เจาะใจฤาษี-ชี้ใจพุทธ หน้า ๑
ทำวัตรเช้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖

โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
ณ พุทธสถานสันติอโศก

เราก็มาฟังธรรมะกันต่อ เมื่อวานนี้ ได้ฟังรโหคตสูตร รโห รหะ ที่จริงมันแปลว่า ที่ลับ มันลับ ที่ลับ ที่ลึกลับ รโหคตะ การเป็นไปโดยความลึกซึ้ง ความลับ ความลึก รโหคตะ เป็นความลับ ความลึก เรื่องความลึกหรือความลับ ความลึกนี่มันไม่ใช่เรื่องที่จะพูดด้วยภาษานี่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องจิต เจตสิก เรื่องอารมณ์สูงสุด โดยภาษาพาซื่อ มันก็พูดกันซื่อๆตรงๆ แล้วมันก็เข้าใจในแต่เพียงผิวๆ เข้าใจในส่วนนอก ส่วนลึกนั้น มันไม่มีภาษาจะพูด หลายอย่างที่เป็นภาษาทวนกระแส เป็นภาษาที่ย้อน เป็นภาษาที่เหมือนกับพูดแล้ว มันก็เหมือนกับไม่ตรง ไม่ถูก เหมือนกับเลี่ยง

เมื่อวานนี้ อาตมาก็ได้อธิบายไปจนกระทั่งคร่าวๆ ว่าแม้แต่สุดท้าย เมื่อเราดับ ถึงขั้นที่เขาแปลกัน โดยภาษาว่า สัญญาเวทยิตนิโรธ คือดับสัญญา ดับเวทนา อาตมาก็บอกแล้วว่า มันไม่ได้ดับสัญญา ของศาสนาพุทธนั้น ยิ่งมีสัญญาชัด ยิ่งมีสัญญาดี ในความบรรลุของพุทธ กิเลสยิ่งดับ ยิ่งตื่น ยิ่งตายก็ยิ่งเป็น อย่างนี้เป็นต้นนะ ของศาสนาพุทธมีสภาพพวกนี้ ทีนี้ภาษาที่ใช้กัน เป็นภาษา ที่ไม่มีภาษาจะใช้แล้ว ทางด้านฤาษีเขาก็ใช้ตรงๆ กันอย่างนั้น เพราะว่า ของฤาษีเขาไม่ได้ซับซ้อน ลึกซึ้งอะไร ของฤาษีหรือของเดียรถีย์ต่างๆ เขาก็ใช้ภาษาตรง แล้วเขาก็เป็น อย่างนั้นไปจริงๆ คือเวลาเขาจะทำสมาธิ เขาก็หลับตา สมาธิสะกดจิตเข้าฌาน ซึ่งฌานสมาธินั้น ถ้าเผื่อว่า จะทำอย่างนั้น ของพุทธเราก็เหมือนกันได้ ของพุทธเราก็สงบระงับ หยุด ดับ พอเข้าฌานแล้วก็ไม่มี ไม่ได้รับรู้อะไรกับโลกภายนอก ตาไม่เห็นรูป หูไม่ได้ยินเสียง กลิ่นก็ไม่ได้ รสก็ไม่มี ดับ ไม่ต้องพูด ไม่ต้องจา ไม่ต้องมีกายกรรม ไม่ต้องมีความคิดนึก สงบ ว่างอยู่ พอเป็นฌานแบบอรูปฌานก็ว่าง มีอากาสานัญจายตนะ ก็ว่าง โล่ง มีเหมือนกับแสงสว่าง โปร่งอยู่เฉยๆ เมื่อวิญญาณัญจายตนะ ก็รู้ว่าตัวเองมีวิญญาณ ก็มีสภาพรู้ตัว ว่าเป็นผู้รู้สึก อยู่ในความสว่างนั้น อากิญจัญญายตนะ ก็ตรวจตรารายละเอียดนะ

ที่จริงแล้ว ทางฤาษีจริงๆแล้ว เขายิ่งกว่านั้นด้วย เพราะว่าถ้าฌาน สว่าง เขาก็คือรับรู้ความสว่าง มีวิญญาณ มีธาตุรู้ รับรู้ความสว่าง ความเป็นอะไรๆอยู่ แม้แต่เป็นตัวเรา อยู่ในความสว่าง ความว่างนั้น เพราะฉะนั้น สูงไปกว่านั้น เขาก็ดับเลย ไม่ต้องมีตัวเรา ไม่ได้มีความรู้สึกอะไร เป็นอากิญจัญญายตนะ นิดหนึ่งน้อยหนึ่งไม่มี ดับ เพราะฉะนั้น ฤาษีในอาฬารดาบส ก็จึงมีสภาพถึง อากิญจัญญายตนะ คือดับ ไม่มีอะไรรับรู้เลย นิดหนึ่ง น้อยหนึ่งไม่มี เป็นสูงสุด

แต่แท้จริงแล้ว คนเราที่ยังไม่ตาย จิตวิญญาณมันไม่ได้ดับอย่างนั้นหรอก เพราะแม้จะกดมันไว้ เท่าไหร่ จะทำให้มันหยุด มันดับ มันนิ่ง มันไม่รู้สึกอะไรเลย มันก็ต้องขึ้นมารู้จนได้ ก็เลยมีสภาพรำๆ เรืองๆ จะว่ารู้ก็ไม่ใช่ จะว่าไม่รู้ก็ไม่ใช่ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะฉะนั้น เมื่อเรียนรู้แล้ว เราต้องกำหนดรู้สัญญา ก็คือกำหนดรู้ตัว เนวสัญญานาสัญญา อันนี้ให้ได้ เนวสัญญานาสัญญา สภาพมันเป็นยังไง ของศาสนาฤาษี หรือว่าของดาบสที่เรียนนี่ เขาไม่ได้มี เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา เขามีเนวสัญญานาสัญญาเท่านั้นเอง ก็คือสภาพเนวสัญญานาสัญายตนฌาน มีสภาพเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เป็นฌานอย่างนั้น แล้วเขาก็อาศัยฌานอย่างนั้น เป็นเครื่องอาศัย สุดท้าย เขาว่านั่นล่ะสูงสุด มันไม่ได้ดับไป แล้วก็ไม่รู้อะไรเลย มันจะรู้มันก็ต้องมีขึ้นมารู้ รู้นิดหนึ่งน้อยหนึ่งก็ได้ แต่มันก็อยู่ในภพ ที่ดับๆ รำๆ เรืองๆ นิดหนึ่ง น้อยหนึ่ง ถ้าผู้ใดเคยทำฌานแบบนี้นะ ก็จะรู้สภาวะแบบนี้ได้ สภาวะอรูปฌาน ๔ นี่

