ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๖
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
ในงานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๑๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ

แผล็บๆก็วันที่ ๗ ของงานแล้วนะ ไว พลุ้บๆพลั้บๆ เพราะฉะนั้น มันทุกอย่าง ถ้าเผื่อรู้สึกว่า มันไม่ทุกข์ รู้สึกว่ามันมีคุณค่า มันมีประโยชน์อะไร มันก็จะรู้สึกว่ามันไวนะ แต่ถ้าเผื่อว่า อะไรรู้สึกว่ามันทุกข์ มันไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ อะไรๆ ก็ดูมันขลุกขลัก มันลำบากอะไรไปหมด นี่ รู้สึกว่ามันนานๆ กว่าจะผ่าน กว่าจะหมดวัน กว่าจะหมดเวลา กว่าจะหมดนาทีไปนี่ ดูมันยากไปหมด มันก็เป็นความจริง

เอ้า ! มาต่อ ๆ ถึงยังไงๆ อาตมาก็อธิบายจบไปทั้งหมด เท่าที่มี มา เท่าที่ขยายสอดซ้อนสอดแทรก อะไรต่ออะไรไปทั้งหมด ก็คงไม่หมดแน่นอน แต่ตั้งใจอยู่ มันก็ต้องไปถึงขั้น ต้องไปต่อที่นั่นแหละ พุทธาภิเษกฯโน่นแหละ ใครไปต่อได้ก็ไป ใครต่อไม่ได้ก็คอยฟังเท็ปเอา ฟังสรุปเอา ถ้าโชคดี ก็อาจจะได้อ่านเป็นหนังสือ เพราะว่าต้องไปเรียบเรียงถอดเท็ปอะไร แล้วก็เอาไปเรียบเรียง ทำเป็นคำ อธิบายอะไรให้มันชัดเจนขึ้น เพราะว่าธรรมะของพระพุทธเจ้านี่มากหลากหลาย และท่านก็ไม่ได้ ขยายความสอดซ้อน อย่างที่อาตมาสอดซ้อนให้ฟังนี่ ท่านก็อธิบายเป็นหัวข้อเอาไว้เยอะแล้ว สมัยโน้น ท่านเข้าใจ ท่านเข้าใจกัน เข้าใจง่ายในเรื่องของสภาพหมุนรอบเชิงซ้อน หรือ ความมีปฏิสัมพันธ์ของมัน มันอย่างนี้นะ พอหยิบมาแต่ละหัวข้อ แต่ละสูตร แต่ละเรื่อง เข้ามาสอดร้อยกันแล้ว จะเห็นได้ว่า มันมีความเกี่ยวเนื่อง แล้วมันก็ขยายกันไปตลอด

เมื่อวานนี้ อธิบายเรื่องศีล ตอนหลังๆ ก็รีบๆต่อๆไปเลย ไม่ได้ขยายความอะไรกันให้มาก ไม่ได้พูดละเลียด หรือพูดละเอียดอยู่หลายตอน ตอนหลังๆ ก็เลยมาต่อกัน ก่อนจะต่อก็ศีล ที่จริงศีลนี้น่ะ พระพุทธเจ้าท่านตรัสอานิสงส์ของศีลไว้ มากมาย ศีลยังประโยชน์ให้สำเร็จ ตราบเท่าชรา ศีลจะพาให้สำเร็จไปได้จริงๆ ตราบเท่าชรา ศีลนำสุขมาให้ตราบเท่าชรา ศีลจะพาให้มีสุข เป็นสุข ถ้าเผื่อ เป็นศีลดังที่กล่าวไปแล้ว

เมื่อวานนี้ก็ได้ไล่ไปให้ฟังแล้วว่า  ศีลจะมีอานิสงส์อย่างไร อย่างไรๆ ถ้าปฏิบัติเกิดกุศล เกิดกุศลก็คือ เกิดเจริญ เกิดดี มีความฉลาด แล้วก็มีการบรรลุ ตั้งแต่อวิปฏิสาร จะไม่มีความเดือดร้อน แต่จะเป็น ความสุข แล้วอาตมาก็ขยายให้ฟังแล้วว่า ธรรมดาแม้มีศีลอยู่ปฏิบัติ แล้วเราก็ยังมีกิเลส แล้วเราก็ยังมีสิ่งที่เราละ หลุดพ้น จาคะ สละออกยังไม่ได้นั้นน่ะ มันจะตั้งตน อยู่ในความลำบาก หรือมันจะทุกข์ ทุกขายะ มันจะเป็นทุกข์อยู่ พระบาลีเขาเรียก ทุกขายะ มันจะมีสภาพของ ความทุกข์นั้นอยู่ มันจะมีความลำบากอยู่ แต่ว่ามันก็ไม่เดือดร้อนใจ จิตใจเรา จะเบิกบาน ยินดี พอใจ แม้มันจะยาก เหมือนกับเราเล่นกีฬาอย่างนี้ เหงื่อแตก หอบ เหนื่อยนะ แต่เราก็เบิกบานยินดี จิตใจเราจะเป็นสุข จิตใจเราจะไม่เดือดร้อน อวิปฏิสาร จะไม่เดือดร้อน จะไม่ทำความเดือดร้อน มันจะไม่มีความเดือดร้อนใจอะไร มันรู้สึกมันยินดีปรีดา พอใจไปด้วย แม้มันจะลำบาก แม้มันจะต้องอุตสาหะมากกว่านั้น หนัก ดูยาก ดูเย็น เป็นทุกขายะ อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้าใจ ให้ชัดเจนว่า ลักษณะประเด็นละเอียดอย่างนี้น่ะ ถ้าดูเผินๆ มันจะไปคล้ายๆว่า เอ๊! ทุกขายะ แล้วมันจะไปไม่เดือดร้อนใจยังไง ใช่ไหม มันลำบากลำบน มันก็จะต้องเดือดร้อนใจน่ะซิ ได้เหมือนกัน เป็นได้เหมือนกัน ลำบากลำบนแล้วก็เดือดร้อนใจ คนไม่ค่อยเป็นนักสู้นี่ มันไม่ค่อย ทนลำบากลำบนอะไรหรอก พวกหอคอยงาช้าง ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน พวกนี้ไม่ค่อยลำบาก ลำบน แล้วเดือดร้อนใจ อุ๊ย ! ทุกข์อึดอัด ขัดเคือง ไม่สู้ ไม่ทน แต่คนที่เข้าใจแล้ว ก็จะแยกออก แบ่งลักษณะของอาการของจิต อารมณ์ของจิตพวกนี้ออก สิ่งที่ลำบาก ยากเย็นนั้น ก็รู้ว่าเราทำอะไร เราต้องตั้งตนอยู่บนความลำบาก เราจะต้องพยายามอุตสาหะวิริยะ มันหนัก มันเหน็ด มันเหนื่อย มันต้องต่อสู้ ทั้งข้างนอก จะร้อน จะหนัก จะเหนื่อย จะขยะแขยงอะไร ก็ตามใจเถอะ มันก็เป็นความลำบาก ที่เราจะต้องต่อสู้ แต่ว่าจิตใจไม่ได้เดือดร้อนอะไร อวิปฏิสาร มันก็ต่างกัน มันจะมีนัยที่ต่างกัน เราจะต้องอ่านให้ออก เราจะต้องวิเคราะห์ให้ออกว่า เรามีอวิปฏิสาร จริงหรือไม่

เมื่ออวิปฏิสารแล้ว ยังจะมีความปราโมทย์ด้วย มันเจริญขึ้นไปกว่านั้น องค์ของศีล มันมีความปราโมทย์ ยินดี พอใจที่จะมีพลัง ที่จะเอา ไม่ใช่หนี ไม่ใช่วาง ไม่ใช่ระอา ไม่ใช่ว่าโอ้ย! จะทนไม่ไหว ไม่ไหวแหล่ ไม่ใช่ ถ้ายิ่งเป็นกุศล มันยิ่งจะปลาบปลื้มยินดีปราโมทย์ มีความปีติ สูงขึ้นไปอีก ปราโมทย์นี่เป็นสภาพ ความเบิกบานยินดี แล้วก็ปลาบปลื้ม ปีตินี่ปลาบปลื้ม พอใจ มีความดูดดื่มนั่นแหละปีติ มันยินดี มันเป็นสภาวะเป็นปีติ ปราโมทย์กับปีติ ปีตินี่มันแรง ปราโมทย์ หรือโมทนะ นี่นะ โมทนะ โมทยะ มันจะอ่อน อาการของใจมันจะอ่อนกว่าปีติ คือ อาการยินดี อาการชื่นชม อาการพอใจ มันต่างกัน ถ้าปีติท่านถือเป็นอุปกิเลส ถ้ามีลักษณะของความดีใจที่แรง อาการของมันแรงถึงขั้น เรียกว่าปีตินี่ เป็นอุปกิเลส เป็นสิ่งที่จะต้องลด ลดลงมาได้

