สมาธิ-สัมมาสมาธิ ตอน ๒ หน้า ๒

โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๓ เม.ย.๒๕๓๓
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ครั้งที่ ๑๔ ณ พุทธสถานศาลีอโศก


ต่อจากหน้า ๑


จะมีอุปกิเลสซ้อน มันได้ดีขึ้นมา เออ สงบได้ ทำความสงบได้ ลมหายใจออกแล้ว ก็ลมหายใจเข้า แล้วเราก็ทำความสงบได้ เราพูดถึงสภาพ สมาธิแบบฤาษีก่อน สมาธิแบบอานาปานสติ แล้วก็ดูแล้วก็ทำได้ กายดูนอกแล้ว นั่งตรงดี ไม่เอนไม่โอน ไม่ซัดส่าย ไม่วุ่นวายอะไรข้างนอก องค์ประชุมดูมันหยาบ มันก็ง่ายเข้าใจแล้ว ทีนี้ก็เข้าไปข้างใน ดูข้างในว่า เราทำได้แล้ว จุดมุ่งหมายของเราก็คือ จะสงบระงับนิวรณ์ อันนี้ ท่านไม่ได้บอกไว้ ละไว้ในฐานที่เข้าใจ เวลาเรามาทำฌาน ก็จะต้องจิตอยู่ที่ฤาษี เขาก็เอาอย่าง นั้น เอากสิณ เอาลมหายใจ ไม่ยุ่งอะไร ไม่คิดอะไร ไม่ปรุงอะไร

เพราะฉะนั้น นิวรณ์คืออะไร ไม่รู้ ใจก็คือ มาอยู่เป็นหนึ่ง กับลมหายใจ อย่าคิด อย่านึกอะไรอื่นๆ อย่างนี้ เขาก็สอนอย่างนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องฤาษี เขาก็แค่นี้ แต่ของพุทธอธิบายรอบ แม้จะไม่พูดไว้ในนี้ ก็ต้องอธิบาย ให้รู้ว่า อารมณ์ ของนิวรณ์ คืออะไร กายก็ดี แต่ก็พอรู้ล่ะ ที่จริง ฤาษีเขาก็ต้องสอนเหมือนกันแหละ นิวรณ์ ๕ กามคืออะไร พยาบาทคืออะไร ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉาคืออะไร เขาก็ต้องอธิบาย อยู่เหมือนกันแหละ อย่าให้มีอาการอย่างนั้น อารมณ์อย่างนั้น เมื่อไม่มีนั่นแหละ เราก็ว่า เราจะรู้ตัวเองว่า เราได้ดีนะ เราทำให้นิวรณ์หายไปแล้ว ว่างแล้วนะ อยู่กับลมหายใจเข้าออกอยู่อย่างนั้น โอ้ ลมหายใจเข้าออก สั้นยาวๆ อะไรก็ดู มีปีติ แล้วตอนนี้ได้ดีขึ้นมา คนที่เริ่มใหม่ๆ จะเห็นชัด คนที่เริ่มหัดใหม่ โอ้ ได้ดี มันจะดีใจ ปีติ มันได้ดี

เพราะฉะนั้น ปีติเป็นอุปกิเลส ที่มันฟูใจ ดีใจ ปลื้มใจ มันจะมีชัด คนใหม่ๆ คนที่ยังไม่เคย พอทำได้แล้ว อื้อฮือดี แล้วสุขก็จะชัด สุขนี่คือ อารมณ์สงบระงับ ไม่ใช่สุขอย่างโลกียสุข เป็นวูปสโมสุข หรือ เป็นสุขที่ปราศจาก นิวรณ์ เป็นสุขที่สงบระงับ เป็นวูปสโม หรืออุปสโม สุขอย่างนี้ เป็นปัสสัทธิ เป็นสุขที่ปัสสัทธิ เป็นสุขที่สงบ คุณก็จะได้รับอารมณ์นั้น ก็รู้อารมณ์นั้นให้ได้ ที่จริง ถ้าไปอร่อย มันเป็นเวทนา รู้สึก แต่รู้สึกสุข รู้สึกฟูใจ ปีติเป็นเวทนา รู้สึกฟูใจ รู้สึกสุข คนละเรื่องนะ ปีตินั้น เป็นฟูใจที่เราได้ดี เราได้อาการอย่างนี้ เราลดอย่างนี้ มันละเอียดขึ้นไปอย่างนี้ อารมณ์ของทางปรมัตถ์แล้ว เสร็จแล้วสุข โอ้ ว่าง เบา ง่าย สุข มันก็เป็นรสที่พอใจ อีกอย่างหนึ่ง ดีใจ ที่เราทำได้ดี รสที่เราได้เสวยอารมณ์ว่าง สุขเพราะว่างๆ ง่ายๆ เบาๆ เป็นอารมณ์อย่างไร เป็นอารมณ์ปัสสัทธิ เป็นอารมณ์สุขที่สงบระงับ วูปสโมสุข อย่างนั้นไม่ใช่สุข เพราะเราได้สมใจ ที่เราจะเสพย์โลกๆ เสพรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่จริงอันนี้ ก็เป็นสัมผัสใน สุขนี่สงบระงับ นี่ก็เป็นสัมผัสทางใน สัมผัสที่ในจิตมันว่าง สงบข้างในอร่อยยังไง จะดูดดื่ม ติดยึดยังไง เราเรียนรู้ นี้เป็นจิตสังขาร จิตสังขารนี้ เพราะว่า เราไปเอาความชอบ เราได้ดี เราก็มีความชอบที่ได้ดี ดีใจที่เราได้ดี มันก็มีกิเลสนิด ปีตินั่นแหละ เป็นอุปกิเลสเข้ามาปรุงร่วม อันนี้ให้รู้ แล้วก็เดี๋ยวจะละออก แยกให้ออก ไปติดใจที่สงบระงับ แล้วก็จะติดอยู่ที่สงบระงับนั้น ก็ให้รู้เป็นสังขาร พวกนี้เป็นจิตสังขาร

