วิถีชาวอโศก ()
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

เมื่อมนุษย์ในโลกได้พากันศึกษา และทดลองพิสูจน์ ระบบการปกครองกันมาหลายระบบ ถึงวันนี้ ก็เป็นที่ยอมรับกัน เกือบทั้งโลก แล้วว่า ไม่มีระบบไหน ดียิ่งไปกว่า ระบบ "ประชาธิปไตย"

และในความเป็นประชาธิปไตยนี่แหละ ที่ยังแตกต่างกันอยู่ อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในนิตินัย และ ในพฤติภาวะ หรือ บ้างก็มี นิตินัยแล้ว อย่างดี แต่พฤติภาวะ ก็ยังหาเป็นได้ ตามนิตินัยนั้นไม่ พูดกันให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ยังแตกต่างกันอยู่ ทั้งในแง่ของ กฎหมาย ของแต่ละสังคม แต่ละประเทศ และ ในความเป็นจริง ของคนแต่ละสังคม แต่ละประเทศ ต่างก็ยังประพฤติ ไม่ตรงกัน เพราะเข้าใจ ไม่ตรงกัน แม้จะเข้าใจ ตรงกันแล้ว ก็ยังไม่ประพฤติ หรือ ยังประพฤติตามกฎหมายนั้นๆ ไม่ได้

ประชาธิปไตย คือ อำนาจใหญ่ยิ่งเป็นของประชาชน แล้วประเทศประชาธิปไตย แต่ละประเทศ ต่างก็บัญญัติ กฎหมาย ของตนๆ ขึ้นมาใช้ กระนั้นก็ดี ก็ใช่ว่า คนจะมีพฤติภาวะ ตามกฎหมายของตน ได้สมบูรณ์กันง่ายๆ

ที่เป็นดังนั้น ก็เพราะปวงประชาชน หรือคนส่วนใหญ่ ยังไม่เต็มใจรับ เพราะยังไม่เชื่อสนิทใจ ในประโยชน์ของ "ความหมาย ตามกฎหมาย" (นิตินัย) นั้นๆ ดีเต็มที่ และ ที่สำคัญมากยิ่งๆ ก็คือ แม้เชื่อแล้ว แต่ยัง "มีกิเลส"

ด้วยเหตุฉะนี้เอง ต่อให้มีกฎหมายดีปานใด ถ้าคนมีกิเลส ก็ยากที่สังคมจะดีได้ หรือจะให้เป็นประชาธิปไตยที่ดีได้ โดยเฉพาะ ผู้มีกิเลสนั้นเป็น "ผู้บริหารอำนาจ" หรือ "ตัวแทนประชาชน ที่เข้าไปใช้อำนาจในประเทศ"

"อธิปไตย"หรือ"อำนาจใหญ่ยิ่ง"ต่างเข้าใจตรงกันว่า เป็นของประชาชน และ ผู้ใช้อำนาจ หรือ บริหารอำนาจ ในประเทศจริงๆ ในแต่ละประเทศนั้น ต่างก็ใช้ "ตัวแทน" คือ มีวิธีที่จะให้ประชาชน เลือกตัวแทนของตน เข้าไปทำหน้าที่ ใช้อำนาจ หรือ บริหารอำนาจ ไม่ว่าจะเป็น อำนาจออกกฎหมาย อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ

เพราะฉะนั้น "ตัวแทนประชาชน"นั่นเองคือ ผู้ใช้อำนาจตัวจริงตัวแท้ จึงจะต้องเป็น "ตัวแทนที่ซื่อสัตย์" ทั้งต่อตนเอง ทั้งต่อประชาชน และ ทั้งต่อหน้าที่ ที่รับไปทำ หาก "ไม่ซื่อสัตย์" ก็เป็นอันไม่ต้องหวังเลยว่า จะเป็นประชาธิปไตย ต่อให้ "ตัวแทน" นั้นๆ มีความรู้ ความสามารถ และ ฉลาดเยี่ยมยอด ทว่ายัง "อวิชชา" ก็นั่นแหละ คือ คนผู้ยัง "ไม่ซื่อสัตย์" ยิ่งมี "อวิชชา" มากเท่าใดๆ ก็ยิ่งไม่มีทางเป็นประชาธิปไตย ได้มากเท่านั้นๆ

อวิชชา คำนี้ ไม่ใช่หมายถึง"ไม่รู้" หรือ "โง่" อย่างสามัญ มันมีสารสัจจะพิเศษ ที่ต้องทำความเข้าใจให้ดีๆ

คนมี"อวิชชา" ไม่ใช่แปลว่า คน"โง่"หรือ"ไม่รู้" แบบผู้ด้อยความฉลาด ที่โง่ๆทึบๆ หรือไม่เฉลียวฉลาด หรือ เป็นคนด้อย ในเชาวน์ไว ไหวพริบ เป็นคนมี "ไอคิว" ต่ำ ซึ่งหมายถึง "ไม่ฉลาด" กว้างๆ คลุมไปหมด

คน"อวิชชา"นั้น คือคนที่"เฉลียวฉลาดสุดยอดอัจฉริยะ" สุดยอดแห่งคนที่มีเชาวน์ไวไหวพริบ หรือคือ ยอดแห่งคนที่มี "ไอคิว" สูงสุดก็ได้ แต่อัจฉริยบุคคลผู้นี้ มีอวิชชา มี "ความไม่รู้" มี "ความโง่" เฉพาะเรื่อง "โลกุตระ" หรือเรื่อง "บุญนิยม" กล่าวคือ "ไม่มีวิชชา" เพียงพอ ที่จะสามารถลดละ "โลกธรรม" (ลาภ, ยศ, สรรเสริญ, โลกียสุข เป็นต้น) หรือไม่มี "ความรู้" ที่เป็น "วิชชา ๙" เพียงพอ จนใช้ลดกิเลสจาก "โลกียะ"ได้ นั่นเอง [วิชชา ๙ ได้แก่ ฌาน, วิปัสสนาญาณ, มโนมยิทธิ, อิทธิวิธี, ทิพพโสต, เจโตปริยญาณ, ปุพเพนิวาสานุสติญาณ, จุตูปปาตญาณ, อาสวักขยญาณ]

