ทรัพย์แท้ของมนุษย์ ตอน ๑๒ หน้า ๒
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๔
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ครั้งที่ ๑๕
ต่อจากหน้า ๑


เมื่อเป็นเช่นนี้ อาตมาจึงขอให้พวกเราระลึกไปถึงฆราวาสเราที่มาเป็นอนาคาริกะ ควรเลี้ยงไว้ไหม เขามาทานมื้อเดียว ไม่ได้มีเครื่องแบบสงฆ์ เขาไม่ใช้เงินใช้ทอง เขาไม่รับเงินรับทอง เป็นของตัวจริงๆ เป็นพฤติกรรมที่เขาพากเพียร แม้จะยังมีกิเลสอยู่บ้าง เขาอาจจะไม่ถึงน้ำตานองหน้าด้วยซ้ำ เขามีคุณธรรมด้วยซ้ำ มันก็น่าเลี้ยงกันไว้ ในคนพวกเรากันนี่ ที่พากเพียรฝึกฝนอยู่ เป็นฆราวาส ก็ตาม ผู้ชายก็ตาม ผู้หญิงก็ตาม ในพวกเราที่มีอนาคาริกะอย่างนี้อยู่ ในหลักเกณฑ์ของศีล ของธรรม ก็เป็นอย่างนี้แหละ ควรจะทำทานด้วยไหม เห็นไหม คนพวกเราทำทานเลี้ยงดูกันได้อยู่ อุดหนุน

เพราะฉะนั้น พุทธศาสนานี้ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทพุทธ ประกอบไปด้วยนักบวช อุบาสก อุบาสิกา บริษัทนี้ อุดหนุนกันไว้ได้ ทำทานบริจาคและสร้างกันไว้ได้ พวกเรานี่จน ชาวอโศกอาตมาสอนให้จน แต่เราก็ยังอุ้มชู เลี้ยงดูกันได้ เป็นปาฏิหาริย์ อาตมาไม่ได้ขยายความชัดเจนขนาดนี้ พวกคุณทำ มาก่อนแล้ว ยิ่งอาตมาขยายขนาดนี้ ไม่ต้องห่วงเลย กองบุญสวัสดิการ กองบุญคุ้มครองภัย นี่จะเจ๋งขึ้นกว่านี้ เพราะคุณฟังแล้วก็เข้าใจ คุณมีปัญญาก็เข้าใจใช่ไหม อือจริงด้วยนะ แล้วมันจะเป็นบริษัท ที่อุ้มชูกันไป เป็นกองกลาง เป็นการทานเมื่อว่ามีอานิสงส์สูงขึ้นไปเท่าไหร่ นี่ลำดับ ๑๒ นะ ทานที่ถวายแด่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข มีผลมากกว่าทานที่ถวายให้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อันนี้มันจริงตรงไหน จริงตรงที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้อย่างนี้ ถึงอย่างไร คุณก็ไม่มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่จะให้ทานหรอก ท่านปรินิพพานไปแล้ว เพราะฉะนั้น จะทานใครแทนละ ทานพุทธบริษัทท่านซิแทน ใช่ไหม ทานคนที่เป็นบริษัท ของพุทธ ของท่านสิแทน ก็คือมีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา นั่นแหละ ที่ไม่นอกธรรม นอกวินัย ยังอยู่ในขอบเขตพุทธ อยู่ในมาตรฐานนี้ แม้เขาจะปฏิบัติธรรม อย่างน้ำตานองหน้า ใจยังไม่ได้ แต่พากเพียรด้วยกาย วาจาอยู่ ปฏิบัติธรรมหน้านองน้ำตาอยู่ เขาก็ไม่ละเมิด ไม่ด่างพร้อยอะไร หรือว่าจะด่างพร้อยเล็กๆน้อยๆ ก็อนุโลมกันบ้าง อย่างนี้แหละใช้ได้ ยิ่งไม่ด่างพร้อยด้วยกาย วาจา และใจก็สบายด้วย ไม่ต้องหน้านองน้ำตาด้วย สงฆ์ของพระพุทธเจ้า ต้องทำทานทำบุญไว้ มันเหนือ ชั้นกว่า ไปทำทานทำบุญกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโน่นแน่ะ พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัส เล่นลิ้นนะ ท่านไม่ตรัสเล่นลิ้น แต่เป็นสภาพที่ซับซ้อนไป แล้วไปในกาลต่างๆ ต่อไปลึกซึ้ง

เอ้า! ทีนี้ ข้อ ๑๓. การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่ถวาย ให้แก่ภิกษุสงฆ์ ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อันนี้จะพูดโดยดื้อๆก็ใช่ มิติแรกมิติเดียว สร้างวิหาร วิหารถือว่า เป็นศาลาวิหาร มันต้องลงทุนมากหน่อย แต่ทีนี้ไปค้านแย้งกับพระสูตรหนึ่ง ตรัสไว้ ในการทำทาน สร้างวิหาร ถวายสงฆ์ผู้มาจากทิศสี่ทิศ จตุรทิศ โดยพระบาลีบอกว่า จตุทิสาสังฆิกะวิหารทาน โดยศัพท์เต็มนี่ว่า จตุทิสาก็คือ ๔ ทิศ นี้แหละ จตุทิสา สังฆิกะ สงฆ์คณะสงฆ์ สังฆิกะ วิหารทาน ทานแก่คณะสงฆ์ หรือสงฆ์อยู่ในคณะของพระพุทธเจ้า มาจากทั่วทุกสารทิศ สิ่งที่เรียกว่าทานนี้ เป็นอะไร เป็นวิหาระ เขาก็แปลว่าวิหาร ด้วยภาษาดื้อๆ ว่าคือโรงเรือน ถูกไม่ผิด แต่ยังไม่ลึกซึ้ง วิหาระ แปลว่า เครื่องยังอยู่ หรือแปลว่าที่อาศัย เครื่องอาศัย ทีนี้ในสูตรนั้น พระพุทธเจ้าท่านมีคนมาทูลถามว่า จะทานอย่างไร ทานด้วยลงทุนน้อย จ่ายทรัพย์น้อย แต่มีอานิสงส์มากกว่าทานอะไรๆ ต่างๆนานา แม้แต่ทานใหญ่ๆ ทานอะไร พวกนี้มากๆ มีอานิสงส์มาก จะทานอะไร พระพุทธเจ้าได้บอกว่า มีสังฆทานธรรมดา ทานข้าวน้ำ ทานอะไร ต่างๆนานานี่นะ ทานข้าว ทานอาหารใส่บาตรอะไรพวกนี้ หรือว่าเลี้ยงดูพระสงฆ์เอาไว้ ๑๐๐ รูปนี้นะ อันนี้มันเหนือกว่า

เลี้ยงดูพระสงฆ์ไว้ ๑๐๐ รูป แล้วทานอะไรที่ถูกกว่าเลี้ยงดูพระสงฆ์ไว้ ๑๐๐ รูป แล้วมีอานิสงส์ สูงกว่า ท่านก็บอกว่า วิหารทาน ถ้าเป็นวิหารทานแล้วไปสร้างวิหารนี่ จะแพงกว่าเลี้ยงสงฆ์ไว้ ๑๐๐ รูป ไหม แพงกว่าไหม สร้างวิหารนี่ มันก็ค้านแย้งกับคำที่ว่า อะไรลงทุนน้อย แต่ได้อานิสงส์มาก อาตมาเคยอธิบาย ใครที่เคยได้ยินมา ก็ลองทบทวนดู เพราะมันค้านแย้งคำสอนของ พระพุทธเจ้า จริงๆแล้ว วิหารไม่ใช่ไปสร้างวิหาร มันแพงแน่ลงทุนมาก ไม่ใช่ลงทุนน้อยกว่า ลงทุนน้อยคือ เครื่องยังอยู่ เครื่องอาศัยจะเป็นอะไรล่ะ เป็นเข็มเล่มเดียวก็ได้ ถ้าสงฆ์องค์ไหนขาดแคลน สงฆ์นี่แหละ สงฆ์จาก ๔ ทิศนี่แหละ มาจากทุกสารทิศ ที่เป็นสงฆ์ของพระพุทธเจ้านี่แหละ ท่านขาดแคลนสิ่งใดล่ะ ที่เป็นเครื่องยังอยู่ เป็นวิหาระที่จะอาศัย นั่นแหละไปตรวจตราดู ถ้าเรา ศรัทธาสงฆ์ เราก็จะต้องคอยเข้าใกล้ คอยดูแล ท่านขาดอะไรนี่เป็นเรื่องของทาน อามิสทาน ช่วยอามิสทาน มันต้องเกื้อกูลกัน เพราะท่านจะขาดแคลนอะไร หาอันนั้นอันนี้ให้ สิ่งที่สมควรนะ ไม่ใช่มากเกินไปด้วย บำเรอบำรุงฟุ้งเฟ้อเกินกาล นั่นผลาญพร่า ตัวเองก็ผลาญพร่า แล้วก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะว่าผู้นี้ไม่ใช้ ผู้นี้ก็เป็นภาระต้องเอาไปแจกคนอื่นต่ออีกล่ะ เพราะถ้าผู้นั้น ไม่ขี้โลภ ก็ต้องเอาไปแจกผู้อื่นอีก เท่ากับใช้ให้ท่านทานกับคนนี้ ช่วยเอาไปแจกให้หน่อยเถอะ แต่ไม่บอกด้วยภาษา เพราะท่านต้องไปหาแจกคนอื่นอีก สรุปแล้ว ก็ต้องอย่าเฟ้อ อย่าเกิน มันมีอะไร ยาวๆ ที่อธิบายต่อไปได้ด้วย มันเยอะ เอาล่ะประเดี๋ยวก็จะไม่จบกันในวันนี้พอดี