เพราะฉะนั้น จะต้องทำจิตสังขารให้สงบระงับ ปัสสัมภยัง จิตตสังขารัง รู้พร้อมเฉพาะจิตสังขาร รู้ในจิตสังขาร แล้วก็วิเคราะห์วิจัยในจิต สังขารให้ออก แล้วทำจิตสังขารให้สงบระงับลงไปอีก มันมีความดีใจมาประกอบ มีปีติมาประกอบ ก็สงบระงับ ปีติ ลดความฟูใจ ลดอุปกิเลส ที่ปีตินั่นแหละ ถึงจะเป็นฌาน ๒ ฌาน ๓ ตามที่เราเคยเรียนมา ที่เคยเรียนมาว่า เมื่อปีติสงบระงับ ก็ขึ้นสู่ฌาน ๓ ฌาน ๓ ก็ยิ่งสงบระงับ ยิ่งว่าง ยิ่งเบา ติดเข้าไปอีก ก็เป็นสังขาร ติดสงบระงับ มันก็เป็นสังขาร เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้สงบระงับกว่านั้นอีก ฟังให้ดีนะ คำว่าระงับซ้ำกันแล้ว ตอนนี้ คุณระงับปีติได้ จิตมันก็สงบ ระงับลงไปอีก มันก็ยิ่งสุข ยิ่งเบา ยิ่งสนิทเนียนลงไปอีก เป็นความปัสสัทธิ เป็นความสงบระงับลงไปอีก เป็นสุขที่สงบระงับลงไปอีก ถ้าแยกสังขาร อาการที่ติด ไปติดใจสงบระงับนี้ได้ ถ้าคุณสังขาร คุณเอง คุณมีอาการ อารมณ์ที่คุณไปชอบ จิตสังขารนี้ แล้วคุณก็อ่านไม่ออก แล้วคุณก็พยายามแยกจิต หรือพยายามทำจิตสลัดคืน หรือกลับ อย่าไปติดจิตสังขาร คุณทำไม่ออกหรอก เป็นฤาษีตายไปเลย ติดตังฝังไปเลย นี่ มันลึกซึ้งอย่างนี้

เพราะฉะนั้น คำว่าจิต คำพูด ทำจิตสังขารให้สงบระงับ ทำจิตสังขารให้ระงับนั้น แม้สุขที่นั่นเป็นปัสสัทธิ เป็นความสงบระงับ แล้วเราก็ไปติดความสงบระงับ เราต้องระงับความที่ไปสงบระงับนั้นอีก ไม่มีภาษา จะเรียก ก็คือ จะต้องไม่เอาความติดนั้น จะต้องเปลี่ยนแปลง ถ้าติด มันคืออย่างนี้ มันก็ต้องกลับแล้ว ต้องกระเด็นออก ต้องห่างออก พรากออกจาก ออกอันนั้น เป็นลักษณะของสภาวะ ภาษาไม่มี ถ้าภาษา ก็จะใช้ภาษาซ้ำ ต้องระงับ ในความระงับ ต้องระงับ จิตที่ระงับ จิตสังขารที่ระงับ คือคุณระงับปีติได้ มันชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง ทีนี้ มันระงับแล้ว คุณก็จะต้องอย่ามาติดใจในระงับนี่อีก ไม่ได้จะบอกว่าไม่ระงับ มันก็ไม่ได้อีก เพราะว่าต้องให้มันสงบกว่านั้นอีก สงบก็คือ ไม่ติดไอ้เจ้านี่ มันไม่มีภาษาเรียก แล้วอย่างนี้ เป็นต้น นั่นเป็นความลึกซึ้งขึ้นไปอีก เอาไปเลย ไปหมดทั้งจิต ทำให้มันหมดเสียก็แล้วกัน วันนี้ มันหมดไปเลย จิตตานุปัสสนา จิตตปฏิสังเวที ก็มันอย่างเก่านั่นแหละ คือ ความรู้พร้อมเฉพาะ ให้รู้จักจิต ทีนี้ศึกษาจิต พร้อมเข้าไปอีก ว่าอย่างนั้น หายใจออก หายใจเข้า นี่ ข้อ ๙. เหมือนกันหมด หายใจออก หายใจเข้า อภิปฺปโมทยํ ยังเป็นเรื่องของจิตแล้วตอนนี้ มันคล้ายๆ กับปีตินะ อภิปปโมทยัง จิตปราโมทย์ จิตปรีดี จิตปรีดิ์เปรมอะไรนี่ เราก็ทำจิตให้มันขึ้น มาจากระงับ ตอนนี้ จิตปราโมทย์ จิตยินดี แต่มันก็ไม่ใช่จิตที่ มันเหมือนปีติ เหมือนยินดีอย่างนั้นอีกแล้ว มันไม่รู้จะใช้ภาษาอะไรกัน ภาษาบาลี เขามี เขาก็เข้าใจกัน เราไม่ใช่บาลี ก็เอามาอธิบายเป็นภาษาไทย อธิบายก็ไม่ออก มันก็เอาภาษามาใช้ซ้ำ ปีติก็แปลว่า ความยินดี ปราโมทย์ ก็แปลว่า ความยินดี ไม่รู้จะเอายังไงกันแน่ เพราะภาษาไทยไม่มี แต่ภาษาบาลี เขาตั้งศัพท์เฉพาะ ไว้เลยว่า ปีติต่างจากปราโมทย์อย่างนั้นๆ แล้วต่างยังไงล่ะ มาแปลเป็นไทย ก็แปลไม่ได้ ภาษาไทย มันมีแค่นั้น เพราะฉะนั้น เราก็อธิบายเอา อย่างที่อาตมา กำลังอธิบาย ใช้ภาษาไทยอธิบายนี่แหละ

เพราะฉะนั้น เราย่อมมาทำในบทศึกษาว่า เราจะทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ (ปโมทยัง ก็คือ ทำจิตให้ร่าเริง) สำนวนพระไตรปิฎก ท่านหมายความว่า เบิกบานใจ ผู้ทำไอ้นี่มา ก็ไปค้นมาหลายตำรา ตำราพระไตรปิฎกว่า ทำจิตให้ร่าเริง ตำราโพธิรักษ์ ว่าความเบิกบานใจ คือ ทำจิตไม่ให้มันซึม ทำจิตไม่ให้ มันทื่อเข้าไป แล้วก็ให้มันติดนิ่ง แน่เข้าไปกับความระงับ แล้วก็ระงับกันต่อไปอีก ไม่เอา ทำจิตให้ฟูขึ้นมาอีก แต่ไม่ใช่ฟูอย่างปีติ เห็นไหม มันไม่รู้จะใช้ภาษาไทยว่าอย่างไร ภาษาไทย แปลว่า ความยินดี ปราโมทย์ ก็แปลว่าความยินดี มันก็ไม่ใช่อย่างนั้นอีก แหม จะพูดกับคุณว่ายังไง คือ ไม่ให้จิตมันซึม พอจะสงบ ระงับ ปีติก็คือ จิตมันฟูใช่ไหม ลักษณะหนึ่งมันฟู มันชื่นใจ มันระเริง มันก็เป็นอุปกิเลส อย่างนั้น คุณปฏิบัติแล้ว คุณก็จะรู้ เราก็ระงับอันนั้นได้ พอระงับอันนั้นได้ ก็เป็นจิตสงบระงับ คือจะไปติดระงับ ก็คือ ให้มันดิ่งเข้าไปอีก มันก็ไม่ได้ ต้องแปลจิตสังขารนั้นอีกให้มันระงับ เปลี่ยนอย่างไรล่ะ อ่านจิตนี่แหละ ในจตุกะที่ ๓ นี่ อ่านจิตนั้นอีก ดูให้มันดีๆ เปลี่ยนให้เป็นปโมทยัง ทับศัพท์มันเสียเลย

