สมาธิ และสัมมาสมาธิ ตอน ๔
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์

เนื่องในงานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๑๔
ณ พุทธสถานศาลีอโศก
เมื่อ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๓


เรามาทบทวนการเป็นคนว่าง่ายอีกเที่ยวหนึ่ง การเป็นคนว่าง่าย เมื่อถูกว่า ถูกกล่าวอะไรก็แล้วแต่
๑. ไม่กลบเกลื่อน
๒. ไม่อยู่นิ่งเฉย
๓. ไม่มีจิตเพ่งโทษผู้ว่ากล่าวสั่งสอน

อันนี้ต้องพยายามระลึกจริงๆ ไม่เช่นนั้นแล้ว เราก็ไม่ค่อยจะรู้ตัว มันถือตัวถือดี มันเป็นกิเลส มันเป็นจริงๆะ ยิ่งอายุมากกว่าบ้าง มาก่อนบ้าง หรือถือตัวว่าเรา มีความสามารถมากกว่าบ้าง เราดีกว่าอะไรก็แล้วแต่เถอะ มันถือไปทั้งนั้นละ มันลำบาก ถ้าเผื่อว่าเราเอง เราไม่พยายาม ที่จะศึกษาแล้ว แล้วมันก็ช้า แล้วมันก็เห็น...มันเป็นจริงๆ มันเป็นลักษณะบกพร่อง เป็นลักษณะยังไม่เจริญ เป็นลักษณะที่ยังไม่เป็นกุศล เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามจริงๆ ไม่กลบเกลื่อน มันหาเรื่องกลบเกลื่อน ต้องระลึกดีๆ มันหาเรื่องกลบเกลื่อนจริงๆ ฯลฯ..

เมื่อถูกเตือนแล้ว นอกจากเราจะไม่กลบเกลื่อน เห็นจริงแล้ว ก็ไม่นั่งเฉย อะไรที่มันควรแก้ แก้ อะไรที่มันควรปรับ ปรับ อะไรที่มันยังไม่ดีขึ้น อะไรที่มันจะต้องทำให้ดีขึ้นจริง ต้องรีบทำ ไม่อยู่นิ่งเฉย แล้วก็อย่าไปเพ่งโทษ ผู้ใดเขาจะเตือนจะติงเรา เอาละคนไหนอาจจะมีนิสัยจริตเตือน ก็เตือนซะแหม ! เตือนแต่ละทีเอาจะเป็นลม เตือนแต่ละครั้ง หนักแรงอะไรก็ตามแต่เถอะ ก็อย่าไปเพ่งโทษ เออ...คนนี้นี่ คงจะมีแต่ปางบรรพ์ หมัดหนักมาแต่ปางบรรพ์ คงได้ซักซ้อม ไว้หลายร้อยชาติ ที่พูดนี่ก็ไม่ใช่ว่าไปประชดอีกนะ เรานึกด้วยความกลางๆ ใจกลางๆ ต้องหัดเรื่องการฝึกจิตฝึกใจ ต้องหัดจริงๆ ต้องรู้จริงๆเลยว่า เราเอง มันมีเห็นมั้ย นิดๆหน่อยๆ มายๆอะไร จะเห็นได้ว่า มันละเอียด สุขุม ประณีตจริงๆ เราก็นึกจริงๆว่า เออ ! คงจะเป็นนิสัย ว่าชัดๆ เป็นสันดาน เป็นสันดานของเขา หรือว่ามันวาสนาของเขา มันติดตัวมาก็ได้ เราก็เข้าใจให้มันจริง อย่างนี้วางใจไม่ต้องไปเพ่งใคร ไม่ต้องไปอะไรเขาจะเตือนเรา อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ต้องไปบอกว่า ทำไมต้องอย่างนี้ อย่างนี้ก็ได้ ไม่ต้องอย่างนั้นหรอก ไม่ต้องไปพูดอย่างนั้น ก็เขาเป็นอย่างนั้น ก็ค่อยๆพูดกัน ทีหลังบอก โอกาสมีเวลาดีๆบอก ถ้าเราสังเกตแล้ว เห็นว่า เขาพูดอย่างนี้เป็นอย่างนี้ อยู่ประจำ หรือว่านานๆเป็นที เราก็ต้องรู้แล้วว่าเป็นกิเสสของเขา ไม่ใช่เป็นอย่างนั้นเสมอไป เรียกว่า ไม่ใช่นิสัย ไม่ใช่วาสนา นานๆเป็นที บางทีมันเป็นกับเราเท่า นั้นแหละ ทีคนอื่นนี้ แหม ! หวาน ทีคนอื่นนี้เพราะ พอทีกับเรา เอ๊ ! ทำไมเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องเอ๊ะ ! หรอกน่ะ มันจะเป็นกับเรา อย่างนี้แหละ เราก็รู้ว่า เออ ! เขาอย่างนี้กับเรา เราจะรู้ความจริงทั้งนั้นๆเลย

เพราะฉะนั้น ในเรื่องความจริงเหล่านี้ต่างๆเราศึกษาความจริง แล้วก็รู้จักทีรับเป็นวรยุทธ์ เป็นความฉลาด เป็นความเข้าใจ ทุกอย่างมีแต่ดี ถ้าเราเข้าใจแล้ว เรารู้จักทีรับทีรุก รุกก็รุกอย่างไม่ใช่รุกอย่างนักมวย หรือว่านักอะไรจนเกินการหรอก เราไม่มีจิตเพ่งโทษ มีอะไรเราก็รับรู้รับปรึกษา เราจะเข้าใจ ความจริงหลากหลาย ความจริงนานาในมนุษย์ จริตนิสัย พฤติกรรม ไอ้โน่น ไอ้นี่ อะไรต่ออะไรต่างๆ กาย วาจา ใจของคนเราจะได้รู้ แล้วเราก็จะเป็นผู้ฉลาด ถ้าเรารู้คนนี้อย่างนี้ คนนี้อย่างนี้ คนนี้อย่างนี้ แล้วเราจะรับกับผู้นี้ เราจะมีการสนองตอบอย่างนั้น อย่างนี้อย่างไร ที่จะเป็นประโยชน์ดีเกื้อกูลกัน บางทีเราจะพาซื่อว่า เราไม่มีอะไรสนองตอบเลย ซักอย่างเลย มะลื่อทื่อหมดเลย มันก็ไม่ได้ อาจจะต้องตอบบ้าง ในสภาพที่ตอบอย่างดี เขาว่าเรามาแรง เราว่า เอ๊! น่าจะบอกให้เขารู้บ้าง หรือว่าก็น่าจะตอบเขา ให้เขาได้รับผลกระทบ อย่างหนึ่งบ้าง ก็ดีเหมือนกัน ถ้าเราสามารถที่จะมีการสนองตอบนั้น อย่างมีการประมาณได้ ในกายกรรม วจีกรรม ซึ่งมาจากมโนนั่นแหละ จะออกไปอย่างดี อย่างพอเหมาะ ก็เกิดประโยชน์ แก่กันและกัน มีปรารถนาดีแล้วก็พยายามเรียนรู้ แล้วก็ประมาณ ประมาณกาย วาจา ใจ ตอบกันไป ให้ได้ประโยชน์ทั้งสองส่วนสองด้าน อย่างนี้ มันก็เกิดความเจริญเร็ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่อาตมาพูดนี่ รู้สึกว่ามันเป็นคำพูดง่ายๆ แต่ว่าเวลาฝึกจริงไม่ใช่ง่ายๆ ไม่เพ่งโทษจริงๆ และเอื้อเฟื้อต่อคำสอน และต่อผู้สอน ผู้ที่เขาสอน ผู้ที่เขาติง ผู้ที่เขาเตือน ผู้ที่เขาว่ากล่าวอะไร ก็แล้วแต่ เราต้องเอื้อเฟื้อช่วยเหลือ ให้คำสอน ช่วยเหลือให้สิ่งที่เขาได้ติง ได้เตือนนั้น ที่จริงถูกต้องนั้น ให้เป็นจริงขึ้นมา เรียกว่าเอื้อเฟื้อต่อคำสอน แต่ถ้าเผื่อว่าไม่เป็นจริง ก็แล้วไป เราก็ย่อมไม่ทำละ ทั้งๆที่เห็นว่ามันดีอยู่ แต่เขาว่าเสียแล้ว เราจะไปแก้ไขให้มันเป็นไป ตามเขาว่า มันก็ไม่ได้ อย่างนั้นมันก็แน่นอนละ แต่ถ้าเผื่อว่า มันจริงตามที่เขาว่า เราก็ต้องแก้ไข อย่างนี้เราต้องเอื้อเฟื้อให้มันเป็นจริงให้ได้ ต้องเห็นใจเขาด้วย ต้องเข้าใจว่า เขาปรารถนาดี มันไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร เป็นเรื่องเจริญด้วยกัน

