ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๑๒
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๕
ณ พุทธสถาน ศาลีอโศก อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

เมื่อวานนี้ เราได้บรรยายกันมาถึงจาคะ แล้วก็จะถึงปัญญา ก็ขอ บทวนจาคะ หรือทานอีกหน่อย ก็ได้ย้ำมาทุกทีนะว่า ชีวิตสุดท้ายแล้ว คุณธรรม หรือว่าตัวคนๆหนึ่ง จะมีอะไรเป็นยิ่งของชีวิต ก็มีความสามารถ มีพฤติกรรมของตน พฤติกรรมของตน มีความสามารถแล้วก็ทาน จาคะ หรือทานเป็นที่สุด นั่นแหละ ยอดสุดแล้วมนุษย์ แต่คนเราน่ะคิดผิดหมด ไม่หมดหรอก สำหรับผู้ที่รู้ท่านรู้ แต่ผู้ที่ไม่รู้ เป็นคนหรือเป็นปุถุชนนี่ คิดผิด คิดว่าเกิดมาเพื่อเอา แล้วซ้อนลึกลงไปใน กิเลสไปในจิตน่ะ ซ้อนลึกลงไปลึกๆ จะต้องเอา หรือได้โดยไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องทำด้วย ไม่ต้องสร้าง ไม่ต้องทำ แล้วตัวเองก็เอาเวลา เอาชีวิตไปเสพสุขอะไรที่จะ พึงเป็นสุข ที่เราจะได้เสพสมสุขสม ก็จะเอากิริยา หรือพฤติกรรมของตนเองไปเสพสมสุขสม ส่วนที่จะได้อะไรมา ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็จะพยายามกระทำวิธีการเพื่อตัวเอง ได้มาแล้วก็เอา ซึ่งมันย้อนแย้ง ทวนกระแสกันเลยกับสัจธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านค้นพบว่า มันไม่ถูก คนอย่างนั้น ไม่ใช่คนดี ไม่ใช่คนประเสริฐ คนประเสริฐที่แท้จริงนั้นกลับไม่เอา ไม่เอาเลย มีแต่ให้ออกไป ทานออกไป และไม่ใช่ว่าไม่สร้าง ไม่ใช่เอาเวลาไปเสพสุขด้วย ไม่ใช่เอาพฤติกรรม ต่างๆไปแสวงหา เสพสุข หมด เลิก ไม่ต้องเสพสุข เพราะพระพุทธเจ้าตรัสรู้สุดยอดแล้วว่า ความสุขที่เสพนั้น มันเป็นความสุขสมเสพสมน่ะ โลกียสุขที่คนในโลก ปุถุชนในโลกหลงใหล อยู่นั่นน่ะ มันไม่ใช่ความสุข มันเป็นความทุกข์ที่มีเหตุซ่อนอยู่ข้างหลัง เราต้องการมาเสพก่อน แล้วก็ได้ดังต้องการ เรียกมันว่าสุข นั่นแหละชีวิตอยู่กับอันนั้นน่ะ

เพราะฉะนั้น ศาสนาของพระพุทธเจ้า จึงไม่ได้ตรัสรู้สุข แต่ตรัสรู้ เบื้องหลังของความสุข คือตรัสรู้ทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ยิ่งสุขก็ยิ่งเป็นผลของการเสพสมของทุกข์ ตัวทุกข์แท้ๆคือสมุทัย คือเหตุ ที่ทุกข์แท้ๆ คือความต้องการมาเป็นของตนของตัว มาเป็นตัว มาเสพสมสุขสม มันไม่ได้ มันก็ทุกข์ ที่เห็นอยู่ แล้วเขาก็พยายามแก้ไขบำบัด หรือลืมๆไปเท่านั้นเองชั่วคราว บางคนไม่ลืมชั่วคราวหรอก พยายามสั่งสมเลย สั่งสมลงไปให้มันมีฤทธิ์มีแรง เป็นการพยาบาท หรืออาฆาต เป็นการไม่ปล่อย ไม่วาง ผูกพันเอาไว้ ถ้าได้ช่วงช่อง ได้โอกาสเมื่อไหร่ เอา ก็ไม่จ ถ้าได้ช่วงช่อง ได้โอกาสเมื่อไหร่ เอา ก็ไม่จบ ไม่สิ้น พระพุทธเจ้าท่านถึงได้มี พระสัพพัญญุตญาณ ตรัสรู้เห็นแจ้งเห็นจริงว่า โอ๋ คนเราเวียนวน ไม่จบไม่สิ้น อยู่ตรงนี้เอง หลงทุกข์ เป็นสุข แล้วไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ที่แท้ ก็ฆ่าหรือทำลายความทุกข์ ไม่หมดสิ้น พอฆ่าทำลาย เหตุแห่งทุกข์ คือตัวต้องการมาเสพนี่แหละได้หมด มันก็หมดทุกข์ๆ มันก็ไม่มีตัวที่จะเสพสุขด้วย ศาสนา พระพุทธเจ้า จึงไม่มีสุขที่จริง แม้จะเรียกว่า วูปสโมสุข หรือ จะขอยืมคำว่าสุขมาใช้ ว่าสุดท้ายแล้ว ถึงนิพพานแล้วก็เป็นสุข ปรมังสุขัง เอาคำว่าสุขมาใช้ว่าปรมัง บรมสุข ซึ่งอาตมาไม่ถนัดที่จะใช้ ภาษาไทย แปลว่าสุขอย่างยิ่ง เพราะเห็นว่ามันค้านแย้งกับสภาวธรรม ไม่ใช่สุขอย่างยิ่งหรอก ยิ่งกว่าสุข มันยิ่งกว่าความสุขที่คนในโลก หรือปุถุชนเขาเคยได้ เคยเป็น เคยมีกันมาทั้งนั้น ว่าจะสุขยิ่งยอดขนาดไหน แม้จะมาเป็นพระโยคาวจร มาเป็นผู้ที่ปฏิบัติธรรม ลดละแล้วก็ได้สมใจ เหมือนกัน ลดละได้สมใจเราก็สุขน่ะ ลดละกิเลสลงไปนี่ มันสุขซ้อนเป็น วูปสโมสุข เอาภาษาคำว่า สุข มาซ้อน มันสุขได้สมใจเหมือนกันน่ะ แต่สมใจ ในความสมใจ ที่อยากจะสมใจนั่นน่ะ มันหมดลง หมดลงๆ จึงเรียกว่าสุขสงบ สงบจากตัวเหตุ อยากได้มา เราก็รู้ว่ามันเป็นตัวเหตุผีร้าย ก็ฆ่าเหตุนั้น เจตนาจะให้มันตายไปให้มันหมด ไปให้สมใจ เหมือนกัน มันก็ตาย มันก็หมดไปเหมือนกัน มันก็ได้สมใจ ชนิดที่ไอ้ตัวนี้ ตายไปมันก็ว่างลง ๆๆๆๆ ๆๆๆ มันก็เป็นสุขซ้อน สุขที่เหนือชั้นกว่า เสพสมสุขสมตัว อยากได้มิติเดียว อยากได้มา แล้วก็ได้เสพสมสุข ไอ้ตัวอยากได้นั้นแหละมันซ้อนอยู่ มันเป็นตัวการ เราก็ฆ่าตัวการนี่แหละ คือสักกายะ หรืออัตตา ตัวการ ตัวตน ตัวการ ฆ่าตัวการนี้ถูก ตัวมันตายลงๆ ด้วยความปรารถนา ที่ต้องการมาให้มันตาย มันก็สมความต้องการเราเหมือนกัน แต่สมความต้องการ ที่ซ้อนไปชัดเจน ไปฆ่าตัวเหตุมันชัด แล้วมันก็ตาย มันก็จึงเป็นสุขเสพสม เหมือนกัน ไอ้ตัวเหตุที่เสพสมน่ะ ตาย นั่นมันซ้อนกัน ตัวเหตุเสพสมตาย

ทีนี้ได้เสพสมอย่างนี้มันหมดเรื่อง เพราะไอ้ตัวเหตุร้าย ตัวการร้าย มันตายไปแล้ว มันก็ไม่มีฤทธิ์อีก มันก็ได้สมใจ ได้ชนิดที่เหนือชั้นกว่ามิติตื้นๆ ธรรมดาของปุถุชน จึงเรียกว่าสุขอย่างพิเศษ วูปสโมสุข ท่านแปลว่า สุขอย่างพิเศษ มันเสพสมสุขสมเหมือนกัน มันก็จะเรียกว่าสุขอย่างนี้แหละมากๆๆๆ ทุกอย่าง ทุกอัน เราหมดความเสพสม จะเรียกว่าปรมังสุขัง คือเมื่อ สมบูรณ์เป็นนิพพานหมดทุกเรื่อง เป็นนิพพานดับหมด ฆ่าตัวเหตุหมดทุกตัว มันก็เป็นวูปสโมสุขที่มากมหาศาล หรือว่าบรมยิ่ง มันยิ่งๆ เหลือเกิน มันสุขพิเศษนี่มันยิ่งเหลือเกิน ไม่ใช่สุขเสพสมตัวโลกียสุขนั้น มันยิ่งไม่ใช่เลย

