ทรัพย์แท้...ของมนุษย์ ตอนที่ ๖ หน้า ๒
โดย พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔
ในงานปลุกเสกสมณะแท้ๆของพุทธ ครั้งที่ ๑๕
ณ พุทธสถาน ศีรษะอโศก จังหวัดศรีสะเกษ

ต่อจากหน้า ๑

เพราะฉะนั้น ยิ่งไปนั่งจิตดับ ไม่รู้เรื่องเลย อย่าว่าแต่ปัญญาเลย อย่างนั้นไม่เรียกฌาน เพราะนิโรธ ของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่นิโรธที่ดับ ดับไม่รู้เรื่อง นิโรธของพระพุทธเจ้านั้น เป็นนิโรธตื่น นิพพานตื่น นิพพุติ ตื่น จักขุมา ปรินิพพุโพติ นิพพานลืมตา นิพพานมีจักขุมา นิพพานมีจักษุ นิพพานมีความเห็น มีความสว่าง มีความแจ้ง จักขุ คือธรรมะ ตาธรรมะ ไม่ใช่ตาลูกตา จักขุก็ เลยบอกลูกตานี่นะ ไม่ใช่

จักขุมา ปรินิพพุโพติ นั่นแหละ ปรินิพพานนั่นแหละ จักขุมา ปรินิพพุโพติ ปรินิพพานอย่างมีจักขุ พูดโดยทับศัพท์เข้าไปนิดหนึ่ง ไม่ใช่ปรินิพพาน อย่างดับจักขุ อย่างไม่มีเห็น ไม่มีรู้ ไม่มีอะไร ไม่ใช่นะ การปรินิพพาน หรือนิพพานของพระพุทธเจ้า จึงยิ่งสว่าง นิพพานของพระพุทธเจ้าอย่างเห็น อย่างรู้ อย่างมีตัวตื่นเต็มที่ จึงเรียกว่าพุทธะ ต้องเข้าใจว่าฌาน

เพราะฉะนั้น ฌาน หรือขั้นฌานนิโรธ ขั้นฌานที่ดับนี่ ไม่ใช่ไปดับจิต แต่ดับกิเลสจริงๆเลย ดับสนิทเลย กิเลสดับ ไม่โผล่ ไม่เกิด ไม่มีวิมุติจร ไม่มีอวิมุติจร ไม่มีความไม่หลุดพ้นจร ไม่มีเนื้อหา ที่มันไม่ใช่ทางของมัน มันเป็นเนื้อหาของสมบูรณ์ทั้งหมดเลย นี่ ของพระพุทธเจ้า ถึงขั้นอย่างนั้น เป็นความละเอียดลึกซึ้งที่ ถ้าเผื่อว่า ไม่เข้าใจแล้ว ไม่ได้นะ

ทีนี้ มีหิริ ก็เกิดจริง จิตจะเกิดการละอาย การรู้ว่าอย่างนี้ชั่ว อย่างคนที่คนละอบายมุข จะเห็นว่า เอ้อ! สูบบุหรี่มันบาป บาป ก็คือความไม่ดี บาป ก็คือความชั่ว ประพฤติทางกาย ก็ชั่วทางกาย ประพฤติทางวจี ก็ชั่วทางวจี ประพฤติทางใจ กิริยาทางใจเกิดอยู่ ยังติดยังยึดยังชอบ ยังเห็นดี เห็นงาม สูบบุหรี่ มันดี มันงามอย่างนั้น มันอร่อยอย่างนั้น มันเป็นรสที่ต้องมี ต้องเป็นต้องได้ ทางวาจา ทางวจี อย่าไปให้เขาเห็นว่าเรามี เราเป็น เราเอา เราได้ มันอาย มีหิริน้อยๆ จนหิริจริง นี่มันจะไม่ไปนึกถึงคนอื่นหรอก มันจะละอายตัวเอง ในที่ลับ ตัวเองก็ละอาย ตอนนี้จนกระทั่งเจริญ เป็นโอตตัปปะ เป็นการกลัวต่ออย่างนี้ เกรงกลัว หรือว่า รู้สึกว่ามันเป็นบาปจริงๆ มันเป็นความไม่ดี จริงๆนะ กลัวอย่างนี้ ไม่ทำหรอก กรรมอย่างนี้ กิริยาอย่างนี้ เราไม่เอา อาการอย่างนี้ จะมามีอยู่ในเรา ไม่เอา จาคะออก ละออก ลดออก

เพราะฉะนั้น ลักษณะของหิริ กับโอตตัปปะ เป็นคุณลักษณะของความเจริญ รู้บาป ละอายบาป กลัวบาป แล้วก็ขจัดบาปออก จนเป็นจาคะ จะขจัดได้ก็ต้องเติมความรู้ เติมความจริง พหุสุตะ พาหุสัจจะ จะต้องเติมขึ้นไป เติมเนื้อหาของความรู้ จะรู้อย่างรอบถ้วน เหตุผลอะไรก็ตามใจ รู้ด้วยการปฏิบัติ มีพหุลีกัมมัง ยิ่งรู้ชัด ยิ่งทำไป ยิ่งมีประสบการณ์ไป ยิ่งทำแบบฝึกหัดออกไป โอ้! มันออกทีละน้อย มันออก มันยังเวียนกลับ มันก็ยังเป็นอย่างนี้ ถ้าไม่มีเวียนกลับ ออกไปแล้ว เบากว่ากันยังไง มันก็จะมีอาการอย่างนั้น ให้เรารู้ๆๆ เป็นสุตะ รู้ด้วยปัญญา รู้ด้วยการทดสอบทำ อบรม ฝึกฝนไป รู้รอบ รู้จริง เติมเข้าไปเรื่อยๆ ให้ออกไป ล้างออกไป ละออกไป ไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น ไม่เหลือตัว ไม่เหลือตน ไม่เหลือตัวสภาพนั้นแหละ อาการนั้นแหละ มันจะต้องเกิดจริง เป็นจริง นี่เป็น สภาพของสิ่งที่เสริมจริงๆ มีมาอีก ก็มีหิริ สร้างหิริ สร้างโอตตัปปะ มีสุตะเพิ่มๆๆๆ จึงจะเกิด จาคะ ทางกิเลสทางจิต จาคะกิเลสทางจิต นี่แหละปรมัตถ์ ไอ้จาคะข้างนอกนี่ มันก็แค่วัตถุข้างนอก แต่ประกอบด้วยจิตนะ เราจะสละออก เราจะไม่เอาแล้ว เอาไปให้คนอื่นซะ ให้ไป แล้วก็ใจนี่แหละ ใจมันให้หรือเปล่า จาคะมันสละจริงหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น ตัวรูปจาคะข้างนอก ก็คือ จาคะข้างนอก ของข้างนอก แต่ใจเราจาคะไหม แม้เอาอันนี้ มาไว้ที่เรา มีที่เรา แล้วเราจาคะไหม เราก็มี อยู่นะนี่ แต่ว่าเราเองสละแล้ว แต่เราใช้มัน อย่างนั้น มันอาศัยไปอย่างนั้น ใช้ไปที่จริง ไม่ใช่เพื่อเราดัวยซ้ำ นี่เป็นสภาพตีกลับ เป็นสภาพปฏินิสสัคคะ สภาพย้อนแล้ว มันก็จะมีบทฝึกหัดให้เราเสมอ เราให้ไปแล้ว แต่เขาก็มาให้เราอีก เราจะไม่เอาแล้ว แหม ! ยิ่งมีมามาก มาเรื่อยเลย มันจะกลับ มันจะเหมือนทดสอบ ขั้นพระพุทธเจ้า ท่านจะมีทรัพย์ศฤงคาร ที่คนเอามาให้มากมายขนาดนั้น มากท่านจะหวั่นไหวไหม มีมากจนกระทั่งไม่รู้ตั้งเท่าไหร่ๆ ถ้าบางทีโพธิรักษ์นี่ เจอไอ้ที่อย่าง มีลาภมาก ขนาดนั้น นี่หวั่นไหวไหม มันจะแปรปรวนไหม มันก็มีน้ำหนัก มันก็มีอำนาจเท่ากัน ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียะ มากระทบสัมผัส มายั่ว มายวน มากระแทก กระทุ้ง รู้ตัวมั่ง ไม่รู้ตัวมั่ง มันเป็นตัว แบบฝึกหัด ตัววิบากที่เราเองจะต้องได้ขนาดของมันเอง ไม่ต้องไปหาโจทย์ที่มันไม่ได้ จะต้องหาโจทย์ยากๆ ใส่ตัว จะต้องเอา เดี๋ยวตายๆ ไม่ต้องกลัวว่า โจทย์จะไม่มา ทำโจทย์ให้ได้ก็แล้วกัน ไม่ต้องรอหรอก ถึงเวลา ก็พบ ถ้าขวนขวาย จะไปหาโจทย์มาเองอีก บางทีมันก็ได้เหมือนกันนะ ได้โจทย์เหมือนกันนะ แต่จะตายชักเอา มันไม่ใช่ธรรมชาติ มันไม่ใช่วิบาก คนที่ใจเร็วไฟแรงอยากจะเร็ว อยากจะลัดน่ะ ระวัง จะตายเอา

