๖. ร่วมกันสู้ หน้า ๖๗ - ๘๗ |
|
อายใครต่อใครการต่อต้านการสืบทอดอำนาจเผด็จการ โดยการเรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีนั้น ได้เริ่มรณรงค์ต่อต้านอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๓๕ เป็นต้นมา เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่ปรากฏว่า ผู้ที่ร่วมต่อต้านนั้น ไม่มีผู้ใด มีตำแหน่งทางการเมืองเลย เป็นประชาชนธรรมดาๆ ไม่ว่าจะเป็น ครูประทีป สคส. (สมาคมครูเพื่อสังคม) อาจารย์โคทม อารียา อาจารย์วิฑิต มันตราภรณ์ จาก ครป. นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล จาก สนนท. หรือ เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ผมไปเยี่ยมเรืออากาศตรีฉลาด ที่อดข้าวอยู่หน้ารัฐสภา พบครูประทีปและคณะ แต่งชุดขาว อดข้าวประท้วง ร่วมกับเรืออากาศตรีฉลาด ผมรู้สึกอายเรืออากาศตรีฉลาด อายครูประทีป และคนอื่นๆ ที่เอาจริงเอาจัง กับการแก้ปัญหาทางการเมือง ทั้งๆที่ไม่ใช่นักการเมือง แล้วนักการเมืองอย่างผมล่ะ จะไม่ทำอะไรเลยหรือ มีตำแหน่ง ส.ส.มีเงินเดือน มีเครื่องแบบ มีเกียรติยศ ไปไหนมาไหน พบใคร อย่างน้อยเขาก็เรียก "ท่าน ส.ส." ยังไม่ได้ร่วมต่อสู้ ยับยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการเลย ปล่อยให้ชาวบ้านธรรมดาๆ เขาสู้เอาๆ แล้วเรานั่งดูเฉยๆ ที่จริงก็ไม่ได้อยู่เฉย ส.ส.พวกเราพรรคฝ่ายค้าน ๔ พรรค พยายามผลักดัน ช่วยกันแก้รัฐธรรมนูญ ในสภา เสนอไปตั้งนานแล้ว ก็ไม่มีวี่แววว่า จะแก้ได้สำเร็จ เพราะประธาน และรองประธาน สภาผู้แทน เป็นคนของรัฐบาล มีส.ส.หนุน ๑๙๕ เสียง มากที่สุดแล้ว ยังมีวุฒิสมาชิกอีก ๒๗๐ เสียง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะแก้ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง หรือประเด็นอื่นใดก็ตาม แทบจะแก้ไม่ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเห็นชัดว่า องค์กรเอกชน ที่เคลื่อนไหวนอกสภานั้น เป็นเรื่องถูกต้อง และมีทางสำเร็จ ขอให้ประชาชนมาร่วมเป็นจำนวนมากๆ ใครๆก็หยุดยั้งพลังมหาชนไม่ได้ เรืออากาศตรีฉลาด ครูประทีป ครป. สนนท. กลุ่มคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆ และกลุ่มบุคคลอื่นๆ ที่ร่วมกันสู้ เป็นลำดับมานั้น ยังไม่ได้รับความร่วมมือ จากประชาชนมากเท่าที่ควร ไม่มากพอที่ พลเอกสุจินดา จะยอมปฏิบัติตามคำเรียกร้องได้ และ เรืออากาศตรีฉลาดคงตายแน่ ซึ่งเขาเคยบอกฝากใครๆ มาถึงผมว่า มีผมคนเดียวเท่านั้น ที่จะช่วยเขาได้ ผมคิดถึงเรื่องนี้อยู่เป็นอาทิตย์ อยากจะเอาตัวเองเข้าเสี่ยง ร่วมต่อสู้ให้รู้ผล เห็นดำเห็นแดงกัน ในเร็ววัน แทนที่จะปล่อยให้ยืดเยื้อมาแรมเดือนแล้ว ไม่มีทีท่าว่าจะสำเร็จ ผมวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมือง แล้วคิดอยู่คนเดียว ไม่บอกให้คุณศิริลักษณ์ ภรรยาผมทราบ เพราะถ้าเธอไม่เห็นด้วย แล้วผมดื้อดึงทำไป ก็จะผิดใจกัน ผมคิดทบทวนไปมาหลายตลบว่า จะเอาตัวเอง เข้าเสี่ยงดีไหม