วิถีชาวอโศก ()
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

ผู้ที่ยังไม่รู้จักชาวอโศกมาเลย ถ้าได้อ่านคอลัมน์นี้ฉบับศุกร์ที่แล้ว ก็คงจะรู้สึกรับได้ยาก หรืออาจจะถึง หมั่นไส้เอาจริงๆ ก็ได้ แม้อาตมา จะขอร้องไว้แล้วว่า.. อย่าหมั่นไส้กันเลยนะ ก็ตาม เพราะเมื่ออ่านแล้ว มันช่างดูเขื่อง ดูเคร่งครัดดูเก่ง "ดูดีเลอเลิศ" เสียเหลือเกิน! ถึงจะดียังไม่วิเศษอะไรนักก็เถอะ อาตมาก็ได้บอกไปแล้ว ว่า มันจำนนจนใจจริงๆ เพราะยังไม่สามารถ มีตัวอย่างของ"ผู้อื่น" ที่เขาเป็นได้ มีได้อย่างนี้ เพื่อมายกอ้างถึง จึงจำต้องยก "ตัวเอง" ที่เป็นได้มีได้ เพื่อยืนยันว่า เรื่องที่แทบไม่น่าเชื่อ เอาเสียเลย แต่มันก็ เป็นไปได้จริงๆ ไม่ใช่เรื่องเพ้อเจ้อ

ก็ขออภัย ในที่นี้อีกครั้งก็แล้วกัน สำหรับท่านที่อ่านแล้วรับไม่ได้ เชื่อไม่ลง หรือบางท่าน จะหมั่นไส้หนักหนา

แต่เอาเถอะ อาตมาขออนุญาตก็แล้วกัน อาตมายืนยันว่า แม้จะ"อวดตัวอวดตน"ปานใด อย่างมากที่สุด ก็จะไม่อวด ให้เกินจากที่ "เราเป็นได้จริง อยู่ในขณะนี้" โดยจะไม่โกหก ไม่ยกตัว ให้ผิดไปจาก ความเป็นจริง .. ขอสัญญา

เราชาวอโศกทั้งหลาย เชื่อมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวว่า วิกฤติสังคม ไม่ว่าจะวิกฤติทางเศรษฐกิจ หรือ วิกฤติ ทางการเมือง จะแก้ไขให้เจริญ อย่างยั่งยืน สันติภาพได้จริง ต้องอาศัย "ธรรมะที่เป็นโลกุตระ" อันมีแนวคิดแบบ "บุญนิยม"

แนวคิดแบบ"ทุนนิยม"นั้น แก้ไม่ได้จริงหรอก แม้จะสามารถ จนดูเหมือนแก้ได้ แต่ก็ยังคงเป็นไป เพื่อนายทุน ที่มีทั้งนายนายทุนใหญ่ นายทุนกลาง นายทุนน้อย ต่างก็ล่าความเอาเปรียบ เป็นเชิงชั้น ลดหลั่นกันไป ซึ่งไม่พ้น ความเหลื่อมล้ำ เพียงแต่ว่า ปลาใหญ่นั้นเก่ง ที่ทำที ไม่เขมือบปลาเล็ก ให้ตายคาปาก หรือให้เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน จนเห็นกันโต้งๆ แต่กระนั้น ปลาใหญ่ก็ใช้วิธี "อ่อยเหยื่อ" เอาเปรียบปลาเล็ก อย่างเก่ง อยู่นั่นเอง และแม้ จะดูเหมือน ช่วยสังคมได้ ในบางครั้ง ก็ยังไม่จริง เพราะเป็นเพียง สงบสันต ิหรือสุขอยู่ได้ ด้วยเหลี่ยมคู ของจิตวิทยา และโลกียวัตถุ ชั่วขณะเท่านั้น เท่าที่ปลาใหญ่ จะเฉลียวฉลาด เก่งกาจ ควบคุมรักษา "การอ่อย" นั้น ไว้ได้ด้วยความสามารถที่มี โดยไล่ล่า รีดเอาจากปลาเล็ก ที่เป็นสังคมนอกตน หรืออาณานิคมอื่น ให้กว้างขึ้นๆ ไม่มีที่สุด ระบบทุนนิยม ทำให้ผู้ได้เปรียบมากขึ้นๆ าฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยผลาญพร่ายิ่งๆขึ้น สังคมทุนนิยม จะสร้างวัฒนธรรม ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ผลาญพร่า แสวงหาความใหม่ แปลกเรื่อยไป นายทุน จะมีค่าตัวแพงขึ้นๆ ค่าความคิด จะแพงขึ้นๆ ค่าแรงงาน จะถูกลงๆ ภาวะ"ไม่พึ่งตนเอง" จะสูงขึ้น การเอาเปรียบผู้อื่น จะก้าวหน้า ทวีความซับซ้อน ลึกล้ำ ทั้งกลวิธีก็ชาญฉลาดยิ่งๆขึ้น ทั้งการกดขี่ ก็ทวีความหนักหนา ยิ่งสาหัส ดังนั้น แม้จะดูเหมือนสงบสันติ หรือสุขอยู่ได้ ก็เป็นไปได้ ชั่วระยะหนึ่งๆ หากนายทุนเก่งมาก ก็นานหน่อย

