เอาให้แน่ ทรัพย์แท้ของมนุษย์ ตอน ๑
ธรรมก่อนฉัน
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๓๔
ณ พุทธสถานสันติอโศก

เจริญธรรม ผู้ที่ยังใฝ่ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ทั้งหลาย

วันนี้ อาตมาตั้งใจจะเทศน์ ในเรื่องของทรัพย์แท้ของมนุษย์ โดยสรุปให้ฟังอีก อาตมาได้พยายาม วิเคราะห์วิจัยให้เห็น แล้วก็เอาคำตรัสของพระพุทธเจ้ามายืนยัน ให้พวกเราได้ฟัง ให้ชัดเจนกันว่า มนุษย์มีอะไรเป็นทรัพย์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ทรัพย์ของมนุษย์นั้น คือศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา นี่นะ ๗ ตัวนี่ เราจำง่ายๆทรัพย์ของมนุษย์ ที่จริง ถ้าเผื่อว่าจะเอาแท้ๆ โดยตัวแท้ก็ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ๔ อันนี่เป็นประโยชน์แท้ของ ความเป็นคน เกิดมาเป็นคน มาเอาอันนี้เป็นประโยชน์ส่วนตัวส่วนตน มีประโยชน์ในการได้เชื่อ ศรัทธา ได้เชื่อ ความเชื่อนี่ลึกซึ้ง เป็นจิตวิญญาณเป็นตัวจิตวิญญาณของคนน่ะ จะเกิดเชื่อ แค่เชื่อธรรมดา เชื่อตื้นๆ เชื่อสูงขึ้น จนปฏิบัติตาม อาตมาแบ่งภาษา เชื่อไว้ ๓ ภาษาไทย ภาษาบาลี ท่านก็แบ่งศรัทธา ศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ ศรัทธาผล ท่านก็แบ่งเป็น ๓ เหมือนกัน ศรัทธา ศรัทธินทรีย์ ศรัทธาผล หรือ ศรัทธาพละ นี่ เหมือนกันน่ะ ท่านก็แบ่งเป็น ๓

อาตมาแบ่งเป็นศรัทธา เป็นความเชื่อ เชื่อถือ เราฟังด้วยเหตุ ด้วยผล ด้วยท่าที ด้วยองค์ประกอบ อะไร เราก็เห็นว่าเออ! น่าเชื่อถือ แต่ความเชื่อนั้น ไม่แรงพอที่จะให้เราเปลี่ยนแปลง ตนเอง บางที เรายังไม่ได้เป็นตามที่เชื่อ เราเชื่อนะ แต่เราไม่เป็น เราไม่เป็นด้วยอย่างนี้ เรายังไม่ทำตาม แต่ดี เชื่อ ดีๆ ดีไหม? ดี แต่ทำไมไม่ทำตามล่ะ ยังๆ นี่ เรียกว่าเชื่อ ระดับแรก ศรัทธา เชื่อระดับแรก เชื่อถือ เชื่อ กินมื้อเดียวดีไหม ดี ดีๆ แล้วไม่กินตามล่ะ ไม่กินเนื้อสัตว์ ดีไหม ดีๆ ดี แล้วไม่โลภโมโทสัน ไม่เอาเปรียบเขา ดีไหม ดี แต่ยังเอาเปรียบอยู่ล่ะ ยังเอาเปรียบอยู่ ไม่เอาเปรียบ เขาดีไหม ดี ไม่เอาเปรียบ ดีแน่ ดี แต่ยังเอาเปรียบเขาอยู่ ยังไม่ทำตามหรอก ยังไม่ฝึกฝนตน เพื่อจะทำตาม นี่ ระดับศรัทธาตัวแรก

ศรัทธา ตัวที่ ๒ นั้นคือศรัทธินทรีย์ มีกำลังของศรัทธาสูงขึ้น มีภาวะ มีฤทธิ์แรง มีความเป็นจริง โดยความหมายก็อธิบายได้ อาตมาอธิบายอยู่นี่ เป็นความหมาย ความหมายสูงขึ้น ลึกซึ้งขึ้น อาตมาใช้ภาษาไทยว่า เชื่อฟังตัวแรก เชื่อถือตัวที่ ๒ เชื่อฟัง แปลศรัทธินทรีย์ว่าเชื่อฟัง เชื่อฟังนี่ ทำตามนะ คนเราเชื่อฟังแล้วทำตาม ภาษาไทยเราเข้าใจดีใช่ไหม เชื่อถือ มันก็แค่นั้น ก็เชื่อ เชื่อถือ เชื่อๆ เชื่อถือ แต่ยังไม่ถึงขั้นทำตาม แต่พอถึงขั้นเชื่อฟัง จะมีกำลังของความเชื่อสูงขึ้น เอ๊! มันดีนะ เราเชื่อว่าดี ต้องเอาด้วยนะ ต้องเอาด้วยฝึกหัดอบรม แม้จะเหน็ดเหนื่อยหนักหนา จะลำบาก ก็ต้อง ฝึกอบรม เอาทีละระดับ ของศาสนาพุทธเรามีลำดับขั้น เอามาทำตามให้ได้ เหมาะสมกับตัวเอง ยากเกินไป สูงเกินไป พรวดทีเดียว จะเอาสุดยอดเลย มันไม่ได้หรอก ก็ต้องแบ่งทำตามอินทรีย์พละ ตามกำลังของเรา แล้วเราก็ทำตาม เริ่มต้นทำตามนี้แหละ เราชื่อว่าตั้งกฎ ตั้งหลัก ที่จะทำตาม ให้แก่ตน อย่างเหมาะสม เรียกว่า สมาทานศีล สมาทานหลักเกณฑ์ แล้วลงมือทำตาม เรียกว่า ปฏิบัติศีล เมื่อปฏิบัติแล้ว มันก็จะเกิดผลได้ กาย วาจาก็จะได้เกิดการสำรวมระวัง อบรมตน ให้เป็นไปตามศีล ที่เราตั้ง ทำให้ได้แล้ว มันจะขัดเกลา กาย วาจา โดยเฉพาะขัดเกลาใจด้วย ศีลนี่ถึงใจถึงจิต