ผมเคยร่วมคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ๒๕๒๖ ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งพยายามจะแก้ ให้เป็นเผด็จการยิ่งขึ้น ด้วยการจะให้ข้าราชการประจำ แม่ทัพนายกอง สามารถเป็นรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี ในขณะที่ยังเป็นข้าราชการประจำได้ ตอนนั้น ผมเป็นพันเอกธรรมดาๆคนหนึ่ง ลาออกจาก เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแล้ว เราสามารถคัดค้านได้สำเร็จ เรืออากาศตรีฉลาด และอีก หลายต่อหลายคน ก็ช่วยกันคัดค้าน ต่างคนต่างทำ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน เมื่อเคยสู้มาแล้ว ตอนนี้มีความจำเป็น จะไม่สู้เห็นทีจะไม่ได้ ผมจึงตัดสินใจ ขอร่วมกันสู้อีกสักที เป็นไรเป็นกัน แม้จะยากอย่างยิ่ง ก็ต้องสู้ ผมติดตามข่าวคราวมาตลอด ไม่มียุคใดสมัยใด ที่คนไทยพร้อมเพรียงกันต่อสู้ทางการเมือง เหมือนครั้งนี้ กลุ่มชนทุกสาขาอาชีพ ลุกขึ้นสู้พร้อมๆกัน แม้จะมีเพียงมือเปล่าๆ แต่หากรวมกำลังกัน ให้เหนียวแน่น และมีจำนวนมากพอ ต้องชนะแน่ๆ เป็นพลังที่มีความถูกต้องชอบธรรม เป็นพลังที่บริสุทธิ์ ทำเพื่อประเทศชาติ ไม่ใช่เพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ครั้งนี้ประชาชนตื่นตัว เรื่องประชาธิปไตยมาก เห็นพิษภัยของเผด็จการได้ชัดว่า ประเทศไหน ก็ประเทศนั้น หากเป็นเผด็จการติดต่อกัน ไม่กี่ปีก็พัง ประชาชนทราบดีว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ และได้วางฐานกำลัง ที่จะสืบทอดต่อไปอีกนับสิบปี เป็นอันตรายอย่างยิ่ง แก่บ้านเมืองของเรา เมื่อประชาชนเห็นภัยเช่นนี้ หากมีใครสักคนหนึ่ง ที่ประชาชนรู้จัก และเมตตาสงสาร ได้กระโดด ลงมาเสี่ยงอย่างจริงจัง ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย คงจะมาร่วมเพิ่มเติม ทำให้การต่อสู้ บรรลุผลสำเร็จ อย่างแน่นอน หลังจากได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบแล้ว ผมจึงตัดสินใจเอาชีวิตเข้าเสี่ยง ประท้วง โดยการอดอาหาร อย่างเคร่งครัด จนกว่าพลเอกสุจินดาจะลาออก หรือผมตายไป การอดอาหารวิธีนี้ จะมีชีวิตอยู่ได้ ประมาณ ๗ วัน ซึ่งอาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้น แล้วแต่สภาพแวดล้อมและสภาพจิต วิธีที่จะให้มีชีวิตอยู่ ถึง ๗ วัน หรือนานกว่านั้น ก็ต้องปฏิบัติตามที่เขาปฏิบัติกัน คือ นั่งหรือนอนเฉยๆ พยายามไม่เคลื่อนไหว และไม่พูดจาใดๆ ส.ส.ไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ คนสำคัญอีกคนหนึ่งที่ "ร่วมกันสู้" ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ แก่หนังสือข่าวพิเศษ ฉบับ ๑๒-๑๘ มิ.ย.๓๕ ว่า "ท่านตัดสินใจอดข้าว ท่านไม่ได้บอกใคร แต่ว่า ท่านไม่ได้ตัดสินใจแบบฉับพลัน ท่านคิดมาเป็นขั้นเป็นตอนตลอด กระแสกดดันที่ท่านก็สูง หมายความว่า เมื่อคุณฉลาดออกมาอย่างนั้นแล้ว ตอนนั้น เริ่มมีคนพูดแล้วว่า จะปล่อยให้ คุณฉลาดตายหรืออย่างไร มีการพูดคุยกันว่า ก็มีคนที่พอจะมาช่วยกัน ให้การเรียกร้อง บรรลุเป้าหมาย มี พล.