๑๕. ร่วมกันสู้ หน้า ๑๘๐

แยกขังเดี่ยว

หันมาดูอีกโลกหนึ่งของผม ในช่วงระยะเวลาเดียวกับการนองเลือด ที่ถนนราชดำเนิน

เช้าวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ผมยังถูกขังในกรง ที่โรงเรียนนายสิบตำรวจบางเขน ดังที่กล่าวแล้ว ในบทแรก ผมขอให้ผู้ร่วมชะตากรรมอีกกรงขังหนึ่ง ซึ่งอยู่ข้างๆ สำรวจว่า พวกเราเป็นใคร มาจากไหนกันบ้าง ถือโอกาสทำการวิจัยไปด้วย

ในห้องขังนั้นเป็นหญิงทั้งหมด มีอยู่ด้วยกัน ๖๑ คน เป็นคนกรุงเทพ ๒๓ คน นอกนั้น มาจากต่างจังหวัด มีหมดทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ อายุเฉลี่ย ประมาณ ๓๐ ปี

ปรากฏว่ามีครบทุกกลุ่ม ทั้งเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา แม่ค้า ลูกจ้าง คนงาน เจ้าของร้าน พนักงานบริษัท นักศึกษา และข้าราชการ

จึงกล่าวได้อย่างถูกต้องแน่นอนว่า ผู้ร่วมชุมนุมนับแสนๆคนนั้น เป็นตัวแทนของคนไทยทั้งประเทศ ที่มาจากทุกภาคทุกจังหวัด ครบทุกกลุ่มอาชีพ นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ ของเมืองไทย เท่าที่เคยมีการชุมนุมกันมา

การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย เพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ด้วยการเรียกร้อง ให้นายกรัฐมนตรีลาออกครั้งนี้ เป็นการปลุกจิตสำนึกประชาธิปไตย ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องจดจำและเล่าขานสู่กันฟัง ไปอีกนานเท่านาน

ตอนสายๆ ของวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ผมถูกแยกไปคนเดียว ไปขังเดี่ยวที่กองพันสารวัตร ทหารอากาศดอนเมือง ขณะที่รถกำลังจะแล่นออกถนนใหญ่ ผมเห็นที่หน้าโรงเรียน นายสิบตำรวจบางเขน มีตำรวจแต่งชุดสนาม อาวุธครบ รักษาการณ์อยู่อย่างพร้อมพรั่ง เหมือนกับหน้าค่ายแบร์แคท ของทหารไทยในสมรภูมิเวียดนาม ที่พร้อมรบทุกเมื่อ

เหตุการณ์ร้ายแรงหนักหนา เช่นนั้นเชียวหรือ ผมไม่เข้าใจ

และดังที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้แต่แรกว่า การย้ายผมอย่างกะทันหันนั้น เป็นเพราะเกรงว่า จะมีกำลังประชาชนมาแย่งชิงตัว ประชาชนมือเปล่าๆ จะแย่งชิงตัวผมไปได้อย่างไร

หรือจะย้ายผมให้ไปอยู่ที่ลับตา เพื่อซ้อม ทำร้ายร่างกาย บังคับให้ผมออกโทรทัศน์ บิดเบือนว่า ผู้ร่วมชุมนุมเป็นฝ่ายผิด เป็นผู้ก่อการจลาจล เป็นฆาตกร ส่วนรัฐบาล ทหารตำรวจ เป็นฝ่ายถูก ไม่มีทางที่ผมจะยอมทำตามเป็นอันขาด เป็นไรก็เป็นกัน

เป็นไปได้อีกอย่างหนึ่ง คือ แยกผมไป เพื่อจะเอาไปยิงทิ้ง ยิ่งฆ่าผม ก็ยิ่งฉลาดน้อยลงไปอีก จับผมพร้อมกับ ผู้ชุมนุม ๓,๘๐๐ คนเศษ ก็นับว่าสติปัญญาของผู้สั่งการ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ฉลาดน้อย ชนิดคาดไม่ถึงอยู่แล้ว

