๑. ร่วมกันสู้ หน้า ๙ - ๒๒

จับจำลอง !

จับจำลอง! เป็นข่าวพาดหัวตัวโตที่สุด ของหนังสือพิมพ์หลายฉบับ ข่าวเหตุการณ์วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ไม่ได้มีอยู่เฉพาะในเมืองไทยเท่านั้น แต่ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก รูปที่ผมถูกใส่กุญแจมือ มีทหารหน้าตาถมึงทึง อาวุธครบ เดินกระหนาบซ้ายขวา แวดล้อมด้วยทหารอีกนับสิบ ที่ถือปืนเอ็ม ๑๖ ยืนจังก้า พร้อมที่จะลั่นไกได้ทุกเมื่อ ดูไปแล้วเหมือนกับผม เป็นอาชญากร คดีอุกฉกรรจ์ หรือเป็นเชลยศึกตัวฉกาจ ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ แก่ผู้ที่ได้เห็นภาพนั้น ไม่ว่าจะเห็นจากหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ก็ตาม

ผมไม่รู้สึกโกรธแค้นแม้แต่น้อย ไม่รู้สึกอับอายขายหน้า หรือเสื่อมเสียเกียรติแต่อย่างใด ถือว่าทหาร จำเป็นต้องทำตามนายสั่ง ผมก็ทำหน้าที่ของผม

การปราศรัยในที่ชุมนุม ผมกล่าวอยู่เสมอๆว่า เรามาหยุดยั้ง การสืบทอดอำนาจเผด็จการ ด้วยการเรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น เราชุมนุม เราเรียกร้องอย่างสันติ ถ้าทหารตำรวจเขาจะมาจับ เราก็ชูมือให้เขาจับโดยดี ไม่มีขัดขืน ผมเอง จะอยู่ร่วมกับ พี่น้องประชาชนตลอดเวลา ไม่ไปไหน ถ้าเขาจับ ผมจะให้เขาจับเป็นคนแรก ผมได้ทำตามคำมั่นสัญญา ทุกประการ ทำหน้าที่ของผมให้ถึงที่สุด ไม่ว่าอะไร จะเกิดขึ้นกับผมก็ตาม จะยิงให้ตายก็ยิงไป จะจับผมไปขังคุก ก็ตามใจ ไม่สะทกสะท้านอะไรทั้งสิ้น

ตอนบ่ายวันที่ ๑๘ พฤษภาคม หลังจากให้สัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ข้ามทวีป ไปต่างประเทศ พูดกับ สำนักข่าวออสเตรเลีย บีบีซี ซีเอ็นเอ็น แล้ว ก็มีผู้ให้ข่าว ยืนยันว่า เวลาบ่ายสามโมง ทหารที่รวมกำลังกันอยู่ ที่สะพานผ่านฟ้า จะบุกเข้ากวาดล้างแน่ ผมรีบปีนขึ้นไปพูด บนหลังคารถทันที ขอร้องให้ผู้ชุมนุม ที่อยู่กระจัดกระจายกัน มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ให้หนาแน่น ถ้ามีจำนวนมากพอ ทหารก็ไม่กล้าบุก ซึ่งวิธีนี้ เคยใช้ได้ผลมาตลอด แต่คราวนี้ เนื่องจาก เมื่อคืนที่แล้ว ผู้ร่วมชุมนุมอิดโรยเหลือเกิน ต้องหลบกระสุนปืนกัน หัวซุกหัวซุน จึงพากันกลับไปพัก เป็นจำนวนมาก ตอนเย็น จึงจะกลับมาชุมนุมรวมกัน หลายๆหมื่นคน และเพิ่มเป็นแสนๆคน ในตอนกลางคืน ดังนั้น ช่วงเวลาประมาณ บ่ายสามโมง จึงเป็นจุดอ่อน ที่ทหารจะเข้ากวาดล้าง ได้ง่ายที่สุด

ผมประกาศ ขอให้ผู้ชุมนุมที่นั่น แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนที่อยู่ติดกับลวดหนาม สะพานผ่านฟ้า ให้หันหน้า จ้องไปยังทหาร ที่เข้าแถวยืนประจัญหน้า อยู่บนสะพาน อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ถัดมา ให้หันหน้าไปทาง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพราะทั้งสองทิศนี้ เป็นเส้นทางที่ จะเข้ากวาดล้างเรา