ทุกวันนี้ศาสนาพุทธสอนเพี้ยน สอนไว้ว่า ศีล อบรมกาย วาจา เท่านั้น สอบตก ค้านแย้งกับคำสอน ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอน ศีล ผู้ปฏิบัติศีล ได้ผลนะ หมายความว่าเป็นกุศล ปฏิบัติศีลได้ผล คือปฏิบัติศีลเป็นกุศล จะมีผลเป็นอรหันต์ ตามลำดับ แล้วอรหันต์ มันได้แค่กาย วาจาที่ไหนเล่า อรหันต์นี่ มันขัดเกลาจิตใจ มีพฤติกรรม ทางกาย วาจาด้วย แล้วก็ขัดเกลาถึงจิตใจ แข็งแรงขึ้น แข็งแรงขึ้น สุดท้ายก็ถึง อุภโตภาควิมุติ ถอนอนุสัยอาสวะ ศีลนี่ ถึงนิพพาน ศีล ก็สวด ก็ท่องกันอยู่ สีเลน นิพพุติงยันติ ศีลจะเป็นพาหะนำพาไปสู่นิพพาน ก็สวดกันอยู่นี่ ให้ศีลเมื่อไหร่ พอให้ศีลเสร็จ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา เวรมณี อะไรแล้ว เสร็จแล้วก็ สีเลนะ สุขติงยันติ สีเลน โภคสัมปทา สีเลน นิพพุติงยันติ ศีลจะเป็นพาหะนำไปสู่นิพพาน สีเลน นิพพุติงยันติ ก็พูดกันอยู่อย่างนั้น แต่ก็บอกว่าศีล ขัดเกลาแค่กาย วาจา เห็นไหม พูดแล้ว เพี้ยนไปหมดแล้ว ธรรมวินัยวิปริตหมดแล้ว มันค้านแย้งกันเอง ตัวเองก็พูดเอง สอนเอง ขัดแย้งกันเองอย่างนี้ มันวิปริต มันไม่ตรง มันไม่ถูกต้อง มันไม่สอดคล้องกันกับคำสอน ศีลจะพาไปสู่นิพพาน

เพราะฉะนั้น ขัดเกลา กาย วาจา และต้องขัดเกลาถึงจิต เป็นอธิจิต หรือเป็นสมาธิ ขัดเกลาได้จริง ไปเรื่อยๆ ก็แข็งแรง ตั้งมั่น จิตเป็นตัวประธาน มโนปุพพังคมา ธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา จิตเป็นประธาน เพราะฉะนั้น ให้กายเป็นอย่างไร ก็จิตเป็นประธาน ให้วจีเป็นอย่างไร ก็จิตเป็นประธาน เมื่อจิตมันแข็งแรง ตั้งมั่น มีความเป็นจริงได้ มันก็สามารถที่จะให้กาย วาจา ของเราง่าย ถ้าใจยังไม่เป็นนะ ฝืนอยู่นั่นแหละ มันฝืนนั่นแหละ มันขัดกับจิตเรา ถ้าจิตเรา เห็นด้วยปัญญา แล้วก็มีอินทรีย์พละที่แข็งแรงจริงเลยนะ มีกำลัง กำลังแห่งความจริง กำลังแห่งศรัทธา กำลังแห่งปัญญา แข็งแรงขึ้นๆ จนกระทั่งบรรลุ จนกระทั่ง ตัดกิเลสได้จริงๆ ละกิเลสได้สมบูรณ์ แล้วมีปัญญาอ่านเห็นชัดเจนด้วย ศรัทธานั้นก็เป็นศรัทธาผล หรือศรัทธาพละ เป็นกำลังที่เต็ม พละนี่แปลว่ากำลัง ศรัทธาพละ หรือเป็นความเชื่อสมบูรณ์ มันสมบูรณ์ตรงที่ มันทำได้ แล้วมันก็เป็นความเจริญ เป็นความดีงาม เป็นกุศล เป็นบุญ เป็นสิ่งที่เป็นกุศลทั้งหมด ทั้งมวล แล้วก็ทำได้อย่างแคล่วคล่อง ไม่มีฝืน เพราะกิเลส มันเป็นตัวฝืน กิเลส เป็นตัวต้าน ตัวฝืน ฆ่ากิเลสตาย ไม่มีอะไรมาฝืน มาต้าน คล่อง ง่าย เบา สบาย ว่างโล่ง โปร่ง ไม่มีอะไรต้าน เพราะกิเลสมันไม่มาต้าน มันจะเป็นความว่างๆเบาๆ ง่ายๆสะดวก นั่นแหละเป็นกำลัง ก็มันไม่มีอะไรต้าน มันก็เป็นกำลังเต็มซี จะทำเท่าไหร่ก็เท่านั้น มันไม่มีอะไรต้าน อะไรหักกลบ ลบหนี้เลย มันก็เต็มสมบูรณ์ ไม่มีรีซิสแต้นซ ์ว่าอย่างนั้นเถอะ มันก็สมบูรณ์เลย ครบครัน

เพราะฉะนั้น ศรัทธาพละนี่แหละ คือตัวเห็นจริงเห็นจัง แล้วก็เชื่อมั่น อาตมาแปลเป็นภาษาไทยว่า เชื่อมั่น ศรัทธา เชื่อถือ พอศรัทธินทรีย์ก็เชื่อฟัง ปฏิบัติอบรมตาม จนได้ผล พอได้ผลจนสมบูรณ์ ก็เป็นศรัทธาพละ ก็เชื่อมั่น เราจะเชื่อมั่นมาเรื่อยๆ เห็นผลมาเรื่อยๆ จนเห็นผล ค่อยๆ ผลค่อยๆโต ค่อยๆจริง ค่อยๆชัด ค่อยๆเต็ม จนกระทั่งมีผลเต็มสมบูรณ์ มีปัญญาเห็นร่วมด้วย ศรัทธา ต้องมีปัญญา ไม่มีปัญญาไม่ได้ เห็นสมบูรณ์ แล้วมันก็เห็นเอง เห็นของจริงเอง เป็นญาณทรรศนะ หรือเป็นปัญญิณทรีย์ หรือปัญญาที่ชัด ปัญญิณทรีย์ ปัญญาผลเหมือนกันแหละ ปัญญาพละ กำลังของปัญญาเต็ม เราจะได้ศีลนั้น ปฏิบัติแล้วได้ผล ศีลนั้นเป็นตัวจริงเลย