สรุปแล้ว ในข้อ ๑๓ นี่ก็คือ บุคคลผู้สร้างวิหารถวายสงฆ์ มาจากจตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่ถวาย ให้ภิกษุสงฆ์ ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข อาตมาเคยสรุปไว้ สังฆทานธรรมดานี่ เราจะถวายอะไร เรากำหนด เราจะใส่บาตรถวายอาหารเท่านั้นก็ถวาย จะถวายผ้าก็ถวาย เรียกว่าสังฆทาน เท่าที่เรามี เรามีแรงเท่านี้ เราจะถวายสิ่งที่ควรถวายสงฆ์ ถวายพระ หรือถวายผู้ที่ควรถวาย ให้แก่ผู้ที่ควรให้ เป็นอนาคาริกะ เป็นฆราวาสก็ตาม อย่างที่อาตมาอธิบายไปแล้ว สิ่งนี้เราไม่กำหนด ไม่กำหนดคน คนนี้เป็น อนาคาริกะ หรือเป็นสงฆ์ เป็นอะไรทั้งนั้น เรามี เราให้ไม่กำหนดคน แต่เรามีปัญญาเท่านี้ หรือมีของอันนี้ เราเป็นชาวนา เรามีข้าว เราให้ข้าว แม้ท่านจะไม่ขาดข้าว ท่านบอก โอ้ ข้าวฉันมีเยอะ แต่เอาเถอะ ท่านเอาไปเฉลี่ยกัน เป็นกองกลางก็แล้วกัน อย่างนี้เป็นอานิสงส์สังฆทาน เป็นสังฆทาน ไม่กำหนดคน แต่ทานแก่คนควรทาน คือคนที่เป็นพุทธบริษัท โดยสรุป คนที่เป็นพุทธบริษัท ที่สมควรทาน เป็นอนาคาริกะขึ้นไปยิ่งดี บอกแล้วว่า อนาคาริกะขึ้นไป เป็นผู้ที่มีสัมมาทิฐินี่ คือผู้เป็น โสดาบันขึ้นไป เป็นอะไรขึ้นไป ยิ่งมีอานิสงส์สูงใช่มั้ย อย่างนี้แหละดี ไม่กำหนดคน คุณจะไปเฉลี่ย จะเป็นเณรน้อย เป็นพระลูกแถว หรือเป็น... แม้แต่ฆราวาสที่ถือศีล ๑๐ อย่างที่อาตมาเป็น อนาคาริกะ ได้อย่างนี้โดยธรรม ถือศีล ๑๐ โดยธรรมได้ขนาดนี้ มีคุณธรรมขนาดนี้ อย่างนี้สิ มีอานิสงส์สูงโดยธรรมนะ มีอานิสงส์สูงโดยธรรม

ทีนี้ สังฆทานนั้นเป็นสังฆทานเล็ก สังฆทานใหญ่คือ จตุทิสา สังฆิกะ วิหารทาน ทีนี้ไม่กำหนด ทั้งคน ไม่กำหนดทั้งของ คือฉันมีอันนี้เท่านั้น ฉันก็ถวาย ฉันพอใจถวายอันนี้ ฉันก็กำหนดของ ของฉัน ไม่กำหนดทั้งของแต่เอาความจริง เออ ท่านขาดอะไร เราไปสังเกต เราไปดู คนนี้ขาดอันนี้ คนนี้ขาดอันนี้ แหม ฆราวาสคนนี้เป็นพุทธบริษัทนะ เป็นอนาคาริกะ เขาทิ้งทรัพย์สินเงินทอง บ้านช่อง เรือนชานมาแล้ว แต่เขาขาดเสื้อ เพราะเสื้อเขาขาดแล้ว เราเห็นความจำเป็น เราก็ทาน ซื้อเสื้อมาให้ อย่างนี้มันเป็นผลสูง เป็นเครื่องอาศัยที่สมเหมาะสมส่วน ขาดแคลนเสื้อ สมณะขาดแคลนเข็ม เออ อย่างนี้ลงทุนน้อย ไม่ใช่สร้างวิหารอย่างที่ว่าหรอก ชัดเจนตามที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสตอบคนที่มาถาม อันนี้เป็นของจำเป็นของสำคัญ มันเป็นของที่ถูกลักษณะ ถูกส่วนถูกตัว

เพราะฉะนั้น เราไม่ได้กำหนดองค์ไหนก็ได้ เณรน้อยขาดเข็มให้เณรน้อย ท่านภันเตใหญ่ไม่ขาด หรอกเข็ม ไม่ต้องให้ภันเตใหญ่ เอาเข็มไปให้ภันเตใหญ่ ก็ไม่ได้อานิสงส์เท่าเอามาให้เณรน้อย ให้คนขาดแคลนจริงๆ แต่เณรน้อยนี้เป็นพุทธบริษัทที่ดีนะ อย่างนี้เป็นต้น เข้าใจขึ้นนะ เอาละ ยาวกว่านี้ก็ได้ แต่ขนาดนี้ก็คิดว่าพอสมควรน่ะ

เอ้าทีนี้ การที่บุคคลนี้ เป็นสังฆทานใหญ่ กลัวจะไม่สรุปภาษา ที่เรียกว่า จตุทิสาสังฆิกะวิหารทาน ที่อาตมาอธิบาย และเข้าใจไม่ได้ลูกซื่ออยู่แต่แค่วิหาร แล้วก็เลยเอาอันนี้ มาหาเรี่ยไรเงิน สร้างวิหารกัน ตะพึดตะพือ เออ อานิสงส์สูง สูง นะๆ ไม่ผิด แต่ยังซ้อนเชิงอยู่ว่า ไม่ถูกลึกซึ้ง ไม่ถูกละเอียด ถ้ามันขาดแคลนวิหารจริงๆ คุณสร้างไม่ผิด แต่นี่วิหารไม่ขาดแคลน และไม่จำเป็น เท่าด้วย แหม มันก็เลยเฟ้อ และคนก็อาจสร้างวิหารแข่ง เพื่อเอาลาภเอายศซ้อน มันยุ่งกันใหญ่ ศาสนาจึงเสื่อม

ทีนี้ ข้อ ๑๔. การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า ทีนี้บุคคลที่มีจิตเลื่อมใส ในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์เป็นสรณะ หมายความว่า ศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถึงซึ่งพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ ซึ่งมาจากจตุรทิศ ตอนนี้ข้อนี้ เหนือชั้นขึ้นไปอีกว่า ผู้ที่ถึงขั้นนามธรรม เป็นผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นผู้ที่มีศรัทธา เป็นผู้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เข้าถึงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นผู้ที่
นั่นแหละเป็นทาน คุณเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็คือคุณทานได้ คุณสละมามากแล้ว สละ ยิ่งคุณเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้ขึ้นเป็นพระโสดาบัน คุณได้สละอะไร ออกไปตั้งเยอะ พระโสดาบันอย่างน้อยก็สละอบายมุข สละทรัพย์ ศฤงคารที่ขี้โลภมาก สละความโกรธ สละความโลภอะไรออกไปตั้งเยอะแล้ว ได้ขนาดหนึ่งล่ะ ถึงเรียกว่าโสดา ใช่มั้ย คุณก็แน่นอนซิ คุณเข้าถึงเป็นผู้เลื่อมใส เลื่อมใสหมายความว่า โอ้ แจ่มกระจ่างใจ เลื่อมใสนี่นะ เลื่อมใสมันชัดเจน แจ่มแจ้ง มีปัญญาญาณ ปัญญาอะไร เห็นความจริงที่เราเข้าถึงพระพุทธ เข้าถึงพระธรรม เข้าถึงพระสงฆ์ การเข้าถึงนี่ อาตมาก็เคยอธิบายว่าเข้าถึงอย่างไรน่ะ คิดว่า เอาไว้อธิบายตอน เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นี่อาตมาเอาไว้อธิบายตอนก่อนฉันดีกว่านะ อาตมาต้องอธิบาย เพราะว่านึกอยู่ตั้งแต่เมื่อวาน ที่พูดตอนรายการ และต้องอธิบายอันนี้ด้วย เพราะว่ามันเกี่ยวเนื่องกันไปหมดเลย ไม่เช่นนั้นคุณไม่รู้ การเข้าถึง หรือการเป็น ขยายความ เป็นนักเป็น อย่าเพียงได้เช่นนักปราชญ์เท่านั้น จะขยายอันนั้น เพราะอาตมาให้โศลกนี้ไว้ ต้องขยายอันนี้ สรุปงานพุทธาฯ เพราะว่าจะหมดแล้ว ปลุกเสกฯ ก็ผ่านไปแล้ว พุทธาฯก็แล้ว ขมวดอันนี้ ไว้อธิบายตอนก่อนฉัน ตอนนี้ก็ผ่านไปก่อนว่า เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์จริงๆ กว่านี้

อันนี้แหละ มีอานิสงส์สูงกว่าคนที่จะไปทำจตุทิสาสังฆิกะวิหารทาน เพราะฉะนั้น จะเป็นฆราวาส ก็ตาม จะเป็นพระก็ตาม ยิ่งเป็นฆราวาสด้วย คุณมีอามิสทาน คุณจะไปทาน จตุทิสาสังฆิกะ วิหารทาน ว่าเป็นทานที่มีอานิสงส์สูง เป็นสังฆทาน เป็นสังฆทานใหญ่อยู่ก็ตาม ทำตนให้เข้าถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ได้นี่ มีอานิสงส์สูงกว่า ไปมัวแต่ทำจตุทิสาสังฆิกะวิหารทาน อยู่นั่นน่ะ

ผู้ที่ทานน้อย แต่ได้อานิสงส์มากเช่นสังฆทาน ถือเป็นการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ เพราะลงทุนน้อย แต่ได้ผลตอบแทนสูง อันนี้แตกต่างจาก Direct sell อย่างไร

