้นั้นจะเห็น ความสุขเย็น อันมีจิตอันสันโดษ หรือใจพอ อยู่อย่างชัดเจน นี้คือ วูปสโมสุข สุขอันสงบ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่มีสันโดษนั้น คือ ผู้ที่ไม่ทำงาน

ผู้ที่ได้พิสูจน์จิต และปฏิบัติ มาตามแนวทาง ของศาสนาพุทธ อย่างถูกต้อง เป็นสัมมาแล้ว จะรู้เอง เห็นเองว่า ผู้มีจิตสงบ หรือ จิตว่างแล้วนั้น จะเป็นผู้มีบุญ ขวนขวาย มีความขยันหมั่นเพียร ยังกุศลให้ถึงพร้อม รู้จักกาละ เวลา รู้จักกรรม การงาน รู้สิ่งควร สิ่งไม่ควร มีปัญญาแจ้ง ในกุศล อกุศล อย่างชัดเจน และ พึงดำเนินไปดี อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่คนซื่อ เซ่อ หรือ ทึ่ม ที่เป็นคนหยุด อย่างไร้ปัญญา

ดังนั้น ผู้มีกำลังแห่งปัญญา ....... (ข้อความขาดหาย)

๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

ผู้ที่มีใจพอ

มนุษย์ผู้มีความมักน้อย รู้จักจุดแห่ง ความมักน้อย จนได้ชำระตน มีความพอ รู้จักความพอ จิตวิญญาณ เห็นจริง รู้จริง และจิตนั้น ก็พอจริง

จิต เรียกว่า จิตสงบ เข้าใจในความมีคุณค่า ในความมีประโยชน์ สงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัย ๔ ไม่ว่าจะเป็น บริขาร และ แม้แต่อุปกรณ์ เครื่องใช้ ที่จะสร้างสรร ช่วยประกอบ ในการประกอบการงาน ผู้นั้น ก็มีความพอ มีสันโดษ จิตที่มีปัญญา รู้ความหมาย ของคำว่า สันโดษ อย่างชัดแท้ และ ได้ฝึกตน ละล้างกิเลสออก จนกระทั่ง จิตนั้น สันโดษจริง ไม่ใช่กด ไม่ใช่ข่ม ไม่ใช่ฝืน ไม่ใช่ต้านอยู่ แต่จิตนั้นสงบ จิตนั้นวิเวก จิตนั้นพอ อย่างจริงชัด เป็นเจโตวิมุติ

พร้อมกันนั้น ก็มีปัญญาวิมุติ พร้อมเห็นแจ้ง ผู้ที่มีจิตสันโดษ อย่างแท้จริง มีจุดพอ จนกระทั่ง แม้น้อยก็พอได้ จะขาดบ้าง เกินบ้าง ก็ยังมีใจพอ ไม่ดีดดิ้นแส่หา ไม่เดือดร้อน

ผู้ที่มีใจพอ ที่แท้จริง จงสังเกตใจ ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรม ดำเนินตามบท อัปปิจฉะ สันตุฏฐิ ปวิเวกะ อสังสัคคะ วิริยารัมภะ เป็นผู้ที่สันโดษ แต่ขยัน

มีศีล สมาธิ ปัญญา วิมุติ วิมุตติญาณทัสสนะ ครบพร้อม ที่เราจะพอ พูดถึงได้ และเข้าใจสภาพธรรม ที่ถูกต้องตรง ตามหัวข้อ คำขยาย อธิบายนี้ได้

ผู้รู้แจ้งเห็นจริง และเป็นจริง เท่านั้น คือ ผู้ที่มีสุขอันพิเศษ หรือ วูปสโมสุข ถ้าผู้ใดพบแล้ว ผู้นั้นแล ชื่อว่า เป็นมนุษย์ ที่ได้ขัดเกลาดีแล้ว ประสบสุข อันมนุษย์ประเสริฐ พึงประสบแล้ว

