สมาธิ และสัมมาสมาธิ ตอนที่ ๖ หน้า ๑
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๓
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ของพุทธ ครั้งที่ ๑๔ ณ พุทธสถานศาลีอโศก


... ปีนี้ละก็ ผิดพลาดอย่างมากเลย ถ้าไม่ได้นั่งกันวันนี้ละก็ นี่พึ่งจะตี ๔.๐๖ นาทีนี่นะ

ก่อนอื่นเอาทบทวนสูตรต่างๆ ที่ได้เอามาบรรยายนี่เสียก่อนว่า มาจากอะไรต่ออะไรบ้าง สำหรับสูตร ที่ในหนังสือ เล่มที่ในอานาปานสตินี่นะ บอกไว้ ในที่นี่หน่อยก็ได้ เพราะว่าในเสียงในเท็ป ในอะไร มันจะไม่มีด้วยนะ

สูตรแรกเลยนะที่ว่า กายไม่หวั่นไหว จิตไม่หวั่นไหว ที่ว่า งามนอก งามในนั่น มาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๙ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ข้อที่ ๑๓๒๔ ถึง ๑๓๒๖ เอาไว้นะ มาจากพระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๔ ข้อ ๒๘๘ มาเรื่อยๆ แหละ ข้อ ๒๘๘ ทำสังคายนาใหม่ ข้อชักเปลี่ยนไปแล้ว แต่เล่มไม่เปลี่ยนน่ะ แต่เล่มตามได้ แต่ข้อเปลี่ยนไปแล้วที่นี่ ในภาษาไทย ฉบับชุดสังคายนาใหม่ ถ้าใช้ฉบับหลวงจะตรง ที่ใช้นี่ ใช้ฉบับหลวง ฯลฯ

ต่อไป สัลลัตถสูตรนั้น มาจากพระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่ม ๑๘ ตั้งแต่ ข้อ ๓๖๙-๓๗๓ สัลลัตถสูตร สูตรที่ว่าด้วย เวทนา เปรียบด้วยลูกศร พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ ข้อที่ ๓๖๙-๓๗๓

ต่อไป สมุคคสูตร ว่าด้วย นิมิต ๓ นั้นมาจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๒๐ ตั้งแต่ข้อ ๕๔๒ ข้อเดียวน่ะ อันนี้ข้อเดียว ข้อ ๕๔๒ ข้อเดียว

เรื่อง สมาธิ และ สังขาร มาจากพระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๒ ข้อ ๕๐๘ จุฬเวทัลลสูตร ที่นางวิสาขา กับภิกษุณีธรรมทินนาถามกัน

ส่วนเรื่อง ของการระงับสังขาร ๓ ต่อมานั้น มาจากพระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ ตั้งแต่ข้อ ๒๒๒ แต่ไม่ได้เรียงกัน ทีเดียวนะ ข้อ ๒๒๒ และ ก็ข้อ ๔๐๓ ข้อ ๔๑๐ และก็ข้อ ๔๑๑ ที่ได้เอามาอ่านให้ฟังนี่

และสูตรสุดท้าย ที่เราได้นำมาอ่าน เรื่อง สมาธิภาวนา ๔ นั้น มาจาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๑ สังคีติสูตร ข้อ ๒๓๓ ข้อเดียว เรื่องของสมาธิภาวนา ๔

ทบทวนนิดหนึ่ง ว่าเราต้องเข้าใจอานาปานสติน่ะ อาตมาเคยตั้งใจว่า ตั้งแต่เขียนทางเอกภาคผนวกว่า จะเขียนสรุป จะเอาอานาปานสติเป็นหัวเรื่อง เป็นหัวชื่อ แล้วก็จะเขียนให้เห็นถึงอานาปานสติ ตั้งแต่หลับตา ไปจนกระทั่งถึง อานาปานสติลืมตา ว่าจะทำอย่างนั้น แต่เสร็จแล้ว ก็ไม่มีเวลาได้เขียนเลย จนกระทั่งบัดนี้ และก็คงจะไม่ได้เขียน

อาตมาทุกวันนี้ ระลึกว่า ถ้าเราจะเขียนหนังสือเหมือนอย่างที่ได้เขียนคนคืออะไร เขียนหนังสือทางเอก อย่างนี้นะ ไม่ได้ทำอย่างที่ทำ คือพูดๆๆไป แล้วก็ให้ไปเอาไปถอดเท็ป เอามาเรียบเรียง เหมือนกะสมาธิพุทธนี่ ซึ่งอาตมาคิดว่า กว่าจะเขียนได้ออกมาลึกกว่า มันจะได้ตอนที่อาตมาเขียนหนังสือ มันลึกกว่าพูดๆๆ แล้วก็ให้ไปเรียบเรียงมาทำ อย่างสมาธิพุทธ อาตมาก็รู้สึกอย่างนั้นนะ ถ้าให้อาตมาเขียนเอง อาตมานี่ เขียนได้ลึก และร้อยเรียง และเจาะลึกได้มาก ไอ้เรื่องกว้างไม่ยากหรอก เรื่องกว้างเอาอะไรมาเป็นเค้าเงื่อน ก็ได้ แนวระนาบนี่ไม่ยาก เอาอะไรมาเป็นเค้าเงื่อน ว่ากันต่อพืดไปหมดเลย ไม่มีปัญหา แต่ว่าจะเจาะลึก ลงไปในแนวลึก แนวดิ่งของแต่ละเรื่องๆ อะไรต่ออะไรพวกนี้ เขียนนี่ ใช้เวลา แล้วก็ได้เพ่ง ได้พยายาม ที่จะตรวจสอบถึงสภาวะ ตรวจสอบถึงอะไรต่อมิอะไรได้นาน เพราะฉะนั้น ถึงได้พยายามใช้ภาษา เขียนอธิบาย หรือพยายามที่จะกำหนด อะไรต่ออะไรออกมา สื่อให้พวกเราได้ฟังนี่ มันมีเวลาได้ใช้ ได้ไตร่ตรอง ตรวจสอบ บางทีนี่ กว่าจะได้เขียนออกมานี่ ก็ต้องพยายามที่จะเอาสภาวะนั้น ออกมาเป็น ภาษาได้ยาก และนาน กว่าจะได้ บางทีอย่างนี้ เขียนหนังสือ จะได้บรรทัดหนึ่ง สองบรรทัดนี่ บางทีนี่ ติดอยู่ตรง สภาวะบางเรื่องบางราว นาน แต่พูดนี่ยังไงๆ มันต้องพูดออกไปต่อเนื่องไป มันไม่ได้มานั่งเจาะ เพราะฉะนั้น มันจะตื้นกว่า พูดนี่ มันจะตื้นกว่าๆ เอาไปเรียบเรียงแล้ว แล้วเอามาเกลา อีกทีหนึ่ง มันก็ไม่เหมือน ไม่เหมือนที่อาตมาเพ่ง เขียนทำเป็นติดต่อๆกันไปเอง มันอาจจะยืดยาด มันอาจ จะอะไร ต่ออะไร วนๆบ้างๆ ก็อาตมาว่า ยังละเอียดลออลึกกว่าที่พูด ที่เอาเรียบเรียง แต่มันทำได้ขนาดนี้ ก็ยังนึกอยู่เลยว่า เราจะมีเวลาไหมนะ ในชาติ นี้ ที่จะมีพวกเราได้ทำงานแทนอาตมาไปหมด อาตมาไม่ต้อง มาเสียเวลาในอะไรๆ หลายๆอย่างนี่ ที่จริง ทุกวันนี้ งานมันจะต้องพยายามดูแล ตั้งก่อตั้งแล้วก็สร้าง ดูแล มากเหลือเกิน มันก็เลยไม่มีเวลาที่จะปลีก จะทำ อย่างที่ว่านี้ เพราะต้องใช้เวลามาก เวลาเขียนนี้ ต้องใช้เวลามาก