เคารพต่อคำสอนต่อผู้สอน ขอบคุณ เคารพ คารวะว่า เออ ดีนะ เขามีสิ่งดีๆ มาแจ้งแก่เรา บอกแก่เรา มาเตือนเรา มาแสดงเรา มาแนะนำเราอะไรต่างๆนานา นอกจากเคารพแล้ว ก็มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน เรื่องความเคารพ ถ่อมตนนี่ เป็นเรื่องใหญ่ๆนะ เป็นเรื่องใหญ่ ใหญ่ในมนุษย์ ฯลฯ..

ต้องมีความยินดีนะ ข้อต่อไป

ข้อ ๔ เอื้อเฟื้อ
ข้อ ๕ เคารพต่อคำสอน
ข้อ ๖ มีความอ่อนน้อม

๗. มีความยินดีปรีดาต่อคำสอน จิตใจเราก็จะต้องจริงใจ ต้องรู้สึกว่า เออ! ก็ยินดีนะ แม้เขาจะด้วยโกรธ อย่างที่เคยยกตัวอย่างแล้วว่า พ่อแม่อย่างนี้เป็นต้น ดุ ว่าติเตียน อะไรต่ออะไรต่างๆ นานา เวลาติเตียนอะไรต่างๆ บางทีก็โกรธ ประกอบเข้าไปด้วยอะไรก็เถอะ เราก็ต้องรู้สึกมีใจว่า เออ ! เขายังรักเรา เขาปรารถนาดีต่อเรา มีความยินดีในสิ่งที่เขาจะติเตียน หรือ อะไรต่ออะไรแก่เรา จะดุเราว่าเราอะไรก็แล้วแต่ จะต้องพยายามเข้าใจความปรารถนาดีเหล่านั้น แม้ว่ามันจะมีอารมณ์โกรธ มีความดุดัน มีเรื่องราวอะไรที่รู้สึกว่า เป็นลักษณะที่เป็นจริง ไม่ใช่ลักษณะเท่านั้น เป็นจริงด้วยซ้ำไป ที่เห็นว่ายังมีความโกรธผสมอยู่ด้วยก็ตาม เราก็จะต้องเข้าใจความปรารถนาดีลึกๆ ซ้อนๆอยู่ มีความยินดีปรีดาต่อคำสอน โดยเฉพาะ ยิ่งเป็นคำสอนที่ถูก ถูกแล้ว เราจะต้องยินดีปรีดาต่อคำสอน สอนถูกต้อง แม้จะแรง แม้จะดุ แม้จะประกอบความโกรธออกมา และจะหยาบๆคายๆ อะไรด้วยบ้างก็ตาม เราจะต้องดูซ้อน เข้าใจสิ่งที่มันลึกๆ ผสมมาในวิญญาณ มีวิญญาณผสมออกมาลึกๆว่า เป็นความปรารถนาดี และเป็นความเฉลียวฉลาดด้วย เรารู้ว่าความผิดนี้ เป็นจริง และลึกๆ ซับๆซ้อนๆ หรือว่าที่เราเองไม่รู้ตัว เขาก็เตือนให้ มีประโยชน์ให้ก็ต้องพยายาม หรือแม้มันจะไม่ถูกต้องนัก โอ๊ะ ติเตียนมา มันก็ไม่ถูก แต่ว่าก็ยังมีความปรารถนาดี มีความฉลาดไม่เท่าไหร่ ฉลาดน้อย ก็เลยไม่ค่อยถูกเท่าไหร่ ก็ตาม

เราต้องเข้าใจจิตวิญญาณของผู้คน มีความยินดีปรีดาต่อคำสอนให้ดี ก็ไม่ดื้อรั้น ข้อ ๘ ไม่ดื้อรั้น

ไม่ชอบใจที่จะขัดคอ หรือไม่ยินดีในการขัดคอ ข้อ ๙ เป็นลักษณะที่เราจะต้องรู้ว่า ผู้อ่อนน้อมถ่อมตน แล้วนี่ จะไม่...ชอบจะขัดคอนัก อะไรอย่างนี้ ไม่ยินดี ไม่ชอบใจ หรือว่าไม่ยินดี ไม่ชอบจะขัดคอ ไม่ชอบที่จะขัดไว้ก่อน ผู้ว่านอนสอนง่าย เขาจะเป็นอย่างนั้น แต่ผู้ว่ายากสอนยาก ก็มักจะมีเหลืออยู่ อย่างนี้ละ ชักจะขัดคอ ไม่ขัดคอข้างนอก ก็ขัดอยู่ในใจละ ชักจะขัดคอ ขัดอย่างนี้บ้าง อย่างนั้นบ้าง ไม่ค่อยยอมรับฟังโดยดุษณีย์ ไม่ยอมรับฟังด้วยดีละ

ข้อ ๙ บอกว่า ผู้ว่านอนสอนง่าย ไม่ยินดีในการขัดคอ หรือไม่ชอบใจในการที่จะขัดคออยู่เรื่อย

๑๐.มีปกติรับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม มีปกติ ทำให้เป็นปกติ ฝึกให้เป็นปกติ โดยเฉพาะผู้ที่ชื่อว่า โสวจัสสตา ผู้ว่านอนสอนง่ายแล้ว จะต้องเป็นผู้ที่มีความปกติเลย เป็นผู้ที่รับโอวาทเอาไว้ดีเยี่ยม เป็นผู้อดทน ข้อสุดท้าย เป็นผู้อดทน

ทบทวน ไม่ใช่บอกภาษาเท่านั้น ผู้ไม่จด ก็ต้องจำให้ดี คนเก่งๆไม่จดเลย ๑๑ ข้อ ได้ก็เก่ง อาตมาไม่เก่ง ต้องจดเอามาอ่าน ทบทวนด้วย เพราะว่านัยบางทีเราคิดไม่ออกหรอก เราจะฉลาดเฉลียว จะรู้ทุกแง่ทุกมุม ให้มันพร้อมกันไปเลยไม่ได้ หลายๆอย่าง หลายๆแง่ หลายๆมุม ที่อะไรต่ออะไร ที่จะช่วยกันนำออกมาใช้ นำออกมาฝึกหัดอบรม เป็นหลักเป็นเกณฑ์ อะไรดี ให้เกิดประโยชน์คุณค่าการพัฒนา มันดี มันหลายๆอย่าง หลายอันละเอียดลออ มันก็จะต้อง พยายามจดบ้าง พยายามเอามาทบทวนบ้าง เอาไปดูเอาไปทำความเข้าใจว่า เมื่อเวลาเกิดเหตุจริงๆ มันไม่ได้อยู่พร้อมกันหรอก ถ้าเผื่อว่า เราจำได้ดีๆ จำได้มากๆ หรือว่ามีหลักฐานอะไรปั๊บ มันเอามาทบ มาทวน เอามาใช้งาน ก็จะได้ประโยชน์ไว แก้ไขได้ดี

