ตอบปัญหา (ตอน ๑)
งานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ
ครั้งที่ ๑๔

โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๕ ก.พ. ๒๕๓๓ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก


ก่อนจะได้ตอบปัญหา ก็ขอ.. เพื่อให้พวกเราได้ฟัง ที่เรามาปลุกเสกฯกันนี่ อาตมาเชื่อแน่นะว่า หลายๆคนที่มากันประจำๆนี่ บางคนก็เห็นว่า เอ๊อ! มันก็ไปเรื่อยๆ ธรรมดาๆอย่างนั้นเองแหละ บางคนก็เห็นว่า เอ๊ะ! เราต้องตั้งใจนะ ตั้งใจ ผู้ใดที่มา เหมือนอธิษฐาน อธิษฐานนี่แปลว่า ความตั้งใจ ไม่ได้แปลว่าขอ คือการต้องทำใจของเรานี่ ให้ตั้งขึ้นเรื่อยๆ ให้มีสติสัมปชัญญะ แล้วก็ตั้งใจน่ะ เป็นความตั้งใจที่จะทำ ทำในสิ่งที่เราคิด ว่าเรากำลังจะทำให้มันได้ประโยชน์ ไม่ใช่ปล่อยเรื่อยๆไปตามเรื่อง ลอยๆไปเฉยๆ อย่างนั้นได้ผลน้อย ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม มันจะได้ผลน้อย แต่ถ้าเผื่อว่าใครรู้สึกว่า ความ ตั้งใจนี่เป็นตัวประธานในทุกๆสิ่ง ในทุกๆขณะ ในทุกๆเวลา รู้สึกไหมว่าความตั้งใจนี่ เราคงเข้าใจนะ ภาษาไทย ภาษาไทยง่ายๆ ความตั้งใจนี่ ถ้าใครรู้สึกว่า ความตั้งใจนี่เป็น ตัวประธาน เป็นตัวที่มันจะนำพา ให้เราทำอะไรก็แล้วแต่ อยู่ในขณะใดก็แล้วแต่ ถ้าเรามีความตั้งใจ มีสติ มีธรรมวิจัย หรือว่ามันจะมีเอง ตัวปฏิภาณน่ะ ตัวที่จะวิจัยวิเคราะห์ว่า อะไรดี อะไรไม่ดี อะไรควร อะไรไม่ควรนี่ ในคนน่ะ มันจะมี ยิ่งเรามาเป็นนักปฏิบัติธรรมแล้วน่ะ ธรรมวิจัย หรือว่าตัวที่จะวินิจฉัยว่าอะไรดีอะไรชั่วนี่ มันจะมีมากขึ้น อะไรควร อะไรไม่ควรนี่ มันจะมีมากขึ้นตามภูมิตามปัญญาของแต่ละบุคคล เราได้ซักซ้อม เราได้ฝึกฝนอบรม มากเท่าใดๆ ตัวความเฉียบคม ความแม่น ความตรง ความถูกต้องที่จริงขึ้น มันยิ่งจะมีมากขึ้นน่ะ นั่นคือ ตัวปัญญา หรือญาณที่แท้จริงของเรานี่ มันเพิ่มประสิทธิภาพขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราได้อบรม ได้ฝึกฝน ได้ทำเสมอๆจริงๆ นั่นแหละคือ การอบรมฝึกฝนตนน่ะ เป็นธรรมานุธรรมปฏิปัตติ เป็นการปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม

เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อว่าเรามีอัตตสัมมาปนิธิ คือการตั้งตนไว้ชอบ ก็คือเริ่ม ตั้งแต่ตั้งใจ ตั้งตนไว้ชอบ ก็คือ เราต้องมีตัวตั้ง ตัวตั้งตัวแรกก็คือตั้งใจน่ะ เพราะฉะนั้น เราจะพยายามทำอะไรก็แล้วแต่ เราพยายาม ให้ระลึกว่า เรามีความตั้งใจหรือไม่ทุกที ทุกขณะ ให้ระลึกให้ดี ถ้าเผื่อว่าเราพบว่าเราได้กำลังตั้งใจ ถ้าใครรู้ตัวแล้ว อ้อ! นี่เรากำลังได้ตั้งใจนะ เมื่อนั้นน่ะเรากำลังได้ ได้เดินทาง ได้ก้าว ตั้งใจจริงๆ แล้วก็พึงกระทำต่อไป เมื่อเราได้เป็นเช่นนี้อยู่เสมอๆนี่ เราก็กำลังเดินทางเข้าสู่อริยมรรค อริยมรรคก็คือ การเดินทางอย่างผู้ประเสริฐ มีทางเดินที่เดินไป ก้าวไป เริ่มต้นตั้งแต่จิตตัวแรกว่า เราตั้งใจจริงๆ เมื่อตั้งใจ มีธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ มีวิริยะ พากเพียรแล้ว ตัวสติที่เราตั้งขึ้นให้มันมีอยู่เสมอ เป็นตัวนำ มันแน่นอน อยู่แล้วว่า เราจะต้องมีสติ ไม่มีสติแล้วคุณจะระลึก ถึงความตั้งใจของคุณไม่ได้ คุณจะต้องมีสติก่อน คุณถึงจะระลึก ถึงความตั้งใจของคุณได้น่ะ เมื่อได้ตั้งใจแล้ว ก็ลองฟังดูประโยคนี้ ก่อนจะตอบคำถาม ไม่ใช่ประโยคหรอก เป็นบทอีก บทหนึ่ง จะจดก็จดน่ะ

"ผู้ที่จะประสบผลสำเร็จนั้น
ต้องมีจุดมุ่งหมายแน่ชัด
ที่ฝังไว้ลึกสุดในหัวใจ
แม่นมั่นอย่างแทบไม่ต้องระลึกถึง
แล้วลงมือทำด้วยความอุตสาหะบากบั่น
หากปราศจาก "จุดหมาย"
และ "งมือทำ" จริงๆแล้ว
ไม่มีความสำเร็จใดๆในโลก"

เพราะฉะนั้นมนุษย์เรานี่ ถ้าเผื่อว่าสะเปะสะปะ ไม่มีจุดหมายอย่างแท้จริง แล้วละก็ ผู้นั้นก็เดิน ไม่ถึงจุด ไม่มีเป้าน่ะ เหลาะแหละๆ ร่องแร่งไป จุดอะไรก็ไม่รู้ แล้วมันจะไปไหนล่ะ มันก็วนเท่านั้น เอง วนเวียนไปไม่เข้าท่า เพราะฉะนั้นจุดหมายของคนนี่ก็ ต้องสำคัญ อย่างเรามาทางธรรมนี่นะ อาตมาขอยืนยันนะว่า พระพุทธเจ้าท่านนี่ ไม่ได้สอนโลกียะ เพราะโลกียะนั้นน่ะ มันมีมาแต่ไหนๆ ในโลก โดยเฉพาะยิ่งเป็นโลกียะ ธรรมดาๆที่ประกอบด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ สรุปลงที่ตรงโลกียสุข พ้นทุกข์ที่ว่านี้ ที่คน เข้าใจกันไม่ได้ก็คือ เขาเข้าใจโลกียสุขไม่ได้ เข้าใจวูปสโมสุขไม่ได้ เขาเข้าใจไม่ได้ เขาวิเคราะห์ไม่ออก แล้วดูเหมือนจะไม่ระลึกถึงด้วย คำว่าสุข เขาก็เข้าใจว่าสุข สุข อย่างที่เขาได้รับคือโลกียสุข สุขอย่างเสพสมอารมณ์นะ เสพสมใจที่ได้ตั้งเป้าไว้ในใจ จะตั้งเป้าไว้ อย่างไรก็แล้วแต่