เพราะฉะนั้น มีศีล จนกระทั่งเป็นธรรมดา เป็นปกติ เป็นอัตโนมัติ อยู่ในตัว ศีลจึงแปลว่าปกติ ปกติที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ที่เราจะเอามาทำนี่ ทำได้แล้ว ทำโดยไม่ต้องฝืดต้องฝืน ทำโดยไม่ต้อง ลำบากลำบน ทำด้วยเป็นตัวเองเลย เป็นอัตโนมัติอยู่ในตัว เป็นอย่างนี้น่ะ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นอัตโนมัติ ไม่ลักทรัพย์ เป็นอัตโนมัติ ไม่มีเจตนาจะไปลักทรัพย์ใคร ถ้าจะไปเอาของเขามา ก็โดยไม่เจตนานะ เอ้า! ของคุณเหรอ เราเอามานี่ ไม่ได้เจตนาจริงๆ แต่ก็มันไม่ไร้สติจนเกินการน่ะนะ มันก็ไม่ต้องการ ขโมยของใคร ไม่ต้องการจะเอาของใคร ไม่ไปโลภโมโทสันอย่างนั้นจริงๆ ไม่อำมหิตโหดร้าย จนกระทั่ง ไปฆ่าสัตว์นั้นตาย ไม่ได้เจตนา ถ้ามันจะตายเพราะเราก็ไม่ได้แกล้ง ไม่ได้เจตนา ไม่ได้เจตนา อย่างนั้นจริงๆ ไม่ฆ่าใคร ไม่อำมหิตโหดร้าย ไม่เบียดเบียนใคร ยิ่งมีรายละเอียดนี่ ไม่เบียดเบียนใครด้วย ต้องมีศีล ศรัทธา ไม่มีศีลไม่ได้ เอาศีลของพระพุทธเจ้า มาเป็นเครื่องวัด เลยว่า พระพุทธเจ้าให้เว้นขาดอย่างนี้ อย่างปุถุชนนี่ มันไม่รู้ มันไม่เลิก ไม่ละ ไม่เว้น ไม่ขาดออกมา มันไปเป็นอย่างโลกๆ เลิกออกมา เลิกอย่างพฤติกรรมปุถุชน พฤติกรรม มนุษย์โลกที่มันไม่ดี ไม่งาม เลิกมา ศีลใดที่บอกว่าให้ละเว้น เว้นมาจนได้เป็นปกติ ศีลใดที่ส่งเสริมให้ยิ่งๆขึ้น เรียกว่า อภิสมาจาร ก็ทำให้ยิ่งขึ้น แข็งแรง มั่นคง จนกระทั่ง ละเอียดลออ วิจิตรพิศดารขึ้นไปได้เรื่อยๆ ต้องมีศีล

เพราะฉะนั้น ผู้ที่บรรลุธรรม มีศรัทธา ต้องมีศีลประกอบ ศรัทธา หรือเชื่อๆ เชื่อไม่มีหลักเกณฑ์ อะไรเลยนี่ ก็เชื่อกันทั้งนั้นแหละ เชื่อไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่ได้ศึกษาหลักเกณฑ์ อันที่เป็นกุศล อกุศล ที่แท้จริง สุจริต ทุจริตที่แท้จริง บาปบุญที่แท้จริง ดีไม่ดีที่แท้จริงตามสัจจะ ไอ้ดีชั่วนี่ เราก็เรียกเป็น สมมุติสัจจะ สมมุติแปลว่า การรู้ร่วมกันทั่ว สมมุตินี่แปลว่า รู้ร่วมกันทั่ว คนธรรมดารู้ร่วมกัน หมดแหละ อันไหนดี อันไหนชั่ว มีปัญญาที่ฉลาดพอสมควรรู้ นอกจากคนที่โง่ รู้ผิด หลงผิด เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นชั่วเป็นดี เห็นผิดเป็นถูกกลับกัน นั่นก็เรื่องของคนที่เข้าใจผิด ก็เป็นไปได้ เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ

เพราะฉะนั้น คนที่รู้ถูกต้อง ก็คือสมมุติที่รู้กันพร้อมกัน เป็นสัจจะอย่างหนึ่งในโลก ต้องอาศัยสัจจะ สมมุติอย่างนี้ ดี ชั่ว แล้วก็ต้องทำดี สัจจะของพระพุทธเจ้านั้นน่ะ ผู้ที่เป็นดีได้แล้ว ยังไม่ได้ดี ยึดดีก่อน แล้วปฏิบัติดีให้ได้ เมื่อปฏิบัติดีได้แล้ว ไม่ต้องยึดมันได้แล้ว มันก็เป็นเอง อันนี้แหละ ภาษาสำนวน เรียกว่า ไม่ยึดดียึดชั่ว ไม่ยึดเพราะมันได้แล้ว ไม่ยึด มันก็เป็นอยู่ในตัวเรา แล้ว ชั่วซิ มันทิ้งไปแล้ว มันเลิกไปแล้ว จนจะพยายามเป็นชั่ว ยังไม่ค่อยเป็นเลย ทำไม่ค่อยลงเลย ทำยาก แต่ดีล่ะ ไม่ต้องพยายาม มันก็เป็นแล้ว มันก็เป็นง่าย เพราะมันเป็นอยู่ที่ตัวเรา แล้วเราก็ไม่ได้ยึด มันแล้ว แต่มันมีอยู่ในตัวเรา มันเป็นศีล เป็นธรรม มันเป็นกุศล มันเป็นของดี อยู่ในตัวเราเองเลย แล้วเรา ก็ไม่ได้หลงใหลในความดีของเรา ไม่ได้หลงใหลว่าเราดี เราทำดี ได้ดีนี้ แล้วเราก็ติดยึด โอ้! จะต้องอยู่ที่นี่แหละนิรันดร ดีจะต้องเป็นเราของเราไป อีกนิรันดร ไม่ ทำใจ เห็นว่า มันก็เป็นธรรมดา สิ่งที่ดี ถ้าเรายังมีรูปนามขันธ์ ๕ เราก็มีกรรม กิริยาที่ดีอันนี้ ถ้าตายแล้วเลิกกัน ปรินิพพาน ดีนี้ก็ตายไป พร้อมกับขันธ์ ๕ สำหรับเรานะ แต่มันก็อยู่ในโลก ก็เรื่องของโลก ใครจะเอาไปทำตาม ก็เรื่องของเขา แต่เราหมดกรรมกิริยาของดีแล้ว นี่ เรียกว่า เราไม่หลงติดดี นี่เรียกว่า ไม่ยึดดี ไม่ยึดชั่ว แต่มีดีแน่ๆ

