สมาธิ - สัมมาสมาธิ ตอน ๔ หน้า ๒
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เนื่องในงานพุทธาภิเษกฯ ครั้งที่ ๑๔
ณ พุทธสถานศาลีอโศก
เมื่อ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๓๓

ต่อจากหน้า ๑


เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธไม่มีสุข มีแต่ความสงบ รำงับ แล้วก็ยืมคำว่าสุข มาเรียกลำลองเท่านั้น เองว่า มันวูปสโมสุข มันสุขอย่างว่างๆ สุขอย่างระงับ สุขอย่างไม่มีตัวบำเรอ บำบัดมาจากต้นเหตุ ต้องการอย่างนี้ ก่อนแล้วได้ อย่างนี้เรียกว่าสุข ไม่ใช่ ! มันปกติมันไม่ได้บำเรอบำบัดอะไร มันยากนะ ถ้าไม่เข้าใจจริงๆ แล้วไม่รู้ตัวสภาพพวกนี้จริงๆ แล้วมันจะไปเลิกได้ง่ายๆ ยังไง แม้ที่สุดว่า อทุกขมสุข อทุกขมสุข เพราะด้านชา ต้องขออธิบายตรงนี้เสียก่อน

คนอทุกขมสุขเพราะด้านชา อย่างที่อธิบายเมื่อกี้แล้วว่า กินเผ็ดแล้ว เผ็ดมันด้านชา แล้วเฉยๆแล้ว ไม่สุขไม่ทุกข์แล้ว ไม่มั่นแล้ว แต่ไม่ใช่สภาพไม่มี สภาพเหตุปัจจัย ร้อนแรงแล้วหยาบแล้ว มันต้องการกว่านี้ อย่างนี้ประเภทที่เสริมความด้านชาเข้าไปอีก โอ้โฮ ! กว่าจะล้างออก ย้อนกลับเข้าไป กว่าจะหมด ยิ่งหนัก นั่นหนึ่ง นั่นแสดงว่า อวิชชาเดินหน้า อทุกขมสุขที่ว่านั้น ท่านบอกว่า ทุกข์อวิชชา เพราะอทุกขมสุข ย่อมไม่นอนเนื่อง มันซับซ้อนสั่งสมความอทุกขมสุข อย่างด้านชา อย่างประเภทที่ว่า มันไม่รู้ตัวเลย แล้วเป็นอวิชชาจริงๆ

ทีนี้ อทุกขมสุข อย่างทางด้านสายนิโรธทวาร สายระงับ มันก็จะออกมาเป็นอทุกขมสุข อุเบกขา วางเฉยได้อย่างสะอาดขึ้นมา แต่ไปติดเป็นอัตตา เข้าใจมั้ย มันจะละเอียดลออมาทางนี้ อทุกขมสุข นั้นเป็นอัตตาจริง และหยาบด้วย ด้วยกิเลสที่หนานอนเนื่อง และหนาขึ้นๆๆๆๆ โดยไม่รู้เรื่องต่อไป เพราะฉะนั้น คนนี้ก็มีแต่เดินทิศทางไปเรื่อยเหมือนปากกรวยไปเรื่อย โอ้โฮ ! อีกหน่อยเบ้อเร่อเลย อทุกขมสุขของเขาเบ้อเร่อเลย เหมือนกับคนที่ฝึกหัดจัดจ้าน อย่างคนกินเผ็ด ก็ตาม กินน้ำร้อน อย่างอาตมาเคยยกตัวอย่าง กินน้ำร้อนเหลือเกิน แหม ! ซดเข้าไปปากพอง พวกคนจีนกินน้ำร้อน ของเขาเฉย เก่งด้วยนะ ทำให้ประสาท ทำให้อะไรต่ออะไร ไม่เกิดปฏิกิริยา ปากพองได้ด้วยนะ กินเฉย กินเดือดๆ จริงๆ เลย เดือดๆเลยนะ เอาเทอร์โมมิเตอร์วัดได้เลย เดือดๆนี่ ซู้ด ! มัน เราไม่ต้อง ถึงขนาด ๑๐๐ องศา อย่างเขาหรอก พองๆพองเลยแตะเข้า อาตมาเคยลอง มาแล้ว ถึงได้มาพูด แหม ! กินเข้าไปได้ยังไง ไม่ต้องยังไง ถ้าเข้าใจแล้ว ไม่ต้องสงสัย ก็เขาฝึกจริง และก็เป็นได้ นั่นแหละมัน...จนกระทั่งปฏิกิริยา ของจิตนี่มีอำนาจพิเศษ ที่จะทำให้ปฏิกิริยาของ ผิวเซลล์อะไร ไม่เป็นปัญหา ทนได้ ไม่เกิดอะไรได้ คิดดูซิ จิตมันมีพลังถึงขนาดนั้น จิตมันมีความอุปาทาน ถึงขนาดนั้น อย่างที่ประเภทให้มันเกิด ปฏิกิริยาที่ไม่เป็นแต่เป็น ก็เคยอธิบายให้ฟังแล้ว เคยสะกด อย่างที่ว่านี่ เอาไม้บรรทัดนาบ แค่นั้นแหละ บอกว่านั่นเหล็กเผาไฟแดงๆนะ เอาดินสอหรือไม้บรรทัด นาบลงไปที่แขนนะ พับ ! นี่ สลัดร้อนพับ แดงผื่นพองขึ้นมาเลย ทั้งๆที่ไม้บรรทัด มันไม่มีความร้อน อะไร มันไม่มีอะไรเลย ดินสอแท่งหนึ่ง ไม้บรรทัดอันหนึ่ง พองเลย เป็นเรื่องธรรมดา อุปาทานมนุษย์นี่ มันเหลือกำลัง ไม่ให้มีก็ได้ ให้มีก็ได้ ให้หายไปก็ได้ ไม่มีเลย ให้มีก็ได้ นั่นแหละ คือความบ้า ที่คนเราไม่เข้าใจเท่าทัน ว่าจิตวิญญาณมันบ้าได้ขนาดไหน ที่จริงมันเป็นกิเลส ก็พลังจากจิตนั่นแหละ มันผสมรวมกัน เข้าใจอทุกขมสุข ๒ ด้าน อทุกขมสุข ประเภทที่เรียกว่า สั่งสมกิเลสจนด้านชา นั่นแหละ จะเป็นซาดิสม์ จะเป็นมาโซคิสม์ ส่วนทางด้านอทุกขมสุข มาทางด้านที่ละหน่าย คลาย จาง มาทางด้านนิโรธทวารมานี้ ถ้าไม่รู้ สุดท้ายว่า แม้เป็นอุเบกขา หรืออทุกขมสุขแล้วล้างสะอาดแล้ว ก็จะไปหลงใหลว่า นี่เป็นเรา นี่เป็นของเรา แล้วเสวยว่าเราจะต้องมีอัตตาอยู่ ก็แสดงว่า ยังติดอัตตา ยังมีอัตภาพอยู่ จะไปอยู่กับพระเจ้า สรวงสวรรค์ ทำสะอาด แล้วก็ไปอยู่กับพระเจ้า สรวงสวรรค์ไหน มันก็เป็นพุทธเกษตรอยู่นั่นแหละ แต่ถ้าเผื่อว่า รู้แล้ววางเมื่อไหร่ก็ได้ แล้วจะทำหัดวาง แม้อุเบกขาฐานอาศัย ไม่หลงใหลว่า นี่เป็นเรา เป็นของวิเศษ สะอาดบริสุทธิ์แล้วจริงๆ ขนาดไหน ก็ตาม ก็จะต้องรู้ว่า ต้องพรากจากกัน กับความรู้สึกเวทนานี้ เวทนาอทุกขมสุขนี้ ก็ต้องพรากจากกัน เวทนาก็ไม่ใช่เรา เวทนา อุเบกขาเวทนานี้ ก็ไม่ใช่เรา เราไม่ใช่อุเบกขาเวทนา ต้องมีแยกอีกอัน มันถึงจะสูญอัตภาพ

อธิบายจบแล้ว ถ้าขยายอีก ก็วนเวียนอีกเหมือนกับถามสมถะนั่นแหละ ๒ ชั่วโมงก็ยังไม่พอ อย่างเดิมนั่นแหละ ไม่มีปัญหา ฟังไว้แค่นี้ก่อนก็แล้วกัน

ถ้าเธอเสวยสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เสวยสุขเวทนานั้น ถ้าเธอเสวยทุกขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยทุกขเวทนานั้น ถ้าเสวยอทุกขมสุขเวทนา ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส อทุกขมสุขเวทนานั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นผู้รู้ความจริงตามความเป็นจริง รู้เหตุเกิด รู้ความดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องสลัดออกแห่งเวทนาเหล่านั้น ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น จะไป เสวยเวทนาอย่างไรก็ตาม จะเสวยอทุกขมสุขเวทนา จะเสวยสุขเวทนา จะเสวยทุกขเวทนาก็ตาม ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลส เพราะรู้อุบายเครื่องออกพราะรู้ความดับ เพราะรู้คุณรู้โทษ ย่อมเป็นผู้ปราศจากกิเลสเสวยอทุกขมสุขนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วนี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ปราศจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสะ เราย่อมกล่าวว่า เป็นผู้ปราศจากทุกข์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นความพิเศษ เป็นความแปลกกัน เป็นเครื่อง กระทำให้ต่างกัน ระหว่างอริยสาวกผู้ได้สดับ กับปุถุชนผู้ไม่ได้สดับฯ

