เกิดมาเอาอะไร
ทำวัตรเช้าโดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๑๐ มกราคม ๒๕๓๕
สถานกักสัตว์ กรมปศุสัตว์ จังหวัดเพชรบูรณ์

สำนึกดี ท่านทั้งหลาย

ตอนนี้ เราก็เดินสายไปเรื่อยๆ ตามที่ฟ้ากำหนด ฟ้ากำหนดให้เราเดินสาย เราก็เดินสายไป เป็นสิ่งที่ดีเหมือนกัน สิ่งที่ไม่เคยไปก็ได้ไป สิ่งที่ไม่เคยมาก็ได้มา มาถิ่นนี้เพชรบูรณ์นี่ เขาว่าเป็นดง แห่งมะขามหวาน ก็มีคนเตรียมจะมาซื้อมะขามหวานไปกัน แต่โชคไม่ดีนะ ตอนนี้ฝนตกมาก มะขามหวานขึ้นรา เจ้าถิ่นเขาก็เลยมีพวกเราที่ปรารถนาดี ก็แนะนำมาว่า อย่าไปซื้อกันเลย มะขามตอนนี้ ซื้อไปแล้ว มันก็จะไม่ค่อยดี เพราะว่ามันขึ้นรากันเยอะ เมื่อซื้อไปแล้ว เราก็จะไม่ได้ของดี ของเขาก็ต้องใช้วิธี และคนขายก็ต้องทำวิธีขาย ใครจะไปเอาราขาย รามันก็ต้องอยู่อย่างนั้นน่ะนา เวลาเขาขายของ เขาก็ต้องมีวิธี เพราะฉะนั้น ก็เลยคิดว่า มันอย่างไรๆ ก็อย่าไปซื้อเลย ที่จริง มันก็แพงหนา แค่จะต้องกิน น่ะ จะแพงไม่แพง ฉันก็จะกินล่ะ ว่าอย่างนั้นนา

อันนี้ก็เป็นการปฏิบัติธรรมน่ะ การกินเป็นหนึ่งในโลก อาหารไม่ใช่การกินหรอก พระพุทธเจ้า ท่านใช้ อาหาระ อาหาระเป็นหนึ่งในโลก อาหารหนึ่งนั้น ก็คือการกินๆ การกิน กวฬิงกราหาร เป็นอาหาร ที่กินเข้าปากใส่ท้อง ท่านสอนเราไว้ ให้ระมัดระวัง ให้รู้จักการกิน กินไม่ให้เป็นทาสการกิน กินเป็นแต่เพียง พฤติกรรมอันหนึ่ง ที่เป็นเครื่องอาศัยชีวิต เราจะกินอาหารเข้าปาก เข้าท้อง เราก็จะต้องมีสติสัมปชัญญะ ปัญญา รู้ว่าเอาอาหารเข้าปาก เข้าท้องไป เพื่อยังขันธ์นี้ให้ตั้งอยู่ได้ เมื่อขันธ์นี้ตั้งอยู่ได้ ก็เป็นการปฏิบัติที่ดี เป็นการทรงชีวิตไว้ ยังชีวิตไว้ดี เพื่อจะได้สร้างสรร เพื่อจะได้ลดละกิเลส เพื่อจะได้นำพาตนเองไป สู่ทางประเสริฐ สูงสุด คือนิพพาน นั่นเป็นทางที่ดี

มีคนถามอาตมาหลายที เอ๊!ไอ้ชีวิตคนเรามันเกิดมาทำไม อาตมาตอบเป็นคำโศลกเอาไว้แล้ว เกิดมาทำไม ก็เกิดมาทำงาน ก็ตอบไปแล้วน่ะ เกิดมาทำงาน แล้วเกิดมาเพื่ออะไร ก็เพื่อตาย มันตายแน่ๆ เกิดมาก็เพื่อตาย เกิดมาแล้ว รอไปได้เลย เพื่อตายไม่มีใครเกิดมาเพื่ออื่นหรอก ต้องตายกันทุกคน ไม่มีละเว้นเลย ไม่มีละเว้น แม่นที่สุด เกิดมาเพื่อตาย นี่แม่นที่สุด ไม่มีผิด ตอบอย่างไร ก็ไม่มีผิด คนเราเกิดมาเพื่ออะไร เพื่อตาย บอกว่า ตอบผิด เอาเลย ใครจะเถียงก็ได้ ไม่มีผิด แล้วเกิดมาทำไม อย่างนั้นน่ะ เกิดมาทำงาน แล้วงานนั้นต้องเป็นกุศล เกิดมาทำงาน หรือเกิดมาใช้กรรม คนที่จะใช้กรรมได้ จะต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้เรื่องกรรม จะต้องเรียนรู้เรื่องกรรม กรรมที่เป็นกุศล กรรมที่เป็นกรรมดี ต้องเรียนรู้เรื่องกรรมจริงๆ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม กรรมก็มีกรรมใหญ่ๆ สามอย่างนี้เท่านั้นแหละ

เพราะฉะนั้น จะคิด จะพูด จะกระทำ กระทำกิริยาอะไรออกมา อิริยาบถอะไรออกมา กระทำนั้นๆๆ เกิดไปเป็นการงาน เกิดประกอบการงานออกมา จะต้องเรียนรู้พวกนี้แหละ ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล เพราะท่านสอนเอาไว้อีกว่า เมื่อเป็นกรรมแล้ว กรรมนั้น จะเป็นของเรา เป็นสมบัติเลย เป็นทรัพย์ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เป็นทรัพย์ เป็นสิ่งที่เราจะต้อง มีอิทธิพล มีเป็นมรดก จะต้องได้รับเป็นมรดกไปอีก เป็นอิทธิพลสำหรับเราไป จนกระทั่งถึง ปรินิพพาน โน่นแหละ ถ้าเรายังไม่ปรินิพพานตราบใด กรรมเหล่านั้น จะต้องเป็นของ ของเรา จะต้องเป็นมรดกของเรา เราจะต้องรับกรรมนั้น กรรมนั้นจะต้องพา เราเกิด พาเราเป็น จะพาเราเกิด พาเราตายอย่างไรก็แล้วแต่ กัมมโยนิ มันเกี่ยว อันนี้จะพา เราเกิด จะเป็นพันธุกรรม จะเป็นกัมมพันธุ จะเป็นเครื่องอาศัย ถ้าดีมันก็ได้อาศัยเป็นสุข อาศัยเจริญ อาศัยเป็นคุณค่า ถ้ามันไม่ดี กรรมที่เราได้สั่งสมเป็นสมบัติของเรา มันก็จะเป็น เหมือนกับทรัพย์สินเงินทอง เหมือนกับข้าวกับของ เหมือนกับอะไรของของเรานั่นแหละ ที่จะมีเพื่อที่จะให้เราได้ใช้ ได้สอย ได้อาศัย ได้กระทำอะไรต่ออะไรออกมา เป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ เราก็จะได้จากกรรมทั้งหลายแหล่ ซึ่งอธิบายละเอียดลออก็ยาก เพราะว่ามันเป็น อจินไตย วิบากกรรมอย่างนี้ เป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่คิดเห็นได้ยาก เป็นเรื่องที่พูดถึงได้ยาก เป็นเรื่องที่เอามาอธิบายได้ยาก มันซับซ้อน ลึกซึ้ง หลากหลาย มากมาย กรรมจะจำแนก ให้เรานี่ไปเกิด ไปเป็น ไปมี อยู่ตลอดนานับกัปกาล ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ยังไม่เป็นพระอรหันต์ ที่จะตัดสินใจวาง ปล่อย ทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วก็เมื่อตายดับขันธ์ ก็จะสลาย ก็จะเลิก จะละ จะปลด จะปล่อย จะสูญ จะจบ จะสิ้น

ถ้าไม่มีความรู้ ไม่มีความเป็นไปได้ที่เราได้สะสมบุญบารมี สั่งสมบุญบารมี จนกระทั่งมีคุณธรรม มีภูมิธรรมจริงๆ ถึงขั้นปรินิพพาน เราก็จะถูกกระแสโลก มันชักนำชักพาให้เราเป็นไป ขี้โลภ ขี้โกรธ ขี้หลง หลงโลกียะ หลงว่ามันเป็นสุข แท้จริง พระพุทธเจ้าท่านตรัสแล้วว่า มันเป็นทุกข์ ท่านไม่ได้ตรัสรู้ว่า มันเป็นสุขหรอก ตรัสรู้ความจริงแล้วว่าอ้อ ! ไอ้คำว่าสุขนี่ โลกียสุข หรือ สุขัลลิกะนี่ สุขที่โลกๆ เขาแสวงหากัน ได้ลาภมา ได้ของมาสมอกสมใจก็สุข พลัดพรากก็ทุกข์ ไม่ได้สมใจก็ทุกข์ อะไรอย่างนี้ ที่โลกๆเขาไม่รู้ทัน ลาภ ยศ สรรเสริญ หรือว่าไปเสพโลกียสุข ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้มีโน่นมีนี่อะไร ก็ตามแต่เถอะ มีอิริยาบทอย่างโน้นอย่างนี้ หรือว่ามีเป็นวัตถุ เป็นข้าวของ เป็นการสัมผัสแตะต้อง ที่เราเอง เราสมมติไว้ในตนเอง แล้วเราก็สมใจที่เราได้หลง ว่าเป็นการสมใจเรา แล้วเราก็หลงว่ามันเป็นสุข

สุขนี่เป็นความหลง ความไม่ต้องบำเรอ ไม่ต้องบำบัด มันจะสัมผัสแตะต้อง เราก็รับรู้ ได้แต่รู้ ไม่ใช่ได้แค่รู้อย่างโง่ๆด้วยนะ รู้แจ้ง รู้จริง รู้อย่างชัดอย่างเจน รู้ว่าอะไรคืออะไร อะไรจะมีหน้าที่อย่างไร จะเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ต้องสอย ต้องเป็นคุณค่า เป็นประโยชน์ เป็นโน่นเป็นนี่ เป็นอะไร อย่างไรก็ใช้ เราก็ทำ ทำเพื่อการยังอยู่ให้โลกสงบ ให้โลกอยู่กันอย่างดี อย่างเจริญ อย่างเป็นสุข