ทีนี้ คนสอนลัดตัดความนี่ ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ใครไปยึดชั่วยึดดีอัปรีย์ทั้งนั้น ก็เลยไม่มีขั้นตอน เบื้องต้น ท่ามกลาง บั้นปลาย คนก็เลยไม่ได้ฝึกฝนเอาความดี เพราะกลัวจะไปยึดดี ขนาดยึดมั่นถือมั่นดี แล้วปฏิบัติให้มันได้เป็นปกติ ให้มันได้อบรมฝึกฝนตน ให้มันได้เป็นอัตโนมัตินี่ มันไม่ง่ายนะทำดี ใช่ไหม มันไม่ง่ายนะ แล้วไม่ยึด ปัดโธ่ ไม่เอาจริง เอาจังน่ะเหรอ ล้มเหลวทั้งเพนี่ การสอนข้ามขั้น ลัดตอน แล้วการไม่รู้จักเบื้องต้นท่ามกลางบั้นปลายพวกนี้ อาตมาว่า ก็หาว่า อาตมาไปว่าผู้สอน อย่างนี้ เอ้า! อาตมาเห็นจริงอย่างนี้ เมื่อไม่เชื่ออาตมา ก็ไปเชื่ออีกฝ่ายหนึ่ง ก็ทำอย่าง อีกฝ่ายหนึ่งซี จะมาทะเลาะเบาะแว้งกับอาตมาทำไม อาตมาสอนผู้ที่เห็นตามอาตมา ผู้ไม่เห็นตามอาตมา ก็ไม่ต้อง แล้วอาตมา ก็ไม่ได้ไปเกลียดไปโกรธ คนที่สอนผิดด้วยนะ ก็บอกให้ทราบว่าสอนผิด เพราะ อาตมามั่นใจว่า นั่นสอนผิด อาตมาก็บอกเตือนว่าสอนให้มันถูก แต่เขาเชื่อว่าเขาสอนถูก เขามีสิทธิ์ ว่าอาตมา บอกว่านั่นสอนผิด ไปสอนให้ปฏิบัติดีก่อนชั่วน่ะ ผิด เอ้า! ว่ามาเลย ว่ามาซิ ก็เถียง อาตมามา อาตมาไม่ว่าอะไรนี่ มีสิทธิว่ากัน ความเชื่อไปบังคับกันไม่ได้ใช่ไหม แล้วอาตมาก็ ไม่โกรธหรอก ก็ท่านเข้าใจอย่างนั้น อาตมาก็เข้าใจอย่างนี้ คนละทางกัน ก็พิสูจน์กันไปซิ ใครไปโกรธคนนั้น ใครไปเกลียดคนนี้ ไปชังคนนั้น ก็เขาเองน่ะ

อาตมาไม่โกรธใครหรอก เขาด่าอาตมาก็เรื่องของเขา เขาว่าเราผิด ก็เขาเข้าใจว่าเราผิด เราก็ฟังซิ เหตุผลเขาก็บอกมาซิ ไม่ใช่บอกผิด แล้วก็ไม่มีเหตุผลมาให้เลย บอกผิด ไม่มีตำรา ไม่มีหลักฐาน ไม่มีเหตุผล เรียกว่า ด่า สาดเสีย เทเสีย สำนวนไทยเราบอกว่าอย่างนั้น คือด่าไม่มีเหตุผลเลย ด่าไม่ให้เหตุผลนี่ ด่าสาดเสียเทเสีย ด่าอย่างแม่ค้าปากตลาด ด่าไปดื้อๆนี่เอง เอ้า! แล้วมันผิด อย่างไร มันเสียอย่างไร ไม่รู้ กูด่าอย่างเดียว ด่าว่าเลวอย่างเดียว ไม่รู้เลวอย่างไร ไม่รู้ ด่าว่าเลว อย่างเดียว มันเลวก็แล้วกัน ไม่มีหลักฐานอ้างอิง ไม่มีเหตุผลบอกกล่าวอะไรเลย ไอ้นี่เรียกว่าด่า สาดเสียเทเสีย ถ้าด่าสาดเสียเทเสีย แต่ไม่ต้องไปสาดใส่เขาหรอก เขาสาดเสียเทเสีย มาให้เรา เราก็เทต่อ เอ้า! เทออกไป ก็มันไม่รู้จะทำอย่างไร ก็คุณไม่ให้เหตุผล ไม่ให้หลักฐาน ไม่ให้อะไรมาเลย ด่าลูกเดียวว่าเสียๆๆๆ เลวๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ลูกเดียว แล้วมันเลวอย่างไรเล่า ไม่รู้ กูว่าเลวก็แล้วกัน ถ้าด่าสาดเสีย เทเสีย เราก็เลิกกัน ไม่พูดต่อ แต่ถ้าเขาด่ามา มีเหตุ มีผล มีหลักฐาน อ้างอิง มีอะไรต่ออะไรลึกซึ้งซับซ้อน โอ้ย! ดี ๆ เขาให้เหตุผลซับซ้อน ให้เหตุผลหลอกลวง เหตุผลแฝง ไม่ใช่เหตุผลตรง แหม! มีเล่ห์เหลี่ยมเชิงชั้น ในการที่จะหาซับซ้อนมา เราก็ตรวจตรา เอาความฉลาด ของเราน่ะ โอ้! ไอ้นี่ เล่นเล่ห์ เล่นเหลี่ยมนะนี่ ซับซ้อนเชิงชั้น ดูซินี่ มันไม่ค่อยตรงหรอก มันอุตส่าห์ แฝงเหตุผล แฝงนั่น แฝงนี่มา เราก็ฉลาดเข้าใจให้ได้ ให้มันถูก ตามความจริงก็แล้วกัน เขาบอกว่าถูก เราว่าผิด เราก็ซวยเอง ถ้าเขาบอกมา แฝงๆผิดๆมา แล้วเราก็จับผิดนั้นได้ เราก็แก้ไข เราก็ไม่เชื่อตาม เราก็ไม่เอาตาม มันก็เป็นความฉลาดของเรา ใครฉลาดจริง ไม่ลำเอียง ไม่ได้ไปนั่งตู่คนนั้นก็ได้นะ

เพราะฉะนั้น ศรัทธา ต้องมีศีลอย่างนี้จริงๆ แล้วคนเราเกิดมาเพื่อ ได้ศรัทธาอย่างนี้ และเพื่อได้ ตามศีล โดยเฉพาะ เราลูกศิษย์พระพุทธเจ้า เราก็เอาศีล เอาหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้า ท่านสอนว่า อย่าทำอย่างนี้ นี่เป็นบาปสมาจาร จงทำอย่างนี้ นี่เป็นอภิสมาจาร ทำให้ยิ่งๆๆๆๆๆ อย่างนี้เป็น บาปสมาจารอย่าทำ ทำตามพระพุทธเจ้าสอน ตามฐานะที่เราทำได้ แต่ละขั้น แต่ละตอน มันมีอธิศีล มีอธิๆๆขึ้นไปเรื่อยๆๆๆ ลึกซึ้งขึ้นไป สูงขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็ยากตามลำดับ ทำให้มันถูกต้อง ขั้นตอนแล้ว เราก็ได้เป็นศรัทธา เกิดมามีศรัทธา เกิดมามีศีล เราเชื่อมั่นด้วยปัญญาว่า การเกิดมา เป็นคนนี่ เกิดมาเพื่อจาคะ เกิดมาเพื่อสละ จะเป็นคนมีประโยชน์ มีคุณค่า คุณฟังอาตมาไปด้วย ความมีปัญญาเท่าไหร่ คุณฟังดูจริงไหม ถ้าจริงละก็ เราก็มาอบรมตนให้เป็นคนมีจาคะ มีการสละ ออกๆ ตั้งแต่ทรัพย์ศฤงคาร ตั้งแต่วัตถุสมบัติหยาบๆ ไอ้ของที่ไม่ควรจะมี ไม่ควรจะสะสม เอาออกก่อน อันไหนที่สูงขึ้นไป ก็จำต้องอาศัยอยู่ ก็อาศัยไปก่อน พอตอนหลังมา เรารู้สึกเรา เออ! ไอ้นี่ก็ทิ้งได้อีกแล้ว สละไดัอีกแล้ว บริจาคได้อีกแล้ว มีน้อยลงๆๆ มักน้อยสันโดษลงไปเรื่อยๆ น้อยลงได้เท่าไหร่ก็อยู่ได้ ก็อยู่ได้ มันมีระบบของมันนะ คนที่ยิ่งสละ คนยิ่งเคารพนับถือ คนยิ่ง จะมาเกื้อกูล ช่วยเหลือเฟือฟายเอาไว้