อาตมาเขียนทางเอก ตอนนั้นไม่มีงานอะไรมาก มีงานอบรมพวกเรา อยู่จำนวนหนึ่ง อยู่แค่ในวัด อันอื่นๆ ไม่มีภาระอะไร นอกนั้น ยังไม่ทำของตัวเองไป พากันจาริกไปโน่นมานี่ อาตมาก็ทำไปอย่างสบายๆ ไม่ต้องไปคำนึงถึงอะไร ก็เพราะว่ามันแคบ จะไปไหนก็ไม่ต้องไปกำหนดอะไรเอาไว้ว่า อันนั่นงานที่นั่น งานที่นี่ เรื่องนั้น เรื่องนี้ไม่มี ตอนนั้นไม่มี ไม่ต้องไปคำนึงอะไร เพราะฉะนั้น โปร่ง จะเขียนก็เขียน เมื่อไหร่ มีเวลาก็เขียน อาตมาจาริกไป มีเทียนเล่มหนึ่ง ก็มีบาตรเขียนบนบาตร ที่นั่งตั้งไว้เขียนไป ไปขึ้นเขาลงห้วย ข้างทาง ที่ไหน เขียนตะพึด ในทางเอก นี่ เขียนไปเรื่อยๆ ใช้เวลาที่เราพักผ่อนแล้วเขียน ตื่นเช้าเขียน กลางวันเขียน หรือว่าเย็นเขียน แล้วแต่ตอนไหน ส่วนมากเช้า ตื่นแต่เช้า นั่งเขียน มันก็ได้อย่างนั่น ก็ไม่นึกเหมือนกันว่า ตัวเองจะเขียนออกมาได้ยาว ยืดยาดถึงขนาดนั้น มารวมแล้ว โอ้โฮ! ไม่ใช่เล่มเล็กๆ ตั้งหลายเล่ม ถ้ามีเวลา ได้เขียนหนังสืออื่น ได้เขียนเรื่องอื่นๆ ซึ่งจะเขียนอะไรก็ได้ เรื่องเยอะแยะ ที่อาตมา จะนำมาเขียนนี่ ที่นำมาบรรยาย ในงานพุทธาภิเษกฯ ก็ดี หรือปลุกเสกก็ดี ตอนหลังๆ ที่จับเรื่องขึ้นมา ที่สำคัญๆ จะเขียนนั่น ได้แล้ว บรรยายไปแล้ว และเอามาเรียบเรียงรวบรวมมา ซึ่งอาตมาก็เห็นแล้วว่า มันไม่เหมือน ที่อาตมาจะเขียนออกมาเองหรอก ถ้าจะเขียนซ้ำ เขียนซ้อนอีก ก็เหมือนกับไปรื้อ แล้ว มันก็ๆต้องได้ ที่จริงมันก็ดี ถ้ารื้อได้มันก็ดี ทำให้มันละเอียดลออขึ้น มันก็ดี แต่มันก็ยังไม่มีเวลา แม้แต่เขา เรียบเรียงไว้แล้วนี่ จะเอามาตรวจอีกทีหนึ่ง ทำเพื่อที่จะพิมพ์เป็นเล่มออกมา แต่ละคราวๆ ก็ควรจะทำ แต่ไม่มีแรง ไม่มีเวลา ที่จะไปทำได้อีก เรียบเรียงไว้แล้วนะ หลายเรื่อยๆ ทุกขอริยสัจ ก็บรรยายไปแล้ว เรียบเรียงมาแล้ว เรื่องวิชชา ๙ ก็พูดไปแล้ว เรียบเรียงไว้แล้ว แต่ก็ยังไม่ได้ทำต่อ ยังไม่ได้ออกมาเป็นเล่ม มันน่าจะได้ออกมาเป็นเล่ม เหมือนสมาธิพุทธ อย่างน้อยก็อย่างนั้น สมาธิพุทธ ตอนสอง ก็เรียบเรียงขึ้นมา แล้วน่ะ ยังไม่ได้ทำออกมาต่อเลย สมาธิพุทธ เล่ม ๒ มันยังไม่จบทีเดียว ยังไม่หมด ตามสารบัญ เล่ม ๑ นั่น มีไว้ครบ แต่ไม่ได้หมด ตามสารบัญนั่น และยังไม่ได้ทำต่อ

ถ้าเผื่อพวกเราแข็งแรง มีสมรรถภาพเพียงพอ ช่วยกันบริหาร ช่วยกันรับงานทำอะไรต่ออะไรไปได้ดี ทุกวันนี้ ก็ดีขึ้น และมันกว้าง ชีวิตมนุษย์ สังคมของมนุษย์ทั้งหมด มันกว่าจะแข็งแรงตั้งมั่น เป็นระบบ แล้วก็มีวัฒนธรรม มีจารีตประเพณี มีพฤติกรรมของชีวิต มีกิจกรรมของชีวิต ในกลุ่มชน อย่างกลุ่มชน อย่างพวกเรา ที่กำลังเป็นไปนี่ แม้แต่มีพิธีกรรมอะไรก็ตาม อาตมาก็พยายามที่จะ สรุปกรรมเอาไว้ ในของสังคมมนุษย์นี้ จะเป็นชุมชนใดก็แต่ มันจะประกอบไปด้วย พฤติกรรม กิจกรรม พิธีกรรม ในแง่ความหมายของมัน อาตมาพยายามสรุป กรรม เอาไว้อย่างนั้น มันจะมี อย่างคนหมู่นี้มีพฤติกรรม ก็ไม่เหมือนคนข้างนอก ที่เขาเอง เขาได้อบรมในความรู้สึกนึกคิด หรือหลักเกณฑ์ของชีวิต เมื่ออบรมอย่างนั้น และ เห็นอย่างนั้น เป็นชีวิตอย่างนั้น ก็เป็นคนที่มีพฤติกรรมอย่างนั้น

แม้แต่กิจกรรม หรือกิจการ การงานทั้งหลายแหล่ อันประกอบอยู่ใน ชีวิตของมนุษย์ การงานทั้งหลายแหล่ ของพวกเรา เราก็เลือกเฟ้น หรือรู้ว่างานใด ควรจะทำ งานใดไม่ควรจะทำ งานใดควรจะเป็นหลักแกน หลักแกนสำคัญ งานใดไม่ใช่หลักแกนสำคัญอะไร ก็มีขนาดสำคัญเอก สำคัญรอง อะไรลงไปเราก็มี ในส่วนที่ เรามี ส่วนที่เราไม่มี เราไม่เอา เราไม่เห็นดีด้วย มันก็ไม่เหมือนกัน อย่าง เช่นว่า

