สร้างครู...สร้างคน
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๔
ณ พุทธสถานปฐมอโศก


ขบวนการอโศกก็ดำเนินไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่มีอะไรขึ้นมาอีกเพิ่มเติม ที่เพิ่มเติมนี้ ก็หมายความว่า เราได้จัดให้มันเป็นระบบ ให้มันมีอะไรที่พัฒนาขึ้นด้วยวิธีการ เราเป็นสังคมกลุ่ม ขึ้นมา แล้วก็จะมีคนมากขึ้น เมื่อมีคนมากขึ้นๆๆ มันก็ต่างความเห็น ต่างจริต ต่างนิสัย ก็จำเป็น ที่จะต้อง มีการกำหนด มีการกระทำ การบอกกล่าวกัน กระทำรูปแบบ กระทำกรอบ โดยการกำหนด ลงไป ให้ได้ว่า จะต้องทำอย่างนั้น จะต้องทำอย่างนี้กันนะ มันถึงจะเป็นรูปเป็นรอย เป็นร่องเดียวกัน แล้วก็ได้เป้าหมาย ได้เนื้อหาตามที่เราประสงค์เราต้องการ ก็จะดำเนินกันไปได้ เพราะว่าคนเรา มันไม่เหมือนกันแน่นอน มันมีอะไรต่ออะไรต่างกันทั้งนั้น หนึ่งคน พอสองต่างกันแล้ว ต่อให้เป็น พระอรหันต์ด้วยกันก็ต่างกัน ไม่มีอะไรเลยที่เหมือนกันในโลกนี้ เคยยืนยันมาแต่ไหนๆ ปรมาณูหนึ่ง สอง พอมีสองหน่วยขึ้นมา ก็ไม่เหมือนกันแล้ว ตั้งแต่ปรมาณู จะเล็กกว่าปรมาณูก็ตาม ก็ไม่สามารถ ที่จะเหมือนกันได้น่ะ

เพราะฉะนั้น ในความไม่เหมือนกันนี่แหละ เราก็จะต้องอยู่ด้วยกัน สัมพันธ์กัน ประสานกัน มีประโยชน์ร่วมกันให้ได้ อโศกเราค่อยๆเป็นไป จนกระทั่ง เราก็ได้เจริญขึ้นมา มาอยู่รวมกัน มีระบบ เป็นโรงเรียน ซ้อนโรงเรียนกันขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วอาตมาก็เคยกล่าวแล้วว่า มันไม่ใช่โรงเรียนธรรมดา หรอก ของเรานี่มันเป็นมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต แล้วเราก็จะเรียนไปอีกกี่ชาติๆ เกิดมา เกิดมาเพื่อเรียน ที่จริงน่ะ ไม่ใช่อะไรหรอก

ทีนี้การเรียน ก็มีครู มันเป็นครูตั้งแต่ธรรมชาติ อย่างสัตว์ สัตว์เดรัจฉานทั้งหลายแหล่นี่ มันพูดไม่เป็นหรอก ไม่ได้สอนกันแบบมานั่งสอนอย่างนี้ๆหรอก แตมันก็สอนกัน สอนด้วยกายกรรม สอนด้วยสำเนียง เสียงด้วยสัตว์มีเสียงมีอะไร ก็มีบ้างน่ะ ใช้เสียงก็สอนกัน แต่ว่ามันไม่มีภาษา อะไรมาก คนเรา เรานึกว่าการสอน มีแต่ทางทางด้านภาษา ทางด้านวจีกรรม ทางด้านคำพูด ที่จริงสอนกันทุกอย่าง สอนแม้แต่ทำให้ดู ด้วยกิริยา ด้วยกายกรรม ถ้าจะว่ากันจริงๆแล้ว ในความลึกซึ้งแล้ว แม้แต่การคิดก็คิด เป็นครูกันด้วย คิดอย่างไร ก็สอนกันในทางความคิดด้วย ถ้าเราบอกว่า เราคิดอย่างไร แล้วเรามาเอามาบอกคนอื่น คนอื่นฟังแล้ว เออ คิดอย่างนี้ดี แล้วเราก็คิดตาม แล้วก็สอนให้คิด ก็จะคิดเหมือนๆกัน ทีนี้ ถ้าเรายิ่งสามารถรู้อารมณ์ที่ละเอียด รู้ความนึกคิด รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมขึ้นไปได้อีก ก็แสดงสภาพนามธรรม มันก็จะบอกในสภาพ นามธรรมได้มาก หรือได้น้อย ถ้าสามารถรับได้มาก มันก็ทำตาม หรือไม่ทำตามกันอย่างมากแหละ ถ้าใครศรัทธา หรือใครเห็นดี ก็เอาตาม ถ้าใครไม่เห็นดี ก็ไม่เอาตาม

เพราะฉะนั้น การเป็นครู ก็คือพยายามทำให้เขาเห็นดี นั่นก็อย่างหนึ่ง สำหรับคนที่จะศรัทธา เลื่อมใสกัน ทีนี้มันมีภาวะซับซ้อน มีภาวะทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ถ้าเผื่อว่า อะไรมี ๒ ด้าน ความเฉลียวฉลาดของคน ก็จะพยายามที่จะอยากให้คนที่เขาไม่ยินดีในเรา แล้วเขาเป็นคนที่จะต้อง ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ ทำตัวเป็นผู้ตรงกันข้ามอยู่เรื่อย เขาก็ใช้จิตวิทยาว่า ถ้าเราต้องการจะให้เขา เห็นดีในเรานี่ เราจะต้องแสดงสิ่งที่ตรงกันข้ามให้กับเขาน่ะ พยายามที่จะทำสิ่งที่ตรงกันข้าม พอทำตรงกันข้าม คนนั้น เขาก็จะมาทำสิ่งที่เราต้องการ นี่เป็นจิตวิทยาอันหนึ่ง ที่ง่ายๆ ตื้นๆ

เพราะฉะนั้น อะไรที่มี ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเป็นอย่างนี้ เราต้องการอย่างนี้ แต่คนนี้เรารู้แล้วว่าคนนี้ มันประเภทตรงกันข้ามเรา เพราะฉะนั้น เราก็จะแสดงอีกสิ่ง ที่ตรงกันข้ามที่เขา...ไม่ เราต้องการอันนี้ เราก็ต้องแสดง อีกอันหนึ่งไปให้แก่เขา ว่าเราเห็นดีอันนี้ เราอะไรอันนี้ แป๊บเดียว เขาก็ต้องมาเอาอันนี้ นี่เป็นจิตวิทยาตื้นๆ จิตวิทยาธรรมดาๆ ที่คนใช้อยู่เป็นสามัญ จะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว มีมากมีน้อย มีบ้าง ถ้าคนที่รู้ตัวดีๆ ก็ควบคุมได้เลย แล้วก็ใช้วิธีนี้เลย มีอยู่ในโลก วิธีการธรรมดาๆ นี่ก็วิธีของครูที่จะสอน

๑. สอนให้ยินดี

๒. แม้เขาไม่ยินดี รู้ว่านิสัยจิตใจเด็ก ไม่ยินดีในสิ่งนั้น ก็จะใช้วิธีตรงกันข้าม เช่นว่า แม่สอนลูก เป็นวิธีตรงกันข้ามนี่ ลูกกลัวผี หรือกลัวตุ๊กแก อย่างนี้ เป็นต้น และต้องการให้มาหาเรา แล้วลูกไม่ค่อยมา อย่างนี้เป็นต้น เอาไปใช้ ตื้นๆ เราบอกโน่นตุ๊กแก ลูกก็วิ่งมาหาเรา อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เป็นลักษณะง่ายๆ เอาอะไรที่เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เขาไม่ต้องการ แล้วเราก็จะได้ สิ่งที่ต้องการ หรือบางทีเด็กไม่ชอบกินบางอย่าง ก็ใช้วิธีให้เขากินโดยที่เขาไม่ชอบ ก็ต้องหาวิธี อะไรเขาชอบหรือไม่ชอบ ก็กลับกันอย่างที่ว่านี้น่ะ วิธีการสอนง่ายๆ วิธีการสอนง่ายๆ

ทีนี้ ครูที่ดี สูงขึ้นไปกว่านั้น ก็สอนลึกซับซ้อนหลายชั้น ทีนี้ การจะสอนลึกซึ้งหลายชั้น ก็ต้องมีความรู้ จริงๆ รู้ในลูกศิษย์ รู้ในคนที่จะสอนว่าเขาเป็นคนอย่างไร ธรรมดาคนเรา มีความฉลาดอยู่ในตัว เท่าที่ตัวเองฉลาด แล้วก็รู้ทัน อยู่ด้วยกันไป ก็จะรู้ทันกันไปเรื่อยๆ เสมอๆๆๆ เพราะฉะนั้น เมื่อเวลาครู หรือว่าผู้ใหญ่ ที่ต้องการจะให้อีกคนหนึ่งเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อรู้ว่า ผู้นั้นรู้ทันมากขึ้นๆ ก็จะต้องใช้วิธีกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา กลับไปกลับมาเรื่อย โดยที่จะต้องรู้ทันเขาว่า เขารู้ทัน แล้วเราจะต้องใช้ ให้ถูกเหลี่ยมทุกทีไป จึงจะได้ผล ถ้าไม่เช่นนั้น ก็ไม่ได้ผล