เพราะฉะนั้น มันจะเพิ่มขึ้นมาในฐานะเรากำลังปฏิบัติประพฤติ มันจะมีอาการเหล่านี้ เมื่อรู้ตัว เราก็ลดลงอีก ลดปีติถือว่าเป็นฌาน ถือว่าเป็นองค์ของฌานอันหนึ่ง เราจะลดปีติลงมา เป็นองค์ของฌาน เป็นการเผาอุปกิเลสลงมาได้อีก ลดอาการที่มันฟูใจ ที่มันมีอารมณ์ มีอาการของสภาพรัก สภาพชัง ปีติเป็นสภาพรัก สภาพยินดีชอบชื่น ก็ลดลงมาจนปัสสัทธิ สงบ ระงับลงมาเรื่อยๆ นั่นแหละ มันถึงจะมาถึงสุข มาถึงสภาพที่สงบ บอกแล้วว่าสุขนี่ ไม่ใช่สุข อย่างโลกียสุข สุขเสพสมสุขสม ตามที่เราหมาย ตามที่เราอยาก ไม่ใช่ มันเป็นความสงบ ที่วิเศษ มันรู้สึก เบา ว่างง่าย ปลอดโปร่ง ไม่มีความหนัก ไม่มีความเอียงโต่งไปด้านไหน สุขสงบ ระงับ ว่างโปร่ง เบา ไม่มีอะไร ยิ่งว่างมาก ยิ่งระงับด้วยอารมณ์ อาการที่เอนเอียงอะไรไม่มีเลย ยิ่งสงบ เท่านั้น แล้วก็ทำไปสั่งสมไป อย่างนี้แหละ ที่เรียกว่า ทำฌาน มีปีติมีสุขอะไรพวกนี้ไปเรื่อยๆ เป็นองค์ ของฌาน สั่งสมลงก็เป็น สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นความแข็งแรง มีมากขึ้น เป็นสมาธิ ในสภาพ ที่ศีลได้ขัดเกลาบทบาท ของคุณภาพของผล ที่มันขัดเกลาออกได้ไปเรื่อยๆ ขัดเกลาไปเรื่อยๆ ความยากลำบาก ทุกขายะ ที่ว่านั้น ก็ลดลงด้วยเรื่อยๆ อวิปฏิสารไม่มีแล้ว นั่นหมายความว่าถูกทาง ถ้าปฏิบัติเป็นกุศลแล้ว มันถูกทางแล้ว อวิปฏิสารไม่มีตั้งแต่ต้น แต่ทุกขายะมันจะมีอยู่ เป็นขนาด แรกๆ ใหม่ๆ กิเลสมันยังหนาอยู่ มันยังไม่หมด มันยังไม่จางคลาย มันก็มีฤทธิ์ มีฤทธิ์เล่นงานกับเรา เราก็ทำออกไป ถูกทางลด วางจางคลายลงไปเรื่อยๆๆๆๆ ทุกขายะก็เบาลงไปเรื่อยๆ คือทุกข์นั่นแหละ หมดลงไปเรื่อยๆ ความลำบาก ความยาก มันจะง่ายขึ้น มันจะเบาขึ้น สอดซ้อนลงไปเรื่อยๆ ตามลักษณะของ ถ้าเป็นรูปธรรม มันจะหมดไม่ได้ มันจะต้องมี เช่นว่าอยู่กลางแดด แดดร้อน มันก็จะต้องมีสภาพของปฏิกิริยาของวัตถุจริงๆ แบกหิน หินยังอยู่บนบ่า จะบอกว่ามันเบา เบายังไงๆ มันก็คือแบกหิน แต่ความชำนาญ หรือความรู้จากลักษณะต่างๆนานา กำลังของเราก็มากขึ้น อะไรต่างๆ พวกนี้ มันก็จะรู้สึกเบาขึ้นได้เรื่อยๆ ตามความชำนาญ แต่ก็จะต้องมีสภาพ ไม่หมดสิ้น ลงได้ สำหรับวัตถุ แต่นามธรรมนั้นเป็นทุกขายะ ความลำบากทางนามธรรม นี่ทุกข์ทางเจตสิก กับทุกข์ไม่ใช่กายิกทุกข์จะหมดไปได้ จะหมดทุกข์ไปไม่ได้เลย ทุกขายะหมดจริงๆเลย เมื่อปฏิบัติ ถึงที่สุด ทุกขายะจะหมดสิ้นได้

ในสภาพที่เราปฏิบัติ มีอานิสงส์ของศีลที่เป็นกุศลขึ้นมาเรื่อยๆๆๆ คือมีประโยชน์คุณค่าจากศีล นี่จากศีล ปฏิบัติศีลที่เป็นกุศล แล้วก็จะต้องมีอวิปฏิสารเป็นอานิสงส์ เป็นผลที่กระเถิบมาเรื่อยๆๆ จากอวิปฏิสาร ก็เรียกสภาพที่มันมีดีมีอะไรขึ้นมาอีกว่า เป็นสภาพของปราโมทย์ ปีติ สุข จนถึงขั้น สั่งสมลงเป็นสมาธิ มาเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เกิด แล้วเราจะเกิดญาณทัสสนะ หรือเกิดปัญญา เห็นเข้าใจ อ่านออก ของจริงก็มีจริง แล้วจะต้องเกิดรู้ รู้ด้วยตน มีปัจจัตตัง หรือมีญาณ มีอธิปัญญา ตัวสอดแทรก เข้าไปรู้สมาธิ เข้าไปรู้แม้สภาพว่า อ๋อ ! อวิปปฏิสารเป็นอย่างนี้เอง นี่ อาตมาบอกคุณ พูดให้คุณฟัง อธิบายให้ฟัง อวิปปฏิสารเป็นอาการอย่างไร คุณก็ไปอ่านอาการนั้นเอง ว่ามันเป็น นามธรรมนะ มันไม่มีคิ้วเหมือนพระอโศกนี่ แต่พระอโศกมีคิ้วน่ะ มันไม่มีคิ้ว มันไม่มีตา มันไม่มีหัว มันไม่มีแขน มันไม่มีขานะ มันเป็นนามธรรม มันไม่มีรูปร่าง มันไม่มีสีสัน มันไม่มีหรอก มันก็อาการ นั่นน่ะว่างๆ แต่มันมีอาการ แต่มันว่าง ก็คงรู้น่ะ อรูป มันไม่มีรูป มันไม่มีร่าง มันเป็นนามธรรม แต่เรารู้อาการได้ว่า เออ ! อาการอย่างนี้ เรียกว่าอวิปปฏิสาร อย่างนี้วิปปฏิสาร อย่างนี้ลำบาก เป็นความร้อนใจ หรือมันเป็นลักษณะอย่างหนึ่ง เป็นความอึดอัดขัดเคือง ท่านแปลว่า เร่าร้อนใจ นี่ดีแล้ว แต่มันหยาบ ถ้ามันบางลง มันก็มีความเร่าร้อนน้อยลง มันไม่ใช่จิตปกติ มันมีสภาพ อาการที่มัน ไม่...มันต่างกับสภาพปราโมทย์ยินดีพวกนี้ มันแตกต่างกันกับความปีติ ความยินดี ความพอใจ มันต่าง นั่นแหละ ญาณทัสสนะของเรา จะอ่านออกว่า อ๋อ ! สภาพ อย่างนี้เอง มันมีเกิดได้ เป็นจริงนะ เรามี เราเป็นผู้อวิปปฏิสาร ถ้าวิปปฏิสารคือ ความเดือดเนื้อร้อนใจ อวิปปฏิสารคือไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เออ ! มันมีสภาพ ไม่เดือดเนื้อร้อนใจเป็นอย่างนี้นะ เออ ! มันมีความปราโมทย์ มันมีความปีติ มันมีความสุข มันเป็นสมาธิ มันตั้งมั่น มันแข็งแรงขึ้น มันง่ายขึ้น เป็นขณิกะ เป็นอุปจาระ เป็นอัปปนาสมาธิ เออ! แนบแน่น แน่วแน่ มั่นคงถาวร ไอ้ที่มันไม่ค่อยได้ ประเดี๋ยวล้ม ประเดี๋ยวล้ม ประเดี๋ยวก็มีไอ้โรควิปปฏิสารเข้าแทรก มีโรคไม่ยินดีแล้ว วูบวาบ ยินร้ายก็ผีเข้า มันก็จะไม่เป็น มันก็จะไม่มีผีเข้าผีออกอะไรนักหนา มันจะเที่ยงแท้ มั่นคง ญาณทัสสนะ จะตามตรวจ จะเกิดจริงที่ตัวคุณ ไม่ใช่คนอื่นมาสอบญาณ ไม่ใช่คนอื่นมาบอกให้ว่า นี่ได้ขั้นโน้นขั้นนี้ไม่ใช่ ประมาณเป็น กำหนดเป็น ประมาณได้ว่า อ๋อ ! ขนาดนี้ ขณะนี้ อันนี้หยาบ อันนี้กลาง อันนี้ละเอียด อันนี้มีได้ถาวรแล้ว อันนี้ไม่ใช่ถาวร ได้ชั่วครั้งชั่วคราว อันนี้ดีขึ้น ค่อยๆ มีมากขึ้น ได้นานขึ้น ได้นานมาก นานเลย แต่ก็ยังมีขาจร ยังมีนานๆ มีแว้บนิดหนึ่ง เอ๊ ! เหมือนผีหลอก จนกระทั่งไม่มีเลย ผีหลอกไม่มี ไม่วอบแวบ มั่นคง เที่ยงแท้ ดังนี้เป็นต้น