แม้ที่สุด จะตั้งเป้าว่าเป็นนิพพาน เสร็จแล้วเขาก็ไปได้อะไร ก็ตามใจ นึกว่าเป็น นิพพาน ไปนั่งหลับตาได้จุดว่าง เบา เขาก็ว่าเป็นนิพพาน แล้วเขาก็ว่านั่นคือสุข เขาสุข แล้วเขาก็คิดว่า นั่นคือนิพพาน แล้วก็สมใจ ตรงนั้นน่ะ นั่นก็คือโลกียะ ไปนั่งทำให้จิตว่าง ขนาดไหน ก็โลกียะ ผู้ที่ได้นิพพานแล้วไม่เอานิพพาน นั่นแหละคือโลกุตระ ได้จริงๆแล้วนี่ มันได้แล้วนี่ มันก็ได้ สัจธรรมนี้ ได้แล้วคือได้ ได้แล้วไม่ต้องเอา ได้แล้วก็ไม่ต้องติด ได้แล้วก็ไม่ต้องยึด เป็นแล้วก็คือเป็น มีแล้วก็คือมี มีสิ่งที่เราสามารถอบรมของตน เอาจนมีจนเป็นจนได้อย่างช่ำชอง อย่างชำนาญแล้ว ไม่ต้องไปติดเลย แล้วเราจะรู้ว่าตัว ยอดคือตัวอะไร ตัวกลาง ตัวปลาย หรือว่าตัวต้นคืออะไร เราจะรู้ เสร็จแล้วเราก็ทำ ตัวยอดก็คือตัวยอด ด้วยปัญญาที่จะมีประกอบ ไม่ต้องไปหลงใหล แล้วก็ไม่ต้อง ไปจำเป็น จะต้องเป็นอย่างนั้นอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นสุดยอดได้จึงอนุโลมได้ ผู้สุดยอด ไม่ได้เท่านั้น จึงอนุโลมไม่ได้ จะอยู่มันแต่ที่ไอ้ตรงยอดนั่นแหละ เลื่อนลงก็ไม่ได้ ติดมันอยู่ ตรงนั้นแหละ แต่ไม่ได้หมายความว่า ความเปื้อนนะ สัจธรรมไม่ใช่ความเปื้อน สัจธรรมแท้แล้วนี่ ไม่ต่ำและไม่เปื้อน ภาษาพวกนี้นี่ อาตมาไม่รู้จะบรรยายยังไง ก็บอกแต่ภาษา ให้คุณฟัง คุณเป็นเสียก่อนเถอะ คุณได้จริงๆถึงที่สุดเสียก่อน แล้วคุณจะรู้ พูดแล้วมันเหมือนกับเล่นลิ้น บางทีก็เหมือนกับฟังแล้วก็เอาไปตีกินได้ ฟังแล้วบางทีนี่ เอาไปใช้เป็นเลศเป็นเล่ห์หลอกคนได้ เพราะฉะนั้นคนที่หลอกคนเก่งๆนี่ ชอบที่จะเอาภาษาหรูๆ ฟู่ๆฟ่าๆ ไม่เข้าเรื่องอะไร มาหลอกกัน ต่างๆ นานาสารพัด เสร็จแล้วก็กลายเป็นจอมมาร จอมมารที่ร้ายกาจ ฉลาดเฉลียว แล้วก็มีวรยุทธ์อะไร แต่ไม่จริงน่ะ สิ่งเหล่านี้แหละสำคัญ

พระพุทธเจ้าเอง ก็ต่อสู้กับพญามารนี่มากมาย เราตั้งใจจะไปสู่โลกุตระ เราก็ต้องศึกษาด้วยปัญญา ด้วยความรู้ความเห็น ที่มีนำไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ยังไม่เป็นจริงนี่ ศึกษาไป ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เรื่องต้นๆ เรื่องตื้นๆ อะไรก่อนไปเรื่อย จนกระทั่ง เสร็จแล้วก็ต่อไปเรื่อยๆน่ะ ต่อตัวสูงๆขึ้นไปเป็นลำดับๆๆๆๆ ไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ มันจะเป็นความรู้นำ แล้วก็เป็นความเป็นไปได้ จะเกิดตัวเป็นไปได้ ต้องลงมือทำ มันจะขาดลงมือทำไม่ได้ ต้องลงมือทำ ต้องลงมือปฏิบัติ ต้องลงมือเข้า ทำให้เกิดให้เป็นจริงๆ จึงจะประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะ ยิ่งไปนิพพาน ไปในทิศทางที่จะพ้นทุกข์อย่างแท้จริงนี่ ไม่ใช่เรื่อง ตื้นเขิน ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ฯลฯ ...

อาตมาว่าอาตมาพาพวกเรามาแก้ไขปัญหานะ มาแก้ไขปัญหาที่มันทุกข์อยู่ในโลก มันเห็นเด่นชัด มันไปโลภโมโทสัน เห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เห็นแก่ไอ้สิ่งที่เรานึกว่า มันดีมันถูกนี่ อย่างที่เขาเห็นกัน แล้วเราก็มาเปลี่ยนแปลงลดละมา ขนาดที่เราเข้าใจแล้ว เราลดละมา มันยังไม่ได้ง่ายๆ เลย เพราะมันเป็นกิเลสที่แท้จริง เราก็เปลี่ยนนี่ เปลี่ยนๆไป ให้เห็นความก้าวหน้า ความพัฒนา ของการเปลี่ยนแปลงตนเอง แล้วก็เข้าใจวูปสโมสุข เข้าใจความสุขที่อาตมาพยายามวิเคราะห์วิจัย พยายามจริงๆเลยว่า ให้มันชัดนะ เรื่องของโลกียสุขกับวูปสโมสุขนี่ อันหนึ่งบำเรอ อีกอันหนึ่ง ไม่บำเรอ แล้วก็ไม่มีความอยากที่จะมาบำเรออะไร มันไม่มีความอยาก มันเห็นมันก็เข้าใจ ก็รู้ หลายอย่าง เราเคยหลงว่ามันสุข แล้วเราก็เคยหลงติด หลงเสพ ถ้าใครยิ่งมีตัวอย่างอย่างนี้นะ มันยิ่งจะชัด อ้อ! ใจเรามันวางจริงๆนะ มันเฉย มันไม่มีอัสสาทะ ไม่มีรสอร่อย รสเพลิดเพลิน มันไม่มีรสที่จะไปติดอีกจริงๆ ไม่อาลัยอาวรณ์ ไม่ได้เห็นดีเห็นชอบ ใจมันจืดสนิท แต่ก็เข้าใจ ก็จำได้ว่า รสชาติเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ถ้าเผื่อว่ายังไม่ลืม มันจำได้ บางทีมันนานๆเข้า มันลืม เหมือนกันนะ อาตมาลืมหลายอย่าง ว่าเคยอร่อย เอ๊! มันอร่อยอย่างนี้ มันเป็นยังไงแล้วเว้ยตอนนี้ มันลืมจริงๆ นานๆเข้ามันก็ลืม ลืมที่เราเคยอร่อย อาการอร่อย รสชาติที่มันอร่อย มันชื่นอกชื่นใจ หรือมันมีลักษณะ อะไรต่ออะไรต่างๆนานา มันค่อยๆจาง ค่อยๆเลือน แล้วมันกลายเป็น ใจกระด้างๆ ใจเป็น ใจแข็งๆ ไม่ค่อยเห็นใจคนอื่น

ถ้าอันไหนที่เรายังเห็นใจคนอื่นอยู่ เห็นอยู่ว่า เออ! เราจำได้ ไอ้นี่แต่ก่อนเราเคยอย่างนี้นะ เราเห็น เราจำได้ว่า มันอร่อย มันติดอย่างนี้ มันเป็นอย่างนี้ เราก็จะได้เห็นใจคนอื่นเขาบ้าง เพราะเราเอง เรายังจำได้ เอ้อ! มันก็ติดอย่างที่เขาหรือเราเคยติดอยู่นั่น เกิดอย่างว่าล่ะ มันก็เข้าใจ เมื่อเราเห็นใจเด็กนี่ เด็กเคยสนุกอย่างนี้ เราก็จำได้ว่าเคยสนุกอย่างนี้ เราก็เห็นใจเด็กบ้าง แต่ถ้าเรา มันไม่เห็นว่ามันสนุกอะไรแล้วนี่นะ มันจะขี้มักจะกระด้างขึ้น บอกไม่เห็นมันจะสุขอะไร สนุกอะไร มันก็จะกระด้างขึ้นน่ะ เป็นจริงๆ มันจะเป็นจริงๆนะ มันจะรู้สึกไม่ค่อยเห็นใจ แล้วก็ไม่
ค่อยจะเอื้ออวยอะไรนัก เพราะฉะนั้นระวังหน่อยอันนี้ แม้ว่าเราเองจะจืดจางไปแล้ว เราก็ต้องเข้าใจเขา ฐานะเขา เขายังเป็นเด็ก หรือเขายังติดยังยึด ยังจะต้องอย่างนั้นๆ อยู่ เราก็จะต้องเข้าใจเขา พวกที่ไฟแรงๆ พอได้อะไรถึงหน่อยหนึ่ง ยังไม่ทันเสร็จ ยังไม่ทันจะแข็งแรง อะไรจริงจังหรอกนะ แล้วมันกระด้างก่อน มันก็มีเหมือนกัน พวกไฟแรงนี่ พอได้ปั๊บ แหม! กระด้างกับคนอื่นเลย อะไรกัน อย่างโน้นอย่างนี้ โอ้โห! ทำเก๋ ทำเก่ง ทำเยี่ยม มันมีบ่อยไป มันมีฤทธิ์ได้ ถ้าเผลอๆแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเห็นว่าดี เสร็จแล้วมันก็จะมาให้คนอื่น อยากจะได้ดี ให้ได้ดีเหมือนอย่างที่เราเคยได้ หรือเหมือนอย่างที่เราได้แล้วนี่บ้าง มันเป็นเจตนาดี แต่ว่ามันไม่เหมาะสม มันไม่รู้จักอนุโลมปฏิโลม มันไม่เข้าใจผู้อื่น มันไม่รู้จักฐานะผู้อื่น มันก็เลย จะเอาฐานะของตนเอง เอาใจของตนเองเข้าไปวัด แล้วก็เอาไปบังคับเขา ให้เขาเป็นอย่างเราทันที อันนี้เป็นไปไม่ได้น่ะ มันจะไปทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องรู้จักอันนี้ให้ดี ถ้าผู้ใดรู้จักรส วูปสโมสุข คือมันไม่มีจิตอยากจะเสพขึ้นมา เราจะต้องบำเรอ มันก็ว่างๆเฉยๆ แล้วว่างๆเฉยๆนั้น ไม่ได้หมายความว่า เราว่างจนไม่รู้เรื่องอะไร ไม่ทำอะไร เป็นคนเด๋อ ไม่คิดอะไร ไม่ใช่ ของพุทธนี่ ยังจะคิด ยังจะรู้อะไร ยังจะเข้าใจ เมตตา เกื้อกูลคุณค่า ยิ่งนับวันยิ่งเราว่างอะไรลง เวลาเรามี การฝึกฝน สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ เราฝึกฝนซ้อนอยู่ มันก็จะมีงานการ มีคุณค่า มีประโยชน์ มีการเสียสละ มีการสร้างสรร มีการให้ มีการเป็นผู้สร้าง แล้วเป็นผู้เสียสละ เป็นผู้ให้ แล้วเราจะเห็นคุณค่าประโยชน์อันนั้น แล้วมันจะซ้อน เมื่อเราได้ทำได้สร้างได้ให้แก่ผู้อื่นแล้ว เราจะเป็นมีคุณค่า แล้วมันจะนึกภาคภูมิ เป็นอัตตะ เป็นภพอีกอันหนึ่ง เป็นอัตภาพ สั่งสมไว้ในใจ แล้วมันเกิดมานะซ้อน อันนี้ก็ต้องเรียนรู้ว่า เรามีความดี เรามีคุณค่าจริง แล้วมันก็จะติดยึดหลงใหล เอ๊! เรามีคุณค่า เราไม่ได้เอาอะไรนะ แต่เรากำลังเอาซ้อนอยู่นะ เอาตัวเป็นของกู กูมีค่า กูใหญ่นะ จงจำกูไว้ว่า กูมีประโยชน์ มันซ้อนอย่างนี้ ทีหลังพอเวลาเขาลบหลู่เรามั่ง เขาเรียกว่า ทำลายค่า ของตัวเราทิ้งมั่ง จำกูไม่ได้หรือไง กูเคยทำประโยชน์ให้เอ็งน่ะ จะออกมึง ไม่ออก เมื่อกี้มันไม่ไหว ข้าเคยทำประโยชน์ให้แก่เอ็งนะ เอ็งจำไม่ได้หรือไงน่ะ กูทำประโยชน์ให้แก่มึง มึงจำไม่ได้หรือไง มันจะขึ้นเป็นตัวอัตภาพ ตัวกู มันจะขึ้นเป็นตัว อัตตา ตัวอัตภาพ มันซ้อนเชิงลึกนะคุณ มันซ้อน เชิงลึก จริง เราทำเพื่อเสียสละให้แก่เขา ทำไมไม่เสียสละให้มันหมดล่ะ ทำไมจะต้องมาเป็น ของกู อยู่อีกล่ะ นั่นเห็นไหม มันจะซ้อนอย่างนี้จริงๆเลย แล้วเขาจะลบหลู่เขาจะดูถูก เขาจะไม่เห็นคุณค่า เขาจะอะไรต่ออะไรนี่ มันจะอยู่ในใจ มันจะ แหม! นะ ไม่เห็นค่าของข้าเลยนะ ไม่เห็นคุณประโยชน์ ของข้า เลยนะ ลืม ไอ้โง่ ลืม ทำเป็นลืม ไอ้เนรคุณ อะไรไปเลย มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆน่ะ