เพราะฉะนั้น ปฏิบัติตามธรรมของพระพุทธเจ้านี่ไปขวนขวายไปมีหมู่มีกลุ่ม มีโน่นมีนี่ สร้างไป ทำไป อะไรไป ข้อสำคัญโจทย์ที่มีอยู่ที่ตัว อาตมาแน่ใจที่สุด ว่าทุกคนมีโจทย์ทุกคน มีขณะนี้ มากน้อย แล้วแต่ ทำจริงๆให้ชัด ให้ชัดให้เจนของโจทย์ตัวเอง อย่ามาทำทะล่อทะแล่ ทำเป็นกลบเกลื่อน แล้วก็ไปหาโจทย์หยาบๆให้คนอื่น เขาดูเหมือนเราไปเที่ยวได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่ที่แท้ ไอ้ที่ตัวเอง หัวอกกลัดหนองอยู่นั่นน่ะ ไม่รู้จักล้างจักละ อย่ามาทำเป็นทะล่อทะแล่ อย่างนั้นเลย เอาให้จริงเถอะ แล้วคุณจะเข้าใจนะ

ทีนี้อานิสงส์ของหิริ และโอตตัปปะ เปิดไปดูหน้า ๑๔ ท่านว่าไง อานิสงส์ของหิริ และโอตตัปปะ

เมื่อมีหิริ และโอตตัปปะ อินทรียสังวร ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย คุณฟังภาษาแค่นี้ ก็ที่จริง ถ้าใครมี ปฏิภาณ เข้าใจภาษาดี ก็จะเข้าใจชัด เมื่อมีหิริ และโอตตัปปะ ความสังวรอินทรีย์ทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะสมบูรณ์ขึ้น มันจะสั่งสมลงเป็นอุปนิสัย เป็นการประพฤติปฏิบัติ สั่งสมความชำนาญ อุปนิสัยเกิด เกิดๆๆ การสังวรของคุณ ก็จะกลายเป็นอุปนิสัย ชำนาญเนืองแน่น เจริญขึ้น ๆๆ จริงๆ ถ้าคุณไม่ฝึกฝนอบรม มันจะไปสั่งสมเป็นนิสัยอุปนิสัย ไม่ได้ ไม่ได้

เพราะฉะนั้น ยิ่งอุปนิสัยเกิด หิริก็ยิ่งจะสูงขึ้น โอตตัปปะก็ยิ่งจะสูงขึ้น คุณก็ยิ่งจะเก่งไปในทางสังวร สำรวม ทุกวันนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เราก็ว่าเรา สังวรนะ แต่สังวรเผลอๆ ซะเยอะใช่ไหม มันไม่สังวร ต่อเนื่อง แต่ถ้าเผื่อว่า คุณได้มีหิริจริง ตัวสังวรมันก็จะเกิดเป็นประสิทธิภาพ มันเป็นประสิทธิภาพ ของสังวรนะ การสังวรก็คือ อาการอย่างหนึ่ง ที่เราจะมีสติ แล้วก็มีสังวร มีสติปัฏฐาน ๔ นั้น ก็มีสังวร สังวรอินทรีย์ แล้วก็จะมีสภาพเป็นสัมมัปปธาน ๔ ในสติปัฏฐาน ๔ ต่อไป เรื่อยๆ เป็นสังวรปธาน เป็นปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน มันจะเป็นของมันเอง มันจะมีสังวรปธานที่ดีขึ้นไป เป็นปธาน แล้ว ตั้งลงหยั่งลง ปธานนั้นตั้งลงหยั่งลงๆๆ ปธานนั้น มันเป็นตัวตั้งลง เป็นตัวหยั่งลง เข้าไปเรื่อยๆจริงๆ แล้วการสังวร สังวรทำไม สังวรเพื่อประหาร สังวรเพื่อฆ่า สังวรเพื่อละ สังวรเพื่อจะลด มันก็จะเกิดประหาร พอสังวรได้ดีที่ถูกทาง ทำอย่างขมีขมัน อย่างพยายาม มันก็จะประหารๆๆ ไปก็ได้เกิดผล เป็นภาวนาปธาน เกิดผล แล้วก็รู้จักรักษา รักษา รู้จักรักษา มันจะเกิดจริงๆ เกิดสังวรที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพสูงขึ้นๆ แล้วก็ เนืองแน่น เนียนเข้าไป เป็นอุปนิสัยๆๆ เป็นติดตัว อุปนิสัยคือสิ่งที่เกิดประจำตัว ติดตัว ติดตัว มีประสิทธิภาพของนิสัย มีคุณภาพของอุปนิสัยขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อมีอินทรีย์สังวร ศีลย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เพราะฉะนั้น เมื่อมันเป็นอุปนิสัย ศีลมันก็สมบูรณ์ ขึ้น สมบูรณ์ขึ้นๆๆ ตามคุณภาพไป จนกระทั่งถึง วิมุติญาณทัสสนะ เมื่อถึงนิพพิทาวิราคะแล้ว มันก็ถึงวิมุตติญาณทัสสนะตามที่ผล หรืออานิสงส์ของ ศีล ๑๐ ประการนั่นเอง ๑๐ ประการ นับตัวที่ ๑๐ ที่วิมุตติญาณทัสสนะ ในนั้นเขียน เอาไว้เพียงแค่ ๙ ใช่ไหม หรือเขียน ๑๐ ศีลในข้อเขียนแค่ ๙ ๙ นิพพิทาวิราคะ มี วิมุตติญาณทัสสนะเป็นผล

เพราะฉะนั้น ๑๐ ตัวนี่ ตั้งแต่ตัวที่ ๑ ศีล อวิปปฏิสาร ๒ ปราโมทย์
๑.ศีล
๒.อวิปปฏิสาร
๓.ปราโมทย์
๔.ปีติ
๕.ปัสสัทธิ
๖.สุข
๗.สมาธิ
๘.ยถาภูตญาณ
๙.นิพพิทาวิราคะ
๑๐.วิมุตติญาณทัสสนะ

อันนี้อยู่ในพระไตรปิฎก อยู่ที่ทสกนิบาต จะเกิดวิมุตติญาณทัสสนะนั่น ศีลมันก็เมื่อมีอินทรีย์สังวร มีประสิทธิภาพของอินทรีย์สังวร ศีลก็ย่อมบริบูรณ์ เพราะฉะนั้น มันจะซ้อนเชิง มีหิริ มีโอตตัปปะ ก็จะทำให้ศีล สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สั่งสมเป็นอุปนิสัยยิ่งขึ้น เมื่อมีศีล สัมมาสมาธิย่อม สมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย ก็จะตั้งมั่นขึ้น ตั้งมั่นขึ้นๆๆๆ ศีลสมบูรณ์ มันก็เข้าหลักของศีล สมาธิ ปัญญา ปัญญาสมบูรณ์ เมื่อมีสัมมาสมาธิ สังเกตนะว่า ท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ อาตมาไม่ทราบว่า ในที่ลอกมานี่ มาเขียนสัมมาสมาธิเอง หรือว่าสมาธิเฉยๆ อยู่ในหนังสือ ในหนังสือเขาเรียก สัมมาสมาธิเลย คงจะมาจากพระบาลีเลย ฟังให้ดี นะ เห็นไหม อาตมาเคยบอกแล้วว่า สมาธิของ พระพุทธเจ้า ท่านเรียกว่า สัมมาสมาธิ ท่านไม่ได้เรียกสมาธิดื่นๆ เพราะสมัย ก่อนพระพุทธเจ้าเกิด เขาก็เรียก สมาธิมาแล้ว เป็นสมาธิของอินเดียเขา เป็นภาษาบาลี ของอินเดียเขา เขาก็เรียกสมาธิ มาแล้ว แต่สมาธิเหล่านั้น มันเป็นความหมายอย่างที่เขาเป็นกัน ทีนี้ ท่านก็มาตรัสรู้สมาธิของท่าน ซึ่งมันไม่ใช่ของท่าน คล้ายกับอีของไอสไตน์ ไม่ใช่อีของอื่นนะ พลังงานของคนอื่น เขาค้นพบ เป็นสูตร เป็นทฤษฎีไปได้พลังงานตามสูตรของคนอื่น ใครเรียนวิทยาศาสตร์มาก็จะรู้ เขาก็เรียกอี ของคนนั้น พลังงาน ของคนนั้น แต่ของไอสไตน์นี่ E=Mc2