นี่ ธรรมของพระพุทธเจ้า ลึกซึ้งแล้วมันก็ซ้อนเชิงซับซ้อน ถ้าเราไม่รู้จักสภาวะ ไม่มีความจริงที่กล่าวนี้ ไม่มีสภาวะของความจริง ดังที่กล่าวนี้ เกิดแก่ตนแล้วนี่ ฟังยาก ตามได้ยาก เหมือนคลำๆเงาๆ เหมือนคนตาบอด มันยังไงนะ สีฟ้า คลำ เอ๊ ฟ้ามันเป็นยังไง มันสากกว่าสีแดงไหม มันสัมผัสเอาไม่ได้ ด้วยสภาพที่มันไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงนี่ ไม่รู้ว่าจะอย่างไร ไอ้คำที่ว่ารู้แจ้งเห็นจริง ก็เป็นภาษา เท่านั้น มันต้องมีตัวญาณ หรือรู้แจ้งเห็นจริง สัมผัสกับไอ้ของจริง ที่แม้จะเป็นนามธรรม ละเอียดขนาดไหน เราพูดคำว่าสุข เสพสมโลกียะสุข กับเราพูดคำว่า สุข วูปสโมสุข ฆ่าตัวเหตุไปแล้ว ก็ได้สมใจเราเหมือนกัน แต่สมใจที่มันฆ่าตัวเหตุ แล้วมันซ้อนอย่างนี้ ถ้าเรามีสภาวะรองรับ เราจะชัดเจนโดยใครจะพูดยังไงๆๆ  จะวนยังไง ก็ไม่งง ไม่งง ไม่สับสน

เพราะฉะนั้น สุดท้ายมันจะมีความสมใจ มันจะมีความสุขที่ปลื้มปีติปราโมทย์ มันมีความฟูใจน่ะ นิสัยที่ว่าเราเคยได้อะไร มันมีความปลื้มปีติสมใจ อย่างนั้นซ้อนเชิงอยู่ แต่ทีนี้เราได้สมใจ ในสิ่งที่เหนือชั้น แต่ก่อนได้สมใจตรงๆ มิติเดียว อยากได้อันนี้ ได้สมใจอันนี้ ตอนนี้เราก็อยากได้ เราฆ่าตัวอยากได้นั้น ซึ่งเป็นอาการของกิเลสที่ในจิต เพราะฆ่าแล้วมันตาย เราก็ได้สมใจชนิดซ้อน แต่มันก็ยังมีการ เออ เราก็ได้สมใจชนิดหนึ่งน่ะ มันก็มีปีติ มีความสมใจเพราะเคยตัวอันโน้นมา เราก็ต้องมาฆ่าอุปกิเลสนี้อีก หรือมันชินชาไปเองก็ได้ มันนานๆ เข้า มันก็เออ มันก็ดี มันก็ได้อย่างนี้ๆ มันก็จะชินชา ชินชาก็ดีแล้ว คือมันไม่ฟูอะไรหรอก มันมีแต่รู้ มันไม่ฟูใจ มันก็รู้ๆๆๆยิ่ง ที่จริงชินชานี่ อาตมาแน่ใจว่า มาจาก ภาษาบาลี แต่เราฟังเป็นภาษาไทยเสียจนชัด ภาษาไทยเสียจนสภาวธรรม มันคือ มันวางเฉย มันเป็นอุเบกขา ชินชานี่คือความวางเฉย คือความเฉยๆใช่ไหม ภาษาบาลี ชินะ หรือชิน แปลว่าชนะแล้ว อย่างพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นพระชินสีห์ พระชินราช พระพุทธเจ้าเป็นผู้ชนะ อย่างยิ่ง ชา นี่แปลว่าความรู้

เพราะฉะนั้น มันได้ความรู้ที่เป็นความรู้ พระพุทธเจ้าสอนได้เป็นผู้ชนะที่แท้จริง ชินชา นี่เป็นความรู้ ชนิดที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมานี่แหละ วิชานี่ก็ คือเป็นความรู้อย่างยิ่ง วิ นี่ยิ่ง รู้ๆ ที่พระพุทธเจ้า ท่านหมายนี่ รู้อย่างยิ่งชาตัวนี้ แล้วก็ชาตัวนี้ ได้อย่างแน่ๆเลยว่า เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอื่นอีก สุดยอดเรียกว่า ชินะ ผู้ชนะ ผู้สำเร็จๆ ผู้สุดยอด

เพราะฉะนั้น ชินะชา(ชิ-นะ-ชา) หรือ ชิน-ชานี้ ภาษาบาลีไม่ใช่ภาษาไทยหรอก แล้วเป็นภาษา ที่มีความหมาย เยี่ยมยอดมาก ชิน ชา คือมันเป็นอุเบกขา ฐาน ฐานนิพพาน มีความรู้สึกอุเบกขาด้วย มีความรู้สึกเฉย ไม่มีกิเลส อุปกิเลส ปีติ ปลื้มฟูใจอะไรไม่มี ไม่มี เรียกว่าชินชา แต่เอามาใช้ อย่างโลกๆ เป็นความชาเด๋อๆ อาตมาเคยบอกอุเบกขาเก อะไรอย่างนี้เป็นต้น เป็นความชา เฉย ชา เฉื่อยเฉย ไม่ได้เกิดปัญญาญาณ เฉยไม่ได้เป็นผู้สำเร็จ เฉยไม่ได้เป็นผู้ชนะ เฉย ไม่ได้เป็นผู้ที่มี ประสิทธิภาพ ไม่มีพฤติกรรมด้วย แล้วซึ่งความจริง มันไม่ใช่ ผู้ชนะเป็นผู้เยี่ยมยอด เป็นผู้มีคุณค่า เป็นผู้มีประโยชน์ เป็นผู้ที่มีความสามารถ เป็นผู้ที่ต้องเคารพบูชาเชิดชู เพราะเป็นผู้ที่น่าเอาอย่าง เป็นผู้ที่จะต้องเดินตาม เป็นผู้ที่จะต้องเกรงใจ ต้องคารวะ เป็นผู้ที่เราจะต้องรักษาด้วย เป็นผู้ที่ จะต้องคอยดูแลรักษาด้วย เพื่อที่ท่านจะได้ ถ้าท่านอยู่ ท่านยังไม่ได้ปรินิพพาน ถ้าท่านยังไม่สูญ ท่านยังไม่จากไป ท่านจะมีคุณค่าให้แก่เรามากที่สุด

เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งให้ท่านจากไปง่ายๆอย่างนั้นด้วย ซึ่งเป็นสามัญ ที่เราจะเข้าใจอยู่ ถ้าใคร ยิ่งไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีคุณค่า ไม่มีอะไรแล้ว นอกจากไม่เป็นประโยชน์แล้ว ไม่เป็นภาระด้วย หรือเป็นตัวทำให้เสื่อมด้วย เออๆ รีบๆหายไป รีบๆจากไป อย่ามาอยู่ใกล้ แต่ถ้าสิ่งนี้ อยู่ใกล้ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่มีคุณค่า เป็นที่พึ่งอันสูงส่ง ก็อย่าพึ่งหายไป เป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร นี่เป็นคุณลักษณะที่เราจะต้องรู้ด้วยความรู้ รู้ด้วยวิชชา รู้ด้วยปัญญา เป็นความจริง

เพราะฉะนั้น คนที่สุดยอดจริงๆ แล้วมีแต่ให้ มีแต่สร้าง มีแต่ให้ แล้วมีสมรรถภาพ มีประโยชน์ คุณค่าจริงๆ มีแต่สร้าง แต่ให้ ลงสุดยอดเลย เป็นมนุษย์ ซึ่งตรงกันข้ามกับปุถุชน อย่างที่กล่าวแล้ว เป็นความคิดก็ต่างกัน เป็นความเห็นต่างกัน สุดท้าย ผู้ใดเห็นอย่างใด ปุถุชนเขาเห็นอย่างนั้น เขาก็ทำอย่างนั้น พอมาศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า มาเห็นอย่างนี้ เราก็มาทำอย่างนี้ จนเป็น อย่างนั้นจริงๆ ไม่เสไม่แสร้ง เป็นคนที่จริงใจ เป็นคนที่จริง ในจิตวิญญาณเลย แล้วก็เห็นว่า อย่างนี้ดีที่สุด ก็พยายามทำ พยายามเป็นอยู่ ถ้ามีชีวิตอยู่ ก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่ได้หลงว่า คนจะต้อง มาสรรเสริญเยินยอ ยกย่อง คนจะต้องมากราบเคารพบูชา ไม่ต้องอย่างนั้นเลยน่ะ