อย่าลืมว่า ปโมทยัง ไม่ใช่ปีติ ปีติเป็นอุปกิเลส เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปีติ แต่ในปีติ ถ้าเข้าใจว่า ความได้ดี ที่อาตมาพยายามใช้ภาษาไทยแล้วก็ จะไปทิ้งความได้ดีนั้น แต่ต้องทิ้งอุปกิเลส ที่เป็นอาการที่หมายเอา อะไรอีกอันหนี่งว่า ปีติ คือ ความฟูใจนั้น ที่ลิงโลด ดีใจ ยินดี ตื่นเต้นอันนั้น ระงับเสีย เสร็จแล้ว ก็ทำจิตให้มัน ขึ้นมาเบิกบาน ให้มันตื่น อย่าให้มัน ยิ่งซึมเซา อย่าให้มันตื้อ มันสงบลงไปอีก ให้ตื่นโพลง ให้เป็นจิตที่อาศัย ขนาดหนึ่ง ที่เป็นชื่นชมขนาดหนึ่ง ไม่รู้จะเอาภาษาไทยอะไร มาเรียกกันนะ ให้มันรู้สึกว่า เออ ให้มันรู้ดี ยินดี สดชื่น ขึ้นมาขนาดหนึ่งๆ อภิปปโมทยัง อภินี่ เขาจะต้องใช้คำว่า ยิ่งนะ ถ้าปโมทยัง บางทีก็คล้ายๆ กันกับปีติ ปราโมทย์ ชุ่มชื่น ยินดี ปรีดาอะไร นี่ คล้ายๆ กัน อภิปปโมทยัง ก็หมายความว่า พิเศษ อภิ มันชื่นขึ้นมา ในระดับอย่างหนึ่ง อันนี้ เป็นเจตนาของเรา

ถ้ายังฟูใจ มันไม่ได้เจตนาหรอก มันเป็นประเภทที่เรียกว่า มันลิงโลด มันเกิดกิเลส เราก็รู้ว่า มันเกิดกิเลส อุ๊ย ดีใจจริง มันก็เกิดอาการอย่างนั้น ทีนี้ พออภิปปโมทยัง เราก็ให้มันยินดีขึ้นมา ให้มันเข้าใจว่านี่ดีนะ แล้วก็พอใจ ยินดีในสิ่งนี้ อย่าเพิ่งปล่อยให้มันเฉื่อยเฉยไปเลย วางอะไรไป นั่นมันไม่ไหวแล้ว มันจะสร้างอะไร ต่อไม่ได้ ทำอย่างนี้แหละ อาตมาเคยแปลอันนี้อีก สมาทหังจิตตัง ในปทานุกรม บาลีเขาก็แปลว่าสมาธิ ซ้ำเข้าไปนั่นแหละ อาตมาก็ว่า มันจะไปทำยังไง มันวน ภาษามันวนหมดแล้ว สมาทหัง ก็แปลว่า สมาธิอีก สมาธิก็แปลว่า สมาทหัง ไม่รู้จะทำยังไง ทำจิตให้ตั้งมั่น นั่นก็คือ สมาธินั่นเอง

ที่จริง สมาทหัง เป็นจิตที่แข็งแรง ให้มันได้อย่างไหนล่ะ ได้อย่างที่เราให้เป็น อภิปปโมทยัง นั่นแหละ ให้มันสด ให้มันยินดี ให้มันรื่นเริง เบิกบานอยู่อย่างนั้น ขนาดนั้นแหละ อย่าให้มันร่าซ่า เกินกว่านั้น อย่าให้มันวูบวาบ มากกว่านั้น ให้มันได้ ให้มันเป็นฐานอาศัย ฐานอาศัยอย่างนั้นล่ะ อาตมาใช้ คำว่า จิตสด จิตหนุ่ม จิตผ่องใส ในระดับอย่างนั้น อาตมาใช้คำว่า สด หรือ หนุ่ม โดยอาตมาพยายาม ที่จะมามองที่พยัญชนะ คำว่า ทห ทห แปลว่าหนุ่ม ทหารนี่ แปลว่าหนุ่ม ถ้าอาตมาไปวิเคราะห์ แยกคำ อันนี้ออกมา ประเดี๋ยวพวกเปรียญ เล่นงานอีก เพราะเขาไม่รู้ไปเอาไวยากรณ์ เขาไปเอามาจาก รากศัพท์อะไร อาตมาไม่รู้ แล้วเขาก็จะ วิเคราะห์ว่า สมาทหัง นี่ มาจาก รากศัพท์โน่นนี่ ประเดี๋ยวไปชกกันอีก อาตมาไม่อยากจะชกกับเขา เพราะอาตมายอมแพ้แล้ว เพราะอาตมาไม่มีตำรา ไม่มีระบบ ที่เขาเรียนกันมา นานนับปี เดี๋ยวนี้ อาตมา จะไม่สอนวิชาไวยากรณ์ ไม่ได้มาสอนอักษรศาสตร์

เพราะฉะนั้น อาตมาเป็นแต่เพียง อาตมาอาศัยสิ่งเหล่านี้เท่านั้น แล้วก็อาตมาก็อาศัยที่มีสภาวะรองรับ มันมีจิตเบิกบาน ร่าเริง หนุ่ม สดใหม่ เอ๊าะอยู่อย่างนั้น จิตเอ๊าะๆ (ผู้ฟังหัวเราะ) อย่างนั้น ให้มันเป็นอย่างนั้น อยู่ต่อเนื่อง จึงเรียกว่าแข็งแรง ตั้งมั่น จะเรียกว่าสมาธิ แปลความหมายว่า ตั้งมั่น ยืนยง ยืนหยัด อยู่อย่างนั้นก็ได้ ให้แข็งแรง หนุ่ม สด แข็งแรง เอ๊าะๆ อยู่อย่างนั้น อย่างที่เราว่า ให้มันเบิกบาน ยินดีอยู่ อย่างนั้น โดยเราเจตนา โดยเรารู้ว่า ฐานนี้ เป็นฐานอาศัย จิตนี้เป็นจิตอาศัย และเราก็ไม่ต้อง ยึดมั่นถือมั่นมัน แม้แต่ที่สุด เป็นอุเบกขา เรายังไม่ยึดมั่นถือมั่น