เพราะฉะนั้น อีของไอสไตน์ สำหรับ อีของคนอื่น พลังงานของคนอื่นที่ เขาค้นคิดได้ตามสูตร ของคนอื่น ก็ของคนอื่นเหมือนกัน สมาธิของคนอื่น ก็ส่วนของคนอื่น สมาธิของพระพุทธเจ้า ก็ของพระพุทธเจ้า แล้วท่านก็เรียกสมาธิของท่านว่า สัมมาสมาธิ นี่แหละ มันต่างกันอยู่อย่างนี้ แล้วก็พูดกัน ยังไม่ค่อยรู้เรื่อง พวกเราชาวอโศก เรียนไปจากอาตมาพอเข้าใจ แล้วไม่มีความต่าง ไม่มีความต่าง ไม่มีความต่างมันเกิดจากมรรคองค์ ๗ ดีที่ว่า มหาจัตตารีสกสูตร มายืนยัน ที่อาตมา เอามาพูด ถ้าไม่เช่นนั้นก็เขาก็หาว่ามาพูดเอาเอง เป็นศาสดาเองอีกแหละ แหม ! อยากให้เป็นศาสดา จังเลย ที่จริงดีนะ แหม ! แต่มันยังไม่ถึงน่ะนา มันยัดเยียดจังเลย ขอให้มันถึงจริงก่อนเถอะนา แล้วจะรับอย่างหน้าชื่นตาบานเลย ไม่กระดิ๊กกระดี๊เลย จะไม่สะดิ้งเลยจริงๆด้วย ก็มันยังไม่เป็น ศาสดา ก็มาประชดประชันเราอยู่เรื่อยเลยว่าเป็นศาสดา เรายังเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเรา เราก็ยังตามทางของท่านอยู่ เอาอันนี้มาเปิดเผย จะไปโกง เอาของท่าน มาเป็นของเราได้ยังไง แต่เขาก็ไม่เชื่อ เขาว่าของท่าน ต้องอย่างเขาซิ อย่างนี้ มันไม่ใช่ของท่านหรอก นี่มันของคุณเองน่ะ คุณพูดเอาเอง ไม่เหมือนของเขานี่ แหม! อาตมาก็เห็นใจ เขานะ ไม่รู้จะว่ายังไง เพราะเขาเชื่อของเขาจริงๆ อย่างนั้น ก็เอาก็ว่าไป ไม่เถียงกันหรอก เมื่อยฟัน เปล่าๆ สงสารเขา

เมื่อมีศีล สมาธิย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย มันสั่งสมลงเป็นอุปนิสัยทั้ง นั้นๆๆเลย เพราะฉะนั้น เมื่อมีหิริโอตตัปปะ ก็เกิดอินทรีย์สังวร เมื่ออินทรีย์สังวรดีขึ้นมาเรื่อยๆ มันก็เกิดสั่งสม ศีลก็สมบูรณ์ ขึ้นเรื่อยๆ ย้อนกันไปเรื่อยๆ พอศีลสมบูรณ์ก็กระทบมาสั่งสมเป็นสัมมาสมาธิ

เมื่อสัมมาสมาธิสมบูรณ์ก็เกิดปัญญา หรือ ยถาภูตญาณทัสสนะ ย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย เมื่อมียถาภูตญาณทัสสนะ นิพพิทาวิราคะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัยตัวที่ปล่อยปละจางคลาย นิพพิทาวิราคะ ก็คือจาคะชนิดหนึ่งนั่นแหละ ตัวสละออก นิพพิทาวิราคะ ก็คือจาคะนั่นแหละ เข้าไปหาเป้า จาคะนั่นแหละ นิพพิทาวิราคะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย แต่ในนี้ไม่ได้ใช้คำว่า จาคะเลยนะ แต่คุณต้องรู้นะว่า สภาพของจาคะเกิดอยู่เสมอ เป็นทรัพย์อยู่ตลอดเวลา

เมื่อมีนิพพิทาวิราคะ วิมุตติญาณทัสสนะย่อมสมบูรณ์ด้วยอุปนิสัย มันก็จะมีสภาพสั่งสม ซับซ้อน ขัดเกลาขึ้นไปๆๆๆๆอย่างนี้น่ะ วิมุตติญาณทัสสนะเป็นที่สุด ก็คือ ตัวจาคะปัญญา จาคะสละ ออกหมด ก็คือวิมุติ ปัญญาก็คือตัวญาณทัสสนะที่เห็นวิมุติ รู้วิมุติ ตรวจสอบแล้ว ตรวจสอบอีก มีภาวะปกติธรรมดาในชีวิต มีโจทย์มาให้ทำ มีสติสัมปชัญญะทำโจทย์ แล้วก็มีญาณตรวจสอบถี่ ละเอียด ไม่หลุดไม่ร่วงไม่เผลอ เข้าใจตัวเองอย่างชัดเจนว่า เออ ! จะมาอย่างแค่ ปืนเล็กยาว มาถึงขนาดปืนกล มาถึงขนาดขีปนาวุธ มาถึงในระดับสกั๊ด มาถึงระดับตอมาฮอค ยังไม่รู้ว่า มันจะมีอะไรอีก ที่มันจะหนักกว่านี้ อำนาจระเบิดมากกว่านั้น ขณะนี้อำนาจระเบิดคือตอมาฮอค กับเอ็กโซเซต์นี่ต่างกัน ตั้งกว่าครึ่งนะ อำนาจระเบิด มีอำนาจระเบิด ขนาดนั้น นี่ก็ขนาดนั้น นี่ก็เอาสภาพของทางโลกเขามาอธิบายประกอบ เพราะฉะนั้น คุณจะมีอะไรมันแรง มันทำอะไร แค่ไหน ที่เป็นสภาพของเหตุปัจจัย เป็นสภาพของวิบาก สภาพของวงโคจร มันกระทบสัมผัส ถูกอะไรขนาดไหน คุณทนได้ไหม คุณแข็งแรงจริงไหม ตั้งมั่นจริงไหม ไม่มีแม้อโสกะ ไม่มีแม้วิรชะ เกษมๆ เขมังๆ อยู่จริงๆนะ ถูกผุฏฐัสสะ โลกธัมเมหิ นี่ ไอ้โลกธรรมทั้งหลายแหล่ ในโลกนี้แหละ

เพราะฉะนั้น ผู้ที่แข็งแรงจริง ยิ่งจะลงไปคลุกคีเกี่ยวข้องกับนรกได้ เหมือนพระมาลัย ไปโปรด สัตว์นรกนี่แหละ พระมาลัยไปโปรดสัตว์นรก ก็เป็นคำอธิบายอันหนึ่งว่า ผู้ที่หลุดพ้น หรือผู้ที่เป็น พระอริยเจ้าจริงๆนี่ เดี๋ยวก่อน บอกก่อนน่ะ ว่าอย่าแอ๊คนะ อย่านึกว่าเราเป็น พระมาลัยแล้ว อย่านึกว่าเรานี่ สมบูรณ์แล้ว แล้วก็บุก ลุย ลุยนรกไป ไปทุกแห่ง แหลกเลย แหลกคือเรา ลุยแหลก คือเราแหลก ไม่ใช่เราไปลุยให้คนอื่น มันปราบให้เขาแหลกไปได้ แหลกคือเรา อย่าอวดกล้า อวดเก่ง อย่าเที่ยวได้ห่าม แต่ความจริงแล้วจะเป็นจริง เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะไปผ่าน นรกขุมใหญ่ ขุมใหญ่ขนาดไหนได้ ก็ต้องดูอินทรีย์ดูตัวเราเองว่า เราไหวไหม มันจะไหวเอง แล้วมัน จะรู้เอง มันจะค่อยๆขยับตัวเอง มีธาตุรู้ มีญาณปัญญา หรือมีญาณทัสสนวิเศษ ที่จะเข้าใจตนเอง มีสัปปุริสธรรม ธัมมัญญุตา อัตถัญญุตา อัตตัญญุตา รู้ตนๆๆว่า เออ ! เราไม่ได้เก่งกว่านี้หรอก แต่ไม่มีมานะ ตรงที่ว่า รู้ว่าใหญ่ก็ใหญ่ รู้ว่าเล็กก็เล็ก เข้าใจผิดเหลี่ยม ว่าพอดีๆ เข้าใจว่ามากไป ก็ไม่ได้ เข้าใจว่าน้อยไปก็ไม่ได้ มานะนี่ มานะตั้ง ๙ เชิง หรือ ๑๒ เชิงนี่ ผู้ที่สูงเข้าใจตนต่ำ ก็เป็นมานะ ผู้ที่สูงเข้าใจว่าตัวเสมอเขา ก็เป็นมานะ ผู้ที่สูงยึดตัวว่าสูง ก็มานะ ผู้ที่ต่ำ เข้าใจว่าตัวสูง ก็มานะ ผู้ที่ต่ำ นึกว่าตัวเสมอเขา ก็มานะ ผู้ที่ต่ำ ยึดตัวเองว่าต่ำ ฉันก็แค่นี้ๆนะ ไม่มีเลื่อนน่ะ ก็มานะ ตั้ง ๑๒ เชิง คุณผันไปซิ จากตัวเดียว ผันไป ผันไป เป็น ๙ เชิงซะก่อน นี่แหละ เสมอ ที่จริงตัว เสมอเขา ตัวเองนึกว่าตัวสูง มานะ ตัวเองเสมอเขา ตัวเองนึกว่าตัวต่ำกว่าเขา ก็มานะ ตัวเองเสมอเขา ยึดอยู่เสมอกัน ไม่มีเปลี่ยน ใครจะสูงกันก็ไม่ได้ ไม่ได้ เราจะต้องเท่ากันๆๆๆก็ไม่จริง ใช่ไหม ตัวเสมอเขา ก็ยึดว่าตัวเสมอเขาอยู่อย่างนั้น เข้า ใจว่าตัวเสมอเขา มันกาละก็ดี อะไรก็ดี มันจะไม่เที่ยง ไม่เที่ยง ความว่าไม่เที่ยงนี่ มันจะมากกว่า จนคะเน คำนวณไม่ได้