เดี๋ยววันนี้ก็พยายามที่จะมีเวลาที่จะนั่ง ตอนแรกก็ว่าจะพานั่ง แต่ตอนนี้ก็เห็นว่า วันนี้ก็วันที่ ๕ เข้าไปแล้ว พรุ่งนี้อีกวัน แต่วันที่ ๗ เราก็ยังได้ทำวัตรเช้าอยู่เหมือนกัน แต่วันที่ ๗ ก็จะสรุป รวบรวมอะไร เพราะฉะนั้น ก็มีวันนี้กับพรุ่งนี้ ที่จะได้ มันมีมาอีกตั้ง ๒ ปึ๊ง ที่มันมีอยู่ แต่ที่จริง ก็อีกสูตรสองสูตร มันก็คล้ายๆกันละนะ แต่ว่ามันก็อยากจะให้มันเสร็จไปก่อน ทีนี้ก็มีเวลาเหลือ ไม่มีอะไรก็ไปนั่งเอาวันที่ ๖ ก็ยังได้ ไม่มีปัญหา ก็เลยอยากจะต่อให้มันละเอียดลออ เสีย

ว่าด้วยเวทนาที่เปรียบด้วยลูกศร เวทนาที่เปรียบด้วยลูกศร เวทนา ได้อธิบาย ได้พยายามที่จะเอาสูตร ที่เปรียบถึงขั้นสภาพของความรู้สึก หรืออารมณ์ ที่ซับซ้อน แล้วมันใช้ภาษาเข้าไปไม่ถึง ที่เรียกว่า รโหคตสูตร สูตรที่หมายถึง สภาพที่มันลับ มันลึกไม่ใช่ลึกลับ แต่มันลึกซึ้ง ถ้าคนที่ไม่รู้ มันก็ลับ ถ้าคนรู้แล้ว มันก็ไม่ใช่ลึกลับ แต่มันลึกซึ้ง มันซับซ้อน บางทีเราใช้ภาษาไม่ถึง เป็นนามธรรม ก็ได้อธิบายไปแล้ว ถึงสภาพสุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุข อะไรต่ออะไร ต่างๆ นานา จนกระทั่ง เข้าไปสู่สภาพเสวยอารมณ์อย่างใดเป็นทุกข์ อย่างใดเป็นสุข แล้วเราก็จะต้องรู้ว่า เวลาเราทำได้ ในระดับที่เรียกว่า เข้าเป็นระดับฌาน คือเพ่งเผาๆ หรือสภาพรู้ แล้วก็ทำลาย หรือลดในสิ่งที่มันไม่ดี เพ่งเผา คำว่า ฌาน คือ สภาพที่เพ่งเผา สภาพที่รู้เพ่ง เป็นลักษณะที่เพื่อให้รู้ เผาคือลักษณะ ที่เราจะต้อง ให้สิ่งที่มันไม่ถูกต้อง ไม่ดี ไม่งามนั้นๆออกไป หมายเอาสูงสุด ก็คือ สังขาร สิ่งที่มันไม่เป็นกิเลสตัณหาอุปาทาน หรือโลภ โกรธ หลง อย่างลึกซึ้ง จนกระทั่ง เป็นโลกในอัตตา ในสภาพที่แม้แต่ที่สุด ถึงอุเบกขา หรือ อทุกขมสุข ถ้าเราไปติดยึด ว่านั่นเป็นเรา มันก็เป็นอัตตา เราจะต้องรู้ถึงขนาดนั้นเชียว แล้วก็ทำให้ได้ละเอียดลออถึงขนาดนั้น อย่างที่บอกไปแล้ว อธิบายไปแล้ว ขั้นปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ฌานที่เราจะต้องรู้จักอารมณ์ของปีติ วิตกวิจาร อารมณ์ของปีติ อารมณ์ของสภาพสุข หรือแม้อุเบกขา ในที่นี้ ใช้ภาษาอะไรต่ออะไรว่า วาจาย่อมดับ วิตกวิจารย่อมดับ ปีติย่อมดับ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะย่อมดับ หรือย่อมระงับ อะไรต่างๆ พวกนี้ มันไม่ใช่ว่า ภาษาพาซื่อ แต่เป็นภาษาที่สื่อให้เข้าใจ ในสภาวะที่ละเอียดลึกซึ้ง จนกระทั่งถึง อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ ซึ่งเป็นสัญญา เป็นการกำหนดรู้ ถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เป็นตัวจบ

ถ้าจบสัญญาเวทยิตนิโรธแล้ว ราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ หรือราคะ โทสะ โมหะ ของภิกษุผู้ขีณาสพย่อมระงับ ราคะ โทสะ โมหะ ก็หมายความว่า หมดถอนรากถอนโคน ราคมูล โทสมูล โมหมูล ของภิกษุผู้ขีณาสพ ย่อมระงับ ตอนหลัง ท่านมาใช้คำว่าระงับ ซึ่งอาตมา ตั้งข้อสังเกต ให้ฟังอยู่แล้วว่า ระงับ ท่านไม่ได้ใช้คำว่าดับ ในตอนหลัง ถึงภิกษุขีณาสพ ใช้ ภาษาบาลี ใช้คำว่า ปัสสัทธิด้วย ไม่ได้ใช้นิรุทธา หรือนิโรธ ใช้คำว่า ปัสสัทธิ ใน ๖ ข้อ

รวมแล้วก็คือ เราจะต้องล้าง หรือระงับราคะ โทสะ โมหะทุกขนาด ทุกสภาพที่มันมีฤทธิ์ มีแรง มีเหลืออยู่ในจิตวิญญาณของเรา ซึ่งจะต้องดูละเอียด ตรวจตราจริงๆ แล้วก็ทำฝึกฝน เป็นการศึกษา คุณพยายามที่จะทำอะไรกับวัตถุ อะไรก็แล้วแต่ เราก็พยายามที่จะทำให้อย่างจะทำให้สะอาด ทำให้มันเรียบร้อย ทำให้มันหมดหมองหมดมัว หมดคราบหมดไคลอะไรต่างๆ เราก็มีความสะอาด ที่จะรักสิ่งนั้น ถ้าเรารักสิ่งนั้นมาก เราต้องการให้มันเกลี้ยงเกลา ให้มันบริสุทธิ์ สะอาด ผุดผ่อง เราก็ทำกับสิ่งนั้น ถ้าใครจิตใจที่มีความละเอียด สุขุม ประณีต ก็ทำเท่าที่เราจะมีญาณ จะมีปัญญา มีความรู้ว่า เราจะรู้ความสกปรก ความไม่สะอาดบริสุทธิ์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นเพชร เป็นพลอย เป็นเสื้อ เป็นผ้า เป็นของละเอียดสูงส่งขนาดไหน ก็ตามใจเถอะ ของที่เรารัก ของที่เราปรารถนา ให้มันบริสุทธิ์สะอาด แล้วเราก็ทำกับสิ่งนั้นฉันใด คนไหนทำ อย่างทำเห็นว่ามีค่า อันนั้นสิ่งนั้นมีค่า เราก็เช็ดมันมาก เราก็ทำความสะอาดมาก เหมือนตาเรานี้ เป็นต้น ลูกตาเรา มันต้องให้สะอาด เราจะทำความสะอาดนัยน์ตา ตามันจะมีขี้ตา มันจะมีฝุ่นละออง มันจะมีโน่นมีนี่มานี่ มันจะเป็นทุกข์