ทุกคนแม้จะอดนอน เหนื่อยและเพลียมาก ก็ยังขวัญดีตลอดคืน วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ถูกกราดยิง อย่างหูดับตับไหม้ มาถึง ๔ ครั้ง ยังยิ้มออก ยังมีอารมณ์ที่จะร้องรำทำเพลง และปรบมือเข้าจังหวะ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ คงมีความรู้สึกประทับใจ เหมือนกับผมว่า ผู้ที่ไปร่วมชุมนุม นับเป็นแสนๆคนนั้น เป็นคนมีคุณภาพ ไปด้วยความสมัครใจ ไปเพราะเห็นภัย ที่จะเกิดขึ้นกับบ้านเมือง ไม่มีใครไปหลอก ไปชักจูงได้ เราไปชุมนุมกันอย่างสันติ ไปมือเปล่าๆ อย่างดีก็มีขวดน้ำดื่มเท่านั้น ที่ถือติดมือ เป็นขวดพลาสติกเปล่าๆ ที่ดื่มน้ำหมดไปแล้ว ใช้สำหรับ เคาะพื้นให้จังหวะ

ผมพูดให้กำลังใจอยู่สักพัก ชักชวนจนผู้ชุมนุม นั่งเป็นแถว เป็นแนวดีแล้ว ผมก็ลงไปนั่ง ตากแดดด้วย วันนั้นท้องฟ้าไม่มีเมฆเลย แดดร้อนจัดมาก ผู้ชุมนุมที่นั่งอยู่ บริเวณที่มีตาข่าย ขึงอยู่ข้างบน ก็ค่อยยังชั่วหน่อย ผู้ที่อยู่กลางแจ้ง ร้อนที่สุด พื้นถนนยางมะตอย ยามถูกแดด ร้อนวูบวาบ เอากระดาษหนังสือพิมพ์ปู ก็ช่วยได้ไม่เท่าไร หนังสือพิมพ์ จะใช้ได้ผลบ้าง ก็โดยเอามาพับ เป็นหมวกกันแดด

ประมาณบ่ายสามโมง ทหารที่รวมพลกันอยู่ แถวสะพานผ่านฟ้า หน้ากรมโยธาธิการ ก็ดาหน้ากัน เข้ากวาดล้างพวกเรา อย่างรวดเร็ว ผู้สื่อข่าวหญิงคนหนึ่ง กำลังถามยังไม่ทันขาดคำ เสียงปืนก็ดังสนั่นหวั่นไหว ทหารยิงเหมือนคืนที่แล้ว แต่คราวนี้ยิงไม่ยั้ง ระดมยิงติดต่อกัน ถึงครึ่งชั่วโมง หมดกระสุนปืน เป็นหมื่นๆนัด ส่วนหนึ่งจะยิงขึ้นฟ้า บางส่วนจะยิงจริงๆ กราดยิงตามแนวราบ ใครหมอบไม่ทัน ก็โดน สังเกตเห็นได้จาก กระสุนส่องวิถี ซึ่งตอนกลางคืน จะมองเห็นแนวกระสุน ชัดมาก

พอเสียงปืนดังขึ้น ทุกคนก็รีบหมอบราบ ลงบนพื้นถนน ผมล้มลงนอนตะแคง มีผ้าเช็ดหน้าหนาๆ อยู่ผืนหนึ่ง ได้อาศัยปูรองแก้ม ที่แนบกับพื้นถนน ส่วนแขนและข้อศอกนั้น ไม่มีอะไรกัน พองจนไหม้เป็นแผล อยู่หลายวัน เพราะพื้นยางมะตอย ร้อนระอุ เหมือนกระทะ ตั้งบนเตาไฟนั่นเอง