เพราะฉะนั้น อย่าไปยึดมั่นถือมั่นในอะไรทั้งนั้น เขาดี รู้ว่าเขาดีเกินกว่าเราแล้วนะ เขาเจริญ กว่าเราแล้วนะ เข้าใจให้ถูก โอ้ ! นี่เขาต่ำกว่าเรา ก็เข้าใจให้ถูก จะต้องมีญาณทัสสนะ ที่โยนิโสมนสิการ ละเอียดลออจริงๆ แล้วไม่ใช่ไปเอากิเลสมาเป็นตัวแปรว่า ทั้งที่เขาสูงกว่าเรา ก็เข้าใจว่าเขาต่ำกว่าเรา เขายังไม่สูงกว่าเรา ก็นึกว่าเขาสูงแล้ว เป็นความหลงผิด ก็ไม่ได้ ต้องมีความจริง ตามความเป็นจริง เห็นไหม ญาณทัสสนะนี่มันวิเศษแล้ว มันลึกซึ้งมากมายก่ายกอง นี่ มานะ ๙ นี่ มานะ ๑๒ อาตมายังนึกไม่ออก ที่จริงเคยได้ยิน เคยผ่านนะ แต่ว่าลืมแล้ว ละเอียดไป กว่านั้น เป็นยังไง แต่มานะ ๙ เมื่อกี้อธิบายไปแล้ว ๙ เชิง สูง ต่ำ เสมอ ๙ เชิงแล้ว มานะมันเป็น อย่างนี้ เอาแค่ ๙ เชิงก็เหลือเกินแล้วนะ อย่าไปหลงผิดเป็นอันขาด อย่าไปหลงผิด เป็นอันขาด ต้องตรวจตราจริงๆเลย แล้วเข้าใจสภาพธรรมอะไรพวกนี้ได้ โดยเฉพาะกิเลส ตัณหา อุปาทานต่างๆ ของเรา โดยของเรา

ทีนี้ ต่อลงไปซิว่า สุตะทั้ง ๔ ผู้มีสุตะน้อย ไม่เข้าถึงสุตะ ผู้มีสุตะน้อย คือผู้ที่จะไม่ศึกษา ไม่เพียร ในการศึกษา ไม่ค่อยมาฟังธรรมหรอก เรารู้แล้ว ไปทำงานอื่นดีกว่า นี่ผู้ประมาท ที่จริงระบบของ กิจวัตรนี้ ถ้าเผื่อว่าเราทำระบบของกิจวัตรเท่าเทียมกับผู้อื่น ด้วยความพากเพียร ด้วยความทำ ไม่ให้มันผิดเพี้ยนน่ะ เช้าลงทำวัตร เราก็ทำวัตร เช้ามานั่งฉันด้วยกัน เราก็มาฉันด้วยกัน ถึงเวลา ไปทำงานก็ไป ไปทำงานอะไรทำให้มันได้ในกิจวัตร เราจะไม่บกพร่อง เราจะไม่ขาด เราจะไม่ร่วง ไม่หล่น แต่เสร็จแล้วเราก็ไปเอาอื่นมาเป็นเหตุ ที่จริงกิเลสนะ มักมากมักใหญ่ ฉันจะไปทำงานนี่ มากกว่า นี่ ก็ขาดสุตะทางด้านฟังธรรม หรือขาดสุตะในด้านที่จะต้องร่วมกิจวัตร ร่วมจารีตประเพณี อะไรพวกนี้ เป็นต้น อย่างนี้ก็บกพร่องได้ ถึงอย่างนั้นก็ตาม คนเรามันก็ยังมี สภาพที่จะต้องขาด ต้องจำเป็น ดีไม่ดี ป่วย มาทำวัตรไม่ได้ ก็จำเป็น งานสำคัญจริงๆนะ เออ ! จริงๆนะ มันขาดเราไม่ได้ จริงๆ เราต้องไป เอ้า ! ก็ว่าละ มันก็เป็น ก็ต้องไม่ได้มาทำวัตร ไม่ได้อะไร อย่างนี้ เป็นต้น แล้วก็ค่อย ว่าไป ถึงอย่างนั้น มันก็ต้องมีอย่างนี้อยู่บ้าง แต่ถ้าเผื่อว่า เราไม่ขาดนะ เราไม่ประมาทอะไรต่ออะไร จารีตประเพณี พรั่งพร้อมกันลงศาลา พรั่งพร้อมกันเลิก พรั่งพร้อมกันประชุม อะไรต่างๆนานา เป็นอปริหานิยธรรมอย่างพรั่งพร้อมนะ

พระพุทธเจ้าท่านยืนยันเลยว่า ไม่มีความเสื่อม เราตกลงกันแล้วใช่ไหม ว่าเราทำอย่างนี้ เราถึงเจริญกัน มีกิจวัตร มีจารีต เช้าลงทำวัตร พอถึงเวลานั้น ก็แยกย้ายกันไปทำงาน พอเสร็จจาก ทำวัตร พอถึงเวลาระฆังอีกที เรามารวมกัน มีอะไรก็ว่ากัน ตกลงปรึกษาหารือกัน รู้พร้อมกัน พรั่งพร้อมกัน ไม่ขาด ไม่ตก ไม่หล่น ทุกอย่างเจริญไปพร้อมกัน เราก็เจริญด้วย มีสุตะ ทั้งการสร้างสรร ทั้งความรู้ ทั้งการงาน เพราะเราพูดกันนี่ พวกเราที่อยู่มากันเป็นปี เป็นหลายปีแล้ว ก็คงจะรู้กิจวัตรเหล่านี้ มันมีอะไรต่ออะไรบ้าง พูดตอนก่อนฉัน อย่างไร พูดตอนเช้า ทำวัตรเช้าอะไร บางทีก็เอาเรื่องรีบๆ มาพูดตอนทำวัตรเช้า ถ้าไม่รีบนักก็เป็นหลักธรรมะมากหน่อย ก่อนฉันก็เรื่อง งานมากหน่อย อะไรกำชับกำชา หรือแม้แต่ทำวัตรเช้า ถ้ามีงานอะไรก็กำชับกำชากันก่อนไปก็มี แต่ว่าเราก็เข้าใจแล้วว่า แนวโน้มของทำวัตรเช้า จะมีเนื้อหาธรรมะ มากกว่าก่อนฉัน พอหลังฉันแล้ว ก็เสร็จแล้ว ก็แยกย้ายกันไปทำงาน ถ้ามีทำวัตรเย็นก็มาอีก ลักษณะของสันติอโศก ก็สมภารท่านขยัน พานั่งเจโตสมถะ ท่านก็เอาเจโตสมถะ ทำมากหน่อย ก็ไม่เป็นไร ไม่แปลกอะไร ทางปฐมอโศก ก็เอาไปเอามาก็ไม่ไหว กว่าจะเดินมาจากปลายนามาถึง นั่งเจโตสมถะอะไร ก็ไม่พอเวลา งานมันก็เยอะ ที่มันก็กว้าง ก็เลยไม่เอา เจโตสมถะก็บางที ก็มาแซกเอาตอนทำวัตรเช้านี่แหละ ก็เอาแค่นั้นไปก็เอา อย่างนี้เป็นต้น พอตกเย็นก็มาวิปัสสนาจอแก้ว ก็มีกิจวัตร ไม่ประมาท ไม่ดูถูกเขา ว่าทำไมไม่ดู วิปัสสนาจอแก้ว มันขาดทุนอะไร ก็ไม่ขาดทุน ไม่มีมานะว่า ไอ้พวกนี้ชั้นต่ำ ดูวีดิโอ อยู่เลย ฉันชั้นสูงไม่ต้องดูก็ได้ ฉันก็โลกวิทูเองได้ อะไรอย่างนี้ ก็เป็นเรื่อง ของผู้นั้น ที่คอยคิดเอาเอง แต่ถ้าเผื่อว่าศึกษาให้ดีนะ