ลักษณะดังกล่าวนี้แหละ คือลักษณะที่ซับซ้อนกลับไปกลับมา ที่ซับซ้อน หรือ ลึกซึ้งขึ้นไปทุกทีๆๆๆ วิธีการสอนก็ง่ายๆ อย่างนี้ แต่ว่าซับซ้อนเข้า ยาก ยากตรงที่ว่า เราจะต้องรู้ความจริง ของผู้ที่ เราจะสอน ว่าเป็นอย่างไรกันแท้ ตอนนี้รู้ทันอะไรแล้ว รู้ตัวอะไรแล้ว สำหรับผู้ที่เป็น ผู้ที่มีภาวะ ตอบโต้ ภาวะย้อนแย้ง ทีนี้ยิ่งทางด้านครูทางธรรมนี่ สำคัญมาก ครูทางธรรม สำคัญตรงไหน สำคัญตรงที่ว่า ถึงแม้จะเต็มใจ นักเรียนจะเต็มใจมาเรียน แต่นักเรียนคือคู่ต่อสู้ที่ไม่ต้องการ กิเลสนี่ มันไม่ต้องการ ที่จะตามทุกคนไป

เพราะฉะนั้น ครูธรรมดาในโลก กับครูทางธรรม จึงยากกว่ากันมากมาย เพราะฉะนั้น ครูทางธรรม จะต้องใช้วิธี ตีกลับเยอะ เยอะ แต่ไม่ใช่หมายความว่า ใช้วิธีตีกลับทั้งหมด แต่ใช้วิธีตีกลับเยอะ เพราะกิเลสมันรู้ตัว มันรู้ทัน มันไม่เอาทุกตัว กิเลสในคนนี่ กิเลสคือตัวปฏิปักษ์ต่อความดีงามทั้งนั้น กิเลส ปฏิปักษ์ต่อความดีงามทั้งนั้น กิเลสมันรู้ตัวเมื่อใด เจ้าตัวไม่รู้ตัวเมื่อนั้น ฟังไว้ กิเลสมันรู้ตัว เมื่อไหร่แล้ว เจ้าตัวไม่รู้ตัวเมื่อนั้น

เพราะฉะนั้น หลักการของการสอนธรรมะ จึงให้รู้ตัวทั่วพร้อม ให้รู้ตัวทั่วพร้อมเสมอๆๆ ให้คนรู้ตัวทั่วพร้อม แล้วก็สอนให้เข้าใจ แล้วเขาก็เชื่อถือ ศรัทธา เขาก็จะเอาตาม พยายามที่จะรู้ตัว เพื่อที่จะไม่ให้ตัวกิเลส มันเป็นตัวกิเลสดื้อ มันเป็นตัวกิเลสที่ไม่รู้ตัว เพราะถ้ามันเป็นตัวกิเลส ที่ไม่รู้ตัวแล้ว เสร็จมัน ทุกทีไป สติจึงเป็นตัวเอกที่สุด เป็นตัวที่จะต้องรู้ตัว จึงจะปฏิบัติหรือประพฤติ หรือว่ากระทำ เป็นนักเรียนที่เจริญได้ ถ้าไม่มีสติ การปฏิบัติธรรมไม่ได้เดินหน้า สติจึงเป็นตัวนำ เสมอเลย เวลาตัวปฏิบัติทุกตัวไป โพธิปักขิยธรรม สติจึงเป็นเอก เป็นหนึ่ง เป็นตัวแถวหน้าเสมอ

ทีนี้ เด็กๆนี่ แกไม่ค่อยเดียงสา โลกมีอำนาจ สิ่งแวดล้อมมีอำนาจ แล้วก็กิเลสก็มีอำนาจ เด็กเกิดมา ก็เกิดมา ด้วยอำนาจของกิเลส แล้วก็เป็นคนที่ยังไม่ได้ยินได้ฟังอะไร ก็เป็นกิเลสเสียส่วนเยอะ กิเลสที่ว่านั้น อาตมาเห็นตรงกันข้ามกับทางด้านท่านพุทธทาส ว่า เด็กเกิดมา เขาบอกว่า เด็กเกิดมาบริสุทธิ์ อาตมากลับเห็นว่า เด็กนี่คือเด็ก เกิดมาแล้ว มีกิเลสบริสุทธิ์ที่สุด มีกิเลสเต็มๆ ที่สุด แต่ว่า แกจะใช้กิเลสออกมา เรื่อยๆ เรื่อยๆ กิเลสเรื่อยๆๆๆ เพราะฉะนั้น เด็กแกจะเริ่มมีกิเลส ขึ้นมาเรื่อยๆๆ แล้วไม่ปิดบัง ไม่อำพราง ไม่ปิดบัง ไม่อำพราง โตขึ้นๆ ก็จะรู้ตัว แล้วก็จะอำพราง กิเลสขึ้นไปเรื่อยๆ โตขึ้นก็อำพรางกิเลสไปเรื่อยๆ การอำพรางจะบอกว่า เป็นกิเลสซ้อนก็ไม่ใช่ตัวกิเลส แต่เป็นตัวฉลาด เป็นตัวกลบเกลื่อน แต่ที่จริง ตัวกลบเกลื่อนก็เป็นตัวเลวตัวหนึ่ง ตัวกลบเกลื่อน ก็เป็นตัวเลวตัวหนึ่ง คือเป็นสัญชาติของธรรมดาคน

เด็กๆมีกิเลสอะไร แกจึงแสดงออกมาซื่อๆ เรารู้ได้ เพราะกิเลสก็คือ ตัวเด็กก็คือเกิดมา แกก็มีกิเลส แกก็มีกิเลสอะไร แกก็มีอย่างนั้นล่ะ แกเป็นคนเจ้าขี้โมโห แกก็จะโมโห ขี้โกรธ แกจะโกรธ ขี้อยาก อยากนั่น อยากนี่ ก็จะอยาก ต้องการอะไร ก็จะทำสดๆ ไม่พราง ไม่ซ่อน ไม่พราง ไม่แฝง แล้วจะเกิดได้ ตามสรีระ ที่มันมีเซลล์มีประสาท มีองคาพยพ ให้แกแสดงกิเลสน่ะ เช่น เด็กโต ขนาดหนึ่ง ก็จะต่างกับเด็กที่เล็กขนาดหนึ่ง เด็กเล็กขนาดหนึ่ง แกก็จะแสดงกิเลส ของแกได้ ขนาดหนึ่ง ต้องการขนาดหนึ่ง พอโตมาอีกขนาดหนึ่ง เซลล์ประสาทองคาพยพ ส่วนอวัยวะ ส่วนอะไรต่ออะไรของแก มีอีกขนาดหนึ่ง แกก็จะต้องการ อีกขนาดหนึ่ง ถ้าแกไม่เป็นผู้ที่ได้รับ การพราง เพราะยิ่งโต ก็ยิ่งมีการพราง การฉลาดพราง การฉลาดพรางนี่ สอนกันโดยปริยาย ในโลกสอนกัน เอาอย่างกันโดยปริยาย กิเลสนั่นมันแสดงออกมากับอวัยวะด้วย กับองคาพยพ ของชีวิตด้วย

เพราะฉะนั้น เด็กยังไม่โต ความรู้สึกนึกคิด ฮอร์โมน หรือมีอะไรต่อ อะไรต่างๆนานายังไม่มี มันก็ยังไม่แสดง พอมี มันจึงแสดงขึ้นมา มันจึงใช้ตัวนั้นออกมา ที่จริงน่ะ กิเลสมาพร้อมทั้งหมด แต่มันจะปรากฏกิริยา หรือไม่ปรากฏกิริยาได้แสดงออกมาได้ ก็เพราะมันมีอวัยวะ มีเครื่องมือ มีองค์ประกอบ ให้เขาออกมาทำ ออกมาแสดงได้ ก็จึงแสดง เสร็จแล้ว ก็พรางกันเรื่อยๆ ยิ่งโต ก็ยิ่งพราง

เพราะฉะนั้น เด็กๆ เราจะเห็นกิเลสได้ชัด เราเห็นกิเลสได้ชัด แต่ทีนี้มันซับซ้อน คนเราชอบ ความจริงใจ เมื่อเด็กๆ แสดงความจริงใจ แสดงอะไรออกมาซื่อๆ เราก็เลยเอ็นดู ทั้งๆที่ มันแสดง กิเลส มันอยากอะไร มันจะโกรธมันก็โกรธ เราไม่โกรธละ ถ้าเด็กโกรธๆนี่ไม่โกรธ แต่ถ้าผู้ใหญ่โกรธ โกรธ ผู้ใหญ่โกรธแล้วอำพรางนะ เหมือนกับอย่างพวกเรา ก็มาเป็นนักปฏิบัติธรรม เมื่อมาเป็น นักปฏิบัติธรรม พอเราทำผิดธรรมะหน่อยหนึ่งนี่ ถือสามากมายเลยน่ะ ถ้าไม่ใช่นักปฏิบัติธรรม ทำผิดอย่างนี้นะ ก็ธรรมดา เรื่องธรรมดา ยิ่งเรายกว่าสูง ยกว่าผู้ใหญ่ ยกว่าดี ยกว่าสะอาดเท่าไหร่ จุดเปื้อน หรือจุดไม่ดีเล็กๆ น้อยๆ เราก็รู้สึกว่า มัน แหม มันทำลายม้ากมาก นัยอย่างนี้ ลักษณะอย่างนี้ ก็คล้ายๆกันกับลักษณะของเด็ก ที่เราเห็นว่า แกแสดงกิเลส แล้วก็ไปเอ็นดู พอผู้ใหญ่แสดงกิเลส แล้วก็น่าเกลียด คล้ายกัน แล้วนี่บอกเรื่องการจะต้องไปเรียนรู้ ว่าเรียนรู้เด็ก เรียนรู้ผู้ใหญ่ เรียนรู้อะไรต่ออะไรต่างๆนานา ก็บอกคร่าวๆ เราก็เรียนรู้ จะต้องเรียนรู้ผู้อื่น

