ตอบปัญหา (ตอน ๒)
งาน
ปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๑๔
(หน้า ๒)
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อ ๖ ก.พ. ๓๓ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก
(ต่อจากหน้า ๑)


ถาม จะตัดรักด้วยวิธีอย่างไร จนหมดอาสวะในเรื่องรักเชิงนี้ได้จริง
ตอบ เอาจริงๆน่ะซี พหุลีกตา พหุลีกัมมัง ทำให้มาก ต้องทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่มันสัมผัสนี่ มันก็จะก่อเกิดองค์ประกอบของกามคุณ ๕ ด้วย ลดน่ะ พิจารณาลดจริงๆ รูปสวยในอะไรก็แล้วแต่ อย่าว่าแต่คนเลย อย่าว่าแต่ผู้หญิงเห็นผู้ชายสวยเลย สวยในไอ้โน่น สวยในไอ้นี่อะไร ก็มีอารมณ์ มีอาการให้รู้สมมุติสวย อาตมาเรียนศิลปะมารู้ว่า สวยไม่สวยนี่รู้ แต่ว่าเรา อาการของจิต อาการของกิเลสจริงๆมาผูกพัน มาดูดดื่ม มันมีต่างหากนะ สมมุติว่าไอ้นี่สวย บางทีตามแฟชั่น ซะด้วยซ้ำ พอเปลี่ยนแฟชั่นไป ไอ้ของเก่าอย่างนั้น แต่ก่อนว่าสวย ไม่สวยเสียแล้ว ไอ้โน่นสวย วนเวียนมา เอ้า! ไอ้อย่างนี้ที่มันไม่เคยสวย มันสวยกว่าไอ้ที่ว่าสวยอีกแล้ว วนเวียนอยู่อย่างนั้นเรื่อย เพราะฉะนั้น เรื่องสมมุตินี่ มันจะเห็นได้ชัดว่า มันอุปาทาน มันสมมุติกันเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราก็รู้ว่าโลกเขานิยม โลกเขารับ อันนี้ชาตินี้ว่าสวย ชาติโน้นว่าไม่สวยน่ะ อันนี้คนกลุ่มนี้ว่าสวย คนกลุ่มนั้นว่าไม่สวย ยอมรับกันเอง อะไรกันเอง มันก็เป็นเรื่องของอุปาทานน่ะ เรารู้สมมุติ แต่กิเลสก็ อันหนึ่ง เพราะฉะนั้น เราจะอนุโลมตามโลกว่าสวย ว่าอะไรๆ เรารู้ แล้วก็ใช้ตามความรู้ สมอง แต่ว่าใจเรา ไม่ได้ดูดดื่มดูดดึงอะไร ไม่ได้ผูกไม่ได้พันน่ะ ไม่ได้ไปเป็นตัวพุ่งเพ่ง อะไรเกินการ เพราะฉะนั้น เรียนรู้จริงๆ แล้วละอาการของกิเลสที่สมมุติสัจจะประกอบอยู่ ปรมัตถสัจจะ นี่เข้ามาอยู่อาศัยกับสมมุติสัจจะ

เพราะฉะนั้น ความสวย ความเพราะ ความอะไรๆเป็นกาม เราต้องรู้ว่า โลกเขา จะอนุโลมกับเขา ก็คืออนุโลมกับเขา แต่ใจเรานี่ มันเป็นภาวะผูกพัน เป็นภาวะดูดดื่ม เป็นภาวะที่มีอาการ อารมณ์ อัสสาทะ อร่อยจริงในใจหรือไม่ อ่านอัสสาทะให้ออก ถ้าอ่านอัสสาทะออก แล้วก็ลดล้างลง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทำไปด้วย ไม่ใช่แต่เรื่อง ผู้หญิงผู้ชายเท่านั้น มันอยู่ในอะไรก็แล้วแต่ หนักๆเข้าเดี๋ยวนี้ เห็นไหม ราคะมันไม่ได้อยู่ผู้หญิงผู้ชายเท่านั้น มันไปอยู่กับผู้ชายก็บอก โอ้โห! ไอ้หนุ่มคนนี้มันน่านะ น่ากิน แน่ะ ผู้ชายยังไปกินผู้ชายเลย ผู้หญิงก็บอก แหม! สาวคนนี้มันน่ากิน พวกทอมก็มองพวกดี้ อะไรอย่างนี้ล่ะนะ ทะลึ่ง มันต้องเอาเสียมั่งอย่างนี้น่ะ มันวิตถาร มันทะลึ่ง ไปมองงาม ไปมองสวย ไปน่ากิน น่าอะไร น่าสัมผัสเสียดสี แตะต้อง อะไรก็แล้วแต่ มันไปได้หมด เห็นไหม มันไม่ได้อยู่ที่ว่า กำหนดกันอย่างสมัยหนึ่งๆ สมัยนี้มันพิเรนมากแล้ว มันก็ไปกันใหญ่เลย เพราะจะอยู่ในคน หรือไม่อยู่ในคน อยู่ในของมัน ก็อันเหมือนกันแน่ะ มันเป็นสิ่งที่น่าได้ น่าสัมผัสแตะต้อง น่าชื่นชม อะไรเข้ามา กามราคะ เราต้องลด รู้ตัวแล้วลดหมดทุกอย่าง ถามว่า จะหมดได้ยังไง ลดทุกอย่าง ฝึกหัดทุกอย่าง กามคุณ ๕ ไม่ใช่อยู่แต่ในผู้หญิงผู้ชายเท่านั้น มันมีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อยู่ในผู้หญิง อยู่ในต้นเสา อยู่ในไม้กระบอง อะไรทั้งนั้นแหละ เอาให้หมด พิจารณาให้รอบถ้วน แล้วก็พยายามน่ะ


ถาม พระอนาคามี ยังจะมีรักเชิงนี้ในจิตอยู่อีกหรือเปล่า
ตอบ ตอบไปแล้วพูดไปก่อนแล้ว หรือหมดเกลี้ยงสิ้นรอบแล้ว อธิบายไปแล้วเมื่อกี้นะ


ถาม อารมณ์ทางเพศ ทำไมแต่ละคนจึงมีไม่เท่ากัน บางคนมาก บางคนน้อย จะให้หมดอารมณ์ ทางเพศสนิท ทำอย่างไร ช่วยอธิบายไล่เป็นขั้นตอนมาให้ละเอียดด้วย
ตอบ ก็หมดวันน่ะซี อธิบายไล่เป็นขั้นตอนมาให้ละเอียดด้วย ก็หมดวัน ไม่พอหรอก อีกชั่วโมงหนึ่ง ไม่พอน่ะ

เอ้า! ก็เอาคร่าวๆน่ะ บางคนมากบางคนน้อย ทำไมมันมีไม่เท่ากัน ก็มันจะไปเท่ายังไง ก็มันสั่งสม ใส่มากขึ้นๆๆๆๆ ลดน้อยลงๆๆๆ ไอ้การจะลดก็ไม่รู้วิธีลดด้วย มันจะไม่มากได้ยังไง ก็มากซิ แล้วไม่รู้ สะสมมากี่ปาง ปางละหนักๆด้วย อะไรอย่างนี้ เอาซี สั่งสมไปซี ท้าทายให้มาพิสูจน์ ว่าเป็นความจริงนะ สั่งสมให้มันเสมอๆ แล้วมากๆ หนักๆไปเรื่อยๆ มันก็มากน่ะซี ทำไมมาก ก็ไปทำไมเอามากเอง สะสมมากเอง ทำไมน้อย เพราะเรียนรู้ เพราะตั้งใจลดละให้น้อยลงๆ เพราะฉะนั้น บางคนน้อย บางคนมาก มันก็เป็นอย่างนั้น แล้วถามว่า ทำไมชาตินี้บางคนน้อย บางคนมาก เอ้า! ทีนี้ละ ก็ชาติแต่ก่อนๆนี่ เขาได้ทำมา เขาได้ลดได้ละมาน่ะ ไม่ต้องเอาอะไร มากหรอก เอาอย่างอาตมา เห็นไหมเล่า ขนาดเต้นรำ ยังไม่ยอมเสียเลยน่ะ เอาอย่างเก่งก็แค่รำวง เห็นไหม นี่มันเป็นที่จิต จริงๆนะ

เพราะฉะนั้น ใครจะน้อย ใครจะมาก ก็อยู่ที่เรา ใครจะน้อย ใครจะมากอยู่ที่เราลดละจริงๆ อยู่ที่เราทำเอา บางคนมาก บางคนน้อย มันไม่ใช่ชาติเดียว บอกแล้วมัน แหม! เป็นรากฐาน แห่งการเกิดของสัตวโลกมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เพราะฉะนั้น จะต้องเอาจริงๆน่ะ จะทำอย่างไร ทำให้หมด ก็ทำลงไป อาตมาตอบกำปั้นทุบดิน ฝึกหัดอบรมจริงๆ อย่าไปทำเล่นๆน่ะ เมื่อกี้อาตมา พยายามอธิบายโสดา สกิทา อนาคา ให้คร่าวๆแล้วนะนี่ ก็บอกแล้วว่า ขั้นตอนมันมากมันน้อยยังไง ก็ต้องค่อยๆทำ อย่างที่เราเรียนอย่างนั้นแหละน่ะ