เพราะฉะนั้น ปราโมทย์ อภิปปโมทยัง อย่างนี้ สมาทหัง อย่างนี้ เราก็อย่าไปติด ไปหลงมันไม่ได้เหมือนกัน เราทำจิตที่อาศัยของเรา วิโมจยัง เสร็จแล้ว ท่านก็เตือน วิโมจยัง จิตตัง แล้วแม้กระนั้น เราก็จะต้องเอาอาศัย แต่มีหางตระหวัดปล่อยอยู่ๆ ไม่ใช่ของเราๆๆ อย่าไปหลงติดยึดมัน แต่อาศัย เห็นไหมว่า มันอธิบายยากๆๆ พอเข้าใจน่ะ Do you understand ? Are you clear ? เข้าใจไหม ชัดเจนน่ะ คือ มันอธิบายยาก อธิบายฌาน อธิบายสมาธิ อธิบายวิมุติอะไรพวกนี้ มันเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ถ้าไม่มีสภาวะแล้วล่ะ หลงทิศ หลงทาง แล้วก็ยิ่งเอาแต่ พยัญชนะ ทุกวันนี้ อาตมา นี่ พูดกันจริงๆนะ ตอนแรกที่ อาตมาทำน่ะ มันเป็นความคะนอง ที่เขียนหนังสือ ทางเอก มันคะนองตรงที่ว่า ไอ้พวกภาษานี่ เราไม่ต้องไปเรียน เราก็ใช้ภาษาตามประสาของเรา ที่จริง คำว่าประสานี่ มาจากคำว่าภาษา ตามประสานี่ ก็คือ ตามภาษานั่นแหละ ทำอะไรตามประสา ทำตามภาษานั่นแหละ ตามภาษาของเรานั่นแหละ ภาษานี่มันบอก มันสื่ออะไร ทั้งนั้นแหละ ในโลกนี้ มันใช้ภาษา คนนี่มีภาษา สัตว์มันก็มีภาษา แต่ภาษาสัตว์มันน้อย มันไม่ฉลาดเหมือนคน คนก็มาสมมุติ หนักเข้าก็หลายชาติ หลายภาษา สมมุติกัน เข้าใจกัน จนกระทั่งปวดขมอง ทุกวันนี้ เพราะมันมีหลายภาษา จนมีคนคิดศาสนา ที่เขาคิดว่า จะต้องให้มีภาษาเดียว ศาสนาบาไฮ เขามีภาษาของเขานะ ศาสนาบาไฮ ี่เขาสร้างภาษาของเขามาภาษาหนึ่งเลย แล้วเขาจะให้ทั้งโลกนี่ เป็นศาสนาเดียวกัน แล้วใช้ภาษาเดียวกัน หมดทั้งโลก เพราะมันยุ่งกันคนละภาษานี่แหละ ขนาดภาษาเดียวกัน ยังเถียงกันเลย ป่วยการกล่าวไปใย กับคนละภาษา ฯลฯ ..

สุดท้ายอันนี้แหละ เมื่อเรารู้จักจิต รู้จักอารมณ์ต่อเนื่องมาจากเวทนา รู้จักความรู้สึก รู้จักปีติ รู้จักสุข รู้จักอะไร แล้วเราก็ต้องเข้าใจให้ได้ว่า เราจะต้องถอนออก ต้องอะไรออกนะ แต่ก็ต้องปรับปรุงจิตให้มีอภิปปโมทยัง ทำให้แข็งแรง ทำให้ตั้งมั่น ทำให้มันใหม่ สด หนุ่มสด อยู่อย่างนั้นเสมอ ทำให้เป็นอย่างนั้น อยู่อย่างนั้น อาศัย ทำให้ชำนาญ ทำให้มั่นคง ทำให้ดี ทำให้ลักษณะที่คุณอาศัย ของใครของมัน บางคนอาจจะต้องอาศัย มากๆหน่อย บางคนจะต้องเอิ๊กอ๊ากหน่อย เพราะว่า ไม่อย่างนั้น มันอ่อนไป มันอาศัยไม่ได้ เรามันหยาบ เราต้องอาศัยหยาบ คนหยาบก็ต้องอาศัยปรุง อภิปปโมทยัง นี่หยาบหน่อย ถ้าคนที่ไม่หยาบ คนที่ละเอียด ก็อาศัยละเอียดหน่อย แค่อาศัยละเอียดๆนิดๆ ชื่นนิดๆก็พอ แล้ว มันไม่มีภาษาไทยที่อื่นแล้วนะ จะว่าสด ว่าชื่นอะไร ก็ตามใจคุณนะ คุณเข้าใจว่า ทำใจเบิกบาน ทำใจสดๆ ชื่นๆนี่ มันอาศัย แต่เราทำ ไม่ใช่ว่า กิเลส มันมาเป็นเจ้าเรือนเราอยู่เหมือนกัน เรากำหนดมัน เราสร้างมันขึ้นมาอาศัย เราต้องรู้ว่า เรามีสมมุติ เรามีจิต เรามีเจตสิก เรารู้จักอาการของเจตสิก ว่ามีหยาบ มีละเอียด มีกลางขนาดไหน แล้วเราสร้าง มันมาอาศัย อภิปปโมทยัง อย่างนี้ แล้วทำให้มันเป็นขนาดนี้ล่ะ มันสด มันชื่นอย่างนี้ อย่าให้ มันวูบวาบ สมาทหัง ให้มันแข็งแรง หนุ่มสด เอ๊าะอยู่อย่างนี้ อาศัยตามที่เราอาศัย อย่าให้มันเสื่อม อย่าให้มันคลาย ให้มันสำเร็จ ที่เราเอง เราทำได้สำเร็จ แต่สุดท้าย ต้องวิโมจยัง ถึงแม้อย่างนั้น ก็จะต้องปล่อย ต้องทิ้ง ต้องอย่าไปติด อย่าไปยึด อย่าไปหลงติด อย่าไปหลงผิดว่า นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา นี่เป็นของเที่ยง นี่เป็นของวิเศษ นี่เป็นของจะติดตัว ติดตนไปนิรันดร ไม่นิรันดร

เพราะฉะนั้น แม้สุดท้าย ก็จะต้องมีความสำนึกว่า จะต้องปล่อยมัน จะต้องไม่หลงเป็นเรา ไม่หลงเป็นของเรา นี่คือ ภาคปฏิบัติ จิต เจตสิก เวทนา และเจตสิก หรือจิต สุดท้าย เมื่อคุณอาศัยฐานพวกนี้ เป็นฐานอาศัย เป็นเครื่องอาศัยในการปฏิบัติจิต จะเป็นอานาปานสติแบบฤาษี หรือ จะไปปฏิบัติแบบพุทธ แบบอะไรต่ออะไร เข้าใจความหมายพวกนี้ให้ชัด ใช้ได้หมด แม้แต่จะนั่งหลับตานี่ ก็ใช้ได้ ให้มีใจเบิกบาน สดชื่น อย่าไปห่อเหี่ยว อย่าไปแห้งจนเกินไป ให้มันมีความเบิกบาน ร่าเริงพอสมควร ไม่ใช่หลงผิดว่า เอ๊ จิตเบิกบานไม่ได้หรอก จิตต้องเฉยเลย เด๋อๆอะไร แห้งอะไร มันไม่มีกำลัง ต้องมี อภิปปโมทยังอาศัย แล้วก็ทำให้แข็งแรง จะแปลว่า ทห แข็งแรง ทหาร ทหาร ถ้าเราเคยได้ฟังภาษา ที่เขาเอามาใช้ แปลว่าหนุ่ม แปลว่า แข็งแรงอยู่อย่างนั้น ตามองค์ประกอบที่มันสมบูรณ์