ต.จำลอง อยู่คนเดียว มีการพูดถึงตรงนั้น มันก็ไปขมวดปมที่ท่านว่า จะไม่ทำอะไรเลยหรืออย่างไร คนที่ไม่อยู่ในตอนนั้น ก็พูดกันไปเรื่อย ในเมื่อมันเป็นเผด็จการ ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไม พล.ต. จำลอง อยู่เฉยๆ ทำไมปล่อยให้คุณฉลาด อดอยู่คนเดียว ถ้าเราคิด มาเป็นขั้นตอน ท่านจะทำอย่างไร เพราะว่าท่านเองก็มีหลายสถานภาพ เป็นคนที่ว่า ทั่วประเทศ ยอมรับสูง ทำไมไม่ทำอะไรเลย ทำให้ท่านต้องคิดว่า ท่านจะเอาอย่างไรดีในเรื่องนี้ แล้วสิ่งหนึ่ง เราก็ไม่อยากให้คุณฉลาดเสียชีวิต สิ่งที่คุณฉลาดเรียกร้องก็ถูกต้อง ตอนนี้จะทำอย่างไร มันก็มีวิธีเดียว คืออดข้าวประท้วง เพราะว่าทำกับตัวเอง ถ้าประชาชนเห็นด้วย ก็จะออกมาเรียกร้อง ถ้าไม่เห็นด้วย ก็จบไปของท่านเอง" ๔ พฤษภาคม เป็นอีกวันหนึ่ง ที่องค์กรเอกชน และพรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันจัดการชุมนุมใหญ่ ปราศรัย คัดค้านคนนอกเป็นนายกฯ ที่สนามหลวง เวลาประมาณบ่ายสามโมง ก่อนที่จะถึงเวลาปราศรัย ครูประทีป คุณปริญญาและคณะ นัดผมให้ไปประชุม ปรึกษาหารือกัน ผมไม่กล้านัดไปที่บ้าน เพราะกลัวภรรยา ทราบข้อตกลงใจของผม หากเธอค้าน ผมคงทำไม่สำเร็จ จึงนัดพบกัน ที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ผมแจ้งการตัดสินใจของผม ที่จะประท้วงโดยการอดอาหาร อย่างเคร่งครัด ให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบ ครูประทีป และคุณปริญญา หน้าเสียอย่างเห็นได้ชัด พยายามขอร้องผมว่า อย่าเสี่ยงถึงขนาดนั้น ได้ไหม ผมบอก "ไม่ได้หรอกครับ" ถ้าครั้งนี้ต่อสู้เหยาะๆแหยะๆละก็ ไม่สำเร็จแน่ หากพลาดก็ไม่เป็นไร เพราะผมไม่มีลูกไม่มีห่วง ส่วนคุณศิริลักษณ์ ภรรยาผม ก็เลี้ยงตัวเองได้ และ เป็นนักสู้ มีจิตใจเข้มแข็งมาก ออกจากที่ประชุม ผมก็ตรงไปรัฐสภา เพื่อแถลงข่าวนี้ออกไป ให้ประชาชนทราบ
บรรยากาศของการชุมนุม หนังสือพิมพ์รายวัน และนิตยสารต่างๆ ได้แพร่ข่าวไปอย่างละเอียด นิตยสารดอกเบี้ย รายสัปดาห์ ฉบับพิเศษ "ประชาธิปไตยเลือด" ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ ภายหลังเหตุการณ์ สงบลงแล้ว ได้รายงานว่า "๔ พฤษภาคม ๒๕๓๕ เวลา ๒๑.๐๐ น. นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นเวทีปราศรัย เป็นคนต่อมา และบอกว่า ตนได้เตรียมซักฟอก นโยบายรัฐบาลในสภา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ได้ขึ้นพูดบนเวที ด้วยท่าทางที่จริงจังว่า ฟ้าดินที่วิปริตอยู่ทุกวันนี้ เพราะคนชั่วครองเมือง มันเจ็บปวด หลายคนรู้ว่า ตนฝากแผ่นดิน ไว้ในมือเขา ตนเคยแสดงให้ดูแล้ว เพราะฉะนั้น เราต้องกวาดล้างให้สิ้นไป เพื่อนแท้ๆ ตนยังบอกให้หลีกไป เพื่อให้คนนี้ขึ้น ซึ่งตนจะไม่ว่าแม้แต่น้อย ถ้าตนเจ็บปวดคนเดียว แต่ประชาชนทั้งประเทศ ต้องเจ็บปวดด้วย จึงไม่มีทางอื่นอีกแล้ว พล.อ.สุจินดา ต้องออกไป ถ้าไม่ออกไป ตนจะอยู่ได้อย่างไร "ผมก็อยู่ไม่ได้" เราให้เวลาพลเอกสุจินดา แค่วันที่ ๖ พ.ค.