เพราะฉะนั้นเราจะต้องสำเหนียกตัวเอง สำนึกตัวเองให้ดี สังวร เออ! เราจะเป็นขี้ไก่ เราจะเป็นขี้หมา อะไรก็ช่างเถอะ เราเคยทำแล้วก็ช่างมันเถอะ กรรมที่ทำลงไปแล้ว เป็นคุณเป็นค่าเป็นกุศลใด มันก็เป็นกุศลนั้นแล้ว เชื่อหรือไม่เชื่อ คนจะต้องจำได้ หรือไม่ได้ เขาจะตอบแทนคุณ หรือ ไม่ตอบแทนคุณ มันเป็นเราหรือเป็นเขาล่ะ มันเป็นเราหรือเป็นเขาที่จะตอบแทนเรา คนเขาจะตอบแทนคุณเรา มันเป็นเราหรือเป็นเขา เขาจะตอบแทนหรือเขาจะไม่ตอบแทน มันก็เรื่องของเขา ถ้าเขาตอบแทนน่ะ เขาเป็นกรรมที่ดี หรือว่ากรรมที่ชั่ว ก็ของเขาเอง ถ้าเขาไม่ตอบแทน มันก็เป็นกรรมที่ชั่ว ก็เป็นของเขาเอง เขาไม่ระลึก เขาจำไม่ได้ หรือแม้จำได้ แต่เขาจะไม่ตอบแทนล่ะ มันก็เป็นเรื่องของเขา แล้วคุณจะต้องไปทำใจเศร้าหมองลงมา แล้วมีมานะขึ้นไป อย่างที่กำลังอธิบาย เราได้หรือเราเสีย โง่ อย่าเสียค่าโง่นัก คิดให้ละเอียดลึกซึ้ง ให้ดีเลย วางใจ ดีๆ กรรมอันที่ทำแล้ว ถ้าคุณแน่ใจว่าเป็นกรรมดีแล้ว คุณไม่ต้องจำ คุณไม่ต้อง ไปคิดว่า ใครจะตอบแทนไม่ตอบแทนหรอก มันเป็นอันเป็นแล้ว มันเป็นกัมมทายาโท เป็นกัมมัสสโกมหิ เป็นกรรมของตน เป็นมรดกของตน คนอื่นก็คือคนอื่น เขาจะตอบแทน ไม่ตอบแทน เราก็จะจำได้ไม่จำได้ เราจะไปบังคับเขายังไง ไม่ต้องไปบังคับเขาหรอก การไปบังคับเขา ให้เขามาตอบแทนเรา นั่นแหละคือโลกีย์ บังคับกันในโลก ใช้อำนาจบังคับ ทำโน่น ทำนี่ มันก็กลัว กลัวจะถูกเตะถูกตีถูกฆ่า เพราะเขาจะซักซ้อม จะใช้วิธีนั้นละ จะไม่ได้ลาภ ไม่ได้ยศ ไม่ได้อะไร ก็แล้วแต่ มันก็จะเป็นอย่างนั้นแหละ เอาอำนาจโลกมาบังคับ เขาก็จำนน แต่ไอ้คนไหน ที่มันไม่กลัวละ กูไม่เอาละ ยศ ศักดิ์ กูไม่เอาละ เงินทอง จ้าง บังคับ มันก็ไม่อยู่แล้วตอนนี้ มันก็หนี เท่านั้นเอง ดีไม่ดี มันไม่เตะก่อนไปก็บุญแล้วนะ มันไม่เอา ถ้ามันจะไม่เอาลาภ ยศ สิ่งตอบแทนแล้ว มันก็ไม่ฟังคุณหรอก คุณจะเอาอำนาจอะไรมา ยิ่งมันไม่กลัวตายด้วย บอก เอ้ย! ไม่กลัวตายหรอก ฆ่าตายเดี๋ยวนี้ก็ไม่กลัว มันไม่ทำอะไรให้คุณหรอก นั่นในโลกเป็นอย่างนั้น

แต่ถ้าในทางธรรมแล้วนี่นะ มันศรัทธาเลื่อมใสบูชานี่ มันไม่เหมือนกันกับที่จะ เอาอะไรตอบแทน มันไม่ทำเพื่อลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข มันทำเพื่อตัวเอง จะได้สิ่งที่เป็นคุณค่า หรือตัวเองนี่ แหม! ยอมรับนับถืออันนี้ บูชา ต่างจากโลกียะที่ซ้อนเชิงอยู่

