สมาธิ และสัมมาสมาธิ ตอน ๖ หน้า ๒
โดย พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์

เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๓๓
เนื่องในงานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ของพุทธ ครั้งที่ ๑๔ ณ พุทธสถานศาลีอโศก

ต่อจากหน้า ๑


เพราะฉะนั้น ท่านเปรียบเหมือนอย่างกับช่างที่จะสูบทองนี่ สมาธินิมิต ก็เอาแต่สูบๆๆ ทองไหม้หมด ไม่เหลืออะไร ไม่ได้เกิดอะไรหรอก ละลายหมด

ส่วนปัคคานิมิตนั่น ก็เอาแต่น้ำพรมๆๆ พรมๆ เย็นหมดทอง ทำปฏิกิริยาอะไรก็ไม่เกิด ทำอะไรก็ไม่ขึ้น

ส่วน อุเบกขานิมิตนั่น จะว่าจริงๆแล้ว ก็ค่อยยังชั่วหน่อย อุเบกขานิมิต คือทำได้บ้าง มีอุเบกขานี่นะ มีฐานเฉย วางเฉยได้จริงๆอยู่บ้าง และก็เป็นชีวิตมนุษย์ธรรมดาอยู่บ้าง สมาธินิมิต ไม่เป็นชีวิตมนุษย์ธรรมดาหรอก เหมือนนางอาย เหมือนหลบอยู่ในรูในเลี้ยว

แต่อุเบกขานิมิตนี่ อยู่กับชน อยู่กับมนุษย์ อยู่กับธรรมดา และก็มีฐานอาศัยนิดหน่อย แต่เอาแต่ดู ไม่ทำต่อ ไม่มีพินิจ

อาตมาถึงบอกว่า ใช้คำแปลว่าเพ่งดูเสมอๆนี่ มันไม่ค่อยจะชัดเจน บอกว่าไม่พินิจยิ่งขึ้นๆๆเสมอๆน่ะ คือ ไม่โยนิโสมนสิการ จริงต่อสภาวะ และต้องลึกขึ้นๆ เจริญขึ้นๆ จนกระทั่งถึงที่สุด มันไม่หรอก มันมีฐานอาศัย เหมือนกับพวกเรานี่ มันเข็นไม่ขึ้น ติดแป้นๆ แล้วก็นึกว่าเราจบแล้ว ไม่ได้มีฐานเดียว มันก็เลยไม่มีทาง ที่จะตั้งมั่นแข็งแรง หรือสิ้นอาสวะได้ อุเบกขานิมิต มันก็จะได้แค่นั้นเอง ใช่ อุเบกขานิมิต อุเบกขาพรหมวิหาร อุเบกขานิมิต อันนี้อธิบายได้อย่างที่ว่านี้

อุเบกขาพรหมวิหารนั้น เป็นคุณลักษณะที่อาศัยและรู้ว่าอาศัยด้วย อันนี้ไม่อาศัยเป็นอัตตา อุเบกขานิมิตนี้ เป็นอัตตา แล้วอัตตาที่ไม่ได้ลึก อุเบกขาไม่ได้มีชั้นเดียว วางเฉยนี่ ใจวางๆๆ วางมันเรื่อย วางเฉย ยิ่งไปเอา อย่างความคิดนึก เอาแต่ความฉลาดเท่านั้นมาวาง ก็เลยได้วางแต่ความฉลาด วางแต่ความคิดนึก ได้แต่ตรรกศาสตร์ ได้แต่ความหมาย แต่ไม่รู้จิตจริง รู้จิตจริง สู้สมาธินิมิตยังไม่ได้เลย พวกอุเบกขานิมิตนี่ ความจริงมีแต่ภาษาหลอก แต่เขาวางนะ เขาวาง คือวางโยนทิ้งนะ ช่างมัน วาง ปล่อย ไม่ใช่ตัวกูของกู แต่กูก็อยู่กับกูนี่แหละ เบ้อเร่อๆด้วย จะกินเบียร์ก็ยังกินอยู่ ไปบรรยายะรรมก็ล่อเบียร์กันเมา บางที นี่สายนี้ เขาเป็นอย่างนี้ มีกินก็กิน มีนอนก็นอน มีใช้ก็ใช้

เพราะฉะนั้น คนพวกนี้ฉลาด จึงอยู่กะสังคมได้เพราะฉลาด เขาใช้ความฉลาดนั่นหากิน ไอ้ฉลาดแค่บรรยาย ผิดๆนี่ ยังขายได้เลย ขายได้ หากินได้ ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ จริงๆนี่ คนนี่อยู่อย่างนี้ แล้วมันก็ไปไม่รอด มันจะแทงทะลุ สิ้นอาสวะนั้นไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าก็ยืนยันอย่างนี้นะ สูตรนั้น

ทีนี้ เรามารู้สมาธิ ๔, สองอัน นางวิสาขาอะไรต่ออะไรนั่น ก็ไม่ต้องอะไรมาก อนุปัสสนา ตามเพ่งเล็ง เห็นมีญาณวิปัสสนา หรือจะเรียกอนุปัสสนาก็ได้ สมาธิ ๔

สมาธิที่ ๑. นั้นเป็นสุข ในทิฏฐธรรม เป็นสุขในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น ผู้ใดทำสมาธิ จะเป็นสมาธินั่งหลับตา หรือ ลืมตาอยู่ก็ตาม ปกติธรรมดาก็ตาม จะมีสุขวิหารธรรม มีธรรมดา มีความสุขๆ อย่างสงบน่ะ นั่นเป็นอีกอันหนึ่ง

๒.สมาธิอันที่ ๒. นั่น ถ้าไปเพ่งเล็งหรือไปใช้จิตัญญานำ สัญญาเป็นตัวกำหนดรู้ๆ ๆ หรือจำไว้ มันเป็นฐาน ฐานจำนี่ เหมือนทรัพย์ ความจำนี่ มันเหมือนทรัพย์ชนิดหนึ่ง และเกิดความฉลาด แล้วก็จำได้ กำหนดรู้ กับฉลาดนั่นแหละ คือความกำหนดรู้ๆ สัญญา อะไรเป็นอะไรๆๆ ก็มีไว้ พอเกิดสัญญาแล้วก็เป็นสัญญาๆๆ แล้วก็สั่งสม เป็นสัญญา ไว้เรื่อยๆๆ สิ่งสั่งสมไว้เป็นความจำ ที่จริงน่าจะเรียกว่าสัญญา สัญญากำหนดรู้ ลงไปรู้ๆๆ มันก็เกิดทัศน ทัสสนะ เกิดความฉลาด ถ้าใช้เวทนาเป็นหลัก รับรู้สึกๆๆๆ คุณจะรู้สึกอยู่เสมอ ก็คุณสติของคุณ ความระลึกรู้ทั่วตัว ตื่นๆๆๆอยู่ แล้วจะคิดสติสัมชปัญญะ เวทนานำ ก็จะเกิดสติสัมปชัญญะ ใช้สัญญา ต้องฝึกสัญญา ฝึกแล้วต้องพยายาม เรียนรู้เวทนา