นี้ ขอให้พี่น้องประชาชนเป็นพยาน เพราะทุกคนก็คงตระหนักดีว่า เรากำลังต่อสู้กับเผด็จการ เป็นการเสี่ยง แต่เราก็ต้องสู้ พอมาถึงช่วงนี้ ปรากฏว่า มีประชาชนลุกขึ้นมาตะโกนว่า "สู้มัน ๆ ๆ ๆ" พล.อ.ชวลิต ยังกล่าวอีกว่า ตนเป็นคนปลุกผีขึ้นมาจากโลง ตนก็จะต้องเป็นคนปราบผี ตัวนั้นเอง เราต้องร่วมมือกันต่อสู้ จากนั้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรม ได้ขึ้นปราศรัย เป็นคนสุดท้าย ในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมือง โดยกล่าวว่า การพูดครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตตน ตนไม่มีทางเลือก และบอกประชาชนว่า เสร็จจากนี้แล้ว ขอให้ทุกคนกลับบ้านพักผ่อน เพื่อกลับมาพบกันใหม่ ที่หน้ารัฐสภา วันที่ ๖ พ.ค. พร้อมกับได้อ่านจดหมาย ลาตายภายใน ๗ วัน ของตน โดยอดอาหาร เรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดาลาออก ก่อนจะจบลง ด้วยเสียงปรบมือกึกก้อง ยาวนาน และประชาชนได้เฮโลไปยังหน้าเวที เพื่อจะได้เห็นหน้า พล.ต.จำลอง ชัดๆ การปราศรัยที่ท้องสนามหลวง จบลงอย่างสันติ ตอนสี่ทุ่ม หลังจากหัวหน้าพรรคการเมือง ทั้ง ๔ พรรค ขึ้นไปยืนบนเวที เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี ปิดการปราศรัย ต่อจากนั้น ตัวแทนองค์กร ประกอบด้วย ครป. สนนท. กลุ่มสหพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย ประธานสภาองค์การครูเพื่อสังคม กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ประธานกลุ่มองค์กรสลัม คณะบริหาร กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย ๑๐ สถาบัน และกลุ่มประชาชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สุจินดา ที่สวนรื่นฤดี โดยเรียกร้องให้ลาออก จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี" และอีกตอนหนึ่ง รายงานว่า .. "ฝ่าย พล.อ.สุจินดา ยืนยันกับผู้สื่อข่าวอย่างแข็งขันว่า ไม่ลาออก แม้ว่า จะมีแรงกดดันถึงที่สุด ทางด้าน พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รมช.มหาดไทย บอกว่า เตรียมพร้อม ในการรักษาความสงบ ที่สนามหลวง โดยมีกองร้อยปราบจลาจล จาก ๑๙๑ บก.น.เหนือ ใต้ ธนฯ อย่างละ ๒ กองร้อย และ กองปราบฯ อีก ๑ กองร้อย เตรียมพร้อมอยู่ในที่ตั้ง สามารถเคลื่อนสู่สนามหลวงได้ทันที ฝ่ายอธิบดีกรมตำรวจ กล่าวว่า ตำรวจจัดกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย ไว้พร้อมทุกเมื่อ วันเดียวกัน สโมสรนักศึกษาและชมรมพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องให้นายกฯ ต้องมาจากการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกมาจากกระบวนการเลือกตั้ง โดยประชาชน และเป็นตัวแทนของประชาชน ในสาขาต่างๆ มีอำนาจเฉพาะ กลั่นกรองกฎหมาย และให้ประธานรัฐสภา มาจากประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงเห็นควรผลักดัน ให้สภาผู้แทนฯ เร่งพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน คณะกรรมการประสานงาน เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ภาคเหนือ ก็ได้ออกแถลงการณ์ ในวันเดียวกันนี้ว่า ขอให้นายกฯ ยึดมั่นในสัจจะ เพราะเด็กเลี้ยงแกะ ยังน่าอภัยได้ แต่ผู้นำรัฐบาล จะต้องมีสัจจะ เป็นแบบอย่างมาตรฐานทางศีลธรรม ของสังคมไทยต่อไป ขอให้รัฐมนตรี ที่ถูกยึดทรัพย์ ลาออกจากตำแหน่ง ขอให้เปิดหูเปิดตาประชาชน ให้ได้รับรู้ข่าวสารหลายด้าน และขอให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นประชาธิปไตยด้วย" หนังสือพิมพ์รายงานข่าวว่า "เกิดเหตุอาถรรพ์สยอง ภายในรัฐสภา หลังจาก พล.ต.จำลอง ประกาศ อดอาหารประท้วง มีลางร้ายติดต่อกัน ๒ ครั้งซ้อน คือ ครั้งแรก ฝาครอบไฟห้องโถงรัฐสภา ตกลงมาแตกกระจาย โดยไม่ทราบสาเหตุ และห่างกันไม่นานนัก เมื่อเวลาประมาณ ๑๙.๐๐น. น.ส.พรพิสัย แก้วก่า ข้าราชการรัฐสภา ได้กระโดดตึกฆ่าตัวตาย อย่างน่าพิศวง ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์ ต่างจับกลุ่ม วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงลางร้ายที่เกิดขึ้น เพราะเท่าที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นในรัฐสภา มักจะมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง ทางการเมือง ครั้งใหญ่ทุกครั้ง เช่น สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ก็เกิดเหตุการณ์ อีกายกฝูง จิกตีกันเอง หรือไล่จิกตีนกฮูก ต่อมาก็มีการยุบสภา และในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ก็มีฝูงผึ้งเข้าทำรัง ใต้หลังคารัฐสภาถึง ๒ รัง ต่อมาไม่นาน ก็เกิดเหตุการณ์ เมื่อวันที่ ๒๓ ก.พ.๒๕๓๔" เมื่อปราศรัยที่สนามหลวงเสร็จ ผมไม่กลับบ้าน ตรงไปนั่งไปนอนอดอาหาร หน้ารัฐสภา บริเวณที่ติดกับโรงช้าง เขาดิน "ผมนั่งอยู่ติดกับนักมังสวิรัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก แข็งแรงที่สุดในโลก คือ ช้าง เรามองไม่เห็นกัน เพราะมีกำแพงกั้น เขาเงียบ ไม่รบกวนผมเลยครับ" ผมเขียนป้าย ติดประกาศเอาไว้ วันที่ ๕ พฤษภาคม วันฉัตรมงคล เป็นวันหยุดราชการ มีคนไปร่วมที่หน้ารัฐสภามาก แม้จะยังไม่ถึงวันนัด วันที่ ๖ พฤษภาคมก็ตาม หลายท่านแวะไปเยี่ยมผม ด้วยความเป็นห่วง คุยกับผม ผมโต้ตอบโดยใช้วิธีเขียน ไม่พูด เพื่อออมพลังงานให้มากที่สุด ผมดีใจที่นักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านหนึ่ง ที่ผู้คนยอมรับนับถือกัน ทั้งบ้านทั้งเมือง ได้ไปเยี่ยมผม เป็นนักต่อสู้ ที่มีอุดมการณ์สูงส่ง ผมเขียนเล่าความในใจให้ฟังว่า . "คุณ ครับ ขอบคุณอย่างยิ่ง ที่กรุณามาเยี่ยม ผมตั้งใจไว้เงียบๆว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ถ้าเป็นผลสำเร็จ หากมีโอกาสเป็นรัฐมนตรี รองนายกฯ หรือนายกฯ นอกจากจะไม่รับตำแหน่งใดๆ แล้ว ผมจะลาออกจากตำแหน่ง หัวหน้าพรรคพลังธรรมด้วย ผมพบความจริงว่า การต่อสู้ครั้งนี้ ถ้าผมไม่เป็นหัวหน้าพรรค ผมจะต่อสู้ได้ดีกว่า ส่วนเรื่องที่บางท่าน อยากจะเห็นผมเป็นหัวหน้าพรรคต่อไป จนกระทั่ง มีเสียงข้างมาก ได้เป็นนายกฯนั้น ก็มีทางเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะเอาพลังเงียบ ไปชนะพลังเงิน ในจังหวัดต่างๆได้ ผมไม่เคยใฝ่ฝัน จะเป็นนายกรัฐมนตรีเสียด้วย ผมได้ตัดสินใจ ตั้งแต่วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕ วันประกาศผลการเลือกตั้งว่า ผมคงพอแค่นี้ ถ้ามีการยุบสภา หรือสภาหมดวาระ จะมีการเลือกตั้งใหม่ ผมอาจจะไม่สมัครรับเลือกตั้งอีก ผมต้องการใช้ชีวิตที่เหลือ ในการปฏิบัติธรรม เสริมสร้างคุณธรรม ให้กับคนรุ่นใหม่ และช่วยสังคม ตามที่ผมริเริ่มไว้แล้ว จะเป็นร้านทึ่ง หรือบริษัทเท่าทุน ก็ตาม ผมยังไม่บอกใคร จนกว่าจะถึงเวลาอันสมควร ถ้าผมไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรค และไม่ได้เป็น ส.ส. หากมีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมือง ผมอาจจะมีส่วนช่วยอีกก็ได้ และช่วยได้ดีกว่า เพราะไม่มีใครระแวงเป็นอันขาดว่า ผมทำเพื่อความใหญ่โตของผม ขอบคุณ ที่ได้ช่วยเหลือตลอดมา ถ้ารอดชีวิต เราคงได้ร่วมมือกันอีก จำลอง" นักหนังสือพิมพ์อาวุโสท่านนั้น ตอบข้อเขียนของผม โดยให้ความเห็นว่า ผมต้องสมัคร รับเลือกตั้งอีก เพื่อรับใช้ประชาชน ผู้ที่เป็นห่วงมากที่สุด คือ หมอและพยาบาลชั้นผู้ใหญ่ของ กทม. ได้รุดไปเยี่ยมผมเป็นคณะ ขอร้องให้ได้มีโอกาส ตรวจรักษาพยาบาลผม ขณะผมอดอาหาร ผมได้เขียนขอบคุณทุกท่าน และแจ้งว่า ไม่ได้หยิ่งหรือดื้อดึง ขอทำตามที่ตั้งใจไว้ แล้วผมก็ชี้ไปที่ป้ายอีกแผ่นหนึ่ง ที่แปะติดกำแพง ด้านหลังผม "ไม่ว่าผมจะอ่อนเพลียแค่ไหน พวกเราต้องใจแข็ง แข็งพอที่จะเห็นผม ฟุบไปต่อหน้าต่อตา อย่าให้ใครหวังดี มาให้กลูโคส เครื่องดื่ม น้ำเกลือ มาตรวจร่างกาย มารักษาพยาบาล หรือหามผม ไปส่งโรงพยาบาล" ขณะอดอาหารอยู่นั้น ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แวะเวียนไปให้กำลังใจ นักศึกษาไปจากหลายสถาบัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้อยู่ไกล ก็รีบไปสนับสนุน กราบเรียน ท่านพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่เคารพรัก ผม นายจักรวาล วรรณาวงค์ นายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หวังว่าท่านคงจะจำ กระผมได้ดี กระผมขอฝากความหวัง และเป็นกำลังใจต่อท่าน ในการต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ ให้ถึงที่สุด กระผมอยู่ทางนี้ ได้จัดแสดงพลังประชามติ ในนามขององค์การนักศึกษาฯ ไปหลายครั้ง ตอนนี้ประชาชนกำลังชุมนุม อยู่ที่ข่วงประตูท่าแพ พร้อมที่จะเป็นกำลังใจให้ท่าน และประชาชน ที่รักและศรัทธา ในระบอบประชาธิปไตย จะคอยปกป้องชาติบ้านเมือง อยู่ตลอดเวลา เราเชื่อมั่นและศรัทธา พลังประชาธิปไตยครับ นายจักรวาล วรรณาวงค์ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเยี่ยมผมตอนบ่าย สนับสนุน การเรียกร้อง ๓ ประการ คือ ให้พลเอกสุจินดา ลาออก จะลาในสภา หรือนอกสภาก็ได้ ถ้าไม่ลาออก ก็ขอให้ส.ส. ๕ พรรค ที่สนับสนุนพลเอกสุจินดา ประกาศเลิกสนับสนุน และขออย่าได้คิดปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นอันขาด ส.