บางคนนี่ไปยอมรับนับถือเพราะถ้าอยู่กับคนนี้แล้ว เราจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข จะได้ความรู้ จะได้ความสามารถ จะได้เป็นเหมือนเขาที่เป็นนี่ จะได้ลอกเลียนเอาอย่าง ที่เขาเป็น เป็นอำนาจทางโลก เป็นใหญ่แบบโลกๆ มันซ้อนเชิง แต่มาทางธรรมแล้ว มีอำนาจทางธรรม มีความเป็นใหญ่ทางธรรม คนที่มาเอาทางธรรมนี่นะ มันก็ดูคล้ายๆกับจะมาเอาอะไรอันหนึ่ง ที่ของคนทั้งโลกเขามีลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข แบบโลกๆ มาเป็นทาสเขา หรือมาเป็นผู้ที่ซูฮก ต่อเขา ก็เพื่อที่จะมาเอาสิ่งอย่างนั้นจากเขา นั่นแบบโลก แต่ธรรมะมันกลับกันตรงที่ว่า ผู้ที่เป็นตัวอย่าง หรือผู้ที่เราศรัทธาเลื่อมใสนี่ ท่านมีสิ่งที่ท่าน ไม่เอา มันย้อนมันซ้อนอยู่ตรงนี้ ท่านมีสิ่ง เราเห็นว่าท่านเองท่านใหญ่ ท่านใหญ่เพราะท่านไม่ใหญ่ ท่านมีเพราะท่านไม่มี มันเป็นยังไงล่ะ ชักยุ่งๆแล้วซี เรามาศรัทธาเลื่อมใสเพราะ ท่านใหญ่ เพราะท่านไม่ใหญ่ มาศรัทธาท่าน ท่านสูงเพราะท่านไม่สูง มาศรัทธาท่าน ท่านมีเพราะท่านไม่มี ท่านเป็นคนที่ ไม่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น มันก็จึงไม่ใช่ว่า อย่างลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ใช่ไหม คนจะมาเอา เออ! ท่านทำอย่างนี้ท่านได้ลาภ ท่านทำอย่างนี้ท่านได้ยศ ท่านทำอย่างนี้ท่านได้สุข ได้สรรเสริญ อะไรก็แล้วแต่ เราก็จะต้องเป็นคนที่ไปมีลาภ มียศ มีสรรเสริญ แล้วท่านก็มีจริงๆ แต่ในทางธรรมแล้ว เราศรัทธาเลื่อมใสท่าน เราจะมาเอาอย่างที่ท่านเป็นนี่ มันก็เป็นอย่างที่ท่านเป็น เป็นคนสูง แต่ท่านไม่สูง ไม่หลงใหลในสูง ไม่ติดสูง ไม่เป็นผู้ที่มีสูง อะไรยังงี้ ภาษาไม่รู้จะพูด ยังไงล่ะ คุณฟังก็แล้วกัน ไม่รู้เรื่องก็งงอยู่ตรงนี้ก็แล้วกัน รู้เรื่องก็รู้ไป อาตมาก็ไม่มีภาษาจะพูด แล้วละ ก็คิดว่าคุณรู้กันนะ ใครเมามั่ง เมาไหม โอ้โห! เก่งทั้งนั้นเลย ฮึ! ขนาดพูดอย่างนี้ ยังไม่เมาเลยหรือนี่ นั่นน่ะ คุณจะรู้ คุณจะเข้าใจ จริงๆแล้วมาเปรียบเทียบให้ชัดๆ แล้วคุณจะเข้าใจ มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันต่างกัน นัยมันซึ้งมันซ้อน มันลึกซึ้งน่ะ เสร็จแล้ว เราก็ต้องแม่นตรงให้ดี จุดมุ่งหมายที่เราจะเป็นนี่ เมื่อเรารู้จุดมุ่งหมายที่ชัดด้วยปัญญาแล้ว เราต้องลงมือทำ ลงมือฝึก เหมือนอย่างนั้นน่ะ ต้องทำ ต้องฝึกจริงๆ แล้วมันก็จะได้ จะเป็นน่ะ

เอาละ อาตมาพยายามเน้นย้ำจุดสำคัญนี้แล้ว ทีนี้ก็กองปัญหามากมาย จะตอบไปถึง ๖ โมงน่ะ ตอบปัญหานี่ ก็เป็นรายละเอียด ที่อาตมาพยายามที่จะอธิบาย แล้วก็จะโค้งจะแวะ หรือจะกระจาย ออกไปสู่ความตั้งใจที่อยากจะพูดอะไรบ้าง ในบางครั้งบางคราว ก็พยายามที่จะอธิบายอย่างนั้น ไปด้วย ก็สังเกตดูนะ อาตมาก็จะทำอย่างนั้นเสมอ เอ้า! ลองตอบปัญหาดู แผ่นแรกมานี่ มาตั้งแต่วันแรกเลย บอกว่า

ถาม ดิฉันเป็นคนใหม่ เคยเห็นชาวอโศกปฏิบัติตัวดังนี้ และดิฉันคิดว่า การปฏิบัติธรรมเช่นนี้ ไม่น่าจะถูกต้อง
๑.
รับประทานอาหารกลางคืนดึกๆ เช่น ๖ ทุ่มหรือตี ๒ แต่เขาทานครั้งเดียว เขาบอกว่า ตอนกลางวัน จะได้ไม่เสียเวลาทำงาน ดิฉันเลยไม่ทราบว่าทำไม พระพุทธเจ้า ห้ามกินอาหาร ตอนเย็น หรือกลางคืน
ตอบ อันนี้นี่นะ เป็นสงฆ์ เป็นพระ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ให้ฉันอาหารกลางคืน หรือ เย็นล่วงไปแล้วน่ะ ท่านไม่เคยบอกหรอกนะว่า ไม่ฉันอาหารหลังเที่ยง แต่มาตีความกันเอาเอง จนกระทั่ง เป็นบทวินัยว่า หลังเที่ยง วิกาลโภชนา คือหลังเที่ยง มากำหนดเอาเอง พระพุทธเจ้า ไม่เคยตรัส พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ในศีลในวินัยอันแท้จริงว่า กลางคืน ไม่ฉัน ในเวลาวิกาละ เอาละ เขาก็ไม่ผิด วิกาละ แปลว่าเวลาที่กำหนด เรากำหนดหลังเที่ยง ก็เป็นการกำหนดเอาเอง เอาละ เมื่อตกลงกันก็ตกลง เพราะฉะนั้น ท่านไม่ได้มาบังคับว่า จะกำหนดเวลาอื่นไม่ได้ วิกาละ เขาก็ไม่ได้ กำหนดว่าหลังเที่ยง เราก็เห็นด้วย มันก็ควรจะมีขีดมีเขต กลางวันก็ตาม แต่ที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสไว้ นั้นน่ะ วิกาละแล้วก็ราตรี ไม่ให้ฉันในเวลากลางคืน แล้วก็มาทับศัพท์ว่า วิกาล ในเวลาวิกาล วิกาล ก็คือ วิ แปลว่า วันเวลา ที่เรามาตกลงกันว่า ไม่เป็นเวลานั้นแล้วนะ เวลานั้น เราไม่เอานะ เพราะฉะนั้น เขามากำหนด หลังเที่ยง ก็เป็นการกำหนดกันอย่างหนึ่ง เท่านั้นเอง จะเห็นได้ว่า พวกมหายานนี่ เขากินเย็น เขาก็กิน แต่ไม่กลางคืน กินกลางคืนไม่เอา ราตรีนี่ ท่านกำหนดไว้ชัด เวลาวิกาละ กับเวลาราตรี ราตรีนั่น คือกลางคืน

เพราะฉะนั้น ไม่ฉันอาหารในเวลากลางคืนสำหรับพระ พระพุทธเจ้าท่านกำหนดไว้แต่เดิม ทำไม ก็กลางคืนจะไปเอาจากใครล่ะ ก็เขานอนหมดแล้ว ก็บิณฑบาตฉันน่ะ เพราะฉะนั้น ก็ฉันแต่กลางวัน เท่านั้นแหละ กลางคืนก็อย่าไปยุ่งวุ่นวาย ท่านก็กำหนดไว้ ไม่ให้ไปฉันกลางคืนนะ

เอ้า! ทีนี้เรื่องผู้ที่อาศัยอาหารของคนอื่น อาศัยการบิณฑบาต ก็ไม่ฉันกลางคืนก็ถูกแล้ว แต่คนที่ เขาทานอาหารกลางคืน ๖ ทุ่ม ๒ ยามที่ถามมานี้ อาตมาเชื่อว่าเป็นฆราวาส เพราะมีพวกเรา อยู่คนหนึ่งที่ ชมร.นี่ กินข้าว ๒ ยาม ตี ๒ น่ะ หรือ ๕ ทุ่ม คือพรพิชัย พรพิชัยนี่ อาตมายกย่องเลยนะ ว่าเป็นคนที่ทนทาน เป็นคนที่เอาใจใส่ ตั้งใจ พยายามปรับปรุง ตอนที่เขายังไม่ค่อยลงตัวนี่ ผอม โอ้โห! ต่อสู้ แต่เดี๋ยวนี้กลับ ร่างกายล่ำสันแข็งแรง เขาว่ากินมื้อเดียว กินอย่างนี้แหละ เขานอน ๕ โมงเย็น แล้วก็ไปตื่นเอา ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม นอนตื่น ๔ ทุ่ม เสร็จแล้วเขาก็ทำอาหารกิน ๕ ทุ่มเขาก็กิน เขาก็ ใส่รถจักรยาน ถีบจักรยานไปกินไป กลับมาถึงสันติอโศก เขาก็ลงมือทำงาน ทำงานไปเรื่อย จนกระทั่งไปถึง ๕ โมงเย็น เขาก็นอนอีก นอนแล้วก็ตื่น ๔ ทุ่ม แล้วก็ตื่นมาทำกับข้าว ทำอะไรของเขา แล้วก็เดินทางมาสันติอโศก แล้วกิน ไม่ปรุงแต่งด้วย เขาทำไม่ปรุงแต่งด้วย เขาก็กินของเขา อาหารของเขา แล้วเขาก็ทำงาน โอ้โห! เขาคนเดียว นี่ ทำงาน แหม! เท่ากับคน ๑๐ คน ทำงาน ทำอย่างสบายใจน่ะ ทำ เวลาเขายิ้มนี่ อาตมาว่า แหม! หาคนแสดงหนังบทพรพิชัยยิ้ม เอ๊! เขายิ้มไม่เหมือนใคร เอ๊! ยิ้มแปลก เขายิ้มบ่อยนะ ยิ้ม เขายิ้มไม่เหมือนใคร อาตมายิ้มก็ไม่เหมือน ที่ทำนี่ ทำไปยังงั้นแหละ ไม่เหมือนน่ะ เป็นคนพิเศษที่ทำได้ เขาตั้งใจทำ แล้วอาตมาก็เห็นว่า มันไม่ใช่ง่ายๆ มันก็น่าจะเป็นตัวอย่างอันใดอันหนึ่ง เขาขวนขวายของเขา