เพราะฉะนั้น คุณจะใช้สัญญา ต้องฝึกสัญญา ฝึกแล้วก็ต้องพยายามเรียนรู้เวทนา ฝึกสัญญา เรียนรู้เวทนา จะเรียนรู้เวทนา ก็ต้องใช้สัญญาซ้อนเวทนา กำหนดรู้เวทนา กำหนดรู้อารมณ์เป็นอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ๆๆ แล้ว วิเคราะห์ในเวทนา เวทนาในว่ามีอะไรเป็นสังขาร มีอะไรที่เข้าแฝงๆซ้อนๆ สุขเวทนาเป็นต้น สุขมันสุขอะไร ถูกต้มจนสุก หรือว่าสุขเพราะว่า มันไม่มีอะไร เฉยๆ ว่างๆ เป็นสุขมันวาง มันว่าง มันสะอาด มันไม่มีอะไร มาบำเรอ บำบัดอะไร ไม่ต้องมีเหตุและก็ต้องมาบำบัดเหตุ ไม่ใช่ ว่างไปแล้ว ไม่มีอะไรมาเป็นต้นเค้า ไม่มีอะไร ที่จะมาปลุกเร้า เพื่อบำเรอตน อย่างนี้ เป็นต้น

ก็ต้องทำเสมอ ถ้าใครพยายามระลึก รู้สึกตัวทั่วพร้อม ระลึกต่อความรู้สึกอยู่เรื่อย ก็เพราะว่าความรู้สึกนี้ ไม่ใช่ว่า รู้ได้ด้วยโดยเวลาหลับก็ไม่ใช่ นั่นมันเสพ เรารู้ความรู้สึกกับเสพต่างกัน รู้ความรู้สึกเรื่อยๆ ก็วิจัยอยู่ในตัว เหมือนกัน

ให้สัญญาซ่อนอยู่ในเวทนา กำหนดรู้ชอนไชๆลึกเข้าไป เสร็จแล้ว เราจะต้องมีสติเต็มอยู่เรื่อย รำๆเรืองๆ ไปก็ไม่เต็มที่ ใช้ต้องตื่นเต็มอยู่เรื่อย ต้องมีความรู้สึกเต็มที่ มันก็ภาษาซ้อนหน่อย ต้องใช้สัญญาเจาะลงไป ในเวทนาเรื่อยๆ ผู้ใดไม่ถนัด หรือยังไม่เข้าใจในความหมายของสัญญาก็ดี เวทนาก็ดี อะไรพวกนี้นี่ อาตมาพูด ใช้ภาษาพวกนี้ ซ้อนภาษาแล้ว ก็คงจะรู้ยากหน่อย เข้าใจยากหน่อย ก็ขออภัย ก็ไม่รู้จะทำยังไง ก็ตอนนี้ มันต้องอย่างนี้แล้ว

ส่วนอันสุดท้าย สมาธิอันที่ ๔ นั้น สมาธิภาวนา อันที่ ๔. จะสิ้นความเป็นอาสวะได้ ก็เพราะว่า เก่งทั้งสัญญา เก่งทั้งเวทนา จะต้องเรียนรู้ขันธ์ ๕ ซึ่งมีรูป บอกแล้วว่า รูป เป็นรูปที่ถูกรู้ ยิ่งเป็นรูป หรือองค์ประชุมที่ละเอียด จิตในจิต เวทนาในเวทนาแล้ว มันจะต้องมีความรู้จริงๆ มีญาณทัสสนะเอาไปใช้ ญาณทัสสนะ เพราะได้ฝึก สัญญามาดีแล้ว ก็จะต้องมีสติเต็ม เพราะฝึกเวทนามาดี จะต้องเรียนรู้เวทนา มีเวทนาที่ดี มีสัญญาที่ดี จึงจะชนะสังขาร จึงจะวิเคราะห์เอาสังขารที่เป็นสังขาร อันที่ไม่ควรปรุง ไม่ควรแต่ง ไม่ควรใช้ เหลือแต่ สังขารที่เป็น ปุญญาภิสังขาร เป็นสังขารที่เป็นบุญ จนสุดท้าย ก็ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาปด้วย สังขารเป็นบุญ เป็นฐานอาศัย เสร็จแล้ว เราต้องวาง จึงจะเรียกว่า ไม่ติดบุญ ไม่ติดอัตตา ไม่ติดสิ่งที่เป็นสูงสุด ที่ยังมีชีวิตอยู่ ใช้ แม้เป็นขันธ์ ขันธ์ไหนก็ตาม วิญญาณขันธ์ รวมแล้ว เจตสิก ๓ เวทนา สัญญา สังขาร คือ เจตสิกใหญ่ ทำงานเต็มที่แล้ว ก็รวมลงเป็นวิญญาณ วิญญาณนั่นเป็นประสิทธิภาพของมนุษย์ วิเศษยิ่งใหญ่ ขนาดไหน ก็ตาม เราก็ต้องรู้ว่าเป็นฐานอาศัย เป็นของอาศัยเท่านั้น มันเป็นเรา แต่อย่าสำคัญมั่นหมายว่าเป็นเรา อย่าไปหมายเอาว่า เป็นเรา บอกคุณแล้ว คุณก็ไปทำอย่างนี้ให้ได้ ฝึกจริงๆนะ มันเป็นเรา แต่มันก็ต้อง พรากจากกัน เป็นที่สุด

เพราะฉะนั้น จะต้องพรากได้ ตายเมื่อไหร่ก็พรากได้จริง คุณจึงจะเป็นอรหันต์ ตายไม่ได้คุณก็จะติด วิญญาณยิ่งใหญ่นี่ เป็นปรมาตมัน เพราะไม่ได้เรียนพราก ไม่ได้เรียนจาก ไม่ได้เรียนปล่อย ปรมาตมันอันนี้ นี่วิญญาณอันสุดท้าย อันนี้จะสิ้นอาสวะ เพราะหมดอุปาทานขันธ์ ๕ นี่เป็นสมาธิอธิศีล