เพราะฉะนั้น ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ไม่ต้องกล่าวเลย ขนาดพวกคุณว่า พวกคุณนี่มีเชื้ออริยะ เข้าไปบ้างนี้นะ ทำยิ้มกริ่ม มีเชื้ออริยสาวกเข้าไปบ้าง ทำยิ้มกริ่ม ขนาดนี้ยังขนาดนี้ แล้วจะป่วยการ กล่าวไปใยกับผู้ที่ไม่ได้สดับ หรือสดับก็ไม่รู้เรื่อง นอกจากสดับไม่รู้เรื่องแล้ว ยังจะเอาเราตายอีกด้วย แล้วจะไปพูดกันได้ยังไง เพราะฉะนั้น อย่าพูดกันดีกว่า พูดกันก็ไม่รู้เรื่อง ทะเลาะกันเปล่าๆ ประเดี๋ยว ก็พูดกัน เรื่องอะไรต่ออะไร พอจะสงเคราะห์กันได้ เป็นไง ไม่มีข้าวกินเรอะ ก็เอาข้าวกิน แค่นี้ก็พอ เกื้อกูลกันไปตามประสา จะเอาธรรมะ ประเดี๋ยวก็จะเกิดมานะ เกิดทะเลาะเบาะแว้ง เอ็งพูดผิด เอ็งแปลผิด เอ็งอธิบายผิด เอ็ง ! จะมาทำลายพุทธศาสนา เอ้า ! ก็แล้วไป จบ ผู้ที่รู้แล้วว่า มันพูดกันไม่ได้ก็ต้องจบ ผู้ที่เขาไม่รู้ เขาจะต้องพูดอยู่นั่นแหละ เพราะเขาจะต้องเอาชนะคะคาน เราแพ้ก็ได้ ไม่เป็นปัญหาอะไร สรุป ในข้อต่อมา ท่านสรุป

(๓๗๓) อริยสาวกนั้นเป็นผู้มีปัญญา ทั้งเป็นพหูสูต ย่อมไม่เสวยทั้งสุขเวทนา ทั้งทุกขเวทนา นี้แล เป็นความแปลกกัน ระหว่างธีรชนผู้ฉลาดกับปุถุชน ธรรมะส่วนที่น่าปรารถนา ย่อมไม่ย่ำยี จิตของอริยสาวกนั้น ผู้มีธรรม อันรู้แจ้งแล้ว เป็นพหูสูต เห็นแจ้งโลกนี้และโลกหน้าอยู่ ท่านย่อมไม่ถึงความขัดเคือง เพราะอนิฏฐารมณ์ อนึ่งเวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ นี่แหละ คือไม่มีเวทนาอะไรแล้ว อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เราเรียกว่า ดับเวทนา เห็นมั้ย ภาษา สุดท้ายแล้ว มันจะต้องดับเวทนา เป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะแม้แต่อทุกขมสุขเวทนา หรือ อุเบกขาเวทนา มันก็เวทนาที่อาศัยเป็นฐานนิพพาน ในขณะเรามีรูปนาม ขันธ์ ๕ ไม่ทุกข์ ไม่สุขแล้ว ก็เหลือแต่ว่าเฉยๆ ใช่มั้ย แต่มันก็เป็นเวทนาหนึ่งที่จะรู้สึก และคุณจะต้องไม่หลงว่า เวทนานั้นเป็นเรา เป็นของเรา นี่เป็นตัวร้าย แต่คุณยังไม่ตายอยู่ตราบใด คุณยังจะต้องมีรู้สึกว่า สุดยอดแล้ว จะต้องอาศัยฐาน อุเบกขาฐาน ที่ปริสุทธา ปริโยธาตา มุทุ กัมมันยา ปภัสสรา อยู่อย่างนั้นแหละ แต่นี่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเจตสิกหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ผู้ที่ฉลาดถึงขั้นๆที่ว่านี่ เป็นผู้ที่รู้ซึ้ง เป็นผู้ที่รู้จบอย่างนี้ จึงสรุปได้ภาษาว่า เวทนา เป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ แต่มีเวทนามั้ย ในขณะมีขันธ์ ๕ ก็มันมีอยู่แล้วเวทนา ขันธ์ ๕ ก็คือเวทนาหนึ่ง มันก็ขันธ์หนึ่ง ของขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในขณะที่มีขันธ์ ๕ อยู่เป็นสอุปาทิเสสนิพพาน จะต้องอาศัยเวทนาหนึ่ง แต่เวทนานั้น ไม่ใช่เรา คุณจะต้องหัดวิโมจยัง ปล่อยอยู่ๆๆๆๆ วิโมจยัง ปล่อยอยู่ มันไม่ใช่ เรานะ ต้องฝึกซ้อม ต้องทำจริงไม่ใช่ได้แต่รู้ ต้องไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะฉะนั้น ในขณะที่ไม่ติดการอยู่เฉย หรือการว่างเฉย ก็เป็นความรู้เป็นปัญญาของอริยสาวก เพราะฉะนั้น เราบอกเฉย มันว่างดี วางดี นั่นนะ ไปเลย หนักเข้าก็ไปเลย เป็นฤาษีไปเลย จบแล้วไม่เกิดคุณค่าอะไร เพราะฉะนั้น การสลัดคืน ปฏินิสสัคคะ ก็คือ เราจะต้องรู้ว่า เมื่อว่างก็อย่าว่างๆ เมื่อไม่ว่าง จงว่าง จบ ถ้าไม่จบ ประเดี๋ยวก็วนอีก ต้องจบไว้ก่อน

อนึ่ง เวทนาเป็นอันตั้งอยู่ไม่ได้ เพราะอริยสาวกนั้นไม่ยินดี และไม่ยินร้าย อริยสาวกนั้น รู้ทางดำเนิน อันปราศจากธุลี และหาความโศกมิได้ ย่อมเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ รู้โดยชอบ ฯ นี่ จบสูตรนี้ ถ้าฟังดีๆ และได้ศึกษามาดีๆ แล้วจะพบว่าสูตรนี้ หลายคนอาจจะเคยอ่านผ่าน ผู้ที่เคยอ่านพระไตรปิฎก แต่อ่านแล้ว ก็มีปัญญาเข้าใจ ตามที่เราเข้าใจ ทีนี้ พอฟังอาตมาอธิบายคร่าวๆ มาแล้วนี้ ก็จะรู้ว่า เอ๊ะ ! ไม่เหมือนอย่างที่เราเข้าใจ ใช่มั้ย ไม่รู้ละ ฆราวาสบางคน อาจจะเคยอ่าน บางคน เปรียญเปริญ อาจจะเคยอ่านมา แต่ส่วนมากเปรียญก็บอกว่า เรียนก็ไม่ได้อ่านพระไตรปิฎกหรอก ไปอ่านโน่น ! อรรถกถาจารย์โน่น ไปอ่านอรรถกถา ของฎีกา อ่านวิสุทธิมรรค ไปอ่านอะไรโน่น เสียส่วนมาก สองก็ไปออกข้อสอบอยู่ที่โน่นมาก พระไตรปิฎกไม่ค่อยสอบหรอก เพราะอาจารย์ก็ ไม่ค่อยขยันเปิดพระไตรปิฎกเท่าไหร่ อาจารย์ผู้ออกข้อสอบ เอาเล่มเดียวก็พอแล้ว ก็หากินได้เยอะ แหม ! เล่มเดียว ก็ โอ๊ะ ! ถ้าจะออกข้อสอบแล้วก็ ไม่ยากหรอก ที่จริงก็อาตมาเคยเป็นครู ออกข้อสอบไม่ยาก จะแกล้งนักเรียนก็ไม่ยาก หามุมที่จะให้นักเรียนมันสอบตกก็ไม่ยาก จริงๆ เพราะฉะนั้น ท่านสมณะทั้งหลายแหล่นี่แหละ เคยอ่านผ่านพระสูตรพวกนี้มา และก็จะได้เห็นว่า มันลึกซึ้ง และมันก็มีนัยที่จะต้องเข้าใจ และมีสภาวะจริงๆ จึงจะรู้ว่า แม้กล่าวถึงเวทนาแล้ว เป็นปรมัตถธรรม ยิ่งเข้าใจถึงเวทนา สุขเวทนา ทุกขเวทนา ซึ่งเป็นเวทนาที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆเวทนาที่ว่านี่ เมื่ออ่านอันนี้ให้คุณฟังแล้วก็ มีเนื้อความ ที่ขยายให้ฟังบ้างคร่าวๆแล้ว คุณจะเข้าใจไปถึงว่า สุดท้ายที่บอกว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ นั้นคือผู้ สัญญา จ เวทนา จ นิรุทธา โหนติ เขาก็แปลโดยพยัญชนะออกมาปังเลย ดับ ย่อมเกิดความดับสัญญา เวทนา ใช่มั้ย เปรียญ ใครเปรียญ ? ไม่ต้องเอาถึง ๙ เอาแค่ ๓ ก็ได้ ใช่มั้ย อาตมาไม่มีเปรียญสักเปรียญ ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไรมาก สัญญา จ เวทนา จ นิรุทธา โหนติ ก็ย่อมนะ ย่อม...โหนติ ก็คือ ย่อมเกิดสภาพอย่างนี้นั่นแหละ โหนติ นี่ ย่อมเกิดสภาพสัญญาและเวทนา นิรุทธา เขาก็แปลว่า ดับ ย่อมดับ ต้องเกิดอย่างนี้ ต้องเกิดสภาพดับ ดับหมด ดับเวทนา ดับสัญญา แล้วคิดดูซิ แล้วมันไม่เป็นฤาษีได้ยังไงล่ะ ก็คำสอนในพระไตรปิฎก ก็แปลอย่างนี้ทั้งโลก ฝรั่งก็แปลอย่างนี้ ด้วยกันทั้งโลก ไม่ใช่ในประเทศไทย นะ

