๑๒. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๔๕ |
|
ล้นสนามหลวง เพื่อปกป้องกันการบิดพลิ้วของ ส.ส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล นักวิชาการ ๕๐ ท่าน จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทนดูต่อไปไม่ได้ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม จึงได้ยื่นหนังสือ ถึงผู้แทนพรรคการเมือง ทุกพรรคที่รัฐสภา ขอให้ ส.ส.ทั้งหมด มีความจริงใจ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การไปร่วมพิธีวันวิสาขบูชา ๑๖ พฤษภาคม ที่ท้องสนามหลวง เป็นกิจกรรมหนึ่ง ที่สมาพันธ์ประชาธิปไตย กำหนดไว้ หนังสือ ประชาธิปไตยเลือด ได้กล่าวไว้ละเอียดดังนี้ ที่สนามหลวง พล.ต.จำลอง พร้อมกับแกนนำ ของสมาพันธ์ประชาธิปไตย หลายคน ได้ไปร่วมเวียนเทียน วันวิสาขบูชา ซึ่งคณะของ พล.ต.จำลอง ได้เวียนเทียนคนละรอบ กับคณะของ ผู้บัญชาการทหารบก ในวันนี้ พล.ต.จำลอง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดแสดงดนตรีของฝ่ายรัฐบาล ในวันที่ ๑๗ พ.ค. ประชาชนที่วางตัวเป็นกลาง และติดตามสถานการณ์มาตลอด จะเห็นว่า รัฐบาลพยายาม กลั่นแกล้งอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรถสุขาเคลื่อนที่ หรือการจะเลื่อนระยะเวลาจัดงาน ที่ท้องสนามหลวงออกไป นอกจากนี้ ยังเกณฑ์ประชาชนจากต่างจังหวัด ที่ไม่รู้เรื่องเข้ามาด้วย แต่เข้ามากันมากๆ ก็ดี จะได้มาเป็นญาติกัน ผมพูดปราศรัยหลายครั้งว่า การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยนั้น เป็นการตามหาญาตินั่นเอง หาคนที่มีความรู้สึกนึกคิดเหมือนกัน ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นญาติ ยิ่งชุมนุม ก็ยิ่งพบญาติมาก มีญาติเยอะ ครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ กรรมการคนหนึ่ง ของสมาพันธ์ประชาธิปไตย ตอบผู้สื่อข่าวว่า วันที่ ๑๗ พฤษภาคม รัฐบาลจะไม่สามารถหยุดคลื่นมวลชน ที่มีจิตสำนึกทางประชาธิปไตยได้ และการชุมนุม อาจยืดเยื้อต่อไปอีก หากรัฐบาลยังดื้อแพ่ง พูดจาวันนี้อย่าง พรุ่งนี้อย่าง นักศึกษาร่วมมือกันแข็งขัน ออกประชาสัมพันธ์ รณรงค์ทั่วกรุงเทพฯ เชิญชวนประชาชน ให้ไปร่วมชุมนุมที่สนามหลวง ในขณะเดียวกัน องค์การนักศึกษา งดใช้ตำราเรียนของนักวิชาการ ที่เข้าข้างเผด็จการ คือ นายวิษณุ เครืองาม นายทินพันธ์ นาคะตะ และนายพูนศักดิ์ วรรณพงศ์ สื่อมวลชนมีการเคลื่อนไหวเป็นครั้งแรก หลังจากวิทยุและโทรทัศน์ ถูกโจมตี มาตลอดระยะเวลา ของการรณรงค์ เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดาลาออก วันที่ ๑๖ พฤษภาคม กลุ่มสื่อมวลชนของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้สื่อข่าวไทยสกายทีวี. สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, สำนักข่าวเอบีเอ็น, วิทยุ จส.