เพราะฉะนั้น เราต้องทำให้มันสะอาด ต้องเช็ด ต้องทำสะอาดอะไร เราไม่ต้องการให้มันเสื่อมง่ายๆ ในลูกตาของเรา คนใดรักลูกตาอย่างไร ก็ต้องทำกับลูกตาเรา ให้สะอาดสะอ้านให้บริสุทธิ์ ไม่ให้อะไร ที่เป็นฝ้าละอองธุลีอะไร เข้าไปขัด ไปเคือง เข้าไปทำให้มันเกิดสภาพที่จะเสื่อมจะเสีย เราก็ทำกับตาเรา อย่างนั้น ถ้าเราเห็นว่า กิเลสมันไปอยู่ในจิต จิตของเรามีค่าเหลือเกิน เราจะต้อง ทำจิตของเราให้สะอาด เหมือนกับเราจะทำความสะอาด ให้มันรู้ว่า มันเป็นทุกข์ ถ้าเทียบกับลูกตา นี่มันชัดนะ มันเป็นทุกข์ เราก็ทำให้ลูกตาของเรา มันไม่มีธุลีละออง หรือไม่มีอะไร ที่จะเข้าไปขัด ไปเคือง ให้มันสะอาดฉันใด เราก็ทำสิ่งที่มันเป็นธุลีละอองของกิเลส ราคะ โทสะ โมหะ ให้มันออก ไปจากจิตวิญญาณของเรา ให้บริสุทธิ์ผุดผ่องไป ฉันเดียวกัน แต่ทีนี้ ความรู้สึกทุกข์ ของสิ่งที่มันเป็น ธุลีละออง ที่มาเป็นพิษ เป็นภัยต่อลูกตา มันชัด มันทุกข์ชัด มันง่าย มันเป็นวัตถุรูป มันมีประสาท อะไรต่ออะไรเยอะแยะอยู่ในนั้น มันบอกเรา เป็นประสาทเลยนะ มันมีท่อ มีอะไรต่ออะไร ที่มันรับรู้สึกได้ แต่จิตวิญญาณ ที่มันด้านชา มันก็เป็นทุกข์ เหมือนลูกตา แต่มันไม่มีท่อ มันไม่มีสาย มันเป็นนามธรรม มันไม่มีรูป มันไม่ใช่วัตถุรูป มันก็เป็นทุกข์ เราจะต้องรู้ทุกข์เหล่านั้นให้ได้ นัยเดียวกันกับเรารู้ทุกข์ที่ลูกตา ที่มันมีท่อ มีทางอะไรของมัน มันทุกข์ แล้วเราก็จะต้องเอาออก มันมีความสำคัญเหมือนกัน ยิ่งยวดยิ่งยอดเหมือนกันเลย กับที่เราทุกข์ ที่ตาของเรา ที่มีธุลีละออง เข้ามาขัด มาขวาง มาเคืองเหมือนกัน มีความสำคัญเหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ใครจะมีญาณละเอียด ที่จะรู้ทุกข์นั้นได้ เรียกว่าอริยสัจ รู้ทุกข์เหมือนที่ธุลีละอองนั้น มาขัดมาเคืองตา นั่นเป็นรูปธรรม แต่จิตวิญญาณ มันไม่ใช่รูปธรรม มันเป็นนามธรรม แล้วมันก็ชินชา หัดฝืนหัดทน หัดอะไรต่ออะไรมาได้ นอกจากหัดฝืนหัดทน แล้วยังไม่พอ หลงผิดด้วย นึกว่า มันเป็นสุข ที่จริงสุขไม่มี นึกว่ามันเป็นสุข ตีกลับเลยนะ นึกว่าเป็นสุข ที่จริงมันเป็นทุกข์ เหมือนกับ ผู้หญิง เอาอะไรมาจิ้มลูกตา เอาอะไรมาเขียนตา ที่จริงมันเป็นพิษต่อตา เอาธาตุเคมี อะไรมาเขียน มาทา มาระบาย มาอะไรต่ออะไรเอาไว้นัยน์ตานี่นะ หลายอย่าง มันเป็นธาตุเคมี เป็นอะไรต่ออะไร ต่างๆนานา มันไม่มีมากนัก มันก็มีน้อย ใช่มั้ยคุณ ลองคิดดูซิว่า แล้วเอามาจิ้ม เอามาอบ เอามารม เอามาทำไรไว้นี่ ไม่รู้ ถ้ามันแพล็บเข้าไปในตา ก็แสบก็เจ็บแล้ว ก็พยายามอย่าให้มันเอามาแปะไว้ ที่คิ้วนี่บ้าง ที่ขอบนี่บ้าง โอ๋ ทำไมถึงพยายามกันจริ๊ง ก็ไม่รู้นะ นั่นล่ะ ถูกหลอก ว่านั่นสวย ว่านั่นวิเศษ ว่านั่นดี ทำเอ้าเลย เอ๊ะ ! มันเป็นยังไง ก็รู้นะว่า ถ้ามัน แพล็บเข้าไป บางทีอะไรมันมากๆ เกิน มันก็แสบ มันก็ร้อน ก็รู้ ไม่ต้องถึงขนาด บางทีมีธุลีละออง อันนั้นเข้าไปจิ้มลูกตาหรอก แต่ก็เอาไปล่อไว้ตรงนั้นล่ะ แหม ! นักเสี่ยง นักไต่ริมเหวรึไง เสี่ยงทำนั่นนะ เพราะหลงว่ามันสวย หลงว่ามันวิเศษ หลงว่ามันอะไรต่ออะไรที่เขาหลอก ทั้งๆที่มันไม่เคยนิยมกันมาก่อน เพิ่งจะมานิยม หลอก อีกหน่อยก็ผ่านไป ไปอย่างอื่นอีกแหละ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรกันอย่างนี้ เป็นต้น ยกตัวอย่างให้ฟัง มันถูกหลอก ถูกหลง ถูกหลอกแล้วก็ ไปเชื่อถือตาม

เพราะฉะนั้น ในอารมณ์ของจิตก็เหมือนกัน หลอกว่าเป็นรสอร่อย แล้วเราก็ไปหลงงมงายอย่างนั้น กว่าจะรู้ โอ้โฮ ต้องมีจิตใจ ต้องมีญาณปัญญาที่ละเอียดลออ กว่าจะรู้อริยสัจว่ามันเป็นทุกข์ ไม่ใช่มันเป็นสุข ทำความสะอาด อย่างนั้นให้ได้

ทีนี้ มาฟังเสริม สัลลัตถสูตร ว่าด้วยเวทนาเปรียบด้วยลูกศร เล่ม ๑๘ ข้อ (๓๖๙) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับแล้ว

หมายความว่า คนไม่ได้ยินได้ฟังธรรมะ แม้ได้สดับแล้ว แต่ไม่เอาถ่าน นี่ไม่ต้องพูดกัน ไอ้ที่ไม่ได้สดับ มันก็น่าเห็นใจเขา ที่เขาไม่ได้สดับนั่นนะ ถ้าเขามาได้สดับ หรือได้ฟัง เขาอาจจะดีกว่าพวกเรา หลายคน ฟังแล้วได้ยินแล้ว แต่ไม่เอาถ่าน อย่างนี้ มันน่าเอากระบองที่เอามาไว้ตีระฆังนี่แหละ ตีเอาดีมั้ย ฯลฯ..

ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับแล้ว ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง อริยสาวก ผู้ได้สดับแล้ว คนละคนเลยนะ อันหนึ่งปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ อีกอันหนึ่ง อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว ก็ย่อมเสวยสุขเวทนาบ้าง ทุกขเวทนาบ้าง อทุกขมสุขเวทนาบ้าง คือ เสวยเหมือนกัน แต่คนละคน ฟังดูดีๆ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในชนสองจำพวกนั้น อะไรเป็นความพิเศษเป็นความแปลก เป็นเครื่องทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวก ผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ

ภิกษุทั้งหลาย กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมะทั้งหลายของ พวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นรากฐาน ฯลฯ คล้ายๆกับว่า แล้วแต่ท่านจะโปรดเถอะ ไม่รู้หรอก แปลง่ายๆ ไม่รู้หรอก ก็ท่านโปรดยังไง จะอธิบายยังไง ก็โปรดเถิด พวกข้าพเจ้าก็จะถามท่านแหละ ว่าท่านเป็นต้นเค้า ท่านเป็นผู้จะสอน ผู้จะแนะนำทุกอย่างแหละ ผู้ไม่รู้นั่นเอง พระพุทธเจ้า เป็นผู้รู้ทุกอย่าง เป็นรากฐาน

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนา สองอย่าง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ ฯ

ฟังดีๆ ปุถุชนนะ ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ เขาก็จะทุกขเวทนา เมื่อทุกขเวทนามันเคี้ยวกลืน หรือ เวทนามันเกิด ความรู้สึกนั้นมันเกิด ความรู้สึกทุกขเวทนา หรือสุขเวทนา จะได้รับทุกขเวทนาก่อน อันนี้ท่านบอกว่า ทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไรรำพัน ทุบอกคร่ำครวญ ก็จะแสดงอาการ สภาพพวกนี้ออกมาทั้งหมด ก็จะมีมาตั้งแต่จิตโน่นแหละ เสวยทุกขเวทนาครบทั้งสองอย่าง คือทั้งกาย เวทนาทางกาย ฟังดีๆ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

(๓๗๐) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้น ด้วยลูกศรดอกที่สองอีก คือเหมือนบุรุษที่ยิงลูกศร ยิงดอกหนึ่ง แล้วไม่พอ ยิงอีกดอกหนึ่งเลย สองซ้อนซ้ำอีก

ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้นย่อมเสวยเวทนา เพราะลูกศรสองอย่าง คือ ทางกาย และทางใจ เรียกว่าสองดอกซ้อนเลยนะ เจ็บสอง เจ็บสองไม่ใช่ เจ็บหนึ่ง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเศร้าโศก ร่ำไร รำพัน ทุบอก คร่ำครวญ ย่อมถึงความงมงาย เขาย่อมเสวยเวทนาสองอย่าง คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ

อนึ่ง เขามีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัย เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆะ คือ อาการที่มันเป็นตัวผล ที่มันเกิดตามอวิชชา มันก็ปฏิฆะ นอกจากได้รับทุกขเวทนานั้นแล้ว สัมผัสได้รับทุกขเวทนานั้นแล้ว เกิดปฏิฆะซ้อนขึ้นมาอีก

ปฏิฆานุสัยเพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมนอนตามเขา นี่ศัพท์แปลตาม พยัญชนะเลยนะ เขาแปลเป็นไทยว่า ย่อมนอนตามเขา ปฏิฆานุสัย นี่ย่อมนอนตามเขา แหม มีเพื่อน มีปฏิฆานุสัยเป็นเพื่อนสองนะ

ย่อมนอนตามเขา ผู้มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข นี่ทุกขเวทนาเข้าครอบงำแล้ว ปฏิฆานุสัย ก็มาเป็นเพื่อน เข้าไปเติมขึ้นมาอีก ถ้ามันเกิด มันก็คือเกิด ปฏิฆานุสัย มันจะเกิดหรือมันจะนอนตาม นี่มันใช้ศัพท์

คือมันจะอยู่ด้วยเลย มันไม่ไปไหนแล้ว มันก็จะมีแต่หมกหมักเข้าไปด้วยกันเลยนะ มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนา ปฏิฆานุสัย คือ ความขัดเคือง หรือ ความไม่ชอบใจ คือความไม่ชอบใจอย่างสูง ไม่ใช่อรติ อรตินี่ ความไม่ชอบใจ อย่างเบา มันเบา มันละเอียด ส่วนปฏิฆานุสัย นี่มันมีสภาพ ที่พฤติกรรมของปฏิฆะ นี่มันแรงกว่าอรติ มันมีสภาพที่โทสมูล นั่นสายโทสมูล ความขัดเคือง ไม่ชอบใจมาก มากกว่าอรติ

ผู้มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนา เขาเป็นผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว เมื่อมีสภาพอารมณ์ ทุกขเวทนาแล้ว ถูกต้องนี่หมายความว่า มันเกิดกับตัวจิตของเราแล้ว ย่อมเพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ย่อมไม่รู้อุบาย เครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข เพราะฉะนั้น เขาจะไม่รู้จักตัวเหตุ ไม่รู้จักตัวผีพวกนี้ แล้วเขาก็จะทำเอาไว้ เสร็จแล้ว เขาก็จะสั่งสมตัวนี้ สายโทสะ โทสะ เสร็จแล้ว มันก็จะกลายเป็น สภาพที่ ถ้าเผื่อว่าได้สมใจ ก็เรียกว่า กามสุข ได้สมใจ ในความที่ตัวเอง ถ้าไม่ได้สม ไม่ชอบใจ ที่ตัวเอง ไม่ชอบใจอะไร ก็แล้วแต่นี่นะ มันจะมีอะไรก็แล้วแต่ เสร็จแล้วต่อไป อันนี้จะก่อให้เกิด สิ่งที่ตัวเองยึดติดไว้ แล้วก็จะได้สมใจ สิ่งที่ตัวยึดติด จนกระทั่งกลายเป็น ลักษณะ ถ้าอธิบายซาดิสม์ จะเข้าใจ ได้เจ็บได้ปวด ซาดิสม์หรือว่ามาโซคิสม์ พวกนี้ได้ทำกับตัวเอง หรือว่า ทำให้คนอื่นเจ็บอะไร สมใจ พวกกามเป็นกามชนิดหนึ่ง เป็นกามสุข ซึ่งมันซ้อนนะ มันตีกลับไปกลับมา ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร อ๊อ! แล้วเมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ย่อมไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออก จากทุกขเวทนา มันมีทุกขเวทนาเป็นเหตุแล้ว แล้วก็มาเกิดปฏิฆานุสัยซ้อน นอนเนื่องนอนตาม ตามย่อม นอนตาม ถ้าอธิบายแล้ว มันเป็นสภาวธรรม มันไม่มีภาษา ภาษาบาลีที่สั้นๆก็แค่นี้แหละ แต่ถ้าจะอธิบาย เป็นภาษาไทย ก็จะอธิบายไปอีกเยอะ ย่อมนอนตามนี่ เมื่อกี้นี้ ก็พูดไปหน่อยๆแล้ว มันจะอยู่ด้วยกัน มันจะเกิดปฏิฆะออกมาอีก มันจะมีอนุสัยตัวร้าย นี่มันเกิดปรุงแต่งขึ้นมาอีก เป็นปฏิฆะ นอกจาก ทุกขเวทนา ซึ่งไม่ค่อยดีอะไรแล้ว ก็มีปฏิฆะ แล้วก็เกิดหมกลงไปนอนตามนี่ เกิดสั่งสมลงไป เกิดทำให้เรามีอะไรที่ เกิดขึ้นอีก เป็นกิเลสที่ซับซ้อน แล้วก็สั่งสมลงไปอีก เพราะเหตุอะไร ก็เพราะว่า ไม่รู้อุบายเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา ตัวต้นเหตุคือทุกขเวทนา ก็ไม่รู้ อารมณ์ทุกขเวทนา ไม่มีอุบายเครื่องออก ที่จะสลัดออก นอกจากกามสุข มันก็จะกลายเป็น กามสุขัลลิกะต่อไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่เราสั่งสม จะเป็นสายโทสะ หรือ สายราคะ สายโลภะ ก็ตาม และเมื่อเขาเพลิดเพลิน กามสุขอยู่ ราคานุสัยเพราะ สุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง เห็นมั้ย สั่งสมซับซ้อนขึ้นไปอีก

