ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๑
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๔
ในงานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๑๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ

ตอนทำวัตรเช้า ...จะเทศน์เรื่อง ทรัพย์ของมนุษย์ หรือ ทรัพย์แท้ ที่คำว่าแท้นี่ยืนยันลงไปให้ชัดเจน เลยว่า ทรัพย์ที่มนุษย์พึงจะได้แท้ๆ จริงๆนั้น มันคือทรัพย์ดังที่จะได้อธิบายสู่ฟังนี้แหละ นอกกว่านั้น เป็นความหลงผิดว่าเราได้ บางทีเป็นการเสียด้วยซ้ำ เรานึกว่าเราจะได้นั่นแหละไปไขว่คว้า ไปแสวงหา พยายามออกแรง ออกฤทธิ์ ดีไม่ดีจะไปทุจริตด้วย เป็นการสั่งสมเอาสิ่งที่... จริงๆ ก็เป็นทรัพย์ เป็นของได้ เป็นสมบัติของตัวเหมือนกัน แต่เป็นสมบัติอันชั่ว เป็นสมบัติอันเลว ได้ติดตัวไปนะ ติดตัวไป มีเป็นของตัวเลย ตกไปเป็นวิบาก มีนิสัยก็เป็นนิสัย มีวิบากที่เป็นความลึกซึ้ง ถึงขั้นระดับปรมัตถ์ ก็เป็นของปรมัตถ์ เป็นระดับลึกเลยว่า เป็นกิเลสก็คือกิเลส เป็นความเลว ความไม่ดี ไม่งามอะไร ก็เป็นอันนั้น ติดของเราเป็นอัตภาพของเรา เป็นอัตภาพของเราไปเป็นวิบาก

วิบากนี่ หมายความว่าผล เป็นผลที่สรุปรวมลง เป็นของเราไป ตราบที่ยังไม่ปรินิพพาน ยังไม่สูญไปจากโลกนี้ ยังเกิดอีก ยังหยั่งลงสู่ครรภ์ ยังมีสังสารวัฏที่จะวนเวียนเกิด สิ่งเหล่านั้น จะเป็นทรัพย์ของเรา เท่าที่เราเป็นผู้ทำให้แก่เราเอง เราจะเป็นจะมีจะได้ หรือว่าจะเลิก จะล้าง จะละ จะตัดออก จะให้มันหมดไป และจะให้อะไรมันมีอยู่ คงอยู่แน่นหนา แข็งแรง ถาวร อยู่ที่เราจะรู้ และอยู่ที่เราจะพึงสะสมเอา พากเพียรอดทน ฝึกฝนเอาทั้งนั้น นี่แหละ เราจะได้รู้กันชัดๆ

อาตมาคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ มาถึงขั้นนี้กันแล้ว สำหรับพวกเรา จะได้เข้มข้น จะได้อุตสาหะ วิริยะ เรี่ยวแรง หรือถ้าเผื่อว่าใครฟังดีๆ การเทศน์ตอนนี้ ปลุกเสก หรือพุทธาภิเษกคราวนี้ ฟังได้ดี ชัดเจนเลย ละเอียดจริง เข้าไปรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่คนควรจะพึงใส่ใจ แล้วพึงกระทำกันจริงๆ ตั้งแต่เริ่มต้น ทรัพย์ที่เป็นความเชื่อ หรือแม้แต่คำว่าทรัพย์คืออะไรจริงๆ แล้วก็เริ่มต้นตั้งแต่เชื่อ เชื่อนี่มัน แหม ! มันไม่ใช่เรื่องเล่นเหมือนกัน แต่แค่ความเชื่อ หรือศรัทธา จะได้อธิบายให้ฟังชัดๆ เลยว่า เราเชื่อหรือไม่เชื่อ แล้วเราเชื่อยังไง เชื่อแล้วทำยังไง มันถึงจะได้ ได้แล้วมันจะเป็นยังไง ในทรัพย์ทั้งหมดนี้ ท่านอธิบายไว้ครบ แต่มันลึกซึ้ง มันต้องขยายความ มันสัมพันธ์กัน สอดซ้อนๆๆ แล้วเราจะได้เข้าใจ

ตอนแรกนี่ เริ่มต้นฟังดูเป็นบท อาตมาก็จะอ่านสู่ฟังไปเฉยๆก่อน ใครมีก็เปิดตาม

ทรัพย์แท้ของมนุษย์ ทรัพย์แท้ของมนุษย์นั้นรวมไว้ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ก็คือ อริยทรัพย์ ๗ เราเรียกคำว่าอริยะ เติมลงไปอีก ก็คือเป็นตัวฉลาด หรือเป็นตัวประเสริฐ เป็นความประเสริฐ อริยะนี่ เป็นความฉลาดของความฉลาดที่แท้จริง ไม่ใช่ฉลาดอย่างเฉกตา หรือเฉโก เฉกตา ก็หมายความว่า ฉลาดเหมือนกัน แต่ว่าความฉลาดอันนั้น มันฉลาดโกงได้ ฉลาดยังไม่สมบูรณ์ ฉลาดยังไม่ซื่อสัตย์ อริยะนี่ ฉลาดซื่อสัตย์ ฉลาดอย่างดี ฉลาดไปในทางบวก ฉลาดไปในทางเจริญแท้จริง มี ๗ ประการ คือ

๑.ศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาค พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม นี่ อ่านไปตามที่แปลออกมาจากตัวหนังสือ ในพระไตรปิฎก แล้วก็อ่านให้ฟังก่อน แล้วค่อยขยาย ที่จริงขยายแค่นี้ ๗ วันก็ได้ แค่นี้ขยายทั้ง ๗ วัน รับรองไม่หมด ไม่หมดน่ะ ยังขยายได้อีก แต่ว่าตอนนี้ ฟังอย่างสั้นๆนี่ไปก่อน แล้วก็ค่อยฟังขยาย ความเป็นวันๆๆๆ ซ้อนๆๆ เข้าไปเรื่อยๆ

บอกก่อนก็ได้ อ่านให้ฟังก่อน หรือบอกหัวข้อก่อนก็ได้ ทรัพย์ทั้ง ๗ นั้นมี
๑.ศรัทธา
๒.ศีล
๓.หิริ
๔.โอตตัปปะ
๕.สุตะ
๖.จาคะ
๗.ปัญญา

นั้นคือ อริยะทรัพย์ ๗ มีศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา เมื่อกี้อ่านศรัทธาไปแล้ว นั้นท่านบอกว่าเชื่อ หมายความเป็นไทยว่าเชื่อ เชื่อคืออะไร เชื่อพระปัญญาของพระพุทธเจ้า สรุปง่ายๆ เราเชื่อละว่าพระพุทธเจ้าตรัสว่ายังไง สอนว่ายังไง เราเชื่อ เอาเท่านั้นก่อน ทีนี้

๒.ศีล ศีลคืออะไร ศีลคือ เว้นขาดจากปาณาติบาต เว้นขาดจากอทินนาทาน เว้นขาดจาก กาเมสุมิจฉาจาร เว้นขาดจากมุสาวาท เว้นขาดจาการดื่มน้ำเมา คือสุรา และเมรัย อันเป็นที่ตั้ง แห่งความประมาทเป็นต้น สรุปแล้วนะ เราฟังดู ศรัทธา ก็ศรัทธาถึงพระพุทธเจ้าเชียวนะ พอมาถึงศีล เขาบอกว่าศีล ฟังแล้วก็คือศีล ๕ ทำไมมันแค่นั้น ศีล ๕ แค่นั้นเองน่ะเหรอ ทีศรัทธาละยอดสุดโน่นแน่ะ พระพุทธเจ้าโน่นแน่ะ ทีศีลน่าจะเอาศีล แหม ! สูงลิบลับ ลึกซึ้ง ละเอียดใหญ่ยิ่งมานี่แหละ ศีลใหญ่ยิ่ง ศีล ๕ นี่แหละ ศีลใหญ่ยิ่ง อาตมาเคยอธิบายศีล มาแล้ว แม้แต่ศีลข้อ ๑ ข้อเดียวถึงพระอรหันต์ ศีลข้อ ๒ ข้อเดียวถึงพระอรหันต์ ศีลข้อ ๓ ข้อเดียว ก็ถึงพระอรหันต์ ขยายไว้หมดแล้ว ขยายความซับซ้อนลึกซึ้งไว้ ละเอียดหมด ๕ ข้อนี่แหละ เป็นศีลหลัก นอกนั้นเป็นศีลขยายทั้งนั้น อาตมาเคยยืนยันมาเป็นศีลที่ขยายไปจาก ๕ นี้ทั้งนั้นแหละ ใครเข้าใจศีล แล้วปฏิบัติถูกได้ ๕ หลักนี่แหละสมบูรณ์แบบ สมบูรณ์พร้อมเลย แต่มีความลึกซึ้ง คนเราอธิบายแล้วก็แปลกันแต่แค่ตื้นๆ อย่าฆ่าสัตว์ ปาณาติบาต อย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ กาเมสุมิจฉาจาร ก็แปลว่า อย่าผิดผัวเขาเมียใคร อย่าวุ่นวายเรื่องกามอะไรมากมาย หรือ ล้างกามอะไรให้หมด อะไรก็แล้วแต่ ก็พูดกันสั้นๆ แต่พออธิบายแล้วนี่แหละ อรหันต์ก็อยู่ที่นี่ สูงสุดก็อยู่ที่นี่ เดี๋ยวค่อยอธิบายกัน