เพราะฉะนั้น ครูนี่จะต้องรู้ผู้ที่เราจะสอน ต้องรู้เขาให้จริง นะ ครูต้องเป็นผู้มีปรารถนาดี ไม่โกรธ นี่เป็นหลักสำคัญที่สุดเลย ครูนี่ สำคัญมาก ตรงที่ไม่โกรธให้ได้ มันเป็นการปฏิบัติตัว แล้วพวกเรา เป็นครูพุทธธรรม ปฏิบัติตัวเราด้วย เราได้ลดความโกรธ เราก็ได้ปฏิบัติตัวเรา แล้วเราก็จะเป็นครู ที่ดีมาก ครูที่สอนดี อะไรต่างๆนานา ขี้โกรธนี่ ไม่มีใครจะรัก ไม่มีใครจะเข้าใกล้ เพราะฉะนั้น ครูเอง อาจจะเมื่อย เพราะจะต้องตามหาลูกศิษย์เอง เพราะเด็กไม่เข้าใกล้ตัวเอง ตัวเองจะต้องเดินตามหา ลูกศิษย์เพื่อสอน แล้วครูจะเมื่อย ตัวเองเมื่อย เพราะฉะนั้น ถ้าครูนี่ เป็นคนใจไม่โกรธ จะเรียกว่า ใจดีก็ไม่ถูก ประเดี๋ยวใจดี ประเดี๋ยวจะไปกันใหญ่ ใจดีมันอีกเรื่องหนึ่ง ครูที่ไม่ขี้โกรธ จะต้องมี สติสัมปชัญญะ แล้วก็จะรู้จักการพูด จะพูดดีอย่างไรก็แล้วแต่ พูดมีเหตุผล พูดมีสติ ก็พูดดี ทั้งนั้นแหละ ดีไม่ดี บางคนพูดหวานด้วย ครูบางคน เด็กก็จะมาหา เด็กก็จะเข้ามาหา นักเรียนน่ะ ไม่ใช่แต่เด็ก ผู้ใหญ่เหมือนกันล่ะ ก็อยากเข้าใกล้ ก็ไม่ต้องวิ่งตามหานักเรียน ก็ลดความเมื่อยลงไปได้ แล้วเราก็จะได้ทำงานมาก เพราะจะมีนักเรียนมา ให้เราสอนเรื่อยๆ มากๆ นี่ก็เป็นเรื่องวิธีง่ายๆ แต่ก็เป็นวิธี ที่เราจะต้องรู้ เป็นวิถีที่เราจะต้องรู้

ความไม่โกรธนี่ อาตมาอยากจะขอกำชับกำชา อยากจะขอย้ำกันให้ดีๆ เราเป็นนักปฏิบัติธรรม ในเรื่องโกรธ ก็เคยบอกแล้วว่า เรื่องโกรธ ไม่มีอะไรดีเลย คำว่าโกรธ ไม่ใช่คำหยาบๆน่ะ ไม่ใช่แค่ว่า แหม วูบวาบแล้ว เปรี้ยงปร้างแล้ว ไม่ใช่ ความไม่ชอบใจ แม้นิดแม้หน่อย อรติ จิตที่มันอึดอัด ขัดเคือง หม่นหมอง มันไม่สบายใจ มันไม่อะไร ทั้งหมดนี่แหละ ทั้งสายเลย หยาบ กลาง ละเอียด โทสมูลจิต มันไม่ใช่เรื่องดีอะไรเลยในมนุษย์ มันเป็นกิเลส จริงๆ แล้วเป็นกิเลสตัวไม่ดี ตัวเลว ตัวร้าย ขจัดมันออกไปเลย เกิดในใจ เมื่อไหร่ ไม่ต้องหาเหตุผลให้มันเลย ขจัดมันออกได้ด้วยวิธีใดๆ เอามันออก ไม่ต้องหาเหตุผลว่า จะต้องเอามันไว้ เอามันไว้ในใจ เอามันไว้ในอารมณ์ ไม่ต้องมีเหตุผล ว่าจะเอามันไว้ในอารมณ์ ไม่ต้องอาศัยมันเลย ถ้าโลภ หรือว่าความต้องการ ความประสงค์ ความอยากอะไรพวกนี้ เราจะต้องใช้ โดยสัจจะ ของมัน เราจะต้องใช้ ในลักษณะต้องการนี่ เราต้องใช้ ในคนนี่จะต้องมีความประสงค์ ความปรารถนา ความต้องการ ต้องมีฉันทะ ต้องมีความปรารถนา ความต้องการ ต้องมี ต้องใช้ หมดกิเลสยังไงๆ ก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็จะต้องใช้ หมดกิเลสแล้ว ก็อาศัย เหมือนกับพระอรหันต์แล้วนี่ ท่านสูญแล้ว ท่านไม่มีอะไรของเราแล้ว แต่ท่านก็มีร่างกายเป็นของท่าน ต้องอาศัยส่วนในเรื่องวางนั้น เป็นเรื่อง คุณลักษณะพิเศษ คุณลักษณะสมบูรณ์ คุณลักษณะของพระอริยะอันวิเศษสุด ผู้ใดทำได้จริงๆ ตรงจริงๆ คนผู้นั้นก็ได้ ต้องอาศัย ฉันเดียวกัน ความปรารถนานี่อาศัย เท่านั้นเอง แต่ความโกรธไม่ต้องอาศัย แม้เราจะ ทำลีลา กายกรรม วจีกรรม เป็นลักษณะโกรธ ปรุงวจีกรรม เป็นภาษา เหมือนภาษาดุ ภาษาฟังแล้ว เหมือนคนเข้าใจว่าเป็นดุ กิริยากายเหมือนโกรธ หน้าบึ้ง หน้าเข้ม หรือทำท่ายกไม้ยกมือ อะไรก็แล้วแต่ จะตี อะไรอย่างนี้เป็นต้น ทำท่าอย่างนั้น โดยจิตไม่มีโกรธ ไม่มีชัง ไม่มีแค้น ไม่มีเคือง ไม่มีไม่ชอบใจ ในความไม่ชอบใจ ก็ไม่มีในใจ ในอารมณ์เลยจริงๆ แล้วก็ทำได้โดยไม่ต้องมีสิ่งที่ว่า โทสมูล ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด ทั้งหมด ไม่ต้องมีเลยก็ทำได้ ขอยืนยัน ทำได้ อย่ามาแก้ตัวว่า ตัวเอง จะต้องสอนด้วย ต้อง... นี่ไม่ทำลักษณะโกรธ ไม่ได้หรอก มันไม่กลัว....ไม่ได้ อย่ามาแก้ตัว อย่ามาแก้ตัว ว่าจะต้องเลี้ยงความโกรธเอาไว้ ด้วยเหตุผลแค่อย่างนี้ อย่ามาแก้ตัวน่ะ ไม่จำเป็นเลย เราจะแสดงได้น่ะแสดงได้ เราจะไม่รู้สึกโกรธ ไม่รู้สึกอะไรต่ออะไรหรอก ไม่มีอารมณ์โกรธ ไม่มีเลย จริงๆ แต่เราแสดงได้ แสดงวาจา แสดงกายกรรมโกรธ เหมือนโกรธน่ะ ลักษณะที่แรงๆน่ะ เหมือนกับจะทำร้าย เหมือนกับไม่ชอบใจ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แสดงออกเหมือนไม่ชอบใจ แสดงได้ โดยไม่ต้องมีกิเลสโกรธอยู่ในใจเลย มันฉันเดียวกันกับความปรารถนา ความต้องการน่ะ