นี่ ไม่ใช่สูตรธรรมดานะ เป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ที่ซับซ้อนเข้าไปอีก เริ่มต้นจากทุกขเวทนา เสร็จแล้ว เมื่อเขาเพลิดเพลินกามสุขอยู่ ราคานุสัย เมื่อกี้ปฏิฆานุสัยเติมเข้าไปแล้ว ราคานุสัย ก็มาเกิดต่อ เพราะสุขเวทนานั้น ย่อมนอนเนื่อง เมื่อเป็นกามสุข มันก็จะชอบใจ จนกลายเป็นซาดิสม์ ไปได้อย่างที่ว่า อธิบายตัวสูงๆขึ้นไป จนกลายเป็นซาดิสม์ได้ ราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง เหมือนกันนั่นแหละ นอนเนื่องก็เหมือนกับย่อมนอนตามเขานั่นแหละ หมายความว่า ยิ่งนอนเนื่อง ยิ่งตกปลักเลยนะ ตกคลั่กๆ คงจะรู้นะ คำว่า "ตกคลั่ก" เป็นผลึกไปเรื่อยๆ เขาย่อมไม่รู้ เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ ไม่รู้จักเหตุเกิดความดับ และก็ไม่รู้ว่ามันเป็นคุณ หรือว่ามันเป็นโทษ เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น เป็นความรู้สึกเหล่านั้น สุดท้าย มันเป็นกามสุข หรือมันจะไปเกิดเป็นอะไรต่ออะไร ที่มันจะไปเป็นสุข มากขึ้น ทุกข์มากขึ้น คำเดียวคำเก่า ทุกข์ก็ตาม สุขก็ตาม ถ้ามันเข้าใจผิด ซับซ้อนลงไปแล้ว มันก็จะรับอุปาทานอันใหม่ ซับซ้อนเพิ่มขึ้นอีก เขาจะไม่รู้เลยว่า มันมีเวทนากี่ชั้น เข้าใจมั้ย ฟังออกมั้ย ที่พูดนี่ อธิบายไปแล้วมันซับซ้อนๆ เกิดกิเลสเข้ามาเป็นตัวเหตุ ปัจจัย เพื่อให้เขาได้สมมุติใหม่ขึ้นมา เหมือนกับที่คนกินอาหาร กินอาหารชนิดหนึ่ง รสขนาดนี้ ตอนแรก คนที่หัดกินเผ็ดใหม่ๆ กินเผ็ดได้ขนาดนี้ กินไปๆๆ เรื่อย ก็ซับซ้อนความชำนาญ นอนเนื่อง ความสามารถ คงทนได้ กินเผ็ดขึ้น กินเผ็ดเก่งขึ้น พิสดารขึ้น ทีนี้ ไม่ใช่เผ็ดธรรมดา พิสดารขึ้น มีแง่เชิง มีอย่างโน้นอย่างนี้ ขึ้นมาต่างๆนานา นั่นแหละ เป็นกามสุข ที่เขาซับซ้อน ที่เขาเสริม รสเวทนา รู้สึกเผ็ดนี่อร่อย ก็ซับซ้อนขึ้นไปได้อย่างนี้ เป็นต้น

อันนี้ ก็เหมือนกันแหละ ผู้ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ จะไม่รู้จักสิ่งเหล่านี้เลย เมื่อกี้ ยกตัวอย่างกินเผ็ด หนักเข้า พอเวลาไปติดเผ็ดในสภาพที่ซับซ้อนหลายชั้น ปรุงแต่งอีก ไม่รู้กี่ชั้นแล้ว ไอ้อย่างเก่าๆ ก่อนๆ นั่นเป็นไง ไม่เอาแล้ว ไม่อร่อยแล้ว จืดมะลืดชืดอย่างนี้ เพราะฉะนั้น จะต้องจัดจ้านอย่างนี้ ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ ผู้มีกิเลสที่หนา หรือว่ามีสมมุติที่หยาบคาย มีสมมุติที่ซับซ้อนอย่างนี้ เป็นเวทนาซ้อน เวทนาๆๆ แต่ก่อนรู้สึกอย่างนี้ก็พอใจ รู้สึกเป็นสุขเวทนาเท่านี้ก็พอใจ ต่อมาก็ไม่พอใจเท่านี้ ต้องอย่างนี้ ถึงจะสุขเวทนา ถึงจะพอใจ ถึงอย่างนี้ ถึงจะพอใจ ต่อมาถ้าไม่มีหยุดหย่อน เป็นปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับ จะกลับไปกลับมา วนเวียนอย่างที่ว่า ทำไมมันถึงไปชอบความทุกข์ได้ว่าเป็นสุข เห็นมั้ย อย่างพวกซาดิสม์ ทำไมมันไปชอบความทุกข์ได้ว่าเป็นสุข มันกลับไปกลับมา มีอย่างหรือ ทำให้ตัวเองเจ็บปวด แล้วถึงจะเป็นสุข หรือทำให้ผู้อื่น เห็นผู้เจ็บปวดแล้วเป็นสุข พวกซาดิสม์ หรือ พวกมาโซคิสม์ ซาดิสม์นี่ เป็นพวกให้คนอื่นเจ็บปวด เห็นคนอื่นเจ็บปวด แล้วสุขใจ ส่วนมาโซคิสม์ นี่ให้ตัวเองเจ็บปวด ตัวเองเจ็บปวด แล้วก็มัน โอ้โฮ! นี่ร้ายกาจนะ มันถึงขนาด...โอ้โฮ ! เลือดไหล กรีดเลือดตัวเอง แล้วเป็นสุข แหม ! มันเป็นได้ โอ ! นี่ละลักษณะเดียวกันนี่แหละ ลักษณะนี้ มันถึงว่า ตีกลับไปทุกอย่าง มันถึงเป็นอย่างนี้หมดแล้ว