เพราะฉะนั้น เขาจะกิน ๕ ทุ่ม ๒ ยาม ตี ๒ นี่ ยกเว้นเขาเถอะ เป็นคน คนหนึ่งน่ะ ที่เขาทำอย่างนั้นน่ะ มันเป็นเรื่องของที่เขาคิดว่า เขาทำถูกแล้ว และอาตมาก็เห็นว่าถูกแล้ว เพราะว่าเขามีเหตุผล เพียงพอ ที่เขาจะทำอย่างนั้น เขาจะกินกลางคืน ก็ไม่ได้ผิดบัญญัติพระพุทธเจ้าอะไร เพราะเขา ไม่ได้เป็นพระ แล้วเขากินหนเดียว กินหนเดียวจริงๆ แล้วก็กิน เขาก็ทำงานของเขาทั้งวัน ทำงานอะไร ขอให้บอกเถอะ มีอะไรที่เขาทำได้ เขาทำอะไร เขาทำของเขาทั้งวัน ทำงานนี่เป็น ๑๐ ปี หลายปีแล้ว เขาก็ทำของเขา พัฒนาของเขามาเรื่อย เป็นตัวอย่างชาว ชมร. นี่ ใครๆทำอะไร ขี้เกียจ เมื่อไหร่ ก็ระลึกถึงพรพิชัยนี่ แล้วก็จะซึ้งน่ะ อะไรนิดอะไรหน่อยก็เมื่อยละ ขี้เกียจละ ทั้งๆที่ มันยังไม่เมื่อยเท่าไหร่หรอก ที่จริงขี้เกียจมันเข้า อันนี้เป็นกรณีพิเศษน่ะ แต่ถึงแม้ว่าใครจะ กินกลางคืนก็ตาม อย่าไปพาซื่อจนเกินการ เขากินมื้อเดียว ... การกินมื้อเดียวนี่ คุณจะกิน ๒ ยาม แล้วก็ไปชน ๒ ยาม มันก็ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกิน ๕ ทุ่ม ไปชน ๕ ทุ่ม อีกวันหนึ่งมันก็ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกินตี ๓ แล้วก็วนไปถึงอีก ตี ๓ ก็กินใหม่ มันก็ไอ้ ๒๔ ชั่วโมง คุณจะกิน ๖ โมงเช้า วนมาถึง ๖ โมงเช้า มันก็ไอ้ ๒๔ ชั่วโมง เสร็จแล้ว คนบางคนบอกว่า ว้า! ไม่ไหวหรอก กินแต่เช้าแล้วมันจะหิว ที่จริงมันไม่ใช่หรอก มันไม่ใช่เรื่องนั้นเลย กินแต่เช้าแล้วกลัวมันจะหิว ไม่ใช่หรอก มันเป็นเรื่อง.. กินเช้าหรือกินสาย

คุณวนไปถึงเวลาของคุณ คุณก็เท่าเก่านั่นแหละ วันหนึ่งกินมื้อเดียว คุณก็วนไปถึงเก่า แต่ เรา แหม! พอกินเช้าแล้วกว่าจะค่ำ กว่าจะนอนปิดลูกตา ไม่เห็นคนอื่นกินนี่ มันตั้งนานเว้ย แต่แท้จริง แต่เช้าขึ้นมาจนถึงเที่ยง คุณได้เห็นคนอื่นกินเหมือนกันนั่นแหละ ถ้าเผื่อว่าจะเห็นโดยกลางวัน ใช่ไหม มันก็เหมือนกันแหละ คุณยังไม่หลับไม่นอน คุณก็ยังจะต้องเห็น

เขากินเช้าถึงเย็น เวลาใดก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้น มันอุปาทานเอง มันเลอะๆ มันไม่ค่อยคม มันไม่ค่อยตรง มันก็เลยนึกอย่างนั้น การกินให้กินเวลาไหน ถ้าคุณไม่ติดยึดเสียแล้ว ก็เท่านั้น มันอาจจะวนเวียนไม่ให้ถึงนะ วันนี้กิน ๖ โมงเช้า วันนี้กิน ๕ โมงเช้า พอเสร็จแล้ววันรุ่งขึ้น ไปกิน ๖ โมง มันไม่ถึง ๒๔ ชั่วโมง มันก็ไม่เป็นไรหรอก หัดมั่ง ให้มันเกิน ๒๔ ชั่วโมงมั่ง พอไปวันอีก วันรุ่งขึ้นอีก เลยไปตั้ง ๒๘ ชั่วโมงถึงค่อยได้กิน มันก็ไม่เป็นไร เพราะเราหัดอยู่แล้ว อย่าว่าแต่ ๒๔ ชั่วโมงเลย เราไม่กินอาหาร ๒ วัน ๓ วัน เราไม่กินอาหาร เราก็ยังทนได้ เพราะฉะนั้น ต้องฝึกไปดีๆ แล้วเราจะรู้อะไรต่ออะไรต่างๆพวกนี้

๒. เวลาเข้าสถานที่ราชการ แต่งตัวไม่สุภาพ ผู้หญิงใส่ผ้าถุง ผู้ชายใส่ กางเกงขาก๊วยไม่รีดน่ะ

ตอบ แล้วบอกว่าไม่สุภาพ อาตมาพูดแล้วเมื่อวานนี้ ผู้หญิงไทยเรานุ่งผ้าถุงแล้วว่า ไม่สุภาพ ทีไปนุ่งกระโปรงที่เขาหลอก ทำแฟชั่นอย่างโน้นอย่างนี้น่ะ แหกข้าง แหกตรงแหกบน แหกล่างอะไร ก็ยังอุตส่าห์ไปบอกว่าสุภาพ ไปเป็นทาสวัฒนธรรมชาวตะวันตกเขา ไอ้กระปรุงกระโปรง ไอ้อะไร ต่ออะไรพวกนี้ มันเป็นของตะวันตกน่ะ กระโปรงนี่นะ อย่างน้อยก็เป็นของชาวเขา เผ่าที่เขานุ่ง เป็นกระโปรงน่ะ มีนะ ชาวเขานี่ เขาไม่นุ่งผ้าถุงหรอก เขานุ่งผ้าถุงไม่เป็น ไม่ใช้ผ้าถุง แต่เป็นกระโปรง ใช่ไหม พวกกระโปรงชาวแม้ว ชาวก้อ อีก้อ อะไร เป็นกระโปรง เป็นของไม่ใช่ ของไทย ของไทยก็รู้แล้วว่า ไทยเรานี่ นุ่งผ้าซิ่น นุ่งผ้าถุงมาแต่เดิม เสร็จแล้ว เราก็ฟั่นเฝือ ไปเอาวัฒนธรรมของเขามาใช้ จนลืมชาติตัวเอง ลืมเอกลักษณ์ของตัวเอง ลืมวัฒนธรรมตัวเอง แล้วก็ไปบอกว่า คนนุ่งผ้าถุงไม่สุภาพ จะเอาอะไรกันแน่ ลืมชาติตัวเองแล้ว แล้วยังอุตส่าห์ไปตู่ว่า ผู้ที่เขานุ่งสุภาพว่าไม่สุภาพ กางเกงขาก๊วยนั่น เขาเรียกกางเกงไทย ไทยเดิม ไทยใหญ่ กางเกงไทยเดิม ไทยใหญ่ ของจีนมันไปตรงกัน ของจีนเขาเรียกขาก๊วย ของไทยก็เหมือนกัน มันเป็นกางเกงไทย ไทยเดิมๆน่ะ ไทยใหญ่ ไทยเก่าๆน่ะ นุ่งกางเกงอย่างนี้ ไทยโบราณก็นุ่ง กางเกงอย่างนี้

ส่วนกางเกงที่มาตัดสมัยใหม่นี่น่ะ เป็นกางเกงที่เย็บตัดแบบ ออกแบบอะไร มีเป้า มีซิป มีอะไรต่ออะไร แบบนี้น่ะมันกางเกงของทางฝรั่ง ทางตะวันตก ทางอื่นเขา ทำมา แล้วเราก็ไป เอาอย่างเขามา เป็นทาสวัฒนธรรมเขาเหมือนกัน แม้เดี๋ยวนี้เราเรียก กางเกงฝรั่ง เราก็ยังเรียกอยู่นะ เสร็จแล้วก็ไปเอาของเขามา เป็นทาสวัฒนธรรม เหมือนกันกับ กระปรุงกระโปรงนี่เหมือนกัน แล้วบอกว่าไม่สุภาพน่ะ นุ่งกางเกงไทยใหญ่ อย่างเดิม ว่าไม่สุภาพ อันนี้มันเป็นการยอมรับ ที่เราถูกกลืน จริงๆ อาตมาเข้าใจที่คุณพูดนี่ ถูก เขาถืออย่างนั้นจริงๆเลย เพราะฉะนั้น เอาละ ในสถานที่ในบางที่บางแห่งเขาติด จริงๆ ถือจริงๆนะ นุ่งผ้าถุงไปไม่ได้ อย่าไปเถียงเขา เดี๋ยวตีกัน เปล่าๆ นุ่งกางเกงขาก๊วยไปก็ไม่ได้ เขาหาว่าไม่สุภาพ ถ้าเราจะต้องเข้า คุณก็ต้องจำยอม ก็ต้องนุ่ง ไปบ้าง แต่ถ้าเผื่อว่า คุณสามารถมีฤทธิ์มีเดช มีความกล้าหาญ ที่จะแต่งชุดนี้ เข้าไปได้ เอาเสียบ้าง แต่อย่าไปตีกันนะ ถ้ามันสู้ไม่ได้แล้ว อู๊! เขายึดติดจริงๆ ก็ต้องเห็นเขา รู้เขาให้ได้ว่า เขาติดจริงๆ เราว่าเราเข้าใจถูกแล้วนะ แต่เราพูดแล้วเขาไม่เอา เขาจะติดยึด เราก็ต้องอย่าไปทะเลาะกันน่ะ อาตมาไม่ได้ยุให้คุณไปตีกันนะ พูดก่อนนะ เดี๋ยวไปตีกันมา แล้วหาว่าอาตมายุ ไม่ถูกนะ เราต้องยอมเขา อนุโลมเขา