๓.หิริ คือ ความละอายต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ละอายต่อการถูกต้องอกุศลธรรม อันลามก ก็สั้นๆ แต่คราวนี้ จะอธิบายให้ฟังเลยว่า หิรินี่ มันเป็นยังไงกันแท้ๆ เรามีไหม แล้วเราได้ปฏิบัติ ตามหิรินั้นไหม โอตตัปปะเรามีไหม อาการโอตตัปปะจริงๆเคยเกิดไหม ถ้าไม่เคยเกิด แล้วก็ไม่เคยเป็น ไม่เคยทำได้ ก็ไม่มีทรัพย์ แล้วละอายอะไร แล้วกลัวอะไร กลัวจริงไหม เกรงกลัวจริงไหม ละอายต่อ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ฟังแล้วก็หวานๆ ฟังแล้วก็ ไม่เห็นมันน่ากลัว ตรงไหนเลย แต่ความจริงแล้ว ถ้ารู้ความจริง มีปัญญารู้เลย พอรู้สึกลักษณะของมันเลยว่า โอ้ ! เราไม่ละอาย ต่ออย่างนี้เลยนะ แล้วก็มีฐานะของแต่ละคน จะละอายขนาดไหน คนที่ละเอียด คนที่สูง ก็ละอายต่อบาป แม้นิด แม้น้อย ท่านก็ละอาย แล้วท่านก็ไม่ต้องการให้มันเกิดมาแปดเปื้อน ในตัวจริงๆ ของใครก็คนนั้นแหละ คนไม่ละอายก็ยังแปดเปื้อน ยังเละอยู่ตรงนั้นเอง ยังทำอยู่ตรงนั้น มีกรรมอันนั้นอยู่ตลอดกาลนาน เมื่อมีอยู่ มันก็มีอยู่ ไม่รู้สึกจริงๆ ด้วย ไม่รู้สึกละอาย ไม่รู้สึกกลัว แล้วก็ไม่เคยคิดจะเลิก จะละ ไม่เคยคิดจะจาคะ ไม่เคยทำความรู้เสริม ไม่เคยสร้างสุตะ เพิ่ม เมื่อไม่สร้างความรู้เพิ่ม ยิ่งมีมานะ ยิ่งไม่ฟังล่ะ เข้าใจแล้ว หิริก็เข้าใจแล้ว โอตตัปปะ ก็เข้าใจแล้ว อันนี้ไม่ดี รู้แต่ไม่เพิ่ม ไม่ฟังธรรมะจากสัตบุรุษ หรือไม่ขวนขวายหาความรู้ เพิ่มเติมด้วย รอบด้าน จนกระทั่งเราเกิดพหูสูต หรือว่าพหุสัจจะ จนกระทั่ง ความรู้ มันจะทำให้เราเกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ ซับซ้อนลงไป จนกระทั่งเราต้องลงมือมีศีล ต้องเร่ง เชื่อ ความเชื่อมันจะสูงขึ้นๆ จนถึงขั้นปฏิบัติตาม เป็นเชื่อฟังนี่ ดังที่เคยกล่าวแล้ว ก็ปฏิบัติจนเห็นจริง จนเกิดญาณทัสสนวิเศษ หรือปัญญาสุดท้าย ปัญญาลึกซึ้งสุดอย่าง นี้ เป็นต้น หิริเป็นอย่างนั้น

๔.โอตตัปปะ ก็มีความสะดุ้งกลัวต่อกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต สะดุ้งกลัวต่อการถูกต้อง อกุศลธรรมอันลามก นี่ภาษาที่จริงภาษาไม่ใช่ตื้นหรอก ลึก ที่จริงถ้าอธิบายให้มันลึกได้ ถ้ารู้ ถ้าไม่รู้มันก็ฟัง แล้วมันก็เผินๆอยู่แค่นั้น

๕.สุตะ คือเป็นพหูสูต ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ คือความรู้ทั้งนั้นแหละ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมะทั้งหลาย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ ทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ฟังสุตะแล้ว ก็เหมือนกับอย่างกับเป็น พระพุทธเจ้า... ประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง แต่พวกคุณมีสุตะ สุตะแต่ไหน สุตะขนาดตื้นๆ สุตะถึงระดับ ในระดับ นับเข้าเป็นนักวิชาการ สุตะในระดับรู้มาก ถามอะไรไม่มีขัด ไม่มีข้อง ตอบได้หมด แต่ตัวเอง ยังเละอยู่อย่างเก่า คืออะไร

๖.จาคะ คือ เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน ฟังแล้วก็ดูตื้นๆ ที่จริงใจ ปราศจากมลทิน ใจบริสุทธิ์ ใจบริบูรณ์ ใจพระอริยเจ้า ใจพระอรหันต์เชียวนะ ผู้ที่จะจาคะหมดแล้ว บริจาค หรือว่าให้ออกไป หมดแล้ว สละออกไปหมดแล้ว เลิก ละล้างออกไปหมดแล้ว ก็เป็นผู้มีใจอันปราศจากมลทิน จิตวิญญาณ หรือใจของใครล่ะ ปราศจากมลทิน ปราศจากมลทินก็พระอรหันต์เท่านั้นแหละ คือ ความตระหนี่อยู่ครองเรือน มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่มยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในทาน และการจำแนกทาน ก็ว่าไว้สั้นๆบ้าง ก็คือทาน จาคะก็ คือทาน ยินดีในการทาน การให้ และการจำแนกทาน ทานมี ๓ ทานน่ะ ที่เราก็เคยว่าจนกระทั่งหมด ตั้งแต่วัตถุทาน อภัยทาน จนถึงธรรมทาน จนกว่าจะหมด กว่าจะสิ้น ทั้งวัตถุ ทั้งอภัย เป็นจาคะอันหมด จนปราศจากมลทิน มันก็ถึงที่สุดจริงๆ แล้วต้องทำให้เกิดสภาพนั้นจริงๆ ถ้าไม่เกิด มันก็ไม่ใช่

๗.ปัญญา คือประกอบด้วยปัญญา ที่กำหนดความเกิดและความดับ เป็น อริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ปัญญาก็คือ ประกอบด้วยปัญญาที่กำหนดความเกิด และความดับ เพราะฉะนั้น จะรู้ว่าเกิดคืออะไร อะไรเกิด ตั้งแต่หยาบไปจนกระทั่งถึง ละเอียดทางจิต กิเลสเกิด นิดหนึ่ง เรียกว่าอนุสัยอาสวะ ก็รู้ เห็นความเกิดนั้น แล้วดับมันได้สนิท จนกระทั่ง มันดับไม่เหลือ ดับไม่เกิดอีกเลย อย่างเที่ยงแท้แน่นอน เห็นความเกิด ความดับอย่างนั้นเป็นอริยะ ชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ จนสิ้นทุกข์อย่างสมบูรณ์ ปัญญาคือตัวยอด ญาณทัสสนวิเศษ อันนี้ เป็นตัวยอดปัญญา ปัญญาที่จะไปรู้อะไรในโลกนั้นน่ะ มันไม่ยิ่งใหญ่ เท่าปัญญา ที่เห็นอาสวะ อนุสัยของตน ไม่มีแล้ว หมดไปแล้ว   ในจิตใจจิต ปราศจากมลทิน ได้ล้างออก สละออก ทำออก จนหมดเกลี้ยงจริงๆ แล้วก็รู้อารมณ์ ของความหมดกิเลสนั้น เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ อารมณ์ของความว่างจากกิเลส เป็นอารมณ์สงบ เป็นอารมณ์เบิกบาน แจ่มใส เป็นอารมณ์ที่มีคุณค่า ประโยชน์อย่างไร ที่มนุษย์ควรได้ ควรเป็น จะได้รับอารมณ์นั้น เห็นความจริงเลยว่า มันหมด คืออย่างนี้ สภาพที่เป็นกิเลสหยาบ กลาง ละเอียด จนถึงขั้นอนุสัย มันถอนอาสวะสิ้นแล้ว เป็นอย่างนี้นะ อาการ นิมิตที่รู้ เครื่องหมายให้รู้ รู้แล้วก็นี่แหละตัวปัญญา หรือตัวญาณที่รู้ รู้แล้วหมดแล้ว อารมณ์มันเป็นยังไง จริงๆเลย เป็นอารมณ์นิพพาน เป็นอย่างไร ความไม่มีเกิดขึ้นแล้วเป็นยังไง

๗ ข้อนี่แหละ คือทรัพย์ ทรัพย์คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา เป็นที่ ๗ ทรัพย์เหล่านี้ มีแก่ผู้ใด เป็นหญิงหรือชายก็ตาม บัณฑิตเรียกผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ยากจน ชีวิตของผู้นั้น ไม่เปล่าประโยชน์

เพราะฉะนั้น ท่านผู้มีปัญญา เมื่อระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม บอกแต่เพียง ๒ หัวข้อว่า พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส เลื่อมใสก็คือ เห็นดีจริงๆเลย และการเห็นธรรม จนกระทั่งถึง บรรลุธรรม เห็นธรรม คือความทรงไว้ ซึ่งความไม่มี ธรรมะอันสุดท้าย ก็คือความทรงไว้ ซึ่งความไม่มี ทีนี้ไอ้ความไม่มีที่ว่านี้ ก็พูดกันไม่ มีตัวกรรม ไม่มีตัวเรื่อง ก็เลยลอยๆ อะไรเล่าไม่มี ไม่รู้ อะไรไม่มีก็ไม่รู้ ขอให้คิดว่า ไม่มีก็แล้วกัน เสร็จแล้วก็ลอยๆ มันต้องเห็นความจริงว่า อะไรเล่าต้องการให้ไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ต้องการให้ไม่มี อย่างจริงในตราบที่เป็นชีวิตที่มีขันธ์ ๕