เพราะฉะนั้น สงบสุขระงับนั้น สุขสงบรำงับด้วยสมาธิ นั่งหลับตาก็เอา เรียนรู้สมาธิ ไม่นั่งหลับตา ลืมตานี่แหละ มันเป็นฌานจริง เป็นฌานพุทธ มันก็สุขๆ ไม่ใช่ไม่สุข

เพราะฉะนั้น สมาธิทั้ง ๔ สมาธิภาวนาทั้ง ๔ นี้ ใช่ทั้ง ๔ เพราะฉะนั้น บางคนไม่มีเจโตสมถะ สมาธิ นั่งหลับตา เอา ก็ไม่เป็นไร ก็เอา แต่ที่พวกเราจะต้องย้อนกลับมาเอานี่ ก็เพราะว่าไม่ได้ แต่ผู้ที่ได้แล้ว ไม่ต้องไปนั่งสมาธิ หรอก พระพาหิยะทารุจริยะ พระพุทธเจ้า ถามขอคำสอนสั้นๆ ไม่ต้องยาว นี่ อย่างที่จริง ต้องพูดอย่างสุภาพ กว่านี้แหละน่ะ พูดกับพระพุทธเจ้า ที่อาตมาพูดกลายๆ เอาถึงเรื่องเนื้อๆ พระพุทธเจ้าก็ อ้อ ท่านเอง ท่านไม่มีปัญหาหรอก พระพุทธเจ้าท่านสัมผัสแล้ว ท่านมีอภิญญาสูงน่ะ ท่านก็รู้ว่า คนนี้มีบารมี เอาสอนอย่างนี้ ท่านก็สอน ๔ ประโยคปั๊บ ก็ไปนั่งขัดสมาธิที่ไหนเล่า พระพาหิยะทารุจริยะ เป็นอรหันต์เลย ฟัง ๔ ประโยค เป็นพระอรหันต์แล้ว พวกเรานี่ ฟังสี่ล้านประโยคแล้ว (ผู้ฟังหัวเราะ) แล้วก็ฝึกมาอีก ก็ตั้งไม่รู้ว่า เท่าไหร่แล้ว ก็ยังไม่ได้เป็นอรหันต์

เพราะฉะนั้น มันก็ต้องทุกขบวนท่า มันต้องใช้ทุกวิธีการ เพราะอินทรีย์พละ บุญบารมีเรายังไม่พอ ต้องใช้ ทุกอย่าง มันเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว ยังเหลือที่จะเอาหนังชามัวมาเช็ดนั่นแหละ แล้วก็เอาไปขายได้แล้ว สมบูรณ์แล้ว แต่เขาก็ต้องทำเพชรนี่ เขาก็ต้องเกลา ต้องกลึง ต้องโกลน ต้องทำอะไรมาก่อน จนกระทั่ง จะเป็นเม็ดเพชร ที่เจียระไนแล้ว ใช่ไหม แล้วเราจะไปถือตัวว่า เราเอง ไม่ต้องไปโกลนหรอก จะเอาแต่ชามัว นี่เช็ด แล้วเราก็จะออกไปเป็นพระอรหันต์ มันจะไปได้อะไรเล่า คนที่เขาเจียระไน จนถึงชั้นนี้แล้ว สุดท้ายแค่นี้ เขาก็ได้ที่ แต่เขาทำทั้งนั้นแหละ ชาติไหนก็ไม่รู้ และพวกเรานี่ ชาติไหนก็ยังไม่ได้ทำ และ จะไม่เริ่มทำ มันจะไปมี องค์ประกอบอุปการะอะไรได้ รู้นะว่าตอนนี้ ต้องนั่งแล้วนะ ไม่นั่งก็ไม่ได้แล้วนะ จะมาเอาชามัว เช็ดก้อนเพชร หรือก้อนกรวดอะไรมานั่นก็เช็ด นั่นนา หนังชามัวขาด และไอ้เพชรก้อนกรวด และมันยัง ไม่ได้เป็นเหลี่ยม เป็นเหลิ่มอะไรให้คุณหรอก หนังชามัวก็ขาดหมดน่ะ ใช่ไหม เข้าใจนะ เอาละ ก็เป็นเรื่อง ที่สรุปพวกนี้ให้ฟัง ก็เพื่อเข้าใจภาษาหลักพวกนี้แล้วก็ เอ๊า ก็ลองดู เอาไปเอามา มาได้นั่งสักครึ่งชั่วโมงก็ยังดี เอาละ ไม่ต้องกลัว ตั้งใจไว้แล้วกัน ทีนี้ ไปอาตมาไม่พานั่ง ท่านทั้งหลายนี่พานั่ง แม้ผู้นั่งจะพาโงกบ้าง ก็ไม่เป็นไร อย่าไปโงกตามท่านก็แล้วกัน ไม่มีปัญหาหรอก ตัวใครตัวมัน นั่งนี่ ไม่มีใครช่วยใครได้หรอก บอกเวลานั่งนี่ ตัวใครตัวมัน ติงเตือนไว้เท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพานั่ง ก็พานั่ง ไม่เป็นไร ว่ากันไป นี่พูดเผื่อไว้ เพราะฉะนั้น ก็เตรียมตัวไว้ให้ดีๆ สมณะผู้พานั่งก็ต้องฟิตให้ดีๆ นะ

เอ้า ตั้งกายตรง ตัวตรง คอตั้ง ตาอย่าตก ไม่ต้องลืมตาหรอก หลับตานี่แหละ เอ้า หลับตานี่แหละ เอาให้มันได้ แต่คนไหนที่ลืมตาไปพั้บ แหม มันหรี่ รู้นะ ถีนมิทธะ เป็นตัวผีร้าย ต้องผ่านด่านนี้ให้ดีๆ อันอื่นก็คิดว่า ก็คงจะรอง แหละนะ แต่ถีนมิทธะนี่จัด แต่สายฟุ้งซ่าน ก็ระวังเหมือนกัน มันไม่ค่อยหลับหรอก แข็ง แต่แหม อุทธัจจะ คิดอะไรก็ไม่รู้ ร้อยเรื่อง ลดลงมาให้เหลือ ๙๐ ลดลงมา เหลือ ๘๐ ลดลงมาให้เหลือ ๗๐ เรื่อยๆให้ได้ เอ้า เอาเลย เริ่มต้นเลย ...

