เจาะใจฤาษี-ชี้ใจพุทธ หน้า ๒
ทำวัตรเช้า เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๓๖

โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
ณ พุทธสถานสันติอโศก
ต่อจากหน้า ๑


ฟังดีๆนะ วันนี้นี่อธิบายถึงภวภพ วิภวภพ อธิบายแตกตัณหาออกมาอย่าง เรียกว่า เป็นความลึกลับ ในโลก รโหคตะ เป็นความลึกลับในโลก เป็นความเป็นไป ที่ลึกลับมาก ลึกซึ้งมากนั่นเอง ใช้วิภวตัณหา ล้างภวภพ แม้แต่วิภวภพเอง ก็เป็นภพที่สามารถมาก เป็นภพพิเศษ แล้วท่านก็ยังล้าง วิภวภพนี่ได้อีก เพราะพระพุทธเจ้ าไม่ได้เคยสั่งสอนให้ติดวิภวภพ หรือ วิภวตัณหา ใช่ไหม ล้างทุกตัณหา แต่เราใช้ตัณหาได้ เป็นแต่เพียง ไม่มีภาษาจะใช้แล้วเท่านั้นเอง ถ้าไปเรียกตัณหา คนธรรมดาจะงง ท่านไปใช้คำว่า อากังขาวจร อย่างที่เคยเอาสูตรนั้นมาอธิบาย อากังขาวจร หรืออิจฉาวจร มันมีความดำเนินไป มีอาการ มีบทบาท มีสุขคติ มีตัวดำเนินไปอยู่ ของบทบาทของจิต ผู้ยังไม่ตายจะเป็นอย่างนั้น หรือพระโพธิสัตว์ ทุกโพธิสัตว์ ท่านยังจะต้อง มีดำเนินไป พระอรหันต์เจ้าท่านก็มีโพธิกิจของท่าน ท่านก็ใช้ตัวนี้เป็นประโยชน์ เป็นกุสลัสสูปสัมปทา แต่จิตก็สะอาด สจิตตปริโยทปนัง ต้องทำจิตให้แม้แต่วิภวตัณหาก็ไม่ติด เป็นเราเป็นของเรา ล้างภวภพนั่นได้หมด แม้แต่วิภวตัณหาเอง ล้าง ท่านก็ต้องวาง ว่าไม่ใช่เรา เป็นของเรา ก็ล้างอยู่ในตัวเหมือนกัน

หมายความว่า ไม่มีตัณหาใดๆเป็นภพเหลืออีก แม้แค่ธุลีละออง หรือไม่เหลือเป็นอาสวะหมักดอง ธุลีละอองใดๆได้แล้ว .. กว่าจะเขียนคำร้อยกรอง ร้อยออกมาพวกนี้นี่ โอ้โฮ! มันยากที่จะอ่านสภาวะ นามธรรม ที่มันซ้อนลึกซึ้งพวกนี้ ออกมาเป็นภาษานี่ พวกเราฟังนี่ง่าย บอก โอ! ฟัง ยิ่งได้รับ การอธิบายมาเป็นลำดับๆ มาจนกระทั่ง ถึงขณะนี้นี่งงไหม ไม่งง ไม่สับสนนะ ถึงแม้สภาวะนี้ ยังไม่ได้ ก็ยังฟังได้ ถ้ามีสภาวะนี้แล้วเมื่อไหร่ บอกด้วย ได้สภาวะนี้เมื่อไหร่แล้วบอกด้วย แม้แต่ฟัง โดยภาษาบัญญัตินี้ ก็ยังฟังได้ ไม่สับสนนะ ไม่งง ไม่สงสัย โอ้โฮ! เขียนหลายวันนะ กว่าจะเขียน ภาษาพวกนี้ออก หลังจากอาสวักขยญาณนี่ งงไหม พอฟังรู้เรื่อง ไม่ก๊งนะ ตอนนี้ไม่ได้ก๊งนะ เออ! ก็ยังดี ไม่เมา ไม่มีมัชฌะ ไม่มทะ หรือไม่เมา คือมันคมชัด มันมีจริง มันมีสติ มันมีความเพ่งรู้ เพ่งเรียนที่สมบูรณ์ แล้วมันก็เข้าใจได้ เรียบเรียงได้ ไม่สับสน ไม่วุ่นไม่วนจน โอ๊ย! ไม่รู้เรื่อง มันอะไร หัวหางกลางปลาย มันอะไรกันแน่ ไหนว่าไม่มี มันไม่มีหรือมี อันไหนกันแน่ อยู่ไม่อยู่ เป็นไม่เป็น หรือ ว่าไม่มันไม่เมานะ

หมายความว่า ไม่มีตัณหาใดๆ เป็นภพเหลืออีกแม้แค่ธุลีละออง หรือไม่เหลือเป็นอาสวะหมักดอง ธุลีละอองใดๆได้แล้ว ไม่เหลือเป็นอนุสัยนอนเนื่องตกค้างต่อ อยู่ในจิตกันจริงๆ ไม่มีอะไรตกค้าง ไม่มีอะไรนอนเนื่อง นี่คือความหมายสองสภาพของคำว่า วิภวตัณหา วิตัวนี้มีความหมายสองสภาพ

สภาพหนึ่งที่หมายความว่าพิเศษ ก็คือวิเศษอย่างยิ่ง เพราะเหนือสามัญ ทั้งการมี การเป็น เพราะฉะนั้น ที่มีที่เป็นอะไรอยู่นี่เหนือสามัญ ไม่ได้มีหรือเป็นเพื่อตัวเรา มีเป็นเพื่อผู้อื่น จะมีก็ได้ จะเป็นก็ได้ สูงกว่านั้นอีก พิเศษกว่านั้นอีก ฉันจะมีก็ได้ ฉันจะไม่เป็น จะไม่มีก็ได้ จะไม่เป็นก็ได้ จะว่างๆเฉยๆก็ได้ จิตอยู่เหนือจิต จิตอยู่เหนือจิต จะมีจะเป็นได้ จะไม่มีไม่เป็นก็ได้ อยู่เหนือจิตนะ จะมีก็ได้ จะเป็นก็ได้ แต่ไม่ใช่มีใช่เป็นอย่างเสพรส อย่างติดยึด เพราะจะมีจะเป็น ก็จะมีจะเป็น อย่างบริสุทธิ์ ไม่ใช่มีอย่างเสพรส เป็นโลกียรสอยู่ ไม่เสพ ไม่ได้มีสุขมีทุกข์อะไรแล้ว ทุกข์มี ทุกข์สภาพนี้เรียกว่า อาหารปริเยฏฐิทุกข์ เป็นทุกข์ที่ท่านทำงาน ท่านแสวงหาเอง ปริเยฏฐิแปลว่า การแสวงหา ท่านปรารถนาเอง ท่านแสวงหาเอง ..... ท่านมุ่งหมาย ของท่านเอง ท่านต้องการ ของท่านเอง ไม่มีใครมาเหนือท่าน ไม่มีใครมาบังคับท่าน ท่านจะไม่ทำก็ได้ แล้วท่านก็ว่างๆ ท่านก็ไม่มีปัญหาอะไร ท่านไม่ทำท่านก็ว่าง แต่ท่านเห็นว่าควร ก็ควร