เพราะฉะนั้น สุดท้าย จาคะ หรือทานซึ่งเราก็ได้สรุปแล้ว ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านก็ย่นย่อเอาไว้ สอง เท่านั้นแหละ สองจาคะ หรือสองทาน อามิสทาน หรือว่าธรรมทานก็ได้ จะเรียกจาคะก็ได้ หน้า ๒๒ จาคะมันมีสอง หรือเรียกทานก็เหมือนกัน เราก็คงเคยได้ยินมาแล้วว่า มันก็มีอามิสทาน กับธรรมทาน เท่านั้นแหละ ถ้าเรียกจาคะก็เป็นอามิสจาคะกับธรรมจาคะ จาคะเราไม่ค่อยได้ยินบ่อยกว่าด้วยซ้ำไป เราได้ยินทานบ่อยกว่า อามิสทาน ธรรมทาน เราได้ยินอย่างนี้บ่อยกว่า ด้วยซ้ำไป

อาตมาก็ได้ขยายความพอสมควรแล้ว ในเรื่องของอามิสทาน หรืออามิสจาคะกับธรรมทาน หรือ ธรรมจาคะ อามิสมันเป็นของหยาบกว่าธรรมะ มันก็ลึกซึ้งไปจนกระทั่งสุดท้ายเป็นนามธรรม เป็นคุณค่าด้วยทาน แม้กระทั่งตัวเราเองก็ต้องทาน นี่ อาตมาสรุปยอดจบ แม้เราจะมีทรัพย์ มีสมบัติ มีคุณค่า มีสิ่งดี ที่เป็นกัมมัสโกมหิ หรือ กัมมัสสกตา เป็นของของเราจริงๆ เป็นกรรมของเรา เป็นวิบากของเรา เป็นกุศลกรรม เป็นกุศลวิบาก ที่เราได้พึงสร้างสมเป็นทรัพย์ เป็นสมบัติ เป็นมหาสมบัติ เป็นคุณค่า ซึ่งพระพุทธเจ้าตราลง แล้วว่า มันก็มีศรัทธา มีศีล เดี๋ยวจะได้ขยายศีล ให้สำคัญขึ้นไปอีก ให้เห็นชัดเจนว่า คนเราจะมีศรัทธาอะไร มันต้องมีตัวศีลประกอบจริงๆ แล้วต้องมีอธิ ต้องเข้าใจคำว่าอธิศีล พวกเราเข้าใจคำว่าอธิศีลๆ แล้วต้องเจริญด้วยอธิศีล เรื่อยๆๆๆๆๆๆๆ คำว่าอธิศีลเจริญ มันก็จะต้องมีองค์ประกอบ คือจิตเจริญด้วย ต้องมีอธิจิตด้วย แล้วต้องมีอธิปัญญาด้วย ต้องมีปัญญาที่แหลมลึก รู้ลึก รู้ซึ้ง รู้ยิ่งยอดขึ้นไปเรื่อยๆ รู้ในศีลยิ่งขึ้น รู้ในจิตของเรานี่แหละ ไม่ใช่จิตของคนอื่น แล้วมันจะไปรู้จิตของคนอื่นได้ด้วย ซึ่งมันยากกว่า รู้จิตคนอื่นนี่ยากกว่า รู้จิตของตนเองนี่รู้ลึกขึ้นๆๆๆๆ ว่าจิตเราเจริญขึ้นอย่างไร เจริญขึ้นเป็นลักษณะ เดียวกันนี้แหละ ลักษณะอย่างที่กล่าวนี่แหละ จะมีบารมี มีทาน มีศีล มีเนกขัมมะ มีปัญญา เรียกว่าบารมี หรือเป็นกรรม หรือเป็นวิบาก ที่ได้สั่งสมลงไปเป็นอุปนิสัย อุปนิสัยใหญ่ๆ ที่มันมีคุณค่า มากๆ เรียกว่าบารมี เป็นอุปนิสัย หรือจะเรียกภาษาซ้ำว่าเป็นสันดานก็ได้ ก็คือ สิ่งที่เป็นอยู่ในตัว ในตนเรา ฝังลึกอยู่ในตัวเรา แล้วมันง่าย มันเป็นอย่างอัตโนมัติ เป็นอย่างสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่เป็นเอง เป็นง่าย เป็นได้โดยไม่ยาก มีกรรมกิริยาที่กายก็ดี วจีก็ดี มโนก็ดี เป็นอย่างกุศล เป็นอย่างเจริญ เป็นอย่างประเสริฐนั้นง่ายๆ ไม่ยาก

มันจึงไม่ทุกข์มาก ทำกุศลง่าย แต่จะไปทำอกุศลยาก ยาก อกุศลนี้ เป็นอกุศลจะไปทำมันยาก มันทำไม่ออก มันทำไม่ง่าย ไม่ชำนาญ แต่ทำกุศลนี่ แหม ชำนาญ คล่องปิ๊ดเลย แต่พวกเรา พยายาม จะทำกุศล มันอืดๆๆๆๆๆ ต้องทำ สุดท้าย คนเรารู้หมดแล้ว แต่ยังไม่เป็นนั้นน่ะ ไม่เพราะอะไร มีคนไปทูลถามพระพุทธเจ้า จะทำยังไง ก็ทำให้มันมากเท่านั้นเอง พระพุทธเจ้าท่านตอบ ภาษาบาลี เขาบอกว่า พหุลีกัมมัง เมื่อรู้แล้ว ก็ทำอย่างนั้น ไอ้ที่รู้นั่นแหละ รู้ไม่มีวิจิกิจฉา รู้ชัด แล้วให้ทำอย่างไร เพียรทำ ทำซ้ำ ทำซาก ทำย้ำ มานั่งฟังธรรมนี่ดีไหม ดี แต่กิเลสมันบอกว่าขี้เกียจ มันอยากนอนเฉยๆ มันเบื่อ มันเซ็ง มันไม่อยากฟัง รู้แล้ว มันมีมานะ ก็รู้แล้ว ก็มาฟังดีไหมล่ะ มาฟังแล้ว มันจะล้างอัตตา อัตตาตัวที่มันอยากเสพสม ไม่อยากจะทำอย่างนี้ มันเป็นภพ เป็นภวตัณหา มันอยากจะทำตามใจ เป็นอัตตา ใจเราไม่อยากมานั่งฟัง นั่งไปก็อย่างนั้น มันอยากจะไปทำอันนั้น กว่า ไอ้อย่างนี้ ดูถูก ประมาทอะไร อย่างนี้เป็นต้น มันก็ไม่ทำ ไม่ทำก็ต้องต่อสู้ ก็มันยังดีอยู่ เอา อย่างน้อยก็เป็นพิธีกรรม เป็นยัญพิธี ซึ่งเกิดจากคนนี่แหละ ร่วมกันทำยัญพิธี มีรูป มีแบบ มีอะไร ต่ออะไรต่างๆนานา ทำแล้วมันก็ ดี มีน้ำหนัก มีอำนาจ มีน้ำหนักนะ มีอำนาจนะ สิ่งที่เป็นอย่างนี้ มีกรรมกิริยาที่พรักพร้อม สามัคคี แล้วก็มีรูป มีเรื่อง มีองค์ประกอบที่เกิดคุณเกิดค่า กว่าจะได้เป็น รูปแบบของการนั่งฟังธรรม นั่งรับประทาน อาหาร เป็นระเบียบ เรียบร้อย เป็นอะไรต่ออะไร เป็นรูป เป็นร่าง อะไรขึ้นมา มันจัดสรรขึ้นมา โดยทำมา จนทุกวันนี้ นี่มียัญพิธีที่ดีมาก จัดสรรของมัน ขึ้นมาเรื่อยๆ อันไหนดี เราก็รู้อยู่ อันไหนไม่ดี เราก็รู้อยู่ มานั่งแล้วเป็นไง มานั่งแล้วก็ไม่ตกภพ มีการยินดีปรีดา เบิกบานร่าเริงก็ดีกว่า มานั่งแล้ว ก็มานั่งหลับตกภพ ไม่ค่อยเอาเรื่องเอาถ่าน มันก็ไม่ดีก็รู้ แล้วก็ต้องพยายาม ทำยังไงมันจะดี ทำให้มาก เรารู้หรือยัง รู้แล้วไม่สงสัย นั่งไม่หลับ ดีกว่านั่งหลับ นั่งเบิกบาน ร่าเริงฟังธรรม แม้ซ้ำซาก ก็ไม่เบื่อ หรือแม้ว่าคนจะเทศน์ภูมิต่ำก็ไม่ดูถูก เอาใจช่วย เอาใจเชียร์ด้วย เราสูงกว่า เราฟังแล้ว เออ ท่านเทศน์อย่างนี้ เราเข้าใจรู้หมดล่ะ ท่านเทศน์ต่ำ สูงกว่านี้มีอีก แต่ท่านเทศน์ไม่ถึง ดีไม่ดี พยายามจะสูงเพี้ยนหน่อยๆๆ อย่างอาตมานี่ ฟังออก คนเทศน์จะสูงกว่านี้ สูงไม่ได้ จะพยายามทำสูงแอ๊คสูง รู้นี่ กำลังจะแอ๊คสูง แต่เพี้ยน หน่อยๆนะ รู้ แต่ไม่ดูถูก ช่วยลุ้นเชียร์ ไม่ใช่ไปดูถูก ดูแคลน แล้วก็ว้า อย่างนี้ไม่อยากฟังล่ะ มานะอัตตาทั้งนั้น ฟังออกนะ เป็นมานะอัตตา เป็นตัวถือดีไปดูถูกเขา ข่มเหงเขา ข่มเขา กดขี่เขา ไม่ใช่ผู้สูง ไม่ใช่ผู้สูง