ผู้ใดที่ละลด รู้ว่า ไอ้นี่คือกิเลส นั่นคือตัณหา นี่คืออุปาทาน ซี่งท่านก็เรียกหลายนัย นี่คือโลภ นี่คือโกรธ นี่คือหลง ยังซอยละเอียดไปในเรื่อง โลภ โกรธ หลง สายโลภมูล สายโทสมูล สายโมหมูล เป็นอย่างไรๆ ท่านก็อธิบายเอาภาษามาตั้งชื่อเรียก ลักษณะอย่างนี้ อาการอย่างนี้ มันมีอาการอย่างไร มีเครื่องหมายบอกให้เรารู้ว่าเป็นอย่างไร อย่างนี้เรียกว่าโกรธ อย่างนี้เรียกว่า โลภ อย่างนี้เรียกว่าตัณหา อย่างนี้เรียกว่าอุปาทาน อย่างนี้เรียกว่าอย่างหยาบ อย่างนี้เรียกว่า อย่างกลาง อย่างนี้เรียกว่า อย่างละเอียด มีความแตกต่างกันอย่างไร มีลิงคะ มีเพศ มีความแตกต่างกันอย่างไร ก็รู้ละเอียด ไอ้มีกับไอ้ไม่มี มันต่างกันอย่างไร มีมากกับมีน้อย มันต่างกันอย่างไร มีมากแล้ว มันทุกข์ขนาดไหน มีน้อยลงมันลดลงไหม ทุกข์ลดลงไหม อะไรต่างๆนานา ท่านก็อธิบายให้ฟัง แยกแยะละเอียดลออ เอาไว้หมด

อาตมาก็เรียนรู้ตามมา ก็เอามาปฏิบัติตัวเองดู แล้วก็เห็นผลจริง ก็เอามาบอก มาแนะพวกเรา ให้พวกเราได้รู้ตาม ปฏิบัติตาม ลดละตาม มันก็ได้ลด ได้ละ ได้ฝึกหัดตามจริงๆ ก็เกิดความเห็นจริง ด้วยญาณ ด้วยปัญญา แล้วก็ได้เลิก ได้ละมา

การเลิก การละ หรือการให้ออกไป การทานออกไป การสละออกไป สละออกไปโดยไม่ยึด ไม่ติด ไม่หลงใหลเอาไว้ นั่นแหละเป็นผล เมื่อมันได้วาง ได้ปล่อย ได้เลิกได้ละ ซึ่งเลิกละสูงสุด ก็คือ จิตใจของเรา จิตวิญญาณของเรา ได้เลิกได้ละ ได้ปล่อยได้วาง บอกใครก็ยาก บางที เราจับอยู่แท้ๆ อยู่กับเราแท้ๆ เช่น ร่างกายนี่ ท่านสอนว่า ไม่ใช่ของของเรา ร่างกายนี่ ก็ไม่ใช่ตัวตนเรา ตัวตนของเราอะไรหรอก มันเป็นเพียงเหตุปัจจัย ธาตุต่างๆ มันเกาะกุมกัน ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ธาตุอากาศ ธาตุวิญญาณ มันอยู่อาศัยอยู่ มันเกาะกุมกันเป็นร่างกาย เป็นชีวิต จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เล็บ ขน ผม ขน ฟัน หนังอะไร ต่างๆนานา อะไรพวกนี้ มันไม่ใช่ตัวเราหรอก มันก็เป็นสิ่งที่มันก่อเกิดประกอบกันอยู่ แล้วเราก็หลงใหล ได้ปลื้มว่า มันเป็นเรา ประคบประหงมดูแล หวงแหน ต่างๆนานาพวกนี้ ท่านก็ให้พิจารณา ไปถึงขนาดนั้น เมื่อเราเรียนรู้แล้ว จนกระทั่งไม่หวงแหน ไม่หลงแก่ร่างแก่กาย ไม่ประคบประหงม ไม่เป็นทาสมัน ท่านสอนให้ปล่อย ให้วางถึงอย่างนั้น

เมื่อผู้ที่บรรลุแล้ว เกิดปัญญาญาณเห็นจริง รู้แจ้ง เชื่อมั่น เชื่อมั่นแล้ว จิตใจก็รู้แจ้ง แล้วก็ปล่อยวางเป็น การปล่อยวางเป็นนี่ ไม่มีใครรู้ด้วยเรา พระอรหันต์เจ้าตรัสรู้แล้ว จนสุดท้าย เป็นศรัทธาพละ ความเชื่อถือ เป็นศรัทธาพละ มีกำลังถึงขั้นเชื่อมั่น ศรัทธาพละนี่เชื่อมั่นสูงสุด จนกระทั่ง ละกิเลสหมด ละตัวละตนได้หมด ละอัตตามานะ ละสังโยชน์สูงได้หมด จนพ้นอวิชชา หมดอวิชชา พระอรหันต์ ได้บรรลุธรรมสูงสุด แล้วก็เชื่อมั่น แต่ไม่ได้ยึดมั่น ไม่ได้ยึดมั่น ท่านเชื่อมั่น เชื่อมั่นนี่ คือความรู้แจ้ง ความเป็นไปแล้ว ความเป็นไปได้ จริงๆนั้น รู้แจ้ง รู้ชัด ความเป็นไปแล้ว เป็นไปได้จริงๆ ที่ตัวเอง โดยเฉพาะ จิตวิญญาณกระทำได้ ก็เชื่อมั่น เชื่อมั่นเป็นศรัทธาพละ แต่ไม่ใช่ยึดมั่น

การเชื่อมั่น กับยึดมั่นนี่ มันคล้ายๆ กันคือมันยืนหยัด ผู้เชื่อมั่ ก็จะยืนหยัดสิ่งนั้น ผู้ยึดมั่น ก็จะยืนหยัดสิ่งนั้นเหมือนกัน เชื่อมั่นนี่ก็จะอยู่อย่างนั้นแหละผู้นั้น เชื่อมั่นอันนั้นว่าดี เชื่ออันนั้น ว่าต้องให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่ เชื่อมั่นว่าต้องเป็นอย่างนั้นอยู่ กับคนที่ยึดมั่นสิ่งนั้นก็เหมือนกัน อย่างอาตมา เชื่อมั่นว่า ไม่กินเนื้อสัตว์นี่ดี อาตมาเชื่อมั่น แต่อาตมาไม่ได้ยึดมั่น แต่อาตมา ก็ยึดไว้ ยึดไว้อยู่ แต่ไม่ได้ยึดมั่น ยึดไว้ อาตมาจะเป็นคนที่มีชีวิตอยู่ อาตมาก็ไม่กินหรอก เนื้อสัตว์ อย่างนี้เป็นต้น บุหรี่นี่สูบแล้วไม่ดีหรอก อาตมาก็เชื่อมั่นว่าสูบบุหรี่ไม่ดี อาตมาก็ไม่สูบ ก็ยึดความไม่สูบเอาไว้ ใครมาบังคับให้สูบ ก็เถียงก่อนแหละ ไม่เอาก่อน นั่นแหละ ต่อต้านก่อนแหละ จะมาให้อาตมาสูบบุหรี่ อาตมาต่อต้านก่อนแหละ จะให้อาตมากินเหล้า อาตมาก็ว่า กินเหล้าไม่ดีหรอก ไม่มีคุณค่า ประโยชน์อะไร เชื่อมั่นว่าไม่ดี ได้พิสูจน์แล้วว่าไม่ดี ตั้งแต่หยาบๆ ไปจนกระทั่งกลางๆ คุณลักษณะหรือว่าโทษลักษณะ เราก็รู้ชัดเจนว่า นี่เป็นโทษ นี่เป็นคุณ เราก็เลิกสิ่งที่เป็นโทษ เราก็ยังไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นคุณ เราก็กระทำด้วยความเชื่อมั่น กระทำอยู่ เพราะเรายังมีชีวิต

ร่างกายเรานี้ อย่างที่พูดไปแล้ว ว่ามันไม่ใช่เรา ของเรา เชื่อมั่น เราไม่ได้ยึดไว้ เราก็เหมือนยึด เราไม่ได้ยึดมั่น ว่าร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของ ของเรา แต่เราก็ต้องยึดไว้อยู่ จะกินข้าวให้มัน จะดูแลมัน ยังให้มันเป็นร่างเป็นกาย มันจะไม่สมดุลด้วยประการใดๆ เราก็รักษามัน มันเจ็บ มันป่วย มันไม่สมดุลนี่แหละ ความเจ็บป่วย อย่างนั้น อย่างนี้ เราก็ให้ยา ให้สิ่งที่มันขาด ไปทดแทน ได้ให้มันสมดุล ให้มันเป็นอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้อย่างดี ก็เหมือนกันกับหวงแหนเหมือนกัน คล้ายๆ หวงแหน แต่ในใจที่เราเอง เราไม่หวงแหน เป็นอย่างใด อาการไม่หวงแหน ไม่ติด ไม่หลง ถึงขนาดหนักเป็นอย่างไร อาการนั้น เกิดที่จิต

จิตเราได้ฝึกฝนแล้ว จิตของเราเป็นได้ หรือเป็นไม่ได้ เป็นได้มาก เป็นได้สมบูรณ์ หรือยังไม่ได้ สมบูรณ์ เราก็จะต้องเรียนรู้ อ่านอาการของจิต ของเราเองจริงๆ ด้วยญาณของเราเอง ต้องอ่าน ด้วยญาณของเราเอง

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เรื่องหยาบๆ ต่ำๆ ที่เราได้หัดฝึก ฝึกละ ฝึกลด มาจนกระทั่งมาเลิกละ มาจนกระทั่ง มันไม่มีที่ร่างกาย หรือมันมามีที่ร่างกาย มันมามีสัมผัสสัมพันธ์กับเรา หรือมันไม่ได้ สัมผัสสัมพันธ์กับเราเลย ก็เรียนรู้ไปหมด อย่างที่บอกว่า เราไม่กินเนื้อสัตว์ แต่เขาเอาเนื้อสัตว์ มายัดปากเราเข้าไปบ้าง เราจะชักดิ้นชักงอไหม ที่จริงมันก็ไม่ถึงชักดิ้นชักงอ ใจเราวางได้ ถ้าถึงคราวจำเป็น เอายัดปาก ต้องเคี้ยว ไม่เคี้ยวเอาปืนยิงเดี๋ยวนี้ ไม่เคี้ยวก็ตีให้เจ็บ อะไรก็แล้วแต่ จะมาบังคับอย่างนั้นอย่างนี้ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อว่าสุดวิสัยเราก็เคี้ยว กลืน เอ้า ก็กลืน จะต้องให้กินจริงๆ มันไม่ถึงขั้นที่จะมาบังคับถึงขั้นนั้น จำเป็นที่เราจะต้องกินก็กิน แต่ใจเราจริงๆ เราก็ไม่ได้ยินดียินร้าย หรือว่าใจเราก็ไม่ผลัก ไม่ดูดจนเกินการ