แต่ผู้ใด มาดูวิดีโอไม่ได้ ดูทีไร ซวยทุกทีเลย จะบอกว่าให้เกิดอริยญาณ มันก็ไม่เกิดอริยญาณ มันเกิดปุถุญาณ มันก็เกิดกิเลสยานไปทุกทีเลย มันก็ไม่ได้เรื่อง มันอ่อนน่ะ เพราะต้องพรากไม้ ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำ ดูวิดีโอทีไรไม่ไหว หรือ แม้แต่วิดีโอบางเรื่อง เราฟังแต่ชื่อแล้ว อาตมาพยายามตั้งชื่อ พยายามตั้งอะไร ให้เป็นที่สังเกต หรือฟังเสียงเพื่อนบอกว่า แหม! เรื่องนี้ นี่อื้อฮือ ! หรือเรามาดู วันนี้ ดูต้นเรื่อง โอ้โฮ ! ถ้าเราดูต่อไป เรื่องนี้ไม่ไหวหรอก อินทรีย์เราไม่ไหว เสียมากกว่าได้ เราก็ระมัดระวังตัวเรา เราก็รู้จ้กซื่อสัตย์ต่อตน อันนี้มันเราต้อง พรากก่อนแล้ว เราต้องไม่สัมผัส สัมผัสก็อ่อนแอ พรากไม้ที่ชุ่มด้วยยางออกจากน้ำ เราก็ไม่ดูของเราซะ แต่ผู้ใดดูแล้ว เกิดอริยญาณ ทำการปฏิบัติ ก็สู้ได้ ไม่แพ้ อัดพลังกุศลก็ได้ดี ฝึกฝนโลกวิทู หรือว่าพหูสูตร สุตะนี่แหละ ฝึกฝนสุตะ ฝึกฝนพหุสุตะ ได้จริงๆ มีสุตะ รอบรู้ เพิ่มเติมโน่น นี่ มีลีลาขบวนท่า วรยุทธ อะไรต่างๆนานา นี่ใช้ภาษาโลก ก็เหมือนกันในธรรมะ ถ้ารู้ว่าธรรมะคืออะไร ได้จริงๆนะ เราก็ทำไป ถึงเวลา ๒ ทุ่ม เขาเลิก ๒ ทุ่มครึ่ง เขาเลิก เราก็ไปหลับไปนอน เออ! ดีไม่ดี ๒ ทุ่มครึ่ง ยังไม่เลิก เพราะว่าข่าวมันชักมันๆ ต่อไปหน่อย ๔๕ บางทีล่อเข้า ไปถึง ๓ ทุ่ม ค่อยปิดทีวี ก็เอา ก็ว่าไป ยิ่งใหม่ๆ แรกๆ ซัดดัมอาละวาด หรือ คุณบูช อาละวาด ยิ่ง แหม! โอ้โฮ ! ดูข่าวกันต่อถึง ๓ ทุ่ม เอ้า! ก็ว่ากันไป แต่ เราก็มีกำหนดว่า ๓ ทุ่ม ประมาณนั้น ไม่เกิน เราก็หลับนอนซะ ตี ๓ ครึ่ง นอน ๖ ชั่วโมงครึ่งประมาณนั้น บางคนก็เอาเสียงระฆังเป็นเกณฑ์เลยนะ ไม่ตี ๓ ครึ่ง ไม่ลุกเด็ดขาด เหลืออีกหนึ่งนาทีก็ยังต่อ ก็แล้วแต่ใครละ แถมนิดก็เอาดี แถมหน่อยก็เอาดีก็แล้วแต่ บางคน ต้องตื่นตั้งแต่ตี ๒ ตื่นตั้งแต่ตี ๑ บางคนตื่นตี ๒ ยามก็ว่าไป ระมัดระวังสุขภาพกันนะ

เพราะฉะนั้น ใครเห็นว่าคนไหนมีสุขภาพ เพราะว่าต้องทำอยู่อย่างนี้ ช่วยกันบ้าง วนเวียนไป ทดแทนบ้าง ประเดี๋ยวคนหนึ่งตายก่อน อีกคนหนึ่งตายทีหลัง เพื่อนตายก่อน จากมันอ้างว้าง เหมือนกันนะ มันยังไม่สมควรตาย อย่าเพิ่งไปทรมานกันนัก เห็นใจกันบ้าง วนเวียนไปช่วยกันบ้าง งานของเรามันมากนะ พวกบุกเบิก

เอ้า ! สุตะ เอาละ ขยายกันใหญ่ ไปจนกระทั่งถึงวิดีโอธรรม ก็ยังมีสุตะ เราจะต้องฝึกฝนโลกวิทู หรือ พหุสุตะนั่นเอง ผู้มีสุตะน้อย ไม่เข้าถึงสุตะ ทีนี้ท่านก็ขยายสุตะว่ามีอะไรบ้าง เชิงของสุตะ ก็อธิบายกัน อย่างที่ท่านอธิบาย เป็นรูปแบบ ไม่ผิด ในนวังคสัตถุศาสตร์ คือสุตะ มีสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุฒตกะ ชาตกะ หรือชาดก อภูตธรรม ก็เป็นสุตะ ไม่แปลก ชัด อธิบาย อย่างที่ท่านเรียนกันมาในเปรียญ มหาเปรียญท่านเรียนกัน ถูกต้อง แล้วก็มาว่า เป็นตัวหนังสือ เป็นพยัญชนะ เป็นตำรา เป็นสิ่งที่รวบรวม หมายความเอาว่า สุตะคืออะไร เคยยะคืออะไร เวยยากรณะ คืออะไร ท่านไม่ผิด แต่อาตมาเข้าใจอย่างอาตมา ท่านก็ว่า อาตมานี่นอกรีต อาตมาเข้าใจ นวังคสัตถุศาสตร์ โดยอาตมา น่ะ

ในความหมายของคำสอน ที่ท่านมีบันทึกกันมา เรียนๆกันมา ท่านก็บอก สุตะได้แก่อุภโตวิภังค์ นิเทศ ขันธกะปริวาร หรือสุตตันตะ สุตันตะ ก็คือพระสูตร มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกนี่แหละ หมวดที่ มันว่าด้วยอย่างนี้ อย่างนี้ๆๆๆ ตรงนี้เป็น วิภังค์ นั่นเป็นอุภโตภาควิภังค์ คือวิภังค์ วิจัยออกเป็น ๒ ด้าน ๒ อะไรนี่ เป็นนิเทศ เป็นหัวข้อ ไอ้นี่เป็นขันธกะ เป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นราว เป็นหมวด เป็นเรื่อง ประกอบนะ  เรียกว่าปริวาร อะไรพวกนี้ อย่างนี้เป็นต้น ลักษณะดั่งนี้แหละ ในพระไตรปิฎก คำสอนลักษณะอย่างนี้ อย่างนี้ท่านว่าสุตะ

สรุปแล้ว ก็คือกล่าวโดยรวมกันว่าวินัยปิฎก คัมภีร์นิเทศ ทั้งสองและ พระสูตร วินัยปิฎกก็ดี คัมภีร์นิเทศต่างๆ พระสูตรต่างๆนี่ คือสุตะ

ทีนี้เคยยะ ได้แก่ความที่มีร้อยแก้วขยายความจำกัดความ ชี้เชิงประเด็นให้ชัดว่า เคยยะหมายถึงอะไร หมายถึงร้อยแก้ว ความที่มีร้อยแก้ว และ ร้อยกรอง พูดสิ่งเดียว ความที่มีร้อยแก้ว และร้อยกรอง ผสมกัน หมายเอาพระสูตร ที่มีคาถาทั้งหมด คำว่าคาถา มีอีกอันหนึ่ง ในข้อ ๔ คาถานี้ข้นกว่าเคยยะ เคยยะไม่ข้นเท่าคาถา คาถายิ่งร้อยกรองเข้าไปอีก อันนี้เขาก็บอกร้อยกรอง ล้วนๆ คือข้นคั้นเอาแต่ว่า รวบรวมร้อยแก้วประกอบเป็นร้อยกรอง คือสรุปด้วย เอา ข้อความสั้นๆ เอาหัวเรื่องเอาย่อ ๆ มาผสม มีอธิบายน้อย ไม่นิเทศทั้งหมด นิเทศนี่ขยายไปทั้งหมด มีปริวาร มีอะไรกว้างสมบูรณ์ ไม่ถึงอย่างนั้น มีตัวอย่างประกอบ มีเรื่องราวอะไรประกอบมากมาย มีนิทานด้วย ไม่ใช่ เคยยะ อย่างนั้น มีร้อยแก้ว ร้องกรองผสมกัน หมายเอาพระสูตร ที่มีคาถาทั้งหมด โดยเฉพาะสคาถวรรค ในสังยุตตนิกาย ท่านยกตัวอย่างที่มันมีอยู่ในตำรา พระไตรปิฎก ท่านก็ยกตัวอย่าง อย่างนี้ แม้กระทั่งชี้ลงไปถึง วินัยปิฎก นิเทศ หรือ พระสูตร สคาถวรรค หรือสังยุตตนิกาย อย่างนี้เป็นต้น ทีนี้ เวยยากรณะ ได้แก่ ร้อยแก้วล้วนๆ อภิธรรมปิฎกทั้งหมด พระสูตรที่ไม่มีคาถา และพุทธพจน์อื่นใด ที่ไม่จัดเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ พวกคุณก็ต้องไปนั่ง ตั้งหลักเรียนแล้ว ๘ ข้อที่เหลือ ข้อหนึ่งคืออันนี้ มันมีทั้งหมด ๙ ใช่ไหม วรรคหนึ่งมี ๙ มันมีอะไร ท่านก็พูดเอาไว้ว่า ไม่จัดเข้าในองค์ ๘ ข้อที่เหลือ เวยยากรณะ