หูฟังเสียง อาตมากล่าวไว้ หลับตาแล้ว ก็ทำฌาน ฌานนี่ ฌานไม่ใช่ว่า อยู่ในภวังค์แล้วไม่ได้ยินเสียง ได้ยิน นั่งหลับตาไปแล้วก็ได้ยินเสียง แล้วก็ให้มีสติร้อยไว้ พยายามทำความเข้าใจคำว่า สติเต็มร้อยให้ดีๆ หรี่ลงมานิดหนึ่ง ก็ถือว่าถีนมิทธะ ถ้ามันฟุ้งซ่านก็รวบรวมให้เป็นเรื่องหนึ่งเดียว เพราะฉะนั้น อยู่ขณะนี้ เราจึงมีเรื่องที่จะรู้ก็คือ เรื่องลมหายใจมันยาว มันสั้น ลมหายใจมันออกมันเข้า เอามาทำงานกับเรื่อง ลมหายใจนี้เท่านั้น คนฟุ้งซ่านก็อยู่กับอันนี้ หรือคนหลับก็อยู่กับอันนี้ นั่นแหละ ให้รู้อยู่น่ะว่า ลมหายใจ เข้าออก คนจะหลับเก่งๆ ประเดี๋ยวลืมเสียแล้ว ลมหายใจมันหายไปเสียแล้ว เพราะหลับนั่นแหละ พยายาม อย่าให้มันหลับ ได้ยินเสียงอาตมาได้ แม้จะเข้าไปในภวังค์แล้ว ก็ยังได้ยินเสียงอาตมาได้ แล้วคุณจะรู้ว่า อ๋อ ฌานมันต่างกับหลับอยู่ตรงนี้เอง มันใส มันชัด และจะได้ยินชัดกว่าปกติด้วยซ้ำ ยิ่งไปอยู่ในฌานนี่ เป็นฌาน จะได้ยินชัดกว่าปกติด้วย แม้เสียงอื่นรบกวนยังไม่ได้ยินเลย ถึงขนาดนั้น เสียงอื่นจะซ้อนอย่างเช่น ขณะนี้ อาตมาพูด และยังมีเสียงนกร้องอยู่นี่ จะไม่ได้ยินเสียงนกด้วยซ้ำ จะได้ยิน แต่เสียงอาตมา ถึงขนาดนั้น เพราะว่าจิตนี่มันวิจิตร จิตที่มันจะรับเอาแต่แค่นี้ มันจะรับได้ อันนี้ ถ้าใครเรียน สะกดจิตมา จะรู้ดี บอกไม่ต้องเห็นอื่น ไม่ต้องรับอื่น รับแต่อันนี้อันเดียว กำหนดสั่งอย่างนี้ได้เลย จะไม่รับอื่น จะรับแต่อันนั้น อันเดียวจริงๆ ก็ทำไปเรื่อยๆ ให้ดีๆ ..

ดูกายข้างนอกด้วย กายสังขาร ให้มันได้รูปร่างที่นั่งที่ดี อย่าให้โอนเอน สัดส่าย พยายามกำหนดรู้ แม้จะหลับตา ก็กำหนดรู้ว่าร่างเรานั่งอยู่อย่างไร แขน ขา มือ ไม้ กายที่ตั้งที่นั่งอยู่นี่ ได้สภาพดีไหม ถ้ามันเอนมันโอน มันส่าย มันซัด มันก็ไม่ปัสสัมภยัง ไม่ระงับ อันนี้ก็แค่ง่ายๆ

(อ่านต่อหน้า ๒)

รู้ตัวทั่วพร้อม ใครรู้สึกหรี่ ใครรู้สึกโงก ใครรู้สึกว่ามันซัดส่ายอะไร แก้ทันที นี่เป็นเบื้องต้น แก้ทันที ตอนนี้ เราจะแข่งขันกันด้านสายนั่ง ไม่ว่าเป็นธรรมกาย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสายอาจารย์มั่น แม้แต่ฤาษีลิงดำ แต่เรามี สัมมาทิฏฐิแล้วว่า เราจะไม่ไปยึดติดอะไร แต่เราก็จะใช้ฝึกปรือประกอบ ก็เรียนรู้ ให้ล่วงรู้กันลึกซึ้ง ขึ้นไปอีก แต่ในเบื้องต้นนี่ ..

- ลมหรี่เป็นถีนมิทธะ เป็นง่วงงุน จะหลับ อันนั้นก็แก้ทันที ต้องแก้ทันที มันไม่ใช่อารมณ์น่ายินดี ไม่ใช่สุขหรอก ทุกข์ แก้มาให้สติเต็ม ให้เบิกบานแจ่มใส ไม่ต้องกลัวว่า จะไม่เข้าไปสู่ภวังค์ ไม่ต้องกลัว ให้สติตื่นเต็มอยู่ อย่างนั้น ไม่ต้องกลัว ทำไปเถอะ วันนี้ไม่ได้ หลายๆวันทำไปแล้ว จะรู้ว่าสู่สภาพฌานนี่ เป็นอย่างไร

- ปัสสัมภยัง กายสังขารัง กายอย่าโงกเงก อย่าส่าย นั่งดูให้เรียบร้อย ไม่ใช่ไม่ขยับเลยนะ ถ้ารู้สึกมันปวด มันเมื่อย ก็ขยับได้ แก้ไม่ยากหรอก มันปวด มันเมื่อย ก็ขยับนิดหนึ่ง มันหายปวดเมื่อยได้แล้วนะ

- แต่ถ้าใครไม่พยายามที่จะขยับนัก พยายามที่จะฝืนจนกดข่มมันก็อดทนดี หัดฝืนหัดทน หัดกดข่ม มันก็หาย ได้เหมือนกัน แต่มันอาจยากกว่าเราขยับ มันอดทนดีด้วย หัดอย่างนั้นก็ได้ แต่ระวัง มันจะเสียสุขภาพ บางอย่าง ถ้ามันไปไม่ดีนัก มันก็จะเสียสุขภาพได้ ถ้าคิดว่ามันไม่เสียหรอก สุขภาพอย่างนี้ มันเป็นเรื่อง เล็กน้อยเท่านั้น ก็ปล่อยวาง อดทนได้ ฝึกหัดอดทน เราก็จะแข็งแรง จะอดทนได้ดี ..

