ชีวิตจำลอง

๑๔. วัดค่าของสังคม

๘ กรกฎาคม ๒๕๒๘ อาจารย์เกษม ศิริสัมพันธ์ ให้คนถือหนังสือไปหาผม ที่กระทรวงกลาโหม ผมเห็นหนังสือ ก็รีบไปพบท่าน ที่บ้านทันที

ผมเคยทำงานร่วมกับ อาจารย์เกษม สมัยท่านนายกเปรม ซึ่งอาจารย์เกษม เป็นรัฐมนตรี และผมเป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่จริงผมรู้จักท่าน ก่อนหน้านั้นอีก ผมมักจะไปสนทนา ปรับทุกข์เรื่องการบ้านการเมือง ตามระยะเวลา เป็นประจำ

อาจารย์เกษม วิเคราะห์ให้ฟังว่า การหาเสียงเลือกตั้งในกรุงเทพฯ ชักจะไปกันใหญ่ ทุ่มเงินเข้าสู้กัน อย่างมโหฬาร อีกหน่อยคนจนๆ จะไม่มีโอกาสเล่นการเมือง ลำพังป้ายโฆษณา หาเสียงป้ายใหญ่ๆ ก็เข้าไปเป็นล้านบาทแล้ว ชิงกันไปทำหน้าที่ ซึ่งมีเงินเดือน เดือนละไม่เท่าไหร่ ไม่สมเหตุสมผล

ท่านตรองดูแล้ว มั่นใจว่า ผมจะดึงค่านิยมทางการเมือง ให้กลับมาสู่แนวทางที่ถูกต้องได้ จึงชวนให้ผมลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคกิจสังคม

ผมงง แต่ไหนแต่ไร ไม่เคยคิดวางแผนจะเป็นผู้ว่าฯ รับราชการทหาร ก็สบายดีแล้ว อยู่ในหมู่พี่ๆ น้องๆ อบอุ่นใจ งานการ ก็ไม่หนักหนาอะไร อยู่ๆไป ยศก็คงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เคยเป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อย จบโรงเรียนเสนาธิการ จบปริญญาโท การบริหาร ผ่านการรบ ทั้งในลาว และเวียดนาม มีคุณสมบัติ พร้อมรับราชการทหาร ต่อไปได้อย่างสบายๆ

บางครั้ง ผมเป็นคนชอบเสี่ยง ครูบาอาจารย์ ในโรงเรียนทหาร เคยเน้นนักเน้นหนาว่า ถ้าจะเสี่ยง ต้องเสี่ยงชนิดที่ "ใคร่ครวญแล้ว”

ผมจึงขอเวลาอาจารย์เกษม ใคร่ครวญดูก่อน แล้วผมจะให้คำตอบ ว่าจะสมัครหรือไม่ นับตั้งแต่วันที่ อาจารย์เกษม จุดไฟความคิดขึ้น ผมก็ได้แต่คิด คิด คิด คำตอบในแต่ละวัน จะออกมาว่า

เอา ไม่เอา ไม่เอา เอา
เอา ไม่เอา ไม่เอา เอา

พอครบกำหนด ๑ เดือน ผมก็โทรศัพท์ถาม อาจารย์เกษมบอกว่า ได้เสนอ พรรคกิจสังคมไปแล้ว แต่ผู้ใหญ่ของพรรค ดูจะไม่สนใจ การเลือกตั้งกทม. เท่าใดนัก ผมจึงแจ้งกับอาจารย์ เกษมว่า ผมได้แต่คิด คิด ยังไม่ตกลงใจเหมือนกัน ว่าจะสมัครไหม? และจะสมัคร พรรคกิจสังคมหรือเปล่า ยังไม่มีอะไรเป็นมั่นเป็นเหมาะ แต่ถ้าตกลงอย่างไรแล้ว ผมจะแจ้งให้อาจารย์เกษมทราบ เป็นคนแรก

พลตรีสุภร นักเรียนรุ่นน้องผม เคยโทรศัพท์พูดทีเล่นทีจริง กับพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ จากโต๊ะทำงาน ใกล้ๆกับโต๊ะผม ทำนองทีเล่นทีจริง