ถาม คนเราทำไมยิ่งคิดยิ่งมีปัญหา คิดนี่ ชอบคิดที่ไม่ดีใช่หรือเปล่าคะ จึงมีปัญหา

ตอบ เออ! ก็รู้นะ แล้วไปคิดที่ไม่ดีเข้า มันก็เลยมีปัญหาสิ แต่คิดดีๆ มันก็ยิ่งปลดปัญหาล่ะนะ เออ! เอาไปเอามา มันก็มีปฏิภาณ ตอบตัวเองก่อน ถามมาปั๊บ แล้วมีปฏิภาณ แล้วบอกช่อง ให้อาตมา ตอบด้วยนะ คนเราทำไมถึงชอบคิด คนที่ชอบคิดนี่ก็เพราะ คนที่ ยังไม่จบ ฟังดีๆนะ คนที่ชอบคิด ก็คือ คนที่ยังไม่จบ ไม่จบ มันก็คิดไปนั่นหนึ่ง คนที่ชอบคิดก็เพราะคนที่ยังมีภพ สร้างภพ สร้างชาติ ก็คือความไม่จบนั่นแหละ สรุปแล้ว ขยายออกมา สร้างภพ สร้างชาติไป ก็คิด มันไม่เมื่อย หรือยังไง มันก็เลยคิดไม่รู้จักจบ ทีนี้คิด จนกระทั่งเครื่องมัน แหม! มันเป็นอัตโนมัตินะ มันหยุดไม่ได้ ที่จะหยุด หยุดไม่ได้เลย นี่เป็นธรรมดาธรรมชาติของพวกชอบคิด คิดจริงๆ พวกสายคิดนี่ หยุดไม่ได้หรอก เพราะฉะนั้น ต้องหัดมาบ้าง พวกสายตะวันตก พวกฝรั่งนี่มันคิดนะ มันคิดสร้าง มันดิ้นรน มันไม่เหมือนเมืองไทย เมืองไทยนี่ โอ้โห! เป็นโซนที่อุดมสมบูรณ์ อะไรๆก็ดี เมืองนอกนี่
มันต้องดิ้นรนนะ หน้าหิมะมาท่วมก็ต้อง แหม! ตั้งไม่รู้กี่เดือน อะไรต่างๆนานา จะทำเกษตรก็ได้ยาก

เพราะฉะนั้น ก็หันมาคิดเครื่องยนต์ ไอ้เครื่องทุ่นแรง เครื่องที่ช่วยอะไรต่ออะไรต่างๆนานา มันจึงเก่ง ทางอุตสาหกรรม ทางโน้นเก่งทางอุตสาหกรรม คิดซิ คิด มันไม่มีมาเก่านี่ มันเกษตรมันก็อยู่ในดิน อยู่กับธรรมชาติมากๆ ไอ้นี่มันก็ต้องใช้ แหม! ปรับโน่นมาปรับนี่มา แปรโน่นมา แปรนี่มา สงวนไอ้โน่น เก็บอันนี้ ต้องรีบพาไอ้โน่นมา ให้ได้ มันอยู่ใต้ดินก็ต้องเอาขึ้นมา มันอยู่บนฟ้าก็ต้องรีบหาอะไร โอ๊! ต้องคิด คิดโน่น คิดนี่ คิดมาก ไอ้พวกนี้ดิ้นรนมาก แย่งชิงมากกว่า คนไทยนี่แย่งชิงน้อย ขี้เกียจเยอะน่ะ คนข้างนอกนี่มัน อะไรๆ สิ่งแวดล้อมมันต้องดิ้นรนมากกว่า แย่งชิงมากกว่า มันก็เลย ต้องคิดมาก คิดมากๆ หยุดไม่ได้ พอมาเจอทางด้านอินเดียบ้าง มาเจอทางด้านไทยพานั่ง หยุด โอ้โห! มัน แหม! มันสบายจริงโว้ย ไม่ค่อยคิดนี่ มันสบายดี แล้วมันติดสมาธิสะกดจิตให้มันหยุดได้มาก ทุกวันนี้นี่ พวกฤาษีอินเดียไปเป็นศาสดาอยู่ในอเมริกาเยอะ ศาสดานั่น ศาสดานี่ สอนให้นั่งสงบ สมาธิ สบาย มักน้อยลงมา มักน้อยลงมาได้เยอะเหมือนกัน ได้สอนเบื้องต้นพวกนี้

เพราะฉะนั้น พวกอินเดียนี่ ไปหากินทางโน้นน่ะ โอ้โห! ขนาดอายุ ๑๑ นี่นะ ยังไปเป็นศาสดาเลย เดี๋ยวนี้มีเมียแล้วนะ ฤาษีอะไร ไปตั้งแต่อายุ ๑๑ ขวบ ไปสอนสมาธิ สอนเบื้องต้นง่ายๆ ตั้งแต่อายุ ๑๑ กินไอศกรีมทีละ ๗ ชาม ๘ ชาม อ้วนตั้ก เดี๋ยวนี้แต่งงานแล้ว รวย อเมริกานี่มันศรัทธาว่า โอ้โห! มันทุกข์น่ะ มันคิดไม่หยุด พอมา คนมีวิธีการให้ ทำให้หยุดคิดหน่อยได้ แหม! มันเป็นสุข มันก็ เงินเท่าไหร่ไม่ว่าน่ะ ให้ร่ำรวยกันไปเยอะน่ะ อาตมาไปสอนแค่ฤาษีอย่างนี้บ้าง คงรวยกันใหญ่ล่ะนะ ถ้าจะไปหาเงินนะ ไม่ต้องเอาอะไรไปล่ะ ไปสอนแบบฤาษี สมาธิอย่างเดียว รับรองได้เป็นศาสดา องค์หนึ่ง ในอเมริกาเหมือนกันน่ะ เพราะที่นั่นเขาอิสรเสรีภาพ ที่นี่พูดคำว่าศาสดาหน่อย เท่านั้นล่ะ โอ้โห! จะตายเลย ที่ในเมืองไทยนี้ไม่ได้