๑๐๐, โทรทัศน์ ช่อง ๓,๕,๗,๙ และช่อง ๑๑ ได้พร้อมใจกันแถลงความในใจ ว่าพวกตนตระหนักดีว่า ประชาชนผิดหวังการเสนอข่าว ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งควบคุมโดยรัฐบาล กลุ่มสื่อมวลชน วิทยุ และโทรทัศน์เอง ก็ผิดหวังไม่น้อยกว่าประชาชน และตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ซึ่งผู้อื่นเข้าใจยาก เพราะจิตวิญญาณ และอุดมคติ ของการเป็นผู้สื่อข่าว เช่นเดียวกับสื่อมวลชนแขนงอื่น ปรารถนาจะเสนอข่าว อย่างตรงไปตรงมา บ่ายวันที่ ๑๖ พฤษภาคม กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย ทั้ง ๗ คน ประชุมกัน เพื่อวางแผน การจัดชุมนุม ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ที่ประชุมประเมินว่า จะมีผู้ไปร่วมชุมนุม มากกว่าครั้งใดๆ ทั้งสิ้น เพราะประชาชนเกิดความเคียดแค้น ชิงชังรัฐบาลหลายเรื่อง เรื่องสำคัญก็คือ สัญญาว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ จนประชาชนหลงเชื่อ หยุดชุมนุมไปชั่วคราว พอประชาชนหยุดการชุมนุม ก็บิดพลิ้วทันที เท่ากับหลอกลวงประชาชนนั่นเอง นอกจากนี้ รัฐบาลยังกลั่นแกล้งผู้ชุมนุม ทุกวิถีทาง เท่ากับเป็นแรงกระตุ้น ให้ประชาชนไปร่วมชุมนุมมากขึ้น เมื่อประชาชนไปชุมนุมกันมาก หากจะให้เกิดผลในการเรียกร้อง คณะกรรมการ สมพันธ์ประชาธิปไตย เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องเดินจากสนามหลวง ไปยื่นข้อเรียกร้อง ที่ทำเนียบรัฐบาล ให้มีการ ร่วมโต๊ะเจรจา กัน เพื่อขอทราบโดยตรงว่า พลเอกสุจินดา จะตัดสินใจอย่างไร เพราะหลายครั้งหลายหน ที่ประชาชนชุมนุมกัน ท่านไม่เคยสนใจ โดยหาว่า เป็นมวลชนจัดตั้ง ของพรรคนั้นพรรคนี้บ้าง เกิดจาก ผู้ต้องการได้อำนาจ แล้วไม่ได้บ้าง แม้ในวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พลเอกสุจินดา จะไปต่างจังหวัดก็ตาม แต่จะต้องมี ผู้รักษาการนายกฯ ซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารกับนายกฯ ได้ตลอดเวลา ประชาชนจะได้รับคำตอบแน่นอน ไม่ตอนนั้น ก็ตอนรุ่งเช้า การชุมนุมผู้คนมากๆ เราก็ทำมาแล้วถึง ๗ วัน คือวันที่ ๔,๕,๖,๗,๘,๙ และ ๑๐ พฤษภาคม การชุมนุม ๑๗ พฤษภาคมนั้น เป็นการชุมนุมครั้งที่ ๘ หรือวันที่ ๘ ซึ่งใน ๗ วัน ที่ชุมนุมมา ก็เรียบร้อยทุกประการ ส่วนการเคลื่อนย้ายการชุมนุม ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราเคยย้ายมา ถึงสองครั้งแล้ว ครั้งแรก เดินจากหน้ารัฐสภา ไปสนามหลวง ครั้งที่สอง เดินจากสนามหลวง ไปสะพานผ่านฟ้า เรียบร้อยตลอด ทั้งการชุมนุม และการเคลื่อนย้าย จึงไม่มีอะไร ต้องวิตกกังวลเลย ที่ประชุมยังได้เตรียมแก้ปัญหา หากทหารตำรวจ ไม่ยอมให้เราเดินไปทำเนียบ ยกกำลังออกมาปิดกั้น จะทำอย่างไร ตกลงกันว่า กั้นตรงไหน เราก็หยุดตรงนั้น เสร็จแล้ว กรรมการทั้ง ๗ คน จะปรึกษากันอีกครั้งว่า จะแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ ลัดเลาะไป หลายๆเส้นทาง แล้วไปรวมกัน ที่หน้าทำเนียบ จะเหมาะสมหรือไม่ ได้มีการทำแผนที่เส้นทาง จากสนามหลวง ไปทำเนียบ แจกให้กรรมการทุกคน พร้อมกับเตรียมแบ่ง กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย เป็น ๓ กลุ่ม เพื่อเดินนำประชาชน ๓ ขบวน ขบวนแรก เดินนำหน้าสุด มีหมอเหวง และคุณสมศักดิ์ ขบวนที่ ๒ อยู่ตรงกลาง มีหมอสันต์ กับผม ส่วนขบวนท้ายสุด มีครูประทีป คุณปริญญา และผู้แทนของเรืออากาศตรีฉลาด ที่ร่วมเป็นกรรมการด้วย ตกลงกันว่า คืนวันที่ ๑๗ พฤษภาคม เราจะประชุมกัน ที่หลังเวทีปราศรัยอีกครั้งว่า จะเคลื่อนย้ายจาก สนามหลวง ไปที่หน้าทำเนียบรัฐบาลหรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ เราจะแบ่งประชาชนจำนวนหนึ่ง ไปชุมนุมที่ข้างสำนักงาน กพ. เป็นเพื่อน เรืออากาศตรีฉลาด โดยจัดให้มีการปราศรัยย่อยที่นั่น เพื่อรอประชาชนส่วนใหญ่ จากสนามหลวง ไปสมทบในภายหลัง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ตอนเที่ยง กรรมการสมาพันธ์ ประชุมกันอีกครั้ง ยืนยัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไปจากเดิม เสร็จแล้วทุกคนก็แยกย้ายกันไป ครูประทีป จะต้องรีบเดินทางไปวนเวียนใหญ่ เพื่อปราศรัยกับประชาชนฝั่งธนบุรี แล้วชวนให้เดินทางไปสมทบที่สนามหลวง วันที่ ๑๗ พฤษภาคม ประชาชนเริ่มทยอย ไปรวมตัวกันที่สนามหลวง ตั้งแต่บ่ายสามโมง เวลาประมาณบ่ายสามโมงครึ่ง สมาพันธ์ประชาธิปไตย ก็เปิดเวทีปราศรัย ตอนนั้นมีประชาชน ประมาณ ๒ หมื่นคน ในเวลาไล่เลี่ยกัน ประชาชนจากต่างจังหวัด จำนวนมาก ถูกเกณฑ์ ไปร่วมงานคอนเสิร์ต ต้านภัยแล้ง ที่สนามกีฬากองทัพบก และที่วงเวียนใหญ่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฉพาะที่สนามกีฬากองทัพบก แห่งเดียว มีรถสุขาเคลื่อนที่ เตรียมไว้ถึง ๑๕ คัน ในขณะที่สนามหลวง ไม่มีเลย ประชาชนจึงช่วยกันสร้าง ห้องสุขาชั่วคราวขึ้นหลายแห่ง ตั้งไว้รอบๆสนามหลวง ใช้ถังน้ำมันขนาด ๒๐๐ ลิตร ตัดครึ่ง ทำเป็นฐาน มีไม้กระดาน พาด ๒ แผ่น คล้ายกับที่ใช้ในค่ายแบร์แคท ตอนไปรบที่เวียดนาม แต่มีเพิ่มเติมคือ คลุมรอบด้วย กระโจมผ้าพลาสติก มีช่องเปิดปิดได้ เขียนป้ายไว้ว่า สุขาสำหรับ ผู้รักประชาธิปไตย ดนตรีสู้ภัยแล้งของรัฐบาล ซึ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬากองทัพบก มีคนดูประมาณหมื่นคน ส่วนหนึ่ง ย้ายจาก การชมรายการโลกดนตรี สถานีโทรทัศน์ ช่อง ๕ นักร้องชื่อดังจำนวนมากมาย ได้ผลัดกันขึ้นไปร้องเพลง ตลอดระยะเวลา แทบจะไม่มีการพูดถึงภัยแล้งเลย ส่วนที่วงเวียนใหญ่ มีคนดูเท่าๆกันคือ ประมาณหมื่นคน ส่วนใหญ่ เป็นคนงานย่านฝั่งธนบุรี ในขณะที่ดนตรี กำลังแสดงอยู่นั้น มีการถ่ายทอดสด ทางโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ ด้วย เวลาประมาณห้าโมงเย็น สนามหลวงฝนเริ่มตก แต่ผู้ชุมนุมก็ไม่ถอย มีผู้คนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ฝนหยุดตก นักการเมืองฝ่ายค้านหลายคน เรียงรายกันขึ้นปราศรัย เรียกร้องให้พลเอกสุจินดา ลาออก ขณะเดียวกัน ตำรวจชายแดน ประมาณ ๒,๐๐๐ คน แต่งเครื่องแบบชุดฝึก เคลื่อนกำลังจาก จังหวัดกาญจนบุรี ปราจีนบุรี จันทบุรี และอุดรธานี กำลังทั้งหมดนี้ ส่งไปตรึงที่บริเวณ สะพานผ่านฟ้า สะพานวันชาติ และสะพานมัฆวาน เวลาประมาณหกโมงครึ่ง กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วย โรงเรียนมัธยมทั่วประเทศ ๒๐ โรงเรียน ส่งผู้แทนขึ้นไปอ่านแถลงการณ์ บนเวทีท้องสนามหลวง ขอให้พลเอกสุจินดาลาออก และขอให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง ในเวลาดังกล่าว พลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารบก และผู้อำนวยการ กองกำลังรักษาพระนคร ได้สั่งให้หน่วยทหารเคลื่อนที่ เข้าประจำที่ตั้ง ตามแผนที่วางไว้ เพื่อระงับยับยั้งการชุมนุม แอ๊ด คาราบาว ขึ้นเวทีประมาณหนึ่งทุ่มกว่าๆ ปราศรัยกับประชาชนว่า มีความภูมิใจ ที่ได้อยู่ท่ามกลาง พี่น้องประชาชนเรือนแสน ซึ่งผู้มีอำนาจในบ้านเมืองไม่มีโอกาส และแม้จะมีเงิน มากขนาดไหน ก็ไม่สามารถจ้างประชาชน มารวมตัวได้มากมายขนาดนั้น เสร็จแล้ว แอ๊ดก็ร้องเพลง ติดต่อกัน ๓ เพลง พอถึงเวลาทุ่มครึ่ง กลุ่มแนวร่วม จัดให้มีการแสดง เช่น งิ้วเคลื่อนที่ และดนตรีพื้นบ้าน เป็นต้น ยิ่งค่ำคนยิ่งเพิ่ม เพิ่มจนล้นสนามหลวง ลงไปเดินในถนน ประมาณคร่าวๆ ถึง ๓ แสนคน การจราจร ในถนนบริเวณนั้น หลายสาย ติดขัดไปหมด เวลาประมาณสองทุ่มครึ่ง นายวีระ มุสิกพงศ์ พรรคความหวังใหม่ ได้ขึ้นปราศรัย เรียกร้องให้ พลเอกสุจินดา ลาออก ด้วยเหตุผลน่าฟังหลายประการ พร้อมกับกล่าวว่า คนไทยในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันต่อสู้ เพื่อขับไล่เผด็จการ ออกไปจากเมืองไทย การมาชุมนุมกันนี้ ประชาชน มาด้วยความสุจริตใจ ไม่ได้ถูกจ้างมา อย่างที่พลเอกสุจินดากล่าวหา กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย มีการประชุมที่หลังเวที เนื่องจากคนมากเกินคาด เสียงจากเครื่องขยายเสียง ได้ยินกันไม่ทั่ว มีความจำเป็นต้องไปเปิดเวทีเล็กๆ ทางด้านพระบรมมหาราชวัง โดยใช้รถตู้ ตกลงกัน ให้ผมไปเปิดเวทีก่อน แล้วใช้คนพูด คณะเดียวกับเวทีใหญ่ วิ่งรอกไปปราศรัย เนื่องจากไม่ได้เตรียมมาก่อน เวทีเล็ก ไฟจึงไม่สว่างเท่าที่ควร แต่ประชาชนให้ความสนใจมาก ไม่แพ้เวทีใหญ่ สรุปแล้ว ทั้งสองเวที คนไม่มีถอย ผมขึ้นเวทีเล็กกล่าวนำ แล้วขอให้ประชาชน กล่าวคำปฏิญาณตาม ๓ ข้อ ข้อแรก