แหม มันเยอะเรื่องเลยนะนี่ สมัยพระพุทธเจ้าอธิบายน้อย เพราะเรื่องมันน้อย สมัยนี้ต้องอธิบาย มากเรื่องมาก ยากส์จริงๆ เกิดเป็นพระโพธิสัตว์นี่ ยากกว่าพระพุทธเจ้า จริงๆนะ นี่เห็นไหม มันเหลี่ยมคูดีซิ ลงทุนน้อยๆ อานิสงส์มาก เราก็แสวงหาแต่ที่ลงทุนน้อยๆ ผู้ใดขาดเข็ม ถึงต้องถวาย มันถูกนี่นะ แต่ได้อานิสงส์มากนะ แล้วไม่หาทำอย่างนี้ ได้อานิสงส์มากก็เลยไปตั้งภพตั้งค่าไว้ เราได้ อานิสงส์มากแล้ว เพราะเราทำถูก นี่เราทำ เราถวาย...สิ่งที่ราคาถูก แต่ว่า อยู่ในพุทธบริษัทจริงๆ ก็ไปเสาะแสวงหา นั่นเลือกบุคคลเหมือนกัน เลือกบุคคลที่มันมี ประเด็นว่า ผู้ที่ขาดแคลนสิ่งที่ ราคาถูกๆ ให้มันลึกลงไป ก็คือขี้เหนียว ไม่ได้สละจริงหรอก ทั้งๆที่ตัวเอง มีเงินมากด้วยซ้ำไป แต่หาทางได้เปรียบตรงที่ว่า ก็ท่านบอกไว้ว่า อานิสงส์สูงนี่หว่า เราก็ฉลาด เราก็ต้องหาทางจ่าย น้อยๆ ซิ แล้วได้อานิสงส์สูง อานิสงส์แปลว่าอะไร ประโยชน์ ก็ประโยชน์แค่เข็มนะ โถ! ไปช่วยท่าน ไปทานให้แก่ท่าน ประโยชน์แค่เข็ม จริง เป็นความจำเป็นของผู้นี้ในช่วงระยะนี้ แต่คุณค่า มันก็ซ้อนเชิงอีกว่า มันไม่ใหญ่เท่าไหร่หรอก สร้างวิหารจริงๆ จะอานิสงส์สูงกว่าไปถวายเข็ม เพราะวิหาร ใช้งานมากกว่า แค่ผู้เดียวนี่ แค่เสื้อขาด ชุนแล้วเดี๋ยวก็ใช้ หรืออังสะขาด ก็ชุนเดี๋ยวก็ใช้ ก็แค่นั้นเอง อู๊ ยาวอธิบายไปอีกก็ยาวนะ เอาละ อาตมาคิดว่า ผู้มีปฏิภาณคิดอย่างนี้ออก คงไม่ต้อง สงสัยอาตมาที่จะอธิบายหรอกน้า คิดได้ขนาดนี้คงเข้าใจเอง ในแนวลึก จะไปเปรียบ กับบอกว่า อันนี้แตกต่างจาก Direct sell ไหม ถ้าคิดเล็กคิดน้อยเหมือนกับ Direct sell ขี้โลภมากๆ มันกลับกันเท่านั้นเอง ลงทุนแต่น้อย ฉันจะได้ทำงานเบา จะได้รับรายได้เยอะ หมุนกลับเท่านั้นเอง นี่ไปเสียสละน้อย เพื่อจะได้นามธรรมเยอะๆ ไอ้นี่ชักจะได้แสดงนามธรรมออกน้อยๆ แล้วฉันจะได้ วัตถุธรรมเยอะๆ Direct sell ออกแรงงานน้อยๆ ฉันจะได้วัตถุทรัพย์เยอะๆ มันกลับกัน ไอ้นี่ สละวัตถุทรัพย์น้อยๆ ฉันจะได้นามธรรมเยอะ ซึ่งมันก็ไม่จริงเท่าไรนะ

ข้อ ๑๕. การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือเว้นขาดจากปาณาติบาต ศีล ๕ สรุป ฯลฯ

บุคคลที่เลื่อมใส สมาทาน เลื่อมใส ตอนแรก แค่เห็นดีเห็นชอบเข้าถึง ขอเข้าถึงมีจิตใจแค่นั้น ยังไม่ลงมือปฏิบัติ ทีนี้เลื่อมใส ถึงขั้นปฏิบัติสมาทานศีลเลย เอาศีลมาปฏิบัติประพฤติ ตั้งแต่ คืองดเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน ศีล ๕ คนที่ปฏิบัติศีล ๕ ขึ้นไปทันทีนี่แหละ มีผลมากกว่า การที่บุคคล มีจิตเลื่อมใสพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ถ้าคุณเป็นโสดาบันมาแต่เดิม คุณเลื่อมใส แต่คุณยังไม่ปฏิบัติศีล ๕ ยังด่างพร้อย ยังไม่ตั้งอกตั้งใจอยู่นะ และไม่ตรวจไม่ตรา ว่าศีล ๕ เราได้หรือไม่ คุณยังไม่มีระบบ คุณยังไม่มีหลักของศีล ยังไม่มีอะไรเลย ถึงแม้คุณจะ เป็นโสดาบัน มาแต่ชาติปางก่อน คุณก็ยังไม่มีอานิสงส์สูง เลื่อมใสก็เลื่อมใสนะ บอกว่าดี ก็แค่เลื่อมใส นี่เลื่อมใสธรรมดานะ เลื่อมใสแล้วคุณเองจริงๆ แล้วคุณมีฐานถึงโสดาบันมาแต่ก่อน ด้วยซ้ำก็ตาม ถ้าคุณเอง คุณมีสติสัมปชัญญะรู้ตัวขึ้นมาว่า เอ เราเลื่อมใสแล้ว เราควรจะตรวจตน ไหม มันเข้าหาตัว ควรจะตรวจ ควรตรวจ แล้วเราแม้ศีล ๕ เราได้ทำแล้วหรือยัง ยังน้า เอ้า! ตั้งใจ สมาทานศีล ๕ เอามาปฏิบัติ ถ้าคุณเป็นโสดาบัน ศีล ๕ มันก็ง่าย ทำปุ๊บ แทบจะถ้าคนคนนี้ มีบารมี แล้วปั๊บ ก็ได้ปุ๊บ ก็เข้าข้อ ๑๕. แต่ถ้าคุณยังไม่เป็นโสดาบัน มีโสดาปฏิมรรค สมมุติว่า คุณก็มาปฏิบัติ อีกหน่อย ก็เป็นโสดาปฏิผล ก็คือเข้าข้อ ๑๕ มีอานิสงส์ยิ่งกว่า แค่เลื่อมใส เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แค่ศรัทธาหรือทิฐิความเห็น แค่ศรัทธา แค่เชื่อถือ มาเป็นเชื่อฟัง มาปฏิบัติตาม ศรัทธินทรีย์ คุณก็จะเชื่อมั่นจะสูงขึ้น ข้อ ๑๕ ก็จะสูงขึ้นด้วยนัยดังนี้ คุณเข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ลึกขึ้นกว่านั้น แต่ก่อนนี้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แค่เลื่อมใสเห็นด้วย ยังไม่ถึงศรัทธินทรีย์ ยังไม่ถึงเชื่อฟัง ยังไม่ปฏิบัติตาม ยังไม่ได้สมาทานสิกขาบท ยังไม่ลงมือปฏิบัติ ถ้าสมาทานสิกขาบท ลงมือปฏิบัติด้วย เข้ามาข้อ ๑๕

ทีนี้ข้อ ๑๖ เป็นข้อจบเลย การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต โดยที่สุด แม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าที่บุคคลมีจิตเลื่อมใส สมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต หมายความว่า ผู้มีศีล ปฏิบัติศีลจนบริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นบารมี ทาน ศีล เนกขัมมะ ได้สละออก ปัญญาแล้วก็มีวิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เสริมซ้อน จนกระทั่งเป็นจิตเมตตาจริงๆ เป็นผู้ทาน เป็นผู้ให้ เป็นผู้มีจิตพระเจ้า นี่คือเจริญเมตตาจิต โดยที่สุดแล้ว ได้เจริญเมตตาจิตขึ้นมา ซึ่งเป็นตัวเนื้อของ เมตตาจิตจริงๆ นี่มีผู้แถมมาให้ ในกูฏทันตสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๙๙ - ๒๓๘) สูตรนี้บอกว่า ใช้ทรัพย์น้อยกว่า ตระเตรียม น้อยกว่า มีผลมากกว่า มีอานิสงส์มากกว่า ที่อาตมาว่าเมื่อกี้นี้ สูตรนี้ ที่มีคนมาทูลถามว่า จะทำทานอะไร ใช้ทรัพย์น้อยกว่า แล้วก็ตระเตรียมน้อยกว่า แต่มีผลมากกว่า มีอานิสงส์สูงกว่า ก็อย่างนี้แหละ ที่อาตมาอธิบายว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่า จตุทิสาสังฆิกะวิหารทานซิ เหนือกว่าสังฆทาน ที่ระบุบุคคล ที่ทานแก่พุทธบริษัท เท่านั้น

ข้อ ๑๖.ข้อสุดท้ายนี่ บุคคลเจริญเมตตาจิตจริงๆ เกิดสัจจะด้วยเมตตา ไม่ใช่เมตตาด้วยการสังวร เราอยากจะช่วยผู้อื่น ด้วยการฝืนๆใจ เราไม่เมตตาจริง ไม่ปรารถนา มันต้องเราอ่านอาการจริงๆ ของใจคน โอ๊ คนที่เราอยากช่วยให้พ้นทุกข์ ใจจริงๆ แม้ที่สุดคุณต้องตรวจใจของคุณให้ดีว่า คนที่เมตตาโดยไม่มีประมาณนี้นะ แหม! ภาษานี้เป็นภาษาที่เลวร้ายอันหนึ่งเหมือนกัน เมตตาไม่มีประมาณ หาเรื่องทุกข์มาให้อาตมาอยู่เยอะเหมือนกัน ไปเที่ยวได้เมตตาใครก็ไม่รู้ ก็ไม่รู้ไปเมตตา อยากจะช่วยไปหมด ไปหอบคนเข้ามาในนี้ กเฬวรากที่ไหน ข้างถนนรนแคม ในคูในคลอง เห็นเขาตกระกำลำบากอะไรหอบมาหมด แล้วไปเอาผีเอาสางอะไร มากองในที่นี้หมด เดี๋ยวก็ยุ่งกันใหญ่ คนเขาสอนไม่ได้ก็ไม่รู้ คนเขาจะมีภูมิมีอะไร พอเป็นได้ก็ไม่รู้ แล้วเราก็ยังตั้งตัว ตั้งตนอยู่อย่างนี้ ยังไม่มีแรงพอจะจัดคุกไว้ส่วนหนึ่ง จัดตะรางไว้ส่วนหนึ่ง แล้วก็จัดบ้านเรือน ไว้ส่วนหนึ่ง อย่างนั้นก็พอทำเนา นี่เรายังไม่มีสิทธิ์ที่จะสร้างคุกด้วยนะ ยังไม่ได้ อันนี้พูดไป ก็มีเรื่องเยอะเยอะนะ นักบริหารแบบนี้ยากๆนะ