เพราะฉะนั้นสรุปแล้วก็ ยิ่งคิดก็เพราะว่ามันหยุดไม่ได้ มันยิ่งมีปัญหา คนที่หมดปัญหาก็คือ คนไม่ต้องคิดอะไร เพราะมันเข้าใจแล้วไอ้สิ่งนี้ แม้จะไม่คิดต่อ ถ้าคุณคิดต่อ คุณก็ต้องไปวิจัย กันไปต่อ แล้วเราก็ไม่ต้องการแล้ว พอแล้ว คนมีสันโดษแล้ว คนจบแล้ว ก็ไม่ต้องต่อ แล้วยิ่งรู้ด้วยว่า ถ้าคิดต่ออย่างโน้นไปแล้วนะ มันไม่มีจบ แล้วมันก็บำบัด บำเรอแค่นิดหน่อย เพราะฉะนั้น เข้ามาหา ต้นทาง เข้ามาหาต้นเหตุ หยุดต้นเหตุดีกว่า คำพูดอันนี้ ที่อาตมากำลังพูดบอกว่า ไอ้ที่ไปต่อ กับ เข้ามาหา ต้นเหตุนี่กว้างลึก ทั้งกว้าง ทั้งลึก ก็ขอตอบอันนี้ก่อน เพราะไม่อย่างนั้น ไม่มีเวลาที่จะ อธิบายอะไรมากกว่านั้น เราไม่รู้ ว่าชีวิตเราจะต้องไปสร้างอะไรกันมากนัก ด้วยเขามามอมเมาเราว่า สร้างมากๆ หาทาง อะไรมากๆพวกนี้ แล้วมันจะได้มากๆ รวยมากๆ มันก็เลยไม่หยุด มันไม่มีสันโดษ มันไม่รู้จักพอ ฉะนั้นคนที่รู้จักพอ กับคนที่สันโดษก็ไม่ต้อง คนที่สร้างก็สร้างไป อยากสร้างไป ชีวิตของ ตัวเอง ก็ยังไม่สุขล่ะ ไม่พอกินพอใช้อะไรนี่ ถ้าพอกินพอใช้แล้วก็ยังไม่ได้หน้ามาก ยังไม่ประสบ ผลสำเร็จ ตามค่านิยมเขาสร้างหลอกไว้ มันก็เลยอยากจะมีมากๆๆๆไปเท่านั้นเอง หรือแม้แต่กิเลส ที่มันยังไม่รู้แจ้ง แล้วมันก็ยังระงับไม่ได้ มันยังไม่จบ มันก็คิด คิดหาทางละกิเลส โดยไม่รู้จุด ที่จะไปกระทำ ยังวิจิกิจฉา ยังคิดมาก เพราะฉะนั้น สายคิดนี่นะ ถ้ายังไม่ถึงขั้นพ้นวิจิกิจฉานี่ มันก็ยังวนคิดอยู่นั่นแหละ คิดไอ้นั่นไอ้นี่ แล้วก็ลังเล เฮ้อ! จะจริง ไม่จริงนะ แต่ไม่ได้ทำสักที เพราะฉะนั้นทำ พิสูจน์ ถ้าแน่ชัดโดยปัญญาเรามีเท่าไหร่ แน่ชัด ว่า โอ๋! อันนี้เราทำอย่างนี้ มันจะตัด มันจะลัด มันจะลด มันจะจบ มันจะหยุด มันจะได้ หยุดคิดสักที หยุดเมา หยุดอะไรสักที ทำลงไป เพื่อพิสูจน์ แล้วมันก็จะลดลงเรื่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ การคิดก็น้อยลง ไม่ต้องคิด แต่กลับฉลาด ไอ้ความฉลาดที่มีปฏิภาณ รู้โลก รู้อะไรนี่ มันซ้อนเชิงนะ อาตมาไม่ได้ศึกษาศาสตร์ต่างๆ แล้วก็ไม่ได้ คิดนะ ไม่ได้คิดน่ะ ไม่ได้มานั่ง คิดไอ้โน่นไอ้นี่ๆ อ่านไอ้โน่น หรือศึกษาภาษาโน่น ภาษานี่ วิชาการโน่นนี่ ไม่ รัฐศาสตร์ก็ไม่ได้คิด ที่อาตมามาพูดมาสอนมาแนะนำ เศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้คิด อะไรหลายๆ ศาสตร์ที่มัน เกี่ยวกันอยู่ แม้แต่ขนาดพาณิชยศาสตร์ จะสร้างระบบพาณิชยศาสตร์ แบบบุญนิยมนี่ ก็ไม่ได้คิด แต่มันรู้ แล้วมันก็เอาเนื้อหานี่ออกมาได้เองน่ะ หลักแกนของการไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนี่ มันจะมองอะไรสว่าง มันจะเห็นคน มันก็เหมือนกับคนที่ ผ้านี่ขาวขึ้นๆ ขาวขึ้นๆ โลกนี้มีแต่สี นานา สีเลอะๆเยอะๆ มันมี ๒ อย่าง ผ้ายิ่งขาว หรือเหมือนกระจกเงา มันก็ยิ่งจะส่อง สะท้อนเห็น ไอ้นี่ได้มากขึ้นๆ มากขึ้นเอง ขอให้ทำให้ผ้าขาวเถอะ แล้วมันจะเห็นไอ้นี่เอง เห็นแล้ว มันเห็นอย่าง ไม่วนไม่วุ่น เพราะว่าตัวเองไม่พยายามคิด ตัวเองไม่พยายามใช้ความวุ่น ความคิดอะไร เพราะฉะนั้น มันจะนิ่ง ไอ้นี่มันวุ่นของมันเองอยู่แล้ว ถ้าเราไปคิดด้วยอีก มันก็จะวุ่นผสมกัน โอ้โห! สับสนซ้อนเชิงเยอะ เพราะฉะนั้นเรานิ่ง ไอ้นี่มันวุ่นอยู่แล้ว มันก็จะเห็นสภาพนี้ชัดขึ้นกว่า อาตมา พยายามใช้ภาษาอธิบายรูปธรรมให้คุณฟังนะ เพราะฉะนั้น มันจะเห็นเอง มันจะเข้าใจได้เอง เข้าใจสมมุติสัจจะ ได้ง่ายขึ้นเองน่ะ เพราะฉะนั้น ยิ่งคิดอยากรู้ มันยิ่งรู้วุ่นวาย รู้วุ่นวายนะ รู้ไม่จบด้วย ถ้าไม่คิดอยากรู้นะ ลดกิเลสลงไป แล้วมันจะรู้ อย่างไม่วุ่นวาย แล้วจบด้วย

เพราะฉะนั้น คนไหนที่นึกว่าตัวเองภาคภูมิในการได้คิดมากๆ แล้วก็ได้รู้ คนนั้นน่ะ จะติดใจในการ ได้คิดมากๆ แล้วก็รู้ แล้วก็ไปเที่ยวได้สอดรู้สอดเห็น เอาเรื่องโน่น เอาเรื่องนี่ มาผสมเรื่องโน่น ผสมเรื่องนี่ วุ่นไปเถอะ อีกกี่ชาติก็ไม่รู้ ไม่จบ นั่นน่ะเรียกว่า หาเรื่องใส่ตัว ควรหยุดเสียบ้าง ทำนาตัวเองเสียบ้าง ไม่ต้องคิดอะไรนักหนานัก เอาเรื่องที่มันชัดๆๆๆน่ะ แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ ละลดกิเลส นี่ไปเรื่อยๆ แล้วจะเกิดญาณที่เป็น เหมือนกระจกเงานะ ถ้ายิ่งไปคิดมากๆแล้ว คุณจะเจอเงาที่มากๆ แล้วเงาซ้อนเงานี่ ยิ่งมืด ส่วนทำให้ตัวเองสะอาดลงไป จากกิเลสนี่ มันจะเหมือน ยิ่งสร้างกระจกเงา กระจกเงาซ้อนกระจกเงา มันจะเห็นซ้อนเชิงลึกๆๆไปเอง คุณลองเอา กระจกเงามาตั้งซ้อนๆ ซ้อนๆมากๆซี มันยิ่งจะลึกๆๆๆ มากๆเลย ทีนี้คุณเอาเงามาตั้งซ้อนเงามากๆซี ทีนี้ยิ่งมืด มืดๆๆๆ ยิ่งไม่รู้ว่า เงาอันไหนต่อเงาอันไหนเลย มันจะคล้ายกัน ยิ่งคิดมากๆ จะเหมือนเงาซ้อนเงา ยิ่งลดกิเลสมากๆ จะเหมือนกระจกเงา ซ้อนกระจกเงาน่ะ



ถาม ความทุกข์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะความคิดพาไป ใช่ไหมคะ ใช่น่ะใช่ ตัวความ
คิดนี่ก็ตัวร้ายพาทุกข์น่ะ ในความทุกข์ในโลกนี้ มีทางแก้ทางบรรเทาได้ สุดแน่
จะพบแสง สว่างจากใครและที่ไหน ใช่หรือเปล่าคะ

ตอบ ทุกข์ในโลกนี้มีทางแก้ทางบรรเทาได้ ใช่ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านยืนยัน แล้วเราก็ได้พิสูจน์ กันมา แม้แต่อาตมาก็ได้พิสูจน์ยืนยัน ให้พวกคุณทำด้วย ไปด้วย สุดแน่จะพบแสงสว่างจากใคร แสงสว่างจากตนเอง จากความจริง จากความชัดแจ้งของตนเอง ที่ไหน? ความสว่างอันนี้ อยู่ที่จิตวิญญาณน่ะ ความสว่างอันนี้ อยู่ที่จิตวิญญาณ แหม! ถามถึง ที่ไหนเสียด้วยนะ ความสว่างตรงนี้ ไม่ใช่ที่ดวงอาทิตย์ ไม่ใช่หลอดไฟฟ้า ไม่ใช่นีออน ไม่ใช่พวกนี้ แสงสว่างอยู่ที่ จิตวิญญาณ มันจะสว่าง มันจะชัดเจน มันจะเห็นแจ้งเอง นี่ใช้ ภาษารูปธรรม ไปสื่อเท่านั้นเองว่าสว่าง ว่าแจ้ง ว่าอะไร


ถาม คำว่าทาน และบวงสรวง ต่างกันอย่างไรครับ
ตอบ ทาน และบวงสรวง คำว่าทานนี่ ก็หมายความว่า ให้ ให้ผู้อื่น ทาน สละ ให้ผู้อื่น เสียสละให้ผู้อื่น เรียกว่าทาน

บวงสรวงนั้นน่ะ มันให้เหมือนกัน แต่มันจะเอา มันขอน่ะ บวงสรวงนี่ ให้แล้ว เขาก็พวกเทวนิยม บวงสรวงนี่เทวนิยม ให้ เขาคิดว่า เราให้แก่พระเจ้า พระเจ้าจะรักเรา เราให้แก่เทพเจ้า เทพเจ้าจะให้ อะไรตอบแทนเรา นี่เป็นลักษณะแนวคิดของเทวนิยม