บัดนี้เวลากำลังล่วงไปๆ บัดนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ว่างๆอยู่ก็ไม่มีปัญหา ว่างๆคุณก็ปล่อยเวลา ไปหาตายเท่านั้นเอง แต่ผู้ที่ท่านสำนึก ท่านมีสามัญสำนึกที่ดีแล้ว ก็ว่างไปทำไมเล่า อยู่เฉยๆว่างๆ ก็ทำอะไรได้ มีความสามารถ มีความรู้ก็ทำให้เป็นประโยชน์ ถึงเวลาพักก็พัก ถึงเวลานอนก็นอน วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร ท่านรู้ว่าการวนเวียนอยู่ จนกว่ามันจะจบ จะสุดนั้น มันคืออะไร ก็มีคุณค่า ประโยชน์เสีย ถึงเวลาสมควรพักก็พัก ถึงเวลาสมควรเพียรก็เพียร มันก็ไม่ได้เหน็ดเหนื่อย ชำนาญแล้วอะไรบางที มันก็ไม่ค่อยเหนื่อยเท่าไหร่หรอก นอกจากงานชุกก็รู้ บางทีมันงานชุก โอ้! นี่จำเป็นนะนี่ มันควรได้ประโยชน์แก่คนนั้นคนนี้มากๆนะ

ยิ่งเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจะไปกลัวทำไม ถ้ามันจะทำมากๆๆๆ แล้วมันก็จะต้องตาย ลงไปตรงนี้เลย ท่านก็สูญอยู่แล้ว ท่านจะปรินิพพานด้วย ก็จะไปมีปัญหาอะไร ใช่ไหม ตายก็ตาย ก็สูญ ถ้าท่านจะปรินิพพาน นอกจากพระโพธิสัตว์เท่านั้นล่ะ จะต้องกลับจากพระอรหันต์ พระโพธิสัตว์กลับจากพระอรหันต์ ตรงที่ว่า พระอรหันต์ท่านไม่กลัวตายหรอก แม้จะอายุ สั้นลงกว่านั้น ท่านก็ไม่กลัวพระอรหันต์ แต่พระโพธิสัตว์นี่จะบอก เฮ้ย! อย่าเพิ่งรีบตาย ต้องหาเวลา ที่จะมีอิทธิบาทรักษา เพื่อที่จะเป็นประโยชน์นานต่อไปอีก แล้วก็จะได้ช่วยโลก รู้โลก หรือว่าเรียนโลก มีโลกวิทูอะไร เพิ่มอีกๆๆ จริงๆ แล้วพระโพธิสัตว์นี้ ยังไม่อยากตายมากกว่าพระอรหันต์ แต่พระอรหันต์จริงๆ ท่านก็ไม่ได้อยากตายหรอก แต่ว่าถ้าตายเร็วท่านก็ไม่ว่า แต่พระโพธิสัตว์นี่ ถ้าตายเร็ว เห็นว่ายังควรจะอยู่ก่อน อยู่ต่อไป ก็ฉันเดียวกันว่า เดี๋ยวยังไม่ปรินิพพานนะ พระโพธิสัตว์บอกจะต่อไปอีก จะไปเอาสัพพัญญุตญาณโน่นน่ะ จะไปเอาพุทธภูมิ โน่นล่ะ จะเอาสัพพัญญุตญาณต่อไป ก็นัยเดียวกัน พระโพธิสัตว์ยังอยากต่ออยู่ แต่พระอรหันต์เจ้า แล้วแต่เหตุปัจจัย จบก็จบ จบเมื่อใดก็เมื่อนั้น ไม่มีปัญหา พระอรหันต์ต่างกันอีก เห็นไหม ฟังดีๆนะ นานๆจะได้ฟัง นี่อธิบายภพพุทธภูมิโน่น นะ ไม่ใช่เรื่องเล่น

เอ้า สภาพหนึ่งหมายความว่าพิเศษนั้นก็คือ วิเศษอย่างยิ่ง เพราะเหนือสามัญ ทั้งการมีการเป็น จะมีก็ได้ จะเป็นก็ได้ แต่ไม่ใช่มีใช่เป็นอย่างเสพรส อย่างติดยึด ไม่ได้เสพรส และไม่ใช่มีอย่างโง่เง่า แต่มีอย่างเลือกเฟ้นเอาเฉพาะ ดีหรือควร ไม่ใช่มีอย่างคนโง่ๆเชยๆ แต่มีวิจารญาณ จะมีจะสร้าง จะเป็น ก็เอาแต่สิ่งที่ดีที่ควรนะ แล้วแถมมีได้อย่างเก่งกาจ อย่างแข็งแรงสูงส่งด้วยประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่มีอย่างซังกะตาย ไม่ใช่มีอย่างไม่มีฝีมือ มีอย่างมีฝีมือด้วยนะ ซึ่งเป็นการมี ชนิดที่ไม่เหมือน โลกียบุคคลมีกันแล้ว เพราะท่านไม่ได้มีเพื่อตัวเพื่อตน แล้วท่านก็มี อย่างไม่ได้ติดยึด แล้วก็ไม่ได้มี อย่างโง่เง่า อย่างซังกะตาย อย่างมีปรารถนาดี ทุกอย่าง มีฝีมือเท่าไหร่ก็พากเพียร มีความสามารถเท่าไหร่ ก็กระทำอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ย่อหย่อน มีความประณีต มีความอุตสาหวิริยะ มีความเอาใจใส่ มีอิทธิบาทเต็ม มีฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสาอย่างดี เพราะแม้มีอีกเท่าใดๆ ก็ไม่หลงสะสม ลงเป็นตัวตนของตนได้จริง เพราะว่าท่าน แม้จะมีเท่าใดๆ อีกเท่าใด ก็ไม่หลงสะสมลงเป็นตัวตนของตนได้จริงๆนะ นี่คือส่วนสภาพพิเศษ วิแปลว่ามี แปลว่าพิเศษ มีอย่างพิเศษ