ที่จริงนี่ คนที่ไม่ต้องการ อยู่เหนือความต้องการแล้ว แต่ยังมีงาน ยังมีความสัมพันธ์ ยังมีความเกี่ยวข้อง ที่จะต้องมีสิ่งนั้นๆขึ้นมา ที่ต้องพูด ก็ต้องกระทำ อาการเพื่อที่จะทำสิ่งนั้น เอาสิ่งนั้นขึ้นมา คนเขาเห็นว่า ไอ้นี่อยากได้อยู่ ต้องการอยู่ ทั้งๆที่ไม่ต้องการ นี่ซ้อนเชิง ไม่ได้ต้องการ มาให้แก่เรา แต่คนดูไม่ออก แล้วอันนี้น่ะ ดูยาก ซ้อน ยาก ถ้าเผื่อว่า นี่มันใกล้สูง นี่มันใกล้ตัวน่ะ มันยิ่งซ้อน ยิ่งดูยาก นี่เป็นความลึกซึ้งของคุณธรรม ที่มันยังอยู่ในรูปของกายกรรม วจีกรรม แม้มโนกรรมไม่มี เป็นอัตตา เป็นอัตนียา อัตตาไม่มีตัวตน ไม่มีอัตตา ไม่มีอัตตา เป็นอนัตตา ไม่มีอัตตาแล้ว ไม่มีอัตตนียาแล้ว ไม่มีของตน ไม่มีตัวตนแล้ว แต่คนนั้นก็ยังมีกรรมกิริยา ที่เหมือน เกี่ยวข้อง เหมือนเป็นตัวเป็นตนอยู่ อันนี้ใครๆ ก็บอกกันไม่ได้น่ะ ใครๆจะไปเดาเอาของใครไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เป็นครูนี่ ระวัง โดยเฉพาะเป็นครูทางพุทธธรรม บอกแล้วว่า การสอน เราไม่ได้สอน แต่เฉพาะวาจาภาษาเท่านั้น เราสอนทั้งกายกรรมด้วย เราทำอะไร เขาก็ทำตาม เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่โกรธเลย เราจะทำให้เด็กนี่ สอนแกก็ง่าย ลีลาไม่โกรธ เวลาจะทำโกรธจริงๆ มันก็โกรธ ไม่ได้ดีเท่าไหร่หรอก คนไม่โกรธในใจจริงๆนี่ แม้จะแอ๊คโกรธยังไงๆ มันก็โกรธไม่ได้ดีเท่าไหร่หรอก แสดงท่าโกรธ อะไรก็โกรธ ไม่ค่อยได้ ไม่เก่งน่ะ ไม่เก่งจริงๆ เพราะฉะนั้น การสอนกัน เราก็สอน ตัวเราด้วย ว่าเราจะต้องลดความโกรธ และเราก็จะต้องสอน ดุ จะว่าหรืออะไร บางสิ่งบางอย่าง ที่จะให้ ลักษณะสอน บางทีให้กลัวด้วย ก็อย่าพยายามใช้ความไม่ชอบ อย่าพยายามใช้ความโกรธ อะไร เข้าไปในใจให้ได้ แล้วอะไรๆ จะไม่เลวร้าย ถ้ามีความโกรธ ความไม่ชอบลงไปในใจแล้ว เลวร้าย แล้วไม่งาม กระด้าง

เพราะฉะนั้น ใครที่มีโทสะ เป็นคนโทสจริต จะเห็นได้ว่ามันไม่ค่อยงาม คนโทสจริต มันไม่งาม มันน่าเกลียด มันกระด้าง มันแข็ง มันอะไรต่ออะไรต่างๆนานา เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใด รู้ตัวว่า เรามีจริตอย่างนี้ แล้ว จะต้องพยายาม พยายามปรับให้ดีๆ การจะเป็นครูนี่ เรื่องนี้ ระวังที่จริงทางโลก ก็เหมือนกันละนะ แต่ว่าทางโลกมันหยาบมาก เขาก็เลย บางที เขาก็ไปชอบครูที่โกรธๆเก่งๆ ดุๆ มีอยู่เหมือนกัน เอาละ อาตมาคงจะขยายความในเรื่องของครูนี่มากไม่ได้ อยากจะพูดถึงบทบาท อยากจะพูดถึงว่า นโยบาย หรือวิธีของครูของพุทธธรรมเรา เราจะทำกันแค่ไหน เราจะทำกัน อย่างไร

ครูของเรา มันต่างจากครูทางข้างนอกเขา ตรงที่ว่า ครูของเราไม่ใช่ครูรับจ้าง ไม่ใช่ครูโดยการจะต้อง มีวุฒิทางโลก จะต้องมีอะไรแบบโลกๆ โดยเฉพาะวุฒิที่เรียนมาทางโลก ครูของพวกเรา ไม่ต้องมี อย่างนั้นก็ได้ นี่เป็นเรื่องต่าง แล้วอาตมาก็ขอยืนยันว่า ครูที่ไม่มีวุฒิทางโลก ที่จะมาเป็นครูสอน นักเรียนพุทธธรรมนั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นคนไม่มีคุณค่าของครู หรือมีคุณค่าของครู เท่าเทียมกับ ครูที่สอบวุฒิมาไม่ได้ ขอยืนยันว่าไม่ใช่ เพราะฉะนั้น หลายๆคน ได้วุฒิของครูมา แล้วก็มาเป็น ครูพุทธธรรม ก็อย่าพึงไปดูถูกดูแคลน อย่าพึงไปคิดว่า โอ๊! คนนี้ไม่ได้ไปเรียนครูมา ดีไม่ดี เรียน ป. ๔ ด้วย จบแค่ ป.๔ ด้วย

ต้องระลึกเสมอว่า โรงเรียนเรานั้น ครูพุทธธรรม โรงเรียนพุทธธรรม ไม่ใช่โรงเรียนสอนวิชาเลขคณิต สอนวิชาวิทยาศาสตร์ สอนวิชาเทคนิค สอนวิชาภาษาอังกฤษ สอนวิชาอะไรอย่างโลกๆ ไม่ใช่

เพราะฉะนั้น ครูบางคน อาจจะอ่านหนังสือไม่ออกเลยสักตัว ก็เป็นครูพุทธธรรมได้ดี เป็นครูพุทธธรรม สูงกว่าดอกเตอร์ก็ได้ อ่านหนังสือไม่ออกสักตัวนี่แหละ อย่าลืมว่า นี่คือนักเรียนพุทธธรรม เพราะฉะนั้น คำว่าครูในโรงเรียนพุทธธรรม จึงจะต้องเข้าใจให้ชัดเจน อย่าลืมตัว อย่าหลงตัว ว่าเราเรียนครูมา แล้วเราก็เลยมีมานะ มีอัตตาอะไรในใจของเราว่า เออ เราเรียนครูมา เราก็มาสอนนักเรียน แต่ได้ประโยชน์ตรงที่ว่า เคยเรียนวิชาครูมา เมื่อเรียนวิชาครู ก็มีวิธีการ เข้าใจวิธีการ

เพราะฉะนั้น ครูที่ไม่ได้เรียนวิชาครูมา ก็จะต้องเข้าใจว่า อันนี้เรา ต้องพึ่งพาอาศัย ผู้ที่เขาเรียนมา โดยหลักการ โดยวิธีการ โดยวิชาการ เราต้องมีวิธีการในการจะทำยังไงกับคน หลายๆคน กับระบบวิธีต่างๆ ที่จะจัดการโน่นนี่ๆ อะไรต่ออะไร หรือแม้แต่ได้เล่าเรียนมา รู้จักว่าจะต้องทำอันนั้น อันนี้เป็นลำดับต้น ลำดับกลาง ลำดับปลาย มีกิจลักษณะอย่างโน้นอย่างนี้ อะไรพวกนี้ อันนั้น ผู้ที่ เรียนวิชาครูมา ก็จะได้เรียนมาเป็นหลักสูตรวิชาการ ก็เป็นรูปธรรม เป็นรูปแบบ ก็ดีน่ะ ก็อาศัยกัน แล้วเราก็ไม่ได้มาเน้นมากมาย ในเรื่องของวิชาทางโลก เพราะเด็กเขาก็ไปเรียนครู อย่างทางการ แบบทางโลก ที่เขาจะเรียน เพราะฉะนั้น ครูอย่างนั้น ก็ครูอย่างหนึ่ง

ทีนี้ ครูพุทธธรรมเราก็ครูอย่างหนึ่ง แม้ว่าจะอาศัยวิชาบางวิชาที่ซ้ำซ้อนกับโลกเขา ทางโลกเขาก็เรียน ทางเราก็เรียน ทางเราเอามาสอน เอามาใช้ วิชาเดียวกัน มีอะไรบ้างเป็นต้น ที่สอนอยู่ในโรงเรียน พุทธธรรมน่ะ จริยศึกษา ข้างนอก ที่เราสอนอยู่ วิชาที่เราสอนน่ะ จริยศึกษา มีอะไรบ้าง หา หัตถศึกษา จริยศึกษา นั่นแหละ วิชาพวกนี้ทางโลกเขาสอน และเราก็เอามาสอน มันซ้อนกัน ข้างนอกเขาก็สอน เราก็สอน มันต้องมีอะไรอาศัยอันหนึ่ง เมื่อเราสอนแล้ว เราก็จะให้ความรู้ ทางด้านศีลธรรม ทางด้านคุณธรรมอะไรพวกนี้ สอนกันไปให้ดีๆ ที่จริงแล้ว ทางมหาวิทยาลัย ของสงฆ์ เขาสอน เขาก็เอาวิชาทางโลกมาเรียนกันตั้งเยอะ สอนพระอย่างนี้เป็นต้น แล้วพระก็จะ ไปใช้สอน มันได้ ที่จริงอะไรก็ได้ เอาวิชาการเมืองมาเรียนก็ได้ แล้วเราก็สอนศีลธรรมลงไป ในการเมือง เอาวิชาคณิตศาสตร์มาสอน เอาวิชาบัญชีมาสอนก็ได้ แล้วเราก็สอนศีลธรรม ลงไปในบัญชี ได้ความรู้นั้นด้วย แล้ววิชาศีลธรรมก็สอนด้วย หรือว่าพุทธธรรมก็สอนด้วย สอนวิทยาศาสตร์ สอนอะไรก็แล้วแต่ วิชาอะไรก็สอนศีลธรรมอยู่ในนั้นได้ด้วยน่ะ ได้ด้วย จริงๆแล้วได้ ไม่แปลกอะไรหรอก สอนได้ แต่คนเรา ไม่เข้าใจอย่างที่อาตมาว่า คนเรานี่เพ่ง ชอบอะไร ชอบการเมือง ชอบวิทยาศาสตร์ ชอบศิลปะ ก็เพ่งสิ่งที่ตัวเองชอบ จนลืมศีลธรรม จนลืมคุณธรรม