๒๑ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

จิตที่สงบ คือจิตที่แจ่มใส

ลักษณะของจิตสงบ คือ จิตที่แจ่มใส จิตที่ปลอดโปร่ง เป็นจิตที่ไม่กังวล ไม่ห่วงหาอาวรณ์ เป็นจิตที่รับรู้อยู่ ใกล้ๆเรา อยู่กับตัวเรา เป็นจิตที่ คำตอบสูงสุด ก็คือ ไม่มีกิเลสนั่นเอง เป็นจิตที่มีความเกื้อกูล อบอุ่น สดชื่น และ เป็นจิตที่รู้สาระ จะคิดในสิ่งที่ควรคิด อยู่เสมอ และ จะลงมือทำ ในสิ่งที่ควรทำ อยู่เสมอ หรือ จะพูด ถ้าสมควรจะพูด ในสิ่งที่ควรพูด อยู่พอประมาณ

จิตที่สงบนั้น เยือกเย็น สบาย แก่ผู้เป็นเจ้าของ เป็นจิตที่รู้จักชีวิตว่า ชีวิตนั้นพอเพียง จะอยู่ก็สบาย จะไปก็สบาย หรือ แม้จะตาย ก็เป็นจิตที่ สงบเย็นอยู่ จริงๆ อย่างน้อยที่สุด นักปฏิบัติธรรม ควรจะสำรอก อาการของจิตสงบ ให้ตนเอง อย่างสม่ำเสมอ แม้ในภาวะ ที่จะได้รับ กระทบสัมผัส อาการรุนแรง ที่จี้จุดกิเลสของเรา ให้เรามีกิเลส รุนแรง ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม จะต้องพยายามรำลึก รู้จักอารมณ์ ที่สบาย อารมณ์ที่เป็นจิตสงบ ดังกล่าว คร่าวๆ นี้ให้ดี แล้วกระทำตน ให้เป็นคนที่มี จิตที่สงบ ฝึกกระทำ รู้ตัวรู้ตน และ เมื่อผู้ใด รู้หน้าที่อย่างนี้ กระทำตน อยู่อย่างนี้ ผู้นั้นย่อมชื่อว่า เป็นผู้มีกำไร เป็นผู้ได้อาศัย หรือ เสวยสุขอยู่ ตลอดกาลนาน

๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๙



สามัคคีนำสุขมาให้

สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี สมคฺคานํ ตโป สุโข ฯ
ความพร้อมเพรียง ของชนผู้เป็นหมู่ เป็นเหตุให้เกิดสุข

ดังนั้น ในสังคมมนุษย์ จึงมีวิธีการ มีคนพยายาม ที่จะทำให้ คนที่อยู่ในสังคมนั้นๆ เกิดความสามัคคีกัน อยู่เสมอๆ แต่วิธีการ ใดๆ ก็ไม่สำเร็จจริง เท่ากับวิธีการ ที่เราจะต้อง ละกิเลสจริงๆ ละความเห็นแก่ตัว แก่ตน โดยเฉพาะ ถ้าได้ศึกษาหลักธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงค้นพบ เป็นวิธีการที่สำรอก ชำระกิเลส ความเห็นแก่ตัว แก่ตน ออกได้ อย่างชัดแท้แล้ว การเกิดความสามัคคี ก็จะมีโดยจริง

เพราะทิศทางที่ปฏิบัติ อย่างพระสัมมา สัมพุทธเจ้านั้น ไม่ได้ทิ้ง ผู้ที่อยู่ร่วมกันในสังคม เข้าใจพฤติกรรมของมนุษย์ อยู่ร่วมรวม อยู่กับมนุษย์ มีการกระทบสัมผัส มีการเรียนรู้ ธาตุแท้ ของกันและกัน

ดังนั้น ธรรมะ ทฤษฎีที่พระพุทธเจ้า ได้พาปฏิบัตินี้ จึงสามารถ สร้างสามัคคี ได้อย่างแน่นแฟ้น ได้อย่างไม่ฝืดฝืน ได้อย่างแท้จริง ซึ่งต่างกับ ทฤษฎีที่ (ชาว)พุทธเองแท้ๆ เข้าใจผิดว่า การปฏิบัตินั้น จะต้องปลีกเดี่ยว จะต้องอยู่คนเดียว ไปคนเดียว ทำคนเดียว หลีกเร้น หนีห่างจากหมู่ ไม่ให้เกิดสัมผัส ทฤษฎีที่ผิดพลาด เช่นนั้น จึงไม่เกิดสามัคคีที่แท้