ส่วนพระพุทธเจ้านั้นสูงไปกว่านั้น เรียนรู้หมดทุกๆอารมณ์ ทุกๆสภาพ ของอากาสานัญจายตนสัญญา วิญญาณัญจายตนสัญญา อากิญจัญญายตนสัญญา เนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา สัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาเวทยิตนิโรธนั้นเป็นของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ที่รู้ สัญญากำหนดรู้หมดแล้ว ก็เข้าใจว่าฌาน อย่างนี้ อย่างนี้น่ะ อากาสัญจายตนะฌานเป็นอย่างไร พอรู้แล้วก็ไม่ต้องไปติดใจ หรือว่าดับ หรือว่าตัดฆ่า สภาพอากาสานัญจายตนฌาน นี่ สบาย ถ้ายิ่งอยู่ในภพ อยู่ในภวังค์แล้ว นี่สบาย มันว่าง โล่ง ยิ่งทำใหม่ๆ มันจะไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองอยู่ แม้แต่ตัวเองก็รู้สึกว่า ตัวเองไม่มี ใหม่ๆ แต่พอว่า ชำนาญแล้ว มันก็จะเร็ว อากาสานัญจายตนะแล้ว มันก็จะวิญญาณัญจายตนะ เข้ามาตามเร็ว คือมันจะรู้ตัวว่าเป็นเรา เราเป็นผู้เสวยอารมณ์นั้น เป็นผู้อยู่ตรงนั้น มันไม่มี มันเหมือนกับว่าง ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีเลยนะ ร่างกายก็ไม่มี ไม่มีความรู้สึกกับร่างกายใดๆเลย มีแต่ความรู้สึก เฉยๆ โล่ง ว่าง สว่างหมดเลย

บอกแล้วว่าตอนแรก ถ้าอากาสานัญจายตนะแล้ว มันจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่า มีเราอยู่ มีแต่ความรู้สึกโล่งๆ ว่างๆ โปร่งๆ ใส โปร่ง โล่ง ว่าง พอรู้สึกตัวว่ามีตัวเรา นั่นคือ มีวิญญาณแล้ว วิญญาณเราเป็นอาตมัน หรือ เป็นอัตตาตัวหนึ่งขึ้นมา เป็นเรา รู้ว่า โอ้ เป็นเรา เราคือใคร มันจะรู้สึกตัวว่า เป็นเรา แล้วเราตอนนี้ เรากำลังอยู่ที่ไหน กำลังอยู่สภาพในภพ อยู่ในภพอยู่ในภูมิ อยู่ในตรงนั้นแหละ อะไรอื่นเราไม่รู้หมดเลยในโลก โลกนี้จะเป็นยังไง ฝนจะตก แดดจะออก ฟ้าจะร้อง อะไรจะเป็นยังไงอยู่ข้างนอกไม่มีรู้เรื่อง มีแต่เราอยู่ในที่ว่างๆ โล่งๆนั้น อากิญจัญญายตนะ ก็เมื่อรู้สึกว่า เอ๊ ถ้าอย่างนี้ มันยังมีนะ อย่างน้อยมันก็มีเรา มีความว่าง มีความสว่าง มีความโล่ง มีความสุข มันไม่ใช่ความดับ เขาก็คิดไปทางนั้น เขาก็เลยดับ เป็นอากิญจัญญายตนะ ดับเลย ไม่ให้มีอะไร ไม่ให้ไม่รับรู้อะไร ไม่มีความรู้ ไม่มีเรา ไม่มีเรา ไม่มีรู้ เป็นอากิญจัญญายตนฌาน ถ้าเป็นแบบฌานภวังค์นี่ ก็อย่างอธิบายไปแล้ว

แม้ไปถึง เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ฌานก็หมายความว่าเพ่งเผา ถ้าเป็นฌานสมบูรณ์ ก็คือเผาสำเร็จ ทีนี้ถ้าเผื่อว่า เป็นสภาพของฌานแบบโลกีย์ธรรมดาๆเลย เขาก็เผาเลย เผาสำเร็จเลย ดับไปเลย แล้วเขาก็อยู่ในฌานอย่างนั้นๆ ไม่มีอะไรเหลือ ก็คือไม่มีอะไร อากิญจัญญายตนะก็ไม่มี อะไรนิดหนึ่ง น้อยหนึ่ง เหมือนอย่างกับ อาฬารดาบสนะ ก็ดับอยู่ตรงนั้น อย่างนั้น นานเท่าไหร่ เขาจะทำได้ ก็นานเท่านั้นแหละ อากิญจัญญาจึงตรงกันกับอสัญญี หรือ อสัญญีสัตตายตนะ คือดับสัญญา ดับความกำหนดรู้ ไม่รู้อะไรเลย ความกำหนดรู้ก็ไม่มี ความจำได้ว่ามีอะไรอยู่ ไม่มีความรู้ ไม่มีความจำ ไม่มีอะไร ไม่มีเรา เขาก็เอาตัวนั้นว่าเป็นไม่มีเรา ไปเลย

อากิญจัญญายตนะ ก็คือการดับไปหมดเลย ตรงกันกับอสัญญีสัตว์ อสัญญีสัตตายตนะดับไปเลย เขาถือเป็นอันนี้สูงสุด แต่อุทกดาบส กลับต้องมีสัญญา ต้องมีรู้ มันมีเนวสัญญานาสัญญายตนะ มันยังมีรู้อยู่อะไรต่างๆ นิดๆหน่อยๆ ยังมีรู้ จะว่าไม่รู้มันก็ไม่ใช่ มันก็รู้แต่รู้อย่างนั้นแหละ รู้อย่างรำๆ เรืองๆ รู้ไม่พิจารณาไม่ปรุงอะไรเป็นโลก ไม่ปรุงอะไรเป็นอะไรเลย เป็นแต่เพียงรำๆเรืองๆ มันไม่ใช่ดับสนิท ไม่ใช่ดับไม่รู้เรื่องรู้ราว มันรู้เท่านั้นเอง ก็เป็นอันนั้นของเขาอยู่อย่างนั้น เพราะฉะนั้น พวกนี้นี่ไม่มีวาจา ไม่มีคำพูด ไม่มีโลก ไม่มีเสียง ไม่มีอะไรต่ออะไรข้างนอก ไม่มีเลย มีแต่อยู่ในภวังค์ อยู่ในภพ ลักษณะอย่างนี้ ก็ของฤาษี