เราเห็นว่า งานทำนา นี่ เป็นงานเอก เป็นงานสำคัญหลัก ควรเชิดชูบูชา ทำนาทำไร่ ซึ่งเป็นเรื่องของอาหาร เป็นความสำคัญ เป็นหนึ่งในโลก ดังที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสตอบเน้นเอาไว้ว่า อะไรเป็นหนึ่งในโลก อาหาร เป็นหนึ่งในโลก เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องสำคัญ เป็นหนึ่งเป็นเอก เราคิดตื้นๆ สามัญ สำนึกเรารู้ได้ว่า จริง มันสำคัญ เป็นหนึ่งในโลก จะเรื่องของเศรษฐกิจ เรื่องของสิ่งที่ควรกระทำ เป็นการกระทำการงาน ความสำคัญ เกี่ยวเนื่องกับชีวิตมนุษย์ มันเป็นเอกจริงๆ ถ้าเราไม่ให้ค่ามันสำคัญได้อย่างไร และที่นี่ ความเห็นของพวกเรานี่ สำคัญ เพราะเราต้องทำ ต้องสร้างให้ดีที่สุด ให้มีบริบูรณ์ สมบูรณ์ที่สุด คำว่า สมบูรณ์ ก็ไม่ใช่ล้นเหลือ เราก็มีหลักเศรษฐกิจเหมือนกัน มีหลักเศรษฐศาสตร์ เหมือนกัน ไม่ใช่เฟ้อเกิน แต่ว่าก็จะต้องมากเพียงพอ ที่จะเผื่อเหลือเผื่อขาด และต้องราคาถูกอีกด้วย หรือแจกกันเองได้อย่างง่ายๆ นี่เป็นความรู้ เป็นปรัชญา เป็นแนวคิด เป็นความเข้าใจของพวกเรา เป็นทิฏฐิความเห็น ที่เราจะต้องเห็น หรือต่างกันกะโลกว่า ถ้ามันสำคัญ มันต้องแพง อันนั้นไม่ได้ ที่จริงในโลกเขาก็รู้น่ะว่า ให้ข้าวราคาแพงเกินไป แล้วก็ประชาชน ตายแน่ๆ ไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น จึงต้องกดราคาข้าวเข้าไว้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็ค้านแย้งกัน ชาวนาก็เลยกลายเป็น ปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล มากดราคาข้าวเขาไว้ ไม่บอกเขาให้รู้ ว่า ราคาข้าวนั่น ต่ำไว้นั่นดีแล้ว ขายราคาข้าว ได้ถูกเท่าไหร่ ก็เป็นคุณค่าของตัวเราเองเท่านั้น ยิ่งแจกฟรีได้ ก็ยิ่งเป็นบุญ เป็นคุณ เป็นกุศล เป็นคุณค่า ซึ่งอาตมาก็พยายามอธิบาย ถึงหลักบุญนิยม ทฤษฎีบุญนิยม ต้องมีปัญญา มีแนวคิด มีความเข้าใจ ในหลักบุญนิยม ให้ถูกต้อง และก็ต้องทำให้สอดคล้องเป็นจริง ทุกวันนี้มันอยู่ในหลักของ ทุนนิยมทั้งนั้น ซึ่งเอากิเลส ความเห็นแก่ตัว ความโลภเป็นเจ้าเรือน หรือเป็นตัวบันดาลทางความคิดๆหลัก แล้วก็ตั้งทฤษฏี มันไม่ต้องตั้งหรอก มันเกิดมาเอง ตามภาษาของปุถุชน และมันก็เกิดทฤษฏีทุนนิยมขึ้นมา เป็นทฤษฏีทุนนิยม เป็นทฤษฏีของปุถุชน ขอยืนยัน แล้วมันก็ไปไม่รอด มันเป็นทุกข์ เพราะมันไม่ได้เป็น ทฤษฎีที่คำนึงถึง ความพ้นทุกข์ ไม่ได้เป็นทฤษฏีที่คำนึงถึงความเสียสละที่แท้จริง ความไม่เห็นแก่ตัวที่แท้จริง มันเป็นทฤษฎี ของความเห็นแก่ตัว ทฤษฎีของความโลภ ความเห็นแก่ได้ เอาเปรียบ และมันเป็นอย่างนั้น มันไปไม่รอด มาพูดกันเมื่อไหร่ก็ได้ เอานักศึกษาด็อกเตอร์ปริญญาเอก โพสด็อกเตอร์นั่นแหละ มาพูดกันด้วยหลัก เศรษฐศาสตร์ หลักปกครองอะไรๆ ก็แล้วแต่ หลักรัฐศาสตร์ต่างๆ อะไรก็ตาม ถ้าจะ เอาทฤษฎีทุนนิยมมา พยายามปรับกับหมู่มนุษย์แล้วละก็ มาใช้กับมวลมนุษย์ๆ โดยทฤษฎีหลักของเขา คุณจะไปจัดระบบ จัดทฤษฎีนั่น มาเป็นวิชาการหลักถูกต้องอย่างไร อย่างที่เล่าที่เรียนได้มา จนกระทั่งได้ปริญญา ขนาดโพสด็อกเตอร์มาก็ตาม เอามาให้เต็มที่เลยทฤษฎีหลัก ทุนนิยม นั่นนะ แล้วเอามาเทียบกันดู กับหลัก บุญนิยม รับรองว่า จะเห็นเด่นชัด ว่าหลักทุนนิยมนั้นแก้ไขไม่ตก เป็นสภาพวัวพันหลัก ยิ่งแก้ก็ยิ่งพัน ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง ไม่คำนึงถึงทางจิตวิญญาณ ไม่มีความรู้ทางจิตวิญญาณ อย่างสมบูรณ์ รู้บ้างเรื่อง จิตวิญญาณ รู้บ้างตามประสา สามัญสำนึก แล้วไปไม่รอด แก้ไขอย่างไร ก็ไปไม่รอด

เพราะฉะนั้น จึงเดินทางสู่กลียุคกันอยู่อีกนาน ถ้าพวกนี้ได้เรียนทฤษฎีทุนนิยม ซึ่งเป็นภาษารวมสมัย ภาษาสมัย ของพระพุทธเจ้าท่านใช้เหมือนกันนั่นแหละ ท่านใช้มาแล้ว มันจึงได้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุขมาได้ นานถึง ๒ พันกว่าปีมาแล้ว ยังไม่สูญทีเดียวหรอก แต่ความลึกของความหมายหลัก ของคำว่าบุญนิยมนี้ มันตื้นแล้ว เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธ มันก็เลยเพี้ยน มันก็เลยกลายเป็น สภาพดิ่งไปในสภาพภวตัณหา กามตัณหาพอเข้าใจ แต่ก็ยังไม่ลึกซึ้งพอ ก็ไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร ยิ่งภวตัณหาก็เลยยิ่งไม่รู้เรื่อง ก็เลยกลายเป็นทฤษฎีบุญนิยม ของพระพุทธเจ้า ก็เลยตื้นเขิน และก็ไม่ได้เรื่องอะไรนะ อย่างที่เห็นได้ แม้แต่ พระ หรือภิกษุผู้ศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้า แล้วดิ่งไปในทางเห็นแก่ตัว ในภวตัณหา ไม่เอาอะไรเลย เป็นแบบฤาษี กามภพ กามตัณหา ก็เรียนรู้บ้างนะ ก็ยังดี เพราะมันเป็นเบื้องนอก ก็พอรู้เรื่องลาภ เรื่องยศ เรื่องอะไรก็พอพูดกัน เข้าใจง่าย แต่ภวตัณหานั้น เป็นเรื่องของภพ ทางแนวดิ่งลึก ไม่ค่อยเข้าใจว่า อัตตา อัตภาพ คืออะไร ไม่เข้าใจ และไม่หมดอัตภาพ ก็ไปไม่รอด ไม่สมบูรณ์