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์จะไม่มี ทรงไว้ ธรรมะแปลว่าความทรงไว้ ทรงไว้ซึ่งความไม่มี นั่นแหละ คือทรัพย์ ทรัพย์คือความมี ใช่ไหม สมบัติคือความมี ใช่ไหมๆ ทรัพย์หรือสมบัติ นี่คือความมี แต่ไอ้ทรัพย์ หรือสมบัติที่ยอดเยี่ยมที่สุดนั่นน่ะ ที่จะพึงมีให้ได้ก็คือความไม่มี ตอนนี้เอาหัวเดิน เอาตีนขึ้นฟ้า ไม่มีอะไรล่ะ ก็ต้องให้ชัด ให้แม่น ไม่มีกิเลส ไม่ใช่ไม่มีหูมีตา ไม่มีร่างกาย ไม่มีขันธ์ ๕ ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ความจบของพระอรหันต์นั้น อยู่ที่ความไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน จนไม่มี จริงๆเลยเกลี้ยงสุด เห็นชัดเห็นเจนเลย เห็นแจ้งเลยว่า มันไม่มีจริงๆ นั่นแหละ เห็นความไม่มีจริงๆ ทำความไม่มีนั้นได้จริงๆ เป็นจริงๆ แล้วก็ทรงไว้ ซึ่งความไม่มีกิเลส ตัณหา อุปาทาน ไม่มีโลภ โกรธ หลง ไม่มีทุจริต ไม่มีอกุศล ไม่มีสิ่งไม่ดีไม่งามเลย แต่เต็มไปด้วย ความมีกุศล ความมีสุจริต ความมีประโยชน์คุณค่า ความมีสิ่งที่ดี ที่มนุษย์ในโลก พึงมีได้มีอยู่

แต่พร้อมกันนั้น ก็ซ้อนอีกว่า แม้มีก็ไม่มีเป็นของกู แม้มีก็ไม่ยึดถือเป็นของกู เป็นตัวกูของกูจริงๆเลย แล้วอาการที่ทำความไม่มี เป็นของตัวของตน ไม่ยึดเป็นตัวเป็นตนนั้น เป็นเช่นใด เป็นฉันใด ต้องรู้ต้องทำได้ ต้องเห็นจริงว่า อ้อ! การวาง การปล่อย แม้มันมีอยู่ มือก็มี แขนก็มี จะบอกว่า ไม่มีก็ไม่ได้ มีของเรานี่เป็นอยู่ ยังเป็นๆนี่ยังมีของเรานะ จะมาขอตัดไปก่อน เดี๋ยวตกลงกันก่อน ไอ้ตัดไปนี่ มันมีประโยชน์คุ้มกันไหม จะเอาไปนี่ ไม่ใช่หวงเป็นของเรานะ แต่ว่าเดี๋ยวๆๆ ยิ่งเอาข้างขวาที่ถนัดด้วย เดี๋ยวๆคิดก่อน เปรียบเทียบกันก่อน เอาไปแล้ว มันจะยังไงล่ะ ยิ่งใหญ่ยังไง มันจะคุ้มกันไหม ถ้าไม่คุ้ม อย่าเพิ่งเอาไปเลย ขอใช้ก่อน ตายแล้วค่อยเอา จะเอาข้างนี้ ก็ตายแล้วค่อยเอา นี่ยังไม่ตาย อย่าเพิ่งเอาไปเลย ไม่ใช่หวงว่า จะต้องเป็นของกูหรอก เพื่อผู้อื่น เอาไว้ก็เพื่อผู้อื่นน่ะ ทำเพื่อประโยชน์คุณค่า เพื่อผู้อื่นน่ะ แม้จะมี ใจเราก็ไม่ได้ยึดว่า เป็นของตัว ของตน ไม่ใช่ปากพล่อย ไม่ใช่ปากพูดเล่นๆ ต้องรู้ว่า มันไม่ได้หวงแหน ใจไม่หวงแหน ใจไม่กลัว ไม่กังวลว่า นี่จะไม่ใช่ของเรา จะไม่เหลือเป็นเรา เป็นของเราอยู่ ก็จะเสียดาย จะอาวรณ์อาลัย จะเอาไว้เสพอร่อยอะไรไม่ มีมือเอาไว้เสพอร่อย มีตาเอาไว้เสพอร่อย จะได้เห็นรูปสวยๆ อร่อย มีจมูกไว้สำหรับ จะได้ดมของชื่นใจ มีลิ้นมีปากมีสัมผัสใด ก็จะมีไว้เพื่ออร่อยให้ตัวเอง ไม่มี หมดอร่อยตัวเอง

อย่างเมื่อคืนนี้ ที่พูดกันว่าจะกินมื้อเดียวได้ไม่ได้นั่นน่ะ อาตมาก็สรุปให้หลายคนฟัง ก็อยากจะสรุป ให้พวกเราด้วย จะได้ไม่ขาดทุน เพราะผู้ได้รู้ได้ยิน ก็ได้รู้ได้ยิน ผู้ไม่ได้รู้ได้ยิน ก็ไม่ได้รู้ได้ยิน การกินอาหารมื้อเดียวได้จริงๆนั่นแหละ ที่สุดแห่งที่สุดแล้วนั่นน่ะ มันต้องหมดกาม ถ้าไม่หมดกามแล้ว กินมื้อเดียวได้ก็เพราะการกดข่ม เพราะการพึงสังวรระวังตามหลักตามเกณฑ์ เพราะฉะนั้น ผู้ใดที่ยังไม่หมดกามจริงๆแล้ว ท้าให้เลย ถ้าไม่อยู่ในหลักกฎที่ตัวเอง จะต้องระวัง สังวรถือ มันก็ต้องไปเล่น ๒ มื้อ หรือเล่นเลอะ เล่นเทอะไปตามเรื่อง

เพราะฉะนั้น หมดกามก็คือหมดอร่อย หมดอร่อยก็ไม่ได้หมายความว่า กินแล้วก็น่าเกลียด กินแล้วก็ แหม ! ชวนอ้วก ไม่ใช่กินก็คือกิน ของขมก็คือของขม ของหวานก็คือของหวาน ของเปรี้ยวก็ของเปรี้ยว ของเผ็ดคือของเผ็ด ของอะไรก็คืออันนั้น มันไม่ได้อร่อย เราจะต้องอ่านใจ ให้เห็นเลยว่า อัสสาทะ หรือว่า รสอร่อยนี่มันเป็นอย่างไร แล้วเราก็หมดอร่อยจริงๆ ไม่ได้ติดในรส ในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในอาหารจริงๆแล้วนี่มันไม่มีอย่างหนึ่ง เสียงมันมีรูปชวนกิน มันมีรสชวนกิน มันมีกลิ่นชวนกิน มันมีสัมผัสชวนกิน อาจจะเหนียว อาจจะกรอบชวนกินอะไร สัมผัสแล้ว มันมีพวกนี้ แต่เสียงชวนกินมันไม่มี

เพราะฉะนั้น ไอ้คนที่มันฉลาดในเรื่องจะล่อกิเลสคน ร้านอาหารนี่ มันมี ๔ เท่านั้นแหละ ร้านอาหาร มันขายอาหาร มันมีรส มีรูป มีกลิ่นในอาหารเองอยู่ ๔ อย่าง ขาดอยู่อย่างหนึ่ง มันไม่มีเสียงชวนกิน มันก็เลยเอาดนตรีไปใส่ในร้านอาหาร จ้างคนไปเล่นดนตรี เพื่อจะได้เอาเสียง เติมเข้าไปให้ครบ กามคุณ ๕ ครบ กามคุณ ๕ ก็เลยต้องจ้างเขาอยู่นี่ ร้านอาหารก็เลยแถม อีกอย่างหนึ่ง ก็คือ มีเพลง ให้ฟังด้วย จะต้องเอาเสียงอีกอันหนึ่ง เอาไปเติมให้มันครบทวาร ๕ เป็นกามคุณ ๕ ในอาหารเอง มันมี ๔ มีรส มีรูป มีกลิ่น มีสัมผัส มันไม่มีเสียง เสียงชวนกินมันไม่มีน่ะ ตัวอาหารเอง มันทำเสียง ชวนกินไม่มี ใส่จานมาแล้วมันก็ดังปู๊ดๆ มันชวนไม่มี ใส่ชามมาแล้ว มันก็ดังแป๊ดๆ ป๊าดๆ อะไรชวนกินมันไม่มี โดยเสียงเองมันไม่มี ของอาหารใช่ไหม มันจะมีไม่ได้ มันมีได้แค่รสในตัวเอง มันมีรสในตัวเอง มันมีรูปในตัวเอง มันมีกลิ่นตัวเอง มันมีสัมผัส แล้วเราก็ติด ๔ สภาพนี้ได้ ในเรื่องอาหาร เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ คนมันฉลาด ขี้มอมเมาคน มันก็เอาเสียง ไปประกอบ ที่แท้มันไม่เกี่ยวกันเลยกับอาหาร แต่ไปเล่นในร้านอาหาร โรงอาหาร จ้างกันแพงๆด้วย เสร็จแล้ว คุณก็ไปจ่ายเอง ที่จริงคุณกิน คุณไปจ่ายมันทั้งนั้นแหละ มันไม่ใช่มันให้ฟรีหรอก มันก็บวกไว้ ทั้งนั้นแหละ

เพราะฉะนั้น อันนี้สรุปให้ฟังว่า คนที่จะกินอาหารมื้อเดียวได้จริงๆแล้วต้องหมดกาม หมดกามกับ อาหารนี่โดยตรงเลย คนที่หมดกามในอาหารโดยตรงได้นะ กามเรื่องผู้หญิง ผู้ชายนี่สบายมาก เพราะฉะนั้น การปฏิบัติกับอาหารนี่แหละเป็นหนึ่งในโลก พิจารณาจริงๆ ไม่ใช่กินไปแต่ละวันๆ มันไม่ได้พิจารณา ไม่ได้ปฏิบัติ มันไม่ได้ประพฤติ กินอร่อย แล้วยังซุก ยังซ่อนกินอยู่ จ้างก็ไม่มีทาง บรรลุสุดยอดหรอก ไม่ล่ะ อาหารนี่เป็นหนึ่งในโลก พระพุทธเจ้าท่านยืนยัน ตรัสเลยนะ โดยเฉพาะ อาหาร กวฬิงการาหาร ก็คืออย่างนี้ ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร วิญญาณาหาร ก็ยังมีรายละเอียด ที่อธิบายแล้วอธิบายอีก ซึ่งประกอบกันไป