ทำไมบริษัทปอเต็กตึ้งนี่ก็ดี บริษัทร่วมกตัญญูก็ดี เอ๊! มูลนิธิซิหนอ อาตมาไปเรียกบริษัทซะนี่ มูลนิธิปอเต็กตึ้ง มูลนิธิร่วมกตัญญู อย่างนี้เป็นต้น ทำไม มีคนไปบริจาค เพราะเขามีตัวปฏิบัติการ ที่เสียสละจริงๆ ทำงาน คนก็โอ้โฮ! ต้องใช้จ่าย เอาเงินมาให้ ใช้จ่าย ทั้งๆที่ คนมาทำงานมีรายได้ เป็นเงินเดือนเหมือนกันนะ มีบางคนได้ส่วนสัด ที่ได้บ้าง คนที่ไม่เอาจริงก็เสียสละซ้อนก็ดีละ คนที่มาทำงานโดยฟรีๆเลย ให้แก่สมาคม ให้แก่มูลนิธิ ส่วนคน ที่จะต้อง ค่าใช้จ่ายรายได้บ้าง ก็มีไปตามควร เขาก็ทำงานกันจริงจัง คนเขารู้อยู่ เขาก็เอามาให้นี่ โอ้! ต้องใช้จ่ายโน่นนี่ ค่าเครื่องไม้ เครื่องมือ ค่าน้ำมันรถ ค่าคนจะต้องกิน จะต้องใช้ ค่าเวลาเอาไป คนเกิดเดือดร้อน โน่นนี่ ซื้อข้าวซื้อของ ซื้ออาหารกิน ซื้อเสื้อ ซื้อผ้า ซื้อไอ้โน่น ไอ้นี่ ใช้ไป จ่ายเขาเห็น ค่าใช้จ่าย เขาก็เอามาทำบุญ มาบริจาคให้ เขาก็เห็นจริง เห็นจัง

ฉันเดียวกัน ของพวกเรานี่นะ ชาวอโศกเรานี่ อาตมาบอกว่าจะต้องอยู่ด้วยระบบบริจาค แม้จะเป็น กองบุญ กองทุนอะไรขึ้นมานี่ก็เป็นระบบที่บริจาค แม้จะขายได้ต่ำกว่า บริษัท มันไม่เป็นสมาคม มันไม่มีมูลนิธิก็ตาม จะมีบริษัท จะมีกองบุญนิยม กองบุญนิยมนี่จะเป็นกองที่จะมาหนุนเนื่อง หนุนเนื่อง ถ้าคุณเอง คุณมีรูปแบบหรือมีพฤติกรรม มีปฏิบัติการที่เกื้อกูลต่อประชาชนจริงๆเลย เห็นชัดๆเลยว่า นี่ขายต่ำกว่าทุนจริงๆนะ ขายต่ำกว่าทุนจริงๆ ประชาชนดูแล้ว เห็นจริง ไม่ได้โกง ซื่อสัตย์ สุจริต แล้วอยู่ได้อย่างไร อยู่ได้เพราะคนบริจาคเงินมาหมุนเวียน เพราะฉะนั้น คนมีเงินมาก ก็เอามาหมุนเวียนทดแทนไว้ซี แล้วคุณก็มาซื้อ มาหากันไป คนอื่นที่ยากจน เขาก็จะได้มาเอาไปด้วย พวกคุณก็ได้บริจาค ไปหาคนยากจน เพราะบริษัทนี้เป็นตัวกลาง ร้านขายนี่เป็นตัวกลาง หาผลผลิต หาของอะไรๆมา เอ้า! เป็นร้านที่จะแจกจ่าย เป็นตัวแจกจ่าย คนมาซื้อมาหา คนจนก็ได้มาซื้อมาหา ราคาถูกลง ก็เฉลี่ยไปถึงมือคนจนได้ เพราะขายไม่ได้รีดนาทาเร้น ไม่ได้เอาเกินทุน ไม่ได้เอาเกินทุน จริงๆ ถ้ายิ่งมีเงินมาก ถ้าเจ้าหน้าที่บริษัท ทำการอย่างซื่อสัตย์ สุจริต มีเงินในกองบุญนิยมมาก ก็สามารถ จะขายต่ำกว่าทุนได้มาก เพราะทฤษฎีของเรา ต่ำกว่าทุนมากเท่าไหร่ คือกำไรมากเท่านั้น ซื่อสัตย์ สุจริต แล้วก็เข้าใจจริงๆ ไม่ได้หลงสับสน โมเมอะไร ก็เราทำไมจะต้องไปทำกำไร ให้แก่บริษัทล่ะ เราก็กำไร บริษัทก็กำไร การต่ำกว่าทุนคือกำไร