เพราะฉะนั้น การบวงสรวงจึงเป็นเรื่องของพวกเทวนิยม ส่วนของพุทธนั้น สอน ให้ยัญพิธี ก็เป็นพิธี ที่จะให้เกิดการให้น่ะ ยิฏฐังนี่ หุตตังนี่ เขาแปลว่าความบวงสรวง การบวงสรวง หุตตัง หุตตัง ก็คือผลของการทำพิธี ยัญพิธี พอทำยัญพิธี หรือว่าทำอย่างนี้ เรามาปลุกเสกฯนี่ เป็นยัญพิธีชนิดหนึ่ง ทำแล้วเกิด จิตของคุณสำรอกกิเลส มีการสละ ลดความเห็นแก่ตัว ลดติด ลดยึด ตั้งแต่วัตถุ ไปจนกระทั่ง ถึงนามธรรม พิธีนี้ทำให้ลดได้ เมื่อลดได้แล้ว เรายังจะเอาอะไรคืนอยู่ เราเรียกว่า ยังมีบวงสรวงอยู่ หรือมีหุตตังอยู่ ถ้าเผื่อว่า ผลของพุทธจริงๆแล้ว พิธีนี้เป็นไปเพื่อการบวงสรวง เพื่อสิ่งที่สูงขึ้นๆ ก็คือให้ไป โดยไม่เอาอะไรตอบแทนขึ้น แล้วเราก็จะเป็นคนที่เป็นเช่นนั้นจริงๆ สอดคล้องกันเหมือน อย่างภาษาทางศาสนาคริสต์เขาบอกว่า เราจะต้องเป็นผู้ที่เสียสละ ให้มากๆๆๆ แล้วอันนี้ มันจะเป็นบุญ เป็นสวรรค์ แล้วสวรรค์นี้ เราจะไปอยู่สวรรค์นั้น นี่ของคริสต์สอนอย่างนี้ มันก็ยังมีอัตภาพ หรือมีอัตตา มีปรมาตมัน ที่เราจะต้องไปรวมกับสวรรค์ ไปอยู่กับพระเจ้า ทำถวาย พระเจ้า ให้ไว้ที่พระเจ้า พระเจ้าคือสวรรค์ จะอยู่ที่แดนสวรรค์ แดนพระเจ้า เสร็จแล้ว เราก็จะไปอยู่ที่แดนนั้น โดยเอาเรา เอาอัตตา อัตภาพไปอยู่ที่นั่น นี่มันก็ยังมีอัตตา มันจะตามไป

เพราะฉะนั้นจ ะบวงสรวงอะไร บวงสรวงสวรรค์ บวงสรวงพระเจ้า เพื่อเราจะได้ไปอยู่กับพระเจ้า นี่เป็นบวงสรวงที่หุตตังที่ไม่สุด ส่วนหุตตังของพระพุทธเจ้านั้น เมื่อบวงสรวงก็คือเราจะให้ ให้โดยไม่ต้องมีอัตภาพ ไม่ต้องเอาตัวเราไป ไม่ต้องมีพระเจ้าอยู่ที่สวรรค์ไหน ทาน บวงสรวงคือทาน บวงสรวงคือให้ พังดีๆนะ เมื่อกี้ถามคำว่า ทาน กับบวงสรวง สุดท้ายนี้อธิบายวนมาแล้วว่า บวงสรวงคือทานของพระพุทธเจ้า คือให้ อย่างไม่เหลืออัตภาพ ให้อย่างไม่เหลือสถานที่ ให้อย่างไม่มีสวรรค์ ให้อย่างไม่มีตัวตน ให้คือให้ ให้คืออะไรล่ะ เพราะฉะนั้น คุณจะเอาอะไร ไปบวงสรวง ไปให้พระเจ้า ศาสนาพุทธเลยไม่ทำ เอาไปให้นี่ให้พระเจ้า ถ้าให้บวงสรวง หุตตัง วิธีบวงสรวง บวงสรวง อย่างโลกๆเขาก็เอาไปให้พระเจ้า พระเจ้าโปรดประทานโน่น ประทานนี่ ให้หรือจะเอากันแน่นะ ให้พระเจ้าน่ะ แค่ผลไม้ ๑๐ ลูก แล้วจะเอาเงินตั้งเป็นล้าน อย่างนี้เป็นต้น แหม! มันให้แบบนี้ มันค้ากำไรเกินควร ใช่ไหม เอากำไรเกินควรเกินไป บวงสรวงแบบนี้น่ะ ให้ก็ต้องให้จริงๆสิ นี่มันวนๆอยู่อย่างนี้น่ะ

เพราะฉะนั้นทานกับบวงสรวงนี่ ถ้าเข้าใจไม่จริง แล้วโดยจริงจิตวิญญาณ แล้วมันยังมีตัว ที่เรายังอยากได้อะไรตอบแทนอยู่นี่ อ่านไม่รู้ แล้วก็ทำให้ตัวเองนี่หยุดตัวที่ จะเอาอะไร ตอบแทนคืนไม่เป็น ระงับไม่เป็น ปัญญาก็ไม่เกิดด้วย ไม่แน่ใจ ไม่กล้าพอที่จะไม่เอาอะไรมาให้ตัวเอง มันไม่กล้านะ

เพราะฉะนั้นคนที่ใจกล้าแล้ว เออ! ให้ไม่ต้องเอาอะไรมาให้แก่ตัวเอง ไม่ต้องการอะไรหรอก ไม่ต้องการของแลกเปลี่ยน ไม่ต้องการยศศักดิ์แลกเปลี่ยน ไม่ต้องการอำนาจแลกเปลี่ยน ไม่ต้องการสรรเสริญเยินยอ ไม่ต้องการแม้แต่ภพชาติอะไรทั้งนั้น ความจริงมันก็เป็นความจริง ให้ไปก็แล้วกัน เท่านั้นก็พอแล้ว จบ ส่วนจะมีคนรับช่วงต่อ จิตวิญญาณของคนอื่น เขาจะเห็น กตัญญูกตเวที มันก็เป็นเรื่องของเขา ทีนี้ถ้าเราอยู่กับ หมู่กลุ่มที่เป็นคนดี มีกตัญญูกตเวที คุณแน่ใจไหมว่า หมู่กลุ่มนี้ คนในที่นี้มีกตัญญูกตเวที มีจิตเอื้อเฟื้อเมตตา ถ้าแน่จริง คุณจะไปหวังทำไมเล่า มันก็มีเองแหละ แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มหมู่ที่มันไม่มี คุณไปหวังให้ตายยังไง คุณก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าถึงได้ตรัสว่า มิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี เป็นทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ เพราะมิตรไม่ดี สหายไม่ดี สิ่งแวดล้อมไม่ดีนะ ไม่มีพรหมจรรย์ ไม่มีสวรรค์ ไม่มีทางที่จะ บรรลุธรรมด้วย เพราะมันพึ่งไม่ได้ คุณจะทำบุญกับเขา คุณจะเสียสละกับเขาให้ตายยังไงๆๆๆนะ คุณก็ตายแห้งคนเดียว เพราะมันไม่มีกตัญญูกตเวที มันไม่มีเมตตาเอื้อเฟื้อ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น โลกอย่างนั้น ไม่ใช่ปฏิรูปเทสวาโส ไม่ใช่อะไรล่ะ ไม่ใช่สถานที่หมู่กลุ่ม หรือว่า ที่ที่เราควรจะไป อยู่ร่วมด้วย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องควรจะอยู่ร่วมด้วยอย่างนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าท่านแบ่งชั้นวรรณะนะ แต่ที่มันเป็นตามสัจจะจริงๆ เพราะฉะนั้น คุณอยู่กับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี คุณไว้ใจ แน่ใจ แล้วเป็นจริงด้วยนะ คนพวกนี้มีเมตตาเกื้อกูลกัน เอื้อเฟื้อกันได้ ไม่ต้องสะสม ไม่ต้องกอบโกย มีแต่ให้ๆๆๆ ลูกเดียว ต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างให้ ต่างคนต่างให้ เสียสละ สร้างสรรขึ้นมา เกื้อกูลกันไป เกื้อกูลกันไป อาตมาจะท้าให้พิสูจน์ซิว่า คนกลุ่มนี้ มันจะอยู่กันอย่างทุกข์ร้อน หรือว่า มันจะอยู่กันอย่างอบอุ่น ตอบซิ คนที่โง่ที่สุด มันจะอยู่กันอย่างอบอุ่น หรือมันจะอยู่กันอย่างเดือดร้อน มันจะอยู่กันอย่างอบอุ่น แล้วมนุษย์มีจิตวิญญาณ มนุษย์มีปัญญา มนุษย์มีความทำได้ เป็นไปได้ อาตมาจะพิสูจน์เท่าที่อาตมาจะมีชีวิต จะพิสูจน์คนกลุ่มอย่างนี้ ใครจะบอกว่าเราทำเลวก็เชิญ เราจะทำอย่างนี้ มีใจเอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีน้ำใจเมตตา กตัญญูกตเวทีต่อกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน แล้วก็ขยันหมั่นเพียร ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างงอมือ ต่างคนต่างเอาเปรียบเอารัด ไม่ใช่ ต่างคนต่าง ที่จะเสียสละ ต่างคนที่จะสร้างให้มากๆ เสียสละให้มากๆ ก็เป็นคุณค่าอันมากๆตามจริง ตามสัจจะ เพราะฉะนั้น เราก็จะพิสูจน์ ทาน พิสูจน์ บวงสรวง ที่ลึกซึ้งว่า ให้โดยที่ไม่ต้องไปขออะไรตอบแทน บวงสรวง หุตตัง