เพราะฉะนั้น อาตมาอธิบายออกมาว่า ไม่ได้ดับเวทนา ไม่ได้ดับสัญญา เถียงนัก พุทธธรรม พุทธศาสนาทั้งโลก ฟังเอาไว้ ตำราของอิสเดริท ตำราของนักธรรมะ นักบาลีทั้งหลาย ที่ระดับโลก เขาถือกันอะไรกันนี่ จะเป็นคนอื่น ก็แล้วแต่เถอะ ทั้งโลก จะต้องเถียงกับอาตมาทั้งโลก อาตมาจะต้อง แปลผิดจากเขาทั้งโลก เรื่องนี้นี่ใหญ่กว่าไอ้ที่ ไอ้ขี้หมู ขี้หมา ที่กำลังแย้งอาตมา ที่ว่า อาตมา แปลบาลีผิด แล้วเขาก็แย้งมา แค่อุปสัมบัน อนุปสัมบัน โถ ! อย่าเพิ่งก้าวที่ ๑ ของบันได นี่ สัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญา ดับสัญญานี่ ก้าวถึงนิพพานนะ สุดท้าย นะๆ นิพพานนะ ย่อมทำให้หลักการพุทธศาสนาเสีย ผู้ไม่ซื่อตรงต่อหลักการพุทธศาสนาอย่างนี้ ควรจะออกไป จากพุทธศาสนาได้แล้ว ใช่มั้ย? นี่ยิ่งกว่าอุปสัมบัน อนุปสัมบัน ยิ่งกว่าพาหุสัจจะ พหูสูต ยิ่งกว่านะ อาตมาแค่ขยายความพหูสูต พาหุสัจจะแค่นั้น จะเอาอาตมาตาย ไล่อาตมาออกจากพุทธแล้ว ตอนนี้ต้องไล่อีก ๓ ตลบ ต้องออกจากพุทธไปอีก ๓ ตลบ ออกตลบเดียวยังไม่พอ ต้องให้ห่าง จากพุทธไปอีก ๓ ตลบ อย่าให้มาใกล้ ถ้าขืนใกล้ เดี๋ยวเชื้อมา เชื้อโพธิรักษ์เข้ามาสู่ศาสนาพุทธ เพราะฉะนั้น นอกจากไล่ออกจากศาสนาพุทธแล้ว คงจะต้องไล่ออกจากประเทศอีกด้วย ไม่ใช่เรื่องเล่นนะ

แล้วฟังดูดีๆ มันไม่ใช่เรื่องตื้นเขิน ไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย อาตมานึกเห็นใจ ถึงเข้าใจว่า โอ้โฮ ! จะแก้ฤาษียังไง อาตมาตอนแรก ถึงรุนแรงกับฤาษีมาก พวกเรา จนกระทั่ง มานั่งเจโตสมถะอะไร ก็ไม่เอาแล้ว รุนแรงกับฤาษีมากตอนแรก เอ้ ! จะทำยังไงหนอ พวกเราไปหลงใหลได้ปลื้มติดอยู่ยังงี้ อาตมาถึงต้องแก้ปมนี้ เป็นเรื่องที่แรง เป็นเรื่องที่จัด จนกระทั่ง มาถึงวันนี้ มาถึงการอธิบาย คราวนี้แล้ว พวกคุณก็มีพื้นฐาน หรือมีอะไรต่ออะไรมารองรับแล้ว อาตมาก็อธิบาย ก็พูดกับพวก ถึงขนาดนี้ก็ตามเถอะ ผู้ที่ฟังอาตมาอธิบาย ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่อง ใครบ้างยกมือขึ้นซิ ตอบจริงๆ ผู้มาใหม่ อาตมาเชื่อว่าจะรู้เรื่องได้ยาก ใครบ้าง ที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ยกมือขึ้นซิ กล้าๆพูด ตรงๆ อาตมาอยากจะวัดจะเช็คด้วย ใครไม่รู้เรื่อง ที่พูดมานี่ ฟังแล้วก็ไม่รู้เรื่องหรอก โอ้ ! อะไรน้อ สัญญา จ เวทนา จะ อากิญจัญญา อทุกขมสุขเวทนา อะไรบ้างไม่รู้เรื่อง ใครไม่รู้เรื่องเลย ฟังแล้วฟังไม่เข้าใจ มันไม่รู้เรื่องยกมือซิ เอ้า ! ก็ไม่ใช่น้อยๆ คนใหม่ๆ มา เลยไม่รู้เรื่อง เอา! คนใหม่ที่ไม่รู้เรื่องยกมือซิ ก็ไม่ใช่น้อย คนใหม่ ไม่สงสัย คนใหม่มาไม่รู้เรื่อง ไม่สงสัย

คนเก่า เก่านี่ หมายความว่า ๓ ปีขึ้นไป ไม่รู้เรื่อง ยกมือซิ ๓ ปีขึ้นไป บางคน ๑๐ กว่าปีแล้วไม่รู้เรื่อง อาตมาไม่สงสัย ใครรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง เยอะ รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง นี่เยอะ อาตมาไม่ได้ดูข้างหลัง ยกมือไม่ยกมือ ไม่รู้เรื่องละนะ ที่นั่งอยู่หลังๆนี่ ไม่รู้เรื่องหรอก ไม่ยกสักอย่าง ใช่มั้ย รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ใครรู้เรื่องค่อนข้างดี เออ รู้เรื่องค่อนข้างดี เอาละ ไม่เอารู้เรื่องอย่างสมบูรณ์ ไม่เอา ไม่ถาม กลัวจะพบพระอรหันต์ ทิ้งไว้ อาตมากลัวจะพบพระอรหันต์ ยังไม่ถาม รู้เรื่องดีที่สุด ไม่เอา รู้เรื่องค่อนดี รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ยังงั้นแหละ อาตมาว่า บางทีฟังขนาดนี้ พอออกไปแล้ว มันอะไรว้า ท่านบรรยาย อุตส่าห์ตั้งเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง เอ๊ะ ! เมื่อกี้ก็ว่าเข้าใจ เข้าใจนะ พอมาอ่านไป อ่านเองอีกบ้างนี่ มันยังไง มันยังไงว้า ก็ว่าเข้าใจดีนะตอนฟัง เข้าใจ มันยังไง! เอ้า จริงๆ ! จริงๆ อาตมาเชื่อเช่นนั้น เพราะอาตมามีประสบการณ์ที่ผ่านอย่างนี้มา ใช่มั้ย? เพราะฉะนั้น ย่อมรู้ความจริงๆ อย่างนี้

อาจจะมีสูตรอื่นอีก ท่านพุทธชาโตพบ ก็เอามาแถมให้ อาตมาไม่ได้เตรียม บอกตรงๆ อาตมาเป็นครู ที่เตรียมการสอนน้อย มันได้ขนาดนี้ นี่เป็นบุญของพวกคุณแล้ว อาตมาตอนแรก ก็คิดถึงแต่เฉพาะ อานาปาณสติสูตร เสร็จแล้วก็อ่านพระไตรปิฎกย่อที่สอนอยู่ ก็พอดีมันตรง ส่วนมากอาตมาเห็น อย่างนั้นแหละ อาตมาพออธิบายถึงตรงนั้น ตรงนี้ไป จะมีโน่นมีนี่ หยิบพระสูตร คนนั้นคนนี้ จะต้องหยิบตอนนั้นตอนนี้มาให้ มันจะสอดคล้องกับตอนที่ อาตมากำลังอธิบาย อันนี้ไว้อยู่เรื่อยๆเลย ก็เห็นว่า เออ อยู่ในพระสูตรนี่ กำลังอ่านอยู่พอดี ก็เลยเอามาให้ ฯลฯ.. ท่านพุทธชาโตก็ไป เจอพระสูตรพวกนี้อีก ก็เอามาให้อีก ก่อนจะมานี่เอง อาตมาก็เออดีๆๆ ชัดขึ้น ขยายความกันขึ้นชัด ทำให้ได้รู้อะไรดีขึ้น อาตมาก็เอามา ก็เลยมาอธิบาย มาอ่านให้ฟัง เอามาให้หมดเสียเลยอีกสูตรหนึ่ง อีกประมาณ ๑๕-๑๖ นาที เมื่อเข้าใจสูตรเมื่อกี้แล้ว สูตรนี้อีกสูตรหนึ่ง ก็จะเข้าใจเพิ่มเติมขึ้น แต่ใช้ภาษาต่างกัน ภาษาต่างกันขึ้นมานิดหนึ่ง