อันสุดท้าย เมื่อเราใช้อย่างนี้แล้วเสร็จ เราใช้วงจร คุณภาพของการกระทำวิธี นี่เป็นความหมายของทฤษฏี ความหมายของหลักเกณฑ์ ความหมายของการทำใจในใจ เข้าใจแล้วนะ ความหมายของใจในใจ เพราะฉะนั้น กายก็ข้างนอก ที่เราทำมันก็ง่าย กายสังขาร องค์ประชุมข้างนอก องค์ประชุม ในก็เข้าไป หาในเลย เพราะฉะนั้น องค์ประชุมนอก เราจะเอาอยู่แค่ไหน ก็ว่าไป เสร็จแล้ว เมื่อสำรวมองค์ประชุม ข้างนอก ได้เรียบร้อย คุณจะเคร่งขนาดว่า กายสังขารังของเรา จะประชุมให้กายสงบระงับ พร้อมเฉพาะ ให้สงบระงับ คุณก็จะให้มันนิ่งขนาดไหนก็ตามใจ แต่บางคนไม่เคร่งครัดนัก ไม่นิ่งนัก ขยับเขยื้อนอะไร ยิ่งมาเป็นพุทธแล้ว ขยับเขยื้อนก็ได้ กายสงบระงับก็คือ อยู่ในสัดส่วนที่เราเรียบร้อย ไม่วูบวาบ ไม่กระโด๊ก กระเด๊ก ไม่โฉ่งฉ่างอะไร ให้มันดูสุขุมประณีต เรียบร้อย มันก็น่ารัก น่าเอ็นดูดีกว่า สุภาพเรียบร้อยกว่าใช่ไหม ก็เอาที่กาย ที่จิต เรามีเจตสิก มีเวทนา แล้วก็มาถึงจิต เป็นสองขั้นตอนอย่างนั้น

สรุปแล้ว มาง่ายๆ ตั้งแต่รู้จักอาการของจิต เมื่อได้ดี มันจะมีอุปกิเลส เสร็จแล้วเป็นอุปกิเลส สงบระงับลงไป เป็นปัสสัทธิ หรือสุดท้าย สงบระงับ เราจะไปหลงว่าเป็นสุข เป็นความอร่อย เป็นเวทนาชนิดหนึ่ง คือ สุขเวทนา โดยเฉพาะ สุขเวทนาที่เป็นภวตัณหา นี่เป็นสุขเวทนา ภวตัณหา สงบระงับ ไม่ใช่รสของทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ตามสมมุติที่เราชอบ แต่นี่ก็ชอบเหมือนกัน เป็นรสที่เราสมมุติ แต่มันอยู่ภวตัณหา ไม่ใช่กาม ไม่ใช่ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่ใจ ความสงบ เราก็เข้าใจ

เพราะฉะนั้น เราไม่ติดแม้แต่อารมณ์สุขอย่างนี้ เมื่อมาอ่านจิต วิเคราะห์จิตซ้อนๆๆๆๆลงไปอีก แล้วก็จะทำจิต อย่างไร เพราะฉะนั้น เมื่อจิตสังขารที่จะสงบระงับอย่างนั้น แล้วก็ไม่เอาอย่างนั้น จนกระทั่งเรามาเข้าใจ สภาพที่จะต้อง ให้มีจิตอาศัย ต้องให้มีอภิปปโมทยัง มันก็ทับศัพท์ล่ะ สุดท้าย เมื่อคุณเข้าใจแล้ว ต่อไป ในอนาคต คุณก็ไปเข้าใจเอาเอง แล้วคุณมีสภาวะ คุณจะอธิบายได้เอง บางคนจะเก่งกว่าอาตมา ใช้ภาษา ได้สละสลวย ภาษาได้วิเศษกว่าอาตมาก็ได้ ทำให้คนอื่นเขาเข้าใจ บางคนเขาสงสัย ภาษาอย่างนี้ๆ เป็นอภิปปโมทยัง แล้วทำให้มัน สมาทหัง สุดท้าย คุณจะต้องหลงไม่ได้ ต้องวิโมจยัง ต้องปล่อย คุณทำอย่างนั้น แหละ ให้รู้จักกิเลสตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด

สรุปเข้าไปหาก็คือนิวรณ์ นอกจากนิวรณ์ ก็มีอุปกิเลส แล้วก็มีการทำใจในใจ อย่างที่กล่าวไปนั่นแหละ เวทนานุปัสสนา แล้วก็จิตตานุปัสสนา อย่างนั้นแหละ เมื่อคุณทำแล้ว คุณก็จะเห็นความจริงว่า อะไรๆ มันก็ไม่เที่ยง จะทำให้มันเที่ยงยาก โดยเฉพาะ เจตนาที่จะทำให้ดีๆ เหมือนอย่างกับที่เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา นี่ นั่งหลับตาทำนี่แหละ ก็จะยาก จะเห็นความไม่เที่ยง โอ้โฮ ความไม่เที่ยง มันยากหนอ แล้วคุณก็จะซึ้งความจริงว่า อนิจจานุปัสสี นั้นอย่างหนึ่ง

ความหมายอีกอย่างหนึ่ง ดูไปนะ ในหนังสือน่ะ อาตมาไม่อ่าน อธิบายไปเลย ไม่ต้องอัสสสิสสามีติ ปัสสสิสสามีติ อะไรอยู่อีกนะ อธิบายไปเลย เพราะฉะนั้น ในอันนี้ จะเห็นอนิจจัง จุดหมายก็คือว่า จะเห็น ตามรู้ ตามเห็น ซึ่งความไม่เที่ยง อนุปัสสี ตามรู้ ตามเห็น ตามเห็น ไม่ใช่รู้ล่ะ ปัสสสิสสามีตินี่ ปัสสะนี่ เห็น เห็นของจริงตามความเป็นจริง ด้วยญาณ ไม่ใช่เอาลูกตาเข้าไปเห็น ใครอย่าไปม้วนเอาลูกตา เข้าไปข้างในนะ ตามันก็อยู่อย่างนั้น หลับแล้ว มันมีญาณเห็น เห็นว่าความไม่เที่ยงคืออะไร เราพยายามทำ อย่างนี้แหละ ทำให้เวทนามันเป็นอย่างนี้ ทำให้จิตตานุปัสสนา เป็นอย่างนี้ มันก็ยาก มันไม่เที่ยง นั่นหนึ่ง

๒. ให้กิเลสมันออกไป แหม มันก็จะออก มันก็ไม่ค่อยจะเที่ยงอยู่เท่าไหร่น่ะนะ หรือเราเอามันออก นี่แหละ มันชัดเจน อาตมาเคยอธิบายกิเลสเรา ก้อนนี้ ถ้าตีราคาว่ามันร้อย ก้อนนี้นี่ ร้อยหน่วย เราทำให้มันลดลงได้ๆ นั่นแหละ มันไม่เที่ยง หรือร้อยหน่วย เสร็จแล้ว เราไม่ได้ทำลดหรอก แล้วไม่รู้ตัว มันก็โตขึ้นๆ จากร้อย เป็นร้อยห้า ร้อยสิบ ร้อยยี่สิบ มันก็ไม่เที่ยง ไอ้ไม่เที่ยงแบบนี้ กิเลสโตขึ้นๆ แล้วเป็นยังไง เจริญไหม