- ลมหายใจเข้ายาว เริ่มต้นด้วยมีสติอยู่กับลมหายใจ อย่างนี้เรียกว่า ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า แล้วก็พยายาม ที่จะอยู่กับเรื่องเท่านั้น คนเรานี่มันจะคิด เพราะฉะนั้น เราก็เอาความคิดนั่นมาไว้แค่คิดว่า อ้อ อันนี้มันยาว มันสนใจอยู่ อยู่แค่นี้ อ้อ อันนี้ลมออก อันนี้ลมหายใจออก อันนี้ลมหายใจเข้า ออ นี่ออก ออ นี่เข้า ออเข้า เป็นกีฬาเล่นอยู่กับมันแค่นี้ เหมือนกับตีแบตมินตัน แล้วก็ตีไป ฟากโน้นเขาตีมาก็รับ ก็ตีกลับ ตีไปตีมา ก็ตีกลับเหมือนกันแหละ เล่นแบตบินตัน เล่นนั่นเล่นนี่ มันเป็นกีฬา อ๊าว ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เอ้า สั้น เอ้า ยาว นี่ลูกหยอด นี่ลูกยาวอะไรก็ว่ากันไป อยู่กับลมหายใจเข้าออก สั้น ยาวแค่นั้นแหละ ให้มาเป็นหนึ่ง ไม่ต้องคิดอะไร ที่อาตมาพูดนี่ ได้ยินเสียงประกอบไปในการกระทำ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะให้พาเขว ไม่ให้มีเรื่อง อะไรมาก ที่จะต้องให้คิดมาก เป็นเรื่องที่สอดคล้องกับเรากระทำเท่านั้น ที่พูดนี่ เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปวิจัย อะไรยาก ฟังแล้วก็ใช้ทันที ฟังแล้วก็จะรู้ ฟังแล้วก็ใช้ทันที กับทั้งที่เราปฏิบัติ ..

- ดูอารมณ์ถีนมิทธะ อย่าหรี่ๆ หรี่ไม่เต็มร้อย ความรู้สึกไม่เต็มที่ ไม่ร้อย แม้หรี่นิดหนึ่ง ก็คือถีนมิทธะ ถ้าเรายัง ซัดส่ายเรื่องมาก ไม่อยู่กับเรื่องลมหายใจ เข้า ออก สั้น ยาว ก็ฟุ้งซ่าน อุทธัจจะเหมือนกัน ก็รวมมันมา ให้เป็นหนึ่ง อยู่กับอันนั่นแหละ หนึ่งให้ดิ่งเลย อยู่กับลมหายใจเข้าออก ก็เรื่องอะไรต่อมิอะไรก็ไม่ต้องฟังเสียง นี่บอกแล้วว่า ไม่ต้องมาคำนึง เพราะเสียงจะวิ่งเข้าหู เข้าไปรับรู้รวมอยู่ กับความรู้ของเรา และเราก็จะทำไป พร้อมกันเลย ฟังก็เข้าใจอะไร เออ อันนี้ ของเรา ยังไม่ถูก ควรแก้ก็แก้ไปพร้อมกัน ไม่ควรแก้ คุณก็จะรู้ มันจะมีตัววิจัย อยู่ในนั้นเสร็จ ตัวธัมมวิจัย ฟังแล้วคุณก็จะวิจัยได้เร็ว เพราะไม่ใช่เรื่องอะไร เป็นเรื่องที่ ทำให้เกิดตรงที่เรารู้สึกอยู่เดี๋ยวนี้ เราก็ไม่ต้องแก้ ถ้าพูดไป มันตรงกับที่เรารู้สึก คุณก็แก้ แก้ให้มันตรง ตามที่พูด ..

- มีสองสายเท่านั้น สายฟุ้งซ่านกับสายที่จะหรี่หลับ จะหรี่หลับ ก็ปรับมาทันที มันฟุ้งซ่านก็เอามานิ่ง ดิ่งอยู่กับ ลมหายใจเท่านั้น เรียกอานาปานะกับสติ มีสติ เต็มตื่นอยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อานาปานะ ทำอยู่แค่นี้แหละ ลม มันจะเป็นเอง มันจะเข้าไปสู่ภวังค์ มันจะเป็นฌาน มันจะรู้สึกโปร่ง รู้สึกโล่ง มันจะไม่รับ สัมผัส ไม่รับปรุง ไม่รับสังขารกับอะไรข้างนอก และจิตของเรา มันรวมเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตารมณ์ มันก็จะเป็นของมันเอง ฝึกตามบาทฐานที่ว่านี่ ไปเรื่อยๆ มันจะค่อยๆชำนาญเอง ..

- ให้เห็นลมหายใจให้ชัด ไม่ต้องไปได้รู้อันอื่นสิ่งอื่นอะไรมากมาย อยู่แค่ลมหายใจนี่ ให้ชัดดิ่งอยู่อย่างนั้น เหมือนเขาบอกเพ่งลูกแก้วนั่น เพ่งลูกแก้ว เจาะเข้าไปในกลางลูกแก้ว ใสลงไปๆนั่นแหละ คล้ายๆกัน นั่นแหละ อยู่ที่ลมหายใจชัดขึ้นๆ อยู่กับลมหายใจนั่นแหละ เข้าออกยาวสั้น อยู่ที่ลมหายใจ อยู่แค่นั้นแหละ

- ถ้าใครมันยังไม่ไหวจริงๆ จะท่องเอา พุทเข้า โธออก หรือ พุทออก โธเข้า ประกอบไปด้วยก็ได้ จะได้ดึง ความนึกคิด มันยังเป็นปรุง มันยังเป็นหยาบอะไรนัก ก็เอามั่ง อย่างนี้ก็ได้ หรือจะเอา ๑-๒-๑-๒ ก็ได้ หรือใครรับ พระเยซู จะเอาเยออก ซูเข้า เย-ซู ก็ยังได้ ให้มีอะไรที่ประกอบเป็นเครื่องประกอบ ที่มันหยาบหน่อย สำหรับ จิตบางคน ที่แหม จะไม่ท่องไม่อะไร ไม่มีบทท่องทวนอะไรเลย เอาจิตเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ มันก็ไม่หวาดไหว มันก็ยังดิ้น ยังส่าย ยังหยาบ ก็ให้มันละเอียดขึ้น เอาอันนี้ประกอบก็ได้ เอาพุทโธประกอบ พุทโธๆๆๆ ก็ได้ หรือ จะเอาสัมมาอรหัง มันยาวก็ได้ คนที่หยาบหน่อย ก็เอาสัมมาอรหังๆๆ เป็น ๒ จังหวะ ทำช่วงแรกๆนี่ ถ้าเราทำให้เราทำ ทำได้เป็นหนึ่งอยู่ขนาดนี้นะ เป็นหนึ่งอยู่ขนาดหยาบๆ ไม่ซัดส่ายอะไรมาก แล้วก็แจ่มใส ทำแล้วก็แจ่มใส ไม่หรี่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่อะไรมากมายนัก อยู่กับลมหายใจได้ดีพอสมควร ออกเข้าติดต่อกัน ๕ นาที ๑๐ นาที ๒๐ นาที ขณะนี้ เวลาหมดไปแล้ว ๑๕ นาที พานั่งมานี่ ๑๕ นาที แล้ว ถ้าใครยังเบิกบานแจ่มใส โปร่ง ได้มาต่อเนื่อง กันมาได้เรื่อยๆ ก็ดีแล้ว ..