แต่ที่นี้ของไม่ใช่ฤาษีนี่ มันก็จะต้องมีความรู้ มีความรู้ที่ต่างกัน เป็นของพระพุทธเจ้า ของพระพุทธเจ้านี่ ก็จะมีสภาพที่ซ้อนลึกลงไปอีก อย่างที่อาตมาอธิบายแล้วว่า ถ้าฌานลืมตา สัมมาสมาธิที่มีสังกัปปะ มีวาจา มีกัมมันตะ มีอาชีพ มีการงาน มีการรับรู้ทุกอย่าง บางทีท่านก็ไม่พูด ถึงอรูปฌาน แค่รูปฌานก็ดับ แค่รูปฌานก็จบ เรียนรู้แค่อารมณ์ของปีติ ของวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข จิตเป็นเอกัคตารมณ์ ก็เผากิเลสดับ หรือฆ่ากิเลสดับไป ยิ่งกิเลสดับ ก็ยิ่งมีความรู้ มีความเข้าใจ ยิ่งตื่น ยิ่งแข็งแรง ยิ่งกระปรี้กระเปร่า ยิ่งมีอิทธิบาท ยิ่งมีความเบิกบานร่าเริง ยิ่งมีวิริยะ ยิ่งมีความพากเพียร เป็นคนไม่ใช่เป็นคนลอยๆ เป็นคนมีความเอาใจใส่

ลักษณะคนที่มีจิตตะ คือเป็นคนรู้จักอะไรๆ จับนั่นจับนี่ ไม่ใช่คนอยู่ลอยๆ ล่องๆจิตว่างๆ แล้วก็ลอยๆล่องๆไม่ใช่ เป็นคนที่รู้จักตาก็คือตา หูก็คือหู เป็นคนรู้จักสภาพความเป็นอยู่ ยังเป็นๆ อยู่ เพราะฉะนั้น ได้ฝึกมาทั้งการนึกการคิด สังกัปปะ ทั้งการพูด ว่าเราควรจะพูด หรือเราควรจะมี กรรมกิริยา พระพุทธเจ้าท่านถึงได้ตรัสถามว่า เวลาล่วงไปๆ บัดนี้เธอกำลังทำอะไรอยู่ กายกรรม วจีกรรม ที่ดีกว่านี้ยังมีอีก เราก็จะมาสำนึก ตอนนี้เราอยู่ว่างๆ อยู่เฉยๆ กายกรรมอย่างนี้ดีกว่านี้มีไหม อยู่เฉยๆ แล้วก็ผ่านวันผ่านเดือนไปหาตาย เราสมควรจะอยู่เฉยๆหรือ ควรพักอย่างนี้หรือเปล่า หรือว่าควรแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ คุณค่าสร้างสรร อาตมาก็เคยถามแล้วว่า วันเวลาผ่านไปๆ เราก็ไม่ป่วย เราก็ไม่เจ็บ เราก็ตื่นอยู่ ไม่ใช่เวลาสมควรจะพัก เราควรจะทำงาน เราควรจะมีความเพียร เราควรจะเอาใจใส่ กิจการอะไรก็แล้วแต่ เอาใจใส่ในการงานนั่นๆ นี่ งานอะไรที่พึงกระทำ เป็นเครื่องอาศัยของตนของโลก เป็นการสร้าง เป็นผู้ที่ให้ประโยชน์คุณค่า ถ้าอยู่เฉยๆ มันก็ไม่มีประโยชน์คุณค่าอะไร ผ่านอายุ ผ่านเวลา อายุก็แก่ผ่านไปเรื่อยๆ ไปสู่หลุมฝังศพ เพราะฉะนั้น เราอยู่เฉยๆ กับเราทำงานเสีย อะไรมันจะดีกว่ากันนะ เวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาควรพัก เพราะเราก็พักมาพอ ไม่ป่วย ไม่เจ็บ โอกาสก็มี ความสามารถก็มี ไม่เป็นอะไร มันควรพัก หรือควรทำงาน มันก็ควรทำงาน ควรแสวงหาการงาน ถึงเวลาพัก ประเดี๋ยวก็ถึงเวลานอน ก็ควรนอน ก็นอน มันเป็นเรื่องสามัญเลยนี่ ใครจะเถียงก็เถียงไม่ออก ก็ไม่ได้ป่วย ไม่ได้เจ็บ ไม่ได้เป็นอะไร แต่เราจะอยู่ในภพว่างๆ ไปเฉยๆอย่างนี้ เป็นสภาวะที่ควรคิด อาตมาหยิบมาให้คิด หยิบมาให้ฟัง พยายามฟังดู

ความเป็นพุทธ กับความเป็นเดียรถีย์ฤาษีนี่ มีภาวะแตกต่างกันชัดเจนที่สุดอย่างนี้นะ ผู้บรรลุธรรม ของพุทธนั้น ยิ่งบรรลุ ยิ่งมีภูมิสูงขึ้นๆ ก็ยิ่งขยัน ยิ่งแข็งขันในการงาน คือมีวิริยารัมภะ ปรารภความเพียร เป็นผู้ปรารภอยู่เสมอล่ะ เรื่องความเพียร ความขยัน บทบาทที่จะต้องไปทำอะไร ความเพียร ไม่ใช่อยู่เฉยๆนะ การงานต่างๆ ควรจะทำอะไร ตอนนี้ว่างควรจะอยู่ว่างๆ ควรพักก็พัก สมควรพัก มันไม่สมควรพักก็ต้องเพียร ยิ่งสร้างสรรยิ่งเสียสละ แรงงานความรอบรู้ ยิ่งเสียสละ แรงงานความรอบรู้ ช่วยสังคมช่วยโลก คือมี โลกานุกัมปายะ อันที่หนึ่งน่ะ ยิ่งบรรลุ ก็ยิ่งมีภูมิสูงขึ้น ก็ยิ่งขยัน ยิ่งแข็งขันในการงาน เรียกว่ามีวิริยารัมภะ ยิ่งสร้างสรร ยิ่งมีความขวนขวาย กระตือรือร้น ช่วยเหลือ หรือมีการยุ่งกับงาน เวยยาวัจจะ เวยยาวัจจะนี่ แปลว่ายุ่ง เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีบุญ เวยยาวัจจมัย อันเป็นของเรา มัยยะ หรือ มยัง นี่แปลว่า อันเป็นของเรา บุญกิริยาวัตถุ ข้อหนึ่ง เวยยาวัจจมัย อันเป็นตัวเรานี่ เราจะมีตัวยุ่งอยู่ ความยุ่ง หรือความขวนขวาย เวยยาวัจจะ แปลว่าความขวนขวาย หรือ แปลว่าความยุ่ง จะมีความกระตือรือร้น มีความขวนขวาย ไม่ได้อยู่นิ่งๆ หรอก เวยยาวัจจะ ไม่ใช่แปลว่านิ่ง แปลว่ายุ่งๆอยู่ ยังเกี่ยวข้อง ยังมีการทำอะไรต่ออะไรอยู่ เพราะฉะนั้น ท่านถึงแปล เวยยาวัจจะ ว่ายุ่งเฉยๆ ก็แปลนะ ยิ่งมีความขวนขวายกระตือรือร้น ช่วยเหลือ หรือมีการยุ่งกับงาน เวยยาวัจจะ ยิ่งมีประสิทธิภาพ มีอิทธิพล มีความร่าเริงยินดี ในการงานคือมีอิทธิบาท ๔ ยิ่งมีความมุ่งมาด ปรารถนา มีความต้องการ หรือมีความอยากได้ นี่ผู้บรรลุธรรมนะ บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์เลยล่ะ