คำว่าไม่ผลัก ไม่ดูดนี่ เราก็ต้องรู้ว่า จิตใจของเรา นี่ไม่ผลัก ไม่ดูด ปล่อยวางได้ ก็สุดท้าย เห็นว่าจำเป็นแล้วก็จำเป็น มันไม่ดีนักหรอก แต่เราจำเป็นจะต้องอนุโลม ถ้าเขาบังคับ ให้กินเนื้อสัตว์ ดังกล่าว เป็นต้น หรือบังคับจะต้องให้ดูดบุหรี่ บังคับให้ต้องดื่มเหล้า ดื่มยา บังคับให้ต้องให้แต่งหน้า บังคับให้ต้อง ให้ทาปาก ทาลิปสติก เราจำเป็นจริงๆ เราก็ทำ สุดวิสัยแล้วจำเป็น อนุโลมกันบ้าง ไม่ต้องไปให้มันเดือดร้อน ทะเลาะเบาะแว้ง หรือว่าจะต้อง อยู่กันอย่างทุกข์ อยู่กันอย่างลำบาก ถ้าเราทำ ถ้าเราเสียสละได้บ้างเล็กๆน้อยๆ มันจะเกิด ความพอเป็นไป เราทำเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อบำเรอตน ไม่ใช่เพื่อเราชอบ เพื่อบำบัดกิเลสเรา เราทำเพื่อให้ความเป็นอยู่สุขเกิดขึ้น ให้เกิดความสันติ ให้เกิดความดำเนินไปดี เราก็อนุโลม ถ้ามันไม่ถึงเสียหายอย่างมาก อย่างมายอะไรนัก พอเป็นไป อนุโลมพอให้เกิด สิ่งที่มันจะเกิดนั้นดีกว่า ถ้าเราจำยอมเราก็ทำ อย่างนี้เป็นต้น

การยอม หรือว่าการที่จะเสียสละให้เหล่านี้ เราเรียกว่าทานทั้งนั้น เรียกว่าจาคะ เรียกว่าทาน การประพฤติ ปฏิบัติธรรมนี่ เพื่อทานอย่างเดียว เพื่อ สละออกอย่างเดียว เพื่อยอมที่จะให้ ผู้อื่นไป ไม่ยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา

สุดท้ายจริงๆ การปฏิบัติธรรมนี่ เพื่อที่จะทาน เพื่อที่จะให้ เพราะฉะนั้น วัตถุนอกๆตัว ที่เรารัก เราหวง เป็นของที่รัก เป็นของที่น่าได้ น่ามี น่าเป็น เสร็จแล้วเราก็ไปหลงว่าควรได้ ควรมี ควรเป็น น่าได้ น่ามี น่าเป็น หอบหวง มากมายก่ายกอง เขายั่ว เขายุเราเต็มบ้านเต็มเมืองเลย ที่ไหน ๆ ในโลก ไหนๆ เหมือนกันหมดนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นอยู่ขั้วโลกเหนือ ขั้วโลกใต้ จนกระทั่ง ประเทศต่างๆ ประเทศที่ห่างกัน อยู่กันคนละทิศ คนละทาง ที่ไหนๆ เหมือนกันหมด คนนี่ก็เหมือนกันหมด ที่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน เหมือนกันหมด ไม่เข้าใจก็โลภโมโทสัน หวงแหน กอบโกย เอาเป็นเรา เป็นของเราไปหมด เมื่อเราเรียนรู้ แล้วก็มาหัดละ หัดเลิก หัดปลด หัดปล่อย ไม่สะสม ไม่กอบโกย ไม่มีเป็นเรา เป็นของเรา ไปให้ปล่อยออกเป็นทาน เป็นบริจาค ให้ผู้อื่นขึ้นไปให้มากที่สุด เอาไว้แต่น้อย ที่เพื่ออาศัย เป็นเครื่องอาศัยนิดๆหน่อยๆ พออาศัย แล้วก็ชีวิตอยู่ได้ แม้อาศัยอยู่น้อยๆ แค่นี้ก็เป็นไปรอด อยู่ได้อย่างเปลืองน้อยที่สุด มีน้อยที่สุด เท่าที่จะมีได้ และเราก็อยู่กันอย่างดี แข็งแรง สร้างสรรทำงาน ทำการ ทำกิจอะไรก็ได้ มากมาย ก่ายกอง เรามาพิสูจน์กันด้วยหลักการอย่างนี้ ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไว้ หัดลดละ มาเป็นลำดับๆๆ และเราก็ได้ฝึกฝนกันมา ตั้งแต่ ฟังดู ที่ผู้ที่อธิบายก็มีศรัทธา มีความเชื่อถือ เอ้อ เข้าท่า เหตุผลนี้ หลักการนี้ แล้วก็ฟัง แล้วเชื่อถือ จนกระทั่งมีศรัทธาสูงขึ้น เป็นศรัทธินทรีย์ เออ ดีแฮะ เชื่อว่าถ้าเผื่อว่าทำได้ดีจริงๆ เจริญจริงๆ แล้วจะประเสริฐขึ้นจริงๆ แล้วจะพ้นทุกข์ จะละลดอะไรเข้าไปหานิพพานได้จริงๆ เราเชื่อถือสูงขึ้นๆ เป็นศรัทธินทรีย์เลย เรียกว่าเชื่อฟัง แล้วลงมือปฏิบัติตาม หัดละ หัดปล่อย หัดลด หัดเลิก หัดให้ หัดทาน หัดสละออก

ทานอย่างวัตถุ ท่านก็เรียกว่า ทาน ในลักษณะที่เรียกว่า ปลดปล่อย ถึงจิตขึ้นไปนี่ ท่านเรียกว่า เนกขัมมะ เป็นการออกจากการติดยึด เนกขัมมะนี่ ออกจากการติดยึด ออกจากกาม ออกจากการใคร่อยาก ออกจากการโลภ ออกจากราคะ ออกจากการหวง ออกจากการสมใจ ที่เราสมใจใคร่ได้ใครดี ใคร่ดูด ใคร่ผลัก เราจะผลัก มันก็คือการออกจากเหมือนกัน แต่ก่อนเราผลัก เราต้องการทำลาย เราต้องชัง เราต้องผลัก ว่าไม่เอา เราไม่ต้องการมี ก็มีเสียบ้างซี

เพราะฉะนั้น ที่เราไม่ต้องการ ที่เราไม่เห็นว่าต้องได้ ต้องมี จะต้องมีเพื่อเป็นคุณค่า เราก็มีเสียบ้าง เช่นว่า เรามีความขี้เกียจ เราก็ไม่มีเสีย ขี้เกียจ แล้วมามีความขยัน เราไม่อยากมี ความขยัน มันอยากมีขี้เกียจมากกว่า ฟังให้เป็น ฟังดีๆ น่ะ ฟังเป็นนามธรรมแล้ว เราก็หัด ไม่มีความขี้เกียจเสียบ้าง ขจัดออก ไล่ออกเสียบ้าง ไอ้ความขี้เกียจน่ะ เอาความขยัน มาแทน มีความขยันขึ้นมาแทน และไอ้การมีความขยัน จะเป็นอย่างไร ก็ฝึกหัดเอาซิ

ขยันนี่ มันฝืนอยู่น่ะ มันต้องพยายามทำตนให้ขยัน ทำตนให้มีจิตมีใจอย่างนี้ ลงมือลงไม้ มีกรรมมีกิริยา มีการกระทำอย่างนั้นๆๆ อย่างนั้นอย่างไร คุณก็รู้เอาเองก็แล้วกัน ถ้าลงว่าโง่กว่านี้ ก็อย่ามาปฏิบัติธรรมเลย ฝึกความขยันไม่เป็น อบรมตัวเองให้เป็นคนขยันไม่เป็น ก็เลิกกันเสียเถิด อย่ามาปฏิบัติธรรมเลย ขี้เกียจนี่ มันเป็นอย่างไร นี่เป็นนามธรรมแล้ว เพราะออกจากเนกขัมมะนี่ ออกจากสิ่งที่ไม่น่ามี ไม่น่าเป็น แล้วก็มามีสิ่งที่น่ามีน่าเป็นไปตามสมควร เพื่ออาศัย เพื่อสร้าง ยิ่งเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองเลย นั่นแหละ ยิ่งดีๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ชอบอะไร แต่สิ่งนี้ ท่านบอกว่า ควรจะมี ควรจะเป็นบ้างนะ เราก็อย่าได้ไปเที่ยวผลักมากนัก หัดมีเสียบ้าง

อาตมาพาพวกเรามาเป็น มามีในสิ่งที่ไม่เคยเป็น ไม่เคยมี ก็มาพาเป็น พามี หรือเคยมี เคยเป็น เคยติดเสียด้วยซ้ำ เสร็จแล้ว เราก็เลิก เลิกสิ่งที่เราติด เรายึดนั่นแหละ อาตมาก็กลับเอา สิ่งที่เราเคยเลิกนั่นแหละ เลิกได้แล้ว เอามาให้อีก หลายคนก็บอกไม่เอาละ นึกอย่างใหญ่เลย แล้วก็มองเขม่น ดูถูกดูแคลนผู้อื่นอะไรไปเลย คือเราปฏินิสสัคคะ เราสลัดคืน เราเวียนกลับ หรือว่า เราทำย้อนกลับใหม่อีกที เพื่อที่จะได้รู้ว่า เราติดยึดจริงหรือไม่ เราติดยึดในประเภทที่ เรียกว่า ประเดี๋ยวเราก็ เราติดยึดนี่ คือว่า พอเราสุดโต่งไปผลักก็ผลักไปเลย ไม่เอาเลย ทั้งๆที่ มันต้องอาศัยบ้าง เราก็ต้องหัดดูบ้าง อย่างที่เคยพาทำ บางอย่าง บางสิ่ง ไม่ทีเดียวหรอก ก็บางสิ่งบางอย่าง ไม่ทั้งหมดหรอก