ทีนี้ ศีลธรรม หรือคุณธรรม หรือพุทธธรรม คืออะไร ยอดของศีลธรรม ยอดของคุณธรรมก็คือ การทาน การให้ การเสียสละ ทีนี้มันจะสอดคล้องกันกับ วิชาการหรือความรู้นี่ ก็ตรงที่ว่า ความรู้ เป็นการสร้างคุณธรรม หรือพุทธธรรม ศีลธรรมคือการเสียสละ การสร้างคือการเสียสละ มันจะสอดคล้องนะ แต่ในความหมายของโลกนั้น มันตรงกันข้ามกัน

เพราะฉะนั้น เราจะสอนเด็ก จะสอนอย่างไร อย่าว่าแต่สอนเด็กเลย สอนผู้ใหญ่เหมือนกันนั่นแหละ อาตมาบอกคุณ ก็เท่ากับอาตมาทำอยู่นั่นแหละ บอกพวกเรานี่ เป็นครูพุทธธรรมนี่ เหมือนกัน นั่นแหละ จะสอนอย่างไรให้เขาสร้าง แล้วจะต้องสร้าง ไม่สร้างเพื่อตัวเอง เพื่อตน ไม่สร้างเพื่อ เห็นแก่ตัว สร้างเพื่อที่จะเกื้อกูลผู้อื่น เขาสร้างก็เพื่อที่จะชวนคนอื่นสร้าง หรือว่าช่วย คนอื่นสร้าง นี่ เป็นวิธี หรือนโยบาย หรือว่าเป้าหลักๆ ของมนุษย์

เพราะฉะนั้น เราสอนเรื่องนี้กันทั้งนั้นแหละ สอนเรื่องนี้เท่านั้น จะประกอบอยู่ด้วยวิชาคณิตศาสตร์ วิชาหัตถกรรม วิชาเกษตรกรรม วิชาอะไรก็แล้วแต่ วิชานานาวิชาก็แล้วแต่ ก็คือการสร้าง จะสร้าง อย่างไร สร้างอย่างเสียสละ สร้างอย่างที่เราจะต้องให้เด็กรู้ว่า สร้างเพื่อที่จะเป็นประโยชน์ต่อ แรกๆ เราก็ให้เขาสร้างเพื่อที่จะไม่ติดยึด ว่าเป็นของตัว ในโลกเขาไม่ได้สอนอย่างนี้ เขาสอนเพื่อที่จะ ให้สร้างขึ้นมา แล้วว่าเป็นตัวเอง สร้างเพื่อความภาคภูมิของตัวเอง ว่าตัวเองยิ่งใหญ่ ตัวเก่ง นี่ได้แล้ว ตั้งแต่ความเป็นตัวเอง ขี้เหนียวไม่อยากให้ใครสร้างได้เท่าเรา ไม่อยากให้ใครมีสิ่งที่ตัวมี จนกระทั่ง เอาไปแลกเงินแลกทอง หรือเอามาไว้เป็นของตัว ไม่ให้ใครเลย หรือถ้าจะให้ ก็จะต้องแลกมา ให้ได้มากๆ ให้ตัวเองได้มากๆ ให้ได้ค่าที่แลกกลับคืนมามากๆ จะเป็นลาภ เป็นยศ เป็นอะไรก็ตามใจ

เพราะฉะนั้น ในชีวิตมนุษย์ทั้งหมดที่เราจะให้การศึกษานั้น ให้การศึกษาในการสร้าง ไม่ใช่ให้ขี้เกียจ ไม่ใช่ให้ไร้ฝีมือ ไม่ใช่ให้ไร้ความสามารถ ถ้าโลกทุกวันนี้ มันอุดมสมบูรณ์ เราก็ไม่ต้องเรียนอะไรเลย หรือเรียน แต่จะยังชีวิตอยู่ อย่างที่ในพระไตรปิฎก คนเราตื่นมา ก็เดินไปเก็บข้าวสาลีเอามากิน ผู้ใหญ่ พ่อแม่ก็ไปเก็บมา ไปเก็บ ลูกเห็นก็ต้องเดินไปเก็บตาม นั่นคือการเรียน การสอน เรียนตามผู้ใหญ่ ทำก็เหมือนสัตว์ สัตว์มันทำยังไง แม่ทำยังไง ลูกก็ทำตามแม่ กินยังไง ก็กินตาม เดินยังไง เดินตาม นอนยังไง ก็นอนตาม ทำยังไง ก็ทำตาม จบ ไม่ต้องแย่ง ไม่ต้องมีอะไร ที่มันจะต้อง ลำบากลำบนอะไร ก็เรียนแค่นั้น

แต่ทีนี้ ทุกวันนี้ มันไม่มีให้เก็บกิน มันไม่อุดมสมบูรณ์อย่างนั้นแล้ว จึงต้องสร้าง และทุกวันนี้ มันไม่ได้ไม่มีธรรมดา มันไม่มีเอามากๆ นอกจากไม่มีเอามากๆแล้ว นักผลาญยังมากอีกด้วย เพราะเราต้องสร้าง เพื่อให้คนขี้เกียจกับคนขี้โกง คนขี้โกงนี่ บวกในการทำลายด้วยนะ ขี้โกงนี่ มีการทำลาย พวกนี้ทำลาย ทำเล่น ทำทิ้ง ทำขว้าง ทำอะไรก็แล้วแต่ มีมากมาย ด้วยกิเลสที่หลง เอาไป อย่างพวกกินเบียร์กินเหล้านี่ ไอ้นี่ตัวเองรู้ดีเลย เพราะว่าตัวเองก็เคยมา กินเบียร์เข้าไปได้ เป็นลัง ๑๐ ขวด ๒๐ ขวด กินแล้วก็เดินเยี่ยว กินแล้วก็เดินเยี่ยว กินแล้วก็เดินเยี่ยว หลงตัวเองว่า เก่งด้วยนะ ทำลาย ทำลายทั้งของ ทำลายทั้งตัวเอง ชีวิต สังขาร ไม่ได้ดีอะไรขึ้นมาเลย อันนี้เห็นง่าย ชีวิตของคนนี่ ที่กินมากกว่าควรนี่ กินแล้วก็ขี้ กินแล้วก็แคลอรี่มาก เมื่อเกิดแคลอรี่มาก ก็ต้องไปเที่ยว ได้อาละวาด โน่นนี่ อะไรต่ออะไรนี่ ทำลายชีวิตร่างกาย ทำลายข้าวของที่กินเข้าไป ทำลาย พอได้แคลอรี่มาก ก็ไปทำลายอะไร ต่อไป เป็นอะไรๆต่อไปอีกต่างๆนานา ทุกวันนี้ เยอะแยะ แล้วเขาก็บอกว่า เขามีพลังงาน แล้วก็ไปทำลาย ในการทำลายพวกนี้นี่ ถ้าคิดให้ซับซ้อนแล้ว มันอีกมากเหลือเกิน

คนเรา บอกว่าเราทำงาน คนในสังคมนี่ บอกว่าทำงาน ที่จริงแล้ว เขาไปหาเงิน ใช่ไหม คนเรานี่ เขาบอกว่า เขาไปทำงาน ที่จริงแล้วเขาไปหาเงิน เพราะฉะนั้น เขาจะต้องใช้พลังงานมาก เขาก็ต้องกินมากๆ คนที่รวยๆก็ต้องบำรุงมากๆ บำรุงมาก เพื่อที่จะได้มีความแข็งแรงสดชื่น อยู่เรื่อยๆ แล้วเขาบอก ไปหาเงินให้ได้มากๆ ไปทำงาน ไปหาเงินให้ได้มากๆ ทำลายซ้อน ทำลายซ้อน ทำลายลงไป ตั้งเท่าไหร่ แล้วเขาก็ไปมองในแง่ว่า ถ้าเราไปทำงาน ให้เกิดงานขึ้นมามันก็มีผลผลิต แต่ในผลผลิตที่เกิดขึ้น เขาจะต้องบวก เอาส่วนเกินมาเป็นของเขาทั้งนั้น กี่ชั้นก็ตาม ในระบบ ที่ฉลาดในโลก จะต้องเอาส่วนเกินมาให้ทุกขั้นตอน ฟังดีๆนะ ใครไม่มีปฏิภาณ ก็ฟังไม่ทัน มีปฏิภาณคิดต่อ อาตมาอธิบายไม่ไหวแล้ว มันมาก มันซับซ้อนมาก เขาจะต้องเอาส่วนเกินนั้นมา การเรียน หรือการทำงาน การฝึกฝนของเขา จึงฝึกฝนเพื่อที่จะทำลาย เขาชำนาญทำงานมาก กินมาก กินไปมากๆ ให้แคลอรี่มากๆ แข็งแรงมากๆ เพื่อที่จะได้ทำลายให้มากๆ บาปยิ่งมากๆๆๆ ในโลก