ยิ่งเป็นพระอรหันต์เลย ยิ่งบรรลุสูง บรรลุสูงสุด ยิ่งจะมีความมุ่งมาดปรารถนา มีความต้องการ มีความอยากได้ เรียกว่า อากังขะ หรืออิจฉะ หรืออากังขา หรืออิจฉานี่แหละ หรืออากังขะ อากังขา หรืออีกนัยหนึ่งคือ วิภวตัณหา ยิ่งสูงส่ง บริสุทธิ์ แรงกล้า วิภวตัณหาของพระอรหันต์นี่ หรืออากังขาวจร อิจฉาวจรนี่ยิ่งสูงส่ง ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งแรงกล้า ซึ่งเป็นธรรมดาของอาการทางจิต ในคนผู้ประเสริฐ เป็นธรรมดาของอาการทางจิต จิตนี่จะต้องมีบทบาท มีอาการ มีอะไรอยู่นะ ในคนผู้ประเสริฐ คือผู้ยังไม่ตาย หรือว่ายังไม่ปรินิพพาน นี่เป็นของอริยชน จิตย่อมยังมีวิสัย มีนิสัย หรือยังมีการดำเนินไป เรียกว่ายังมีอวจร จิตย่อมยังมีที่ไป ยังเป็นยังไปต่ออยู่ คนที่ยังไม่ตายนี่นะ คนที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังไม่ตายดับขันธ์ ยังมีขันธ์ ๕ อยู่ ต่อให้คุณสำเร็จบรรลุเป็นพระอรหันต์ อรหันต์ธรรมดา ไปจนกระทั่งถึงอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เหมือนกันน่ะ

ถ้าอรหันต์ของสายพุทธแล้ว เป็นพระอรหันต์ไม่ใช่แบบหลงๆแบบฤาษี เป็นอรหันต์สายพุทธแล้ว ต่อให้อรหันต์ธรรมดาก็จะยังมีสภาพอย่างนี้แหละ ตามบารมี ขยันก็ได้ขยัน ความขยันเป็นจริง ตามความขยัน มีการช่วยโลก มีโลกานุกัมปายะ มีความขวนขวาย มีความกระตือรือร้น มีอิทธิบาท มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ดังที่ยกตัวอย่างว่า มีอะไรเป็นเครื่องแสดง สำหรับผู้มีอายุ คือ ผู้ยังไม่ตาย ก็มีอิทธิบาท หรือมีความเพียร เป็นเครื่องแสดง ที่อธิบายไปแล้ว วรรณะก็มีศีล เป็นเครื่องแสดง ความสุขก็มีฌานเป็นเครื่องแสดง โภคะ วันนั้น อธิบายไปแค่ความสุข เมื่อวานนี้ อายุ วรรณะ สุขะ โภคะ พละ ห้าประการนี้ สูตรนี้ สูตรอะไรก็ไม่รู้ อาตมาก็จำไม่ได้แล้ว แต่จำได้แม่น เคยเอามาอธิบาย

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังไม่ตาย ผู้ยังมีอายุอยู่ ความสุขคือฌาน ฌานก็คือ ลักษณะที่มันว่างจากกิเลส มันเบา มันดับแล้ว ไม่มีกิเลสเข้ามากวนแล้ว ไม่มีสังขาร หรือจะมีสังขาร เราก็รู้ทุกข์นั้น โดยเราเจตนา เรามีความมุ่งหมาย เรามีความต้องการ เป็นความอยากได้ของเรา แต่ไม่ใช่ได้มา ให้แก่เรา เราอยากได้สิ่งที่จะสร้างสรรนั้นให้ผู้อื่น เราสร้างสรร พระอริยเจ้านี่ เป็นประโยชน์คุณค่า ต่อผู้อื่น ก็เป็นความอยากได้ เป็นความมุ่งมาดปรารถนาดีนั่นเอง เป็นอาการของจิต ที่มันมีความมุ่งหมาย มีความพุ่งเพ่งออกไป สร้างสรรก็เพื่อผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อตัวตน ซึ่งคุณลักษณะพวกนี้ ต้องเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่เรื่องตื้นๆ เขินๆ นะ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ยังมีอายุ มีความเพียรที่ชัดเจน มีอิทธิบาทแล้ว ก็เป็นผู้ที่มีศีล ถึงจะทำอะไรอยู่ ก็อยู่ในขอบเขตของศีล มีศีลเป็นวรรณะ มีฌานเป็นความสุข เพราะฉะนั้น ในเอกัคตาของท่าน ก็คือฌาน เอกัคตาของท่าน ท่านจะปรุงอะไร ท่านจะทำอะไร ก็เป็นปุญญาภิสังขาร ดังที่อธิบาย ไปแล้ว จะปรุงอย่างไร ท่านก็ไม่มีกิเลส เพราะชำระกิเลสของตนเองอยู่อย่างบุญ หรือปุญญะ ชำระกิเลสได้ ไม่มีกิเลสอยู่นั่นแหละ ไม่ได้เพื่อตัวเพื่อตนอะไร หรือแม้แต่จะปรุงอะไร สร้างอะไร ให้แก่ผู้อื่น ก็เป็นไปเพื่อขัดเกลา เพื่อชำระกิเลสผู้อื่นเหมือนกัน จะเป็นอะไร ที่เป็นงานการธรรมดา ก็เอาละ งานการธรรมดา ถ้าสมมุติว่า จะปลูกข้าว ก็ปลูกข้าวเพื่อให้คนอื่นกินธรรมดา ก็พอที่จะ ให้ยังขันธ์ไว้ ไม่ให้เกิดกิเลสตัณหา โลภโมโทสันอะไรมากมายนัก ก็มีวิธีการ จะทาน จะให้ ก็ต้องมีวิธีการว่า ไม่ให้เขาเกิดกิเลสอะไรเพิ่มเติมขึ้นมากมาย ขัดเกลาเขาในตัว