มีข้อ ๑๗.อีกเหรอ ...อ้าวๆดี เติมมาก็ดี ทันกาลพอดี ตรวจตราไป ด้วยตำรา ขนาดตรวจตรามาแล้ว จดมาแล้วนะ อาตมาก็ตามนี้ อาตมาเป็นผู้ไม่เก่งตำราอย่างที่ว่าละ อาศัยตำราท่าน ท่านว่าจบก็จบ พอสุดท้ายมา เอ้า ตำราหัก ขาด ดีว่าตรวจตำรามาให้ ไม่งั้นอาตมาก็คงเอาแค่นี้

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดจิตเมตตาจริงๆนี่นะ ปฏิบัติบารมีนี้ จิตนี้เป็นตัวจริง อาการเป็นตัวจริง ถ้าได้เกิดจิตเมตตานี่จริง นั่นแหละอานิสงส์สูงกว่าที่ทำทาน แม้จะประพฤติตน ผู้ที่มีแต่ไม่บริจาค เห็นไหม ปฏิบัติศีลแล้ว คุณก็ได้ผลของตน ใช่มั้ย ขัดเกลา ละล้างใช่ม๊า แต่ไม่เห็นแก่ผู้อื่น ไม่เมตตานั่นเอง ไม่กรุณา ไม่มุทิตา ไม่อุเบกขา ไม่เป็นพระธรรมกถึก ไม่เกื้อกูล ไม่เผื่อแผ่ผู้อื่น ได้แต่ตัวได้แต่ตน มันก็เป็นแค่อัตตา อัตตนียา เป็นกูของกู แต่ไม่เป็นตัวสมบูรณ์ ที่จะต้องบริบูรณ์ ด้วยองค์นั้น จะต้องให้เขา เพราะต้องเป็นพระธรรมกถึก ต้องเป็นผู้แจกจ่าย เจือจาน จะเป็นพระธรรมกถึก หรือไม่พูดแต่ทำ มีเมตตาลงมือทำเลย กายกรรมเลย เราแสดงธรรมแก่ผู้อื่น เป็นพระธรรมกถึก ทางกายกรรมให้แก่ผู้อื่น ช่วยเหลือเฟือฟาย หรือเป็นตัวที่ปฏิบัติอย่างดี มีกรรมกิริยาสร้างสรร ช่วยเหลือ ทำงานอะไรๆ ให้แก่ผู้อื่นอยู่ พูดอธิบายไม่ค่อยเป็นก็ได้ ธรรมทานนี่ อาตมาเคยพูดนะ พระธรรมกถึกจริง แสดงธรรมมันถูก แสดงธรรมนี่มันมาก แสดงธรรมมันลึกซึ้ง แสดงธรรมนี่ช่วยผู้อื่นได้เยอะกว่าทำให้ดูเท่านั้น เพราะมันไม่ละเอียดพอ ทำให้ดูมันเป็นรูปเป็นร่าง บางทีมันเข้าใจยาก แต่มันก็มีน้ำหนักสูงนะ ทำให้ดู

เพราะฉะนั้น พระธรรมกถึกจริงๆ ทั้งทำและพูดจะสมบูรณ์ ถ้าได้แต่พูด แต่ตัวทำย้อนแย้งด้วย อย่างนั้นไม่จริงเท่า จะทำลายตนในตัว ได้แต่ทำ แต่ก็พูดไม่ถูก พูดไม่ตรงกับที่ทำ ทำนะถูก แต่พูดกลับขัดแย้งกับที่ทำ มันก็เสียผลอีกแหละ เพราะฉะนั้น จะต้องสอดคล้อง ทั้งพูดและทำ มันจึงจะสมบูรณ์นะ พระธรรมกถึก จะต้องเผื่อแผ่เขาอย่างนี้ ต้องมีเมตตา ต้องเกื้อกูลอย่างนี้ จึงจะสมบูรณ์

เพราะฉะนั้นผู้มีเมตตาจิต จะมีผลมากกว่าแค่เลื่อมใสศรัทธาสมาทานคือ สมาทานศีล สมาทานสิกขาบท และปฏิบัติได้ประโยชน์เท่านั้น ทั้งได้ประโยชน์ตนด้วย ทำทานให้แก่ผู้อื่นด้วย ต้องมีเมตตาเกื้อกูล ด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ด้วยนะ จึงจะสมบูรณ์ จึงจะมีอานิสงส์ มากกว่า

ต่อมา ข้อสุดท้ายจริงๆ การที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่า การที่บุคคลเจริญเมตตาจิต ด้วยที่สุดแม้เพียงสูดดมของหอม หมายความว่า ผู้ที่เกิดจิต เกิดสัญญาเจตสิก เกิดตัวที่ทำได้ทำเป็น ในความจริงนะ ทำได้สัญญานี่นะ สัญญานี่ ที่จริงสัญญาก็แปลว่า รู้ เป็นตัวจิตตัวรู้จริงๆ ญายะ ตัวนี่ เป็นธาตุของญาณ เป็นธาตุของปัญญาก็ได้ เป็นธาตุของตัวจริงที่เกิดจริงในจิต เป็นตัวที่รู้รอบ รู้จริง รู้ลึกนะ เพราะฉะนั้น การกำหนด การที่รู้ลงไปในญาณนี่ เป็นสัญญาด้วย ยิ่งจำได้ด้วย ยิ่งไม่ลืม ไม่เลือนด้วย ยิ่งกำหนดรู้สภาพเข้าไป สมบูรณ์ด้วย นั่นคือสัญญาอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้น ผู้ใดเห็นอนิจจัง และมีอนิจจังของตนเอง ที่ตนเองเห็นว่า ฉันไม่ได้ติดยึดอะไรเลย ความไม่เที่ยง ความไม่จริง อะไรๆ ก็เห็นชัดเจนว่า ไม่เที่ยงไม่จริง แม้เราจะจริงในสิ่งที่ควรเที่ยง เราควรทำกุศล ให้เที่ยงให้นาน แต่โดยสัจจะมันไม่เที่ยง สร้างให้มันไม่เที่ยง ให้มันคงทน มันถาวร สร้างกุศล เราเป็นผู้สร้าง แม้สร้างแล้ว เราก็อนิจจัง สร้างแล้วให้เที่ยง สร้างกุศลให้เที่ยง แต่เราก็ไม่ติด ตัวเที่ยงนั้นว่า เป็นเราเป็นของเรา นี่คือ ผู้ที่ไม่เที่ยงกับของเที่ยง ฟังไหวไหม เราวางเราปล่อย เราไม่หลงเป็นตัวเราเป็นของเรา อันนี้เที่ยง อย่างศาสนาคริสต์ เขาสร้างว่า พระเจ้าเที่ยง พระเจ้านิรันดร์ เราจะมีชีวิตนิรันดร์ไปอยู่กับพระเจ้านิรันดร์ นั่นคือ เขาเที่ยงกับสิ่งที่เที่ยง แต่ของเราพุทธ เราจะพยายาม เรารู้ซ้อนลึกอยู่ว่าอะไรก็ไม่เที่ยง ความดีก็ไม่เที่ยง พระเจ้าคือ ความดีที่สุด โลกควรจะมีความดียั่งยืนนานที่สุด แต่ศาสนาพุทธรู้แจ้งลึกกว่านั้นว่า ในยุคกาล บางยุคกาล ไม่มีพระเจ้า ไม่มีความดี มีแต่กลียุค มีแต่ความเลวร้ายของมนุษย์ พระเจ้าไม่เหลือพระเจ้า พระเจ้าหมดค่า พระเจ้าหมดท่า พระเจ้าหายไปไหนก็ไม่รู้ เขาก็บอกว่า พระเจ้าตายแล้ว นั่นแหละไม่มียุคอย่างนั้น ไม่มีพระเจ้า ไม่มีความดี ศาสนาพุทธรู้ว่า วาระที่จะ ไม่มีความดี เพราะความดีมันไม่เที่ยง มีอยู่เหมือนกัน แต่เราต้องพยายามให้ความดีถาวร ยืนนานด้วย สามารถด้วยการกระทำ ให้มันได้อยู่คงทน จะคงทนได้ เพราะว่าสร้างมัน ต้องพยายามช่วยกัน ให้คนมีความดีงามมากๆๆๆ เท่าที่เราจะอุตสาหะ วิริยะได้ ทำเต็มที่ แล้วก็จบ สร้างได้แล้ว พระพุทธเจ้า สร้างไว้แล้ว อาตมาก็เกิดมาสร้างต่อ มาทำต่อ สร้างไว้ได้เท่าไหร่ก็เท่านั้น และอาตมาไม่ติดตัวเที่ยงนี้ ความดีนี้จะดำเนินต่อไป ไปเลย อาตมาตายแล้ว ไม่อาวรณ์อาลัย หาย ไม่เที่ยงกับความเที่ยง ไม่ไปอยู่กับพระเจ้า ไม่ไปนิรันดร์กับพระเจ้าอันนั้นหรอก นี่ คือคุณลักษณะ นี่คือสภาพแท้ที่ต่างกันจากศาสนาคริสต์ ศาสนาคริสต์เขาเที่ยง เขาติดตาม เขาไปอยู่ด้วย ของเขาจึงแน่นหนามากกว่า แต่สัจจะที่ลึกมันต่างกัน มันไม่เป็นสัจจะแท้ แต่ก็เป็นคุณค่าที่ดีนะ อย่างศาสนาคริสต์ เพราะฉะนั้น เขาก็เอาความดี เขาพยายามสร้างตัวดีๆไว้ แต่มันไม่สูงกว่านั้น มันไม่จบกว่านั้น มันไม่สุดท้าย มันไม่ปรินิพพาน