เพราะฉะนั้น ผู้ใดยังไม่สูง มันก็จะมีมานะอัตตา มันก็จะเบื่อ มันก็จะไม่ฟัง ไม่อยากอะไร แต่ถ้าผู้สูง แม้ผู้น้อยจะทำอะไร เขาก็กำลังพยายามที่จะเจริญ เราก็จะลุ้นเขา จะเชียร์เขา เอาใจช่วย เบิกบาน ร่าเริง ฟังธรรมต่ำก็ได้ ฟังธรรมะผิดบ้างถูกบ้างก็ได้ ฟังธรรมะสูงก็ยิ่งดีซิ เราจะได้สิ่งที่สูงขึ้น โอ! อันนี้เรายังไม่รู้หนอ แหม อันนี้ยิ่งชัดหนอ อันนี้ดีหนอ มันดีทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เจ้าจึงฟังธรรมะไม่เบื่อ แสร้งทำตนให้เป็นอรหันต์ขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็ต้องแสร้งก่อนน่ะ มันก็ต้องแสร้งนะ มันก็ต้องพยายามแสร้ง อ๋อ พระอรหันต์ท่านเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นอย่างท่าน เข้าไปเรื่อยๆ พยายามทำเป็นอย่างท่านเข้าไปเรื่อยๆ จนมันชิน จนมันชำนาญ จนมันชินชาโน่นแหละ มันเป็นผู้ชนะ มันเป็นผู้ที่มีชารู้ มันเป็นชินชาได้จริงๆ ให้มันได้อย่างนั้นจริงๆ นั่นคือ เราได้ทานธรรมะ อัตตาและมานะตัวสุดท้ายออกไปด้วย แม้มันยังไม่หมด มันยังเยอะ ต้องทานมันทุกวัน มานั่งทำ ๗ วันนี่ ทานได้มั่ง ไม่ได้มั่ง แต่ก็พยายามกันอยู่ น่าอนุโมทนา ปีนี้ มานั่งฟังธรรม รายการทุกรายการมาถึง เกือบมื้อสุดท้ายแล้วเดี๋ยวนับจำนวนดูซิ จะยังถึงพันอยู่ไหมนี่ เรามีสถิติปีกลายนี้ พุทธาภิเษกวันที่ ๖ วันที่ ๗ คาบนี้เกือบสุดท้าย อีกคาบหนึ่ง คาบสุดท้ายนี่ มันไม่อยากอยู่เลย บางคนก็อ้างเดี๋ยวจะต้องไป จะค่ำ รถราต้องไอ้โน่น ไอ้นี่ลำบาก ขอเถอะ มื้อนี้มันยังไม่ค่อยเดินทางกันเท่าไหร่ นี่มันมืด พอสว่างหน่อยเท่านั้นขอบินแล้ว มื้อสุดท้ายจริงๆ ก่อนฉัน ไม่รอ คาบนั้น จะเป็นคาบที่คนน้อยที่สุด เราจะดูซิว่า จะเท่าไหร่ ถ้ามันมีจำนวนมาก ถึงพันขึ้นไปน่ะ มื้อสุดท้ายของปีกลายนี้เท่าไหร่นะ

พันสองร้อย มื้อสุดท้ายของปีกลายนี้ พุทธาภิเษกครั้งที่ ๑๔ พุทธาภิเษกฯที่นี่ ยังพันสองร้อยกว่าเลย ซึ่งก่อนๆโน่น โอ้ เหลือสองร้อย เหลือห้าร้อย ขึ้นมาเหลือเจ็ดร้อย ทั้งๆที่คนเป็นพันๆกว่านี่แหละ จนกระทั่ง ถึงสองพันนี่ ก็ยังไม่ถึงพัน เหลือมื้อสุดท้าย คาบสุดท้ายไม่ถึงพัน สิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่อง ของผู้รู้ และผู้ทำได้ และผู้เห็นความจริงว่า เราก็จะน่าพรักพร้อม ให้มันมีระบบ ระเบียบ เราก็ไม่น่า จะรีบร้อนอะไร เหตุผลอ้างพวกนั้นตกไปได้ บอกอันนี้ดีกว่า มันก็เห็นความสำคัญ ในความสำคัญ ที่เจริญขึ้นตามบุคคลทุกวันนี้เจริญขึ้น อาตมาเห็นว่างานปลุกเสกฯก็ดี พุทธาภิเษกฯก็ดี เนียนใน และมีน้ำหนัก อาตมาพยายามอธิบายในลักษณะที่มันรู้คุณ รู้ค่าอะไรนี่ เป็นยัญพิธี ยัญพิธีมีผลน่ะ มันก็จะเกิดของมันขึ้นมา นั่นแหละเราก็เท่ากับสละอัตตา สละมานะ สละความชอบของตนๆ เป็นความชอบของส่วนกลาง เป็นความชอบของยัญพิธี เป็นความชอบของกิจกรรม เป็นกิจกรรมก็ได้ เรียกว่าพิธีกรรมก็ได้ เป็นกิจกรรมของชาววัด กิจกรรมของชาวธรรมะ ก็คือพิธีกรรมจริงๆนั่นแหละ ของชาวธรรมะ แล้วเราก็ไปเอาทางกาย วาจา มโนอย่างนี้ เป็นพฤติกรรมนี้

เพราะฉะนั้น ชั้นจาคะอัตตามานะนี่ จะเป็นชั้นจาคะที่สุด นอกจากสละอัตตามานะแล้ว เราก็มาทำ คุณค่า มีคุณค่าคุณงามความดีที่เราได้กระทำโดยกาย โดยวาจา โดยใจลงไป มันก็เกิดซ้อน เกิดคุณค่า ที่เราสร้าง สร้างคุณค่า เรามาร่วมกัน มานั่งทำพิธีนี่ แม้พิธีกรรมอย่างนี้ เกิดคุณค่าอันนี้ ต่อไปในอนาคต คนเขาก็จะเอาแบบตามอย่างตาม แล้วเขาก็จะมาใช้อันนี้ เป็นรูปที่ซ้อน สร้างนามธรรม ได้อบรมฝึกฝนเกิดกาย วจี มโน เกิดผลในทางที่ จะขัดเกลา เกิดศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา อะไรที่นี่ขึ้นมาจริงๆ