คนที่อยู่ข้างๆ ทุ่มตัวเข้าทับผมถึงสองชั้น เอาตัวเองเข้ากันลูกกระสุน ผมต้องใช้มือแหวกออก ไม่ยอมให้ทับ เพราะยิ่งทับ ยิ่งเป็นกองพูนสูงขึ้น จะเป็นเป้ากระสุนอย่างดี กว่าจะแหวกออกได้หมด ก็เหนื่อยแทบแย่ ผมขอบคุณอย่างยิ่ง ที่กลัวผมจะถูกยิง ถึงขนาดเสี่ยงชีวิต เอาตัวเข้ากำบังให้ ซึ่งผู้ที่ทับผมนั้น บางคน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนเลย

ที่จริงทหารไม่จำเป็นต้องแสดงอำนาจ ด้วยการกราดยิงเข้ามา อย่างหูดับตับไหม้ ขนาดนั้น เพียงแต่ใช้เครื่องขยายเสียง ประกาศว่า จะจับเท่านั้น เราก็ชูมือให้จับแล้ว เพราะเราเตรียมจะให้จับ อยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องเสียลูกปืนสักนัด ก็สามารถจับเราได้หมด ในฐานะที่เคยผ่าน สมรภูมิลาว และ เวียดนามมาแล้ว ผมไม่เห็นจะเท่ตรงไหนเลย การยิงกราดเข้าไปยังฝูงชน ที่มีแต่มือเปล่าๆ

พอเสียงปืนสงบลง ทหารก็กรูเข้ามายืนคุม เต็มพื้นที่ พร้อมกับจ้อง ปากกระบอกปืน ผมรีบลุกขึ้นนั่ง ก่อนเพื่อน ให้สัญญาณ ชูมือขวาขึ้น พร้อมกับร้องตะโกนว่า "พลตรีจำลอง ศรีเมือง อยู่นี่ จะจับให้มาจับตรงนี้ อย่าไปยิงประชาชน" ทหารสองสามคน ที่ยืนอยู่ใกล้ผม หันมามอง ชะงักไปครู่หนึ่ง ไม่ทำอะไร

ผมตะโกนผ่านเครื่องขยายเสียงหลายครั้ง ก่อนตีสี่ บอกทหารว่า ผมและกรรมการ สมาพันธ์ประชาธิปไตย ยินดีให้จับ อย่ายิงประชาชน ทหารกลับตอบรับ ด้วยเสียงปืน การรบกับข้าศึก ตามสนธิสัญญาเจนีวา ถ้าข้าศึกขอมอบตัว จะยิงไม่ได้เลย นี่โหดร้ายยิ่งกว่า รบกันเสียอีก

ผมเห็นทหารเอาเท้าเขี่ย ผู้หญิงคนหนึ่ง ที่นอนหมอบอยู่ถัดไป ผมทนไม่ได้ ชี้หน้าทหารคนนั้น แล้วสั่งสอนว่า "รักษาศักดิ์ศรีของทหารไว้บ้าง" เพราะผมก็เป็นทหารเหมือนกัน

ทันใดนั้น นายสิบทหารสารวัตรสองคน ก็ตรงเข้ามา ใส่กุญแจมือผม พร้อมกับดึงผมให้ยืนขึ้น ที่จริง ผมก็จะยืนขึ้นอยู่แล้ว ไม่เห็นจะต้องมาฉุดกระชาก ลากดึงอะไรเลย คงคิดว่าเท่อีกเหมือนกัน ที่ได้แสดงอาการอย่างนั้น กับผม

ทหารสองคนนั้น เดินเบียดผม เหมือนกับว่า ผมพยายามจะหนี อยู่ทุกขณะ ทั้งๆที่มือทั้งสองของผม ก็ถูกใส่กุญแจแล้ว ยังขาดอยู่ตรงที่ ไม่ได้ล่ามโซ่ขาเท่านั้นเอง ใกล้จะถึงรถจี๊พ นายทหารรุ่นน้อง ยศพันเอกคนหนึ่ง แต่งกายชุดสนาม ยกมือขึ้น ทำความเคารพ พร้อมกับพูดว่า "พี่ลอง ผมขอโทษ" แล้วเดินนำไปขึ้นรถ ข้างหน้ามีรถแล่นนำ เปิดไฟวาบๆ คันหนึ่ง ตามหลังด้วยรถที่มีทหาร อาวุธพร้อม อีกคันหนึ่ง