ศาสนาพุทธมีปรินิพพานอย่างนี้ เราก็อนิจจัง แล้วก็ไม่เที่ยงด้วย ไม่อัตตาด้วย เราไม่เป็นตัวตน กับของเที่ยง อันนั้นหรอก เราวางเราให้ นั่นไม่ใช่ของเรา ทั้งที่ของเราสร้างนี่แหละ เราก็วาง ไม่ใช่ของเรา ทั้งๆที่อันนั้นเราให้เที่ยง เราทำเที่ยงได้เท่าไร ก็เที่ยงไป แต่เราเลิกเที่ยงกับอันนั้น ไม่เที่ยงกับอันนั้น มีของพุทธมันลึกขนาดนี้นะ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดถึงขั้นอนิจจสัญญา แม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือเดียว ได้ลึกซึ้งขนาดนี้ มีผลมากกว่า บุคคลที่เจริญเมตตา เมตตาคือสร้าง บอกแล้ว อุเบกขาวาง วางได้นั่นแหละคืออนิจจัง คือไม่เที่ยง ฟังภาษานี้ออกไหม มาถึงขั้นนี้แล้ว อาตมาสื่อภาษาออกมาถึงชั้นนี้ตามบัญญัติ แล้วก็ตามสภาวะ เข้าไปดูดีๆ อุเบกขาก็คือ วาง พอเมตตา กรุณา ทำ มุทิตาได้ดีแล้ว เข้าใจแล้ว ตรวจสอบ ความดีแล้ว เออ ดีแล้ว อนุโมทนาดีแล้ว อุเบกขาวาง วาง พอได้วางเราก็ไม่ตาม ไม่เที่ยงตาม แล้วใช่มั๊ย เราก็อนิจจังแล้วใช่มั้ย เราก็ไม่เที่ยงตามคุณแล้ว อนิจจสัญญานี้ จึงสูงส่งกว่า แค่เมตตาสร้าง ตัวเมตตาคือสร้างอันนั้น แล้วก็เป็นอันนั้นไปแล้ว อันนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อันนั้นก็เป็นอนัตตา เรานี่เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราก็อนิจจังออกมา เราก็ไม่เที่ยงด้วย แต่คุณจงเที่ยงเถอะ เราสร้างให้เที่ยง ให้ถาวร ให้แข็งแรงได้เท่าไร ก็เท่าที่เราสร้าง คุณช่วยกันสร้างให้แข็งแรง ให้ถาวรเท่าไหร่ มันก็ช่วยกันสร้างสิ่งอันถาวรแข็งแรงไป จนเราถอนตัว ลึกซึ้งมั้ย ฟังไหวมั้ย

เอ๊ คุณเก่งหรืออาตมาเก่ง อาตมาว่าธรรมอย่างนี้ ไม่ใช่พูดกันได้ง่ายๆ และไม่ใช่ว่าจะมีแสดงง่ายๆ ไม่มีเวลาวาระได้แสดงกันจริงๆ ไม่แสดงนะ ที่อาตมาตั้งใจจะแสดงในครั้งคราว ก็เห็นว่าเป็นฤกษ์ดี พุทธาภิเษกฯ ปลุกเสกฯ อะไรนี่ ก็เอาอย่างนี้มาสำคัญ มาทำในกาละสำคัญ มีเวลา ๗ วัน และคุณก็ไม่ต้อง กังวลคำนึงคำนวณอะไรงานโน่นบ้าง งานนี้บ้าง ไอ้โน่นบ้าง ไอ้นี่บ้าง มาตั้งอก ตั้งใจศึกษา และพยายามฟัง ตั้งสมาธิดี ให้ติดต่อ ต่อเนื่อง มีอินทรีย์พละ ตั้งอก ตั้งใจเบิกบาน ร่าเริงฟังดีๆ ก็ได้รับ แม้จะได้รับฟังมันก็ยังดีแล้ว เป็นบุญหูแล้ว ยิ่งรับได้ยิ่ง โอ้โห อย่างนี้เหรอ เราได้แล้วมีแล้ว ถ้าใครได้มีสิ่งที่สูงสุด ที่อาตมากล่าวนี้ อรหันต์นั่งโจ้โก้อยู่ตรงนี้ ชี้ไปข้างหน้า อาจจะไม่เท่าไหร่ นั่งอยู่ข้างหลังนี่ อรหันต์โจ้โก้อยู่ข้างหลังนี่ จริงๆนะ ไม่ใช่เรื่องเล่น อาตมาไม่ใช่พูดเล่น เรื่องจริง ถ้าคุณมีสภาวะแล้วถึงจริง มันยังไม่เกิดปัญญาวิมุติเท่านั้น มันมีเจโตวิมุติแล้ว มันก็ ฮ้า! เราเป็นพระอรหันต์แล้วหรือนี่ ฮ่า ใช่ คุณจะชัดจริงๆ ญาณปัญญา วิมุติญาณทัสสนะ เกิดทันที ก็หวังว่าจะมีนะ

อ้าว พอดี ก็หมดเรื่องนี้

ทีนี้ ก็เข้าสู่ปัญญา ปัญญาเป็นตัวจบ ตัวถอนอนุสัย เป็นตัวถอนอาสวะ พร้อมกันนั้น ปัญญามันจะเกิดตามมาทุกตัว ต้องใช้ปัญญาประกอบร่วมทุกอัน ญาณสัมปยุตตังทุกอัน อันใดไร้ปัญญา ก็งมงายทั้งนั้น มันต้องมีปัญญา ต้องมีความรอบรู้ ต้องมีความรู้จริง รู้แต่แค่เหตุผล บัญญัติ จนกระทั่งรู้ถึงสภาวะ จนกระทั่งหรือรู้ความเป็นความมี ความเกิดของเรา เราเกิดอย่างนี้ เราเป็นอย่างนี้ แล้วรู้จริงๆว่าเกิด รู้จริงๆว่าเป็นได้แล้ว โดยที่เรียกว่า ไม่หลงผิดด้วยญาณของเราเอง รู้แจ้งเห็นจริง ของเราเองจริงๆ ว่า ด้วยเหตุปัจจัยให้ได้ปัญญา ๘ ประการ

เหตุ ๘ ประการ ปัจจัย ๘ ประการ นี่ย่อมเป็นไปเพื่อได้ปัญญาอันเป็น เบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่ยังไม่ได้ เพื่อความงอกงามไพบูลย์ เจริญบริบูรณ์แห่งปัญญา ที่ได้แล้ว คือไล่ดีๆนะ อาตมาจะมีเวลาน้อยแล้ว ค่อยๆจะไล่ดีๆ ตั้งใจฟังดีๆ ยกสติสัมปชัญญะขึ้น ขับนิวรณ์ ฟุ้งซ่าน และ ถีนมิทธะออกไปให้มาก ตั้งใจฟัง

๑.ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อาศัยพระศาสดา หรือเพื่อนพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่ง ผู้ตั้งอยู่ในฐานะครู ซึ่งเป็นที่เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก และความเคารพไว้อย่างแรงกล้า เมื่อวานนี้ ก็พูดบ้างแล้ว เราจะมีครูคนใดคนหนึ่ง เราไม่ได้เป็นปัจเจก เป็นสาวกภูมิ เราก็จะต้องมีครู นั่นใช่ จะมีครู เมื่อได้ครูผู้นี้ละเป็น สัมมัคคตา สัมมาปฏิปันนา เย อิมัญจะโลกัง ปรัญจะโลกัง อย่างที่ว่า เอ๊ ผู้นี้เป็นอริยะแน่ ผู้นี้มีภูมิธรรมมีอริยคุณมี พุทธธรรม มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ที่ชัด เราศรัทธาเลื่อมใสจริงๆ แล้วคุณก็อาศัย อาศัยพระศาสดาก็ไม่อยู่แล้ว ก็อาศัยเพื่อนพรหมจรรย์ หรือเป็นครูจริงๆ เป็นครูบาอาจารย์จริงๆ เพื่อนพรหมจรรย์ก็ด้วย ปฏิบัติพรหมจรรย์ร่วมกัน เพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหมดนี่แหละ ผู้ใดที่มีสภาวะแท้ เราก็เข้าไปตั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก ภาษานี่ชัด ความศรัทธาผู้นี้ว่าเป็นครู ศรัทธาว่าผู้นี้เป็นผู้นำ เร ศรัทธา เราเชื่อถือในผู้นี้ การเชื่อถือนี่เราจะเคารพ เราจะละอายที่จะไปละลาบ ละล้วง เราจะมีคารวะผู้ที่เราศรัทธา จะมีคารวะ ใครมาละลาบละล้วง ใครมาดูถูก โดยเฉพาะถ้าแม่นเป้าเลยนะ ใครจะมาตบหัว ผู้ที่เราคารวะ เราจะไม่ถือเท่าไร แต่ถ้าใครมาละลาบละล้วงสัจธรรม ในผู้ที่เราเคารพนับถือ เราจะถือมากกว่า ฟังดีๆ