ที่อาตมาทำอยู่ตอนนี้ ก็หลายอย่าง ที่เอามาให้ฝึกให้หัด เพื่อที่จะได้ฝึก ให้มันลึกซึ้งลงไปอีก เอ๊ ทำไมเราจะต้องสุดโต่งด้วยอย่างนั้น เรากลับไป มันไม่มีคุณค่าเลยน่ะ แล้วเราก็จะไม่เป็น ประโยชน์ ตรงที่คือว่า ถ้าเผื่อว่าเอามาแล้ว เราก็มาได้พิสูจน์ว่า ถ้าเราฝึกหัดแล้ว เราจะรู้จัก สิ่งที่ดี วิเคราะห์วิจัยลึกๆ เอาแต่ส่วนดีๆ ของสิ่งนั้นๆ มาใช้ สิ่งนั้นๆ มาเป็นประโยชน์ ส่วนไม่ดี เราก็รู้จักเอาออก เราไม่กินทุเรียนทั้งลูก ทั้งเปลือก เรารู้จักว่าจะกิน ทุเรียนก็เอากินเนื้อมัน เท่านั้นแหละ เมล็ดมันข้างใน มันก็ไม่เอา เปลือกมันเราก็ไม่กิน ถ้าขืนกินทั้งเปลือก ทั้งเมล็ด เข้าไป ทั้งเนื้อ ทั้งเปลือก เม็ด โอ้โฮ เอ้า ช้างมันกินได้ไหม เอาทุเรียนให้มันเคี้ยวทั้งลูกนี่ มันกินหมดเลย ทั้งลูก ทั้งเปลือกทั้งเนื้อ ทั้งเมล็ด ช้างมันกินไหม? ใครเคยไหม โยนทุเรียนให้ช้าง เอาเข้าปากเคี้ยวทั้งเปลือก ทั้งอะไรเคยไหม ใครเคย เคยบ้างไหม อาตมาว่า ช้างมันก็ไม่กินน่ะ มันก็คงจะต้องกะเทาะออกบ้างหรอกนะ แต่เขาก็ไม่มีใครอุตริ เอาทุเรียนให้ช้างกินหรอก กระมังนะหนอ มานึกได้ตอนนี้ ยกตัวอย่างน่ะ

นี่ เราพูดแล้วก็คงพอใจ เราไม่ไปบ้ารับไปทั้งหมดหรอก เราก็ดูว่า เขาเอาทุเรียนมาให้ ก็รับทุเรียนมาทั้งลูก นั่นแหละ เสร็จแล้ว เราก็คงไม่ขม้ำมันทั้งเปลือก แล้วก็เลยตะกราม กัดมันทั้งเปลือกเข้าไป จนกระทั่ง กินเนื้อ กินเมล็ดมันต่อ ลุยเข้าไปอีก ก็คงจะกิน พอสมควรน่ะนา แต่ที่จริง เม็ดทุเรียนกินได้น่ะ เอาละ พูดกินต่อไป เดี๋ยวยาว กำลังอธิบายเนื้อหาสาระอยู่

เรารู้จักชำแรกเอาสิ่งที่เป็นเนื้อหาสาระ แก่นสาร สิ่งที่ไม่ดี สิ่งที่เป็นเศษ สิ่งที่ไม่เข้าท่า เราจะต้องมีปัญญาเรียนรู้ ชำแรก ชำแหละ ใช้ปัญญาญาณให้รู้จักว่า อันนี้สิ่งนี้เราไม่เอา อันนี้เราเอา เรามีสิทธิ์ที่จะรับสิ่งที่ควรรับ ไม่รับสิ่งที่ไม่รับ แม้จะเอามาให้ทั้งดุ้น เอามาให้ทั้งลูก ทุเรียนอย่างนี้ เป็นต้น เราก็มีปัญญาที่จะชำแรก ชำแหละเอาสิ่งที่มันสมควร มีญาณปัญญา โดยเฉพาะ ที่เป็นนามธรรม เป็นนามธรรมนี่ เรายิ่งสัมผัสแล้วก็รู้ว่า จะรับอะไร ไม่รับอะไร

ยกตัวอย่าง เช่น อาตมาเอาวิดีโอ มาให้พวกเราดู อย่างนี้เป็นต้น หลายคน ทั้งเปลือกเลย ทั้งลูกเลย ไม่ดูละ วิดีโอ มันเป็นมหรสพ ฉันไม่ดูละ ดูเข้าไปเดี๋ยวฉันก็ตกต่ำ ก็แสดงว่า ตัวเองไม่มั่นใจตัวเอง ไม่เชื่อมั่นตนเองว่า ตนเองนี่มีพลังไหม มีอินทรีย์พละ มีความสามารถไหมว่า อย่างนี้แค่นี้น่ะ ถ้าเราสัมผัสแล้ว นี่ เราจะเลือกเอาเนื้อหาสาระ สาระสัจจะ ในนั้นมาได้ สิ่งไหนเป็นสาระ เป็นเนื้อหาสาระเราเอาได้ ที่ไม่ใช่เนื้อหาสาระ มันมอมเมาเรา มันยั่วยวนเรา มันทำให้เราเกิดกิเลส มันมีฤทธิ์พอไหม เป็นการพิสูจน์ ว่าเรามีโลกุตรจิต จริงหรือไม่ เป็นการพิสูจน์ แค่สัมผัสของ แหม นี่ ของปลอมน่ะ วิดีโอ นี่ไม่ใช่เรื่องจริงสักหน่อย เราก็รู้ๆน่ะนา ขนาดปลอมอย่างนี้ เรายังทนมันไม่ได้ สู้มันไม่ได้ มันทำให้เราเกิดกิเลส แสดงว่าเราอินทรีย์พละยังอ่อนมาก เจอตัวจริงเข้าเป็นอย่างไร เสร็จอีดำ เสร็จดีแดง เสร็จอีด่างเลย เสร็จ เจอเข้าจริง ก็ต้องเสร็จอีดำ เสร็จอีแดง เสร็จอีด่างแน่ๆ ก็ขนาดเรื่องปลอมแค่นี้ เรายังอินทรีย์พละเรายังไม่พอเลย เรายังเป็นทาส เรายังไม่มี สติสัมปชัญญะ ปัญญา ไม่มีกำลัง ไม่มีอินทรีย์พละของตัวเอง ที่จะสู้ หรือที่จะเรียนรู้ได้ นั่นก็แสดงว่า เราเอง ไม่มีโลกุตรจิตจริง มีผัสสะเป็นปัจจัยขนาดนี้ ไม่ได้อยู่เหนือมันได้เลย มันมีฤทธิ์เหนือเรา เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เริ่มต้นเลย คนที่ไม่ได้พิสูจน์ ไม่ได้ศึกษานี่ พอเห็นวา่ ไอ้นี่เป็นวิดีโอ แล้วก็อินทรีย์ตื้นๆ โอ้ย นี่มหรสพ นี่มันเรื่องละเม็งละคร ไม่ดูละ ดูไม่ได้ ขืนดูผิดศีล คนนั้นก็ไม่มีโจทย์ ไม่มีแบบฝึกหัด เดี๋ยวนี้ สมัยนี้ มันไม่เหมือน เมื่อก่อน มันจัดจ้านร้ายแรง ร้ายแรงกว่าในวิดีโอนะ วิดีโอ นี่เขาถ่ายทอดมาได้นี่ เซ็นเซอร์น่ะ ถ้าไม่เซ็นเซอร์แล้ว ก็จะเอาเรื่องเอาราวที่ปู้ยี่ปู้ยำ ยิ่งกว่านั้นน่ะ เรื่องจริง มันปู้ยี้ปู้ยำยิ่งกว่านั้นน่ะ เขาถ่ายออกมาได้ที่ไหน ถึงแม้ถ่ายได้ ก็ไปฉายกันออกหนังเอกซ์ หนังอาร์ของเขาอย่างที่ว่านี่ ร้ายกว่านั้นอีก จะเป็นหนังบู๊ หรือหนังรักก็ตาม เป็นหนังในเชิงราคะ เป็นหนังในเชิงโทสะ ก็ตาม จัดจ้านกว่านั้น มันทำถ่ายเป็นหนัง มันน่าเกลียดเลย ถ่ายแล้วก็ต้องปล่อยให้มันถ่ายกันได้ ที่เราเลือกมานี่ นอกจากจะเปิดฉายกันได้แล้ว อาตมายังเลือกมาอีกชั้นหนึ่งน่ะ เอามาให้ดู เลือกมาอีกทีชั้นหนึ่ง เอามาให้ดูตามกาลเทศะ แล้วเราก็จะได้พิสูจน์ทดสอบ เป็นโสตทัศนศึกษา เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มันช่วยเราได้เหมือนกัน เราต้องอยู่เหนือมัน ต้องใช้ เอาละ ผู้ใดอินทรีย์พละอ่อน เอาละ ดูแล้ว ก็เสียท่าจริงๆ ก็ต้องรู้ตัวว่า ต้องพรากไม้ ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำ เราดูแล้ว เรายิ่งอินทรีย์อ่อนจริงๆ เราดูทีไร เราก็เสียท่า เราเกิดกิเลส สู้ไม่ไหวทุกที เอ้า เราก็อย่าเพิ่งมาดูซี ต้องพยายามให้คนอื่นช่วยบ้าง เราก็ช่วยตัวเองบ้าง อย่ามาดู พยายามตัดอกตัดใจ หัดละง่ายๆ แบบฝึกหัดต้นๆว่า เราหัดเลิก เราหัดละ ห่างเว้น ก็จริง นั่นลำดับหนึ่ง

ทีนี้ เมื่อเรามีอินทรีย์พละพอสมควร เราก็มาดู ดูสิว่าเราสู้ได้ไหม เราได้ประโยชน์คุณค่าไหม เราก็ดู แล้วอย่าโกหกตัวเอง ถ้ารู้สึกว่าเราเสียท่าจริงๆ แล้วเราก็หัดเลิกบ้าง เอ๊ เรายิ่งดู เราก็ยิ่ง เกิดกิเลสเพิ่มเติมขึ้นมากมาย กลายเป็นทาสมัน ติดยึด หรือไม่ก็ฤทธิ์แรงของ แม้จะแค่ลีลา ของหนัง เท่านั้นแหละ เติมกิเลสราคะโทสะให้แก่เราได้มากขึ้นๆๆๆ ในโลกนี้ ก็ยั่วย้อมอยู่กัน อย่างนี้จริงๆ เพราะฉะนั้น เขาจึงเซ็นเซอร์กันบ้าง ไม่เซ็นเซอร์มันจะยั่วยุๆให้เกิด โทสมูล ให้เกิดอาฆาตพยาบาทมาดร้าย อย่างหนังจีนนี่ โอ้! ไม่ได้หรอก ความแค้นต้องชำระ ต้องแก้แค้น อะไรพวกนี้มากมาย อย่างนี้ เป็นต้น มันก็จะสะสมความแค้น อาฆาต มาดร้าย ไปนานนับกัปกัลป์ ไม่รู้จักเลิก ไม่รู้จักปล่อย จักวาง เราก็มาพยายามศึกษา อาตมาก็บอกแล้วว่า ความแค้นต้องอภัย ไม่ใช่ความแค้นต้องชำระ นี่เราก็มาแก้เคล็ด เอาเถอะ ในหนัง มันจะต้อง เป็นอย่างนั้น ตามวิสัยของโลกียะ วิสัยของโลกเขาก็ทำอย่างนั้น แต่นี่ธรรมะของเรา จะต้องอยู่เหนือ เราก็ต้องรู้ว่าโลกเขาทำ เราก็อย่าไปทำตามเขาซี เราเป็นผู้ที่ศึกษา เรารู้แล้ว เราก็อย่าไปทำตามเขา อย่างนี้เป็นต้น เราก็เรียนรู้ในมุมที่ เราจะต้องเนกขัมมะ จะต้องสละออก จะต้องฝึกปรือตัวเราออก