เพราะคนส่วนใหญ่หลงใหล แล้วก็เป็นไปอย่างนั้น พวกเรานี่เคยเข้าในวังนะ เคยเข้าในวัง วังหลวงนี่ วังในหลวง นุ่งกางเกงขาก๊วยนี่แหละ ไม่ใส่รองเท้าด้วย ผ้าขาวม้าคาดพุง ใส่เสื้อ ม่อฮ่อมนี่ เคยเข้าไป เขาก็ให้เข้าในโอกาสนั้นๆ เพราะข้างในให้เข้า เราก็เลยเข้าไปในชุดนี้ จนไปถึงในวังในข้างใน มันเป็นได้น่ะในครั้งในคราว เป็นได้ ถ้าไม่ถือกัน ถ้าถือกัน แน่นอน ก็ไปนุ่งกางเกงขาก๊วย ผ้าขาวม้า คาดพุงอย่างนั้น เขาไม่ให้เข้าหรอกในวัง จริงๆ เพราะฉะนั้น ที่ใดก็แล้วแต่ ถ้าเผื่อว่าเรารู้แล้วว่า เออ! อันนี้เขาอนุโลมไม่ได้ เขาไม่เข้าใจ ไปตีรันฟันแทงกัน ไปพูดไปว่าเขา พวกคุณเป็นทาสวัฒนธรรมเขา แล้วจะมานั่งว่าเราไม่ใช่ไทย ไม่สุภาพ พวกคุณนั่น สุภาพขนาดไหนกันเชียว ระวังเขาเอาปากกระบอกปืนกระทุ้งออกมา ไม่รู้จักอะไร เดี๋ยวก็เจอจนได้

เพราะฉะนั้น ก็ถึงแม้ว่า เราจะมีเหตุผล เราจะมีอะไรต่ออะไร ที่เราเข้าใจอยู่แล้ว เราก็ทำในที่ที่เรา ควรทำ ทำได้ก็พอ ไอ้เรื่องไม่รีดนี่ แหม! อาตมาไม่รีดสิไม่เมื่อย ไม่รีดก็ไม่ต้องเสียผ้า ไม่ต้องเสียแรงน่ะ ไม่ต้องเมื่อย ไอ้นุ่งผ้าไม่ได้รีด กับนุ่งผ้ารีด ไม่เห็นว่า มันจะทำให้ตัวเองนี่ มันทุกข์ร้อนตรงไหน นอกจากความยึดติดว่า ไม่รีดแล้วมันก็ไม่เรียบ ไม่รีดนี่ไม่เรียบ แต่มีเหลี่ยมเยอะ คุณยิ่งไปรีดนั่น เหลี่ยมน้อยลงนะ เหลือเหลี่ยมไม่เท่าไหร่หรอก ไม่เสียดายเหลี่ยม บ้างหรือ หือ หรือจะหมดเหลี่ยมด้วยแค่รีดผ้า แต่เหลี่ยมจริงๆแล้ว แหม! เยอะเหลือเกิน ใครลบเหลี่ยมไม่ได้ ฉันจะกัดกับเขา ถ้าใครมาลบเหลี่ยม ฉันก็จะกัดกับเขาล่ะ อย่างไหนแน่ จะเอาอย่างไหนแน่ ไอ้รีดหรือไม่รีด มันไม่มีปัญหาอะไรมากมายหรอกนะ คุณไปรู้สึกเองแหละ ว้า! มันยับๆอย่างนี้มันดูไม่งาม ก็คุณติดเองน่ะ งามหรือ ไม่งาม ก็กันร้อนกันหนาว กันแมลงสัตว์ กัดต่อย กันอุจาดอะไรของเขาได้แล้ว ก็พอแล้วนี่ จะรีดหรือไม่รีด ก็ไม่เห็นจะมีปัญหา ไม่ต้อง เสียเวลา ไม่ต้องเสียวัสดุ ไม่ต้องเสียแรงงานอะไรด้วย เรื่องรีดไม่รีดนี่ อาตมาไม่มีปัญหาหรอก ใครยังติดรีดอยู่ ก็รีดเข้าไป ผ้าอาตมา ยังมีคนเคยไปเก็บไปรีดให้เลย รีดมา แหม! เรียบเชียวนะ อาตมาก็ไม่ว่าอะไร เอ๊อ! อุตส่าห์เอาไปรีด ก็นี่ก็ไม่ได้รีดหรอกน่ะ ซักก็ไม่ได้รีด ไม่เห็นเป็นอะไร ก็ยังเป็น โพธิรักษ์อย่างเก่า ไม่ได้ตกต่ำไปตรงไหนเลย นุ่งผ้าไม่ได้รีดน่ะ

๓.ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉยๆเวลาคนไปคุยด้วย เหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ ไม่มี ชีวิตชีวา
ตอบ อันนี้ก็ อาตมาก็เคยพูด แล้วก็เคยบอกเหมือนกันว่า เอาละ ไอ้อย่างนี้เราก็ต้องรู้การตอบรับ ทุกวันนี้ อาตมาออกรู้สึกตัวว่า เอ๊ะ! เรานี่ชักจะมากนะ หัวเราะ ดังเอิ๊กอ๊ากหมู่นี้น่ะ หัวเราะเอิ๊กอ๊าก หน้าเป็นเยอะ เดี๋ยวนี้ มันจะอนุโลมมากไปหรือไง คนทักคนท้วงอย่างนี้นี่ เพราะคนโน้นท้วง คนนี้ท้วงนี่มั้ง ยิ้มมากไป หัวเราะมากไป ยิ้มแย้ม เบิกบานดี เราก็ถูกเราก็รู้ว่า โลกเรานี่โดยสามัญ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเบิกบาน ยิ้มแย้มผ่องใส ดีกว่าทำหน้าปุ้มอย่างที่ว่า ใครเขาพูดอย่างนั้นยิ้ม แล้วก็ปุ้ม เอ๊! มันยังไง มันไม่มีชีวิตชีวาอย่างที่ว่า มันก็จริงน่ะ ทีนี้ไอ้ที่ว่าไม่ยิ้ม อยู่เฉยๆนี่นะ เราก็ต้อง รู้ขนาด รู้ประมาณ รู้กาละ ถ้ามันเฉย มันก็เฉยธรรมดา คนเราถ้าเผื่อว่า เราไม่รู้สึกตัว แล้วก็ไม่พยายาม กระทำให้เบิกบาน ถ้าเราทำบ่อยๆ มันจะอยู่ที่สีหน้าสีตา กล้ามเนื้อ รูปร่างอะไร มันจะเป็นอย่างนั้น คนที่หน้าเป็นๆอยู่เรื่อยๆ มันจะเป็นอยู่เรื่อยๆ ถ้าคนไม่เป็น ทำแต่หน้าบึ้ง ก็บึ้งอยู่
เรื่อยๆ มันเป็นประสาท มันเป็นเรื่องกล้ามเนื้อ เรื่องประสาท มันจะเป็นจริงๆ สั่งสมไป มันก็เป็นไป ถ้าคุณไม่สั่งสม มันก็จะเป็นอย่างใดอย่างนั้น เป็นระยะเวลานานๆปี มันจะเป็นจริงๆนะ แล้วมันก็ จะอยู่กับตัวคุณเอง คุณอยากให้หน้าคุณ รู้สึกว่าเป็นหน้ายิ้ม หรือว่าเป็นหน้าบึ้ง ถ้าคุณอยากเป็น หน้าบึ้ง คุณก็บึ้งเข้าไว้ นานๆ ๕ ปี ๑๐ ปี ๘ ปี ๒๐ ปี ชาติหนึ่ง ๒ ชาติ ๕ ชาติ มันก็บึ้งเองแหละ แต่ถ้าคุณอยากให้หน้ายิ้ม มันก็ยิ้ม รู้สึกตัวคุณก็ เออ! หน้าเบิกบาน ยิ้มแย้ม คุณก็ทำ แต่ไม่ใช่ ให้มันเกินไปหรอกนะ อยู่ดีๆก็ไปไหนก็ยิ้มเกินไป มันก็ แหม! เขาก็ว่าบ้าเท่านั้นเอง เราทำพอเหมาะ พอดี รู้สึกเบิกบานในหน้า เบิกบาน ร่าเริงในหน้า มันจะรู้สึกเองนะ หน้าตา กล้ามเนื้อ มันจะเป็น รู้สึกเบิกบานในหน้า ไม่ถึงทีจะต้องฉีกยิ้มอะไรก็ไม่ต้องฉีกหรอก ยิ้มน่ะ ถึงเวลาจะฉีกยิ้ม ก็ยิ้มง่ายๆ อะไรอย่างนี้น่ะ อาตมาเห็นด้วยน่ะ อันนี้อาตมาเห็นด้วยนะ ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉยๆ เวลาไปคุยด้วย ก็เหมือนไม่มีมนุษยสัมพันธ์ มะลึ่มทึ่มเหมือนตอไม้ ก็เกินไปน่ะ เอ้า! เห็นด้วยอันนี้ พยายามพัฒนา แล้วมันเป็นจริง
นี่เป็นหลักวิชา เอาหลักวิชาบ้าง