เพราะฉะนั้น ถ้าลดได้ เราก็ลดเรื่อยๆประโยชน์อยู่ที่ใครล่ะ ประโยชน์ คืออยู่ที่ใคร ประโยชน์ที่ตน ได้แล้ว ได้เสียสละแล้ว ประโยชน์ประชาชนอื่นก็ได้ด้วย ได้รับแจกจ่าย เจือจาน ด้วยการมีของถูก มีของที่จะสะพัดไปถึงมือคนจน กระจายไปสู่มือคนทั่วถ้วน คนร่ำรวยก็ไม่มีปัญหา คุณก็ซื้อได้อยู่แล้ว มันถูกน่ะ คนจนก็ไม่มีปัญหาซื้อได้จริงๆ เพราะไม่ใช่ระบบที่จะต้อง ยิ่งคนนิยม ชมชอบ ยิ่งขึ้นราคา ขูดรีดเอามาใส่กระเป๋า ของยิ่งดี คุณค่ายิ่งแพง ของยิ่งหายาก ยิ่งคิดแพงๆ ไอ้นี่มันระบบทุนนิยม เขาก็ทำอยู่อย่างนั้น แต่บุญนิยม จะเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้น การที่จะมาบริจาคเข้าสู่กองบุญ ก็นัยคล้ายๆกันกับมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิปอเต็กตึ้ง อะไร เมื่อเห็นพฤติกรรมพวกนี้ชัดเจน ขณะนี้ พวกชาวอโศกเรา จะเป็นผู้เห็นก่อน แล้วก็จะทำบุญ ทำทาน บริจาคเอาไว้ก่อน ศีล นี่ก็เพื่อมาให้เราเสียสละ ขัดเกลาความโลภ ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ รู้บุญที่แท้ รู้กุศลที่แท้ รู้คุณค่าที่มาได้อะไร ได้ที่เสียสละ ได้สิ่งที่เสีย ได้อะไร ได้เสีย ได้สิ่งที่เสีย นี่แหละ สิ่งที่เสียไป สละไปนี่แหละ คือสิ่งที่ได้ของคน ของมนุษยชาติ ฟังให้ดี คิดให้ดี เห็นความจริงให้ดี ไม่ใช่ตรรกศาสตร์ ไม่ใช่เหตุผล แต่เป็นเรื่องสัจจะ อาตมาขอยืนยันว่าสัจจะ เพราะฉะนั้น คนที่มาปฏิบัติศีล ก็เพื่อให้เกิดจาคะปัญญา จะอยู่ในหมดทั้งนั้นแหละ จำ ๔ ตัว ไว้ง่ายๆก่อน ทรัพย์แท้ หรือสัมปรายิกัตถประโยชน์ ๔ ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้ถึงศรัทธาสัมปทา ศีลสัมปทา จาคะสัมปทา ปัญญาสัมปทา ให้เข้าถึงซึ่ง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานี้ เข้าถึงความเป็นจริง ตัวเราเป็นคนอย่างนั้นจริง มีความเชื่อถือ เชื่อฟัง เชื่อมั่น เชื่อจริงๆ แล้วก็มีศีล อย่างที่อธิบายในตอนต้นนี้แล้ว เกิดศีลในตัวเราเลยนะ ได้ขัดเกลากาย วาจา ใจ ขัดเกลา ความโลภ โกรธ หลง ออกไปจริงๆ ความเป็นจริงของผู้นี้ จึงจะมีพฤติกรรม มีความเต็มใจที่จะจาคะ เสียสละ เพราะปัญญาเห็นแท้ ไม่ได้ถูกหลอกลวง มันเข้าใจแจ้งชัด มันเห็นจริงว่า เออ! ไอ้นี่ เป็นความจริง ที่ไม่มีบิดพริ้ว ไม่มีแปรปรวน เป็นความจริง ที่เถียงไม่ได้ เป็นสัจจะหนึ่งแน่ๆ แท้เที่ยง เป็นสัจจะหนึ่งแน่ แท้เที่ยง ทำอย่างนั้น คนนั้นก็เต็มใจทำ แล้วก็มีระบบของสังคมนะ มีหมู่กลุ่ม มีมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมดี แล้วก็มีระบบ มีวัฒนธรรม มีจารีต มีประเพณี มีพฤติกรรม ของมันอยู่ มีพฤติกรรม กิจกรรมวิธีกรรมของมันอยู่ ครบสมบูรณ์เลย เป็นสังคมกลุ่ม อย่างนี้จริงๆ

นี่ สังคมชาวอโศก เราทำขึ้นมาเรื่อยๆๆๆๆ เพราะเราสร้างทรัพย์ที่มนุษย์เกิดมา แต่ละคนๆ ให้เกิด สิ่งที่ควรได้ เป็นสมบัติติดตัว แม้ปัจจุบันนี้ อาตมาก็พยายามพิสูจน์ปัจจุบันนี้ ไม่ต้องกล่าวล่วงไป จนถึง กระทั่งตายแล้ว ทรัพย์นี้จะติดตัวคุณไป ไม่ต้องกล่าวถึงปานนั้นก็ได้ แต่กล่าว พอขยายความ ให้เห็นชัดเจน ขึ้นบ้างก็ได้ว่า ทรัพย์ที่คนเราไปหลงเป็นวัตถุ ลาภ ยศ หรือเป็นความโกง ความเอาเปรียบ คุณได้อันนั้นแหละ ตายแล้ว คุณก็ได้อันนั้น เพราะคุณมีพฤติกรรมอันนั้น พระพุทธเจ้า สอนเราว่า กรรมวิบาก กัมมัสสกตา กรรมนี่เป็นตัวจริง คนจะได้กรรม จะเป็นกุศล หรืออกุศล ก็คือกรรม คุณกระทำการโลภ คุณก็ได้กรรมอันเป็นความโลภ ติดวิบากของคุณไป คุณทำกรรมอันเสียสละ ลดความโลภให้ได้ คุณก็มีวิบาก อันเป็นการเสียสละ จิตวิญญาณคุณ ทำได้มาก หรือได้น้อย ก็อันนั้นน่ะ ได้ตั้งแต่คุณมีการปฏิบัติ ประพฤติ อยู่ในโลกนี้แหละ เดี๋ยวนี้ก็ได้ ตายไปก็ได้ ตั้งแต่เป็นๆนี่แหละทำ ทำเป็นๆนี่ได้ ตายไปมันก็ได้อันนี้ สัมปรายิกัตถประโยชน์ หมายความว่า เรามาเข้าใจกัน ที่ท่านแปลว่า จะได้เป็นไปได้ในโลกหน้า โลกหน้าหมายความว่า ตายไปแล้ว ค่อยไปสู่โลกหน้า ไอ้แบบนั้น อธิบายกันไม่ได้เรื่อง กว่าจะไปมีศีลได้ ก็ต้องไปตายแล้ว ไปได้ศีล เอ้า! แล้วเป็นไปอย่างไรเล่า ปฏิบัติอยู่เดี๋ยวนี้ แล้วไปได้ศีลเอาคราวหน้าโน่น แล้วเมื่อไหร่ มันจะรู้เรื่อง เดี๋ยวนี้ โลภไว้ ตายไปแล้วค่อยได้บริจาค อู้ว้า! แล้วก็ได้เข้าถึงบริจาคกันเมื่อไหร่ ตายแล้ว ไม่ต้องบริจาคเขาก็เอา อาตมาบอกแล้ว แม้แต่เขียนพินัยกรรมยังไม่ใช่บุญเลย พินัยกรรม มันยังไม่ใช่บุญเลย พินัยกรรมนั่นคือ ตัวจำนนของคนนั้นน่ะ มันคือใบจำนน ไม่กล้าให้ อั๊วยังไม่ตาย ลื้ออย่างพึ่งเอาไป พินัยกรรมมันบอกไว้อย่างนั้น ใช่ไหม อั๊วตายแล้ว ลื้อถึงค่อยเอาไปได้ ก็หมายความว่า ตัวเองหวงไว้ จนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย ไม่กล้าให้ พินัยกรรมมันไม่ใช่บุญ เขียนเอาไว้ โก้ๆอย่างนั้นแหละ กำหนดเอาไว้ มีกฎหมายรองรับ เขากำหนดอย่างนี้ ก็ให้คนนั้น คนนี้นะ มันจะได้ไม่ทะเลาะกันเท่านั้นเอง ถึงคุณไม่เขียนพินัยกรรม คุณก็ไม่ได้ของคุณอยู่เอง มันก็ต้องอยู่ในโลกนี่แหละ คุณจะเอาได้ที่ไหนเล่า ไม่ต้องเขียนพินัยกรรม เขาก็เอาอยู่ดีนะ ถ้าคุณมีลูกเต้า เหล่าหลานดีหน่อย มันก็ไม่ทะเลาะกัน มันก็ไม่แย่งกัน ถ้าคุณมีลูกเต้าเหล่าหลาน ไม่ดี คุณไม่เขียนพินัยกรรมไว้ มันก็ทะเลาะกันหน่อย ธรรมดาก็เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น พินัยกรรม ไม่ใช่ตัวเสียสละ พินัยกรรม ไม่ใช่ตัวที่จะให้ เป็นความตัวหวงแหน สุดท้ายแล้ว เป็นเจตจำนงของคุณ คุณอาจจะไปรักมูลนิธิ เขียนพินัยกรรมเอาไว้ ให้ลูกมันครึ่งหนึ่ง ให้มูลนิธิครึ่งหนึ่ง คุณไปรักมูลนิธิ คุณก็แบ่งจัดสรร ปันส่วนเอาไว้ให้ ถ้าคุณไม่ให้ คุณก็ไม่ได้ ตามหลักกฎหมาย มันให้แก่ลูกเต้า มันไปได้แก่มูลนิธิ ได้แก่อันอื่น ที่ไม่อยู่ในแวดวง ไม่อย่างนั้น ประเดี๋ยว มันเลอะกันใหญ่ก็เท่านั้นเอง แต่ถ้าคุณจะไปรักมูลนิธิ หรือคุณไปรักคนใด คนหนึ่ง คุณก็เขียนพินัยกรรมให้ คนนี้อีหนูของเรา ไม่มีใครรู้ก็ช่าง เราเขียน พินัยกรรมแบ่งเอาไว้ให้ เพราะว่าอีหนูคนนี้ อั๊วรักๆตั้งแต่ยังเป็นๆ ก็เขียนเอาไว้ให้ ตายแล้วก็ต้องแบ่งให้อีหนูคนนี้หน่อย ก็เป็นเรื่องของคุณน่ะ คุณก็เขียนไว้ ทีนี่กฎหมายรองรับคุณเท่านั้นเอง คุณไม่แบ่ง มันก็ไม่ได้ ถ้าคุณไม่เขียนไว้ ผู้มีสิทธิ ตามกฎหมายก็ลูกเต้าเหล่าหลาน เขาก็เอาไปหมด อีหนูก็ไม่ได้ คุณก็จะต้องแบ่ง ให้อีหนู มันจำนนแล้ว ถ้ายังไม่ตาย คุณก็ยังไม่ให้อีหนูอยู่นั่นแหละ ก็คุณให้ ก่อนตายซิ เขาจะได้บริจาคบ้าง เสียสละบ้าง แต่ยังไม่ให้ ก็แสดงว่า ถ้าอั๊วยังไม่ตาย ลื้อ อย่าเพิ่ง เอาไป