“พี่ลอง เขาจะสมัครเป็นผู้ว่าฯ จริงๆนะ ไม่เชื่อหรือครับ”

ฝ่ายโน้นก็ยังไม่เชื่ออยู่ดี คล้ายๆ กับปาฏิหาริย์ ในหนังอินเดีย

ต่อมา ผมโทรศัพท์ เรียนอาจารย์เกษมว่า ผมตัดสินใจแล้ว สมัครในนามกลุ่มอิสระ อาจารย์เกษมเห็นด้วย เพราะพรรคกิจสังคม ก็ยังคงเฉยอีก

ผมเปลี่ยนแนวจากทหาร มาเป็นนักการเมืองเต็มตัว เพราะการกระตุ้น จากอาจารย์เกษมแท้ๆ มีอาชีพอยู่ดีๆ ยังไม่เกษียณ ก็คิดลาออกไปเสี่ยง

วันที่ผมไปลาท่านรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม พลอากาศเอกเพนียง กานตรัตน์ ท่านถามผมคำสองคำ มองผมอย่างฉงนสนเท่ห์ แล้วก็ยิ้มๆ ท่านคงมีคำถามในใจว่า “ผมคิดดีแล้วหรือ”

หนังสือพิมพ์มติชน ตามไปสัมภาษณ์ หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ ถึงวัดชลประทาน วันนั้น ผมอยู่ที่กุฏิท่านด้วย ได้ยินหลวงพ่อ ตอบผู้สื่อข่าว

“อาตมาเห็นว่า คุณจำลองน่าจะสมัครเป็นผู้ว่าฯ ดูซิว่าประชาชน เขาชอบจะเลือก คนมีศีลมีธรรม เป็นผู้ว่าฯ หรือเลือกใคร เป็นการวัดค่าสังคม”

เมื่อตกลงใจแน่วแน่แล้ว ว่าจะขอเอาตัวเข้ามาเสี่ยง ในเวทีเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุด ใหญ่กว่าเวทีเลือกตั้ง ส.ส. เพราะเลือกกันทั้งกรุงเทพฯ ไม่ใช่แต่เฉพาะเขตย่อยๆ ผมก็หาเสียงเต็มที่ เสียเงิน ๖,๐๐๐ บาท เป็นค่าสมัคร ๕.๐๐๐ บาท และค่าพิมพ์ รูปขาวดำอีก ๑,๐๐๐ บาท

กรุงเทพฯกว้างใหญ่ ปักป้ายเท่าไหร่ๆ ดูเหมือนจะหายไป ในถนนหนทางหมด เรามีป้ายเล็กๆ สีซีดๆ ตามมีตามเกิด สวนทางกับ คณะอื่นๆ อย่างตรงกันข้าม ของเขาทั้งสวย ทั้งใหญ่โตมโหฬาร ไม่ว่าจะไปทางไหน ทางบกหรือทางน้ำ มีป้ายปัก เต็มพรืดไปหมด

“พี่เอาอย่างนี้ซิครับ ป้ายมีน้อย พี่ก็ใช้ป้ายเคลื่อนที่ เอาหน้าพี่นั่นแหละเป็นป้าย ไปให้ทุกหนทุกแห่ง พี่ยืนไปบนรถกระบะ เปิดหลังคา แล่นเข้าถนนโน้น ออกถนนนี้ ชาวบ้านได้เห็นกันทั่ว” พ.อ.ฤกษ์ดี ชาติอุทิศ นักเรียนรุ่นน้องผม ผู้มีเชาว์ไว ไหวพริบ พูดแนะนำ ทางโทรศัพท์

บังเอิญ ผมมีรถกระบะเก่าๆ สำหรับซื้อกับข้าว และส่งอาหารอยู่คันหนึ่ง จึงได้อาศัยรถคันนั้น ยืนบนรถ เอาหน้าโฆษณาไปเรื่อย ตั้งแต่เช้าถึงเย็น บางครั้ง ก็นึกเห็นใจตัวเองว่า “ทำไมถึงต้องเป็นเรา” ทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น อยู่เป็นนายทหารดีๆ แล้วไม่ชอบ คิดดีแล้วหรือ