การกระทำสละออกทางใจ มันเป็นเรื่องของเราฝึกปรือจริงๆ ธรรมะที่ลึกซึ้งขึ้นไปแล้ว ขั้นปรมัตถ์ เราจะต้องฝึก ที่จิตใจอย่างนี้มีอยู่โทนโท่ แต่เราก็วางใจ ใจเราปล่อย ใจเราไม่มี อย่างที่เรามีรูป กายขันธ์ ๕ เรามีร่างกายนี่ เราวางว่านี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ใครจะมารู้กับเราได้ว่าเราวาง เราไม่ยึด ติดร่างกายเราว่าเป็นเรา เป็นของเรานี่ มันลึกซึ้งอย่างกับอะไรดี ยิ่งของนอกๆ นี่ เราวางไม่ได้ ของที่ไม่ถึง เหมือนร่าง เหมือนกาย ใครนะ จะไม่หวงแหน ร่างกายยิ่งกว่า ไอ้ของข้างนอก นี่หวงแหนของข้างนอกกว่าไม่ได้หรอก เราจะต้องเสียสละไปไม่ได้ ทองนี่ เพชรๆ เงินๆ เสียสละไม่ได้ เอาชีวิตเข้าแลก คนนั้นก็ยังโง่เง่าอยู่แหละ เราบอกเอาเถิด เงินทองข้าวของ ทรัพย์สิน เพชรนิล จินดาเอาไปก่อนเถอะ เอาร่างกายไว้ก่อน คนนั้นก็เห็นว่า เออ อันนั้น อะไร สำคัญกว่ากัน ก็ชัดเจน แต่คนนี่โง่เง่า นี่รักข้าวของ สมบัติเงินทองมากกว่า เอาชีวิตนี่เข้าไปแลก ก็คนโง่เง่า ในระดับนั้น

ทีนี้ เราเห็นว่า เราไม่หวงแหนหรอก เงินทองนี่ เราให้ก่อน ร่างกายเราต้องเอาไว้ก่อน ขนาดนั้น แม้แต่ร่างกายนี่ เราก็จะไม่หวงแหน และเราก็จะไม่รักไม่หลง เราจะปล่อย จะวางได้ อันนี้เรื่องใน จริงๆเลย เรื่องของจิตวิญญาณลึกๆจริงๆเลย ยาก เพราะฉะนั้น เราดูข้างนอก สัมผัสด้วยตา หู จมูก ลิ้น กาย ข้างนอก เรายังวางไม่ได้ แล้วจะมาวางในๆ นี่ได้ นี่กาย นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เนื้อหนังมังสานี่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ยาก! ไม่เชื่อละ อย่ามานั่งโม้ขี้ฟันเลย

เพราะฉะนั้น คนที่มาพิจารณาผิดขั้น ผิดลำดับ จะทาน หรือจะสละออก ตั้งแต่วัตถุข้างนอก ก็ยังไม่ได้ แล้วจะมานั่งพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา อย่างเป็นพระ เป็นอะไรนี่ เราปฏิบัติธรรม นั่งเป็นพระกรรมฐาน นี่นา เป็นพระธุดงค์ เป็นพระอะไรก็แล้วแต่ พิจารณา ตัด ลัดว่านี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา แต่ไม่เรียนรู้ตั้งแต่หยาบ ตั้งแต่นอก เสร็จแล้ว โอ้โฮ ที่กุฏิ นี่ มีหมด แหม ใครเอาอะไรมาให้ ก็กักตุนสะสมไว้ น้ำตาล น้ำมูกน้ำมัน อะไรก็แล้วแต่ ข้าวของ แหม โอวัลติน อะไร ใครมาหยิบของกูไป ปัดโธ่ แล้วจะบอกว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ก็ โอวัลตินขวดหนึ่ง กับอีกกระป๋องหนึ่ง ก็เที่ยวได้เล้งกับเด็ก เขาจะเป็นจะตาย ทุบตีกันจะเป็น จะตาย โกรธ มึงมาเอาของกูไป ทั้งๆที่เอาไว้จนเน่า บางอันนี่เอากักไว้สะสมไว้จนเน่า มันกินไม่ทันน่ะ มันใช้ไม่ทัน หมักหมมไว้ก็เน่าก็เสียตามอายุมัน หวงแหนอย่างนั้นอยู่ แล้วยังมาปลงว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันคนละลำดับเลย คนละเรื่องเลย หยาบ กลาง ละเอียด เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย ไม่เข้าใจ นี่แหละ พระกรรมฐานแบบนี้ จมอยู่ในฐานนั่นแหละเยอะ ฐานนี่ แปลว่าส้วม ภาษาอีสานนี่เขาเรียกฐาน นี่คือเว็จ ส้วมขี้ จมอยู่ตรงนั้นแหละ กับ สมบัติที่ไม่เข้าเรื่อง ปล่อยวางไม่ออกหรอก

พวกเราก็เหมือนกัน ฆราวาสปฏิบัติธรรมก็เหมือนกัน พระก็เหมือนกัน ต้องหัดสละสิ่งที่ควรสละ เบื้องต้นก่อน เพราะฉะนั้น ท่านถึงให้ทำทาน หรือให้ไปซีวัตถุ ทำทานด้วยเงินด้วยทอง ด้วยข้าว ด้วยของ ด้วยอะไรที่เราหวงแหนมันนัก อะไรสิ่งที่รักมากนะ ยิ่งดี ลองให้ไปซี ที่รักมากๆนี่ เขาว่าอะไรล่ะ สิ่งที่รักมากๆ เขาว่าเสียทองเท่าหัวไม่ยอมเสียผัวให้ใคร แหม ผัวมันจะรัก มากกว่าทองอีกน่ะ ทองเท่าหัวโน่น โอ้โฮ ทองเท่าหัว หลายกิโลนะ พูดไปแล้วก็เดี๋ยวไปยกผัว ให้คนอื่น พูดกันดีๆนะ จะยกให้ก็ต้องพูดกันดีๆ แต่มันก็ต้องศึกษาจริง

ทีนี้ศึกษาจะยกให้หรือไม่ยกให้นี่ ถ้าปฏิบัติทางจิตวิญญาณแล้ว แม้เราไม่ยกให้ อยู่ด้วยกันก็ได้ เป็นพี่น้องกันก็ได้ แต่เราปล่อยวางทางด้านจิตวิญญาณให้จริงเลยว่า เราเนกขัมมะ ปล่อยจิตวิญญาณ อยู่กันเป็นพี่เป็นน้อง เราก็ละก็ลด ไปสัมผัสเสียดสีเป็นกาม สามีคืออะไร ผู้ช่วยเหลือเฟือฟาย สร้างสรรด้วยกัน ปรารถนาดีต่อกัน ก็อยู่ไปด้วยกันเป็นพี่เป็นน้องกันไปก็ได้ แต่เรื่องกาม เรื่องอะไร จนกระทั่งถึงแม้ที่สุด จะสัมผัสแตะต้อง ฝ่ายหนึ่งยังติด ฝ่ายหนึ่งวางได้ คุณก็วางใจคุณได้ มีแต่กรรมกิริยาอะไรอื่นสัมผัสแตะต้องอยู่ เหมือนเรากินอาหารเราก็กิน เอาเข้าปากก็เคี้ยว ถูกลิ้นมีรส เราก็รู้ความจริง มีกลิ่นมีรสอะไร แต่เราก็ไม่ได้ติดอาหาร ต้องกินอาหาร เราก็กิน แต่เราไม่ได้ติดอาหาร ชนิดมีสภาพที่ เราจะต้องลึกซึ้ง ต้องรู้ถึงสัมผัส ต่างๆ ว่าในสัมผัสต่างๆนั้น มันทำให้เกิดกิเลส กามกิเลส ไม่ว่ารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ถ้าเราไม่มีกามเป็นเนกขัมมะได้จริง สละออกด้วยใจจริงแล้ว มันก็ไม่มี การกินอาหารนี่ ย่อมมีกามแน่นอน มีรูป มีกลิ่น มีสี มีรส มีสัมผัส แล้วเราจะติดรสเหล่านั้นไหมล่ะ มีอัสสาทะ มีรสอร่อย มีสิ่งที่เราต้องเสพ ต้องติดอยู่ไหม

นี่แหละมันลึกซึ้งตรงที่ตัวเสพนี่แหละ เราเสพไหม มีอยู่แต่เราไม่มี เราสละออกได้แล้ว เราไม่มี ไม่ติด ไม่ชื่น ไม่ชอบ ไม่ผลัก ไม่ดูด เป็นสภาพไม่ผลักไม่ดูด นี่เรียงซ้อนลึกซ้อน ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา เป็นบารมี ๔ ที่จะต้องเรียนจริงๆ

ทาน คือ อะไร ทานก็คือให้ เนกขัมมะก็คือให้หรือสละออก เนกขัมมะมันสูงกว่าทานอีกชั้นหนึ่ง หมายเอาถึง จิตวิญญาณเลย แต่ทานนี่รวมหมดจิตวิญญาณด้วย ทานนี่ยิ่งใหญ่ ให้ทั้งวัตถุนอก ให้ทั้งจิตวิญญาณ ให้ทั้งสิ่งที่เป็นกิเลสอะไรให้หมดแหละ ทานก็คือสุดท้ายสุดยอด ก็คือให้นั่นแหละ