กินมื้อเดียวอย่างกดข่ม จะมีอานิสงส์อย่างไร
กินมื้อเดียวอย่างกดข่ม ก็มีอานิสงส์ ได้ความเคย ได้ความชิน แต่ไม่ล้างเสร็จ เหมือนฤาษี ก็มีประโยชน์ เป็นสมถะ แล้วก็เป็นสมถะ ช่วยได้ อย่างน้อยที่สุด ในกาย วาจา ในพฤติกรรม ที่เราละเราเว้น มันก็เป็นบุญ เป็นบุญเสี้ยวหนึ่ง ส่วนหนึ่ง ทำได้ตลอดชีวิตก็ยังดี ก็ได้ แต่มันก็ไม่ละเอียดลออ แล้วมันไม่สมบูรณ์ ดังที่กล่าวแล้ว ต้องมีวิปัสสนา ต้องมีตัวจริง ปฏิบัติ ประพฤติ มีรายละเอียด ของญาณปัญญาเห็นแท้ ลดละกิเลส เห็นกิเลส ล้างกิเลส หมดกิเลสจริงๆ หมดจริงๆ ไม่หมดมันก็ยังเหลืออยู่นั่นแหละ ก็ภาษาธรรมดา ก็ภาษากำปั้นทุบดิน ไม่หมดมันก็เหลือ ถ้ามันหมดมันก็ไม่เหลือ มันก็ภาษากำปั้นทุบดิน ต้องเป็นจริงๆอย่างนั้น เอ้า นี่ แถมให้ จะได้เข้าใจ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติได้ จะเร็วหรือช้าก็ตาม หรือว่าได้นานก็ตาม กินมื้อเดียวได้นานก็ตาม ก็กดข่มได้ แต่จะได้จริงๆ แล้วต้องอาศัยการพิจารณา การอ่าน การปฏิบัติ เป็นสมณะแล้ว นี่ด้วยกฎด้วยระเบียบ พวกเรานี่ไปแอบกินก็เสียพระหมด ก็เลยไม่แอบละนะ ไม่แอบก็ตาม ก็กดข่ม แล้วก็ทำจนชำนาญ จนชิน มันก็ทำได้ เป็นสมถะ สมถภาวนา เป็นผลแห่งการกดข่ม หรือการฝึกปรือ เคยชิน แต่ถ้าไม่มีวิปัสสนา จนกระทั่งถึงญาณบรรลุหลุดพ้น ล้างละกิเลสนั้นออกได้จริงๆ จนเกิดปัญญา มีศรัทธา เชื่อในคำพูดนี้ เชื่อในคำอธิบายนี้ เชื่อในเหตุผลนี้ เชื่อแล้วก็ไปเริ่มต้นศีล ศีลก็คือจะไปปฏิบัติหัวข้อนี้แหละ ให้เป็นผู้ที่กินมื้อเดียว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงฉันแต่ที่นั่ง แห่งเดียวเถิด การฉันที่นั่งแห่งเดียวนั้น มีอานิสงส์ ๕ ประการ อะไรอย่างนี้ ต้องเห็นอานิสงส์  ต้องลดละ อย่างสะอาดบริสุทธิ์จริงๆ ปฏิบัติประพฤติไป จนชัดเจนจริงๆ

เพราะฉะนั้น ได้ปฏิบัติจนตาย เป็นพระอรหันต์แล้ว ก็ยังจะต้องกินอาหารอยู่อีกนั่นแหละ แต่การกินอาหารของพระอรหันต์แล้ว กินด้วยจิตว่าง ไอ้ที่คุยโม้ว่ากินด้วยจิตว่าง กินเนื้อเป็นยักษ์ กินผักเป็นมารอะไรอยู่นั่น แล้วก็บอกว่าต้องไม่กินเนื้อ ไม่กินผัก ถึงจะไม่ใช่ยักษ์ ไม่ใช่มาร กินด้วยจิตว่าง ถึงจะประเสริฐ พูดถูก แต่ตัวจิตว่างจริงหรือเปล่า ถ้าตัวจิตไม่ว่างจริง แล้วทำที เป็นจิตว่าง หลอกคนอื่น อวดอุตริมนุสธรรม เป็นสมณะก็ปาราชิก เพราะกินโดยไม่มีจริง ไม่มีผลจริง ไม่มีความเป็นจริง ตัวเองกินไม่ด้วยจิตว่างจริงๆ อ่านอะไรก็ไม่ออก กิเลสมันมีขนาดไหน ก็ไม่รู้ตัว เสร็จแล้วก็หลงว่าตัวเองจิตว่าง จะอนุโลมได้ว่าไม่ปาราชิกอยู่ที่ความหลง เท่านั้นแหละ หลงผิด นึกว่าตัวจิตว่าง อ่านไม่ออก ดูไม่ออก แต่แท้จริง ตัวยังไม่ได้ว่างจริงเลย แล้วทำคุยเขื่องว่า เอ้อ ! กินด้วยจิตว่าง พวกนี้ยังอย่างนั้นแหละ ยังชั้นต่ำ กินยังมีศีล มีเศิลอยู่ กินเขาก็ต้องหมดศีลแล้ว พ้นศีลแล้ว ถึงขั้นจิตว่างแล้ว กินด้วยจิตว่างไม่ยึดมั่นถือมั่น กินเนื้อสัตว์ หรือกินอะไรๆ ก็เหมือนกินเนื้อลูกเฉยๆ สบาย ไปกินเนื้อลูกจริงๆหน่อยเถอะนะ จะสบายไหม พูดเป็นนิยายไปได้

เอาละ อาตมาขออธิบายตัวศรัทธาก่อน เปิดไปที่หน้า พอถึงหน้า ๗ แล้วก็ไปที่หน้า ๑๐ ศรัทธา ๔ นะ ที่จริงอาตมาจะอธิบายทรัพย์ก่อน แล้วถึงจะอธิบายไปเป็นขั้นๆๆๆๆ ใครมีหนังสือนี้อ่าน อ่านตามไป พลางๆได้ อ่านก่อนได้ อ่านนำได้ แล้วอาตมาจะพูดถึงไปบ้างในตอนอธิบาย แล้วจะค่อยๆไล่ไป

ศรัทธา ๔
๑.กัมมสัทธา คือ เชื่อกรรม
๒.วิปากศรัทธา เชื่อวิบาก
๓.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน
๔.ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ตถาคตโพธิสัทธานั้น ตรงนี้ วงเล็บเติมไว้อีกว่า ข้อ ๔ นี้มีไว้ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๓ ข้อ ๔ อีก ในนี้ก็จำไม่ได้ว่า ได้ลอกมาด้วยหรือเปล่า แต่ไม่มีปัญหาหรอก เพราะว่า เชื่อในพระพุทธเจ้า เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มันก็เหมือนกับอันแรก ที่เราได้อ่านแล้ว ศรัทธาคือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้เหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ คำว่าแม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์นั้นน่ะ เราฟังภาษา ก็เผินๆ ความจริงน่ะ เพราะเหตุนี้ๆ คือเช่นว่า พระพุทธเจ้านั้น หมดกิเลสจริงๆ นี่แหละ ท่านถึงเป็นพระอรหันต์

พระพุทธเจ้านั้น เป็นผู้ที่ไม่มีความโกรธ ความโลภ ความหลงจริงๆเลย นั่นแหละ เพราะเหตุอย่างนั้นแหละ พระพุทธเจ้าจึงได้เป็นพระอรหันต์ เพราะเหตุที่เป็นผู้ที่ขยันหมั่นเพียร มีพระปัญญาธิคุณเลิศยอด มีพระเมตตา เป็นพระกรุณาธิคุณสูงส่ง นั่นแหละ เพราะอย่างนั้นแหละ ถึงเป็นพระอรหันต์ ยิ่งเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีทศพลญาณ นั่นแหละ เพราะเหตุที่ท่านมีทศพลญาณ นั่นแหละท่านถึงได้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะมีเวสารัชญาณ นั่นแหละ ท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เพราะเหตุที่ท่านมีเวสารัชญาณ ฝึกฝนตนเอง จึงมีอย่างนั้น มีพระญาณมากมายก่ายกอง มีอะไรต่ออะไรต่างๆนานาประกอบ นั่นแหละ ท่านถึงได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นพระอรหันต์ธรรมดาก็ตาม เพราะเหตุ ท่านเป็นคนหมดกิเลส เพราะเหตุท่านเป็นคนหมดเกียจ หมดคร้าน หมดความท้อแท้ หมดอะไรต่ออะไรต่างๆนานา ขยายความเพราะเหตุอย่างนั้นแหละ ท่านทำอย่างนั้นได้จริงๆ เป็นจริงๆ ท่านถึงเป็นผู้ที่ชื่อว่า อรหันต์ อย่างนี้เป็นต้น

ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ท่านตรัสรู้ ไม่มีใครสอน ถึงคราวที่ไม่มีใครสอน ตั้งแต่เป็นปัจเจก ก็เริ่มต้นไม่ต้องมีใครสอนได้แล้ว จนกว่าจะสูงขึ้นไปเป็นปัจเจกพุทธ สูงจนกระทั่ง ไม่มีใครสอนได้ อย่างยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดมาอีก แต่ละชาติๆ ก็ยิ่งห่างจากคนอื่นจะสอน ไปเรื่อยๆ แต่ก็มีสิ่งสืบต่อ เพราะว่าโดยหลักการของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่มีอะไรโผล่ขึ้นมาเอง ไม่มีอะไรเกิดเอง ทุกอย่างมีมาแต่เหตุ เพราะฉะนั้น ท่านจะได้อันนี้มา ก็มีเหตุที่มา ท่านเคยเป็น ลูกศิษย์พระพุทธเจ้า องค์ก่อนๆๆๆ หลายพระพุทธเจ้า อาตมาไม่เคยเจอหรอกนะ แต่พวกเราเจอ ท่านสมณะลักขโณ เคยบอกกับอาตมาว่า อ่านในตำราของมหายาน เกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง กว่าจะแค่อธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ จะต้องได้พบพระพุทธเจ้ามาแล้วถึง ๕ แสนรูป พบพระพุทธเจ้ามาแล้ว ๕ แสนรูป แค่อธิษฐานจิตเป็นพระโพธิสัตว์ นั่นแหละ คิดดูซิ แล้วพวกเรา จะได้เป็นพระโพธิสัตว์นี่ มันจะยังไงล่ะ ไปถึง ๕ หมื่นหรือยังล่ะ อ๋อ! ครบ ๕ แสนเหรอ ต้องเปล่งวาจาว่า จะเป็นพระโพธิสัตว์แล้ว ต้องพบมาเท่านั้นเท่านี้รวมกันแล้ว ต้องพบพระพุทธเจ้า ถึง ๕ แสนพระองค์ อย่างนี้ เป็นต้น