แต่ในทางธรรม เราจะต้องสอนกลับกันหมด คุณจะกินมากก็ได้ ถ้าคุณขยันเหมือนคนในโลก และคุณจะทำงาน อย่างขยันอย่างในโลก ไม่ต้องกินต้องนอน เป็นคนที่ขยันที่ร่ำที่รวยของเขานี่ เขาตื่นเสมอเลย ภาคภูมิยินดีในเงินในทองในลาภ ในยศ ในอะไรที่เขาได้มากมาย แล้วเขาก็ไป ทำงาน กิจการต่างๆซับซ้อน ร้อยอย่างพันอย่างรู้หมด มีอะไรต่ออะไร เครื่องไม้เครื่องมือ อะไร เข้ามาช่วย กระทำตื่นตลอดเวลา ทำอย่างนั้นก็ได้ แต่คุณกระจายให้คนอื่นก็แล้วกัน ไม่ต้องมาเป็น ของตัว คุณจะกินมาก บำรุงมากก็ไม่ว่า แล้วคุณทำงาน เพื่อที่จะไม่ใช่ทำลาย ทำงานเพื่อสร้างสรร ทำงานเพื่อเสียสละ ทำงานเพื่อให้ผู้อื่นจริงๆ ไม่ต้องการอะไรมาเป็นของตัวจริงๆ ทำอย่างนั้นได้ ก็เอาสิ แต่ว่ามันซับซ้อน นี่อาตมาพูดตัวจบ ก่อนเราจะไปถึงตัวนั้นได้ เราก็จ ต้องสอนตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่พวกเราเป็นนักศึกษา พวกนี้ไปว่า เราจะต้องลดลงไป อย่าทำลาย อย่ากินไป ที่จริงเราอ้าง ทุกวันนี้ว่า มันไม่พอไอ้โน่นไอ้นี่ มันก็คือ อาตมาว่าเมื่อกี้ จะต้องไปบำเรอตน ไปหาขั้นตอน ที่จะมา เป็นของกู อย่างน้อยนี่ ก็อร่อยของกูละ มันก็ติดอยู่ตรงนั้น มันไม่ไปไหน อย่างน้อยก็อร่อยของกู มากกว่านั้น มันอร่อยของกู ก็ได้มามาก ก็มีแคลอรี่แล้ว เสร็จแล้วก็ต้องไปอะไร ขึ้นมา พวกเรานี่ ที่เราเอา ไปทำอะไรขึ้นมา หรือว่าไปทำงานขึ้นมาแล้ว เราก็ยังเป็นงานที่มีกฎ มีหลัก มีระเบียบ กฎระเบียบอะไรเอาไว้ว่า เราไม่เอามาเป็นของตน แต่มันก็มีแฝงมีซ้อน มี ก็ฉวยเป็นของตนอยู่ เท่าที่ผู้ใด ยังมีความต้องการ ยังมีส่วนจะเอา มันก็เป็นอย่างนั้นละ

นี่ พูดถึงหลักใหญ่ๆ หลักใหญ่ๆของชีวิตที่จะต้องเรียน โดยเฉพาะพุทธธรรม คืออันนี้ แต่นั่นแหละ แม้ว่าจะเป็นทางโลก จะชูธงของวิชาการ การสร้างความรู้ เรียนไปเพื่อสร้างก็ตาม จะชูธงอันนั้น ก็ตาม ถ้าตราบใด เขาเรียนโดยไม่มีศีลธรรม ไม่เข้าใจจริงๆเลยว่ามนุษย์เกิดมา จะเจริญด้วย การสร้างเพื่อให้ผู้อื่น เขาไม่เชื่อ และเขาไม่ทำ ทำไม่ได้ เขาไม่เสียสละได้ เป็นความล้มเหลว หรือว่าเป็นการสร้างที่ทำลาย และเป็นบาปทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น เรามาสอนนี่ เราไม่ต้องไปเริ่มต้นสอนวิชากันมากๆ อย่างที่ว่าเมื่อกี้นี้ว่า คุณจะเก่ง คุณจะไปทำงานกี่อย่างๆๆ สามารถแล้วคุณทำได้ เครือข่ายมีบริษัท มีโน่น มีนี่เยอะๆ อะไรก็ตาม คุณจะทำอย่างโน้นได้ โดยทำเสียสละ ถ้าคุณทำได้จริงๆ คุณก็ทำได้ แต่มันทำไม่ได้หรอก ว่าจะไป ทำอย่างนั้น แข่งกับทางโน้นเขา เพราะทุนรอนมันไม่มีถึงอย่างนั้นหรอก เราจะต้องไปโลภโมโทสัน เอาทุนรอนมาตั้งบริษัทกันมากมาย แล้วเราจะทำอย่างโน้น มันไม่หวาดไม่ไหว เพราะฉะนั้น ทำแต่แค่นี้ให้มันเด่น งานเดียว หรือ สองงาน แล้วก็ทำให้เด่น ให้ชัด ทำเพื่อให้ สร้างเพื่อให้ ความรู้ทางโลกเขาสอนสร้าง เราก็สอนสร้าง แต่เราต้องเน้น สอนสร้างเพื่อให้ ทุกวันนี้ มันต้องสร้าง บอกแล้วว่า ทุกวันนี้ มันพร่อง โลกมันไม่มี โลกมันไม่อุดมสมบูรณ์ เมื่อกี้ก็สมมุติให้ฟังแล้ว ถ้าเป็นโลก เมื่อสมัยโบราณแล้วมันอุดมสมบูรณ์ ไม่ต้องเรียนสร้าง เพราะอะไรมันก็มีหมด แล้วมันไม่มีปรุงแต่ง อะไรมากมาย มันไม่บ้าๆบอๆ จะต้องมาเสพอย่างโน้น เสพอย่างนี้ อะไรต่ออะไร เลอะๆเทอะๆ อย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องหรอก นอนก็ง่ายๆ กินก็ง่ายๆ บ้านเรือนก็ไม่ต้อง มาแข่งกัน เบ่งข่มอะไรกัน ไม่ติดนิสัยว่า โอ๊ย บ้านจะต้องอย่างโน้น อย่างนี้ มีวัตถุดิบโน่นนี่ ไม่ต้อง แต่ทุกวันนี้ มันอะไรๆ ก็ถูกเขาสมมุติมาให้เลย ตั้งมากตั้งมายไปหมด ถ้าเราเอา ต้องเอาพอสมควร

ที่จริงแล้ว ถ้าเผื่อว่า ที่นี่ นี่ไม่ต้องเป็นศาลานะ เป็นลานโล่งๆ ธรรมดาก็ใช้ได้ ใช้ได้ แล้วก็เรียน ใช้ลานโล่งๆ ไม่ต้องใช้ศาลานี่ ก็เรียนได้ ใช่ไหม นั่งฟังธรรมก็ฟังได้ ดีไม่ดี บางขณะ เรายังอยากจะนั่ง อย่างนั้นเสียด้วยซ้ำไป มันไม่ต้องมีอะไรมากก็ได้ เพราะฉะนั้น เราเป็นครู ไม่ต้องสอนอะไรมาก ไม่ต้องสอนสร้างอะไรมากหรอก เราเป็นครูทางพุทธธรรม เพียงแต่ว่า สอนสร้างแล้ว ให้สร้างอย่างเสียสละ คุณจะพูดอย่างไร คุณจะเน้นอย่างไร คุณจะหาวิธีการอย่างไร ให้เขาเข้าใจ ให้เด็กเขาเข้าใจว่า สร้างเพื่อสละ สร้างเพื่อไม่ใช่เป็นของตัวของตน สร้างเพื่อไม่ใช่ เอาเด่นเอาดัง สร้างเพื่อไม่ใช่เพื่อ เอาว่า ข้าจะต้องเก่ง จะต้องกาจอะไร แต่จะต้องให้เด็ก มีความขวนขวาย มีความภาคภูมิ มีความขมีขมัน ที่จะมีความกระปรี้กระเปร่าในการสร้าง จะทำอย่างไร ก็ช่วยกันหา ช่วยกันคิด อาตมาเอง อาตมาก็เป็นครูโดยตรงน่ะ ทุกวันนี้ ก็พยายามทำ พยายามเป็นครู ที่จะให้มันได้ผลสูงที่สุดเท่าที่ทำได้ เท่าที่เป็นที่มีอยู่น่ะ

เพราะฉะนั้น บทบาทที่อาตมาให้พวกเราทำเพื่อสละนี่ แม้แต่ว่า มาทำแล้ว อย่าเอาค่าจ้าง พวกคุณก็ทำกันได้ หลายคนก็ทำกันได้ มาทำมีค่าจ้างมีรายได้ ก็ทิ้งรายได้มา จนมาทำงานก็ฟรี ฟรี แล้วก็มาทำงานฟรี ก็ยังเป็นของกูอยู่นะ นี่งานของกู ผลงานของกู ตัวตนของกู มันใหญ่นะ มันนามธรรมพวกนี้ คุณจะต้องรู้ตัว อ่านตัวเอง ครูบอกแล้วแต่ต้นว่า ครูจะต้องแสดงก่อน ครูจะต้อง ทำตนเองก่อน ทำไปในตัว เพราะฉะนั้น งานไม่ต้องสอนมากหรอก เพราะว่างานมันมากที่ เราจะทำกัน เป็นตัวอย่างแก่เด็ก แล้วงานที่จะต้องไปสร้างไปสรรนั้นน่ะ เขาสร้างในโลกนั่น เขาจะสร้างได้มากๆ เพราะว่าเขาจะต้องได้เงินมากๆ ได้ลาภมากๆ เขาก็เลยต้องเก่งมากๆ ในทางธรรมนี่ ในทางความเป็นอยู่ของพวกเรานี่ ไม่ต้องไปสร้างมากๆ เก่งมากๆทางไหนหรอก เก่งทำในแวดวง ในส่วนสิ่งแวดล้อมของเรานี่ให้ดี เท่านี้แหละสำคัญ แล้วจะอยู่เป็นสุข ถ้าเราจะมีบ้าน ถ้าเราจะมีอาคาร เราก็ดูแลอาคารให้สะอาดสะอ้าน อย่าให้ผุให้พังง่าย ทำให้ดีๆ นี่คือวิชา ความรู้ เด็กก็ตามผู้ใหญ่ก็ตาม ถ้าเราจะมีก็มีแค่นี้ เราไม่ได้สร้างต่อ ก็ดูแลอาคาร ดูแลสถานที่ อาหารการกิน ของกิน ปลูกขึ้น สร้างขึ้น กินใช้เอง น้ำ พยายามให้ดูแลดีๆ น้ำไม่ดี ก็พยายามปรับ ถ้ามันมีน้ำไม่ดี ประเดี๋ยวก็เกิดเชื้อโรค ประเดี๋ยวก็เกิดยุง ก็เกิดแมลง เกิดไอ้โน่นไอ้นี่ อะไรอย่างนี้เป็นต้น ดูแลสิ่งแวดล้อมนี่แหละ