แต่ผู้ที่ยังติดทั้งรูปและนาม ใครมาละลาบละล้วงสัจธรรมของผู้ที่เราคารวะ แน่นอนเราถือ ใครเพียงมาตบหัวเอาด้วย เอาด้วย เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีศรัทธาถึงขั้นยังถือทั้งรูปทั้งนามนี้ด้วย ก็มีอยู่ ส่วนผู้ที่วางใจได้ว่า เออ! รูปก็รูป แค่นั้น ไม่เป็นไรหรอก ไอ้คนนี้มันละลาบละล้วงจริงน้า ก็จะรู้ความจริง ดูมันไม่ควร จะยิ่งวัฒนธรรมไทย มาตบหัวตบเบื้องสูงเล่น ถือว่าหัวเป็นส่วนสูง ไอ้พวกนี้มันละลาบละล้วง หมื่นทะลึ่ง มันไม่สมเหมาะสมควร ไม่ แม้วัฒนธรรมของคนไทย ก็ยังไม่มี เราก็จะรู้ ถ้าเราจะถือสา เราก็จะปราม แต่ใจจะไม่โกรธหรอก แต่ถ้าคนยังติดทั้งรูป และ นามอยู่ ก็โกรธได้ถือได้

เพราะฉะนั้น คนที่ศรัทธาคนคนนี้ ไม่ติดรูป ก็จงรู้ตัวว่าไม่มีปัญหาเท่าไรหรอก แต่ชัดเจนไหมว่า เราคารวะในสิ่งที่ท่านมี นามธรรมที่ท่านมี แล้วเราจะเอานามธรรม หรือคำสอนที่ท่านสอน สิ่งดีที่ท่านมีให้ เราจะเอาอันนี้มาเป็นเรา มาปฏิบัติประพฤติให้เป็นเราให้ได้ ให้เรามี เราเป็นอย่างนั้นให้ได้ เพราะฉะนั้น เราจะรู้สึกคารวะ รู้สึกละอาย เกรงกลัว เพราะเรายังไม่ดี อย่างที่ท่านดี เรายังไม่มีอย่างที่ท่านมี คนเรามีสิ่งที่ไม่ดีในตัวเอง ก็ละอายสิ่งไม่ดีในตัวเอง เพราะฉะนั้น ก็ไม่แข่ง ไม่กล้าแข่ง จะละอาย จะเกรงกลัว ท่านมีสิ่งที่ดีเหนือเรา ข่มเราอยู่ ก็จะเกิด ทั้งความละอาย ความเกรงกลัว ความรัก ความรักก็หมายความว่าความนับถือบูชา นับถือบูชา ก็มีลักษณะเหมือนคารวะ มีลักษณะลึกซึ้งอย่างนั้นเหมือนกัน บูชาก็ไม่ใช่ว่า จะนั่งพนมมือ เชิดเอาไว้อยู่ อย่างนี้แค่นั้น ไม่ใช่ แต่ก็ใช่ด้วย ถ้าคนที่ยังติดรูปติดนามก็ใช่ เพราะฉะนั้น เขาบูชา จึงไม่ได้บูชาแค่คน มันน่าบูชากว่ารูปปั้น

คนที่มีปัญญาดีแล้วบอก โอ้ คนนี้เป็นสมณะ หรือว่าเป็นครูอาจารย์ เป็นผู้ที่ในฐานะครู ครูที่จะถ่ายทอด ที่จะให้คุณธรรมเราได้ยิ่งกว่ารูปปั้น รูปปั้นนี้แม้จะสมมุติว่า รูปปั้นของพระศาสดา แต่จริงๆแล้ว ผู้มีปัญญา รูปปั้นไม่ได้ให้อะไรเรามากกว่าครูหรอก เพราะฉะนั้น คนนี้จะไปขี่หัวรูปปั้น กับคนนี้ คนทำไม่ดีนี่ไปขี่หัวรูปปั้น กลับมาเขกหัวครู เราจะรักษาสถานะของครู มากกว่าเขกรูปปั้น แม้จะเป็นรูปปั้นพระพุทธรูป ฟังชัดมั้ย เข้าใจมั้ย เพราะเรารู้จักสาระ รู้จักความสำคัญที่สำคัญ ยิ่งกว่ากันชัด

นี่ก็เป็นเรื่องที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ ผู้ใดที่ยังฟั่นๆเฝือๆ ยังไม่ค่อยแม่นเป้า มันก็จะเป็นอย่างนี้ สับสนไปมา เราก็อย่าไปถือสากันมาก เราเข้าใจเขาก็แล้วกัน เขายังยึดถืออะไรๆ แค่ไหนก็ไว้ละ เท่านั้นๆนะ ใครที่ชัดเจนแล้ว เขาก็จะไม่มีปัญหา ไม่ทุกข์ ไม่ร้อนใจอะไรหรอก แหม คุณจะไปดูสิ นี่ไม่ขี่หัวพระพุทธรูปขี่คอ ดีไม่ดีผู้หญิงด้วย โอ้โห อะไรนี่ โกรธ แต่ครูที่เราเห็นว่า ผู้นี้เป็นสงฆ์สาวก ของพระพุทธเจ้า เป็นครู เป็นเพื่อนสหพรหมจรรย์ที่มีค่ายิ่งกว่า ถ้าเขาไม่เคารพนับถือ ไม่คารวะ และเรารักผู้นี้กว่า เราจะรักษาผู้นี้ยิ่งกว่า เพราะฉะนั้น พระพุทธรูปเอาไปเลย แต่อย่าเอาคนผู้นี้ไป นะ เราจะหวงแหนคนผู้นี้กว่าพระพุทธรูปด้วยซ้ำ เรารักคนคนนี้มากกว่ารักพระพุทธรูปด้วยซ้ำ นี่พระพุทธรูป รูปแทนสิ่งแทน แต่จริงๆแล้วไม่ได้ให้อะไรมากกว่านั้น เราพูดอย่างนี้กับพวกคุณได้นะ เดี๋ยวไปพูดกับพวกที่ไม่ค่อยรู้เรื่องบอก ไอ้นี้มันลบหลู่พระพุทธเจ้า มันมายกย่องมนุษย์ เหนือกว่า พระพุทธเจ้าอีก เหมือนกับทางศาสนาคริสต์ ไปลบหลู่พระเจ้า ไปยกคนเหนือกว่าพระเจ้า ทางพุทธเราบอกว่า คนนี่แหละเหนือกว่าพระเจ้า คนนี่แหละจะยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าพระ เจ้า ถ้าคริสต์ฟังหูหักเลย โกรธแน่ อย่างนี้เป็นต้น ก็อยู่ที่ภูมิธรรมของใครจะรับขนาดไหน

๒. เข้าไปหา อาตมาจะอ่านรวดๆไป เพราะมันไม่มีอะไรมาก ถ้าเราแน่ใจ มั่นใจ มีปัญญารู้ดีว่า นี่คือฐานะครู เราเป็นสาวกภูมิ เราจะต้องมีครู เพราะฉะนั้น ครูที่เราละอาย หรือที่เราเกรงกลัว หรือที่เรารัก เราก็จะทำอย่างนั้น เข้าไปหาแล้วไต่ถาม สอบถามเป็นครั้งคราว ฟังคำว่า ครั้งคราว ให้ดีนะ วันนั้นอะไรลัดคิว ลุยลัดคิว ระวังอย่าลุยลัดคิว อย่าลุยลัดคิว คิวนี้ให้พระท่านก่อน ยังไม่ใช่หน้าที่เรา ยังไม่ถึงคิวของเรา ก็ควรให้พระท่านเข้าใกล้ เข้าชิดก่อน เพราะท่านเป็นเหล่ากอ สมณะ ท่านควรได้ก่อน เรามันคิวหลัง อย่าลุยลัดคิว เพราะฉะนั้น สอบถามก็เป็นครั้งคราว สมณะมีคิวที่จะได้สอบถามมากกว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ สอบถามอะไรบ้าง ภาษิตนี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งภาษิตนี้ เป็นอย่างไร ท่านเหล่านั้น ย่อมเปิดเผย ข้อที่ยังไม่ได้เปิดเผย ทำให้แจ้ง ข้อที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง และบรรเทาความสงสัยในธรรม อันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย หลายประการ แก่เธอ สรุปแล้วก็คือ เข้าไปหาไต่ถาม และได้รับคำอธิบาย สรุปความก็เป็นอย่างนั้น ทีนี้เรื่อง ลุยลัดคิว หรือรู้จักคิวนี่ มันซ้อนเชิงมากนะ สมณะก็ตาม ได้ฟังธรรมมามาก มีปริยัติมาก แต่ปฏิบัติ ก็ยังไม่ค่อยได้เลย สหธรรมมิกมาใหม่ ก็ยังไม่ได้อะไรเลย ให้เขาเข้าก่อน เขาคิวถูกต้องแล้วละ ให้คิวเขาเข้า ไม่ใช่ลัดหรอก คุณละทำยังไม่ได้ ได้ไปเยอะแล้ว ก็ยังไม่ทำสักที ให้เขาดีกว่า คุณเอาไป ก็เท่านั้นนะ เลยก็เท่านั้น ดีไม่ดีปะโถ คำเก่าอยู่นั่นแหละ ยังหัวตื้ออย่างเก่า ลองคนใหม่ซิ เขาดู บางทีอาจจะอธิบายเรื่องเดียว คุณนะ คุณสว่าง โอ้ ที่จริงคนนี้เป็นสาวก ผู้ที่จะนำหน้าคุณ เสียก็ได้ มันซับซ้อนยิ่งกว่าที่อาตมายกตัวอย่างนี้เยอะ แต่ก็รู้ฐานะความควร เพราะฉะนั้น คำว่า "ครั้งคราว" คำว่าควรนี่ ก็ควรให้รู้จักจังหวะนะ

