๑๔. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๖๗ |
|
นองเลือดหลังถูกจับ ผมถูกจับ ประมาณบ่ายสามโมง ของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ดังที่เล่าแล้วในตอนแรก นึกในใจว่า การชุมนุม คงสิ้นสุดกันแค่นั้น เมื่อจับผมแล้วก็แล้วกัน ผมถูกขัง ไม่รู้เรื่องอะไรเลย เข้าเฝ้าคืนวันที่ ๒๐ ออกโทรทัศน์พร้อมกับพลเอกสุจินดาแล้ว ก็ยังไม่รู้อะไรอยู่ดี กลับไปนอนที่ กองพันสารวัตรทหารอากาศ ดอนเมืองอีกคืน ก็ไม่รู้อะไรอีกเหมือนกัน มารู้เรื่องเอาตอนเช้า วันที่ ๒๑ กลับไปบ้าน หลายคนเล่าให้ฟัง จึงทราบ ผู้คนถูกทหารยิงตายมากมาย หลังจากที่ผมถูกจับไปแล้ว บริเวณที่สูญเสียมากที่สุด ไปเกิดที่โน่น แถวหน้าโรงแรมรอแยล และหน้ากรมประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้น ยังถูกยิงตายในที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งผมไม่คิดว่า มันจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขนาดนั้น หนังสือข่าวพิเศษฉบับ บันทึกเลือด พฤษภาทมิฬ ได้สัมภาษณ์ อดีตนายทหารระดับสูง ในกองทัพบก ซึ่งได้แสดงความคิดเห็นว่า การจับพลตรีจำลองไป ด้วยแนวคิดที่ว่า เมื่อม็อบขาดหัวขบวน ก็จะสลายไปเอง เป็นแนวคิด ที่ผิดพลาด เพราะอารมณ์ของฝูงชน ไปไกลเกินกว่าจะหยุดยั้งได้แล้ว ม็อบที่ไร้หัวหน้า น่ากลัวกว่าหลายเท่า แรงระเบิดของอารมณ์ฝูงชน เป็นไปอย่างไร้ทิศทาง และไร้การควบคุม อีกต่อไป เรื่องที่จะสรุปต่อไปนี้ ได้จากคนอื่นเล่าให้ฟังบ้าง หาอ่านจากหนังสือต่างๆบ้าง เพราะผมไม่ได้อยู่ ในเหตุการณ์ นำมาบันทึกรวบรวมไว้ เพื่อให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตอนประมาณบ่ายสี่โมง หลังจากที่ทหารเข้ากวาดล้าง บริเวณสะพานผ่านฟ้า ซึ่งผมและหลายๆคน ถูกจับไปแล้ว ผู้ร่วมชุมนุม ก็กระจัดกระจายไป ต่อจากนั้น ก็มีผู้มาร่วมชุมนุมเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ได้รวมอยู่จุดเดียว เพราะทหารเข้ามาตรึงกำลัง และปิดทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เกือบทุกด้าน จึงไปรวมกันอยู่หน้าโรงแรมรอแยลบ้าง ใกล้สี่แยกกระทรวงเกษตรบ้าง และ ใกล้อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย เยื้องร้านอาหารศรแดง เลยไปจนถึงสำนักงาน สลากกินแบ่งรัฐบาล กรมประชาสัมพันธ์ และบางลำพู แต่ละจุด ยิ่งเย็นลง ก็มีคนมาร่วมชุมนุมมากขึ้นๆ ในระยะเวลาเดียวกันนั้น พรรคฝ่ายค้าน ๔ พรรค ได้แถลงข่าวที่โรงแรมสยามซิตี้ มีอยู่ด้วยกัน ๔ ข้อ คือ ๑. ให้รัฐบาลยุติใช้ความรุนแรงต่อประชาชนในทันที ไม่ว่าโดยวิธีการใดๆ ๒. ให้รัฐบาลยุติการยั่วยุ ยุติการปิดกั้น การเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ตลอดจนยุติการบิดเบือน ข้อเท็จจริง เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ได้รับรู้ข่าวสารที่ถูกต้อง ๓. พรรคร่วมฝ่ายค้าน ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง ต่อพี่น้องประชาชน และครอบครัว ของที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บทุกท่าน และขอเรียกร้องให้รัฐบาล ให้ความเป็นธรรม แก่ผู้ถูกควบคุมตัว โดยคำนึงถึงมนุษยธรรม และหลักแห่งสิทธิมนุษยชน เวลาประมาณห้าโมงเย็น ทหารไล่ประชาชน ตามตรอกซอกซอย และบริเวณวัด ซึ่งประชาชน ใช้เป็นที่หลบซ่อน เช่น วัดราชนัดดา เป็นต้น มีเสียงปืนดังเป็นระยะๆ หลังจากนั้นต่อมา ก็มีการยิงปืนขู่ ไล่ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทหารประมาณ ๒,๐๐๐ คน ผลักดันฝูงชน ไปทางกรมประชาสัมพันธ์ เวลาประมาณหกโมงเย็น ทหารที่อยู่ในถนนราชดำเนิน ก็ตั้งแถวยิงอีก ทั้งยิงขึ้นฟ้า และยิงตรงๆ ผู้คนวิ่งหนี แตกฮือออกไป แต่ไม่ถอย เมื่อเสียงปืนสงบลง ก็กลับมารวมตัวกันใหม่ แม้จะเห็นเพื่อน ถูกยิงบาดเจ็บ และเสียชีวิตไปต่อหน้าต่อตา ก็ยิ่งกล้าหาญ เกินกว่าที่ผู้มีอำนาจ จะคาดคิด ประมาณทุ่มกว่าๆ ผู้ชุมนุมก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่น รวมตัวกันอยู่ ทั้งในถนนราชดำเนิน ย่านบางลำพู สะพานผ่านฟ้า ถนนมหาชัย ศาลาว่าการ กทม. และหลังกระทรวงกลาโหม ทหารพยายาม ขับไล่ประชาชน ให้ออกจากบริเวณดังกล่าวโดยเร็ว หวังจะกวาดออกไป ให้หมดก่อนค่ำ ก็ไม่สำเร็จ เวลาประมาณสามทุ่มครึ่ง ทหารเตรียมกวาดล้างประชาชน เป็นการใหญ่อีก โดยมีแนวลวดหนาม ขึงระหว่าง กองสลาก กับหัวมุมโรงแรมรอแยล ป้องกันไม่ให้ประชาชน เข้าไปร่วมชุมนุมเพิ่มเติม ฝูงชนได้ขับรถ ขสมก. ๘ คัน แล่นช้าๆ เข้าชนแนวลวดหนาม ขณะที่รถคันที่ ๙ กำลังแล่น เข้าสมทบนั้น ทหารก็กราดปืนเข้าใส่ไม่ยั้ง คนขับ คนที่อยู่บนหลังคาและอยู่ในรถ ถูกยิงบาดเจ็บ ล้มตายกันเป็นระนาว ตัวรถถูกกระสุนพรุนทั้งคัน ประชาชนที่อยู่บนถนน รีบหมอบลงกับพื้น คืบคลานไปทาง หน้ากรมประชาสัมพันธ์ นอกจากทหารจะยิงอยู่ข้างล่างแล้ว ยังไปตั้งยิงอยู่ชั้นบน ของอาคารต่างๆ รวมทั้งกองสลาก ทำให้ประชาชนที่อยู่บนถนน ถูกยิงบาดเจ็บ ล้มตายเพิ่มขึ้น การยิงบนพื้นราบ ยังพอหลบได้ ด้วยการหมอบลงกับพื้น แต่การยิงจากที่สูง ไม่มีทางที่จะหลบได้เลย คนเจ็บส่วนหนึ่ง ถูกหามเข้าไปรักษาในโรงแรมรอแยล อีกจำนวนไม่น้อย กองอยู่ในถนน ราชดำเนิน มีรถพยาบาลวิ่งส่งคนเจ็บเพียงไม่กี่คัน และเมื่อออกไปแล้ว ก็เข้ามาอีกไม่ได้ ทำให้ผู้ที่บาดเจ็บสาหัสจำนวนไม่น้อย ต้องเสียชีวิต ขณะรับการรักษาอยู่ในโรงแรมรอแยล ตอนดึก แม้ฝูงชนจะเริ่มบางตาลงบ้าง แต่ทหารก็ยังตรึงกำลัง ปิดทางหนีทุกจุด เป็นเรื่องแปลก ทหารต้องการขับไล่ประชาชน ออกไปให้หมด แต่กลับสกัดไว้หมดทุกทาง ไม่ให้ออก ประชาชน ไม่รู้จะไปทางไหน เล็ดลอดตามช่องทางเล็กๆ ออกไปได้บ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนที่เหลือ จึงถูกจับ และถูกยิงอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนั้น ยังกั้นตลอดเวลา ไม่ให้ส่งข้าวส่งน้ำอีก ทารุณมาก เสียงปืนดังไม่ขาดสายจนรุ่งสาง หมายถึง มีคนตายและบาดเจ็บ เพิ่มขึ้นๆ ตลอดเวลา ถนนราชดำเนิน กลายเป็น ลานประหารหมู่ คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง อย่างบ้าระห่ำ คนมีปืนฆ่าคนมือเปล่า อย่างน่าอดสู ต่อมากรมประชาสัมพันธ์ก็ถูกเผา ประชาชนที่อยู่ในถนนราชดำเนิน พยายามจะแห่ศพ ผู้ที่ถูกทหารยิงตายอย่างสยดสยอง เพื่อให้ผู้ที่อยู่บริเวณนั้น ได้เห็นทั่วๆกัน แต่ถูกทหารยิง ไล่แตกกระเจิงไปเสียก่อน ต่อจากนั้น กรมสรรพากรก็ถูกเผา เช้าตรู่เพลิงจึงสงบ ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร ถูกเพลิงไหม้ เสียหายมาก ขึ้นวันใหม่ ๑๙ พฤษภาคม ตอนตีห้า ทหารได้เข้ากวาดล้างใหญ่ โดยเดินเรียงแถวหน้ากระดาน ระดมยิงใส่ฝูงชน หน้ากรมประชาสัมพันธ์ และที่โรงแรมรอแยล มีประชาชนทั้งตาย ทั้งบาดเจ็บ ล้มคว่ำจมกองเลือด ผู้ที่รอดก็ตะเกียกตะกาย คลานหนี ให้พ้นวิถีกระสุน ประชาชนแตกฮือ ถอยไปทางสนามหลวง ถูกทหารที่อยู่บริเวณนั้น ผลักดันให้กลับเข้าไปอยู่หน้าโรงแรมรอแยลอีก ผู้ชายถูกถอดเสื้อ มัดมือไขว้หลัง ส่วนผู้หญิง ถูกกันไปควบคุมอีกด้านหนึ่ง แล้วจับขึ้นรถ ส่งไปขังที่ โรงเรียนนายสิบตำรวจบางเขน และเรือนจำลาดยาว เช้ามืด ทหาร ๓๐๐ คน บุกค้นโรงแรมรอแยลทุกห้อง และทุกซอกทุกมุม ผู้ที่เข้าไปหลบภัย รวมทั้งผู้สื่อข่าว ถูกกวาดออกมาหมด หลายคนถูกทำร้ายอย่างทารุณ กล้องถูกยึด ฟิล์มถูกทำลาย หมอที่กำลังรักษาพยาบาล ก็ถูกจับด้วย บางคนถูกซ้อมอย่างป่าเถื่อน การกระทำทั้งหมดนี้ นักข่าวต่างประเทศ ได้ส่งข่าวออกไปทั่วโลก เป็นการเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ของประเทศไทยอย่างมาก ผมเองเป็นทหาร เคยผ่านการรบมาสองศึก ก็ยังไม่เคยเห็นความเหี้ยมโหดอย่างนี้ ผมเสียใจ ที่ทหารไทยฆ่าคนไทยกันเอง คนที่ไม่มีอาวุธต่อสู้ ทำเหมือนเป็นศัตรูกันมาหลายปี ศักดิ์ศรีของทหารไทย จึงหมดสิ้น ในสายตาของคนไทยและชาวโลก จะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไร ที่จะกู้คืนมา วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ตลอดทั้งวัน การประท้วงเป็นจุดย่อยๆ ก็เกิดขึ้นทั่วกรุง การฆ่ากันแบบนี้ ได้ก่อให้เกิดความโกรธแค้นกับประชาชนมาก มีการแห่ศพผู้เสียชีวิต มีการขู่วางระเบิดที่โน่นที่นี่ บริษัทห้างร้านหลายแห่งปิด ให้พนักงานกลับบ้าน เพื่อความปลอดภัย ธนาคารพาณิชย์ และห้างสรรพสินค้า ปิดกันเป็นแถว เศรษฐกิจทรุดหนักกว่าครั้งใดๆ รัฐบาลประกาศ เตรียมกวาดล้างเป็นการใหญ่อีก รถเมล์วิ่งแค่หกโมงเย็น มีคนกลุ่มใหญ่ๆ ตกค้างอยู่ที่ป้ายรถเมล์ นักธุรกิจจำนวนมาก พร้อมใจกันปิดบริษัท จนกว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น เป็นการประท้วงเงียบ ต่อการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของรัฐบาล นายธนาคารบางราย ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า รัฐบาลจะปกครองได้เฉพาะ เมืองร้างเท่านั้น เมื่อเศรษฐกิจพัง จะบริหารงานไปได้สักเท่าไร ประมาณบ่ายสามโมง ของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ประชาชนประมาณ ๑,๐๐๐ คน มีมอเตอร์ไซค์ ๖๐ คัน นำหน้า เดินทางไปร่วมชุมนุมกับนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ฝ่ายรัฐบาลมีทีท่า จะกวาดล้างมอเตอร์ไซค์อย่างใหญ่โต หวาดเกรงกันว่า ประชาชนขี่จักรยานยนต์ ไปไหนมาไหน อาจถูกทหารยิงตายเอาง่ายๆ เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง กองกำลังรักษาพระนคร ได้แถลงข่าวว่า ฝูงชนจำนวนมาก ได้แห่กันไป ปล้นร้านปืน แถวสี่แยกอุณากรรณ ถูกทหารตำรวจเข้าขัดขวาง เกิดการปะทะกัน บาดเจ็บล้มตาย จำนวนหนึ่ง หลังจากนั้นไม่นานนัก ก็มีผู้ยืนยันว่า เป็นการ สร้างสถานการณ์ ไม่มีการปล้นร้านปืน แต่อย่างใด เจ้าของร้าน ถูกบังคับให้แถลงแก่สื่อมวลชน ไปอย่างนั้น ตกดึก การชุมนุมหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายหมื่นคน ผู้ร่วมชุมนุมได้ช่วยกัน ตั้งแนวระวัง ป้องกันตนเอง โดยการตั้งกระสอบทราย เป็นแนวรอบบริเวณชุมนุม เพื่อป้องกัน การบุกเข้ากวาดล้าง ทหารได้เข้าทำการปิดกั้นถนน ตั้งแต่หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล ถึงหน้าสถานีตำรวจหัวหมาก ตอนตีสาม กองกำลังรักษาพระนคร ได้ออกคำเตือน ให้เลิกการชุมนุม ประชาชนและนักศึกษา ก็ไม่ถอย แม้จะมีข่าวว่า ทหารจะเข้ากวาดล้าง อยู่บ่อยๆ ก็ตาม ในตอนบ่าย รถขนขยะของ กทม.๑ คัน ถูกเผา ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีประชาชน มุงดูอยู่สองข้างถนน ประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน หลังจากนั้น ทหารก็ทำเหมือนยกกองทัพ เข้ายึดถนนราชดำเนินไว้ทั้งสาย ตั้งเครื่องกีดขวาง ทุกถนน ซอก ซอย ที่เชื่อมต่อกับถนนราชดำเนิน ไปจนสุด เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า กำลังอีกส่วนหนึ่งเข้ายึดสนามหลวง และวางกำลังล้อมโดยรอบ ห้ามผู้คนเข้าโดยเด็ดขาด มีเฮลิคอปเตอร์บินวนเวียนตรวจการณ์ อยู่ตลอดเวลา เหมือนในสนามรบ ไม่มีผิด เวลาทุ่มครึ่งของวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พลอากาศเอกอนันต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทย ประกาศ ห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ตั้งแต่สามทุ่มถึงตีสี่ รายงานข่าวเปิดเผย ในภายหลังว่า ทำให้รถบรรทุก กว่า ๓๐,๐๐๐ คัน ไม่สามารถวิ่งเข้าออก