ทีนี้พวกเรา อาตมาแน่ใจ เข้าใจต่อสิ่งเหล่านี้จริงนะ ได้ทำงาน ๑๐ กว่าปี ก็เห็นผลกับพวกเราแล้วว่า มันลดความโลภ ความโกรธ แก้ปัญหาสังคม แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาชุมชน ปัญหาหมู่กลุ่ม ที่แบบรัฐศาสตร์นี่ เราจะอยู่กันอย่างพี่อย่างน้องอย่างไร อยู่กันอย่างเกื้อกูลอย่างไร อยู่กันอย่างสร้างสรรค์ ไม่เอาเปรียบ เอารัดกันอย่างไร รัฐศาสตร์ ก็อย่างนั้น พยายามที่จะให้เกื้อกูลกัน ให้อยู่กันอย่างเป็นสุข มีการดูแลช่วยเหลือ ใครทำอะไรๆ มีการประนีประนอม ประสาน อยู่กันเป็นอย่างชุมชน สงบเรียบร้อย ต่างคนต่างขยันขันแข็ง อยู่เย็นเป็นสุขอะไรกัน อย่างนั้นแหละ เกิดการดูแล หมู่ชนมันกว้าง มันมาก มันหลายล้านคน มันก็มากเรื่อง ถ้ามันน้อยคน มันก็น้อยเรื่อง เพราะฉะนั้น ประเทศจึงมีคนไม่มากนัก มีปัญญาดีหน่อย ฉลาดหน่อย มีกิเลสน้อยหน่อย ก็อยู่ดี กิเลสมากๆ อยู่น้อยคน ก็ไม่รอด ยิ่งมากคน กิเลสน้อย กิเลสมาก ก็อยู่ยากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามปริมาณด้วยนะ และคุณภาพของคนด้วย

ทีนี้เราทำกันได้ขนาดนี้ ก็จะเห็นผล ถ้าใครมองในแง่รัฐศาสตร์เป็น ก็จะเห็นอย่าง ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ สอดส่องพวกเรา มาตั้งแต่เริ่มชุมชน ที่ปฐมอโศก เริ่มเป็นหมู่ชน ก็มองเห็นว่า คนอย่างพวกเรานี่ ตอนแรก ก็จะทำ มองในแง่ ของชุมชนอยู่ปฐมอโศก พอจัดทำวิจัย อย่างที่ออกมาแล้วในภาคที่ ๑ ภาคที่ ๒ เสร็จแล้ว ของ ดร.สมบัติ อาตมาก็ดูๆแล้ว แต่ภาคที่ ๓ ยัง ภาคที่ ๔ ก็ออกมาแล้วภาคที่ ๑ ออกมาแล้ว ก็เห็นได้ พอทำไปแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่า ในชุมชนพวกเรานี่ มีอะไรที่น่าศึกษาอีกเยอะ เพราะแยกออกไปหมดทุกแขนง ของมนุษย์ที่ควรจะเป็น จะแยกไปในแง่ อันนั้นมุ่งไปในแง่รัฐศาสตร์มาก พอมาดูแล้วแง่อื่นอีก แง่ความเป็นอยู่ ทางด้านเกษตร ทางด้านการพาณิชย์ ทางด้านอะไรอีก อื่นของเรามี ที่ไม่เหมือนกับชาวโลก รัฐศาสตร์นี่ จะมองคลุมไปหมด มองคลุมไปทั้งเศรษฐศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ ในแง่บริหารก็ตาม ในแง่อะไรก็ตาม ดูไปแล้ว ไม่เหมือนคนกลุ่มอื่น พอว่ารัฐศาสตร์นี่เขารู้ อย่างนี้ เป็นต้น ก็เลยอยากจะทำอะไรต่ออีก จะวิจัย พวกชาวอโศกนี่ ซึ่งก็จริง อาตมาเห็นว่าจริง ถ้านักศึกษา หรือว่า นักวิชาการ สนใจมนุษยชาติจริงๆ แล้วนะ มาศึกษาชาวอโศกนี่ จะได้อะไรจริงๆเลย จะได้ เพราะว่ามันมีชัดเจน จนเห็นได้ว่า จนเขากล้ากล่าวได้ว่า พวกเราเหมือนคนบ้า เพราะมันแปลกออกไปจริงๆ มันแปลก ถ้าพูดมันไม่ธรรมดา มันไม่ Normal ดู ง่ายๆ น่ะ มันไม่ใช่ Normal แต่ก็ไม่ใช่ Abnormal นะ แต่มัน Super Normal มันไม่ใช่ Abnormal มันไม่ปกติ มันไม่ธรรมดา อย่างคนทั้งหลายเขาเป็น ทีนี้ เขามองไม่ออก เขาไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้ง เขาไม่ได้ศึกษาอย่างดี เขาก็เห็นว่า แปลก แล้วเขาก็ตีค่าเอาง่ายๆ จะบอกว่า Abnormal คนสติไม่ค่อยเต็ม แต่นี่ เรายิ่งสติเต็ม ยิ่งสติเต็ม ปัญญาก็ถูกต้อง ไม่ใช่วุ่นวายงมงาย หลงๆ เลอะๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น มันกลับกลายเป็นอีกอันหนึ่ง เหนือธรรมดา Abnormal ก็มันผิดธรรมดา นี่มันเหนือธรรมดา มันไม่ใช่อย่างที่เขาเข้าใจ เป็นอย่างนั้นนะ

เอาละ ถ้าจะวิเคราะห์วิจารณ์อะไรไปอีก ในเรื่องนี้มันก็มาก มันก็พูดให้เข้าใจ ให้รู้สึกเสียบ้างเท่านั้นเอง ให้รู้สึก ที่จริงพวกเราก็รู้สึกอยู่ แต่ก็พูดให้มันเปิดเผยขึ้นมา ให้เข้าใจชัดๆ

เอาละ มาพูดถึงเรื่อง อานาปานสติ ให้พอสมควร แล้วจะได้นั่งบ้าง อานาปานสติ อย่างหลับตา เราจะมา เน้นกันตอนนี้ อานาปานสติลืมตานั้น อาตมาว่า มันเหมือนกัน ถ้าอ่านทางเอกแล้ว มันเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน เรื่องสติปัฏฐาน หรืออานาปานสตินี้ จะว่าอะไรก็ได้ เหมือนกันนะ แต่มันคนละมุม อาตมาก็ว่าไปแล้ว ในทางเอก เขียนเอาไว้ บรรยายเอาไว้ นั่นนั่งลืมตาเป็นอย่างนั้น

ส่วนหลับตานั้น มันจะเป็นดิ่งๆไปตามที่เขาใช้กันมา ตั้งแต่สมัยฤาษีอุทกดาบส อาฬารดาบส อะไรเขาก็ใช้ กันมาอย่างนั้น เขาก็ใช้กันมาเป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็เอาอย่างนั้นมาอธิบายของท่าน จะมีคำเก่าๆ ที่เป็นคำหัวข้อ คำ Technical term ระบุอะไรๆเอาไว้บ้าง ท่านก็เอามาใช้ร่วม แล้วก็ขยาย