เราก็มาปฏิบัติด้วยหลักของศีล ศีลเป็นเนื้อเป็นตัวศีลที่ปฏิบัติแล้วจนเป็นไปได้ จนเราเป็น ศีลบุคคล เป็นบุคคลที่ทรงศีล ศีลข้อนั้นให้ละให้เลิกอะไร เราก็ละก็เลิกได้สมบูรณ์ ตามความหมาย ศีลนี้บอกให้เราเจริญยิ่งขึ้นๆๆ เป็นผู้เจริญอย่างนั้นๆ เราก็ปฏิบัติตามศีล ที่เป็นอภิสมาจารนั้นสูง เจริญได้อยู่ในตัวตน เราเป็นผู้มีศีล ทรงศีล ไอ้ที่เลิกก็เลิก ไอ้ที่ทรงไว้ เจริญยิ่ง เป็นอภิสมาจาร เราก็เจริญยิ่ง เป็นอยู่ แม้เราจะเป็นอย่างดี มีกรรมกิริยาอย่างดี มีกุศลกรรม อย่างยิ่ง เป็นศีล ศีลสูง ศีลอภิสมาจาร สูงอย่างยิ่ง เราเป็นผู้ทรงศีล มีอภิสมาจาร อย่างสูง เราต้องเป็นต้องมีอยู่ตราบที่เรายังไม่ทิ้งรูปนามขันธ์ ๕ นี้ เราก็ไม่ติดไม่ยึด ว่ากรรมกิริยา เหล่านั้น แม้แต่เป็นกุศลยิ่งขนาดไหน ว่าเป็นเราเป็นของเรา กุศลนั้นจะเป็นเราเป็นของเรา มันเป็นเรา เป็นของเราโดยจริงโดยสัจจะ เราทำก็เป็นเรา เป็นมรดกของเรา แต่เราไม่ติดไม่ยึด เราปล่อยเราวางที่จิตของเรานี่ มันลึกซึ้งมากเลย พระพุทธเจ้านี่มีกุศลกรรมมหาศาล ปฏิบัติ ประพฤติ ทำอะไรก็เป็นกุศลอันยิ่งยอด ทานก็หัดปล่อยหัดวางมาตามลำดับ เป็นโพธิสัตว์ ก็หัดปล่อย หัดวาง มาทำดีก็วางดี แม้ดีนั้นเป็นเราเป็นของเราแท้ๆ ไม่มีใครมาโกงไปได้หรอก เป็นกัมมทายาโท เป็นกรรมทายาท เป็นมรดกของเรา ไปจนตราบที่เรายังไม่ปรินิพพานตราบใด มันจะมีฤทธิ์ มีเดชเป็นบุญเป็นบารมี กุศลนี่เป็นบารมี ถ้าอกุศลก็เป็นสันดาน สิ่งใดเป็นอกุศล ท่านเรียกว่าสันดาน มันก็อยู่กับเรานี่แหละ สิ่งใดเป็นกุศลท่านเรียกว่าบารมี มันก็จะไปกับเรา ตราบที่เรายังไม่ปรินิพพาน จะเกิดอีกชาติไหนๆๆ ก็เป็นฤทธิ์เป็นแรง เป็นอำนาจ

เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นของของตน แย่งกันไม่ได้ แบ่งกันไม่ได้ ไม่มีพระเจ้าที่ไหน มาประทานให้หรอก ไม่ใช่พระเจ้าประทานบารมี พระเจ้ามาประทานฤทธิ์ พระเจ้ามา ประทานกุศล พระเจ้ามาประทานอำนาจอะไรให้แก่ผู้นั้น ผู้นี้ ไม่เป็นของเรา ที่ได้สั่งสมมา ด้วยกรรม อาตมามีกรรมขนาดนี้ มีกุศลกรรมมาในชาตินี้เท่านี้ ก็ได้อย่างนี้ อย่างบารมีของ อาตมานี่แหละ มาริษยาอาตมา ก็แค่ริษยา ใครอยากได้อย่างอาตมา ก็ทำเอาเอง จะมาริษยา อาตมาก็โง่ ก็ไม่เข้าท่า อยู่ที่เราเองนั่นแหละ มันเกิดริษยาไม่เข้าเรื่อง อย่าไปริษยาใครเลยในโลก ใครได้ดีก็อนุโมทนา แล้วก็พยายามพากเพียรปฏิบัติ เออ ผู้นี้มีดีอย่างนี้ สั่งสมบุญอะไร สั่งสมกรรมอะไร กระทำอย่างไรหนอเขาถึงได้ ก็ทำตาม แล้ว มันก็จะสั่งสม เป็นกรรมของเรา เป็นบารมีของเรา ถ้าส่วนดีเราเรียกบารมี ส่วนเลว ส่วนไม่ดี เราเรียกสั่งสมสันดาน

เพราะฉะนั้น เราสั่งสมได้มันก็เป็นของเรามากไปกี่ชาติๆ ก็จะสั่งสมไปอย่างนั้นนะ แต่ละชาติ จะสั่งสมอะไรได้สักแค่ไหน ถ้าเราพากเพียรหน่อย อุตสาหะวิริยะหน่อย เราก็จะได้มากพอ สมควร ถ้าเราไม่อุตสาหะ ไม่วิริยะ ไม่ฝืน ไม่ทน มันก็ไม่ได้ กิเลสมันจะดึงเราไว้เรื่อย อย่าเลยๆๆ อย่าทำเลยไอ้ดีๆน่ะ ไปทำไอ้ไม่ดีเถิด แหม มันยอดกระซิกกระซี้เลย กิเลสนี่ออเซาะตลอด กาลนานเลย เราอยู่ที่ไหน มันอยู่กับเราเรื่อยนั่นแหละ เทวดาไม่ค่อยจะอยู่กับเรา ส่วนมาก มีแต่ผีนั่นแหละอยู่กับเรา กระซิกกระซี้อยู่นั่นแหละ เอาแต่ไอ้เรื่องที่มันไม่ค่อยดีนะ เราก็จะหลง

เพราะฉะนั้นต้องมีสติ มีสติสัมปชัญญะปัญญา พยายามที่จะรู้ตัว แล้วก็รู้ดี แล้วพยายามฝืน อย่างไรก็ต้องฝืน สิ่งที่ชอบหรือไม่ชอบ เราจะต้องพิจารณา ไม่ใช่เราไม่เอา ทำอะไรด้วยชอบ ด้วยไม่ชอบ แต่เราต้องพิจารณา ด้วยญาณปัญญาจริงๆ หัดใช้ญาณปัญญาวิจัย มีธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ว่านี่แหละดีหรือไม่ดีแท้ๆ ถ้าอันนี้เราตัดสินใจด้วยญาณปัญญา ของเรานี่แหละ วิจัยจะให้ฉลาดเท่าไร ก็บอกแล้วว่า เราจะมีปัญญาเท่าที่เราโง่ เราจะโง่ เท่าที่เรามีปัญญา บอกไว้แล้ว

เพราะฉะนั้น เราก็ใช้ของเรานี่แหละ เราจะโง่เท่าไหร่ มีปัญญาเท่าไรก็ใช้เต็มที่ เปิดจิตของเรา ให้ดี อย่าลำเอียงเข้าข้างโน้นข้างนี้จริงๆ แล้ววิจัย ออกมาว่าอันนี้ดี จงทำ จงพยายาม เรารู้เท่านี้ก็เอาเท่านี้ รู้ว่าอันนี้ดีก็เอา ใครมาเตือนว่า โอ๊ย อันนี้ไม่ดีหรอก คุณตัดสินผิด อย่างนี้ไม่ดีหรอก คุณจะไปเอาทำไมอย่างนี้ ฟังเขาแล้วก็เรียนรู้ต่อไปว่า จริงหรือ มันไม่ดีจริงหรือ เรียนรู้ต่อไปว่า มันไม่ดีจริงเราก็จะได้ละได้เว้น อันนี้ดีเราก็จะได้พยายามเอา มันยาก อย่างไรก็ต้องพยายามเท่าที่เรามีอินทรีย์พละ ฐานะของเราเท่านี้ ยากขนาดนี้ เราทำได้ ถ้ายากกว่านี้ ยังทำไม่ได้ ก็อย่าไปฝืนมากเกินไปนัก ประเดี๋ยวจะเข็ด จะหลาบ ประเดี๋ยว จะไม่หวาดไม่ไหว เราก็ทำไปตามลำดับ

ศาสนาพระพุทธเจ้านี่ มีลำดับมีขั้นตอน อย่าอวดดีเกินการ อะไรก็จะเอา อะไรก็จะเป็น เท่าที่เราอยากจะตะกละตะกลาม ก็ตะกละตะกลามกันใหญ่โต มันไม่ได้หรอก มันต้องได้ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นฐานะ แล้วก็พยายามสั่งสม กระทำไป บอกแล้วว่าบารมีที่ทำนี่ ก็บารมี ๑๐ ทัศนี่แหละ ทาน ศีล ศีลก็มี ทรงศีลขึ้นมาจริงๆ เป็นผู้ทรงศีล เป็นฆราวาสก็ทรงศีลได้ ละเอียดลออขึ้นมา เป็นอธิศีล เป็นอริยกันตศีล เป็นปาริสุทธิศีล จนเป็น อเสขศีลโน่นแหละ ศีลขึ้นมา เนกขัมมะก็ออกไปลึกซึ้ง วางได้ที่จิตที่ใจ มีปัญญาชัดแจ้ง มีปัญญาเชื่อมั่น เชื่อมั่นนี่ เป็นความรู้บอกแล้ว ถ้ายึดมั่นนี่เป็นความหลง ยึดมั่นนี่เป็นความหลง หรือเรายึดไว้โดยไม่หลง ก็มีปัญญา