คาถา ได้แก่ความร้อยกรองล้วนๆ หมายเอาธรรมบท เถรคาถา เถรีคาถา และคาถาล้วนๆ ในสุตตนิบาต ที่ไม่มีชื่อเป็นสูตร คาถาของพระพุทธเจ้าก็ตาม คาถาของเถรี เถระก็ตาม ไม่เรียกว่าคาถา คือมาขมวด เหมือนโศลก อย่างนี้เป็นต้น ยิ่งร้อยกรองเป็นแบบแผน เลยยิ่งสั้น ยิ่งเป็นคาถา มากยิ่งขึ้น

ทีนี้ อุทาน ได้แก่พระคาถาที่ทรงเปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัส ฟังภาษาของ พระไตรปิฎกแล้ว พวกคุณก็คงฟังแล้วอื่อๆๆ เปล่งด้วยพระหฤทัยสหรคต ด้วยโสมนัส มันเป็นยังไง สหรคตด้วยโสมนัส สัมปยุตด้วยญาณ แน่ะ! อย่างนี้อีก นี่ ภาษาพระไตรปิฎก ท่านก็แปลทิ้งไว้ อย่างนี้ ก็ต้องไปเรียนกันหน่อย แล้วก็ขยายความ พร้อมทั้งข้อความ อันประกอบอยู่ด้วย รวมเป็น พระสูตร ๘๒ สูตร ๘๒ สูตร คุณก็ต้องไปนั่งนับ อาตมายังไม่รู้เลยว่า ๘๒ สูตร มีสูตรไหนบ้าง ต้องไปนั่งนับ ไปนั่งชี้ นั่นคือ เอาตัววัตถุที่แท้ๆ มายืนยัน ก็ได้เป็นรูป เป็นวัตถุ เป็นหลักฐาน ที่มีสิ่งจับต้องได้ ส่วนอาตมาขยายความของ นวังคสัตถุศาสตร์ นี้โดยมุ่งไปหานามธรรม นี่ขยายไว้ ในหนังสือทางเอก เสร็จแล้วเขาอ่าน เขาก็หัวร่อกัน ฟันร่วงเลย เพราะเขาว่า อาตมาพูดเอาเองน่ะนะ นอกตำรากัน พวกเปรียญเขาก็ว่ากัน เอ้า ! โอเค อาตมาก็ไม่ว่าอะไรหรอก เพราะว่าเรามันอโศกะ นี้หนอ อโศเกี้ยน อโศกมันก็อย่างนี้แหละ มันก็ธุลีหมอง ธุลีหนัก เป็นธุลี มันยังไม่งามหรอก เพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน เขามองเขาก็เห็น อย่างนั้นแหละ เราเห็นพวกเราเป็นเพชร ก็เป็นเรื่อง ของเรานะ ถ้าหลงตัวก็หลงตัว

อุทาน ฟัง อุทานนี่ คนไทยเราเอามาใช้เหมือนกัน เป็นสิ่งที่สะดุด และเป็นสิ่งที่กระจาย เปล่งด้วย พระหฤทัยสหรคตด้วยโสมนัส ดีใจ สรุปง่ายๆ สหรคต คือสิ่งประกอบร่วม พหฤทัยก็คือใจ ใจที่มันมีสภาพที่มันดีใจ โสมนัส มันมีความดีใจ ประกอบขึ้นมา หรือประกอบไปด้วยปัญญา สหสัมปยุตด้วยปัญญา ด้วยญาณ คือจะ อุทานนี่ ไม่ใช่อุทานด้วยตกใจ แต่อุทานด้วยโสมนัส อุทานด้วยญาณ สรุปง่ายๆ สภาพใจที่เกิด

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม ที่เราสัมผัส ที่เราได้รับรู้ ได้รับเกิดญาณ ปัญญาถึงขั้นอุทาน มันหมายความว่า คุณพอเข้าใจนะ พูดภาษา เอาอันนี้มาใช้ในไทย ถึงจนกระทั่งรู้เรื่องแล้วว่า แม้คุณจะไม่อุทานออกมาเป็นเสียง โอ้ฮู ! ว้าว! อะไรอย่างนี้น่ะนะ ถึงไม่อุทานออกมาเป็นเสียงนะ มันก็เกิดอะไรอันหนึ่งอยู่ในใจ เรามีโสมนัส มีความประทับใจ มีความรู้ ต้องประกอบไปด้วยญาณ สัมปยุตด้วยญาณ สัมปยุตหรือสหรคต ด้วยโสมนัส มีเงื่อนไขว่าอุทานนี่ มันเกิดความเจริญ ไปนิดหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น ความรู้ หรือการบรรยายลักษณะอุทาน นี้ไว้ในตำราพระไตรปิฎกอันใด นั่นเรียกว่า อุทาน ในตำราพระไตรปิฎกอธิบาย ลีลาลักษณะความเป็นอุทานนี้ไว้ที่ไหน ก็อันนั้นแหละ เขาถึงบอกว่า มีตั้ง ๘๒ สูตร อาตมาก็ถึงบอกว่า มันไม่รู้ว่า มันอยู่ตรงไหนบ้าง ๘๒ สูตรในพระไตรปิฎก ที่บอกว่าไอ้นี่คืออุทาน ไอ้นี่มันเป็นลักษณะของอุทานอย่างนี้น่ะ เป็นลักษณะ ที่ท่านมีเป็น อธิบายเรื่องราว หรือมีลักษณะขยายความ หรือบอกความหมาย ของอุทานอย่างนี้ ๘๒ สูตร ท่านยืนยันเป็นในพระไตรปิฎก เป็นตำรา แต่ในลักษณะ ที่อาตมา กำลังอธิบาย ก็เป็นลักษณะ ที่อาตมาอธิบายไว้ อธิบายประกอบไปด้วย มันก็จะดีน่ะหนอ เมื่อฟังอีก ก็จะมีสิ่งใหม่ๆ สิ่งแปลกขึ้น หรือจะได้รับคำขยายความใหม่ ขึ้นทีละน้อยทีละน้อย จะได้รับสิ่งใหม่ หรือบางที จนแปลกเพิ่มขึ้น นั่นเอง อุทาน นี่ อาตมาอธิบายอยู่ในทางเอก มันจะมีเสริมความรู้ นี่สุตะนะ ขยายสุตะ นะคุณ สุตะคือความรู้ มันจะขยายความรู้ มันจะมีลักษณะอุทานขึ้นมา อาตมาว่า พวกคุณฟังออกนะ แล้วคำว่าอุทาน มีลักษณะอุทานขึ้นมา แต่เงื่อนไขหลักที่กำชับไว้ จำกัดความไว้ว่า อุทานต้อง ประกอบไปด้วย สิ่งที่เป็นโสมนัส สิ่งที่เป็นความประทับใจ ดีใจ เหมือนกันที่เราดูวิดีโอ อัดพลังกุศล คุณอย่าไปสั่งสม ตัวอัดพลังอกุศล คุณต้องอัดพลังที่ประทับใจ ที่โสมนัส ที่เป็นคุณค่า สั่งสม ไปก่อน เอาไว้ใช้เป็นทุน แล้วก็ค่อยวางทีหลัง ในฐานะเรานักปฏิบัติ เราต้องสั่งสมทุน ต้องใช้ๆ นี่แหละ จะเกิดอุทาน มีความโสมนัส มีปัญญา มีความเฉลียวฉลาด ยิ่งเป็นญาณทัสสนวิเศษ เป็นญาณทัสสนะที่สูง ยิ่งดี จะต้องประกอบด้วยญาณที่เกิดใหม่ อุทาน มันเกิดแรง เกิดถึงรอบ มันเหมือนถึงรอบๆหนึ่ง ประทับใจ บางทีน้ำตาไหล ปีติอะไรพวกนี้เป็นต้น นั่นแหละเรียกว่าอุทาน มันเกิดแปลก มันเกิดใหม่ เกิดเสริมความรู้นี่ ถึงรอบ มันอื้อ ! อันนี้ใหม่นะ อันนี้แปลกนะ โอ้! อันนี้ลึก ลึกถึงจุด แหม ! นึกว่ารู้แล้ว โอ้ ! ตัวนี้ยิ่งได้รู้เติม ยิ่งรู้ลึก ยิ่งรู้วิเศษ นี่เรียกว่าอุทาน