มันจะมีจริงๆเลย มีลักษณะเหล่านี้เกิดจากเรา เกิดในเรา ไม่ใช่จากอื่นหรอก ไม่ใช่ในอื่น เราจะต้องเกิดสภาพพวกนี้เอง เมื่อมียถาภูตญาณเหล่านี้ จึงจะเกิดความชัดเจน แล้วจึงจะเกิด การละหน่าย คลายจาง เป็นนิพพิทาวิราคะ เป็นเรื่องเบื่อหน่าย ภาษาไทยนี่น่ากลัว เบื่อหน่าย แล้วทุกข์ใช่ไหม ความเบื่อหน่ายแบบโลกๆนี่ แหม ! มันชัง เบื่อหน่าย มันชิงมันชัง มันไม่อยากเห็น ไม่อยากใกล้ แต่อาการจางคลายนี่คือปล่อยหลุด มันจาคะ มันสละมันออกไปจากเรา มันไม่ต้องการ ที่จะดูดเอาไว้ จะรับเอาไว้ จะเป็นเรา จะเป็นของเราอยู่ มันไม่เป็นเรา เป็นของเรา คือมันออกจากเรา มันไม่เป็นเรา แต่ก่อนนี้ มันเป็นอาการนี้ มันจะอยู่ที่เรานี่แหละ มันจะเกิด มั้นจะเป็น มันจะมีอยู่ที่เรา นี่แหละ แต่ตอนนี้ มันจะไม่เกิด ไม่เป็น มันจะไม่มีที่เรา นิพพิทาวิราคะ มันจางคลาย วิราคะนี่ ลด ละจางคลาย นิพพิทา แปลเป็นภาษาไทยว่าเบื่อ ว่าหน่าย อย่างนี้ มันก็มีอาการที่เรียกว่า มีความต้องการอยู่ชั้นหนึ่ง ต้องการให้มันออก ภาษาไทยบอกแล้วว่า มันน่ากลัว เบื่อหน่าย มันมีทุกข์ แต่อันนี้มันไม่ใช่ทุกข์หรอก แต่มันก็ยังมีเหลือ ความที่ต้องการ จะให้มันออก ถ้ามันไม่ออก มันก็ยัง อึดอัด จะบอกว่าทุกข์ก็มีอยู่บ้าง มันก็ยังอึดอัด มันก็ยังไม่สมประสงค์ หรือมันก็ยังไม่เป็นไปได้ ตามที่เราเข้าใจว่า ควรจะออก ก็คือมีลักษณะ ผลักอยู่ด้วย นิพพิทานี่นะเบื่อหน่าย วิราคะก็จาง เกิดนิพพิทาวิราคะ เพราะความจริงของสภาวธรรม ที่มันปฏิบัติศีล แล้วมันจะเกิดองค์คุณต่างๆ เหล่านี้ขึ้นตาม จนถึงญาณที่เห็นแจ้ง เห็นจริง ญาณที่เห็นแจ้งเห็นจริง หรือ ปัญญาที่เป็นตัวถอน อาสวะอนุสัย จะถอนอาสวะอนุสัย ด้วยสมถะไม่ได้ ของพุทธ โดยไม่เกิดญาณ รู้แจ้งเห็นจริง เข้าใจชัดเจน ทำอย่างรู้ว่า อาการของกิเลสอย่างหยาบ อย่างกลาง อย่างละเอียด ละเอียดขนาดไหน ลึกขนาดไหนก็ตาม นอนเนื่องกันขนาดไหน เป็นอนุสัยกิเลสอย่างไรก็ตาม เห็นมัน รู้หน้ามัน รู้สภาพของมัน มีนิดหนึ่ง น้อยหนึ่งอะไร จับมั่นคั้นตาย รู้ตัวมันด้วยญาณ ด้วยปัญญา หรือด้วยตัวรู้ ธาตุรู้ แล้วก็มีเหตุผล มีความเข้าใจชัดเจน เห็นจริงทุกอย่างเลย แล้วมันก็จางคลาย หรือลดละออกไป จนเป็นวิมุติ

นิพพิทาวิราคะ แล้วก็เป็นผลให้เกิดวิมุตติญาณ วิมุตินั่นแหละ ญาณทัสสนะ ก็คือมีปัญญา รู้จักวิมุตินั้น เห็นวิมุตินั้นสมบูรณ์ เป็นปัญญาวิมุติ ตัวจิตเป็นเจโตวิมุติ คือมันหลุดพ้น ออกไปจากจิต เป็นจิตสะอาด จิตบริสุทธิ์ จิตไม่มี จิตสูญ จิตว่าง ว่างจากกิเลสที่เรารู้จริงๆว่า นี่คือกิเลส อาการอย่างนี้ เครื่องหมายอย่างนี้ มันคือกิเลส ญาณเราเห็น ญาณเรารู้ หรือญาณทัสสนะของเรา จับได้ จนมันไม่มี จนเหลือแต่จิตบริสุทธิ์ ที่มีประสิทธิภาพของจิตสูง แข็งแรง เป็นจิตที่มีความรู้รอบ ไม่ใช่ยิ่งไม่รู้ รู้ไม่ใช่ดับจิต ไม่ใช่ดับจิต จิตยิ่งมีประสิทธิภาพของจิต เป็นธาตุรู้ที่รู้รอบ รู้แจ้ง รู้แทงทะลุ รู้ถ้วน รู้ครบ นี่เป็นอานิสงส์สูงหมด พอถึงนิพพิทาวิราคะ แล้ว ก็มีวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นตัวสุดท้ายเลย ศีลจะมีอานิสงส์อย่างนี้ๆเลย ท่านถึงสรุปว่า ศีลที่เป็นกุศล ย่อมถึงอรหัต "อรหัตตะ" อรหัตตายะ ก็คืออรหันต์นั่นเอง อรหัตผลโดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้

ประสบการณ์ที่อาตมาขยายความเป็นภาษาง่ายๆ ให้พวกคุณฟัง ถ้าจะอ่านพระไตรปิฎก ท่านก็ใช้สำนวน อย่างท่าน บางทีพวกคุณอาจจะฟังแล้ว อาตมาจะอ่านให้ฟังบ้างก็ได้ มีเป็นคำซัก ของพระอานนท์ พระอานนท์ก็ซักว่า

ศีลที่เป็นกุศล มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
พระผู้มีพระภาคท่านตรัสตอบว่า ดูกร อานนท์ ศีลที่เป็นกุศล มีอวิปฏิสารเป็นผล มีอวิปฏิสารเป็นอานิสงส์

อานิสงส์ก็คือ ประโยชน์ที่เกิด ประโยชน์ที่มันได้ มันจะเกิดไปเรื่อยๆ เป็นประโยชน์ที่มุ่งหมาย เป็นประโยชน์ที่เราก็คือการละ หน่าย คลาย คือการ หลุดพ้น นั่นแหละ คือการหมดกิเลส ลงไปเรื่อยๆนั่นแหละ เรียกว่า อานิสงส์ หรือจาคะ หรือสละออก จนกระทั่งถึงจุดวิมุตินั่นแหละ พระอานนท์ก็ทูลถามต่อไป เรื่อยๆ

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็อวิปฎิสารมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ ต่อเนื่องไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า อวิปฏิสารมีความปราโมทย์เป็นผล มีความปรา โมทย์เป็นอานิสงส์

พระอานนท์ก็ ทูลถามอีก ก็ความปราโมทย์มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็น อานิสงส์

พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบต่อออกไปอีก ก็ความปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติ เป็นอานิสงส์

พระอานนท์ก็ถามต่ออีกนั่นแหละ ปีตินั่นมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็น อานิสงส์อีกล่ะ

พระพุทธเจ้าก็บอก มีปัสสัทธิเป็นผล เป็นอานิสงส์
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ปัสสัทธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
ถามไล่ไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นคนก็คงรำคาญแล้วนะ ถ้าเป็นคนธรรมดาก็ บอก ไอ้นี่มันทำไมมันซอกแซก ไม่รู้จักหยุดซักที แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่มีอย่างที่ความรู้สึกธรรมดาของมนุษย์โลกๆ จะมีอย่างนั้นหรอก

พระพุทธเจ้าก็ตรัสตอบว่า
ปัสสัทธิก็มีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์
แล้วสุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์อีกล่ะ

นี่ก็พูดอย่างอาตมาบรรยายให้พวกคุณเข้าใจ เป็นลีลา ไม่ใช่ว่าอาตมาโกรธหรอกนะ ไม่ใช่พระอานนท์ จะพูดอย่างนี้ด้วยนะ พระอานนท์ก็ไม่พูด อย่างที่ อาตมาทำเสียง ทำอะไรนี่หรอก แต่ว่าเพื่อเป็นศิลปะที่เน้นที่ให้คุณเข้าใจ เหมือนอาตมาแสดงธรรมหลายๆอย่าง ที่มันมีลักษณะลีลา แต่ไม่ใช่โกรธ ไม่ใช่อารมณ์ บางคนดูภายนอก มันไม่ดูปรุงแต่ง เข้าใจปรุงแต่งของอาตมา ที่เจตนาปรุงแต่ง เป็นอารมณ์ของอาตมา อันนี้ก็ระวัง