ตอบ ไม่เจริญ ลูกผี ผีโตขึ้น มันไม่เที่ยง ไม่เที่ยงอย่างนั้นน่ะ เรามาเป็นนักศึกษา เราต้องรู้ จะต้องให้ยูนิตเที่ยง เมื่อกิเลสลดลงๆๆ กิเลสลดลง นั่นแหละ เป็นผลสำเร็จของเรา เสร็จ เรา เราทำลายความไม่เที่ยงได้ เราทำความไม่เที่ยงได้นะ เหมือนพระเจ้าไหม กิเลสนะ มันจะเที่ยง คือมันจะไม่ลดลง ภาษา สองภาษา นี่เวลาลึกซึ้ง เวลาไอ้สิ่งที่มันยาก แล้วมันซับซ้อนอย่างนี้ มันไม่เที่ยง เพราะกิเลสมันเข้าเพิ่มขึ้น มันไม่อยู่ อย่างเก่า มันไม่เที่ยง มันไม่ตรง ไปอยู่อย่างเก่า กิเลสมันเพิ่มขึ้น แล้วมันก็เที่ยง ตรงที่มันไม่ตีแตกเลย มันจะมีแต่ โตๆๆๆ มันไม่มีลด มันเที่ยงนะ มันใหญ่ขึ้นเรื่อยเลย มีแต่กิเลสใหญ่ขึ้นเรื่อย

เพราะฉะนั้น เราต้องตีให้มันแตก มันไม่เที่ยง ให้มันลดลงๆๆ เห็นอนิจจัง ตรงที่มันลดลง เพราะความสามารถ ของเรา ลดลงได้มากเท่าใดๆ ก็ไม่เที่ยงเท่านั้น ยิ่งลดลงจนกระทั่งถึงสูญเลยนี่แหละ เด็ดขาด ทำลาย ความไม่เที่ยงมันได้ จนกระทั่งมันเที่ยง จนกระทั่งมันเห็นชัดเจนเลยว่า แกหมดแน่ๆ หมด อย่างแข็งแรง หมดอย่างถาวร หมดอย่างมั่นคง หมดอย่างจริงๆจังๆ เลย อย่างชัดเจนจริงๆเลย ต้องเห็นแจ้ง รู้จริง เข้าไปให้ได้ นี่คือ อนิจจานุปัสสี ไปหาวิราคานุปัสสี ไปหานิโรธานุปัสสี อธิบายจบแล้ว

พอเราเห็นความไม่เที่ยงแล้ว เราก็เห็นความจางคลายลงไปได้ เพราะว่ากิเลสมันคลายความกำหนัด ในนี้ มีหมายเหตุให้ฟังด้วยว่า ในพระไตรปิฎก เขามีหลายเล่ม แล้วแปลกันหลายสำนวน พระไตรปิฎก บางสำนวน เขาก็แปลว่า ความจางคลาย บางสำนวนเขาก็แปลว่า ความคลายกำหนัด นี่ยังไง มีฟุตโน๊ต หน้า ๑๑ ฟุตโน๊ต หมายเลข ๒ นั่น บอกว่าความจางคลาย วิราคานุปัสสี วิราคา บางสำนวน เขาก็แปลว่า จางคลาย บางสำนวน เขาก็แปลว่า คลายกำหนัด ก็คือ มันลดกิเลสนั่นเอง จะแปลอีกสำนวนหนึ่งว่า กิเลสมันอ่อนตัวลง มันจางลง มันคลายลง มันน้อยลง มันก็เป็นความหมาย ที่คุณฟังเป็นภาษาไทย ก็เข้าใจได้ เห็นความจริงว่า มันคลายลง มันจางลงมาแล้ว มันยังไม่หมดนะ ยังไม่ถึงนิโรธ นี่ มันขั้นต่อมา มันยังไม่ถึงนิโรธนั่นเอง ขึ้นจากเห็นอนิจจัง แล้วก็เห็นความจางคลาย วิราคานุปัสสี อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสีลงมาเรื่อยๆ เห็นบ้างไหม
Š ตอบ ไม่ค่อยเห็น
ถาม เห็นบ้างไหม
บั้งเดียว สิบตรี ถ้าสองบั้ง สิบโท สามบั้ง สิบเอก เรามาเรียนแล้ว ต้องเห็นนะ ไม่เห็น คุณปฏิบัติธรรมอย่างนี้ คุณไปไม่รอด คุณไม่รู้ไม่เห็น ไม่เกิดญาณ ไม่เข้าใจเลย นี่ของเราเองน่ะ อ่านไม่ออก ปฏิบัติไม่รู้ไม่ได้ ต้องได้ ต้องรู้ ต้องเห็น เออ มันจางคลายลงนะ ด้วยเหตุไหน ปัจจัยไหน ก็แล้วแต่ คุณจะศึกษา ต้องเห็น เออ มันจางคลายลง มันเบา มันอ่อนลงนั่นแหละ เห็นวิราคานุปัสสี ในระดับวิราคา วิราคานุปัสสี มันจางคลายลง ลงได้มากๆๆๆๆ จนเหลือน้อยๆไปเท่าไหร่ ก็คือ วิราคานุปัสสี ดียิ่งขึ้นเท่านั้นเอง นี่ฐานที่ ๒.ในข้อที่ ๒.

ข้อที่ ๓. ก็นิโรธานุปัสสี ดับหมด จางคลายจนกระทั่งหมดกิเลสดับกิเลส ในนี้ก็มีฟุตโน๊ตมาอีกว่า ดับกิเลสบ้าง ดับไม่เหลืออยู่บ้าง ในเนื้อนี่ เอา เนื้อหานั่นรวบรวมมา เอาสำนวนว่า เราตามเห็น ซึ่งความดับไม่เหลืออยู่ เป็นประจำ เห็นอยู่ เออ เมื่อไหร่ๆ ก็ตามเห็น ตามดู มันไม่เหลือแล้วหนอ เห็นเมื่อไหร่ คุณก็ตรวจตราดูประจำ เห็นเรื่อย ก็คุณก็เห็นของคุณเอง นิโรธานุปัสสี ตามเห็นความดับไม่เหลือ ตามเห็นความดับสนิทก็ได้ ความดับกิเลสก็ได้ ความดับอานุสัยอาสวะ ก็แล้วแต่คุณจะเข้าใจ เห็นของจริงตามความเป็นจริง อย่างนั้น