สุดท้ายไม่ต้องเอาอะไรมาตอบแทน วนไปหาทาน บวงสรวงก็คือทานอย่างบริสุทธิ์ที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เทพเจ้า ก็ให้อย่างบริสุทธิ์ที่สุดสิ ถ้าจะให้ ถ้าคุณยังมีเทพเจ้าอยู่ เป็นเทวนิยม แต่ถ้าไม่มีเทพเจ้า ก็ต้องไม่ต้องไปให้เทพเจ้าก็ได้ เพราะฉะนั้น พุทธเราจึงไม่มีการบวงสรวงแบบนั้น มีแต่ยัญพิธีนี่ วิธีการที่จะมาขัดเกลากิเลส แล้วก็เกิดปัญญาที่ลึกซึ้งอย่างนี้


ถาม เมื่อมีจิตคับข้องใจ และไม่ชอบเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานเดียวกัน เพราะเขา ๑.เกียจคร้านการงาน ทำงานไม่สมกับเงินเดือนที่ได้รับ ๒.ประจบหัวหน้า (สอพลอ) นินทา แสดงว่า เราก็ยังไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ใช่หรือไม่

ตอบ แสดงว่าเราก็ยังไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ไม่พ้นสิ่งประจบสอพลอเหรอ ไม่พ้นความ เกียจคร้านเหรอ เมื่อมีจิตคับข้องใจ และไม่ชอบเพื่อนร่วมงานที่ทำงานเดียวกัน เพราะเขาเกียจคร้าน เขาประจบ สอพลอ เขานินทา แสดงว่าเราก็ยังไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ ใช่หรือไม่ (เสียงแทรก:หมายถึงตัวเขาเอง) หมายความว่า ผู้ถามนี่ไม่พ้นจากความเกียจคร้าน ไม่พ้นจาก คนประจบสอพลอเหรอ ไม่ชอบอะไร แล้วจะมีกิเลสตัวนั้น อ๋อ! ก็ตรวจตัวเองสิ นะ แสดงว่า เรายังไม่พ้นสิ่งเหล่านี้ คือแสดงว่าเราเอง ยังมีสิ่งเหล่านี้ แสดงว่าเรามีความเกียจคร้าน และเราก็มีการประจบสอพลอ หรือว่านินทาคนอื่นอยู่ ตามที่ถามมา ใช่ไหม ใช่หรือไม่ ก็ตรวจซี จะตอบตีขลุมไปได้ยังไงล่ะ ก็ตรวจซิว่า ความเกียจคร้าน เป็นยังไง เรามีหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเอาภาษาเหตุ เอาภาษาโวหารไปตีขลุมกันเฉยๆ ไม่ใช่ ตรวจซิว่า อาการเกียจคร้านเป็นยังไง ตัวประจบสอพลอเป็นยังไง ตัวนินทาเป็นยังไงล่ะ อาการนินทาเป็นยังไง คุณทำหรือไม่ คุณไม่ได้ทำ คุณก็ไม่มี แต่คุณก็คงจะอยู่กับคนอย่างนั้นได้

เพราะคนอย่างนั้นมันเยอะ คนขี้เกียจ คนประจบสอพลอ คนนินทานี่ ยิ่งอยู่ในวงการทุกวันนี้
มันเยอะน่ะ แล้วคุณจะไปเหมาเข่งว่า คุณจะต้องอยู่กับคนเหล่านั้น เพราะคุณมีสิ่งเหล่านั้น ไม่ได้นะไม่ใช่ คุณอาจจะไม่มี หรือมีก็น้อยกว่าเขามากมายก็ได้ เราไม่นินทาใคร เราไม่ประจบสอพลอ ไอ้อย่างนั้น เรารังเกียจ แล้วเราก็ประพฤติปฏิบัติจริงๆ แล้วเราก็ไม่เกียจคร้าน เราก็ขยันหมั่นเพียร แต่เราก็ต้องอยู่กับมันน่ะ คนพวกนี้มันยังมีอยู่เยอะ แล้วเราก็ต้องรู้ว่า เราอยู่กับเขาได้ โดยที่เราเข้าใจเขา แล้วเราก็ไม่ต้องไปโกรธไปเกลียด ไปไม่สบายใจอะไร แล้วไม่ต้องไปคับข้องใจ ไม่ต้องไม่ชอบเขา ถ้าเราไม่ชอบคนอย่างนั้น เราก็จะทุกข์ แล้วเราก็ไม่สามารถจะแก้เขาได้ด้วย เขาก็จะเป็นอยู่อย่างนั้น ถ้าคุณก็จะอยู่กับเขา คุณก็จะทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดนานับกัปกาล ซวยไหมล่ะ หือ ซวยตายเลย ก็เขาจะเป็นของเขา เราก็ไม่มีความสามารถ เขาก็ไม่ได้ศรัทธาเลื่อมใส อะไรเราเลย ที่เราจะไปช่วยเขาได้นะ เราก็ทำดีของเรา ก็เท่านั้น เขาก็ทำของเขา บาปก็เป็นของเขา เราทำดีทำบุญก็เป็นของเรา มันก็เป็นบุญของเราอยู่เท่านั้น เราช่วยเขาไม่ได้ เราก็วางใจเรา ไปคับแค้น ขัดเคือง ขุ่นข้อง ไม่ชอบ คุณไม่ชอบ เขาก็ไม่ได้จ้างให้คุณรักด้วยนะ แล้วทำไมคุณจะต้องไม่ชอบเขา ด้วยล่ะ ให้มันทุกข์น่ะ ไอ้กิเลสตัวไม่ชอบนี่มันทุกข์นะ แล้วเราทำของเราเองนะ ว่ากิเลสไม่ชอบ ถ้าเราจะทำใจเฉยๆ โดยที่ว่าไม่ชอบก็ไม่มี ชอบก็ไม่มีนี่ ถ้าคุณทำอย่างนี้ได้นี่ คุณจะรู้ว่ามันสุข ต้องไปทำว่าไม่ชอบทำไมล่ะ เขาบอก ไม่ได้จ้างให้มาชอบ เออ! มันจะไม่หน้าแตกเหรอ หือ ใช่ไหม ไม่ได้จ้างให้มาชอบสักหน่อย ทำไมล่ะ ก็ไม่ชอบก็ช่างหัวคุณสิ แล้วคุณตัวเองก็ไม่ชอบ ตัวเองก็ทุกข์ ชอบเขาก็ไม่ได้อยากให้ชอบ ไม่ชอบคุณก็เกิดเอง เขาก็บอกว่าไม่ได้จ้างให้มาชอบนะ ใช่ไหม ตัวเรา เองแหละ สร้างอาการนั้นขึ้นในใจตัวเอง รู้อาการ ลิงคะ นิมิตของตัวเอง ว่าทำไมต้องมี อาการอย่างนั้นในจิต ปรับใหม่ ปรับจิตให้ไม่ชอบก็อย่าทำ รู้ความจริงว่า เขาเป็นอย่างนี้ เออ! ก็เป็น เราจะอยู่ร่วมกับเขา ก็อยู่ไป แล้วคุณอ่านสิ เมื่อเราเองไม่มีอาการไม่ชอบ ในใจแล้วนี่ เขาก็เป็นอย่างเก่า ใช่ไหม แล้วเรา อาการไม่ชอบนั่น สมมุติว่าเราทำออกได้นะ แล้วคุณอ่านซี เออ! มันสบายกว่าไอ้ที่โง่ๆเอาความไม่ชอบมาใส่ในใจตัวเองหนอ คุณจะเห็นเลยล่ะ อ๋อ! จริงๆนี่ ใครเคยทำได้ แม้ครั้งเดียว ลองดู แล้วตรวจอ่าน ใครทำได้ยิ่งหลายครั้ง ยิ่งเห็นจริงเลย โอ้! มันจริงๆ แล้วคุณก็จะ อ้อ! มันต้องทำอย่างนี้ล่ะ คืออย่าไปทำเลย อาการไม่ชอบนี่ มันก็จะได้สบายใจ คุณไปลองสิ นี่ถามว่า จะมีวิธีปรับจิตอย่างไร บอกแล้ว จะทำงานร่วมกับเขาอย่างราบรื่น บอกไปตอบไปแล้ว (เสียงถาม: ที่สงสัยว่า ที่ไม่ชอบนี่เพราะว่ามานะ หรือว่าเป็นเพราะว่า เรามีกิเลสสิ่งนั้น อยู่ในตัวเรา) ก็อ่านไปสิ ก็พิจารณาไปสิ ว่ามานะคือความหมายว่าอย่างไร มานะมันหลงตัวว่าดี เราดี แล้วเราจะไปข่มเขา ก็ใช่ ถ้าคุณมีมานะ แล้วก็ไปข่มเขา ไม่ชอบเขา ทำไมมันไม่ดีเหมือนกู เอ้อ! มันบังคับเขาได้เหรอ แหม! เอ็งดีก็ดีแล้ว เอ็งดีเหรอ เอ็งดีน่ะ เออ! ไม่ดีเหมือนกู ยังงั้นได้ยังไง แล้วนอกนั้นยังไม่พอ ยังไปเบ่งข่มเขาอีก อะไรอีก ดีเขาไม่เอากำปั้นหวดให้ก็บุญแล้ว แล้วก็มี มีอันหลังนี่บอกว่า

