๑๑. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๓๙ |
|
รัฐบาลช่วยการชุมนุม พลเอกสุจินดา นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้เรียกประชุมผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัดว่า จะต้องระงับยับยั้งไม่ให้มีการชุมนุม และผู้ว่าฯ กทม. จะต้องไม่สนับสนุนผู้ชุมนุม เช่น การให้ใช้รถสุขาเคลื่อนที่ เป็นต้น หากไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จะปลดทั้งผู้ว่าฯ ต่างจังหวัด และผู้ว่าฯ กทม. เมื่อข่าวนี้แพร่สะพัดออกไป ก็มีการวิจารณ์กันทั่วบ้านทั่วเมือง โดยเฉพาะประเด็นที่จะปลด ผู้ว่าฯกทม. ผู้รู้ทางกฎหมาย แนะให้นายกฯ ไปอ่านกฎหมายเสียใหม่ คือ ระเบียบการบริหารราชการ กรุงเทพมหานคร ปี ๒๕๒๘ จะปลดผู้ว่าฯ กทม.ได้ ในกรณีที่ประพฤติผิด เสียหายอย่างร้ายแรง การสนับสนุนรถสุขา เป็นเรื่องมนุษยธรรม มีการต่อว่านายกฯ เรื่องขาดมนุษยธรรม หากปลดผู้ว่าฯ กทม. ในเรื่องนี้ ผู้ว่าฯ กทม.นั้น คนกรุงเทพฯ เขาเลือกมา นายกฯ จะไปหาเรื่องปลดได้อย่างไร เมื่อถูกใครๆต่อว่ามากๆเข้า ทางฝ่ายรัฐบาลก็ออกข่าว โดยพลอากาศเอกอนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า อยู่ดีๆ จะไปปลดผู้ว่าฯ กทม.ไม่ได้ และเรื่องการเอารถสุขา ไปบริการประชาชนที่มาชุมนุม ก็ไม่ห้าม ผู้อำนวยการสำนักรักษาความสะอาด กทม. บอกกับผู้สื่อข่าวว่า รัฐบาลไม่ขัดขวาง เรื่องรถสุขาก็จริง แต่การที่ผู้ร่วมชุมนุม จะขอเช่าไปใช้ ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคมนั้น รัฐบาลได้เช่าตัดหน้าไปหมดแล้ว ต่อมามีข่าวว่า รัฐบาลได้เอารถสุขา ไปเก็บไว้ที่โรงเรียนนายร้อย จปร.เดิม แล้วย้ายไปเก็บที่ สนามกีฬากองทัพเรือ ต่อมาก็ย้ายอีกครั้งหนึ่ง ไม่ทราบว่า เอาไปเก็บไว้ที่ใด ในการชุมนุมวันก่อนๆ รัฐบาลก็แกล้ง เอารถสุขาไปจอดไว้ที่ กองกำลังรักษาพระนคร ๔ คัน มาครั้งหนึ่งแล้ว ขณะที่กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย พากันไปเยี่ยมเรืออากาศตรีฉลาด ที่นั่งอดข้าวต่อ อยู่ที่ข้างสำนักงาน กพ. ไม่ไกลจากทำเนียบรัฐบาลนัก ประชาชนกลุ่มหนึ่ง ถามครูประทีปว่า การชุมนุมในวันที่ ๑๗ ที่สนามหลวง รัฐบาลชิงเช่ารถสุขา ไปหมดแล้ว จะทำอย่างไร ครูประทีป ตอบว่า เราก็ขุดกันเอง เสร็จงานก็กลบให้เรียบร้อย หรือไม่ก็หาถุงพลาสติกเตรียมไว้ ประชาชนเมื่อทราบเรื่องรถสุขา ก็พากันเคียดแค้นรัฐบาล บางคนให้ความเห็นว่า นอกจาก จะให้สถานีวิทยุโทรทัศน์ งดออกข่าวฝ่ายชุมนุม เป็นการปิดหู -ปิดตาประชาชนแล้ว ยังแกล้งเรื่อง รถสุขา เป็นการปิดก้นประชาชนอีกด้วย ฝ่ายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็แถลงกับผู้สื่อข่าวต่อมาว่า ทางราชการ มีความจำเป็น จะต้องยืดเวลา การจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ออกไปอีก จนถึงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม เพราะฉะนั้น ประชาชนจะจัดชุมนุมที่สนามหลวง ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ไม่ได้ เพราะงานยังไม่เลิก ผู้สื่อข่าวไปถามพระผู้ใหญ่ ท่านก็ตอบตรงๆว่า ท่านจัดแค่วันที่ ๑๖ เท่านั้น ไม่ยืดเวลาออกไป รัฐบาลออกข่าวภายหลังว่า กองทัพบกจะเป็นฝ่ายจัดงานต่อเอง สมาพันธ์ประชาธิปไตย ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะได้กำหนดวันไปแล้ว โดยเลือกวัน ที่สนามหลวงว่าง เมื่อรัฐบาลจงใจแกล้ง ก็ไม่เป็นไร เราก็ต้องจัดชุมนุมในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ตามเดิม กองทัพบก ยังได้ริเริ่มจัดดนตรีต้านภัยแล้งขึ้นมา อย่างกระทันหัน จัดในวันเดียวกันคือ ๑๗ พฤษภาคม ที่สนามกีฬากองทัพบก แห่งหนึ่ง และที่วงเวียนใหญ่ อีกแห่งหนึ่ง เพื่อดึงประชาชน ไปให้มากที่สุด จะได้มีคนไปชุมนุมที่สนามหลวงไม่มากเท่าไร ดนตรีที่กองทัพบกจัด เป็นดนตรี คณะที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และให้ประชาชนชมฟรี ไม่เสียเงิน เป็นที่น่าสังเกตว่า ในวันที่ ๑๖ พฤษภาคม สถานีโทรทัศน์ทุกสถานี ถึงกับลงทุนโฆษณา เป็นตัวอักษรวิ่ง เชื้อเชิญ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ให้ประชาชนไปชมดนตรีสู้ภัยแล้ง ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ให้จังหวัดต่างๆ เกณฑ์ประชาชน ไปรวมตัวกันที่สนามหลวง เพื่อหวังจะเอา เกลือจิ้มเกลือ เอาประชาชนไปชนกับประชาชน เมื่อผู้สื่อข่าวถาม สมาพันธ์ประชาธิปไตย ตอบว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี เพราจะได้ชักชวนพี่น้อง ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ให้ร่วมฟังการปราศรัย จะได้นำความจริง ไปเล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ที่กรุงเทพฯ เขาต่อต้านพลเอกสุจินดา เพื่ออะไร รัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จะเสียท่า เลยงด ไม่เอาประชาชนมาชนกัน กลัวจะถูกกลืนหมด รัฐมนตรีร่วมคณะ ยังคงต่อว่าผู้ร่วมชุมนุม ด้วยคาถาเดิมๆ คือหาว่าเป็นผู้ไม่หวังดี ทำไมไม่รอดู ผลงานของ พลเอกสุจินดาก่อน มีอะไร ก็ให้ไปพูดกันในสภา ทำไมต้องมาเคลื่อนไหวนอกสภา ข้างฝ่ายผู้มีอำนาจก็ฮึ่มๆ บอกว่า การชุมนุมหากเกิดอะไรขึ้น จะใช้กำลังเข้าปราบปราม ขั้นเด็ดขาด ขณะเดียวกัน สถานีวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง ก็แจ้งเตือนประชาชนว่า อย่าไปร่วมชุมนุม ที่สนามหลวง ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่รัฐบาล ช่วยให้มีผู้ไปร่วมชุมนุม เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย สมาพันธ์ประชาธิปไตย ได้วิเคราะห์อย่างละเอียดแล้ว ขอขอบคุณ ที่รัฐบาลได้ช่วยเหลืออีกครั้ง คงเกรงว่า จะมีผู้ไปชุมนุมไม่มากพอ
|
|
จากหนังสือ .. ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * รัฐบาลช่วยการชุมนุม *
หน้า ๑๓๙ |