๓. เมื่อฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมทำความสงบ ๒ อย่าง คือสงบกาย และ สงบใจ ให้ถึงพร้อม ก็เมื่อฟังธรรมนั้นแล้ว ถ้าสิ่งที่เรามี เราก็จะสงบได้ทันที สงบกายก็ได้ สงบใจก็ได้ สิ่งที่เราไม่มี เราอาจจะเกิดสงบใจ ใจได้ฟังแล้ว โอ๊ สว่างสงบ มันสว่าง เออ! มันจบละ มันชัด มันก็จะค่อยยังชั่ว มันจะสงบลง ไม่ดิ้นอีกแล้ว อ้อ! อันนี้แจ้งรู้ดีแล้ว ไม่ต้องแสวงหาอีก ไม่ต้องดิ้นรน แต่กายมันยัง ไม่หยุดด้วย เอามาคุมกาย มาปฏิบัติเพื่อให้กายสงบ ถ้ากายมันก็สงบแล้ว แต่จิตยังไม่สว่าง กายก็ทำได้แล้ว เราก็ไม่โลภ ไม่โทสะ เราก็ไม่ทำ อะไรพวกนี้แล้วนะ แต่เราไม่แจ้งทางจิต มาเกิดปัญญาแจ้ง อ๋อ! เราทำได้แล้ว เจโตก็วิมุติแล้ว ปัญญารู้อีก เพราะเจโตเป็นประธาน จิตเป็นประธาน จึงจะควบคุมกายกับวาจา ให้หยุด ไม่ให้ละเมิดกิเลสได้ พอมันเข้าใจด้วยปัญญา กายมันสงบก่อนแล้ว ทำได้แล้ว แต่ปัญญายังไม่แจ้งว่าเราทำได้ พอฟังธรรม แจ้งด้วยปัญญาวิมุติ จบ กายก็สงบ จิตก็สงบ ๒ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น อันใดเกิด อันใดยังไม่ได้ ก็ต้องทำอันที่ยังไม่ได้ ให้มันได้ทุกอย่างไป

๔. เป็นผู้มีศีล เป็นผู้สำรวมระวังในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระ และโคจร ปกติเห็นภัยในโทษ แม้มีประมาณน้อย สมาทานสิกขาบท สมาทานอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เอาละ ไม่อธิบาย เมื่อวานนี้ ก็ย้ำแล้ว

๕. เป็นพหูสูต ทรงจำ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ทรงจำไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดได้ดี ด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลาย อันงามด้วยเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามในบั้นปลาย งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง อันนี้ก็หมายความว่า เป็นพหูสูต เป็นพหุสัจจะ เป็นผู้ทั้งรู้นอก รู้กลาง รู้ใน รู้จนกระทั่ง รู้แล้วก็เป็น แล้วก็ทำได้ จนรู้ว่า เราทำได้ เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ซับซ้อน หมุนรอบเชิงซ้อนหลายชั้น หลายเชิง สุดท้าย ก็ต้องแสดงด้วย มีศรัทธาที่จะเป็นพระธรรมกถึก จนกระทั่ง ตัวเองก็มีฐานอาศัย ทรงวินัย อยู่ป่าเป็นวัตร หรือมีที่อาศัยที่สงบอาศัย แล้วก็มีฌาน ได้โดยไม่ยาก เมื่อไรทำงานด้วยฌาน ก็มีฌานอยู่ตลอดเวลา มีอุเบกขาฐานอาศัย มีฌานอันสมบูรณ์ เพราะสุดท้ายจริงๆ เรามีวิมุติ ทั้งเจโตวิมุติ อุภโตภาควิมุตินั่นแหละ เจโตปัญญาวิมุติหมด เร็วแล้วนะ

๖. เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อความพร้อมมูลแห่งกุศล เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม สรุปแล้ว คือเป็นผู้ไม่สันโดษในกุศล แล้วเป็นผู้ บากบั่นมั่นคง เป็นผู้บากบั่นขวนขวายอยู่ แม้จะจบกิจ เป็นผู้มีกำลังที่เห็นได้ มีอิทธิบาท เป็นสมณะ สมบูรณ์ เป็นสมณะที่ ๔ ยิ่งเป็นสมณะที่ ๔ คือพระอรหันต์ ยิ่งจะเห็นเลยว่า โอ๊ มีอิทธิบาท เป็นผู้มีฉันทะ ในการงาน ในการที่จะสร้างสรร การงานที่ท่านควรทำ เป็นการงานอันไม่เป็นโทษ เป็นการงานที่จะรังสรรค์ศาสนา สร้างมนุษย์นี่แหละ เป็นการงานที่จะสร้างกุศลสูงสุดนี่แหละ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ทำให้ตนเองปรารภความเพียรเพื่อละ เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศล เมื่อถึงพร้อมแห่งกุศลสมบูรณ์ จะเป็นผู้มีกำลัง จะเป็นผู้มีความบากบั่นมั่นคง จะเป็นผู้ไม่ทอดธุระ ในกุศลธรรม อย่างนี้จริงๆ

๗.เมื่อเข้าประชุมสงฆ์ ไม่พูดเรื่องไร้สาระ พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ ย่อมแสดงธรรมบ้าง เชื้อเชิญ ให้ผู้อื่นแสดงบ้าง ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า เพราะการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า มีความหมาย ลึกซึ้ง ไม่ใช่นิ่งนั่งอยู่เฉยๆ นิ่งอย่างพระอริยเจ้า คือนิ่งอย่างจักรกล แหม ทวนกระแสจังเลย นิ่งยังไง นิ่งอย่างจักรกล ก็เป็นผู้ที่มีกำลังผู้บากบั่น มั่นคง เป็นผู้ไม่ทอดธุระ มีอิทธิบาท ทำงานมีความเพียร มีความขยัน แต่จิตนั้นนิ่ง นี่ก็สูงสุด

ไม่ดูหมิ่นการนิ่งอย่างพระอริยเจ้า ทีนี้คนไม่เข้าใจพระอริยเจ้า ก็ดูหมิ่นพระอริยเจ้า นี่อะไรวะ ไม่สงบเลย พูดอยู่ได้ พูดก็ซัดส่าย กิริยากาย แสดงก็ซัดส่าย หาแต่งานแต่การทำ ไม่นิ่งเลย คนอะไรวะ ไหนว่าสงบ ก็ดูถูกดูหมิ่นพระอริยเจ้า โดยไม่รู้ว่าพระอริยเจ้าคือใครกันแน่ แล้วจิตท่าน นิ่งไหม จิตท่านสงบไหม ท่านทำเพื่อตัวเพื่อตนหรือเปล่า ท่านบำเรออัตตาหรือเปล่า ท่านสูงสุด หรือเปล่า มันไม่ใช่ง่าย เห็นไหม ไม่ใช่ง่าย มันรู้ไม่ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น ผู้ที่สูงแล้ว จะรู้จักเวลาวาระ จะพูดแต่เรื่องดี พูดแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดในหมู่เรานี่ ถือว่ามีสงฆ์ มีอุปสัมบัน แม้เป็นฆราวาส สมณะด้วยกันก็ตาม พวกเราก็ตาม ก็จะไม่พูดอะไรที่ไร้สาระ เพ้อเจ้อ พูดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้น บางทีกล่าวเล่น กล่าวสัพยอก กล่าวอะไร อยู่บ้างนั้น สิ่งนั้น ก็เป็นประโยชน์ ในกาละที่สมควร คนบางคนบอก โอย! ไม่ไหวหรอกนี่ เอาธรรม ตอกเข้าไป คนนี้จะตายอยู่แล้ว หัวจะแตกอยู่แล้ว เสร็จแล้วก็ต้องตอกให้หนักๆ เข้าไปอีก ตื้อเข้าไปอีกเลยนี่นะ ตายพอดี มันก็คลายเครียดคลายใจ ก็อาจจะมี ไอ้นั่นประสมประเส

เพราะฉะนั้น แม้จะเป็นคำที่เบาๆ คลายเครียด เหมือนกับคำเล่น เพื่อแก้อันนี้ ถ้าไม่แก้อันนี้มันไม่ได้ อันนั้นไม่ใช่คำเพ้อเจ้อ สิ่งที่ถูกกาละเทศะ สิ่งที่ถูกสภาวะฐานะ ตอนนั้นอย่างนั้น อันนี้ก็เป็น นัยละเอียด ที่เราจะต้องเข้าใจ

๘. เป็นผู้พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น และความเสื่อมในอุปาทานขันธ์ ๕ ว่ารูปเป็นดังนี้ ความเกิดขึ้น แห่งรูปเป็นดั่งนี้ ความดับแห่งรูปเป็นดั่งนี้ เวทนาเป็นดั่งนี้ เหมือนกัน ความเกิดแห่งเวทนาเป็นดั่งนี้ ความดับแห่งเวทนาเป็นดั่งนี้ สัญญาเป็นดั่งนี้ ความเกิดแห่งสัญญาเป็นดั่งนี้ ความดับแห่งสัญญา เป็นดั่งนี้ สังขารทั้งหลายเป็นดั่งนี้ ความเกิดของสังขารเป็นดั่งนี้ ความดับแห่งสังขารเป็นดั่งนี้ วิญญาณเป็นดั่งนี้ ความเกิดแห่งวิญญาณเป็นดั่งนี้ ความดับแห่งวิญญาณเป็นดั่งนี้ เหมือนกันหมด รู้จักความเกิดความดับ แล้วสิ่งที่ยังอยู่ คนยังไม่ตาย ยังไม่หมดเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาที่อาศัยเป็นอย่างไร สัญญาที่อาศัย เป็นอย่างไร สังขารที่อาศัยเป็นอย่างไร วิญญาณที่อาศัย เป็นอย่างไร แล้วเราก็ไม่ได้ติดว่า เวทนาเป็นเรา สัญญาเป็นเรา สังขารเป็นเรา วิญญาณเป็นเรา เป็นเรื่องลึกซึ้งที่สุดนะ

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่รู้ความเกิด ความดับที่จริงว่า อะไรพึงดับ ดับได้แล้ว เวทนาที่เป็นทุกข์ เวทนาที่เป็นสุข ดับได้หมดแล้ว ไม่ทุกข์ไม่สุข สัญญาที่เป็นทุกข์เป็นสุข สัญญาที่ไม่ควรสัญญา เราก็ไม่สัญญาแล้ว ฯลฯ...