- ล้มก็ลุกๆ ไม่มีทางอื่น ทำอย่างเดียว นั่งอย่างนี้ เขานั่งกันชาติๆน่ะ ไม่ใช่ปีเดียวน่ะ นั่งกันเป็นชาติๆเลย และ นั่งทำฝึกๆ จริงๆ

- จะแก้ตัวว่านอนไม่พอไม่ได้ เพราะว่า ทำฌานนี่ ถ้าได้ฌานแล้วนี่ มันจะได้ยิ่งกว่านอน นี่แหละเป็นการนอน ที่สูงกว่า การไปนอนหลับเฉยๆ แต่แค่ได้นอนหลับ มันไม่สูงส่งหรอก บอกว่าเมื่อยว่าเพลีย นี่แหละ มันจะได้หายเมื่อย หายเพลียในตัวมันเอง จะต้องฝึก ไม่ได้ขีดขั้นของมัน แม้เพลียมาจริงๆ แล้วไม่ชำนาญ มันก็ไม่ได้เหมือนกัน ไม่ชำนาญจริงๆ ไม่ได้ฝึกปรืออยู่ แม้แต่เรื้อๆ ไม่ได้ฝึกปรือมานี่ นั่งบางทีมันก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น สิ่งนี้จึงต้องนั่งทำเอา ต้องทำ ต้องฝึกเอาเรื่อยๆ ตลอดๆ ไม่ได้เคยหยุด

- พยายามทำความรู้สึกกายด้วย กายไม่โงก ไม่โงน ไม่เงน บางทีไม่รู้ง่ายนะ ไม่รู้ง่ายน่ะ ถ้าไม่เรียนรู้ตัวเอง ไปตั้งแต่ต้น จะกลายเป็นคนที่นั่ง สมาธินี่ เป็นฌานเหมือนกัน แต่กายไม่ปัสสัมภยัง ไม่สงบระงับ กายมัน ก็เอน โอนๆ อยู่ข้างนอกนี่ คนข้างนอก เขามองเห็น แต่ข้างอยู่ในภวังค์จริงๆ และใสได้ด้วยๆน่ะ มีสภาพใส สติเต็ม อยู่ข้างในด้วย แต่ข้างนอกกายนี่ โงนเงนๆ เป็นอย่างโน้นอย่างนี้อยู่ มันไม่นิ่ง ถ้าไม่ฝึกให้ดี ไม่พยายาม ทำความรู้สึก ในทางกายสังขาร สัพพกายะ กายทั้งปวงที่เราจะควบคุม หรือเราจะจัดแจงมัน ถ้าเราไม่เรียนรู้ ใฝ่รู้ให้มันพร้อม ให้มันครบ ให้มันเฉพาะเท่าที่เรากำหนด ก็ไม่ได้กว้างอะไรนัก กายะ องค์ประกอบอันนี้ ก็แค่กายเรา กับอาการที่มันเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้น เราจะนิ่งก็นิ่ง ตั้งกายตรง ก็ทำสภาพ เขาใช้คำว่า อธิษฐาน บอก อธิษฐานในนิ่งก็ได้ ใช้ตั้งใจ อธิษฐาน คือตั้งใจ ต่อไปนี้ เราจะตั้งใจ คือ อธิษฐาน คือขออธิษฐาน เราจะต้องนิ่ง และจะต้องนั่งตรง ไม่เอน ไม่ซัดส่าย ลำตัวตรง คอตรง แล้วก็ทำ จะอธิษฐานนั่น คือใจเราสั่งตัวเอง แล้วก็ทำให้มันตรงตามอันนั้น จิตมันจะช่วยด้วย ตั้งใจ คืออธิษฐานจริงๆ ตื่นแม้หลับตา ก็ทำจิตให้ตื่นอยู่เรื่อย อย่าให้หรี่ลงไป อย่าให้มัวซัวลงไป เวลาเป็นฌานนั้น จะได้ยินเสียงอาตมาชัด เสมอ ยิ่งเป็นฌาน ยิ่งได้ยินแต่เสียงอาตมาชัด เพราะฉะนั้น ขณะใดที่ไม่ได้ยินเสียงอาตมาแล้ว นั่นน่ะ ขณะไม่หลับ ไม่หรี่ ก็แย่แล้ว คนที่จะมีถีนมิทธะ จะไม่ได้ยิน เสียงของอาตมา คนที่เป็นฌาน จะได้ยินเสียงอาตมา ยิ่งเป็นฌานดีเท่าไหร่ ก็จะได้ยินเสียงอาตมา และจะได้ยินชัดขึ้นด้วย ยิ่งเป็นฌานดีเท่าไหร่ ยิ่งจะได้ยินชัดขึ้น ได้ยินเป็นเสียงเดียว เท่านั้นด้วย แม้แต่เสียงอื่น บอกแล้วว่า เสียงอื่นที่ประกอบ ไม่ได้ยิน

ถ้ายิ่งเป็นฌานดีเท่าไหร่ ฌานสูงเท่าไหร่ ยิ่งจะดี ยิ่งจะได้ยินแต่เสียงเดียว เสียงอาตมา พูดบอกตรงรับรู้อยู่ ร่วมกันเท่านั้นด้วย บางคนอาจจะเป็นฌาน โดยที่ไม่ได้ยินเสียงอาตมาก็ได้ แต่ฌานอย่างนั้น ถ้าเรา ไม่กำหนด เราสั่งว่า ให้ได้ยินเสียงอาตมา เออ ถ้าอย่างนั้น ก็เป็นฌานได้ ถ้าจริงๆ ก็จริงนะ ถ้าไม่จริง ก็เป็นหลับเหมือนกัน ก็ได้แต่ว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องตัดเสียงอาตมา ไม่จำเป็นจะต้องตั้งอธิษฐาน ไม่ให้ได้ยิน เสียงอาตมา ควรตั้งอธิษฐานได้ยินเสียงอาตมาด้วยซ้ำ แล้วจะได้พิสูจน์ฌานได้ง่ายขึ้น พิสูจน์ฌานได้ชัดขึ้น เมื่อตั้งอธิษฐานว่า จะต้องได้ยินเสียงอาตมา คุณก็จะรู้ตัวว่า ถ้าเริ่มไม่ได้ยินเสียงอาตมาเมื่อไหร่ นอกจาก อาตมาหยุดพูด ถ้าอาตมาพูดอยู่ แล้วไม่ได้ยินเสียงอาตมา แสดงว่า เรากำลังหลับ เป็นถีนมิทธะ ไม่ใช่ฌาน