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็สุขมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์ พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ดูกรอานนท์ สุขก็มีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์
พระอานนท์ก็ทูลถามต่อไปอีก แล้วสมาธิมีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
พระพุทธเจ้าก็ว่า สมาธิก็มียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูตญาณทัสนะ เป็นอานิสงส์
แล้วยถาภูตญาณทัสสนะ มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า ยถาภูตญาณทัสสนะก็มีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์
แล้วนิพพิทาวิราคะล่ะ มีอะไรเป็นผล มีอะไรเป็นอานิสงส์
ดูกร อานนท์ นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะ

หมดเลย ตอนนี้มีวิมุติที่สมบูรณ์ คือมีปัญญา มีญาณทัสสนะ เห็นแจ้งในวิมุติเลยว่า อ๋อ ! วิมุติเป็นอย่างนี้ วิมุติเป็นอย่างนี้ วิมุติที่สมบูรณ์ถึงสมุจเฉทวิมุติ เชียวนะ สมุจเฉทวิมุติอย่างนาน อย่างมั่นใจ อย่างมีเหตุ มีปัจจัยรองรับ มันจะมั่นใจเลยว่า เออ ! ของเราไม่มีแม้ผีหลอก มีธุลีละออง แม้เศษเล็กเศษน้อย เวียนวนมาอีก ไม่มีแล้ว คุณก็จะรู้เอง ตรวจสอบ มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็น ลักษณะของเรียกว่าอภิญญา ก็คือเจโตปริยญาณ เจโตปริยญาณจะมีคุณลักษณะถึง ๑๖ ที่เป็นแง่ เป็นเชิง ที่เราจะเข้าใจนี่นะ อ่านออกตั้งแต่ว่า เออ! อย่างนี้ลักษณะราคะ อย่างนี้ลักษณะโลภะ ราคะหรือโลภะนี่ ที่จริงมันเป็นคำอธิบาย ใช้แทนกันได้ แต่ว่ามันมีลักษณะที่เรียกราคะ ก็เป็นการอาศัย เชิงหนึ่ง แง่หนึ่ง โลภะก็คือดูดไว้ ราคะก็คือความดูดไว้เหมือนกัน โทสะเป็นความผลัก เป็นความชัง อย่างนี้เรียกว่า ราคมูล อย่างนี้เรียกว่าโทสมูล อย่างนี้เรียกโมหมูล และถ้าอย่างนี้ สภาพอย่างนี้ เจโตปริยญาณมันรู้อาการนั้นในจิตนะ หยั่งรู้จิตของตนเองนะ เจโตปริยญาณนี่ กว่าจะไปรู้คนอื่น จะมีฤทธิ์ มีอภิญญาไปหยั่งรู้จิตคนอื่นได้ วัดคลื่น วัดกระแสจิตของคนอื่นได้นี่ อย่าเพิ่งแอ๊คไปวัดคนอื่นก่อน รู้ตัวเองให้ชัดเสียก่อน เจโตปริยญาณก็คือ การรู้เจโต รู้จิตรอบถ้วน เจโตปริยญาณ ญาณที่รู้จิตของเรา รอบถ้วน นอก ใน ละเอียดลออ ซ่อกแซ่ก ซับซ้อนยังไง ก็รู้ให้หมด

เพราะฉะนั้น ตั้งแต่หยาบๆว่า อย่างนี้คือมูลรากแห่งราคะ มูลรากแห่งโทสะ มูลรากแห่งโมหะ อาการอย่างนี้ มันต่างกันแล้ว อย่างนี้เรียกว่าอราคะ อโทสะ อโมหะ รู้ตั้งแต่หยาบ ตั้งแต่รูปใหญ่ รูปนอก รู้จักฐานของมัน รู้จักลักษณะของมัน อย่างจริงอย่างนี้เป็นต้น แล้วก็มีความเข้าใจว่า ลดลงไปได้ จางลงไปได้ แต่ลดลงไปแล้ว มันก็ยังมีอาการที่ยังไม่ดีเท่าไหร่หรอก ยังหนัก ยังลำบากอยู่ อย่างนี้ว่า เออ! มันลดลงมาได้แล้ว เป็นสังขิตตะ สังขิตตัง จิตตัง เป็นวิกขิตตัง จิตตัง อย่างนี้เรียกว่าสังขิตตะ อย่างนี้เรียกว่าวิกขิตตะ ท่านแปลง่ายๆว่า สังขิตตะนี่ก็ว่า ประเภทหดหู่ ทึมทึบ ส่วนอย่างนี้เป็นลักษณะซ่าน กระจาย ฟุ้งซ่าน วิกขิตตะ นี่สังขิตตะ ลักษณะมันจางแล้วละ แต่มันก็ยังรออยู่ไม่ใช่น้อย มันยังมะลื่อทื่ออยู่ มันยังหู่ๆ เหี่ยวๆ หดๆอยู่ ยังไม่หมด ยังเป็นก้อนอยู่นะ หรือไม่เป็นก้อน ก็กระจายเสียเลย ยังจับไม่ค่อยติดหรอก วิกขิตตะ นี่อาตมาพยายามอธิบายภาษา ไทยให้ฟัง เป็นลักษณะของกิเลสนี่แหละ มันเป็นอาการอยู่ในจิต มันลดได้แล้วนะ รู้แล้วว่า อย่างนี้เป็นรากเหง้าของราคะโทสะ ที่เป็นเท่าไหร่ล่ะจำนวนแรก ตอนนี้ลด แต่มันก็ยังอื้ออือ ! มันยังลดไม่เท่าไหร่ มันจะลดลงได้เรื่อยๆ แล้วคุณก็ทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

การทำให้สังขิตตะมันลดลงได้อีก ทำให้วิกขิตตะลดลงได้อีก ก็คือมหัคคตะ เจริญขึ้น ดีขึ้น ละเอียดขึ้น ถูกแล้ว ถูกสภาพของการปฏิบัติแล้ว เป็นเจโตปริยญาณ เป็นการมีญาณรู้ยิ่ง รู้จริงของตน คุณเข้าใจของคุณเอง ของคนอื่นมันไม่ไหวหรอก มันไม่ง่ายหรอก ขณะของตนเอง ก็ยังยากเลย ยากจริงๆ เพราะมันเป็นนามธรรม เป็นจิต เจตสิก รูป นิพพาน เป็นปรมัตถสัจจะ แล้ว คุณก็จะอ่านมัน อ๋อ ! อย่างนี้ เป็นมหัคคตะ อย่างนี้สังขิตตะตัวนี้ลดลงแล้ว

แต่ก่อนนี้ก็ทึ่มๆทื่อๆ ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้นะ เราได้ เรามาอยู่นี่ก็ได้ แต่มันไม่เจริญกว่านี้ ติดแป้นก็ตาม ตีไม่แตก อาตมาเคยแปลไอ้พวกเจ้าสังขิตตะ หรือถีนมิทธะ เรียกถีนมิทธะกับอุทธัจจะก็ได้คล้ายกัน สังขิตตะกับวิกขิตตะนี่ จะเรียกถีนมิทธะ จะเรียกอุทธัจจะก็ได้ ถีนมิทธะก็คือหดหู่ ซึมเซา อุทธัจจะก็คือฟุ้งซ่าน วิกขิตตัง จิตตัง มันลักษณะคล้ายกัน แทนกันได้ เราก็จับสภาพมันได้ จับอาการมันได้ มันไม่ติดแป้นแล้ว มันทะลุไปได้แล้ว มันทลายกำแพง ทำลายเจ้าตัวเก่งนี้ได้แล้วว่า มันออกไปอีก มีมหัคคตะแต่ทำไม่ได้สักที ยังเหมือนเก่า เหมือนเดิมก็รู้ตัวว่า โอ้ ! มันยังอย่างเดิม นี่หว่า อมหัคคตะ อมหคตะอยู่อย่างเดิมนั่นแหละ ถ้าคุณรู้ตัวนะ ถ้าคุณไม่รู้ตัว คุณก็เป็น อมหัคคตะ โดยไม่รู้ มันเป็นอยู่อย่างเก่า คุณก็ไม่รู้ว่าได้ ไม่ได้ นี่ อมหัคคตะอยู่อย่างโมหะ ยังไม่รู้ตัวว่าได้ดีขึ้น เจริญขึ้น แต่คุณทำได้ดีขึ้นก็รู้ได้ มีญาณรู้ว่า โอ้ ! นี่เป็นมหัคคตะแล้วดีขึ้น ดีไปเรื่อยๆ นี่แหละสอดซ้อนอย่างนี้ ดีไปเรื่อยๆ จนคุณจะรู้ในระดับหนึ่งว่า เออ ! จิตนี่ เราดีขึ้นมากแล้วนะ แต่ดีกว่านี้ยังมีอีก