อิติวุตตกะ ได้แก่พระสูตร ๑๑๐ สูตร ท่านก็แปลความหมายเป็นแบบ ตำรา เป็นตัวหลักฐาน ซึ่งไม่ผิด อาตมาบอกแล้ว ไม่ผิด ก็ไปตามหาซิ ๑๑๐ สูตร อยู่ตรงไหน ก็นั่นแหละ เรียกว่า อิติวุตตกะ อาตมาก็ไม่แปลกนะ ได้แก่พระสูตร๑๑๐ สูตร ที่ตรัสโดยนัย วุตตัง เหตัง ภควตา ข้อนี้สมจริง ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ แปล วุตตัง เหตัง ภควตา นี่ ข้อนี้สมจริงดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือซ้ำ ย้ำ อาตมาให้ความหมาย อิติวุตตกะในนี้ว่าไง ได้แก่อยู่ในรูปรอยเก่าที่เข้าใจได้ เห็นเป็นเรื่องสืบเนื่อง ติดต่อ ขยายกัน อ้างอิงกันยิ่งขึ้น ยิ่งขึ้นๆๆๆ คือมันซ้ำ มันเติม มันย้ำ มันขยาย มันขยายในที แล้วมันยิ่งแน่น ยิ่งชัด ยิ่งจริง เป็นลักษณะย้ำ แล้วซ้ำอีก อิติวุตตกะ นี่ ท่านก็ยืนยันของพระพุทธเจ้า ไปทบทวน ยิ่งหาจุดทบทวน ได้อีกถึง ๑๑๐ จุด แหม ! มันก็จะต้องเด็ดขาดเป็นนัยว่าสมจริง เป็นจริง เสริมความเป็นสัจจะ มันยิ่งเน้นความเป็นสัจจะ ย้ำแล้วซ้ำอีก ย้ำแล้วซ้ำอีก หรือจะมีส่วนขยาย เป็นอุทาน เข้ามาเสริมอีก ก็ยิ่งทวีอุทาน อุติวุตตกะๆ ก็ยิ่งย้ำความเป็นจริงนั้น สมจริงยิ่งขึ้น ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ก็ดังสัจจะที่พระพุทธเจ้าท่านนำมาเปิดเผย นำมาสอน นำมาให้เรา พิสูจน์นั่นเอง ทีนี้ก็ยังซ้อนอีกเปลาะที่ ๗ ชาตก หรือชาดก หรือนิทาน จะเอาภาษาง่ายๆก็ได้ นิทาน ชาดก หรือชาตก แต่คำว่าชาตก มันเป็นผู้เกิด มันจะลึกซึ้งกว่า เป็นการแสดงเรื่องในอดีตชาติ ของพระพุทธเจ้า เขาก็ไปเอาแต่ชาดก ว่าเป็นเรื่องของพระพุทธเจ้า ของเราก็มีชาดก ของเราก็มี นิทาน ของเราก็เป็นผู้เกิด ชาตก แสดงเรื่องในอดีตชาติ ของพระพุทธเจ้า มีอปัณณกชาดก เป็นต้น มีทั้งหมด ๕๕๐ เรื่อง เอ้า! ตกลง ของพระพุทธเจ้า เอามาบันทึกไว้ ในพระไตรปิฎก คุณก็ว่านั่นก็คือ ชาดก แต่เราไม่เข้าใจแคบอยู่แค่นั้น เราก็เข้าใจชาตก คือตัวเกิดของผู้เกิด ตัวเกิดของผู้เกิด เป็นนิทาน เป็นเรื่องเก่า เรื่องก่อน เรื่องอดีต เป็นเรื่องที่มีมาแล้ว

นี่ก็เป็นความรู้ที่จะเอามาใช้ประโยชน์ได้ประวัติศาสตร์ อาตมาอธิบายเอาไว้ในนี้ ซึ่งมันก็ล้วน เป็นเรื่องเก่า เป็นเรื่องเล่าซ้ำของเดิม เป็นเรื่องปรัมปรา ที่ผูกร้อยกันไป ที่สืบเนื่องต่อกันมา นี่ชาดก อาตมาขยายความอยู่ในทางเอก ขยายความพวกนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเพื่อพาซื่อ ไม่อ่านตำรา ไปอ่านพระไตรปิฎกเรื่อง ๕๐๐ เรื่องของพระพุทธเจ้านั่น ติดแค่นั้น คือชาดก แต่ก็ใช่ อันนั้นชาดก เป็นนิทาน เป็นตัวอย่าง เรื่องอดีตที่พระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เรามีตัวอย่างของเราไหม คุณมี ชาดกของคุณ คุณก็... ชาดกของคนอื่น ที่เอามาประกอบใช้เป็นการศึกษา เกิด สุตตะของเราก็ได้

เพราะฉะนั้น อธิบายไว้แคบแค่นั้น อาตมาว่าไม่เถียง แต่อาตมาอธิบายกว้างขึ้น ไม่ยอมรับ เอ้า! ก็ไม่ว่า ใครยอมรับได้ก็เอา จะมีชาดกเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดสุตะเจริญยิ่งขึ้น อัพภูตธรรม ๘ ในนี้ ท่านก็บอกว่า หรือเรื่องอัศจรรย์ ได้แก่ พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ไม่เคยมีทุกสูตร เป็นเรื่องอัศจรรย์ ที่ไม่เคยมีนะ ทุกพระสูตรนะ เรียกว่าอัพภูตธรรม คือเรื่องอัศจรรย์ ได้แก่พระสูตรที่ว่าด้วยข้ออัศจรรย์ ข้ออัศจรรย์ ข้อที่เป็นปาฏิหาริย์ ข้อที่พิลึกพิลือ ข้อที่วิเศษอย่างสมบูรณ์ วิเศษอย่างพิเศษ อย่างไม่เคยมี มันเป็นของใหม่ที่เกิดใหม่ ทุกสูตร เช่นที่ ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ข้ออัศจรรย์ไม่เคยมี ๔ อย่างนี้ หาได้ในอานนท์ อย่างนี้เป็นต้น ยกตัวอย่าง ก็เอาตัวภาษา ตำรานั้นมา ไม่ผิด อัพภูตธรรม คือความอัศจรรย์ พูดง่ายๆ คือความอัศจรรย์ เรื่องพิเศษ เรื่องปาฏิหาริย์ อาตมาอธิบายเอาไว้ว่าไง ตราบจนผู้ใส่ใจ พากเพียรเรียนรู้ ได้พยายามเพ่งในธรรม ทำตามในธรรมมาเรื่อย จนเกิดรู้แจ้ง แทงทะลุ บัญญัติออกเป็นสภาวะ เห็นแจ้งในตัวตนของจิตของวิญญาณจริงๆ เป็นอัจฉริยะ ดังกล่าวแล้ว มันเกิดอัจฉริยะ เกิดอัศจรรย์ เกิดความเจริญ ในรอบ อัจฉริยบุคคล หรืออัจฉริยธรรม หรืออริยธรรม ที่เป็นรอบเต็มรอบ เป็นเรื่องที่มันเหมือนกับความร้อน ถ้ามีความร้อนถึงขั้นรอบนี้ เรียกว่า จะเกิดความเผา ไหม้ ถ้าไม่ร้อนเท่านี้ไม่ละลาย ไม่เผาไหม้ เรียกว่าไม่เกิดสันดาป จุดสันดาป นั่นคือจุดอัจฉริยะ หรือว่าความร้อนขนาดนี้ ถึงรอบ มันจึงจะจุดชวาล มันจึงจะเกิดความสว่าง ถ้าความร้อน ไม่ถึงจุดนี้ ไม่เกิดจุดชวาล ไม่เกิดความสว่าง จุดชวาล หรือจุดสว่างนั่น เป็นจุดอัศจรรย์ เป็นจุดปาฏิหาริย์ เป็นจุดอัจฉริยะ เป็นจุดที่ถึงรอบสมบูรณ์ของมัน แล้วจะเกิดอะไรอีกใหม่ อัพภูตธรรม เพราะได้สั่งสม เพราะได้มีอะไรออกมาเป็นความรู้ เป็นความจริง เป็นความรู้ เป็นความจริงๆ เป็นสุตะ หรือพหุสัจจะขึ้นมาจริงๆ นี่เรียกว่า อัพภูตธรรม

ส่วนอันสุดท้าย เวทัลละ ได้แก่พระสูตรแบบถามตอบ ซึ่งผู้ถามได้ทั้งความรู้ และความพอใจ ถามต่อๆไป เช่น จุลเวทัลละสูตร มหาเวทัลละสูตร สัมมาทิฏฐิสูตร และสกปัณณกสูตร เป็นต้น นี่ท่านอธิบายกันเอาไว้เท่านั้น อาตมาอธิบายไว้ว่า และจะรู้แจ้งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จากการตามรู้ ตามเรียน ตามประพฤติ จนเกิดผล โดยนัยนี้คือจากสุตะ เรื่อยมาถึงอัพภูตธรรม นั่นเอง จากสุตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตก อัพภูตธรรม แล้วถึงเวทัลละ มันก็จะมาเรื่อยละ สั่งสมมาต่างๆ สุตะเรื่อยมา จนถึงอัพภูตธรรม ๘ ข้อนี้แหละ วนเวียน มีเพิ่ม มีใหญ่ขึ้น สูงขึ้นๆ ก็จะทวีอัจฉริยะแก่ตน พอกเพิ่มขึ้นทุกทีๆ เรียกว่าเวทัลละ ซึ่งหมายความว่า มีความรู้สูงยอด เป็นความรู้แท้ๆจริงๆ ถึงที่ เป็นความรู้แท้ๆ จริงๆ ถึงที่ ความบรรลุผลสุด ขอนักปฏิบัติธรรมทั้งหลาย จงตั้งใจพากเพียรให้เกิดผล ตามรูปรอยดังนี้เถิด