- จำไว้ว่า ต้องได้ยินเสียงอาตมา ถ้าตั้งใจไว้อย่างนั้นแล้ว อาตมาพูดขึ้นมาเมื่อใด มีเสียงขึ้นมาเมื่อไร ก็จะได้ยินเมื่อนั้น เมื่อเป็นฌานจริงแล้ว จะได้ยินเมื่อนั้น ทุกทีไป

- สมาธิภาวนา อย่างที่ ๑ คือ ทิฏฐธรรมสุขวิหาร อย่างนั้น การอยู่ในสภาพอย่างนั้นนะ เป็นสุขในปัจจุบัน อย่างนั้น จะเป็นสุขจริงๆ เป็นสุขด้วยสงบระงับ ถ้ามันเป็นฌาน มันสบาย มันจะไม่อึดอัด มันจะไม่ขัดเคือง มันจะไม่เดือดร้อนอะไรเลย มันจะสบาย เป็นฌานจริงๆ มันจะสบายจริงๆ ออก เข้านั้น แม้ไปอยู่ในฌาน ไปอยู่ภวังค์แล้ว เราจะเอาลมหายใจ เป็นลมหายใจเข้าสั้น ออกยาว อะไร เข้าไปไว้ในข้างใน รู้สึกก็ได้เหมือนกันกับ เอากสิณลูกแก้ว เอากสิณไฟอะไร ไปมีดวงไฟอยู่ข้างในอะไร ความนึกคิด เอาลูกแก้ว เข้าไปอยู่ในความนึกคิด เหมือนกันแหละ ลูกแก้วก็ดี ไฟก็ดี หยาบกว่าลมหายใจ เท่านั้นเอง ถ้าเผื่อว่า เอาลมหายใจเข้า ลมหายใจออก รู้สึกว่ามันยาว มันสั้น เข้าไปอยู่ในภวังค์ เหมือนมีลมหายใจอยู่ ที่เราได้อยู่กับ ลมหายใจเข้าออก ยาวอยู่ สั้นอยู่ อย่างนั้นตลอดเวลาก็ได้

- ในอานาปานสติสูตรนั้น จะกำกับว่า ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จนกระทั่ง แม้ที่สุดท้ายถึงขั้น ปฏินิสสัคคานุปัสสี ก็ยังจะต้องออกเข้า แล้วก็จักหายใจ จักหายใจออกอยู่ นั่นก็หมายความว่า ความจริงแล้ว มันจะค้านแย้งกัน กับรโหคตสูตร ที่บอกเอาไว้ว่า พอถึงฌานที่ ๔ แล้ว ลมหายใจจะดับ เมื่อเข้า จตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมดับ อสฺสาสปสฺสาสา นิรุทฺธา โหนฺติ ในจตุตถฌาน ที่อ่านให้ฟังแล้ว ในรโหคตสูตร

เพราะฉะนั้น ต่อจากนั้นไป ต่างๆนานา อากาสานัญจายตนะ สัญญาเวทยิตนิโรธ จนกระทั่งถึงสุดท้าย ถึงสภาพปฏินิสสัคคะ ถึงนิโรธานุปัสสี ที่เราเรียนมาถึงข้อสิบห้า นิโรธานุปสฺสี ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี
ก็ยังมีกำกับ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันก็จะแย้งกันกับนี่แค่ฌานที่ ๔ ในรโหคตสูตร ก็ตรัสไว้ว่า ลม หายใจออก หายใจเข้า ย่อมดับ โน่นแน่ เลยนิโรธไปโน่นแน่ ก็ยังลมหายใจเข้า ลมหายใจออกอยู่ ถ้าเรียนไม่ดี เข้าใจไม่จริง มันก็จะแย้งกัน ก็เลยไปมุ่งเอาที่ลมหายใจจริงๆ หยาบ เป็นเรื่องของความหมาย เพราะฉะนั้น อันนั้นไม่ใช่ นะ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกนั้น จะเป็นความรู้สึก เป็นจินตนาภาพ เป็นอุคคหนิมิต และ จะขยายทำเองเลย ทีนี้ จะปั้นให้ยาวเท่าไหร่ สั้นเท่าไหร่ จะให้เข้า จะให้ออกอย่างไร เป็นปฏิภาคนิมิตก็ได้ ขยายกสิณ เพ่งลูกไฟ แล้วไปอยู่ข้างใน เป็นการเห็นเหมือนมีไฟอยู่ข้างใน หลับตาแล้ว ไม่ได้เห็นไฟแล้ว ถ้ามีดวงไฟนั่น ติดอยู่ในจินตนาภาพอยู่ข้างใน เป็นนิมิต แล้วก็ขยายออก ขยายเข้า ขยายให้ใหญ่ ขยายให้โต ขยายให้เล็ก ลดให้เล็ก ให้มันอยู่ใกล้ตัว ให้มันออกไปห่างตัว อะไรอย่างนี้ก็ได้ ฉันเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่ของจริง ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มันไม่ใช่ของจริง แต่ก็มีลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เพราะฉะนั้น จะบอกว่าดับ คือเราไม่ได้ไปสัมผัส อยู่กับลมหายใจจริง ที่อยู่ข้างนอกนั้น แต่ก็มีลมหายใจออก ลมหายใจอยู่ข้างใน ของเราด้วย มีความรู้สึกที่มีสติ มีสติเต็ม รู้สึกอยู่ได้ ทำอย่างนั้นได้

หรือแม้ที่สุด เราเข้าถึงในระดับที่ไม่จำเป็นจะต้องไปนึกถึงลมหายใจอะไรเลย ว่างไปเป็นอากาสา ดังกล่าวแล้ว จากฌาน ๔ แล้วก็ขึ้นสู่อากาสา ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดับจริงๆ ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับ แม้นิมิตของลมหายใจเลย จะว่างวาง อยู่กับความสว่าง อากาสานัญจายตนะ สว่างนิ่งหนึ่งเดียวอยู่ นั่นแหละ ก็จะรู้สึกได้ จะทำได้ ปล่อยออกไปอีกนั่นเอง ไม่ปรุงอะไรขึ้นไปยิ่งกว่าๆ ขึ้นอีก ปล่อยออกไปอีก ก็เป็นว่าง แม้แต่ลมหายใจ ไม่มีแล้ว ไม่เอาแล้ว ว่าง เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาเข้าไปในสภาพภวังค์ หรือฌาน ที่มีสติเต็ม เราก็จะโน้มน้อมจิตไป ปล่อยได้ แล้วจะว่าง สว่างอยู่ จะรู้สึกต่อวิญญาณ รู้สึกต่อความรู้สึกของ ตนเอง ก็จะรู้สึกได้ เรียกว่า วิญญาณัญจายตนะ ก็จะรู้ว่า โอ้ เรากำลังอยู่ในอีกภูมิหนึ่ง ภพหนึ่งหนอ อยู่สภาพที่มันว่าง มันสว่าง มันโปร่ง มันโล่ง มันเบาอะไร มันก็จะรู้ รู้สึกเอง มันจะรู้สึกอยู่ในนั้น