ส่วนอีกสภาพหนึ่งที่หมายความว่าไม่นั้น ก็คือไม่อย่างเก่งวิเศษอีกเช่นกัน เป็นต้นว่า ไม่มีไม่เป็นอะไรก็ได้ ที่ตนจะไม่ให้มีในจิต คือในจิตจะไม่ให้มีอะไร จะให้ว่างอยู่เฉยๆ ไม่ให้มีอะไรในจิตเลย ไม่ให้มี ไม่ให้เป็นอะไร แม้แต่ อากังขาวรจร อิจฉาวจรไม่ให้มี ไม่ต้องอวจร ใดๆเลย อยู่ว่างๆเฉยๆเป็นอากาสา อากาสาหมายความว่าไม่รู้ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะมีรู้ ก็ว่าง โล่งอยู่ อากาสาก็ว่าง ก็โล่ง ไม่ใช่ ไม่ใช่เป็นเอกัคตาที่มีประโยชน์ มีเอกัคตาที่มีบทบาท มีลีลา มีการสร้างสรรในฌานที่เป็นรูปฌาน รูปฌานของพระพุทธเจ้า รูปฌานของพุทธนั้น มีวิตกวิจารแข็งแรง มี ตักโก วิตักโก สังกัปโป วจีสังขาโร แข็งแรง มี อัปปนา พยัปปนา เจตโส อภินิโรปนา บทบาทของสังกัปปะแข็งแรง เป็นสัมมาสังกัปปะทั้งหมด มีสัมมาวาจา เพราะจะมีวาจาใดๆ ก็ไม่มีมุสาวาท ปิสุณาวาจา มีผรุสวาจา แล้วก็มีสัมผัปปลาปะ ไม่มี หมดมิจฉาวาจา ๔ เป็นสัมมาวาจา ๔ ผู้มีสมาธิมีฌานของพุทธนี่ แม้กัมมันตะ ก็ไม่เป็นปาณาติบาต ไม่เป็นอทินนาทาน ไม่เป็นกาเมสุมิจฉาจาร แม้อาชีวะก็สมบูรณ์ ไม่กุหนา ลปนา พ้นมิจฉาชีพ ๕ หมด ไม่ได้ทำเพื่อลาภแลกลาภอะไรจริงๆ แม้แต่จะแลกความสุขที่ฟูใจ ไม่ต้องพูดถึงสรรเสริญ ลาภยศ ไม่ต้องเกี่ยวแล้ว ไม่ได้แลกลาภ แลกยศ แลกสรรเสริญ แม้แต่สุขที่รู้สึกว่าเป็นสุข เสพเป็นภพ ไม่ใช่แค่รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสนอกเท่านั้น แม้แต่เป็นภพข้างใน ก็ไม่ได้รู้สึกเสพสมภพ สมว่าภพของเราต้องการอย่างนี้ ได้อย่างนี้ก็สมใจ แล้วก็ฟูใจอยู่ มีแต่จิตรู้ว่า เออ! อันนี้สมตามที่เราเป็น ต้องการให้เป็น สมที่เราให้เกิดให้เป็น ก็เป็นได้แล้วนะ สัญญากำหนดรู้ ได้จบในตัว

เพราะฉะนั้นอีกส่วนหนึ่ง ก็ไม่ได้ อย่างเก่ง ไม่มี ไม่เป็นอะไรก็ได้ ที่ตนจะไม่ให้มีในจิต ไม่ให้มีในจิตโดยเฉพาะ ไม่ให้มีในจิตอะไรบ้าง โดยเฉพาะไม่ให้มีได้ทั้งนั้น ไม่ให้มีอกุศลทุจริต ไม่ให้มี โลภโกรธหลง ไม่ให้มีอนุสัยอาสวะ แม้ที่สุด ไม่ให้มีตัณหาใดๆ ถ้าประสงค์จะไม่มี มันก็ซ้อนอีกแล้วภาษา ถ้าประสงค์จะไม่มี คือเรานี่แหละประสงค์ ก็เราต้องการจะไม่มี ภาษาไม่มีพูดอีกแล้วนะตอนนี้ คือจะประสงค์ มันก็ซ้อนอีกแล้ว มันก็ต้อง ประสงค์มาก่อนใช่ไหม ก็เราตอนนี้ เราต้องการจะไม่มีอะไร เราก็ว่าง ภาษา มันก็มาก่อนว่า เราประสงค์จะไม่มีล่ะตอนนี้ ก็ได้ ถ้าประสงค์ คืออากังขะนั่นเอง อากังขาวจรนั่นแหละ คือตัวประสงค์จะไม่มี จะว่าง จะวาง ในขณะใด เมื่อใด ก็ไม่มี ไม่เป็น สำเร็จได้ทุกขณะทุกเมื่อจริง อยากได้ไหมเล่าจิตอย่างนี้ อยากได้ไหม ต้องฝึก ไม่ฝึกแล้วก็จะไปเอาแต่ภาษาพูด ที่บรรยายให้ฟังนี้ไม่ได้

ทำความเข้าใจกับคุณลักษณะผู้บรรลุธรรมของพุทธดีๆ ซึ่งจะแตกต่างจากคุณลักษณะ ผู้บรรลุธรรม ของเดียรถีย์ฤาษี เพราะเดียรถีย์ฤาษีนั้นจะสุดโต่งไปข้างไม่ ไปข้างไม่ ซึ่งสุดเหวี่ยง ไปอีกภพหนึ่ง จะปฏิเสธ ไปในข้าง ปฏิเสธฤาษีนี่จะสุดเหวี่ยง สุดโต่งไปข้างปฏิเสธ ส่วนของพุทธนั้น ไม่ปฏิเสธนะ ปฏิเสธก็ไม่ปฏิเสธ มีก็ไม่มี มีได้ ไม่ก็ได้ ไม่มีภาษาพูดแล้ว ไม่สุดโต่งไปข้างไหน จะว่าไม่ ก็มี ว่ามี มี แต่ของฤาษีนั้น จะเอียงข้างไปข้างไม่ กล่าวคือ ผู้บรรลุธรรมของเดียรถีย์ฤาษีนั้น ยิ่งบรรลุยิ่งมีภูมิสูงขึ้นๆ ก็ยิ่งไม่ขยัน ไม่แข็งขันในการงาน โดยเฉพาะการงานภายนอก การงานอาชีพ ซึ่งแม้แค่ปุถุชนเขายังดีเสียกว่า เดียรถีย์ฤาษีนี่ยิ่งจะไม่สร้างสรร ยิ่งไม่เสียสละแรงงาน ยิ่งไม่มีความรอบรู้ ช่วยสังคมช่วยโลก ยิ่งจะไม่ค่อยรู้โลกเลย ช่วยโลกช่วยอะไรไม่ได้ ที่จะไปทำอะไร เพื่อช่วยโลกได้ ยิ่งเฉื่อยยิ่งเนือย ไม่กระตือรือร้นช่วยเหลือ ยิ่งไม่ยุ่งกับงาน