ซึ่งเป็นเรื่อง ลึกซึ้งมาก เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ก็ต้องเป็นประโยชน์ที่มีการประมาณ มีสัปปุริสธรรม ๗ ประการ มีการกำหนดขนาด รู้จักกาลเทศะ หมู่ชน บุคคล แต่ผู้ที่ยังไม่ตายนี่ยังมีคติ ยังมีอวจร จิตย่อมยัง มีวิสัย มีนิสัย ยังมีการดำเนินไป เรียกว่าอวจร จิตย่อมยังมีที่ไป ยังเป็น ยังไปต่ออยู่ เรียกว่ามีคติ ยังมีอวจร ยังมีคติ เพราะยังไม่ตาย ยังไม่ปรินิพพาน พระอรหันต์เจ้า จะตายดับหมด สุคติก็ไม่มี ทุคติก็ไม่มี ได้ ถ้าตาย รูปนามขันธ์ ๕ หมดลมหายใจลงได้ แต่ยังไม่หมดลมหายใจ ยังมีสมมุติสัจจะอยู่ ยังมีรูปนามขันธ์ ๕ อยู่ ก็ยังมีคติ จิตยังมีคติ ยังมีที่ดำเนินต่อไป เพราะจะดำเนินต่อไป ก็ย่อมไปแต่ดี เรียกว่าสุคติ พฤติกรรมของจิต หรือว่าอาการที่ยังเป็น ยังไปต่ออยู่ ของจิตผู้ประเสริฐนี้ ก็ล้วนคือบทบาทของวิริยารัมภะ โลกานุกัมปายะ เวยยาวัจจะ อิทธิบาท ๔ อากังขาวจร อิจฉาวจร หรือ วิภวตัณหา

อันนี้แหละ จะเป็นตัวที่ค้านแย้งกับที่ฟังๆกันในโลกนี้ พวกที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง ฟังแล้วก็ต้องเพ่งโทษ ก็คือต้องเพ่งโทษ เพราะฟังแล้ว ถ้าไม่มีภูมิ ไม่มีความรู้พอนะ ไม่ได้ฟังที่อาตมาอธิบาย แน่นอน ก็จะต้องว่า อาตมานี่พูดผิดๆ เลย อะไรกันน่ะ มีตัณหาได้ยังไง ผู้ที่มีตัณหาอย่างที่ว่านี่ ก็คือ เป็นกรรมกิริยา สักแต่ว่ากรรมกิริยา กรรมกิริยาจะเรียกว่าอากังขาวจร อังกังขะ หรือ อิจฉาวจร อิจฉะ นี่มันก็แปลว่า ความต้องการ แปลว่าความประสงค์ แปลว่าความอยากได้ แปลว่าความมุ่งมาด ปรารถนา ก็ความหมายเดียวกันกับคำว่าตัณหา แปลว่าความอยากได้ แปลว่าความอยาก แปลว่าความปรารถนา เหมือนกันนั่นแหละ มันเป็นภาษาที่เรียกอาการของจิต ที่จะต้องมี ความมุ่งมาดปรารถนาอย่างนั้น ปรารถนาที่จะต้องให้ไอ้นี่ดีขึ้น สร้างไอ้นี่ขึ้น ปรารถนาอยากให้ อย่างพระพุทธเจ้าปรารถนา จะสร้างศาสนาให้มีภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา แล้วแต่ละคน แต่ละฐานะ ภิกษุก็ดี ภิกษุณีก็ดี อุบาสกก็ดี อุบาสิกาก็ดี จะต้องเป็นผู้ที่ฉลาด จะต้องเป็น ผู้ที่อะไรต่างๆ อาจหาญแกล้วกล้า ย่อมบัญญัติ ย่อมแสดง ย่อมปรับปวาทะ อะไรต่างๆ พวกนี้ได้ ให้สมบูรณ์แข็งแรงก่อน มันก็เป็นความตั้งใจ เป็นความปรารถนา เป็นความรู้ ที่จะต้องให้เป็นอย่างนี้ ให้ได้อย่างนี้ แล้วเราก็ต้องทำ พระพุทธเจ้าก็ต้องใช้เวลาตั้ง ๔๕ พรรษา ซึ่งสร้างศาสนาเสร็จ ก็มีอากังขาวจรมาตลอด หรือมี วิภวตัณหามาตลอด ถ้าไม่ติดในภาษา ตัณหาก็แปลว่า ความมุ่งมาดปรารถนา อิจฉา อิจฉาวจร อาการของอิจฉา หรืออากังขา อาการของอากังขา ก็คือ ความมุ่งมาดปรารถนา ความอยากได้ ความประสงค์ ก็เป็นอาการอันเดียวกันหมด มีความต้องการ ต้องการให้เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น แม้วิริยารัมภะ โลกานุกัมปายะ เวยยาวัจจะ อิทธิบาท ๔ อากังขาวจร อิจฉาวจร หรือ วิภวตัณหา ก็ล้วนเป็นสุคติ หรือที่ยังดำเนินไปแต่ทางดี อยู่นั่นเอง มีการดำเนินไป เพราะว่ายังไม่ได้ ตัดขาด ยังไม่จบ รูปนามขันธ์ ๕ ยังมี แล้วเป็นไปได้อย่างนานเป็นที่สุด ตราบที่ยังไม่ตาย ถึงขั้นปรินิพพานเป็นที่สุด เพราะแม้จะขวนขวายก่อคุณค่า ประโยชน์ใดๆต่อไป แค่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ วงเล็บเอาไว้ได้เลยว่า สิ่งใดไม่เป็นคุณค่า ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ ท่านไม่ทำแล้ว เรียกว่า สัพพปาปัสสะ อกรณัง คือสิ่งใดที่ไม่เป็นคุณค่า ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์น่ะท่านไม่ทำแล้ว นั่นคือ ท่านมีน้ำใจอยู่เสมอ ที่จะกอปรก่อให้ถึงดี ให้ดีพร้อม นั่นคือ กุสลัสสูปสัมปทา พระอรหันต์ทุกรูป ท่านไม่ทำแล้ว ไอ้สิ่งที่ไม่ดี ไม่เป็นคุณค่า ไม่เป็นประโยชน์ สพฺพปาปสฺส อกรณํ แล้วท่านก็ยัง จะมีน้ำใจมีอยู่เสมอ มีจิตใจ เพราะจิตวิญญาณท่านยังอยู่ ยังไม่ตาย พระอรหันต์ ขณะที่ยังไม่ตาย ท่านจะกอบก่อให้ถึงดี ให้ดีพร้อม กุสลสฺสูปสมฺปทา ให้พร้อมให้ถึงพร้อม สัมปทาให้ถึงพร้อมน่ะดี กุสลัสสูป เรียกว่า ทำให้เกิด ให้เข้าถึงกุศล กุศลนั่นเอง กับอัสสะ