เพราะฉะนั้น ในคุณค่าที่เราสร้าง สร้างเป็นรูปแบบ สร้างเป็นนามธรรมอะไรก็ตาม ถ้าเราได้ร่วมสร้าง หรือเราเป็นตัวนำพายิ่งใหญ่ อย่างนี้ก็ถือว่า อาตมาเป็นผู้นำพายิ่งใหญ่ อาตมานำสร้าง อาตมาก็เป็น ผู้ชื่อว่า ได้สร้างสิ่งนี้ขึ้นมา พวกคุณมาร่วมด้วย เป็นผู้ที่จะเป็นส่วนหนุน ส่วนประกอบที่ ร่วมด้วย ทุกองค์ทุกคน แม้แต่พวกคุณ มาร่วมสร้างอันนี้ขึ้นมา เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งด้วย แล้วก็รังสรรค์ นามธรรมอย่างนี้ขึ้นมา ซึ่งมนุษย์พึงมี พึงทำได้ อาตมาชื่อว่าเป็นเจ้าของได้เหมือนกัน แต่เราต้อง มาวางอันนี้ว่า ไม่ใช่ของๆเรา ไม่ติดไม่ยึด ก่อนตายก็ยังมาห่วงหาอาวรณ์อยู่ ไม่ห่วงละ ต้องวางจริงๆ แม้ที่สุด คนจะมาทำลายสิ่งดีอันนี้ลงไป ก็ไม่เจ็บใจ ไม่ปวดใจ ใครจะมาทำลายลงไป ก็ไม่เจ็บใจ ไม่ปวดใจ เพราะเราวางได้ ว่าไม่ใช่ของๆตน ทั้งๆที่เป็นกัมมัสสกตา เป็นของๆตน เพราะเราได้ สร้างจริง เราได้ทำอันนี้ไว้จริง มีคุณค่า เสร็จแล้ว คนมาทำลาย ไม่ให้มันเป็นคุณค่าแล้ว ไม่ให้มันเกิดคุณค่าแล้ว คนอื่นเขามาทำลายไปหมด เราก็ไม่เจ็บไม่ปวด เพราะเราวาง ไม่ใช่ของ ของตนแล้ว พระพุทธเจ้าสร้างพระศาสนาเอาไว้ คำว่าพระศาสนายิ่งใหญ่มาก มีองค์ประกอบเยอะ เป็นกัมมัสสกตา ของพระพุทธเจ้า ท่านสร้างมาด้วยกรรมของท่าน เสร็จแล้วท่านก็ต้องวางใจ ปล่อย ไม่เป็นอัตตนียา ไม่เป็นของของท่าน ท่านก็ต้องไม่ยึดเป็นของของท่าน เสร็จแล้ว คนก็มาทำ ของท่านเสื่อมลงๆ สุดท้าย มันก็หมดเหมือนกัน ศาสนาที่พระสมณโคดมสร้างมานี่ มันก็จะหมด มันจะเสื่อมลงจนหมด พระพุทธเจ้าองค์ใหม่ มาสร้างศาสนาพุทธขึ้นใหม่ ศาสนาของพระพุทธเจ้า สมณโคดมองค์นี้ ก็จะหมดเหมือนกัน แม้ท่านยังอยู่ ท่านก็จะไม่เจ็บไม่ปวด ไม่เสียดาย เพราะท่านวาง ไม่ใช่ของชองตนได้ เห็นไหมว่าจะต้องมาจาคะ จะต้องมาทาน ธรรมทาน ทานให้ได้ถึงแค่นั้น ถึงขนาดนั้น แล้วอันนี้เป็นเรื่องจริง ที่อาตมาเอามาพูดว่า คุณเชื่อไหมว่า จะต้องจริงด้วยเหตุผล ฟังด้วยเหตุผล เชื่อไหมว่า จะต้องจริงอย่างที่ว่านี่ อย่างอาตมาเป็นโพธิสัตว์ อาตมารู้ว่า ต้องทำอย่างนี้ อาตมาต้องฝึก อาตมารู้นะว่า อาตมาสั่งสมทรัพย์อะไร อาตมาเป็น พระโพธิสัตว์ สั่งสมทรัพย์ขณะนี้ คือ พระสัมมาสัมโพธิญาณ อาตมาสะสมอันนี้ละเป็นทรัพย์ พระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็คือทรัพย์วิเศษของมนุษย์นี่แหละ ศรัทธาจะต้องยิ่ง เชื่อมั่นยิ่งจริงๆ

เพราะฉะนั้น น้ำหนักของศรัทธา พวกคุณสู้อาตมาไม่ได้หรอก อาตมาศรัทธา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อาตมาว่า อาตมาศรัทธายิ่งกว่าพวกคุณ อย่าหาว่าข่มเลย อาตมามีทรัพย์อันนี้ในตัว แล้วมันเป็นเรื่องของอาตมา ที่จะศรัทธา อาตมาศรัทธา ฟังดีๆนะ อาตมาจะไขความ เมื่อคืนนี้ ก็พูดเปรยเอาไว้ว่า จะต้องมาขยายพวกนี้ให้ชัด ตัวศรัทธานี่ อาตมาไม่ได้ศรัทธาเนื้อหนัง พระพุทธเจ้า อาตมาจำรูปร่างหน้าตา เนื้อหนังพระพุทธเจ้าไม่ได้แม่นหรอก และ รูปร่างหน้าตา ยังไงไม่รู้ แต่เนื้อหาของพระธรรม หรือพระพุทธธรรม ของพระพุทธเจ้าจำแม่นมาก จำแม่นกว่า จำแม่นกว่า อาตมาศรัทธาอันนี้ อาตมาไม่ได้ศรัทธาเนื้อหนังพระพุทธเจ้า อาตมาไม่ได้ศรัทธารูปร่าง พระพุทธเจ้า อาตมาไม่ได้ศรัทธาตัวตนรูปหยาบของพระพุทธเจ้า อาตมาศรัทธาเนื้อแก่นสาร สาระสัจจะ แล้วจะเอาเป็นทรัพย์ติดตัวไปอีกนานเท่านาน อันนี้ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า แต่ก็เป็น พระพุทธเจ้า เพราะพระพุทธเจ้าทุกพระองค์สร้างไว้ แต่ไม่ใช่ของใคร เป็นสาธารณะ ฟังให้ดีนะ ประเดี๋ยวจะหาว่าดูถูกพระพุทธเจ้าเสียอีก มันซ้อนลึก

ทีนี้ คนที่ศรัทธาอาตมา คนที่ศรัทธายังติดรูป และติดนามอยู่ ก็ศรัทธาทั้งตัวรูปร่าง ตัวตน แล้วศรัทธานาม ก็ศรัทธาด้วย คนที่จะวาง จะรู้ เน้นเข้าลึกเข้าไปอีก ก็จะศรัทธาแต่เฉพาะนาม รูปน้อยลง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ติดรูปแล้ว รูปจะตาย ฝัง เผา ไม่เสียดาย ถ้าเมื่อเรายังได้นามไว้ แล้วนามนั้น บอกแล้วว่า ไม่ใช่ของใคร ไม่ใช่ของอาตมา ไม่ใช่เป็นของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของคนนี้ ของคนไหน ไม่ใช่ เป็นสาธารณะ เราเอาไว้ได้อยู่ ตายก็ตายไปซิร่างกาย พระพุทธเจ้าตายก็ตายไปซิ ร่างกาย แต่เราได้พระพุทธเจ้าแล้ว เราได้พุทธธรรม เราได้พุทธคุณ เราได้นั้นอยู่ ยังอยู่กับเรา อยู่กับเราจนเป็นเนื้อ เป็นตัวเราด้วยซ้ำ เป็นทรัพย์สมบัติ เป็นสมบัติในเราจริงๆด้วยซ้ำ

เพราะฉะนั้น เราจะรู้สึกว่า เออ เราไม่ได้ศรัทธารูปร่างกายอะไรนี่ ไม่ได้ศรัทธาตัวตนอะไรหรอก เราศรัทธาเนื้อหาอันหนึ่งนั้น แล้วเราก็ได้อันนั้น เรามีปัญญา เรามีความเชื่อชัดเจนมั้ยว่า เราได้สิ่งนั้น ถูกตัวถูกสภาพ ถูกคุณลักษณะ ถ้าได้แล้ว เราก็เป็นทรัพย์แล้ว ใครมาแย่งก็ไม่ได้ แล้วเราจะชัดเจน เลยว่า ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ของเจ้าชายสิทธัตถะ ของพระพุทธเจ้าทีปังกร ของพระพุทธเจ้า สิขี แต่ก็ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าสิขี ไม่ใช่ของพระพุทธเจ้าทีปังกร ของพระพุทธเจ้า ทุกพระองค์ หนึ่งเดียวเหมือนกันทั้งหมด ไม่ได้ดูถูกพระพุทธเจ้า ที่อาตมาพูดนี่สับสนไหม ไม่สับสน แล้วก็ไม่งง ใช่ไหม

ถ้าเราจับ แม้แต่ในเชิงปัญญา เชิงความฉลาด ที่เราจะฟังอาตมาพูด ก็จะฟังเข้าใจได้ แต่ต้องทำ ให้ถึงความเป็นจริง อย่างที่อาตมาว่า เมื่อเป็นจริงอย่างนี้ เราจะไม่กลัวความพลัดพรากด้วยร่าง ด้วยกาย และเมื่อหัดมาวางซ้อนอีก แม้เราได้คุณธรรมนั้นอย่างว่า ได้พุทธธรรมนั้น ได้สมบัติ นั้นอย่างว่า ก็ต้องมาวางว่าไม่ใช่ของเราๆ ต้องธรรมทานๆๆ ต้องฝึกหัดคุณก็ฝึกหัด ในฐานะของคุณ แต่อย่าเพิ่งทิ้งก่อน อย่าเพิ่งวางก่อนเลย เป็นฐานอาศัยไปให้แน่ชัดก่อนเถอะ จนคุณจะต้องเห็นว่า คุณวางนี่ มันวางอีกตัวหนึ่งนะ วางโดยนัย แต่วางก็เหมือนไม่วาง อาตมาวางพระธรรมนี้ ไม่เป็นของเรา แต่อาตมาก็สร้างพระธรรมอยู่