มันแทงใจดำใครมั่ง ฤาษีอโศก ยิ่งไม่ยุ่งกับงาน ใจดำใครถูกแทงก็ วันนี้ขอแทงเป้านี้ให้มั่น ให้ผั๊วะเลยนะ ยิ่งเฉื่อยยิ่งเนือย ไม่กระตือรือร้นช่วยเหลือ ยิ่งไม่ยุ่งกับงาน ยิ่งไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอิทธิพล ไม่ร่าเริงยินดีในการงาน เห็นการงานก็เฉย งานหรือ งานก็งาน ใครจะทำก็ทำ เออ! เอ็งโง่ เอ็งก็ไปทำเถอะงาน ข้าไม่โง่ ข้าว่างนะ ยิ่งไม่มีความมุ่งมาดปรารถนา ไม่มีความต้องการ ไม่มีความอยากได้ มันจะโต่งไปข้างนี้หมด ข้างไม่ปฏิเสธ หรือยิ่งหลงผิดในความเป็นวิภวตัณหา แรงกล้าขึ้น มันก็จะเข้าใจวิภวตัณหาผิดพลาดไปหมด

ศาสนาพุทธก็ตาม ไม่ใช่ว่าจะเข้าใจวิภวตัณหาได้ถูก มันเข้าใจไม่ถูก มันถึงเสื่อมมาเรื่อยๆ จนกลายเป็น ศาสนาพุทธเป็นแบบเดียรถีย์ ฤาษีเข้าไปแล้ว เห็นไหม เห็นผลไหม ๒,๕๐๐ กว่าปีมา อาตมาจะบรรยายอย่างไร ก็ค้านแย้ง แม้พระไตรปิฎก เขาก็เขียนความเอนเอียงไปข้างนั้น พระไตรปิฎก ที่แปลมา ก็เอนเอียงไป เพราะพระบาลีว่าอย่างผมพูดนะ บาลีจะว่าอย่างที่พูด แต่เวลาขยาย แปลเป็นภาษาไทย เขาจะแปลไปในข้างเป็นภาษาที่อ่านแล้ว จะเห็นเลยว่า เดียรถีย์ ฤาษี ยิ่งไม่เอาถ่าน ยิ่งไม่เอางานเอาการ ยิ่งไม่มีอะไรเลย ซึ่งจะค้านแย้งกับนัยจริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีหลายสูตร ที่เอามาขยาย เห็นไหม อากิญจัญญายตนะ มันมีความหมายเดียวกัน แต่พฤติกรรมต่างกัน ดับนี่ดับสนิทไหม อากิญจัญญายตนสัญญา นี่ต้องกำหนดซึ่งความดับ แล้วดับอะไร

ดับกิเลส ของเรานี่ดับกิเลส ดับอกุศล ดับทุจริต ดับอาสวะอนุสัย ดับโลภะโทสะโมหะ ดับสิ่งที่เป็นบาป แม้แต่สิ่งที่เป็นกรรมกิริยาที่เป็นบุญ ก็ไม่ได้ดับนะ กรรมกิริยาที่เป็นบุญนี่ เป็นสิ่งมีนะ กรรมกิริยาที่เป็นบุญนี่เป็นสิ่งมีนะ ไม่ได้ดับนะ ยิ่งดีด้วย ยิ่งกุสลัสสูปสัมปทาด้วย เพราะฉะนั้น จะมาอธิบายโอวาทปาติโมกข์ ๓ สัพพปาปัสสะ อกรณัง กุสลัสสูปสัมปทา สจิตตปริโยทนัง อธิบายอย่างนี้ เพราะฉะนั้นท่านพุทธทาสถึงตัดลัดผัวะไปเอาแต่สจิตตปริโยทปนัง ส่วน สัพพปาปัสสะ อกรณัง กับกุสลัสสูปสัมปทานั้นเป็นของชาวบ้าน เป็นของคนธรรมดา ไม่ใช่ของพระอริยะ พระอริยะท่านเอาแต่จิตสะอาดตัวนี้ เห็นไหมว่า ความแหว่งของท่านพุทธทาส

แต่ฟังผมพูดแล้ว เห็นว่าอย่างนี้เป็นพระอรหันต์กว่าหรือ อย่างที่บอกว่าแหว่งๆ เอาแต่ว่างจิตสะอาด จิตสะอาด ท่านไม่เอาแล้วบาปบุญ อันนั้นเป็นเรื่องของโลก ไม่ใช่เรื่องของธรรม โลกุตรธรรมของ พระพุทธเจ้านั้น มีทั้งโลก มีทั้งธรรม ท่านก็ไปช่วยโลกนี่แหละ แต่ท่านก็ไม่ได้ติดโลกอะไรนี่ ท่านไม่ได้เป็นโลก แต่ท่านก็เป็นธรรมอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่นั่นแหละ ไม่ใช่ง่ายๆ กว่าจะอธิบาย อย่างนี้ได้นะ เพราะฉะนั้น ยิ่งทางด้านเดียรถีย์นี่ ก็ยิ่งจะไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีอิทธิพล ไม่ร่าเริงยินดี ในการงาน ยิ่งไม่มีความมุ่งมาดปรารถนา ไม่มีความต้องการ ไม่มีความอยากได้ หรือยิ่งหลงผิด ในความเป็นวิภวตัณหาแรงกล้าขึ้น คือยิ่งปฏิเสธความอยากได้ แต่ยิ่งเพิ่มความไม่อยากได้ ชัดขึ้นไหม เพราะฉะนั้น จิตของฤาษี หรือของเดียรถีย์นี่ มันจะมีความแรง ความปฏิเสธ ความอยากได้ มันจะปฏิเสธความอยากได้อยากมีอยากเป็น ยิ่งจะไปเพิ่ม ความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็นในจิต มันจะสุดโต่ง สุดเหวี่ยงไปทางโน้น เห็นความสุดโต่งชนิดนี้ไหม เพราะฉะนั้น การอธิบายความสุดโต่งสองด้าน ของกามสุขัลลิกานุโยค กับอัตตกิลมถานุโยคนั้น จึงไม่ใช่อธิบายง่ายๆ

คำตรัสสอนของพระพุทธเจ้าสูตรแรกนี่คือ สูตรที่จะต้องอธิบายตัวจบ มาถึงวันนี้ อธิบายตัวจบ กันแล้วนะ ใครได้ฟังวันนี้ ก็คือบุญหูแล้ว ปล้ำเขียนอันนี้นี่ ทั้งกระดาษปะ ทั้งกระดาษเขียน ลอกแล้วหลายทีนะ กว่าจะออกมานี่ กว่าจะได้ภาษา เรียบเรียงมา คุณฟังนี่ง่าย แต่คิด กว่าจะออกมา ให้คุณฟังนี่ อื้อฮื่อ! หัวร้อนไปหลายวัน คุณอาจจะไม่เชื่อ คุณอาจจะเก่งกว่าผม คุณเรียบเรียงได้เก่งกว่าก็ได้ ถ้าคุณไปเรียบเรียงเองก็ได้ จะเรียบเรียงได้เร็วกว่า แต่อย่ามาเอาคำนี้ไป เรียบเรียงนะ นี่เรียบเรียงมาแล้วจากสภาวะ คือ