กรุงเทพฯ ได้ สูญเสียทางเศรษฐกิจ อย่างมากมาย และได้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ ถูกทหารยิงตายหลายราย ทั่วกรุงเทพฯ พฤษภาทมิฬ ทมิฬเหลือหลาย ไทยฆ่าไทย บาดเจ็บล้มตายมากมาย เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ๒๕๓๕ พบว่า ถูกฆ่าตาย ๕๒ ศพ สูญหายประมาณ ๕๐๐ คน ส่วนใหญ่คงกลายเป็นศพ แล้วศพหายไปไหน? หนังสือพิมพ์รายวัน และนิตยสารรายสัปดาห์ หลายฉบับ รายงานตรงกันว่า มีทหารเรือ เพียงเหล่าเดียว เท่านั้น ที่ไม่ได้ทำร้ายประชาชนเลย ไม่ได้ยิงกระสุนแม้สักนัดเดียว ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความละมุนละม่อม ใช้การพูด การประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการจิตวิทยา อย่างได้ผล ทุกกลุ่ม ที่ต่อต้านเผด็จการ ต่างนิยมชมชอบทหารเรือว่า เป็นทหารของประชาชนโดยแท้ พากันนำดอกไม้ ไปขอบคุณเป็นการใหญ่ อีกท่านหนึ่งที่หนังสือ ร่วมกันสู้ ต้องบันทึกไว้คือ พลตำรวจตรีอุทัย อัศววิไล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แม้ไม่มีหน้าที่โดยตรง แต่ด้วยสำนึกของคนไทยคนหนึ่ง ที่ต้องการจะลดความรุนแรง จากการที่รัฐบาล ใช้กำลังเข้าปราบประชาชน ท่านกล้าที่เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ กล้าที่จะเดินนำประชาชนส่วนหนึ่ง ออกมาให้พ้นภัย กล้าแนะนำ สั่งสอนทหาร ให้ลดความบ้าระห่ำ และกล้าที่จะยืนยันความจริงที่ท่านเห็นมา ด้วยตาว่า การปฏิบัติงานของ กองกำลังรักษาพระนคร ผิดพลาดมากมายเพียงใด ทั้งๆที่ท่านยังรับราชการอยู่ ซึ่งผู้มีอำนาจทั้งหลาย สามารถให้โทษ ท่านได้ทุกเมื่อ ตั้งแต่ตอนค่ำของวันที่ ๑๘ พฤษภาคม เป็นต้นมา กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ที่มีบทบาทมาก คือ ขบวนการมอเตอร์ไซค์ เพื่อประชาธิปไตย สามารถรวมตัวกันได้นับพันๆคัน จากย่านเยาวราช และวงเวียนใหญ่ ออกปฏิบัติการจรยุทธทั่วกรุง ประกอบไปด้วย คนหนุ่มสาวที่ห้าวหาญ มีความแค้นเคือง ที่เห็นทหารตำรวจฆ่าประชาชน ขบวนการมอเตอร์ไซค์ เพื่อประชาธิปไตยนี้ ปราบได้ยาก เพราะเคลื่อนที่ได้เร็ว ไปได้ทั้งซอกเล็ก ซอยน้อย นัดชุมนุมได้เร็ว สลายตัวเร็ว เปลี่ยนจุดชุมนุม ไปที่อื่นได้ว่องไวมาก ทหารตำรวจ ตามไม่ทัน รัฐบาลจึงตั้งหน่วย ไล่ล่า ขึ้นปราบมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะ ทำให้ประชาชน ที่ใช้มอเตอร์ไซค์ ต้องล้มตายเพิ่มขึ้นอีก บางคน ขี่ไปดูเหตุการณ์ ที่นั่นที่นี่ ก็ถูกยิง อีกเรื่องหนึ่ง ที่ทำให้ตำรวจปวดหัวคือ ไอ้แหลม ซึ่งเป็นชื่อเรียก คนที่พูดวิทยุ แซงเข้าไปในข่าย การติดต่อสื่อสารของตำรวจ มักจะดัดเสียงเป็นเสียงแหลมๆ วงการสื่อสารตำรวจ และนักวิทยุสมัครเล่น ที่มีวิทยุดักฟังการสื่อสาร เรียกกันติดปากว่า ไอ้แหลม การดักจับว่า ไอ้แหลม