ท่านเรียกว่า สอุตรจิตตัง จิตที่ดี ดีอย่างรู้แล้วว่ามันดี บางคนหลงว่า มันสมบูรณ์ด้วยนะ แต่จริงๆแล้ว ไอ้หยา อย่างดีกว่านี้ยังมีอีก อาจจะถือว่า เฮ้ย ! ฉันวิมุติแล้ว นิพพานแล้ว ว่างแล้ว อาจจะหลงได้ แต่จริงๆแล้ว ก็มีญาณรู้ตัวเองได้ ไอ้ความหลงนี่เป็นไปได้เหมือนกัน บางคนไม่หลงหรอก ละเอียดลออไป รู้ตัวไปเรื่อยๆว่า เออ ! แต่ดีขึ้นน่ะ รู้เลย เป็นสอุตรจิตตัง จิตที่ดีกว่านี้ยังมีอีก ท่านแปล ภาษาที่อาตมาช้อบชอบมากอันนี้น่ะ สอุตรจิตตัง คนแปลนี่มีญาณ มีสภาวะ มันตรงกันกับความเข้าใจของอาตมาเลยนะ ที่เดิมที่อาตมามีภูมิเดิมมา ภาษาไทย นี่เขาแปล เอาไว้ก่อนนะ ชาติก่อนอาตมาไม่ได้เป็นภาษาไทยอย่างนี้ใช่ไหม แต่อาตมามี สภาวะ สอุตรจิตตังเป็นอย่างไร พอมาชาตินี้ มาดูภาษาบาลีก็ว่า สอุตรจิตตัง พอแปล เป็นไทย เขาก็ว่า จิตที่ดีกว่านี้ยังมีอีก อาตมาก็อ่านฟังภาษาไทยแล้ว โอ้โฮ ! มันตรงสภาวะ แปลได้ความดีมาก ทีนี้อาตมาก็สงสารคนที่เขาไม่รู้เรื่อง เขาบอกเขาจะรู้เรื่องอะไร สอุตรจิตตัง แล้วก็แปลว่า จิตที่ดีกว่านี้ยังมีอีก ไปเก็บเอาที่ไหนล่ะ จิตที่ดีกว่านี้ยังมีอีก จะไปเก็บเอาที่ไหน แล้วมันเป็นยังไง คือจิตที่มันดีขึ้นไปเรื่อยๆ น่ะ เรื่อยจนกระทั่งอาจจะหลงว่า จิตนี้น่ะดีที่สุดแล้ว แต่ยัง ยังหรอก จิตที่เหนือชั้นกว่านี้เรียกว่า อนุตตรัง จิตตัง สอุตตรัง จิตตังนี่ยัง เหนือกว่านี้มีอีก

อนุตร นี่เรียกว่าเหนือ เหนือกว่านี้ เหนือชั้นกว่านี้ดีกว่านี้ยังมีอีก เป็นอนุตตรัง จิตตัง นี่เป็นการอ่าน จิตตัวเอง เป็นเจโตปริยญาณ เป็นญาณที่จะต้อง เกิดของตน จะรู้ว่าอนุตตรัง จิตตัง ก็ต้องตนมีเอง เห็นเองเป็นเอง ไม่ใช่เอาแต่รู้ภาษาที่อาตมาพูดคุณ บอกคุณอธิบายให้คุณฟัง โดยความหมาย โดยตรรกศาสตร์ คุณก็ฟังไป เข้าใจความหมายไป แล้วก็ไปปฏิบัติ จนเกิด จนเป็น จนมีให้ได้ แต่อนุตตรัง จิตตัง ไม่ได้หมายความว่า มันมีตัวของมันเองตัวเดียว มันมีเงื่อนไข ต้องเป็น สมาหิตัง จิตตัง ต้องเป็นวิมุติจิตจริงๆนะ นี่เงื่อนไขอีก ๒ คู่ อย่างนี้มันยังไม่สมบูรณ์ เพราะมันยังเป็น อสมาหิตัง อย่างนี้ยังไม่สมบูรณ์เพราะยังเป็นอวิมุติ ที่จริงมันมา ตัวปลายแล้วนะ มันจะวิมุติ ไม่วิมุตินี่ มันอาจจะเหลือผีหลอก เหลือเศษ เหลือนั่น เหลือนี่ ก็หลงว่าเราวิมุติได้ เราหลงว่า เหนือชั้นแล้วได้ เรานึกว่าอนุตตระแล้ว แต่แท้จริงเป็นแค่สอุตตระ นี่เงื่อนไขหลัก หมายความว่ายังไง สมาหิตะหมายความว่ายัง ไง วิมุติ วิมุติก็คือตัวจบจริงๆ นั่นแหละ หลุดพ้นจริงๆ เด็ดขาด สมุจเฉทวิมุติจริงๆนั่นแหละ เป็นจิตอนุตตระ เป็นจิตที่เหนือยอดสุด

เพราะฉะนั้น เราจะต้องตรวจตรา ต้องมีภาวะทดสอบ มีกระทุ้งกระแทก มีบทเรียน มีองค์ประกอบ ผัสสะเป็นปัจจัย รับได้แค่ไหน ขนาดนี้ เออ! วิมุติ แต่ถ้าเผื่อว่าโจทย์มันแรงกว่านี้นะ นึกว่าวิมุตินะ ยัง ยังโผล่ ยังไม่วิมุติ ไม่ใช่มุดหลบนะ วิมุตินี่ ยังโผล่นะ แน้ ! แพลมออกมานิดๆก็ได้ หรืออะไรก็ได้ ญาณที่ละเอียดที่จะอ่านเจอ ถ้าญาณไม่ละเอียดก็ไม่รู้ตัว เผิน เผลอ เอาละ มันจะมีเอง ไม่ต้องคิดนะ คุณไม่ต้องไปหาโจทย์หรอก ในสภาวะของวิบาก มันจะโคจร เส้นทางโคจร คนจะผ่านเองเลย ตอนนี้โคจรมาถึงตรงนี้ ไอ้โน่นไอ้นี่ก็จะผ่านมาตาม เส้นโคจรของมันตามเรื่อง มาตรงนี้ จะมาเจอพอดีสภาวะของพายุสลาตันจะมาทางนี้ เราก็โคจรมาทางนี้ มันจะมีของมัน ของมันก็มีของมัน มันจะมีภาวะที่มาประจบพอดีของทุกๆสิ่ง ไม่มีอะไรบังเอิญ ในมหาจักรวาล เอกภพนี้ ไม่มีอะไรบังเอิญ ดวงดาวจะต้องชนกัน จะไม่ชนกัน มันมาของมันเอง แล้วดวงมัน ไม่ชนกันง่ายๆหรอกคุณ ขนาดมันมีนับ ไม่รู้กี่ล้านๆๆๆๆๆๆดวง มันก็ไม่ชนกัน มันก็เป็น เส้นทางของมัน แล้วมันก็จะไปประสมประสาน มันจะไปกุม แหม ! ภาษาทาง ดาราศาสตร์ มันจะไปกุม มันจะไปพัก มันจะไปอะไร อาตมาไม่ค่อยรู้โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์เท่าไหร่นัก ฟังมา ก็ยังไม่เข้าใจดีเท่าไหร่หรอกว่า กุมมันหมายความว่าอะไรเท่าไหร่ พักมันหมายความว่าอะไรเท่าไหร่ แต่พอจับภาษาเขาได้ มันจะเป็นของมัน ตามสภาพ