ทีนี้ อันที่สุดท้าย ปฏินิสสัคคานุปัสสี นี่ล่ะ อาตมาว่า เขาแปลกันมาว่า โดยความไม่รู้ โดยความไม่จริง มันค้านแย้ง เรามีสภาวะต่างคนต่างมี อาตมาว่า อาตมามีสภาวะ ส่วนภาษานั้น ต่างคนต่างมาเข้าใจๆ ปฏินิสสัคคานุปัสสี เขาก็แปลว่า สลัดคืน อาตมาก็ฟังภาษารู้ สลัดคืน ในนี้เขาแปลว่า ความสลัดคืนกิเลส ก็มันทิ้งไปจนหมดแล้ว สลัดคืนไป ยังวนกลับมาภาษาเก่า สลัดคืนกิเลส มาคืนทำไมเล่า ก็มันดับไปอยู่ในตัว ไม่ต้องคืนอะไรแล้วนี่ แสดงว่า ความสลัดคืนกิเลส แปลโดยที่เรียกว่า เอาเถอะ อย่างน้อย เอาคำว่ากิเลส มาสลัดคืน มันก็ไม่ผิดล่ะนะ แต่มันไม่ใช่ขั้นตอน แล้วนี่ขั้นตอนมันดับสนิทไปแล้ว คืนไปจนเกลี้ยงแล้ว ยังมาคืนอะไรอีกล่ะ จะแปลว่าคืน ว่าสลัดคืนกิเลสก็ได้ กลับคืนไปเอากิเลสมาใหม่ จะแปลว่าอย่างนั้นก็ได้ ไปเอากิเลสมาใหม่ เอ้า จริงๆนะ แต่กิเลสนี้ คุณสละได้แน่หรือยัง ดับได้เด็ดขาด มีอาญาสิทธิ์แล้วหรือยัง ถ้ามี อาญาสิทธิ์แล้ว เราก็อยู่เหนือมัน

เอามันมาใช้ๆ เอามาใช้ แต่คุณต้องแน่ใจนะ เอามันมาใช้แล้ว มันไม่กลับ เห็นไหม พวกคณะละครสัตว์นั่น เอาเสือมาเล่น เอาเสือมาใช้ วันนั้น มันซัดเอาเสีย มันตะครุบเอาซะ มันกัดเอาซะ แน่ไหมว่า มันจะไม่กัดคุณ คุณอยู่เหนือมันแน่ไหม ต้องเหนือจริงๆ ต้องแน่จริงๆ แล้วเอามันมาใช้ ต้องเอามาใช้ ที่จริงแล้ว กิเลสที่ว่านั้น มันก็เป็นสมมุติสัจจะ ในโลกนั่นแหละ สมมุตินั่นแหละว่า เราไปมีอย่างนั้น ไปเป็นอย่างนี้ ไปอะไรอย่างนี้ กับเขานั่นแหละ แต่เราไม่ได้เป็นเราหรอก เราไม่ได้เสพย์ ไม่ได้เสวยหรอก มันซ้อนเชิง มันไม่มีภาษา จะอธิบายเลย มันลึกซึ้งขึ้นมาแล้ว ไม่มีภาษาจะอธิบาย แต่คนข้างนอกเขาดูเหมือนกับเขานี่ กลืนน้ำลายแล้ว ดูซินี่ ว่าไม่แล้ว นี่ไม่ใส่รองเท้าได้แล้ว ไปเอารองเท้ามาใส่อย่างนี้ ถือว่าตกต่ำ นี่สกุลเมืองว่า แหม พวกนี้ ไม่ได้เป็นพระโสดาบัน กินมังสวิรัติได้แล้ว กลับคืนไปกินเนื้อสัตว์อีกอย่างนั้นไม่ได้ เวียนคืนอย่างนี้ตกต่ำ นี่เวียนไปสู่ต่ำ ก็จริงของเขาน่ะ ภาษา ทีนี้ เราย่อมรู้ตัวเราว่า เราเอง เราจะทำอย่าง ไร เราจะทำเพื่อเขา หรือว่าเราเอง แอบเสพย์นี่ ตัวนี้ ความจริงอยู่ที่ตรงนี้ สัจจะ ถ้าคุณแอบเสพย์ คุณก็หลอกคนอื่นเขาไป แอบเสพย์ไป แล้วเป็นอย่างไรล่ะ แล้วเมื่อไหร่ จะหมดสักทีล่ะ คุณก็แอบเสพย์ของคุณไปอยู่อย่างนั้นล่ะ ก็เรื่องของคุณล่ะ คุณไม่ซื่อสัตย์ ไม่สุจริต ไม่เอาจริง ก็เรื่องของคุณ เป็นความซวยของคุณ แต่ใครไม่แอบเสพย์หรอกนะ จริงๆเลย แล้วอนุโลมกับคนอื่น ปฏินิสสัคคานุปัสสี อนุโลมกับคนอื่น อนุโลม ปฏิโลม เพื่อผู้อื่น

สรุปง่ายๆ ก็คือ การสลัดคืนเพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เรื่องเล่น แล้วไม่ใช่ว่า จะมีญาณรู้ตัวเองได้ง่ายๆ ว่าเรา แล้วจริง หรือเปล่า เพราะฉะนั้น อย่าพึ่งไปประมาทว่า เราหมดแล้ว เราสลัดคืนได้แล้ว เอาเถอะ เรากลับไปเถอะ เพื่อผู้อื่น แต่ที่แท้ เราก็ยังไม่มีญาณรู้ว่า เราแอบเสพย์ กว่าจะรู้ก็โอ้โฮ แบบที่ควั่นเชือกหนัง นั่นแหละ หมามันกินอยู่ใต้ถุนหมด นึกว่าเราได้ยาวแล้ว เอาขึ้นมาดู เอ้า ทำไมมันอยู่เท่าเก่าล่ะ ทำไมมันแค่นี้ล่ะ ปรากฏว่า ข้างหลัง มันมีหมาแอบเสพย์ หมาอ้วนเลย หมาตัวนั้นอยู่ที่ใคร กูเอง หมาตัวนั้น อยู่ที่ใคร กูเอง

นั่นแหละ ต้องรู้ตัวเอง ต้องรู้ตัวเองๆ เพราะฉะนั้น คนที่จะสลัดคืน จึงเป็นสภาพที่ยกไว้ ยกสมมุติให้แก่ผู้ที่ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านถึงมีวินัย ว่าจะต้องพยายาม พระอรหันต์บางรูป ท่านเอง ท่านละเมิด นั่นๆนี่ๆอะไร ของท่านนี่ ต้องอย่าไปถือสาท่าน ต้องประกาศ อันนี้ต้องยกสมมุติให้ท่าน เราอย่า ไปเอาอาบัติ อะไรท่าน อย่างนี้ เป็นต้น เพราะว่า บางสิ่ง บางอย่างนี้ เราไม่รู้เท่าท่าน ท่านเอง ต้องแน่ใจของท่าน ว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านซวยก็ซวยของท่านเอง อันนี้ ต้องของตนเอง ถึงว่าญาณที่ละเอียดลึกซึ้ง มันจะ ต้องซื่อสัตย์ สุจริตต่อตัวเอง มันต้องแยบคาย ต้องศึกษา อย่าประมาท คำว่าประ มาท เป็นคำเดียว

