วิถีชาวอโศก
(๓)
อาตมาได้พูดเจาะเนื้อทั้งเนื้อหาสู่เนื้อแท้ของ"บุญนิยม กับ ทุนนิยม" ในฉบับศุกร์ที่แล้ว และพูดถึงทุนนิยม ได้เพียงเล็กน้อย ก็หมดหน้ากระดาษ คราวนี้ ก็ขอพูดต่ออีกสักนิด แนวคิดที่กลายเป็นมาตรฐานหลักของ"ทุนนิยม"และครองสังคมคนทั้งโลก มานานแสนนาน โดยเชื่อกันว่า สุจริตแล้ว ยุติธรรมแล้วนั้น แต่ชาว "บุญนิยม" เห็นว่า ไม่สุจริต และ ไม่ยุติธรรม เพราะเห็นลึกเข้าไปถึงเนื้อแท้ว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้คน"หมดประโยชน์ สิ้นคุณค่าต่อผู้อื่น" อย่างสิ้นเชิง ซ้ำสั่งสมหนี้กรรม เป็นวิบากบาป ทับถมตน ตามสัจธรรม และเป็นแนวคิด ที่ยังฉ้อฉล ด้วยกลเชิง ที่เหลื่อมล้ำ ไม่ประเสริฐ เพราะเต็มไปด้วย การเอาเปรียบ ที่กดข ี่ผู้ด้อยกว่า อย่างเฉลียวฉลาด สามารถยิ่งอีกด้วย ที่ว่า.. ทำให้คน"หมดประโยชน์สิ้นคุณค่าต่อผู้อื่น"อย่างสิ้นเชิง นั้นก็คือ ตนทำงานเท่าไหร่ ตนก็คิดค่า สมรรถนะของตน จนครบหมด และเอาค่าทั้งหมดนั้น กลับคืนมา ให้แก่ตน จนไม่เหลือแล้ว แล้วประโยชน์คุณค่า ของคนผู้นั้น จะเหลือให้แก่ผู้อื่น แต่ที่ไหน? เพราะสมรรถนะของตน ก็ตีค่าเป็นเงิน จนครบราคาเต็มที่ ดีไม่ดี จะพยายามตีราคาเอา จนเกินด้วยซ้ำหนะนา กิเลสของคน มันจะทำเช่นนี้ เสมอจริงไหม และเจ้าตัว ก็เอาเงินนั้น เป็นสิ่งแลกเปลี่ยน กลับคืนไป หมดสิ้นแล้วนี่ ประโยชน์หรือคุณค่า"ของตน" จึงหมดลงแล้ว จะนับว่ามีแก่ผู้อื่น ผู้ใดอีก ไม่ได้แล้ว เมื่อผู้ทำงานนั้นได้สร้าง"ผลผลิต"ไว้ให้แก่นายทุน ทีนี้นายทุนจะจำหน่ายผลผลิตแก่ลูกค้าต่อไป ตามระบบทุนนิยม เขาก็จะตีราคาผลผลิต โดยคิดบวกไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นค่าวัตถุ ค่าแรงงาน ค่าตัว ค่าโสหุ้ยทั้งหลาย แถมบวกเออเร่อร์ ไว้อีก ๓ % บ้าง ๕ % บ้าง บางรายบวกถึง ๗ % - ๑๐ % แล้วก็ถือว่า นี่คือต้นทุน การจำหน่าย ก็จะ"บวกส่วนเกินจากต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก" เป็นราคาจำหน่าย หรือแลกเปลี่ยน ส่วนเพิ่มขึ้นจ ากต้นทุนนี้แหละที่เรียกกันว่า"กำไร" ของชาวทุนนิยม แล้วก็ยอมรับกันว่า วิธีการอย่างนี้คือ สุจริตดีแล้ว ยุติธรรมดีแล้ว และก็หลงดีใจภาคภูมิยกย่องนับถือกันอีก ว่า ถ้าแม้นผู้ใด