เพราะฉะนั้น ดวงดาว แต่ละดวงๆๆๆๆ โคจรไปเถอะ ไม่ต้องไปแกล้ง ไม่ต้องไปเสแสร้ง ไม่ต้องไป ใฝ่หา ไม่ได้หรอก จะต้องไปหาโจทย์มาให้ตัวเอง เราเองยังมีความสงสัยในเรื่องกาม จะต้องไปมี คู่ครองรับซะก่อน อย่า ไม่ต้อง ไม่ต้องหรอก ไม่ต้องหรอก มันจะไปตาม อำนาจของกิเลสนั่นแหละ เป็นตัวฤทธิ์แรงมากหรือน้อย แล้วของใครก็ของใครก็มี มันโคจรมาเจอะกัน มันจะต้องมาเจอะกัน อยู่ดี มันยังภาวะดูด ภาวะอาฆาต ภาวะพยาบาท มันยังมีอยู่ มันก็จะมาของมันเอง มันจะมา โคจรมา แล้วก็จะมีภาวะ อันโน้นอันนี้สอดแทรก มันมี ที่เคยเป็นคู่อาฆาตกันมาแล้ว เป็นคู่แข่ง กันมานี่ สามเส้ามานี่ ตั้งหลายทีแล้ว ตอนนี้มันก็จะค่อยๆ สามเส้ามา แล้วมันก็จะฉะกันไป ฉะกันมา มันจะเป็นตามสภาวะ มันซัก อันนั้นแพ้ อันนี้ชนะ มันก็จะห่าง มันก็จะถี่ ตามสภาวะ ที่เกิดที่เป็น ตามฤทธิ์ตามแรง ตามกำลัง ถ้าเราไม่คิดว่า เป็นคนมีจิตวิญญาณ มันก็จะไปตามแรง ของฤทธิ์ ฤทธิ์ดูด เหมือนแม่เหล็ก เหมือนไฟฟ้า เหมือนกับความร้อน ความเย็นอะไรอย่างนี้ ความร้อนจะต้องลอยขึ้นสูง ความเย็นจะต้องลอยลงต่ำ แม่เหล็กมันก็จะมีผลัก มีดูด ไฟฟ้าก็จะ มีสลาย มีเผาผลาญ มีอะไรบ้าง อะไรต่างๆนานาพวกนี้ มันจะเป็นของมันจริงๆ เหมือนพลังงาน แล้วอาตมาก็บอกแล้ว เคยอธิบายใน คนคืออะไร ว่าจิตมันก็เป็นพลังงาน แต่พลังงาน ที่มันเหลือจะพูด เพราะมันรวมกันแล้ว มันสภาวะ เหมือนชีวิตชีวา แล้วมันมีตัวอำนาจใหญ่ ที่เรียกว่า วิญญาณนี่แหละ เป็นตัวบงการหรือควบคุม จนกระทั่ง มันเป็นตัวเกินตัวเฟ้อๆ จนเป็นกิเลส สุดท้าย ล้างกิเลส จะเหลือแต่วิญญาณที่บริสุทธิ์ แล้วก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ แล้วมีอำนาจเหนืออยู่ในวิญญาณ วิญญาณนั่นแหละ เป็นอำนาจเหนือ ยิ่งบริสุทธิ์ ยิ่งเป็น วิญญาณพระอรหันต์ แล้วสามารถที่จะผลัก สามารถที่จะดูด สามารถที่จะรับเอา หรือ สามารถที่จะเอาออก หรือไม่เอาอะไรเลย กลางๆ เป็นนิวตรอน เป็นพลังงานสุดท้าย ไม่ผลัก ไม่ดูดเลยได้ ซึ่งมันวิเศษมาก จนกระทั่งไม่รู้จะกล่าวอย่างไร พระพุทธเจ้าถึงศึกษา ไอ้วิทยาศาสตร์ นั่นเหรอ ยังจ๋อยไป อาตมาเรียนวิทยาศาสตร์ชาตินี้ตก แต่แท้จริง ไม่ใช่หรอก มันป็นภาวการณ์ ของอาตมา ให้อาตมาเรียนวิทยาศาสตร์เดี๋ยวนี้ อาตมาก็ไม่กลัว แม้แต่งานช่าง อาตมาไม่ค่อยชอบ งานช่าง ใช้รถ ใช้รา ใช้อะไรต่ออะไรนี่ไม่ละ ไอ้โน่นไอ้นี่ ไม่ค่อยทำล่ะ มันโน่นหลุดนี่เสีย อะไรหน่อย เข้าอู่ให้ช่างทำ ไม่ค่อยชอบ ไม่ค่อยจะเอาถ่าน แต่เดี๋ยวนี้อาตมาไม่กลัวหรอก จะให้ทำก็ไม่กลัว แต่อาตมาไม่ได้ชำนาญ และก็ไม่ได้ฝึกฝนอะไรมา มันก็อาจจะยาก มันก็อาจจะขลุกขลัก แต่ว่าไม่เหมือนกาลก่อน แต่ก่อนมีใจผลัก มีใจไม่ชอบ แต่เดี๋ยวนี้แล้วก็แน่ใจแล้วว่า เราถ้าจะศึกษา เข้าใจอะไรก็ได้ มันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันสมบูรณ์

เพราะฉะนั้น เมื่อเราสั่งสม หรือว่าเราเรียนรู้ปฏิบัติ ประพฤติถึงขั้นนามธรรม จิตเจตสิก อย่างที่กล่าวไปแล้ว มีเจโตปริยญาณอย่างที่กล่าว มันจะเป็นจริง สมาหิตะก็คือสมาธิ ท่านแปลทับศัพท์ ในภาษาไทยว่า สมาธิ คือตั้งมั่น แข็งแรง จริงๆเลยนะ เป็น เจตโส อภินิโรปนา เป็นจิตที่ปักมั่น ยิ่งกว่าแน่วแน่ละ ปักมั่นเลย อาตมาแปล เจตโส อภินิโรปนา ว่าปักมั่น เขาก็แปล ปักมั่น ในพระไตรปิฎกก็แปลว่าปักมั่น แน่วแน่ อัปปนา พยัปปนา แนบแน่น แน่วแน่ แนบแน่น ปักมั่น มันจะมีความมั่นคง ที่มั่นคงยิ่งๆๆๆขึ้นไป และมีเงื่อนไขนิดหนึ่ง ที่อาตมา ให้ความหมายก็คือ มันมีประโยชน์คุณค่าด้วย ไม่ใช่ปักมั่น หรือว่าแนบแน่น หรือว่าเป็นสมถะ อย่างที่เขาแปลสมาธิ เป็นสมถะว่าคือนิ่ง นิ่งแล้วก็เลยนิ่งแน่แหงแก๋ ไม่มีประโยชน์ ไม่มีคุณค่าเลย เขาชอบจะเข้าใจ ไปในเรื่องซะอย่างนี้ สงบ หรือว่าหยุด หรือว่านิ่ง หรือว่า ดับ ไปในลักษณะ ที่เป็นภาษามะลื่อทื่อ ของภาษาคนนี่นะ ภาษาไทยๆ ยิ่งไทยยิ่งชัด ดับ ก็คือมิดเชียว สงบคือเงียบ นิ่งคือแน่ แน่ว แหงแก๋ แข็งปึ้ก ไม่ใช่ จิตวิญญาณนี่ เรากำลังพูดถึงจิตน่ะ จิตที่มันเป็น อนุตตรัง จิตตัง เป็นจิตที่เหนือชั้น กว่าอะไร มีสมาธิ มีความแน่วแน่ คือเรียกว่า กิเลสจะมาคลอนแคลนอะไร ไม่ได้เลย แต่สภาวะ ของจิต จิตตังนี่ มันยิ่งมีประโยชน์ ยิ่งมีคุณค่า ยิ่งว่องไว เป็นมุทุภูเต เป็นมุทุภูต หรือมุทุ กัมมัญญา หรือ กัมมนิยะ ยิ่งการงานเหมาะควร ยิ่งการงานสละสลวย การงานสำเร็จ การงานสมประสงค์ การงานที่เก่งเชี่ยวชาญแน่วแน่ ทำอะไรได้ดี สละสลวย เป็นกัมมัญญา ยิ่งเป็นตัวคล่องแคล่ว ยิ่งเป็นตัวประสิทธิภาพ ไม่ใช่นิ่ง แหงแก๋ ตั้งมั่นแหงแก๋ สมาธิ คือแบบที่เขา เข้าใจเอียงโต่งไปอีก ด้านหนึ่งเป็นฤาษี ไม่ใช่เลย นี่เป็นเรื่องยากนะ เป็นเรื่องยาก ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีสภาวะ ไม่เรียนรู้จริงๆ แล้ว แล้วอาตมา ก็ไม่เคยเห็นใคร จะขยายสมาหิตะ มันต่างกับสมาธิ อย่างไร หรือต่างจากสมาทหะ สมาทหะ เขาก็แปลว่าสมาธิ ต่างกันอย่างไร เขาไม่รู้ เขาก็แปลว่า สมาธิยันเต แล้วก็ไม่รู้ว่า นัยที่ต่างกัน ลึกซึ้งเหล่านี้ มันมีอะไรกันบ้าง

เพราะฉะนั้น สมาหิตจิต สมาหิตัง จิตตัง มันเป็นตัวจิตที่ตั้งมั่น ที่มีเงื่อนไขหลักชัดเจนอย่างที่ว่า มีความสามารถสูง มีประสิทธิภาพดี ฯลฯ..

เพราะฉะนั้น จะเป็นประโยชน์จริงๆ แล้วก็จะสมบูรณ์จริงๆ ถึงขั้นวิมุติ ก็เป็นตัวตรวจสอบ ความสมบูรณ์ วิมุติหลุดพ้นเกลี้ยงเกลาละเอียดลออ สมบูรณ์ไม่เหลือ ไม่มีอวิมุติจร อาตมาเคย ใช้อธิบายเสมอว่า ไม่มีอวิมุติจรอีก มันจะมีเหตุ ปัจจัย มันจะมีโจทย์ มันจะมีอะไร มาให้ทดสอบ เรื่อยละ น้ำหนักแค่นี้ของโจทย์ แรงแค่นี้ จะเป็นราคะ จะเป็นโทสะก็ตาม สิ่งที่ยั่วโทสะ สิ่งที่ยั่วราคะ ขนาดนี้ เราอาจจะวิมุติ แต่น้ำหนักมาเหลี่ยมนี้ นี่รู้ไม่ทัน น้ำหนักมากกว่านี้รับไม่ไหว แว้บ ยังมี แวบวาบ ยังมีแว้บ ยังมีวูบบ้าง ยังมีอะไรเล็กๆน้อยๆ สภาพยังจร ยังมีเหมือนผีหลอก มันไม่แรงหรอก แต่มันไม่สะอาด มันยังไม่บริสุทธิ์ บริบูรณ์น่ะ มันไม่มีแรงที่จะทำร้าย ดึงลงไปหรอก อยู่รอบระดับนี้ แล้วนี่ ขั้นที่เรียกว่า จะว่าเช็คบิล มันก็หยาบนะ มันขั้นเช็คระดับสุดท้าย ระดับละเอียด ขนาดนี้แล้ว มันไม่หยาบหรอก แต่มันไม่ แหม! สมบูรณ์สุดยอด เห็นไหม ความหมายของมัน หรือลักษณะ ของมัน