สักครู่ ขบวนก็ไปถึงกองบัญชาการ กองทัพภาคที่ ๑ หรือกองกำลังรักษาพระนคร ซึ่งผมเคยไป ในฐานะ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เป็นพลตรี อดีตหัวหน้านักเรียน นายร้อยพระจุลจอมเกล้า เป็นแขกรับเชิญของแม่ทัพ กองทัพภาคที่ ๑ แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งนั้น นายทหารรุ่นน้อง ยืนเรียงราย อยู่ตามขั้นบันได หน้าตึกกองบัญชาการ หน้าตาเคร่งขรึม ไม่ยิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนก่อน

ผมจงใจเดินช้าๆ จ้องมองใบหน้า นายทหารรุ่นน้องทีละคน ผมยิ้มน้อยๆ ไม่รู้สึกอะไร อยากจะดูว่า เขาตีสีหน้าอย่างไร พอใจละหรือ ที่จับผมมา เหมือนจับคนร้ายโทษหนัก หลายคน ทำความเคารพผม ทุกคนก้มหน้า ไม่กล้าสบตาผมเลย

เขาพาผมขึ้นไปบนชั้นสอง ผมดีใจที่จะได้ดูหน้า พลโทชัยณรงค์ หนุนภักดี นายทหารรุ่นน้อง หลังผมสี่รุ่น เป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อย เหมือนกัน แต่แล้วก็ผิดหวัง ไม่มีใครอยู่พบผม ทหารต้องพาผมลงไป หน้าตึกกองบัญชาการอีก

รองเท้าผมก็ไม่ได้ใส่ เพราะทิ้งไว้ในที่ชุมนุม ขณะที่ยืนรอเปลี่ยนรถ เพื่อเดินทางต่อ พื้นคอนกรีตร้อนมาก เลยบอกกับนายทหาร ที่ควบคุมตัวว่า ผมขอเดินไปใต้ร่มไม้หน่อย มีนายตำรวจหนุ่มๆ หลายคน ยืนรวมอยู่ที่นั่น ทุกคนทำความเคารพผม แล้วก็หลบสายตา

ทันใดนั้น มีรถจี๊พแล่นเข้ามาอีกคันหนึ่ง จับผู้หญิงหน้าตาดี แต่งกายชุดขาว สำหรับไปวัด ผมนึกเอะใจ จึงตะโกนพูดกับ ผู้ที่ควบคุมว่า "ไม่ใช่คุณศิริลักษณ์ คุณจับเขามาทำไม" เงียบ ไม่มีคำตอบ สุภาพสตรีคนนั้น ถูกนำมาขึ้นรถ คันเดียวกับผม โชคร้ายแท้ๆ ตอนผมถูกจับ เธอจะเข้าไปป้องกันผม คนจับเลยเข้าใจผิด

คุณศิริลักษณ์ นอนหมอบอยู่ใกล้ๆรถตู้ ไม่ไกลจากผมเท่าใดนัก ได้ยินเสียงทหาร ร้องตะโกนว่า "เอาเมียมันไปด้วย คนที่ใส่เสื้อขาวน่ะ" คุณศิริลักษณ์ อยากจะให้จับ แต่เกรงว่า จะถูกนำไป เป็นตัวประกัน เพื่อต่อรองให้ผม อยู่ในคำสั่งของทหาร จึงอาศัยเชาว์ไวไหวพริบ เล็ดลอด ออกไปได้ มาทราบทีหลังว่า จับผิดตัว

ทหารระดมกันเข้าตรวจค้น โดยอ้างว่า จะตรวจอาวุธ ผู้ชุมนุมทุกคน แล้วเลยตรงเข้าริบเงินทอง วิทยุ โทรศัพท์มือถือ ของประชาชน ไปต่อหน้าต่อตา แม้บางขณะ จะได้ยินเสียงนายทหาร ร้องห้ามปราม อยู่ก็ตาม