เพราะฉะนั้น ความรู้ทางโลก เขาก็ไปเรียนทางโลก สร้างเพื่อ สร้างอะไรต่ออะไรออกมา พิลึกพิลือ เพื่อที่จะเอาไปหาเงิน เอาไปทำงาน ที่จริง การทำงานก็คือการไปหาเงิน แล้ววิธีทำงาน ที่จะได้เงิน มากๆ ก็ต้องทำงานมากๆ เก่งมากๆ แล้วก็จะมีผลผลิตมากๆ ผลผลิตมากๆ เราจะต้องเอาประโยชน์ จากผลผลิตนั้น ซับซ้อนมากๆ มาให้แก่ตัวเขาเอง โลกเขาก็เท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเราเอง เรามาทางนี้แล้ว ไม่ได้ทำอะไรแก่โลก ทางโน้น เราก็มีแต่ทางนี้ ทีนี้มันซ้อน ที่ซ้อนอยู่ก็คือว่า ความรู้ที่สร้าง จะเป็นความรู้ทางหัตถกรรม การเกษตร ทางเทคนิค ทางช่าง ทางอะไรก็ตาม เราก็ยังใช้ ซึ่งเราก็มี เพราะฉะนั้น เรียนรู้ในนี่ให้พอ แล้วก็เอามาใช้ในนี้กันนั่นแหละ เพราะฉะนั้น ความรู้ที่จะสอนเด็ก ไม่ต้องให้เปรอะ ให้ไปจากพื้นฐาน ดูจริตนิสัยเด็ก เด็กแกชอบช่าง ก็ให้แกเอาอาศัยช่างนั่น เอาในนี้เท่านั้นแหละ ในที่มี ไม่มีแล้วไปหาวิชาการมาทำ อย่าเลย เอาวิชา อะไรต่ออะไร หลายๆอย่าง ที่จะไปหามา เช่น วิชาประดิษฐ์ดอกไม้ อย่าเลย บางอย่างที่ให้เด็กทำกัน ซึ่งไม่สมควร แล้วก็เอาไปขายอะไร ไม่ต้องหรอก ประดิษฐ์ดอกไม้ แล้วก็เอาไปขาย ไม่ต้อง ให้แกดูแลดอกไม้ ให้ดูแลพื้นที่ ดูแลสิ่งที่มีอยู่ ให้รักษา ให้ดูแล ให้สร้างรักษา กับสร้างสิ่งที่มีอยู่ แล้วรักษาสิ่งที่จำเป็นสร้าง ในนี้แหละสร้างได้ ไม่ต้องไปเอาข้างนอก ไม่ต้องไปหามา ข้างนอก มาสร้างในนี้ ในนี้แหละ สร้างในนี้ขึ้นมา ที่มีอะไรให้สร้าง แล้วก็เป็น สิ่งจำเป็น ข้าวไม่มีสร้างข้าว เสื้อผ้าไม่มีสร้างเสื้อผ้า เราเน้นตั้งแต่ปัจจัย๔ เสียก่อน เป็นเรื่องหลัก ให้เด็กเห็นความสำคัญ ของปัจจัย ๔ ให้ดี อาหารเป็นหนึ่งในโลก

เพราะฉะนั้น ให้เห็นความสำคัญในเรื่องอาหารให้มาก เพราะฉะนั้น ถ้ายิ่งเด็กหรือคนต้นทางเลยนะ ไม่ว่าใครก็ตาม ถ้าเห็นความสำคัญของ ตั้งแต่ข้าวเลยว่าสำคัญ เป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องของมีค่า เป็นเรื่องที่จะต้องสร้างอย่างสำคัญ เพราะเราต้องกินข้าว เราต้องกินอาหาร ที่เป็นผัก เป็นพืช เป็นผลไม้ ให้สำคัญให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้คือของมีค่า ทุกวันนี้ ที่จริงในปฐมอโศก ของเราเจริญขึ้นมามาก แต่พวกเรายังเห็นความสำคัญน้อย ผักพืช อะไรเราสร้างขึ้นมาพอ แต่พวกเรา ไม่เห็นคุณค่าเลย นี่คือความโง่ คือความไม่ฉลาด สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่า มีค่ากว่าของมีค่า กว่าเพชร เคยพูดตั้งไม่รู้เท่าไหร่แล้วว่า คุณได้เพชรมา คุณกินมันได้ไหม คุณเอา มันมาให้เค็ม แทนเกลือก็ไม่ได้ มันไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลยจริงๆ ตลอดชีวิตนี้ ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ต้องมีเพชร ไม่ต้องมีทองคำก็ได้ แต่เราไม่มีผักไม่ได้ เราไม่มีผักไม่ได้ ผักราคาแพงกว่า พยายาม ญาณปัญญา ทำให้เข้าใจให้ดีๆนะ เข้าใจความสำคัญในความสำคัญให้ดี สมมุติของโลก ชาตรูป รชตะ ปฏิคคหนา นี่ โลก มันเป็นสมมุติว่า ไอ้ทองคำนี่แพง เพชรพลอยแพง อะไรอย่างนี้เป็นต้น นั่นน่ะ พระพุทธเจ้าท่านสอน อย่าไปเป็นพานทองรองสิ่งที่มันไม่ถูกต้อง มันจะกลายเป็นกระโถน ปฏิคคหนา นี่ แปลว่า สิ่งรองรับ อย่าไปรองรับเอาสิ่งสมมุติโลก ถึง ไม่ต้องไปรับ ชาตะ รูปะ เงินทอง ทรัพย์ศฤงคารอะไรนี่ ไม่รับ ไม่รับเงินรับทอง แปลไอ้แค่ว่า เป็นทรัพย์สิน เงินทอง แปลเอาง่ายๆ เขาก็แปลเช่นนั้นล่ะ เราอย่าไปรับ เราอย่าไปยินดีหลงใหลกับไอ้สิ่งสมมุติของโลก ยิ่งสมมุติว่าเงิน ว่าทอง ว่าเพชร ว่าพลอยแล้ว เป็นสิ่งไร้ค่าจริงๆ

เพราะฉะนั้น จะต้องเป็นพานทองที่รองรับสิ่งที่มีค่า ต้องรู้ค่าสูงที่โลกสมมุติ กับค่ารองที่โลกสมมุติ และของจริงที่เรารู้ เป็นปรมัตถ์ว่าอะไรสำคัญกว่ากัน ในสมมุติก็มันมี ก็ความจริงกว่ากันน่ะ ปรมัตถ์หมายความว่า เนื้อหา ปรมัตถ์ ปรมะกับอัตถะ เนื้อหาอันยิ่ง มนุษย์มีอะไรสำคัญ ปัจจัย ๔ สำคัญ อาหารนี่เป็นหนึ่งในโลก

เพราะฉะนั้น ผัก พืช ผลไม้ ข้าว พวกนี้สำคัญมาก ใครทำงานสร้าง สิ่งเหล่านี้แหละ เป็นเลิศในโลก แล้วมีคุณค่าในโลก มีกำไรมากในโลก ชาวนาจึงเป็นผู้ที่มีกำไรที่สุด มีคุณค่าประโยชน์ที่สุด แต่คนไม่รู้ค่า ทุกวันนี้เหยียดหยัน คนไปหาทางที่จะได้เงินมามากๆ นั่นแหละมีค่า ได้เงินมาด้วย ประเภทฉาบฉวยยังไงก็แล้วแต่ เราได้กอบได้โกยมามากๆ ได้เปรียบมามากๆมีค่า นั่นแหละ บาปมากที่สุด แล้วเป็นงานที่เลวที่สุด งานที่ต่ำที่สุด อยากจะใช้คำว่า ต่ำช้าด้วย เพราะมันซ้อนเชิง ในกลไก ในความเฉลียวฉลาด เรามีสมบัติ แต่เราไม่รู้จักสมบัติ ในสวน เรามีผัก พืชที่เยอะแยะ ไม่รู้จักดูแล นี่สอนให้ดูแลผักพืช ดูแลให้มันอุดมสมบูรณ์ ให้มันงอกงาม ให้สะอาดสะอ้าน ให้มันดีนั่นแหละ ให้มันอยู่ของมัน อย่าให้ใครมาทำลาย ให้มีความรัก อาหารเป็นหนึ่งในโลก อาหารคือผัก พืช ผลไม้ ข้าว ต้องรักจริงๆ ดูแล และสร้างจริงๆ รักษา และสร้าง