อัสสะนี่แปลว่า ยังมีพฤติกรรมที่เป็นไป อัสสะนี่เขาแปลว่า ม้าเขาก็แปล แปลว่าลมหายใจเขาก็แปล อัสสะ มันยังมีสภาพบทบาทอยู่ ม้านี่มีพลัง มีกำลัง เรียกว่ากำลัง ม้าแปลเป็น รูปธรรมน่ะ แปลถึงคำว่าม้า อัสสะคือบทบาทของกุศลนั่นเอง พลังของกุศลนั่นเอง จะมีพลังแรงพลังเบาอะไร ที่มันยังเป็นชีวะ มันยังเป็นความเป็น ไม่ใช่ความตาย ให้เข้าถึงความเป็นอันนี้ ให้กุศลนี่เกิดบทบาท ตั้งแต่เบาบาง จนกระทั่งถึงมีพลัง

สรุปง่ายๆ กุสลัสสูปสัมปทา แปลเอาอรรถ แปลเอาเนื้อหา นี่ อาตมาแปลตามภาษาอาตมานะ ไม่ใช่เปรียญ ๙ เปรียญ ๑๘ ที่ไหนเขาแปลล่ะ อุปสัมปทาก็แปลว่า เข้าให้ถึงพร้อม ความถึงพร้อม เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เจ้า จะมีคุณลักษณะอย่างนี้อยู่ จิตวิญญาณจะมีคุณลักษณะอย่างนี้ อยู่ในตัวบุคคลที่มีร่างกาย ท่านมีวิญญะ จิตวิญญาณเป็นประธานด้วย มีจิตวิญญาณเป็นประธาน ท่านก็พาทำ ท่านก็เป็นไปอยู่อย่างนั้น เพราะท่านไม่ได้ถือตัวถือตน ไม่ได้มีตัว มีตนอะไรแล้ว พระอรหันต์ ท่านไม่ทำสิ่งไม่ดี ท่านรู้ด้วยญาณที่ท่านไม่ลำเอียง ซื่อสัตย์ต่อตน อันนี้ท่านรู้ว่าไม่ดี ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ท่านหยุด ไม่ทำ แต่ท่านจะทำ จะมีน้ำใจ จะมีความปรารถนาดี มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา รังสรรค์ สร้างสรร เป็นพระผู้สร้างให้แก่โลก ให้แก่สังคมอยู่ นั่นคือท่านมีน้ำใจ อยู่เสมอ ที่จะกอปรก่อให้ถึงดี ให้ดีพร้อม เรียกว่า กุสลัสสูปสัมปทา ท่านก็ไม่หลงยึด ถึงแม้ท่านทำ ท่านเป็น ท่านมี ท่านก็ไม่หลงยึด คือหมดอุปาทานอยู่ในใจ จนเป็นตัวตนได้แล้ว แม้ท่านจะทำอะไร ท่านก็ไม่ยึดว่าไอ้นี่เป็นเรา ไอ้นี่เป็นของเรา ในใจ ของท่านฝึกมาแล้ว

คุณยังฝึก ยังไม่ถึงจุดนั้น คุณก็ฝึก แม้คุณจะทำอะไร จะสร้างอะไร ก็อย่าไปยึด อย่าไปหลงว่า นั่นเป็นเรา เป็นของเรา จุดจบมันอยู่ตรงนี้ หมดอัตตาตรงนี้ คุณจะสร้าง ก็คุณสร้าง ที่จริงโลก ก็รู้ว่าของคุณ โลกก็รู้ว่าของคุณ คุณทำโดยบริสุทธิ์ มีสิทธิทั้งปวงเป็นของคุณ จริงๆแล้ว คุณไม่ให้ใครก็ได้ ใช่ไหม เพราะเป็นสิทธิของคุณ สิ่งที่บริสุทธิ์ของคุณ คุณสร้าง คุณเป็น คุณกอบ คุณก่อ แม้แต่วัตถุดิบอะไรก็เป็นของคุณ แรงงานก็เป็นของคุณ ความสามารถก็เป็นของคุณ คุณทำขึ้นมา ก็เป็นของคุณ แต่ใจในใจของเรามนสิการ ที่เราฝึกของเรานี่ ฝึกอย่ายึด อย่าหลงยึด อย่าไปติเอาว่า นั่นเป็นเรา เป็นของเรา นั่นไม่ใช่ของเรา ต้องทำใจในใจอย่างนี้ ฝึกอย่างนี้จริงๆ วางปล่อย สละออก ปล่อยออก นี่แหละเป็นภาวะที่สูงสุด ที่ลำบากเหลือเกิน ที่จะพูดให้คนเข้าใจ

แต่คำสอนของท่านสั้นๆ ท่านก็บอกว่า ไม่ยึดเป็นเรา เป็นของเรา คำสอนอธิบาย ตัวหยาบ พอท่านตีจบท่านก็บอก ไม่เป็นเรา เป็นของเรา สุดท้ายไม่ควรยึดมั่น ถือมั่นว่าเป็นเรา เป็นของเรา จบ ใช่ไหม คนที่ไม่ได้เข้าใจรายละเอียด อย่างที่อธิบายมาสู่พวกเราฟัง ค่อยๆกระจาย ค่อยๆทำ ให้ละเอียดๆมา จนถึง กระทั่งขั้นสุดท้ายอย่างนี้ เขาตีกินง่ายๆ อะไรก็ไม่เป็นเรา อะไรก็ไม่เป็นของเรา ก็เลยไม่ทำอะไรเลย คนๆนั้นก็เลยไร้ค่า เพี้ยนง่ายนะ ก็เลยตีกินไปหาฤาษี เดียรถีย์ อ้าว! ก็อะไร ไปยึดเอาทำไมล่ะ เป็นเราเป็นของเรา แต่ความจริง ในความละเอียดลออของกิเลส อนุสัย อาสวะ แม้แต่ในภวภพ ในภพ ข้างในจิต ในภวังค์ คุณดึงอนุสัยอาสวะออกมาล้างหมดแล้วเหรอ ถูกกระแทก กระทุ้ง กระเทือนออกมา มันหมดจริงเหรอ อยู่แต่ภาวะที่พิสูจน์ได้เลยว่านี่ ถูกกระแทกอยู่อย่างนี้ โลกจะแรงร้ายขนาดไหน จะร้อนขนาดไหน อัตตาคุณเกิดไหม มานะคุณเกิดไหม ธุลีละอองของความไม่ชอบใจเกิดไหม หรือความชอบใจ ยินดียังเกิดไหม สิ่งที่อยู่กับผัสสะ ทั้งหลายแหล่ อยู่กันอย่าง มีสิ่งที่พิสูจน์ได้หลัดๆ ทันที ไม่ใช่เรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ เอหิปัสสิโก พิสูจน์ได้ว่าหมด แล้วเราก็มีญาณ อ่านจิตใจของเราด้วย ญาณนั้น ก็จะลึกจะแหลม ไอ้บางทีมันเกิด มันก็ยังไม่รู้เลย ว่ากิเลสเราเกิด นั่นเรียกว่า ยังหลง นึกว่าหมดแล้ว เคยอธิบาย เคยบอกแล้วว่า เหลือน้อย ยังเป็นธุลีละอองนี่ ซึ่งญาณของเรา ไม่ละเอียดพอนี่นะ เราจะมารู้สึกว่า มันไม่มีแล้วนะ ไม่มีแล้ว เอ๊! เราไม่มีแล้วกิเลส หมดแล้วนะ มันไม่เหลือแล้ว อาการอย่างใด มันก็ไม่มีอาการ ที่จะส่อให้เป็นอัตตาตัวตน เป็นความยึดความเสพ เราเสพภพนี้ ชอบอันนี้ ยึดอันนี้หรือเปล่า ไม่ใช่เรื่องธรรมดา เรื่องชั้นสูง เรื่องพิเศษ ที่เราจะต้องศึกษานะ