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เป็นหัวข้อนี่ แล้วท่านก็ไม่ได้ ขยายความอะไรหรอก ในพระไตรปิฎก ไม่มีขยายความอะไรพวกนี้หรอก ฎีกาจารย์ อนุกาจารย์ก็ค่อยมาขยาย อาตมา นี่แหละ เป็นฎีกาจารย์ อนุกาจารย์ที่มาขยายความเหล่านี้เอาไว้ แล้วก็บันทึกกันไว้ซิ แต่ก่อน ก็ถ่ายทอด พูดต่อกัน นี่เดี๋ยวนี้ มันยิ่งมีบันทึกเป็นตำราเลย ก็บันทึกกันไป อาตมาก็เป็นฎีกาจารย์ อนุกาจารย์ เอาจากพระไตรปิฎก ขยายจากพระไตรปิฎกตรงนี้ อาตมาไม่ได้ขยายจากพุทธโฆษาจารย์ ไม่ได้ขยายความจากอาจารย์รุ่นหลังๆ ที่อธิบายกันไว้ แล้วก็ต่อๆๆๆ ไปนะ ก็ไม่ได้เอาคำของท่าน มาอธิบายต่อ อาตมาเอามาจากพระไตรปิฎก มาอธิบายตรงนะ นี่แหละเถรวาท นี่แหละเถรวาท หรือของพระสารีบุตร หรือของพระโมคคัลลาที่ มีอยู่ในพระไตรปิฎก เอามาขยายความต่อของท่าน นี่ เราเรียกว่าเถรวาท ไม่เอาอาจารย์รุ่นหลัง ไม่เอาอาจารย์รุ่นหลัง อย่างรุ่นก่อน ก็เอาก่อนที่บันทึกลงมา เป็นสังคายนาครั้งที่ ๑ ถ้าเอาสังคายนา ครั้งที่ ๒ แล้วมีอนุกาจารย์ ฎีกาจารย์ อธิบายเอาไว้ต่อ แล้วคุณก็มาเอาต่อจากของฎีกาจารย์มาอีก เอาประกอบ คนโน้น คนนี้มาประกอบ มันก็จะขยาย ออกมาอีก แล้วยิ่งคุณมาอธิบาย ในความเห็นของคุณ เข้าไปอีก อาตมาอธิบายนี่ ก็มีความเห็นของ อาตมาใช่ไหม แล้วก็บันทึกเอาไว้ มันก็ต่อไปเรื่อยๆ เป็นอาจาริยวาท เรียกว่าอาจารย์ รุ่นอาจารย์หลังๆ ต่อๆกันไป เรื่อยๆ นั่นเรียกว่า ลักษณะของอาจาริยวาท หรือมหายาน ของเถรวาท หรือหินยาน แล้วเขาก็บอกว่า อันนี้ได้น้อยได้เล็ก เพราะมันเข้มข้น คนลึกจึงจะรู้ คนที่มีภูมิสูงจึงจะรู้ แล้วคนรู้จริงนี่มันน้อย คนที่เข้าลึกซึ้ง ภูมิสูง มันน้อย ยอดปลายมันก็ต้องมีน้อยลงๆ จึงเป็นหินยาน แล้วเขาบอกว่า ยานเล็กได้คนส่วนน้อย เพราะฉะนั้น จะต้องเอาคนส่วนมาก อนุโลมเยอะๆ เป็นอาจาริยวาท เป็นมหายาน จนกระทั่ง โตงเตงไปเลย ก็เป็นยาน ยานนี่คือพาหะ ไม่ใช่มันยาน โตงเตง แต่มันก็ยานโตงเตงด้วย เอาเข้าหนักๆ แต่เถรวาท หรือหินยานนี่เคร่ง เคร่ง เมื่อไหร่ก็เคร่งอยู่ เพราะฉะนั้น เคร่ง จนเคร่งเกิน จนหลงทาง ไปในทางเคร่งเกิน กลายเป็นฤาษีชีไพร กลายเป็นพวก ทรมานตน กลายเป็นพวกที่ยิ่งดื้อยิ่งตื้อ ยิ่งแข็งไปอย่างนั้นเอง ก็มีลักษณะของมันไปอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น สุดท้าย ตัวอวิมุติจรนี่นะ มันก็จะต้องมีลักษณะที่เรารู้ด้วยญาณ อีกเหมือนกัน จนไม่มีเลย เป็นวิมุติบริสุทธิ์บริบูรณ์ จิตสะอาดอีก จะมีโจทย์มาให้เราทำอีกเท่าใดๆ เราก็จะรู้ตัวว่า เราเป็น ที่เราทนได้ต่อโลกโลกียะ โลกียะต่างๆ ที่ ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปติ จิตสัมผัสโลกธรรม ทั้งหลาย อย่างไรๆก็ไม่หวั่นไหว คำว่าไม่หวั่นไหว นี่ยังไม่สมบูรณ์น่ะ จะมีอโสกะ มันไม่มีภาษาเรียกแล้ว ก็เรียก อโสกะ มันไม่ใช่โศกแล้ว แต่ว่ามันมีลักษณะที่มันไป ข้างที่ไม่สบาย จะมีเศษธุลีไหม อาตมาถึงแปล อโสกะ ว่า ธุลีหมอง มีวิรชะ รชะ ก็แปลว่า สภาพของความยินดี หรือ สภาพของรสอร่อยทาง รชะ นี่ก็กิเลสนั่นแหละ ทางความดูดดื่ม ทางสภาพที่ระเริงไป ในทางอร่อย ในทางยินดี ทางรสโลกีย์ แต่ทางโศก โสกะนี่ เป็นรสที่ทางมันไม่สมใจ มันหมอง มันเศร้า มันด้อย แต่ทางนี้มันเริง อาตมาถึงแปลว่า ธุลีเริง โดยสภาวะมันเป็นอย่างนั้น ตรวจสอบ สิ่งที่ยังเหลือ ธุลีละออง ที่มันยังมีอีก มัน ผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ จะกระทบสัมผัส โลกธรรมอย่าง หยาบ กลาง ละเอียด หนา ลักษณะขนาดทั้งคุณภาพ ทั้งปริมาณ ทั้งเหลี่ยมมุมอะไร เชิงชั้นอะไร ยังไง ก็ตามใจเถอะ มากระทบสัมผัส ผุฏฐัสสะ นี่คือกระทบสัมผัส กระทบสัมผัสโลก กระทบสัมผัส เรื่องของโลก โลกธัมเมหิ คือโลกธรรมนั่นแหละ โลกะ ก็โลก ธัมเมก็ธรรมะ ก็โลกธรรมนั่นแหละ ในโลกธรรมทั้งหลายนี่ เสร็จแล้วคุณก็ นกัมปติ ไม่หวั่นไหว ไม่หวั่นไหว แม้ในระดับไม่หวั่นไหว ก็จะต้องตรวจสอบ ธุลีละอองที่มันมีฟูๆ ฟ่องๆ หรือมันมีจร มันมีเศษเล็กเศษน้อย เศษอะไรอีก หรือไม่ จนเกลี้ยง ถึงจะเรียกว่าถึง เขมัง ถึงเกษมสมบูรณ์ นี่เป็นเรื่องของจิต เจตสิก ในระดับสุด แต่ถ้าเขาแปล มงคลธรรม ๓๘ นี่จะเป็นด้วยวัตถุ ด้วยรูปร่าง อาการหยาบๆ แต่หยาบๆ อย่างที่เขา แปลกัน ซึ่งอาตมาก็ได้ขยายความ ของมงคลธรรม ๓๘ เป็นความพิสดาร อยู่ในหนังสือเรื่อง ดวงดาว ดวงคน ดวงธรรม อะไรนั่นต่อท้ายเอาไว้ในอริยชาติ ๓๘ นี่ก็ขยายไว้แล้ว นั่นเป็น สภาวะซับซ้อนหลายชั้น หลายเชิง เราก็ไปศึกษาดู อาตมาอธิบายเป็นภาษาไทย ขยายความ แล้วก็พยายามใช้ภาษาสั้นๆ อธิบายไว้เป็นหัวข้อๆ เราจะมีความรู้ หรือ มีสภาพจริงเกิดดังกล่าว ดังอธิบายนี่จริงๆ ศีลจะมีอำนาจ ศีลจะมีฤทธิ์ ศีลจะมีผล หรือมีอานิสงส์ มีผลมีประโยชน์ อย่างที่เป็นนั้น จึงจะเรียกว่า ศีลนี้ทำให้เราสมบูรณ์ แล้วพระพุทธเจ้าท่านก็ตรัสสุดท้ายนะ

ดูกร อานนท์ นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสสะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์

ดูกร อานนท์ ศีลเป็นกุศล มีอวิปปฏิสารเป็นผล มีอวิปปฏิสารเป็นอานิสงส์ อวิปปฏิสาร มีปราโมทย์ เป็นผล มีปราโมทย์เป็นอานิสงส์ ปราโมทย์มีปีติเป็นผล มีปีติเป็นอานิสงส์ ปีติมีปัสสัทธิเป็นผล มีปัสสัทธิเป็นอานิสงส์ ปัสสัทธิมีสุขเป็นผล มีสุขเป็นอานิสงส์ สุขมีสมาธิเป็นผล มีสมาธิเป็นอานิสงส์ สมาธิมียถาภูตญาณทัสสนะเป็นผล มียถาภูติญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ ยถาภูตญาณทัสสนะ มีนิพพิทาวิราคะเป็นผล มีนิพพิทาวิราคะเป็นอานิสงส์ นิพพิทาวิราคะ มีวิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล มีวิมุตติญาณทัสสนะ เป็นอานิสงส์ ด้วยประการฉะนี้ ดูกร อานนท์ ศีลที่เป็นกุศล ย่อมถึงอรหันต์โดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้