ในขณะที่กำลังพูดวิทยุ แทรกเข้าไปในขณะนั้นว่า เป็นใครอยู่ที่ไหน ทำได้ยากมาก เพราะ ไอ้แหลม จะพูดสั้นๆ ไม่ทันให้จับทิศทางได้ แล้วเงียบไป หากถูกขู่ ไอ้แหลม จะข่มทันที ถ้ารู้ว่าผมเป็นใคร พวกคุณจะหนาว บทบาทของ ไอ้แหลม เป็นที่ประทับใจของใครต่อใครหลายคน ดังรายนี้ เป็นต้น ผมเป็นสมาชิกชมรมวิทยุวีอาร์ ได้ติดตามฟังไอ้แหลม และฝ่ายตำรวจข่ายรามา มาโดยตลอด ผมอยากบอกว่า ไอ้แหลมนี่แหละ คือ นักปฏิบัติการสงครามจิตวิทยาชั้นยอด ไม่ใช่มือสมัครเล่นเลย โดยเฉพาะไอ้แหลมตัวจริง ที่มันทำเสียง จิ้งจก กะเสียง ตุ๊กแก ใส่ตำรวจ ไอ้นี่ชั้นยอดมาก บางครั้ง มันจะปล่อยให้ตำรวจเพลินไปซักพัก วิทยุรับทราบกันเป็นทอดๆ เช่น รามา ทราบ, ผ่านฟ้า ทราบ, พญาไท ทราบ, ดุสิต ทราบ ฯลฯ พอทุกฝ่ายทราบกันหมด ไอ้แหลมก็บีบเสียง พูดเบาๆว่า แหลมก็ทราบ ไอ้มุขนี้เด็ดจริงๆ อันที่จริงผมว่า ไอ้แหลมไม่ได้เป็นคนหยาบคายเท่าไหร่ เพราะพื้นฐานภาษานั้น ออกไปทางยั่วยวน สุภาพ และมีอารมณ์ขัน แต่พวกตำรวจนั่นเอง ที่ใช้คำหยาบมาก ในการด่าไอ้แหลม และแสดงอารมณ์อันป่าเถื่อนออกมาทางคำพูด อย่างเห็นได้ชัด เช่น ท้ายิงกัน บางครั้ง ก็ด่าประชาชนที่มาชุมนุม โดยคิดว่าเป็นพวกไอ้แหลม และคำด่าของตำรวจนั้น หากผู้ชุมนุม ได้ฟังแล้วละก็ ผมคิดว่า คงจะบุกเผาวิทยุรามาก็ได้ ทัศนคติตำรวจที่ตอบโต้ไอ้แหลม ในข่ายรามานั้น เป็นทัศนคติแบบนักเลงหัวไม้ กร่าง แสดงออก ถึงอารมณ์ดิบ หลายครั้ง จะมีอยู่บ้าง ซึ่งคงเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ที่พยายามพูดดีๆ กับไอ้แหลม ซึ่งดูน่าฟังกว่า จะอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุการณ์ เริ่มทำท่าสงบลงแล้ว ผมเห็นด้วยว่า ข่ายงานสื่อสารรามา เป็นของราชการ พอแล้วเถอะครับ ไอ้แหลม ว่างๆ เกิดเหตุการณ์ จะได้ออกปฏิบัติการใหม่ แต่เพียงแค่นี้ก็น่าจะพอใจแล้ว ผมขอวิงวอนคุณแหลมให้เลิกซักพัก อย่าไปก่อกวน งานราชการเขาเลย ถึงแม้นว่าการกบฏของไอ้แหลมครั้งนี้ ผมถือว่าเป็นวีรกรรมทีเดียว สุภีร์ วัศนะวิการณ์ ผมก็เห็นด้วยกับคุณสุภีร์ ขอให้คุณแหลมออมกำลังไว้ มีการชุมนุมเมื่อใด จะได้ออกมา ร่วมกันสู้ ใหม่อีก ตลอดระยะเวลาของการชุมนุม ฝ่ายรัฐบาลใช้วิทยุ ส่วนฝ่ายประชาชนที่ชุมนุมกัน ใช้โทรศัพท์มือถือ สามารถติดต่อกลับไปที่บ้าน หรือบริษัท ห้างร้านของตนได้ตลอดเวลา รวมทั้งสั่งอาหาร น้ำดื่ม เต็นท์ รถ และอื่นๆ ไปใช้ในกิจการชุมนุมได้อย่างสะดวก ในช่วงหลังๆ ของการชุมนุม เครือข่ายโทรศัพท์มือถือถูกตัด เดือดร้อนกันไปทั่ว ทั้งผู้ชุมนุมและชาวบ้าน ร้านค้าที่อาศัยโทรศัพท์มือถือ รัฐบาลตามแกล้งไปหมดเสียทุกอย่าง เพื่อจะเอาชนะประชาชนให้ได้ โดยไม่คำนึงถึงอะไรทั้งสิ้น
|
|
จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * นองเลือดหลังถูกจับ * หน้า๑๖๗ |