มันต้องผ่าน ต้องพบ ต้องมีอะไรต่อเนื่องกันมาแต่เหตุ แม้เราบอกว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ตรัสรู้เอง หรือปัจเจกพุทธ คือผู้ตรัสรู้เองแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีที่มา ถ้าไม่มีที่มาก็ขัดแย้ง กับคำสอนว่า ทุกอย่างมาแต่เหตุ มีที่มา ถ้าเราเชื่อว่า ทุกอย่างต่อเนื่องชาติที่แล้ว ชาติที่โน้น เท่านั้นเท่านี้ แล้วก็มีเหตุปัจจัยอันนั้น ได้สั่งสมมาจริงๆ ไม่ใช่อยู่ดีๆลอยๆมาเองฟลุกๆ ไปคว้าเอา ของใครมาก็มีไม่ได้ ต้องของตน ไปคว้าเอามาไม่ได้ ของตนๆ ต้องเอาได้อย่างมั่นคงแข็งแรง ด้วยฝึกฝนเอา สร้างเอา เรานั่นแหละเป็นผู้สร้าง

เพราะฉะนั้น ศาสนาพุทธจึงล้มล้างลัทธิพระผู้สร้าง ลัทธิพระเจ้า ว่า เรานั่นแหละสร้างเอง เราจะสร้างให้เราดีให้เราชั่ว เราจะสร้างให้เรามีวิบากอย่างไร มีผลอย่างไร สั่งสมเป็นวิบากอย่างไร ก็เพราะเรา ไม่ใช่คนอื่น

ศรัทธา ๔ นี้ อาตมาเอามาอ่านก่อน ก็เพื่อที่จะเอามาประกอบ ในการจะอธิบายเสริมเข้าไปว่า เรื่องของศรัทธานี่น่ะนะ จะต้องเป็นผู้ที่เกิดความจริงว่าเราเชื่อกรรม เราไม่ได้เชื่อพระเจ้า นี่เป็นตัวหลักเหมือนกัน เราไม่ได้เชื่อใครมาสร้าง ใครมาบันดาล เราเชื่อเพราะเราทำ กรรมนี่คือเราทำ เราทำเอง เราเป็นเอง เราทำน้อยก็เป็นน้อยๆ เราสั่งสมมากๆก็เป็นมากๆ สั่งสมอย่างใดไว้ อย่างสั่งสมทุจริตอกุศล ก็เป็นทุจริตอกุศล สั่งสมที่เป็นสุจริตเป็นกุศล ก็เป็นสุจริตเป็นกุศล สั่งสมเราทำเอง ปฏิเสธไม่ได้ตั้งแต่เริ่มคิด ตั้งแต่เริ่มดำริ ตั้งแต่เริ่มมี เกิดการเป็นบทบาทกิริยา ของกรรม ตั้งแต่นิดๆ ตั้งแต่จิตเป็น อารัพภธาตุ อารัมภธาตุ ธาตุที่มันเริ่ม มันไม่นิ่ง มันไม่เฉย คุณจะตามจิตของคุณ ได้ถึงขนาดอารัพภธาตุ อารัมภธาตุ จนกระทั่งถึงสังกัปปะอะไรขึ้นมา มันเริ่มดำริ เริ่มคิด เริ่มอะไรนี่ คุณจะต้องมีญาณ อ่านอาการเหล่านั้น ซึ่งเป็นนามธรรม อ่านออกจริงๆ อ่านได้ อ๋อ! จิตเราเริ่ม มันลอยฟุ้งขึ้นมา แล้วก็เป็นตัวบทบาท บทบาทกำลังตัวจะไป ในทางไหน บทบาทของความคิด ความนึกคิดของทางจิตนี่ มันจะไปทางชั่ว หรือทางดี แล้วคุณ จะวิจัยออกว่า อะไรมันชั่ว อะไรมันดี จะต้องสัมผัสของตัวเอง จะต้องหยิบจับของตัวเอง ตามของตัวเองได้ แม้ความคิด พูด นี่ยิ่งเป็นตัวหยาบ กายกรรมยิ่งหยาบใหญ่ตาม ต้องรู้ตามว่า อย่างนี้ควรหรือไม่ควร

เพราะฉะนั้น กรรมจึงสำคัญ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมเท่านั้นแหละในโลก ไม่มีกรรมอื่นกว่านั้น เราเชื่อว่า ตัวกรรมนี่เป็นตัวจริง กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมเป็นของของตน กรรมเป็นมรดก กัมมทายาโท กรรมจำแนกสัตว์ จะจำแนกให้เราเกิดมาในที่ดี ที่ชั่ว เกิดมาผิวพรรณงาม ผิวพรรณทราม จะหล่อ จะสวย หรือไม่หล่อ ไม่สวย จะเกิดมาดี เกิดมาชั่ว เกิดมาได้ยาก หรือว่าเกิดมาต้องตกทุกข์ เกิดมาได้สบาย อะไรก็ตามใจ เพราะเราทั้งนั้น ไม่มีคนอื่น มาทำให้เรา เราเป็นผู้กระทำ เราเชื่อ นอกจากเชื่อกรรมเป็นตัวกระทำแล้ว เชื่อผล เรียกว่าวิบาก คำว่าวิบาก นี้คือผลที่รวมๆ ผลที่รวมๆเรียกว่าวิบาก ผล ตัวสรุปรวมๆ เป็นชุดๆ เป็นวิบาก แล้วมันก็เกิดจากผลที่เราได้สั่งสมกรรมไว้นั่นแหละ มีจำนวนมหาศาล มีมากมายเลย ทั้งกุศล และอกุศล

ศาสนาพุทธนี้ ไม่ล้มล้างกุศลและอกุศล ใครทำแล้วย่อมเป็นของเรา ย่อมเป็นมรดก เป็นกัมมทายาโท เป็นมรดกอยู่ที่ของเราทั้งนั้น ไม่มีใครมาแย่ง ไม่มีใครมาพราก ไม่มีใครมาเอาไป เราจะไม่เอา ปฏิเสธก็ไม่ได้ และสัดส่วนที่ได้สัดส่วนนั้น มันมีกรรมเป็นชุดๆ มีคนประมาท แล้วก็สอนกันประมาทว่า ไปฉวยเอาอีตอนก่อนตายนะ ตกกะไดพลอยโจน เราเกิดมา เราก็จะได้อะไรดี อันนี้ก็เป็นเรื่องประมาท แต่ที่จริงมันก็ทำอย่างนั้น มันก็สบายไปชั่วน้อยหนึ่ง ตรงชั่วระยะที่ก่อนตาย ก็ทำใจให้สบายนะ สงบ นึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทำจิตให้ว่าง สบาย มันก็ได้ แต่จะไปถือว่า สิ่งนั้นคือเป็นสิ่งที่ได้ สิ่งนั้นคือวิบากจะนำพา เป็นวิบาก เป็นส่วนหนึ่ง เหมือนกันของผล ที่เราทำอย่างนั้น เป็นองค์ประกอบหน่อยหนึ่ง ไปประกอบกับองค์ประกอบชุดหนึ่ง ที่เป็นวิบากนำพาให้คุณไปเกิดใหม่ ไม่ใช่ว่าไอ้แต่เฉพาะ ที่ก่อนตายเท่านั้น จะเป็นผลอันแรง แล้วก็เป็นตัวชี้ว่า ฉันจะต้องไปเกิด จะดีหรือไม่ดี ตรงวิบาก ตรงผลที่ได้กระทำตอนก่อนตาย แล้วตกกระไดพลอยโจนนึกถึงสวรรค์ เพ่งที่สวรรค์อย่างเดียว ก็เลยได้ไปสวรรค์ ทำไม มันถึงง่ายดาย อย่างนั้นก็ไม่รู้หนอ เขาก็แนะนำกันอย่างนี้เหมือนกัน

เพราะฉะนั้น ก็เลยทำให้คนประมาท คนนี่ประมาทบอกไม่ต้องไปทำอะไรมา ไปทำเอาก่อนตายก็พอ แล้วเราก็จะได้เกิดดี ไม่จริง วิบากนี้คือผล เป็นชุดๆ เรื่องนี้นี่ อาตมาได้ไปไขความพอดี ไขความให้แก่ หมอดวงใจ ไปนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช แล้วก็มีความคิด ได้เรียนมา ได้ฟังคำอธิบาย ของอาจารย์ บรรดาผู้ที่ท่านอธิบายมาว่านี่แหละ วิบากตัวนี้จะนำพาให้เราไปเกิด ส่งให้เราไปเกิด ได้สบาย เราไปเอาตอนตาย ก็เลยคิดแต่ว่า จะเอาแต่ตอนตาย ตอนปกติไม่ทำ ประมาทมากเลยนะ อย่างนี้มันทำให้ประมาทจริงๆด้วย เพราะฉะนั้น ก็ย่อหย่อนได้ หยวนได้ บอกไม่เป็นไรหรอก เอาไว้ตอนตายสำคัญที่สุด ยังไม่ตายนี่ ไม่ต้องหรอก มันอด มันอยาก เอ้า หยวนมันก่อน ไม่เป็นไร เอาไว้ตอนตาย ตอนนี้อย่าเพิ่งก่อน หยวนตอนนั้นก็พอ ยังไงๆก็ได้รับคำสอน จากอาจารย์ดีมาแล้ว อาจารย์ดี (นรก) นามสกุลแซ่นรก อาจารย์ดี สอนให้ลงนรกได้ง่าย