ทั้งๆที่เป็นผู้หญิง ท่าทางสงบเสงี่ยม ไม่มีวี่แววว่า จะหนีไปได้เลย ทหารก็ยังต้องใส่กุญแจมือให้ได้ ซึ่งจะต้องยื่นกุญแจมือ ผ่านหน้าผม เพราะสุภาพสตรีคนนั้น นั่งอยู่อีกด้านหนึ่ง ผมเลยอาสา ใส่กุญแจมือให้เอง ใส่กุญแจมือเสร็จ เธอก็ยกมือทั้งสองขึ้น ไหว้ผม พร้อมกับกล่าวว่า "เป็นบุญค่ะ ที่ท่านใส่ กุญแจมือให้ดิฉัน" ทราบภายหลังว่าชื่อ คุณพัชรี แซ่เลี้ยว บ้านอยู่โคราช กำลังจะไป เยี่ยมลูก แวะไปให้กำลังใจ แก่ผู้ไปร่วมชุมนุม เลยถูกจับ

ขบวนรถควบคุมผู้ต้องหา พาผมบึ่งไปโรงเรียน นายสิบตำรวจบางเขน นายตำรวจชั้นนายพัน ๒ คน ได้สืบสวนผม ในห้องรับแขก ตั้งข้อหาว่า พยายามเปลี่ยนกฎหมาย เปลี่ยนรัฐบาล และชุมนุมเกิน ๑๐ คน ในขณะประกาศภาวะฉุกเฉิน

ข้อหาฟังดูก็แปลกดี พยายามเปลี่ยนกฎหมาย คือ พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ พยายามเปลี่ยนรัฐบาล ได้แก่ การเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก

นายทหารยศพันเอกคนเดิม เมื่อคุมผมไปส่งเรียบร้อยแล้ว ก็ลากลับ น้ำตาคลอ ยกมือไหว้ผมอีกครั้ง พร้อมกับกล่าวว่า "พี่ลองครับ ผมขออภัย"

สักครู่ พลตำรวจโท ธนู หอมหวล ก็ไปพบ แจ้งให้ทราบว่า ผู้บังคับบัญชา สั่งให้ไปดูแล เมื่อกลับออกจากห้อง ไปได้สักพัก ตำรวจเข้าไป ไขกุญแจมือผมออก พลตำรวจโทธนู คงรำคาญตา ที่เห็นผมใส่กุญแจมือ อยู่ตลอดเวลา

คืนนั้น ตำรวจจะให้ผมนอน ในห้องรับแขก ซึ่งเป็นห้องแอร์ ผมไม่เอา ขอไปนอนในห้องขัง เหมือนกับ ผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ที่ถูกจับมา ตำรวจก็ยอม

ผมได้นอนในกรงจริงๆ ไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร นอนที่ไหนก็นอนได้ ผมถูกนำขึ้นไปขัง บนชั้น ๒ เวลาเดินผ่านห้องขังอื่นๆไป ก็มีเสียงปรบมือ ดังกึกก้อง เพราะเป็นผู้ต้องขัง คดีเดียวกันทั้งนั้น ผมถูกขังเดี่ยว เป็นห้องเล็กๆ มีลูกกรงเหล็กแน่นหนา ลักษณะเหมือน ห้องขังข้างๆ เพียงแต่เล็กกว่า และมีผมถูกขัง อยู่คนเดียวเท่านั้น

ตำรวจจากภาคอีสาน ที่ถูกเกณฑ์ไปช่วยทำ สำนวนสอบสวน ต่างก็ทยอยกัน เดินขึ้นไปดูผม ส่วนใหญ่ มักจะทำความเคารพ ด้วยสีหน้าเคร่งขรึม ผู้ควบคุมผม ไม่ว่าจะเป็นนายตำรวจ ชั้นสัญญาบัตร หรือนายสิบ ให้เกียรติในฐานะ ผมเป็นนายทหาร ทั้งการพูดจา และการแสดงกิริยามารยาท คอยถามไถ่อยู่เสมอว่า ผมขาดอะไรบ้าง

ผมต้องการมุ้ง ก็ไปหามุ้งเก่าๆหลังเล็กๆ มาได้หลังหนึ่ง ช่วยให้รอดพ้น จากยุงไปได้ รุ่งขึ้น จึงทราบจากผู้ต้องขัง ห้องอื่นๆว่า ไม่มีมุ้งเลย ผมจึงขอร้องแม่ค้าในนั้น ให้ช่วยไปซื้อมุ้งหลังใหญ่ๆ มาให้ครบ ผมออกจากคุกเมื่อไร จะเอาเงินไปใช้ให้ พร้อมทั้งดอกเบี้ย ผมเหมาปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าอนามัยแจกกัน โดยผมขอติดหนี้ไว้ก่อน เช่นกัน เพราะมีเงินติดตัวไป ๕ บาท เท่านั้นเอง ปกติผมพกเงินมากกว่า ๕ บาท แต่คงไม่พอจ่ายอยู่ดี