นี่ ก็จบสูตร สูตรนี้ชื่อว่า กิมัตถิยสูตร สูตรนี้คือกิมัตถิยสูตร สูตรว่าด้วยอานิสงส์ของศีล

อโสกะ ว่าธุลีหมอง พ่อท่านพูดผิดหรือเปล่าคะ โสกะคือธุลีหมองมากกว่า
อโสกะนี่แหละ แปลว่าธุลีหมอง มันไม่ใช่โสกะ บอกแล้วว่า มันไม่แล้วละ โดยภาษาหยาบ มันไม่มีโศกแล้วละ แต่มันยังมีส่วนเหลือส่วนนิด เป็นธุลีละออง จึงเรียกว่าอโสกะ ธุลีหมอง

ทำไมชาวอโศกชื่ออโศก
เอ้า ! ก็พูดอจินไตยอีกนิดหนึ่ง ชาวอโศกนี่ จะดังด้วยด่างๆ จะดีด้วยด่างๆ อย่างนี้แหละ ถึงเรียกว่า อโสกะ ไม่ได้ดีด้วยเด่นๆ ไม่ได้ดีด้วยอย่างดี ด้วยไปในทิศทางบวกเท่าไหร่หรอก มันจะดีอย่างนี้ ไปอย่างนี้แหละ ขลุกๆขลิกๆ ไปอย่างนี้นะ อโสกะนี่ ดวงอย่างนี้แหละ ต้องอุตสาหะวิริยะ พากเพียร แล้วก็ต้องหม่น ต้องหมอง ต้องเกลือก ต้องกลั้ว ต้องเหมือนกับ อย่างอาตมานี่ไม่งามหรอก จะไม่งามหรอก ไปเรื่อยๆแหละ แต่ว่าเนื้อแท้นะ เนื้อแท้นะ ฟังดีๆ ไม่ใช่อาตมาคุยโต ไม่ใช่ว่านี่พูดไป พอถึงเวลาวาระ ก็พูดสู่กันฟังบ้าง ใครติดตามบ่อยๆนานๆ ก็จะได้ฟัง ได้เห็น ได้ยิน ใครไม่ติดตาม ก็ร่วงๆ หล่นๆ คนไม่มีบุญนี่ ไม่มีหรอก บางทีอาตมาเห็น โอ้ ! คนนี้ตั้งใจจะโปรดแท้ๆนะ มีอันเป็นไป ต้องไปโน่น ต้องมานี่ ทั้งๆที่น่าจะอยู่ อยู่แล้วนะ ไม่อยู่นะหลายที มันไม่มีบุญจริงๆ แล้วก็พลาดไป นะ

นี่คือ ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ อวิปปฏิสารดีน่ะ ไม่เดือดร้อนน่ะ มันจะไปแปลว่า ไม่ดีก็ไม่ได้ อะ นี่ มันก็ดี ส่วนที่มันใช้ภาษาเท่านั้นแหละ เป็นส่วนที่บอกความหมาย เพราะฉะนั้น อโสกะ ก็เป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นอย่างนี้แหละ มันเป็นสภาพอย่างนี้ มันยังไม่บริบูรณ์หรอก มันยังไม่ถึงขั้นสูงสุด อาตมาก็มีบารมีเท่านี้ ได้ขนาดนี้ แล้วคุณภาพของพวกเรา ก็เป็นอย่างนี้ คุณภาพของพวกเรา จะดูดี จะดูใหญ่ ดูสูง จะดูถึงที่สุดขนาดไหนก็ตาม มันจะยังเป็น สจิตตะ อยู่นั่นแหละ มันยังไม่ถึงยอด เป็นอนุตตระเท่าไหร่หรอก จิตที่ดี แต่ดีกว่านี้ยังมีอีก มันยังไม่บริบูรณ์ ทั้งหมดสุดยอด มันยังไม่บริบูรณ์ทั้งหมดสุดยอด และ ค่อนๆจะไม่ใช่เป็นสภาพที่งาม หรือ สภาพที่ผ่อง หรือสภาพไปในทางร่าเริง เบิกบาน จะเป็นลักษณะซึมๆทึมๆ ซีดๆ หมองๆ คุณไม่มีทางจะได้ไป สวยสดงดงาม คุณจะต้องมอซอ อย่างนี้ไปจนตลอดแหละ อโสกะ แต่เนื้อแท้น่ะ แต่เนื้อแท้นะ เข้าใจไหม อาตมาไม่มีภาษาจะพูดนะ

เป็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน
เออ ! เป็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เป็นเพชรแท้ แต่มันยังไม่ได้เจียระไนหรอก มันยังไม่สมบูรณ์หรอก เป็นเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน อย่างนี้นี่ ดูแล้วเหมือนก้อนหิน ก้อนดินอย่างนี้ เหมือนก้อนหิน ก้อนดินอย่างนี้ แต่ข้างใน นั่นน่ะ ของแท้นะ เพชรแท้นะ มันจะเป็นอย่างนี้ มันยังไม่บริบูรณ์หรอก มันยังไม่บริบูรณ์ มันยังไม่ตกแต่ง มันยังไม่ได้ประดับประดา ยังไม่ได้เข้ามีองค์ประกอบ ที่ยอมรับ ทางโลกทางธรรม ทางชั้นสูง ชั้นยอด ชั้นศักดิ์ศรีอะไร ยังไม่ครบหรอก เข้าใจไหม บารมีมันเท่านี้นะ รู้ตัวไว้เสียๆ อาตมาไม่ได้เป็นผู้ที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ สมบูรณ์มา ไม่หรอก อาตมาไม่ใช่อย่างนั้น อาตมาก็ทำตามฐานะบารมีของอาตมา แต่มีเนื้อแท้ มีเนื้อแท้ที่สมบูรณ์ในระดับ ในระดับได้ ไม่ใช่ไม่ได้ ได้น่ะ นี่ก็เอาอจินไตยอะไรประกอบอธิบายให้ฟังบ้าง จะได้เข้าใจอะไรต่ออะไร ไม่ใช่ฟลุ้กๆ ว่าทำไมมาชื่อชาวอโศก ไม่ใช่ฟลุ้กหรอก อาตมาก็ไม่อยากพูดมากกว่านี้ ประเดี๋ยวก็ นักลิเกมาก

เอ้า! ทีนี้ก็เราได้รู้ ได้ขยายความเรื่องศีล หรือว่าอานิสงส์ของศีล หรือประโยชน์ของศีล หรือว่า ลักษณะของศีล จะเจริญด้วยอย่างไร จะเจริญจะบริบูรณ์ อย่างนี้ เพราะฉะนั้น ยิ่งมีศีลอย่างนี้ ปฏิบัติได้ ทำอย่างนี้ขึ้นไป คุณก็ยิ่งเกิดศรัทธา ศรัทธามันก็จะเสริมหนุน เพราะศีลที่เจริญ อย่างนั้นแหละ ด้วยองค์ประกอบของหิริ ด้วยองค์ประกอบของโอตตัปปะ ด้วยองค์ประกอบของสุตะ

เมื่อคุณเกิดญาณ ศีลต้องเกิดปัญญา ศีลอยู่ที่ไหน ปัญญาอยู่ที่นั่น ปัญญาอยู่ที่ไหน ศีลอยู่ที่นั่น ปัญญากับศีล จะช่วยกันเหมือนเท้าล้างด้วยเท้า ล้างมือด้วยมือ จะขัดสีกันไปเรื่อย จะช่วยกัน ไปเรื่อย ไปด้วยกัน มาด้วยกันเลือดสุพรรณ ศีลกับปัญญา ไม่มี เพราะฉะนั้น ถ้าศีลไม่มีปัญญา มะลื่อทื่อ ไม่ได้ แม้แต่ฌานก็ต้องมีปัญญา คือจิตปัญญา ศีล-สมาธิ-ปัญญา หรืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา มันจะต้องควบคู่ ปัญญาจะไปอยู่ด้วยหมด ศีลกับปัญญาอยู่ด้วย จิตก็ปัญญาอยู่ด้วย จะเรียกว่าฌาน ก็ต้องมีปัญญา มีปัญญาแต่ไม่มีฌาน ท่านไม่เรียกว่าฌาน มีแต่ปัญญา ที่ไม่เกิดฌาน ไม่เกิดการละหน่ายคลาย ไม่เกิดการล้างกิเลสออกจริง ไม่ถือว่าฌาน แล้วต้องมี ปัญญารู้ว่า ล้างกิเลสออก กิเลสจะจาง จะคลายไปน้อยเท่าไหร่ เพ่งเผาออกไปได้ เท่าไหร่ๆ ปัญญาต้องควบคู่ไปด้วย ต้องรู้ ตอนไหน เมื่อไหร่ ที่ไม่มีญาณปัญญารู้ ตอนนั้นไม่เรียกว่าฌาน

เพราะฉะนั้น ยิ่งไปนั่งจิตดับ ไม่รู้เรื่องเลย อย่าว่าแต่ปัญญาเลย อย่างนั้นไม่เรียกฌาน เพราะนิโรธ


อ่านต่อ หน้าถัดไป
FILE:1337J.TAP