ท่านทั้งหลาย จงลองพิสูจน์ ทฤษฎีดังกล่าวนั้น ถ้ามีโอกาส ก็พิสูจน์ได้ ทั้งสองทางดูเถิด จะเกิดความจริง ตามคำตรัสที่ พระพุทธเจ้า ตรัสไว้แล้วนั้น ว่าความสามัคคี ความพร้อมเพรียง จะเกิดขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติ ที่ถูกแท้ เอาจริง ที่เรียกว่า ตโป

ผู้ใดปฏิบัติ ถึงขั้น ตโป หรือ ตบะ ที่เอาจริง ขัดเกลาได้จริงแล้ว ก็จะเกิดความสามัคคี จะเกิดการละลด นั่นแหละ จึงจะเกิดความสุข หรือ เดินทาง ไปสู่ความสุข ของชนผู้เป็นหมู่ อย่างแท้จริง

๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๙



ทางแห่งสัมมาอริยมรรค

ผู้ชื่อว่าได้เป็น ผู้มีมรรค นั้นคือ ผู้ที่มีสภาวธรรมของ โพธิปักขิยธรรม อยู่ในตนเอง ขณะใดที่ตนเอง มีสติสัมโพชฌงค์ และ ได้มีบทปฏิบัติ มีธัมมวิจัย มีวิริยะ แห่งตนแห่งตนอยู่

บทปฏิบัติ ที่ได้พิจารณา กายก็ดี เวทนาก็ดี จิตก็ดี ธรรมะก็ดี และ ได้สังวรอยู่ ได้ลดละประหารอยู่ มีผลแม้น้อย หรือ แม้พ่ายแพ้ ในการพากเพียร มีอิทธิบาท มีฤทธิ์แรง ในการพากเพียร กระทำอยู่ อย่างยินดี กระทำอยู่ อย่างพากเพียร เอาใจใส่ ไตร่ตรอง พิจารณา

ผู้ที่ได้กระทำ แม้แต่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ หรือ โพชฌงค์ ๗ เป็นประจำ มีความเห็น ความเข้าใจ ในตนว่า เราปฏิบัติอยู่ใน กรรมฐานอย่างไร

เอาใจใส่ ไม่ให้ มิจฉาสังกัปปะเกิด ไม่ให้มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะเกิด ด้วยความพยายาม ด้วยสติสัมโพชฌงค์ ดังกล่าวแล้ว ผู้นั้นได้สั่งสม สัมมาสมาธิ ได้เพิ่มโพชฌงค์ทั้ง ๗ ให้แก่ตน ด้วยมรรค องค์ ๘ เป็นมัคคังคะ อยู่เสมอ นั่นคือ ผู้เดินอยู่ในทาง

ขณะใด สติตก หรือ สติเป็นสติธรรมดา สามัญ ของปุถุชน ที่ระเริงไป ตามอารมณ์ของโลกียะ ขณะนั้น เราอยู่นอกทาง ดังนั้น ผู้ปฏิบัติธรรม พึงสังวรอย่างยิ่ง ที่จะรู้ตัวทั่วพร้อม ว่าเราเดินอยู่ ในทางหรือไม่ เมื่อมีการเดิน และอยู่ในทางเป็น สัมมาอริยมรรค ดังนี้ ย่อมมีผล ให้แก่ตนๆ สักวันหนึ่ง ผล ก็ถึงซึ่ง ความสำเร็จ แล

๒๔ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

อยู่อย่างขัดเกลา - อดทน

จิตปราศจากกิเลส ย่อมเป็นจิตที่ไม่ดูด ไม่ผลัก เป็นจิตที่จะอยู่ ท่ามกลางกิเลส หรือ สิ่งแวดล้อมยั่วยวน สดสวยงดงาม ตามโลกียะ ก็ย่อมได้