ซึ่งใน อานาปานสติ สูตรนั้น เป็นคำที่ขยายไม่เหมือนกับของฤาษีร้อยเปอร์เซนต์๑๖ หลักนี่ ก็ไม่เหมือนฤาษี ร้อยเปอร์เซนต์ เป็นคำขยายของท่านโดยเฉพาะให้ฤาษีกลับมาทำความหมายไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะฉะนั้น พวกปฏิบัติสมาธิหลับตานั่น จะไม่เอาความหมายหลักนั่น ของอานาปานสตินี้ ที่อธิบาย ที่พระพุทธเจ้า ท่านบอกไว้ ๑๖ หลัก ไปบรรยายนัก เช่นใน จตุตกที่๑, ๔ ข้อ แยกเป็น ๔ ข้อ ๔ หมวด หมวด ๑ จตุตกะที่ ๑ นี่ หมวดกายานุปัสสนา นี่ อาตมาสรุปลงไปเองนะว่า กายานุปัสสนา แบบนี้ เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา ธัมมานุปัสสนา นี่ หมวด ๔ ข้อนั้น

สรุปได้คือ เรื่องของ กายสังขาร ให้รู้จักสังขาร กายคือการประชุม ตั้งแต่ข้างนอกหยาบ ไปจนกระทั่ง เอาประเทศทั้งประเทศมาประชุมอยู่ เรียกว่า ประเทศ มีมนุษยชาติ มีจารีตประเพณี มีวัฒนธรรม มีกฎหมาย มีหลักเกณฑ์ อะไรต่ออะไร มีการปกครอง ระบอบ ระแบบอย่างนี้ นี่ก็องค์ประชุมใหญ่

องค์ประชุมลงมาถึงองค์ประชุมชน เป็นจังหวัด เป็นอำเภอ เป็นตำบล เป็นหมู่บ้าน เป็นชุมชน เป็นครอบครัว ก็องค์ประชุมย่อยลงมา จนกระทั่งถึงตัวเรา ในตัวเรามีพฤติกรรมก็คือกายของเรา จนกระทั่งกาย เอาแท่งก้อนนี้ เรียกว่า ร่างกาย เป็นองค์ประชุม เป็นองค์ประชุม เป็นกายนอก กายในเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่ง ละเอียดเข้ามา คือเอากาย คือองค์ประชุมที่เป็นวัตถุธาตุเล็กๆ จนกระทั่งถึง เอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็นกาย ก็ให้รู้ว่านั่นคือ วัตถุธาตุ คือ มหาภูตรูป เป็นรูปหยาบ กายคือลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จนกระทั่งถึง องค์ประชุมเข้าไปถึงกายในกาย รวมไปจนกระทั่งถึงความรู้สึก กระทั่งถึงจิต จิตเราจะเรียก กายในกาย ก็ได้ อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด กายในกายก็ได้ และละเอียดลงไปกายในกาย ถ้าไม่ติดภาษานะ ก็คือองค์ประชุม ทีนี้องค์ประชุมของจิต เราจะเรียกกายในกาย มันจะสับสน แต่โดยกาย กาโย องค์ประชุม องค์ที่ประชุมรวมกันอยู่ หยาบก็หยาบ ดังที่พูดแล้ว จนกระทั่งถึงละเอียด เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะเรียก จิตสังขารเป็น กายะ ก็คงไม่ต้องเมาน่ะ เป็นองค์ประชุมของสิ่งละเอียดในระดับจิต เจตสิก สังขารทั้งหลาย นั่นความหมายของกาย กายสังขาร ก็ให้พยายามเรียนรู้กาย แล้วก็ทำให้สงบ ลงท้ายก็จะบอกว่า สพฺพกายปฏิสํเวที กับ ปสฺสมฺภยํ กายสังขารํ ข้อที่ ๓๔ นั้น หมายความว่า พร้อมความรวม ความประกอบเฉพาะ เราต้องรู้สัพพกายะ กายทั้งหลาย เมื่อตัดขอบเขต เอาแค่ลมหายใจ เข้าไปหา ความประกอบ ในที่ละเอียดยิ่งกว่าลมแล้ว มันก็จะถึงความรู้สึกที่จิต

เพราะฉะนั้น คำว่า กาย ที่เรียนรู้ในอานาปานสติ นั่งหลับตานี้ จึงไม่ได้กว้างขวางอะไร เป็นกายละเอียด เอาลมเป็นขอบเขตหยาบที่สุด ถ้าจะพิจารณาออกมาหาถึงกายคตาสติ พิจารณาถึงเนื้อตัว ร่างกาย ตับ ไต ไส้ พุงอะไร ก็มีองค์ประกอบ มีคำอธิบาย มีองค์ประกอบบ้างเหมือนกัน แต่ตอนนี้ เราจะนั่งหลับตา

เพราะฉะนั้น เมื่อนั่งหลับตา แล้วก็พิจารณากายพวกนี้ ให้มันชัดเจนว่า องค์ประกอบอันนี้ มันคืออะไร ก็รู้ชัดๆ ว่ากาย เสร็จแล้วเข้าใจว่า ให้เข้าใจให้ได้ว่า เมื่อมันสังขารกันต่างๆแล้ว คำว่า สังขารนี่แหละ ต้องเรียนรู้ สังขาร เราเรียนรู้สังขารแล้ว ก็พิจารณา อะไรสังขารกับอะไรอยู่ สิ่งที่ต้องเป็นอย่างนั้น ตามความเป็นจริง มีลม มีเนื้อหนังต้องอาศัย อันนี้มันเป็นธรรมดา ธรรมชาติ ส่วนที่มันไปประกอบเป็นพิษเป็นภัย เรียกว่าสังขาร อันนี้แหละเอาออก

เมื่อเอาออก มันก็จะเกิดความสงบระงับ เรียกว่าปัสสัมภยัง สงบ รำงับ เอาออกแล้ว มันก็สงบระงับอยู่ ตามธรรมชาติของมันอยู่ ตามองค์ที่มันจะปรุงแต่งกันอยู่อย่างพอเหมาะพอดี กายก็สังเคราะห์กันอยู่ สังขารกันอยู่พอดี ให้ความพอดี ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ที่ไม่ได้ร้อน ไม่ได้เย็น ไม่ได้ผิดแปลกอะไร ในลมหายใจ ไม่มีพิษไม่มีภัย ไม่มีอะไร ควรจะออก ควรจะเข้า อย่างแรง อย่างยาว อย่างสั้น อยางเบา ขนาดไหน อย่างนี้ เป็นต้น เราก็รู้สัดส่วนที่พอเหมาะพอดี ตอนนี้ มันควรจะออนลงไป เพราะว่า เรานั่งลงไป ไม่ต้องอะไรมาก ก็ใช้ขนาดนั่นนั่น เรียกว่ากาย หรือสังขารกาย

ต่อมา เวทนานุปัสสนา ในบทที่ ๒ นั้น ท่านให้เรียนรู้เวทนา เช่น ปีตี เช่น สุข ปีติ หรือสุขเหล่านี้ นี่เป็นเวทนา ซึ่งก็มีอะไรสังขารอยู่อีกเหมือนกัน มันก็คือจิตสังขารนั่นแหละ จิตสังขารคือ มีอะไรปรุงแต่งอยู่ในความรู้สึก เวทนานี่ ความรู้สึก มันจะต้องเจาะไชลงไปในความรู้สึก เป็นอารมณ์ ในอารมณ์นั้น วิเคราะห์ให้ออกว่า อะไรไปสังขารในนั้น อารมณ์ปีติ เป็นยังไง อารมณ์สุข เป็นยังไง อารมณ์ทุกข์เป็นอย่างไร วิเคราะห์วิจัยถึงเหตุ เหตุซับซ้อนที่มันหลง ที่มันอะไรต่ออะไรด้วย ก็ให้พิจารณา และทำให้มันสงบระงับ ปัสสัมภยัง จิตตสังขารัง เหมือนกัน รู้องค์ประกอบพร้อมของสังขารทั้งหลายแหล่ หรือที่มันรวมประชุมกันอยู่ อะไรมันสังขาร สอดแทรก ก็ให้รู้