สามารถทำให้"กำไร"นี้สูง ได้มากเท่าใด โดยทำให้คน ยินดีจ่ายเงิน แลกเปลี่ยนสิ้นค้าของตน ได้ราคาสูงมากเท่าใดๆ ก็ถือว่ามีความสามารถยิ่ง ประสบผลสำเร็จ ในวิธีการของชาวทุนนิยม ดียิ่งประเสริฐยิ่งเท่านั้นๆ เท่าที่จะสามารถ ทำให้คน จำนน ยอมจ่ายสูง ได้มากที่สุด ลองคิดดูชัดๆตามสัจจะซิว่า สินค้าเมื่อคิดราคาของทุน จนครบแล้ว ตามวิธีคิดไม่ให้ค่าอะไรต่ออะไร ตกหล่นไปเลย นั่นแหละ สมมุติว่า ๑,๐๐๐ บาท แล้วถ้าจำหน่ายสินค้าไป ในราคาเท่าทุน คือ ๑,๐๐๐ บาท ก็เป็นอันว่า เสมอกัน ไม่มีใครมีค่า มีประโยชน์แก่ใคร ไม่มีใครเสียเปรียบ ไม่มีใครได้เปรียบ เพราะเจ๊ากันแล้ว ... ใช่ไหม? ทีนี้มาคิดถึงความเป็นจริง หรือพิจารณาตามสัจจะอีกที หากนายทุนจำหน่ายสินค้าเกินทุน ขอถามว่า ส่วนที่เกินไป จากทุนนั้น เป็น"ค่า"อะไร? ถ้าไม่ใช่ การเอาส่วนเกินกันดื้อๆ ที่เป็นส่วน"เอาเปรียบ"ไปอย่างตีกิน เพราะจะว่าเจ้าของสินค้า"เป็นประโยชน์" แก่คนซื้อ ก็ไม่ใช่ ในเมื่อ"ทุน" ก็คิดบวกเอาค่าตัว รวมไว้ด้วย หมดแล้ว หรือว่าเจ้าของสินค้า"มีคุณค่า" อะไรต่อผู้ซื้อก็ไม่ได้ ในเมื่อหักกลบลบ"ค่า" กันตามราคา"ทุน" เจ้าของสินค้า ก็เอาคืนไป หมดสิ้นแล้ว แล้วยังบวก"เอาส่วนเกิน" แถมเข้าไปอีก จะชื่อว่า เป็นคนมีคุณค่า หรือมีประโยชน์ เหลืออยู่ตรงไหน? แนวคิดหรือมาตรฐานการปฏิบัติแบบทุนนิยมที่มีกันมานานแสนนาน ... ทำให้คน"หมดประโยชน์ สิ้นคุณค่า ต่อผู้อื่น"อย่างสิ้นเชิง ด้วยประการ ฉะนี้ แถมเป็นหนี้กรรม สั่งสมวิบากบาป ตามสัจธรรมอีกด้วย เพราะการ"เอาเปรียบ" ไปได้นั้น เป็น"หนี้กรรมหนี้เวร" ที่สั่งสมลง เป็นวิบาก ติดตัวไปจริง ตามกฏแห่งกรรมที่ว่า"กรรมเป็นของของตน.. ตนเป็นทายาท ที่ต้องรับมรดกของกรรมของตน.. กรรมเป็นกำเนิด.. กรรมเป็นเผ่าพันธุ์.. กรรมเป็นที่พึ่งอาศัย" การแลกเปลี่ยนเอาค่าตัวของตนคืนมา จนครบค่าก็ดี การคิดค่าแรงงานค่าสินค้า หรือค่าการแลกเปลี่ยนต่างๆ จนครบค่า คืนมาก็ดี วิธีคิดของ"ทุนนิยม" คิดแลกเปลี่ยน เอากลับคืนมา ให้แก่ตนเอง ตีราคาเป็นเงิน จนครบค่า ของมันหมดสิ้นแล้วนี้ คือ การไม่เหลือคุณค่า ไม่มีประโยชน์อันใดของคน หากแถม"บวกเอาส่วนเกิน" หรือ ยืนหยัด"การเอาเปรียบแท้ๆ" ว่าคือ"กำไร" อันยอมรับนับกันว่า