ถาม บางทีพอเราทำงานมากๆ พฤติกรรมมันก็เด่น ตัดกับพฤติกรรมขี้เกียจของพวกเขาอย่างรุนแรง โดดเด่น เราจะประสานอย่างไร
ตอบ เราก็อ่อนน้อมถ่อมตน เราก็เกื้อกูลเขาอย่างที่เราสัมภาษณ์กันออกมาแล้ว ประสบการณ์ มันมีอย่างนั้น เราเด่นเราดี เราก็อย่าไปเที่ยวได้ข่มเขาซิ เราก็เหมือนยอมเขา เหมือนเกื้อกูลเขา คนเรานี่ มันถึงขีดของมันนี่นะว่า เอ๊อ! คนนี้เขาดี เขาเด่น แต่เขาไม่ข่มเรา แล้วเขาก็เกื้อกูลเราด้วย นี่นะ โดยสัจจะพวกนี้นี่ มันใจไม่แข็งพอหรอกนะ มันจะยอม ถ้าเราทำให้เขายอมไม่ได้ เพราะเรายอมเขาไม่พอ ฟังดีๆ ถ้าเรายอมให้เขาไม่ได้ ถ้าเราเรียกว่า เรานี่ยอมเหมือนกันล่ะ แต่ยอมแล้ว จนกระทั่งเขาก็ยังไม่ยอม ไม่ลดราวาศอก เขาก็ยังจะต้องเป็นคู่อาฆาตกับเราอยู่นั่นแหละ เรายอมอย่างนั้น ไม่ถึงขีดของมันนี่ เพราะเรายอมยังไม่พอ ถ้ายอมพอนะ ไปได้ แต่ยอมอย่างนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเสียธรรมนะ เรายอมทำ เรายอมเขา แต่ว่าเราทำดีนี่แหละ เกื้อกูลกัน มีน้ำใจกัน แล้วก็ต้องอย่างว่าแหละ มันต้องมีเชิงฉลาดบ้าง มีศิลปะในการที่ว่า เรายอมเขา ก็อย่าไปให้เขาได้ เกิดกิเลสเกิด แหม! ถือดี แล้วก็ระเริงเหลิง ทำในสิ่งที่หยาบคายเพิ่มขึ้น ก็ต้องระวังน่ะ


ถาม พยาบาลที่ต้องฉีดยา ผ่าฝี เย็บแผลให้กับคนเจ็บ ทำให้เขาต้องเจ็บ (เพราะต้องถูกฉีดยา เย็บแผล) แต่จิตไม่มีอกุศล จะมีวิบากกรรมที่เป็นอกุศลหรือไม่ เช่น ต้องถูกฉีดยาบ้าง
ตอบ ไม่มี ไม่มีหรอก ไม่มีบาป ไม่มีอกุศลอะไรหรอก แล้วคุณสมมุติ ตั้งสมมุติฐานว่า จิตไม่มีอกุศล ด้วย จะไปมีทำไม จะฉีดยา แน่นอนมันก็ต้องเจ็บ พระอรหันต์ก็เจ็บ เจ็บนะ เพราะว่าประสาทของมัน นี่มันบอก รู้สึกว่ามันไม่สมดุล มันถูกอะไรต่ออะไรกระทบกระแทก กระเทือน มันก็ต้องมีเจ็บ มันก็ต้องมี เป็นธรรมดา มันก็ต้องเป็นธรรมชาติธรรมดา อย่าว่า แต่พระอรหันต์เลย หมู หมา กา ไก่ มันก็เจ็บทั้งนั้นแหละ คุณไปลองฉีดมันซิ แทงมัน มันก็จะวิ่งหนีคุณนั่นแหละ มันจะไม่ให้คุณแทงมัน นั่นแหละ มันเป็นธรรมดาธรรมชาติของมันน่ะ เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องธรรมดา คุณก็ต้องรู้ความจริง อันนี้ มันต้องเจ็บ ต้องถูกฉีดยา ต้องเย็บแผล ต้องอะไรต่ออะไร ก็เป็นไป มันไม่.. คิดมากน่ะ เลยไม่ต้องทำงานกันพอดี เรามีเจตนากุศลเพื่อที่จะช่วยเขา เขาเจ็บอันนี้หน่อย เพื่อที่จะได้ทำให้ ได้หาย สิ่งที่มันยิ่งกว่านั้นน่ะ


ถาม พระพุทธเจ้าทรงห้ามพระสงฆ์รักษาโรค เพราะเหตุใด
ตอบ ที่ทรงห้ามรักษาโรคก็เพราะเหตุว่า มันล่อแหลมต่อการตาย แล้วถูกตู่ท้วง คนที่มีโรคมีภัย แล้วเป็นหมอนี่รักษา คนที่รักษาไข้ อยู่ที่โรงพยาบาลนี่ ดู ประเดี๋ยวก็ตาย ประเดี๋ยวก็ตาย แล้วคนที่เขา มีลูกมีเต้า หรือว่ามีพ่อมีแม่นี่ พ่อแม่เขาตาย เขาเสียใจนะ เมืองนอกน่ะ ฟ้องกันมากเลยนะ หมอนี่ โดนฟ้องนะ เพราะเขามีอิสระมากๆเมืองนอก เมืองไทยนี่ยังมีบุญคุณ ยังมีมารยาทแบบนี้เยอะ เมืองนอกมันไม่ มันเห็นแก่ตัว หมอรักษา ผิดๆพลาดๆ หมออะไร บกพร่องอะไรนิดๆหน่อยๆ ไม่ได้หรอก เกินไปนี่นะ ลูกเขา พ่อแม่เขา เขาเชื่อว่ามันไม่ควรตาย หมอคนนี้ไปรักษา แล้วเขาไม่รู้ รายละเอียดหรอก แล้วมันตาย ฟ้องหมอนะ เมืองนอกนี่ฟ้องบรรลัยเลย เยอะเลย ถามคนไปอยู่ เมืองนอกมาสิ เยอะแยะเลยจริงๆนะ เพราะฉะนั้นมันแย่เลยนะ

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านรู้การณ์ ไกลน่ะ มันเป็นการถึงตาย มันเป็นการไปรับผิดชอบชีวิตเขา โอ! แล้วมันไหวหรือ ไอ้โรคๆอะไรพวกนี้นี่ โรคนิดโรคหน่อยก็ตายแล้ว มันจะเกิดความระแหง และความ ศรัทธาเลื่อมใสจะน้อยลง เพราะการโกรธเคืองนี่มันลึกนะ ทำให้แม่เขาตาย ทำให้ลูกเขาตาย ทำให้คนนั้นคนนี้เขาตาย ทำให้คนที่รักเขาตาย ไม่ดีน่ะ มันเสี่ยง ประชาชนคนที่เป็นฆราวาส ท่านก็ไม่ได้ไปห้าม เพราะฉะนั้น คนจะเป็นหมอเป็นอะไร ก็เป็นไป ก็รักษาไป ตามหน้าที่ของเขา อย่าเอามาไว้ ในผู้ที่เป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส เพราะฉะนั้น ผู้ที่เป็นนักบวช จึงไม่ให้รักษาโรคน่ะ นอกจาก มันจำเป็นก็รักษากันเอง อย่างพระเจ้าท่านรักษากันเอง ก็ทำได้บ้าง แต่ท่านก็ไม่ใช่ จะมาให้ทีเดียว ถ้าเผื่อเขามีหมอมีอะไร ท่านก็ให้เขารักษา ประเดี๋ยวพระกับพระมาทำกันตายอีก ประเดี๋ยวจะยุ่งกันใหญ่ แย่งคฤหัสถ์เขาทำ นี่บอกว่า เหตุผลจะไปแย่งงานคฤหัสถ์ทำ ก็ใช่ด้วยน่ะ แต่เรื่องที่ละเอียด อาตมาก็บอกให้แล้ว มันไม่ดี มันเป็นเรื่องวิญญาณที่ลึกซึ้งน่ะ มันติด มันยึด มันถือสา อาฆาตมาดร้าย ซึ่งเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใสไม่ได้ มันลดลงได้ ทำมากๆ ไม่มีหมอคนไหน ที่ไม่ทำให้คนตาย นอกจากหมอที่ไม่ได้รักษาใครเลย หรือรักษาไม่กี่ราย แล้วก็ตาย หรือหมอก็ตาย ไปก่อน ถ้าหมอยังรักษาอยู่ ในเวลานานๆพอสมควร ไม่มีหมอคนไหนไม่มีคนตายกับมือ หมอทุกคน ต้องรักษาคน ต้องมีคนตายกับมือของเขาทุกคน


