วิถีชาวอโศก ()
๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐
' สมณะโพธิรักษ์

เรามาคุยเรื่อง"ประชาธิปไตย"กันให้ถึงพริกถึงขิง หรือเจาะลึกลงไปให้ถึงไส้ถึงกึ๋น ของประชาธิปไตยดูบ้าง ก็น่าจะดี เพราะแน่นอนว่า ชาวอโศก ย่อมมีความตั้งใจ ที่จะพัฒนาประชาธิปไตย ให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ เช่นกัน ในฐานะ ชาวอโศก ก็เป็นประชาชนคนไทย ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ระบอบประชาธิปไตย จะได้รู้กันบ้าง ว่า"ประชาธิปไตย" ที่ชาวอโศกเข้าใจ และ พยายามพัฒนา ไปตาม "วิถีชาวอโศก" นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งบอกได้ก่อนเลยว่า ประชาธิปไตย ตามที่ชาวอโศกเข้าใจ และ มั่นหมายนั้น เป็นระบบ "บุญนิยม" ย่อมแตกต่างจาก ประชาธิปไตย ตามระบบ "ทุนนิยม" หรือ ตามที่โลกสามัญทั่วไป ต่างเป็น ต่างมีกันอยู่แน่ๆ ทั้งในข้อปลีกย่อย บางเรื่องบางอย่าง และ ทั้งในอุดมการณ์สุดยอด

ซึ่งก็ตามประสาประชาธิปไตยบ้านนอก หรือประชาธิปไตยของคน ด้อยการศึกษา จึงเป็นเรื่อง ที่หลายคน ฟังแล้ว อาจจะเห็นว่า เป็นประชาธิปไตย บ้าๆบอๆ ก็ย่อมจริงทั้งนั้น เพราะมันยังไม่เคย มีมาก่อนในโลก

เช่น ชาวอโศกเห็นว่า ประชาธิปไตยแท้ๆนั้น อุดมการณ์สูงสุดยอด ผู้รับตำแหน่งหน้าที่ยิ่งสูง ยิ่งจะต้องเป็น ยอดนักสร้างสรร และ นักเสียสละ สูงสุด โดดเด่นเป็นสง่า อย่างประจักษ์สิทธิ์ เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา รัฐมนตรี ผู้มีตำแหน่งสูง ถึงระดับ ที่มีฐานะชื่อว่า ผู้รับใช้ประชาชน ฯลฯ หรือ ผู้มีตำแหน่งต่างๆ ที่สูง ลดหลั่นลงไป ยิ่งสูง ก็ยิ่งจะลด เงินเดือน ของตนลงๆๆ กระทั่งฐานะสูงถึงขั้น อันสมควรแล้ว ก็ไม่รับเงินรายได้ใดๆ ให้แก่ตนเลย ทำงานฟรี ให้แก่ส่วนรวม หรือ แก่ปวงชน ประเทศชาติ จึงจะเป็นผู้สร้างสรร เสียสละ ตามฐานะของ อาริยบุคคล ผู้ทำ "การเมืองบุญนิยม" ที่แท้จริง

บางคนได้ฟังแล้ว ก็คงจะหัวเราะขำกลิ้ง ว่า เพ้อเจ้อ ฝันเฟื่องแท้ๆ มันเป็นไปไม่ได้หรอก!

ประเด็นแรก.. คนเช่นที่ว่านี้ จะหาได้จากที่ไหน? หรือแม้แต่คนที่จะเป็นอย่างนี้ได้ จะเป็นได้จริงหรือ?

ประเด็นที่สอง.. เมื่อไม่มีรายได้แล้ว จะยังชีวิตอยู่ได้อย่างไร?

ขอตอบในประเด็นที่สองเสียก่อนว่า เมื่อไม่มีรายได้แล้ว..ก็รัฐนั่นแหละ เลี้ยงดูชีวิต ผู้รับใช้ประชาชน ท่านนั้นไว้ และ อำนวย ความสะดวก ในการทำงาน ให้แก่ท่านไปตามสัจจะ ท่านก็อยู่ได้แล้ว หรือแม้รัฐ จะไม่เลี้ยงดู คนในสังคม ที่เห็นคุณค่า ประโยชน์ อันเป็น คุณงามความดีของท่าน ที่ท่านสร้างสรร เสียสละต่อชาติ ต่อประชาชนอยู่จริง ก็ย่อมจะมี คนเหล่านี้ เขาจะเลี้ยงดู ชีวิตท่านไว้เอง ไม่ต้องกลัวหรอก ขอให้มีคนเป็นอาริยบุคคลจริง ตามสัมมาทิฏฐิ ของพุทธเถิด แล้วพิสูจน์ ให้เห็นความจริง กันหน่อยเถอะน่า! ข้อสำคัญ ท่านผู้นี้ ต้องเป็นคนมีโลกุตรธรรม เข้าข่าย"บุญนิยม"แท้ๆ มีความรู้ มีสมรรถนะ ในการทำงาน ให้แก่สังคม ประเทศชาติ เมื่อเป็นอาริยบุคคล ก็เป็นผู้มักน้อย (อัปปิจฉะ) ใจพอ (สันโดษ) อันเป็น คุณธรรม ตามสารสัจจะ ของชาว "บุญนิยม" แท้จริง จึงเป็นคนเลี้ยงง่าย (สุภระ) ย่อมเป็นคนไม่เปลือง ไม่ผลาญพร่า ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม กินไม่แพง ใช้ไม่แพง แต่เป็นคนสร้างสรร มีคุณค่าประโยชน์ ต่อสังคม สูงแพงเหลือเฟือ เกินกว่าที่ท่านกิน ท่านใช้แน่นอน

และผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่รับใช้ปวงชนสูงส่งปานฉะนี้ จะเป็นคนไม่สะสมทรัพย์ศฤงคารเป็นของตน ท่านทำเพื่อ สาธารณะ ทำเพื่อปวงประชา เพื่อชาติโดยแท้ จึงเห็นได้เด่นชัดว่า ท่านอยู่ในสภาพ ที่เป็นคนจน เพราะท่านสร้างสรร มากมายก็จริง แต่ท่านสละจริง ไม่สะสมจริง จึงมีเป็นของตนน้อย ตามสัจจะของ อาริยบุคคล ผู้บรรลุธรรม ที่ทำ "การเมืองบุญนิยม" ดังนั้น ท่านยิ่งเป็นอาริยบุคคล ระดับสูงมากยิ่งเท่าใด ท่านก็ยิ่งไม่สะสม ยิ่ง"กล้าจน" (อัปปิจฉะ) จริงยิ่งเท่านั้น

ส่วนประเด็นที่ว่า คนเช่นที่ว่านี้ จะหาได้จากที่ไหน? หรือแม้แต่คนที่จะเป็นอย่างนี้ได้ จะเป็นไปได้จริงหรือ? ..นั้น ก็ขออภัย ที่จำเป็นจะต้องยกอ้าง เอาชาวอโศก เพื่อยืนยันเปรียบเทียบ ส่วนใครจะเห็น เป็นการอวดตัวอวดตน หรือ เห็นเป็นเรื่อง เพ้อฝัน ก็คงห้ามกันไม่ได้ ก็เป็นสิทธิของแต่ละคน ที่เขาจะเห็นเช่นนั้น ในบรรดาชาวอโศก ไม่ได้เห็นว่า เป็นความเพ้อฝัน เพราะทุกวันนี้ ในชุมชนชาวอโศก ทั้งหลาย ก็มีก็เป็นเช่น ดังกล่าวนั้นกันอยู่ มิใช่เรื่อง เป็นไปไม่ได้

กล่าวคือ ประชากรในชุมชนชาวอโศก ที่ทำงานให้แก่ชุมชน โดยไม่รับเงินรายได้ใดๆ มีอยู่จริง เพราะ "วิถีชาวอโศก" นั้น คนผู้มี สมรรถนะยิ่งสูง สร้างสรรได้มาก ก็ยิ่งเสียสละมาก จะเอาไว้เป็นของตน น้อยลงๆๆ ผู้มีภูมิยิ่งสูง ก็ยิ่งจะลด การเอามา ให้ตนลงไป กระทั่งสามารถ ทำงานฟรีได้ ก็คือดีที่สุด ใช้ชีวิตอยู่กับหมู่กลุ่ม เป็นคนส่วนกลาง หรือเป็นคนของ สังคมบุญนิยม ร่วมวัฒนธรรม "สาธารณโภคี" หมายความว่า ร่วมกันอยู่ในสังคมเดียวกัน กินใช้ร่วมกัน เป็นส่วนกลาง ทำมาหาได้ ก็เอาเข้า เป็นส่วนกลาง ซึ่งมันเป็นการฝึกตน เป็นคนเสียสละความเป็นส่วนตน ผู้ละลดกิเลสในจิตได้จริง ก็เป็นอาริยบุคคล นี่คือ "วิถีความเป็นอยู่" ของสังคมบุญนิยม ซึ่งเป็น "วิถีการเมืองบุญนิยม" อยู่ในนั้น พร้อมสรรพทีเดียว เป็นทั้ง เศรษฐศาสตร์บุญนิยม เป็นทั้ง สังคมศาสตร์บุญนิยม เป็นทั้ง "บุญนิยม" อื่นๆ อีกหลากศาสตร์ หลายศิลป์

ชุมชนชาวอโศกเป็นแค่สังคมเล็กที่ยังไม่ได้กว้างใหญ่ระดับประเทศ แต่"คนทำงาน ไม่รับรายได้ ให้แก่ตนเอง ไม่ว่าจากทางใด" ก็เป็นได้แล้ว นี่แค่ในสังคมเล็กๆ เป็นแค่ชุมชนเล็ก รายได้รวมของ ประชากร ในสังคม ก็ยังไม่มีมาก ทั้งๆที่ทำ "พาณิชย์ แบบบุญนิยม" ซึ่งมีวิธีคิดทวนกระแสกับ "พาณิชย์แบบทุนนิยม" กันคนละขั้วนี่แหละ ย่อมมีรายได้ เข้าชุมชน ไม่มากมาย เหมือนทุนนิยมด้วยซ้ำ ก็ยังสามารถเลี้ยงดูผู้คน เลี้ยงดูคน ผู้ไม่รับรายได้นั้นแหละ อย่างพอเพียง ชาวอโศก ได้พิสูจน์แล้วว่า สวัสดิการ ส่วนกลาง ของชุมชน เลี้ยงดูกันได้ เพื่อนฝูงเกื้อกูลกันและกันไว้ได้ กลุ่มเล็กๆแค่นี้ ยังเป็นไปได้แล้ว หากเป็นสังคม ที่ใหญ่กว้างกว่านี้ มีคนที่มีภูมิ และสมรรถนะสูงกว่านี้ ปริมาณคน ก็มากกว่านี้ และมีองค์ประกอบ ที่สมบูรณ์กว่านี้ มันก็ยิ่งเป็นไปได้ง่ายกว่า แข็งแรงกว่า ดียิ่งกว่าเป็นไหนๆ อย่างแน่นอน


อ่านต่อ วิถีชาวอโศก ตอน ๘