สุจริตยุติธรรมเข้าไปอีก นายทุนใหญ่ นายทุนกลาง นายทุนน้อย ก็ยิ่งเบียดเบียน ผู้อื่นอยู่ในโลก ในสังคมแน่แท้ที่สุด ดังนี้แล เช่น นาย ก มีค่าความรู้ความสามารถอย่างเหมาะสมในสังคม เดือนละ ๕ หมื่น เมื่อทำงานไปครบเดือน ก็รับเอาเงิน ๕ หมื่นที่ตนเอง ได้ทำประโยชน์นั้น คืนไป จนหมดสิ้นแล้ว ก็เป็นอันเสมอกันไปแล้ว หักกลบลบ"ค่า"กันครบแล้ว หมดสิ้นประโยชน์ หรือหนี้ส่วนใดกันแล้ว นาย ก จะมาเรียกร้องว่า ตนมีประโยชน์คุณค่า ต่อผู้อื่น ต่อใครๆ หรือต่อสังคมอีก ไม่ได้แล้ว ... ใช่ไหม? เห็นไหมว่า ระบบทุนนิยม ทำให้คน"หมดประโยชน์ สิ้นคุณค่า ต่อผู้อื่น"อย่างสิ้นเชิง ด้วยสัจจะ ฉะนี้เอง ในเมื่อตน เอาค่าความรู้ ความสามารถ ที่ตนทำนั้น เต็มราคา เต็มค่าไปหมดแล้ว ก็เป็นอันตนเก็บเอา"ของตน" ที่ตีราคา แลกกลับคืนมา เป็นเงินไปครบค่า ครบราคา สมบูรณ์แล้ว เป็นอันว่า เราจะไปทวงเอาความมีคุณค่า ว่า เรามีประโยชน์ ให้แก่ใครๆ หรือแก่สังคม ได้จากที่ไหน เมื่อเราเอา"ค่าตัว" ของเรา คืนมาหมดสิ้นแล้ว แต่ความจริงยิ่งกว่านี้ ในคนที่มีกิเลสเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ คนก็จะมักได้ จึงชอบที่จะ"ตีค่า" กำหนดราคา ของตนเอง สูงเกินไว้เสมอ เพราะยิ่งได้มาก ก็ยิ่งเป็นสุขสมใจกิเลส เป็นธรรมดา ดังนั้น เมื่อสมรรถนะสูง ของคนมีอำนาจต่อรอง กิเลสในตัวคน ที่มีสมรรถนะสูง ก็ใช้ความมีสมรรถนะของตน เป็นอำนาจต่อรอง เรียกร้อง"เอา" หรือ"ได้"ราคาสูงกว่าควร ขึ้นมาเรื่อยๆ ตามความไม่รู้จักพอ ของกิเลส และผู้ที่มีอำนาจ ขั้นรองลงไป ก็มีส่วนได้เปรียบ นัยเดียวกันนี้ ลดหลั่นกันไป ตามลำดับอีกด้วย จึงร่วมกันเห็นดี ในวิธีคิด ลักษณะนี้ กลายเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการตั้งราคา อัตราค่าตัวของคน ในสังคมทุนนิยม"ราคา" ของผู้มีความรู้ ความสามารถ จึงสูงเกินจริงยิ่งๆขึ้น อย่างประมาณ ไม่หวาดไหวเลย ในสังคมทุนนิยม เป็นความเหลื่อมล้ำ อันไม่สุจริต ยุติธรรมยิ่งๆขึ้น และยิ่งคนผู้ใด สามารถกำหนดราคาค่าตัว ให้แก่ตัวได้ ชนิดมีอำนาจ มีตำแหน่ง มีหน้าที่ อันอาจสามารถทำได้ ก็จะยิ่งกำหนด"ค่าตัว แพงลิบลิ่ว จนคนระดับต่ำ ที่ไม่มีอำนาจ ต้องจำนนดุษณี |