ถาม เวลาพบกับภาวะที่ต้องเร่งรีบ งานยุ่งและเป็นงานด่วน สำคัญมากๆ เราจะทำใจให้สงบ ในขณะ เร่งทำงานนั้นได้อย่างไร
ตอบ อันนี้เป็นความลึกซึ้งน่ะ เป็นความสุขุมประณีตที่เราจะต้องฝึก ฝึกแล้วต้องอ่านจิตอ่านใจ แล้วอ่านกรรมกิริยากายวาจาใจ อาตมาเคยยกตัวอย่างว่า สิ่งที่ยิ่งหมุนเร็วยิ่งนิ่ง เหมือนกับลูกข่าง หมุนยิ่งเร็วยิ่งนิ่ง นั่นแหละ มันซ้อนกัน โอ๊ย! ทำไมยิ่งเร็วแล้วมันก็ยิ่งนิ่ง มันซ้อนเชิงนี่นะ นั่นแหละ เราต้องทำให้ได้อย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะทำงานทำการ หรือมีงานด่วน มีโน่นมีนี่ ยิ่งเร็ว ยิ่งอะไรต่ออะไร มันจะต้องฝึก ต้องให้แคล่วคล่อง แล้วก็ต้องอ่านใจ ต้องตั้งสติ ต้องให้ดีๆๆ แล้วมันจะสุขุมประณีตขึ้น รู้ไว รู้เร็ว รู้อะไร นั่นแหละ มันจะมุทุภูเต กัมมนิเย งานการก็จะทำเหมาะทำควรขึ้นได้เรื่อยๆ ความแววไว ความที่จิต จะสงบลง มุทุภูเตนี่จิตสงบด้วยนะ ดัดปรับให้สงบ ดัดปรับให้มันไม่มีกระเส็นกระสาย ไม่มีเกิน ไม่มีอะไร อาตมาพยายามใช้ภาษานะ มันจะมีสภาพที่มัน เอ๊! ไอ้นี่ควรระงับอันนี้ก่อน ควรหยุดอันนี้ก่อน อันนี้ต้องมุ่งไปทางนี้ ที่ใช้ภาษาว่า concentrate นี่ ให้มันมีจุดที่ว่า ให้มันรู้จุด รู้อะไรต่ออะไร อะไรที่ไม่ฟุ่มเฟือย อะไรมันจะสุขุมประณีต มันจะเก็บรายละเอียดพวกนี้ไปเอง ต้องฝึกมากๆน่ะ


ถาม ผู้ถามมักจะมีจิตฟุ้ง ตื่นเต้น เมื่อเห็นคนป่วยที่บาดเจ็บสาหัส มีแผล มีเลือดออกมากๆ คือเรา ช่วยเขาอย่างเร็วอยู่แล้ว แต่ทุกครั้งใจสั่น เพราะกลัวเขาจะตาย และสงสารว่าเขาคงต้องเจ็บปวดมาก
ตอบ ก็เป็นธรรมดา เราก็ต้องรู้โดยปฏิภาณ ว่าเขาจะเจ็บปวดมากน้อย มันก็เป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ที่เราจะรู้ ถ้าแผลอย่างนี้ ถ้าขนาดนี้ มันจะเจ็บมากปวดมากอะไร เราก็รู้ เราก็พยายาม ช่วยเขา มันจะสุขุมประณีต มันจะรู้นัยละเอียดว่า เออ! มันต้องทำอย่างนี้ อันนี้แม้แผลมันมากแล้วนี่ แล้วต้องทำเร็วๆ เราก็จะรู้ว่านี่ต้องเร็ว ถ้าไม่เร็วแล้ว มันยิ่งจะเจ็บมาก หรือมันยิ่งจะทนไม่ได้ หรืออะไร ต่างๆนานา มันจะเข้าใจ มันจะทำไป เมื่อเรารู้ความจริงตามความเป็นจริงนี้มากขึ้น นานขึ้นๆ ชัดขึ้น มันก็มั่นใจ มันก็รู้ว่า เอ๊อ! มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ความที่กังวลฟุ้งซ่าน แหม! ไม่รู้จะตัดสินตรงไหน ไม่รู้จะจบตรงไหน คือญาณที่ไม่รู้นี่ มันจะรู้ขึ้น พอรู้ขึ้นๆ ทำไปเรื่อยๆ พิจารณา ไปเรื่อยๆ วินิจฉัยไปเรื่อยๆ มันก็จะค่อยๆสงบๆๆๆ จิตค่อยๆสงบ ความทำถูกต้อง ก็จะสุขุม ประณีต ยิ่งขึ้น กำลังของสติ กำลังของสิ่งที่จะรู้ จะรู้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เรียบเรียง สุขุม ประณีต ก็จะเกิดซ้อนเชิงขึ้นมาเอง ฝึกมากๆ แล้วก็พยายามปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ใช่ นักปฏิบัติธรรม ถามมาอย่างนี้นะ จะตอบยากเลย มันจะเกิดได้ตรงความที่เคยชิน เมื่อเคยชิน มันก็จะมีปฏิภาณรู้ๆๆ ไปเอง แต่ถ้าเผื่อว่ามาปฏิบัติธรรมนี่ อาตมาชี้ให้นี่ ไปเรียนรู้อ่านจิตแล้ว มันจะเร็วกว่าที่เขาไม่ได้เรียน พวกที่ไปทำงานพวกนี้ อย่างที่ถามๆมานี่ เขายังไม่ได้เรียนธรรมะนี่ เขาจะช้ากว่าเราที่มาเรียนธรรมะ เราจะอ่านจิต เราจะรู้ความจริง อ๋อ! อย่างนี้เอง แล้วมันก็จะเข้าร่องเข้ารอย สุขุม ประณีต เข้าไปได้ เร็วกว่าน่ะ เพราะเรามีความรู้ทางนี้ไปฝึกตนจริงๆ อ่านนอกอ่านใน ไม่สับสน อ่านอาการของ นามธรรม หรือ จิตวิญญาณของอารมณ์อะไรออกด้วย แล้วเราก็จะรู้ความจริงขึ้นมา แล้วเราก็จะลด อะไรควรลด อะไรควรปรับ อะไรควรไม่มี อะไรควรมี มันจะเกิดขึ้นตามสัจจะน่ะ อะไรควรมี เราก็จะมีปฏิภาณรู้ อะไรไม่ควรมี อะไรควรเร็ว อะไรควรช้า เราจะรู้ไปหมดน่ะ ค่อยๆรู้ ไปจริงๆ



ถาม ผู้ที่ไม่ค่อยมีทุนทรัพย์คือเงินมาทำบุญ มีแต่แรงกายช่วยงานวัด จะมีวิบากกรรม ที่มีโภคทรัพย์ เหมือนกับคนที่มีเงินมาทำบุญมากๆหรือไม่

ตอบ ผู้ที่ไม่มีทุนทรัพย์ มีแรงกายมาช่วยงานวัดนี่ มีบุญ มีวิบากกรรมดียิ่งกว่าคนมีเงินมาทำ แต่ไม่ออกแรงกาย เพราะว่าเงินนั้นน่ะ มันไม่บริสุทธิ์เท่าแรงของตนเองจริงๆ แรงของตนเองจริงๆนั่น มันเป็นของตนเอง ๑๐๐ % ลงแรงทำ นี่มันของตัวเอง ๑๐๐ % ส่วนเงินเอามานี่ บางทีก็ไปโกงเขา มาบ้าง ไปเอาเปรียบเขามาบ้าง มันไม่ใช่ของตนเอง ๑๐๐ % หรอก ไปเอาเปรียบเขามาบ้าง ไปเอาโกงเขามาบ้าง มันอย่างนี้เป็นต้นนะ ยกตัวอย่างง่ายๆ

เพราะฉะนั้น มันจะไม่ได้บุญมากเท่ากับแรงกายจริงๆ แต่เมื่อคนไม่มีเวลา เอาแต่เวลาไปหาเงิน ไอ้หาเงินมา บริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ ก็ได้มา มันไม่มีเวลา ก็เอาเงินมาทำบุญก่อน เอ้า! ก็ค่อยยังชั่ว ไปหน่อย เท่านั้นเอง ถ้าทั้งเงินทั้งแรงกายด้วย ก็ยิ่งสมบูรณ์หมด เมื่อเงินก็ไม่มีแล้ว เสียสละไป หมดแล้ว เงินเราก็ไม่ต้องไปหากับใครมาอีก แน่นอน คนนี้ก็ไม่ต้องมีเงินมา ทำงานเมื่อไหร่ ก็ไม่เอาเงิน แล้วมันจะมีเงินที่ไหนมาทำบุญล่ะ มันก็ยิ่งจะมีแต่แรงกาย แรงกาย ยิ่งมีความชำนาญ ยิ่งมีใจลึกๆด้วย แรงกายเท่านั้น ถ้าใจมันยังต้องการสิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนอยู่ มันก็มี ทำด้วยแรงกาย แหม! เสียสละแรงกายไปเลยนะ เป็นทาน เสร็จแล้วเราก็ยังต้องการคำชมเชย มันก็ลบค่าเหมือนกัน ต้องการอวดอ้าง ต้องการได้ยศ ได้ตำแหน่ง ทำงานนี้ก็ต้องการตำแหน่งสมภาร นะ มันก็แลกไปอย่างนั้นน่ะ ทำงานนี้ต้องการตำแหน่งเจ้าอาวาส ต้องการตำแหน่งเป็นอันโน้นอันนี้ อะไรก็แล้วแต่น่ะ ต้องไปเป็นกรรมการแน่ะ ไปโน่น มันจะเลื่อนชั้น จากกรรมกร ต้องเป็นโน่น เป็นนี่อะไร มันก็แลก โดยสัจจะมันแลกค่าลบ ด้วยกิเลสตัวอยากได้อะไรนี่แหละ มันจะลบค่าเรื่อยๆ