ผู้ชุมนุมจะเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ไว้เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อกล่าวนำที่เวทีเล็กเสร็จ ผมก็กลับไปที่เวทีใหญ่ กรรมการสมาพันธ์ มีการประชุมกันอีก ตามที่วางแผนว่า จะเคลื่อนย้ายตอนดึกนั้น เนื่องจากประชาชนล้นหลาม ตั้งแต่หัวค่ำ ถ้ารอดึก อาจมีจำนวนน้อยลงมาก จึงเห็นตรงกันว่า จะต้องเคลื่อนย้ายให้เร็วขึ้น เมื่อตัวแทนนักศึกษา ประชาชนกลุ่มต่างๆ และตัวแทนนักการเมือง พูดกันไปมากแล้ว ก็ถึงวาระของ กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย ซึ่งกำหนดให้ผมเป็นคนพูดสั้นๆ โดยกรรมการคนอื่นๆ ยืนเรียงราย อยู่ข้างหลัง ผมได้กล่าวนำคำปฏิญาณ ๓ ข้อ ที่เวทีใหญ่อีกครั้งหนึ่ง ข้อเสนอ ให้มีการกล่าวคำปฏิญาณนั้น มาจากคุณหมอท่านหนึ่ง ไปเติบโตและจบหมอที่อเมริกา แล้วกลับมาช่วยเมืองไทย ท่านเป็นคนหนึ่ง ที่ใฝ่หาประชาธิปไตยอย่างยิ่ง ทั้งสามีและภรรยา ไปร่วมชุมนุมกับเราเป็นประจำ การกล่าวคำปฏิญาณ เป็นข้อเสนอที่ดีมาก ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนชอบ ในการปราศรัย ผมยังได้เล่าถึงการทำงานของ สมาพันธ์ประชาธิปไตย ที่มีคณะกรรมการ ๗ คนว่า ก่อนจะลงมือทำอะไร เรามีการประชุมกันเสมอ คิดแล้วคิดอีก อย่างรอบคอบ เพื่อให้ได้ผล ในการเรียกร้องประชาธิปไตย มากที่สุด เวลาประมาณสามทุ่มเศษ พอผมพูดเสร็จ เดินลงจากเวที หมอเหวงก็พูดชักชวนประชาชน เดินไปทำเนียบ ผมกับหมอสันต์ รีบเดินไปเวทีเล็ก แล้วประกาศ ชวนประชาชน ให้พากันเดินตามไป ทุกคนเดินไปมือเปล่าๆ ยิ้มแย้มแจ่มใส กล่าวประโยคสั้นๆ พร้อมกันบ้าง ร้องเพลงบ้าง ปรบมือบ้าง สลับกันไป ผมยืนอยู่บนรถตู้ แลไปตามถนนสุดลูกหูลูกตา เหมือนกับ อยู่ในทะเลคน ผมเตือนผ่านเครื่องขยายเสียง ขอให้เดินไปสบายๆ อย่าเดินเบียดกัน จะทำให้อึดอัด และเหนื่อยเร็ว กรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตย คนอื่นๆ ก็ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ การเคลื่อนย้าย เป็นไป ด้วยความเรียบร้อย ทุกประการ เราทราบภายหลังว่า ในเวลาเดียวกันนั้น ทหารตำรวจ ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกำลัง ออกประจำ ตามจุดต่างๆ ต่อมา ได้วางกำลังป้องกัน เพิ่มเติมหลายชั้น ไม่ให้ประชาชนผ่านเข้าไป หน้าทำเนียบได้ กำลังที่เพิ่ม มีทั้งหมดนับพันๆ คน ที่สะพานมัฆวาน ทหารยืนเรียงเป็นตับ ซ้อนกันถึง ๑๐ แถว แล้วแบ่งกำลังกันไป ตรงหน้าทำเนียบด้านสำนักงาน กพ. โดยยืนดาหน้ากัน ขวางถนน ๒ แถว ทำให้รถที่แล่นมาจากสนามม้านางเลิ้ง ผ่านเข้าไม่ได้ นอกจากนั้น ทหารอีก ๒๐๐ คน ยังได้เข้าไปป้องกัน ในทำเนียบรัฐบาลอีกด้วย กำลังเพิ่มเติมทั้งหมดนี้ สำรองเอาไว้ ในกรณีที่ผู้ชุมนุม เดินข้ามสะพานผ่านฟ้า จะมุ่งตรงไปทำเนียบ
|
|
จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * ล้นสนามหลวง * หน้า ๑๔๕ |