บัญญัติ คือสัญญานี่ เราก็รู้ถึงสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา พูดลัดเลย เพราะที่จริง พูดตั้งแต่ เริ่มต้นสัญญา ตั้งแต่ตรรกะ วิตรรกะไปโน่นแหละ จนกระทั่งถึง เนวสัญญานา สัญญายตนะสัญญา เราก็ได้ดับไม่เหลือ ขนาดสัญญาขนาดนี้ เราก็ไม่มีสัญญาขนาดนี้ แต่คนที่ยังไม่ตาย มีขันธ์ ๕ ยังมีสัญญาไหม มี ใช้สัญญานั้นได้ แต่สัญญาที่ควรดับ ดับแล้ว สัญญาที่ยังอาศัยอยู่ แล้วเราก็ไม่ได้ติดใจว่า สัญญานี้เป็นเรา เป็นของเรา แต่สัญญานี้วิเศษนะ ใช้งานได้ ประเสริฐเลย กำหนดอะไรได้ ดังนั้น กำหนดแล้วก็ใช้ ใช้ๆ จำได้ก็จำไว้ จำไม่ได้ก็แล้วไป กำหนดก็แม่นยำ กำหนดอันนั้นๆแล้วก็สังขาร เมื่อกำหนดแล้วก็สังขาร ปรุงเป็นปุญญาภิสังขาร เพื่อมนุษย์อื่น เพื่อประโยชน์อื่น เหนื่อยนะ นี่ไม่ได้ขอความเห็นใจ แต่เป็นเรื่องจริง แต่เราก็ยินดี ที่จะเหนื่อย เพราะชีวิตทำอะไรล่ะ กินข้าวให้มีกำลัง ให้มีเรี่ยวแรง ให้มีพลังงาน มีแคลอรี่ แล้วทำอะไรละ นั่งอยู่เปล่าๆ หามไปฝังเถอะ ทำงานสร้างสรรเพื่อสิ่งดี อะไรเป็นกุศล ยังกุศล ให้ถึงพร้อม ไว้ในโลกนี้ ให้นานให้มาก ให้แข็งแรง ให้เที่ยงแท้ ซึ่งมันก็ไม่เที่ยงแท้ ความดีกุศลนี้ ทำให้เที่ยงแท้ เรามีความสามารถ เราจะสร้างความดีให้เที่ยงแท้ได้ เพราะเรารู้ เรามีความสามารถ จริงๆ ทำซิ จะไปย่อหย่อนทำไม เมื่อยก็พัก ไม่เมื่อยก็เพียร เพราะฉะนั้น เราไม่พัก เราไม่เพียร ผู้นั้นซาบซึ้ง เราไม่พัก เราไม่เพียร นี่แหละ ผู้ข้ามโอฆะสงสารได้แล้ว จะอยู่กับความไม่พักไม่เพียร ไม่พักคือบากบั่นให้มั่นคง พากเพียรไป ไม่ทอดธุระ สร้างกุศล อย่างนี้เป็นที่สุด ขันธ์ ๕ มันอยู่ใช้มัน มันใช้ได้เท่านี้ ก็ไม่ต้องทรมานมันมาก ใช้มันขนาดไหนก็เท่านั้น

เพราะฉะนั้น อาตมาทำๆๆๆ ขนาดนี้ จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เล่นนะอาตมา หนุ่มๆสู้บ้างไหมนี่ ๒ วัน ขนาดนี้สู้ไหมนี่ แค่ฉันทะก็จะไม่เอาแล้ว เฮ่อ ไม่มีฉันทะ อาตมามีฉันทะอยู่ ไม่ได้หมดฉันทะ อิทธิบาทยังดี ยังพอใจยังยินดีที่จะสร้างจะทำ

ตบท้ายด้วยปัญญา ๓ ซึ่งเรารู้มากแล้ว เป็นสุดท้าย จินตามยปัญญา สุตมยปัญญา ภาวนามยปัญญา นี่เป็นตัวญาณตัวปัญญาสุดท้าย เพราะฉะนั้น เราเรียนพอทุกวันนี้ เรารู้มาเท่าใด คือ จินตามยปัญญาเราเท่านั้น เราจะคิดได้เหมือนกบในกะลาครอบ เท่าที่จะมี จินตามยปัญญา อยู่ในจิต จินต ก็คือตัวจิต รากศัพท์มาจากจิตนั่นเอง มีเท่านั้น คุณจะคิดก็คิดในแวดวงเท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อว่า คุณไม่โลกวิทู ไม่พหูสูต ไม่เรียนรู้อีก ไม่สุตมยปัญญา ไม่ฟัง ไม่รับ ไม่มีปรโตโฆสะ ไม่รับของผู้อื่นอีก คุณก็จะได้เท่าที่กะลาครอบของคุณมี เท่าที่วิบาก เท่าที่กรรม เท่าที่กรรมมัสสกตาของคุณมี เพราะฉะนั้น เราอย่าประมาท เราอย่าไปดูถูกคนอื่น รับของคนอื่น รับด้วยความเปิดใจ รับจริงๆ แล้วคุณก็จะมี สุตมยปัญญาเพิ่มมา แล้วเอามาพิสูจน์ เอามาปฏิบัติ เอามาประพฤติ จนเกิดผลเป็น ภาวนามยปัญญา ทุนเรามีจินตามยปัญญาเท่านั้น คุณรับ สุตมยปัญญา มาจากอื่นๆ ได้จากอ่านจากฟังจากผู้อื่น จากไอ้นั่น เปิดกะลาครอบออกมารับ อย่าไปมีภพหลงตัว หลงตนอยู่ในกะลาครอบของตัวเองมากนัก เพราะฉะนั้น ใครเขาจะเจตนาดี เจตนาไม่ดีอะไรก็ตามใจเถอะ เราเรียนรู้ แม้ศัตรู ผู้กำลังจะหมายฆ่าเรา ดีซิ เราจะได้รู้ว่า เขาจะฆ่าเราด้วยแบบไหน เราจะได้หลบทัน เลี่ยงทัน เขาจะเอาเราตายแบบไหน อาตมาบอก ความลับ เพราะฉะนั้น อาตมาต้องพยายาม อย่าว่าแต่อาตมาไม่รับเลย อาตมาพยายามรู้ ที่เขาจะทำอย่างไร อะไรอย่างไรด้วยซ้ำ เขาคิดดีก็ดี เราจะได้รู้ว่าเขาคิดดี เขาคิดไม่ดียิ่งน่ารู้ ใช่มั้ย เราจะได้ระวังตัวทัน ถ้าไม่เช่นนั้น เราเสร็จเขาแน่ใช่ไหม เราป้องกันตัว เราไม่ได้ไปเพ่งโทษเขาหรอก ถ้าเขาคิดไม่ดี ถ้าเราจะแก้ไขให้เขาเลิกคิดไม่ดีนั้นได้เราทำ ถ้าเราจะปรามจะให้เขารู้ตัวว่า ฉันรู้นะ ว่าคุณกำลังจะทำอะไร หยุดซะ เขาหยุดได้เป็นบุญ เพราะเขาคิดไม่ดี ทำไม่ดี ถ้าเรารู้ แล้วเราก็ทำให้เขารู้ไม่ได้ว่าเรารู้ เราก็จนปัญญาแล้วก็หยุด แต่เราก็หาทางป้องกัน ตอนนี้ต้อง สร้างเกราะ ต้องสร้างเครื่องคุ้มกันอะไรก็ต้องทำไป ไม่ใช่เราอยากตาย แต่ว่าเขาไม่ควรทำบาป เขาไม่ควรทำลาย สิ่งที่ไม่ควรทำลาย ใช่มั้ย นี่ก็เรียกว่า เราจะต้องสร้าง สุตมยปัญญา ต้องรับรู้ แม้จะเป็นศัตรู นี่ขยายความไปไกลแล้วนะ เพราะยิ่งไม่ใช่ศัตรู ผู้มีความปรารถนาดีต่อกัน พึงรับรู้ซิ อย่าไปประมาท อย่าไปดูถูก แม้นิดแม้น้อย แม้คนที่ดูท่าทีไม่ใช่คนเฉลียวฉลาด ไม่ยิ่งไม่ใหญ่อะไร ก็ตาม เพราะฉะนั้น ปัญญา ๓ เป็นปัญญาหลักที่จะดำเนินต่อไป

๑.จินตามยปัญญา เป็นปัญญาของเรา อยู่ในของเรา เท่าที่ทุนเรามี สุตมยปัญญา พึงรู้ สุตะ แปลว่าฟัง พึงรับ พึงฟัง พึงรู้ พึงรับมาใหม่ รับมาแล้ว เอาไป มันก็มีทุนกับมีมาใหม่ เอามาสังเคราะห์ บวก ลบ คูณ หาร แล้วเหมาะกับเราก็ทำๆๆ พิสูจน์เพื่อให้เกิดภาวนามยปัญญา ก็จะสมบูรณ์

เอาละ จะเหลืออะไร เอาไว้เก็บตอนท้าย ตอนที่ก่อนฉันมื้อสุดท้ายโน้น นอกนั้นก็ไม่มีอะไรละ เวลาไม่เยอะแล้ว ขออภัยนิดหน่อย ไม่รู้จะทำอย่างไร อาตมาไม่เก่งกว่านี้ เก่งเท่านี้ เอ้า พอ


อ่านข้อความจากพระไตรปิฎก เล่ม ๒๓ ข้อ ๒๒๔ เวลามสูตร
อ่านข้อความจากพระไตรปิฎก เล่ม ๙ ข้อ ๑๙๙-๒๓๘ กูฏทันตสูตร


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง, นายยงยุทธ ใจคุณ, อารามิก ดงเย็น จันทร์อินทร์, ศิริพจน์ แก้วกลม
ตรวจทาน ๑-๒ โดย สม.จินดา, สม.ปราณี, อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล ๑๗ กรกฏาคม ๒๕๓๔
พิมพ์โดย สม.นัยนา, อารามิกา อนงค์ศรี เบญจโศภิษฐ์
เข้าปกโดย นายสุริยา รุ่งเรือง
เขียนปกโดย พุทธศิลป์

FILE:1337V.TAP