เพราะฉะนั้น บริสุทธิ์แรงกายก็ให้ ใจก็ไม่มีกิเลส ยิ่งสูงๆ ยิ่ง ๑๐๐ % เท่าไหร่ ก็ยิ่งมีราคาแพงๆๆ เพราะฉะนั้น ยิ่งพระอริยะทำงานยิ่งบริสุทธิ์ ค่าราคามันยิ่งแพงๆๆ เพราะแรงกายนิดแรงกายหน่อย ใจมันยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ๆ ราคามันยิ่งแพงเท่านั้นๆๆ นี่มันสัจจะซ้อน เพราะฉะนั้น คนที่ทำงาน ด้วยแรงงานนี่แหละ อย่าไปดูถูกกัน เข้าใจสัจจะให้ดี อาตมาพูดให้ฟังชัดๆแล้ว ไม่ใช่อาตมาโมเม ไม่ใช่เหตุผลตรรกศาสตร์ แต่เป็นสัจจะน่ะ ฟังดีๆ แล้วจะเข้าใจดีๆน่ะ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องห่วง หรอกว่า จะไม่มีเงินมาทำบุญ มีตัวกับหัวใจนี่แหละ โภคทรัพย์ได้น่ะ จะได้โภคทรัพย์ เป็นอานิสงส์ด้วย หมายความว่า เป็นวิบากกรรมที่เป็นกุศลวิบาก ที่.. คุณไม่ต้องห่วง ว่าคุณไม่ได้ทำ แหม! ไม่ได้เอาไก่มาถวายพระ ชาติหน้าเกิดไปแล้วจะไม่ได้ไปกินไก่ อย่าซื่อบื้อถึงขนาดนั้นเลย ไม่ได้เอาผ้าสวยๆมาถวายพระ เลยชาติหน้าเลยไม่ได้นุ่งผ้าสวยๆน่ะ อย่าไปซื่อบื้ออย่างนั้นเลย คุณค่าของกุศลวิบากที่อย่างว่านี่น่ะ มันซับซ้อน มันเป็นอจินไตยที่มันลึกซึ้ง ที่ว่าเราทำบุญด้วยกุศล ที่สะอาดบริสุทธิ์เข้าไปเท่าใดๆ สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ เหมือนกับคุณเองนี่ ยกตัวอย่าง อย่างโลกๆ ง่ายๆนะ คุณมีเงินเป็นแก้วสารพัดนึก ใช่ไหม กุศลที่เป็นกุศลสะอาด บริสุทธิ์อย่างนี้ มันยิ่งกว่า แก้วสารพัดนึกอีก คุณมีเงินเป็นแก้วสารพัดนึก คุณอยากได้อะไร คุณก็ซื้ออะไรได้หมด ฉันใด กุศลที่ บริสุทธิ์ผุดผ่องนั่น เท่ากับแก้วสารพัดนึก คุณอยากได้อะไร มันก็ได้ยิ่งกว่าคุณไปถวาย ไม่ถวายไก่ก็ไม่ได้กินไก่ ไม่ถวายผ้านุ่งดี ก็เลยไม่ได้นุ่งห่มดี อะไรอย่างนี้ มันยิ่งกว่าอันนั้นอีก เพราะแก้วสารพัดนึกนี่ มันจะซื้อผ้านุ่งห่มดี มันจะซื้อไก่ ไก่ประเภทที่ไม่ใช่ไก่ฟ่ามๆด้วย โด๊ป ๕๒ วัน แล้วเอาไปขายเป็นไก่ตอนได้ด้วย ไก่อย่างดีเลย เนื้อดีด้วย ยังได้เลย ใช่ไหม เพราะมันยิ่งกว่า แก้วสารพัดนึก แปรค่าได้ด้วยอจินไตยพวกนี้ มันเป็นกุศลที่ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ มันยิ่งมีค่าสูง หรือ มีฤทธิ์แรงมากยิ่งเท่านั้นน่ะ มันจะเป็นจริง มันเป็นสัจจะที่จริงอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น อย่าไปกังวลเลยว่า โอ๊! เราไม่มีเงินมาทำบุญ เราไม่มีข้าวของดีๆมาทำบุญแล้วนี่ เราชาติหน้า จะไม่ได้ของดีๆนะ นั่นพวกชั้นประถมเขาเรียนกัน ซื่อบื้อ ไม่ใช่อย่างนั้นหรอกนะ ฉะนั้น สิ่งที่ยิ่งบริสุทธิ์ แรงงานทางกาย แล้วก็แรงบริสุทธิ์ทางใจ ยิ่งมีค่าสูง


เวลาหมดแล้วน่ะ ยังอีกมากมาย อธิบายละเอียดๆหน่อย มันก็ได้รู้อะไร เพิ่มเติมขึ้นมาก แต่ว่าอธิบายสั้นๆ มันเวลาจะหมด เวลาหลายๆวันเข้า มันก็คงจะตีหัวเข้าบ้าน แต่ไม่เป็นไร เราได้ปลูก เราได้ปูพื้นไว้มากๆแล้ว ปลายๆมือ มันก็ไม่มีปัญหาน่ะ แต่ไอ้ต้นๆมาอีกเป็นตันเลย เอ้า! ต่อ ๑๔ วันดีไหม โอ้โห!

เอ้า! ก่อนจะลงจากที่นี่ลงไป ก็ขอให้โศลกอีก แหม! มื้อนี้ งานนี้ รวยโศลก อาตมาไม่ได้บรรยาย ธรรมะเป็นเรื่อง แต่มีโศลกนะ มีตัวโศลกตัวแน่นๆไปน่ะ

ผู้รู้สึกว่า สิ่งยาก หรือปัญหา หรืออุปสรรค เป็นความปกติ หรือเรื่องง่ายๆ ก็เพราะผู้นั้น
๑.ไม่รู้สิ่งนั้นจริง แล้วโยนสิ่งนั้นทิ้ง
๒.ผู้บรรลุแล้วในสิ่งนั้นเรื่องนั้นจริง

เพราะฉะนั้น คน ๒ ประเภทนี้ ยังจะเหลือปัญหา หรือเหลืออุปสรรค หรือ เหลือสิ่งยากอยู่

ผู้รู้สึกว่าสิ่งยาก หรือปัญหา หรืออุปสรรคเป็นความปกติ หรือเรื่องง่ายๆ ก็เพราะผู้นั้น
๑.ไม่รู้สิ่งนั้นจริง แล้วโยนสิ่งนั้นทิ้ง เพราะฉะนั้นผู้ใดที่ไม่รู้สิ่งนั้นจริง แล้วโยนสิ่งนั้นทิ้งไป ผู้นั้นก็ เอ๊ย! เรื่องง่ายๆ ปกติน่ะ แกเข้าใจว่าตัวเองปกติแล้วนะ ตัวเองง่ายๆ ไม่เห็นมีอะไรนี่ no problem เพราะโยนสิ่งนั้นทิ้ง เข้าใจไหม ไม่รู้สิ่งนั้นจริงหรอก แต่โยนสิ่งนั้นทิ้งไป ปัดสวะออกไป ก็สบายซี ปกติแล้วก็ง่ายๆ เพราะไม่ยุ่งกับสิ่งนั้น นี่ ๑. เพราะฉะนั้น สิ่งยากหรือปัญหา หรืออุปสรรคนั้นน่ะ ถ้าผู้นั้นยังไม่ทำจนทะลุ ทำจนเรียบร้อยจริงๆแล้วนะ มันก็จะมีสภาพได้ ๒ อย่างนี้แหละ เขาจะรู้สึกว่า มีสิ่งยาก เขาจะรู้สึกว่าสิ่งยาก หรือปัญหา หรืออุปสรรคเหล่านั้น เป็นความปกติ หรือเป็นเรื่องง่ายๆ ก็เพราะว่าผู้นั้นไม่รู้สิ่งนั้นจริง แล้วโยนสิ่งนั้นทิ้งไป กับผู้ที่บรรลุแล้วในสิ่งนั้น เรื่องนั้นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุแล้วในเรื่องนั้นสิ่งนั้นจริง ผู้นั้นก็จะเป็นปกติ หรือเป็นเรื่องง่ายๆ เหมือนกัน


ถอดโดย นายประสิทธิ์ ฝ่ายทอง
ตรวจทาน ๑ โดย สิกขมาตปราณี ๒๙ มี.ค. ๓๓
พิมพ์และตรวจทาน ๒ โดย นางวนิดา วงศ์พิวัฒน์ ๒๔ เม.ย. ๓๓
File 0536B.TAP