ผู้ต้องขัง ได้กินข้าวคนละ ๑ กำปั้น เช้า-เย็น อาจเป็นเพราะ ไม่ได้เตรียมการมาก่อน พวกเราไปกันทีหนึ่ง สามพันกว่าคน จึงได้กินคนละนิด

พอเช้าขึ้น ทุกห้องขังก็ครื้นเครง ร้องเพลง พร้อมกับปรบมือ สลับกันไป เหมือนชุมนุมฟังปราศรัย ทุกคนไม่บ่น ทั้งเรื่องยุงกัด และข้าวไม่พอกิน ได้แต่ตะโกนบอกว่า ดีใจ ที่ถูกจับมาขัง พร้อมกับผม

เช้าวันนั้น ผมได้รับจดหมายน้อยๆ เขียนใส่เศษกระดาษ แล้วม้วนกลมๆ ปาไปที่ห้องขังผม ผมเอื้อมมือ ลอดลูกกรงออกไป หยิบมาอ่าน ได้ครบทุกฉบับ ส่วนใหญ่ มีข้อความคล้ายๆกัน

จดหมายฉบับหนึ่ง เขียนว่า….. "เรียนท่านจำลอง พวกเราในที่นี้สบายดี และภูมิใจ ที่ได้มาอยู่กับท่านค่ะ ทำใจให้สบายนะคะ"

บางรายก็เท้าความ ถึงหนหลังว่า เคยพบกันมา ก่อนหน้านี้แล้ว "สวัสดีค่ะ คุณพ่อจำลอง ศรีเมือง ลูกเคยเขียนจดหมาย ไปหาคุณพ่อ ตอนหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ที่วงเวียนใหญ่ หนูคิดว่า คุณพ่อคงจำได้นะคะ ตอนนี้หนูอยู่ห้อง ตะรางห้องแรก

รักและเคารพ ลูกนุชค่ะ"

ตอนสายๆ ของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ผู้คุมก็มาไขกุญแจ และนำตัวผมออกไป หลังจากนั้น ผมก็ไม่ได้กลับมาอยู่ ที่กรงขังเดิมอีกเลย

สารวัตรทหารอากาศ นำผมไปแยกขังเดี่ยว ที่กองทัพทหารสารวัตร ดอนเมือง คงเกรงว่า ที่โรงเรียน นายสิบบางเขน ท่าจะไม่ปลอดภัย อาจมีใครไปแย่งชิงตัวผม ออกมาก็ได้ ผมเลยเหงา ไม่ได้ตะโกนคุยข้ามห้องขัง และไม่ได้รับจดหมายน้อยๆ อีกต่อไป


ในขณะที่ทหารเข้ากวาดล้าง ด้านสะพานผ่านฟ้านั้น ได้รุกบีบเข้ามา ทุกทิศทุกทาง อีกด้านหนึ่ง เวลาประมาณบ่ายสามโมง เหมือนกัน ทหารประมาณ ๔๐๐ คน อาวุธกระสุ เต็มอัตราศึก ยกกำลังบุกเข้ามา จากสี่แยกคอกวัว

ทหารได้ปิดถนน บริเวณหน้ากองสลาก โดยใช้ลวดหนาม ที่ภาษาทหารเรียกว่า ลวดหีบเพลง กั้นอย่างแน่นหนา ได้รับการตะโกนต่อว่า ว่าทำเสมือน ประชาชนคนไทยด้วยกัน เป็นข้าศึก

ทหารกลุ่มที่เข้ากวาดล้าง บริเวณเชิงสะพานผ่านฟ้า หลังจากจับผมไปแล้ว ก็ตะโกนสั่งผู้ชุมนุมว่า "ผู้ชายถอดเสื้อ ผู้หญิงนอนคว่ำหน้าเฉยๆ"