สรุป ใช่ไหม พินัยกรรม คือความจำนนชนิดหนึ่งที่ไม่กล้าให้ แล้วยังไม่มีทานในตัว ไม่มีจาคะในตัว เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น อาตมาก็ขอยืนยัน จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ว่า พินัยกรรม ไม่ใช่การทาน พินัยกรรม คือ หลักฐานการจำนน อย่างหนึ่งเท่านั้นของมนุษย์ จำนนที่ว่า อั๊วต้องให้แล้วว้า อั๊วตายแล้ว มันจำนน อั๊วตายแล้ว อั๊วต้องให้แล้วตอนนี้ ก็เขียนบอกเอาไว้เท่านั้นเอง ว่าจะให้ใครบ้าง มันเป็น หลักฐาน ของความจำนน ที่จะต้องให้เท่านั้นเอง ไม่ใช่เรื่อง ของบุญเลย ถึงคุณไม่เขียน เขาต้องเอา จะแย่งกันหรือไม่แย่งกันก็ตาม บอกแล้ว คุณจะมาฟื้นขึ้นมาเอาได้ที่ไหนเล่า ของมันตายไปแล้วน่ะ

เพราะฉะนั้น การจาคะนี่ต้องให้ตั้งแต่เป็นๆ ถึงจะเป็นตัวของวิบากของตน แล้วก็ไปให้ ไปทาน นี่สอนซ้อน สอนซ้ำมามากมาย ทานแล้วก็ยังจะต้องการ จะต้อง ยิ่งไปต้องการ ทานไปแล้ว จะต้องได้มากขึ้น ต้องได้คืนมา มากกว่าเก่า ไอ้แบบนี้ มันเล่นการพนัน ใส่บาตรทัพพีหนึ่ง สาธุ ขอให้ถูกหวยที่ ๑ ขอให้ไปค้าขายเจ้านี้ ก็ขอให้ได้มานะนี่ จะได้กำไรห้าแสน ของยังไง ทำบุญ แล้วตักบาตรพระองค์นี้นี่ นับถือมากเลยนะนี่ ช่วยดลบันดาลให้ ดีไม่ดีไปบอก พระพุทธเจ้าโน่น สาธุ พระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ ช่วยลูกด้วยเถอะนี่ ตักบาตรอันนี้แล้ว ทัพพีนี้แล้ว ขอให้สำเร็จ นี่จะต้องได้นะนี่ ตอนนี้ ห้าแสนนี่ ขอให้ทำการค้า ต้องให้ได้มานะ เพราะได้ห้าแสนนี่ จะกำไรถึง สามแสนเชียวนะ โลภโมโทสันอย่างนั้น ไอ้ประเภทนี้ มันเหมือนแทง สูง ต่ำ ออกหัว ออกก้อย หรือว่า ออกสูง ออกต่ำ ออก ไม่รู้ อาตมาเล่นไฮโลไม่เป็น มันยัก มันกั๊ก มันต่ำ มันสูง อะไรไม่รู้ล่ะ แทง แต่เสร็จแล้ว พอเขย่าลูกเต๋า มันไม่ออกมา เขากิน ถ้าเขย่าลูกเต๋า มันออกมาตรง เออ! ได้โว้ย เหมือนกับตาบอด จิ้มลงไปได้ไม่ถูก ถูกไม่ถูก เท่านั้นเองน่ะ ถ้ามันไปติดต่อทำนั้น ด้วยความพยายาม ของคุณ คุณได้ มันก็ได้ มันไม่ได้ มันก็ไม่ได้ มันก็เสี่ยงแทงหวยอยู่เท่านั้นเอง มันไม่ได้หมายความว่า บุญจากคุณทำทานนั้น นี้ แล้วคุณก็อยากได้ ก่อนอื่นน่ะ คุณขี้โลภแล้ว ตั้งแต่เริ่มทำทาน หนอย จะให้ข้าวทัพพีเดียว ราคาไม่กี่สตางค์ ฮะ! ยังไปขี้โลภ เอาท่วมหู ท่วมหัว ขี้โลภ เอาไม่รู้กี่ต่อ ต่อกี่ต่อ จิตขี้โลภตัวนั้นเกิดแล้ว เป็นปฏิกิริยา เป็นกิริยาจิต เป็นจิตที่เกิดความขี้โลภ อยากได้เปรียบ เอาเปรียบ เอารัดมาแล้ว