"ยิ่งปฏิเสธความอยากได้ แต่ยิ่งเพิ่มความไม่อยากได้" นี่ฤาษีแล้วทีนี้ จะยิ่งไปเพิ่มความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น จึงกลายเป็น คนที่ยิ่งหลงภวตัณหา ยิ่งหลงภพที่ด่ำดิ่งของตัวเอง นั่นแหละ หรือยิ่งหลงมีภพสุดโต่งไปสุดๆ คือติดยึดภวตัณหา หรืออยากได้ภพอีกชนิดหนึ่งนั่นเอง เห็นไหม เห็นภพอีกภพหนึ่งไหม เห็นได้ไหม โอ้โฮ! ตาทิพย์กันทั้งนั้นเลย ดังนั้น เดียรถีย์หรือฤาษีที่มิจฉาทิฐิ ออกไปจากพุทธนี้ จึงยิ่งมีภวตัณหา เป็นอัตตา เป็นอัตนียา ยิ่งหนาขึ้น เป็นต้นว่า หลงติดภพ ของความอยู่เฉยๆ ว่างๆ เป็นสุข หลงติดภพของฌาน ชนิดหลับตาสะกดจิตเอา เป็นสุข (คือ รูปฌาน อรูปฌานอย่างฤาษี เดียรถีย์นั่น) หลงติดภพของการปฏิเสธความสัมพันธ์ ยิ่งๆขึ้น เป็นสุข ท่านได้อันนี้แล้ว ท่านก็สุข ฉะนี้นี่หรือจะลืม สบายจริง ภพที่ไม่สัมผัสสัมพันธ์กับอะไร ยิ่งหลงติดภพ ของการปฏิเสธ ความสัมพันธ์ยิ่งๆขึ้น หลงติดภพ ที่ตนชอบใจนั้นๆ เป็นสุข ตนยินดีพอใจ ในภพนั้นๆเป็นสุข แม้แต่หลงติดงานบางชนิด ที่ตนชอบใจนั้นๆ เป็นสุข ก็มี นี่พวกที่กลับนิดหน่อย งานอะไรที่ฉันชอบ ยุกๆยิกๆอะไรก็แล้วแต่เถอะ ฉันทำอันนี้ อยู่กับอันนี้ ไม่อันอื่นแล้ว กัมมรามตา หลงติดภพของความไม่มี ไม่เป็น ไม่อยาก อย่างสุดโต่ง เป็นสุข ซึ่งล้วนแต่เป็นภพ ที่ยิ่งลึกเข้าไป หาภวังค์ภายใน การหลงคือยิ่งไม่รู้เท่าทัน ยิ่งไม่ไหวทัน ยิ่งติดยึด นั่นคือการหลง ความหลง โมหะ จึงยิ่งไม่รู้ (อวิชชา) เรื่องภพ หรือภวตัณหามากยิ่งๆขึ้น

เพราะฉะนั้น ฤาษีจึงยิ่งไม่ค่อยเข้าใจภวตัณหา ยิ่งไม่รู้จักภพ ยิ่งไม่ค่อยจะประสีประสากับภพ ภวตัณหา เพราะฉะนั้น ฤาษีจึงฝังได้เลย อยู่กับภพโน่นแหละ จริงเขาหนีกาม เขากดข่มกามไว้หมด เสร็จแล้วเขาก็กดข่ม แล้วเขาก็ต้องปฏิบัติอยู่นะ ไม่มีการจบ จบอย่างเสร็จกิจไม่มี ของฤาษีนี่ไม่มีจบ จบอย่างเสร็จกิจ ยังต้องทำเอาจนตายนั่นแหละ ยังจะต้องทำ ฌานนั่งหลับตาฤาษี อยู่ตลอดจนตาย เดียรถีย์ หรือฤาษีดังกล่าวนี้ จึงดูเหมือน หลุดพ้นได้แค่กาม หรือลาภ ยศ ที่เป็นวัตถุภายนอก (แท้จริงยังไม่แน่ด้วยซ้ำ พระพุทธเจ้า ไม่รับรอง แม้เป็นแค่โสดาบัน) แต่ไม่หลุดพ้น หรือไม่ค่อย จะรู้ละเอียดในภวตัณหา จึงติดจมอยู่กับภวตัณหา กันสุดโต่งหนักขึ้นไปเรื่อยๆ

ดังนั้น เดียรถีย์ หรือฤาษีเหล่านี้ จึงไม่ได้เดินทางสู่ภพวิภวตัณหาแน่ เพราะฉะนั้น ฤาษีนี่จะไม่ช่ำชอง ในวิภวตัณหา จะไม่เรียนรู้ จะไม่ได้ศึกษาวิภวตัณหา เพราะเขาจะไม่มีวิภวตัณหา ไปล้างภวตัณหา อันที่กล่าว ไม่มีนะ ภพที่สูงเหนือกว่ากามภพ ภวภพ เรียกว่า วิภวภพ จึงยากที่จะเข้าใจ หรือที่จะรู้เห็นได้ง่ายๆ ทุททสะ หรือ ทุทฺทสา ทุรนุโพธา รู้เห็นได้ยาก ตามเห็นได้ยาก เพราะความเป็นจริงของภูมิ ยังไม่ได้ยังไม่เป็นจริง แม้แต่แค่อาสวะ เหล่าเดียรถีย์ หรือฤาษีดังกล่าวนี้ หรือเหล่าพุทธมามกะเอง ที่ยังมิจฉาทิฐิอยู่นั้น ก็เช่นเดียวกันกับฤาษี ก็จะไม่มีวันล้าง หรือทำลาย ออกได้หมดสิ้น เพราะถ้าเข้าใจ มรรคอันมีองค์ ๘ ไม่ถูกต้องเพียงพอ ก็จะไม่มีทางล้างอาสวะ สิ้นได้เด็ดขาด ป่วยการกล่าวถึงลัทธิ ที่ไม่มีทางปฏิบัติที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ เพราะฉะนั้น ลัทธิที่ไม่มีมรรคมีองค์ ๘ แล้วไม่ต้องกล่าวถึงเลย ป่วยการ พระพุทธเจ้าตรัสยืนยันไว้ชัดๆว่า มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ไม่มีทางอื่น เอเสว มคฺโค นตฺถญฺโญ ที่จะทำความบริสุทธิ์ ผ่องแผ้ว ให้แก่ความรู้ความเห็นได้ ทสฺสนสฺส วิสุทฺธิยา ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐกว่าทางทั้งหลาย มคฺคานฏฺ€งฺคิโก เสฏฺโ€ ทางมีองค์ ๘ ประเสริฐกว่าทางทั้งหลายนะ