เพราะฉะนั้น จิตที่หมดหลงยึด ไม่หลงยึดอยู่ในใจ จนเป็นตัวตนได้แล้ว ไม่หลงยึดเป็นของตน ได้แล้วในใจสมบูรณ์จริง ตัวตนก็อัตตา ของตนก็อัตนียา ภาษาบาลีว่าอย่างนั้น ไม่มีตัวตน ไม่มีของตนได้ ต้องรู้ของเราว่า เออ! เราขณะนี้ เราวางได้แล้วละ เราไม่ยึดเป็นตัวตน เราไม่ยึด เป็นของตน เราไม่ยึดสภาพนี้ ไม่เป็นอัตตาแล้ว สภาพนี้ไม่ใช่อัตนียา เราจะต้องรู้ของเรา จึงเป็นจิตที่ทำให้สะอาดจริง เรียกว่า สจิตตปริโยทปนัง ของผู้ถึงภูมิจริง นี่เรียกว่า สจิตฺตปริโยทปนํ ทำจิตของเราให้สะอาดจริง เพราะฉะนั้น จะมีกรรมกิริยาใดๆ ก็ทำจิตของตนให้สะอาดอยู่เสมอ จะสร้างสรรเกื้อกูลเพื่อผู้อื่น ท่านก็ทำของท่านอยู่ ยิ่งทำยิ่งช่ำชอง ยิ่งทำยิ่งชำนาญ ยิ่งมีแบบฝึกหัด ยิ่งมีการได้ฝึกได้ปรือ เพราะฉะนั้น ยิ่งจริงเลยว่า เราไม่มีกิเลส เราเป็นผู้มีจิตสะอาด แล้วสภาวะของจิต ก็เป็นจิตอันวิเศษ เป็นจิตอันวิจิตร เป็นจิตอันมีประสิทธิภาพ เป็นจิตที่มีประโยชน์มีคุณค่า

แล้วจิตไม่มีกิเลสนี่มันมีบทบาท มีคุณค่าด้วย มีพลังพิเศษด้วย บอกแล้วว่า ยิ่งบรรลุธรรมขั้นสูง ยิ่งภูมิสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีวิริยารัมภะ ยิ่งสูงเท่าไหร่ ยิ่งมีความขวนขวายกระตือรือร้น เพื่อที่จะสร้างสรร ยิ่งมีอิทธิบาท ยิ่งมีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ยิ่งไม่อยู่เฉยๆ มันพอฟังไหวไหม เอ๊ะ! โมเมนี่หว่า แบบนี้ ก็ดับ ก็อยู่เฉยๆว่างๆไม่ทำอะไร มันก็ดับกว่า ดับกว่านะ ไอ้นี่ดูยังไง มันก็ไม่ดับแล้วนี่ โอ้โห! นี่อยากนี่ ใช่ อยาก แต่อยากนั้นน่ะ อยากมาเสพให้แก่ตนหรือ อันนี้ต้องจริง ของใครก็ต้องของใคร อยากมาให้เสพแก่ตน บำเรอตน หรือว่าอยากจะเรียกอาการอยาก ก็ไม่ได้ปฏิเสธ เป็นอากังขาวจร เป็นอิจฉาวจร เป็นความปรารถนา เป็นความมุ่งมาดปรารถนา เป็นความมุ่งหมาย เป็นความต้องการ ต้องการให้มี ต้องการให้เป็น ต้องการให้เกิด แต่มีหรือเป็นหรือเกิดขึ้นมา สิ่งที่เราสร้างขึ้นมานี่ มันไม่ได้เพื่อตัวเรา ก็ที่จริงเราพอแล้ว เรากินก็พอ อยู่ได้แล้ว จริงๆ หรือเราสร้าง เราก็อาศัย นี่แหละเป็นสิ่งที่เราอาศัย ถ้าจะไปแลกเปลี่ยน มันก็สมค่า เราก็กิน อาศัยแลกกิน แลกเปลี่ยนอยู่ในนี้ เราไม่ได้เป็นคนเบียดเบียน เป็นคนมีผลงาน เป็นคนมีสมรรถภาพ เป็นคนสร้างสรร อาศัยกินอาศัยใช้ อยู่ที่เราสร้างนี่แหละ แต่ละวัน เราก็มีคุณค่า ได้สร้างประโยชน์นี้ เกินตัวเอง ตัวเองกิน ตัวเองใช้ ตัวเองไม่เป็นหนี้ ไม่เป็นหนี้ตลอด นอกจากจะเจ็บป่วย วันนี้เราไม่ได้ทำงาน ไม่ได้สร้างสรรอะไรเลย เออ! วันนี้ก็กินบุญเก่าแล้วกัน แต่ถ้าวันนี้ไม่เจ็บป่วย ไม่มีภาวะที่จะต้องอยู่เฉยๆ ก็สร้างสรร ประโยชน์คุณค่า ไอ้ที่จะเป็นการสร้างสรร เพื่อผู้นั่นผู้นี่เข้าไป ก็ทำแล้ว มันก็เป็นประโยชน์คุณค่า