ไม่รู้คุณ ไม่รู้โทษ และอุบายเครื่องเป็นสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย ทีนี้มาหมดทั้งตระกูลเลย อนุสัย ๓ ปฏิฆานุสัย ราคานุสัย และก็อวิชชานุสัย ราคานุสัยก็สายราคะ ปฏิฆานุสัยก็สายโทสะ อวิชชานุสัยก็สาย...ทั้งตระกูลเลย เหมาหมดเลย โมหะนั่นแหละ อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง ทีนี้ก็เหมือนกับ มันชินชาแล้ว อทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง ถ้าจะอธิบายอย่างไม่ซับซ้อน เขาก็จะอธิบาย อย่างสภาพเป็นตัวๆ ผู้ที่จะศึกษา หรือผู้ที่จะเรียนสูตรนี้ ก็จะอธิบายว่าเวทนา มันเป็นปฏิฆานุสัย ก็เป็นทุกขเวทนา เขาก็แยกไป สุขเวทนาก็เป็นราคานุสัย เขาก็แยกไป อวิชชาก็คือ อทุกขมสุขเวทนา เขาก็แบ่งแยกเป็นเวทนา ๓ เวทนา ปฏิฆานุสัยก็ก่อให้เกิดทุกขเวทนา ราคานุสัย ก็ก่อให้เกิดสุขเวทนา อวิชชานุสัยก็ก่อให้เกิดอทุกขมสุขเวทนา จะอธิบายเป็นอย่างๆ นั้นก็ได้อย่างที่เอาเป็นอย่าง เป็นเฉพาะเรื่อง เฉพาะส่วนก็ได้ แต่นี่อธิบายซับซ้อน ให้คุณฟังประเภทซับซ้อน

อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น ย่อมเสวย อทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบ ด้วยกิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น พอมาสุดท้าย นี่ก็อธิบาย สรุปหมดแล้ว ไม่ใช่อธิบายหรอก ท่านก็อธิบายนั่นแหละ ก็บรรยายเอาไว้ มันดูแล้ว นี่ก็คงแปล มาเต็มภาษาบาลีแล้วละนะ มาแปลเป็นไทยนี่ มันได้อย่างนี้ ผู้แปลก็คง แปลมาเต็มที่แล้วละ

ลองอ่านดูอีกทีหนึ่ง เขาย่อมไม่รู้เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่ง เวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเขาไม่รู้เหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และ อุบายเป็นเครื่อง สลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น คือ ปฏิฆานุสัยและราคานุสัย ซึ่งมันจะเกิดเวทนาซับซ้อนอย่างที่ว่า เมื่อไม่รู้จักสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมนอนเนื่อง ถ้าฟังดีๆ แล้วจะเห็นได้ว่า มันเป็นสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน มันไม่ได้เป็นแบ่งแยกว่า ปฏิฆานุสัยก็คือทุกข์ ราคานุสัยก็คือสุขเวทนา อวิชชานุสัยก็อทุกขมสุขเวทนา ฟังดีๆ เห็นมั้ย? ที่อ่านให้ฟัง มันจะไม่เป็นภาษาที่ว่า มันแยกไปคนละเรื่อง แต่มันซับซ้อนอย่างที่อาตมาอธิบาย แต่คนจะอธิบายสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน ซับซ้อนอย่างที่อาตมาอธิบายนี้ ยังหาได้ยาก นี่ไม่ได้ชมตัวเองนะ ฯลฯ..

อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนาย่อมนอนเนื่อง เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น นี่เป็นตัวสรุปลงมาเลย เพราะฉะนั้น จะเป็นกิเลสในลักษณะทุกข์ ลักษณะ อนุสัยทุกข์ ลักษณะอนุสัย เพราะไม่รู้เป็นขั้น อย่างที่อาตมาว่า ไม่รู้วิธีดับ ไม่รู้คุณ ไม่รู้โทษ ไม่รู้ว่ามันซับซ้อนกันอย่างไร ไม่รู้สภาพตั้งแต่ต้น จนกระทั่งปลาย

เขาย่อมเสวยสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ย่อมเสวยทุกขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วยกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น และย่อมเสวยอทุกขมสุขเวทนา เป็นผู้ประกอบด้วย กิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น ตีความ สรุปหมดเลย เพราะไม่รู้อะไรซักอย่าง มันก็เลยซับซ้อน อย่างไม่รู้อะไรไปหมด

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ประกอบด้วยชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส เรากล่าวว่า เป็นผู้ประกอบด้วยทุกข์ ฯ ใครสงสัย? ใครไม่รู้เรื่อง? ไอ้ตัวสรุปนี่ตีหัวเข้าบ้าน ไม่ต้องยากอะไร ไม่ต้องอธิบาย

(๓๗๑) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายอริยสาวกผู้ได้สดับ อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ฟังให้ดีนะ ! นี่แหละ เป็นทุกข์ที่มันมีขันธ์ ๕ และมันเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น พระอริยสาวก จะเข้าใจรู้จักทุกข์ทางใจ และก็รู้จักทุกข์ทางกาย เพราะแม้มันจะมีเหตุปัจจัยอย่างไร มันจะไม่เกิดอนุสัย มันจะไม่เกิดการสั่งสม มันจะไม่เกิดอะไรๆ มันจะเป็นการรู้ความจริงตามความ เป็นจริงเท่านั้น อาตมาเคยบอกแล้วว่า เอาเถอะ พระอรหันต์เจ้า ที่บอกว่า อย่างที่เขาเคยอธิบายกันแล้ว ว่าเป็นพระอรหันต์ประเภทที่พาซื่อ แบบเขานี่ ว่าไม่มีทุกข์ ไม่เป็นไร เอาไม้กระบองตีกระบาลสักเปรี้ยง ให้แตกเลยนะ ดูซิ ให้ช้ำเลยนะ ไม่เจ็บไม่ร้องโอย ก็ลองดูว่า กัดฟันเก่งๆมั้ย ตีซัก ๑๐ ป้าบ หมัดนี้ไม่ร้อง อีกหมัดใหม่เอาซิ ไหวมั้ย มันเป็นสภาพของ ปฏิกิริยาของกาย มันก็เจ็บ เพราะฉะนั้น ทุกข์ทางกาย เราก็รู้ ใจเราไม่ได้เกิดโกรธ ไม่ได้เกิดเคือง ไม่ได้เกิดถือสา ไม่ได้เกิดผูกพยาบาท ไม่มีโทสะ ไม่มีโลภะ ไม่มีโมหะอะไร รู้ของจริง ตามความเป็นจริง นั่นคือ พระอรหันต์ ไม่ใช่พระอรหันต์ไม่เจ็บไม่ปวด เดี๋ยวนี้ พาซื่อกันจนกระทั่ง ปฏิบัติธรรมะไม่เป็น

ย่อมเสวยเวทนาทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทางใจ ฯ

(๓๗๒) ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายขมังธนู พึงยิงบุรุษด้วยลูกศร ยิงซ้ำบุรุษนั้นด้วยลูกศร ดอกที่สองผิดไป รับลูกศรดอกเดียวระอริยเจ้า นี่จะรับลูกศรดอกเดียว ก็เมื่อเป็นอย่างนี้ บุรุษนั้น ย่อมเสวยเวทนา เพราะลูกศรดอกเดียว

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวก ผู้ได้สดับ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้อันทุกขเวทนา ถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ร่ำไร ไม่รำพัน ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความงมงาย เธอย่อมเสวยเวทนา ทางกายอย่างเดียว ไม่ได้เสวยเวทนาทาง ใจ เพราะใจฉลาด เพราะใจรู้ทัน เพราะใจเข้าใจสภาพ อนึ่ง เธอย่อมไม่มีความขัดเคืองเพราะทุกขเวทนานั้น ไม่เกิดปฏิฆานุสัย ย่อมไม่เกิดขัดเคือง ย่อมไม่สร้างกิเลสขึ้นมาใหม่ ปฏิฆะ แล้วก็จะนอนเนื่องลงไปนอนตามเขา แล้วก็จะสั่งสมปฏิฆะ ขึ้นมาเสริม แล้วก็ซับซ้อนลงไปในจิตอีก