เพราะฉะนั้น วิชาที่เราจะสอน อาตมาว่าไม่ต้องไปเอามากหรอก เอาวิชาแต่แค่ปัจจัย ๔ หัตถกรรม เกษตรกรรม พอ จะเป็นช่างก็มีเรื่องของที่อยู่ อาศัย หรือว่าเกษตรก็ต้องใช้เครื่องใช้ ช่างบ้าง ที่อาศัยนี่ ก็อาศัยกันน่ะโลกตั้งแต่ สมัยไม่มีเครื่องกลไกอะไรเลย และอุดมสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น พืชผัก อาหารการกิน แม้แต่เสื้อผ้ายังไม่ต้องใส่ อาหารการกินจึงเป็นหนึ่งก่อนเพื่อน ก็คือผักพืช ข้าว ผักพืช เป็นหนึ่งก่อนเพื่อน และชีวิตจะยังอยู่ได้ก็เพราะสิ่งนี้ ฟังดีๆ อาตมาพยายาม อธิบายให้เห็นถึงเรื่องแท้ๆ ถึงเรื่องสัจจะจริงๆ สำคัญๆ เราเรียนสัจธรรม เราจะต้องมีปัญญา รู้สัจธรรม ไม่ใช่ไปหลงค่าสมมุติโลก เรื่องขนม เรื่องค้าขาย ขนมก็เรื่องปรุงแต่งบานออกไปน่ะ แล้วมันก็ยังติด ยังยึด ก็อาศัยกันบ้าง แต่ว่าที่ว่าเน้นนี่ เน้นเรียน เน้นครู เด็กก็อย่าไปเอาเคี่ยวข้น ถึงขนาดนั้นทีเดียว ก็ยังไม่ได้หรอก ก็ค่อยๆอนุโลม ปฏิโลมมา เรื่องค้าขายจ่ายแจกนั้น มันยังต้อง ใช้เงินใช้ทอง ใช้อะไรต่ออะไรอยู่ ถ้าเผื่อว่าต่อไป ถ้าพวกเราอุดมสมบูรณ์ มีเด็กเพียงพอ ไม่ต้องค้า ไม่ต้องขายหรอก ไม่ต้องค้า ไม่ต้องขาย มีเด็กเพียงพอ แล้วก็ทำงานทำการอะไรเพียงพอ มีอยู่ มีกิน มีใช้ มีอะไรต่ออะไร แล้วในวงจักรของพวกเรา เสื้อผ้าหน้าแพร หัดให้มาใช้สิ่งที่พวกเราสร้างเอง แบ่งแจก เมื่อสร้างเองเป็นแล้ว ก็แบ่งแจก เมื่อคนมีประสิทธิภาพ เด็กคนหนึ่งทอผ้าได้มากกว่า ที่ตัวเองใช้ ตัวเองก็ใช้น้อย เป็นคนมักน้อย สันโดษ ไม่ฟุ่มเฟือย สร้างได้ ตัดเองก็เป็น ก็ตัดแจกกัน สร้างแจกกัน คนหนึ่งทำได้เกินตัวเองถึง ๓-๔ คนหนึ่งปลูกผัก ปลูกพืช ปลูกข้าว วันหนึ่งๆ ที่ทำงานแล้ว มีผลผลิตที่เกิดเกินกว่าตัวเองกินเข้าไป เผื่อคนได้อีกตั้ง ๕ คน ๘ คน ๑๐ คน ถ้ามีคนชนิดนี้ อยู่ด้วยกันตั้ง ๒๐ คน ๕๐ คน คิดดูซิว่า มันจะอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน แล้วไม่ต้องขาย แจกก็ยังจะเน่าเหลืออยู่นี่เลย แจกยังไม่ทัน คิดทันไหม

แต่ทุกวันนี้ พวกเรา มันยังไม่พอ มันยังไม่มีสิ่งที่ว่านี้พอ แล้วก็วงจรของธรรมชาติของการเกษตรก็ดี การหัตถกรรมก็ดี ยังไม่พอ เพราะฉะนั้น เรื่องขาย ไม่ต้องไปคำนึงเท่าไหร่หรอกเด็ก แต่ผู้ใหญ่ ก็ทำยากอยู่แล้ว แล้วเด็กแกก็มีสมมุติ แกก็มีค่านิยม เห็นเงินแกก็ต้องอยากได้ ผู้ใหญ่ว่าอยากได้มาก เด็กมันก็อยากได้มากเหมือนกันนั่นแหละ แล้วเด็กมันยิ่งไม่เคยได้ มันก็อยากได้ แล้วสอนไม่ให้ อยากได้ ยากกว่าผู้ใหญ่ด้วย ผู้ใหญ่นักปฏิบัติธรรมทั้งนั้น เพราะนักปฏิบัติธรรม ของเรา ผู้ใหญ่นี่ บอกว่าอย่าอยากได้ มันยังเข้าใจมากกว่าเด็ก เด็กก็เข้าใจว่า อย่าอยากได้ แต่เด็กใจจริงๆ ลึกๆแล้ว มันมีแรงอยากได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีสำนึก หรือ เข้าใจได้มากกว่าพูดกับพวกคุณนะ ถ้าไปพูดกับพวกอื่น ไม่รู้เรื่องหรอก อีกหลายชั้นอีก แม้แต่นักเรียนปฏิบัติธรรม ธรรมะของสำนักอื่น อาตมาก็เชื่อว่า พูดว่า อย่าอยากได้เงินเลยนี่ต่างกัน ความอยากได้ หรือความอย่าอยากได้นี่ ต่างกันแล้ว คุณฟังไปแล้ว คุณจะสำนึก หรือว่าคุณจะประทับใจขนาดไหน มันต่างกัน คุณเกิด ศรัทธินทรีย์ หรือศรัทธาพละ คุณเกิดความเชื่อ อาตมาบอกว่า อย่าอยากได้เงินเลย คุณเชื่อขนาดหนึ่ง ไปบอกที่สำนักอื่น ซึ่งเขาก็เรียนธรรมะเหมือนกัน บอกว่าอย่าอยากได้เงินเลย เขาก็เชื่อขนาดหนึ่ง ไปบอก ไอ้ที่ไม่ปฏิบัติธรรมเลย ไปบอกในมหาวิทยาลัย บอกอย่าอยากได้เงินเลย ศรัทธาต่างกัน ความเชื่อต่างกันใช่ไหม ศรัทธินทรีย์ต่างกันใช่ไหม ฟังออกไหม เข้าใจไหม บอกคำเดียวกัน ในคนคนละภูมิ อีกอย่างพวกคุณนี่ ภูมิหนึ่ง อาตมาถือว่าภูมิหนึ่ง คุณจะเชื่อต่างกัน คุณจะเชื่ออาตมามากกว่า ถ้าขณะที่อาตมาพูดกับคุณ คุณยังไม่เชื่อมากกว่าจริงๆ อย่างที่ว่านี่นะ อาตมาไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ทุกวันนี้ แล้วคนที่เขาสอน ก็ไม่ได้สอนอย่างที่อาตมาสอน อาตมาเชื่อ อย่างนั้น เขาไม่ได้เน้นอย่างนี้ อาตมาว่าเขาไม่ได้เจาะลึกอย่างนี้ เขาปฏิบัติธรรมเหมือนกันนี่ เขาก็จะไม่เชื่ออาตมา เอายกตัวอย่างง่ายๆ เอาสำนักธรรมกายก็แล้วกัน ไปบอกว่า อย่าอยาก ได้เงินเลย บอกที่พวกลูกศิษย์ทางธรรมกาย เขาเข้าใจเหมือนกันนะ ว่ามันถูก อย่าอยากได้เงินเลยนี่ ถูก เพราะว่า ถ้ายังอยากได้เงินอยู่ มันเป็นกิเลส เขาก็เป็นนักปฏิบัติธรรมใช่ไหม เขาก็รู้เหมือนกันนะ คุณก็รู้ แต่คุณกับเขาใครจะเชื่อมากกว่ากัน น้ำหนักการเชื่อ แล้วคุณจะปฏิบัติตาม ใครจะปฏิบัติ ตามมากกว่ากัน ไม่ต้องไปพูดถึงมหาวิทยาลัย แล้วก็สอนบอกว่า นี่เรียนๆไป แล้วคุณอย่าอยากได้ เงินนะ อยากได้เงินมันเป็นบาป อยากได้เงิน มันไม่ดีไม่งาม ไปสอนเด็กมหาวิทยาลัย ที่เขาไม่ได้ เป็นนักปฏิบัติธรรมนั่นนะ ต่างกันไปอีก เขาจะเชื่อขนาดไหน เขาฟังแต่ในนั้นน่ะ ด้วยเหตุผล เท่านั้นแหละ เออ อาจารย์นี่พูดถูก ออกจากห้องมาแล้ว เขาจะลืมหมดเลย เขาจะมีของเขาไป ไม่หาเงินได้ยังไง ไม่อยากได้เงินได้ยังไง ในลักษณะจิตจริงๆที่มันเชื่อ แล้วมันจะปฏิบัติตามนั่นนะ นั่นละคือความจริง ที่มีน้ำหนักต่างกันมาก พวกคุณขนาดเชื่อขนาดนี้ มันก็ยังจะต้องมาสอนเด็กไป ก็ประเดี๋ยวก็หาทาง หาให้เด็กหาเงิน ขนาดพวกเรานะนี่ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น เรื่องหาเงิน ถ้าเผื่อว่าเลี่ยงได้ก็เลี่ยงนะ ไม่ต้องไปสอนให้เด็กหาเงินหรอก

อ่านต่อ หน้าถัดไป

FILE:1464A