เพราะฉะนั้น ดูรูปร่าง มันว่ามันไม่ต้องการ แต่มันก็เห็นแต่ขวนขวายอยู่เลย สร้างอยู่ตะพึดตะพือ แล้วมันก็ไม่ถือว่า เป็นของของตน คนข้างนอกหรือว่าปุถุชนฟังไม่ออกหรอก เพราะมันปฏินิสสัคคะ มันปฏิโสตัง มันทวนกระแสแล้ว มันทวนย้อนแล้ว คุณว่าไม่ต้องการ คุณว่าไม่เอา แต่ไม่เห็น หยุดหย่อนเลย ทำขวนขวาย ขยันเพียรสร้างอยู่ มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา สร้างพระพุทธศาสนา สร้างธรรมะ พุทธธรรมนี้อยู่ สร้างเกิดมา ก็เอ็งสร้างก็ของเอ็งน่ะ แล้วเอ็งจะว่าเอ็งไม่เอา ใครมาว่า ใครมาอะไรเอ็งก็ว่าเขาอยู่ ใครมาทำลาย แม้แต่ในนี้แท้ๆ มาทำให้เสื่อม มาทำให้ทำลาย เอ็งก็ว่าเขา อยู่แล้ว เอ็งว่าไม่หวง ไม่เป็นของเอ็ง ใครจะไปเชื่อเอ็ง เห็นไหมว่ามันย้อนแย้ง แต่ตัววางตัวนั้น มันไม่ถือว่าเป็นอัตตนียา ไม่ถือว่าเป็นของของเรานั่นน่ะ ไม่มีใครรู้ ใครเห็นได้ด้วยเรา อหเมตัง น ชานามิ อหเมตัง น ปัสสามีติ ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็นด้วยเรา เรารู้ของเรา เราเห็นของเรา ว่ามันจริงนะ ว่าเราเองไม่ได้ติดยึด ว่าอันนี้เป็นของเรา แต่โดยพฤติกรรม ที่ยังมีขันธ์ ๕ ที่ยังมีชีวิต ที่ยังมีความประเสริฐ ที่ยังมีกรรม มีกิริยา จะต้องสร้างๆๆๆๆๆๆอยู่ สร้างเพื่อให้พวกคุณ สร้างเพื่อ ให้สรรพสัตว์ สร้างเพื่อให้มนุษยชาติ เราต้องเป็นผู้สร้าง และเป็นผู้ให้ ให้จริงๆ จิตไม่ติดเป็นของ ของตน สุดแล้ว จบแล้ว ไม่มีคำพูดต่อแล้ว เป็นธรรมทานสุดยอดแล้ว จะให้สร้างได้ยิ่งใหญ่ เก่งกาจ เท่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ขนาดไหน พระโพธิสัตว์ก็ต้องหัดวาง เป็นพระพุทธเจ้าจึงวางได้ ถ้าอาตมาไม่รู้ว่า อาตมาวางได้ อาตมาจะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าวางได้ใช่ไหม แล้วต้องวาง สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา ต้องปล่อยต้องวาง ต้องตัดขาดสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเรา อะไรเป็นทรัพย์ที่ ยิ่งใหญ่ที่สุด เราก็ต้องวางสิ่งนั้นให้ได้

เพราะฉะนั้น พวกคุณ เพชรเม็ดหนึ่ง ก็ยังวางไม่ได้ ผัวคนหนึ่ง ก็ยังวางไม่ได้ เมียคนหนึ่ง ก็ยังวางไม่ได้ แล้วจะวางขี้หมาอะไรยิ่งใหญ่กว่านี้ ยังปล่อยกันไม่ได้ แต่ไม่ได้ให้คุณไปตบ ไปตี ไปทะเลาะเบาะแว้งกันน่ะ พูดแล้วก็ต้องช้อนไว้หน่อย นี่ไม่ได้ช้อนหุ้นนะ พูดแล้วก็ต้องช้อน เอาไว้หน่อย มันต้องหัดวางจริงๆ

เพราะฉะนั้น วัตถุ หรือว่าอามิสทาน มันเรื่องเล็กเหลือเกิน ต้องหัดพิสูจน์จริงๆ เราบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก เราอยู่เหนือมัน มีก็ใช้มัน ใจเรานี่ล่ะวาง ใครจะมาเห็นกับเรา เราก็หอบสมบัติอะไรไว้ ไม่เป็นไรนี่ มันมีประโยชน์ ทรัพย์ศฤงคารก็มีประโยชน์ จริงมีประโยชน์แล้วก็ต้องมีเชิงชั้นที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง เอามาเป็นส่วนกลางซี แสดงให้ชัดซีว่าเราวางได้ในส่วนกลาง แล้วมีระบบยังไงล่ะที่นี่ มีระบบ มีคนส่วนกลางด้วย มีอนาคาริกชน มีสมณะ มีอุบาสก อุบาสิกา เป็นอนาคาริกชนได้น่ะ เป็นคนที่ไม่ต้องมีทรัพย์สมบัติฆราวาสนี่ ปฏิบัติศีล ๑๐ ได้ ไม่ต้องมีชาตะ รูปะ ระชะตะ ปะฏิคคะหะนา สิ่งที่โลกเขาสมมุติค่า เราไม่เอาอย่างของเขาละ เรารู้ค่าของมัน แต่ว่าเราไม่ติด ไม่หลงเงินทอง ทรัพย์ศฤงคาร เราไม่มีวินัยกำหนดว่าอย่ารับ อย่าถือน่ะ เราก็ไม่มี วินัยแค่เรา อย่าเป็นของของเรา เราอย่ายินดีไว้เป็นของของเรา เราก็จับถือ รับส่งทำตามหน้าที่ของฆราวาสบ้าง แล้วก็หัดวางใจของเรา เราไม่ติด ไม่ยึดทรัพย์ศฤงคารเป็นของเรา สุดท้าย บ้านช่องเรือนชานของตน ก็ไม่มี แต่ก็มีที่อยู่ เหมือนสมณะเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ผู้มาบวชสมณะนี่คือ อนาคามีภูมิขึ้นไปนะ ที่จริง ผู้มาบวชเป็นสมณะ อนาคามีภูมิ ขึ้นไปจริงๆ ญาติปริวัฏฏัง ปหายะ โภคักขันธัง ปหายะ เพราะฉะนั้น อาตมาถึงมาเน้น ให้มันเป็น รูปธรรม ให้มันเป็นร่างอะไรให้ชัดๆ แล้วก็พยายามทำขึ้นมานี่มีสมณะ มีอะไรต่ออะไร เราพิสูจน์ได้ ผู้ใดอยู่ได้ ภูมิฐานถึง ก็อยู่ไปตลอดรอดฝั่ง อยู่ไม่ถึง ก็หนีเข้าไปหาบ้าน หาเรือน หนีเข้าไปหา ทรัพย์สินอยู่อย่างเก่า มันเป็นเรื่องตามฐานะ อาตมาถึงพูดเมื่อคืนนี้แล้วว่า อาตมาไม่เสียใจ ไม่สงสัย ไม่ประหลาดหรอก มันจะเป็นไปตามธรรม

เพราะฉะนั้น ผู้มาในหมู่ในกลุ่ม ซึ่งเป็นคณะ เรียกว่าสังฆะ สังฆะ จึงไม่ได้หมายความว่า ฆราวาสเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าพระ ถ้าเข้าใจสมณะ ๑ สมณะ ๒ สมณะ ๓ สมณะ ๔ โสดา สกิทา อนาคา อรหันต์ สงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นฆราวาสก็เป็น อุปสัมบันในนามธรรม ไม่ใช่เรื่องตื้น แต่ก็ไม่ผยองรู้สมมุติสัจจะ ว่า เอ้า ท่านเป็นพระ ต้องมีคารวะตามสมมุติ ตามวินัย หรือ ผู้บวชหลังก็ต้องคารวะผู้บวชก่อน แม้ผู้บวชก่อน จะยังไม่เป็นพระอรหันต์ ไม่เป็นพระอริยะ ผู้บวชหลังเป็นอรหันต์แล้ว ก็คารวะผู้บวชก่อนได้ รู้จักสมมุติสัจจะ รู้ระดับ ระเบียบ กฎเกณฑ์ รู้อะไรต่ออะไร ยิ่งไม่มีอัตตายิ่งสบาย มีอัตตาอยู่ก็ไม่สบายละ