เพราะฉะนั้น ถ้ารู้แจ้งแล้วเป็นศรัทธา หรือศรัทธาพละ เป็นความเชื่อที่เชื่อมั่นแล้วนี่ มันจะต้อง มีตัวปัญญาเข้าไปประกอบรู้แจ้งจริงๆ ไปยึดมั่นโดยที่โง่ๆเง่าๆ ยึดไม่เข้าท่า ไอ้นั่นมันก็เป็นอยู่ ในคน ในโลก จนกว่าเราจะรู้แจ้ง แล้วเราก็ยืนหยัดยืนยันอยู่ โดยไม่ยึดมั่นหรอก เราก็ยึดไว้บ้าง เรียกว่า สมาทาน ไม่ใช่อุปาทาน ถ้าอุปาทานแล้วก็ยึดมั่นถือมั่นไปยึดไว้ ฉวยเอาไว้อย่างโง่ๆ อุปาทาน ถ้าสมาทานแล้วละก็ไม่ใช่ยึดมั่นถือมั่น สมาทานนี่ยึดไว้ปฏิบัติประพฤติเพื่อขัดเกลา จนสุดท้าย สมาทานก็คือ ยึดไว้ ยึดฉวยไว้ ด้วยรู้ ด้วยเจริญ สงบ ยึดไว้ด้วยความสงบ ยึดไว้ด้วยความเจริญ อุปสมะหรือวูปสมะ ได้เป็นผู้ที่สงบสูงสุด เป็นผู้ที่รู้แจ้งสูงสุด ขั้นสงบ ขั้นเรียบร้อย ขั้นมีปัญญาญาณก็ประกอบก็ยึดไว้อย่างสมาทานได้ เพราะฉะนั้น สมาทานก็มี ๒ ระดับ ในขณะที่สมาทานเพื่อปฏิบัติ ให้สมบูรณ์ กับสมาทานไว้เพื่อรักษา เพื่อทรงไว้เท่านั้น เมื่อปฏิบัติสมบูรณ์แล้ว ก็ทรงไว้ สมาทานไว้ ทำไว้ อย่างนั้นแหละ ทำไว้เพื่อสร้างสรร เพื่ออาศัย เพื่อประโยชน์ ไม่ได้เพื่อตัวเพื่อตน ไม่ได้ทำเพื่อตัวเพื่อตน สมาทานไว้เพื่อสังคม เพื่อมนุษยชาติ เพื่อผู้อื่น ตนเองก็ได้อาศัยด้วย ที่จริงก็อาศัยด้วย แต่เราเป็นผู้มักน้อย เป็นผู้สันโดษแล้ว เราก็ไม่เปลือง เราก็ไม่ต้องอาศัยมากอาศัยมายอะไร เพราะฉะนั้น บารมีข้อต่อๆ ที่อาตมา พยายามเน้น ให้พวกเราว่าต่อไปนี้ ให้พวกเราต้องเน้นเสริมในบารมีอีก ๔

บารมี ๔ นี่เราก็ทำกันมามาก ที่จะละ จะลด จะเลิกอะไรได้ มีทาน มีเนกขัมมะพอสมควร มีศีลพอสมควร มีปัญญากันพอสมควร เสร็จแล้วจะเสริมหนุนนี่ เราจะต้องลึกซึ้งต่อไปอีก มีวิริยะ มีขันติ สัจจะ อธิษฐานของเราจริงๆนะ เราเพียรมากขึ้นอีกจริงๆ ต้องมีความพากเพียร มีบารมีนี้เพิ่มเติมขึ้นมา ที่อาตมาย้ำนี้ไม่ใช่ว่าเรื่องเล่นนะ เราเคยเพียร เราเคยละ เราเคยลด เคยเลิก เคยทำมาแต่ต้นได้ดีเท่านั้นๆ แล้วอย่าเบื่อ การที่ทำสูงขึ้น มันยากขึ้นจริงๆ จะต้อง ใช้ความละเอียดลออด้วย ความเพียรที่เนียนสนิท ใช้ความเพียรที่เนียน ถ้าทำเท่านี้ เราก็จะติดแป้น จะแช่อยู่แค่นี้

เพราะฉะนั้นเราจะต้องละเอียดลออแก่ตัวเอง รู้ว่าเราจะทำอะไรเพิ่มเติม มันจะยากอย่างไร ก็ต้องอุตสาหะ วิริยะเพิ่มเติม มีความเพียร มีวิริยะ มีขันติความอดทน มีอดทน เราเคยอดทนมาอย่างไร เราก็ต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่ว่ามาได้เสวยแป้นแล้ว ตอนนี้ก็เลย ไม่ต้องไปอดทนมาก เราก็อดทนมานักหนาแล้ว ขอเสพเถอะ กิเลสคนเรา มันจะเป็นอย่างนี้ เหมือนกับเราเดินขึ้นเขา ไปเจอสวน ก็แวะสวน จะขึ้นไปอีก แหม ขึ้นมาก็สูงแล้วนะเมื่อยแล้ว ขอนอนพักมันอยู่สวนนี่แหละ ไม่ขึ้นต่อแล้ว ใครจะขึ้นก็ขึ้นไปเถิด เมื่อยแล้ว โอ้โฮ ขลักขลัก เหน็ดเหนื่อย หนักหนา ลำบากลำบนจังเลยนะ ไม่ขึ้นต่อ ขึ้นอีกเถอะ มีสวนอื่นอีก สวนอื่น ยิ่งสบายกว่านั้นอีกนะ แต่คนส่วนมากบอกว่า ไอ้ก่อนจะไปได้สบาย ตอนนี้เราก็ได้สบายแล้ว ก่อนจะไปได้สบายอีก มันก็จะต้องต่อสู้อีก เหน็ดเหนื่อย หนักหนาอีก ไม่เอาละวะ จะมักน้อย เสียแล้วตอนนี้ แหม กลับจะเก่งเยี่ยมเลยนะนี่ มันซ้อนเชิง เหมือนกับเป็นผู้มักน้อย ไม่เอาอีกแล้ว ใครจะเอาก็เอาเถิด ฉันพอแล้ว สันโดษแล้ว กำปั้นแน่ะ เห็นไหม มันซ้อนเชิง เห็นไหม มันจะเป็นอย่างนี้ มันทำเป็นทีมักน้อย ฟัง แหม ภาษาสวยเสียด้วยน่ะ มักน้อยสันโดษ

พระพุทธเจ้าท่านบอกไม่สันโดษในกุศล ไม่สันโดษในกุศล เราจะต้องรู้ว่า เมื่อถึงฐานนี้แล้ว เราไม่ติดแป้น เพราะฉะนั้น อันนี้เราจะต้องเตือนอยู่เสมอๆเลย ไม่ติดแป้นแล้ว มันเผลอได้ง่ายๆ แล้วมันหลงจบง่ายๆ กิเลสที่ตัวที่มันเห็นแก่ตัว มันจะเสวย มันจะเสพนี่ มันจะยั่วให้อยู่ตรงนั้นแหละ ชมสวนอยู่ตรงนั้น ก็นอนตรงนั้น มองลงไปข้างล่าง เราก็สูงกว่าเขา เราก็ได้ที่ดีกว่าเขา เบากว่าเขา ง่ายกว่าเขาพอสมควร แต่ก่อนนี้หนักหนาสากรรจ์กว่านี้ ตอนนี้เรา ก็ได้พอสมควรแล้ว มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันล่อ แต่ดีกว่านี้มันมีอีก ดีกว่านี้มันมีอีก ดีกว่านี้ มันมีอีก แต่ต้องวิริยะ ต้องขันติ อดทนสู้ เพียร ตั้งใจเอาจริง สัจจะ ต้องเอาจริง อาตมาได้แปล ให้ฟังแล้วว่า สัจจะตัวปฏิบัติก็คือเอาจริง ต้องเอาจริง ต้องพากเพียรจริง จึงจะได้ของจริง จึงจะถึงจริง

เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าไม่เห็นตัวพวกนี้เป็นขั้นตอนลำดับ ไอ้พวกนี้ ชัดเจนแล้ว ไม่อุตสาหะ หรอกคน แล้วไม่เอาจริงเอาจัง เมื่อไม่เอาจริงเอาจัง เป็นอย่างไร มันก็ไปไม่ตลอด ไม่รอด ไม่ถึงที่สุด ที่สุดมันยาว ที่สุดมันไกล ที่สุดนี่มันสูงนะที่สุดนี่ ไม่ใช่ว่าสั้นๆ ไม่ใช่ว่าตื้นๆ

เพราะฉะนั้น การปฏิบัติธรรมของศาสดาของศาสนาหลายศาสนา หลายลัทธิไม่ถึงที่สุดหรอก พระพุทธเจ้า ถึงได้เหมือนกับดูถูกดูแคลนศาสนาอื่นหลายศาสนา ไม่ได้ดูแคลนจริงๆ ก็พูดยกย่อง ของตนเองนี่แหละ เหมือนพวกเรานี่ เราก็รักดีหรือเห็นดี เพราะว่าของเราดี เสร็จแล้ว เราก็โชว์แต่ดีของเรา แล้วก็ยืนหยัดยืนยันของเรานะ เราเชื่อมั่นเราก็ยืนหยัด ยืนยันของเราดีๆๆ เสร็จแล้วเป็นอย่างไร คนอื่นเขาก็หมั่นไส้ เอ้าเหมือนมันหลงแต่ของตัวเอง ยกแต่ของตัวเอง แล้วเขาก็ว่าข่มคนอื่น ไอ้ข่มคนอื่นนี่เป็นความยอมรับอย่างหนึ่งน่ะ เขายอมรับเขานะ เราไปข่มเขา เขายอมรับว่าเราข่มเขา เป็นการร้องสภาพอันหนึ่งของเขา เขาไม่รู้ตัวหรอก เขาร้องว่าชอบยกตนข่มท่าน แสดงว่าเราข่มเขาได้แล้ว เขาร้องนะ ถ้าเผื่อว่า เราไม่ยกตนข่มท่าน ถ้าเขาไม่เห็นว่าเรายกตนข่มเขานี่นะ เขาจะด่าส่งเราเลย บอกว่า โธ่เอ๊ย ไม่มีอะไร มาทำเป็นใหญ่ เขาไม่ยอมหรอก เขาไม่ยอมรับว่ายกตนข่มท่านหรอก คำร้อง ของเขา ร้องออกมาว่า พวกนี้ชอบยกตนข่มท่านเมื่อไหร่ แสดงว่าเขายอมเมื่อนั้น ลึกๆเป็นจิตวิทยา ฟังดีๆแล้ว คุณเอาไปไตร่ตรองให้ดี เพราะพวกนั้นเขาร้องออกมาเรื่อยเลย พวกนี้มันชอบ ยกตนข่มท่าน นั่นเป็นคำสารภาพชนิดหนึ่ง จริงๆ ถ้าเผื่อว่าเขาไม่ยอมนี่ เขาจะไม่พูดคำนี้เลยว่า มันจะมาข่มกูได้อะไร ใช่ไหม โดยจิตวิทยานี่ ถ้าเขารู้ว่า เขาไม่ได้ต่ำกว่าจริงๆแล้วนะ เราไม่ได้เหนือจริงแล้วนะ เขาจะไม่ยอมเลยว่า มันจะมาข่มกูได้อะไร ไอ้พวกนี้มันแอ๊ค มันบ้า เขาจะไม่บอกข่มเลย เขาจะบอกว่ามันต่ำ โธ่เอ๋ย มันต่ำ มันไม่ได้เรื่องอะไร มันโง่ มันจะไปรู้เรื่องอะไร เขาจะพูดอย่างนั้น เขาจะไม่ยอมหรอกว่ายกตนข่มท่าน เขาจะไม่พูด คำนี้หรอก