สมุคคสูตร สูตรว่าด้วยนิมิต นิมิต ๓ เล่ม ๒๐ ข้อ (๕๔๒) ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งนิมิต ๓ ตลอดกาลตามกาล ตลอดกาล ตาม กาล หมายความว่า ทำให้ทั้งในช่วงนั้นๆ เรียกว่าตามกาล และทั้งต่อเนื่องอยู่เสมอ เรียกว่าตลอดกาล ตามกาล คือ พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งสมาธินิมิต ๑ สมาธินิมิต ฟังไว้คำหนึ่ง พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งปัคคาหนิมิต ๑ พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งอุเบกขานิมิต ๑ มีคำว่า อุเบกขา ชัดขึ้นมาอีกตัวหนึ่งแล้วนะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจ เฉพาะแต่สมาธินิมิต ตอนนี้จะต้องฟังให้ดีนะ สมาธินิมิต นี้จะหมายว่าอย่างไร เดี๋ยวจะได้เข้าใจ

พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่สมาธินิมิต โดยส่วนเดียวเท่านั้น พึงเป็น เหตุเครื่องให้จิตเป็นไป เพื่อความเกียจคร้าน จำไว้นะ พวกสมาธิ พวกนักสมาธิ ทั้งหลายแหล่นี้ ลงหลุมนี้หมด พร้อมทั้งพวกเรา ที่ยังเอียงอยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น ผู้ใดมีเชื้อฤาษี เชื้อนักสมาธิ ฟังไว้ ที่จริงเราเอาทั้ง ๓ นะ หลักสมาธิเราก็เอา ปัคคาหะเราก็เอา อุเบกขาเราก็เอา แต่ไปอย่างหนึ่ง อย่างเดียว หรือเอียง ไม่สมดุล ไม่เสมอสมาน และไม่รู้จักกาลตามกาล เราจะมีตลอด แต่เรารู้จักกาลตามกาล รู้จักวาระตามวาระ วาระใดเราใช้สมาธินิมิต วาระใดเราใช้ปัคคาหนิมิต วาระใดเราใช้อุเบกขานิมิต จะต้องเข้าใจ เราใช้ แต่ที่มันเอียงโต่งทุกวันนี้ มันเอียงโต่งไปทาง สมาธินิมิต ปัคคาหนิมิตมันก็ไม่เอา โดยเฉพาะ มันจะไม่เอา เพราะมันเข้ากับกิเลส มันชอบเกียจคร้าน ปัคคาหนิมิตคือความขยัน ปัคคาหะ แปลว่าความเพียร สมาธินั่นแหละ สมาธิที่ทั้งโลกที่เขารู้อยู่นี่ พระพุทธเจ้าเจตนาใช้คำว่า สมาธินิมิต นี่ อาตมาว่า ชัด ว่าจะทำลาย สมาธิทั้งหลาย ที่ฤาษีทั้งหลายแปลเรียกสมาธิ เพราะฉะนั้น อธิจิต ที่เรียกว่า สมาธินั่นแหละ สมาธิเขาทั้งหลาย นั่นแหละท่านซ่อนไว้ ท่านเรียกกลางๆ สมาธินิมิต เพราะฉะนั้น เครื่องหมาย ที่เป็นสมาธิของเขา ที่เขาทำกัน ก็ได้เครื่องหมายนั่นแหละ คือ ได้ความสงบระงับอะไร แล้วก็หนีเข้าไปอยู่ในภพนั้นแหละ สมาธินิมิต ทำอธิจิต อย่างสมาธินิมิตอย่างนั้นแหละ ส่วนปัคคาหนิมิตนั้น ปัคคาหะแปลว่าความเพียร ปัคคาหะแปลว่า ความขยัน แปลว่าความเพียร มันแก้กัน เอาความเพียรมาแก้ตัวนี้ ถ้าใครไปโต่งอยู่ในสมาธินิมิตอย่างเดียว ก็จะอยู่อย่างนั้นแหละ ทีนี้ ท่านมีอุปมาอุปมัยด้วย เพราะฉะนั้น จะทำให้จิตเกียจคร้าน

ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ปัคคาหนิมิตโดยส่วนเดียว ฟังให้ดีนะ เป็นโทษด้วยเหมือนกัน แต่ปัคคหนิมิตโดยส่วนเดียวเท่านั้น พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตเป็นไป เพื่อความฟุ้งซ่าน ชัดเลยนะ แต่ก็ไม่ขยันก็ไม่ได้ ต้องแก้กลับอีกแหละ เอาฟังต่อไป

ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่อุเบกขานิมิต โดยส่วนเดียว ฟังดีๆ คล้ายๆกับว่า เอ๊! ถ้าเราไปทำสมาธินิมิตแล้ว มันจะกลายเป็นขี้เกียจ ที่จริงมันน่าจะอยู่ที่อุเบกขา มันถึงจะขี้เกียจ ใช่มั้ย ฟังมาขนาดนี้ พอมาถึงตรงนี้แล้ว ลองฟังดู เอาลองฟังต่อ

พึงกำหนดไว้แต่เฉพาะอุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่อง ให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบ ไม่ใช่คำที่เราเดาง่ายๆแล้ว ถ้าใครไปเอาแต่อุเบกขานิมิต โดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิต เดี๋ยวจะขยายความ

พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบ ทั้งๆที่ แหม! มันน่าจะอุเบกขา อุเบกขาอยู่บ่อยๆ มันน่าจะตั้งมั่น มันน่าจะสิ้นอาสวะโดยชอบ ใช่มั้ย ไปทำสมาธิแล้วก็จนกระทั่ง ถึงฌาน ๔ แบกขาอยู่อย่างนั้นล่ะ พูดเสียให้ มันแสลง ให้มันดูน่าเกลียด น่าชังหน่อยหนึ่ง แล้วนั่งนิ่งแบกขาอยู่นั่นแหละ ก็น่าจะสิ้นอาสวะโดยชอบ มันน่าจะมีความตั้งมั่น แต่พระพุทธเจ้า กลับว่า พึงเป็นเหตุ เครื่องให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบ เพราะที่จริงนั้น มันได้แค่สมาธิ ที่จริงเท่านั้น มันไม่ได้เป็นอุเบกขาอย่างพุทธ เข้าใจมั้ย อุเบกขา อย่างพุทธ นั่น เขาไม่ได้ไปติดอุเบกขา บอกแล้วว่า ว่างแล้วอย่าว่าง ชัดขึ้นมั้ย ว่างแล้วอย่าว่าง แต่ไอ้นั่น มันว่างแล้ว จงอยู่ว่างๆ โอ๊ย ! แล้วมันจะไปสิ้นอาสวะโดยชอบอะไร จะไปตั้งมั่นอะไร มันก็จมดิ่งเท่านั้นเอง รู้จักความตั้งมั่นมั้ย ตั้งมั่นไม่ใช่จมดิ่ง จมดิ่งนั่นน่ะฝังเลย ฟังภาษาไทย คุณฟังภาษาไทยดีๆ ถ้าคุณไม่ฟังภาษาไทยอย่างที่อาตมาพูดแล้วนะ บาลีมันมี เท่านี้แหละ ภาษามันตายแล้ว และเขาก็เข้าใจกัน เพราะคนสมัยเรียนกับพระพุทธเจ้า เป็นคนยังไง เป็นคนมีบารมี เป็นคนมีบุญ มีปัญญา มีอะไรพร้อมที่จะศึกษาธรรมะ ที่จะฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ แค่ ๔๕ พรรษา ก็เป็นพระอรหันต์อย่างน้อยนะ ให้พวกคุณไปพบพระพุทธเจ้าอีก ไม่ใช่ ๔๕ ปีหรอกนะ ๔๕๐ ปี ๔๕๐๐ ปี จะบรรลุอรหันต์หรือยัง ยังไม่รู้นะ จะเป็นพวกกระอักเลือดเหรอ เอา! เดี๋ยวจะหมดเวลา เดี๋ยวจะไม่จบสูตรนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุผู้ประกอบอธิจิต กำหนดไว้ในใจ ซึ่งสมาธินิมิตตลอดกาล ตามกาล เมื่อกี้ให้คำกำชับความ หรือคำขยายให้ฟังแล้วว่า ตลอดกาล ตามกาลอย่างไร?