ส่วนบทที่ ๔ นั่น จิตตานุปัสสนา ก็ให้ตั้งหลักเลยว่า จิต แล้วเราทำนี่ ไม่ใช่รู้ เรียนรู้เจาะไชความจริงนั่น วิเคราะห์วิจัย แต่ว่าทำลงไปเลย สร้างขึ้นมาให้จิตของเราเกิด อภิปฺปโมทยํ จิตสังขาร หมวดที่ ๓ นี่ ให้มี อภิปฺปโมทยํ ให้เกิดสมาทหํ และให้เกิด วิโมจยํ ให้จิตของเรานี่ อาศัยสภาพ อภิปปโมทยัง อาศัย จิตเบิกบาน ร่าเริง ท่านแปลทับศัพท์ว่า ปราโมทย์ยิ่งอยู่ ก็คือ ความเบิกบาน ร่าเริง ยินดีๆ เป็นใจที่ ใจมันพอนะ พอใจ มันพอใจ พอนี่มันมาจากคำว่า สันโดษ มันพอขนาดนี่ มันพอแล้ว ถ้าน้อยลงไปได้ อย่าไปฟู่ฟ่า หวือหวา มากนัก ให้มีกำลัง ให้มีใจที่ยินดี ใจเบิกบานร่าเริง ยินดีขนาดนี้ ใช้การได้ดี น้อยเท่าไหร่ มันซับซ้อนนะ ถ้าเราลดลงไป เป็นใจที่ล่าซ่านี่ ไม่ไหว ยินดีแรงเกินไป อาตมาพยายามใช้ภาษาไทย ร่าเริงอย่าระเริงมาก เกินไป อย่างนี้มันมากไป ให้ลด อย่างความยินดี หรือว่าความเบิกบาน ร่าเริงของเราขนาด ถ้าน้อยลงไปได้ เท่าไหร่ เรียกว่า อัปปิจฉะ แล้วเราก็มีกำลัง เป็นใจที่ได้อาศัย มีกำลัง มีฤทธิ์แรงของความพากเพียร ขยัน ความยินดี ที่จะทำงานอะไรได้คงทน นอกจาก แข็งแรงแล้ว ก็อดทนคงทน ทำอะไรได้ เป็นประสิทธิภาพ ของจิตที่ดี เราก็พยายามรู้ของเรา เป็นจิตที่อาศัย อันนี้สร้างขึ้นมานะ และก็ทำให้มันเป็นอย่างนั้นอยู่ อย่างแข็งแรงตั้งมั่น จนเอาของความหมายสมาทหัง ว่าเป็นสมาธิ ที่เขาแปลสมาธิ เขาแปลสมาทหัง แล้วแปลซ้อนลงไปว่าสมาธิ ในพระบาลี ในปทานุกรมบาลี เขาก็แปลอย่างนั้นเหมือนกัน แปลสมาทหังว่า สมาธิ หรือไม่ต้องไปแปลซ้ำซ้อน ในภาษาไทยอีกว่า ตั้งมั่นก็ได้ แต่ในความตั้งมั่น หรือในความเป็นสมาธินั้น มันลึกกว่านั้น สมาทหัง มันไม่ใช่แค่คำว่าสมาธิ ที่แปลว่าตั้งมั่นเท่านั้นเอง มันทำให้สภาพของ อภิปปโมทยัง นั่นแหละ ให้ทรงสภาพอย่างนั้นแหละตั้งมั่น ให้ทรงสด ทรงหนุ่ม ให้แข็งแรงอยู่ในสภาพที่เรากะเอาไว้ หรือ ประมาณเอาได้ หรือให้มันเหมาะสมกับตัวเรา ซึ่งจะไม่เท่ากันทีเดียว บางคนอาจจะร่าซ่ามากกว่า บางคน อาจจะจืดหน่อย ก็อย่าไปว่าท่านนัก แต่ท่านก็บอกว่า ท่านเบิกบานร่าเริงของท่านแล้ว บางคนอาจ จะยิ้มแย้มมากหน่อย

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์บางรูป ท่านก็หัวเราะมากหน่อย ดังหน่อยกว่า พระอรหันตบางรูป บางรูปนี่ ไม่ ไม่หัวเราะ ยิ้มในหน้า เฉยก็ได้ หรือจะยิ้มน้อยๆ บางทีจืดๆกว่าก็ได้ ก็แล้วแต่จริตของแต่ละบุคคลนั่นแหละ อย่างนั้นนะ ให้แข็งแรง ให้ตั้งมั่นจริงๆ ต้องทำ ต้องฝึก ต้องอบรม เสร็จแล้ว ท้ายที่สุด แม้จะใช้จิต จิตวิญญาณ จะใช้จิตนี่แหละของเรา ก็เป็นตัวตนไม่ได้ ไม่ใช่ของเรา จะต้องหัดปล่อย หัดวาง ภาษาไทยก็มีเท่านั้น หัดปล่อย หัดวาง เราจะวางยังไง ไม่ยึดเป็นเรา ไม่เป็นของเรานี่ มันลึกซึ้งมาก แล้วมันก็มีในพุทธเท่านั้น สอน ไม่เป็นอัตภาพ

ความรู้สึกอันหนึ่ง ซึ่งเป็นความรู้สึกของจิตเองนั่นแหละ ที่จริง จิตที่รู้สึก จิตที่อาศัย ก็เราเองนี่แหละ อาศัยมัน ใช้มัน จริงๆมันก็เป็นเราโดยบัญญัติในโลก โดยมนุษย์ทุกคนรู้ แต่สุดท้ายมันต้องจากกัน มันต้องแยกกัน ไม่มีอะไร เป็นของของตัว แม้แต่ตัวมันเอง ก็ไม่เป็นตัวของมันเอง แม้แต่ตัวมันเอง มันก็ไม่ใช่ตัวของมันเอง มันก็คือ แยกสลายเป็นอื่นทั้งนั้น สูงสุดมันไม่มีอะไร ไม่ใช่จะเอาภาษานี่มาพูดตั้งแต่ต้นๆนะ