จะหมดเวลาลงแล้วนะ เดี๋ยวอาตมาอ่านสูตรอันนี้นิดหน่อยนะ อ่านสูตร ที่อธิบายเป็นภาษานี่ อธิบายละเอียดแล้ว ทีนี้อ่านภาษาของพระไตรปิฎกซิ ถ้าอ่านภาษาพระไตรปิฎกนี่ รับรองจะไม่เข้าใจ ที่อ่านเมื่อกี้นี้ จะเข้าใจอย่างฤาษีทันที ฟังดูนะ

เล่ม ๑๘ ข้อ ๓๙๒
ดูกรภิกษุ ก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ มีคำว่าโดยลำดับนะ คือนี่สั้นนะ คำตรัสของพระพุทธเจ้านี่สั้น จะไม่เหมือนที่อธิบายสู่ฟังเมื่อกี้ เพราะฉะนั้น ถึงบอกว่า มันยากจริงๆ ที่จะให้คนเข้าใจ คือเมื่อภิกษุ เข้าปฐมฌาน วาจาย่อมดับ

เมื่อวานนี้ก็พูดแล้วว่า ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไป เป็นธรรมดา จบ แต่ก่อนจะจบตรงนี้ มาถึงได้กล่าวถึงการดับเวทนาด้วย ใช่มั้ย ดับหมด เวทนา แม้แต่ อุเบกขาเวทนา

เล่ม๑๘ รโหคตสูตร ข้อ ๓๙๑
...ดูกรภิกษุ เรากล่าวคำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่า ความเสวยอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ ดังนี้ เรากล่าวหมายเอาความที่สังขารทั้งหลาย นั่นเองไม่เที่ยง ... (ก็ได้อธิบายถึง สังขารแล้ว ได้อธิบายถึงเวทนา สัญญาแล้ว แล้วก็สังขารที่มี หรือไม่มีของเจตสิกตัวที่สามไม่มี แต่มีแต่สัญญากำหนดรู้ เวทนากำหนดรู้ สังขารไม่มี ท่านก็จบ ด้วยคำว่าเรา หมายเอาความสังขารทั้งหลายนั้น มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไป เป็นธรรมดา เราก็เห็นแล้ว่า มันไม่เที่ยง เราดับมันได้สนิท ไม่ต้องสังขารเลยได้ เพราะฉะนั้น จะดับจุดจบ พระอริยเจ้าพิสูจน์ตัวเองได้ว่า เรามีเวทนา สัญญาทำงาน สองเจตสิกสองขันธ์ ไม่ต้องให้มีขันธ์ที่สาม คือสังขาร เมื่อวานนี้ อธิบายแล้ว ดับได้ไหม ต่อจากนั้นมา ท่านก็อธิบายต่อว่า

เล่ม ๑๘ ข้อ ๓๙๒
ดูกรภิกษุก็ลำดับนั้นแล เรากล่าวความดับสนิทแห่งสังขารทั้งหลายโดยลำดับ คือ เมื่อภิกษุเข้า ปฐมฌาน วาจาย่อมดับ
วาจาก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ทำงานแบบพุทธ มีวาจาไหม มีสมาธิ มีฌานอย่างสมาธิ มีสัมมาญาณ สัมมาวิมุติอย่างพุทธ มีวาจาไหม มีวาจา แต่แท้จริงแล้วไม่มีวาจา วาจาดับคือ มุสาวาทา ปิสุณาวาจา ผรุสวาจา สัมผัปปลาปะดับ มิจฉาวาจาดับ ไม่ใช่ดับวาจา ประเภทที่พาซื่อ แต่ท่านอธิบายอย่างนี้ ท่านอธิบายกับฤาษี อธิบายก็ว่าวาจาดับ ถ้าจะเป็นฌาน แบบฤาษีก็ได้เลย วาจาดับจริงๆ ก็ไม่ผิดอีก เพราะว่าเวลานั่งเข้าฌานอยู่ในภวังค์ วาจาก็ต้องไม่มีแล้ว เมื่อเข้าทุติยฌานวิตกวิจารย่อมดับ ตกลงของพุทธวิตกวิจารมีไหม มีอีกแหละ ตักกะ วิตักกะ สังกัปปะ มีวจีสังขารได้ด้วยซ้ำ อนุโลมปฏิโลมเป็นปฏินิสสัคคะได้ด้วยซ้ำ แต่ไม่มีกามวิตก ไม่มีพยาบาทวิตก ไม่มีวิหิงสาวิตก แต่มีวิตกอื่นได้ วิตกวิจารย่อมดับ เมื่อเข้าตติยฌาน ปีติย่อมดับ ไม่มีปีติ แต่มีฉันทะได้ไหม ไม่ได้เหรอ ได้ มียินดี ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ไม่มียังไง มีได้ มีอิทธิบาทได้ เมื่อเข้าจตุตถฌาน ลมอัสสาสะปัสสาสะย่อมดับ อัสสาสะ ปัสสาสะ ลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกย่อมดับ

แต่ความจริง ลมหายใจยังมี คนยังไม่ตายลมหายใจดับหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นฤาษีเป็นอย่างนี้หมด ท่านไม่ได้ตรัสผิดกับของฤาษีเลย ท่านไม่ทำความค้านแย้ง กับฤาษีสักอย่าง เพราะฉะนั้น ฤาษีที่ยังไม่มีภูมิ ฟังแล้ว โอ ท่านนี่พูดถูก ตรงอย่างที่เราเรียนมา นี่คือการสอนที่ไม่ให้ขัดแย้งกับฤาษี เพราะสมัยโน้น ฤาษีเยอะ ถ้าขืนไปประกาศตูม อย่างที่ผมพูดนี่นะ ฤาษีไม่ศรัทธา ท่านจะไม่ได้ อุทกดาบส อาฬารดาบสอะไรมา ท่านจะไม่ได้ใครต่อใครมาหรอก เอาอย่างนี้ก่อนนะ แต่แท้จริง ถ้าเข้าใจ อย่างมรรคองค์ ๘ หมด ที่อธิบายซ้อนให้ฟังแล้ว คนเป็นๆ อัสสาสะปัสสาสะดับได้ยังไง ลมหายใจไม่มี มันก็ตายเท่านั้นเอง แต่จริงๆนั่นน่ะ ฤาษีนั่นก็ไม่ได้ดับหรอก อัสสาสะปัสสาสะ หมดได้ยังไง ไม่น่าดับหรอก แต่มันเบา มันอ่อน จนกระทั่งไม่ติด เขาสัญญากำหนดรู้ไม่ได้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ว่าลมไม่มี เรียกว่าชีพจรดับแล้วนะ อัสสาสะปัสสาสะ ไม่มีสูบลม ไม่มีลมเคลื่อนไหว ไม่มีลมเคลื่อนไหวแล้วนะ ก็ตายเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น อธิบายอันนี้ เป็นภาษาฤาษีหมด ใครอ่านยังไง ก็เป็นฤาษี ผมจะไปอธิบายให้ใครฟังยังไง ผมก็ต้องผิดหมด ใช่ไหม เอาละ พวกคุณ ก็อย่าเพิ่งเชื่อผม ไปพิสูจน์ความจริงพวกนี้