อวิชชา คือ ความไม่รู้โลกุตรธรรม ไม่มี"ภูมิบุญนิยม" จึงต้องเป็น "ทาสโลกียธรรม" แล้วก็วนเวียน จมอยู่กับทุกข์ กับสุข ของ "โลกธรรม" ผู้ฉลาดที่มีอวิชชานั่นเอง ที่ทำร้ายชาวโลก ทำร้ายสังคมอยู่ อย่างฉกาจฉกรรจ์

อวิชชา ไม่ใช่แปลว่า "ไม่รู้" ที่หมายถึง "โง่" อันรวมไปหมด ว่า "ไม่ฉลาด" หรือ "โง่" ในทุกเรื่อง ทุกอย่าง

ผู้มี "ความฉลาด" เยี่ยม มีเชาวน์ไวไหวพริบยอดอัจฉริยะ แต่ "ไม่รู้" เท่าทัน "โลกียะ" หรือแม้จะรู้บ้าง ทว่าไม่มี "วิชชา ๙" ถึงขั้นที่จะทำตน ให้หลุดพ้น "โลกียะ" ได้ ฉะนี้ต่างหาก คือ คนมี "อวิชชา" เป็นคนที่ยัง "ไม่รู้"

เป้าแท้เนื้อแท้ของ"โลกุตระ" และเพราะ"ไม่รู้"เท่าทัน"โลกียะ"นี่เอง จึงยิ่งเก่งยิ่งได้ลาภ - ยศ - สรรเสริญ - สุขโลกีย์ มากขึ้นๆ ก็ยิ่ง "หลง" มัน ยิ่งผูกตนเองเป็น "ทาสโลกียะ" ให้จมลึกไปกับ ความสลับซับซ้อน ที่ยิ่งรู้ยาก จึงยิ่งมัดตัวเอง หลงมืด ซ้ำซ้อน เข้าไปอีก ก็จมหนัก ติดหนัก ยิ่งๆขึ้น

คนที่มี "ความฉลาด" มี "เชาวน์ไวไหวพริบ" หรือมี "ไอคิว" ยอดเยี่ยม เป็นดอกเตอร์ เป็นเทคโนแครต

เป็นยอดนักธุรกิจเป็นปราชญ์ในสังคม แต่ "อวิชชา" หรือ "โง่ยิ่ง" ฉะนี้เอง คือ "โง่ในเรื่องของโลกุตระ"

หรือมี "ความฉลาด" ในเรื่องอะไรสารพัดได้หมด แต่ "ไม่รู้หรือโง่" เฉพาะเรื่องที่จะทำตนหลุดพ้น ออกจาก "โลกียะ" เท่านั้น คือ ผู้อวิชชา

ผู้สิ้น"อวิชชา" คือ ผู้มี"วิชชา"สมบูรณ์ นั่นคือ ผู้รู้แจ้งในสุข-ทุกข์ของ "โลกธรรม" สมบูรณ์ และไม่หลงติดยึดใน "โลกธรรม" แล้ว เป็นผู้ "อยู่เหนือโลกธรรม" ได้แล้ว หรือชื่อว่า เป็นผู้มี "โลกุตรธรรม" ถึงขั้นสูงสุด แต่อาจจะ "ไม่ฉลาด" หรือ "ไม่เก่ง" อะไรมากนัก ในเรื่องของการมี "เชาวน์ไวไหวพริบ" โดยเฉพาะ "ไม่เก่ง" หรือ "ไม่ฉลาด" ในการล่าลาภ ล่ายศ ล่าสรรเสริญ ล่าโลกียสุข มาบำเรอตนเอง

ผู้หมด "อวิชชา" อย่างสมบูรณ์สุดนั้น จะไม่ล่าลาภ,ยศ,สรรเสริญ,โลกียสุข ให้แก่ตนเองอีกเลย แต่ท่านยังขยัน หมั่นเพียร ทำงาน ทำการ จึงสามารถ มีลาภมาก แต่ท่านก็จะไม่สะสม หรือไม่ติดยึด ยศ หรือ ตำแหน่งนั้น อาจจะมีผู้มอบ ให้ท่านก็ได้ แต่ท่านก็ไม่ติด ไม่ยึดแน่ๆ และแน่ๆอีกว่า ท่านจะได้รับ การสรรเสริญ เยินยอ จากผู้รู้คุณค่าแท้ของท่าน ซึ่งท่านก็ไม่ติด ไม่ยึด อีกแน่ สำหรับ "โลกียสุข" นั้น ท่าน "สูญ" ไม่มีใน "อารมณ์" (emotion) ของ ท่านเด็ดขาด เป็นผู้ "ฉลาดทางอารมณ์" หรือมี "อีคิว" (emotional quotient) เก่งสุดยอด ท่านจะมีก็แต่ "วูปสมสุข" หรือ "ความไม่มี ทุกขอาริยสัจ อย่างสนิท" ซึ่งมันไม่ใช่ "อารมณ์สุข แบบโลกียะ" ที่ใครจะพึงเดาเอา


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๗