ส.ไปเยี่ยมกันหลายคน ทั้งพรรคพลังธรรม และพรรคอื่นๆ ยิ่งเย็น คนก็ยิ่งไปร่วมมากขึ้น เหมือนมีงานมหกรรม ค่ำวันที่ ๕ พฤษภาคม หนังสือพิมพ์ ถามพลเอกสุจินดา ในงานสโมสรสันนิบาต ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในวัน ฉัตรมงคล พลเอกสุจินดาตอบว่า ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เมื่อนักข่าวถามว่า จะใช้วิธีลาออก หรือปล่อยให้ผมตาย นายกฯกลับย้อนถามนักข่าวคำถามเดียวกัน ทั้งยังย้ำว่า ถ้ามีคนอดข้าว แล้วรัฐบาลต้องออก ต่อไปรัฐบาลก็ต้อง ออกกันทุกวัน และก็มีคนอดข้าวกันทุกวัน นอกจากนี้ยังพูดว่า กระแสคัดค้านนี้ ภายในไม่กี่วัน ก็คงจะยุติ ตนมั่นใจอย่างนั้น และกล่าวอีกว่า ตนไม่นิยมใช้ความรุนแรง และได้สั่งการไป ทั้งทหารและตำรวจว่า อย่าใช้ความรุนแรง เป็นอันขาด เราคนไทยด้วยกัน ไม่มีประโยชน์อะไร ที่จะต้องใช้ความรุนแรง ทหารก็ไม่ได้ออกมา เป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่จะดูแลความปลอดภัย เป็นธรรมดา ๖ พฤษภาคม วันนี้เป็นวันสำคัญที่ พลเอกสุจินดา นายกรัฐมนตรี จะแถลงนโยบายในสภา เป็นวันที่องค์กรเอกชน พยายามเชิญชวนประชาชน ไปรวมตัวกันให้มากที่สุด พลเอกสุจินดา ได้ประสบ พบเห็นผู้คนมหาศาล จะได้ใจอ่อน ยอมลาออก ตามคำเรียกร้อง ประชาชนไปยืนออกันแน่นขนัด หน้ารัฐสภา ตั้งแต่แปดโมงเช้า ปรากฏว่า พลเอกสุจินดา เลี่ยงไปเข้าด้านหลังรัฐสภา เมื่อประชาชน ไม่มีโอกาสพบหน้านายกฯ ก็ไม่เหงา เพราะมีการปราศรัยตลอดเวลา โดยตั้งเวทีใหญ่ อยู่ตรงหน้าประตูรัฐสภาพอดี ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เข้าไปในสภาได้สักพัก ก็ทยอยกันออกมาปราศรัย ให้ประชาชนฟัง คุณทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์ เล่าว่า เมื่อนายกฯ เริ่มแถลงนโยบาย ส.ส.พรรคฝ่ายค้านทุกคน ก็เดินออกนอกห้องประชุม เป็นการประท้วง ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ทั้ง ๔ พรรค พอนายกฯ แถลงเสร็จ จึงกลับเข้าไปใหม่ หัวหน้าพรรค และ ส.ส.คนสำคัญ ของพรรคฝ่ายค้าน ผลัดกันขึ้นปราศรัย โดยทั่วกัน การชุมนุนของพวกเรา ที่ไหนก็ที่นั่น มักจะไม่เครียด มีเพลงมีดนตรี คั่น สร้างความบันเทิงเริงรมย์ ให้แก่ผู้ฟัง วันนี้ "บิ๊กสุ" คือ สุรชัย จันทิมาธร หรือ หงา คาราวาน ก็มาด้วย ร้องเพลงที่แต่ง ใหม่เอี่ยมชื่อ "ดาวเผด็จการ" ท่ามกลางเสียงปรบมือ และโห่ร้อง อย่างเซ็งแซ่ อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ปราศรัยกับ ผู้ร่วมชุมนุมว่า เมื่อตอนเช้าวันเดียวกันนี้ สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียกประชุม คณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณา กรณีนายกฯ มาจากคนนอก และเห็นพ้องต้องกันว่า จะยอมให้เรืออากาศตรีฉลาด และ พลตรีจำลอง ตายไม่ได้ ในเวลาต่อมา อาจารย์นริศ ชัยสูตร ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขึ้นอ่านมติของที่ประชุม สภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนเย็น หมออุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้ขึ้นไปบนเวที เล่าให้ผู้ร่วมชุมนุมฟังว่า ผมเขียนแจ้งผู้ไปเยี่ยมว่า "ผมต้องตัดสินใจอย่างนี้ เพราะอยู่ในฐานะที่สามารถจะเสี่ยง ได้มากกว่าคนอื่น เนื่องจากไม่มีลูก ไม่มีห่วง ไม่มีพันธะผูกพันใดๆ ผมไม่ต้องการจะเป็นเยลซิน หรือคานธี ผมไม่ต้องการโด่งดัง ผมเป็นผม จำลอง ศรีเมือง" หมออุดมศิลป์ ยังได้อ่าน จดหมายของผม ทุกคำ ให้ผู้ชุมนุมฟัง "๖ พ.ค.๑๗.๐๐ น. ผมไม่วิตกอะไร ทุกเรื่องที่ตัดสินใจ เล็งในเกณฑ์ต่ำเสมอ คราวนี้ก็นึกว่า "ตาย" หากไม่ตาย คือ เป็นผลพลอยได้เพิ่มเติม อดอาหารแบบเคร่งอย่างนี้ ยากมาก แม้ผมจะกินข้าวมื้อเดียว ติดต่อมา ๑๓ ปีแล้วก็ตาม พออดได้ ๒ วัน ก็รู้สึกอ่อนเพลีย บางครั้ง รู้สึกหวิวๆ ตาลาย เวลาเดินไปรถสุขา ต้องค่อยๆย่าง เกรงว่า จะล้มตึงก่อนเวลา และผมไม่ยอมให้ใครพยุงด้วย ซึ่งเป็นการแสดงความอ่อนแอ อยากอดเอง ก็ต้องพึ่งตัวเอง เรียนยืนยันอีกทีครับ ไม่อยากใหญ่ ไม่อยากดัง ไม่อยากเป็นเยลซิน ไม่อยากเป็นคานธี วันนี้ผมยอมเสียมารยาท นั่งสมาธิอย่างเดียว เป็นส่วนใหญ่ ไม่ทักทายคนมาเยี่ยม เพื่ออยู่นานขึ้นหน่อย ผมห้ามใครพัดให้ เพราะจะดูอ่อนแอเกินไป จำลอง" ประมาณหกโมงเย็น ครูประทีป ได้ขึ้นปราศรัย และส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อ พลเอกสุจินดา ขอให้ลาออก จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยกลุ่มผู้ชุมนุม จะขอฟังคำตอบหน้ารัฐสภา ปรากฏว่า พลเอกสุจินดา ได้ออกจากรัฐสภาไปแล้ว เพราะประธานรัฐสภา เห็นท่าไม่ดี รีบรวบรัดปิดประชุม ก่อนหกโมงเล็กน้อย แทนที่จะให้มีการอภิปรายถึงสองยาม ตามที่ตกลงกันไว้ สร้างความไม่พอใจ ให้กับส.ส. ในสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน และยังสร้างความโกรธแค้น ให้กับผู้ที่ไป ร่วมชุมนุม หน้าสภาอีกด้วย ได้มีผู้นำจดหมายเปิดผนึก ของมหาวิทยาลัยเอกชน ๕ แห่ง ขึ้นไปอ่านบนเวที มหาวิทยาลัยทั้ง ๕ นั้น ประกอบด้วย สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก) มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยหอการค้า มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้มีจดหมายเปิดผนึก เรียกร้อง ให้พลเอกสุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง พร้อมกับให้สถาบันนิติบัญญัติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้ง ประมาณสามทุ่ม ปรากฏรายงานข่าวว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร จำนวนกว่า ๒๐๐ นาย พร้อมอาวุธครบมือ ไปประจำบริเวณสวนรื่นฤดี พร้อมกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ อีกจำนวนมาก เพื่อควบคุมสถานการณ์ ในบริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นบ้านพักของ พลเอกสุจินดา คราประยูร
|
|
จากหนังสือ .. ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * อายใครต่อใคร *
หน้า ๖๗-๘๗ |