ถ้าจะเอามาลบกัน มาล้างกัน เป็นลาภแลกลาภ เราก็ไม่ขาดทุน เราก็ไม่เป็นหนี้ วันนี้ก็ไม่เป็นหนี้ วันไหนก็ไม่เป็นหนี้ มีแต่กำไร มีแต่กำไร มีแต่บุญกุศล มีแต่ทาน มีแต่สิ่งที่ได้เกื้อกูล มีแต่สิ่งที่ได้ให้ ได้สร้างสรร ได้ให้ ได้แจกจ่าย ได้เผื่อแผ่ แล้วมันจะเลวไหมคนนี้ จะดีกว่าคนที่บอก ฉันว่างแล้ว วันๆฉันก็อยู่เฉยๆ มีคนศรัทธาเลื่อมใส เอาข้าวมาให้กินก็กิน ก็ไม่ได้ไปแย่งใคร ไม่ได้ไปเบียดเบียนใคร แต่เบียดเบียนตนนะ เบียดเบียนแม้แต่ คุณกินนี่ คุณทำงานให้เขาบ้าง หรือเปล่า หรือว่าจะเอาแต่แค่ทำงาน เอ้า! คุ้มแล้ว พอ มักน้อย ฉันสันโดษ ฉันมักน้อย ฉันทำแค่นี้ ก็พอแล้ว ถ้าจะทำมากกว่านั้น มันจะเป็นยังไง ขาดทุน ทำอย่างนั้นฉันให้เขามากไป ฉันเสียมากไป ฉันไม่ว่าง ฉันไม่ได้เสพ ฉันไม่ได้อยู่เฉยๆ ฉันต้องไปทำงาน ฉันไม่ว่าง ก็เลือกเอา คือ อาตมาว่า อาตมาพูดหมด พูดให้หมด ไม่ปิดบัง ไม่มีอะไรเป็นรโห รหะ รโห ไม่มีอะไรลึกลับนะ ไม่มีอะไรลึกลับแล้ว ไม่มีอะไรรหะ รโห พูดให้หมด

นั่นคือ แม้จะเป็นอาการของวิภวตัณหา ซึ่งเป็นเพียงอากังขาวจร หรืออิทธิบาทของพระอริยเจ้า เท่านั้น วิภวตัณหาน่ะ นั่นคืออาการของวิภวตัณหา ที่จิตยังเป็นอยู่ ซึ่งเป็นเพียงอากังขาวจร คือเป็นความเป็นไป ดำเนินไป ของความปรารถนานั้น หรืออิทธิบาท เป็นสภาพของอิทธิบาท เป็นพลังอายุ พลังแห่งการมีอายุ เป็นเครื่องแสดง เป็นพลังแห่งเครื่องแสดงว่า เป็นคนมีอายุอยู่ ยังไม่ตาย มีอิทธิบาทแสดงของพระอริยเจ้าเท่านั้น

นี่ความหมายของวิ วิภวตัณหานี่ วินี่แปลว่าพิเศษ และไม่ได้ทำไปเพื่อตัวเองด้วย แต่เพื่อเกื้อกูลผู้อื่น โดยแท้ นี่ก็เป็นความหมายของ วิ คือความพิเศษ เป็นความมุ่งหมาย เป็นความปรารถนา แต่ไม่ได้ปรารถนาเพื่อตัวเอง เพื่อผู้อื่นโดยแท้ และก็เป็นความปรารถนาที่มีฤทธิ์ มีความสามารถ มีอิทธิบาท มีประสิทธิภาพ กระนั้นก็ตาม ท่านก็สามารถวางวิภวตัณหานั้นได้ด้วย พระอรหันต์ท่านมีจริง ท่านมีตัณหานั้นจริง แต่ท่านก็ไม่ได้ติดใจในตัณหานั้น ตัณหานั้นเป็นแต่เพียง พลังงานของจิต เป็นแต่เพียงบทบาทของจิต เป็นแต่เพียงอาการของจิตสร้างสรรสิ่งนั้น มีพลังงานทำให้สิ่งนั้นเกิด สิ่งนั้นเป็น สิ่งนั้นมีขึ้นมา ตามฝีมือความสามารถของท่าน

เมื่อท่านทำแล้ว ท่านก็วางวิภวตัณหา วางอากังขาวจร วางอิทธิบาท วางบทบาทกิริยา สักแต่ว่า กิริยาของกรรม กิริยากายวาจาหรือใจ หรือจิตที่มีอาการอันนั้นก็วาง วางได้ด้วย ไม่ติดยึดว่า นั่นเป็นเรา เป็นของเรา หรือนั่นเป็น อาการพิเศษ เป็นพลังงานที่วิเศษ เป็นความสามารถที่วิเศษ เยี่ยมยอด ที่เราจะต้องหลงใหลได้ปลื้ม ต้องติดใจในพลังงานวิเศษนี้ บทบาทพิเศษนี้ ความสามารถพิเศษนี้ของเรา จะต้องติดยึดว่าเป็นเรา เป็นของเราไปอีกนิรันดร ท่านก็เรียนรู้ แล้ว ทำใจในใจแล้วว่าอย่าไปหลงใหลได้ปลื้ม ติดยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา ท่านก็วางได้อีก วิภวตัณหา นั้นท่านก็วางได้ จึงไม่เหลือภวตัณหาใดๆ แม้แต่ วิภวตัณหา ติดอยู่อีกเลย นี่คือความหมาย ของคำว่าวิ ที่แปลว่าไม่ เพราะฉะนั้นวินี่ เป็นความหมาย สองความหมาย ในภาษา วินี่ ความหมายว่ามี มีพิเศษเลย มีได้ อย่างวิเศษ พิเศษ และก็ไม่ด้วย จึงไม่เหลือ ภวตัณหาใดๆ แม้แต่วิภวตัณหา

เพราะฉะนั้น วิภวตัณหานี่ จึงไม่ได้อธิบายกันได้ง่ายๆ ศาสนาอื่นจะไม่รู้ แม้แต่ภวตัณหา เขาก็ไม่รู้ ฤาษีไม่รู้จักภวตัณหา จึงไม่หมดภพหมดชาติ เพราะฉะนั้น แม้แต่กามภพที่กด กักเก็บฝัง เขาก็ยังไม่รู้จักดีเลย พระพุทธเจ้าถึงไม่ยอมรับ แม้แต่โสดาบัน เพราะฤาษีนั่งสะกดจิตนี่ กามนี่หมกไว้เท่าไหร่ก็ไม่รู้ อะไรอ่อนหรือ ยังภพ แรกภพตื้น ตั้งแต่กามภพก็ยังไม่รู้ ภวภพไม่ต้องพูดเลย เพราะเขาไม่รู้ เขาติดฌาน ติดอรูปฌานแบบฤาษี เขาก็อยู่กับภพนั้นแหละ ภพฌาน สะกดอยู่อย่างนั้นน่ะ เขาไม่เข้าใจภวตัณหาหรือภวภพ ไม่ต้องพูดวิภวตัณหา เพราะวิภวตัณหานั้น สูงกว่าภวตัณหา สูงส่งกว่ากามตัณหา สูงส่งกว่ากามภพ สูงส่งกว่าภวภพไป ไหนๆ วิภวภพนี่ ไม่ต้องพูดถึงเลย เขาจะไม่รู้เรื่องของวิภวภพ สายฤาษี

ฟังดีๆนะ วันนี้นี่อธิบายถึงภวภพ วิภวภพ อธิบายแตกตัณหาออกมาอย่าง เรียกว่า เป็นความลึกลับ

(อ่านต่อหน้า ๒)