เพราะฉะนั้น เขาพูดคำนี้เมื่อไหร่นี่ โดยจิตวิทยาลึกๆนี่ อาตมารู้ เออ ดีแล้ว เขาสารภาพแล้วว่า เขายอมแพ้ ยอมใช้คำนี้ขึ้นมา ก็หมายความว่ายอมให้ข่ม อันนี้เรื่องจริงนะ แล้วคุณไปคิดดูอีกที ไปไตร่ตรองให้ดี แต่เมื่อรู้อย่างนี้ แล้วก็อย่าไปแอ๊คมากขึ้นล่ะ อย่าไปข่มมากขึ้น ทีนี้ไปเจอ กระบองมา แล้วอย่ามาร้องว่าอาตมายุนะ อาตมาไม่ได้ยุคุณ แต่บอกให้ทราบ โดยนัยลึกๆ ให้เข้าใจ ใครอย่าไปทำอย่างนั้น ต้องอ่อนน้อมถ่อมตน อย่าอะไรไปนัก ทุกวันนี้ ไม่จำเป็นจะต้อง ไปหวือหวาอะไรมากนักก็ดีแล้วละ เขาก็ยอมรับกันมากแล้ว

เพราะฉะนั้นคำว่า วิริยะ ขันติ สัจจะ ไม่ใช่มีแต่ภาษา อธิษฐานด้วย วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานนี่ เป็นบารมีอีก ๔ เราจะต้องเสริม เสริมจริงๆ เสริมวิริยะ อย่าไปเที่ยวได้อืดอาด อย่าไปเที่ยวได้ย่อหย่อน เราได้ดีมาเพราะความเพียร เราได้ดีมาเพราะความอุตสาหะวิริยะ เราไม่ใช่ว่า เราได้ดีมาเพราะความเฉื่อย เพราะความขี้เกียจ เพราะความไม่เอาถ่าน เพราะความไม่อดทน ความไม่เอาจริง ไม่ใช่ ที่เราได้มานี่ ได้เพราะความเอาจริง เพราะความอดทน เพราะความเพียร เขาต้าน เขาแย้ง เขาย้อน เขาว่า เขาลบ เขาหลู่ ดูถูก พวกเราสุดโต่ง พวกเราอะไร ไอ้เรื่องสุดโต่งนี่ อีกอันหนึ่ง ความจริงยังไม่ได้คลาย ยังไม่ได้คลี่ ยังไม่ได้อธิบายกับพวกโลกเขามากนัก ว่าเราสุดโต่ง อาตมาก็เคยพูดอยู่กับพวกเราอยู่บ้าง จะโต่งเต่งอะไรกัน ยังเหลืออีกตั้งเยอะ ตั้งแยะ ที่ยังจะต้องเดินทางไปสู่ภาคที่สูง ที่เจริญกว่านี้ จะบอกว่าเราโต่ง เราได้ขนาดนี้ เราว่าเราได้แค่นี้ ยังมีดีกว่านี้อีก ที่เราจะได้ แต่ทางโน้น เขายังไม่ขึ้น อะไรมาเลย ยังอยู่ตีนภู เราขึ้นมาได้กลางภู หรือว่าได้ขึ้นมาค่อนมาสูงขึ้นมาหน่อย เขาก็บอก ไอ้พวกนี้มันติด พุทโธ่ มันเกินไป เขานึกว่าไอ้อย่างที่เขาเป็นเขามีจะพอดี แต่ยังอยู่ ตีนภูอยู่เลย ยังบอกว่าตัวเองพอดี แล้วจะดึงเรา มาหลอกล่อให้เราลงไปหาตีนภูด้วย อย่ามาหลอกเสียให้ยาก แล้วเขาบอกว่าเราโต่ง มันเกินไปแล้ว เกินอะไร มันอีกตั้งหลายทิศ หลายทาง ที่จะต้องสูงกว่านี้ ดีกว่านี้อย่างนี้เป็นต้น ความหมายอันนี้ลึกซึ้งนะ ในความหมาย ในสัจจะความจริงนะ มันมีลึกกว่านี้ เขาว่าเราก็ต้อง เข้าใจเขาให้ได้ว่า เขาต้องมองไป อย่างนั้นจริงๆ เขามองว่าเราโต่ง แต่ความจริงมันไม่โต่งเติ่งอะไรหรอก มันยังมีอีก ที่เราจะเดินทางไปได้ เพราะฉะนั้น เรารู้ตัวจริงแล้วเราก็เข้าใจเขาให้ได้ ไม่ต้องไปข่มเขาหรอก ยังจะไปข่มเขาอีก เขาหาว่าเราโต่ง เราก็ยอมรับเสียก็แล้วกัน เขาเข้าใจไม่ได้ เขาเองซิ เขาขึ้นมาไม่ได้ บอกเขาได้ บอกเขา คุณว่าขึ้นมาเถิด คุณเอาแต่ความสำนึกของคุณ ความรู้สึกของคุณ ความพอดีของคุณมาวัด ทั้งๆที่คุณพอดีอยู่ด้วยโลกธรรม ด้วยกามคุณ ด้วยอบายมุขอะไร ของคุณก็ว่าพอดีของคุณ ไม่ได้ฝืน ไม่ได้ตึง ไม่ได้วิริยะ อุตสาหะ อดทน อะไรขึ้นมาเลย ไม่ได้ขัดเกลาอะไรขึ้นมาเลย แล้วคุณก็บอกว่า มองคนอื่นเขาโต่ง ตัวเองมันไปไม่รอดก็ว่าโต่ง คุณยังมาไม่ถึงขั้นนี้

เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ไม่ขยับ ไม่เขยิบ ไม่เลื่อนฐานะ ไม่เจริญขึ้นนี่ จะไม่รู้ความเจริญยิ่งๆขึ้นๆ ได้เลย ถ้าเขาเองเขาไม่เลื่อนฐานะขึ้นมาเจริญ จะไม่รู้ความเจริญที่ยิ่งขึ้นได้ แล้วจะไม่รู้ว่า ทางที่จะเจริญต่อไปนั้น มันคืออะไร มันมีอะไรอีก ซึ่งมันยิ่งๆ นี่พวกเราที่เดินทางมาแล้วจะรู้ ว่าเราจะต้องตั้งใจ ต้องอธิษฐาน ต้องตั้งใจเสริมอธิษฐานนี่เป็นความตั้งใจที่จะต้องตั้งใจเสมอ ตั้ง พอตั้งใจเสมอ แล้วมันก็จะมีเพียรเพิ่มขึ้น แล้วจะอดทนได้เพิ่มขึ้นอีก เอาจริงเพิ่มขึ้นอีก มันจึงจะเสริมหนุน ในสิ่งที่เราจะรู้ด้วยปัญญาว่า เราจะเพิ่มอะไร เราจะเสริมอะไร เราจะลดจะละอะไร เราจะพากเพียรอะไร เราจะได้เข้าใจ

ทุกวันนี้เราได้ดีมาพอสมควร เราจะต้องทานได้มากกว่านี้ เราจะเนกขัมมะได้มากกว่านี้ จะต้องมีศีล ที่มันสูงกว่านี้ ต้องเป็นศีลที่เป็นอธิศีลยิ่งกว่านี้อีก ขึ้นไปอีก แต่ละฐานะๆ ต้องปฏิบัติ ประพฤติ ต้องบำเพ็ญขึ้นไปได้กว่านี้ จริงๆ ไม่ใช่มาอยู่แค่นี้ เมื่อเราทำได้ดีแล้ว จิตใจของเรา จึงจะเกิดสภาพเมตตา และอุเบกขาบารมี เมตตาบารมี อุเบกขาบารมี ซึ่งเป็นบารมีอีก ๒ ข้อสุดท้าย บารมี ๑๐ นี่ เมตตามันจะเกิดจริง เกิดจากใจจริง เมตตาได้แม้ แต่ศัตรู เมตตาผู้นั้นผู้นี้ได้อย่างกว้างขวาง เมตตาได้อย่างมาก คือจะมีน้ำใจเกื้อกูล จะมีน้ำใจ ช่วยเหลือ จะมีน้ำใจจริงๆ จะเสียสละสร้างสรรเห็นแก่ผู้อื่น ได้มากขึ้นจริงๆ พร้อมกันนั้น จิตที่เป็นตัวอุเบกขา อุเบกขาเป็นฐานอาศัย อุเบกขาเป็นวิหารธรรม เมตตาก็เป็นวิหารธรรมด้วย แต่วิหารธรรมเมตตานั้นคือ กรรมการงาน เมตตานี่เป็นการงานของพระอริยะ อุเบกขานั้น เป็นเครื่องอาศัย ของพระอริยะ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ จิตที่สะอาด ที่มีองค์ธรรม ๕ อุเบกขา บริสุทธิ์ ปริสุทธา ปริโยทาตา ก็ผุดผ่องอยู่ จะคลุกคลีเกี่ยวข้อง สัมผัสกับโลกียะ ที่ใครยังมี อินทรีย์พละสูง ก็แม้แต่จะแรง จะมีฤทธิ์แรงก็ไม่สามารถที่จะทำให้จิตใจของเรานี่ ด่างพร้อยได้ จะสะอาดผุดผ่อง อยู่อย่างนั้นแหละ แล้วมีตัวจริงด้วย หมายความว่า จะต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้อง อยู่กับโลกที่เป็นโลกนั่นแหละ โลกียะ หรือว่า แม้แต่เป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่งามอะไร ก็เป็นเรื่องของผู้อื่น เราคลุกคลีเกี่ยวข้องกับสิ่งไม่ดี ไม่งามเหล่านั้น สิ่งไม่ดีไม่งามเหล่านั้น ไม่เข้าเนื้อเข้าตัวเรา เราไม่ดูไม่ซับ ไม่ซึมเอาสิ่งไม่ดีไม่งามนั้นเลย กิเลสไม่ขึ้น กิเลสไม่เกิดเลย มีภาวะแข็งแรง รู้เท่าทัน รู้ชัดรู้แจ้ง แล้วหลุดร่อนอย่างสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น จึงเข้าไปช่วยผู้ที่เขามีสิ่งที่ชั่วที่ต่ำได้ โดยไม่ติด มีภูมิคุ้มกันสูง เป็นผู้ที่มีภูมิ คุ้มกันสูง

อ่านต่อหน้าถัดไป