กำหนดไว้ในใจ ซึ่งปัคคาหนิมิต ตลอดกาลตามกาล ทำอยู่ตลอดเวลา ทำเสมอแล้วให้รู้จักจังหวะตามกาล ให้รู้จักครั้งจักคราว ปัคคาหนิมิตตลอดกาลตาม กาล

กำหนดไว้ในใจซึ่งอุเบกขานิมิต ตลอดกาลตามกาล เมื่อนั้น จิตนั้นย่อม อ่อนควรแก่การงาน อาตมาอ่านถึงจิตนั้นย่อมอ่อน เมื่อไหร่แล้วก็ แหม ! มันอ่อน ใจจริงๆเลย ฟังภาษานี้แล้ว ไม่น่าเลย มันน่าจะแก้จริงๆด้วย ฟังแล้วมัน แหม ! มันต้องแข็งแรงนะ อันที่จริง มันค้านแย้งกับตั้งมั่นเหลือเกิน ฟังแล้ว ภาษาคิดว่า อ่อน มันน่าจะผิด แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะว่า อาตมาก็ไม่ได้แปลกับท่าน อาตมาก็ยังไม่ได้คิดเหมือนกันนะว่า จะเอาภาษาคำว่าแปลมุทุ คำนี้อะไรดี จิตนั้น ย่อมอ่อนควรแก่การงาน ผุดผ่องไม่เสียหาย แน่วแน่เป็นอย่างดี เพื่อความสิ้นอาสวะ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนช่างทอง หรือลูกมือช่างทอง ตระเตรียมเบ้า แล้วติดไฟ แล้วเอาคีมคีบทองใส่ลงปากเบ้า แล้วสูบเสมอๆ เอาน้ำพรมเสมอๆ เร่งสูบเสมอฯ หนึ่ง มีสูบเสมอๆ สอง มีเอาน้ำพรมเสมอๆ สาม มี เพ่งดูเสมอๆ มี ๓ ลักษณะ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าช่างทอง หรือลูกมือช่างทอง พึงสูบทองนั้นแต่อย่างเดียว ตอนนี้ ไม่เอาทั้งพรมตอนนี้ไม่เพ่งดู สูบอย่างเดียว พึงเป็นเหตุให้ ทองนั้นไหม้ จริงมั้ย สูบตะพึด น้ำก็ไม่พรม ดูก็ไม่ดู สูบรับรองไหม้ ทองนั้นย่อมไหม้ ถ้าช่างทอง หรือลูกมือช่างทอง พึงเอาน้ำพรมแต่อย่างเดียว ไม่สูบ ไม่ดูไฟดับ จิตนะ อุทาหรณ์นี่ดีจริงๆเลย พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นเย็น แต่เดี๋ยวฟังดีๆนะ เอาน้ำพรมอย่างเดียว นี่มันดูกลับกันนะ ไม่ฟุ้งซ่าน เหมือนกับจะไม่ฟุ้งซ่าน แต่ฟุ้งซ่านอย่างยิ่ง ฟังดีๆ เหมือนเย็นนะ ใช่มั้ย จะเผาทอง จะละลายทอง แต่เสร็จแล้ว ก็คุณไม่สูบ คุณเอาน้ำเย็นพรมอย่างเดียวนี่ คือหมายความว่า เพ่งปัคคาหนิมิต เพ่งปัคคาหนิมิตอย่างเดียว คือ หมายความว่า ขยันมันลูกเดียว ฟังดีๆนะ อุทาหรณ์นี่ มันจะด้านแย้งกับความสมมุตินี่นิดหนึ่ง เล่นเอาน้ำพรมอย่างเดียว มันน่าจะเย็นใช่มั้ย ฟุ้งซ่านนี่ร้อนนะ มันกลับกัน พึงเอาน้ำพรม แต่อย่างเดียว พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นเย็น ถ้าช่างทองหรือลูกมือช่างทอง พึงเพ่งดูทองนั้น แต่อย่างเดียว พึงเป็นเหตุให้ทองนั้นสุกไม่ทั่วถึง ตัวนี้สำคัญ ที่อาตมาบอก แล้วเมื่อกี้นี้ เป็นเหตุเครื่องทำให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อความสิ้นอาสวะโดยชอบนั่นน่ะ นั่นแหละ ฤาษีจมฝังดุ่ย ที่บอกว่าหลงอุเบกขาแบบโมหะ อทุกขมสุขแบบโมหะหลงเฉย นึกว่ามันเป็นความเฉย ที่แท้มันเป็นอทุกขมสุขแบบด้านชา อทุกขมสุขแบบไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดอะไรต่ออะไรเราเลย เพราะฉะนั้น จึงต้องออกมาขยัน ต้องออกมาสูบ ออกมาพรม ออกมาเพ่งดู ตรวจตราละเอียด ต้องตรวจตรา ต้องทำเสมอ เมื่อช่างทองนั้น เพ่งดูแต่อย่างเดียว พึงเป็นเหตุให้ทองนั้น สุกไม่ทั่วถึง ไม่สูบ ไม่พรมน้ำ เอาแต่เพ่งดูอย่างเดียว ก็สุกไม่ทั่วถึง นั่นแหละ นั่งเพ่ง ว่างๆๆๆๆๆๆ อุเบกขาๆ อุเบกขาๆๆ แหม ! มันชัดดีจริงๆนะ ไม่รู้จะชัดอย่างไรแล้วละ โอ้ ! เอาสูตรพวกนี้ มาเสริมชัดที่สุด สุกไม่ทั่วถึง และไม่มีทางทั่วถึง และไม่มีทางรู้กิเลส ที่ซับซ้อน ไม่รู้กิเลสเกิด มีแต่นอนเนื่องๆ หมักหมมๆๆๆๆๆๆๆๆ จม บุ๋ม ! แหม ไม่รู้จะจมยังไง จมไม่มีฟูเลย จมมั่งดุ่ย นี่มันจะเป็นยังงี้ สุกไม่ทั่วถึง

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดช่างทอง หรือลูกมือช่างทอง สูบทองนั้นเสมอๆ เอาน้ำพรมเสมอๆ เพ่งดูเสมอๆ เมื่อนั้น ทองนั้นย่อมเป็นของอ่อน ควรแก่การงาน ผุดผ่อง และไม่แตกง่าย เข้าถึงเพื่อการทำโดยชอบ และช่างทองหรือลูกมือช่างทอง มุ่งประสงค์สำหรับเครื่องประดับชนิดใดๆ คือแผ่นทอง ต่างหู เครื่องประดับคอ หรือดอกไม้ทองก็ดี ย่อมสำเร็จสมประสงค์ของเขาทั้งนั้น หมายความว่า ช่างทองนั้น ให้มาดีแล้ว ทีนี้ จะมาทำรูปพรรณอะไร ตกแต่งประดับประดาอย่างไร เหมือนอาตมา เป็นศิลปินตอนนี้ นี่กำลัง ประดับประดา กำลังทำเครื่องตบแต่งให้พวกคุณ ได้กันไปคนละดอกๆๆ แล้วนะ เครื่องประดับได้ไปแล้วนะ คนละดอก ใครไม่ได้ก็ช่าง แจกทุกคนแล้ว นั่งง่วงนั่งงุบอยู่ตรงนี้ก็ไม่ได้อะไร ถ้าไม่นั่งง่วงนั่งงุบรับเอาอย่างดี ใส่ใจ ตั้งใจเงี่ย สดับสดับ ทำดี ทำจิตรับดี ก็จะได้

แม้ฉันใด ฉันนั้น เหมือนกันแล ภิกษุทั้งหลาย ฟังดีๆนะ จะอ่านเร็ว ภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจซึ่งนิมิต ๓ ตลอดตามกาล คือ พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งสมาธินิมิต ๑ พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งปัคคาหนิมิต ๑ พึงกำหนดไว้ในใจ ซึ่งอุเบกขานิมิต ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ สมาธินิมิตโดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิตเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน ถ้าภิกษุ ผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจ เฉพาะแต่ปัคคาหนิมิตโดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิต เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่าน ถ้าภิกษุ ผู้ประกอบอธิจิต พึงกำหนดไว้ในใจเฉพาะแต่ อุเบกขานิมิตโดยส่วนเดียว พึงเป็นเหตุเครื่องให้จิต ไม่ตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นอาสวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุผู้ประกอบอธิจิต กำหนดไว้ในใจ ซึ่งสมาธินิมิตตลอดกาลตามกาล กำหนดไว้ในใจซึ่งปัคคาหนิมิต ตลอดกาลตามกาล กำหนดไว้ในใจซึ่งอุเบกขานิมิตตลอดกาล ตามกาล เมื่อนั้น จิตนั้นย่อมอ่อน ควรแก่ การงาน ผุดผ่อง และไม่เสียหาย ย่อมตั้งมั่นโดยชอบ เพื่อความสิ้นอาสวะ และ ภิกษุนั้น ย่อมโน้มจิตไปเพื่อทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ซึ่งธรรมที่ ควรทำให้แจ้ง ด้วยปัญญาอันยิ่งเองใดๆ เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่ ถ้าภิกษุนั้นพึงหวังว่า เราพึงแสดงฤทธิ์หลายประการ ฯลฯ พึงทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ ฤทธิ์ที่ทำให้แจ้งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุตินะ ไม่ใช่ที่ไป ทำเดรัจฉานวิชา อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ เธอย่อมสมควรเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ในเมื่อเหตุมีอยู่ เป็นอยู่ ฯ เอาล่ะ! สูตรนี้ลึกซึ้ง ลึกซึ้งอีก เวลาจะหมดลง ก็ขยายก่อนจะลุกจากที่นั่งนี่ไปซักนิดหนึ่งนะว่า