เพราะฉะนั้น ไม่มีวิบากเท่านั้น ไม่มีผลเท่านั้นที่มันจะ...อาตมาถึงได้ อ๋อ! เข้าใจอย่างนี้ อาตมาเคยเจออันนี้มานานแล้ว คนได้รับคำสอนอย่างนี้มา แล้วก็มาทวงอาตมานะว่า บอกให้ผม เข้าใจหน่อย นายพลเรือโทอะไร อาตมาก็จำชื่อไม่ได้ แต่ก่อนนี้ บรรยายอยู่วัดนรนาถ ทวงกันทุกที มาฟังธรรมทีไร ทวงเรื่องนี้ทุกที ผมอยากจะรู้ว่า ให้แน่ใจว่าก่อนตาย ผมก็อายุมากแล้ว ผมอยาก จะรู้จริงๆว่า ก่อนตาย มันจริงไหม บอกว่า ตกกระไดพลอยโจน นั่นแหละแล้วก็บอก เอาตรงนั้นน่ะ อาตมาก็อธิบาย แล้วตอนนั้นไม่มีปฏิภาณ ไม่มีความสามารถที่จะอธิบาย ให้แกฟังได้ จนกระทั่ง ชัดเจน ตอนนั้นมันยังไม่ชำนาญ ภาษาโวหารปฏิภาณมันยังไม่พอ อธิบายให้แกไม่ได้สักที พลเรือโทใบ หรือไง อาตมาจำไม่แม่น เป็นนายพลเรือโท ปลดเกษียณ แก่แล้ว แต่ตอนนี้อาตมาว่า อาตมาอธิบายได้

ยังอธิบายให้หมอดวงใจฟังเลยว่า บอกว่า ไม่ได้นะ วิบากนี่นะ เชื่อวิบากนี่ เชื่อกรรม คือการกระทำ ทุกระยะ โอกาส แล้วมันจะสั่งสมเป็นวิบาก สั่งสมเอาไว้เป็นผล แล้วผลเหล่านั้น เวลาเอามาใช้นี่ เหมือนกับเครื่องคอมพิวเตอร์นี่ มันสะสมข้อมูลไว้มากมาย แต่เวลาเอามาใช้ บางทีมันไม่ได้เอามาใช้ ทั้งหมดใช่ไหม เราต้องการจะเอามาใช้ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เราก็กดเอาส่วนนั้นๆ มาใช้ เวลาเราเกิดมานี่ เราไม่เอาวิบากทั้งหมดมาบวก ลบ คูณ หาร แล้วก็เอาออกมาใช้ทั้งหมด แต่มันก็มีฤทธิ์แรงของวิบาก ทั้งหมดนั่นแหละ นี่เห็นไหม มันซ้อน มีฤทธิ์แรง มากน้อยเอามารวม แล้วก็รวมออกมา สังเคราะห์ ออกมาเป็นผล คุณต้องเกิดมาเป็นอันนี้ เป็นผลรวม แต่ไม่เอามาวิบากทั้งหมด ไม่ได้มีเป็นวิบาก ทั้งหมด เช่นคนมีชั่วทั้งหมด แล้วชั่วบันดาล ให้คุณมาเกิดเป็นชั่วทั้งหมดเลย ไม่ ไม่ครบ มีดีทั้งหมด คุณก็เลือกเอาแต่ดีมาเกิดเองไม่ได้ มันจะเป็นชุดๆ แต่ละช่วงชาติ เพราะว่ากาละ เวลานี่มันจะมี องค์ประกอบไปแต่ละช่วง แต่ละชาติ แต่ละชาติๆๆๆๆ แล้วจะมีเหตุปัจจัย อันที่เป็นกรรมนี่แหละ สั่งสมมาบวก ลบ คูณ หาร ให้คุณออกมา เป็นชุดออกมา

เพราะฉะนั้น คุณจะเกิด ทีนี้หมอดวงใจ ถามว่า เอ๊! อย่างนี้ อยากตาย เพราะแกเป็น Lukemia มันทรมาน แล้วมันก็ตายดีกว่า ชาติหน้าก็จะได้ ร่างใหม่ เพราะเชื่อมาแล้ว ๒ ปีมาแล้ว มาพบอโศกนี่ ๒ ปีแล้ว ได้สะสมกุศลพอสมควรแล้ว เพราะฉะนั้น สบายใจแล้ว เกิดชาติหน้ามา จะได้ร่างที่ดีกว่านี้ อาตมาก็บอกเออ! มันเกิดปฏิภาณนะ บอกอ้อ ถ้าอย่างนี้แล้ว ก็ต้องเอาวิบากอธิบายแล้ว อย่างที่อธิบายให้ฟัง บอกว่าวิบากทั้งหมด นี่มันไม่ได้เกิดมา.. มันได้ภาษาอันนี้ด้วยว่า มันไม่ได้เอา วิบากทั้งหมดมา หรือว่าเอาวิบากดีที่คุณได้ ๒ ปีนี้ มาเป็นเหตุปัจจัย แล้วคุณก็จะได้ เกิดมาดี ไม่นะ ท่านอธิบายเอาไว้ว่า อกุศลวิบากนี่ มันแรง ไม่เหมือนกุศลวิบาก อกุศลวิบาก เหมือนหมาไล่เนื้อ ถ้าใครเคยได้ยินมานี่ ก็สอนกันมา พูดกันมานานแล้ว มันจ้องยิ่งกว่านะ ความโกรธแค้นนี่ มันจ้องยิ่งกว่า ความใจดีของคน ฤทธิ์แรงของความใจดีของคน มันไม่แรงเท่ากับ ฤทธิ์แรงของความใจร้ายของคนใช่ไหม ใช่ไหม ฤทธิ์แรงของความใจร้าย หรือ ฤทธิ์แรงของอกุศล มันแรง และมันเร็ว และมันพุ่งกว่า มันเหมือนหมาไล่เนื้อ ที่ฉวยโอกาส คอยอยู่เลย เขาวาดภาพ เห็นไหม หมาไล่เนื้อ คนขึ้นไปบนต้นไม้ มันก็ยังจ้องอยู่ที่โคนต้นไม้ มันไม่ไปไหนหรอก โผล่ออกมา มันงับ

เพราะฉะนั้น อย่านึกว่า กุศลวิบากแรงกว่าอกุศลวิบาก คุณนึกว่าจะเอาแต่กุศลวิบาก เกิดช้าช้า ไม่จริงน่ะ อกุศลวิบากจ้องมากกว่ากุศลวิบาก เพราะฉะนั้น คุณหวังหวานว่า จะเกิดมาคราวหน้า จะได้ดีกว่านี้ คุณแน่ใจหรือว่า คุณมีอกุศลวิบากน้อย มีกุศลวิบากมาก แน่ใจเหรอ อกุศลวิบาก กำลังรออยู่นี่ คุณจะตายเมื่อไหร่น่ะ ชาติหน้าคุณเกิดมา อาจจะได้ร่างหมา แกสะดุ้งเลย ตาย อย่างนั้นเหรอ ใช่ วิบากที่จะทำให้คนมาเกิด แต่ละช่วงชาตินี่ คือชุดของวิบากชุดหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ทั้งหมด ไม่ใช่กุศลทั้งหมด แล้วคุณแน่ใจหรือว่า คุณได้สร้างกุศลมากกว่าอกุศล ชีวิตคุณน่ะ แน่ใจเหรอ ถ้ายังไม่แน่ใจ แล้วอีกอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านสอนเอาไว้ว่า คนเกิดมาได้เป็นคนนี่ก็บุญ ยิ่งคนที่เกิดมาแล้ว ได้พบศาสนาพระพุทธเจ้า ได้พบศาสนาพุทธ เป็นคนมีบุญ ยิ่งกว่าคนได้พบ ศาสนาอื่น คำว่าได้พบนี่ ก็ลึกซึ้งนะ บางคนได้พบศาสนาพุทธ เกิดมาตั้งแต่ทะเบียน สำเนา สำมะโนครัว พุทธน่ะ แต่ไม่ใช่พุทธหรอก เป็นแพะที่ไหนก็ไม่รู้ บางคนได้บวชเป็นพระด้วยซ้ำไป แต่ก็ยังเป็นแพะอยู่ นั่นยังไม่ได้เป็นพุทธเลย ยังไม่ได้พบพุทธเลย คุณยังได้พบพุทธมากกว่า นี่ก็ลึกซึ้งเห็นไหม พบพุทธน่ะ พบขนาดไหน ได้พบถึงขั้นเอามา ยิ่งได้พบสัตบุรุษ เห็นไหม สูงขึ้นไปอีก ได้พบพุทธ แล้วได้พบสัตบุรุษ ได้ฟังธรรมะอันเป็นสัจจธรรม สัทธรรม ยิ่งเป็นบุญยิ่งกว่าอีกชาตินี้ ถ้าเราเชื่อว่า เราได้เกิดมาเป็นคน ก็บุญชั้นหนึ่ง เชื่อว่าเราได้พบพุทธ ในแนวลึกด้วยอีกชั้นหนึ่ง บุญมากแล้ว เชื่อว่าได้พบสัตบุรุษอีก ได้ฟังธรรมที่เป็นสัทธรรมอีก ชัด แล้วเราได้พบสิ่งที่เราได้ปฏิบัติ ประพฤติดี ได้มีศีล มีธรรม ได้ปฏิบัติ ได้พบผลของการปฏิบัติธรรม ก็ยิ่งเป็นบุญอีก ซ้อนลึกขึ้นไปอีก

ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสเป็นขั้นๆๆๆไว้ให้ฟังนี่นะ ชาตินี้คุณได้พบ หรือว่า คุณได้สิ่งที่เป็นพวกนี้ หลายข้อแล้ว ชาติหน้า มันจะได้พบพุทธไหมล่ะ ถ้าเกิดมาวิบากชุดนั้นน่ะ  ถ้าเกิดมาวิบากชุดนั้นน่ะ  ไปเกิดเป็นหมาหละ ไม่พบแล้ว มนุษย์ยังไม่ได้เป็นน่ะ ข้อแรกยังไม่ได้เลย