เพราะฉะนั้น สภาพอากาสาก็บอกความว่าง สภาพวิญญาณัญจาก็บอก ความรู้สึก ความว่าง นี่ดูนอก ดูองค์ประกอบ มาระลึกถึงความรู้สึก ก็เรียกว่า เวทนา หรือวิญญาณ มันว่างเฉย อุเบกขา วางเฉยอยู่ อย่างนั้นแหละ วิญญาณ ที่เป็นอุเบกขาเจตสิก คือ จิตที่เป็นอุเบกขาเจตสิก เรารู้วางว่าง อยู่เฉยๆ อยู่นั้นน่ะ ถ้าเราจะทำให้มีอะไรนิดหนึ่ง น้อยหนึ่งนั่น ไม่มีนั่น ก็คือสิ่งใด ที่เรารู้สึก ว่ามันเป็นของกวน มันเป็นอะไรกวน ละเอียดลอออย่างไร ที่เราไม่ต้องการให้มี ก็ดับไปได้ หรือจะหัด อย่างที่เขาให้ความหมายว่า อากิญจัญญายตนะ คือ ดับไม่รับรู้สึกอะไรเลย ความว่างก็ไม่เอา ความรู้สึกตัวก็ไม่เอา ดับมืดไป ดับๆ ไป เหมือนหลับ อย่างไม่มีฝัน หลับอย่างไม่มีความรู้สึก หลับอย่างดับดิ่งไปเลย จะหัดอย่างนั้นก็เอา ที่จริงๆ ก็คือ อสัญญี นิดหนึ่งน้อยหนึ่งไม่มีอะไร จะหัดอย่างนั้นก็เอา ถ้าใครอยากจะหัด จะรู้ได้ว่า ดับได้จริงๆแล้ว แต่จะต้องมีฐาน อากาสาจริงๆนะ ถ้าไม่มีฌานอากาสาแล้ว ไปถึงปั๊บ ก็จะดับดิ่งไปเลย ตกสู่ถีนมิทธะ ง่ายที่สุด

เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นฌานไป ๑-๒-๓-๔ ที่เข้าใจ ลักษณะอย่างนี้แหละ ฌาน ... จนถึงกระทั่ง อากาสาฯ วิญญานัญจาฯ แล้วดับทีนี่ ดับๆ ในภูมินั่น แล้วเป็นอสัญญี จริงน่ะ ที่เขาเรียก นิโรธสมาบัตินั่นแหละ ดับดิ่งไปเลย แต่มันก็จะออกมาเหมือนกัน มันจึงเป็นเนวสัญญานาสัญญา เมื่อออกมาแล้ว ก็จะพยายาม จะดับดิ่งอีก มันก็จะวนอยู่ที่ ๒ สภาพนี้แหละ เพราะฉะนั้น อาฬารดาบส อุทกดาบส จึงตีกันอยู่ตรงนี้ สุดท้าย มันก็จะอยู่ตรงนี้ อาฬารดาบส ก็ยึดเอาอากิญจัญญายตนะ อุทกดาบสก็ยึดเอาเนวสัญญานาสัญญายตนะ ต่างคน ต่างก็เป็นยอดฤาษีกันทั้งคู่ แล้วจะวนอยู่ตรงนี้ สุดท้าย เขาไม่มีสัญญาเวทยิตนิโรธหรอก ในฤาษี มีแค่นั้นน่ะ อรูปฌานที่ ๔ แค่นั้นแหละ ๓-๔ ก็วนอยู่ตรงนี้แหละ อาฬารดาบส ก็ว่าตัวเองสูง เพราะได้ อากิญจัญญายตนะ ส่วนอุทกดาบสก็ได้เนวสัญญานาสัญญายตนะ ก็ว่าของตนสูง ก็เท่านั้นเอง สัญญาเวทยิตนิโรธไม่มี

แต่ของเรานี่ ยังเรียนต่อ ยังเรียนถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ แต่ตอนนี้ เรายังไม่ต้องคำนึงถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ เราคำนึงแค่ฌาน รูปฌาน และ อรูปฌาน อย่างฤาษีนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้น ก็มีเวลาไปฝึกต่อที่บ้าน ที่เรือน ที่ไหนก็พึงทำ มีข้อสงสัยอะไรก็มาถามนะ ถ้ามันมีอะไรที่ข้องใจ เพราะมันมีเรื่องที่ไม่รู้อยู่เยอะ เหมือนกัน เวลาหลับตา เข้าไปแล้ว มีอุปาทานเดิม ความยึดถือ ความเข้าใจเดิมของเรา มันมีอยู่มาก มันก็มาทำ ให้เราไม่รู้ ทำให้เราเกิดสงสัย คลางแคลง และมันก็กะที่จะขัดแย้งกัน หรือมีอะไรต่ออะไรบ้าง ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะฉะนั้น ก็เอามาถามๆได้ อย่าปล่อยไป อย่าไปเข้าใจผิดๆ คะเนเอาเอง ตัดสินเอาเอง มาถาม มันก็จะไม่ต้องเพี้ยนไป ไม่ต้องผิด ประเดี๋ยวไปตัดสินผิดๆ ไปทำอะไรต่ออะไรออกลู่นอกทาง ออกนอกเรื่องไป มันจะไม่ดี

เอาละ สำหรับวันนี้ เราก็ได้ใช้เวลามาก็พอสมควร เวลาสุดท้าย ค่อยว่ากัน ใครจะไปต่อกันที่อื่น ต่อกันที่บ้าน ที่สันติอโศก ปฐมอโศก ศาลีอโศก ก็ทำกันต่อไปน่ะ


ถอดโดย นายยงยุทธ ใจคุณ
ตรวจทาน ๑. โดย สม. ปราณี ๓๐ พ.ค.๓๓
พิมพ์โดย สม. นัยนา
ตรวจทาน ๒. โดย โครงงานถอดเท็ป ๒๒ มิ.ย.๒๕๓๓
FILE:0720B.TAP