นี่คัดมาจากทางเอก เอ้า! ขอขอบคุณ ท่านสรณีโย ที่คัดมาให้ ได้เอามาบรรยายเล่า อาตมาไม่ได้บอก ท่านหรอก ท่านมีปฏิภาณคัดมาให้ อาตมาไม่ได้คิดว่า จะต้องเอาของตนเอง มาประกอบเท่าไหร่ ท่านคัดของจากพระไตรปิฎกมาให้ สุตะ หรือ นวังคสัตถุศาสตร์ แล้วก็มาเอาของอาตมา มาประกอบด้วย ก็ดีนะ มันได้ขยายความ กันชัดเจน นี่เรียกว่า นวังคสัตถุศาสตร์ คือ สุตะ หรือ ความรู้ที่รู้รอบ รู้หมด รู้จะเกิดสุตะ เสริมหนุน แล้วก็จะเกิดตัวจริง หิริ โอตตัปปะ เพื่ออะไร ๆๆๆ เพื่อจาคะ เพื่อละให้หมด เพื่อละหน่าย คลายจาง เพื่อหมดตัวหมดตน จะเป็นองค์ประกอบของศีล ก็ตาม หิริโอตตัปปะ จาคะ หิริโอตตัปปะ สุตะซ้อนเข้าไป ซ้อนเข้าไป เพื่อให้ศีลมีประสิทธิภาพ มีอานิสงส์ มีผล ผลคืออะไร จาคะ เมื่อเกิดผล เหล่านี้ เราก็เกิดศรัทธา เกิด ปัญญาโพธิญาณๆ ตรัสรู้ ปัญญานั่น เป็นตัวโพธิญาณ เป็นตัวตรัสรู้ เอาคำที่ว่าตรัสรู้ เป็นคำที่ภาษาไทยเอามาใช้ เอามาจากคำว่า โพธิ พุทธิก็ตรัสรู้ เป็นภาษาไทย ตรัสรู้ ถ้าจะแปลความก็คือ รู้ตามที่พระพุทธเจ้า ท่านตรัสสอน รู้แจ้งของจริงที่ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน รู้แจ้งความหมาย เอาไปปฏิบัติ จนเกิด ผลจริง เห็นจริง แล้วเราก็รู้จักผลจริงๆเลย รู้ของจริง ตามความเป็นจริง เรียกว่าตรัสรู้ รู้ลักษณะ สมบูรณ์สูงสุด  รู้ลักษณะ ค่อยๆไล่ไป ตามลำดับก็ตาม ก็มีสัจจานุรักษ์ มีสัจจานุโพธิ มีสัจจานุปัสส์ เข้าถึงความรู้สูงสุด มีความจริงสูงสุด สัจจา นี่ มีความจริงสูงสุดเข้าไปเรื่อยๆๆๆๆ จนกระทั่ง สมบูรณ์ บริบูรณ์นั่นแหละ เรียกว่า สุตะทั้งหมด

ทีนี้ ผู้เข้าถึงสุตะน้อย ผู้มีสุตะน้อย ก็ไม่เข้าถึงสุตะเหล่าที่ว่านี้ มีลักษณะ ๔ อย่าง ผู้มีสุตะน้อย ไม่เข้าถึงสุตะ มันก็กำปั้นทุบดิน ผู้มีสุตะน้อย มันก็ไม่เข้าถึงสุตะ ผู้มีสุตะน้อย เข้าถึงสุตะ ได้แก่ ผู้มีสุตะ คือสุตะ เคยยะ ไปจนกระทั่งถึง เวทัลละ นี่แหละ เขาย่อมรู้อรรถ รู้ธรรม แห่งสุตะน้อยนั้น แล้วปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรม ส่วนผู้ที่มีสุตะน้อย ไม่เข้าถึงสุตะก็คือ ผู้ที่เข้าหา ได้รู้อรรถ รู้ธรรม แห่งสุตะน้อยนั้น แล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมไม่ คือเขารู้นะ แล้วเราจะไม่รู้ อรรถ รู้ธรรม คือเขามี สุตะ คือได้ยินได้ฟังได้เรียนได้รู้มา แต่เขาเองไม่ได้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม เขาถึงไม่ถึงอรรถ ไม่สมบูรณ์ด้วยธรรม นี่เรียกว่า ผู้มีสุตะน้อย ไม่เข้าถึงสุตะ ส่วนผู้มีสุตะน้อย เข้าถึงสุตะ คือเป็น ผู้เรียนรู้มา แล้วก็รู้อรรถ รู้ธรรมในสุตะน้อย ไม่ได้เรียนมามากอย่างบางคน ไม่ได้เรียนธรรมะ มามากหรอก แต่เราก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม จนเข้าไปมีความจริง หยั่งรู้ความจริง มีน้อย สุตะน้อย แต่เข้าถึงสุตะนั้น

ทีนี้ ๓ ผู้มีสุตะมาก เช่น พวกเปรียญมากๆ เรียนพุทธพจน์มาก็มาก อะไรมากๆ ไม่เข้าถึงสุตะ นี่มีสุตะมาก แต่ไม่เข้าถึงสุตะ ก็อย่างนี้ ก็เรียนมาอย่างนี้ เสร็จแล้วก็ไม่รู้จริง แล้วปฏิบัติธรรม สมควรแก่ธรรมไม่ ภาษาของท่านไปขยาย ไม่เอาไว้ข้างหลัง คือไม่รู้ทั่วถึงอรรถถึงธรรมแห่งสุตะมาก ที่ตัวเองมีนั้น แล้วก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม รู้ไม่ปฏิบัติ ไม่บรรลุ พวกนี้เป็นปทปรมะเยอะ ได้รู้มากนี่แหละ คือปทปรมะตัวน่ากลัว

ทีนี้ ผู้มีสุตะมาก เข้าถึงสุตะ ก็ไม่ยากอะไร ก็เข้าใจง่ายนะรู้ได้ ก็คือ ผู้ที่ได้มีสุตะ ได้ศึกษา รู้เรียนมา อะไรต่ออะไรมา แล้วก็ปฏิบัติให้ได้ เท่าที่เราเรียนรู้มาจริงๆ เข้าถึงสุตะนั้น ปฏิบัติธรรม สมควรแก่สุตะ นั้นทั้งหมด ถ้าบุคคลแม้มี สุตะน้อย ไม่ตั้งมั่นแล้วในศีล นักปราชญ์ทั้งหลาย จะต้องติเตียนเขา ทั้งโดยศีล และ สุตะทั้งสอง ถ้าบุคคลมีสุตะน้อย ตั้งมั่นแล้วในศีล นักปราชญ์ ย่อมสรรเสริญเขาโดยศีล แต่สุตะของเขาไม่สมบูรณ์ นี่เป็นรายละเอียดนะคุณ พยายามมีอยู่แล้ว หนังสือมีอยู่แล้ว ในแต่ละคนๆ ก็เอาไปอ่านน่ะ ก็เอาไปพยายามทำความเข้าใจ อาตมาคิดว่า คงจะอธิบายขยายความต่อไป มันไม่ได้แล้ว มันไม่มีเวลาแล้ว มันหมดลงไปแล้ว ก็ต้องขอต๊ะไว้ งานพุทธาฯ ที่จะไปขยายให้ละเอียดลออ ละเลียดเอาให้ ละเอียดลออ ละเลียดกันไปอีกนะ เพราะฉะนั้น ใครไปได้ก็ไป ไม่ได้บังคับนะ แล้วก็ไม่ได้มาพูดล่อ ไม่ได้มาทำบอกว่า โปรดอ่านต่อ ฉบับหน้า ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ อาตมามาใช้จิตวิทยา ไม่ใช่ต้องซื้อหนังสือฉันอีก เพราะว่า ฉันกำลัง มันเชียว เสร็จแล้ว ก็บอกว่า ยังมีต่อ โปรดติดตามฉบับหน้า จะได้ซื้อหนังสือฉันฉบับหน้า ก็ไม่ใช่ ถึงอย่างนั้น แต่ซื้อ อุดหนุนก็ดี ถ้าซื้อหนังสือฉันอีก อุดหนุนฉันอีกก็ดีนะ ก็ไม่ได้เป็นปัญหา อะไรหรอก ก็ไม่ได้ซื้อจริงๆ คุณไปได้ฟรีนี่นะ ให้ตามไปเอานะ ไม่ใช่ตามไปเสีย ใช่ไหม มันก็ไม่น่า จะเสียหายอะไร

เอ้า ! อันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน จบทรัพย์แท้ของมนุษย์ตอน ๑-๖


ถอดโดย อารามิก ดงเย็น จันทร์อินทร์ ๑๓ มีนาคม ๒๕๓๔
ตรวจทาน ๑ โดย อุทัยวรรณ ตั้งมั่นสกุล ๑๘ มีนาคม ๒๕๓๔
พิมพ์โดย สม.นัยนา
ตรวจทาน ๒ โดย สม.ปราณี ๒๖ เม.ย.๒๕๓๔
เข้าปกโดย นายสุริยา รุ่งเรือง เม.ย.๒๕๓๔
เขียนปกโดย พุทธศิลป์ พฤษภาคม ๒๕๓๔
FILE:1337K.TAP