เพราะฉะนั้น ยังเป็นฆราวาส ถ้ามีภูมิสูงจริง กราบพระกเฬวรากก็ได้ เพราะว่าตัวสมมุติ ท่านให้กราบ คารวะ เคารพแล้วก็ไม่ดูถูก มีสัมมาคารวะ อันถูกอันควรตามระดับ อย่างพวกเรา มีสิ่งอย่างนี้อยู่ นี่อาตมาพูดขึ้นมาถึงวันนี้ พวกเราฟังจะง่าย เพราะพวกเรามีฆราวาสเป็นอนาคาริกะ อาตมาไม่เรียกว่า อนาคามี เพราะว่าโดยจริงมันลึกซึ้งกว่านั้น อนาคาริกะ ที่ยังไม่ใช่อนาคามีก็มี   อนาคาริกะ ที่เป็นอนาคามีภูมิเป็นได้ ศีลมันเป็นได้ด้วยตัว โดยไม่ต้องไปปฏิญาณกับคนนั้นคนนี้ แต่เราก็มีอธิศีล หรือว่ามีศีลอันนั้นใช้ในตัวเรา ท่านไม่ได้ห้ามเลยว่า คนที่ไม่บวชแล้ว เอาศีลสูงๆ นี่มาทำ แต่ต้องรู้ว่า เราไม่ได้ปฏิญาณกับประชาคมนะ ใช้เฉพาะตัว แล้วอย่ามาแอ๊ค ฉันถือศีลข้อนี้ ฉันปฏิญาณของฉันส่วนตัว เพราะฉะนั้น ฉันก็ใช้กับกลุ่มประชาคมนี้ไม่ได้ คุณอยู่ในฐานะฆราวาส ก็คือฆราวาส ฆราวาสจริงๆ แล้วจริงๆแล้วนะ อาตมาเท่านั้นแหละ ที่จะพูดจริงๆ แล้วก็แค่ศีล ๘ ที่จะถือกันอย่าง ที่เรียกว่ารับๆกันได้ เพราะฉะนั้น อุบาสก อุบาสิกา ศีล ๘ แต่ที่ อาตมาพูดถึงศีล ๑๐ นี้คือเนื้อหาที่ลึกขึ้นไป ผู้ที่มีภูมิธรรม อุปสัมบันรู้กัน ถึงกันได้ พูดกันได้ แล้วก็จะรับกันได้ แล้วก็จะรู้อนุโลมปฏิโลมกันได้ แต่ไม่ใช่สัญญาประชาคม ฆราวาสอย่าแอ๊คถือ ถือศีล ๑๐ มาสัญญาถือศีล ๑๐ ปฏิญาณถือศีล ๑๐ ยังไม่ใช่ฐาน ตามสมมุติสัจจะ

เพราะฉะนั้น สมมุติสัจจะ ๘ เท่านั้น แต่ลึกขึ้นไปถึงศีล ๑๐ มันเป็นอนาคาริกะนั้น เนื้อหาของ ฆราวาส ก็เป็นอนาคาริกะ หรือยิ่งเป็นพระอนาคามีจริง จะเป็นสัจจะจริง แต่คนนั้น จะรู้จักอนุโลมว่า เออ เราไม่ได้ถือศีล ๑๐ เราไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้อยู่ในฐานะที่จะปฏิญาณตน ถือศีล ๑๐ ขึ้นไปได้ ไม่ใช่ฐานะ เราก็จะทำสมฐานะ แม้ถือศีล ๑๐ แล้วยังขุดดิน ยังเด็ดหญ้า เด็ดพืชอะไรได้ เพราะไม่ใช่สมณะ ไม่ใช่พระ ไม่ใช่ภิกษุที่ท่านต้องมีศีล ไม่ต้องเด็ดพรากพืชเขียว อะไรต่ออะไร ต่างๆ ท่านเป็นสมณะ ท่านเป็นพระท่านพรากไม่ได้ แต่เราไม่ใช่ เราต้องทำตามฐานะ แม้เราจะรู้ จะเห็น จะเข้าใจว่า เอ๊ ได้พรากพืชไปขุดดินนี่ มันมีอะไรที่ลึกซึ้ง กระทบอย่างโน้นอย่างนี้ ถ้าเราไม่ทำ ก็รู้สึกว่าเราจะละเอียดลออกว่านั้น แต่เราอยู่ในฐานะนี้ ประชาคมรู้ว่าเราขณะนี้ อย่างนี้แม้จะถือศีล ๑๐ เป็นสามเณร ก็ยังขุดดินได้ ก็ยังพรากพืชได้ แบบนี้เป็นต้น เราจะต้องรู้ ฐานะแห่งฐานะ ซับซ้อน ซึ่งมันลึกซึ้งมาก ซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้น พวกเราก็จะต้องพยายามไต่ขึ้นไป

เอาล่ะ อาตมาพยายามจะเจาะลึกคำว่า ธรรมทาน หรือ ธรรมจาคะ ให้รู้ว่า สุดท้าย มันต้องบริจาค หรือต้องจาคะ ต้องวาง ต้องปล่อย แล้วมันซ้อนเชิง วาง แต่ก็โดยพฤติกรรม กาย วาจา ไม่ได้วางเลยนะ สร้างสรร ยังเหมือนกับต้องการมันมาให้ตัวให้ตน แต่ความจริง ผู้นี้ไม่ให้ตัวให้ตน ไม่มีของตัวของตน ไม่มีอัตตนียา ไม่มีอัตตาได้จริงๆ ไม่มีใครรู้ ใครเห็นได้ด้วยเรา แต่ผู้นั้น จะต้องชัดเจนจริงๆ ไม่หลง แล้วจะต้องเป็นความจริง จึงจะถึงซึ่งที่สุด เชื่อศรัทธาเป็นศรัทธินทรีย์ เป็นศรัทธาพละด้วยปัญญาอันยิ่ง ไม่ใช่ว่าด้วยหลง ด้วยหลอก ด้วยลวงตนเอง ไม่ลวงตนเอง ไม่หลอกตนเอง ไม่หลอกคนอื่น ไม่ลวงคนอื่นทั้งนั้น นี่เป็นจาคะที่สูง

การสร้างชาวอโศก ตั้งแต่สมณะ สมณุทเทส สิกขมาต และญาติโยม เป็นจาคะธรรมหรือไม่

เป็น สร้างแล้วก็ให้เป็นของสาธารณอยู่อย่างนี้แหละ สร้างสมณะ เป็นสาธารณะ อาตมาไม่ได้สร้าง สมณะไว้เป็นบริวาร สร้างสมณะไว้บำเรอ อาตมา ไม่ สร้างขึ้นมาแล้วเป็นสมณะ เป็นที่พึ่งของคุณ ด้วย เป็นสงฆ์ คุณจะเป็นที่พึ่ง เป็นสงฆ์เป็นที่พึ่งของพวกคุณ ญาติโยม ถ้าเป็นสมณะในเนื้อหาจริง ก็เป็นที่พึ่งของพวกเราด้วย เป็นที่พึ่งของน้อง เป็นพี่ที่เป็นที่พึ่งของน้องไปเรื่อยๆ สร้างไว้เป็น ธรรมทาน สร้างขึ้นมาเพื่อได้พึ่ง ได้อาศัยแก่กันและกัน โดยจริงแล้ว เราพึ่งตนเองได้ ได้แน่ๆ แน่ที่สุด อาตมาง่อยแล้ว เป็นเปลี้ย เป็นง่อยแล้ว หุงข้าวกินเองก็ไม่ได้ จะหาข้าวมากินเองก็ไม่ได้ อาตมาก็ขอ พึ่งตนเอง คือ ไม่กิน ไม่กิน เพราะเป็นง่อยเป็นเปลี้ยแล้ว คนอื่นไม่ต้องช่วย อาตมาก็พึ่งตนเอง คือ ไม่กิน แล้วเป็นยังไง

ตาย ก็ตาย ก็จบ เพราะเราไม่มีประโยชน์แล้ว เราเป็นง่อยเป็นเปลี้ยแล้ว แต่คุณอยากให้อยู่ ต่างหากเล่า คุณก็ต้องเอาข้าว เอาน้ำ เอาอะไรมาให้กินอยู่ไว้ อยู่ไปเถอะๆ มันก็เป็นคุณลักษณะ ซ้อนอีกอย่างหนึ่งว่า เออ เราก็เลี้ยงดูกัน ต้องช่วยเหลือกันไป ยังไม่ถึงที่ตาย มันก็ไม่ตาย เพราะจริงๆ หรือแม้แต่จะให้ข้าวให้น้ำอยู่ เช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ มันจะตายไหมเล่า ในที่สุดน่ะ ตาย ผลสุดท้าย มันก็ ต้องตายเข้าวันหนึ่งจนได้ จึงเป็นวัฒนธรรมอันหนึ่งที่จะต้อง มันมีที่สุดของมัน ให้มันเป็นที่สุด อย่าไปนั่งแกล้งปล่อยเลย

เพราะฉะนั้น สมควรตายก็จะสมควรเอง ถ้าเรามันมากเกินไป สมัยนี้ถึงบอกว่าการแพทย์ มันมากเกินไป ขนาดเป็นมนุษย์พืชแล้ว ก็ยังเลี้ยงพืชไว้ก่อน พืชจริงๆนะ ไม่มีความรู้สึกเลย ไม่มีวิญญาณ มีแต่พลังงานอย่างต้นไม้นี่ มันมีพลังงาน มันก็ทำหน้าที่ของมัน ตามหน้าที่พลังงาน มันก็เป็นพืช มันไม่มีความรู้สึกหรอก แต่คนไปเดาว่ามันรู้สึก มันไม่รู้สึกหรอก สัตว์เริ่มมีความรู้สึก จึงเรียกว่า มีวิญญาณในเรื่องต้นไม้ พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นอนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มี วิญญาณครอง สัตว์ขึ้นมาท่านเรียกว่าสังขารมีวิญญาณครอง เป็นอุปาทินนกสังขาร อย่างนี้ เป็นต้น ท่านแบ่งไว้หมดนะ ถ้าเราจะเรียนรู้ไปแล้ว ภาษามันอีกเยอะ รายละเอียด