ถาม กิเลสมี ๒ สาย คือสายโทสะ กับสายราคะ สายโทสะมี ๒ ลักษณะ แยกออกไปอีก หรือ ๒ แกน คือ ๑. แกนโทสะ แกนโทสะก็มีโทสะ ปฏิฆะ ทุกข์ โทมนัส ๒.แกน พยาบาท มีพยาบาท อุปนาหะ อุปายาสะ (ว่าอย่างนั้นน่ะ) ราคะก็มี ๒ ลักษณะ คือ ๒ แกน คือ ๑.แกนกาม เรียกว่าอบาย กามคุณ โลกธรรม ๒.แกนมานะ เรียกว่าอัตตา ที่แบ่งอย่างนี้ถูกหรือผิดอย่างไร กราบนมัสการด้วย

ตอบ อ้อ! ถูกน่ะ อาตมาก็เคยแบ่งน่ะ เคยวิเคราะห์ให้ฟัง แกนโทสะนี่เป็นลักษณะ ที่มัน อาการโกรธ นี่แหละ เป็นอย่างนั้นๆ ที่จริงมันมีโกธะด้วยนะ โทสะนี่มันมีโกธะ ปฏิฆะ ทุกข์ โทมนัส มันมีมากกว่านี้ อาตมาเคยแบ่ง ตัวภาษาบาลีตัวชื่อ มีลักษณะละเอียดลออของมันอยู่อย่างนั้น ส่วนทางด้านพยาบาท มีความผูกพัน สายพยาบาทมี พยาบาท อุปนาหะ อุปายาสะ นี่ก็ใช่ มีปริเทวะอะไรพวกนี้ด้วย ปริเทวะ มันยังต่องแต่งติดยืดๆอยู่ เรียกว่าพยาบาท ไม่ปล่อย ไม่วาง ส่วนโทสะ หรือโกธะนี่ มันเป็นสายที่เกิดอาการอย่างนั้น เกิดปุ๊บ วาบ แรงก็ได้ แล้วมันก็หายไป มันไม่เนื่องไม่ต่อ สายพยาบาทนี่ โทสะก็คืออาการ อย่างนั้นแหละ โกรธ ส่วนพยาบาทนั้น อาการอย่างนั้นแหละ แต่มีเนื่องต่อ ยึดติด ต่องแต่งเอาไว้ ใครมีนิสัย หรือมีตัวสายพยาบาท มันก็จะมีตัวนี้ ผูกเอาไว้ ต่องแต่งๆๆๆ ไม่ค่อยปล่อย ไม่ค่อยวางน่ะ เป็นกิเลสโทสะก็ตาม กิเลสโกรธน่ะ กิเลสเคือง กิเลสไม่ชอบใจ กิเลสอะไรนี่ ใครยิ่งผูกเอาไว้ก็ยิ่งแย่ พยาบาทนี่ ร้ายกว่าโทสะ เพราะโทสะมันเกิดอาการนั้น แล้วมันก็จบของมัน ส่วนพยาบาทนั้น โกรธแล้ว ยังแถมอุบไว้อีก ต่อไว้อีก ไม่ยอมจบ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมวาง พวกนั้น ผู้ใดที่มีพยาบาท เรียกว่า พวกนั้นโง่กว่าน่ะ ทุกข์มากกว่า อาตมาไม่อธิบายมากนะ อธิบายคร่าวๆนี่เท่านั้นเองนะ ไว้ก่อนน่ะ มันมีรายละเอียดอีกเยอะ พูดอย่างนี้คุณไปสังเกตเอา อ่านเอา มันมี ๒ หลักใหญ่ๆ นี่โทสะ

ราคะมี ๒ ว่าอย่างนั้นนะ เป็นแกนกาม กับแกนมานะ ก็ถูกนะ ราคะ หรือ โลภะ เป็นแกนกาม กับแกนมานะ ถ้าจะเรียกว่ากาม ก็เรียกว่าสายราคะ ก็แล้วกันน่ะราคะ มานะเป็นอีกแกนหนึ่ง ราคะเป็นอีกแกนหนึ่ง เพราะฉะนั้นสังโยชน์สูงท่านก็ยังเรียก รูปราคะ อรูปราคะ แล้วก็มานะอยู่น่ะ ถ้าจะเรียกแกนกาม เรียกว่าสายโลภะ มันมี ๒ โลภะมันมีกาม หรือ ราคะ กับมานะ ราคะ หรือกาม จะบอกว่า มีอบาย มีกามคุณ มีโลกธรรม ราคะนี่นะ มีอบาย มีกามคุณ มีโลกธรรมอะไรต่างๆ ลาภ ยศ สรรเสริญ ก็ได้ เป็นสิ่งที่ได้มาสมใจ ในสภาพทวารนอก หรือวัตถุรูป ก็เรียกว่าแกนราคะ หรือกาม สัมผัสเสียดสีข้างนอก

ส่วนแกนมานะนั้นน่ะ ข้างใน เรียกว่าภพ อัตภาพ มันเป็นนามธรรม เป็นอุปาทาน เป็นลักษณะ ที่ยึดติดอยู่ในสภาพที่เป็น เรายึดไว้ เราวาด วาดเอาไว้ เราหวังเอาไว้ อยู่ข้างในใจ ไม่ต้องข้างนอก ถ้าไม่ได้สมใจเรา เราก็ไม่พอใจ เราก็ไม่สุข หรือ เราก็ทุกข์ เพราะฉะนั้น โลภก็คือ ต้องได้มา ที่จริง คำว่าโลภ มันกินความหมดน่ะ มันต้องการหมด ทั้งมานะ เพราะมันโลภในตัว เหมือนกัน แต่จะไปแบ่งแล้วประเดี๋ยวมันจะสับสน กามทั้ง ๕ น่ะข้างนอก แล้วก็ไปสมใจข้างใน ส่วนมานะน่ะ สมใจที่นึกคิดเอาเอง สารพัด จะอธิบายหยาบออกมาข้างนอกว่า รูปอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ เสร็จแล้ว เราก็ไปนึกฝันเอาเอง สร้างเอาเอง ทั้งๆที่รูปอย่างนี้ เสียงอย่างนี้ สร้างไม่ได้แล้วนะ สร้างไม่ได้แล้ว เหมือนกับพวกที่สร้างจินตนิยาย บอกว่า แหม! วิเศษ ยอดเยี่ยม เก่ง สามารถ อะไรก็แล้วแต่ เยอะแยะ ในภพที่ตัวเองจะวาดหวังเอาไว้ อย่างพิลึกพิลือ อย่างวิจิตร อย่างเกินมนุษย์ที่มันจะ เป็นไปได้อะไร แต่เราก็คิดอยู่อย่างนั้นแหละ ควรจะเป็นอย่างนั้นๆๆๆ แต่มันไม่มีในโลก คือ คุณก็หวังเอา วาดเอา อย่างนี้ก็เรียกว่า เป็นสภาพของภพ อัตภาพ อาตมาใช้ภาษานี้ใหม่ขึ้นมา แทนคำว่าอัตตา ไม่อย่างนั้นมันไปซ้ำซาก แล้วพวกคุณก็ฟัง อัตตานี่ เหมือนอย่างที่ ผู้ที่ได้อธิบาย คำว่า อัตตามาแล้วมากมาย มันก็จะเข้าไปหาอันเก่าอยู่เสมอ อาตมาก็จะพยายามฉีกภาษาออกมา เรียกว่า ภพ อัตภาพ มันคือ ภวตัณหา กับ กามตัณหา ๒ หลักใหญ่น่ะ จะเป็นอย่างนั้นเสมอจริงน่ะ เอาละ อธิบายขยายความแค่นี้ก่อนนะ ต่อมาข้อ ๒ ถามว่า