เธอย่อมไม่มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนานั้น ปฏิฆานุสัย เพราะทุกขเวทนานั้น ย่อมไม่นอน ตามเธอ ไม่มีใครมานอนด้วย ไม่ใช่ลามกนะ เห็นมั้ย ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรมานอนด้วย ไม่มีอะไรสั่งสม ไม่มีอะไรที่จะมาทำปฏิกิริยา หรือมาเกิดหมักหมม แตกตัว ก่อหวอด ก่ออะไรขึ้นไปอีก

ย่อมไม่นอนตามเธอ ผู้ไม่มีความขัดเคือง เพราะทุกขเวทนา เธอผู้อัน ทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข เพราะฉะนั้น ก็จะไม่มีสภาพ ซับซ้อนอะไรเกิดขึ้น

เธอผู้อันทุกขเวทนาถูกต้องแล้ว ย่อมไม่เพลิดเพลินกามสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอริยสาวก ผู้ได้สดับนั้น ย่อมรู้ชัด ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข เหมือนอย่างเก่า ภาษามันอย่างนี้ ภาษาบาลี ภาษาธรรมะขั้นลึกแล้ว มันจะเป็นอย่างนี้ คนที่อ่านแล้ว อาตมาเชื่อแน่ว่า ต่อให้จบด็อกเตอร์มา ๗ ใบ มาอ่านอันนี้ ถ้าไม่มีความรู้ทางธรรมมานะ ให้ฉลาด จบด็อกเตอร์มา ๗ ใบเลย ไม่รู้หรอก ไม่เข้าใจหรอก แค่อ่านภาษาออกทั้งนั้นแหละ คำว่า "นอกจาก" แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ คำว่า "กามสุข" แปลว่าอะไรก็ไม่รู้ ต่อให้เปรียญ ๙ ประโยคมาด้วย จบเปรียญ ๑๘ มาอีกก็ได้ ถ้าไม่ได้เรียนสภาวะ ไม่ได้เรียนธรรมะที่ถูกต้องแล้ว มาอ่านเข้าใจภาษาหมด เรียนภาษาบาลีอะไรมา ชัดเจนหมด นี่แปลมาจากบาลีเองด้วยซ้ำก็ได้ นอกจากกามสุข เป็นอย่างไรๆ ผู้แปลมานี่ก็เปรียญ ๙ ทั้งนั้นแหละ ที่แปลมานี่ แต่อาตมาท้าให้ด้วยว่า ไม่เข้าใจซับซ้อน ไม่เข้าใจลึกซึ้ง ต่อสภาวะนั้นได้จริง จะอธิบายคลี่ความออกมา อย่างที่อาตมา อธิบายคลี่ให้คุณฟังนี่นะ คลี่ออกมาตั้งเท่าไหร่ ยังไม่ได้คลี่มากนี่นะ เดี๋ยวไว้ซักครู่

ย่อมรู้ชัด ซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกจากทุกขเวทนา นอกจากกามสุข เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัยเพราะสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง นี่ มันจะมีสภาพซับซ้อนขึ้นไปอีก เมื่อไม่เพลิดเพลินกับ กามสุข ที่เราไปเข้าใจผิด ที่มันจะเกิดซับซ้อนนั้น ราคานุสัย เพราะสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง ย่อมไม่มานอนตาม กับเราอีก ย่อมไม่มาเสริมนอนเนื่องเข้าไปอีก เติมเข้าไปอีกทีหนึ่ง ไม่มี

เธอย่อมรู้ชัดซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัด ซึ่งเหตุเกิด ความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง เพราะฉะนั้น มันจะเหมือนอทุกขมสุข เมื่อเวลามันเป็นแล้ว แม้เจ็บ มันก็ยังตีลังกากลับไปอร่อยได้อีก อย่างที่บอกว่าซาดิสม์ เป็นต้น หรือมาโซคิสม์ เป็นต้น เห็นมั้ย มันจะกลับไปเป็นอย่างนั้น ผู้ที่ไม่ถนัดภาษา อาตมาก็ไม่รู้ว่า จะเรียกภาษาไทยว่าอะไร ซาดิสม์ ซาดิสซึ่ม กับมาโซคิสม์ อาตมาก็ไม่รู้ว่าจะเรียก ภาษาไทยว่าอะไร (เสียงพูดบอกมาไกลๆ) ชอบความรุนแรง สะใจที่ตัวเจ็บ สะใจที่เห็นเขาเจ็บ ซาดิสม์ สะใจที่เห็นเขาเจ็บ สะใจที่ทำให้เขาเจ็บได้ ซาดิสม์ มาโซคิสม์ สะใจที่ทำให้ตัวเองเจ็บลงไปได้ เอ้า ! แปลเป็นไทยว่าอย่างนี้ แต่มันไม่มีศัพท์คำเต็มของมัน แต่นี่เป็นศัพท์ภาษาฝรั่งเขามี ซาดิสม์ กับ มาโซคิสม์ซึ่ม เป็น ๒ อย่าง อาตมาก็เอามาใช้ประกอบ เราจะได้เข้าใจเพิ่มขึ้น

เมื่อเธอไม่เพลิดเพลินกามสุข ราคานุสัย เพราะสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง เธอย่อมรู้ชัด ซึ่งเหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเครื่องสลัดออก แห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เมื่อเธอรู้ชัด ซึ่งเหตุเกิดความดับ คุณ โทษ และอุบายเป็นเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง อวิชชานุสัย เพราะอทุกขมสุขเวทนา ย่อมไม่นอนเนื่อง

ถ้าเธอเสวยสุข เวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ ปราศจากกิเลส เสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจาก กิเลส เสวยอทุกขมสุขเวทนานั้น หมายความว่า เมื่อผู้ใด มีจิตเข้าไปเสวยอารมณ์ ไปเสวยสุขเวทนา เพราะเรารู้คุณ รู้โทษ รู้ความดับ มีอุบายเครื่องออก เพื่อจะดับสุขเวทนา บอกแล้วว่า ดับหมดทุกขเวทนาน่ะ เราฟังมาแล้วว่า ดับหมดเลย แล้วไปดับพาซื่อ ถ้าเข้าใจไม่ได้ ก็ไปดับพาซื่อ แต่ความจริงไม่ได้ดับพาซื่อ ดับ เวทนาที่ว่านี่นะ ดับทั้งสุขเวทนา ดับทั้งทุกขเวทนา ทุกขเวทนานั้น แน่นอน คนปกติ ก็ต้องดับก่อนแน่นอน แต่คนที่ถึงปกติก็ตาม ถ้าไม่ลึกซึ้งอีก ไปติดสุขเวทนา เราไม่ติดสุขเวทนา สุขเวทนานั่นแหละ เป็นตัวร้ายกว่า ถ้าเข้าใจชัดๆ มันเป็นตัวที่ทำให้ คนหลง สะบัดเลย ที่จริงมันไม่ใช่ตัวเหตุ มันเป็นพ่อของเหตุ สุขเวทนานี่ ! มันไม่ใช่ตัวเหตุ มันเป็นพ่อของเหตุเลยทีเดียว มันเป็นทวดของเหตุเลยนะ มันลวงคนมานานแล้ว สุขเวทนา

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธไม่มีสุข มีแต่ความสงบ รำงับ แล้วก็ยืมคำว่าสุข มาเรียกลำลองเท่านั้น

(อ่านต่อหน้า ๒)
FILE:1053A.TAP