พอเริ่มต้นเรียนเบื้องต้น ก็บอก โอ๊ย เอายอดมาเลย เบื้องต้นเลย ทุกอย่างไม่มีอะไรเป็นอะไร ไม่ใช่ของตัว ของตนอะไร ตีกินหมด ก็กลายเป็นปัญญา อย่างท่านติกขวีโรว่า แม้อันนี้ เจ๋ง น่ะ แก้วน้ำ มีทั้งน้ำ มีไอ้กากอะไร บอกว่า เอ๊ย มองมันไปทำไมเล่า มันไม่ใช่อะไรๆหรอก ไม่มีอะไรหรอก มันก็อย่างนั้นแหละ มันก็อยู่ของมัน อย่างนั้นแหละ อะไรไม่อะไร ไปยึดมั่นถือมั่นอะไรไม่ได้ทั้งนั้น โอ้โฮ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น มาตั้งแต่ต้นเลย เป็นเรื่องของความฉลาดเท่านั้นเอง ตีกิน และ เอามาใช้ และไม่รู้ความรู้สึก ไม่รู้เวทนา ไม่รู้อุปาทาน ไม่รู้ความยึดเกาะของเรา เกาะขนาดไหน วางจริงๆนี่ ไม่ใช่คำว่าวางเล่นๆ มาวางถึงขั้นที่ อาตมาพูด มันไม่ใช่เรื่องตื้นเขินนะ วางสิ่งที่เป็นจิตที่ดีที่สุด วิเศษที่สุดแล้ว เป็นความรู้สึกที่พ้นทุกข์แล้ว แต่มีประสิทธิภาพพ้นทุกข์แล้ว ไม่มีกิเลสแล้ว มีประสิทธิภาพรู้รอบ รู้ถ้วน รู้ฉลาด รู้เฉลียว รู้อย่างใส อย่างโปร่ง อย่างมีความซับซ้อนลึกซึ้งจริงๆ มันยิ่งกว่า สมบัติใดๆในโลก พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบ ได้ภูมิแค่โสดาบัน ยิ่งกว่าได้บ้าน ได้เมือง ว่ายังไง สำนวนอันนี้ ยิ่งกว่าสวรรคาลัย ยิ่งกว่าได้บ้านได้เมือง ได้เป็นจอมจักรพรรดิ์ มีอำณาจักรมหาศาล ได้ภูมิโสดาบัน ค่ามันยิ่งกว่าได้เป็นจอมจักรพรรดิ์ ได้อาณานิคม หลากหลาย ได้สวรรค์มาทั้งสวรรค์ ยิ่งกว่าสวรรคาลัย ยิ่งกว่าจอมจักรพรรดิ์ ที่ได้อาณานิคมมากมาย ได้ภูมิโสดาบันนี่

เพราะฉะนั้น จะกล่าวไปไย สกิทาคามีภูมิ อนาคามีภูมิ อรหัตตภูมิ ที่ได้สภาพของจิตวิญญาณ ที่เรารู้จริง แล้วก็ละปล่อย จนกระทั่งถึง การบรรลุจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ จิตวิญญาณอันปราศจากกิเลส ออกมาได้ ตามลำดับขั้น ขั้นที่ ๑ เรียกว่า โสดาบันขึ้นไปนี่ก็ตาม โอ้โฮ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แล้วไปนั่งพูดเล่นเผินๆ เอาแต่ ความเฉลียวฉลาด มาตีกินอย่างนี้ ในโลกมันซับซ้อนอยู่อย่างนี้ เสร็จแล้ว อาตมาก็ไม่อยากพูดมาก พูดมากแล้ว มันก็ไปข่มเขา ฯลฯ ...

ทีนี้ อันที่ ๔ ยิ่งอันที่ ๔ นี่ ยิ่งไม่ พระพุทธเจ้าชัดเจนเลย เป็นเนื้อหาของพระพุทธเจ้าเลย

อนิจจานุปัสสี วิราคานุปัสสี นิโรธานุปัสสี ปฏินิสสัคคานุปัสสี ยิ่งไม่ใช่ของฤาษีเลย เรียนเวทนา เรียนจิต จิตสร้างจิต ให้หัดปล่อย หัดวาง วิโมจยัง แล้วก็ทำได้จริง ก็เห็นได้ถึงความไม่เที่ยง คือ แก้ไขได้ แก้จิตวิญญาณได้ จิตมันไม่เที่ยง ตัวมันเองมันไม่เที่ยง ไม่มีประสิทธิภาพ ฝึกฝนมาให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขจิตได้ ที่จริงไม่ได้มาแก้ไขจิต เพราะจิต เป็นจิตคือ ธาตุประภัสสรเท่านั้น ธาตุรู้ แต่มันโง่ มันถูกกิเลสนี่ ซึ่งไม่ใช่ตัวจิต เป็นแขก เป็นตัวอื่น เป็นอาคันตุกะ ไม่ใช่ตัวของจิตเอง เข้ามายึดครอง อาศัยเป็นเจ้าเรือน ตีกินเลย มาบังคับ มาใช้อำนาจอยู่ในจิต แล้วมันก็เลยเอียงเอน มันก็เลยเบี้ยวๆเบี่ยงๆ มันก็เลยไม่บริสุทธิ์ ไม่ซื่อสัตย์

เรามาล้างกิเลสออกให้หมด จะได้รู้ว่า ไอ้แขกนี่ ไม่ใช่เรา จิตวิญญาณ คือธาตุอาศัยด้วยเหตุปัจจัยเท่านั้น และ มันบริสุทธิ์สะอาดอย่างไร

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ จิตบริสุทธิ์ จึงเป็นประโยชน์คุณค่า ไม่เห็นแก่ตัว เป็นประสิทธิภาพของมนุษย์ จิตวิญญาณที่บริสุทธิ์สะอาด มันจะซื่อสัตย์ มันจะเป็นคุณค่า ไม่เห็นแก่ตัวจริงๆ ขยัน สร้างสรร เกื้อกูล เป็นประโยชน์ยิ่ง มนุษย์เมื่อทำความจริงอันนี้ได้แล้ว ล้างความสกปรก คือกิเลสนี้ออกไปได้มากเท่าใด มันก็ยิ่งเป็นประโยชน์คุณค่าต่อสังคมประเทศชาติ หรือเป็นบุญของตนเองนั่นแหละ ถ้าจะว่าไป ตนเอง ก็เป็นบุญของตนเอง คือมีแต่คุณค่า เมื่อเข้าใจหลักบุญนิยมแล้ว มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เมื่อปฏิบัติ จริงๆ แล้ว จะเห็นความอนิจจัง ว่าเออ แก้ได้ เปลี่ยนได้ อนิจจังอย่างที่อาตมาอธิบาย อธิบายซ้อน ไม่ใช่อนิจจัง เอาแต่แค่ฉลาด นึกคิดตรรกศาสตร์ แต่อนิจจังที่เห็นความเปลี่ยนแปลง คือจิตมันทำลายได้ ทำให้สะอาด บริสุทธิ์ ทำให้กิเลสมันเล็กลงได้จริงๆ จนจางคลายไป วิราคานุปัสสี รู้ยิ่ง เห็นจริง ในความจางคลาย ของกิเลสจริงๆ ไม่ใช่มานั่งเดา ไม่ใช่มานั่งสะกดจิต รู้รอบ รู้ถ้วน รู้ละเอียด รู้ลออ รู้อย่างชัดคม แม่นมั่น จริงจัง จนถึงดับสนิท นิโรธานุปัสสี จนถึงสภาพที่สลัดคืน สูงสุด คือสู่สามัญ อะไรก็แล้วแต่ หรือว่าได้ แล้วไม่ได้ อย่างที่เคยพูด เอาแล้วไม่เอา เป็นแล้วไม่เป็น อะไรก็แล้วแต่ มันเป็นสภาพก็แค่นี้ เอาแค่ภาษาแค่นี้ก่อน ซึ่งเราสังเกตเอา เมื่อไรที่อธิบายถึงลักษณะของสลัดคืน อย่างหยาบก็ตาม อย่างละเอียดก็ตาม