สรุปแล้วมีอยู่ ๓ นิมิต สมาธินิมิต ปัคคาหนิมิต อุเบกขานิมิต ตีตรา อุเบกขาก่อน อุเบกขานิมิต ที่เป็นมิจฉาทิฏฐินั้น เป็นอุเบกขา ฟังดีๆนะ อุเบกขานิมิต เป็นมิจฉาทิฏฐินั้นก็คือ นั่งเจโตสมถะ แล้วก็นั่งแช่ติดเอาแต่อุเบกขา ไม่ได้ทำอะไร ต่ออะไรที่มันรุ่งเรืองกว่านั้น เอาแต่เฉย อทุกขมสุข หรืออุเบกขา วางๆ ประเภทที่ไม่เกิดปัญญา ไม่เกิดรู้เรื่องอะไร ไม่รู้เหตุ ไม่รู้กาล ไม่รู้กาละ เอาแต่นั่งจม กับจมต่ออยู่อย่างนั้น ไม่รู้กาลตามกาล ไม่รู้จักที่จะทำอะไร ตามกาล สมาธิแบบฤาษีเลย ทำอย่างนี้ตลอดไป เพราะฉะนั้น คำว่าสมาธินิมิต ทำอธิจิตสมาธินิมิต สมาธินิมิตนั้น หมายความในสภาพความสมถะ สมาธินิมิต ความสงบอย่างสมถะ สมาธินิมิต เป็นความตั้งมั่น ถ้าจะแปลสมาธิว่าตั้งมั่นอย่างที่ เขาเข้าใจว่า ตั้งมั่นก็คือ ทำให้มันบ่อยๆ ทำให้มันเสมอๆ อย่างที่เขาทำ เขาจะทำในระดับรูปฌาน หรือเขาจะทำในระดับอรูปฌาน ในสมาธิฤาษี อย่างใดๆ แล้วก็เอาแต่จมอยู่อย่างนั้นๆโดยไม่มีมรรคองค์แปด โดยไม่มีการขยัน หมั่นเพียร โดยไม่มีการงาน โดยไม่มีการรู้ตามกาล ไม่รู้กาลรู้ควรว่า เอ๊ะ ! จังหวะนี้ จะทำอะไร ควรจะเป็นอะไร โดยเฉพาะ ไม่ได้ปฏิบัติโดยสูตรโพธิปักขิยธรรม ไม่ได้รู้ผัสสะ ไม่รู้จักกิเลส ไม่รู้จักแล้วก็ไม่เป็นสมถะแบบพุทธด้วย เขาจะเป็นลักษณะนี้ จะทำให้เกิดเกียจคร้าน จะเกิดเกียจคร้านจริงๆ มีคนถามมาซ้อนบอกว่า นิมิต ๓ นิมิตนั้น ก็รวมเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญาใช่ไหม? อย่าไปโมเมมากเกินไป ไอ้นั่นมันหยาบ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นองค์รวม เป็นองค์กว้างๆ อันนี้กำลังเจาะเข้าไป ในๆภายใน ของสภาพของการเรียนถึงขั้นฌาน ขั้นสมาธิ

เพราะฉะนั้น ไอ้นี่ เอามาปนเปกันเข้าไป โดยเฉพาะไปเอาศีลเข้ามาอีก มันจะยุ่งกันใหญ่ มันไม่ได้ยังงั้น ถ้าเพ่งสมาธิโดยการเอาแต่สูบ เอาแต่สูบ อย่างเดียว ฟังดูแล้ว มันเหมือนจะร้อน ไหม้ ทองไหม้นะ คือ เอาแต่สมาธินิมิต อย่างเดียว เอาแต่สูบอย่างเดียว ทองไหม้ ที่จริงก็คือ ลงนรกไปเลย เป็นโลกันต์ ลงนรกไปเลย ยอมดิ่งไปเลย ไม่ผุดไม่เกิด ประเภทนี้ ไม่เกิดอริยคุณนั่นเอง เพราะมันหมักหมม มันนอนเนื่อง แล้วมันก็ทับถมลงไปเรื่อยๆ มันยิ่งไม่รู้เรื่อง มันเกิดอวิชชา อวิชชา คือสภาพที่ท่านบอกไว้ตอนหลังนั่นแหละว่า อทุกขมสุข สูตรก่อนนี้ นั่นจะเป็นอวิชชา แล้วไม่สิ้นอาสวะโดยชอบ มีแต่อวิชชา เมื่อกี้นี้ ก็อยู่ในตัว ก็บอกอยู่แล้วว่า มันจะมีแต่อวิชชา มันเป็นเครื่องเหตุไม่สิ้นอาสวะโดยชอบ เป็นการที่ไม่รู้รายละเอียด มันจะมีแต่อย่างนั้น ส่วนเอาแต่พรมน้ำ หรือเอาแต่ขยัน เอาแต่ขยัน ปัคคาหนิมิต เอาแต่มีแต่ผู้ที่มีสภาพที่เพียร มีสภาพที่เอาแต่ความรู้ ฟังดีๆนะ ปัคคาหะ เป็นสภาพลักษณะต่างกันกับสมาธินิมิต สมาธินิมิต นี่เอาแต่การตั้งมั่น เอาแต่การอยู่ในภพ เอาแต่การสงบ เอาแต่การสมถะ ส่วนปัคคาหะนั้น เอาแต่ความเพียร เอาแต่ความรู้ เอาแต่วิปัสสนา เอาแต่งานคิด คิดหาแต่ ความรู้เป็นพวกมหายาน ส่วนสมาธินั้น เป็นพวกหินยาน หรือเถรวาทนี่ มันเอียงโต่งแล้วขณะนี้ ถ้าเอาแต่อย่างโต่งไป ด้านใดด้านหนึ่งอย่างนี้ ลักษณะนี้ ตรงตามพระพุทธเจ้าตรัส เอาแต่สมาธิ อย่างที่จะโต่งไป เอาแต่สมถะ เอาแต่ ความตั้งมั่น เอาแต่ภพ เอาแต่สงบ เกียจคร้านแน่นอน ใครก็รู้ ไม่ต้องเอาใครหรอก คุณคึกฤทธิ์ยังรู้เลย อย่าเอามาสอน นี่โลกุตตระอย่างนี้ อย่าเอามาสอนนะ พัฒนาไม่ขึ้น จริงที่สุด ก็เมื่อเข้าใจสภาพศาสนาเป็นอย่างนั้น ก็ผิดนะซี ใช่มั้ย มันก็ต้องเกียจคร้าน มันจะพัฒนาอะไรขึ้นไม่ได้ ไม่ขึ้น แล้วก็จริงที่สุด ทีนี้ เอาแต่ขยัน ขยันไม่ถูกอีกแหละ ฟังตอนที่ มันไม่ถูกก่อน เขาเอาแต่จะหาความรู้ เอาแต่จะความเพียร แต่ไม่ได้เพียรถูกสภาพเลยว่า จะต้องมีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีการงาน อันสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ สัมมาอาชีพ อย่างไร ไม่รู้เรื่อง ปฏิบัติมรรคองค์ ๘ หรือปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมไม่เป็น เอาให้ชัดๆก่อน เอาแต่คิดๆๆ ก็ฟุ้งซ่านนะซี ก็ท่านบอกตรงๆแล้วว่า จะเกิดฟุ้งซ่าน ก็อ่านไปแล้วเมื่อกี้ ก็ฟุ้งซ่านแน่ เอาแต่พรมน้ำ สุกทองนี่ เอาแต่พรมน้ำ ที่จริงบอกแล้ว มันจะค้านแย้งกับสภาพ เอาแต่พรมน้ำ ทองมันก็เย็นแย่เลย มันไม่ฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมันไม่เย็น มันร้อน มันร้อนนะ หยุดไม่เป็นเลยนะ มันก็จะเกิดนี่ ปัคคาหะ ก็คือ เพียร เอาแต่คิด เอาแต่มหายานนี่แหละ มหายานสายเรียนรู้ ไม่มีทางที่จะเจริญได้ เพราะฉะนั้น เอาแต่พรมน้ำๆ ก็เกิดจิตฟุ้งซ่าน ตามชัดที่ท่านบอกแล้วฟุ้งซ่าน อันแรก จิตเกียจคร้าน ทีนี้ อุเบกขาจะทำให้จิตไม่ตั้งมั่น เพื่อสิ้นอาสวะโดยชอบ ก็เพราะเอาแต่แบบเซ็น ทีนี้แบบเซ็น อุเบกขานี่ ถ้าเผื่อว่า ทางลืมตาจะแบบเซ็น ถ้าหลับตาจะไปสมาธิ เข้าใจอุเบกขาว่า เออ ! ปล่อยมัน ว่างมัน วางมัน อย่าไปยุ่งกับมัน ไม่เอาๆถ่านอะไรกับมันอีกแหละ พวกนี้มีปัญญาๆ พอจะเลี้ยงตัวได้ ขยันหมั่นเพียรไม่ค่อยเท่าไหร่หรอก แต่ว่ามีปัญญา ขยันหมั่นเพียรไปอยู่ที่ปัคคาหะ ขยันหมั่นเพียร ก็ไม่เท่าไหร่ แต่ปัญญาพอกินพอใช้ พอ อะไรต่ออะไร ถ้ามีปัญญามากก็รวยมาก มีเล่ห์เหลี่ยมมาก มีอะไรต่ออะไรมาก ดีไม่ดี ก็เอาธรรมะนี่แหละ มาขายกิน ได้ทั้งยศ ได้ทั้งลาภมากมาย ได้อย่างนั้น ได้ทั้งยศ ได้ทั้งลาภมากมาย มันไม่ตั้งมั่นจริง ไม่สิ้นอาสวะจริง อธิบายอย่างฤาษี ทีนี้ นี่อธิบายอย่างเซ็น อธิบายอย่างปัญญาเป็นอย่างนี้ อธิบายอย่างฤาษี ถ้าเป็นอุเบกขาอย่างฤาษี มันควรจะตั้งมั่น แต่ไม่ใช่ เพราะจิต อธิบายขยายมาจากสมาธิ บอกแล้ว ถ้าเอาความหมาย สมาธิเป็นแบบที่เอาแต่ภพ ใครจะภพรูปฌาน อรูปฌาน หรือว่าตื้น ก็เอารูปฌานก็ตาม เอาแต่นั่งๆๆๆ ขี้เกียจแน่ ทีนี้ อย่างนี้จะไม่ตั้งมั่น จะไม่สิ้นอาสวะ ที่จริง มันควรตั้งมั่นใช่มั้ย? เอาแต่อุเบกขา นั่งๆๆ มันควรจะตั้งมั่น ท่านกลับว่าไม่ตั้งมั่น และไม่สิ้นอาสวะ เพราะมันไม่ ละเอียดลออ มันไม่ชอนไช มันไม่รู้จักสภาวะที่จริง ถ้าไม่นั่งเอาแต่หลับตาจม อย่างนั้นแหละ แล้วมันจะไปสิ้นอาสวะได้ยังไง มันตื้นๆๆๆอยู่อย่างนั้น มันไม่ชอนไชลงไปได้ มันมีแต่ทับแน่นๆๆๆๆ แล้วเมื่อไรมันจะเกิด ตา หู จมูก ลิ้น กาย ที่จะเป็นตัวสัมผัส ตัวจะกระแทก กระทุ้งกิเลสออกมา หยาบ กลาง ละเอียดอะไรต่ออะไร อ่อนบางอย่างโน้นอย่างนี้ จะเกิดการ ตามสภาวะที่มันจะออกมา ไม่มี เพราะฉะนั้น จะไปสิ้นอาสวะได้อย่างไร