ข้อ ๒ ยังมาพบพุทธศาสนาอีก ยิ่งเลิกเลย เป็นหมาแล้วก็ไม่รู้เรื่องแล้วพุทธเพิท แล้วสัตบุรุษอันไหน อีกล่ะ เลิกเลย คุณแน่ใจหรือว่า ชาติหน้าเกิดมา แล้วจะได้ เพราะฉะนั้น ชาตินี้พบแล้ว อาศัยร่างนี้ จงทำไปจนกว่าจะตาย อย่าเพิ่งอยากตาย ใครเขาอยากจะพยายาม รักษาให้ พยายามจะอะไรให้ ช่วยเขาเถอะ มันตายแน่ๆ คุณไม่ต้องห่วงว่า คุณจะไม่ตาย อย่าเพิ่งอยากตาย แล้วอย่าเพิ่งลิดรอน เป็นหมอนี่ มันรู้เสียด้วยนะ มันหาทางตายก็ได้ง่ายๆ ว่าไม่ให้รักษา มันก็จะตายแล้ว แน่ะ ! รู้เสียด้วยนะ อย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ยอมรับ อะไรบ้าง มันก็รู้ มันรู้มากน่ะ แล้วก็เบื่อชีวิตเซ็ง อยากจะตายก่อน มันเป็นภาระ ตัวเองก็ทุกข์อะไร บอกอะไร ทุกข์แค่นี้ยังไม่เท่าไหร่หรอก เป็นวิบากของคุณ ทนเอา ช่วยๆเขา ตอนนี้ก็บ่นซิ จะเข้าต้องรักษา ตอนนี้ตั้ง ๓ course course ละ ๔ อาทิตย์ โอ้โฮ ! มันทรมานเหลือเกิน แต่ละที เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่จำเป็น เขาก็ต้องทำ ทุกคนช่วยได้ มีบุญนะ รักษาอย่างนี้น่ะ หลายคนนี่ ไม่มีบุญ ไม่ได้มีทุน ไม่ได้มีรอน มีเงิน มีอะไรมารักษาหรอก ตายไปแล้ว ก็ได้รักษานี่ยังมีทางรอด จะไปอยากตายทำไม มีกำลังใจซิ เซ็งทำไม พอเข้าใจจุดนี้ ก็เลยบอกเลิกแล้ว เลิกคิดแล้ว คิดอย่างนี้มานานน่ะ เอ๊ ! อาตมาไม่ไปวันนั้น สงสัยยังยาก อุตส่าห์เข้าโรงพยาบาลแล้ว ไปโปรดวันนั้น

สรุปแล้วก็คือว่า เชื่อวิบากนี่นะ ต้องเข้าใจด้วยว่า วิบากคืออะไรกันอีก  มันเป็นชุดๆ วิบากที่จะพา ให้นำเกิดนี่ มันก็เป็นองค์ประกอบ เป็นองคาพยพในแต่ละวาระ มีกาละด้วย เพราะฉะนั้น ในขณะที่ เราสั่งสมนี่ จะเป็นเหตุปัจจัยเป็นข้อมูล เหมือนคอมพิวเตอร์ เสริมข้อมูลได้อีก ถ้าคุณเสริมข้อมูล ที่เป็นกุศล กุศลก็ไปมีฤทธิ์ ไปมีวิบากชุดนั้นๆ มันอาจจะสั่งสมเก็บ มันอาจจะแบ่งเอามาบ้าง ซึ่งเราบอกตายตัวไม่ได้ แต่มันต้องเป็นตามสัจธรรม คุณยิ่งทำได้มาก ฤทธิ์ก็ยิ่งแรง ทำได้สูง ฤทธิ์ก็ยิ่งแรงมากด้วย คุณภาพสูงด้วย จัดด้วย มันก็ยิ่งมีฤทธิ์แรง มันก็เรื่องของสัจจะ ใช่ไหม คุณทำได้อ่อน คุณทำได้น้อย เหยาะๆ แหยะๆ มันก็ไม่ค่อยมีฤทธิ์อะไร มีกุศลเหรอ กุศลนิดหน่อย เก็บกระป๋องเอาไว้ก่อน ยังไม่เอามาใช้ล่ะ กุศลชั้นต่ำ เอาไว้ก่อน เอากุศลชั้นมีฤทธิ์มีแรงมาใช้ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น เกิดจากสัจจะทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น อย่าท้อถอยในการที่จะสั่งสมกุศล สั่งสมวิบากที่เป็นกุศลวิบาก อย่าไปท้อถอย พากเพียรอุตสาหะเอาให้ได้ จะได้รวมเป็นวิบาก ถ้าเราเชื่อวิบาก
๑. เชื่อกรรม ก็คือ ทุกอย่างเป็นพฤติกรรมของกาย วาจา ใจ
๒. เชื่อวิบาก เข้าใจในผล เข้าใจในสิ่งที่สรุปรวม และมีฤทธิ์ มีอำนาจเป็นวิบาก เพราะฉะนั้น เราถึงใช้คำว่า มันเป็นวิบาก เป็นวิบากๆๆๆ พูดติดปาก วิบากคือสภาพรวมของกรรม เป็นผลที่จะมี ทั้งในตัวเรา ที่เป็นมรดก มีทั้งที่ เอามาใช้แต่ละกาละ นี่มีวิบาก

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน เชื่อแน่เลยว่า กรรมนี่ เราไม่ได้จากใครมา ไม่มีใครมาบันดาล ไม่มีใครมาสร้างให้ เกิดจากกรรมทั้งนั้น กรรมเป็นกำเนิด กรรมเป็นเผ่าพันธุ์ กรรมเป็นตัวที่ต่อเนื่อง กรรมพันธุ์นี้ มีฤทธิ์มีแรงของเราเองนะ เรามีพันธุ์นี่ เราสร้างพันธุ์ มันเป็นการต่อเนื่อง พันธุ์ก็คือการต่อเนื่อง การสืบต่อ ไม่ได้มีอื่น มันจะต่อๆๆๆๆมา เพราะเรา แท้ๆเลย เพราะกรรมของเรา ที่เป็นกัมมัสสกตา เป็นกรรม เป็นของของตน ไม่ใช่ของคนอื่น ไปหยิบไปจับ ไปโกงไปขโมย ไปอะไรมาไม่ได้ทั้งนั้นแหละ เอาของใครมาไม่ได้ ขี้ตู่กลางนา ขี้ตาตุ๊กแกของใครก็ไม่ได้ ตู่เอาไม่ได้ เป็นของจริง ที่เป็นที่มีของเราทั้งนั้น สัตว์ที่มีกรรม เป็นของของตนเท่านั้นเป็นมรดก แต่ก็อย่าไปเห็นแก่ตัว จนกระทั่งไม่ได้แล้ว เราต้องรีบเอาแล้ว กรรมดีอันนี้ เราไม่แบ่งให้ใครแล้ว แหม ! ก็เกินไป

นี่ถามแทรกมาว่า  ผู้เข้าถึงอริยะตั้งแต่ระดับต้น ย่อมได้เกิดมาเป็นมนุษย์ใช่ไหมครับ

คำว่าเป็นมนุษย์ หมายถึงใจนี่น่ะ ไม่ได้หมายร่างกายเท่านั้น เพราะฉะนั้น เราก็เคยได้ยินว่า โพธิสัตว์ไปเกิดเป็นปลา โพธิสัตว์ไปเกิดเป็นช้าง โพธิสัตว์ไปเกิดเป็นกวาง เป็นอะไรอย่างนี้เป็นต้น เราเคยได้ยิน ร่างกายเป็นสัตว์ แต่ใจมนุสโส นี่คือใจสูง เพราะฉะนั้น อย่าไปเข้าใจตื้นๆแต่ว่า เกิดเป็นมนุษย์ ก็คือเอาแต่ร่างกาย ใจน่ะ มนุสโส หมายถึงใจ เพราะฉะนั้น ร่างกายเป็นสัตว์เดรัจฉานก็ได้ แต่ใจเป็นมนุษย์จริง เพราะฉะนั้น อริยะ จะเป็นระดับต้น หรือ ระดับไหนก็ตาม วิบากตามคุณภาพของมัน มีใจสูงระดับไหน ตัวนั้นแหละ เป็นตัวจริง ตัวจิตวิญญาณ หรือใจนั่นล่ะ เป็นตัวจริง ส่วนร่างกายนั้นพูดไปแล้ว เราเรียนระดับชั้นสูงแล้ว ถ้าเรียนชั้นต้นๆ พูดเดรัจฉาน หรือสัตว์ แล้วก็พูดแต่โน่นแน่ะ สัตว์เดรัจฉาน เป็นตัวร่างกาย พอชั้นสูงขึ้นมาแล้ว ต้องเอาให้ชัดว่า เราเป้าหมายลึกเข้าไปหาจิตวิญญาณเป็นหลัก

๓. กัมมัสสกตาสัทธา ศรัทธาหรือเชื่อในกรรมเป็นของของตน กรรมเชื่อความที่สัตว์มีกรรม เป็นของของตน มีการกระทำเป็นของของตน สั่งสมกรรมเป็นของตน แล้วก็จะมีวิบาก มีผลต่อเนื่อง มีวิบากที่จะส่งผล ออกฤทธิ์ออกแรง ทำอะไรต่ออะไรต่อไป ก็เป็นเรื่องของกรรมทั้งนั้น ตนทั้งนั้น เป็นตัวผู้สร้าง ผู้ทำ จะเบี้ยว จะเพี้ยน จะตรง จะได้มากได้น้อย อยู่ที่เราทำเอาเองทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ตัวเราจึงเป็นผู้ต้องทำให้แก่ตัวเรา

๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ความเชื่ออันนี้ ความเชื่อนี่ เป็นเรื่องที่ มีคุณภาพของตัวมันเอง ลองฟังภาษานี้ดีๆ คนเราว่า เราเชื่ออย่างพวกคุณนี่ คุณเชื่ออาตมา คุณเชื่ออาตมานี่ แต่ละคนเชื่อนะถึงมาฟังธรรมะอาตมา ถึงมาพยายามติดตาม ดำเนินตาม เชื่ออาตมา แต่ๆละคนที่เชื่อนี่ มันมีคุณภาพของความเชื่อนี่ไม่เท่ากัน เชื่อมาก เชื่อน้อย โดยสามัญ กว้างๆ เราว่าเชื่อมาก แต่ลึกๆ มันยังมีตัวเชื่อเป็นตัวศรัทธินทรีย์ ศรัทธาพละ เป็นตัวอินทรีย์ อำนาจของความเชื่อ กำลังของความเชื่อ ไม่เหมือนกันหรอก เราควบคุมมันยาก แล้วมันเป็นจริง เป็นจริง คุณฟังนี่คุณเอาสามัญสำนึกมาฟัง คุณว่าเชื่อ เชื่อๆๆๆนะ แต่ใจมันไม่ค่อยเชื่อ มันเชื่อกู เชื่อตัวเอง มันเชื่อตัวเอง หัวไอ้เรืองนี่แน่กว่า ฟังโดยสามัญนี่ เปิดใจรับเต็มที่เลยนะว่าเราจะเชื่อ จะเชื่ออาตมา จะเชื่อ แต่พอลับหลังไปหน่อย ผีหลอกหน่อยเดียว ไปกับผีหมดแล้ว ฟังให้ชัดๆ ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น อำนาจแห่งความเชื่อนี่ เรากว่าจะเชื่อพระพุทธเจ้า ถ้าพระพุทธเจ้าพูด พระพุทธเจ้า ตรัส แน่นอน คุณให้ความเชื่อถือมากกว่าอาตมา คุณจะเชื่อมากกว่าก็จริงอยู่ อาตมาพูด คุณเชื่อถือมาก องค์อื่นอาจจะไม่นับถือเท่า ก็เชื่อน้อยกว่า หรือบางองค์บางคน เชื่อบางองค์ มากกว่าอาตมาก็มี องค์นี้พูดนี่เชื่อมาก อาตมาพูดไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ๆ แต่โดยสามัญ รู้สึกว่า ต้องยกไว้ ถ้าพูด แต่ยังหรอก ไปเจาะเอาคนโน้นน่ะ อาตมาบอกว่า ไอ้นี่อย่าเชื่อเหมือนกัน แต่ ไปปรึกษาคนโน้นบอกว่า เอาเลยๆ เอาตามองค์โน้นเลย แล้วไม่มาบอกอาตมาด้วย ไม่บอกหรอก เอาตามองค์โน้นเลย นี่ มันเป็นอย่างนี้อยู่ จริงเห็นมั้ย ตัวอินทรีย์พละ ตัวลึกๆของจิตนี่ เชื่อ มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆน่ะ ศรัทธานี่

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เราจะต้องมีตัวปัญญานี่แหละเป็นตัวที่จะต้องพิจารณา เอามา ปัญญากับศรัทธา ต้องคู๋กันจริงๆ ไปด้วยกัน ต้องพิจารณาไตร่ตรอง ต้องอย่าไปหลงปักใจกับใคร กับใคร เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้า ไม่ให้หลงปักใจ แม้แต่ครูของเรา แม้อาตมาเอง อาตมาก็ไม่บังคับคุณ ไม่ให้เชื่ออาตมา ดายๆ อย่าไปเชื่อน่ะองค์โน้น องค์โน้นน่ะเป็นลูกศิษย์อาตมาด้วยซ้ำนะ เล็กกว่าอาตมานะ ต้องเชื่ออาตมานะ อาตมาก็ไม่เคยพูดอย่างนี้ใช่ไหม

เพราะฉะนั้น ไม่เอาละ พูดอย่างนั้นไม่เอา ปัญญาของคุณ จะเป็นตัวสำคัญ เป็นตัวที่จะต้อง พิจารณา ต้องฝึกปัญญา ปัญญาถึงจะลึกแหลม ฝึกจริงๆ มีความไม่ลำเอียง ไม่ลำเอียง ไม่ได้เข้าข้างตน ไม่ลำเอียง ไม่ได้เข้าข้างครูของเรา ไม่ลำเอียงแม้แต่เข้าข้างคนที่เราชอบ เรารัก เราพอใจ ต้องให้จริงเลย เอาเห็นให้เด่นชัด ศรัทธา และโดยรวมๆ เราก็เชื่อว่า พระพุทธเจ้า เป็นยอดมหาบุรุษ ที่เราจะต้องศรัทธาท่าน เราไปดูซิ เราศรัทธาเพราะอะไร ศรัทธาพระพุทธเจ้า เพราะอะไร อาตมาขอพูดเอาไว้ก่อนอื่นว่า ศรัทธาเพราะท่านตรัสว่าอย่างนี้ดี อย่างนี้ชั่ว อย่างนี้ประเสริญที่สุด อย่างนี้วิเศษที่สุด แล้วท่านก็ทำจนได้ แล้วเราก็เชื่อว่าท่านพ้นทุกข์จริงๆ ท่านประเสริฐสุดยอดจริงๆ มีคุณค่า มีประโยชน์ต่อมนุษยชาติจริงๆ ยิ่งใหญ่ เราเชื่อ

ศรัทธาเพราะว่าปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคต เพราะเหตุนี้ๆทุกอย่างที่ท่านเป็น ท่านมี ท่านพูด ท่านมีกิริยา ท่านมีกรรม ทุกอย่าง อย่างอาตมานี่ บางทีพูด อย่างนี้ดี แต่ตัวเองก็ยังละเมิด ละเมิดในสิ่งที่ว่าอย่างนี้ดีกว่า แต่อย่างนี้ไม่ดีอย่าทำ แต่อาตมาก็ยังทำอยู่หลายๆอย่าง ที่มันต้องทำ จะไปแก้ตัวยังไงก็ช่างเถอะ มันก็ยังไม่ลงตัว แต่พระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่พูดอย่างใด ตรัสอย่างใด ทำอย่างนั้น ตรง ยิ่งกว่าละเอียดหมด อาตมายังมีจุดบกพร่อง ยังมีจุดที่พูดอย่างนี้ดี หลายครั้ง หลายคราว ก็ทำดีหรอก แต่ยังมีหลายครั้งหลายคราวยังบกพร่อง ยังไม่ทำดีอย่างนี้ ไปทั้งหมด อะไรอย่างนี้เป็นต้น มันยังมีอยู่ เพราะเหตุนี้ๆ เหตุทั้งหมด ที่พระพุทธเจ้าเป็นอยู่นั่นแหละ พระพุทธเจ้าจึงชื่อว่า เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือไปเอาจำเพาะลงไปที่อรหันต์ตัวสำคัญ เพราะกิเลสหมด จึงชื่อว่าอรหันต์ เพราะมีพระเมตตา หรือว่ามีความเมตตาแผ่ไปทั่ว มีความอดทน เพียงพอจริงๆ เป็นคนที่มีกิเลสหมดจริงๆ จึงเป็นพระอรหันต์ อะไรอย่างนี้เป็นต้น แล้วตรัสรู้เอง โดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คำว่าตรัสรู้เองนี่แหละ ซ้อนเชิง ฟังดูดีๆ

แม้คุณเอง จะได้ฟังเทศน์จากอาตมาไป แต่ฟังไปแล้ว คุณเอาไปปฏิบัติ คุณก็ไปปฏิบัติจนเกิดเอง เป็นเอง แล้วรู้เห็นของตนเอง เป็นเอง ไม่ได้ไปมีใครรู้แทน นั่นก็คือ ตรัสรู้ด้วยตนเอง ตรัสรู้ของตนเอง จึงเรียกว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ใช้คำว่า ปัจจะ หรือ ปัจจัตตัง นี่เหมือนกัน ปัจเจก หรือปัจจะนี่ เหมือนกัน เป็นตัวที่ตรัสรู้สิ่งนั้น ปัจจุบันนั้นมีอันนั้น ปัจจะ ปัจจุบันนี่ โดยสารัตถะแล้ว ภาษาอังกฤษมันควรใช้ actual actually หรือ actuality ซึ่งเป็นปรากฏปัจจุบันนั้นนั่นแหละ คือความจริง ของจริง เมื่อถึงที่สุดแห่งความจริง ก็คือตัวจริงอันนั้น actually actual นั่นแหละ คือปัจจุบัน เป็นสิ่งที่เป็น ที่มี ที่เกิดกิริยานั้น อันนั้น กิริยาว่างจากกิเลส ก็ต้องมีตัวญาณที่รู้ รู้ความว่างจากกิเลส กิริยาอาการที่ว่างจากกิเลส อารมณ์ที่ว่างจากกิเลสเป็นอย่างไรๆ เป็น actual อันนั้น เป็นปัจจุบันกรรม อันนั้น นั่นแหละ เป็นปัจจัตตัง คุณเห็นเอง คุณตรัสรู้เอง คุณมีของตนเอง ไม่ใช่ไปเอาของคนอื่นมารู้ ไม่ใช่มารู้จากฟังมา จากคิดนึก แต่จากผลที่มันเกิดแล้ว เป็นแล้วในปัจจุบันนั้น จึงเรียกว่าปัจจัตตัง หรือปัจเจก เป็นสิ่งที่เกิดในปัจจะนั้น ครบสมบูรณ์อยู่ตรงนั้น นั่นเรียกว่า ตัวตรัสรู้เอง ในซอยลึกลงไป ในแต่ละบุคคล ถ้าเรามีอันนี้ของตนเอง จนกระทั่งครบก็เป็นอรหันต์ เป็นตัวสมบูรณ์ บริสุทธิ์ บริบูรณ์หมด เป็นพระอรหันต์ คุณก็ตรัสรู้ของตนเองเป็นเองแล้ว เริ่มเป็นปัจเจกแล้ว เริ่มเป็นของตนเองแล้ว

เพราะฉะนั้น ในโอกาสต่อไป คุณก็ได้สั่งสมอันนี้เป็นวิบากแล้ว สั่งสมกรรมอันนี้เป็นจริง มีจริงแล้ว

อ่านต่อ หน้าถัดไป
FILE:1337A.TAP