เหมือนอาตมานี้ เป็นนักแต่งเพลง ไม่ได้เลยนะว่า จะกลับมาแต่งเพลงอีก อ้าว นี่แหละ ปฏินิสสัคคะเสียแล้ว มาแต่งเพลง พุทโธ่ แต่อาตมาบอกคุณเลย อย่างไม่ได้โกหก อาตมาไม่ได้มาติดเพลง ไม่ได้มาติด ไม่ได้มามัน อะไรเลย เมื่อยด้วย แต่ก็พยายามทำ แต่ก็เห็นว่าเพื่อไปทำเป็นประโยชน์ ไม่ได้เห็นแก่ลาภ ยศ ก็รู้อยู่แล้ว ไม่ได้ทำเพื่อ ลาภยศแน่ๆอยู่แล้ว ก็ไม่ได้ติดสรรเสริญเยินยอ ก็ไม่คิดว่า จะมาสรรเสริญเยินยออะไร ถ้าต้องการสรรเสริญเยินยอ ก็ต้องพยายาม แข่งแต่งเพลงสมัยใหม่ แข่งกะเขาก็แล้วก็เขาดังยังไง ก็ต้องแข่งกะเขาให้จนได้ มันไปไม่รอด พยายามอยู่น่ะ พยายามเข็นไม่ขึ้น ตามสมมุติเขาไม่ไหว เล่นกะสมมุติ กับเขาไม่ไหว ก็ได้แต่อย่างนี้ ได้ขนาดนี้ มันดูๆแล้ว ก็โบราณๆอยู่นั่นน่ะ หลายคนก็บอกว่า ทำไมไม่แต่ง ให้ร่วมสมัยกับเขามั่ง โอ้ มันก็อยากจะร่วมสมัยกับเขาเหมือนกันนะ มันทำไม่ถึงน่ะ มันก็ต้องรู้ของเรา อาตมาตามไม่ไหวนะ มันปรุงร่วมไม่ขึ้นนะ ปรุงร่วมไม่ไหว ก็เลยได้แค่อย่างที่มันได้ ก็เอาละ มันได้แค่นี้ๆ อย่างนี้ เป็นต้นนะ เอาละ ก็อธิบาย สรุปคร่าวๆ อย่างนั้น นั่นคือ อานาปานสติ โดยหลัก ถ้าจริงๆ แล้วคือ ถึงลืมตาหมดเลย เพราะฉะนั้น เมื่อเวลามาหลับตา ไม่ต้องใช้ทั้งหมดนี่หรอก เอามาหลับตา ไม่ต้องเอามาใช้ พวกในรายละเอียดพวกนี้ เพราะหลับตานี่ง่าย ตื้นแต่พวกเรา ก็ยังไม่เอาอยู่นั่นเอง ขนาดอย่างง่าย ก็ยังไม่เอา มันก็เป็นผิดที่อาตมาๆ บอกแล้ว อาตมาคงผิดนะ พาไปไม่รอด เพราะว่าไปตีๆ พยายามตี ที่จริง มันต้องตีซ้อนนะ มันติดกันมาหนักหนาสากรรจ์ มาแก้กลับ ต่อไป ในอนาคต พวกเรามีพื้นฐานอันนี้แล้ว คนต่อไป ในรุ่นต่อๆไป ก็คงจะไม่มีปัญหามาก เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราจะมา ไม่มีอะไรมากหรอก อ้าว นั่งหลับตา ก็นั่งหลับตา ก็นั่งหลับตาไป ก็คิดว่าจะพยายามหาเวลา พยายามจะพากันฝึก กับพวกเรา ในอนาคต ต่อไป ในคืนต่อๆไป กลับไปนี่ ไปสันติฯ ไปปฐมฯ อะไรนั่งกัน เอาให้ก้นด้านกันเลย ลองดู ถ้ามีเวลานะ งานก็ยังมาหมดเลยนี่ เกษตรก็จะมา ช่างก็จะมา ศาลาช่างก็จะสร้าง จะต้องทางด้านวิศวกรรม ก็จะต้อง ก็เพราะว่า คนเราไม่มีแรงพอ ก็จะต้องสร้างเครื่องทุ่นแรง จะต้องมีเครื่องกลไก จะต้องมีอะไร เราก็มีคน พอที่จะดำเนินการ จะต้องหลายด้าน อย่าพูดไปเลย ก็เดี๋ยวจะไม่ได้นั่งกันพอดี

อ้าว ทีนี้ก็สูตรต่างๆ ที่ได้อธิบายประกอบนี้ ในเรื่องของเวทนานะ พระพุทธเจ้าก็สรุปเรื่องสัลลัตถสูตร นี่ สรุปให้เห็นว่า เวทนานั่น พระอริยเจ้า ที่รู้ความจริงแล้ว ก็เสวยเวทนาแต่กายส่วนเดียว ส่วนใจ เวทนาทางใจ นั่นอยู่เหนือมัน เพราะพ้นอนุสัย ไม่ว่าจะเป็นอนุสัย ๓ มี ราคานุสัย ปฏิฆานุสัย และ อวิชชานุสัย รวมแล้ว ก็มี ๒ สายใหญ่ๆ คือ ปฏิฆานุสัย ราคานุสัย คือ อนุสัยทางสายโกรธ โทสะ กับอนุสัยทางสายรึงรัด คือราคะ

เพราะฉะนั้น เมื่อแจ้งด้วยอวิชชา หมดอนุสัยของอวิชชาแล้ว แม้เราจะเจ็บกาย ใจมันไม่มีอะไรหรอก ไม่พร่องอะไร สรุปง่ายๆ มันไม่มีปัญหา ถูกลูกศรยิง ก็เจ็บที่แผล ไม่ได้ไปเจ็บใจอะไร แม้ศัตรูนั่น ยิงแล้วด่าด้วย ก็ไม่เจ็บใจ ยิงแล้วด่าด้วย ไม่ใช่ด่าแต่พ่อแต่แม่ ด่าทวดด้วยก็ช่าง ไม่มีปัญหา เมื่อรู้ เมื่อพ้น อวิชชานุสัยแล้ว ก็ไม่ไปเป็นปัญหา เจ็บแต่กาย อย่าไปนึกว่าพระอรหันต์ไม่เจ็บ อย่าลองนะ ลอง ร้องให้ฟังเลยนะ อย่าไปเข้าใจผิด คนเข้าใจผิด อ้อ พระอรหันต์ เป็นพระอรหันต์แล้ว คงไม่รู้จักเจ็บ จักปวดอะไรน้อ มันเจ็บ มันทุกข์ใช่ไหม เจ็บปวดมันก็เป็นทุกข์อันหนึ่ง และไม่ได้เรียนเรื่องทุกข์อย่างละเอียด อย่างที่ว่านั่น นี่ก็สัลลัตถสูตร

ทีนี้ สมุคคสูตร ก็เป็นเรื่องบอกให้เห็นสภาพนิมิต ๓ อันนี้ก็ชัดสำหรับพวก เราได้ผ่านสภาวะมาชัด สมาธินิมิต ปัคคาหนิมิต อุเบกขานิมิต
ฯลฯ

เพราะฉะนั้น ท่านเปรียบเหมือนอย่างกับช่างที่จะสูบทองนี่ สมาธินิมิต ก็เอาแต่สูบๆๆ ทองไหม้หมด ไม่เหลืออะไร ไม่ได้เกิดอะไรหรอก ละลายหมด

(อ่านต่อหน้า ๒)

FILE:0720A.TAP