อือ ใช่ วินัยใหญ่ๆ คุณจะไปละเมิดสังฆาทิเสส ละเมิดอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา พระอรหันต์ ท่านไม่ทำหรอก ยังสังฆาทิเสส ถ้าไปต้องกายหญิง ไปจับต้องกายหญิง ด้วยความกำหนัด มันต้องมีคำว่า ความกำหนัด ด้วยนะ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความกำหนัด ไปจับต้องกายหญิง ก็ไม่สังฆาทิเสส ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ยกไว้ เป็นพระอรหันต์ไปจับ ไม่ยกเว้นเลย ไม่ยกเว้นเลย

เพราะฉะนั้น เมื่อสวดประกาศว่านี่พระอรหันต์ อย่าไปเอาผิดท่าน ถ้าเราแน่ใจว่าท่านเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องให้ท่านแล้ว แต่ถ้าไม่ยกเว้น ให้เป็นพระอรหันต์จับได้ ยังไม่ได้สวดประกาศกันเป็นพระอรหันต์ จะบอกว่า เฮ้ย ไปแตะต้องกายหญิง เราไม่มีกิเลสหรอก ไม่สังฆาทิเสสไม่ได้ ต้องเอาสังฆาทิเสส อย่างนี้ เป็นต้น ต้องเอา ใครจะไปรู้ใจใคร ไปนั่งหลอกลวงซ้ำ ไม่เอาละ เพราะฉะนั้น เดินตามวินัย เดินตามวินัย

นี่เป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องหลากหลาย วันนี้ ตั้งใจฟังก็จะได้ ต้องรู้พวกนี้ซ้อน แล้วทีนี้ จากวันนี้ไปพรุ่งนี้ มะรือนี้ ก็จะได้ทบทวน คุณยังไม่รู้ไปอ่าน ทบทวน แล้วก็จำภาษา แต่อาตมาอาจจะอธิบายยืดๆยาดๆ แปลเป็นภาษาไทย วนไปวนมา เอาภาษา เอาคำนั้น คำนี้ ของภาษาไทยมาซ้อนบ้าง เราถือว่าเราเป็น นักศึกษาขั้นเทคนิคแล้ว จะต้องใช้ Technical Term เป็นนักศึกษา ในระดับขั้นเทคนิค แล้วจะต้องรู้ภาษาเทคนิค เพราะฉะนั้น จะใช้ภาษานี้เลยทับศัพท์

เอ้า ปัสสัมภยัง กายสังขารัง ทำความสงบระงับด้วยกายสังขารเรานั่นแหละ ตั้งกายตรง ดำรงสติคงมั่น หลังตรง คอตั้ง ตาอย่าตก แต่หลับซะ อะไรอย่างนี้ พอต่อไป จิตตสังขารัง

ปัสสัมภยัง จิตตสังขารัง หรือว่า เอ้า ปโมทยัง อภิปปโมทยัง มันห่อ มันเหี่ยวแล้ว บางคนนี่ มาถึงข้างนอกเลย ไม่ใช่เหี่ยวแต่เฉพาะจิตตสังขารัง มันออกมาถึงกายสังขารังเลย เอ้า ไอ้นี่ ไม่ใช่กายห่อเหี่ยวอย่างเดียวแล้ว อย่างนี้ มาจากจิตแล้ว มาจากจิตแล้ว อภิปปโมทยัง อภิปปโมทยังขึ้น เอ้า ให้ชื่นขึ้น สดชื่นขึ้น แข็งแรงขึ้น มาหน่อย สมาทหังๆ หนุ่มขึ้นหน่อย จะใช้ศัพท์พวกนี้ เราจะเข้าใจขึ้นมาว่า มาใช้แทนอะไร ทำให้สมาทหัง อภิปปโมทยังให้ดี หรือแม้แต่จะสงบระงับ จิตตสังขารต่างๆ หรือขั้นจะสงบระงับสิ่งที่ มันสงบระงับถึงขั้นสุข ก็เตือนกัน ระวัง จิตสงบระงับเกินไป แล้วก็ไปติดสุขนี่ ไม่รู้จะพูดยังไง แล้วไปติดสงบอย่างไร สงบระงับนี่ แล้วมีสำนวนของพุทธด้วยว่า ยังจิตผู้ยินดี ในความสงบนั้น ย่อมเป็นผู้ที่ดีแล้ว จิตโน้มน้อม จิตยินดี ในความสงบระงับนั่นน่ะ มันก็ดีแล้วล่ะ

เห็นไหม ภาษา พอเวลามันใช้ ในกาละแต่ละกาละ เราต้องรู้ ในกาละที่จะต้องสลัดคืนในกาละ จะบอกว่า สลัดคืนก็ได้ จิตสงบระงับนั้น แล้วเราก็สลัดคืน แล้วก็สงบระงับ นี่ก็เป็นปฏินิสสัคคานุปัสสี อีกอย่างหนึ่ง สงบระงับ เอาละ เราทำจิต สงบระงับได้ แล้วเราก็อย่าไปติด ไปแช่ไปหลง อย่างนั้นไม่ได้ ต้องทำจิตปล่อยอยู่ หรือสลัดคืนออกมา มันจะคล้ายกัน วิโมจยัง กับ ปฏินิสสัคคานุปัสสี สลัดคืน มันจะคล้ายกัน มันปล่อย มันมีลักษณะมากหรือน้อย ให้ชำนาญ ทำมาก หรือน้อย แรกๆ เราอาจจะต้องทำมากหน่อย จัดๆหน่อย แล้วเนียนเข้าไปเรื่อยๆ พูดก็เป็นภาษาหยาบ อธิบายเป็นรูป ก็ดูเหมือนรูปหยาบๆ แต่จริงๆแล้วลึกซึ้ง เนียนในอย่างนี้ วันนี้ หมดเวลาแล้ว ไม่ได้พานั่ง แต่ว่าอธิบาย ติดต่อเนื่องกันซะ มันจะได้เข้าใจ เพราะว่า มันยาก ในระดับของจิต เจตสิก ในระดับของ ปรมัตถธรรม เพราะฉะนั้น ตอนแรกน่ะกาย เมื่อวานนี้ พูดถึงกายเท่านั้น ซึ่งกายก็พอแยกได้ แต่พอถึงจิต เวทนา จิต ถึงธรรมะ ในระดับจิต อย่างนี้ มันจะยากน่ะ ก็ได้อธิบายแล้วเรียบร้อย

สำหรับวันนี้ ยังไม่ได้นั่งก็ไม่เป็นไร พรุ่งนี้ นั่งแล้วก็พูดถึงศัพท์พวกนี้ ใครจะทบทวน แล้วก็ค่อยๆพูด ทบทวนไป ก็พอระลึกรู้ เข้าใจกันได้หรอก เอ้า วันนี้ พอก่อน

สาธุ


ถอดโดย นายทองอ่อน จันทร์อินทร์ ๑๑ พ.ค.๒๕๓๓
ตรวจทาน ๑. โดย สม. ปราณี ๑๒ พ.ค.๒๕๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา
ตรวจทาน ๒. โดย โครงการถอดเท็ปฯ ๑๕ พ.ค.๒๕๓๓
FILE:0663B.TAP