นิตยสาร "แนวหน้า" สุดสัปดาห์ ๒๙ พ.ค.-๔มิ.ย. รายงานข่าวว่า ใครที่ชักช้า ก็จะถูกตบ ไม่เว้นแม้แต่นักข่าว เสียง "ยอมแล้ว กลัวแล้ว" ดังระงมไปทั่วบริเวณ ทหารกวาดจับเชลย ชายหญิง ได้ในวันนั้น และวันต่อมา รวมกันกว่าสามพันคน ใช้รถบรรทุก ยีเอ็มซี ขนไปขังรวมกับผม ที่โรงเรียนนายสิบตำรวจ บางเขน และที่เรือนจำลาดยาว

ตอนกลางคืน ก่อนหน้าที่ผมจะถูกจับ ขณะที่ผมและกรรมการ สมาพันธ์ประชาธิปไตย อีกสองท่าน คือหมอสันต์ กับหมอเหวง อยู่บนหลังคารถตู้ ทหารได้ยิงกราดเข้าไป ในที่ชุมนุม เป็นครั้งแรก ผมก็บอกกับหมอทั้งสองว่า "รัฐบาลแพ้แล้ว รัฐบาลเสียความชอบธรรม โดยสิ้นเชิง ยิงกราดเข้ามาได้ ทั้งๆ ที่พวกเรา มามือเปล่าๆ"

ผมขอยืนยันว่า ผมยินดีและจงใจจะให้จับ รัฐบาลยิ่งจับก็ยิ่งแพ้ ไม่ได้จับผมคนเดียว จับไปอีกสามพันกว่าคน แต่ละคนมีญาติพี่น้อง นับสิบๆ ร้อยๆ รัฐบาลมีศัตรู เพิ่มขึ้นเป็นแสน จะอยู่ได้อย่างไร

ยิ่งจับมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งฉลาดน้อยลงเท่านั้น

ตอนที่เสียงปืนสงบ และผมลุกขึ้นนั่ง ชูมือขึ้นนั้น เป็นนาทีของการเสี่ยง ขณะที่ทหารจ้องปืนอยู่นั้น อาจจะลั่นไกยิงผมก็ได้ เพราะไม่หมอบอยู่กับที่ ลุกขึ้นมา รับกระสุนปืนเอง ผมเสี่ยง เพราะอย่างไรเสีย ก็ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ จะสั่งให้ฆ่าก็ได้ จับก็ได้ แต่การฆ่าตรงนั้น เปิดเผยไปหน่อย ท่ามกลางสายตา นับร้อยนับพันคู่ คงปิดข่าวไม่ได้แน่ๆ

ผมทราบข่าวจาก นายทหารรุ่นน้องว่า ตลอดระยะเวลา ของการชุมนุม ติดต่อกันหลายวันนั้น ผู้บังคับบัญชาระดับสูง ได้สั่งให้เก็บผม โดยเข้าใจผิดว่า ถ้าฆ่าผมตายได้คนหนึ่ง การชุมนุมคงเลิก

ผมนึกในใจว่า ตายเป็นตาย การตายเพื่อช่วยทำประโยชน์ ให้แก่ส่วนรวม ดีกว่ามีชีวิตอยู่ เพื่อผลประโยชน์ ของตัวเอง และพวกพ้อง

นึกถึงตอนถูกยิงกราด ๕ ครั้ง นึกถึงตอนถูกจับ

นึกเมื่อใด ก็ภูมิใจเมื่อนั้น ภูมิใจว่า ผมมีส่วนช่วยหยุดยั้ง การสืบทอดอำนาจเผด็จการ ด้วยเหมือนกัน

ภูมิใจที่มีโอกาส ได้ร่วมชุมนุมกับคนดีๆ หลายแสนคน

"โลกมนุษย์ย่อมจะดีกว่านี้แน่
เพราะมีผู้ไม่ยอมแพ้แม้ถูกหยัน
จะยืนหยัดสู้ไปใฝ่ประจัญ
ยอมอาสัญ ก็เพราะปอง เทิดผองไทย"

ภูมิใจที่ได้ "ร่วมกันสู้"


 

อ่านต่อ ๒
ค้านรัฐธรรมนูญ

 

จากหนังสือ .. ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง - จับจำลอง - หน้า ๙ - ๒๒