ประชาชนมาสนับสนุนมากขึ้นๆ อย่างชนิดที่ ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ช่วยกันหาสิ่งต่างๆ สำหรับโฆษณาหาเสียง กระดาษ ผ้า ไม้อัด ฝาเข่ง บ้างก็นำเงิน มาช่วยเป็นค่าใช้จ่าย ในการหาเสียง นำรถมาให้ยืม ให้ใช้อาคารสถานที่ ทุกคนช่วย ด้วยความบริสุทธิ์ใจ หวังให้ผม ได้เป็นผู้ว่าฯ เท่านั้น

“อย่างนี้จึงเป็นประชาธิปไตยบริสุทธิ์ เกิดจากศรัทธาของประชาชนจริงๆ ผมอยู่เฉยไม่ได้ ต้องรีบเดินทางจากเชียงใหม่ มาสนับสนุนด้วยคน” คุณพันธุ์เลิศ บูรณศิลปิน อดีตรัฐมนตรีเกษตร พูดพร้อมกับยื่นเงิน จำนวนหนึ่งให้ผม

ผมซึ้งในน้ำใจของทุกท่าน ที่ช่วยกันอย่างจริงจัง ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ นักวิจารณ์การเมือง พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่เคยมีการสนับสนุน การเลือกตั้ง พร้อมพรั่ง เท่าครั้งนั้นมาก่อนเลย เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เป็นความร่วมมือร่วมใจ ของประชาชน โดยประชาชน และ เพื่อประชาชน

พ่อค้าไอศกรีมคนหนึ่ง ขายครึ่งวัน หยุดหาเสียงให้ผมครึ่งวัน พอใกล้วันเลือกตั้ง ก็หยุดทั้งวัน แถมขนไอศกรีม ไปเลี้ยงพวกเรา ฟรีๆอีก

อาแป๊ะ เจ้าของร้านเพชร บ้านหม้อ เช้าขึ้นมา ก็ออกเดินไปตามถนน มีรูปผมห้อยข้างหน้า และข้างหลัง ช่วยหาเสียง อย่างไม่เคอะเขิน ติดต่อกันเป็นสิบๆวัน ไม่มีใครรู้ว่า แท้จริงแล้ว เขาคือเจ้าของร้านเพชร ผมมาทราบเรื่องเอาเมื่อ หลังการเลือกตั้ง แล้วหลายเดือน

เรื่องแปลกๆทำนองนั้น มีให้ฟังอีกมาก ยากที่จะบันทึกได้ครบถ้วน

วันเวลา ผ่านมาหลายปี ผมยังตามหาญาติไม่ครบ ญาติที่เคยช่วยหาเสียงให้ โดยที่ผมไม่รู้ตัว ผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นจำนวนมากมาย ได้ติดต่อกับญาติในกรุงเทพฯ ให้ไปเลือกผมให้จงได้ เสมือนผมเป็นญาติแท้ๆ คนหนึ่ง ที่จะเพิกเฉยไม่ได้ ต้องช่วยกันเต็มที่

ผมสู้อย่างจนๆ ประชาชนช่วยแค่ไหน ก็มีสู้แค่นั้น ถ้าผู้สมัครรายอื่นๆ ทำอย่างนั้นบ้าง คงจะประหยัดค่าใช้จ่าย เอาไปช่วยคนจนๆ ได้มากมาย และจะไม่มีความจำเป็น สำหรับเขา ที่จะเข้าไปกอบโกย เพื่อเอาทุนคืน

ประชาชนไปลงคะแนนให้ผม ถึงสี่แสนแปดหมื่น นับเป็นคะแนนเลือกตั้งสูงที่สุด ตั้งแต่มีประชาธิปไตยมา ไม่ว่าจะเป็น การเลือกตั้งส.ส. หรือ เลือกตั้งอย่างอื่นก็ตาม

สังคมไทย เป็นสังคมที่มีน้ำใจ ช่วยด้วยความสมัครใจ ช่วยเพื่อให้สังคมดีขึ้น ช่วยโดยไม่หวัง ผลตอบแทนอื่นใด เป็นสังคมที่พึ่งพาอาศัย ฝากผีฝากไข้กันได้

ผมได้วัดแล้ว
วัดค่าของสังคม

 

อ่านต่อ ๑๕. ผมไม่มีอนาคต