ขณะที่นั่งรถไปกองพันสารวัตรนั้น จ่าทหารอากาศ ๒ คน ถือปืนยิงเร็ว นั่งกระหนาบขวาซ้าย นั่งเบียดราวกับว่า ผมจะเผ่นหนีได้ทุกขณะ เมื่อรถไปถึงที่หมาย มีทหารอากาศ ประมาณ ๑๐ คน ยืนรับอยู่ แล้วพาผมไปขัง ในห้องทำงานของนายทหารฝ่ายยุทธการของกองพัน ซึ่งเพิ่งขนของ ย้ายออกไป มีเบาะบางๆ เหมือนเบาะยูโด วางกับพื้นไว้ ๔ ผืน ผ้าปูเบาะพร้อม และมีหมอน ๒ ใบ

ห้องขังไม่มีลูกกรง ประตูห้องใส่กุญแจ มีทหารถือปืนเฝ้าตลอด เวลาจะเข้าห้องน้ำ ต้องเดินลงไป อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีทหารถือปืนเฝ้าตลอดเวลาอีกเช่นกัน ออกจากห้องขัง เพื่อไปเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง ลำบากหน่อย เพราะทหารยามที่ยืนเฝ้าประตูห้องขัง ต้องให้คนไปขอกุญแจ จากนายทหารเวรมาไข

ส่วนอาหารการกินสะดวก เพราะผมกินมื้อเดียว ไม่เป็นภาระ แก่ผู้ที่จะเอาอาหารเข้าไปให้ เขาทำอาหารมังสวิรัติ ให้ทุกวัน ผมกินได้นอนหลับเป็นปกติ เสื้อกางเกง สำหรับใส่นอน แปรงสีฟัน ยาสีฟัน และรองเท้าแตะ จัดหาไว้ให้พร้อมเพรียง ทหารทุกคนให้เกียรติ ทำความเคารพทุกครั้ง

ผมถูกขังทั้งที่คุกโรงเรียนนายสิบตำรวจบางเขน และที่กองพันสารวัตร ไม่ได้วิตกห่วงใยแต่อย่างใด คิดว่าคุณศิริลักษณ์ คงถูกจับเหมือนกัน และแยกไปขังรวมกับพวกผู้หญิง ผมไม่ห่วง เพราะคุณศิริลักษณ์เป็นนักสู้ ใจคอเข้มแข็ง เคยผ่านการฝึกมาแล้ว ตอนที่เป็นทหารหญิง และฝึกการกินน้อยใช้น้อย อดทนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรม

นึกถึงคุณพ่อคุณแม่ ท่านอายุ ๘๐ กว่าทั้งคู่ คุณแม่หูไม่ได้ยิน คงไม่เป็นไร คงไม่รู้ข่าว ส่วนคุณพ่อ ตามองไม่เห็น แต่ฟังวิทยุและโทรทัศน์ทั้งวัน คงได้ยินแต่ข่าวบิดเบือนของรัฐบาล และคงเป็นห่วงผมไม่น้อย ผมจึงขอร้องนายทหารท่านหนึ่ง ให้ช่วยโทรศัพท์ไปบอกท่าน ทั้งสองด้วยว่า ผมสบายดี

ผมทราบภายหลังว่า ขณะที่ผมติดคุกนั้น คุณพ่อคุณแม่ ได้ข่าวร้ายต่างๆ ตลอดเวลาว่า ผมถูกซ้อมตายบ้าง ถูกยิงตายบ้าง ถูกแขวนคอ ผูกคอตาย กินยาตาย ท่านต้องทุกข์เพราะผมแท้ๆ ปกติท่านก็ทุกข์อยู่แล้ว ทุกข์ตลอดเวลาที่ผมเป็นนักการเมือง เป็นผู้ว่าฯกทม. วิทยุสถานีไหนด่าผม ท่านฟังเอาไว้หมด เพื่อสรุปคำด่า ถ่ายทอดให้ผมฟังอีกทีหนึ่ง ผมเลิกเป็นนักการเมืองได้เร็วเท่าใด ท่านคงดีใจมากเท่านั้น

วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ชีวิตประจำวันของผม ได้ปรับลงตัวเรียบร้อยแล้ว ประมาณตีสี่กว่าๆ นั่งสมาธิ ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้น ก็ออกกำลังอีก ๑ ชั่วโมง ทั้งการออกกำลังกาย และกำลังใจ ผมมีเวลา มากกว่าอยู่นอกคุก หลังจากนั้น ก็เขียนหนังสือไปจนถึงค่ำ ก่อนนอน ก็พัฒนากาย พัฒนาจิต อีกช่วงหนึ่ง ด้วยเวลาเท่าๆกัน

ผมฝึกปฏิบัติธรรมติดต่อกันมาหลายปี ทำให้ผมอยู่ที่ไหน ก็สบายที่นั่น หลับก็สบาย ตื่นก็สดใส ไร้กังวลหม่นหมอง ที่จริงคนเรา เกิดมาก็ติดคุกด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่ว่าคุกกาย หรือคุกใจ

ผมได้รับผลจากการปฏิบัติธรรมมาก ได้เข้าใจถึง สัจจะของชีวิต

เราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาเพียงเพื่อแสวงหาความสุข กอบโกย ถ้ามีโอกาสก็โกงกิน ให้ตัวและญาติ ให้รวยที่สุด นับเป็นความสุขละหรือ?

มนุษย์ทุกวันนี้ เป็นเช่นนี้กันหมด เขาไม่เข้าใจว่า ความสุขที่เหนือกว่านั้น คือ ความเสียสละ ที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

ผมจึงมีอุดมคติ ประจำใจว่า “กินน้อย ใช้น้อย ทำงานให้มาก ที่เหลือจุนเจือสังคม”

ผมไม่ได้ปลอบใจตัวเอง แต่ความรู้สึกจริงๆ เป็นเช่นนั้น ถึงจะติดคุก ผมก็สุขทั้งกายและใจ ได้พักผ่อน และออกกำลังกายเต็มที่ ร่างกายสมบูรณ์ มีเวลานั่งสมาธิมาก ใจสงบมาก

เมื่อคิดถึงทางโลก ผมก็ได้เสียสละ ทำจนถึงที่สุดแล้ว เพื่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ และในฐานะ อดีตหัวหน้านักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ผมได้ทำแล้ว ตามที่ได้ปฏิญาณ ต่อพระบรมรูป ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “ข้าฯ จักรักษามรดก ของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต”

ประมาณบ่ายสามโมง กำลังเขียนหนังสือบันทึกความทรงจำ อยู่เพลินๆ นายทหารผู้ควบคุม ก็มาเคาะประตู และแจ้งว่า รัฐมนตรีสวัสดิ์ คำประกอบ พร้อมกับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ ช่อง ๗ และช่อง ๙ มาเยี่ยม ถามว่า จะเข้าเยี่ยมได้ไหม ผมบอกว่าไม่ได้ แต่ต้องคนละครั้ง โดยให้โทรทัศน์ เข้าสัมภาษณ์ก่อน

เดิมจะขอให้ผมนั่งสัมภาษณ์ที่ห้องรับแขก ผมรู้ทันว่าจะมีการจัดฉาก จึงบอกว่า สัมภาษณ์ในห้องขังนั้นแหละ ถ้าไม่ตกลง ก็ไม่ให้สัมภาษณ์