ถาม มิจฉาทิฐิเป็นตัวเหตุ ส่วนโมหะเป็นตัวผล ใช่หรือไม่
ตอบ มิจฉาทิฐิเป็นตัวเหตุ โมหะเป็นตัวผล จะพูดว่าถูกก็ถูกน่ะ ลักษณะที่มันจะโมหะ ได้ก็เพราะ มิจฉาทิฐิ คือเห็นผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เข้าใจว่ากงจักรเป็นดอกบัว เสร็จแล้ว เราก็ไปซักซ้อม อบรมฝึกฝนสั่งสมเข้า จนกระทั่งกลายเป็นตัวเองไปเข้าใจผิด เลยนึกว่า กงจักรนั้นเป็นดอกบัว นึกว่าชั่วนั้นเป็นดี นึกว่าได้เปรียบมาเป็นความได้กำไร อย่างนี้ เรียกว่ากงจักรเป็นดอกบัว ก็เลยโมหะ เพราะเข้าใจผิดมาแต่เดิม ทีนี้มาเข้าใจถูกแล้ว กิเลสที่มันเคยโมหะอยู่ก็ต้องมาล้างมัน ล้างกิเลส โมหะ ทั้งๆที่เข้าใจถูกแล้วนะ มีสัมมาทิฐิแล้ว แต่โมหะมันก็ยังติดอยู่ เผลอเมื่อไหร่เมา โมหะ นี่แปลว่า เมาก็ได้ มันเมา เผลอ เมื่อไหร่ก็ไปแล้ว ไปอย่างที่เมาๆ แล้วก็ผิด เพราะฉะนั้น ต้องแก้ ต้องสติตื่น ตั้งตัวแล้วก็แก้กลับๆๆๆ จนกว่าเราจะเข้าใจถูก แล้วทำลงตัว ทำจนกระทั่งลงตัว จนถูกหมด ถึงจะใช้ได้

ถาม การพิจารณาอาหารก่อนฉันของพ่อท่านนั้น พิจารณาอย่างไรบ้างคะ
ตอบ อาตมาก็พิจารณาว่า การกินนี้เพื่อยังขันธ์ ไม่ได้กินเพื่อติด ไม่ได้กินเพื่ออร่อย ไม่ได้กินเพราะ หลงใหลในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ได้กินเพราะหลงว่ามันเป็นศักดินา กินแล้ว แหม! หรูหรา ฟู่ฟ่า อะไรพวกนี้ คือกิเลสที่มันจะประกอบกับการกินทุกครั้งไป จะรู้ว่า การกินคือ เอาธาตุ มายังขันธ์ไว้ นี่เป็นหลักสำคัญ พิจารณาแล้วตั้งใจจริงๆเลยนะว่า เราจะติดหรือไม่ ทีนี้เราก็ เริ่มต้นกิน ก็เริ่มต้นปฏิบัติ ตอนที่ก่อนกิน ก่อนที่จะพิจารณา ก็ได้เผลอไปแล้ว หยิบเอาของชอบ ไว้แล้ว พอมาพิจารณา เมื่อกี้นี้เอ็งหยิบของชอบ คราวนี้เอ็งไม่กินได้ไหม แม้เอาไว้แล้ว เอ็งไม่กิน ได้ไหม ให้เพื่อนเถอะ ให้เพื่อนเถอะ เอาไหม อย่างนี้ เป็นต้น แก้จิตที่มันเป็นกิเลสให้มากๆ แก้จิตที่เป็นกิเลส เราจะกินอย่างผู้ที่รู้ รู้จริงๆ รู้ว่า เราเอาธาตุขันธ์ เข้าไปเลี้ยงร่างกาย ให้มันพอเป็นไปเท่านั้นเอง กินพอยังขันธ์ให้มันอยู่ ไม่ใช่กินเพราะหลง เพราะติด เพราะอร่อย เพราะมีหรูหราฟู่ฟ่า เพราะอะไรก็แล้วแต่เถอะ เป็นการพิจารณา ตั้งใจพิจารณา อย่างนั้นทุกครั้งไป ไม่เช่นนั้นเผลอง่ายน่ะ ขนาดที่ตั้งใจแล้วนะ ขนาดปัจเวกขณ์แล้ว ตั้งใจแล้วนี่ พอลงมือกิน ปั๊บเดียวเท่านั้นแหละไปแล้ว ตั้งได้ ตั้งใจได้แว้บเดียวเท่านั้นแหละไปแล้ว อะหย่อย เผลอไปแล้ว อย่างโน้นอย่างนี้ แหม! มันไม่ค่อยเค็ม มันไม่ค่อยจะเผ็ดนะนี่ มีไหม ไอ้โน่น ไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้น มันติดเอามากๆเลยนั่นน่ะ การพิจารณาอาหารก่อนฉันทุกครั้ง ตั้งใจน่ะ ไม่เหมือน กับทางศาสนา คริสต์ เขาก่อนจะกินข้าว เขาก็มีการตั้ง ขอบคุณพระเจ้า ที่พระเจ้าประทานอาหาร มาให้ ให้เราได้รับประทานอาหาร คือสายศรัทธานี่ อะไรๆเขาก็จะยกให้พระเจ้าเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆที่ แม่ครัวนี่ทำแทบตาย แล้วบอกพระเจ้าประทานมา พ่อบ้านก็อุตส่าห์หาสตางค์ ไปซื้อมา แทบแย่เลยนะ แล้วบอกพระเจ้าประทานน่ะ เอ้า! ไม่เป็นไร พระเจ้ายังประทานอยู่ แต่ทำไมประทาน แต่คนรวยๆก็ไม่รู้ คนไม่ค่อยรวย ไม่ค่อยจะมีกินน่ะนะ พระเจ้านี่ก็ แหม! จริงๆนะ ประทานให้คนจนบ้างก็ไม่ได้น่ะ คนรวยจะไปประทานกับมันทำไมมากมาย มันมีเงินซื้ออยู่แล้วน่ะ จะประทานก็ประทานคนจนซิเนาะ แต่คนจนไม่ค่อยประทานหรอก เขาก็ไม่ค่อยมีกินอยู่นั่นแหละ เอ้า! ก็เรื่องของเขานะ เขาจะพิจารณาอย่างนั้นก็ขอบคุณพระเจ้า ของเราก็เหมือนขอบคุณ แต่เราไม่ได้ขอบคุณพระเจ้า เราขอบคุณพระพุทธเจ้า ที่สอนเราให้เราพิจารณาอย่างนี้ แล้วเราก็จะได้ตัดกิเลสอย่างนี้ พอเราตัดกิเลสได้ เราก็ได้เป็นพุทธะของเรา เราก็ได้เป็นพระเจ้า เป็นพระพุทธ แต่ไม่ถึงเจ้า เป็น พระพุทธะ แล้วก็ได้คุณธรรมเรียกว่า พุทธคุณให้แก่ตนเองทุกทีไป

ถาม ส่วนลูกๆควรจะพิจารณาอย่างไรบ้าง
ตอบ เหมือนกัน อันเดียวกัน อธิบายไปแล้ว

ถาม ดิฉันระงับอารมณ์ตกใจตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ ร้องไห้ ไม่ค่อยได้ หน้าจึงชอบเปลี่ยนสี แล้วหัวใจ ก็วูบวาบเสมอ แนะนำดิฉันด้วยค่ะ

ตอบ ก็ปฏิบัติธรรมธรรมดานี่แหละนะ ผู้ที่ยังเปลี่ยน หรือว่ายังคุมอารมณ์ หรือว่ายังทำอะไรไม่ได้ ก็เพราะว่าเราเอง เรายังไม่มีอำนาจ ไม่มีอินทรีย์ ไม่มีพละในตัว เพราะฉะนั้นจะตกใจ ตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ ร้องไห้ หรือว่าอะไรล่ะ ทำอะไรไม่ค่อยได้ จนกระทั่งออกมาทางกาย หน้าเปลี่ยนสี กิริยาก็เปลี่ยนไป อะไรอย่างนี้ ก็เพราะว่าเรายังไม่แข็งแรงน่ะ ไม่ต้องไปตกใจ ไม่ต้องไปเปลี่ยน แปลกๆอะไรหรอก ปฏิบัติธรรมนี้ ให้แข็งแรงไปเรื่อยๆ จุดนั้นมันอาจจะเป็นจุดอ่อนของเราบ้าง ตกใจง่าย อะไรง่ายก็ตาม ไม่เป็นไรน่ะ ไม่เป็นไร ไม่ต้องไปกังวล พยายามปฏิบัตินี่แหละ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส สังวรอินทรีย์ ๖ โภชเนมัตตัญญุตา อะไรพวกนี้ อย่าไปจับเป้าที่ว่า เราจะเปลี่ยน การตกใจ ตื่นเต้น ควบคุมเฉยๆ ไม่ต้องไปเปลี่ยนเป้าโน้นหรอก ทำอันนี้ไปแล้ว ใจจะแข็งเอง แล้วเราจะรู้สึกธรรมดา เราจะรู้สึกแข็งแรงขึ้นมาเอง เพราะว่ากิเลสมันก็คือกาม กับมานะ เท่านั้นแหละ ยิ่งจะไปคุมที่จิตใจ แหม! ฉันจะต้องแอ๊คอาร์ตให้ดี ฉันจะไม่ตกใจง่าย ฉันจะต้อง หน้าไม่เปลี่ยนสี ฉันจะต้องคุมอะไรนี่ มันไปคุมผิดท่า มันไปคุมที่มานะ มานะมัน เป็นแกนสูงกว่า แกนกาม คุมเรื่องกาม เรื่องตื้น เรื่องหยาบ เรื่องอบาย เรื่องอะไรนี่ ไปให้มันแข็งแรง แล้วมันจะเป็นเองน่ะ

ถาม ขอให้อธิบายคำดั่งนี้ด้วย ๑.กามล้างกามได้ ๒.มานะบ้างมานะได้ วิธีปฏิบัติ อย่างไรคะ

(อ่านต่อหน้า ๒)