เมื่อเข้าอาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาย่อมดับ อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว มีแต่ความว่าง โล่ง แล้วจิตผู้ที่รู้ด้วยญาณแล้วว่า มันว่างจริงๆแล้วนะ มันโล่ง เวลาเราจะเข้าสู่อรูปฌาน หรือสภาพ อรูปฌานแล้วนี่ อรูปฌานไม่ทำงาน ของฤาษียิ่งไม่ทำงานใหญ่ ของพุทธนี้ทำงานยิ่ง แต่ท่านจะไม่อธิบายแล้ว เพราะว่ามันก็กลับไปเหมือนกัน กับรูปฌานนั่นเอง จบรูปฌานแล้ว ก็ทำงานได้ แล้วก็ฝึกปรือไป ไม่ต้องไปหลงใหลได้ปลื้มกับความว่าง แต่ยิ่งจะว่าง ยิ่งอากาสานัญจายตนะยิ่งจะว่าง วิญญาณัญจายตนะก็ยิ่งจะชัด แต่วิญญาณยิ่งดับ คำว่า รูปสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาย่อมดับ หมายความว่า ไม่ติดยึดในอากาสาฯ ไม่ติดยึดในตัวว่าง เราก็ไม่ต้องไปมี ไม่ต้องไปกังวล แต่ตอนนี้ อยู่ว่างหรือเปล่า ไม่ว่างแล้วนี้ มีวิญญาณ วิญญาณของพระอริยเจ้า ของพระพุทธเจ้า วิญญาณของ พระอรหันต์เจ้า อยู่กับสภาพจริง ตามความเป็นจริง ตาเห็นรูป ก็ย่อมมีรูป แล้วจะว่างยังไง หูได้ยินเสียง มันก็มีเสียง มันจะว่างยังไง มันจะอากาสายังไง จมูกได้กลิ่น มันก็ต้องกลิ่น เพราะฉะนั้น ก็คืออากาสาดับ อากาสานัญจายตนะ อายตนะในก็ไม่ต้องไปว่าง แต่อายตนะนอกมี อายตนะนอกก็คือรูป หรือคือเสียง หรือคือกลิ่น อายตนะในก็คือตา ตาไม่ต้องไปเป็นเราเป็นของเรา อายตนะในดับ หมายความว่า ตาไม่เป็นเราเป็นของเรา รูปนี้ไม่ใช่เรา เสียงนี้ไม่ใช่เรา

ฟังดีๆนะ ภาษานี้อธิบายลึกซึ้งแล้วนะ ท่านกำลังไม่ได้ติดยึดว่ารูปเป็นเรา เสียงเป็นเรา เพราะไม่มีตัวตนของเรา ที่ไม่เป็นเราเพราะอะไร เพราะท่านไม่ได้เสพเสียง ไม่ได้เสพรูป ไม่ได้เสพกลิ่น ไม่ได้เสพรส เป็นสุขเป็นทุกข์ โดยเฉพาะเป็นรสอร่อย เป็นอัสสาทะ แต่รูปก็ต้อง มีความจริง เสียงก็ต้องมีความจริง รสก็ต้องมีความจริง รสนี่ท่านแตะอยู่ เปรี้ยวก็ต้องเปรี้ยว หวานก็ต้องหวาน สีแดงก็ต้องสีแดง เขียวก็ต้องเขียว ให้พระอรหันต์ ให้ปุถุชนธรรมดาสัมผัส มันก็เหมือนกัน เสียงนี้ เสียงไมเคิล แจ็คสัน ให้พระอรหันต์ไปสัมผัส มันก็เสียงแบบนั้นแหละ อะไรของมันอย่างนั้นแหละ มันก็เหมือนกัน แต่ว่าจะมีรสก็ต่างกันแหละ พระอรหันต์ ไม่ค่อยมีรส อะไรหรอก ท่านรู้ความจริงเป็นความจริงด้วยซ้ำไปว่าเออ เขาก็อุตส่าห์ทำนะ พยายามปรุง ก็เท่านั้น เพราะฉะนั้น อากาสานัญจายตนะย่อมดับ ถ้าอธิบายไม่เป็น ก็ไม่รู้ว่า มันอากาสาดับอย่างไร แต่ของฌานฤาษีในภวังค์ก็ไม่ผิด ไม่ต่างกันเลย ตรงกันทุกอย่าง ของพระพุทธเจ้าก็ตรง อธิบายได้ ทั้งสองอย่าง เห็นไหม พอวิญญาณก็คือ มีวิญญาณที่บริสุทธิ์ วิญญาณที่เต็ม วิญญานัญจาฯ

เมื่อเข้าวิญญาณณัญจายตนะ อากาสานัญจายตนะย่อมดับ เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสู่ไม่มีอะไรเลย วิญญาณัญจายตนะย่อมดับ ก็ไม่ได้หมายความว่า ดับวิญญาณ หรือดับธาตุรู้ ที่จริงวิญญาณยิ่งรู้ดี แต่วิญญาณรู้ดีอย่าง ไม่มีสังขาร ถ้าเรียนเวทนา สัญญา สังขารดับ ก็ดับแต่สังขาร

บอกแล้วย้อนขึ้นไปบทต้น เราหมายเอา ความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละ มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดา ดูกรภิกษุ ก็คำนี้ว่าความเสวยอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้น คุณไปเป็นทุกข์ ก็ตรงนี้ ตรงที่เสวยอารมณ์ สังขารเสวยอารมณ์ ดังนี้ เรากล่าวหมายความเอา ความที่สังขารทั้งหลายนั่นแหละ มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป แปรปรวนไปเป็นธรรมดาฯ