ผมให้สัมภาษณ์เสร็จ ก็เชิญรัฐมนตรีสวัสดิ์ เข้าไปในห้อง ท่านอุตส่าห์ซื้อทุเรียนหมอนทอง ลูกใหญ่ ๑ ลูก พร้อมทั้งทุเรียนกวน และส้มโอ มาฝาก ผมต้องเรียนให้ท่านทราบว่า ผมชอบทุเรียนมากที่สุด เคยเห็นคนจนๆ เขาอยากซื้อทุเรียน แต่ซื้อไม่ได้ เพราะเงินไม่พอ ผมเลยเลิกกินทุเรียน ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ รวมทั้งขนมอะไรๆ ที่ทำจากทุเรียนด้วย ผมขออนุญาตท่าน มอบทุเรียนและทุเรียนกวน ให้กับทหารที่ดูแลผม และเรียนท่านว่า คราวหลัง ขอเปลี่ยนเป็น กล้วยน้ำว้า

รัฐมนตรีสวัสดิ์เล่าให้ฟังว่า เขาลือกันไปทั่วเมืองว่า ผมถูกซ้อมบ้าง ถูกฆ่าตายบ้าง ก่อให้เกิดความปั่นป่วน ท่านจึงมาดูด้วยตาตนเอง เพื่อกลับไปเล่าสู่กันฟัง ท่านเล่าให้ผมฟังหน่อยหนึ่งว่า นักเรียนไทยในอเมริกา กำลังประท้วง และออกตัวว่า ไม่ได้หนีบโทรทัศน์ ทั้งสองช่องมา เป็นการพบกันโดยบังเอิญ ท่านนั่งคุยอยู่นาน จึงได้ลากลับ ผมยืนยันกับท่านว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะเรียบร้อย ถ้าพลเอกสุจินดา ลาออก

วันนี้เป็นอะไรไม่รู้ บทจะมีคนเยี่ยม ก็มาเยี่ยมติดๆ กันถึง ๒ คณะ รัฐมนตรีสวัสดิ์ กลับออกไปได้ไม่เท่าไร ทหารก็มาบอกอีกว่า อาจารย์ชินวุธ สุนทรสีมะ ส.ส.พรรคพลังธรรม และ เสนาธิการทหารอากาศ มาเยี่ยม พร้อมกับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่อง ๕ และช่างภาพวีดีโอทหารอากาศ

ผมออกไปนอกห้อง และพูดกับผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ช่อง ๕ ว่า ผมไม่ให้สัมภาษณ์ เนื่องจาก ตลอดระยะเวลาการชุมนุม โทรทัศน์ช่อง ๕ บิดเบือนข่าวมากที่สุด ผมเสียใจ เพราะตอนจบ เป็นนายทหารใหม่ๆ ผมเคยทำงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕ เหมือนกัน ผู้สื่อข่าวหน้าม่อยกลับไป

ทั้งอาจารย์ชินวุธ และเสนาธิการทหารอากาศ พูดตรงกันกับรัฐมนตรีสวัสดิ์ว่า ที่มาเยี่ยม เพราะมีข่าวลือว่า ผมถูกซ้อม หรือถูกฆ่า

ผมเลยถือโอกาสพูดเปิดใจว่า ถ้าจะซ้อม เพื่อบังคับให้ผมออกโทรทัศน์ ไม่มีทางสำเร็จแน่ หากซ้อม ต้องฆ่าให้ตาย ไม่อย่างนั้น ผมหลุดออกไป ผมเอาเรื่องแน่ ถ้าฆ่าผมตาย ก็ฉลาดน้อยที่สุด

ผมพูดให้เสนาธิการทหารอากาศ ซึ่งเป็นคนรู้จักกันมาก่อน ฟังต่ออีกว่า การรบในสมรภูมินั้น เราเอาชนะ อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ แต่รบกับประชาชน ถึงชนะ เรื่องก็ไม่สงบอยู่แค่นั้น จะมีต่อไปไม่รู้จบ


 

อ่านต่อ ๑๖ เข้าเฝ้า

จากหนังสือ ... ร่วมกันสู้ ... พลตรี จำลอง ศรีเมือง * แยกขังเดี่ยว * หน้า ๑๘๐