หรือแม้แต่พวกเรานี่ ฟังดีๆนะ ตอนนี้ ในระดับไม่ใช่เรื่องที่ผิดทั้งหมด เป็นโสดาก็ตาม สกิทาขึ้นมาก็ตาม ได้ฐานไหนมา แล้วก็มาติดได้แล้วขนาดนี้ อุเบกขาหมายความว่า ได้ไม่เจริญแล้ว เฉยเท่าที่เราได้แล้ว ก็ไม่พากเพียร ไม่มีปัคคาหะ ไม่มีความเพียรที่จะทำให้มันถูกเรื่องตามกาล จะต้องเพียร การงาน มีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ ที่เป็นสัมมา สัมมาทั้งอาชีวะ อะไรต่ออะไร อย่างจริงจังอย่างนั้น ไม่มีความเพียร ได้แต่ติดเหนื่อย เฉื่อย ไปตาม ได้แล้วก็ขนาดนี้ ก็พอกินแล้ว นั่นแหละ อุเบกขาแล้วๆๆ ใครจะได้แค่ไหน ก็แล้วแต่ อุเบกขาแล้ว แบกมันอยู่ตรงนั้นแหละ เป็นเจ้าติดศาล ได้แค่ศาลซี ๑ เจ้าประจำศาลซี ๑ อยู่ซี ๑ ไปตลอดกาล ถ้ามันยังไม่แข็งแรง มันยังไม่สมบูรณ์ถูกต้องถ้วน แล้วก็หลงตกต่ำได้ ถ้ามันได้รอบของมัน ก็ยังจริงอยู่ ก็ยังดีหน่อย ที่ว่ามันก็ยังได้อะไรบ้าง ไม่ตกต่ำก็จริง แต่มันไม่ก้าวหน้า มันไม่เจริญ ถ้าอธิบายเข้าไปหาสมาธิ อยู่ในภพนั้น อยู่ในความสงบอันนั้น อยู่ในสมถะขนาดที่คุณได้นั้น คุณก็จะกลายเป็นคนเกียจคร้าน เพราะมันไม่มีอะไรที่ใหม่ ไม่มีอะไรที่จะทำงานซอกแซกอะไร เพราะฉะนั้น อาสวะจะสิ้นรอบไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความตั้งมั่น ไม่ใช่ความอยู่เฉยๆ

เหมือนกับที่อาตมาพยายามอธิบายมัชฌิมา ความเป็นกลาง ไม่ใช่เอาไม้บรรทัด อันหนึ่งมา ๑๒ นิ้ว ๖ คือกลาง ไม่ใช่ระนาบอย่างนั้น คำว่ากลาง มัชฌิมา ไม่ใช่ตื้นๆแค่นั้น มีลูกกลมมาลูกหนึ่ง กลางคือตรงใจกลาง ไอ้นั่นมันง่ายๆ เป็นวัตถุรูป เป็นนิมิตตื้นๆ ไม่ใช่อย่างนั้น ความลงตัว พอเหมาะ พอดีที่สุด กลาง มีความลงตัว ความสมบูรณ์ ความถึงที่สุดแห่งการสิ้นรอบอาสวะ นั้นคือความเป็นกลาง คำว่ากลาง ไม่ใช่ภาษาตื้นๆ แต่เขามากลางตามใจของเขาชอบ แล้วก็ ๒+๒ เอา ๒ ไปหาร ไม่ใช่ ๒ หาร ไปหารครึ่งนะ หารครึ่ง มีอะไรก็หารครึ่ง มาเรื่อย เอ๊ะ ! ๒ หาร หรือเปล่า? เออ ... ๒ หารแหละน้อ ๘ ก็คือ ๔ อย่าง นี้เป็นต้นนะ แม้แต่ ๗ ก็คือ ๓ ครึ่ง อะไรอย่างนี้แหละนะ แล้วอย่างนั้น เรียกว่า กลาง ไอ้อย่างนั้น มิติที่ตื้นเขินมาก มันไม่ใช่คำว่ากลางที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ไม่ต้องใช้สัพพัญญูหรอก อย่างนั้นนะ ต้องใช้สัพพัญญูมา ต้องค้นคิดตรัสรู้ว่า โอ้ ! เจอ แล้วกลาง มัชฌิมาปฏิปทา คือ ๒ หาร นั่นเอง แหม ! อาตมาว่าไม่ต้องบำเพ็ญ เพียรหลายชาติ นานับชาติ อาตมาเลิกเดี๋ยวนี้โพธิสัตว์ เลิกเดี๋ยวนี้ ถ้าเผื่อว่า เกิดไปตรัสรู้อย่างนั้นนะ เลิกเดี๋ยวนี้เลย มัชฌิมาปฏิปทาแค่นั้นนะ เลิกเดี๋ยวนี้เลย ไม่เอาต่อแล้ว พวกคุณก็ไปตรัสรู้ คิดหาสูตรอย่างนี้นะ มัชฌิมาปฏิปทาคือสองหาร โถ ! มันไม่ได้ตื้นเขินอย่างนั้น แหม ! มันมีนัยที่ลึกซึ้งละเอียดลออ อย่างที่กล่าวนี้ มากมาย เพราะฉะนั้น อุเบกขานิมิตนี่ ถ้าอุเบกขาที่เราได้ภูมิธรรม อุเบกขาฐานนิมิต อย่างที่อาตมาว่าฐานนิพพาน คุณนิพพานโสดา คุณได้อุเบกขาของโสดา คุณวางโสดา แม้คุณจะไม่เอาล่ะ ที่จริง คุณจะไม่มีปัญญาจะวางอุเบกขานั้นด้วยซ้ำไป เพราะคุณติด เมื่อกี้ว่า จะอธิบายว่า คุณวางอัตตาอุเบกขาได้ เพราะคนที่วางอัตตา อุเบกขาได้ จึงเพิ่มมาเป็นสกิทา อนาคาขึ้นไป เพราะภูมิว่างสงบอันนี้ ไม่ติดภูมินี้ มันจึงจะเลื่อนฐาน แต่คุณบอกว่า อุเบกขา เออ อยู่มันเฉยๆ เอารสนี้ไว้ ก็อยู่อุเบกขา แล้วมันจะไปไหน อาสวะจะสิ้นรอบ กว่ามันจะสิ้นรอบได้ ไม่ใช่ตั้งมั่น ติดเด่ ติดตัง ฟังให้ดี คำว่าตั้งมั่น ก็ไม่ใช่ลักษณะติดตัง ติดเด๋งอยู่ตรงนั้นละ ไม่ต้องไปไหนละ ไม่ใช่นะ ต้องวาง เห็นมั้ย? ปฏินิสสัคคะ นี่ลึกซึ้งกว่านั้น ปฏินิสสัคคะได้แล้วไม่ได้ ได้แล้วไม่เอา ได้แล้วไม่เอา อย่าไปติด อย่าไปหลงแช่ แหม! ถ้าบอกปีนี้ พุทธาภิเษกกันไปแล้วนี่ ยังไม่คลี่คลาย ยังไม่ขยับ ยังไม่ออกจากรู ยังไม่เคลื่อนคล้อย เคลื่อนกายย้ายจุด ยังไม่พัฒนาขึ้นอีก ก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว

เอ้า ! ทีนี้ มาถึงปัคคาหะ ยังมีการสงสัย เอ๊ะ ! ถ้างั้นเอาแต่งานๆๆๆ เอาแต่ขยันๆ มาพูดกันก่อนว่า ขยันทำงานนั่นนะ ปฏิบัติธรรม หรือขยันทำงาน ถ้าขยันทำงานแล้วไม่ได้ปฏิบัติธรรมก็แน่นอนๆ เพราะมันเป็นโลกีย์ คุณขยันทำงาน ต้องได้ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขมาบำเรอ ใช่มั้ย? มาบำเรอมันถึงจะทนได้ เพราะขยันทำงาน ก็ไม่ได้ลาภนี่ ที่นี่ยศก็ไม่ได้ มีแต่ถูกติด้วย คนอื่นไม่ทำ เขาก็ไม่มีอะไรบกพร่อง เขาก็ไม่มีอะไรผิดพลาด เขาก็ไม่ถูกติ เราทำงาน เอ๊า ! ประเดี๋ยวก็บกพร่อง ประเดี๋ยวก็ผิดพลาด เราก็ต้องถูกติถูกเตือน ทำไมไอ้นั่นไม่ทำอย่างนี้ละ ทำไมไอ้นี่บกพร่องผิดพลาด อ้อ ! นี่ลืมไป หล่นไป เดี๋ยวคนนั้น ก็มาหมัดหนึ่ง เดี๋ยวคนนี้ ก็มาสองหมัดสามหมัด อะไรกันหนัก กันหนาว่ะ คนที่ทำโลกีย์ ก็ต้องเป็นโลกีย์ ไม่ได้เข้าสู่ระบบ ของโลกุตตระ เมื่อทำโลกุตตระ ทำงานคุณก็ได้ เออ เขามาด่าใช่มั้ย เขามาติใช่มั้ย เออ รู้แล้ว รู้ทันลดกิเลส คุณก็รู้อานิสงส์ว่าคุณได้ นี่ได้รายได้โลกุตตระ ได้ลดใช่มั้ย ก็มาติดที่ว่าเมื่อยนะ เออ เมื่อยก็ไม่เป็นไร เราสร้างสรรกุศล คุณได้ทำงาน คุณได้มีกระทบสัมผัส คุณมีทั้งกระทบสัมผัส ต่องานการ กระทบสัมผัสต่อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กระทบต่อ บุคคล จิตวิญญาณมนุษย์มาอะไร คุณก็ปฏิบัติธรรมเป็นโลกุตตระๆๆ คุณก็รู้ว่าคุณได้มรรค ได้ผล เมื่อได้มรรค ได้ผล คุณก็มีปีติ มีอภิปปโมทยัง มีความชื่นใจ มีความสดชื่น มีเพราะเราได้ จะว่าไม่ได้ก็ไม่ได้ จะว่าไม่มีอะไรที่เกิดไม่ใช่ เกิด ต่คนที่ยังมีภูมิของโลกียะ มันได้รับแต่นินทา มันไม่ได้รับลาภ มันไม่ได้รับยศ มันไม่ได้รับอะไรต่ออะไร มันไม่ได้อะไรมาบำเรอเป็นอามิสเลย แน่นอน มันไม่ทนหรอก คุณอาจจะต้องสึกหาลาเพศ ถ้าบวชแล้ว หรือถ้าเป็นฆราวาส คุณก็ต้องแหนงหน่าย ออกไปหากินของกูดีกว่าวะ ก็เพราะมันไปเอาลาภ ก็ต้องไปน่ะสิ ก็นี่มันไม่ได้ (มีเสียงทักท้วง) รู้แล้วว่ามันเลย แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง ทำไมไม่มันแล้วเหรอ มันต่อเนื่องอยู่เข้าใจ

เพราะฉะนั้น ตั้งมั่น ที่หมายนี้ก็คือ อธิๆหรือเปล่า ใช่ อันนี้ถูก ตั้งมั่น นี่ คืออธิ สั่งสมอธิๆๆๆๆๆ ขึ้นเรื่อย แล้วก็สมบูรณ์ๆขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่อธิแล้วก็ติดอธิอยู่ตรงนี้แหละนะ ไม่ใช่นะ อธิก็ไม่ใช่อธิ ติดจิตอยู่ตรงจิตเก่า อุเบกขาจิตตัวเก่า ก็ไม่ใช่อธิ คือยิ่งๆๆๆๆ ขึ้นอยู่เรื่อย ดี อันนี้ถูก แต่อย่าไปโมเม ศีล สมาธิ ปัญญา ว่านิมิตไม่ใช่ อันนี้ถูก เพราะฉะนั้น คำว่าอุเบกขา ก็จึงไม่มีสภาวะลึกซึ้ง ซับซ้อน ขึ้นมาอีก เพราะมันต้องเจริญจิต ทำให้จิตตั้งมั่น ก็เพราะไม่ติดอุเบกขา จะสิ้นอาสวะโดยชอบ ก็เป็นเพราะติดอุเบกขา เพราะฉะนั้น อุเบกขา เป็นฐานนิพพาน ก็จริง แต่ไม่ใช่อัตตาอันที่หมาย

สรุป ด้วยภาษาสั้นๆอย่างนี้สุดท้าย อุเบกขา เป็นฐานอาศัยก็จริง บอกแล้วนะว่า อุเบกขาอย่าง มิจฉาทิฏฐิ ไม่เอานะ อุเบกขาอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นฐานอาศัย แต่ไม่ใช่ตัวกูของกู แต่ไม่ใช่ฐาน ที่จะต้องติดตัง ไม่ต้องติดตัง เพราะฉะนั้น เฉยได้แล้วอย่าเฉย วางได้แล้วอย่าวาง ไม่ใช่ให้ไปเกาะ อันเก่านะ แต่มันต้องเลื่อนใหม่ ว่างแล้วอย่าว่าง ว่างแล้วอย่าว่างดีกว่า เฉยได้อย่าเป็นคนเฉยๆ ต้องรู้ว่า กรรม กายกรรม วจีกรรมอะไรดีกว่านี้มีอีก ทำใหม่เป็นเหตุปัจจัย และจะทำให้เราเรียนรู้จิต ขึ้นไปใหม่อีก กายกรรม วจีกรรม ที่เราทำนี่แหละ ที่เราทำการงาน ที่เราทำอะไรนี่แหละ มันจะก่อ ให้เกิดเรียนจิตที่รู้อาสวะ รู้อนุสัย รู้กิเลสที่ลึกซึ้งขึ้นไปเรื่อยๆๆๆๆอีก จะเห็นได้ว่า ศาสนาพระพุทธเจ้านั้น เป็นศาสนาที่ต้องเพียรอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ใช่ที่เพียรอย่างฟุ้งซ่าน ไม่ใช่หาแต่ความรู้ แต่ต้องปฏิบัติ แต่ต้องปฏิบัติ ต้องสั่งสมสภาพที่มันจะต้องมีจริงๆขึ้นไป

เอ้า เอาละ มันไม่มีเวลาแล้ว จบไปดื้อๆ ก่อน...

สาธุ


ถอดโดย อรภิญญ์ เวทย์วรพรรณ ๒๗ ก.ย. ๒๕๓๓
ตรวจ ๑ โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล
พิมพ์โดย สม.นัยนา
ตรวจ ๒ โดย สม.ปราณี - สุพรรณี ๒๓ ต.ค. ๒๕๓๓

FILE:1053B.TAP