กรรมก็คือกรรมสั่งสม กิเลสโลภ เห็นแก่ได้ มักมาก เอาเปรียบ เอารัด เกิดแล้วในตัวทันที ยิ่งเกิด สมบูรณ์ ทั้งกาย วาจา ด้วยอีก ยิ่งหยาบ ยิ่งชัด ยิ่งเป็นบาปหนา บาปแท้ สมบูรณ์ เป็นบาป สมบูรณ์แบบ ครบเลย แม้แต่เกิดที่จิตนี่ ก็มีค่าต่างกัน ถ้าเกิดจิตมุ่งมั่นมาก ก็มีค่าหนักแน่น สูง เป็นบาป จัดจ้านเหมือนกัน จิตจะไม่เพ่งมาก แล้วทำลอยๆ น้อยๆ จะทำจัดๆ จ้านๆ เอาจริงเอาจัง เอามาก มันก็ตัวบาป หรือตัวกรรมมานั้นก็แน่นหนา ตัวกรรมอันนั้น ก็มีฤทธิ์ มีแรงในบาปสูง เท่าความจริง ของกิริยาจิต อย่างนี้ ไม่ใช่ทำบุญ ทำบุญคือชำระความโลภ ความโกรธ ความหลง จะให้ก็ให้ซี ไม่ใช่ไปเอา เห็นว่าดีก็ให้ ใช่ไหม ให้ก็ให้ ให้เป็นให้ ไม่ใช่แลก ให้ ไม่ใช่เอาคืนมาอีก มันก็ให้ตรงไหนเล่า เอาคืนมา นี่แลก เอาหมูไป เอาไก่มา นี่หรือให้ ก็ฉันให้หมูเขาน่ะ แล้วคุณเอาไก่ เขามาล่ะ ถ้ามันมีปริมาณค่าเท่ากัน ค่าเท่ากันมันก็เจ๊า ดีไม่ดี คุณเอาหมู ไปชิ้นเล็ก แล้วคุณเอาไก่ เขามาทั้งตัว โอ้ย! คุณเอาเปรียบเขานี่แบบนี้ ให้หมูเขาไปจริง แต่หมูชิ้นเล็กนิดเดียว แต่คุณก็เอา ไก่มา ตั้งตัวหนึ่งแบบนี้ คุณเอาเปรียบเขานี่ แลกกัน แล้วก็เอาเปรียบเขาด้วย อย่างนี้ มันไม่ได้ ไปให้อะไร ไม่ได้ให้ หักกลบ ลบค่าแล้ว คุณเอาเปรียบเขาด้วย ลักษณะพวกนี้แหละ ที่อาตมา นำมาอธิบาย เพื่อยืนยันให้พวกคุณคิด ให้คุณเห็นให้เข้าใจให้ชัดว่า มันลักษณะจริงนี่ มันจะต้องจริง ว่า เราได้ ประโยชน์คุณค่าให้แก่คนอื่นเขาได้นะ ยิ่งเรามีพลังงาน มีความสามารถ สร้างสรรได้มากๆ แล้วก็ให้เขาไปได้มากๆ เราก็ไม่ต้องการอะไรเลย อย่าว่าแต่ของแลกเปลี่ยน มาเป็นวัตถุ แท่งก้อน หรือแลกมาเป็นยศชั้นสรรเสริญ แล้วมีอำนาจในสังคม หรือแม้แต่สรรเสริญ เยินยอนั้น โอ้! ชื่นใจ เป็นอัตภาพชนิดหนึ่ง เป็นภพ เป็นภาพชนิดหนึ่ง แล้วคุณก็รับมาเสพสม สุขสม เป็นโลกียสุข ชนิดหนึ่งนะ เสพสมน่ะ หักค่าเหมือนกันน่ะ ในปรมัตถ์นี่หัก แหม! อาตมาเอง ก็คิดคณิตศาสตร์ ไอ้หักค่าของนามธรรมพวกนี้ ไม่ค่อยไหว พูดไปก็พูดให้ฟัง เคร่าๆนิดหน่อย เท่านั้นเอง แต่ มันละเอียดลออมากเลย ค่าของโลกียสุข ในลักษณะเสพสม ก็เป็นค่าที่หักเหมือนกัน ค่าของสรรเสริญก็หัก ค่าของยศก็หัก ค่าของลาภก็หักเหมือนกัน มันหักกลบ ลบหนี้กัน ทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น ถ้าเราเองเสียสละโดยไม่ต้องการ แล้วก็ไม่มีลักษณะ พวกนี้เลย ให้ก็ไม่ต้องการลาภ มาเป็นชิ้น เป็นอันแลกเปลี่ยน ยศก็ไม่ แม้เขาจะให้ยศ ทีนี้ภาวะ ปฏินิสัคคะสลัดคืน ซับซ้อน แม้แต่เขาจะให้ยศมา เรารับยศมาแล้ว ก็เอายศมาเป็นอำนาจที่จะไปล่าต่อ นี่ มีอยู่ในโลกใช่ไหม เอายศมาล่าต่อ นี่มีอยู่ในโลก นี่ แม้เขาจะให้ยศมา เราก็ไม่เอายศไปล่าต่อเลย ไม่เอายศไปล่าต่อล่ะ ไปแต่โลภโมโทสัน มาเป็นของตัว ของตนอีกมากขึ้น ไม่หรอก อาตมาจะยกตัวอย่างให้ฟัง นิดหนึ่งนะ อาจจะพอเข้าใจได้ แต่ยังไม่สมบูรณ์นัก เห็นพอได้นะ อาตมาก็พอเห็นชัด

อย่างคุณจำลองนี่นะ เป็นนายทหารได้มีบำนาญ เสร็จแล้วก็มาสมัครผู้ว่าฯ ลาออกจาก

อ่านต่อหน้า ๒