แต่จิตของผู้ที่ยัง พากเพียรอยู่นั้น ถ้าจะอยู่ท่ามกลาง ความสดสวย งดงาม หรือ สิ่งที่ปลุกเร้า ยั่วย้อม เราก็จะต้องมี สติสัมโพชฌงค์ มีความแข็งแรง มีการฝึกปรือ อดทนอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ในตนส่วนตนนั้น ย่อมจะรู้สภาพว่า เราจะต้อง อยู่อย่างขัดเกลา อยู่อย่างอดทน ไม่ใช่ไปปรุงตน หรือ แสวงหา สิ่งที่ตน จะเสพย์จะติด แสวงหาความสวย เป็นต้น แสวงหาที่อยู่สบาย เป็นต้น แล้วเราก็ ไม่รู้ตัวเราเอง ว่าเราไหลเลื่อนไปเอง ไปสู่สภาพที่ตน ต้องการอยากได้

ถ้าผู้ใดประมาท ไม่รู้ตัว ไร้ปัญญา โดยตกไปในสิ่ง ยั่วย้อม หลงใหล แล้วเรา ก็เลื่อนตนเอง ไหลตนเอง ไปสู่สิ่งเหล่านั้นเอง แทนที่จะเป็น ผู้อยู่อย่างขัดเกลา ต่อสู้ แดด น้ำ ลม ฝน สัตว์ เสือก ริ้นคลาน หรือ สิ่งที่เราจะต้องอาศัย กระทำอย่างอดทน กระทำอย่างพยายาม ที่จะต่อสู้ เพื่อเป็นแบบฝึกหัด ของตน ๆ ถ้าผู้ใด โมหะครอบงำ หรือ หลงระเริงแล้วไซร้ ผู้นั้นจะไม่เจริญ เป็นอันขาด จะตกต่ำได้ง่าย สิ่งที่เป็นมารหลอกล่อ รอบล้อมนั้น ยั่วยวนคน ทำให้คนตกต่ำ มาแล้ว นักกว่านัก

ผู้ปฏิบัติทั้งหลายเอ๋ย จงสังวรเถิด ระมัดระวัง สิ่งยั่วย้อม และหลอกล่อ ทำให้เราหลงใหล ปรารถนา อยากใคร่ เสพย์สมจิต หาสิ่งที่ปรารถนา มาเสพย์ แห่งความอดอยาก ของตน ให้ตนได้เสพย์สม โดยที่ตัวเราเอง เผลอตัว แล้วก็ทำตนให้ตก เลื่อนไหลไปสู่ที่ ที่ไม่เจริญ

เรากำลังเป็น ผู้หัดฝึกอดทน แต่เราไม่ใช่ ผู้บรรลุธรรม บริสุทธิ์แล้ว เราจะสู้ทนกับ สิ่งที่ควรจะทน แต่ไม่ใช่ เราจะแสวงหา สิ่งที่เป็น ความแวดล้อมไปด้วย สิ่งที่ทำให้เรา จะตกต่ำ

จงมีปัญญาอันละเอียด มีความพิจารณา ให้รอบคอบ แล้วเราจะเป็น ผู้ไม่ตกต่ำ แต่จะเจริญขึ้น เจริญขึ้น ได้ด้วยปัญญาอันยิ่ง

๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

งาน

บุญ คือคนมีงาน คนที่ไม่มีงาน คนที่ไม่ทำงาน คือ คนที่ไม่มีบุญ คนที่ไม่ทำบุญ ผู้ใดไร้งาน ผู้นั้นก็ไร้บุญ โดยเฉพาะ ผู้ยิ่งทำงาน เป็นงานที่สร้างสรร ก็เป็นกุศลยิ่ง ยิ่งเป็นผู้ที่ได้เรียนรู้ ทำงานที่ขัดเกลากิเลส ของตนๆ ไปด้วยพร้อมๆกัน ผู้นั้นก็ยิ่งเป็นผู้ที่ มีทั้งงาน สร้างกุศล มีทั้งงาน ทำให้ตนสูง เป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ควรค่า ที่ชื่อว่า มนุษย์ คือ ผู้มีความรู้ ผู้มีจิตอันสูง อยู่ในโลก แล

๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

ผู้ลดตัวตน

ผู้ลดกิเลสจากตัวเราเอง เรียกโดยศัพท์รวมว่า ผู้ลดตัวตน ผู้ลดกิเลส สักกายะ คือ ลดกิเลสจากตัวเรา หรือ ลดตัวตนของกิเลส ให้เล็กลงๆ ไปเป็นอัตตา ก็เป็นกิเลส และเล็กลงไปอีก ก็คือ เล็กจากตัวเรา หรือ ตัวตนของกิเลส ก็คือ ผู้ที่ลดความเห็นแก่ตัว

กิเลส คือ ตัวที่หาอะไร มาให้ตนเอง เป็นความโลภ แม้โทสะ ก็มาจากเหตุโลภ โลภในตัวเอง ยึดตัวตน ไม่ได้สมใจตัว ไม่ได้สมใจตน ก็ผูกอาฆาต มาดร้าย โกรธแค้น ทำร้าย ทำลายได้ ผู้ได้ลดกิเลสโลภะ โทสะ โมหะ ที่แท้จริง จึงคือ ผู้ลดตัวตน

ผู้ลดสิ่งที่ต้องการ มาให้ตน เมื่อลดได้ ใจของเราจะพอ ใจของเรา จะสันโดษ ผู้ไม่เห็นแก่ตัว ผู้ลดตัวตนได้ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นผู้ที่ เอื้อเฟื้อผู้อื่น ได้แท้จริง ผู้ที่มีสันโดษ คือ มีความพอ มีน้อยก็พอ และ รู้จักความพอดี ที่พอดี ในการยังชีพ พอดีในการทำ ให้ตัวตน มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่อย่างสมดุล และพอดี ที่รู้จักปัจจัย สำหรับอาศัย จนถึงที่สุด น้อยที่สุด ที่ทำให้ตนอยู่ อย่างสมดุล พอดีได้ และ ใจก็พอ

คนมีใจพอ หรือสันโดษ จะมีความสุข ผู้ที่ปัญญารู้ว่า มนุษย์เกิดมา เพื่อสร้างสรร เกิดมาเพื่ออุ้มโลก เกิดมาเพื่อ มีคุณค่าประโยชน์ ให้แก่มนุษยชาติ ทั้งปวง เป็นผู้มาเสียสละ เป็นผู้มาช่วยเหลือ ผู้ที่มีปัญญาจริง เข้าใจอย่างชัดแท้ เป็นผู้หมด ความเห็นแก่ตัวลง เป็นผู้ขยัน หมั่นเพียร มนุษย์ผู้เช่นนั้น จึงเป็นมนุษย์ ผู้มีความสุข เบิกบาน ร่าเริง และ เป็นผู้สร้างสรร ขยัน เพียร เสียสละ เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล อยู่ตลอด นานับกัปกาล

๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๙


 

สำเร็จได้ด้วยความเพียร

ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วย ความเพียร แม้ว่าเราจะล้ม เราก็ต้องลุก เมื่อแน่ใจว่า สิ่งนี้ดี ทางนี้ต้องเดิน แต่ละคน ย่อมมีสิ่งจริง ของตนๆ ผู้ใดได้เพียรมาแล้ว ได้กระทำแล้ว ย่อมเป็นสิ่งกระทำ กรรมเป็นอันทำ

ดังนั้น ผู้ที่ได้ตั้งใจ มีความฉลาด มีธัมมวิจัย ในกรรม ของตน ๆ ก็ต้องเพียร เพื่อกอปรกรรม อันเป็นกุศล ให้ได้เสมอๆ แม้กระนั้น มันก็ย่อมมีพลาด ถึงเราจะพลาด เราก็ต้องเพียร เราก็ต้องแก้ตน เมื่อแน่ใจจริงว่า สิ่งนี้ดี ทางนี้ต้องเดิน เราก็จะเดิน ด้วยความเพียร เท่านั้น ทุกสิ่งสำเร็จได้ ด้วยความเพียร กี่ชาติ ก็ตาม

๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๙


คาถาธรรม ๑๕ / คาถาธรรม ๑๖ / คาถาธรรม ๑