เมื่อวิจารณ์วิจัย หรือแยกแยะสัจจะของ"ทุนนิยม"ขึ้นมา ก็ทำให้ดูราวกับว่า ไปลบหลู่"ทุนนิยม" ก็ต้องขออภัยกันอีก อาตมาบอกได้ อย่างเปิดอก สุดขั้วหัวใจ เท่าที่ความสัตย์ จะพึงมี ว่าไม่ได้ลบหลู่ หรือละลาบละล้วง จ้วงจาบ แต่อย่างใดจริงๆ โปรดทำความเข้าใจ ให้ดีๆเถิด เพียงแจกแจงสัจจะ สู่กันฟัง เท่านั้น โดยตรง ก็ให้ชาวทุนนิยมนั่นแหละ ฟังด้วยใจเป็นกลางดีๆ เพราะชาว"บุญนิยม" ไม่ได้เป็นศัตรู คู่แข่งอะไรกับชาว "ทุนนิยม"เลย

แม้จะเห็นชัดๆว่า "บุญนิยม" กับ "ทุนนิยม"นั้น แนวคิดคนละขั้ว หรือเป็นคนละตระกูล แต่ตามสัจธรรมแล้ว "บุญนิยม" จะไม่เป็นพิษ เป็นภัย หรือเป็นศัตรู แม้แต่ เป็นคู่ต่อสู้ ของ"ทุนนิยม"แน่ๆ เพราะ"บุญนิยม" คือผู้แพ้ ผู้"ให้"แก่"ทุนนิยม" ซึ่งชาวบุญนิยม เข้าใจความจริงนี้ ดีอยู่แล้ว กล่าวคือ ชาวบุญนิยมนั้น เชื่อมั่นว่า การได้ให้ แก่ผู้อื่นไป มากกว่าที่เราเอานั้น คือความดี ความประเสริฐ หรือเราจะเอาอะไร แลกเปลี่ยนกลับคืนมา ต้องรับคืนมา ให้น้อยกว่า ที่เราให้เขาไปเสมอ กระทั่ง ให้ไปหมด โดยไม่เอาอะไร แลกเปลี่ยนกลับคืนมาเลย เป็นดีสุด นี่คือสัจจะ หรือ สุจริตยุติธรรม ที่ชื่อว่า"บุญ"โดยแท้ ชาวบุญนิยม จะพยายามเสียสละ หรือให้ อย่างตั้งใจ และจริงใจ ด้วยการฝึกฝน จึงเป็นผู้พร้อม ที่จะเสียเปรียบ ให้แก่ผู้อื่นเสมอ

ดังนั้น เมื่อบุญนิยมให้ ส่วนทุนนิยมเอา คนหนึ่งยินดีให้ อีกคนหนึ่งยินดีเอา แล้วมันจะขัดแย้งกันตรงไหน ไม่แย่งกัน ไม่มีการทะเลาะกัน เห็นไหมว่า ไม่ใช่ศัตรูกันเลย "บุญนิยมกับทุนนิยม" อยู่ด้วยกัน สงบสันติแน่ อยู่ด้วยกัน ได้อย่างดี เว้นแต่ชาว "ทุนนิยม" ที่ไปหลงยึดว่า "บุญนิยม" เป็นคนละพวก หรือผู้หลง เข้าใจผิดว่า ชาว "บุญนิยม" จะไปทำร้าย ทำลายชาว "ทุนนิยม" เท่านั้นเอง

จริงๆแล้ว ชาว"ทุนนิยม"ด้วยกันต่างหาก ที่ต่างก็"จะเอา" จึงต้องยื้อแย่งกัน ก็ขัดแย้ง ทะเลาะกัน ถึงขั้น ฆ่าแกงกัน ก็เห็นๆอยู่ ชาว"ทุนนิยม"กันเอง นั่นแหละ ที่เป็นศัตรูกัน หากพิจารณา สัจจะที่ว่านี้ดีๆ ก็จะเข้าใจ

"บุญนิยม"นั้นคือ ผู้เข้าใจสัจจะว่า ผู้ให้ คือ ผู้มีค่า ผู้มีประโยชน์อยู่ในโลก ในสังคม จึงตั้งใจเสียสละ ให้ผู้อื่นมากๆ ส่วน"ทุนนิยม" คือ ผู้เข้าใจว่า ผู้ได้มา คือ ผู้มีผลประโยชน์ จึงตั้งใจเอามา ให้แก่ตนมากๆ