จบ อนุเฉทข้างบนเมื่อกี้อ่าน สรุปแล้วว่าท่านดับอะไร หมายเอาอะไรดับ สังขารดับ แต่คนที่ สังขารกายยังไม่ดับ รูปนามขันธ์ ๕ ยังมี สังขาร ไอ้ที่หมาย ก็ต้องอันนี้ เป็นปรมัตถ์ใช่ไหม เป็นจิต เจตสิก จิตใน เจตสิกใน อันนี้ สังขารนี้ คุณเจาะลึกเข้าไป เป็นลำดับๆ จนถึงสุดๆ ของสังขาร สังขารจิตอันนี้ได้ไหมล่ะ ถ้าได้นั่นแหละก็คือ คุณต้องรู้ ต้องเข้าใจ อันนั้นดับ เมื่อสังขารอันนั้นดับ นั่นคือ หมายเอาคำว่า วิญญาณนั่นน่ะดับ วิญญาณนั้น ไม่ได้รับอะไร ขันธ์ ๔ รูปขันธ์ก็คือสิ่งที่ถูกรู้ ย่อมรู้แล้วว่ามี ตาเห็นสีแดงก็ต้องแดง รูปเป็นสีเขียวก็ต้องเขียว รูปก็คือรูป ตามความเป็นจริงแล้วนะ อันนี้ความเป็นจริง ปฏิเสธไม่ได้ ปดไม่ได้ อรหันต์ก็ตาม ปุถุชนก็ตาม ตรงกันแล้ว แต่ไม่ตรงกันตรงนี้ เวทนาทำงาน รู้สึกได้ว่าแดงว่าเขียว สัญญากำหนดรู้ว่า นี่เขาเรียกว่าเขียว ภาษาไทยเรียก ภาษาอังกฤษว่า Green อะไรก็แล้วแต่ ภาษาจีนจะเรียกว่าอะไรไม่รู้ เขียว แชเหรอ แต่มันเป็นอย่างนั้น จีน ฝรั่ง ไทย ก็คือเขียวอย่างนั้น เวทนาเหมือนกัน สัญญากำหนดรู้แล้ว อย่างนี้เคยจำได้ อันนี้เขียว เขาเรียกว่าเขียว อันนี้ก็คือลักษณะอย่างนี้ เคยเห็นมาแล้ว เขียวอย่างนี้ เขียวแบบนี้เคยเห็นมาแล้ว สัญญากำหนดได้ แต่สังขารไม่มี

เพราะฉะนั้น วิญญาณนี้อะไรดับ วิญญาณดับหมายถึงสังขารของวิญญาณนี้ดับ วิญญาณนี้ ไม่มีสังขาร ก็เหมือนกันกับที่พูดบอกว่า วาจาดับเหมือนกับ เวทนาดับ สัญญาดับ ก็ดับเวทนา ดับสัญญา ทั้งสิ้น สัญญาเวทยิตนิโรธ เขาก็ไปแปลตรงเลยว่า เวทนาดับ สัญญาดับ พาซื่อน่ะ แต่ความจริงมันไม่ได้ดับ เวทนายิ่งรู้ เวทนาก็รู้ความจริงตามความเป็นจริง สัญญาก็รู้ ตามความเป็นจริง โดยพระอรหันต์ธรรมดานี่ มีสังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะนี่ ไม่ได้ดับ ตอนนี้ก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ถ้าท่านอธิบายอย่างนี้ ฤาษีก็ไม่ขัดขัอง พุทธก็ไม่ขัดข้อง เมื่อมาขยายความให้ฟัง แต่ยากเห็นไหม ตกลงวิญญาณนี้เป็น วิญญาณดับอะไร ที่จริงแล้วต้องเต็ม โดยปกติจะต้องมีเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ๓ เจตสิกนี้ทำงาน แล้วส่งให้วิญญาณ นี่คือวิญญาณ วิญญาณคือผลของเจตสิก ๓ แต่ตอนนี้ วิญญาณ ไม่ใช่วิญญาณนั้นแล้ว เพราะฉะนั้น จึงถือว่าวิญญาณนี้ดับ วิญญาณนั้นไม่เต็มเต็งแบบปุถุชน เพราะวิญญาณนี้ ไม่มีสังขาร วิญญาณนี้มีแต่เวทนากับสัญญา ตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรปรุง วิญญาณนี้ หมดสังขาร เลยเรียกว่าวิญญาณดับ ที่จริงสังขารดับ ตามที่ท่านว่าแล้ว หมายเอาสังขาร เป็นตัวดับไป ไม่ได้หมายเอาวิญญาณดับแท้ๆ เพราะว่าท่านยังไม่ตาย พระอรหันต์เจ้า ยังไม่ตาย วิญญาณยังไม่ดับหรอก ไม่ใช่วิญญาณแบบนั้นนะ วิญญาณัญจายตนสัญญาย่อมดับ อันนี้มีสัญญานะ สังเกตได้ว่า

ฟังดีๆนะ มีสัญญากำหนดรู้ด้วยนะ บอกแล้วว่าของพระพุทธเจ้าไม่ใช้คำว่าฌาน ใช้คำว่าสัญญาดับ ไม่ใช่ใช้คำว่าฌาน แต่เป็นฌาน เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญา ย่อมดับ อย่างที่ตั้งข้อสังเกตไว้ให้ฟังแต่ต้นแล้วว่า ดับสัญญานั้น สัญญาอย่างนี้ คือกำหนดรู้อันนี้ ให้ชัดเจน เพราะฉะนั้น สัญญาดับอันนี้ ไม่ใช่สัญญาดับสัญญาทั้งหมด แต่ดับสัญญาที่มีนัย ละเอียด นัยอากาสา นัยของวิญญาณัญจา นัยของอากิญจัญญา นัยของเนวสัญญานาสัญญายตนสัญญา อย่างนี้แหละ มันละเอียดลออ แล้วมันก็อย่างนี้แหละ แล้วมันก็ต้องตัด มันไม่มีบุญนะ

เอาละ นี่ก็สรุปๆไปเลยนะ วันนี้ไล่ไปจนกระทั่ง เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาย่อมดับ เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาย่อมดับ ท่านพูดถึงสัญญา และเวทนาย่อมดับแล้วนะ แล้วก็จบด้วย ราคะ โทสะ โมหะของภิกษุผู้สิ้นอาสวะ ย่อมดับ ฯ

นี่ก็จบตรงนี้ นี่อธิบายไว้คร่าวๆก่อน แต่ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องอธิบายกันอีก แล้วก็ไม่ใช่เข้าใจ ได้ง่ายๆ แล้วก็ถ้าเผื่อว่ามีสภาวะแล้ว ก็จะเถียงได้ เพราะฉะนั้น เราไม่แย้งกับใคร เขาจะมา อธิบายว่า เขาจะมาบอกยืนยันว่านี่ตำราอย่างนี้ ต้องอย่างนี้ถูก ก็แล้วแต่คุณจะเลือกเอาอย่างนั้น หรือเลือกเอาอย่างนี้ อย่างที่ผมอธิบายกับอย่างที่ทางฤาษีไม่ได้อธิบายด้วย แต่เข้าใจเอาเอง ตามภาษา ภาษามีเท่านี้ ไม่มีภาษาอธิบายมากกว่านี้ ในพระไตรปิฎกทั้งหมด ไม่มีอธิบายมากกว่านี้ มีเท่านี้ เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะเชื่ออะไร ก็แล้วแต่ใครนะ อันนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง


จัดทำโดย โครงงานถอดเท็ปฯ
ถอดโดย ศิริวัฒนา เสรีรัชต์ ๒๕ เม.ย.๓๗
ตรวจทาน ๑ โดย เพียงวัน ๑๘ มิ.ย.๓๗
พิมพ์โดย สม.นัยนา มาบรรจบ
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๔ ก.ค.๓๗
เข้าปกโดย สมณะพรหมจริโย
เขียนปกโดย พุทธศิลป์

file:4085.tap