เอ้า ทีนี้ อาตมาจะลองอ่าน การทาน มีผลมากอย่างไร สูตรนี้ ท่านตรัสเอาไว้ ก็มีสรุปมาจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๓ ข้อ ๒๒๔

... ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่เวลามพราหมณ์ ให้แล้ว

เอ้า ทีนี้ ก็ข้อ ๒ สูงขึ้นมา

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่า ทานที่บุคคลเชื้อเชิญ ให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค

(ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิ คือโสดาบัน เพราะฉะนั้น ทานกับพระโสดาบันร้อยท่าน มีผลมากกว่า ทานกับพระโสดาบันคนเดียว ก็จริงนี่นะ กำปั้นทุบดิน เข้าใจไหม)

ทีนี้ข้อ ๓.
ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญ ให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค

ตอนนี้ก็คือ พระโสดาบันร้อยท่าน ตั้งหลักตั้งสูตรตั้งข้ออธิบายไว้ลึกซึ้ง เห็นไหม ซับซ้อนชัดเจนน่ะ เพราะฉะนั้น ทานที่ให้แก่พระสกทาคามีผู้เดียว มีผลมากกว่า ทานที่ให้แก่ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่าน เพราะฉะนั้น ทานให้แก่พระสกทาคามี ๑ มีผลมากกว่า ให้แก่พระโสดาบันร้อยท่าน

๔.ทานให้แก่พระสกทาคามี ร้อยท่าน มีผลมากกว่าทานให้แก่พระสกทาคามีผู้เดียว กำปั้นทุบดินใช่ไหม

ทานที่ให้แก่พระอนาคามีผู้เดียว มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่พระสกทาคามีร้อยท่าน
ชักเข้าใจสูตรแล้ว ชักเข้าใจสูตรแล้ว

ทานที่ให้แก่พระอรหันต์ผู้เดียว มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่พระอนาคามีร้อยท่าน
ทานที่ให้แก่พระอรหันต์ร้อยท่าน ร้อยรูป มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่ พระอรหันต์รูปเดียว หรือ ๑ รูป
ทานที่ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า มีผลมากกว่า ทานที่ให้แก่พระอรหันต์ร้อยรูป
ทานที่ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูป มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียว
ทานที่ให้แก่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีผลมากกว่าทานที่ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูป

ทานที่ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มีผลมากกว่าทานที่ถวายให้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

วนแล้วตอนนี้ ตอนนี้ชักทำใจยากแล้ว โธ่ ก็ทานให้พระโสดาบัน ๑ รูป ยังดีกว่าทานที่ เวฬามพราหมณ์ ให้แล้ว ทำไมหนอ มาทานให้แก่พระสงฆ์นี่ ก็ยังจะเก่งเท่า เวฬามพราหมณ์ หรือเปล่า แต่ในนี้มีเงื่อนไขว่า ทานที่ถวายให้พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้า เป็นประมุข คำนี้ อาตมาเคยขยายความว่า พระสงฆ์ หรือภิกษุที่พระพุทธเจ้าท่านรับว่า เป็นคน ของเรา ผู้นั้นจึงจะชื่อว่าพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสบอกว่า ผู้นี้เป็นคนของเรา ผู้นั้นจะต้องอยู่ในขอบข่ายที่ตรงธรรม ตรงวินัย อยู่ในขอบข่ายมาตรฐาน อยู่ในขอบข่ายมาตรฐาน ที่ตรงธรรม ตรงวินัย คือ อย่างน้อย ไม่ปฏิบัติธรรมะนอกขอบเขตพุทธ ไม่แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธ

เพราะฉะนั้น พระสงฆ์ หรือภิกษุที่แสวงบุญนอกขอบเขตพุทธอยู่ แล้วแถมไม่มีมาตรฐาน ศีล สมาธิ ปัญญา อะไรนี่ โดยเฉพาะ ศีลก็ยังกเฬวราก ไม่ได้สังวรในศีลที่ควรจะสังวรตามฐานะ มีพระปาติโมกข์ เป็นต้น หรือมีศีล เอาล่ะ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ก็คือศีลของเธอประการหนึ่ง หรืออะไรนี่ก็ตาม ก็ยังกเฬวราก โอ้โฮ ด่างพร้อยเสียตั้งเยอะตั้งแยะ นอกจากด่างพร้อยแล้ว ยังไม่พอ ไม่ละอายด้วยนะ ยังทำกันอยู่หน้าด้านๆ เป็นอลัชชี ไม่ให้รดน้ำมนต์ ก็รด หาเงินด้วย ผู้ที่ฉันอาหาร ของผู้ศรัทธาแล้ว ยังมีน้ำหน้ามาเลี้ยงตนด้วยเดรัจฉานวิชาเห็นปานฉะนี้ เป็นต้นว่า รดน้ำมนต์ เสกเป่า ทำนายทายทัก อะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ ในจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล อะไรนี่ หรือไม่กินมื้อเดียว ไม่ฉันในที่นั่งแห่งเดียว อะไรอย่างนี้ รับเงินรับทอง อะไรอย่างนี้เป็นต้น ในจุลศีล รับช้าง ม้า วัว ควาย อะไรอย่างนี้ เป็นต้น ต่างๆนานาพวกนี้ เดรัจฉานวิชาต่างๆ

พระพุทธเจ้าท่านหมายเอาผู้ที่เป็นภิกษุสงฆ์ ที่พระพุทธเจ้าเป็นประมุข คือเป็นคนของเรา ลึกซึ้ง อันนี้จะต้องพยายาม อาตมาจะระบุลงไปตายตัวก็ไม่ได้ มันมีบางอย่าง ก็ต้องเห็นใจอนุโลมบ้าง ก็ต้อง เอ้า ให้เขาบ้าง แต่ถ้ามันได้ค่าอันนั้น ได้ตรงตามศีลตามธรรม อยู่ในศีล ในวินัย อยู่ใน พระปาติโมกข์ของพระพุทธเจ้า ดี ด้วยความอุตสาหะวิริยะซื่อสัตย์ต่อกฎ ต่อหลัก ต่อเกณฑ์ ยิ่งเข้าใจด้วยหลักด้วยเกณฑ์แล้ว ก็รู้ว่ามีความถูกต้อง มันมีอานิสงส์สูง ท่านตรัสว่า อย่างนี้ อย่าไป รดน้ำมนต์น่ะ มันมีอานิสงส์สูงกว่า อย่าไปปลุกเสก อย่าไปเจิมบ้านเรือน อย่าไปทำอะไรพวกนี้ มันมีอานิสงส์สูงกว่านะ อย่าไปมีเงินมีทอง ฉันแต่มื้อเดียว เป็นหลักเกณฑ์ แล้วก็ทำได้ ด้วยดีด้วย คุณก็เป็นสุขด้วย สบาย ง่าย แล้วก็ได้ยังธรรม ยังวินัยนี้เป็นแบบอย่าง เป็นสิ่งที่จะต้องนำพามนุษย์ ให้เจริญงอกงามไปได้อย่างดีด้วย ผู้ที่เป็นสงฆ์ เป็นประมุข แม้จะยังไม่เป็น พระอริยะก็ตาม สังวรด้วยน้ำตานองหน้า ปฏิบัติธรรมมีศีล ทำให้ไม่ผิดไม่พลาด แหม ยากกว่าน้ำตานองหน้า ไม่เป็นผู้ที่ตกล่วงจริงๆ แม้จะน้ำตานองหน้าก็ตาม ต้องเห็นใจ ต้องยกย่อง นี่แหละ ให้ทานผู้อย่างนี้ ไปเถอะ โดยไม่กำหนดว่า ฉันศรัทธาผู้นี้เท่านั้น ไม่เช่นนั้น สงฆ์ที่พากเพียรอยู่ เป็นผู้ที่อนาคาริกะ แล้ว ไม่มีทรัพย์ศฤงคาร อุตส่าห์ไม่รับเงินรับทอง ฉันก็มื้อเดียว ทั้งๆที่มันก็ยังลำบากตัวอยู่ พยายามฝืนอยู่อย่างนี้ แล้วไม่ช่วยกันจะทำอย่างไร ไม่เลี้ยงคนอย่างนี้ไว้ แล้วจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น อานิสงส์ในการเลี้ยงคนอย่างนี้ไว้ มันจึงจะซับซ้อน เป็นวงจักร เป็นศาสนาของ พระพุทธเจ้าต่อไปได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาตมาจึงขอให้พวกเราระลึกไปถึงฆราวาสเราที่มาเป็นอนาคาริกะ

อ่านต่อ หน้าถัดไป

ทรัพย์แท้ของมนุษย์ ตอน ๑๒ / FILE:1337U.TAP