"บุญนิยม"คือ ผู้ฝึกตน และเชื่ออย่างสนิทใจว่า "การเป็นผู้ได้ให้" หรือเป็นผู้เสียสละ ออกไปมากๆนั้น เป็นความเจริญ ความประเสริฐ ของความเป็นมนุษย์ อย่างแท้จริง จึงเสียให้อย่างเต็มใจ หรือพยายาม เป็นผู้ให้ให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ส่วน"ทุนนิยม"นั้นคือ ผู้ฝึกตน และเชื่อสนิทใจว่า "การเป็นผู้ได้มา" หรือเป็นผู้ สะสมไว้ เป็นของตนมากๆ เป็นความเจริญ ความประเสริฐ ความประสบผลสำเร็จ ของความเป็นมนุษย์

"บุญนิยม" จึงมีสภาพ ยอมเสียสละ ไม่สะสม เป็นผู้ไม่ใช้อำนาจ ไม่เบ่งความใหญ่ แต่ใช้ความใหญ่ ช่วยความเล็ก และจะไม่รวยแต่เพียงตน มีแต่แบ่งแจก เผื่อแผ่กันออกไป ให้ทั่วถึง โดยเฉพาะ จะเป็นปลาใหญ่ ช่วยเหลืออุ้มชูปลาเล็ก และจะสะสม น้อยกว่าปลาเล็ก เพราะตนเอง เป็นปลาใหญ่จริงๆ มั่นใจในความเป็น ปลาใหญ่ของตน ปลาใหญ่ย่อมมีเรี่ยวแรง ความสามารถ ของตนจริง และขยันเพียงพอ ช่วยตนเองได้อยู่แล้ว เสมอๆ ไม่ขาดแคลน จึงไม่ต้องสะสม หรือหอบหวงอะไร ไว้ที่ตนให้มาก จะให้ผู้อ่อนแอ ที่ช่วยตนเองยังไมได้ ไม่เพียงพอ นั่นแหละ มีมากเผื่อพอ เผื่อขาดแคลน

แนวคิด"บุญนิยม"นั้น ผู้แข็งแรงและมีสมรรถนะสูง จึงไม่นิยมสะสม แต่นิยมสละออก ดังนั้น ผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมาก จึงยิ่งไม่มีมาก ไม่เอามาก มีแต่จะให้คนอื่นมากๆ ที่สุดเป็น ผู้กล้าเสียสละ ถึงขั้นไม่ต้อง มีของตัวของตน เป็นคนจน เป็นคนทำงาน ไม่รับเงินเดือน แล้วคนในสังคม ก็จะรู้ จะเห็น"ความมีประโยชน์แก่ผู้อื่นแก่สังคม" ของผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมาก ที่รับใช้ผู้ด้อยกว่า ในสังคมอยู่นี้ตามจริง คนในสังคม หรือประชาชน ย่อมศรัทธาเลื่อมใส เคารพบูชา ผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมากนี้ ด้วยปัญญา คนผู้นี้ จึงชื่อว่า"นาบุญ" ที่ประชาชนไว้ใจ มีอะไร ประชาชน ก็จะร่วมมือ ร่วมอุปถัมภ์ค้ำจุน ช่วยเหลือเต็มที่เสมอ พฤติกรรมของผู้มีภูมิสูง สามารถมาก ฉลาดมาก เก่งมาก ขยันมากนี้ จึงทำงานอยู่ในสังคม โดยไม่อาศัย"เผด็จการ" และไม่ต้องใช้อำนาจ "ศักดินา" จะเผด็จการทางการเงิน ก็ไม่มี จะใช้ศักดินาเป็นอำนาจ ก็ไม่ต้อง แต่จะเป็นประชาธิปไตย ที่เกิดเพราะ ประชาชน เต็มใจร่วมมือ เพื่อประชาชน ในสังคมส่วนใหญ่เอง จึงเป็นของประชาชนโดยแท้

ขออภัยที่ต้องพูดว่า "ทุนนิยม"นั้น มีสภาพ "เผด็จการผสานศักดินา" ที่ลวงแฝงอยู่ในคราบของ ประชาธิปไตย ซึ่งคนในลัทธินี้ จะต้องฉลาดเป็นเอก สามารถสร้างบริวาร ให้มากและเหนียวแน่น ไม่ต้องมีธรรมะ แต่ฉลาด"หลอกใช้"ธรรมะ หรือศาสนา เพื่อความรุ่งโรจน์ของตน ได้อย่างเก่ง

ส่วน"บุญนิยม"นั้นสะสม "ศรัทธา..ศีล..จาคะ..ปัญญา" หรือ "ศรัทธา..ศีล....หิริ..โอตตัปปะ.. พาหุสัจจะ.. จาคะ.. ปัญญา" อันเป็น "อาริยทรัพย์" ที่เดินเข้าหา ความซื่อสัตย์ เสียสละจริงๆ แม้จะไม่ฉลาด และสร้างบริวารไม่เก่ง แต่ก็มีความเหนียวแน่น ด้วยศรัทธา กันและกัน ศรัทธาในสัจธรรม ด้วยปัญญาอาริยะ หรือปัญญาโลกุตระ


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๓